วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 01:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ค. 2015, 11:06 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พราหมณ์ใจบุญคนยาก
ผู้ได้อานิสงส์ทันตาด้วยผ้าผืนเดียว

:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
====================

พระท่านว่า คนดีใจบุญสุนทาน ทำดีง่าย แต่คนที่ห่างวัดห่างวา นานๆ ใจจะนึกถึงบุญกุศลสักที โอกาสจะทำนั้นยาก มักอ้างความไม่พร้อม ผลที่สุดก็ไม่ได้ทำดีกับเขาสักที แต่ถ้าเรื่องไม่ดี เหลวไหลไร้สาระละก็เมื่อใดเมื่อนั้น มัน “คล่อง” เสียจริงๆ

การทำบุญทำทานต้องใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนเราเมื่อมีวัตถุสิ่งของแล้วย่อมยึดติดหวงแหนเป็นธรรมดา จะสละให้ใครสักครั้งก็ตัดสินใจยาก

นึกถึงลูกชายผมตอนเด็กๆ ชอบสะสมหนังสือการ์ตูนไว้มากมาย กองเป็นตั้งๆ เต็มห้อง อ่านแล้วอ่านอีก เราถามว่า จะบริจาคให้เด็กอื่นๆ ตามชนบทอ่านบ้างได้ไหม เธอบอกว่า “ได้ครับ” แล้วก็นั่งเลือกหยิบออกเป็นชั่วโมง ไม่ได้สักเล่ม ถามว่า “ทำไมเลือกนานนัก” เธอบอกว่า “เสียดาย อยากเอาไว้อ่านอีก”

ตกลงเลยไม่ได้บริจาคสักเล่ม นี่แค่หนังสือนะ ถ้าเป็นของอื่นราคาแพงๆ คงจะยากกว่านี้ การเสียสละของให้ทานแก่ผู้อื่น ท่านจึงเรียกว่า “บริจาค” คือ “ตัดใจให้” ถ้าไม่ตัดใจไม่มีทางให้ได้

วันนี้จะขอเล่าเรื่องทุคตะ (คนยากเข็ญ) คนหนึ่ง ที่ใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างมากในการ “ตัดใจ” ในที่สุดก็ทำสำเร็จ


เขาผู้นี้ชื่อเรียงเสียงใดไม่ปรากฏ แต่ชาวบ้านเรียกว่า “นายผ้าผืนเดียว” เนื่องจากทั้งสองคนผัวเมียมีผ้าห่มอยู่ผืนเดียว (ผ้านุ่งคนละผืน) ผลัดกันห่ม เวลาออกจากบ้านไปไหน ต้องออกไปทีละคน ไปพร้อมกันไม่ได้ เพราะมีผ้าคลุมกายอยู่ผืนเดียว

ถ้าใครเคยไปเมืองแขกก็จะเห็นว่าชาวภารตะเขาใช้ผ้าแพรผืนใหญ่ห่มไม่ต้องใช้เสื้อก็ได้ เอาผ้าผืนนั้นแหละคลุมส่วนบน

แต่ถึงจะยากจนปานนั้น ทั้งสองสามีภรรยาก็เป็นคนใจบุญ ชอบในศีลในธรรม วันหนึ่งมีเทศกาลฟังธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน เขาประกาศโฆษณาไปทั่ว พราหมณ์จึงปรึกษากับภรรยาว่า เขาประกาศเทศกาลสำหรับฟังธรรมแล้ว เราทั้งสองมีผ้าห่มเพียงผืนเดียว จะไปฟังธรรมพร้อมกันไม่ได้ต้องแบ่งกันไป ใครจะไปเวลาไหน

“พี่ไปกลางคืนเถอะ ฉันจะไปกลางวัน” ภรรยาออกความเห็น

“ดีเหมือนกัน กลางคืนไม่ปลอดภัย เป็นอันว่าสายวันนี้เธอไปก่อนแล้วกัน” สามีเห็นด้วย

เมื่อภรรยาไปฟังธรรมตลอดทั้งวัน กลับมาแล้ว พราหมณ์จึงอาบน้ำอาบท่ากินข้าวเสร็จก็ออกจากเรือนไปวัด เพื่อสดับพระธรรมเทศนาที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดง

เขานั่งอยู่ท้ายบริษัท ตั้งใจกำหนดตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็เข้าใจไปตามลำดับ เกิดปีติทั้ง ๕ สลับกันไปไม่ขาดสาย คิดใคร่จะบูชาพระธรรมเทศนาด้วยการถวายผ้าสาฎก (ผ้าห่ม) เป็นทาน ตั้งแต่ปฐมยามทีเดียว

:b39: ถึงตอนนี้ขอแวะข้างทางก่อน คำว่า ปีติ แปลว่าความอิ่มเอิบใจ ปีติมี ๕ ชนิด คือ
๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนชัน น้ำตาไหล
๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วครู่ รู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ แล้วก็หายไป
๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก รู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง
๔. อุพเพงคาปีติ ปีติโลดลอย ตัวเบา หัวใจฟู คล้ายกับจะลอยขึ้นสู่อากาศ
๕. ผรณาปีติ ปีติแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ทั้งหมดนี้มักเกิดขึ้นจากการที่จิตเป็นสมาธิ


พราหมณ์ฟังธรรม มีความเข้าใจในธรรม จิตเป็นสมาธิแน่วดิ่ง จึงเกิดปีติซาบซ่าน เกิดศรัทธาใคร่จะถวายผ้าสาฎกเป็นทาน แต่ทันทีที่คิดจะถวายทานก็เกิดความตระหนี่ขึ้นในใจ เพราะนึกถึงความจำเป็น

จำเป็นที่ต้องใช้ผ้าผืนนั้นอยู่ และไม่ได้ใช้คนเดียว หากต้องใช้ร่วมกันสองคน ตัวเองก็ต้องใช้ ภรรยาก็ต้องใช้ พราหมณ์คิดหนักว่า “ถ้าเราถวายผ้าผืนนี้เสีย เราก็จะไม่มีผ้าห่ม ภรรยาก็จะไม่มีเช่นกัน อย่ากระนั้นเลย ไม่ถวายดีกว่า”

เขานั่งสงบฟังธรรมต่อไป เกิดจิตประกอบด้วยศรัทธาขึ้นมาอีก อยากถวายผ้าเป็นทาน ชั่วครู่จิตตระหนี่ก็เกิดขึ้นมาอีก เป็นเช่นนี้แล้วเป็นเช่นนี้เล่า พระคัมภีร์พูดให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “เมื่อจิตศรัทธาดวงหนึ่งผุดขึ้นในใจ พราหมณ์ว่าจะถวายผ้า จิตตระหนี่ตั้งพันดวงก็เกิดขึ้นครอบงำศรัทธาจิตนั้นเสีย

หนึ่งต่อพันมันจะสู้ไหวหรือ ไหวไม่ไหวพราหมณ์แกก็สู้เต็มที่ ว่ากันว่าแกคิดแล้วคิดอีกตั้งแต่ปฐมยามจนถึงมัชฌิมยาม ก็คิดไม่ตกว่าจะถวายผ้าดีหรือไม่ดี จนในที่สุดล่วงเข้าปัจฉิมยาม แกก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่า “ต้องถวายแน่นอน” เท่านั้น ความตระหนี่ได้ปลาสนาการจากจิตใจแกทันที จิตเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา มีความอิ่มเอิบใจอย่างบอกไม่ถูก จนเผลอร้องอุทานดังๆ ว่า

“เราชนะแล้วๆ”


พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับฟังพระธรรมเทศนาในคืนนั้นด้วย ท่ามกลางบริษัทจำนวนมาก ทรงสดับเสียงร้องของพราหมณ์ว่า “เราชนะแล้ว” ทรงสงสัยว่าใครชนะอะไร

ถามไถ่ไปทั่ว จนได้คำตอบว่า พราหมณ์คนนั้นเอาชนะความตระหนี่ได้ตัดใจบริจาคผ้าผืนเดียวที่มีบูชาธรรม จึงทรงเลื่อมใสในการกระทำของเขา รับสั่งให้คนนำผ้ามาพระราชทานผ้าผืนใหม่ให้แก่เขา ๒ ผืน

พราหมณ์ได้นำผ้าคู่นั้นไปถวายพระพุทธเจ้า

พระราชาพระราชทานผ้าอีก ๔ คู่ ๘ คู่ ๑๖ คู่ ในโอกาสต่อมาแก่เขาตามลำดับ เขาก็ถือเอาเพียงคู่เดียว ที่เหลือนำไปถวายพระพุทธองค์หมด


การกระทำของพราหมณ์ทราบถึงพระราชา พระองค์ทรงเลื่อมใสมาก จึงพระราชทานผ้าแพรอย่างดีราคาแพงแก่เขา เขารับพระราชทานผ้ามาแล้ว คิดว่าคนอย่างเขาไม่ควรใช้ผ้าเนื้อดีขนาดนั้น จึงเอาไปขึงเป็นเพดานบนที่บรรทมของพระพุทธเจ้า ที่พระคันธกุฎีผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งขึงเป็นเพดานเรือนของตน ตรงที่ที่พระมาฉันภัตตาหารเป็นนิตย์ (แสดงว่าตอนนี้พราหมณ์แกได้รับพระราชทานทรัพย์จากพระเจ้าแผ่นดิน มีเงินพอที่จะนิมนต์พระมาฉันที่บ้านเป็นนิตย์แล้ว)

วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระคันธกุฎี ทอดพระเนตรเห็นผ้าแพร ทรงจำได้ ทูลถามว่า ใครทำการบูชาด้วยผ้าแพรผืนนี้ ได้รับคำตอบว่า พราหมณ์ผ้าผืนเดียวเป็นคนทำ ก็ยิ่งทรงชื่นชมในความใจบุญของพราหมณ์ จึงพระราชทานสิ่งของอย่างละ ๔ แก่พราหมณ์ คือ ช้าง ๔ ม้า ๔ กหาปณะ ๔ พัน ทาสี ๔ ทาสา ๔ บ้านส่วย ๔ ตำบล เป็นอันว่าตอนนี้พราหมณ์ผ้าผืนเดียวกลายเป็นเศรษฐีย่อยๆ ไปแล้ว

เรื่องราวของคนที่ทำบุญได้อานิสงส์ทันตาอย่างพราหมณ์ผ้าผืนเดียวนี้เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป แม้เหล่าสาวกเมื่อไม่มีเรื่องจะสนทนากัน ก็ยกเรื่องพราหมณ์ขึ้นมาเม้าธ์กันจนได้

พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนพระเหล่านั้นว่า ภิกษุทั้งหลายถ้าพราหมณ์นี้ถวายผ้าในปฐมยาม เขาจักได้รับพระราชทานสิ่งของอย่างละ ๑๖ ถ้าเขาถวายในมัชฌิมยาม เขาจักได้อย่างละ ๘ ที่เขาได้อย่างละ ๔ เพราะอานิสงส์แห่งการถวายทานในปัจฌิมยาม จะเห็นว่าความดีนั้นควรรีบๆ ทำ ถ้าขืนชักช้า จิตที่ศรัทธานั้นจะกลายเสีย แล้วจะไม่มีโอกาสทำความดี เสร็จแล้วได้ตรัส “โศลกธรรม” สั้นๆ ว่า “บุคคลควรรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตจากความชั่ว เมื่อบุคคลชักช้าในการทำความดี จิตจะยินดีในความชั่วเสีย แล้วจะอดทำความดี ว่าอย่างนั้นเถิด”


พราหมณ์ผ้าผืนเดียว แกต่อสู้กับความตระหนี่อยู่เกือบทั้งคืน ในที่สุดก็สามารถเอาชนะตัวเองได้

ไม่มีการชนะอะไรที่ยิ่งใหญ่เท่ากับการชนะใจตนเองครับ จะลงนรกหรือขึ้นสวรรค์ก็อยู่ที่ใจนี้แหละครับ ขอฝากไว้ตรงนี้ด้วย


:b8: :b8: :b8: คัดเนื้อหามาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


====================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2024, 22:17 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร