วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 45 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับหลวงพ่อ
ในเรื่องการทำหมันสุนัข
แต่ก็ยอมรับว่าคำอธิบายของหลวงพ่อมีเหตุผลดี
ตัวเองคิดว่าการใช้คุณภาพชีวิต
เป็นเกณฑ์ของการพิจารณาตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่าย
"คุณภาพชีวิต" เป็นคำที่มีความหมายกำกวม
และเป็นการยากที่จะให้คนทุกคนเข้าใจความหมายของคำนี้ตรงกัน
แต่ การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแบบพุทธ
หรือที่เรียกกันว่า "การรักษาศีล" ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
โดยเฉพาะศีล ๕ บางคนเข้าใจว่าปฏิบัติตามศีล ๕
ทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันไม่ได้
เพราะสมัยปัจจุบันมีสภาวะสังคมแตกต่างจากสมัยพุทธกาลมาก

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต จึงสงสัยว่าการรักษาศีล ๕
มีประโยชน์อะไรบ้างในปัจจุบัน
และศีลดังกล่าวมีคุณค่าทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด


หลวงพ่ออธิบายว่า
ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
ประโยชน์ของการรักษาศีล ๕ มีมากมาย
ทั้งที่เกิดแก่ผู้ที่รักษาศีลเอง และผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง
ประโยชน์บางอย่างเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นชัดแจ้ง
และคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์
อาจจะถือว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องเหลวไหลได้
ดังนั้นหลวงพ่อจึงจะไม่พูดถึง
แต่หวังว่าผู้รักษาศีลสม่ำเสมอคงจะมองเห็นผลดังกล่าวเอง
สำหรับประโยชน์ที่คนทั่วไปมองเห็นได้ง่ายๆ
ก็คือ ถ้าหากคนทุกคนรักษาศีล ๕ ได้แล้ว
สังคมก็จะมีความสงบสุขมากขึ้น
เช่น ไม่มีการลักขโมย การข่มขืน และการหลอกลวง
ปัญหาต่างๆ ของสังคมเวลานี้เกือบทั้งหมด
มีรากเหง้าจากการไม่รักษาศีล ๕
ส่วนในเรื่องคุณค่าทางปฏิบัติมากกว่าอย่างอื่น
ธรรมทุกหมวดหมู่ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้
ไม่ได้เป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น
แต่ส่วนจะปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับสติปัญญาความสามารถและความพร้อมของแต่ละคน

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
ถามต่อไปอีกว่า เท่าที่มีความรู้อยู่บ้าง
ศีล ๕ ข้อ เช่น ศีลข้อ ๒ และ ข้อ ๕
ไม่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคมปัจจุบัน
เช่น การโกงลูกค้า คอรัปชั่น และยาเสพย์ติด
ดังนั้นจะถือว่า ศีลทั้งสองข้อนี้มีข้อบกพร่องได้หรือไม่

หลวงพ่ออธิบายว่า
ในการรักษาศีลนั้น
เราต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของศีลแต่ข้อให้ดี
มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ศีลทุกข้อมีข้อบกพร่อง
ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่
ที่จริงแล้วศีล ๕ แต่ละข้อมีความละเอียดมาก
ศีลข้อ ๒ ที่ห้ามลักทรัพย์ผู้อื่นนั้น มีความประสงค์ที่จะไม่ให้เรา
ได้ทรัพย์สินต่างๆ มาโดยไม่ถูกต้องตามครรลองครองธรรม
ศีลข้อนี้มีแง่คิดที่ลึกซึ้งมาก เพราะ "ทรัพย์" มีหลายประเภท
ทั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของและที่ไม่มีตัวตนให้เห็น
เช่น เวลา และความคิด ส่วน "การลักทรัพย์" นั้นก็มีหลายวิธี
มีทั้งวิธีที่มองเห็นได้ง่ายและวิธีแอบแฝง
พ่อค้าที่โกงลูกค้าหรือกักตุนสินค้าไว้ ทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้น
เพื่อจะได้ขายสินค้าได้ในราคาสูงกว่าปกติ
ก็ถือว่าเป็นการลักทรัพย์อย่างหนึ่ง
เพราะเป็นการได้ทรัพย์ที่ไม่ควรได้
และเป็นเหตุให้คนอื่นที่ควรจะมีโอกาสในการมีทรัพย์นั้น
ต้องพลาดโอกาสไป ในบางครั้งก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
จากการที่พ่อค้ากักตุนสินค้าต่างๆ
ในทำนองเดียวกัน ข้าราชการหรือพนักงานบริษัท
ที่ใช้เวลาทำงานไม่เต็มที่แบบเรียกกันว่า "ทำงานเช้าชามเย็นชาม"
ก็ถือว่าเป็นการละเมิดศีลข้อนี้เช่นกัน
เพราะการทำงานไม่เต็มที่ ทำให้หน่วยงานเสียประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ไป
นายธนาคารหรือผู้จัดการกองทุนที่โกงลูกค้า
และร่ำรวยได้ทรัพย์สินต่างๆ มาจากความหายนะของคนอื่น
หรือนายจ้างที่ขยักเงินค่าจ้างไว้
ไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่คนงานตามที่ตกลงกันไว้
ก็ทำผิดศีลข้อ ๒ เช่นกัน การลักทรัพย์ประเภทดังกล่าวนี้
เป็นเรื่องที่มักจะมองข้ามไป
ผู้ที่ลักทรัพย์ประเภทนี้เองก็มักจะไม่สำนึกผิด
บางคนกลับชื่นชมความฉลาดและความสามารถของตน
ที่ทำตัวเป็นโจร โดยไม่มีใครรู้หรือจับได้
คนประเภทนี้เป็นอันตรายต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย
ถ้าหากสังคมไทยไม่มีโจรประเภทนี้
ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่เรากลังเผชิญอยู่ในเวลานี้
ก็คงจะร้ายแรงน้อยลง

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
เห็นด้วยกับคำอธิบายศีลข้อ ๒
ที่หลวงพ่อเมตตาชี้แจงให้ฟัง
และยอมรับว่า การที่หลวงพ่ออธิบายเช่นนั้น
ทำให้ศีลข้อ ๒ มีความหมายแก่คนยุคปัจจุบันมากขึ้น
คำอธิบายของหลวงพ่อทำให้มองเห็นว่า
ศีลข้อนี้ครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาและการคอรัปชั่นด้วย
อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ก็สงสัยว่าคำอธิบายดังกล่าว
เป็นการตีความหมายศีลข้อ ๒ ใหม่หรือไม่

หลวงพ่อ อธิบายเพิ่มเติมว่า
ศีลข้อ ๒ มีความละเอียดมากอยู่แล้ว
ไม่จำเป็นที่จะต้องไปตีความหมายใหม่
คำอธิบายศีลข้อนี้ที่ยึดถือกันมาแต่ก่อนไม่ได้พูดถึงรายละเอียดดังกล่าว
ได้แต่เน้นเรื่องการลักทรัพย์ที่เป็นวัตถุสิ่งของมากกว่าอย่างอื่น
คนจึงเข้าใจผิดว่าศีลข้อนี้แคบเกินไป และไม่เหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน
หลวงพ่อเตือนว่าในการรักษาศีล ๕
เราจำเป็นต้องเข้าใจเจตนารมณ์
หรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของศีลแต่ละข้อให้ถ่องแท้เสียก่อน
เพื่อจะได้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ผิดศีลข้อนี้
ศีลข้อ ๕ ก็มีรายละเอียดครอบคลุมสิ่งต้องห้ามมากกว่าสุรา
เช่นที่เชื่อกันผิดๆ กันอยู่ เพราะรวมถึงเครื่องดองของเมาทั้งหลาย
และยาที่ให้โทษแก่จิตประสาท เช่น ยาบ้าด้วย
ดังนั้นถ้าเราต้องการจะรักษาศีลข้อนี้ให้ครบถ้วน
เราจำเป็นต้องงดเว้นสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเพิ่มไป
จากการงดเว้นสุราด้วย

หลวงพ่อสรุปว่าการรักษาศีล ๕ เป็นประโยชน์ทุกยุคทุกสมัย
พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ทรงรู้จักเหตุและผลของสิ่งทุกสิ่ง
ทรงทราบว่าการรักษาศีล ๕ จะช่วยให้ปัญหาชีวิตของมนุษย์
แต่ละคนลดน้อยลงได้มาก
เพราะปัญหาที่อาจจะเกิดแก่ชีวิตเขา
ก็จะเป็นเพียงปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอกเป็นผู้กระทำ
เพราะการรักษาศีล ๕ จะปิดกั้นไม่ให้เขาพบความทุกข์
ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง


ส่วนการจะรักษาศีล ๕ อย่างละข้อได้อย่างละเอียดประณีตเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสามารถของผู้นั้นเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตามการที่เรารักษาศีล ๕ ได้
แม้จะไม่ละเอียดลึกซึ้งตามเจตนารมณ์ของศีลแต่ละข้อก็ตาม
เราก็ย่อมจะได้รับประโยชน์ของศีล
เพราะศีลเปรียบเสมือนราวกั้นไม่ให้ผู้รักษาศีลตกไปอยู่อบายภูมิ

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
เห็นด้วยกับคำอธิบายของหลวงพ่อ
แต่ไม่เห็นด้วยกับชาวพุทธบางกลุ่มที่อธิบายศีล ๕
ให้สอดคล้องกับความต้องการปัจจุบัน โดยการเพิ่มข้อยกเว้นลงไป
เช่น อธิบายศีลข้อ ๑ ว่า "ห้ามฆ่าสัตว์ ยกเว้นเพื่อเป็นอาหาร
และเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์"
ศีลข้อ ๔ ว่า "ห้ามพูดเท็จ ยกเว้นเพื่อป้องกันชีวิตตนเองและผู้อื่น
และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือส่วนรวม"
และศีลข้อ ๕ ว่า "ห้ามดื่มสุรา ยกเว้นดื่มเล็กน้อย
หรือดื่มเพื่อสุขภาพ หรือดื่มในงานสังคม" เป็นต้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต รู้สึกว่าการเติมข้อความดังกล่าว
ในทางศีลแต่ละข้อนั้นเป็นการทำให้ศีลแต่ละข้อ
มีความหมายผิดเจตนารมณ์ดังเดิมไป
ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควร

หลวงพ่อเอง
ก็ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มเติมข้อยกเว้นให้แก่ศีลแต่ละข้อ
การรักษาศีลมากหรือน้อยเพียงใดนั้น
เป็นเรื่องความสมัครใจของคนแต่ละคน
แต่จะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น
เพราะกฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีการยกเว้น
และเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บันทึกการสนทนาธรรม

ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) กับ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค เป็นครั้งที่ ๕


ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญสาขาปรัชญาและศาสนา
รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุล ผู้อำนวยการศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ได้นำ ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค
ผู้เชี่ยวชาญสาขาปรัชญาและศาสนา มาพบพระราชสุทธิญาณมงคล
เป็นครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ที่วัดอัมพวัน
เพื่อเรียนถามปัญหาต่างๆ จากพระราชสุทธิญาณมงคล
ซึ่งในบันทึกนี้ใช้คำว่า "หลวงพ่อ" แทน
โดยมี ดร.พินิจ รัตนกุล เป็นผู้แปลและเขียนบันทึกการสนทนา
เศรษฐกิจตกต่ำ ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ปัจจุบันในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำ
คนไทยที่รู้จักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตมาก
เพราะไม่ทราบแน่นอนว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่
และชีวิตตนจะเป็นอย่างไรต่อไป
นอกจากนั้นบางคนก็ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร
จึงจะไม่ให้คนอื่นวิจารณ์ตนในแง่ลบ
และบางคนที่อายุมากหรือเจ็บป่วยก็หวาดกลัวความตาย
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีวิธีกำจัดความวิตกกังวลต่างๆ
และความหวาดกลัวความตายอย่างไรหรือไม่

หลวงพ่อตอบว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่บนความจริง
ไม่ใช่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการ
คำสอนต่างๆ เกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิต
เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ได้จากปัญญา
และประสบการณ์ของพระองค์เอง
สัจธรรมดังกล่าวนี้ มีทั้งเรื่องที่อยู่เหนือประสบการณ์ธรรมดาสามัญ
และสิ่งที่คนทั่วไปสามารถค้นพบได้
จากการคิดวิเคราะห์ประสบการณ์ของตนและผู้อื่น
ดังนั้นความจริงของชีวิตในพระธรรมคำสอน
จึงมีทั้งส่วนที่มองเห็นได้ไม่ยากและส่วนที่ต้องอาศัยสติปัญญา
และประสบการณ์ที่สูงขึ้น จึงจะมองเห็นและเข้าใจได้
ในเรื่องของชีวิตในโลกนั้น พระพุทธศาสนาสอนให้
เรายอมรับสภาพความเป็นจริงของทุกสิ่ง
โดยไม่นำอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรที่จะเอาชนะความจริงไปได้

ดังนั้นในเมื่อชีวิตมีความยากลำบาก
เพราะวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
เราก็ควรรับสภาพความเป็นจริงนี้ก่อน
แล้วจึงค่อยพยายามหาทางที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ชีวิต
ทุกสถานการณ์มีทางออกด้วยกันทั้งนั้น
และเราจะต้องใช้สติและปัญญาให้มาก จึงจะมองเห็นทางออกได้
การปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง
เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้
ท่ามกลางความยากลำบากต่างๆ เช่น รู้จักประหยัดมัธยัสถ์


กินอยู่แต่พอสมควร จำกัดความต้องการให้น้อยลง
มีความขยันขันแข็งอดทนและไม่ย่อท้อ
และที่สำคัญในการมีชีวิตท่ามกลางความยากลำบาก
คือ ต้องระวังไม่ให้ความขัดสนฝืดเคือง
เป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และความแล้งน้ำใจในครอบครัว

ในยามนี้ทุกคนควรมีความรักความเมตตาต่อกัน
ช่วยเป็นกำลังใจให้กันและกัน
และประคับประคองกันไว้ให้ยืนหยัดอยู่ได้
การช่วยเหลือกันและการปฏิบัติตามคุณธรรมต่างๆ
ของพระพุทธศาสนาเช่นที่กล่าวมา
จะช่วยให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้ในยามลำบาก
คุณธรรมเหล่านี้เป็นเสาหลักของคุณงามความดีที่จะค้ำจุนจิตใจ
ไม่ให้เปะปะไปตามแรงผลักดันของสิ่งแวดล้อม
และไม่ให้ท้อแท้เมื่อเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ
ทุกสิ่งเมื่อมีการเกิดก็ย่อมมีการสิ้นสุดตามมาโดยธรรมชาติ
ดังนั้นในไม่ช้าความยากลำบากที่เรากำลังประสบอยู่ก็จะสิ้นสุดลง
เราจะยอมให้สิ่งนี้สิ้นสุดลงพร้อมกับชีวิตที่ถูกทำลายอย่างยับเยิน
จนไม่มีศูนย์กลางและความหวังเหลืออยู่เลยหรือ
ถ้าหากเราเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ ด้วยจิตใจเข้มแข็ง
มีคุณธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นหลักแล้ว
เมื่อพายุผ่านไป ชีวิตก็ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่าการมองชีวิต
ในแง่มุมของพระพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องชีวิตหลังความตาย
ทำให้เห็นว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว
เช่นที่ชาวอเมริกันเชื่อกันทั่วไป
คำสอนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับสังสารวัฏ
ทำให้ชีวิตแต่ละชีวิตมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพของชีวิต
ในแต่ละภพภูมิได้ด้วยการกระทำของตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยว่าการที่พระพุทธศาสนา
สอนให้ยอมรับความตายว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งนั้น
เป็นทัศนคติที่สร้างสรรค์
เพราะจะทำให้เรามีจิตสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต
และไม่พยายามต่อสู้ดิ้นรนหลีกหนีสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ไม่เข้าใจว่า ทำไมแพทย์ที่เป็นชาวพุทธ
จึงไม่ยอมปล่อยให้ผู้ป่วนในมรณวิถีถึงแก่กรรม
ตามขบวนการทางธรรมชาติ
แต่พยายามยืดชีวิตของคนไข้ให้ยาวนานต่อไปเรื่อยๆ
โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
ทำให้สงสัยว่าการกระทำดังกล่าว
สวนทางกับคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่

หลวงพ่ออธิบายว่า ปัจจุบันสังคมไทยเองก็มีผู้สงสัยกันว่า
การที่แพทย์ใช้เครื่องช่วยยืดชีวิตของคนไข้ในมรณวิถีนั้น
เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่
การที่แพทย์ทำเช่นนั้นเพราะได้รับการอบรมสั่งสอน
ให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบช่วยคนไข้ให้มีชีวิตอยู่ให้นานที่สุด
เท่าที่จะทำได้ การทำตามหน้าที่ดังกล่าว
ไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า
ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและควรสงวนรักษาไว้
ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวก็คือใช้เครื่องช่วยชีวิตผู้ป่วย
ในมรณวิถีนั้นไม่ใช่เป็นการ "ช่วยชีวิต"

แต่เป็นการ "ยืดชีวิต" มากกว่า
เพราะในกรณีนี้แพทย์ไม่สามารถจะ "รักษา"
หรือช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ในมรณะวิถีไม่ให้ "ตาย"
หรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกต่อไป
ในทางตรงข้ามการพยายาม "ยืดชีวิต" ดังกล่าว
ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตายตามขบวนการทางธรรมชาติได้
ปัญหาจริยธรรมที่น่าคิดก็คือ ในกรณีของผู้ป่วยในมรณวิถี
แพทย์ควรจะปล่อยให้ผู้ป่วยตายไปตามวิถีทางธรรมชาติหรือไม่
สำหรับหลวงพ่อเองมีความเห็นว่าในกรณีดังกล่าว
แพทย์ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวิถีของธรรมชาติ
ในบางราย การที่แพทย์ใช้เครื่องช่วยชีวิตช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วย
ให้ยาวนานนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตทางชีวภาพแต่อย่างเดียว
ไม่สามารถรับรู้หรือติดต่อสัมพันธ์สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้

ชีวิตที่มีสภาพดังกล่าวไม่น่าจะเป็น "ชีวิต"
ในความหมายของพระพุทธศาสนา
ที่ให้ความสำคัญแก่ "คุณภาพ" ของชีวิตมากเป็นพิเศษ
สำหรับปัญหาที่ว่า การถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วยในมรณวิถีนั้น
เป็นการละเมิดศีลข้อหนึ่งหรือไม่นั้น
หลวงพ่อมีความเห็นว่า ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ว่า
ในคำสอนของพระพุทธศาสนา "ชีวิตมนุษย์" หมายความว่าอะไรกันแน่
คนทั่วไปเชื่อว่าตราบใดที่อวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วยยังไม่หยุดทำงาน
เช่น ยังมีลมหายใจอยู่ ตราบนั้น "ชีวิต" ของผู้นั้นก็ยังมีอยู่
ดังนั้นการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกและทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย
ก็เป็นการละเมิดศีลข้อแรก
และมีวิบากกรรมตามมาภายหลังอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้โดยทั่วไปจึงไม่มีพุทธศาสนิกชนคนใด
ต้องการจะรับผิดชอบในการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วยที่สิ้นหวัง
แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนบางคนที่ยอมทำเช่นนั้น
เพราะไม่ต้องการจะยืดชีวิตของผู้ป่วยให้ยาวนานต่อไป
เนื่องจากไม่สามารถจะรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ได้
และต้องการให้ผู้นั้นพ้นจากความทุกข์ทรมาน

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า ในกรณีดังกล่าวนั้น
คริสตศาสนิกชนก็มีปัญหาเช่นเดียวกับชาวพุทธ
คือ ไม่มีความแน่ใจว่าการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วย
ที่สิ้นหวังนั้นเป็นสิ่งสมควรหรือไม่
ในกรณีเช่นนี้ดูเหมือนว่าเส้นแบ่งระหว่างความถูกต้อง
และความไม่ถูกต้องเลือนลางจนบอกไม่ได้แน่นอนว่า
ทำอย่างไรจึงจะถูกหรือผิด
นักบวชในศาสนาคริสต์เองก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป
และแต่ละฝ่ายก็ต่างก็มีเหตุผลที่ดีสนับสนุนความคิดเห็นของตน
สำหรับศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเองนั้น
มีความเห็นว่าในเรื่องนี้ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ "มโนธรรม"
หรือความสำนึกเรื่องผิดชอบชั่วดีของคนแต่ละคนเอง
ดูเหมือนจะเหมาะสมที่สุด
เพราะในกรณีที่กล่าวมากฎเกณฑ์ทางจริยธรรม
มีกว้างไม่ครอบคลุมทุกกรณี

หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า ในพระพุทธศาสนาถือว่า
เจตนามีความสำคัญมาก การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี
ย่อมมีวิบากและผลการกระทำที่ดีตามมา
และเจตนาที่ดีย่อมเป็นผลมาจากการที่จิตใจปราศจากกิเลสตัณหา
หรือความเห็นแก่ตัวในรูปแบบต่างๆ
จิตใจเช่นนี้ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด
เพราะยึดถือประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้งแต่อย่างเดียว
ปัจจุบันมีชาวพุทธจำนวนไม่น้อย
ที่ต้องการตายตามวิถีทางตามธรรมชาติ
และไม่มีความประสงค์จะให้แพทย์หรือผู้เกี่ยวข้อง
ใช้เครื่องช่วย "ยืด" ชีวิตของตนต่อไป
ในกรณีที่ตนมีสภาพเป็นผู้ป่วยในมรณวิถี
เพราะไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด
ส่วนครอบครัวหรือญาติมิตรที่เป็นชาวพุทธจะทำตามเจตนารมณ์นี้
หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สิ่งแวดล้อม ผึ้ง รีไซเคล

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหา
เรื่องการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และเข้าใจว่าปัญหานี้มีรากเหง้า
มาจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ
และการทำให้แม่น้ำลำคลองที่มีอยู่เป็นมลภาวะ
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร

หลวงพ่ออธิบายว่า สาเหตุสำคัญที่เกิดปัญหาภัยแล้ง
และการขาดแคลนน้ำ คือ การตัดไม้ทำลายป่า
และการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
ยกตัวอย่างเช่น คำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท
ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งต่างๆ
ในฐานะเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน
ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
จึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน สำหรับชีวิตมนุษย์ในโลกนั้น ชีวิตจะมีอยู่ได้
ต้องอาศัยทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต
ในนัยนี้สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำธาร
ต้นไม้ และภูเขา จึงมีความสำคัญแก่มนุษย์
ไม่น้อยกว่าสัตว์และสิ่งที่มีชีวิตประเภทต่างๆ

ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
พระพุทธศาสนาสอนให้คนใช้ธรรมชาติด้วยความรับผิดชอบ
คือ ใช้โดยไม่ทำลายธรรมชาติ หรือระบบนิเวศวิทยาของธรรมชาติ
ให้เสียหายจนไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกต่อไป
วิธีใช้ธรรมชาติที่พระพุทธศาสนาต้องการให้เป็นแบบอย่าง
คือ ให้ใช้ธรรมชาติแบบผึ้ง กล่าวคือ ผึ้งดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ต่างๆ
ที่มีอยู่ในธรรมชาติโดยไม่ทำให้เกสรดอกไม้เหล่านั้นเสียหาย
และในไม่ช้าดอกไม้ก็สามารถผลิตน้ำหว่านออกมาอีกได้


ถ้าหากมนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในทำนองนี้
ทรัพยากรธรรมชาติก็จะไม่สูญเสียไปโดยสิ้นเชิง
เพราะธรรมชาติจะสร้างสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งที่เสียไปได้
ในระยะเวลาไม่นาน การที่ทุกแห่งของโลกมีปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น
เป็นเพราะกรรมหรือการกระทำของคนแต่ละคน
ที่เมื่อรวมกันเข้าแล้ว มีผลในทางลบต่อธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์
ที่ค้ำจุนชีวิตในโลกให้มีอยู่ได้

ในความคิดของหลวงพ่อ วิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ที่ตัวมนุษย์
คือ ลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง
จะได้ไม่ใช่ธรรมชาติด้วยความโลภ
ที่จะทำให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากมายเกินความจำเป็น
และไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของตนทางลบ
ที่จะเกิดขึ้นแก่ธรรมชาติและผู้อื่น
นอกจากนั้นพระพุทธศาสนายังเน้นให้เรามีความประหยัดมัธยัสถ์ให้มาก
เช่นนำของที่ใช้แล้วเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง
มาดัดแปลงให้ใช้เพื่อประโยชน์อีกอย่างหนึ่งได้
การทำเช่นนี้เรียกกันในปัจจุบันว่า เป็นการ "รีไซเคิล" (Recycle) สิ่งของต่างๆ


หลวงพ่อมีความเห็นว่าแนวความคิดริเริ่ม รีไซเคิล
ที่กำลังเน้นกันมากในปัจจุบันและเข้าใจกันว่า
เป็นความคิดมาจากสังคมตะวันตกนั้น
ที่จริงแล้วเป็นความคิดในพระพุทธศาสนาเมื่อหลายพันปีมาแล้ว
ในคำสอนที่เน้นว่า การเปลี่ยนนามรูปวนเวียนกันไปเป็นธรรมชาติ
ของสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์และสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ
คำสอนนี้สนับสนุนความคิดเรื่องรีไซเคิลของคนตะวันตก

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า คำสอนของพระพุทธศาสนา
ที่หลวงพ่ออธิบายนั้น เป็นแนวคิดสำคัญของการพัฒนาแบบยั่งยืน
(Sustainable development) คือ การพัฒนาสังคม
โดยการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไว้
การพัฒนาในแนวทางนี้ เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้
(Renewable resources) การประหยัดมัธยัสถ์ และการระมัดระวัง
ไม่ให้เกิดผลเสียหายขึ้นในอนาคตเป็นสำคัญ
การพัฒนาแบบยั่งยืนนี้ ดูเหมือนจะเป็นวิธีเดียว
ที่จะช่วยให้มนุษย์ใช้ธรรมชาติได้ตามความเป็นจริง
โดยไม่ทำลายธรรมชาติให้สิ้นไป
ซึ่งจะนำภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ตัวมนุษย์เองในที่สุด
ในสมัยหนึ่งมีผู้เข้าใจว่าศาสนาคริสต์สนับสนุนให้มนุษย์
ใช้ธรรมชาติตามความต้องการได้เต็มที่
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา
ให้เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติรวมทั้งสัตว์
และทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นจึงมีสิทธิ์โดยชอบธรรม
ที่จะใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อประโยชน์ตน
แต่ในสมัยปัจจุบันคริสตศาสนิกชนส่วนมาก
มีความเห็นว่า มนุษย์มีหน้าที่จะต้องรักษาสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติไว้
เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เป็นสมบัติของมนุษย์
แต่เป็นสิ่งของที่พระองค์มอบให้รักษาดูแลไว้ (Stewardship) เท่านั้น
ถ้าหากเราทำตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
และศาสนาคริสต์ที่กล่าวมา
ปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่า
จนถึงการสร้างมลภาวะในอากาศและน้ำ
ก็จะไม่เกิดขึ้น บุญ บาป กฎแห่งกรรม

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ทราบว่าเวลานี้พระสงฆ์บางรูป
ประกาศ "ขายบุญ" หรือล้างกรรมชั่วให้แก่คน
ที่ไม่ต้องการรับผลกรรมชั่วที่ทำไว้
จึงสงสัยว่าศาสนาพุทธสอนเรื่องกฎแห่งกรรมว่าอย่างไร
และคนที่ทำกรรมชั่วไว้จะหนีวิบากกรรมดังกล่าวได้หรือไม่

ในความเห็นหลวงพ่อ กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติ
ที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้
"ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"
เป็นหลักสำคัญของกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา
ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงไม่มีคำสอนเรื่องการ "ล้างบาป"
วิบากกรรมเป็นสิ่งที่คนแต่ละคนที่ทำกรรมไว้จะต้องประสบ
แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
เช่น พระโมคคัลลาน์พระสาวกผู้มีฤทธิ์เดชมาก
ยังหลีกหนีวิบากไม่ดีไปไม่ได้

ดังนั้นก่อนทำอะไรลงไป
เราจึงจำเป็นต้องคิดพิจารณาให้ดีว่า
การกระทำนั้นเป็นกุศลกรรมมากน้อยเพียงใด
เพราะเมื่อทำอะไรลงไปแล้ว
วิบากกรรมนั้นจะติดตามตัวเราไปโดยตลอด


การทำบุญกุศลมีความสำคัญมาก
เพราะถึงแม้จะลบล้างวิบากกรรมทั้งหมดไม่ได้
แต่ก็จะช่วยลดวิบากกรรมไม่ดีหลายอย่างให้เบาบางลงได้
การทำให้วิบากกรรมไม่ดีลดความรุนแรงลง
หรือไม่ให้แสดงผลเต็มที่มีหลายวิธีด้วยกัน
ที่สำคัญก็คือ เมื่อทำอะไรไม่ดีไว้เราต้องสำนึกผิด
แล้วตั้งใจและพยายามไม่ทำกรรมนั้นต่อไป
ความสำนึกผิดและการตั้งใจทำความดีเป็นกุศลจิตอย่างหนึ่ง
ที่จะนำไปสู่การกระทำที่ดีงามทั้งหลายต่อไป
หลวงพ่อเตือนว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนว่าบาปหรือผลกรรมไม่ดี
จะ "ล้าง" ให้หมดไปด้วยการทำพิธีต่างๆ
เช่น พิธีสารภาพบาป เช่นที่มีอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่น

การมีกุศลจิตที่เกิดจากความสำนึกผิดและการตั้งใจทำกรรมดี
มีความสำคัญมากกว่าการประกอบพิธีต่างๆ
พิธีกรรมในพระพุทธศาสนาให้ผลทางจิตวิทยามากกว่าอย่างอื่น
พระพุทธศาสนาไม่ต้องการให้คนที่ประกอบกรรมชั่ว
เศร้าโศกเสียใจมากจนเกินไป
กฎแห่งกรรมไม่ได้บังคับผู้นั้นให้รับวิบากกรรมไม่ดีตลอดไป
โดยไม่สิ้นสุดหรือ (ในกรณีที่ทำกรรมชั่วร้ายแรง
เช่นที่พระเทวทัตทำต่อพระพุทธเจ้า)
ให้ตกนรกจนไม่ได้ผุดเกิดอีกต่อไป
แม้แต่คนเลวก็มีโอกาสที่จะสร้างกรรมดีให้แก่ตัวเองได้
ดังเช่น องคุลีมาลกับเทวทัต
และสามารถชื่นชมผลของกรรมดีได้ในที่สุด

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวว่า การที่พระพุทธศาสนา
ให้โอกาสผู้ทำความชั่วนั้นมีความสำคัญมาก
เพราะจะทำให้ผู้นั้นมีความหวังที่จะมีชะตากรรมที่ดีขึ้นได้ในภายหลัง
นอกจากนั้นการที่พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่อง "ล้างบาป"
ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
ในสมัยหนึ่ง นักบวชในคริสตศาสนานิกายคาทอลิก
นิยมขาย "ใบไถ่บาป" ให้คนทำบาปที่ไม่ต้องการตกนรก
เพื่อนำเงินมาใช้ก่อสร้างวัตถุถาวรต่างๆ ในศาสนา
การกระทำเช่นนี้ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายนี้เสื่อมความนิยมลง
และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่กำเนิดของนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นมาภายหลัง
ในปัจจุบันการที่ชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อย
หันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็เพราะมองเห็นว่าศาสนานี้
สอนให้คนแต่ละคนรับผิดชอบชีวิตของตนเอง
และให้โอกาสแก้ไขความผิดพลาดของตนได้ทุกเวลา
สำหรับในเรื่องของการทำบุญที่หลวงพ่อเน้นว่า
มีความสำคัญต่อชีวิตของชาวพุทธนั้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตสงสัยว่า
การที่คนไทยชาวพุทธนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น
ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนว่า
บุญ-บาป เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่คนแต่ละคนต้องทำเองหรือไม่

หลวงพ่ออธิบายว่า
การทำบุญแล้วอุทิศผลบุญไปให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด
ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
การที่คนเราจะได้บุญนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
การอนุโมทนาเมื่อมองเห็นหรือทราบว่าผู้อื่นทำบุญ
เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเอง

พระพุทธเจ้าเองทรงรับสั่งว่า
บุญกุศลเป็นสิ่งที่ผู้ทำสามารถจะถ่ายทอดให้แก่ผู้ล่วงลับได้
ถ้าหากว่าผู้นั้นอยู่ในสภาวะที่จะรับบุญกุศลได้
และยินดีเต็มใจรับบุญกุศลที่อุทิศให้ตน
การอุทิศบุญกุศลให้ผู้อื่นนี้
ไม่ได้ทำให้ปริมาณบุญกุศลที่ผู้กระทำลดน้อยลงแต่อย่างใด
เหมือนกันการใช้เทียนที่เรามีอยู่จุดเทียนเล่มอื่น
ไม่ได้ทำให้เปลวไฟในเทียนแท่งแรกลดปริมาณน้อยลงแต่อย่างใด
การอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้อื่น (ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก)
เพื่อให้ผู้นั้นมีความสุขนี้เป็นวิธีการแผ่เมตตาอย่างหนึ่ง
ที่คนไทยชาวพุทธทำอยู่เป็นประจำ
แต่บุญกุศลที่อุทิศให้นี้ไม่มีพลังมากเหมือนบุญกุศลที่เราทำเอง


เช่น ไม่สามารถจะช่วยให้เราหนีวิบากกรรมไปได้ตลอด
หรือให้เราตัดขาดจากสังสารวัฏได้
ดังนั้นการที่คนไทยนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ที่ไม่อยู่ในสภาวะที่สามารถทำบุญกุศลได้ด้วยตนเอง
จึงไม่ถือว่าเป็นการขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนา
ที่สอนว่าบุญบาปเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า การทำบุญอุทิศส่วนกุศล
ให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นประเพณีที่ควรยกย่องชมเชยมาก
เพราะแสดงให้เห็นถึงความรักความห่วงใยของชาวพุทธ
ที่มีต่อญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ในวัฒนธรรมของศาสนาคริสต์ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลเช่นที่กล่าวมา
ไม่มีอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับน้ำพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น
สิ่งที่ชาวคริสต์ทำเพื่อช่วยเหลือคนที่ล่วงลับไปแล้ว
ก็คือ สวดอ้อนวอนให้พระเจ้าทรงให้อภัยผู้มีบาปที่ล่วงลับไปแล้ว

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การอุปสมบท วิธีการคัดเลือก ระยะเวลาการบวช

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในประเทศญี่ปุ่น
มีวัดในพระพุทธศาสนาหลายวัด
ที่พิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้คนมาบวชมาก
เพราะต้องการให้วัดมีแต่พระ-เณรที่ดี
ไม่ต้องการให้ค้นมาใช้ผ้าเหลืองเป็นเครื่องมือทำมาหากิน
บางวัดมีกฎเกณฑ์ให้คนที่ต้องการบวชมาปฏิบัติ
และทำงานที่วัดเป็นเวลา ๑-๕ ปี
เมื่อเห็นว่าเป็นคนดีเหมาะสมที่จะบวชได้ จึงยินยอมให้บวช
ไม่ทราบว่าวัดไทยมีกฎเกณฑ์เช่นนี้หรือไม่

หลวงพ่อตอบว่า การพิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้อุปสมบทนั้น
เป็นสิ่งที่ดี เพราะอาจช่วยให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุดมาเป็นพระสงฆ์
ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อไป
ชีวิตของพระสงฆ์ไม่ใช่ชีวิตที่ง่ายเช่นที่เข้าใจ
เพราะนอกจากจะต้องรักษาศีลและวินัยโดยไม่ให้ด่างพร้อยแล้ว
ยังต้องทำความเพียรเป็นอย่างมากทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ
จึงจะสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็น "ลูกพระพุทธเจ้า"
การให้ผู้ที่จะบรรพชามาอยู่ที่วัดก่อน
จะทำให้ผู้นั้นมีโอกาสได้มองเห็นว่าชีวิตของพระสงฆ์นั้น
มีสภาวะเป็นเช่นไร และจะรู้ว่าตนเอง
สามารถที่จะมีชีวิตดังกล่าวได้หรือไม่
แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของการบรรพชาแตกต่างจากสมัยพุทธกาล
กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาลคนบวชเป็นพระ
เพราะต้องการที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน คนที่บวชเป็นพระมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน
คนที่บวชเพราะมุ่งมรรคผลนิพานก็มีอยู่
แต่คนส่วนมากบวชเพราะต้องการเรียนรู้พระธรรม
และวิธีปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาในบางเรื่องเท่านั้น
บุคคลเหล่านี้เป็นข้าราชการหรือนักธุรกิจการค้า
ดังนั้นจึงไม่ต้องการจะอยู่ที่วัดถาวรหรือเล่าเรียนพระธรรมทุกเรื่อง
ดังนั้นการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาจึงทำไม่ได้
เพราะจะปิดกั้นไม่ให้คนประเภทนี้มาบวช
วัดไทยต้องการให้โอกาสคนได้บวชเรียน
ดังนั้นจึงไม่ได้พิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้บวชมาก
เมื่อมีผู้ประสงค์จะบวช วัดก็พิจารณาแต่เพียงว่า
ผู้นั้นมีคุณสมบัติถูกต้องตามกำหนดไว้หรือไม่
แต่วัดที่ให้ผู้ต้องการบวชมานุ่งขาวห่มขาวถือศีล ๘
อยู่ที่วัดก่อน ๑-๒ ปีก็มีอยู่บ้าง
สำหรับที่วัดอัมพวันมีระเบียบให้ผู้ขอบวชมาปฏิบัติที่วัด ๗ วัน
ส่วนปัญหาที่ว่าเมื่อบวชแล้วผู้นั้นจะเป็นพระที่ดีหรือไม่นั้น
ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการอบรมสั่งสอน
และการเอาใจใส่ของพระอุปัชฌาย์

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สงสัยว่าการบวชเป็นพระในระยะสั้น
เช่น ๑ สัปดาห์นั้น ผู้บวชจะมีเวลาเพียงพอสำหรับศึกษาธรรม
และปฏิบัติธรรมหรือไม่ และวัดควรกำหนดกฎเกณฑ์ให้การบวชเป็นพระ
มีระยะเวลานานเป็นเดือนหรือไม่

หลวงพ่ออธิบายว่า
โดยทั่วไปแล้วในประเพณีไทย
ผู้ชายควรบวชเป็นพระอย่างน้อยหนึ่งพรรษา หรือ ๓ เดือน
ระยะเวลานี้อาจน้อยไปก็ได้
ถ้าหากเราต้องการเรียนรู้พระธรรมให้แตกฉาน
หรือต้องการขัดเกลาจิตใจให้ใสสว่าง
ในการบวชระยะสั้นนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นจะมากน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับว่าผู้บวชเป็นพระจะศึกษาเล่าเรียนพระธรรม
และปฏิบัติกรรมฐานจริงจังแค่ไหน
ถ้าหากว่าสักแต่มาบวชตามประเพณีเท่านั้น
เมื่อสึกไปแล้วผู้นั้นก็จะไม่ได้สิ่งดีงามในพระพุทธศาสนาติดตัวไป
และจะเป็นแบบที่พูดกันว่า
"มาบวชก็เสียผ้าเหลือง สึกไปก็เปลืองผ้าลาย"
เท่าที่หลวงพ่อสังเกตเห็นคนมาบวชเพียงพรรษาเดียว
ที่เปลี่ยนเป็นคนดีก็มีอยู่มาก เช่น เลิกเหล้า เลิกบุหรี่
และมีจิตใจเยือกเย็นลง และคนที่ไม่ยอมสึกออกไปตามที่เคยตั้งใจไว้
แต่แรกก็มีอยู่เช่นกัน ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าการบวชตามประเพณีไทยนั้น
เป็นสิ่งดีงาม เพราะทำให้ผู้บวชมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม
และมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติตามคำสอน
โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายทางโลก
เวลานี้ประเพณีดังกล่าวมีคนทำตามน้อยลงทุกที
คนที่มาบวชในระยะสั้น เช่นเพียง ๑ สัปดาห์ เพื่อแก้บนมีมากขึ้น
การเป็นพระในระยะสั้นมากเช่นนี้
จะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับสติปัญญา
ความสามารถ อุปนิสัยใจคอ และวาสนาของแต่ละคน
ในพระไตรปิฎกคนที่มาบวชเพียงไม่นาน
แต่สามารถบรรลุธรรมจนถึงมรรคผลนิพพานได้ก็มีอยู่
และคนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันเพียงสัปดาห์เดียวแล้ว
มีจิตใจดีงามก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย

สำหรับในเรื่องการกำหนดระยะเวลาของการบวชเป็นพระนั้น
หลวงพ่อมีความเห็นว่าควรจะเป็นเรื่องของแต่ละวัดมากกว่า
ที่จะวางหลักเกณฑ์ตายตัวครอบคลุมไปทุกวัด
สิ่งสำคัญ ก็คือ จะต้องไม่ให้กฎเกณฑ์เหล่านั้น
เป็นอุปสรรคไม่ให้คนมาบวช
ชาวไทยพุทธเชื่อว่าการบวชเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่
ที่จะสามารถถ่ายทอดให้แก่บิดามารดาหรือญาติพี่น้องได้
ถ้าหากวัดมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไป
ก็จะเป็นปัญหาแก่ผู้ที่ต้องการมาบวชได้
โดยเฉพาะผู้ที่เป็นข้าราชการและผู้มีภาระงานเป็นหลักฐาน
สำหรับวัดอัมพวันกำหนดระยะไว้ว่าจะต้องบวชไม่น้อยกว่า ๑ เดือน
แต่บางวัดไม่มีกฎเกณฑ์อะไร
อนุญาตให้บวชเป็นพระในระยะสั้นกว่านี้ได้
อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่าการบวชเป็นพระ
จะได้บุญกุศลมากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะศึกษาเล่าเรียนพระธรรม
และปฏิบัติกรรมฐานได้มากน้อยเพียงใด
และวิธีตรวจสอบบุญกุศลอย่างง่าย ๆ ก็คือ
เมื่อผู้นั้นสึกออกไปแล้วมีคุณงามความดีที่ได้จากการบวช
ติดตัวไปหรือไม่ ถ้าหากบวชแล้วยังคงมีกิเลสตัณหา
และอุปนิสัยเหมือนเดิม
เพราะในระหว่างที่บวชไม่ได้ฝึกจิตใจให้สงบและสะอาด
ก็แสดงว่าบุญกุศลที่ได้จากการบวชนั้นไม่ได้ติดตัวมาด้วย
นับว่าไม่ได้อะไรจากการบวช หรือมีชีวิตเป็นพระเลย
ศาสนาพุทธเน้นเรื่องการฝึกจิตมากกว่าเรื่องอื่น
เพราะถือว่าจิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์
ถ้าหากจิตดีเสียอย่างเดียวทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีไปหมด
ไม่ว่าจะเป็นความคิด การพูด หรือการกระทำต่าง ๆ

วัตถุประสงค์สำคัญของการบวชชั่วคราว
คือ การอบรมสั่งสอนจิตให้มีความรู้ในพระธรรม
จะได้ใสสว่างด้วยแสงของปัญญา
และการฝึกฝนจิตให้สงบและผ่องใส

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระสงฆ์ ธรรม วิชาทางโลก

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันพระสงฆ์
ที่เรียนวิชาทางโลกในสถาบันการศึกษาของรัฐมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่ทราบว่าในความคิดเห็นของหลวงพ่อ
พระสงฆ์สมควรจะเรียนวิชาทางโลกหรือไม่

หลวงพ่อตอบว่า พระพุทธเจ้าเองนอกจากพระธรรมที่ทรงค้นพบแล้ว
ยังทรงมีความรู้วิชาทางโลกมากมายหลายอย่าง
จึงทรงได้รับยกย่องให้เป็น "โลกวิทู"
พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การ "เรียนรู้" มาก
เพราะถือว่าทำให้เกิดปัญญา ยิ่งมีการเรียนรู้มากขึ้นเท่าไร
ปัญญาก็ยิ่งแตกฉานมากขึ้น
ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการที่พระสงฆ์จะไปเรียนวิชาต่าง ๆ
ที่จะช่วยให้อยู่ในสังคมปัจจุบันและอนาคตได้
ในเรื่องของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระสงฆ์ที่มีความรู้วิชาทางโลก เช่นในด้านภาษา
สังคมศาสตร์ และจิตวิทยา
สามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวไปใช้ให้เป็นประโยชน์
ในการนำพระธรรมไปเผยแผ่ในชนกลุ่มต่าง ๆ
ที่มีภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกัน
ในทำนองเดียวกัน ความรู้สมัยใหม่ด้านการบริหารจัดการ
เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบริหารจัดการวัดให้เป็นองค์กร
ของพระพุทธศาสนาที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งในการทำงานให้พระพุทธศาสนา
และในการตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของสังคมไทย
ในทำนองเดียวกัน ความรู้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญ
สำหรับพระสงฆ์ในการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ
และในการศึกษาหาความรู้สมัยใหม่
แม้แต่ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ก็เป็นประโยชน์ในการศึกษาพระธรรม
และการเผยแผ่ธรรมไปทั่วโลกโดยผ่านอินเตอร์เนท


แต่อย่างไรก็ตามความรู้ทางพระพุทธศาสนา
เป็นสิ่งที่พระสงฆ์จะขาดไม่ได้
พระสงฆ์จะต้องมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
และกว้างขวางทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
จึงจะสามารถใช้วิทยาการต่าง ๆ ทางโลก
ให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของการเป็นพระสงฆ์
ในพระพุทธศาสนาได้
เช่นพระสงฆ์ที่ศึกษาวิชาจิตวิทยาสมัยใหม่
ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้สามารถอธิบายคำสอนในพระพุทธศาสนา
เป็นภาษาวิชาการสมัยใหม่ให้นักศึกษาหรือนักวิชาการเข้าใจได้
ส่วนการศึกษาวิชาทางโลก เพื่อไปประกอบอาชีพหลังจากลาสิกขาแล้ว
ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร พระพุทธศาสนาไม่มีข้อห้าม
ไม่ให้พระสงฆ์สึก หรือไม่ให้ศึกษาวิชาที่จะเป็นประโยชน์
ในการประกอบสัมมาอาชีพ

สำหรับพระสงฆ์ที่สนใจศึกษาวิชาทางโลกนั้น
หลวงพ่อแนะนำว่าก่อนที่จะศึกษาวิชาทางโลกวิชาใดนั้น
พระสงฆ์ควรจะกำหนดเป้าหมายให้แน่นอนว่า
ต้องการศึกษาวิชานั้นเพื่อประโยชน์อะไร
ความรู้ที่ได้จากการศึกษานั้นเป็นประโยชน์
ต่อการนำพระธรรมไปเผยแผ่มากน้อยเพียงใด
การศึกษาวิชาทางโลก เพื่อใช้ประกอบอาชีพหลังจากลาสิกขาแล้ว
กับการศึกษาเพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรม
และเผยแผ่พระธรรม มีวิธีการศึกษาไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
เป็นศาสตร์ที่ลุ่มลึกและกว้างขวางมาก
มีหลายสิ่งหลายอย่างในพระธรรมที่ความรู้วิทยาการสมัยใหม่
ยังค้นไม่พบ ความรู้วิทยาการสมัยใหม่บางอย่าง
อาจช่วยให้เราเข้าใจพระธรรมบางส่วนได้ง่ายขึ้น
แต่ก็ไม่สามารถให้ความรู้ทดแทนความรู้ที่มีอยู่ในพระธรรมได้
สำหรับหลวงพ่อนั้นมีความเห็นว่า ความรู้วิทยาการสมัยใหม่
เป็นประโยชน์ในการอธิบายพระธรรมแก่คนปัจจุบัน
โดยการใช้ความคิดและคำศัพท์สมัยใหม่ที่คนสมัยใหม่จะเข้าใจได้

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับความคิดของหลวงพ่อ
ที่เน้นให้พระสงฆ์มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา
ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่ไปกับ
การมีความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่
พระสงฆ์ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธเลย
จะเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้อย่างไร
สิ่งนี้สังเกตจากการสอนวิชาทางโลกให้แก่พระสงฆ์หลายรูป
ก็คือ พระสงฆ์ที่เป็นนักศึกษาอยู่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาน้อยมาก
ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีหรือการปฏิบัติ
การที่เป็นเช่นนี้ทำให้เกรงไปว่า
ต่อไปข้างหน้าพระสงฆ์ อาจจะสนใจเรียนแต่วิชาทางโลกอย่างเดียว
เพื่อเตรียมตัวไปประกอบอาชีพหลังลาสิกขา
และไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้วิชาการทางพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เจริญก้าวหน้า
ถ้าหากพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
ไม่มีวิชาการที่แข็งแกร่งแล้ว
พุทธศาสนิกชนคนไทยก็อาจจะหันไปยึดถือความเชื่อและปฏิบัติ
ที่ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของพระพุทธศาสนามาขึ้นก็ได้

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


หลวงพ่อกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความเจริญก้าวหน้าของพระพุทธศาสนา
ในประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต
เป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณามาก
เวลานี้พระสงฆ์ที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งนั้นยังมีอยู่
แต่ถ้าหากพระสงฆ์รุ่นใหม่หันไปสนใจศึกษา
แต่วิชาทางโลกแต่อย่างเดียวแล้ว
ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่กล่าวมาได้
ในการป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น
พระสงฆ์จะต้องอุทิศตัวเองให้แก่การศึกษาพระธรรมให้มากขึ้น

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า นอกจากพระสงฆ์แล้ว
ฆราวาสก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้า
ให้แก่วิชาการทางพระพุทธศาสนา
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์
ก็คือ พระสงฆ์ส่วนมากขาดสิ่งที่มิชชั่นนารีของศาสนาคริสต์มักจะมีอยู่
คือ ความเชื่อมั่นว่าตนเองมีหน้าที่จะต้องทำให้แก่พระเจ้า
การปฏิบัติหน้าที่ตามความเชื่อนี้ทำให้มิชชันนารี
อดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ โดยไม่ย่นย่อ
และบางคนถึงกับยอมสละชีวิตก็มี
แต่จากการพูดคุยกับพระสงฆ์ที่เป็นนักศึกษา
และจากการอ่านหนังสือต่าง ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ในประเทศไทย ทราบว่าพระสงฆ์ไทยไม่มีความสำนึกทำนองที่กล่าวมา
คนส่วนมากมาบวช เพราะต้องการมีโอกาสทางการศึกษา
หรือเพราะต้องการสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเองและบิดามารดา
ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะรับใช้หรือสร้างความเจริญก้าวหน้า
ให้แก่พระพุทธศาสนาแต่อย่างใด
เมื่อขาดวัตถุประสงค์นี้ในการบวชแล้ว
พระสงฆ์ก็หันไปใช้พระพุทธศาสนาหรือสมณเพศ
เป็นเครื่องมือสนองความต้องการส่วนตัวของตนแต่อย่างเดียว
ในศาสนาคริสต์เอง นักบวชที่มีลักษณะเช่นนี้เริ่มจะมีจำนวนมากขึ้น
และผู้ที่อุทิศตัวเองให้แก่พระเจ้าก็มีน้อยลงทุกที
การเป็นนักบวช จึงดูเหมือนจะเป็นอาชีพ
หรือทางทำมาหากินอย่างหนึ่ง
ส่วนการควบคุมความประพฤติของนักบวช
ไม่ให้ผิดครรลองคลองธรรมนั้น
ถ้าหากองค์กรของศาสนาไม่สนใจและเอาใจใส่อย่างจริงจังแล้ว
ศาสนิกชนคงจะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา
หลวงพ่อตอบว่า พระสงฆ์ที่มีลักษณะเช่นที่ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
กล่าวถึงหรือที่หนังสือที่ชาวตะวันตกเขียนไว้มีอยู่บ้าง
แต่ในขณะเดียวกันพระสงฆ์ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงาน
ให้พระพุทธศาสนาและนำพระธรรมคำสอนไปเผยแผ่
เพื่อความผาสุกของชาวบ้านก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย
พระพุทธศาสนาเป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่มีดอกและผลมากมาย
ดังนั้นจังเป็นอยู่อาศัยของนกกาจำนวนมาก
สำหรับในเรื่องของพระสงฆ์นั้น
เราคงจะต้องยอมรับความจริงว่าในปัจจุบัน
ผู้ที่มาบวชเพราะต้องการมีโอกาสทางการศึกษา
หรือต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมและวิธีฝึกจิตในพระพุทธศาสนา
ชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี
บุคคลเหล่านี้เมื่อสึกออกไปก็จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
การทำงานให้พระพุทธศาสนามีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
แล้วแต่ความรู้ความสามารถและโอกาสของศาสนิกชนแต่ละคน
พระสงฆ์เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔
ที่มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนและนำไปเผยแผ่
ที่ถือกันว่า เป็นภารกิจหลักของพระสงฆ์นั้น
เป็นวิธีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาวิธีหนึ่ง
การทำตัวให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและปฏิบัติตามคำสอนก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความเสมอภาค ภิกษุณี แม่ชี

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตสงสัยว่า
พระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องความเสมอภาค
ระหว่างเพศชายและเพศหญิงหรือไม่
การที่ประเทศไทยไม่มีภิกษุณีนั้นแสดงว่า
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่คนไทยนับถืออยู่
ไม่ให้ความสำคัญแก่สตรีเท่าเทียมกับผู้ชายใช่หรือไม่

หลวงพ่ออธิบายว่า
ตามแนวความคิดเรื่องกฎแห่งกรรม
คนทุกคนไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด
เพราะมีวิบากกรรมติดตัวมาไม่เหมือนกัน
การที่สังคมตะวันตกเน้นความเสมอภาคของมวลมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ดี
มีประโยชน์ ถึงแม้ว่าความคิดนี้จะเป็นความจริงไปไม่ได้
เช่นเดียวกัน ในกรณีที่สมมุติว่าทุกคนมีฐานะความเป็นอยู่เท่าเทียมกัน
ไม่มีใครเป็นคนรวยหรือคนจนเลย
เมื่อเราแจกเงินให้ทุกคนจำนวนเท่ากันในเวลาเช้า
ในตอนเย็นก็จะมีคนรวยคนจนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ความเสมอภาคที่แท้จริงจะเกิดมีขึ้นได้
ก็ต่อเมื่อทุกคนมีกรรมเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและการบรรลุธรรมนั้น
เพศไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด
เพราะจิตที่บรรลุธรรมไม่มีเพศหญิงหรือเพศชาย เด็กหรือผู้ใหญ่
ดังเห็นเป็นตัวอย่างในสมัยพุทธกาล
ที่พระอรหันต์มีทั้งผู้ชายผู้หญิง เด็กและผู้ใหญ่
ดังนั้นในหลักการแล้วไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก หรือผู้ใหญ่
ก็สามารถบรรลุธรรมได้ทั้งนั้น
แต่ส่วนจะประสบความสำเร็จดังกล่าวได้เมื่อไร
และด้วยวิธีใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง
เช่นความอุตสาหะและวาสนาบารมีที่สะสมมา
สำหรับที่วัดอัมพวันนั้น ทางวัดให้โอกาสแก่ผู้ชาย ผู้หญิง
เด็กและผู้ใหญ่ในการมาปฏิบัติธรรมเท่ากัน
ไม่ได้กำหนดสัดส่วนว่าผู้มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัด
จะต้องมีสัดส่วนของผู้ชาย ผู้หญิงเท่าใด
ทางวัดจำกัดจำนวนผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัด
ตามจำนวนของห้องพักที่มีอยู่
และก็พยายามขยายจำนวนห้องพักให้มากขึ้นเท่าที่ทำได้
เพื่อตอบสนองความต้องการของศาสนิกชนทั้งชายและหญิง
ในเวลานี้หลวงพ่อได้จัดตั้งสาขาของวัดอัมพวัน
ที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จังหวัดขอนแก่น
เพื่อประโยชน์ของพุทธศาสนิกชนทั้งสองเพศ
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่

ส่วนเรื่องของภิกษุณีนั้น การไม่มีภิกษุณีในประเทศไทย
เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และการขาดปัจจัยต่าง ๆ ที่กำหนดไว้
ในข้อบัญญัติที่ยึดถือกันมานาน
มากกว่าการไม่ให้ความเสมอภาคแก่สตรี
การที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ไต้หวันหรือในประเทศอื่น
มีภิกษุณีนั้น เป็นเรื่องของนิกายนั้น
ศาสนาพุทธแต่ละนิกาย มีรายละเอียดปลีกย่อย
เกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
เราไม่ควรจะนำมากล่าวอ้างเมื่อศาสนิกชนในนิกายหนึ่งทำได้
ศาสนิกชนในอีกนิกายหนึ่งก็คงจะทำได้ด้วย

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 18:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่า ความคิดเรื่องความเสมอภาค
ในพระพุทธศาสนาไปไกลกว่าความคิดของคนตะวันตกมาก
สำหรับในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น
ในปัจจุบันมีการพูดเรื่องความเสมอภาคระหว่างชาย - หญิง มากขึ้น
เพราะต้องการให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับผู้ชาย
แม้แต่ในศาสนาคริสต์เอง
ก็มีผู้ตีความหมายคำสอนใหม่ไม่ให้เป็นไปในทำนองดูถูกดูหมิ่นสตรีเพศ
ในปัจจุบันคริสตศาสนานิการคาทอลิกในบางแห่ง
ยอมให้สตรีเป็นนักบวชที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
เท่ากันกับนักบวชชาย
สำหรับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น
บางทีในอนาคตข้างหน้า
เมื่อการเรียกร้องสิทธิสตรีมีอิทธิพลมากขึ้น
พระพุทธศาสนาอาจจะจำเป็นต้องแกไขกฎระเบียบใหม่
เพื่อให้สตีสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้
สำหรับในเรื่องของแม่ชีนั้น ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า
ตามวัดต่าง ๆ มักจะมีแม่ชีอยู่จำนวนไม่น้อย
เพื่อช่วยเหลือกิจการงานของวัด
จึงสงสัยว่าในปัจจุบันแม่ชีมีสภาพเช่นใดในสังคมไทย

หลวงพ่อตอบว่า ในปัจจุบันแม่ชีมีสภาพทางสังคมดีขึ้น
เนื่องจากสังคมมองเห็นประโยชน์ที่แม่ชี
ทำให้แก่พระพุทธศาสนาและสังคมมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน
ในเรื่องของการศึกษานั้น แม่ชีมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเช่นกัน
เวลานี้แม่ชีที่ศึกษาจบเปรียญ ๙ ได้ก็มีอยู่
และสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน
ที่รับแม่ชีเข้าเป็นนักศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ในสังคมไทยปัจจุบันมีการยอมรับแม่ชีมากขึ้น
สถานภาพของแม่ชีไม่ได้ต่ำต้อยที่เข้าใจกัน
ส่วนแม่ชีจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเท่าไรนั้น
ขึ้นอยู่กับตัวแม่ชีเอง และงานที่ทำให้พระพุทธศาสนาและสังคม

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า ทราบจากหนังสือพิมพ์
ภาษาอังกฤษว่า เวลานี้แม่ชีจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น
ทั้งในด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์
แต่แม่ชีที่เป็นนักวิชาการทางพระพุทธศาสนายังมีจำนวนน้อยมาก
อย่างไรก็ตามถ้าหากแม่ชีมุ่งทำงานดังกล่าวต่อไป
และไม่ทอดทิ้งงานด้านวิชาการที่กล่าวมา
แม่ชีก็คงจะทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาและสังคม
ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอเมริกางานสังคมสงเคราะห์ที่แม่ชีทำนั้น
มีอยู่มากมายหลายอย่าง เช่น การดูแลผู้สูงอายุและเด็กที่ที่ถูกทอดทิ้ง
การพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาล
และการสอนหนังสือตามโรงเรียนต่าง ๆ
เอกลักษณ์ของแม่ชีในศาสนาคริสต์ คือ งานสังคมสงเคราะห์
ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นงานที่แสดงความรักที่มีต่อพระเจ้า
ดังคำสอนของคริสตศาสนาที่ว่า
ผู้ใดรักพระเจ้าผู้นั้นควรอุทิศตนเพื่อความสุขของผู้อื่น

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 19:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระสงฆ์ การพัฒนา ขอบเขตจำกัด

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ทราบว่า ในปัจจุบันประเทศศรีลังกา
พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ มาก
ไม่ทราบว่าในประเทศไทยพระสงฆ์มีบทบาทดังกล่าวหรือไม่

หลวงพ่ออธิบายว่า
ในประเทศไทยการที่พระสงฆ์ช่วยพัฒนาชุมชนนั้น
มีมานานหลายสิบปีแล้ว และในปัจจุบันจำนวนพระสงฆ์ที่เรียกกันว่า
"พระพัฒนา" ก็มีจำนวนมากขึ้น
การช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ไม่ได้ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
ที่ต้องการให้พระสงฆ์ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนทั้งหลาย
แต่เนื่องจากคำว่า "พัฒนา" และ "ชุมชน" มีความหมายกว้างมาก

ดังนั้นปัญหาที่พระสงฆ์ ควรคิดก่อนที่จะไปร่วมพัฒนาชุมชน
ก็คือวัตถุประสงค์ วิธีการ สิ่งที่ต้องการพัฒนาและขอบเขตจำกัด
ของการช่วยเหลือชุมชน
สำหรับวัดอัมพวันนั้น การพัฒนา หมายถึง การสร้างคนให้มีคุณธรรม
จริยธรรม หรือการปลุกคนให้ตื่นจากความหลงงมงายต่างๆ
ที่เป็นอันตรายแก่ตนเองและสังคมที่อยู่
โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ
ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โครงการสร้างคนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่พุทธศาสนิกชนเท่านั้น
แต่ให้โอกาสผู้ที่นับถือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
ได้มาร่วมโครงการด้วย วัดอัมพวันได้พัฒนาชุมชนในแนวทางนี้
มาเป็นระยะเวลานาน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์พัฒนาวัฒนธรรม
และจริยธรรมของบุคคลอาชีพต่างๆ
ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับความคิดของหลวงพ่อ
ที่มุ่งการพัฒนาไปที่การสร้างคนมากกว่าการสร้างวัตถุ
การสร้างถาวรวัตถุที่ใหญ่โตและใช้เงินจำนวนมากมายนั้น
มักจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาได้ภายหลัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร
แต่การสร้างคนเช่นที่หลวงพ่อทำอยู่นั้น มีแต่ประโยชน์ทางเดียว
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตทราบว่า มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อย
ที่ช่วยการพัฒนาชุมชนด้วยการจัดทำกิจกรรมต่างๆ
ที่ไม่ใช่การพัฒนาจิตใจ เช่น ที่วัดอัมพวันกำลังทำอยู่
ไม่ทราบว่าหลวงพ่อมีความคิดเห็นเช่นไร
การที่พระสงฆ์เข้าไปร่วมพัฒนาชุมชนนั้น
ควรมีของเขตจำกัดแค่ไหน

หลวงพ่ออธิบายว่า โดยทั่วไปแล้วพระสงฆ์
ควรจะให้ความสำคัญแก่การพัฒนาทางจิตใจของศาสนิกชน
มากกว่าด้านอื่น แต่ในบางชุมชน พระสงฆ์จำเป็นต้องช่วยเหลือชาวบ้าน
ในเรื่องอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ในเรื่องการฝึกอาชีพ
และการจัดตั้งสหกรณ์ ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในสังคมไทย
ไม่ว่าในสมัยใด คือ ปัญหาความยากจน
ชาวบ้านในชนบทส่วนมากอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร
และมีฐานะความเป็นอยู่แร้นแค้น
จนต้องการให้พระสงฆ์ช่วยเหลือพวกตนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นการเทศน์สั่งสอนแต่เพียงอย่างเดียว
ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว
พระสงฆ์พยายามให้ชาวบ้านช่วยเหลือกันเองให้มากที่สุด
และในขณะเดียวกันก็ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่จัดกิจกรรมต่างๆ
ให้ชาวบ้านร่วมมือกันทำ เช่น สร้างถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน
ขุดบ่อน้ำ และจัดตั้งธนาคารข้าว
หลวงพ่อมีความเห็นว่าในระยะแรกนั้น
พระสงฆ์จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินการต่างๆ
ในฐานะผู้นำ และต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่ไม่ขัด
กับพระธรรมวินัยด้วย นอกจากนั้นเมื่อชาวบ้านสามารถดำเนินการต่างๆ
ได้เองแล้ว พระสงฆ์ควรจะถอยออกมาและมุ่งพัฒนาชาวบ้าน
ด้านจิตใจ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน
ดังนั้นขอบเขตจำกัดของการช่วยเหลือพัฒนาชุมชนของพระสงฆ์
จึงอยู่ที่การไม่ทำอะไรที่ผิดพระธรรมวินัย
และการถอนตัวออกมาเมื่อชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ย. 2009, 19:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับความคิดเห็นของหลวงพ่อ
เกี่ยวกับขอบเขตจำกัดของการช่วยพัฒนาชุมชนของพระสงฆ์
ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตใจ
พระสงฆ์ไม่ใช่ "พัฒนากร" หรือ "นักสังคมสงเคราะห์" โดยอาชีพ
ดังนั้นเมื่อได้ช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถช่วยตัวเอง
ให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว
พระสงฆ์จึงควรจะมุ่งมาที่การพัฒนาจิตใจชาวบ้านให้ดีงาม
สัมมาชีพ เยาวชน ภูมิคุ้มกัน

ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เข้าใจว่า ศาสนาพุทธเน้นความสำคัญ
ของ "สัมมาอาชีวะ" มากเป็นพิเศษ
เพราะมีความสัมพันธ์กับจริยธรรมของสังคม
ไม่ทราบว่าสังคมไทย ปัจจุบันนำความคิดเรื่องนี้
มาใช้มากน้อยเพียงใด

หลวงพ่อ ยอมรับว่า สัมมาอาชีพมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณธรรม
และจริยธรรมของคนในสังคม แต่ในปัจจุบันในสังคมชาวพุทธทั่วไป
ไม่เฉพาะแต่ในสังคมไทยเท่านั้น
ผู้ประกอบอาชีพที่เป็นภัยแก่ชีวิตจิตใจของคนในสังคม
มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และถือกันว่าอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพสุจริต
ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ส่วนมาก มีแต่ความเห็นแก่ตัวและความโลภ
ไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิการของคนในสังคมไทย
โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย
ดังนั้นการที่จะห้ามไม่ให้มีอาชีพดังกล่าวเลยคงจะเป็นไปไม่ได้

วิธีการสำคัญที่จะป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกทำลาย
ก็คือ จะต้องใช้ความรักความเอาใจใส่ให้การศึกษา
และให้มีธรรมประจำตัว ซึ่งเป็นเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกัน
ให้แก่เด็กและเยาวชน ดังนั้นครอบครัว โรงเรียน และวัด
ต่างก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้มากและควรจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด


:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ต.ค. 2009, 16:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 20:45
โพสต์: 1094

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธศาสนาสอนให้อยู่บนหลักความเป็นจริง

มีหลักเหตุผล

:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 45 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร