วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ธ.ค. 2008, 06:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เหตุการณ์ถัดจากวันมาฆบูชา
:: อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา รับเชิญไปปาฐกถา ณ บริเวณท้องสนามหลวง เนื่องในวันมาฆบูชา รับด้วยความเกรงใจ เพราะไม่แน่ใจว่าจะพูดได้หรือไม่ ด้วยผมไม่สบาย กำลังป่วยเป็นโรค “กืก” คือพูดไม่ออก ติดๆ ขัดๆ เนื่องจากโรคภัยเบียดเบียนตามประสาคนแก่ แต่เดชะบุญก็พูดไปได้ ไม่ค่อยติดขัดเท่าไร วันนั้นได้เล่าเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุเกิดวันมาฆบูชา ลืมบอกท่านผู้ฟังไปว่า วันที่เรารู้กันว่าวันมาฆบูชา (เพ็ญเดือน 3 หรือ 4 ในปีที่มีอธิกมาสนั้น) เป็นวันที่เกิดพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ท่านผู้นั้นคือ “พระอุปติสสะ” ต่อมาเพื่อนสหธัมมิก (พระภิกษุ) ด้วยกันเรียกขานในนามว่า “สารีบุตร” วันนั้น พระพุทธองค์ประทับเข้าสมาธิอยู่ ณ “ถ้ำสุกรขาตา” (ถ้ำหมูขุด หรือถ้ำคางหมู) เชิงเขาคิชฌกูฏ มีพระสารีบุตรคอยถวายงานพัดอยู่ด้วย ทีฆนขปริพาชก (นักบวชเล็บยาว) ซึ่งเป็นหลานพระสารีบุตร ตามหาพระพี่ชาย มาพบอยู่กับพระพุทธเจ้า ทีฆนขปริพาชกท่าทางไม่ค่อยจะให้ความสำคัญแก่พระพุทธองค์มากนัก คงโกรธที่มา “ล้างสมอง” หลวงลุงของตน จึงพูดแบบหยิ่งๆ ว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อ หรือไม่ commit ตัวเองกับทิฐิ (ความเห็น) ใดๆ พูดพลางลุกเดินไปมา

พระพุทธองค์ตรัสตอบเขาว่า ถึงอย่างไร เธอก็มีทิฐิอยู่นั้นเอง นายเล็บยาวพูดอีกว่า ก็บอกแล้วไงว่าข้าพเจ้าไม่เชื่อทฤษฎีใดๆ พระพุทธองค์ตรัสว่า “การที่เธอไม่เชื่อทฤษฎีใดๆ นั่นแหละเป็นความเชื่อของเธอล่ะ” ได้ยินดังนั้น แกสะดุดกึกถึงกับนั่งลง อาการหยิ่งผยองค่อยๆ หายไป พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า “เวทนาปริคคหสูตร” (พระสูตรว่าด้วยการกำหนดเวทนา) ให้แกฟัง (ซึ่งจะไม่ขอนำมาขยาย ณ ที่นี้)

พระสารีบุตรนั่งเบื้องพระปฤษฎางค์ ถวายงานพัดพระพุทธองค์อยู่ เงี่ยโสตสดับกระแสพระธรรมเทศนาไปด้วย เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบ ปริพาชกเล็บยาวหลานของท่านได้บรรลุโสดาบัน แต่ตัวท่านพระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสาสวะโดยสิ้นเชิง

ที่ควรจะจดจำไว้ก็คือ การบรรลุธรรมขั้นสูงสุดของ “พระสารีบุตร” เกิดขึ้นในวันเพ็ญมาฆปุณณมี หรือเพ็ญเดือน 3 พอดิบพอดี เพราะฉะนั้น วันมาฆบูชาจึงถือว่าเป็นสำคัญเพราะเป็นวันที่บุคคลสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาประสบความสำเร็จในธรรมระดับสูง ด้วยประการฉะนี้แล

ช่วงระยะเวลาประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ๆ พระพุทธองค์ ไม่มี “มือ” ช่วยงานเลย ทันทีที่ทอดพระเนตรเห็นมาณพหนุ่มสอง คนเดินเข้ามาในบริเวณวัด คือ อุปติสสะ กับ โกลิตะ พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปยังท่านทั้งสอง แล้วหันมาตรัสกับพระสงฆ์สาวกที่เฝ้าอยู่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สองคนนั้นจะเป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา”

ไม่มีคัมภีร์ใดอธิบายไว้ว่า ทำไมพระพุทธองค์ตรัสเช่นนั้น ทั้งสองท่านยังไม่ได้บวชพระเสียด้วยซ้ำ พระพุทธองค์ก็จะตั้งให้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา-เบื้องซ้าย ก่อนแล้ว มิเป็นการเห็นแก่หน้า หรือมีอคติส่วนพระองค์หรือ ? ทำไมทรงละเลยพระผู้ใหญ่รูปอื่นๆ ซึ่งขณะนั้นก็มีหลายรูป เช่น พระมหากัสสปะ พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น กลับจะเอาตำแหน่งอัครสาวกให้เด็กหนุ่มสองคน ซึ่งยังมิได้บวชเสียด้วยซ้ำ

ตามความเข้าใจของผม คงมิใช่เพราะพระพุทธองค์มีอคติหรือชอบพระทัยเป็นส่วนตัวดอกครับ พระพุทธองค์ทรงต้องการ “มือ” ที่จะมาช่วยทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทรงเห็นว่าท่านทั้งสองนั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะช่วยประกาศพระศาสนาให้สัมฤทธิ์ผลอย่างดี

เพราะท่านทั้งสองมีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งหาไม่ได้ในบุคคลอื่น อย่างน้อยก็ 2 ประการคือ

(1) อุปติสสะ และโกลิตะ ต่อมาคือพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ นั้นเกิดในตระกูลพราหมณ์ จบไตรเพท การจะทำงานเผยแผ่แนวความคิดใหม่ที่ขัดแย้งกับลัทธิความเชื่อเดิม ต้องการบุคคลที่ “รู้เขา” (คือรู้ไตรเพทอันพวกพราหมณ์นับถือ) อย่างดี ขณะเดียวกัน ก็ “รู้เรา” (คือรู้พระพุทธศาสนา อันเป็นลัทธิของตนดี) สองท่านนี้หลังจากบวชได้เพียงสองสัปดาห์ จะได้บรรลุพระอรหัต แสดงว่ารู้เรื่องของตนถ่องแท้แล้ว

(2) อีกประการหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย ท่านทั้งสองเป็นศิษย์สญชัย เวลัทฏฐบุตร เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียง ผู้สอนปรัชญาที่เรียกกันสมัยนั้นว่า “อมราวิกเขปิกา” (แปลแล้วก็ฟังไม่ได้ความขอแปลง่ายๆ ว่า ลัทธิวิพาษวิธี) หมายถึงการใช้วาทะหักล้างด้วยเหตุด้วยผล มีนักปรัชญาบางท่านกล่าวว่า ลัทธิที่สัญชัยสอนนี้ปัจจุบันนี้คือ ปรัชญาสาขาสเก็ปติซึม (skepticism) นั้นเอง ลัทธินี้จะสอนการใช้วาทะหักล้างกันด้วยเหตุด้วยผล จะไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ เพียงแค่ได้ยินได้ฟังมา


รูปภาพ

ท่านทั้งสองนี้นอกจากมีความรู้ลัทธิพราหมณ์ดั้งเดิมดี และรู้พระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งแล้ว ยังสามารถใช้วาทะโต้เถียง หักล้างทรรศนะของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างดีด้วย

ความได้เปรียบของพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง ก็คือพระพุทธเจ้าทรงเน้น “ประสบการณ์ตรง” ความรู้ที่พระองค์ได้มาเป็นความรู้ที่เหนือหลักตรรกะใดๆ คือไม่เพียงแค่ความสมเหตุสมผลตามหลักตรรกะเท่านั้น หากเป็นการรู้เห็นด้วยประสบการณ์ตรงด้วย

ลัทธิเก่าๆ ในสังคมสมัยนั้นอยู่ในภาวะที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “ตักกี วิมังสี” คือพวกคาดเดาเอาว่ามันน่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เพราะขาดประสบการณ์ตรงยืนยัน

พวกพราหมณ์มักจะสอนกันว่าพวกเขาสามารถบอกแนวทางเข้าถึงพระพรหมได้ ครั้นซักว่าพวกท่านเคยเห็นพระพรหมหรือ ก็ไม่มีใครยืนยันว่าเคยเห็น ไล่ไปถึงเจ็ดชั่วโคตร เอ๊ย เจ็ดชั่วอาจารย์ ก็ไม่มีใครยืนยันว่าเคยเห็น

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีน้ำหนักจะเชื่อถือ เมื่อไม่เคยเห็นพรหมว่าเป็นอย่างไร การแสดงว่าตนสามารถบอกทางเข้าถึงพรหมได้ก็ฟังไม่ขึ้น ดุจชายหนุ่มบอกคนอื่นว่าจะแต่งงานกับสาวสวยที่สุดในโลก ครั้นถามว่าสาวที่ว่านี้ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ชื่อโคตรอะไร ตระกูลอะไร ก็บอกไม่ได้ แล้วการแต่งงานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉันใดก็ฉันนั้น แนวคิดเรื่องพรหมของพวกพราหมณ์สมัยโน้น จึงเป็นเพียงการคาดเดาเอาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีใครรู้เห็นจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ไม่มีประสบการณ์ตรงมาหักล้าง จึงไม่สามารถยืนยันได้

ผมก็คิดตามประสาผมว่า ที่พระพุทธองค์ทรงคิดจะแต่งตั้งพระสารีบุตร กับพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เบื้องซ้าย ตั้งแต่ท่านทั้งสองยังไม่บวช และหลังจากบวชได้สองสัปดาห์ก็ทรงแต่งตั้งเลย ก็เพราะทรงเห็นว่าท่านทั้งสองมีคุณสมบัติครบถ้วน ในการทำงานเผยแผ่พระศาสนาดังกล่าวมา กอปรกับความได้เปรียบของหลักพุทธธรรม ที่เน้นประสบการณ์ตรงยิ่งกว่าการคาดคะเนเอาตามแนวตรรกะ ที่คนสมัยนั้นคุ้นเคยอีกด้วย จึงช่วยให้งานประกาศพระศาสนาของพระพุทธองค์แพร่หลายอย่างรวดเร็ว

บทสวดสรรเสริญพระธรรมเป็นเครื่องยืนยันชัดแจ้ง “พระธรรมพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะเห็นด้วยตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาล ท้าพิสูจน์ได้ ควรที่จะน้อมนำมาปฏิบัติ ผู้รู้จะพึงรู้ประจักษ์เฉพาะตน”

นั้นคือเอกลักษณ์เฉพาะแห่งพระพุทธธรรม ที่ไม่มีใครหักล้างได้



หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10592


:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันมาฆบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45501

:b44: ◆◆◆◆ “วันมาฆบูชา” หรือ “วันจาตุรงคสันนิบาต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=88&t=58602

:b44: “ถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำพระสารีบุตร)” ณ เชิงเขาคิชฌกูฏ
สถานที่พระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันมาฆบูชา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=41350

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2009, 22:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ค. 2008, 14:47
โพสต์: 1562

อายุ: 0
ที่อยู่: หิมพานต์

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8:

.....................................................
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ นับแต่บัดนี้ตราบจนเข้าสู่พระนิพพาน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร