วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 51 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


16
รูปภาพ

ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์เฝ้าปฏิบัติ
พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา



ตอนนี้เป็นตอนที่พระมหาบุรุษบำเพ็ญทุกกรกิริยา กลุ่มคนที่นั่งอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์นั้นคือ คณะปัญจวัคคีย์ มี ๕ คนด้วยกัน คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ทั้งหมดตามเสด็จพระมหาบุรุษออกมาเพื่อเฝ้าอุปัฏฐาก ส่วนผู้ที่ถือพิณอยู่บนอากาศนั้นคือพระอินทร์

คนหัวหน้าคือโกณฑัญญะ เป็นคนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่เคยทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนนั้นยังหนุ่ม แต่ตอนนี้แก่มากแล้ว อีก ๔ คน เป็นลูกของพราหมณ์ที่เหลือ คือ ในจำนวนพราหมณ์ ๗ คนนั้น

ทุกกรกิริยาเป็นพรตอย่างหนึ่งซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน มีตั้งแต่อย่างต่ำธรรมดา จนถึงขั้นอาการปางตายที่เกินวิสัยสามัญมนุษย์จะทำได้อย่างยิ่งยวด ปางตาย คือ กัดฟัน กลั้นลมหายใจเข้าออก และอดอาหาร

พระมหาบุรุษทรงทดลองดูทุกอย่าง จนบางครั้ง เช่น คราวลดเสวยอาหารน้อยลงๆ จนถึงงดเสวยเลย แทบสิ้นพระชนม์ พระกายซูบผอม พระโลมา (ขน) รากเน่าหลุดออกมา เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เวลาเสด็จดำเนินถึงกับซวนเซล้มลง

ทรงทดลองดูแล้วก็ทรงประจักษ์ความจริง ความจริงที่ว่านี้ กวีท่านแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ พระอินทร์ถือพิณสามสายมาทรงดีดให้ฟัง สายพิณที่หนึ่งลวดขึงตึงเกินไปเลยขาด สายที่สองหย่อนเกินไปดีดไม่ดัง สายที่สามไม่หย่อนไม่ตึงนัก ดีดดัง เพราะ

พระอินทร์ดีดพิณสายที่สาม (มัชฌิมาปฏิปทา) ดังออกมาเป็นความว่า ไม้สดแช่อยู่ในน้ำ ทำอย่างไรก็สีให้เกิดไฟไม่ได้ ถึงอยู่บนบก แต่ยังสด ก็สีให้เกิดไฟไม่ได้ ส่วนไม้แห้งและอยู่บนบกจึงสีให้เกิดไฟได้ อย่างแรกเหมือนคนยังมีกิเลสและอยู่ครองเรือน อย่างที่สองเหมือนคนออกบวชแล้ว แต่ใจยังสดด้วยกิเลส อย่างที่สามเหมือนคนออกบวชแล้วใจเหี่ยวจากกิเลส

พอทรงเห็นหรือได้ยินเช่นนั้น พระมหาบุรุษจึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นความเพียรทางกาย แล้วเริ่มกลับเสวยอาหารเพื่อบำเพ็ญความเพียรทางใจ พวกปัญจวัคคีย์ทราบเข้าก็เกิดเสื่อมศรัทธา หาว่าพระมหาบุรุษคลายความเพียรเวียนมาเพื่อกลับเป็นผู้มักมากเสียแล้ว เลยพากันละทิ้งหน้าที่อุปัฏฐากหนีไปอยู่ที่อื่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


17
รูปภาพ

เช้าวันตรัสรู้ นางสุชาดากับทาสี
มาถวายข้าวมธุปายาส โดยสำคัญว่าเป็นเทวดา



นับตั้งแต่พระมหาบุรุษเสด็จออกบวชเป็นต้นมาจนถึงวันที่เห็นอยู่ในภาพนี้ เป็นเวลาย่างเข้าปีที่ ๖ ตอนนี้พระมหาบุรุษเริ่มเสวยอาหารจนพระวรกายมีกำลังเป็นปกติแล้ว และวันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพระพุทธเจ้านิพพาน ๔๕ ปี สตรีที่กำลังถวายของแด่พระมหาบุรุษ คือ นางสุชาดา เป็นธิดาของคหบดีผู้หนึ่งในหมู่บ้าน ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ของที่นางถวาย คือ ข้าวมธุปายาส คือข้าวที่หุงด้วยนมโคล้วน เป็นอาหารจำพวกมังสวิรัติ ไม่ปนเนื้อ ไม่เจือปลา ใช้สำหรับบวงสรวงเทพเจ้าโดยเฉพาะ

ปฐมสมโพธิเล่าว่า นางสุชาดาเคยบนเทพเจ้าไว้ที่ต้นไทร เพื่อให้ได้สามีผู้มีชาติสกุลเสมอกัน และได้ลูกที่มีบุญ เมื่อนางได้สมปรารถนาแล้ว จึงหุงข้าวมธุปายาสเพื่อแก้บน ก่อนถึงวันหุง นางสุชาดาสั่งคนงานให้ไล่ต้อนฝูงโคนมจำนวนหนึ่งพันตัวเข้าไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ ให้แม่โคกินชะเอมเครือ กินอิ่มแล้วไล่ต้อนออกมา แล้วแบ่งแม่โคนมออกเป็นสองฝูงๆ ละ ๕๐๐ ตัว แล้วรีดเอานมจากแม่โคนมฝูงหนึ่งมาให้แม่โคนมอีกฝูงหนึ่งกิน แบ่งและคัดแม่โคนมอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนเหลือแม่โคนม ๘ ตัว เสร็จแล้วจึงรีดน้ำนมจากแม่โคนมทั้ง ๘ มาหุงข้าวมธุปายาส

หุงเสร็จแล้ว นางสุชาดาสั่งให้นางทาสีหญิงรับใช้ไปทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณต้นไทร นางทาสีไปแล้วกลับมารายงานให้นางสุชาดาทราบว่า เวลานี้รุกขเทพเจ้าที่จะรับเครื่องสังเวยได้สำแดงกายให้ปรากฏ นั่งรออยู่ที่โคนต้นไทรแล้ว นางสุชาดาดีใจเป็นกำลัง จึงยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูนหัวเดินมาที่ต้นไทรพร้อมกับนางทาสี ก็ได้เห็นจริงอย่างนางทาสีเล่า นางจึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย พระมหาบุรุษทรงรับแล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา นางทราบพระอาการกิริยาว่า พระมหาบุรุษไม่มีบาตรหรือภาชนะอย่างอื่นรับอาหาร นางจึงกล่าวคำมอบถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดนั้น

ถวายเสร็จแล้วก็ไหว้ แล้วเดินกลับบ้านด้วยความยินดี และด้วยความสำคัญหมายว่า พระมหาบุรุษนั้นเป็นรุกขเทพเจ้า

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


18
รูปภาพ

ทรงลอยถาด ถาดจมลงไปกระทบกับถาดเดิม ๓ ใบ
พญานาคก็รู้ว่า พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้



เมื่อนางสุชาดากลับไปบ้านแล้ว พระมหาบุรุษเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทรงถือถาดทองข้าวมธุปายาส เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เสด็จลงสรงน้ำ แล้วขึ้นมาประทับนั่งริมฝั่ง ทรงปั้นข้าวมธุปายาสออกเป็นปั้น รวมได้ ๔๙ ปั้น แล้วเสวยจนหมด ปฐมสมโพธิว่า “เป็นอาหารที่คุ้มไปได้ ๗ วัน ๗ หน”

เสร็จแล้วทรงลอยถาดและทรงอธิษฐานว่า ถ้าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ถาดจงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกลถึง ๘๐ ศอก ไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง ถาดนั้นจึงจมดิ่งหายไปจนถึงพิภพของกาฬนาคราช กระทบกับถาดสามใบของพระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์เสียงดังกริ๊ก

พระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์นั้น คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ และพระกัสสปะ พระมหาบุรุษกำลังจะเป็นองค์ที่ ๔

กาฬนาคราชหลับมาตั่งแต่สมัยพระพุทธเจ้าในอดีต จะตื่นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงถาด พอได้ยิน ก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่เกิดในโลกแล้ว คราวนี้ก็เหมือนกัน เมื่อได้ยินเสียงถาดของพระมหาบุรุษ ก็งัวเงียขึ้นแล้วงึมงำว่า “เมื่อวานนี้พระชินสีห์ (หมายถึงพระกัสสปพุทธเจ้า) อุบัติในโลกพระองค์หนึ่ง แล้วซ้ำบังเกิดอีกพระองค์หนึ่งเล่า” ลุกขึ้นมาไหว้พระพุทธเจ้าเกิดใหม่ แล้วก็หลับต่อไปอีก

ความที่กล่าวมาถึงตอนพระมหาบุรุษทรงลอยถาด แล้วถาดลอยทวนกระแสน้ำจนถึง กาฬนาคราชได้บาดาลได้ยินเสียงถาดตกลงนั้น ท่านพรรณาเป็นปุคคลาธิษฐานถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐานก็ได้ความอย่างนี้คือ ถาดนั้นคือพระศาสนาของพระพุทธเจ้า แม่น้ำคือ โลกหรือคนในโลก คำสั่งสอนหรือพระศาสนาของพระพุทธเจ้า พาคนไหลทวนกระแสโลกไปสู่กระแสนิพพาน คือความพ้นทุกข์ที่ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ และตาย ส่วนกระแสโลกไหลไปสู่ความเกิด แก่ เจ็บ และตาย พญานาคใต้บาดาลผู้หลับใหล คือสัตวโลกที่หนาแน่นด้วยกิเลส เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติบังเกิดขึ้นมาในโลกก็รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า รู้แล้วก็หลับใหลไปด้วยอำนาจแห่งกิเลสต่อไปอีก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


19
รูปภาพ

ทรงลาดหญ้าประทับเป็นโพธิบัลลังก์
ตกเย็นพระยามารก็กรีฑาพลมาขับไล่



เหตุการณ์ที่เกิดกับพระมหาบุรุษตอนนี้เรียกว่า “มารผจญ” ซึ่งเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนตรัสรู้ไม่กี่ชั่งโมง พระอาทิตย์กำลังอัสดงลงลับทิวไม้ สัตว์สี่เท้าที่กำลังจะใช้งาทิ่มแทงพระมหาบุรุษนั้นมีชื่อว่า “นาราคีรีเมขล์” เป็นช้างทรงของพระยาวัสสวดีมารซึ่งเป็นจอมทัพ สตรีที่กำลังบีบมวยผมนั้นคือ “พระนางธรณี” มีชื่อจริงว่า “สุนธรีวนิดา”

พระยามารตนนี้เคยผจญพระมหาบุรุษมาครั้งหนึ่งแล้ว คือ เมื่อคราวเสด็จออกจากเมือง แต่คราวนี้เป็นการผจญชิงชัยกับพระมหาบุรุษยิ่งใหญ่กว่าทุกคราว กำลังพลที่พระยามารยกมาครั้งนี้มืดฟ้ามัวดิน มาทั้งบนเวหา บนดิน และใต้บาดาล ขนาดเทพเจ้าที่มาเฝ้ารักษาพระมหาบุรุษต่างเผ่นหนีกลับวิมานกันหมดเพราะเกรงกลัวมาร

ปฐมสมโพธิพรรณนาภาพพลมารตอนนี้ไว้ว่า “...บางจำพวกก็หน้าแดงกายเขียว บางจำพวกก็หน้าเขียวกายแดง บางเหล่าจำแลงกายขาวหน้าเหลือง...บางหมู่กายลายพร้อยหน้าดำ...บางพวกกายท่อน ล่างเป็นนาค กายท่อนต่ำเป็นมนุษย์...”

ส่วนตัว พระยามาร เนรมิตพาหาคือแขนซ้ายและขวาข้างละหนึ่งพันแขน แต่ละแขนถืออาวุธต่างๆ เช่น ดาบ หอก ธนู ศร โตมร (หอกซัด) จักรสังข์ อังกัส (ของ้าวเหล็ก) คทา ก้อนศิลา หลาว เหล็ก ครกเหล็ก ขวานถาก ขวานผ่า ตรีศูล (หลาวสามง่าม) ฯลฯ

เหตุที่พระยามารมาผจญพระมหาบุรุษทุกครั้ง เพราะพระยามารมีนิสัยไม่อยากเห็นใครดีเกินหน้าตน เมื่อพระมหาบุรุษจะทรงพยายามเพื่อเป็นคนดีที่สุดในโลก จึงขัดขวางไว้ แต่ก็พ่ายแพ้พระมหาบุรุษทุกครั้ง ครั้งนี้เมื่อเริ่มยกแรกก็แพ้ แพ้แล้วก็ใช้เล่ห์ คือ กล่าวตู่พระมหาบุรุษว่ามายึดเอา “โพธิบัลลังก์” คือตรงที่พระมหาบุรุษประทับนั่ง ซึ่งพระยามารตู่เป็นที่ของตน พระยามารอ้างพยานบุคคลคือพวกพ้องของตน ฝ่ายพระมหาบุรุษทรงมองหาใครเป็นพยานไม่ได้ เทพเจ้าเล่าก็เปิดหนีกันหมด จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกจากชายจีวร แล้วทรงชี้พระดัชนีลงยังพื้นพระธรณี พระนางธรณีจึงผุดขึ้นตอนนี้เพื่อเป็นพยาน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


20
รูปภาพ

แม่พระธรณีบิดพระเกศา เกิดเป็นสมุทรธารา
พระยามารก็พ่ายแพ้แก่พระบารมี



สถานที่ที่พระมหาบุรุษประทับนั่งพื่อทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ แสวงหาทางตรัสรู้ ซึ่งอยู่ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น เรียกว่า “โพธิบัลลังก์” พระยามารกล่าวตู่ว่าเป็นสมบัติของตน ส่วนพระมหาบุรุษทรงกล่าวแก้ว่า บังเกิดขึ้นด้วยผลแห่งบุญบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อน แล้วทรงอ้างพระนางธรณีเป็นพยาน

ปฐมสมโพธิว่า “พระธรณีก็มิอาจดำรงกายอยู่ได้...ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้นปฐพี...” แล้วกล่าวเป็นพยานพระมหาบุรุษ พร้อมกับบีบน้ำออกจากมวยผม น้ำนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ทักษิโณทก” อันได้แก่ น้ำที่พระมหาบุรุษทรงกรวดทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนเป็นลำดับมา ซึ่งแม่พระธรณีเก็บไว้ที่มวยผม เมื่อนางบีบก็หลั่งไหลออกมา

ปฐมสมโพธิว่า “เป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศทั้งปวง ประดุจห้วงมหาสาครสมุทร...หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำ ปลาสนาการไปสิ้น ส่วนคิรีเมขลคชินทร ที่นั่งทรงองค์พระยาวัสสวดี ก็มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร...พระยามารก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด”

บารมีนั้นคือความดี พระมหาบุรุษท่านทรงรำพึงว่า ชีวิต ดวงหทัย นัยน์เนตรที่ท่านทรงบริจาคให้เป็นกุศลผลทานมาก่อนนั้น ถ้าจะเก็บรวมไว้ก็จะมากกว่าผลาผลไม้ในป่า มากกว่าดวงดาราในท้องฟ้า

ความดีที่ทำไว้นั้นไม่หนีไปไหน ถึงใครไม่เห็น ฟ้าดินก็เห็น ดินคือแม่พระธรณี

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


21
รูปภาพ

พอรุ่งอรุณก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เทวดาฝ่ายฟ้อนร่อนรำถวายเป็นพุทธบูชา



เมื่อพระมหาบุรุษทรงชนะมารแล้วนั้น พระอาทิตย์กำลังจะอัสดง ราตรีเริ่มย่างเข้ามา พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัยด้วยวิธีที่เรียกว่า เข้าฌาน แล้วทรงบรรลุญาณ

ฌาน คือ วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้จิตแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดา ส่วน ญาณ คือ ปัญญาความรู้แจ้ง เปรียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด คือ “ฌาน” แสงสว่างอันเกิดจากแสงเทียนเท่ากับ ปัญญา (ญาณ)

พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณที่หนึ่งในตอนปฐมยาม (ประมาณ ๓ ทุ่ม) ญาณที่หนึ่งนี้เรียกว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” หมายถึง ความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น พอถึงมัชฌิมยาม (ประมาณเที่ยงคืน) ทรงบรรลุญาณที่สอง ที่เรียกว่า “จุตูปปาตญาณ” หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความจุติ คือดับและเกิดของสัตวโลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่เรียกว่า “กรรม” พอถึงปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วงแล้ว) ทรงบรรลุญาณที่สามคือ “อาสวักขยญาณ” หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส และอริยสัจ ๔ คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์

การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนั้น พระนามว่า สิทธัตถะก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ที่เกิดใหม่ตอนก่อนตรัสรู้ว่าพระมหาบุรุษก็ดี ได้กลายเป็นพระนามในอดีตหนหลัง เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปทรงมีพระนามใหม่ว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” แปลว่า พระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง กวีจึงแต่งความเป็นปุคคลาธิษฐานเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเจ้าว่า นำสัตว์ มนุษย์นิกร และทวยเทพในหมื่นโลกธาตุ หายทุกข์ หายโศก สิ้นวิปโยคจากผองภัย สัตว์ทั้งหลายต่างมีเมตตาจิตต่อกันทุกถ้วนหน้า เว้นจากเวรานุเวร อาฆาตมาดร้ายแก่กัน

ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


22
รูปภาพ

เสด็จประทับโคนต้นไทร
สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงยินดี



ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน คำว่า “เสวยวิมุติสุข” เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็คือ พักผ่อนภายหลังที่ตรากตรำงานมานั่นเอง

หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นนิโครธคือต้นไทร ส่วนคำหน้าคือ “อชปาล” แปลว่า เป็นที่เลี้ยงแพะ ตามตำนานบอกว่าที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้เคยเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะมานาน คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาต้นไทรเป็นที่เลี้ยงแพะเสมอมา

ระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ นักแต่งเรื่องเรื่องในยุคอรรถกถาจารย์ ยุคนี้เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี ได้แต่งเรื่องขึ้นเฉลิมพระเกียรติของพระพุทธเจ้าว่า ลูกสาวพระยามารซึ่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอน ก่อนตรัสรู้เล็กน้อยแต่ก็พ่ายแพ้ไป ได้ขันอาสาพระยามารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อพระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ในอำนาจของพระยามารให้จงได้ ลูกสาวพระยามารมี ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี

ทั้งสามนางเข้าไปประเล้าประโลมพระพุทธเจ้าด้วยกลวิธีทางกามารมณ์ต่างๆ เช่น เปลื้องภูษาอาภรณ์ทรงออก แปลงร่างเป็นสาวรุ่นบ้าง เป็นสาวใหญ่บ้าง เป็นสตรีในวัยต่างๆ บ้าง แต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้วไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง

เรื่องธิดาพระยามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นปุคคลาธิษฐาน ถอดความได้ว่า ทั้งสามธิดาพระยามารนั้น ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น อย่างหนึ่งคือความยินดี อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้ายหรือความเกลียดชัง ความยินดีส่วนหนึ่งแยกออกเป็นตัณหา คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่งเป็นราคาหรือราคะ คือความใคร่หรือกำหนัด ความเกลียดชังหรือยินร้ายออกมาในรูปของอรดี อรดีในที่นี้คือ ความริษยา

ความที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ทรงลืมพระเนตรนั้น ก็หมายถึงว่า พระพุทธเจ้าอยู่ห่างไกลจากกิเลสดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


23
รูปภาพ

ย้ายไปประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ
พญานาคมาขดขนดปกพระกายกำบังฝน



ระหว่างที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตัดสินใจพระทัยว่าจะทรงแสดงธรรมโปรดใครเพื่อประกาศพระศาสนา นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมานี้ ได้เสด็จแปรสถานที่ประทับแห่งละ ๗ วัน ที่เห็นอยู่ตามภาพนี้เป็นสัปดาห์ที่สาม และสถานที่ประทับก็เป็นแห่งที่สาม คือ ใต้ต้นมุจลินทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์

มุจลินทร์เป็นต้นไม้ที่เกิดอยู่ในที่ทั่วไปในประเทศอินเดีย มีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณคดี ทั้งประเภทชาดก และอย่างอื่นมากหลาย ในเวสสันดรชาดกก็กล่าวถึงสระมุจลินทร์ที่เวสสันดรไปประทับอยู่เมื่อคราวเสด็จไปอยู่ป่า

ไทยเราแปลต้นมุจลินทร์กันว่าต้นจิก เข้าใจว่าจะใช่ เพราะดูลักษณะที่เกิดคล้ายกัน คือ ชอบเกิดตามที่ชุ่มชื้น เช่น ตามห้วย หนอง คลอง บึง เป็นไม้เนื้อเหนียว ดอกระย้ามีทั้งสีขาวและสีแดง ใบประมาณเท่าใบชมพู่สาแหรก ปกติใบดกหนา เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาดี

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย ท่านผู้รจนาปฐมสมโพธิได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า พญานาคชื่อ “มุจลินทร์” ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้ เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัด และสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลาดขนดออก แล้วจำแลงแปลงเป็นเพศมาณพ ยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์

พระพุทธรูปนาคปรกที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้น ก็เป็นนิมิตหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้าในปางหรือในตอนนี้ เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา เพราะเป็นรูปหรือภาพที่สอนคนโดยทางอ้อมให้เห็นอานิสงส์หรือผลดีของเมตตา เพราะแม้แต่พญางูใหญ่ในสระน้ำก็ยังขึ้นจากสระ เข้าไปถวายความอารักขาแก่พระพุทธเจ้า ทั้งนี้พลานุภาพแห่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


24
รูปภาพ

ทรงคำนึงถึงอุปนิสัยเวไนยสัตว์
เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า จึงรับอาราธนา



ท้าวสหัมบดีพรหม ที่เสด็จมากราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนาโปรดชาวโลก เป็นเรื่องที่กวีแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ แต่งเป็นนิยายมีบุคคลเป็นตัวแสดงในเรื่อง ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐานหรืออธิบายกันตรงๆ ก็คือ สหัมบดีพรหมนั้น ได้แก่ พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า คือ พระมหากรุณา และพระมหากรุณานี่เองที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยว่า จะทรงแสดงธรรม หลังจากตัดสินพระทัยแล้วจึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของของคนในโลก แล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่งระดับสติปัญญาของคนถึง ๔ ระดับ หรือ ๔ จำพวก

(๑) อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
(๒) วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
(๓) เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
(๔) ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง

จำพวกที่หนึ่ง เหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน ที่สอง เหมือนดอกบัวใต้น้ำ ที่จะโผล่พ้นน้ำ และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น ที่สาม เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อๆ ไป และที่สี่ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้ เพราะตกเป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด ทรงมองเห็นภาพของดาบสทั้งสองที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ด้วย แต่ทั้งสองนั้นก็สิ้นชีพเสียแล้ว ทรงเห็นเบญจวัคคีย์ว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


25
รูปภาพ

สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักรกัปปวัตนสูตร
โปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม



วันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม “ปฐมเทศนา” ดังที่เห็นอยู่ในภาพนั้น คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นรุ่งขึ้นหลังจากเสด็จมาถึงและพบเบญจวัคคีย์ คือ วันอาสาฬหบูชา นั่นเอง

ผู้ฟังธรรมมี ๕ คน ที่เรียกว่า “เบญจวัคคีย์” เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรงปฏิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน คือ เรื่องทรมานตนให้ลำบาก และการปล่อยชีวิตไปตามความใคร่ ทรงปฏิเสธว่าทั้งสองทางนั้น พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย แล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” คือปฏิบัติดีปฏิบัติตามมรรค ๘ ที่กล่าวโดยย่อคือ ศีล สมาธิ และปัญญา

เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสาวกรุ่นทำสังคายนาตั้งชื่อเรื่องเทศน์กัณฑ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกนี้ว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” หรือเรียกโดยย่อว่า ธรรมจักร โดยเปรียบเทียบการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ว่า เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงขับจักรหรือรถศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพ ต่างแต่จักรหรือรถศึกของพระพุทธเจ้าเป็นธรรม หรือธรรมจักร

พอแสดงธรรมกัณฑ์นี้จบลง โกณฑัญญะ ผู้หัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม คือ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าจึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัย เมื่อเห็นโกณฑัญญะได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลที่แม้จะเป็นขั้นต่ำ “อัญญาสิ วตโก โกณฑัญโญ ฯลฯ” แปลว่า “โอ ! โกณฑัญญะได้รู้แล้ว ได้สำเร็จแล้ว” ตั้งแต่นั้นมาท่านโกณฑัญญะจึงมีคำหน้าชื่อเพิ่มขึ้นว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”

โกณฑัญญะฟังธรรมจบแล้ว ได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานอนุญาตให้ท่านบวช ด้วยพระดำรัสรับรองเพียงว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่าน ส่วนอีก ๔ ที่เหลือนอกนั้น ต่อมาได้สำเร็จและได้บวชเช่นเดียวกับพระโกณฑัญญะ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


26
รูปภาพ

พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์
แก่พระอรหันต์สงฆ์ในวันเพ็ญมาฆบูชา



ภายหลัง พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร บวชแล้วไม่นาน พระพุทธเจ้าได้ทรงประชุมพระสาวกขึ้นใน วันเพ็ญกลางเดือนสาม ที่พระเวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน การประชุมพระสาวกครั้งนี้ ผู้นับถือศาสนาพุทธในสมัยก่อน ต่อมาเห็นเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมาก จึงกำหนดถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ว่า “วันมาฆบูชา”

การประชุมพระสาวกของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ แปลกกว่าทุกคราวที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล คือ พระสาวกมีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป แต่ละรูป แต่ละองค์ล้วนบวชกับพระพุทธเจ้า มีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน คือ พระพุทธเจ้า ล้วนเป็นพระอรหันต์ ต่างมาประชุมโดยไม่ได้นัดหมาย และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุม การประชุมพระสาวกครั้งนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่ง ตามลักษณะแปลก ๔ ประการนี้ว่า “จาตุรงคสันนิบาต”


ในเวลานั้น กรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ บรรดาพระสาวกแยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนาต่างได้ทราบว่า เวลานั้นพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ เมื่อเสร็จกิจประกาศพระศาสนาจึงต่างจาริกมาเฝ้า เมื่อมาพร้อมหน้ามากตั้งพันกว่า พระพุทธเจ้าจึงประชุมพระสาวกแสดงโอวาทปาติโมกข์

“โอวาทปาติโมกข์” คือ หลักการโดยสรุปของศาสนาพุทธ มีทั้งหลักคำสอนและหลักการปกครองคณะสงฆ์ มีทั้งหมด ๑๓ ข้อด้วยกัน เช่นเป็นต้นว่า ศาสนาพุทธสอนว่า ละชั่ว ทำดี ทำจิตบริสุทธิ์ สุดยอดของคำสอนอยู่ที่นิพพาน ดับกิเลสพ้นทุกข์ และเป็นพระสงฆ์ต้องสำรวม กินอยู่พอประมาณ อดทน ไม่กล่าวร้ายป้ายสีคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น

สมัยที่กล่าวนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติวินัยปกครองสงฆ์ เพราะความเสียหายยังไม่เกิด จึงทรงวางหลักปกครองสงฆ์ไว้แต่โดยย่อ เทียบให้เห็นคือ เมืองไทยสมัยไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร แต่มีธรรมนูญเป็นหลักปกครองแทน ธรรมนูญนี้เทียบได้กับโอวาทปาติโมกข์ ส่วนรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรก็เทียบได้กับวินัยพุทธบัญญัติทั้งหมด ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นในเวลาต่อมา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


27
รูปภาพ

เสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์
พระญาติผู้ใหญ่ถือว่าสูงอายุไม่ถวายบังคม



ตลอดเวลา ๖ ปีกว่า คือ นับตั้งแต่เสด็จออกบวช ตรัสรู้ และประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ จนมีพระสาวกและคนนับถือมาก พระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองประสูติของพระองค์เลย ภาพที่เห็นนี้จึงเป็นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เพื่อโปรดพระประยูรญาติตามคำทูลอาราธนาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา

ด้วยพระทัยปรารถนาที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงอยู่ในฐานะหนึ่ง คือ พระราชโอรส เมื่อทรงทราบว่าขณะนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเพื่อประกาศพระศาสนาอยู่ในแคว้นมคธ พระเจ้าสุทโธทนะจึงส่งคณะฑูตไปทูลอาราธนา

คณะฑูตแต่ละคณะที่พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปเพื่อทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า มีหัวหน้าและบริวาร ซึ่งปฐมสมโพธิบอกว่า มีจำนวนหนึ่งพันคน รวมทั้งหมด ๑๐ คณะด้วยกัน คณะที่ ๑ ถึง ๙ ตามลำดับ ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จอรหันต์ ยังมิได้กลับมาทูลรายงานให้พระเจ้าสุทโธทนะได้ทราบ พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงส่งคณะอำมาตย์ เป็นคณะฑูตที่ ๑๐ ไปอีก คณะฑูตที่ ๑๐ นี้มี “กาฬุทายี” เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า ก่อนออกเดินทางไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า กาฬุทายีทูลลาบวช เมื่อบวชแล้วจะทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ให้จงได้ พระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุมัติ

ภายหลังเมื่อกาฬุทายีไปถึงสำนักพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจนสำเร็จอรหันต์ และได้ขอบวชเป็นพระสาวกพร้อมทั้งบริวารที่ติดตามไปแล้ว ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้นเป็นหน้าแล้ง ย่างเข้าหน้าฝน

พระพุทธเจ้าทรงรับคำทูลอาราธนาแล้ว พร้อมด้วยพระสาวก ที่ตำนานปฐมสมโพธิบอกว่า จำนวน ๒ หมื่นรูป เสด็จออกเดินทางเป็นเวลาสองเดือน จึงถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จเข้าประทับในอารามของเจ้าศากยะผู้หนึ่ง ซึ่งชื่อว่า “นิโครธ” ซึ่งพวกเจ้าศากยะพระญาติจัดถวายให้เป็นที่ประทับ อารามในที่นี้ไม่ใช่วัด แต่เป็นสวน เป็นอุทยานอยู่นอกเมือง พวกพระประยูรญาติรวมทั้งพระเจ้าสุทโธทนะ ได้พากันมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อารามแห่งนี้

เจ้าศากยะ พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้าที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ ต่างถือองค์ว่าเป็นพระญาติผู้ใหญ่ มีพระชนม์สูงกว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นเพียง ๓๖ ปีกว่าๆ เมื่อมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม จึงไม่ถวายอภิวาทบังคม คือไม่ไหว้พระพุทธเจ้า แต่ส่งเจ้าชายเจ้าหญิงศากยะเยาว์วัยกว่าพระพุทธเจ้า ออกไปอยู่แถวหน้า ให้ไหว้พระพุทธเจ้าแทน ส่วนพวกตนอยู่แถวหลังไม่ยอมไหว้


ตำนานปฐมสมโพธิว่า ด้วยเหตุดังกล่าวพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในอากาศ แล้วโปรยละอองธุลีพระบาทลงเหนือศีรษะของบรรดาเจ้าศากยะ

พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งเสด็จมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น จึงทรงประนมพระหัตถ์อภิวาทพระพุทธเจ้า ฝ่ายพระประยูรญาติทั้งปวงในที่นั้นก็ต่างสิ้นทิฐิมานะ แล้วถวายอภิวาทพระพุทธเจ้าพร้อมกันทั่วทุกองค์

ปฐมสมโพธิว่า “ในทันใดนั่นเอง มหาเมฆใหญ่ได้ตั้งเค้าขึ้นมา แล้วหลั่งสายฝนลงมาห่าใหญ่ ฝนนั้นเรียกว่า ‘โบกขรพรรษ’ มีสีแดง ผู้ใดปรารถนาหรือประสงค์ให้เปียก ย่อมเปียก ไม่ปรารถนาให้เปียก ก็ไม่เปียก โดยเม็ดฝนจะกลิ้งหล่นจากกายเหมือนหยาดน้ำกลิ้งจากใบบัว”

ถอดความก็ว่า พระญาติทุกพระองค์จากกันกับพระพุทธเจ้าเป็นเวลาช้านาน มาได้เห็นกันเข้า ก็ชื่นบาน เหมือนได้รับน้ำฝนชุ่มฉ่ำหฤทัย ฉะนั้น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


28
รูปภาพ

พระพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์
เสด็จพุทธดำเนินไปโปรดถึงในปราสาท



ภาพที่เห็นอยู่นั้น เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด พระนางพิมพายโสธรา ผู้เคยเป็นพระชายา เมื่อสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คือเมื่อยังไม่ได้เสด็จออกบวช

วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพานี้ เป็นวันเดียวกับที่เสด็จไปทรงภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา สถานที่เสด็จไปโปรดพระนางพิมพา คือ ปราสาทที่ประทับของพระนางนั่งเอง ผู้ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาในการนี้ มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ผู้สองอัครสาวก และพระเจ้าสุทโธทนะ

พระนางพิมพาทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชเป็นต้นมา ด้วยเข้าพระทัยว่า พระนางถูกพระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง ยิ่งเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งนี้ ความเสียพระทัยยิ่งมีมากขึ้น ขนาดพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระนางยังเสด็จมาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาถึงปราสาทที่ประทับของพระนางแล้ว พระนางยังเสด็จดำเนินมาเองไม่ได้ เจ้าพนักงานฝ่ายในต้องจูงและประคองมา พอมาถึงที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ พระนางก็ล้มฟุบลง กลิ้งเกลือกพระเศียรลงเหนือพระบาทพระพุทธเจ้า แล้วพิลาปรำพันกันแสงแทบสิ้นสมปฤดี

พระเจ้าสุทโธทนะทูลพระพุทธเจ้าถึงความดีของพระนางพิมพาว่า เป็นสตรีที่จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ไม่เคยแปรพระทัยเป็นอื่นเลยตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไป พระพุทธเจ้าตรัสสนองพระดำรัสของพระพุทธบิดาว่า พระนางพิมพาจะได้ทรงซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระองค์แต่เฉพาะในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในอดีตชาติหนหลังอีกหลายชาติ พระนางก็เป็นคู่ทุกข์คู่ยากผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ตลอดมา แล้วพระพุทธเจ้าตรัสชาดกอีกเป็นอันมากให้พระพุทธบิดา และพระนางพิมพาฟัง

พระนางฟังแล้ว ทรงสร่างโศกและคลายความเสียพระทัย ทรงเกิดปีติโสมนัสในพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง พระนางพิมพายโสธรา ก็ได้ทรงบรรลุพระโสดาบัน หรือโสดาปัตติผล

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


29
รูปภาพ

ทรงมอบสมบัติพระนิพพานแก่พระราหุล
โดยให้บรรพชาเป็นสามเณรองค์แรก



ในวันที่ ๗ นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ เจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้าได้บวชแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะอีก

เจ้าชายนันทะ เป็นรัชทายาทที่สองรองจากพระพุทธเจ้า ที่จะครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ แต่เมื่อนันทะออกบวช หรือที่จริงถูกพระเชษฐา คือพระพุทธเจ้าทรงจับให้บวชเสียแล้ว รัชทายาทจึงตกอยู่แก่ ราหุลกุมาร ผู้เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

พระนางพิมพายโสธรา พระมารดาของราหุล ทรงเห็นเป็นโอกาสดี เมื่อทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามารับบิณฑบาต จึงแต่งองค์ให้ราหุลผู้โอรสงดงามด้วยเครื่องประดับของขัตติยกุมาร แล้วชี้บอกราหุลว่า “พระสมณะผู้ทรงสง่า มีผิวพรรณเหลืองดั่งทอง มีพระสุรเสียงไพเราะดุจเสียงพรหม ที่พระสงฆ์สองหมื่นรูปแวดล้อมตามเสด็จ นั่นแหละคือพระบิดาของเจ้า”

พระนางพิมพาตรัสบอกพระโอรสให้ไปทูลขอรัชทายาท และทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของพระบิดาทั้งหมด ซึ่งยังมิได้ทรงโอนกรรมสิทธิ์ให้ใครเลย พระนางบอกผู้โอรสว่า ธรรมดาลูกย่อมมีสิทธิที่จะครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เป็นบิดา

ในเวลาที่กล่าวนี้ ปฐมสมโพธิบอกว่า ราหุลกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ ปี นับตั้งแต่ประสูติมาไม่เคยเห็นองค์ผู้ทรงเป็นพระบิดา เพิ่งได้เห็นเป็นครั้งแรกก็เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จยังกรุงกบิลพัสดุ์นี่เอง เมื่อได้เห็นและได้เข้าเฝ้าโดยใกล้ชิด ราหุลจึงเกิดความรักในพระพุทธเจ้ายิ่งนัก เป็นความรักอย่างลูกจะพึงมีต่อพ่อ ราหุลกราบทูลพระพุทธเจ้าประโยคหนึ่ง ซึ่งถ้าจะถอดความให้เข้ากับสำนวนไทยก็ว่า “อยู่ใกล้พ่อนี่มีความสุขเหลือเกิน” แล้วกราบทูลขอรัชทายาท และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของพระราชบิดาตามที่พระมารดาทรงแนะนำ

พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่ากระไร ทรงฉันอาหารบิณฑบาตเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนา แล้วเสด็จกลับไปที่นิโครธารามพร้อมด้วยพระสงฆ์ โดยมีราหุลตามเสด็จเพื่อทูลขอสิ่งที่ทรงประสงค์ดังกล่าวไปด้วย

เมื่อราหุลติดตามพระพุทธเจ้าไปถึงนิโครธาราม เพื่อทูลขอรัชทายาท และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่ราหุลขอนั้นเป็นสมบัติทางโลกไม่ยั่งยืน เต็มไปด้วยความทุกข์ในการปกปักรักษา ไม่เหมือนอริยทรัพย์ คือ ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้มา ทรงพระพุทธดำริว่า “จำเราจะให้ทายาทแห่งโลกุตตระแก่ราหุล”

พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสารีบุตรมา แล้วรับสั่งให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ทำหน้าที่บวชสามเณรให้ราหุล ราหุลจึงเป็นสามเณรองค์แรกในทางพระพุทธศาสนา เมื่ออายุครบบวช ต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุและได้สำเร็จอรหันต์


เมื่อคราวนันทะซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาหมงคล แต่ยังไม่ทันเข้าพิธี เพราะถูกพระพุทธเจ้าจับบวชเสียก่อนนั้น พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงทราบข่าวแล้วเสียพระทัยมาก แต่ไม่สู้กระไรนักเพราะยังทรงเห็นว่าราหุลกุมารรัชทายาทองค์ต่อไปยังมีอยู่ แต่ครั้นทรงทราบว่าราหุลกุมารได้บวชเป็นสามเณรเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมากยิ่งกว่าเมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวช และเมื่อนันทะบวช

พระเจ้าสุทโธทนะไม่อาจทรงระงับความทุกข์โทมนัสครั้งนี้ได้ จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม แล้วทูลขอร้องพระพุทธเจ้าว่า ถ้าพระคุณเจ้ารูปใดจะบวชลูกหลานชาวบ้าน ก็ได้โปรดให้พ่อแม่เขาได้อนุญาตให้ก่อน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้เป็นพ่อแม่มาก ดุจที่พระองค์ได้รับเมื่อราหุลบวชในคราวนี้

พระพุทธเจ้าทรงรับตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอร้อง จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนทุกวันนี้ว่า ถ้าใครจะบวช ไม่ว่าจะบวชเป็นพระหรือบวชเป็นสามเณร ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน ธรรมเนียมกุลบุตรผู้จะบวชที่ถือพานดอกไม้เที่ยวกราบลาพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือทุกวันนี้ จึงเกิดจากกรณีดังกล่าวนี้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 18:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


30
รูปภาพ

ทรงพาพระนันทะไปชมนางฟ้า
พระนันทะใคร่จะได้เป็นชายา ทรงรับรองจะให้สมหวัง



หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้ว ได้เสด็จกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารที่ตามเสด็จ ในการนี้พระภิกษุนันทะ พระอนุชาผู้ถูกจับให้บวช และราหุลสามเณรก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

ต่อมาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมากได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ซึ่งเป็นเมืองและแคว้นใหญ่พอๆ กับกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พระนันทะก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

แต่ตลอดเวลานับตั้งแต่บวชแล้วเป็นต้นมา พระนันทะไม่เป็นอันปฏิบัติกิจของสมณะ ใจให้รุ่มร้อนคิดจะลาสึกอยู่ท่าเดียว เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี เจ้าสาวคู่หมั้นซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับตน

ความเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น

ก็สมัยนั้นแล นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ มีเท้าดุจนกพิราบ มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกะจอมเทพ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระนันทะว่า ดูกรนันทะ เธอเห็นนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ผู้มีเท้าดุจนกพิราบหรือไม่ ท่านพระนันทะทูลรับว่า เห็น พระเจ้าข้า

พ. ดูกรนันทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี หรือนางอัปสร ประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไหนหนอแลมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า หรือน่าเลื่อมใสกว่า

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงผู้มีอวัยวะใหญ่น้อยถูกไฟไหม้ หูและจมูกขาด ฉันใด นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี ก็ฉันนั้นแล เมื่อเทียบกับนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ย่อมไม่เข้าถึงเพียงหนึ่งเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงส่วนหนึ่งของเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงการเอาเข้าไปเปรียบว่าหญิงนี้เป็นเช่นนั้น ที่แท้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่า พระเจ้าข้า

พ. ยินดีเถิดนันทะ อภิรมย์เถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอเพื่อให้ได้ นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไซร้ ข้าพระองค์จักยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระเจ้าข้า

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากเทวดาชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏที่พระวิหารเชตวัน เหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียด แขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสร ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ

ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหายของท่านพระนันทะ ย่อมร้องเรียกท่านพระนันทะด้วยวาทะว่าเป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่าผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นลูกจ้าง ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุนางอัปสร ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ

ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะอึดอัดระอาเกลียดชังด้วยวาทะว่า เป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่า เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาของพวกภิกษุผู้เป็นสหาย จึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉาทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้ญาณก็ได้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคว่า พระนันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระนันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์ เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจนกพิราบ ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการรับรองนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทะ แม้เราก็กำหนดรู้ใจของเธอด้วยใจของเราว่า นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรนันทะ เมื่อใดแล จิตของเธอหลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้นเราพ้นแล้วจากการรับรองนี้

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนามคือกามได้แล้ว ภิกษุนั้นบรรลุถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 51 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร