วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ย. 2012, 09:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
พระอาญาครูธรรม (พระครูสกลสมณกิจ)
พระอุปัชฌาย์ของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

พระธรรมเทศนาหลวงปู่มั่น
ที่ยังให้หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ศรัทธาในการปฏิบัติ
เมื่่อหลวงปู่ฝั้นได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นครั้งแรก


บันทึกโดย พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ
คัดจาก : อาจาริยเถรประวัติ

:b45: :b45:

เมื่อพระภิกษุฝั้น อาจาโร ได้อุปสมบทแล้ว
ได้ศึกษาและปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาญาครูธรรม เป็นเวลา ๒ ปี
ครั้นถึงเดือน ๓ ข้างขึ้น ปีพุทธศักราช ๒๔๖๓
อาญาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ
พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรหลายรูปออกเที่ยววิเวกเดินธุดงค์รุกขมูล
มาถึงบ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
ได้เข้าไปพักปักกลดอยู่ในป่า อันเป็นป่าช้าข้างบ้านม่วงไข่
(ปัจจุบันที่ตรงนั้นได้สร้างเป็นวัดแล้ว ชื่อว่า วัดป่าภูไทสามัคคี)

ส่วนญาติโยมชาวบ้านม่วงไข่ ได้ทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาพัก
ปักกลดอยู่ในป่าช้าข้างหมู่บ้านของตน พากันดีใจเป็นอย่างมาก
เพราะทุกคนก็อยากจะเห็นพระธุดงค์ จึงได้กระจายข่าวให้ได้ทราบทั่วถึงกันอย่างรวดเร็ว
คณะหญิงชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันออกไปต้อนรับ
ได้ช่วยปัดกวาดจัดทำที่พักปักกลดและทางเดินจงกลมตลอดถึงน้ำดื่มน้ำใช้ถวาย
คนผู้เฒ่าผู้แก่ก็นำเอาน้ำร้อนน้ำอุ่น หมากพลูบุหรี่ไปถวาย ตามธรรมเนียมของคนสมัยนั้น
เสร็จแล้วโยมที่เป็นหัวหน้าผู้เป็นนักปราชญ์อาจารย์
พากันนั่งคุกเข่ากราบพระ ๓ หน แล้วนั่งสงบเรียบร้อย
คอยฟังธรรม คำอบรมจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ต่อไป

สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วยในคราวนั้นมี พระอาญาครูดี,
พระภิกษุฝั้น อาจาโร, พระภิกษุกู่ ธมฺมทินฺโน
ได้มีใจเลื่อมใสศรัทธา
ชวนกันออกไปฟังพระธรรมเทศนาอบรมธรรมปฏิบัติด้วย

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านได้แสดงธรรมเทศนาสั่งสอน
เริ่มตั้งแต่การให้ทาน การรักษาศีล ตลอดถึงการภาวนา ว่ามีผลอานิสงส์มาก
แต่การที่ผู้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ฟังธรรม
กระทำเจริญกรรมฐานการภาวนา ที่ไม่ได้อานิสงส์ผลมากนั้น
เพราะพวกเรายังมีการเห็นผิด มีความนับถือ และเชื่อถือผิดจากทางธรรม
ที่พระพุทธองค์นำพาสาวกประพฤติปฏิบัติมา


ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านเรายังบวงสรวงนับถือบูชาหอทะคาอารักษ์
(เรียกตามภาษาพื้นบ้านสมัยก่อน)
ภูตผีปีศาจ พระภูมิเจ้าที่ ผีสางนางไม้
เคารพนับถือเอามาเป็นที่พึ่งตามความเข้าใจผิดของพวกเรา
โดยเข้าใจว่าของเหล่านั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ ดลบันดาล คุ้มครอง
ปกปักรักษาและป้องกันภยันตรายได้จริง มีการฆ่าสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า
มีวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ตลอดถึง เหล้า สุรา ยาดองของมึนเมา
เอามาทำพิธีกรรม เซ่นสรวง บวงสรวง ทะคา ปีศาจ วิญญาณภูตผี
พระภูมิเจ้าที่ เทวาอารักษ์ เขาเหล่านั้นจะได้มาเสวยเครื่องสังเวย
ที่เอามาทำการเซ่นสรวงหรือไม่ ไม่มีใครเห็น
เห็นแต่พวกเจ้าเองนั่นแหละอิ่ม เมา มึนเมามัวซัวเสียครึกครื้นกันทั้งบ้าน

แล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะมาช่วยอะไรเราไม่ได้ มีแต่จะมาก่อกวนก่อกินกับพวกเราร่ำไป
รอบปีหนึ่งๆ ก็ต้องเสียวัวเสียควาย หมู เป็ด ไก่ ให้มันทุกๆ ปี
พวกเรามีความเชื่อถือมาผิดๆ เพราะความเห็นผิดนี้แล
ไม่ใช่ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สาวก อุบาสก อุบาสิกา ประพฤติปฏิบัติมา
การไหว้พระ ภาวนา รักษาศีล ให้ทาน การทำบุญกุศลจึงไม่มีผลอานิสงส์มาก
ให้พากันเลิกละความเชื่อถือผิดตามความที่เคยเชื่อถือ
และนับถือผิดมาแล้วนั้นเสียตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
อย่าได้เกี่ยวข้องกับมันอีกอย่างเด็ดขาด
คุณพระรัตนตรัยเท่านั้นเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของพวกเรา


พระพุทธเจ้า ๑ พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑
ทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่า “พระรัตนตรัย”


:b39:

พระพุทธเจ้า

นั้นพระองค์ทรงคุณ คือ กายกรรม การกระทำการใดๆ ทางกาย
พระองค์ทรงละเว้นการกระทำในทางที่ผิด
มีการเบียดเบียนตนและคนอื่น ให้เกิดโทษ เป็นทุกข์ภัยอันตรายแก่ตนเองนั้นเสีย
และพระองค์ทรงกระทำแต่ในทางที่ถูก ไม่เบียดเบียนตน
และใครคนอื่นเขาตลอดถึงสัตว์อื่นด้วย

ทำแต่คุณความดีที่ให้เกิดประโยชน์แก่ตนทั้งบุคคลอื่นและสัตว์อื่น
กายของพระองค์ทำแต่กรรมดี
มีความบริสุทธิ์ผ่องใสสะอาดปราศจากกรรมอันมัวหมองต้องโทษ
พระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงคุณคือ วจีกรรม
การกล่าวออกเสียง ชี้แจงแสดงพูดออกเสียงมาทางวาจา
พระองค์ทรงเว้นจาก การกล่าวเท็จ พูดคำหยาบ คำส่อเสียด
คำเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไม่เป็นประโยชน์ทั้งตนและคนอื่น

พระองค์ทรงพูดแต่คำสัตย์จริง เป็นคำที่มั่นคงตั้งอยู่ตลอดกาล
ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
จึงเป็น สวากขาโต ภควาตา ธัมโม
พระองค์ทรงกล่าวแต่คำที่จะทำให้เกิดความสมัครสมาน
ประสานความสามัคคีในทางดีมีประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ตลอดถึงประโยชน์ส่วนรวมพร้อมทั้งประโยชน์ชาตินี้และชาติหน้า
และประโยชน์อย่างสูงสุดชั้นวิมุติเฉทปหาน

พระองค์ทรงคุณ คือเว้นจากการพูดคำหยาบคาย
ซึ่งเป็นคำพูดที่แสลงหูของผู้ที่ได้ยินได้ฟัง
ทำให้เป็นทุกข์โทษไม่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
พระองค์ทรงคุณคือ เว้นจากคำพูดอันเหลวไหลไร้สาระ
พูดแต่คำกอปรด้วยประโยชน์
เป็นคำพูดที่สะอาดหมดจดปราศจากมัวหมองธุลีละอองใดๆ ทั้งสิ้น
จนพระองค์ทรงได้บรรลุถึงซึ่งขั้นชั้น วจีวิสุทธิคุณ อันยอดเยี่ยม

พระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงคุณคือ มโนวิสุทธิ
มีจิตใจหมดจดสะอาดผ่องใสบริสุทธิ์ปราศจากละอองธุลีอันเป็นมลทิน
อันมีความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
พระองค์มีกาย มีวาจา มีจิตบริสุทธิ์ปราศจากเครื่องเศร้าหมอง
คือ กิเลสอาสวะไม่มีใน กาย วาจา จิต
พระองค์ได้บรรลุถึงขั้น วิสุทธิคุณ อันยอดเยี่ยม
ซึ่งไม่มีมนุษย์และสัตว์ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ใดๆ ในโลก
ได้บรรลุถึงคุณนามว่าวิสุทธิคุณอย่างยอดเยี่ยมนี้เลย

พระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงพระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด
แก่พวกเราและสัตว์ทั้งหลายในโลกหาประมาณมิได้
พระองค์ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากในพระวรกาย
ท่องเที่ยวไปโปรดเทศนาแนะนำพร่ำสอนตามคามเขตนิคม
ทุกแห่งทุกหน ทุกบ้านทุกตำบล ตามหมู่บ้านชนบท
บ้านน้อยใหญ่ ตามไร่นาป่าเขา จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐี
คฤหบดี มีจนคนใดอย่างไรไม่เลือก
พระองค์ทรงชักนำพร่ำสอน อนุเคราะห์ สงเคราะห์เวไนยชนเหล่านั้น
ด้วยอาศัยพระมหากรุณาเมตตาธิคุณของพระองค์อย่างล้นฟ้า ล้นฝั่ง
ไม่เคยบกพร่องแม้แต่น้อยเลย จึงได้ชื่อว่าพระองค์ทรงพระมหากรุณาธิคุณ

พระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงมี พระปัญญาคุณ
เป็นคุณอันสำคัญยิ่งเพราพระปัญญาคุณนี้เอง
ทำให้พระองค์ได้สำเร็จในการตรัสรู้บรรลุถึงอรหัตตคุณ
เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเอกในโลก

ธรรมที่พระองค์ทรงได้บรรลุถึงซึ่งการตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองเหล่านั้น
พระองค์ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากใครคนใดที่ไหนมาก่อนเลย
พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันปรีชาหลักแหลม เฉลียวฉลาด องอาจแกล้วกล้า
ยังความสามารถให้ได้บรรลุถึงคุณคือ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธ
ด้วยลำพังพระองค์เองอย่างเยี่ยมยอดเป็นเอกในโลก
กับด้วยเทวดา มาร พรหม ในประชาชน กับด้วยสมณะและพราหมณ์
กับด้วยเทวดา และมนุษย์
สูงสุดไม่มีใครและสิ่งใดจะมาเปรียบเทียบเทียมเท่าพระมหาปัญญาคุณของพระองค์ได้

พระมหาปัญญาคุณอันเลิศประเสริฐสูงสุดนี้เอง
ทำให้พระองค์มีความสามารถได้ลุถึงซึ่งความสำเร็จพระมหาสัพพัญญุตญาณคุณ
เป็นคุณธรรมยิ่งใหญ่สูงสุดกว่าโลกทั้ง ๓ คุณของพระพุทธเจ้านั้นมีมาก
ไม่สามารถที่นำเอามาแสดงที่นี้ให้สิ้นสุดได้
ขอให้พวกเราศึกษาจดจำไว้โดยอย่างย่อเพียง ๓ อย่างก่อน
คือ ทรงพระมหาปัญญาคุณ ๑ ทรงพระมหาบริสุทธิคุณ ๑ ทรงพระมหากรุณาธิคุณ ๑
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายพระองค์ทรงไว้ด้วยดีแล้ว
ซึ่งพระมหาปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ
พระสัพพัญญคุณ พระสัพพอนันตคุณ ดังแสดงมาแล้วนี้

ให้พวกเราทั้งหลายทุกท่านทุกคนตั้งจิตน้อมนึกระลึกถึงพระคุณของพระองค์
ทุกวันทุกเวลา เคารพนบไหว้น้อมกราบบูชา
นับถือเป็นสรณะ ที่พึ่งของตนทุกคนทุกท่านเถิด
จักได้เป็นมหากุศล อันล้ำเลิศประเสริฐนักแล

ที่พวกเรานบไหว้บูชา เซ่นสรวงเทวดาอารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ ภูตผีปีศาจ อะไรเหล่านี้
มันไม่สามารถที่จะช่วยอะไรเราได้ อย่าพากันเชื่อถือและนับถือผิดๆ กันต่อไป


:b39:

พระธรรม

นั้นคือสภาวะที่ให้เกิดความสุขและทุกข์
จากบุคคลที่ฉลาดและไม่ฉลาดกระทำขึ้นมานี้เอง
เป็นความจริงมีตลอดกาล อย่างมั่นคง เป็นของประจำโลก
จึงเรียกว่า ธรรมเป็นสภาพที่ดำรงทรงไว้ซึ่งความจริง

พระธรรมนั้นบางอย่างเมื่อบุคคลกระทำแล้ว ให้เกิดความสุข
เป็นคุณความดี มีประโยชน์แก่ตนผู้ทำก็มี
บางอย่างทำแล้วกลับให้เกิดทุกข์เป็นโทษภยันตรายแก่ตัวผู้กระทำก็มี
บางอย่างทำแล้วเป็นกลางๆ ไม่เป็นคุณเป็นโทษก็มี
แต่ที่นี่จัดแสดงธรรมในส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษเท่านั้น

บุคคลใดที่ยังไม่ฉลาดไม่รอบรู้ในทางธรรม
เขาย่อมฆ่าสัคว์ ลักทรัพย์ ประพฤติมิจฉาจารทางกาม
เป็นความทุจริตทางกาย เรียกว่า กายทุจริต บ้าง

เขาย่อมนำเอาความไม่จริงมาพูดทั้งๆ ที่รู้เรียกว่าพูดเท็จ
ย่อมพูดส่อเสียดนำเรื่องยุยงให้แตกร้าวซึ่งกันและกัน
พูดคำหยาบไม่เสนาะเพราะหูแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง
บ้างพูดเพ้อเจ้อเลอะเทอะเหลวไหลไร้ประโยชน์
เป็นการทุจริตทางวาจาที่เรียกว่า วจีทุจริต

เขาย่อมมีความละโมบโลภเพ่งเล็งในวัตถุข้าวของของคนอื่นมาเป็นของตน
เรียกว่า อภิชฌาวิสมโลภะ คิดปองร้ายผูกอาฆาตบาดหมางจองเวรจองผลาญ
เป็นการคิดพยาบาทย่อมมีความคิดเห็นผิดจากความเป็นธรรม
ที่มีเหตุผลตามความเป็นจริง เป็นมิจฉาทิฎฐิ นี้เรียกว่า มโนทุจริต

คนไม่ฉลาดย่อมทำกรรมเป็นการทุจริต ด้วยกาย วาจา จิต
เป็นอกุศลธรรม คือ อกุศล อันเป็นที่มาจากจิตที่ประกอบกับกิเลส
มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลชวนให้ทำบาป
อปุญญาภิสังขารเป็นปัจจัย อาศัยมาจากอวิชชา เป็นนายช่างผู้ปรุง
ชวนจิตของคนผู้ไม่ฉลาดให้ทำกรรมที่เป็นบาปอกุศลให้ผลเป็นโทษ
ได้รับความเสวยทุกข์ทรมานกายและจิตใจ

อาศัยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์จึงได้ทรงชี้แจง
แสดงพร่ำสั่งสอนชาวเราผู้ยังโง่ ยังไม่ฉลาดทั้งหลายเหล่านี้ว่า
สัพพปาปัสสะอะกรณัง เอตังพุทธานะสาสะนัง
อย่าทำกรรมอันเป็นบาปน้อยใหญ่ด้วยทั้งกาย วาจา ใจทั้งปวง
นี่เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เราเรียกว่าพระศาสดาดังนี้

บุคคลผู้มีสติปัญญาดี เมื่อได้เห็น ได้ยิน
ได้ฟังพระสัจธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
เขาย่อมเป็นผู้มีจิตแสนฉลาด รู้ความหมายมีศรัทธาเลื่อมใส

เข้าใจในอรรถในธรรม เขาทำแต่กรรมดี
ละกายทุจริต ดังจิตเจตนา เว้นห่างจากบาป

เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยเอาข้าวของของผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดมิจฉาทางกาม
ไม่พูดความเท็จ พูดแต่ความจริง ไม่พูดส่อเสียดให้เกิดความทะเลาะแตกความสามัคคีต่อกัน
ไม่พูดคำหยาบ ไม่แสลงหู ทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจดี
ไม่มีภัยในคำพูด พูดมั่นคงมีหลักฐาน ไม่เป็นคำเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์
เป็นวาจาสะอาด นักปราชญ์นิยมชมชอบ

บุคคลผู้ฉลาดนั้น แม้จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเองและคนอื่น
อนภิชฌา อพยาบาท มีความเห็นถูกต้อง คิดเว้นกรรมชั่ว
ศึกษาสมาทานทำแต่กรรมดี ยินดีพอใจในการทำบุญ
มีทานามัย ศีลามัย ภาวนามัย ให้ความสำเร็จเป็นบุญ
อาศัยได้กำลังหนุนมาจาก ปุญญาภิสังขาร เป็นนายช่าง มีวิชชามาเป็นปัจจัย
ให้เป็นไปสมควรแก่กำลังของตน นี่เป็นฝ่ายกุศลธรรม ทำได้ทุกคน

เมื่อจิตใจมีความฉลาดแล้ว ย่อมยังกุศลให้ถึงพร้อม
ที่เรียกว่า กุสลัสสูปสัมปทา (กุสลสฺสูปสมฺปทา) เอตังพุทธสาสนันติ

นี้เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เราทุกคนควรระลึกนึกมาเป็นธรรมคำภาวนา ว่า สวากขาโต ภควตา ธมฺโม
หรือจะบริกรรมว่า ธมฺโม เม นาโถ หรือ ธมฺโม ธมฺโม ธมฺโม ๆๆๆ ก็ได้
ให้พากันปฏิบัติอย่างนี้จึงจะถูก จึงจะมีผลอานิสงส์มาก เป็นทางสุคติ
ปฏิบัติถูกอย่างนี้จึงจะได้รับประโยชน์สำเร็จสุขในมนุษย์สมบัติ
และสวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เป็นสมบัติสุขอย่างยิ่ง
ได้เลิกละความเชื่อถือ ที่นับถือผิดๆ อันพวกเราเคยถือมาแล้วนั้นเสีย


:b39:

พระสงฆ์

นั้นคือท่านปฏิบัติรักษากายของท่านดี วาจาของท่านก็ปฏิบัติดี
จิตของท่านก็มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาและป้องกันอย่างดียิ่งเป็น สุปฏิปันโนสงฆ์
ท่านบุคคลใดปฏิบัติจิตและอบรมจิตด้วยสติปัญญาอันคมกล้าอย่างถูกต้อง
ตรงตามทางของพระอริยะเป็นทางเอกเหนือทางโลกทั้ง ๓ ท่านนี้แล เป็น อุชุปฏิปันโนสงฆ์
ท่านบุคคลใดเป็นผู้ปฏิบัติจิตอาศัยที่ได้พลังมาจากมหาสติมหาปัญญา
ที่ตนได้เตรียมไว้อย่างถูกต้องตามศีลธรรมของพระอริยะ

เหมือนคนผู้ฉลาด รู้จักเลือกเอาลูกกุญแจถูกกับตัวของมัน
พอจับเข้าไปถึงจุดไขนิดเดียวก็หลุดพ้นออกมาทันนี
นี้ฉันใดท่านผู้ปฏิบัติถูกต้อง ตามทางของพระอริยะเพื่อมรรคผลนิพพานก็เช่นนั้น
ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล เป็น ญายปฏิปันโนสงฆ์

บุคคลท่านใดแล เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติตรง ปฏิบัติอย่างถูกต้องปฏิบัติชอบยิ่ง
เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดงดงามสะอาด ปราศจากกิเลสตัณหาอาสวะ
เห็นแจ้งพระนิพพานพระองค์ท่านนี้แล เป็น สามีจิปฏิปันโนสงฆ์

บุคคลท่านผู้ปฏิบัติดังได้แสดงมานี้จึงได้ชื่อว่าเป็น
พระอริยะสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ผู้ทรงคุณอันประเสริฐเราทั้งหลายควรนบนอบคำนับ ต้อนรับเคารพกราบไหว้สักการบูชา
ตั้งจิตด้วยสติระลึกน้อมนึกเอาเข้ามาภาวนาว่าเป็นสรณะ ที่พึ่งของเราอันประเสริฐ
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หรือจะบริกรรมว่า
สังโฆ เม นาโถ หรือ สงฺโฆ สงฺโฆ สงฺโฆ ๆๆๆ ก็ได้

เมื่อพากันได้ยิน ได้ฟัง แล้วต้องปฏิบัติตามจักได้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเรา
ถ้าไม่ปฏิบัติก็พึ่งอะไรไม่ได้ จะเป็นคนอนาถาหาที่พึ่งไม่มี มีแต่ภัยแต่แวร
ทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน จะพึ่งพาอาศัยอะไรก็ไม่ได้
เพราะเราไม่ได้ฝึกหัดปฏิบัติไว้ให้ได้เป็นสมบัติตัวของเราเอง
เมื่อเราได้มาฝึกหัดปฏิบัติเพื่อให้จิตใจของเรามีความฉลาดเกิดมีสติปัญญา
ศรัทธาเลื่อมใส เคารพนับถือเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย
คือ คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ แล้วกราบไหว้บูชาทุกวันทุกเวลา
อย่างนี้เราก็พึ่งได้ เพราะที่พึ่งของเรามีแล้วเราทำบุญให้ทานการกุศลใดๆ ย่อมได้ผลอานิสงส์มาก
เราอยู่ในชาติใด ภพใดเราก็ได้อาศัยซึ่งบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้แล้ว เป็นที่พึ่งอาศัย
บำรุงตกแต่ง คุ้มครองรักษา กาย วาจา ใจ ให้พ้นภัยอันตรายมีแต่ความสุขกายสบายใจ
เราจะปรารถนาสิ่งใด ก็ย่อมได้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จ
เพราะมีผู้ได้รับความสำเร็จมากต่อมากนับจำนวนไม่ได้ ทั้งในอดีต และปัจจุบันมาแล้ว
อย่างนี้พวกเราต้องการไม่ไช่หรือ
เมื่อเราต้องการแต่เราไม่ทำจะได้หรือ ไม่ได้ถ้าเราไม่ทำ
ได้จำเพาะผู้ที่ได้ทำไว้แล้วเท่านั้น ข้อนี้ควรจำไว้ให้ดี

พระอาจารย์มั่นท่านได้เทศน์สอนอบรมแสดงถึงเรื่อง ทาน ศีล ภาวนา
ว่ามีผลมากก็เมื่อเรามีศรัทธาเลื่อมใส ตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้อง
ให้เลิกละการนับถือ และเชื่อถือผิด แล้วก็ปฏิบัติผิดๆ กันมานั้นเสีย
ท่านได้แสดงอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบให้พวกเราเห็นแจ้งจริงประจักษ์ในจิตใจ
ทำให้เกิดมีความพอใจเลื่อมใสศรัทธาในพระธรรมเทศนา
ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ในกาลครั้งนั้นเป็นอันมาก
จึงมอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์ ตั้งจิตปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
เลิกละการเซ่นสรวงบูชาเทวดาอารักษ์ วิญญาณพระภูมิเจ้าที่
มเหศักดิ์หลักคุณ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พากันนับถือเคารพกราบไหว้สักการบูชาแต่ในคุณพระรัตนตรัย
คือ คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
เป็นสรณะที่พึ่งของตนมาจนตราบทุกวันนี้


รูปภาพ
พระอาญาครูดี พระภิกษุที่ไปร่วมฟังธรรมปฏิบัติ
จากหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก พร้อมกับหลวงปู่ฝั้นและหลวงปู่กู่
ต่อมาท่านทั้งสามได้ปวารณาถวายตัวขอเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น

รูปภาพ
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ ผู้บันทึกอาจาริยเถรประวัติ

:b44: :b44:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ ธำรงค์ศักดิ์
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=14584


:b47: รวมคำสอน “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43188

:b47: รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2016, 16:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


ในช่วงระยะเวลาที่ท่านอาญาครูดี พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
และพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นครั้งแรก
โดยท่านทั้งสามได้มาฟังพระธรรมเทศนา กระทั่งเป็นเหตุให้ศรัทธาในการปฏิบัติ
และได้ปวารณาตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมานั้น

พระอาจารย์มั่นยังได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง “นโม” อย่างลึกซึ้งให้ฟังอีกด้วย ดังนี้


:b50: :b49: :b50:

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น หลังจากออกพรรษาแล้ว
เป็นระยะเวลาที่ท่านอาญาครูดี พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
และพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ต่อมาได้ปวารณาตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าวพระอาจารย์มั่น
พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูปได้เที่ยวธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี
บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ได้พากันไปนมัสการ
และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วยในคราวนั้น
ก็มีท่านอาญาครูดี พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กู่

พระอาจารย์มั่นได้แสดงพระธรรมเทศนาเบื้องต้นในเรื่องการให้ทาน
รักษาศีล และการบำเพ็ญภาวนา ตามขั้นภูมิของผู้ฟัง
ว่าการให้ทานและการรักษาศีลภาวนานั้น
ถ้าจะให้เกิดผลานิสงส์มากจะต้องละจากความคิดเห็นที่ผิดให้เป็นถูกเสียก่อน
ท่านยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวชาวบ้านมากที่สุดขึ้นอ้างว่า
ชาวบ้านม่วงไข่นั้นส่วนใหญ่นับถือภูตผีปีศาจ ตลอดจนเทวดาและนางไม้เป็นสรณะ
ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลวไหลไร้เหตุผล ท่านได้แสดงข้อเท็จจริงขึ้นหักล้างหลายประการ
และได้แสดงพระธรรมเทศนาอันลึกซึ้ง จนกระทั่งชาวบ้านเห็นจริง
ละจากมิจฉาทิฏฐิ เลิกนับถือภูตผีปีศาจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


โยมคนหนึ่งคือ อาชญาขุนพิจารณ์ (บุญมาก) สุวรรณรงค์
ผู้ช่วยสมุห์บัญชี อำเภอพรรณานิคม ซึ่งเป็นบุตรชายของ
พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคม คนที่ ๔
และเป็นนายอำเภอพรรณานิคมคนแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕
ได้กราบเรียนถามพระอาจารย์มั่นว่า
เหตุใดการให้ทานหรือการรับศีลจึงต้องตั้ง “นโม” ก่อนทุกครั้ง
จะกล่าวคำถวายทานและรับศีลเลยทีเดียวไม่ได้หรือ
พระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมเรื่องนโมอย่างลึกซึ้งให้ฟัง


“เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี
หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นโม ก่อน จะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย
เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จะยกขึ้นพิจารณา
ได้ความปรากฏว่า น คือธาตุน้ำ โม คือธาตุดิน
พร้อมกับบทพระคาถาขึ้นมาว่า
มาตาเปตฺติกสมฺภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย

สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา
เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว ก็ได้รับข้าวสุกและขนมกุมมาส
เป็นเครื่องเลี้ยงจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้

น เป็นธาตุของมารดา โม เป็นธาตุของบิดา

ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป
ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า “กลละ”
คือน้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง
ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้
จิตจึงได้ปฏิสนธิในธาตุ “นโม” นั้น
เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว “กลละ” ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น “อัมพุชะ”
คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น “ฆนะ” คือเป็นแท่ง
และ เปสี คือชั้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน
จึงเป็น ปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑
ส่วนธาตุ “พ” คือลม “ธ” คือไฟนั้น
เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว
กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี
คนตายลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย
ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นดั้งเดิม

ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย “น” มารดา “โม” บิดา
เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นต้น
ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง
ท่านจึงเรียกมารดาบิดา ว่า “ปุพพาจารย์” เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น
มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้
มรดกที่ท่านทำให้ กล่าวคือ รูปกายนี้แลเป็นมรดกดั้งเดิม
ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง
ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย
เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น “มูลมรดก” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น
จึงว่าคุณของท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่
เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อน แล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง
นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่
มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตน
ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

นโม เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน
ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้คือ เอาสระอะ จากตัว “น” มาใส่ตัว “ม”
เอาสระโอ จากตัว “ม” มาใส่ตัว “น”
แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่า ใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจ
เต็มตามสมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้

มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่
จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมดได้ในพระพุทธพจน์ว่า
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา

ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย
ก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจ คือมหาฐานนี้ทั้งสิ้น
เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก นโม แจ่มแจ้งแล้ว
มโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น

สมบัติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากนโมทั้งสิ้น
ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้
ถือเอาเป็นสมบัติ บัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะ
จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า
ด้วยการหลงถือว่าตัวเป็นเราเป็นของเราไปหมด”


ที่มา...หนังสือภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
:b8: :b8: :b8:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2016, 19:19 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มิ.ย. 2016, 13:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


กราบสาธุๆๆ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ค. 2016, 06:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: 4A ขออนุโมทนาค่ะ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron