วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2015, 13:54 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระจาปาเถรี
อดีตภรรยาของอุปกาชีวก

:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

=========================

อดีตสามีของ นางจาปา ชื่อ อุปกะ เป็นนักบวชประเภทอาชีวก อาชีวกเป็นนักบวชเร่ร่อน ดูเหมือนมีสองประเภท ประเภทที่ไม่นุ่งห่มผ้าเรียก “อเจลก” ประเภทนุ่งห่มผ้าเรียก “อาชีวก” หรือ “อาชีวิกา” (สตรี)

อุปกะพบพระพุทธเจ้าระหว่างทาง ขณะพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินเพื่อไปโปรดปัญจวัคคีย์ ได้สอบถามถึงครูบาอาจารย์ของพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่มีครูอาจารย์ พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธะ (ตรัสรู้ชอบเอง)
อุปกะ (ตามตำนานไทยว่า) ไม่เชื่อสั่นศีรษะแล้วหลีกไป

แต่ถ้าดูตามคำพูดที่อุปกะพูดว่า “ผู้มีอายุ ที่ท่านพูดนั้นอาจเป็นไปได้ ถ้าอย่างนั้นท่านก็เป็นอนันตชินะ” และการสั่นศีรษะแล้ว แสดงว่าอุปกะเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะตามธรรมเนียมแขก การสั่นศีรษะหมายถึงการยอมรับ


เมื่ออุปกะจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไปอยู่ในหมู่บ้านนายพรานใกล้ฝั่งน้ำแห่งหนึ่ง ตกหลุมรักลูกสาวนายพราน สึกมาอยู่ด้วยกันจนมีบุตรชายนามว่า สุภัททะ นางจาปา ผู้ภรรยา เวลาโกรธลูกชายที่ไม่อยู่ในโอวาท มักด่าลูกกระทบพ่อว่า “ไอ้ลูกฤาษีขี้เกียจ มึงนี้ขี้เกียจตัวเป็นขนเหมือนพ่อมึง” บ้าง “ไอ้ลูกปริพาชกมาแต่ตัว ไอ้ลูกคนยากจนไม่มีสมบัติอะไร” อะไรทำนองนั้น

อุปกะได้ฟังก็สะท้อนใจ เมียรักแรกๆ ก็เอาอกเอาใจดี พอมีลูกแล้วกลับดูถูกสามีว่ามาแต่ตัว เป็นคนยากคนจน ชีวิตหนอชีวิตมันเป็นอย่างนี้นี่เอง แล้วเราจะอยู่ให้เขาดูถูกทำไม เราไปอยู่กับ “อนันตชินะ” ดีกว่า

เมื่อสบโอกาสเหมาะ อุปกะก็ออกจากบ้าน มิใยภรรยาจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง มุ่งหน้าตรงไปยังทิศทางที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ เมื่อพบพระพุทธเจ้าแล้วก็ขอบวชเป็นสาวก

พระพุทธเจ้าตรัสปฏิสันถารว่า “อุปกะ หลังจากวันที่เราได้พบกัน เธอไปอยู่ที่ไหน” อุปกะก็กราบทูลเรื่องราวเบื้องหลังให้พระพุทธองค์ทรงทราบ ดังข้อความข้างต้น แล้วกราบทูลขอบวช

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อุปกะ บัดนี้เธอแก่แล้วจะบวชไหวหรือ” เมื่ออุปกะรับแข็งขัน จึงทรงประทานอุปสมบทให้

พระอุปกะหลังจากบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต


ฝ่ายภรรยาเมื่อสามีทิ้งไป ก็สำนึกว่าตัวผิดที่ทำให้สามีน้อยใจหนีไป จึงมอบลูกชายไว้ให้ตายายเลี้ยง แล้วก็ออกจากบ้านตามสามี เมื่อพบตัวและทราบว่าสามีได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงไปบวชอยู่ในสำนักนางภิกษุณี

หลังจากบวชแล้ว พระจาปาภิกษุณีก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมอยู่ในโอวาทของอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล


ขณะที่บรรลุธรรม พระจาปาภิกษุณีเปล่งอุทานขึ้นมา ข้อความค่อนข้างยาว

น่าแปลกว่า แทนที่จะเป็นอุทานแสดงปีติปราโมทย์ที่ได้บรรลุธรรม กลับเป็นอุทานที่ย้อนรำลึกเรื่องเบื้องหลังที่ตนเป็นสาเหตุให้สามีหนีไป นัยหนึ่ง อาจแสดงถึงความโง่เขลาในอดีต ที่หลงจมอยู่ในชีวิตผู้ครองเรือนยาวนาน ก่อนจะสละออกมาบวชได้

อุทาน (นำมาเพียงบางบท) มีดังนี้


เมื่อก่อนจาปาดูหมิ่นเรา ปลอบบุตรเยาะเย้ยเรา เราจึงตัดใจสละนางจาปาออกบวช

ข้าแต่ท่านกาฬะ (อุปกะ) จงกลับมาเถิด จงมาบริโภคกามสุขเหมือนเมื่อก่อน เราและญาติทั้งหลายจักอยู่ในโอวาทของท่าน ข้าแต่ท่านกาฬะ ท่านเป็นผู้ให้บุตรกำเนิดมา เหตุใดท่านจึงละทิ้งเราและบุตรไปเสียล่ะ

ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมละทิ้งบุตรภรรยา ทรัพย์สมบัติอันเป็นเครื่องผูกพันออกบวชกันทั้งนั้น

ท่านกาฬะ ถ้าฉันพึงทุบตีหรือแทงบุตรของท่าน เหยียบให้จมดิน ท่านจะยังไม่เศร้าโศกถึงบุตรเชียวหรือ นางชั่วช้าเอย เด็กนั้นก็บุตรของเจ้าเช่นกัน ถึงเจ้าจักทิ้งบุตรให้สุนัขจิ้งจอกกิน ก็อย่าหมายว่าเราจักกลับคืนไป

ท่านกาฬะ บัดนี้ท่านจะไปไหน จักไปสู่บ้าน นิคม นคร ราชธานีไหนเล่า

เราจะไปหาพระพุทธเจ้า บัดนี้พระองค์ประทับอยู่ริมฝั่งเนรัญชรา ทรงแสดงธรรมโปรดเหล่าสัตว์ให้ละทุกข์ทั้งปวง

ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงกราบไหว้พระองค์ กระทำประทักษิณพระองค์แทนฉันด้วย

จาปาเอย คำขอนี้เราทำให้เจ้าได้ เราจักกราบไหว้ จักทำประทักษิณพระพุทธองค์แทนเจ้าได้

จากนั้น ท่านกาฬะก็จากเราไป ไปถึงแม่น้ำเนรัญชรา ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายบังคมพระพุทธองค์ กระทำประทักษิณสามรอบแทนเรา ได้ขอบวชเป็นสาวก ทำตามคำสั่งสอนของพระองค์ ได้บรรลุวิชชาสามประการแล้ว


อุทานทั้งหมดนี้ บรรยายเรื่องเบื้องหลังของนางกับสามี ทำให้มองได้อีกแง่หนึ่งว่า อุปกะได้เมียปากร้าย ถูกเมีย (ซึ่งแรกๆ ก็รักกันดี) ด่าว่ากระเทียบเปรียบเปรยดูถูกว่ามาแต่ตัว จึงหนีไปบวช แสดงว่าความร้ายของภรรยาเป็นเงื่อนไขปัจจัยให้สามีได้พบทางสว่าง

ฝ่ายภรรยาเอง เมื่อสำนึกว่าตนได้ผิดต่อสามี อยากจะตามไปขอโทษ แต่เมื่อเห็นสามีบวชเป็นพระแล้ว จึงบวชตามบ้าง แล้วก็ได้พบความสว่างทางธรรมเช่นกัน

ชีวิตครอบครัวที่ไม่เป็นสุขของคนทั้งสอง ผลักดันให้ได้พบความสงบเย็นได้ในที่สุด นับว่าโชคดี เพราะน้อยรายนักจะลงเอยอย่างนี้


:b8: คัดบางตอนมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: ภิกษุณี ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46460


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2018, 18:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร