วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 27 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ย. 2010, 13:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่ดาบส สุมโณ

หลวงปู่ดาบส สุมโณ ท่านเป็นพระอริยะเจ้า ที่บำเพ็ญพระโพธิญาน บารมีท่านสูงมากๆ ครูบาอาจารย์หลายท่าน ให้ความยกย่อง บางท่านให้ศิษย์ไปกราบไว้ ไปทำบุญ ไปเรียนวิชากับท่าน เช่น หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงปู่เกษม เขมโก หลวงปู่ครูบาอิน วัดฟ้าหลั่ง หลวงปู่ดู่ วัดสะแก เป็นต้น..
ขนาดหัวใจของท่าน ยังเผาไม่ไหม้ แถมยังแปรสภาพเป็น สีเขียวมรกต อีกด้วย

รูปภาพ
หลวงตาวัชรชัย วัดเขาวงศ์ถ้ำนารายณ์ จ.สระบุรี
เรื่องเล่าจากหลวงตาวัชรชัย

ครั้ง หนึ่ง ตอนบวชได้พรรษา ๒ หลวงตาได้เที่ยวไปพบพระดีเข้าอีกองค์หนึ่งที่จังหวัดเชียงราย คือ หลวงปู่ดาบส สุมโน แห่งสำนักไผ่มรกต ที่กล้าเรียกท่านว่าพระดี ก็เพราะว่าท่านดีต่อหลวงตา และได้มอบความดีให้หลวงตาประมาณไม่ได้และความดีศรีสุขอันนั้นมันเกี่ยวกับ หลวงพ่อฤๅษี ฯ โดยตรงเสียด้วย

ครั้งแรกที่ไปกราบหลวงปู่ดาบส ท่านก็ทักถูกใจเราทันทีว่า
"อยู่กับหลวงพ่อฤๅษี ฯ สอนมโนมยิทธิหรือ?"
"ครับผม"
"อภิญญาสมาบัติที่ทรงอยู่ คล่องดีแล้วใช่ไหม?"

ตอนนี้หลวงตาตกใจ เพราะเข้าใจว่าเรื่องอภิญญาสมาบัติเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าตัวเองจะยอมรับว่า "ทำได้คล่อง" จึงตอบไปว่า

"ไม่ใช่ขอรับ ผมยังไม่ได้อภิญญา ผมพยายามทำตามที่หลวงพ่อท่านสอน และแนะนำคนอื่นเท่าที่จะนึกได้"

"นั่นแหละ เขาเรียกว่าอภิญญา พระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ใช้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้อย่างนี้ ใช้แบบวิธีเหมือนกันแต่ความบริสุทธิ์ไม่เหมือนกัน ความมั่นใจไม่เท่ากัน ใจที่บริสุทธิ์มาก มั่นคงมั่นใจมาก ก็ใช้ได้คล่องแคล่วชัดเจนมาก บริสุทธิ์ถึงที่สุด มั่นคง มั่นใจไม่สงสัย ก็ใช้ได้ถึงที่สุด เป็นเรื่องธรรมดา"

หลวงตาเข้าใจ แต่ยังไม่มั่นใจ

แล้วหลวงปู่ดาบสก็มองหน้าหลวงตา พูดเสียงชัดเจนว่า

"ออกจากวัดท่าซุง มาอยู่ด้วยกันไหม มาหาที่สงบซุ่มปฏิบัติธรรมให้สมใจ สมวาสนาบารมี"

"พอสบายจบกิจแล้วจะได้ตั้งสำนักใหม่ สอนพระกรรมฐานให้มีชื่อลือลั่น ไว้ชื่อครูบาอาจารย์ ว่าเรานี่แหละลูกศิษย์หลวงพ่อฤๅษีฯ"

"...................................."

หลวงตาตกใจ เจ้าประคุณเอ๋ย ความในใจที่อุตริคิดฝังไว้ก้นบึ้งดวงใจไม่เคยเล่าสู่ใคร ไม่เคยถามไถ่แม้แต่หลวงพ่อฤๅษี ฯ คิดซ่อนเร้นไว้กว่า ๑๐ ปี ถึง ๔ ข้อ บัดนี้ได้ถูกหลวงปู่ดาบสไขออกมาไม่มีเหลือ กำลังใจขณะนั้นได้ตอบท่านไปใน ๒ ข้อแรก (และรับรู้ใน ๒ ประการหลัง ซึ่งจะไม่บอกใครจนวันตาย)

"ไม่เอาครับ หลวงปู่ ผมจะไม่ไปไหน ผมจะอยู่กับหลวงพ่อในวัดท่าซุงตลอดไป"

"ดีแล้ว" ท่านยิ้มยืนยันว่า

"ถูกต้องแล้ว อยู่ที่นั่นไม่ต้องไปที่ไหน"

"เรื่องธุดงค์บางองค์ก็ไม่ต้องธุดงค์หรอก การที่พระสงฆ์ท่านออกธุดงค์กันในที่ต่างๆ ก็เอาคำสอนครูบาอาจารย์ที่น้อมรับเอาไปใส่ใจ แล้วก็ประคองใจอันนั้น ไปหาต้นไม้ หาถ้ำ หาที่วิเวกเหมาะกับจิตใจ เอาเป็นที่บำเพ็ญความเพียรพิจารณาธรรมอันนั้นจนได้มรรคได้ผล แล้วก็ต้องกลับไปอยู่กับผู้คนแทนคุณพระศาสนา แต่ที่วัดท่าซุงนะ มีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง คือ ต้นหลวงพ่อฤๅษี ฯ ร่มรื่น ร่มเงาเย็นสบาย ผลไม้อริยผลก็ออกดอกเต็มต้น ไปนั่งนอนเดินยืนอยู่ใต้ต้นไม้นั้น อย่าจากไปไหน แล้วก็ประคองมือเอื้อมเด็ดผลไม้ มากินให้หวานชื่นใจด้วยความเคารพ ก็จะบรรลุมรรผลได้ในชีวิตนี้"

ลูกหลานเอย..หลวงตาต้องกล้าเขียนต่อ บอกแล้วว่ามันยากที่จะเล่าให้ฟังตามตรง ๆ ที่หลวงปู่พูดถึงหลวงพ่อฤๅษีฯ ว่า

"พระคุณเจ้าองค์นั้นเป็นอรหันต์องค์เอกองค์หนึ่งของโลกในปลายศาสนา ๕๐๐๐ ปี
จะหาใครสอนเสมอเหมือนพระคุณท่านหาไม่ได้แล้ว พระคุณท่านองค์นั้นสอนได้คล้ายพระพุทธเจ้าสอน เพราะท่านปรารถนาพระโพธิญาณ ถ้าท่านไม่ลาพุทธภูมิหักใจเป็นพระอรหันตสาวกเสียก่อน
ท่านเทศน์คราวไร เรา..พวกเรานี้ที่บำเพ็ญบารมีตามท่านมา ก็จะฟังเทศน์จากท่านเพียงครั้งเดียว
ก็จะเป็นพระอรหันต์ตามได้


จำไว้นะ ! กลับไปฟังคำสอนของพระคุณท่าน ฟังเทปของท่าน ดูวีดีโอของท่าน ให้ส่งจิตคิดตามเสียงท่านประหนึ่งว่าเป็นเสียงในใจเรา ก็อาจจะบรรลุมรรคผลได้ตามที่ตัดสินใจ ตามเสียงนั้นเฉพาะหน้า เหมือนฟังจากพระพุทธเจ้านั่นแหละ องค์นี้หาใครสอนได้เสมือนท่านยากนักหนาแล้ว" นี่หลวงตาเล่าให้ฟังตามที่ได้พบเห็นได้ยินมาเฉพาะตัวหลวงตาเอง ท่านใดจะชื่นชมสมใจหรือแหนงหน่าย อึดอัดก็โปรดเป็นไปตามกฎธรรมดา ตามปรารถนาเถิด..

แล้วหลวงตาก็กลับวัด ก่อนลาหลวงปู่กลับ ก็ถ่ายรูปร่วมกับท่านมาภาพหนึ่ง กลับมาถึงก็เล่าให้พี่น้องบรรพชิตและฆราวาสฟังว่า มีหลวงปู่ดาบส แห่งสำนักไผ่มรกต จังหวัดเชียงราย ท่านพูดถึงพ่อเราอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วท่านก็งามนักหนา ทั้งหน้าตามารยาท ถ้าพ่อเราเป็นพระอาทิตย์เต็มองค์ทรงกลด หลวงปู่ดาบสก็งามเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญที่ไม่มีเมฆหมอกมาบดบัง แล้วก็เอารูปของท่านออกมาอวดไปทั่ววัด

ก็อวดมาถึงหลวงพี่วิรัช ท่านก็เอาไปเล่าอวดหลวงพ่อพร้อมรูปใบนั้น พ่อเราฟังไป ดูรูปไป ก็ส่งรูปคืนให้หลวงพี่วิรัช พร้อมกับพูดลอย ๆ ออกมาว่า

"เออ.. ๒๐ ปีแล้วซีนะ"

หลวงพี่วิรัชก็กลับมาบอกคืนหลวงตาว่า คงเป็นเพื่อนหลวงพ่อ ไม่ได้พบกัน ๒๐ ปีกระมัง

พอตอนเย็น ไปทำวัตรเย็นและปฏิบัติกรรมฐาน หลวงพี่อนันต์ เรียกหลวงตาเข้าไปหาแล้วบอกว่า

"หลวงพ่อให้บอกท่านว่า พระเจ้าของรูปนั้นได้อรหันต์มา ๒๐ ปีแล้ว"


แก้ไขล่าสุดโดย jossriring เมื่อ 17 ก.ย. 2010, 13:07, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ย. 2010, 15:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
สมเด็จฟื้น วัดสามพระยา

รูปภาพ

ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโรมหาเถระ)
วัดสามพระยา ปรารภกับหลวงพี่ ท่านพระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ เจ้าอาวาส วัดท่าซุง
ว่า " คำสอนของท่านเจ้าคุณพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ใช้เป็นตำราได้ทั้งหมดนะ "


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ย. 2010, 15:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ

พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร มหาเถระ)
บอกว่า "หลวงพ่อมหาวีระ(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ท่านเป็นโลกวิทู แจ้งทั้งโลก แจ้งทั้งธรรม"


แก้ไขล่าสุดโดย jossriring เมื่อ 17 ก.ย. 2010, 15:26, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ย. 2010, 15:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

หลวงปู่บุดดา ถาวโร ยังปรารภถึงหลวงพ่อว่า " หลวงปู่น่ะเหมือนหิ่งห้อย
หลวงพ่อมหาวีระ(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) นั้นเหมือนพระอาทิตย์"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ย. 2010, 15:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ครูบาคำแสนเล็ก ท่านบอกว่า “หลวงปู่ บวชมา 60 กว่าพรรษาเข้านี่แล้วยังไม่เคยพบ
พระองค์ไหนเหมือนหลวงพ่อ(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ย. 2010, 15:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก


รูปภาพ
พระบุญรัตน์ กันตจาโร
พระเดชพระคุณเจ้าประคุณหลวงพ่อผู้เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ไพศาล

หนังสือลูกศิษย์บันทึก เล่ม ๒


ในปีพ.ศ. ๒๕๑๕ หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร กำลังสนทนาธรรมกันที่วัดป่าดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนกำลังรับฟังธรรม จากพระเดชพระคุณท่านฯ ทั้งสองอยู่ หลวงปู่ชุ่มก็หันหน้ามาบอกผู้เขียนว่า
ท่านบุญรัตน์ ให้ไปกราบหลวงพ่อใหญ่ วัดท่าซุงหน่อย ท่านเป็นพระทอง หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ท่านเปี่ยมด้วยเมตตาบารมี ใครได้กราบไหว้ก็เป็นบุญกุศลใหญ่นัก”

หลวงปู่คำแสนซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ ก็กล่าวเสริมขึ้นว่า
“เออ ดีมาก หลวงพ่อวัดท่าซุงเป็นผู้ประกอบไปด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่ง
เหมือนกับครูบาศรีวิชัย หาที่ไหนไม่ได้แล้ว”

ผู้เขียนได้รับฟังหลวงปู่ทั้งสององค์บอกกล่าว ดังนั้นก็ก้มกราบเท้าทั้งสองหลวงปู่ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจจนน้ำตาไหล


หลังจากนั้นมา ผู้เขียนก็หาเวลาไปกราบเท้านมัสการพระเดชพระคุณเจ้าประคุณหลวงพ่อหลายครั้งหลายหน เมื่อไปกราบคราวใดก็รู้สึกอิ่มใจ และได้ฟังธรรมจากพระเดชพระคุณท่านฯ จึงทำให้เกิดศรัทธามากขึ้น เพราะว่าคำสอนของพระเดชพระคุณท่านฯ ฟังง่าย ปฏิบัติก็ง่าย ฟังได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตลอดถึงปี พ.ศ.๒๕๑๗ ผู้เขียนได้ลงไปพักวัดอภัยทายาราม (วัดมะกอก) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ ก็หาเวลาไปกราบฟังธรรมที่ซอยสายลมมิได้ขาด


เมื่อผู้เขียนกลับไปเชียงใหม่ก็ไปนมัสการหลวงปู่ชุ่ม และกราบเรียนเรื่องราวที่ได้มีโอกาสไปนมัสการและสดับฟังธรรมจากพระเดชพระคุณเจ้าประคุณหลวงพ่อฯ ถวายแด่หลวงปู่ชุ่มฟัง หลวงปู่ท่านก็บอกว่า “ดีมาก ท่านบุญรัตน์ได้พบของดีแล้ว”


นอกจากนั้นหลวงปู่ท่านเมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังอีกว่า
“พระเดชพระคุณหลวงพ่อวีระ วัดท่าซุงนี่ท่านเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมอันสูงมาก บารมีสูง
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของท่าน ท่านจะไม่มาอีกแล้ว จะเข้าสู่พระนิพพาน
เพราะฉะนั้นท่านจึงสั่งสอนให้ลูกหลานและศิษย์ท่านปฏิบัติให้เข้าถึงพระนิพพานกันหมด”


หลวงปู่ชุ่มบอกกับผู้เขียนว่า
“ขอให้ท่านจงได้ปฏิบัติติดตามคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเถอะ จะได้ถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้” ผู้เขียนก็น้อมรับว่า “สาธุ” ตั้งแต่นั้นมาผู้เขียนก็ได้มีโอกาสได้ไปกราบเท่าพระเดชพระคุณเจ้าประคุณหลวงพ่อฯ อีกหลายครั้ง


กระทั่งเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. ๒๕๒๑ พระเดชพระคุณท่านฯ ก็ได้รับอาราธนาจากหลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร มาในพิธีพุทธาภิเษกที่วัดดอนมูล ณ ที่นี้เอง ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสกราบแทบเท้าพระเดชพระคุณเจ้าประคุณหลวงพ่อฯ ท่านก็ได้เอามือลูบหัวผู้เขียน และให้พรว่า “จงถึงนิพพานในชาตินี้นะ โชคดีมีสุข” นับว่าเป็นพระเมตตาของพระเดชพระคุณท่านพ่อที่มีต่อผู้เขียนเป็นล้นพ้น สุดที่จะเขียนพรรณนาได้


วัดโขงขาว เมื่อสมัย ๑๐ กว่าปีก่อนนั้น มีสภาพทรุดโทรมมาก ถาวรวัตถุที่ไม่ถาวรของวัดในสมัยนั้นก็มีพระวิหารและกุฏิสงฆ์หลังเล็กๆ ซึ่งมีอยู่เพียงหลังเดียว มีสภาพที่แทบจะไม่สามารถประกอบสังฆกรรมหรือพำนักอาศัยได้ ทุกคนที่สัญจรผ่านไปๆ มาๆ มองดูสภาพวัด ด้วยสายตาที่บ่งบอกถึงความกล้าๆ กลัวๆ เพราะคิดว่าคงจะเป็นวัดร้างกระมัง


แม้แต่ชาวบ้านซึ่งอยู่ในย่านใกล้เคียง ก็มิได้มีความคิดที่ผิดแผกไปจากผู้สัญจรต่างถิ่นสักเท่าใด ต่างก็นำสภาพวัดที่ตนได้ไปพบไปเห็นมาวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา สุดท้ายก็ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า วัดโขงขาวมิอาจที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ และในไม่ช้าก็จะกลายเป็นวัดร้างไปจริงๆ อย่างมิต้องสงสัย


แต่ทว่า การคาดคะเนของชาวบ้านเหล่านั้น ซึ่งมีแต่เพียงความคิดว่าวัดโขงขาวจะร้าง แต่ไม่มีความคิดที่จะช่วยกันทะนุบำรุงจัดให้เจริญขึ้นก็ต้องมีอันผิดพลาดไปหมด เพราะตั้งแต่พระเดชพระคุณเจ้าประคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร ในสมัยนั้น) ได้เหยียบเท้าลงสู่พื้นแผ่นดินวัดโขงขาวแล้ว ท้องฟ้าเหนือวัดโขงขาว ซึ่งเคยมีแต่ความมืดสลัวอยู่เป็นนิจก็พลันสว่างไสวในทันใด


อาณาเขตของวัดอันคับแคบด้วยเนื้อที่เพียง ๒ – ๓ ไร่ ในขณะนั้น ดูเหมือนจะไม่เพียงพอให้พระเดชพระคุณท่านพ่อประทับรอยเท้า อาณาเขตของวัดได้ขยายออกไปทุกๆ ปี วัตถุที่ไม่ถาวรซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้นก็กลับกลายเป็นถาวรวัตถุซึ่งปรากฏแก่สายตาบรรดาลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้เพราะ พระเดชพระคุณท่านฯ เมตตาสงเคราะห์อนุเคราะห์ ทะนุบำรุง บูรณปฏิสังขรณ์วัดโขงขาวขึ้น ให้มีสภาพเป็นวัดที่มีความสวยงาม สมศักดิ์ศรีของวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์


พระเดชพระคุณท่านฯ ทรงให้ความเป็นกันเองกับทุกคนอย่างลูกกับพ่อ ไม่คำนึงถึงฐานะว่าใครจนหรือร่ำรวย ทุ่มเทชีวิตเพื่ออุทิศแด่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ยอมทนต่อทุกขเวทนากับร่างกายที่เจ็บป่วย ทนต่อการถูกกลั่นแกล้งทุกรูปแบบด้วยระยะเวลาอันยาวนาน ทนเพื่อแนะนำพร่ำสอนให้ลูกหลานและศิษย์รู้จักพระนิพพาน แนะนำตั้งแต่บุญขั้นพื้นฐาน ให้รู้จักการเสียสละ การรักษาศีล ยืนยันว่านรก สวรรค์ มีจริง ให้ทุกคนพิสูจน์ได้ด้วยการฝึกมโนมยิทธิ


ขอพระเดชพระคุณเจ้าประคุณท่านพ่อจงเป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์แก้วโพธิ์ทองของลูกหลานมวลสาธุชนทั้งในและต่างประเทศตลอดกาลนานที่แสนนานด้วยเทอญ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ย. 2010, 15:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ



ต่อไปนี้พ่อจะขอปรารภเรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นบุคคลตัวอย่างที่มีความสามารถทั้งในด้านการปฏิบัติในเรื่องส่วนพระองค์ และในด้านปฏิบัติกับปวงชนชาวไทยทั้งหมดรวมทั้งปฏิบัติกับชาวต่างประเทศด้วย แม้แต่กระทั่งกับศัตรูพระองค์ก็ทรงเห็นว่าเป็นมิตร
ไม่เคยคิดที่จะเป็นศัตรูกับใคร สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดนั่นก็คือพระองค์ทรงช่วยประชาชน
ทรงช่วยชาวโลกด้วย และก็ทรงช่วยพระองค์เองได้ดีที่สุดในด้านของธรรมะ
สำหรับวันนี้พ่อจะขอนำพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงประพฤติปฏิบัติ
ให้ลูกรักทั้งหลายจะพึงรับทราบ รับทราบแล้วก็จงปฏิบัติตามด้วยเพราะว่าจะช่วยให้พวกเราดี
ก่อนที่จะพูดถึงธรรมะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติได้ ก็จะขอย้อนไปถึงจริยาวัตรของพระองค์ พระราชจริยาวัตรของพระองค์นี่เราจะรู้ไม่ได้เลยว่า ทรงทำอะไรบ้าง วันทั้งวัน
พระองค์ไม่มีเวลาว่าง บางวันมีพระราชภารกิจตั้งแต่เช้าจรดเย็น เวลาเย็นก็ต้องมานั่งปฏิบัติงาน รับแขกกลางคืนอีก กว่าจะทรงเซ็นหนังสือได้ก็ต้องใช้เวลา ๒๔ นาฬิกาผ่านไป
เมื่อทรงเซ็นหนังสือแล้ว หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงเจริญพระกรรมฐาน วันที่พ่อเข้าไปพบกับพระองค์ พระองค์ตรัสว่าเวลานี้การฟังเทปรู้สึกว่า ฟังไม่ค่อยจบ นอนฟัง ฟังไป ฟังไป รู้สึกว่าหนักเข้า
ความไม่ได้ยินในเทปรู้สึกว่า เคลิ้มหลับ แต่ว่าพอเทปดังแกร๊ก รู้สึกตัวตื่นขึ้น
แล้วก็พลิกฟังใหม่อีกหน้าหนึ่ง คราวนี้ก็หลับไปเลย พระองค์ทรงติพระองค์เองว่า
รู้สึกว่าไม่ดี แต่พ่อกลับทูลพระองค์ไปว่า นั่นเป็นความดี เพราะว่าถ้าหลับในระหว่างการฟังธรรม
ชื่อว่าจิตฝังอยู่ในธรรมตลอดเวลา และการฟังค่อย ๆ เคลิ้มไปทีละน้อย ๆ พอเทปหมดหน้า
รู้สึกเสียงดังแกร๊ก ก็แสดงว่านั่นไม่ได้หลับ แต่ทว่าจิตฟังธรรมเป็นฌานสมาบัติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังไม่ได้ยินเสียงเลยนั่นเป็นฌาน ๔ ความจริงเรื่องนี้ดีมาก
ฉะนั้นขอบรรดาลูกรักทุกคนจงปฏิบัติเยี่ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จงอย่าอ้างว่าข้าพเจ้ามีงานมาก มีภารกิจมาก ไม่มีเวลาพักผ่อน
ไม่มีโอกาสเอาจิตเข้าไปฝึกฝนธรรมะ

การปฏิบัติธรรมะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงปรารภให้พ่อฟังดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ไม่มีเวลาว่าง เวลาใดถ้ามีโอกาสว่างนิดหนึ่ง ก็ใช้เวลาฟังเทปบ้าง วินิจฉัยธรรมะบ้าง และในบางขณะที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปรอบ ๆ พระราชฐานที่พัก พระองค์จะถือเวลา ว่าจะเดินสักกี่ชั่วโมง ถ้าเดิน ๑ ชั่วโมง เอาเทปสะพายไปด้วย แล้วก็ฟัง ๒ หน้า ถ้าเดิน ๒ ชั่วโมง ก็ฟัง ๔ หน้าเทป อย่างนี้รู้สึกว่าพอดี จริยาวัตรส่วนนี้ ขอบรรดาลูกรักควรจะฝึกฝนใจให้มาก พยายามปฏิบัติตามพระองค์ให้มาก เวลาบูชาพระ พระองค์ก็ทรงสมาธิ ทำสมาธิ และวิปัสสนาญาณในระยะนั้น เวลาที่เสด็จบรรทมก็ทรงฟังเทป เป็นอันว่าพระองค์จะไม่ยอมให้เวลาที่ว่างอยู่เสียเปล่าไปในด้านของความดี จะพยายามหาทางบีบบังคับอารมณ์จิตให้อยู่ในขอบเขตของความดี คือฟังเสียงธรรมะ ขณะใดที่จิตสนใจในธรรม พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ขณะนั้นจิตย่อมว่างจากกิเลส ลูกต้องมีความขยันหมั่นเพียร มีความสนใจให้มาก เรียกกันว่าเป็นการปฏิบัติแบบเบา ๆ อีกประการหนึ่งการเจริญพระกรรมฐานของพระองค์อันดับแรก คงจะตั้งพระทัยมุ่งสมาธิเป็นฌานสมาบัติบทใดบทหนึ่ง และการที่พ่อไปพบกับพระองค์ตอนนั้นพระองค์ตรัสว่า การทำสมาธิเวลานี้ ไม่มุ่งหวังจุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ ปล่อยไปตามสบาย จะถึงไหนก็ใช้ได้ เป็นที่พอใจ จริยาแบบนี้ลูกรักเป็นจริยาที่ดีที่สุด เพราะพ่อเองก็เคยตกอยู่ในความหวั่นไหวมามากแล้ว ทำให้ยุ่งยากใจ เพราะการบังคับจิตต้องการจะให้ได้ฌานชั้นนั้น ได้ฌานชั้นนี้

แต่ในที่สุดแทนที่มันจะดี มันก็กลับเลว สู้การปล่อยอารมณ์ใจสบายไม่ได้ การทรงสมาธิหรือพิจารณากรรมฐานในด้านสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ถ้าจิตเราปล่อยไปตามสบาย มันจะถึงฌานไหนก็ช่าง เมื่อถึงไหนพอใจแค่นั้น อย่างนี้ถูก อารมณ์ฌานและวิปัสสนาญานที่เข้าถึงใจ จะมีการทรงตัวและในที่สุดก็จะสามารถตัดกิเล สมุจเฉทปหาน คือตัดกิเลสได้อย่างเด็ดขาดกิเลสไม่กำเริบ เรียกว่ามีอารมณ์จิตเข้าถึงพระนิพพานได้แน่นอน วิธีปฏิบัติแบบนี้ลูกรักต้องพยายามปฏิบัติให้มาก คำว่ามากก็หมายความว่า การเว้นจากการงาน เมื่อยามว่าง ไม่ควรจะให้โอกาสปล่อยไป และอีกประการหนึ่ง สิ่งที่บรรดาลูกและทุกคนสงสัยส่วนใหญ่ว่า บางทีก็ภาวนาไปว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้น พอจิตเคลิ้มแผล็บเดียว มันกลับจับอย่างอื่นมาว่า แต่ว่าอยู่ในขอบเขตของสมถะและวิปัสสนา อย่างนี้หลายคนอาจจะตกใจ คิดว่าอารมณ์เราฟุ้งซ่านไป พ่อก็ขอแนะนำว่า ความจริงถ้าจิตตกเข้าถึงอุปจารสมาธิ เวลานั้นอารมณ์มันเป็นทิพย์ มันย่อมจะรู้ว่า การตัดกิเลสของเรานี้ควรจะตัดกิเลสด้วยกรณีใด ๆ ฉะนั้นจิตจึงหันปล่อยทิ้งของเก่า จับสิ่งใหม่เข้ามา ซึ่งมันเป็นประโยชน์กว่านี้ จะเห็นได้ว่า อารมณ์จิตประเภทนี้จะเกิดกับคนส่วนมาก แต่มักจะมีความรู้สึกว่าผิดเป้าหมาย แต่ความจริงไม่ผิด เพราะตอนนั้นอารมณ์ปัญญามันเกิดขึ้น เพราะอำนาจของความเป็นทิพย์ คือสมาธิของจิต

ฉะนั้นการปฏิบัติ ขอบรรดาลูกรักทั้งหลาย จงพยายามปฏิบัติเอาอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลูกรักทั้งหลายจงจำไว้ว่า ความดีเกิดขึ้นกับเรามากคนเขาก็รักเรามาก แต่ถ้าความดีเกิดขึ้นกับเราน้อย คนเขาก็รักเราน้อย เมื่อคนรักน้อย คนเกลียดมาก เราก็มีความทุกข์กายทุกข์ใจมากกว่าความสุข เดินไปพบคนที่เรารัก หรือเขารักเรา เราก็ยิ้มแย้มแจ่มใสมีความชื่นบาน แต่ถ้าไปพบคนที่เกลียดเราเมื่อไร เมื่อนั้นแหละความกลุ้มใจ กำเริบใจมันก็เกิดขึ้น เราจะหาความสุขไม่ได้

ขณะที่พ่อนอนป่วยอยู่ที่บ้านพักชายทะเลจังหวัดระยอง พ่อยืนมองดูคลื่นในทะเลที่พัดเข้ามาหาฝั่งแล้วก็สลายตัวไป แล้วพ่อก็มองดูตัวของพ่อเอง ว่าตัวของพ่อก็ไม่ต่างอะไรกับคลื่นในทะเล มันเกิดขึ้น มันก็สลายไป เกิดขึ้นแล้วก็สลายไป ที่ยังมีคลื่นอยู่ ก็เพราะยังมีลม ถ้าลมหมดเมื่อไร คลื่นก็หมดเมื่อนั้น เหมือนกับชีวิตของพ่อเช่นเดียวกัน มันจะหนุ่ม มันจะแก่ มันจะขาว มันจะดำ ก็เป็นเรื่องของลมหายใจ ลมมันสร้างให้เกิดขึ้น ถ้าลมหมดเมื่อไร พ่อก็ตายเมื่อนั้น เช่นเดียวกับคลื่นในทะเล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสบอกกับพ่อว่า เรื่องคลื่นนี่ผมก็ชอบ เพราะว่าชอบดูคลื่น การที่ชอบคลื่นและพิจารณาคลื่นเป็นกรรมฐาน ก็เพราะอาศัยชอบเล่นเรือใบ และก็ทรงวินิจฉัยต่อไปว่า เห็นคลื่นที่มากระทบฝั่ง คลื่นมันเกิดแต่ละลูก ไม่ใช่คลื่นลูกเก่า มันเป็นคลื่นลูกใหม่ ขึ้นทดแทนซึ่งกันและกัน ในที่สุดมันก็มากระทบฝั่งหายไป และน้ำอาจจะกระเพื่อมขึ้นมาใหม่กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ ก็มาเทียบกับอารมณ์จิตของพระองค์ว่า ร่างกายมันก็ทรงอยู่ได้คล้ายกับคลื่นในทะเล คลื่นในทะเล ถ้าลมยังมีอยู่เพียงใด คลื่นก็จะมีอยู่เพียงนั้น ถ้าลมหมดเมื่อไรคลื่นก็หาย เหมือนกับร่างกายของเรา ถ้าหมดลมเสียเมื่อไรก็ชื่อว่าตายเห็นไหมลูกรัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นทุกอย่างเป็นกรรมฐาน ที่พ่อเคยบอกลูกว่า จงดูทุกอย่างให้เป็นสมถะและวิปัสสนา จิตใจจะได้ตัดกิเลสง่าย

อีกตอนหนึ่งพระองค์ตรัสว่า ที่หลวงพ่อบอกว่าร่างกายมันกรอบเต็มที ถ้าหมดภารกิจคือลูกหลายมีกำลังใจใหญ่ พอจะคุ้มตัวได้ ก็จะขอวางภาระ ตรัสต่อไปว่า กระผมเห็นว่าคงจะไม่มีใครทรงตัวได้แน่นอน มั่นคง แม้แต่กระผมเองก็เหมือนกัน ก็ยังไม่รู้สึกตัวว่าดี ฉะนั้น ผมอยากจะขออาราธนาหลวงพ่อให้อยู่ต่อไป พ่อได้กราบทูลว่า เรื่องขันธ์ ๕ พ่อยึดถือไม่ได้ เพราะอะไร ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องของพ่อ ขันธ์ ๕ มันจะเกิด ขันธ์ ๕ มันจะพังมันก็เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ แต่ที่พยายามรวบรวมกำลังใจให้อยู่เช่นนี้ ก็เพราะห่วงลูกห่วงหลาน เพราะลูกหลานของพ่อดีทุกคน ถ้าลูกหลานของพ่อไม่ดีขนาดนี้ละลูกเอ๋ย ไม่ต้องห่วง อย่าว่าแต่เสียงของพ่อเลย แม้แต่ร่างกายของพ่อ ลูกก็จะไม่ได้เห็น บางทีลูกจำนวนมากอาจจะไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของพ่อเสียด้วย เวลานี้พ่อมาคิดถึงร่างกายของพ่อว่ามันแก่มากแล้ว สงสารลูกที่รักที่มีความดี เพราะบรรดาลูกทั้งหลายคงจะคิดว่าที่พึ่งใหญ่ของเธอนี้ก็คือพ่อ แต่ลูกจงอย่าลืมว่าที่พึ่งจริง ๆ ที่ลูกจะพึ่งได้ ก็คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พ่อได้ศึกษามาและก็ปฏิบัติมาพอมีผลตามที่กำลังของพ่อจะพึงทำได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสปรารภถึงเรื่องที่เกิดขึ้นที่เมืองยะลาในเดือนกันยายน ขณะที่พระองค์เสด็จเยี่ยมประชากรของพระองค์ที่จังหวัดยะลาปรากฏว่ามีเสียงระเบิดดังขึ้น ๒ ครั้ง แต่ความจริงพ่อได้ยินข่าว พ่อก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าในใจส่วนหนึ่งยังอดที่จะสงสารพระองค์ไม่ได้ เพราะว่าพระองค์ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อความสันติสุขของปวงชนชาวไทยทั้งชาติ ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เสียสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีน้ำพระราชหฤทัยหวังอยู่อย่างเดียวว่า ทำอย่างไรคนไทยทั้งชาติจึงจะมีความสุข และถ้าสิ่งนั้นไม่เกินความสามารถของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงทำทุกอย่างรวมความแล้วพระองค์เป็นผู้ให้ไม่ใช่ผู้รับ พระองค์จึงได้ปรารภว่า วันนั้นพอได้ยินเสียงระเบิดครั้งแรกเห็นคนเขาวิ่งวุ่นขวักไขวไปมา ก็มีความรู้สึกว่าเสียงระเบิด มันระเบิดไปแล้วก็เป็นอดีต อย่างนี้ตามภาษาบาลีเขาเรียกว่า อดีตใกล้ปัจจุบัน ถ้าเราจะเอาจิตไปคิดห่วงใยเรื่องราวในอดีต งานในปัจจุบันของเราก็ไม่เป็นผล ฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงวางอารมณ์เฉยเป็นอุเบกขา ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเกิดแล้วก็แล้วกันไป เวลานี้มีหน้าที่ที่จะทำงานในปัจจุบันก็ทำ ทำไปจนกว่าจะเสร็จ และหลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงให้โอวาทแก่ลูกเสือชาวบ้าน ทรงปรารภว่าวันนั้นพูดยาวหน่อย เพราะเป็นการดับกำลังใจในความตื่นเต้นของประชาชนและลูกเสือทั้งหลาย หลังจากให้โอวาทเสร็จ จะต้องเสด็จไปเยี่ยมประชาชน ก็ทรงดำริว่า ถ้าขณะที่ไปเสียงระเบิดมันระเบิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จะเป็นอย่างไร ความจริงระเบิดที่ระเบิดขึ้นมานั้น ไกลจากที่ประทับ ลูกหนึ่ง ๕๐ เมตร อีกลูกหนึ่ง ๑๐๐ เมตร แต่ว่าถ้าพระองค์เสด็จไปเยี่ยมประชากรของพระองค์ ระเบิดทั้งสองจุดจะไกลจากพระบาทเพียง ๗ เมตรเท่านั้น พ่อทราบจากเจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญในระเบิดแสวงผลประเภทนี้มีรัศมีทำการถึง ๒๐ เมตร ที่ได้ผล และขอลูกทุกคนก็จงศึกษาไว้ว่าระเบิดแบนนี้เขาทำไว้ เขาวางไว้ หรือเขาหมกไว้ ในที่ไม่น่าจะสงสัย เขาจะมีวัตถุชิ้นหนึ่งเป็นเครื่องล่อตา เช่น ไม้ขีดจุดไฟแช็ค หรือว่าปืน หรือของที่น่ารักวางไว้ แต่มีสายล่ามไว้ ถ้าบังเอิญใครมีความสนใจในวัตถุนั้นหยิบขึ้นมา สายเชือกที่ผูกกับชนวนจะกระตุกระเบิด ระเบิดก็จะเกิดระเบิดทันที เรื่องนี้ลูกทั้งหลายก็ควรระวังไว้ เพราะว่าอันตรายมันจะเกิดมีเพราะสิ่งที่เรารัก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปิยโต ชายเต โสโก ปิยโต ชายเต ภยัง ความเศร้าโศกเสียใจเกิดขึ้นจากความรัก ภัยอันตรายเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความรักเป็นเหตุ นี่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสอย่างนี้ตรง ฉะนั้น ขอลูกทั้งหลายจงจำไว้ ระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก แต่ถ้าบังเอิญวิบากกรรมให้ผล ก็จะเป็นปัจจัยให้เราลืมได้เหมือนกัน ในตอนที่สอง พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัย ว่าเรื่องระเบิดที่จะระเบิดขึ้นมาภายหลัง ทันเป็นเรื่องของอนาคต ถ้าเอาจิตใจไปยุ่งกับอนาคตเข้าแล้ว งานปัจจุบันมันจะเสีย เป็นอันว่า น้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความมั่นคงในอุเบกขารมณ์ มีความมั่นในธรรม คนที่จิตมั่นในธรรมจริง ๆ มีความกล้าพอที่จะเอาชีวิตเข้าแลกกับความดีได้ ฉะนั้น ขอบรรดาลูกรักทั้งหลายจงจำพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ และจงพยายามกระทำน้ำใจของลูกให้เหมือนกับน้ำพระทัยของพระองค์ คือว่า จงเห็นว่าชีวิตมีความหมายน้อยกว่าความดี เราเกิดมาแล้วคราวนี้ เราก็ต้องตาย ไหน ๆ จะตาย ขอให้เราตายอยู่กับความดีเท่านี้เป็นพอ และถ้าความดีนี้เป็นความดีสูงสุดลูกรักทั้งหมดของพ่อก็จะไปพระนิพพานได้

เป็นอันว่าพ่อเห็นน้ำพระทัยในความเมตตาปรานีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าพระองค์ทรงปฏิบัติตามธรรมะขององค์สมเด็จพระบรมสุคต ในด้านพรหมวิหาร ๔ ได้อย่างครบถ้วน เห็นหรือยังลูกรัก ถ้าเห็นแล้วก็จำไว้ ทำอย่างพระองค์ ความดีไม่หนีเราไปไหน ในเมื่อเราทำความดี ใครเขาจะหาว่า เราชั่ว เราเลว ก็ช่างเขา จงจำวาจาของพระพุทธเจ้าไว้ว่า นินทา ปสังสา ขึ้นชื่อว่านินทาและสรรเสริญเป็นธรรมดาของโลก ไม่มีใครจะหนีการนินทา ไม่มีใครจะหนีการสรรเสริญได้ ถ้าลูกไปรับมันเมื่อไรลูกก็จะมีแต่ความทุกข์ใจเท่านั้น นี่พ่อพูดลูกกับของพ่อ พ่อไม่ได้พูดกับคนอื่น ที่เขาคิดว่าเขาไม่ใช่ลูกของพ่อ หรือเขาคิดว่าเขาเป็นปฏิปักษ์ต่อพ่อ แต่พ่อน่ะไม่เคยคิด ว่าจะเป็นปฏิปักษ์ต่อใคร ใครเขาจะคิดยังไงเป็นเรื่องอารมณ์จิตของเขา เราอย่าไปยุ่ง เราอย่าไปเกี่ยว ใจของลูกจะมีความสุข เรื่องรับคำนินทา รับคำสรรเสริญ นี่พ่อรับมาแล้ว มันกลุ้มเหลือเกินลูกรักทำให้ไม่สบายทั้งกาย และไม่สบายทั้งใจ

เวลาที่พ่อเดินทางไปในที่ทุกแห่ง ลูกจะเห็นหน้าตาพ่อยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงอาการรื่นเริงและแข็งแรง นั่นเป็นเรื่องของกำลังใจนะลูก ไม่ใช่กำลังกาย กำลังกายจริง ๆ มันจะไม่ไหว ลูกคงจะสงสัยว่า กำลังใจช่วยกำลังกายได้อย่างไร ถ้าลูกสงสัยข้อนี้ละก็ พยายามปฏิบัติตามคำสอนที่พ่อสอนลูกไว้ ทำไปเมื่อเข้าจุดที่ถึงที่สุดของอารมณ์ ลูกจะมีความรู้เองว่า กำลังใจมีความสำคัญกว่ากำลังกาย กายเพลีย ถ้าใจกำลังดี สามารถจะแบกกายไปได้

อีกตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสกับพ่อว่า ท่านหญิงวิภาวดีมีความห่วงใยในพระองค์มาก เพราะว่ามาเตือนอยู่เสมอ ขณะที่พระองค์ตรัส รู้สึกว่าเหลียวซ้ายแลขวา และก็ตรัสอีกว่า เวลานี้หายไป การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า ท่านหญิงวิภาวดีมาเยี่ยมอยู่เสมอ และก็ตักเตือนเสมอ จุดนี้ขอบรรดาลูกรักจงจำให้ดี ว่าความรู้สึกอย่างนี้จะมีขึ้นมาได้ นั่นก็คือ บุคคลผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม จะต้องมีอารมณ์เข้าถึงทิพยจักขุญาณ คือมีอารมณ์เป็นทิพย์ มีความรู้สึกทางใจคล้ายกับตาทิพย์ ในเมื่อท่านได้ทิพยจักขุญาณ ท่านก็มีโอกาสรับสัมผัสได้ นี่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชภารกิจมาก เรื่องของพระองค์มีเรื่องกวนทั้งกายและก็ใจ อย่างที่บรรดาลูก ๆ ทั้งหลายจะไม่มีโอกาสประสบการรบกวนอย่างพระองค์เลย กลางวันก็ไม่ได้พักกลางคืนก็ไม่ได้พัก มีเวลาพักอยู่นิดเดียว พระองค์ทรงทำพระกรรมฐาน และก็ทรงทำได้ดี บุคคลประเภทนี้ ลูกควรจะลอกแบบเข้าไว้ การเลียนแบบ การลอกแบบ “การปฏิบัติตามท่านในด้านของความดีไม่ใช่ความเสีย เป็นผลกำไรที่เราไม่ต้องรื้อฟื้นเอง”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ย. 2010, 15:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

วิปัสนาญาณ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
วิปัสสนาญาณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
บุคคลที่ทำลายพระศาสนา
เป็นนิสัย ไม่ควรมีในหมู่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นการดูแคลนพระพุทธศาสนาเกินไป พูดกันตรง ๆ ก็ว่า ไม่มีความเชื่อถือจริง และไม่ใช่นักปฏิบัติจริงปฏิบัติตามเขา พอได้ชื่อว่าฉันก็ปฏิบัติวิปัสสนาคนประเภทนี้แหละที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เพราะทำไปไม่นานก็เลิกแล้วก็เอาความไม่จริงไม่จังของตนเองนี่แหละไปโฆษณา บอกว่าฉันปฏิบัตินานแล้วไม่เห็นมีอะไรปรากฏ เป็นการทำลายพระศาสนาโดยตรง ฉะนั้นนักปฏิบัติแล้วควรตั้งใจจริงเพื่อมรรคผล ถ้ารู้ตัวว่าจะไม่เอาจริงก็อย่าเข้ามายุ่งทำให้ศาสนาเสื่อมทรามเลย ต่อไปนี้จะพูดถึงนักปฏิบัติที่เอาจริง
ก่อนพิจารณาวิปัสสนา
ทุกครั้งที่จะเจริญวิปัสสนาท่านให้เข้าฌานตามกำลังสมาธิที่ได้เสียก่อนเข้าฌานให้ถึงที่สุดของสมาธิถ้าเป็นฌานที่ ๔ ได้ยิ่งดี ถ้าได้สมาธิ ๆ ไม่ถึงฌาน ๔ ก็ให้เข้าฌานจนเต็มกำลังสมาธิที่ได้เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้วค่อยๆคลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้นอย่าละโมบโลภมาก ทำทีละขั้น ๆ นั้นจะเกิดเป็นอารมณ์ ประจำใจไม่หวั่นไหวเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบแล้ว จึงค่อยเลื่อนไปฌาน ต่อไปเป็น ลำดับทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกันทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริงต้องผ่านการกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้
ธรรมเครื่องบำรุงวิปัสสนาญาณ
นักเจริญวิปัสสนาญาณที่หวังผลจริง ไม่ใช่นักวิปัสสนาทำเพื่อโฆษณาตัวเองแล้วท่านว่าต้องเป็นผู้ปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนด้วย ถ้าบารมี ๑๐ ยังไม่ครบถ้วนเพียงใด ผลในการเจริญวิปัสสนาญาณจะไม่มีผลสมบูรณ์ บารมี ๑๐ นั้นมีดังต่อไปนี้
๑. ทาน คือการให้ ต้องมีอารมณ์ใคร่ต่อการให้ทานเป็นปกติ ให้เพื่อสงเคราะห์ ไม่ให้เพื่อผลตอบแทน ให้ไม่เลือกเพศ วัย ฐานะ และความสมบูรณ์เต็มใจในการให้ทาน เป็นปกติ ไม่มีอารมณ์ไหวหวั่นในการให้ทาน
๒. ศีล รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ศีลไม่บกพร่อง และรักษาแบบอุกฤษฏ์ คือไม่ทำศีล ให้ขาดหรือด่างพร้อยเอง ไม่ยุคนอื่นให้ละเมิดศีล ไม่ดีใจเมื่อคนอื่นละเมิดศีลไม่ดีใจเมื่อ คนอื่นละเมิดศีล
๓. เนกขัมมะ การถือบวช คือถือพรหมจรรย์ ถ้าเป็นนักบวช ก็ต้องถือสิกขาบท อย่างเคร่งครัดถ้าเป็นฆราวาสต้องเคร่งครัดในการระงับอารมณ์ทีเป็นที่เป็นทางของนิวรณ์ ๕ คือทรงฌานเป็นปกติอย่างต่ำก็ก็ปฐมฌาน
๔. ปัญญา มีความคิดรู้เท่าทันสภาวะของกฎธรรมดา เห็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา เป็นปกติ
๕. วิริยะ มีความเพียรเป็นปกติไม่ท้อถอยในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล
๖. ขันติ อดทนต่อความยากลำบาก ในการฝืนใจระงับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจอดกลั้น ไม่หวั่นไหว จนมีอารมณ์อดกลั้นเป็นปกติ ไม่หนักใจเมื่อต้องอดทน
๗. สัจจะ มีความจริงใจไม่ละทิ้งกิจการงานในการปฏิบัติความดีเพื่อมรรคผล
๘. อธิษฐาน ความตั้งใจ ความตั้งใจใด ๆ ที่ตั้งใจไว้ เช่นสมัยที่สมเด็จพระผู้มี พระภาคเจ้าพระองค์เข้าไปนั่งที่โคนต้นโพธิ์ พระองค์ทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราไม่ได้สำเร็จ พระโพธิญาณเพียงใดเราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปหรือชีวิต จะตักษัยคือสิ้นลมปราณก็ตามทีพระองค์ทรงอธิษฐานเอาชีวิตเข้าแลกแล้วพระองค์ก็ทรงบรรลุในคืนนั้น การปฏิบัติต้องมีความมั่นใจอย่างนี้ ถ้าลงเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วสำเร็จ ทุกราย และไม่ยากเสียด้วย ใช้เวลาก็ไม่นาน
๙. เมตตา มีความเมตตาปรานีไม่เลือก คน สัตว์ ฐานะ ชาติ ตระกูลมีอารมณ์เป็น เมตตาตลอดวันคืนเป็นปกติ ไม่ใช่บางวันดีบางวันร้ายอย่างนี้ไม่มีหวัง
๑๐. อุเบกขา ความวางเฉยต่ออารมณ์ที่ถูกใจ และอารมณ์ที่ขัดใจอารมณ์ที่ถูกใจรับแล้วก็ทราบว่าไม่ช้าอาการอย่างนี้ก็หมดไปไม่มีอะไรน่ายึดถือพบอารมณ์ที่ขัดใจก็ปลงตกว่า เรื่องอย่างนี้มันธรรมดาของโลกแท้ๆ เฉยได้ทั้งสองอย่าง
บารมี ๑๐ นี้ มีความสำคัญมากถ้า นักปฏิบัติบกพร่องในบารมี๑๐ นี้ แม้อย่างเดียว วิปัสสนาญาณก็มีผลสมบูรณ์ไม่ได้ที่ว่าเจริญกันมา ๑๐ปี ๒๐ ปี ไม่ได้อะไรนั้น ก็เพราะเป็น ผู้บกพร่องในบารมี ๑๐ นี่เอง ถ้าบารมี ๑๐ ครบถ้วนแล้วผลการปฏิบัติเขานับวันสำเร็จกันไม่ใช่นับเดือนนับปีฉะนั้นท่านนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลต้องสนใจปฏิบัติในบารมี ๑๐ นี้ ไม่ให้บกพร่องเป็นกรณีพิเศษ


วิปัสสนาญาณสามนัย
วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็นสามนัย คือ
๑. พิจารณาตารมแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ตามนัยวิสุทธิมรรคที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ รจนาไว้
๒. พิจารณาตามนัยอริยสัจ ๔
๓. พิจารณาขันธ์ ๕ ตามในพระไตรปิฎก ที่มีมาในขันธวรรค
ทั้งสามนัยนี้ ความจริงก็มีอรรถ คือความหมายเป็นอันเดียวกันโดยท่านให้เห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกันท่านแยกไว้เพื่อเหมาะแก่อารมณ์ของแต่ละท่าน เพราะบางท่านชอบค่อยทำไปตามลำดับตามนัยวิปัสสนาญาณ ๙ เพราะเป็นการค่อยปลด ค่อย เปลื้องตามลำดับทีละน้อยไม่หนักอกหนักใจ บางท่านก็ชอบพิจารณาแบบรวม ๆ ใน ขันธ์ ๕เพราะเป็นการสะดวกเหมาะแก่อารมณ์ บางท่านที่ชอบพิจารณาตามแบบอริยสัจนี้พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเอง และนำมาสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ท่านเหล่านั้นได้มรรคผลเป็นปฐม ก็เพราะได้ฟังอริยสัจ แต่ทว่าทั้งสามนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกันคือให้เห็น อนัตตาในขันธ์ ๕ เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคและในขันธวรรคในพระไตรปิฎก ว่าผู้ใดเห็นขันธ์ ๕ ผู้นั้นก็เห็นอริยสัจผู้ใดเห็นอริยสัจก็ชื่อว่าเห็นขันธ์ ๕
เอาสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์
นักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ที่ท่านปฏิบัติกันมาและได้รับผลเป็นมรรคผลนั้นท่านคอยเอาสังโยชน์เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบเคียงจิตกับสังโยชน์ว่าเราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะรู้ผลปฏิบัติตามอารมณ์ที่ละนั้นเอง ไม่ใช่คิดเอาเองว่าเราเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตามแบบคิดแบบเข้าใจเอาเอง

สังโยชน์ ๑๐
สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมอยู่ในวัฏฏะมี ๑๐อย่างคือ
๑. สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณนี้ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา
๒. วิจิกิจฉา สงสัยในผลการปฏิบัติว่าจะไม่ได้ผลจริงตามที่ฟังมา
๓. สีลัพพตปรามาส ถือศีลไม่จริงไม่จัง สักแต่ถือตาม ๆเขาไปอย่างนั้นเอง สามข้อ นี้ ถ้าตัดได้เด็ดขาด ท่านว่าได้บรรลุเป็นพระโสดากับพระสกิทาคามี
๔. กามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รสและอาการ ถูกต้องสัมผัส
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งใจ ทำให้ไม่พอใจ อันนี้เป็นโทสะแบบเบาๆ ข้อ (๑) ถึง (๕) นี้ ถ้าละได้เด็ดขาด ท่านว่าบรรลุเป็นอนาคามี
๖. รูปราคะ พอใจในรูปธรรม คือความพอใจในวัตถุ หรือ รูปฌาน
๗ รูปราคะ พอใจในอรูป คือเรื่องราวที่กล่าวถึง หรือในอรูปฌาน
๘. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทาง
๙. มานะ ความถือตนโดยความรู้สึกว่า เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขาเราเสมอเขา
๑๐.อวิชชา ความโง่ คือหลงพอใจในกามคุณ ๕ และกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ที่ ท่านเรียกว่า อุปาทาน เป็นคุณธรรมฝ่ายทราม ที่ท่านเรียกว่า อวิชชา
สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ถ้าท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแล้ว จิตค่อย ๆ ปลดอารมณ์ที่ยึดถือได้ครบ ๑๐ อย่างโดยไม่กำเริบอีกแล้ว ท่านว่าท่านผู้นั้นบรรลุอรหัตผลเครื่องวัด อารมณ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสจำกัดไว้อย่างนี้ขอนักปฏิบัติจงศึกษาไว้แล้วพิจารณาไปตามแบบ ท่านสอนเอาอารมณ์มาเปรียบกับสังโยชน์ ๑๐ทางที่ดีควรคิดเอาชนะกิเลสคราวละข้อ เอาชนะ ให้เด็ดขาด แล้วค่อยเลื่อนเข้าไปทีละข้อข้อต้น ๆ ถ้าเอาชนะไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเลื่อนเข้าไปหา ข้ออื่น ทำอย่างนี้ได้ผลเร็วเพราะข้อต้นหมอบแล้ว ข้อต่อไปไม่ยากเลย จะชนะหรือไม่ชนะ ก็ข้อต้นนี้แหละเพราะเป็นของใหม่และมีกำลังครบถ้วนที่จะต่อต้านเรา ถ้าด่านหน้าแตกด่านต่อไปง่ายเกินคิด ขอให้ข้อคิดไว้เพียงเท่านี้ต่อไปจะนำเอาวิปัสสนาญาณสามนัยมากล่าว ไว้พอเป็นแนวปฏิบัติพิจารณา
วิปัสสนาญาณ ๙
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ
๓.ภยตูปัฎฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว
๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย
๖. มุญจิตุกามยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
๘. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่า ควรวางเฉยในสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ นั้นเพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ
ญาณทั้ง ๙ นี้ญาณที่มีกิจทำเฉพาะอยู่ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึง ญาณที่ ๘ เท่านั้น ส่วนญาณ ที่ ๙ นั้นเป็นชื่อของญาณบอกให้รู้ว่า เมื่อฝึกพิจารณามาครบ ๘ ญาณแล้ว ต่อไปให้พิจารณาญาณทั้ง๘ นั้น โดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาตามลำดับไปตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๘แล้วพิจารณาตั้งแต่ญาณที่ ๘ ย้อนมาหาญาณที่ ๑จนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ทุก ๆ ญาณและจนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณคือจิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตนหรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์เดือดร้อนก็ไม่มีความทุกข์ ความเร่าร้อนไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ทั้งที่เป็นเหตุของความรัก ความโลภความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่าครอบงำความเกิด ความดับ ความตายได้เป็นต้นคำว่าครอบงำหมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตายไม่หนักใจเพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่งแล้วก็รู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดาโกรธทำไม แล้วอารมณ์โกรธก็หายไปนอกจากระงับความหวั่นไหวที่เคยเกิดเคยหวั่นไหวได้แล้วจิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใดสามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ทุกขณะมีความนึกคิดถึงพระนิพพานเป็นปกติคล้ายกับชายหนุ่มหญิงสาวเพิ่งแรกรักกัน จะนั่ง นอน ยืนเดินทำกิจการงานอยู่ก็ตามจิตก็ยังอดที่จะคิดถึงคนรักอยู่ด้วยไม่ได้บางรายเผลอถึงกับเรียกชื่อคนรัก ขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆที่ไม่ได้คิดว่าจะเรียกทั้งนี้เพราะจิตมีความผูกพันมาก คนรักมีอารมณ์ ผูกพันฉันใดท่านที่มีอารมณ์เข้าสู่โคตรภูญาณก็มีความใฝ่ฝันถึงพระนิพพานเช่นเดียวกันหลังจากเข้าสู่โคตรภูญาณเต็มขั้นแล้ว จิตก็ตัดสังโยชน์ ๓ เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานคือตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบอีก ท่านเรียกว่าได้อริยมรรคต้นคือเป็นพระโสดาบันต่อไปนี้ จะได้ อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙ เป็นลำดับไปเป็นข้อ ๆ
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาความเกิดและความดับของสังขาร คำว่าสังขาร หมายถึง สิ่งที่เป็นร่างทั้งหมด ทั้งที่มีวิญาณและวัตถุท่านให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้วต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่เลยพยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคน ที่เกิดแล้วตายของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รักของที่มีชีวิตและไม่มีคิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตายทำลายอย่างนี้และพร้อมเสมอที่จะไม่หวั่นไหว ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างนั้นพิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมา เห็นอะไรก็ตามแม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่านี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลายแม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณอะไรที่ไหนที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาล ไม่มีรักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้จนอารมณ์ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยย้ายไปพิจารณาญาณ ที่สอง จงอย่าลืมว่าก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌานแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ จึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่าย ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ววิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่า นั่งนึกนอนนึกแล้วในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่าฉันทำมาแล้วหลายปีไม่เห็นได้ อะไรเลยจงจำระเบียบไว้ให้ดี และปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้ม ข้าวต้มจะได้สุกง่าย ๆ ตามใจนึก
๒.ภังคานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาถึงความดับ ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิดและความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติทุกวัน ทุกเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คนสัตว์ ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อย ๆ ดับตามความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ เก่าลง คนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และค่อยๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจากเป็นของใหม่ค่อยๆ เก่าลง ต้นไม้เปลี่ยนจากเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งใบที่ไสวกลายเป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ ร่วงโรย ความสลายตัวที่ค่อยเก่าลง เป็น อาการของความสลายตัวทีละน้อยค่อยๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณาให้เห็นชัดเจนแจ่มใส จนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีความชินจิตว่าไม่มีอะไรมันทรงตัว ไม่มีอะไรยั่งยืน มันค่อยๆ ทำลายตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ใจก็เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่พอใจและอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็มีสภาพไม่คงที่มีสภาพค่อย ๆสลายตัวลงไปทุกขณะเป็นธรรมดา
รวมความว่าความเกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่จำต้องเดินไปหาความดับในที่สุด แต่กว่าจะถึงที่สุดก็ค่อยๆ เคลื่อนดับ ดับทีละเล็กละน้อยทุกเวลาทุกขณะ มิได้หยุดยั้งความดับเลยแม้แต่เสี้ยวของวินาที ปกติเป็นอย่างนี้จิตหายความหวั่นไหวเพราะเข้าใจและคิดอยู่ รู้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัวท่านหมายถึงให้กลัวเพราะสังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขารเมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรคมีโรคภัยนานา ชนิดที่คอยเบียดเบียน เสียดแทงจนหาความปกติสุขมิได้ โรคอื่นยังไม่มีโรคหิวก็รบกวน ตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีก กินในบ้านก็แล้วกินนอกบ้านก็แล้ว อาหาร ราคาถูกก็แล้ว ราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิวถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของ มันฉะนั้นโรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้น คือโรคหิวดังพระบาลี ว่า ชิฆจฺฉาปรมา โรคา แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคภัยต่างๆ มีขึ้นได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ ความทุกข์อันเกิดจากภยันตรายจะมีได้ ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ในที่สุดก็ถึงความแตกดับ ก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งน่ากลัวมาก ควรจะหาทางหลีกเร้นสังขารต่อไป
๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ความเจริญญาณนี้น่าจะจัดรวมกับญาณที่ ๓ เพราะอาการที่ทำลายนั้น เป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้นข้อนี้จึง ไม่ต้องอธิบายโปรดถือคำอธิบายของญาณที่ ๓ เป็นเครื่องพิจ
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้มีความเบื่อหน่ายจากสังขาร เพราะสังขารเกิดแล้วดับในที่สุดนี้ประการหนึ่ง สังขารมีความดับเป็นปกติทุกวันเวลา หรือจะว่าทุกลมหายใจเข้า ออกก็ไม่ผิด นี้ประการหนึ่ง สังขารเป็นภัยเพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นปกติ และ ทำลายในที่สุดประการหนึ่งสังขารเต็มไปด้วยความทุกข์และโทษประการหนึ่ง ฉะนั้นสังขารนี้เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาเลย ญาณนี้ควรเอาอสุภสัญญาความเห็นว่าไม่สวยไม่งามมาร่วมพิจารณาด้วย เอามรณานุสสติธาตุ ๔ มาร่วมพิจารณาด้วยจะเห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เกิดความเบื่อหน่ายได้โดยฉับพลัน เพราะกรรมฐานที่กล่าวแล้วนั้นเราพิจารณาในรูปสมถะอยู่แล้ว และเห็นเหตุผลอยู่แล้วเอามาร่วมด้วยจะได้ผลรวดเร็ว และชัดเจนแจ่มใสมากเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีวันที่จะเห็นว่าน่ารัก ได้เลย
๖. มุญจิตุกัมมยตาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อใคร่ให้พ้นจากสังขาร ทั้งนี้เพราะอาศัยที่เห็นแล้วจากญาณต้น ๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ มีความดับเป็นปกติเป็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะโรคภัยไข้เจ็บจนเกิดความเบื่อหน่ายเพราะหาความเที่ยง ความแน่นอนไม่ได้ ท่านให้พยายามหาทางพ้นต่อไปด้วยการพยายามหาเหตุที่สังขารจะพึงเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีสังขารแล้ว ความทุกข์ความเบื่อหน่ายทั้งหลายเหล่านี้จะมีไม่ได้เลยการที่หาทางเบื่อหน่าย ท่านให้แสวงหาเหตุของความเกิดดังต่อไปนี้
๑. ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย เป็นต้น มีขึ้นได้เพราะชาติ คือความเกิด
๒. ชาติ ความเกิดมีได้เพราะ ภพ คือความเป็นอยู่
๓. ภพ คือภาวะความเป็นอยู่ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อุปาทาน ความยึดมั่น
๔. อุปาทาน ความยึดมั่นมีขึ้นได้ เพราะอาศัย ตัณหา คือความทะยานอยากคือ อยากมี อยากเป็น อยากปฏิเสธ
๕. ตัณหา มีได้ เพราะอาศัย เวทนา คือ อารมณ์ที่รู้สึกสุข ทุกข์และเฉยๆ
๖. เวทนา มีขึ้นได้ เพราะอาศัย ผัสสะ คือ การกระทบกระทั่ง
๗. ผัสสะ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อายตนะ ๖ คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียงจมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจที่เรียกว่า ธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดแก่ใจ
๘. อายตนะ ๖ มีขึ้นได้เพราะอาศัย นามและรูป คือ ขันธ์ ๕สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา คือ ร่างกายเรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนามท่านรวมเรียกทั้งรูปทั้ง นามว่า นามรูป
๙. นามรูป มีขึ้นได้เพราะอาศัย วิญญาณปฏิสนธิ คือ เข้ามาเกิด วิญญาณในที่นี้ท่านหมายเอาจิต ไม่ได้หมายเอาวิญญาณในขันธ์ ๕
๑๐. วิญญาณ มีขึ้นได้เพราะ มีสังขาร
๑๑. สังขาร มีได้เพราะอาศัย อวิชชา คือ ความโง่เขลาหลงงมงาย มีความรักความพอใจในโลกวิสัยเป็นเหตุ
รวมความแล้วความทุกข์ทรมานที่ปรากฏขึ้น จนต้องหาทางพ้นนี้ อาศัยอวิชชา ความโง่เป็นสมุฏฐานฉะนั้น การที่จะหลีกเร้นจากสังขารได้ก็ต้องตัดอวิชชาความโง่ออกด้วยการพิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แน่นอนจึงจะพ้นสังขารนี้ได้
๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
พิจารณาหาทางที่จะให้สังขารพ้น ญาณนี้ไม่เห็นทางอธิบายชัด เพราะมีอาการ ซ้อนๆ กันอยู่ ควรเอา ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละเป็นเครื่องพิจารณา
๘. สังขารุเปกขาญาณ
ท่านสอนให้วางเฉย ในเมื่อสังขารภายในคือ ร่างกายของตนเองและสังขารภายนอกคือร่างกายของคน และ สัตว์ ตลอดจนของใช้ที่ไม่มีและมีวิญญาณที่ต้องได้รับเคราะห์กรรม มีทุกข์ มีอันตราย โดยตัดใจปลงได้ว่าธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มีจิต สบายเป็นปกติไม่มีความหวั่นไหว เสียใจ น้อยใจเกิดขึ้น
๙. สัจจานุโลมิกญาณ
พิจารณาญาณทั้งหมดย้อนไปย้อนมาให้เห็นอริยสัจ คือเห็นว่า สังขารที่เป็นแดนของความทุกข์ เพราะอาศัยตัณหา จึงมีทุกข์หนักอย่างนี้ พิจารณาเห็นว่าสังขารมีทุกข์ประจำ เป็นปกติ ไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์เลย อย่างนี้เรียกว่าเห็นทุกขสัจจะเป็นอริยสัจที่ ๑
พิจารณาเห็นว่าทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัย ตัณหาความทะยานอยาก ๓ ประการ คือ อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่ ไม่เคยเป็นอยากปฏิเสธ ในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยาก ทั้ง ๓นี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ก็เพราะเข้าถึงจุดของความดับ คือนิโรธเสียได้

จุดดับนั้นท่านวางมาตรฐานไว้ ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านเรียกว่ามรรค ๘ ย่อมรรค ๘ ลงเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เพราะอาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิเป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและดับอารมณ์พอใจไม่พอใจ เสียได้ ตัดอารมณ์ใจในโลกวิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสียได้ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ ๔ ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่องจนจิต ครอบงำความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิตเสียได้ชื่อว่าท่านได้ วิปัสสนาญาณ ๙ และอริยสัจ ๔ แต่อย่าคิดว่าเราดีแล้วต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไป จนตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการได้แล้วนั่นแหละชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2010, 12:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2007, 18:55
โพสต์: 32

ที่อยู่: กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


สภาพนิพพาน

"ที่นิพพานไม่มีการเกิดใช่ไหม..จึงไม่มีการตาย..? "


"อันนี้เคยมีพระหรือพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า


นิพพานจะไม่มีการเกิดก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าเกิดก็ไม่ได้ ถ้าเรียกว่าเกิดก็ต้องตาย


ถ้าจะว่าไม่เกิด แต่สภาวะมันมีอยู่ นิพพานควรเรียกว่าอะไร


ท่านบอกว่า ควรจะเรียกว่า ทิพย์พิเศษ ที่ไม่มีการเคลื่อน


เทวดาหรือพรหมยังมีการเคลื่อนที่เรียกว่า จุติ แปลว่า เคลื่อน


ไอ้ศัพท์ที่ว่าตายนี่ พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียก ท่านเรียก กาลังกัตวา


ถึงวาระแล้ว ถึงกาลเวลาแล้ว ท่านไม่เรียกว่าตาย ตายนี่มรณะ


ตามศัพท์ของบาลี ไม่มีคำว่ามรณะ ไม่ใช้ศัพท์มรณะ


ท่านเรียกว่า กาลังกัตวา แปลว่าถึงวาระที่จะต้องไปจากร่างกายนี้


ร่างกายมันพัง มันไม่ยอมทำงาน นิพพานนี่เขาแปลว่า ดับ


ถ้าจะถามว่าดับอะไร ก็ขอตอบว่า ดับความชั่ว


คนที่จะถึงนิพพานได้ ต้องไม่มีความชั่ว ๓ อย่าง คือ


๑. ไม่ชั่วทางกาย ๒. ไม่ชั่วทางวาจา ๓. ไม่ชั่วทางใจ


ถ้าทุกคนดับความชั่วได้หมด บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน


คำว่าพระนิพพานยังมีจุด ที่เป็นที่อยู่อันหนึ่ง ที่เขาเรียกว่าทิพย์พิเศษ พ้นจากอำนาจวัฎฎะ "


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ธ.ค. 2010, 07:58 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 17:03
โพสต์: 1


 ข้อมูลส่วนตัว


คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง

" จงเห็นว่าไม่มีอะไรเหลือเลยในโลกนี้ เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น แปรปรวน เสื่อมไป สลายไป ทุกอย่างไม่มีอะไรควรยึดถือทั้งสิ้น...... "




__________________
watch movies online free


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2010, 23:05 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12233


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2011, 10:18 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


กราบ กราบ กราบ หลวง พ่อด้วยความเคารพอย่างสูงเจ้าค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 27 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร