วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 17:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2015, 19:20 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บุรุษนิรนาม
ผู้ใคร่ในการฟังธรรม

:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

=========================

ผู้รจนาคัมภีร์ศาสนา เวลาท่านยกตัวอย่างบุคคลไม่ว่าในด้านดีหรือด้านเสีย ท่านก็จะบอกชื่อโคตร บ้านเมืองที่เขาเกิด และพฤติกรรมที่เขาทำเบ็ดเสร็จหมด เพื่อให้เป็นหลักเป็นฐานน่าเชื่อถือ

แต่ก็มีบางครั้งท่านไม่เอ่ยชื่อให้ปรากฏ อาจเป็นเพราะไม่ทราบ หรือบุคคลนั้นไม่มีตัวตนจริง

เป็นบุคคล “สมมติ” ยกมาเป็นตัวอย่างเฉยๆ ก็อาจเป็นได้

ในกรณีหลังนี้ การกระทำของตัวละครนั้นสำคัญกว่า จะเป็นใครมาจากไหนไม่ใช่ประเด็น ประเด็นก็คือ คนคนนั้นมีการกระทำที่ควรเอาอย่างหรือไม่ควรเอาอย่าง อย่างไรบ้าง


ในเรื่องที่จะพูดถึงนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่านพูดแต่เพียงว่าเป็นเรื่องของ “อัญญตรอุบาสก” แปลว่า อุบาสกคนหนึ่ง

“บุรุษนิรนาม” คนนี้เป็นคนจน มีโคหลายตัว (มีโคหลายตัว ไม่น่าจะเป็นคนจนเพราะถ้าจนจริงๆ ต้องไม่มีโคแม้แต่ตัวเดียว) ได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองอาฬวี และชาวเมืองอาฬวีอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารและแสดงธรรมด้วย

บุรุษนิรนาม อยากไปฟังธรรม แต่ติด้วยโคของตนหายไปตัวหนึ่ง จำเป็นต้องตามหาหาโคให้เจอเสียก่อน เพราะสมบัติของเขาก็มีเพียงแค่นี้เอง เขาจึงติดตามหาโคที่หายไปหลายแห่ง ในที่สุดก็พบและรีบต้อนเข้าคอกแต่ยังหัววัน

เขาคิดว่าป่านนี้พระพุทธองค์คงทรงแสดงธรรมไปจนเกือบจบแล้ว ไปก็คงไม่ได้ฟัง แต่อย่างไรก็ดีขอได้ทันกราบนมัสการพระองค์ก็ยังดี คิดแล้วเขาจึงรีบเดินทางไปยังบริเวณที่เขาจัดถวายทานและฟังธรรม หิวก็หิว เพราะตั้งแต่เช้าไม่ได้กินอะไรเลย ไปถึงเขาก็ประหลาดใจมาก

พระพุทธองค์หลังเสวยเสร็จแล้ว ขึ้นประทับบนธรรมาสน์ แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์และประชาชนจำนวนมาก ขอฟังอนุโมทนาและธรรมเทศนาอยู่ พระพุทธองค์กลับประทับนิ่งเฉย ไม่ตรัสอะไรแม้แต่คำเดียว

เมื่อพระพุทธองค์ไม่ตรัสอะไร ก็ไม่มีใครกล้าขยับ ได้แต่นั่งสงบอยู่โดยทั่วหน้ากัน

บุรุษนิรนามเห็นพระพุทธองค์ทรงเหลียวมามองทางเขา ขนลุกซู่ด้วยปีติปราโมทย์คิดว่าพระพุทธองค์ยังคงคอยเราอยู่ จึงคลานเข้าไปกราบถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ท้ายบริษัท (ท้ายบริษัท หมายถึงนั่งหลังใครๆ หมดนะครับ ไม่ใช้ท้ายบริษัทไทยเมล่อน อะไรอย่างนั้น)

แทนที่พระองค์จะรีบแสดงพระธรรมเทศนา พระองค์ตรัสถามทายกผู้จัดอาหารถวายพระว่า

“มีอาหารเหลือจากที่พระฉันหรือเปล่า”

“มี พระเจ้าข้า” เขากราบทูล

“ไปเอาอาหารมาให้บุรุษผู้นี้รับประทานก่อน”

ทายกได้จัดแจงอาหารมาให้เขารับประทานจนอิ่ม หลังรับประทานอาหารเขารู้สึกอิ่มสบาย ไม่กระวนกระวายเพราะความหิว จิตใจก็สงบพร้อมจะฟังธรรม

พระอรรถกถาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่ไหนในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงจัดการให้หาอาหารมาให้ใครรับประทาน มีที่นี้แห่งเดียว รับประกันได้ว่าอย่างนั้น

:b39: พระพุทธองค์ตรัสอนุปุพพิกถา (ถ้อยแถลงเรื่องตามลำดับจากง่ายไปหายาก) คือ

๑. ทาน การให้ หรือแบ่งปันสิ่งที่เรามีแก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น ให้แก่ยาจกวณิพก หรือให้เพื่อบูชาคุณความดี เช่น ให้แก่ผู้มีพระคุณและสมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล

ทานนี้ทำค่อนข้างง่าย ถ้ารู้จักทำหรือทำเป็น เมื่อมีทรัพย์มีศรัทธาก็ทำทานได้ แต่ถ้าทำไม่เป็น ทานก็ไม่เป็นทาน เช่น ให้ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ให้เพื่อหวังผลตอบแทน ให้ด้วยทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตหรือให้แก่ผู้รับที่ไม่มีศีล หรือไม่สมควรให้

๒. ศีล การรักษา กาย วาจา ให้อยู่ในกรอบ ทำยากกว่าทาน เพราะเป็นเรื่องของการควบคุมใจ

ศีลนี้เน้นกายสุจริต (กระทำดีทางกายสาม คือ ไม่ฆ่าและเบียดเบียน ไม่ลักของคนอื่น ไม่ผิดกาม) และวจีสุจริต (กระทำดีทางวาจาสี่ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ)

เน้นการกระทำดีทางกายและวาจาก็จริงอยู่ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จิตใจต้องแน่วแน่มั่นคง มีความอดทนสูง จึงเท่ากับเน้นการควบคุมใจด้วย รักษาศีลจึงยากกว่าทำทาน

๓. สวรรค์ การไปเกิดในสวรรค์เป็นรางวัล หรือผลตอบแทนของการทำทานและรักษาศีล ถ้าทานไม่บริสุทธิ์ ศีลไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่มีโอกาสไปเกิดในสวรรค์ และเมื่อเกิดในสรวงสวรรค์แล้ว ท่านว่าโอกาสบำเพ็ญคุณงามความดีก็มีน้อย เพราะชีวิตได้แต่เพลิดเพลินในกามคุณ เทียบกับชีวิตคนธรรมดาก็ได้ คนเราถ้ามีความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุมากๆ มักจะลืมตัว หลงติดอยู่ในความสุขสบายนั้น ไม่ค่อยนึกถึงการทำบุญทำกุศลนัก ทำบุญตักบาตรหรือเข้าวัดฟังธรรมนับวันได้เลย

อีกอย่างหนึ่ง เทวดานั้นมีความยับยั้งชั่งใจน้อย เผลอๆ อาจจุติปัจจุบันทันด่วนดุจข้าราชการถูกปลดกลางอากาศได้ การเกิดในสวรรค์จึงเป็นเรื่องยาก

๔. โทษของกาม นี่ยิ่งยากใหญ่ เพราะคนที่ตกอยู่ในความสนุกเพลิดเพลินทางกามคุณ ย่อมจะหูหนวกตาบอด มองไม่เห็นโทษของกาม ดุจหนอนอยู่ในหลุมคูถ ดำผุดดำว่ายอยู่ในบ่ออาจม ย่อมไม่รู้สึกว่าคูถมันเหม็นและสกปรก ตรงข้ามกลับเห็นว่ามันหอม กินเข้าไปแล้วรสหวานอร่อย ฉันใดก็ฉันนั้นแล

๕. ออกจากกาม เมื่อไม่รู้ไม่เห็นว่ากามมีโทษแล้ว การออกจากกามยิ่งทำได้ยาก ดุจดังหนอนในหลุมคูถข้างต้น

ถ้าหนอนมันพูดได้และรู้ภาษา มีใครสักคนไปบอกมันว่าอาจมนั้นเหม็นและสกปรกเหลือเกิน เจ้าจงออกจากหลุมอาจมเถิด หนอนมันก็จะตอบว่า ไม่เห็นเหม็นเลย หอมหวานและสะอาดออกจะตายไป ที่ท่านพูดอย่างนี้ท่านอยากกินเองใช่ไหม จึงมาพูดจาหลอกข้า ข้าไม่หลงกลท่านดอก อะไรไปโน่น

ดีไม่ดีผู้ชักชวนอาจเสียผู้เสียคนเพราะความปรารถนาดีก็ได้

พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่อง ศีล สวรรค์ โทษของกาม และการออกจากกาม เป็นการ “ปูพื้น” จากนั้นก็ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการโดยพิสดาร

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาเขาได้บรรลุโสดาปัตติผล

หลังจากโปรดบุรุษนิรนามเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถี แสดงว่าที่เสด็จมาไกลปานฉะนี้ก็เพื่อโปรดเขาคนเดียวจริงๆ


ขณะเสด็จกลับ พระสาวกตามเสด็จที่เป็นปุถุชนอยู่ พูดซุบซิบในทำนองไม่เข้าใจว่า ทำไมพระพุทธองค์เสด็จมาตั้งไกลเพียงเพื่อโปรดชาวนายากจนคนเดียว พระองค์เอาพระทัยใส่เขามาก ถึงขนาดทรงให้เขาหาอาหารมาให้ชาวนาคนนั้นกินเองเลยทีเดียว แน่ะ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ชอบนินทาแฮะ นินทากระทั่งสมเด็จพระบรมครู

พระพุทธเจ้าทรงได้ยิน จึงหยุดเสด็จดำเนิน ทรงหันมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไร”
ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงจะ “ปละ เปล่า พระเจ้าข้า” อะไรทำนองนั้น แต่พระเหล่านั้นก็กล้าพอที่จะพูดความจริง พระพุทธองค์จึงตรัส บุรุษคนนั้นเขาต้องการฟังธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเขามีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรม จึงเสด็จมาจากที่ไกลเพื่อสอนเขา แต่ว่าเขาหิวข้าว คนเราเมื่อยังหิวอยู่ ถึงธรรมะจะดีอย่างไร เขาก็ไม่ยินดีฟังหรือถึงฟังก็ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงให้เขาหาข้าวให้เขากินก่อน

แล้วพระองค์จึงตรัสว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ความจริงนี้แล้ว พึงปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”


บุรุษนิรนามคนนี้จะเป็นใครก็ช่างเถิด แต่สิ่งที่ควรเอาอย่างก็คือ มีความใฝ่ดี คือ ใฝ่แสวงหาความรู้ความเข้าใจในธรรม ตั้งใจจะฟังธรรม แล้วพยายามมาฟังให้จนได้ ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขามีหน้าที่จะต้องทำ เขาทำหน้าที่ที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงมาฟังธรรม มิได้ละทิ้งหน้าที่โดยอ้างว่าจะไปฟังธรรม :b16: :b1:

เรื่องนี้น่าจะให้ความคิดแก่ “นักปฏิบัติธรรม” ทั้งหลายได้อย่างดี บางคนทิ้งครอบครัวที่ต้องดูแล อ้างว่าต้องไปปฏิบัติธรรม ท่านนี้ประสบความสำเร็จในธรรมกลายเป็นครูอาจารย์เขา ไปสอนใครๆ เรื่องการดำรงชีวิตที่ดีในโลก ผู้ที่เขารู้ภูมิหลังก็จะว่าเอาได้ “อย่าไปเชื่อเขาเลย ตัวเขาเองเมื่อครั้งที่มีครอบครัวก็ยังไม่มีปัญญาทำครอบครัวให้มีความสุขได้ เป็นคนมีชีวิตล้มเหลวมาแล้ว” อะไรทำนองนี้ คำพูดคำสอนของเขาก็จะไม่มีน้ำหนัก

อ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้เกิดอัศจรรย์ใจในเทคนิควิธีสอนของพระพุทธองค์ หลายคนในปัจจุบันนี้พูดว่า จิตใจสำคัญที่สุด คนเราถ้าจิตใจดี มีคุณธรรมแล้ว ทุกอย่างจะดีหมด เพราะคิดกันอย่างนี้ จึงมุ่งแต่เทศน์แต่สอน โดยไม่ดูว่าผู้ฟังเทศน์ฟังสอนนั้นๆ ท้องยังร้องจ๊อกๆ อยู่หรือเปล่า

คนเราเมื่อท้องหิวเสียแล้ว ต่อให้รู้ว่าธรรมะดีปานใดก็ไม่ต้องการฟัง

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้ดี ทันทีที่บุรุษนิรนามไปถึง พระองค์ก็สั่งให้หาข้าวมาให้กินก่อน ให้เขาหายหิวก่อน จะสอนอะไรก็ค่อยว่ากันภายหลัง



:b8: :b8: :b8: คัดลอกมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร