วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2015, 17:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาทิฏฐิ
ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ


:b42: :b42:

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก


รูปภาพ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2015, 20:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ครั้งที่ ๑
ปัญญาในธรรม


:b44: :b44:

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟังเพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรม คือ สัมมาทิฏฐิ

ปัญญาในธรรมนั้นเรียกได้ว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง สัมมาทิฏฐินี้เป็นข้อสำคัญ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้เป็นข้อแรกในมรรคมีองค์ ๘ คือเป็นองค์แรกของมรรคมีองค์ ๘ นั้น เพราะฉะนั้นการทำสมาธิดั่งที่ได้กล่าวว่า ทำสมาธิในการฟัง ก็เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรมอันเป็นสัมมาทิฏฐินี้เอง ถ้าหากว่าไม่ได้ปัญญาในธรรมอันเป็นสัมมาทิฏฐินี้ ก็มิบรรลุถึงข้อที่ปฏิบัติและผลแห่งข้อปฏิบัติอันเป็นที่มุ่งในทางพุทธศาสนา

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2015, 17:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คำว่า "พุทธศาสนา" นั้นก็แสดงอยู่แล้วว่า "เป็นศาสนาทางปัญญา" เพราะพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ก็คือ ทรงปัญญาตรัสรู้นั้นเอง ฉะนั้นปัญญาจึงเป็นข้อสำคัญและปัญญาที่มุ่งหวังก็คือ "สัมมาทิฏฐิ" ความเห็นชอบ ความเห็นตรงนี้เอง

เมื่อได้ความเห็นชอบ ได้ความเห็นตรงก็ย่อมจะได้ "ปสาทะ" คือ ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม เป็นผู้มาสู่สัทธรรมนี้ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การมาสู่สัทธรรมนี้ก็ต้องอาศัยความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมก็ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ ความเห็นตรงเป็นหลัก

ทุกคนย่อมมีความรู้ความเห็นซึ่งเป็นตัวปัญญาที่ได้มาแต่ชาติกำเนิดเป็นมนุษย์ซึ่งแปลอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่มีใจสูงหรือผู้ที่มีความรู้สูง ฉะนั้นจึงสามารถที่จะรู้สัจจะ คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายได้ในขั้นธรรมดาสามัญทั่วไป และเมื่อได้อบรมปัญญาที่ได้มาแต่ชาติกำเนิดอันเรียกว่า "สชาติปัญญา" ยิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว ก็จะได้ความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ความเห็นตรงที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มี.ค. 2015, 10:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบไว้ทั่วไป ว่าคือ ความรู้ในอริยสัจทั้งสี่ รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักนิโรธความดับทุกข์ รู้จักมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้อธิบายนสัมมาทิฏฐิแก่ภิกษุทั้งหลายที่ท่านประมวลไว้ใน "สัมมาทิฏฐิสูตร" โดยที่ท่านได้อธิบายกว้างขวางออกไปขยายความออกไป จับตั้งแต่เบื้องต้นโดยที่ท่านได้กล่าวตั้งเป็นกระทู้ขึ้นว่า ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบนั้นเป็นอย่างไร?

ท่านอธิบายว่า ได้แก่ ความรู้จักอกุศล ความรู้จักอกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ความรู้จักกุศล ความรู้จักกุศลมูล มูลเหตุของกุศล ท่านก็ได้อธิบายขยายความต่อไปอีกว่า อกุศลนั้นได้แก่อะไร ท่านก็ยกเอา "อกุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล" ขึ้นแสดง

ทางกาย อันเรียกว่า "กายกรรมอันเป็นอกุศล ๓" คือ การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ๑ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ๑ การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑ ทั้ง ๓ นี้เป็นทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางกาย

ทางแห่งกรรมที่เป็น "อกุศลทางวาจา คือ วจีกรรมมี ๔" ได้แก่ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑ ก็รวมทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาเป็น ๔

ทางแห่งกรรมที่เป็น "อกุศลทางใจ ๓" ก็คือ อภิชฌา โลภ เพ่งเล็งทรัพย์ สิ่งของของผู้อื่น ๑ พยาบาทปองร้ายเขา ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าไม่มีบาป ไม่มีบุญ จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นบาป จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นบุญ ไม่มีผลของบาปบุญ และไม่มีมารดาบิดา ไม่มีกรรมดีกรรมชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่ว ไม่มีโลกนี้ไม่มีโลกหน้า ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบทั้งหลาย ปฏิเสธว่าไม่มีทั้งหมด เหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม ๑ ก็รวมเป็นทางกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓

รวมเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล ๑๐ นี้คือ อกุศล สัมมาทิฏฐิก็คือ รู้จักทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ว่าเป็นอกุศลจริง

อกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ก็ได้แก่ โลภะ คือ ความโลภอยากได้อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม โทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม โมหะ ความหลงอันนำให้ประกอบอกุศลกรรม สัมมาทิฏฐิก็คือ ความรู้จักอกุศลมูลเหล่านี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลายตามเป็นจริง

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2015, 15:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล

ส่วนกุศลและกุศลมูลนั้นก็ตรงกันข้าม
กุศลได้แก่ กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ คือ ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล เป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓

กายกรรม ๓ ก็คือ เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง
เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

วจีกรรม ๔ ก็คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด
เว้นจากพูดหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

มโนกรรม ๓ ก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของของผู้อื่น
ไม่พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น และสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบตามคลองธรรม

ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ก็ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐
สัมมาทิฏฐิก็คือ รู้จักกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ว่าแต่ละข้อเป็นกุศลจริง

ส่วนกุศลมูล มูลเหตุของกุศลนั้นก็ได้แก่

อโลภะ ความไม่โลภอยากได้
โดยมีสันโดษความพอใจอยู่ในทรัพย์สมบัติเฉพาะที่เป็นของตนเท่านั้น เป็นต้น
อโทสะ ความไม่โกรธแค้นขัดเคือง ก็โดยที่มีเมตตากรุณาเป็นต้น
อโมหะ ก็คือ ความที่มีปัญญารู้ตามเป็นจริงอันทำไม่ให้หลงใหล ไม่ให้ถือเอาผิด

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2015, 20:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สุตะ จินตา ภาวนา

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือรู้จักกุศลมูลเหล่านี้ว่า ทุกๆข้อเป็นมูลเหตุของกุศลจริง สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดังนี้ เป็นทิฏฐิคือ ความเห็น เป็นทัสนะคือ ความเห็น เป็นญาณะคือ ความรู้ หรือเป็นปัญญาคือความรู้ทั่วถึงที่จะต้องการเป็นขั้นต้นของทุกๆ คนในโลก แต่ว่าจะได้สัมมาทิฏฐิคือ ความเห็นชอบดั่งนี้ได้ก็ต้องอาศัยความที่ใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้นในการประกอบปลูกปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ด้วยการฟังการเรียนอันรวมในคำว่า "สุตะ"
ด้วยการคิดพิจารณาอันรวมเรียกว่า "จินตา" และ
ด้วยการปฏิบัติอบรมต่างๆ ในข้อที่พึงปฏิบัติอบรมนั้นๆ อันเรียกว่า "ภาวนา"

และเมื่อได้ประกอบปฏิบัติปลูกปัญญา อบรมปัญญา เพิ่มพูนปัญญาในทางที่ถูกต้องอยู่เสมอก็ย่อมจะได้ "ปัญญาที่เป็นปัญญาถูกต้อง" อันเรียกว่า "สัมมัปปัญญา" ได้สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบดังกล่าว

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2015, 21:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ

และข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในที่อื่นอีกว่า ก็ต้องอาศัย "มิตตสัมปทา" คือ ความถึงพร้อมด้วยมิตร อันหมายความว่า ได้มิตรที่ดีงามอันเรียกว่า กัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าเป็นยอดของกัลยาณมิตร มารดาบิดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็เป็นกัลยาณมิตร เพื่อนมิตรทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทรงปัญญา สามารถที่จะให้คำแนะนำอบรมอันถูกต้องได้ก็เรียกว่า กัลยาณมิตร ต้องอาศัยกัลยาณมิตรนี้ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งก็คือ "โยนิโสมนสิการ" ที่แปลว่า การทำไว้ในใจ จับให้ถึงต้นเหตุ ดังเช่น เมื่อกำหนดเพื่อรู้จักอกุศลก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุว่า มีมูลเหตุมาจาก โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลมูล และเมื่อกำหนดเพื่อรู้จักกุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุว่ามีต้นเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังกล่าว ความใส่ใจคือ ความกำหนดใจพินิจพิจารณาจับเหตุของผลให้ได้ดั่งนี้ คือ โยนิโสมนสิการ ก็ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการนี้อีกข้อหนึ่ง ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการนี้ย่อมเป็นเบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติทุกอย่าง

ฟังธรรมของคนดี มีโยนิโสมนสิการใส่ใจ คือ นำเอาธรรมะที่ฟังมาใส่เอาไว้ในใจตั้งต้นแต่ตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาจับเหตุจับผลและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ข้อใดที่พึงละก็ละ
ข้อใดที่พึงปฏิบัติก็พึงปฏิบัติ
ข้อใดที่พึงปฏิบัติก่อนก็พึงปฏิบัติก่อน
ข้อใดที่ปฏิบัติภายหลังก็ปฏิบัติภายหลัง


ดั่งนี้เป็นต้น เรียกว่า "ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม" และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็เป็นอันว่านำให้ได้สัมมาทิฏฐิคือ ความเห็นชอบ ความเห็นตรง นำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำเข้ามาสู่สัทธรรมของสัตบุรุษหรือ ธรรมที่ดีคือ ถูกต้อง คือพระธรรมวินัยดั่งนี้

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2015, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาทิฏฐินำมาซึ่งความสิ้นทุกข์

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ พระสารีบุตรจึงได้นำมาอธิบายไว้เป็นประการแรกและท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล อันนำให้ได้สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ความเห็นตรง ก็ย่อมจะนำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมนำเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ที่ท่านเรียกว่า นำเข้ามาสู่สัทธรรมนี้ ก็คือนำเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้นั่นเอง

และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ปฏิบัติละกิเลสที่นอนจมหมักหมมดองจิตสันดานอันเรียกว่า อาสวะ หรือเรียกว่า อนุสัย อันยกขึ้นมาก็คือว่า

เป็นเหตุให้ละราคานุสัย กิเลสที่นอนจมหมักหมมจิตสันดาน คือ "ราคะ"
บรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือ "ปฏิฆะ" ความกระทบกระทั่งอันเป็นเบื้องต้นของกิเลสกองโทสะ
ถอนทิฏฐิมานานุสัย อนุสัย คือ "ทิฏฐิมานะ"
ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น จึงเป็นไปเพื่อการกระทำความสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ได้ดังนี้

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2015, 17:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ญาณทัสสนะ

เพราะฉะนั้นปัญญาที่ต้องการในทางพุทธศาสนาอันเป็นขั้นต้นที่ต้องการทั่วไป ก็คือ ปัญญาที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบดังกล่าวก็คือให้ รู้จักอกุศล ให้รู้จักอกุศลมูล ให้รู้จักกุศล ให้รู้จักกุศลมูล แต่ว่าพึงทำความเข้าใจด้วยอีกว่า ความรู้จักที่เป็นตัว "ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ" ดังกล่าวนี้ "ไม่ใช่สัญญา" คือ ความทรงจำ ความทรงจำนั้นก็คือ ความทรงจำตามที่ฟัง ตามที่อ่าน ตามที่เล่าเรียน ก็จำได้ว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ อกุศลมูล ๓ มีอะไรบ้าง กุศลกรรมบถ ๑๐ กุศลมูล ๓ มีอะไรบ้างก็จำได้ ความจำได้ดั่งนี้ยังไม่เป็นปัญญา ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว ต้องอาศัยความคิดพินิจพิจารณาและการปฏิบัติอีกด้วย คือว่า ต้องคิดพิจารณาไปและต้องปฏิบัติไป การปฏิบัติไปนั้นก็คือ "ปหานะ" ละ อย่างหนึ่ง "ภาวนา" ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นอย่างหนึ่ง

ละ ก็คือว่า ต้องฝึกละอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ละอกุศลมูลทั้ง ๓ นี่เป็นข้อที่ต้องปฏิบัติฝึกหัดละ
ภาวนา คือ ทำให้มีขึ้น ให้เป็นขึ้นนั้น คือต้องปฏิบัติฝึกที่จะประกอบกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ และอบรมกุศลมูล อโลภะ อโมหะ อโทสะ ให้มีขึ้น ให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ

นี้ก็รวมเข้าในคำว่า "สุตะ จินตา ภาวนา" ซึ่งเป็นเหตุให้ได้ปัญญา

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2015, 12:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญญาที่ได้จากสุตะ คือ การสดับการอ่าน การเรียน ก็เรียกว่า "สุตมัยปัญญา"
ที่ได้จากความคิดพินิจพิจารณา ก็เรียกว่า "จินตามัยปัญญา"
ที่ได้จากการปฏิบัติอบรม ก็เรียกว่า "ภาวนามัยปัญญา"

แต่ว่า ในข้อ ๓ นี้ก็ต้องประกอบด้วยทั้ง "ละ" และทั้ง "ทำให้มีขึ้น" ดังกล่าวนั้นและเมื่อปฏิบัติไปๆ อาศัยสุตะ อาศัยจินตา อาศัยภาวนา ทั้ง ๓ นี้ก็ย่อมจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ขึ้นของตัวเอง ได้ความเห็นขึ้นของตัวเอง ซึ่งมีคำเรียกอีกว่า "ญาณทัสสนะ" ความรู้ความเห็น รู้เห็นว่า ข้อนี้ๆเป็นอกุศลจริง ข้อนี้ๆเป็นอกุศลมูลจริง ข้อนี้ๆเป็นกุศลจริง ข้อนี้ๆเป็นกุศลมูลจริง

ในการที่จะปฏิบัติประกอบปัญญาในทางทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ก็ต้องอาศัย "กัลยาณมิตร" และอาศัย "โยนโสมนสิการ" ดังกล่าวมานั้นประกอบกันอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นผู้มุ่งจะได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงต้องปฏิบัติตามมงคลสูตรคาถาแรกของพระพุทธเจ้าอยู่ให้เป็นประจำ คือ

ไม่เสวนาคบหาคนพาลทั้งหลาย เสวนาคบหาบัณฑิตทั้งหลาย และบูชาคนที่ควรบูชาทั้งหลาย

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 พ.ค. 2015, 20:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้แล้วจึงจะได้กัลยาณมิตร และเมื่อมีโยนิโสมนสิการประกอบอยู่ตลอดก็ย่อมจะเจริญปัญญาขึ้นโดยตลอด ทำให้เกิดความรู้ของตัวเองขึ้นรับรองว่านี่เป็นอย่างนี้จริง นี่เป็นอย่างนี้จริงตามความเป็นจริง โดยที่จับเหตุจับผลได้ถูก จับได้ว่าอกุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวอกุศลนั้นเป็นตัวผล กุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวกุศลนั้นเป็นตัวผล ซึ่งการที่จะจับเหตุจับผลได้ถูกต้องดังนี้ก็เกิดจากโยนิโสมนสิการ ใส่ใจ ตั้งแต่ตั้งใจฟังคำสอนของกัลยาณมิตร มาจนถึงพินิจพิจารณาขบเจาะจับเหตุแห่งผลให้ได้ หรือว่าจับผลสาวหาเหตุให้ได้ จับเหตุที่จะส่งผลให้ได้..นี่แหละคือโยนิโสมนสิการ

ให้ความรู้ของตัวเองบังเกิดขึ้นรับรองว่าข้อนี้เป็นความจริง ข้อนี้เป็นความจริง และเมื่อได้ปัญญาคือความรู้ของตัวเองให้เกิดขึ้นรับรองความเป็นจริงดั่งนี้ จึงจะชื่อว่ามี "ความเห็นชอบ" ที่เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" ความเห็นตรงที่เรียกว่า "อุชุกทิฏฐิ" ทำให้มีความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระธรรมโดยตรงก็คือ ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว คือ ดีจริง ถูกต้องจริง งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์คือ ศาสนาคำสั่งสอนที่แสดงความประพฤติอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถะ คือ เนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะ คือ ถ้อยคำ บริบูรณ์ คือ ไม่บกพร่อง บริสุทธิ์ คือ ไม่มีผิดพลาดสิ้นเชิง ย่อมจะได้เลื่อมใส ที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมอันเป็นสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าดั่งนี้

และเมื่อเป็นดั่งนี้แหละจึงจะชื่อว่า ได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ ได้เข้ามาสู่พระศาสนานี้ ได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ถ้าหากว่ายังไม่ได้สัมมาทิฏฐิแม้ในขั้นต้นดังกล่าว ยังหาชื่อว่า ได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ไม่ หาชื่อว่ามีความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมไม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ควรปฏิบัติ ตั้งใจที่จะสดับตรับฟัง ที่จะพินิพิจารณา ที่จะปฏิบัติอบรม เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๗

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2015, 21:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๒
อาหาร ๔


:b44: :b44:

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้ืงพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรมนั้น ดังได้กล่าวแล้วก็คือ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ท่านพระสารีบุตรให้แสดงสัมมาทิฏฐิคือ ความเห็นชอบไว้ ว่าเป็นอย่างไรเป็นความเห็นชอบ และยังได้แสดงไว้ต่อไปดังที่จะกล่าว ณ บัดนี้

คือ ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟังท่านพระสารีบุตรอธิบายสัมมาทิฏฐิดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงได้ถามท่านต่อไปว่า ยังมีอธิบายโดยปริยายคือทางอันอื่นอีกหรือไม่ ท่านพระสารีบุตรก็ได้ตอบว่า มี และก็ได้แสดงปริยายคือ ทางอธิบายต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือ

ความรู้จักอาหาร
รู้จักสมุทัย เหตุเกิดแห่งอาหาร
รู้จักอาหารนิโรธ ความดับอาหาร และ
รู้จักอาหารนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางให้ถึงความดับอาหาร


รู้จักอาหาร

คำว่า "อาหาร" นั้นเป็นคำที่ทุกๆคนก็เรียกกันถึงอาหารที่บริโภคเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย แต่ว่าคำว่าอาหารมิใช่หมายความถึงเพียงอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอาหารอย่างอื่นด้วย

ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายอาหารไว้ ๔ ประการ คือ

หนึ่ง) กวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำข้าว
สอง) ผัสสาหาร อาหาร คือ ผัสสะ
สาม) มโนสัญเจนาหาร อาหาร คือ มโนสัญเจตนา ความจงใจ และ
สี่) วิญญาณาหาร อาหาร คือ วิญญาณ

คำว่า "อาหาร" นั้นตามศัพท์แปลว่า "นำมา" ก็หมายถึงสิ่งที่เป็นปัจจัย คือ เป็นเครื่องอาศัยที่นำผลมา


หนึ่ง) อาหารของกายหรือรูปธรรม

ข้อที่หนึ่ง กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ก็หมายถึงอาหารที่บุคคลตลอดจนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายบริโภค เป็นอย่างละเอียดก็มี เป็นอย่างหยาบก็มี ยกเอาคำข้าวขึ้นเป็นที่ตั้งชื่อ เพราะว่าข้าวนั้นก็ถือว่าเป็นอาหารหลักสำหรับที่จะบำรุงเลี้ยงร่างกาย ฉะนั้นจึงยกขึ้นเป็นชื่อของอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกาย อันหมายคลุมถึงอาหารทุกอย่างที่บริโภคสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกาย

นี้คือ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ข้อที่หนึ่ง


สอง) อาหารของนามธรรม

ข้อที่สอง ผัสสาหาร อาหาร คือ ผัสสะ หมายถึง อายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณมาประชุมกัน เรียกว่า "สัมผัส" หรือ "ผัสสะ" อันแปลว่า กระทบ เป็นอาหารแห่งนามธรรมทั้งหลาย คือ แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร และแห่งวิญญาณเองที่เกิดสืบต่อไป

กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ข้อแรกเป็นอาหารของรูปธรรม คือ ร่างกายส่วนรูป
ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะหรือสัมผัส เป็นอาหารของนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดสืบเนื่องกันไป

ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะข้อที่สองนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า คือ ความประชุมของอายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณ โดยที่เมื่อตากับรูปประจวบกันก็ย่อมเกิดวิญญาณ คือ ความรู้ในรูปที่เรียกว่า เห็นรูป อันการเห็นรูปดังที่พูดกันก็มักจะพูดกันว่า เห็นรูปด้วยจักษุ คือตา แต่เมื่อแสดงตามทางอภิธรรม ท่านแสดงว่า เห็นรูปด้วย "จักขุวิญญาณ คือ ความรู้รูปทางจักษุ" ตานั้นเป็นเพียงประสาทสำหรับเป็นที่อาศัยรับรูปที่มาประจวบกันเท่านั้น ถ้ายังไม่เกิดจักขุวิญญาณ การเห็นรูปก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเกิดจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา ก็คือ รู้รูปทางตาที่เรียกกันว่า เห็นรูป เพราะฉะนั้นการเห็นรูปจึงมิใช่เห็นด้วยจักขุหรือจักษุ แต่ว่าเห็นด้วย "จักขุวิญญาณ"

เมื่อพูดตามธรรมดาก็พูดว่า เห็นรูปด้วยจักษุ แต่เมื่อพูดตามทางอภิธรรมก็จะต้องพูดว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ

แม้อายตนะในข้อต่อไปก็เช่นเดียวกัน หูกับเสียงมาประจวบกันก็เกิด "โสตวิญญาณ" ได้ยินเสียง
จมูกกับกลิ่นมาประจวบกันก็เกิด ฆานวิญญาณ รู้กลิ่นทางจมูก
ลิ้นกับรสมาประจวบกันก็เกิด ชิวหาวิญญาณ รู้รสทราบรสทางลิ้น
กายกับโผฐฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้องมาประจวบกันก็เกิด กายวิญญาณ รู้สิ่งถูกต้องทางกาย
มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราว มาประจวบกันก็เกิด มโนวิญญาณ รู้เรื่องที่ใจคิดทางมโน คือ ใจ

นี้เป็นปกติของอายตนะภายในภายนอกและวิญญาณทางอายตนะทั้ง ๖ นี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นเป็นปกติแก่ทุกๆคนทุกๆเวลา และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันจึงเรียกว่าเป็น สัมผัส ที่แปลว่า ความกระทบ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ผัสสะ และผัสสะหรือสัมผัสดังกล่าวมานี้เองเป็นอาหารของนามธรรมทั้งหลาย คือ ของเวทนา ของสัญญา ของสังขารและของวิญญาณที่เกิดสืบจากสังขาร

เพราะฉะนั้นตามอธิบายนี้วิญญาณจึงบังเกิดขึ้นในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันก็เป็นวิญญาณขึ้นตามทางอายตนะและเมื่อทั้ง ๓ มาประชุมกันเป็นสัมผัสจึงเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร และก็เกิดวิญญาณสืบต่อกันไปอีก เพราะฉะนั้นวิญญาณจึงมาตรงที่เมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันนั้นหนหนึ่ง และเมื่อมาประชุมกันเป็นสัมผัสหรือผัสสะก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร และก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก วิญญาณก็มาบังเกิดขึ้นสืบจากสังขารอีกครั้งหนึ่ง และก็มาเป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขารและก็เป็นวิญญาณ ก็วนกันไปอยู่ดั่งนี้ในอารมณ์ทั้งหลายที่จิตนี้รับ เริ่มมาจากทางอายตนะซึ่งเป็นฝ่ายรูป แล้วก็มาเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันประกอบย่อเข้าเป็นรูปเป็นนาม รูปก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นนาม รวมเป็นขันธ์ ๕ ย่อก็เป็นรูปเป็นนาม อันเรียกว่า นามรูปนี้ จึงเป็นสิ่งที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่จนเมื่อได้คลอดออกมาจึงมีความสมบูรณ์แต่แม้เช่นนั้นก็ยังอ่อน เมื่อเติบโตขึ้นจึงเจริญขึ้นสมบูรณ์ขึ้นจนมีความสมบูรณ์เต็มที่ ดังรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของบุคคลที่เติบโตขึ้น ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาวก็เป็นความสมบูรณ์ของขันธ์ ๕ ขึ้นมาโดยลำดับ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2015, 20:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ดังจะพึงเห็นได้ว่า "เมื่อส่วนรูปมีความสมบูรณ์ ส่วนนามก็สมบูรณ์" ดังเช่นเมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กายและมนะคือใจสมบูรณ์ จึงรับอายตนะภายนอกต่างๆได้ฉับพลันคล่องแคล่วว่องไว วิญญาณที่บังเกิดขึ้น สัมผัสที่บังเกิดขึ้น สืบมาถึงเวทนา สัญญา สังขาร แล้วต่อไปวิญญาณอีกก็สมบูรณ์ฉับพลัน และตรงนี้ก็น่าที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า ในขันธ์ ๕ นั้นไม่จัดใส่วิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในช่วงนี้เข้าไว้ จัดรูปเป็นที่ ๑ แล้วก็มาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณต่อท้าย ตัดเอาวิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในระหว่างรูปกับเวทนาเสีย ถ้าหากว่าจะใส่ไว้ด้วยก็ไม่ใช่ "ขันธ์ ๕" จะต้องเป็น "ขันธ์ ๖" "ขันธ์ ๗" แต่นี่ไม่ใส่ไว้ ตัดเอาวิญญาณกับสัมผัสที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ออกเสียจึงเป็นขันธ์ ๕ แสดงวิญญาณไว้ข้างท้ายเท่านั้น พิจารณาดูก็เพื่อสะดวกเป็น "วิปัสสนาภูมิ" คือ เป็น "ภูมิแห่งวิปัสสนา" คือ เป็นกรรมฐานสำหรับวิปัสสนาในอันที่จะกำหนดพิจารณาให้รู้ให้เห็นได้สะดวก เพราะว่ารูปนั้นก็เป็นของหยาบ พิจารณาได้สะดวก มาเวทนาก็นับว่า นามธรรมที่หยาบ บังเกิดขึ้นทั้งทางกาย ทั้งทางใจ จึงมาเป็นที่ ๒ จึงมาถึงสัญญา ถึงสังขาร ซึ่งเป็นส่วนนามธรรมล้วนๆ แล้วจึงมาวิญญาณซึ่งนับว่า เป็นสิ่งที่ละเอียด ก็คุมไว้ข้างท้ายสำหรับที่จะพิจารณาเป็นกรรมฐาน เป็นวิปัสสนาภูมิได้โดยสะดวก

ฉะนั้น "ผัสสะ" จึงมีความหมายถึงความประชุมของทั้ง ๓ อย่างดังที่กล่าวนั้น เป็นอาหารของเวทนา คือ เป็นปัจจัยนำผลมา คือ นำให้เกิดเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ให้เกิดสัญญา คือความรู้จำได้จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฐฐัพพะ จำเรื่องราวอะไรต่างๆ ได้ เป็นสังขารคือ ความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ และเมื่อคิดปรุงไปก็รู้ไปด้วยวิญญาณแล้วก็วนเป็นวงกลมมาใหม่อีก

ก็เป็นไปอยู่ดังนี้ เป็นเรื่องของรูปและนามที่บังเกิดอยู่ในปัจจุบันของบุคคลทุกๆ คน โดยที่ "รูป" นั้นก็ต้องอาศัยอาหารหรือคำข้าวหยาบบ้างละเอียดบ้าง ส่วน "นาม" ก็อาศัยอาหาร คือ ผัสสะ ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากว่ารูปใดไม่ได้อาศัยอาหาร คือ คำข้าวก็ดำรงอยู่ไม่ได้ นามไม่ได้อาศัยอาหารคือผัสสะหรือสัมผัส นามก็บังเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น อาหารคือคำข้าวจึงเป็นที่ ๑ อาหารคือ ผัสสะจึงเป็นที่ ๒

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2015, 20:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สาม) อาหารของกรรม

มาถึงข้อที่สาม "มโนสัญเจตนาหาร" อาหาร คือ มโนสัญเจตนา ความจงใจ. ตรัสว่าเป็นอาหารของกรรมและพระสารีบุตรก็ได้แสดงอธิบายตามพระพุทธเจ้า เพราะว่า กรรม คือ การงานที่บุคคลกระทำ ทางกายก็เป็น "กายกรรม" ทางวาจาก็เป็น "วจีกรรม" ทางใจก็เป็น "มโนกรรม" ย่อมเกิดจาก "มโนสัญเจตนา" คือ "ความจงใจ" จะต้องมีมโนสัญเจตนาหรือเรียกสั้นว่า "เจตนา" ความจงใจเป็นเหตุจึงได้กระทำทางกาย เป็นกายกรรม กระทำทางวาจาเป็นวจีกรรม กระทำทางใจเป็นมโนกรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า

"เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ"

ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนา คือ ความจงใจว่าเป็นกรรม คือ เป็นเหตุให้กระทำกรรม เพราะว่าบุคคลมีเจตนาคือความจงใจแล้วจึงกระทำทางกายบ้าง กระทำทางวาจาบ้าง และกระทำทางใจบ้าง

ฉะนั้น กรรมที่บุคคลกระทำทุกๆอย่าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรือบุญกรรม ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมหรือบาปกรรม ย่อมมีเจตนาคือความจงใจหรือมโนสัญเจตนาเป็นเหตุ คือ เป็นอาหารเป็นปัจจัยที่นำมาผลมาคือ นำให้เป็นเหตุให้เกิดกรรม ฉะนั้น มโนสัญเจตนาหรือเจตนาคือ ความจงใจจึงเป็น "อาหารของกรรม" นับเป็นข้อที่ ๓


สี่) อาหารของนามรูป

มาถึงข้อที่ ๔ "วิญญาณาหาร" อาหาร คือ วิญญาณ อันวิญญาณนี้ที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้น ท่านเรียกว่าเป็น "วิถีวิญญาณ" เป็นวิญญาณในวิถี อันหมายความว่า เป็นวิญญาณที่บังเกิดขึ้นตามวิถีคือ ตามทาง "วิถี คือ ทาง" ก็คือ วิถีของกายจิตนี้ที่ประกอบกันอยู่ เป็นไปอยู่ อันนับแต่อายตนะภายใน อายตนะภายนอกมาประจวบกันเป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่าเป็น "วิถี" คือ เป็นทางแห่งความเป็นไปของกายและจิตที่อาศัยกันอยู่ ที่ประกอบกันอยู่ ที่ดำเนินไปอยู่ จึงเรียกว่า "วิถีวิญญาณ"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2016, 20:45 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร