วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2018, 21:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญญา ๓

ปัญญานั้น แท้จริงก็มีอย่างเดียว ได้แก่ ธรรมชาติที่เป็นความรู้เข้าใจสภาวะ คือ หยั่งถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แต่ก็นิยมจำแนกแยกประเภทออกไปเป็นหลายอย่าง ตามระดับของความรู้เข้าใจบ้าง ตามหน้าที่หรือแง่ด้านของการทำงานของปัญญาบ้าง ตามทางที่ปัญญานั้นเกิดขึ้นบ้าง เป็นต้น

ปัญญาชุดหนึ่งซึ่งจำแนกตามแหล่งที่มา หรือทางเกิดของปัญญา ได้แก่ ปัญญา ๓ อย่าง ชุดที่แยกออกไปเป็น สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา คำท้ายคือปัญญาเป็นตัวกลางร่วมกัน ส่วนคำข้างหน้าที่ต่างกัน บอกที่มาหรือแหล่งเกิดของปัญญานั้น ว่า

หนึ่ง เกิดจากสุตะ (การสดับฟัง การอ่าน และเล่าเรียน)

สอง เกิดจากจินตะ (การคิดไตร่ตรองพิจารณา) และ

สาม เกิดจากภาวนา (การปฏิบัติต่อจากนั้น)

ปัญญา ๓ ชุดนี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อย แต่มีผู้นำมาพูดค่อนข้างบ่อย ข้อสำคัญคือเข้าใจความหมายกันไม่ค่อยชัด จึงควรแสดงคำอธิบายที่พ่วงมากับถ้อยคำเหล่านี้สืบแต่เดิมไว้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา

เริ่มด้วยการเรียงลำดับ ปัญญา ๓ นั้น ตามที่พูดกัน มักเรียงสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก แต่ของเดิมในพระไตรปิฎก ทั้งในพระสูตร (ที.ปา. ๑๑/๒๒๘/๒๓๑) และในพระอภิธรรม (อภิ.วิ.๓๕/๗๙๗/๔๒๒) เริ่มต้นด้วยจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก อย่างไรก็ตามในเนตติปกรณ์ ซึ่งพระเถรวาทสายพม่าถือเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎกด้วย (จัดรวมไว้ใน ขุททกนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก) เรียงสุตมยปัญญาขึ้นก่อน (และเรียกชื่อต่างไปเล็กน้อยเป็น สุตมยีปัญญา จินตามยีปัญญา ภาวนามยีปัญญา) และต่อมา ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา-ฎีกา นิยมมากขึ้นในทางที่จะเรียกชื่อเป็น สุตมยญาณ จินตามยญาณ และภาวนามยญาณ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2018, 21:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในที่นี้ ขอเรียงลำดับ ปัญญา ๓ ตามพระไตรปิฎกชั้นเดิมไว้ก่อน พร้อมด้วยแสดงความหมายสั้นๆ ดังนี้

๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา (ปัญญาเกิดจากโยนิโสมนสิการที่ตั้งขึ้นในตนเอง)

๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียน (ปัญญาเกิดจากปรโตโฆสะ)

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญ (ปัญญาเกิดจากปัญญาสองอย่างแรกนั้นแล้วหมั่นมนสิการ)

การที่ท่านเรียงจินตามยปัญญาขึ้นก่อน หรือสุตมยปัญญาขึ้นก่อน จับความได้ว่า อยู่ที่การคำนึงถึงบุคคลเป็นหลัก หรือมองธรรมตามความเกี่ยวข้องของบุคคล

ในกรณีที่เรียงจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก ก็คือ ท่านเริ่มที่บุคคลพิเศษประเภทมหาบุรุษก่อน หมายความว่าพระพุทธเจ้า (และพระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ค้นพบและเปิดเผยความจริงขึ้นนั้น มิได้อาศัยสุตะ ไม่ต้องมีปรโตโฆสะ คือ การฟังจากผู้อื่น แต่รู้จักคิดพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการของตนเอง สามารถสืบสาว เรียงต่อ ไล่ตามประสบการณ์ทั้งหลายอย่างถึงทันทั่วรอบทะลุตลอด จนหยั่งเห็นความจริงได้ จากจินตามยปัญญา จึงต่อเข้าภาวนามยปัญญาไปเลย (ไม่ต้องอาศัยสุตมยปัญญา)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2018, 21:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แต่เมื่อมองที่บุคคลทั่วไป ท่านเริ่มด้วยสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก

โดยมีคำอธิบายตามลำดับว่า บุคคลเล่าเรียนสดับฟังได้สุตะ ได้ข้อธรรม ได้ข้อมูลแล้ว เกิดศรัทธาขึ้นเป็นพื้นเบื้องต้น จึงนำไปใคร่ครวญตรวจสอบพิจารณาได้ความรู้เข้าใจในสุตะนั้น ก็เกิดเป็นสุตมยปัญญา

แล้วในขั้นต่อไป อาศัยสิ่งที่ได้เรียนสดับนั้นเป็นฐาน เขาตรวจสอบชั่งตรองเพ่งพินิจขบคิดลึกชัดลงไป มองเห็นเหตุผลความสัมพันธ์เป็นไปชัดเจน เกิดเป็นจินตามยปัญญา เมื่อเขาใช้ปัญญาทั้งสองนั้นขะมักเขม้นมนสิการในสภาวธรรมทั้งหลาย (พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า อาศัยหรือตั้งอยู่ในปัญญาทั้งสองนั้นแล้ว เจริญวิปัสสนา - สุตจินฺตามยญาเณสุ หิ ปติฏฺฐิโต วิปสฺสนํ อารภติ. เนตฺติ. ๕๓) แล้วเกิดญาณ มีความรู้สว่างประจักษ์แจ้งความจริง เป็นมรรคที่จะให้เกิดผลขึ้น ก็เป็นภาวนามยปัญญา

พึงสังเกตด้วยว่า สำหรับคนทั่วไปนี้ ถึงจะได้รับสุตะ คือ ข่าวสารข้อมูลมากมาย

แต่คนจำนวนมากก็ได้แค่สุตะเท่านั้น (ได้แค่ฟังเท่านั้น) หาได้ปัญญาไม่ คือ ในข้อที่ ๑ นั้น ต้องแยกว่า คนจำนวนมากได้แต่สุตะ มีเพียงบางคนที่อาศัยสุตะนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดสุตมยปัญญา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2018, 22:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


น่าสังเกตว่า ในคัมภีร์วิภังค์แห่งอภิธรรมปิฎก ท่านอธิบายภาวนามยปัญญาว่า ได้แก่ "สมาปนฺนสฺส ปญฺญา" ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า ปัญญาของผู้ประกอบ หรือปัญญาของผู้ถึงพร้อม (สมาปนฺน คือประกอบ หรือถึงพร้อมนี้ ในที่ทั่วไป ใช้ได้ทั้งทางดีและทางร้าย เช่น ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ ประกอบการบรรพชา ถึงพร้อมด้วยอิจฉาและโลภะ ประกอบการสนุกสนาน เล่นหัว ประกอบด้วยโสกะปริเทวะ เปี่ยมด้วยกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ฯลฯ แต่เวลาใช้โดดๆ ในทางธรรม มักหมายถึงเข้าฌานสมาบัติ) และอรรถกถาแห่งคัมภีร์วิภังค์นั้น (วิภงฺค.อ.441) ไขความว่า "สมาปตฺติสมงฺคิสฺส อนฺโตสมาปตฺติยํ ปวตฺตา ปญฺญา ภาวนามยา นาม" (ปัญญาของผู้ประกอบด้วยสมาบัติ อันเป็นไปในสมาบัติ ชื่อว่าเป็นภาวนามัย) ทำให้รู้สึกว่าความหมายจำกัดเฉพาะมาก แต่คัมภีร์ต่างๆ เช่น ปรมัตถมัญชุสา อธิบายว่า คำไขความดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการแสดงตัวอย่าง โดยสาระก็มุ่งเอาการเห็นแจ้งความจริงที่เป็นมัคคปัญญา อันเป็นไปด้วยวิปัสสนานั่นเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2018, 22:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีแง่ของการอธิบายที่กินความคลุมถึงฌานสมาบัติ และมองได้กว้างออกไป พร้อมทั้งเข้าใจง่ายขึ้นด้วย คือจับที่คำว่า อัปปนา ซึ่งหมายถึงสมาธิที่เป็นแกนของฌานทั้งหมด ดังที่ท่านไขความว่า "ปัญญาที่สำเร็จด้วยอำนาจภาวนา อันถึงอัปปนา ขื่อว่า ภาวนามัย"

คำไขความตรงนี้ ที่กล่าวถึงภาวนา โยงไปถึงข้อความข้างต้นที่ว่า ขะมักเขม้นมนสิการในประดาสภาวธรรม ซึ่งก็คือวิปัสสนาปัญญาเห็นแจ้งชัดถึงขีด จิตก็เป็นสมาธิถึงอัปปนา ความประจักษ์แจ้งจดจิตสนิทแน่ว ถึงกับให้สิ่งหมักหมมผูกรัดหุ้มพอกจิต ที่เรียกกิเลส ถูกสลายล้างออกไป จิตพ้นจากกิเลสสิ้นเชิงหรือบางส่วนก็ตาม ความรู้แจ้งถึงขั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนของชีวิตอย่างนี้ได้ คือภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นมรรคญาณ

มีความรู้ประกอบอีกหน่อยว่า ในเนตติปกรณ์ (เนตฺติ ๘) ท่านโยงปัญญา ๓ นี้ กับการจัดประเภทบุคคล ๔ ด้วย โดยแสดงความหมายของบุคคล ๓ ประเภทแรกที่เป็นเวไนย (เวไนย ๓) ให้เห็นทุนเดิมก่อนจะก้าวสู่ภาวนามยปัญญาว่า คนที่มี ๒ อย่าง ทั้งสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เป็น อุคฆฎิตัญญู (ผู้รู้ได้ฉับพลันเพียงแค่ฟังหัวข้อก็เข้าใจ)

คนที่มีสุตมยปัญญาอย่างเดียว เป็น วิปจิตัญญู (ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อมีการขยายความ)

คนที่ยังไม่มีปัญญา ๒ อย่าง ทั้งสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เป็นเนยยะ (ผู้ที่จะพึงแนะนำโดยฝึกสอนอบรมให้เข้าใจต่อไป)

ส่วนปทปรมะ ไม่เป็นเวไนย เป็นอันไม่ต้องพูดถึง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.พ. 2018, 05:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อรู้เข้าใจหลักต่างๆ ข้างต้นเป็นพื้นฐานแล้ว อาจจะประมวลเป็นคำอธิบาย ปัญญา ๓ สำหรับคนทั่วไป ที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ คร่าวๆ

ทวนความก่อนว่า อัจฉริยบุคคล ในขั้นพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นนักคิดที่แท้จริง คือมีปัญญายิ่งใหญ่เหนือคนทั่วไป อย่างที่ว่า ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ทั้งหลาย ที่คนอื่นๆ พบเห็นกันมา เป็นสิบปี ร้อยปี พันปีแล้ว กี่รุ่นกี่ชั่วคน เขาก็อยู่กันมา ก็รู้เข้าใจตามๆ กันมาอยู่แค่นั้น

แต่พระพุทธเจ้า เกิดขึ้นมา ทรงมีโยนิโสมนสิการ ที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายในแง่มุมอื่นๆ ที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง มองไม่เห็น สามารถคิดสืบสาวหยั่งเห็นความจริงที่ลึกล้ำอยู่เบื้องหลัง คิดริเริ่มใหม่ๆ ในสิ่งที่คนยังไม่เคยคิด ทำให้มีการมองใหม่ เห็นใหม่ ค้นพบใหม่ ได้ความรู้ความเข้าใจใหม่ และก้าวต่อไปในโยนิโสมนสิการนั้น จนเข้าถึงความจริงที่ไม่มีใครอื่นหยั่งถึงได้

ปัญญาที่เกิดจากการรู้จักคิดด้วยโยนิโสมนสิการของตนเองอย่างนี้ เรียกว่าจินตามยปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงมีโดยไม่ต้องอาศัยการสั่งสอนแนะนำจากผู้อื่น (และไม่มีคนอื่นมีปัญญารู้ที่จะมาบอกมาสอนให้ได้) จึงเป็นปัญญาของบุคคลพิเศษ ที่คนทั่วไปไม่มี

ถ้าไม่มีบุคคลพิเศษที่มีจินตามยปัญญาอย่างนี้ การค้นพบใหม่ การแหวกวงล้อมหรือกรอบทางปัญญาออกไป ก็ไม่เป็นไปได้ และคนก็อยู่ ก็รู้ ก็คิด ตามๆ กันเรื่อยๆ ไป

ในเมื่อคนทั่วไปไม่มีจินตามยปัญญาจากการใช้โยนิโสมนสิการเริ่มคิดด้วยตนเอง จึงต้องอาศัยการสดับรับฟัง เล่าเรียน คำแนะนำสั่งสอน จากผู้อื่นเป็นจุดเริ่ม นี่คือเริ่มจากการสร้างสุตมยปัญญาก่อน ในขณะที่บุคคลพิเศษข้ามสุตมยปัญญานี้ไปเลย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.พ. 2018, 09:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สำหรับในที่นี้ เมื่อแยกบุคคลพิเศษออกไปแล้ว จึงกล่าวถึงปัญญา ๓ ครบจำนวน และเรียงลำดับโดยถือเอาคนทั่วไปเป็นที่ตั้ง ดังนี้

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากสุตะ ได้แก่ ปัญญาที่คนทั่วไปจะพัฒนาขึ้นไป โดยต้องอาศัยสุตะ คือ เมื่อยังคิดเองไม่เป็น หรือคิดไปไม่ถึง มองอะไรไม่ออก ไม่เข้าใจ ก็ต้องมีผู้แนะนำสั่งสอนบอกให้ เช่น มีท่านที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร อย่างพระพุทธเจ้า ท่านผู้รู้ ครูอาจารย์ มาแนะนำชี้แจงอธิบาย จึงรู้เข้าใจหยั่งความจริงได้ในระดับหนึ่ง

๒. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจินตะ ได้แก่ การรู้จักคิด คือ เมื่อได้ความรู้เข้าใจในสุตะ เกิดมีสุตมยปัญญาการเล่าเรียนสดับฟังแล้ว ก็ฝึกโยนิโสมนสิการให้มองเห็นรู้เข้าใจกว้างไกลลึกรอบทั่วตลอดแยกโยงได้ ทำให้ก้าวต่อไปในการเข้าถึงความจริง และใช้ความรู้อย่างได้ผล

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนา คือการปฏิบัติบำเพ็ญ ทำให้เป็นให้มีขึ้นได้จริง โดยลงมือทำกับประสบการณ์ตรง หมายถึงปัญญาที่พัฒนาต่อจากสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาสองอย่างแรกนั้น คืออาศัยปัญญาสองอย่างแรกนั้น พัฒนาต่อไปด้วยการมนสิการ (หมายถึงโยนิโสมนสิการ) ที่ตัวสภาวะ จนเกิดปัญญารู้แจ้งจริงที่สำเร็จเป็นมรรคได้บรรลุผล

ขอให้สังเกตไว้เป็นข้อสำคัญประการแรกว่า ภาวนามยปัญญานี้ อาศัยและต่อจากสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ไปนั่งสมาธิ แล้วมาบอกว่าเข้าฌานได้ภาวนามยปัญญา อย่างนั้นไม่ใช่ พึงตระหนักว่า คนทั่วไปนี้ แม้แต่จินตามยปัญญาก็ยังทำให้เกิดเองไม่ได้ ต้องเริ่มจากสุตมยปัญญา (สุตมยปัญญาก็ยังไม่ค่อยจะได้ มีแต่ได้แค่สุตะ อย่างที่พูดข้างต้น)

จุดสังเกตสำคัญประการที่สอง คือ โยนิโสมนสิการ เป็นตัวทำงาน เรียกได้ว่าเป็นแกนในการพัฒนา หรือสร้างปัญญาทั้งสามอย่างนี้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่บุคคลพิเศษอย่างพระพุทธเจ้า ที่ว่าตั้งต้นด้วยจินตามยปัญญา โดยไม่ต้องอาศัยสุตะจากคนอื่น (ไม่ต้องพึ่งปรโตโฆสะ) ก็คือ ใช้โยนิโสมนสิการที่มีขึ้นมาเป็นของเริ่มต้นในตนเอง เป็นที่มาของปัญญาที่เกิดจากการคิด ที่ทำให้คิดเป็นได้อย่างเฉพาะพิเศษ ส่วนคนทั่วไป แม้จะได้พึ่งสุตะจากผู้อื่น แต่เมื่อจะก้าวต่อไปจากนั้น จะให้ปัญญาพัฒนาขึ้นไป ก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการ จนกระทั่ง ในที่สุด การเกิดของปัญญาข้อที่ ๓ อันสูงสุดนั้น มีการทำงานของโยนิโสมนสิการเป็นสาระสำคัญเลยทีเดียว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.พ. 2018, 09:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องจึงเป็นอย่างที่พูดแล้วแต่ต้นว่า ปัญญา ๓ อย่างในชุดสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา นี้ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อยนัก
พระสารีบุตรประมวลมาแสดงไว้ เป็นการให้มองเห็นแหล่งเกิดที่มาของปัญญา ไม่เป็นหลักที่ท่านเน้นย้ำมาก

เรื่องที่พระพุทธเจ้าเน้นย้ำบ่อยมาก ตรัสอยู่เสมอ ก็คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการทำให้เกิดปัญญา เมื่อมีโยนิโสมนสิการแล้ว ปัญญาทั้งสามนั้นก็มาได้ และให้สัมฤทธิ์บรรลุจุดหมาย

ก็มาสรุปไว้ท้ายนี้อีกทีว่า คนทั้งหลายที่รับข่าวสารข้อมูลกันนั้น

@ บางคน ได้แต่สุตะ โดยไม่ได้ปัญญาเลย แม้แต่สุตมยปัญญาก็ไม่ได้

@ บางคน รู้จักมนสิการไตร่ตรองพิจารณาสุตะนั้นแล้ว สามารถทำสุตมยปัญญาให้เกิดขึ้น

@ บางคน ได้สุตมยปัญญาแล้ว รู้จักมนสิการคิดพินิจยิ่งขึ้นไป ก็พัฒนาจินตามยปัญญาให้เกิดขึ้นมา

@ บางคน ใช้สุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา ที่มีที่ได้แล้วนั้น เป็นฐาน พัฒนาปัญญาด้วยโยนิโสมนสิการยิ่งขึ้นไป ก็อาจทำภาวนามยปัญญาให้เกิดขึ้นได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2018, 08:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กรัชกาย เขียน:
สำหรับในที่นี้ เมื่อแยกบุคคลพิเศษออกไปแล้ว จึงกล่าวถึงปัญญา ๓ ครบจำนวน และเรียงลำดับโดยถือเอาคนทั่วไปเป็นที่ตั้ง ดังนี้

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากสุตะ ได้แก่ ปัญญาที่คนทั่วไปจะพัฒนาขึ้นไป โดยต้องอาศัยสุตะ คือ เมื่อยังคิดเองไม่เป็น หรือคิดไปไม่ถึง มองอะไรไม่ออก ไม่เข้าใจ ก็ต้องมีผู้แนะนำสั่งสอนบอกให้ เช่น มีท่านที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร อย่างพระพุทธเจ้า ท่านผู้รู้ ครูอาจารย์ มาแนะนำชี้แจงอธิบาย จึงรู้เข้าใจหยั่งความจริงได้ในระดับหนึ่ง

๒. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจินตะ ได้แก่ การรู้จักคิด คือ เมื่อได้ความรู้เข้าใจในสุตะ เกิดมีสุตมยปัญญาการเล่าเรียนสดับฟังแล้ว ก็ฝึกโยนิโสมนสิการให้มองเห็นรู้เข้าใจกว้างไกลลึกรอบทั่วตลอดแยกโยงได้ ทำให้ก้าวต่อไปในการเข้าถึงความจริง และใช้ความรู้อย่างได้ผล

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนา คือการปฏิบัติบำเพ็ญ ทำให้เป็นให้มีขึ้นได้จริง โดยลงมือทำกับประสบการณ์ตรง หมายถึงปัญญาที่พัฒนาต่อจากสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาสองอย่างแรกนั้น คืออาศัยปัญญาสองอย่างแรกนั้น พัฒนาต่อไปด้วยการมนสิการ (หมายถึงโยนิโสมนสิการ) ที่ตัวสภาวะ จนเกิดปัญญารู้แจ้งจริงที่สำเร็จเป็นมรรคได้บรรลุผล


อ้างคำพูด:
ขอสอบถามท่านผู้รู้ เกี่ยวกับสภาวะที่เกิดจากการนั่งสมาธิด้วยค่ะ

ตัวหนูเองเพิ่งเริ่มหัดนั่งสมาธิแบบจริงๆ จังๆ ได้ไม่นานมานี้ โดยการ

กำหนดดูลมหายใจเข้าออก คือเวลานั่งกำหนดดูลมหายใจไปแล้วสักพัก

ก็จะรู้สึกเหมือนมีมวลแม่เหล็กกลมๆจับอยู่ที่บริเวณสันจมูกและบริเวณข้างๆจมูกโดยรอบ

พอเรานั่งดูเวทนานั้นไปเรื่อยๆ

ก็เกิดความรู้สึกเหมือนว่าตัวหาย

ได้แต่นั่งดูความว่างเปล่าไปเรื่อยๆ จนพอถอนตัวจากสมาธิ

แล้วค่อยๆลืมตาขึ้น ตัวก็ยังไร้ความรู้สึกและขยับตัวเองไม่ได้ เหมือนเป็นอัมพาตได้แต่ลืมตาและกระพริบตาเท่านั้น (ตอนนั้นตกใจมาก คิดว่านั่งทับเส้นหรือเปล่า)

ต้องรอสัก1-2 นาที ถึงจะขยับตัวได้ พอลุกขึ้นยืนก็ไม่มีแม้แต่ความรู้สึกปวดขาหรือปวดตามร่างกายเลยค่ะ

เพราะโดยปกติหนูจะนั่งสมาธิในท่าเดียวได้ไม่ค่อยนาน ประมาณ 15-20นาที ก็จะรู้สึกปวดเมื่อยและขยับตัวหรือออกจากสมาธิไปเลย

และพอหลังจากวันนั้นมา เวลาจะนั่งสมาธิพอกำหนดดูลมหายใจปุ๊บ ไม่ถึง5-10 นาที ก็จะเกิดสภาวะไร้ความรู้สึกขึ้นมาทุกครั้งเลยค่ะ (แต่ก็ถือว่าเป็นผลดีที่ทำให้เรานั่งได้นานๆเป็นชั่วโมง โดยที่เราไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดเลย)

และอีกหนึ่งสภาวะคือถ้าตั้งใจนั่งสมาธิมากๆ พอนั่งไปสักพักร่างกายจะสั่นแรงมาก ความรู้สึกเหมือนขับรถด้วยความเร็วสูงมากๆ ประมาณว่าคล้ายๆ ตอนขึ้นเครื่องบินแล้วเครื่องบินกำลังจะเทคออฟค่ะ คือมันพุ่งไปข้างหน้าอย่างเร็วแรงมาก

หนูเลยอยากทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะแบบนี้คืออะไร

ถูกต้องหรือไม่ และหนูต้องนั่งดูสภาวะแบบนี้ไปเรื่อยๆ

แล้วปล่อยว่างอุเบกขาใช่หรือไม่

และสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ถึงขั้นไหนในการทำสมาธิแล้วคะ

และจะมีอันตรายหรือผลที่จะตามมาไหมคะ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ


จาก 1000 ทิพ (วางให้เทียบที่ ข้อ ๓)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2018, 09:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สภาพ, สภาวะ ความเป็นเอง, สิ่งที่เป็นเอง, ธรรมดา

สภาวธรรม หลักแห่งความเป็นเอง, สิ่งที่เป็นเองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย

เมื่อยกศัพท์ทางธรรมมาพูด ต้องเข้าใจความหมายของเขาด้วย ตัวอย่างในที่นี้ คือคำว่า สภาวะ (ที่เรียกเต็มๆ สภาวธรรม) จขกท. พูดว่า สภาวะ แต่ไม่เข้าใจความหมาย เช่น นี่

อ้างคำพูด:
หนูเลยอยากทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะแบบนี้คืออะไร ถูกต้องหรือไม่ และหนูต้องนั่งดูสภาวะแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วปล่อยวางอุเบกขาใช่หรือไม่


ในเมื่อมันเป็นสภาวะ แล้วมันไม่ผิดหรอก เพราะมันเป็นสภาวะ แต่มันจะผิดขึ้นมา ก็เพราะความไม่รู้ของเราเอง ที่คิดฟุ้งซ่านพล่านไปว่า นี่เราเป็นอะไร นั่นมันเป็นอะไร ข้าฯ จะเดี้ยงไหมเนี่ย กูจะตายไหม สภาวะที่รู้สึกว่าไม่หายใจ เราจะตายไหม จะเป็นยังงั้นไหม จะเป็นยังงี้ไหม ฯลฯ คิดฟุ้งเตลิดไปสารพัด

คำว่า “อุเบกขา” ก็ต้องทำความเข้าใจให้ชัด ถ้ามันเป็นอุเบกขาแท้ๆ คืออุเบกขาที่ประกอบด้วยปัญญารู้เห็นตามที่มันเป็นแล้ว มันหายสงสัยหมดคำถามไปเลย คือไม่รู้จะถามอะไร เพราะตนเองรู้เห็นสภาวะนั้นๆด้วยตนแล้ว ความสงสัยก็หมดไปเลย

ที่เรายังสงสัยว่า นั่นอะไร นี่อะไร เพราะเรายังไม่เห็นเหตุของมัน ดังนั้น ผู้เริ่มฝึกภาวนามัย ก็ต้องเรียนรู้สภาวะนั่นแหละ ให้เรียนรู้มัน รู้สึกจะเป็นจะตายก็เรียนรู้มัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีหลักยึดเกาะ ซึ่งก็ได้แก่ ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออก แต่ละขณะๆ ไปด้วย

หรือไม่ก็ยึดเกาะอาการท้องที่พอง กับ อาการยุบไปด้วย มิใช่ปล่อยจิตให้ไหลเลื่อนลอยไป คือมันต้องมีที่ยึดที่เกาะ ซึ่งก็คือ ลมเข้า-ออก หรือท้องที่พองกับที่ยุบนั่นแล้วแต่เลือกเอา

สภาวะใดๆเกิดก็กำหนดูรู้สภาวะนั้นๆ ไม่ใช่ปล่อยไปเรื่อยเปื่อย โดยไม่กำหนดรู้ มันจะกลายเป็นโมหะไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2018, 10:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทียบอีกตัวอย่างหนึ่ง


อ้างคำพูด:
ใครติดอยู่ที่สมาธิลมหายใจดับสนิทบ้างครับ

ผมนั่งสมาธิแบบอานาปานสติ กำหนดดูลมหายใจ เข้า ออก ภาวนาพุทธโธ เมื่อจิตสงบ ความรู้สึกจิตดำดิ่งในสมาธิ จิตจะละคำภาวนาไปเอง อยู่กับสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก สักพักลมหายใจจะละเอียด แผ่วเบา จนดับสนิท ร่างกายไม่หายใจอีกต่อไป เป็นแบบนี้ได้ประมาณ 1-2 ชม. (ผมลองทดสอบตอนไม่ได้นั่งสมาธิ กั้นลมหายใจดู ได้เต็มที่ไม่เกิน 1-2 นาที ร่างกายต้องรีบหายใจนำลมเข้าไป)
เมื่อลมหายใจดับสนิท จิตสงบมากๆ บางครั้งเกิดดวงสว่างจ้า บางครั้งมืดสนิท บางครั้งลอยเวิ้งว้าง กลางจักรวาลนิ่ง สงบ กว้างใหญ่ไพศาล (จิตนะครับไม่ใช่กาย)

ท่านผู้ปฏิบัติ มีวิธีใดให้ผ่านขั้นนี้ เพื่อความก้าวหน้าของสมาธิครับ

ปล. ผมเป็นวิศวกรไม่ใช่นักบวช ตอนนี้นั่งสมาธิได้เต็มที่แค่วันละ 2 ชม. ขอถามนักปฏิบัติไม่เอาตามตำรานะครับ เพราะการปฏิบัติกับคนอ่านตำรา มันเห็นไม่เหมือนปฏิบัติเองครับ ขอบคุณครับ



ยังหายใจอยู่นั่นแหละ แต่ลมหายใจเข้า-ออกมันละเอียดยิบ แต่สติตามไม่ทัน ปัญญาไม่ถึงมัน จึงคิดนึกไปว่าไม่หายใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2018, 22:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาวนามยปัญญา ซึ่งก็คือความรู้เข้าใจชีวิตที่เกิดรู้จากประสบการณ์ตรงที่ตัวสภาวะ เมื่อประสบแล้วต้องรู้จักคือกำหนดรู้สภาวะที่ประสบจนกระทั่งผ่านมันไป อุปมาเหมือนการเดินทางไกล ได้ประสบพบเห็นสิ่งต่างๆข้างทางรู้ว่าอ้อนั่นมันเป็นยังงั้นๆแล้วผ่าน ถ้าประสบพบเจอแล้ว อะไรๆๆๆคือสงสัยว่านั่นอะไรนะนั่นอะไร เป็นนั่นเป็นนี่ไหม ฯลฯ อย่างนี้ติดไม่ผ่านจิตมันจะวนๆอยู่ไม่ไปไหน ทำไปปฏิบัติไปถึงตรงนั้นติดๆ วนๆ :b1: (ไม่ใช่อย่างที่เขาว่าๆพูดๆกันนะ ว่ามันจะไปเองพ้นไปเอง ธรรมะจัดสรร ฯลฯ :b32: )



ตราบใด มนุษย์ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาพื้นฐานแห่งชีวิตของตน ยังวางตัววางใจหาที่ลงไม่ได้กับทุกข์ถึงขั้นตัวสภาวะ ตราบนั้นมนุษย์ก็จะยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ยังหลีกไม่พ้นการตามรังควานของทุกข์ ไม่ว่าจะพบสุขขนาดไหน และจะยังไม่ประสบความสุขที่แท้จริง ซึ่งเต็มอิ่ม สมบูรณ์ในตัว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2018, 06:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีตัวอย่างให้ดูอีก

อ้างคำพูด:
ขนลุกตอนนั่งสมาธิเป็นหนักมาก

ช่วงหลังๆนี้มีอาการผิดปกติกับตัวเองค่ะ คือมีอาการขนลุกตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนนั่งสมาธิเป็นหนักมาก ขออนุญาต เล่าเป็นข้อๆดังนี้นะคะ
อาการที่เกิด

1.บ่อยครั้งขนลุกบริเวณขาซ้าย เป็นบ่อยค่ะอาการนี้ (เป็นมานาน)

2.อาการขนหัวลุก เสียวท้ายทอยมาก เริ่มมาเป็นช่วงหลังๆมานี่เองค่ะ เกิดชัดครั้งแรก ตอนไปร่วมพิธีไหว้ครูที่นึง เป็นพิธีใหญ่พอสมควร พอเริ่มพิธี เท่านั้นเองก็ขนหัวลุกซู่ ลุกจนเสียวต้นคอ และบริเวณท้ายทอยมาก พอซักพัก นั่งร้องไห้แบบไม่ทราบสาเหตุค่ะ ร้องแบบสะอึกสะอื้น งงตัวเองนะคะว่า ร้องไห้ทำไม อายก็อายค่ะ แต่ฝืนตัวเองไม่ได้เลย อยู่ในพิธี เป็นอยู่แบบนี้ ทั้งขนหัวลุกและร้องไห้ 3 - 4 รอบสลับกันไปจนจบพิธีอาการก็หายค่ะ นี่คือครั้งแรกค่ะ

แต่ที่จะถามต่อคือ มาช่วง นี้ 3-4 วัน ก่อนที่จะโพสถามนี่ อาการกลับมาค่ะ แต่หนักและถี่แรงกว่าปกติ คือเริ่มต้นจากอยู่ๆ ก็ขนลุกน้อยๆทั้งตัวบ้าง ขนลุกบริเวณขาซ้ายบ้าง เป็นอย่างงี้ทั้งวันค่ะ (ปกตินานๆทีแต่ครั้งนี้เป็นตลอดวัน)

แต่ที่หนักสุด พอมานั่งสมาธิ (ปกตินั่งสมาธิเกือบทุกวันไม่เคยมีอาการขนหัวลุกหรือเสียวต้นคอเลย) อยู่ๆคราวนี้พอเริ่มนั่งเริ่มกำหนด ไม่ถึงนาที อาการขนหัวลุก เสียวต้นคอ -ท้ายทอย มาหนักมาก กำหนดอย่างอื่นไม่ได้เลย เลยกำหนดไปที่อาการนี้ คือ ขนลุกหนอ เสียวท้ายทอยหนอ อยู่แบบนี้ พอหายซักพัก ก็ไปกำหนดท้องพองยุบ หรือกำหนดตามจิตเราที่ไปกระทบปกติ เดี๋ยวอาการขนหัวลุกก็มาแทรกอีก เป็นอย่างนี้สลับไป สังเกตุตัวเองว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา เวลาใช้ชีวิตปกติก็ขนลุกตลอดเวลา ทั้งวัน แต่ไม่แรง
พอวันที่ 2 นั่งสมาธิใหม่ก็ขนหัวลุกอีก อาการจะแรงช่วงนั่งสมาธิค่ะ กังวลมาก ไม่รู้ไปทำไรผิดเข้ารึเปล่า ใครรู้ช่วยบอก หรือแก้อาการทีค่ะ


เห็นสภาวะมันวนไหม

เพราะสมาธิล้ำเกินองค์ธรรมตัวอื่นด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมดาของผู้เริ่มฝึกจิตใหม่ๆ ซึ่งต้องกำหนดจิตทุกๆขณะที่รู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ กำหนดตรงๆความรู้สึก อย่าปล่อยจิตเลื่อนลอยไปเรื่อยเปื่อย อย่าเลียงหนี เพราะกลัว เพราะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.ค. 2018, 12:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สุตะ “สิ่งสดับ” สิ่งที่ได้ฟังมา, สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง, ความรู้จากการเล่าเรียนหรือรับถ่ายทอดจากผู้อื่น, ข้อมูลความรู้จากการอ่าน การฟัง บอกเล่าถ่ายทอด,

สำหรับผู้ศึกษาปฏิบัติ “สุตะ” หมายถึงความรู้ที่ได้เล่าเรียนสดับ ฟังธรรม ความรู้ในพระธรรมวินัย ความรู้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ หรือปริยัติ, สุตะ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ของผู้ที่จะเจริญงอกงาม ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต โดยเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ปัญญา ที่เป็นเบื้องต้น หรือเป็นฐานของพรหมจริยะ และเป็นเครื่องเจริญปัญญาให้พัฒนาจนไพบูลย์บริบูรณ์ (ที.ปา.11/444/316) พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เป็นผู้มีสุตะมาก (เป็นพหูสูตหรือมีพาหุสัจจะ) และเป็นผู้เข้าถึงสุตะ (องฺ.จตุกฺก 21/6/9)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2020, 00:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ต.ค. 2009, 15:06
โพสต์: 7503

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
เศรษฐีทั้งหลายเห็นแก่ตัวสะสมอสังหาริมทรัพย์ไว้มากๆ
สะสมบ้านไว้ให้เช่าไม่รู้จักแบ่งปันถึงเวลาถูกแผ่นดินทวงคืนบ้างแล้ว
เป็นไปได้ว่าวัดอาจจะต้องได้เสียภาษีเพราะประชาชนอดอยากยากจนไม่มีเงินเสียภาษี
https://youtu.be/aajxIp3LgYE
:b32: :b32:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 38 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร