วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2015, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ก.พ. 2007, 20:39
โพสต์: 174


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
อุบาสกเปลี่ยน รักแซ่
ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง (อุศมสถาน)
ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี


รูปภาพ
เจดีย์อุบาสกเปลี่ยน รักแซ่ ที่บรรจุอัฐิของท่าน


อุบาสกเปลี่ยน รักแซ่

อุบาสกเปลี่ยน รักแซ่ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ ปีวอก เดือนยี่ วันอังคาร ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลห้วยจำปา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี.

อุบาสกเปลี่ยน มีพื้นนิสัยเป็นคนอดทน ประกอบอาชีพด้วยความขยันและซื่อสัตย์สุจริต มีความสันโดษในปัจจัยสี่มาตั้งแต่หนุ่ม ตลอดเวลาครองเรือน ไม่มีความทะเยอทะยานในความเป็นอยู่ของชีวิต ที่จะเอาดีเอาเด่นอย่างในโลกๆ จนเกินไป เป็นผู้มีความพอ ชอบความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ จึงอยู่ในชีวิตครองเรือนด้วยความสุขสงบ.

ครั้งหนึ่ง อุบาสกเปลี่ยน และเพื่อนรวมเป็น ๓ คน ได้พากันมาถางป่า ณ บริเวณใกล้เขาสวนหลวง เพื่อบุกเบิกเป็นที่นา เมื่อได้โค่นตัดถางป่า ให้เป็นท้องนาได้พอสมควรแล้ว เพื่อนคนหนึ่งได้มาบอกว่า มีป่าอีกแห่งหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ให้อุบาสกเปลี่ยนไปจับจองไว้ จะได้บุกเบิกเป็นนาต่อไป อุบาสกเปลี่ยนตอบว่า

"เราไม่เอาหรอก เท่าที่ทำไว้นี้ก็พอที่จะให้พวกลูกๆ ได้อาศัยทำกินตามสมควรแล้ว แกเอาไว้ก็แล้วกัน"

เพื่อนคนนั้นบอกว่า "เราก็ทำไว้พอแล้วเหมือนกัน เท่าที่มีนี้ก็แบ่งให้ลูกได้ทั่วกันแล้ว"

เมื่อสองคนไม่ประสงค์จะได้ที่ไว้อีก เพราะต่างก็มีความพอแล้ว จึงไปบอกเพื่อนอีกคนหนึ่งให้ไปจองที่นั้น เพื่อนคนนั้นก็ปฏิเสธ ด้วยเหตุผลเดียวกัน.

ต่อมากำนันซึ่งเป็นญาติของเพื่อนคนหนึ่ง คือคนที่สาม ทราบว่าทั้ง ๓ คนต่างก็ไม่ต้องการที่ดินอีก จึงคะยั้นคะยอให้คนที่สามไปจับจองที่นั้น แล้วกำนันเลยจัดการจับจองให้เสียเลย ในที่สุดที่แปลงนั้นจึงตกเป็นของคนที่สาม

นี่เป็นเรื่องราวของความสันโดษของคนทั้งสาม เขามีความสุขกันได้โดยไม่ต้องการอะไรมากมายเกินตัว ซึ่งหาฟังได้ยากในสมัยนี้.

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้มีจิตเมตตา โอบอ้อมอารีแก่ญาติมิตร จนเป็นที่รักใคร่นับถือแก่เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงตลอดมา จนถึงพ.ศ. ๒๔๘๘ จึงได้สละการครองเรือนเข้ามาอยู่ปฏิบัติธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวงรวม ๓ ท่านด้วยกัน คือ อุบาสกเปลี่ยน รักแซ่ และ อุบาสิกาแดง รักแซ่ พร้อมด้วยท่านอุบาสิกากี นานายน (ผู้เป็นหลานของอุบาสกเปลี่ยน) เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ตรงกับวันแรม ๒ ค่ำ วันอังคาร เดือน ๗ พ.ศ. ๒๔๘๘

ชีวิตประจำวันที่อยู่ปฏิบัติธรรม ท่านชอบอยู่เงียบสงบแต่ผู้เดียว เป็นผู้มักน้อย สันโดษ และไม่ชอบคลุกคลี แม้ทำกิจการงานก็ชอบทำอยู่เงียบๆคนเดียว ตลอดจนถึงเรื่องอาหารการรับประทาน ท่านชอบเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ชอบอาหารจุกจิก หรือ อาหารหลายอย่าง ประจำวันใช้ผักจิ้มน้ำพริก ไม่ใคร่ได้รับประทานเนื้อสัตว์ แม้อย่างนี้ก็มีร่างกายแข็งแรง ตามธรรมดาเมื่อรับประทานอาหารแล้ว ก็มักไปอยู่ในป่ารวกตามเชิงเขา เพราะบริเวณของสถานที่ปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวงติดกับเชิงเขา ท่านออกกำลังถางป่าบ้างเล็กน้อย แล้วก็พักผ่อนอยู่คนเดียวเงียบๆ

ท่านได้ช่วยขวนขวายในประโยชน์ส่วนรวม สละกำลังกายให้เป็นประโยชน์แก่สถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวงเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความสะดวกในความเป็นอยู่ ที่อยู่ที่อาศัยแก่ผู้ปฏิบัติเหล่านี้ด้วยความเมตตาเสมอหน้า ไม่เลือกบุคคล และไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่าท่านเป็นผู้เต็มเปี่ยมอยู่ด้วยคุณธรรม เป็นเหตุให้ผู้ที่เข้ามาพักอาศัยได้เรียนแบบอย่าง และเกิดเลื่อมใสใสปฏิปทาของท่านอีกด้วย

ข้อปฏิบัติของท่านนับว่าเป็นการแสดงธรรมอยู่ในตัว คือ มีความว่างให้เขาดู มีความสงบให้เขาดู แม้ขณะมีทุกขเวทนาบีบคั้น

มีปกติพูดน้อย มีการปฏิสันถารผู้อยู่ผู้ไปด้วยคำพูดที่ให้เกิดประโยชน์ในด้านจิตใจเสมอ

วันหนึ่งๆจะไม่พูดเรื่องอื่น นอกจากมีกิจจำเป็น

เท่าที่ได้เห็นการปฏิบัติของท่านและได้เข้ามาปฏิบัติร่วมสถานที่กับท่านเป็นเวลานาน

ก็ได้เห็นและซาบซึ้งในจิตใจอย่างนี้

อนึ่ง ท่านเป็นผู้อ่อนน้อม รับฟัง ไม่มีทิฏฐิมานะ แม้จะรับคำชี้แจงเหตุผลหรือแนะนำอย่างไร ก็ไม่เคยแสดงความกระด้าง เป็นผู้มีความเคารพธรรมอยู่เป็นนิจ ท่านมีคารวะต่อผู้แนะนำ คือ อุบาสิกา กี ผู้เป็นหลาน ด้วยความกตัญญูธรรมอย่างปราศจากการถือตัวในเรื่องเพศเรื่องวัย โดยถือเอาคุณวุฒิเป็นใหญ่

ข้อนี้ก็เป็นภาพที่ทุกคนเห็นความอัศจรรย์ของธรรมอย่างสุดซึ้ง

สำหรับการปฏิบัติธรรม ท่านไม่เคยรู้ธรรมะมาก่อน เพราะไม่รู้หนังสือ จึงมีการปฏิบัติด้วยการอ่านจิตใจของตนเรื่อยๆมา ด้วยการอบรมจิตให้สงบ และพิจารณาให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้า คือ กายกับใจนี้ เพราะไม่เคยศึกษาธรรมะในหนังสือ หรือจากตำรับตำรา ฉะนั้นจึงได้มีการพูดสั้นๆ เป็นภาษาจิตล้วนอย่างซ้ำๆ ซากๆ ตามความรู้สึกด้านใน แต่ก็ได้ดับทุกขืในด้านจิตใจได้เสมอมา ซึ่งจะได้นำคำแสดงหน้าข้อปฏิบัติที่ท่านแสดงบนหอประชมธรรม อยู่เป็นประจำแต่เพียงย่อๆดังต่อไปนี้

"รู้ว่าง วางเฉย ไม่มีอะไร"

"อยู่ว่างๆ เปล่าๆ ไม่มีอะไร"

"จิตใจเป็นธรรม นำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ กองกิเลส"

ทุกๆ ประโยคเหล่านี้ เป็นคำพูดที่ไม่ลืมเลือน

ต่อมาตอนหนึ่งท่านได้สนทนากับผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมท่านนั้นได้บันทึกไว้ดังนี้

วันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๙๔ ได้สนทนาธรรมกับคุณลุง เมื่อแรกฟังแล้วงง ดูช่างเป็นปัญหา ทำให้เก็บเอามาคิดได้ประโยชน์จึงบันทึกไว้

คุณลุงแสดงว่า

"ดับหมด เป็นหมด"

"ผมใช้ภาวนา ธรรมดา รู้อยู่"

"พิจารณาแยกออกหมดแล้วมันก็ไม่มีอะไร"

"มันก็ จิตดูจิต เป็นเอง"

"พระพุทธเจ้าท่านเห็นโลกธรรมแปดนั่นเอง

อย่างไรทุกข์เกิด มันก็ดับไปเอง"

"บางทีผมก็ใช้ภานา จิตว่าง วางเฉย

ถึงพระสามองค์

บางทีก็มีปรุงเหมือนกันแต่ผมก็เฉยเสีย"

นี่เป็นคำพูดที่ลึกซึ้งของคุณลุง จึงมาคิดได้ความว่า

ดับหมด เป็นหมด ก็คือ เห็นทุกสิ่งเป็นของดับหมด เป็นธรรมดาทั้งนั้น;

ผมใช้ภาวนาธรรมดา รู้อยู่ นั้น มิได้หมายความว่า

ท่านบริกรรมเป็นองค์ภาวนา

แต่ว่ามีสติติดต่อเห็นทุกสิ่งเป็นธรรมดาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

เพราะฉะนั้น ธรรมดา รู้อยู่ ก็คือ รู้ธรรมดานั่นเอง

แต่ความรู้ในขั้นนี้เป็นความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง

เรียกว่า มีทั้งญาณทั้งปัญญา รวมตัวกัน

คือ ทั้งรู้ และ ทั้งเห็นเป็นอันเดียวกัน;

ที่ว่า พระพุทธเจ้าเห็นโลกธรรมแปด ก็คือ

เห็นธรรมดาชัดแล้วจิตก็เป็นกลางวางเฉยไม่ยินดียินร้าย

และไม่หวั่นไหวไปตามธรรมดา

ที่ว่า บางทีผมก็ใช้ภาวนา จิตว่าง วางเฉย

นั่นก็คือ ความรู้เฉยติดต่อเป็นประจำ ไม่ใช่บริกรรมเป็นคำพูด

จึงได้เห็นความเป็นเองของสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ

เรียกว่าถึงพระสามองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในตัวเอง

รวมความแล้วก็คือ เห็นธรรมชัดแล้ว มันก็ไม่มีอะไร ปล่อยวางในตัวเอง

ที่จะเห็นธรรมดาในชั้นนี้ ต้องมีทั้งญาณและปัญญารวมตัวกัน

เป็นความที่ทะลุไปถึงความไม่มีอะไร

เห็นสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างเดียวกัน

จึงเป็นการปล่อยวาง ว่างเฉย

เห็นสภาพความเป็นเองของรูปนาม

ทั้งที่เป็นภายนอกและภายในโดยทั่วถึง

ถึงจะมีผัสสะกระทบก็วางเฉยได้ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว

เป็นความว่างที่ไม่ติดอยู่กับอะไร

ว่างโล่ง เบาสบายอย่างนี้เอง

ทำให้เห็นจุดหมายปลายทางว่า คงจะเย็น แสนจะเย็น

ชุ่มชื่นโดยไม่ต้องรดน้ำ

ในขณะนั้นมีตื่นเต้น หายใจเหนื่อยๆแล้ว

ก็รู้ว่าเป็นธรรมดา อาการนั้นก็หายไป.

หลังจากนี้ท่านก็พูดซ้ำๆ ตลอดมาเป็นประจำ

รวมทั้งที่แสดงในเวลาประชุม ก็มักแสดงว่า

"รู้อยู่ ก็ว่างอยู่"

"รู้ว่าอะไรๆ มันไม่เที่ยง แล้วจะไปยึดอะไร"

"ดับหมด เป็นหมด"

"หมดเกิด หมดตาย"

"นามรูปขันธ์ห้าไม่เที่ยง ใครจะไปบังคับบัญชามันได้

ก็มันไม่มีคัวของมันเอง"

"รู้เอง เป็นเอง เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบานด้วยธรรม"

คำพูดเหล่านี้นับว่าเป็นคำพูดที่ประจำชีวิตของท่านเสมอ

ซึ่งผู้ปฏิบัติผู้หนึ่งเกิดความชัดใจและมั่นใจ ในคำพูดของท่าน

เมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ตามคำที่ท่านแสดงบนหอประชุมว่า

ดับหมด เป็นหมด หมดเกิด หมดตาย

ผู้ปฏิบัติซึ้งถึงด้านใน...ซึ้งถึงคำว่า อมตธาตุ

แม้เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ ก็ทำให้ซึ้งถึงสภาพธรรมที่พ้นเกิด พ้นตาย

พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง

จากคุณค่าที่ท่านได้แสดง ย้ำแล้ว ย้ำอีก

พร้อมกับเป็นเวลาที่ผู้ปฏิบัติกำลังศึกษาอยู่ โดยเฉพาะสิ่งนี้

ซึ่งทำให้เกิดปีติในตัววเอง นับว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ในชีวิต

ที่ได้พัดพาเข้ามาพบท่านผู้ทรงคุณหลายท่านในสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้

ผู้ปฏิบัติหลายท่านก็มีทัศนะเป็นอันเดียวกัน

หลายปีต่อมา ร่างกายของท่านเริ่มหมดกำลังไปทีละน้อยๆ แม้อย่างนี้ก็ไม่ขาดร่วมประชุม ยังพยุงตัวเองขึ้นฟังธรรมด้วยความเคารพธรรมอยู่มิได้ขาด นอกจากเวลาป่วย

ท่านได้เริ่มป่วยมากเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ เมื่อเริ่มป่วยใหม่ๆ มีผู้หนึ่งไปเยี่ยม ถามว่า "คุณตาเป็นอย่างไรบ้างคะ"

ท่านลุกขึ้นยิ้มตอบว่า "ไม่เป็นไร อยู่เฉยๆว่างๆรู้ตัวเอง ปล่อยตัวเองเสียแล้ว ก็ไม่เจ็บป่วยอะไร"

ผู้เยี่ยมตอบรับว่า "ค่ะ หนูก็เห็นคุณตาไม่ได้เป็นอะไร คุณตาป่วยแต่ร่างกายแท้ๆ"

ผู้เยี่ยมเห็นอากัปกิริยาของท่านแล้ว เป็นภาพที่เตือนสติตนเองอย่างมาก ผู้เยี่ยมทุกคนได้รับประโยชน์ในด้านจิตใจเป็นส่วนมาก

ต่อมามีท่านหนึ่งให้ยาบอกว่าจะได้ชื่นๆใจ ท่านก็พูดว่า "ไม่ต้องก็ได้ จิตใจมันก็เบิกบานสดชื่นอยู่แล้ว"

วันต่อมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ลูกสาวได้ไปเชิญหมอมาตรวจ หมอมาถึงก็ให้ลองปรอท ปรอทก็ขึ้นร้อยหนึ่ง

หมอพูดว่า "อาการไม่มากนักอยู่ในขั้นธรรมดาของคนแก่ที่ไม่สบาย"

ท่านถามหมอว่า "ใครให้มา"

หมอบอกว่า "ลูกสาวไปตามมา"

ท่านบอกว่า "ทีนี้ไม่ต้องมานะ เขาไปตามก็ไม่ต้องมา"

หมอถามว่า "ใช้ยาอะไรอยู่"

ท่านชี้ไปขวดยาเม็ดสีแดง แต่พูดว่า "ลองไม่ใช้ยามา ๓ วันแล้ว"

หมอถามว่า "ที่แล้วมาอาการเป็นอย่างไร"

ท่านตอบว่า "ก็ไม่เป็นอะไร สบายดีอยู่ว่างๆ วางเฉย ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย จิตใจเป็นธรรม"

หมอว่า "แกไม่ได้เป็นอะไร แกไม่ให้รักษา แกมีความแน่ใจอะไรของแกแล้ว"

ลูกๆจะให้ฉีดยาสักเข็ม แต่หมอว่า "แกไม่ได้เป็นอะไร จะฉีดทำไม" แล้วหมอก็ลากลับไป

ต่อมาพวกลูกๆเข้าไปใกล้ชิด ท่านบอกกับลูกสาวว่า "ไปตามหมอมาทำไม ทีนี้อย่าไปตามมานะ ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วมาปฏิบัติทำไมล่ะ"

แล้วนิ่งเงียบไม่พูดอะไรอีก

ต่อมาหลายวัน ผู้ปฏิบัติท่านหนึ่งทำน้ำโสมชงเพื่อให้ชุ่มคอให้ดื่ม เห็นรู้สึกกลืนไม่ใคร่สะดวก จึงบอกให้ค่อยๆดื่ม แล้วจะทำแป้งมาให้รับประทานเพื่อจะได้ระงับเวทนา

ท่านว่า "ก็เวทนาไม่มี แล้วจะมาดับอะไร" ผู้ให้เลยต้องนิ่งไป

ขณะป่วยได้พยายมยามช่วยตัวเองทุกระยะ โดยไม่รบกวนใคร เสร็จแล้วก็นอนเฉยๆตลอดวันและคืน หลังจากป่วยแล้วหลายวันได้ช่วยตัวเองอยู่โดยอาการอย่างนี้ วันหนึ่งขณะลุกขึ้นยืนจะเข้าห้องน้ำจึงได้ล้มฟาดลงมาทั้งยืน รุ่งขึ้นมีผู้ปฏิบัติถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง คงตอบว่าไม่เป็นอะไรเช่นเคย อยู่เฉยๆไม่เป็นอะไร ผู้ปฏิบัติหลายคนคิดจัดแจงให้ความสะดวกเรื่องห้องน้ำ

ท่านกลับพูดว่า "ช่างปรุงช่างแต่งกันไปเอง"

มีผู้หนึ่งถามว่าแล้วเวทนาไม่รวบรัดคุณตาบ้างหรือ

ก็ตอบว่า "ทำไมไม่รวบ ทำไมไม่รัด แต่รู้ดับ รู้ปล่อยเสียแล้ว มันไม่มีอะไร"

ต่อมาวันหนึ่ง ผู้ปฏิบัติสนทนากันถึงเรื่องขันธ์ห้า ว่าเมื่อวันประชุม ท่านให้พวกเราพิจารณาให้รู้ความลับของขันธ์ห้า ถามกันว่าอะไรเป็นความลับของขันธ์ห้า

คุณตาได้ยินจึงพูดขึ้นว่า "ก็ความไม่เที่ยงน่ะ ซี เป็นความลับ"

มีผู้หนึ่งถามว่า ใช่หรือ

ท่านยืนยันว่า "ทำไมจะไม่ใช่"

ต่อจากนี้เป็นเวลาที่ป่วยหนัก ซึ่งผู้ปฏิบัติได้บันทึกข้อความเกี่ยวกับธรรมะในด้านจิตใจของท่านไว้ดังต่อไปนี้

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๐๘

หลาน (ที่ร้านธรรมดานิยม) มาเยี่ยม ถามว่า "คุณลุงเป็นอะไรบ้างคะ"

ตอบว่า "จิตใจเป็นธรรมนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ออกจากกิเลส

อยู่ว่างๆ เปล่าๆ ไม่ยึดถืออะไร ไม่มีอะไร

รู้ของไม่เที่ยง จิตใจว่างไม่ยึด ไม่ถือ"

วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๐๘

ผู้เยี่ยมถามว่า "วันนี้คุณตาเป็นอย่างไรบ้างคะ"

ตอบอย่างวันก่อน "จิตใจเป็นธรรม นำผู้ปฏิบัติออกจากกองทุกข์กองกิเลส

จิตใจรู้ว่าง ไม่มีอะไร ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย

อยู่ที่ว่างๆ เสียแล้วก็ไม่มีอะไร

รู้เองเห็นเอง จิตใจอยู่ที่ไม่ยึดถือ มันก็ว่างจากทุกข์"

วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๐๘ เช้า

ท่านผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งไปเยี่ยม

คำแรกคุณตาพูดขึ้นว่า "จิตใจเป็นธรรม นำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ จิตใจสว่างไสว"

ท่านผู้ปฏิบัติธรรมตอบว่า "ค่ะ ธรรมอย่างนี้เป็นของพ้นโลก"

ท่านผู้ปฏิบัติธรรมปรารภธรรมต่อว่า "พระธรรมราชามีอยู่ในเรือนไฟไหม้นี้"

คุณตาขานรับคำอย่างหน้าสดชื่นเบิกบาน

ท่านผู้ปฏิบัติธรรมพูดว่า "ไม่เกิดไม่ดับ เป็นลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นจิตที่บรรลุนิพพาน"

ท่านก็ขานรับทราบอีก

มีผู้พยาบาลให้ยารับประทาน

ท่านพูดว่า "จิตมันว่างเปล่าอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ยาอะไรๆ ก็ดี แต่สู้จิตว่างเปล่าไม่ได้"

วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๐๘

ท่านได้พูดกับผู้มาเยี่ยมว่า "จิตใจเป็นธรรมนำผู้ปฏิบัติออกจากกองทุกข์กองกิเลส อย่างจัดแจงอะไรจะอยู่เฉยๆ"

คำว่าจะอยู่เฉยๆ พูดอยู่เสมอ เพื่อจะรู้ภายในให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๐๘ เวลา ๑๐.๐๐ น.

มีบุตรหลานมาเยี่ยมหลายคน มีเสียงพูดคุยกัน ขณะที่มีลูกนั่งอยู่ใกล้ ท่านได้ยกมือขึ้นสองข้างแล้วพูดว่า

"ข้างหนึ่งเป็นความว่างไม่ปรุงแต่งอะไร ข้างหนึ่งปรุงแต่ง เกิดดับกันไป ไม่ปะปนกัน

ผู้พยาบาลพยุงให้นอน ท่านพูดว่า "จิตใจเป็นธรรม"

ลูกๆ จะจัดแจงอิริยาบถให้เรียบร้อย

ท่านว่า "ขันธ์ห้ามันเป็นทุกข์จะไปจัดแจงอะไร"

.....................................................
เมื่อเจ้าจักเห็น จงเห็นฉับพลัน พอตั้งต้นคิด หนทางปิดตัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร