วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2016, 16:07 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ดับตัวตน ค้นธรรม โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร
สอนวิธีกำหนดลมหายใจ

รูปภาพ

ขณะที่เรากำหนดลมหายใจจะต้องสังเกตด้วยว่าลมหายใจเรามีอาการยังไง ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออกมีความยาวเท่ากันหรือต่างกัน ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออกมีความหนัก-เบาเท่ากันหรือต่างกัน ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออกมีรูปร่างเหมือนกันหรือต่างกัน สุดลมหายใจเข้ากับต้นลมหายใจออกติดต่อกันหรือขาดช่วง ต้นลมจนถึงสุดลมหายใจเข้ามีช่องว่างหรือติดต่อกันเป็นสาย ต้นลมจนถึงสุดลมหายใจออกมีช่องว่างหรือติดต่อกันเป็นสาย

ต้นลม-กลางลม-สุดลมของลมหายใจเข้า-ออกเป็นส่วนเดียวกันหรือแยกเป็นคนละส่วน ต้นลม-กลางลม-สุดลมของลมหายใจเข้า-ออกเป็นกลุ่มก้อนหรือกระจัดกระจาย อาการที่ปรากฏมีความหนาทึบหรือโปร่งบาง มีลักษณะเย็น ร้อน อ่อน หรือแข็ง? อาการที่ปรากฏมีลักษณะคงที่หรือไม่แน่นอน มีลักษณะคล้อยตามหรือต้าน มีอาการสะดุดหรือสม่ำเสมอ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเองหรือพยายามที่จะให้เป็น เป็นอาการที่บังคับได้หรือไม่ได้ เป็นอาการที่ต้องคอยประคับประคองหรือเป็นไปโดยสภาวะ

เป็นลมหายใจที่ยังขึ้นอยู่กับคำสั่งหรืออยู่นอกคำสั่ง เป็นลมหายใจที่ยังรู้สึกว่าเป็นของเราอยู่หรือไม่มีเจ้าของ เป็นลมหายใจที่ถูกบรรจุอยู่ในรูปหนาทึบหรือโปร่งบาง อาการที่เกิดขึ้นกับสติ(ความรู้สึก) เป็นอาการอย่างเดียวกันหรือต่างกัน เป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วน มีรูปร่างสีสันหรือไม่ มีตัวตนเป็นผู้รับรู้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะต้องมีสติคอยสังเกต

ลมหายใจกับความรู้สึกเป็นส่วนเดียวกันหรือเปล่า ความรู้สึกอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลจากลมหายใจ อยู่ในตำแหน่งเดียวกันหรือเคลื่อนย้ายที่ เป็นลักษณะเคลื่อนย้ายที่ๆมีระยะทางหรือปรากฏทันทีที่รับรู้อารมณ์ อาการรับรู้มีความชัดเจนตลอดเวลาหรือแตกต่างกัน ความรู้สึกกับลมหายใจอยู่ในตำแหน่งเดียวกันหรือห่างกัน เป็นอาการรู้ชัดอยู่ในความรู้สึกหรือเห็นชัด ถ้าหากในขณะเดียวกันสามารถรู้ชัดและเห็นชัดอยู่ในความรู้สึกได้ เรียกอาการนี้ว่ารู้ชัดในรู้ รู้ชนิดนี้เห็นและเข้าถึงอาการพระไตรลักษณ์ได้

อาการพระไตรลักษณ์อาศัยอารมณ์ปัจจุบัน ทุกครั้งที่อารมณ์ปรากฏอยู่ในความรู้สึก ลองสังเกตดูว่าขณะนั้นมีตัวตนหรือเปล่า ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าไม่มีตัวตน ให้พิจารณาต่อไปอีก ที่ว่าไม่มีตัวตนนั้นเกิดจากการคิดเพื่อไม่ให้มี หรือเกิดจากสภาวะประกาศตัวมันเองว่าไม่มี เกิดขึ้นในทันทีหรือต้องกลับมานึกคิดใหม่ พยายามที่จะไม่ให้มีหรือไม่มีในความว่าง ในความรู้สึกของจิตที่ว่าง อันนี้คือสิ่งที่ต้องสังเกตต้องพิจารณา ยิ่งสังเกตยิ่งพิจารณาสภาวะที่เกิดขึ้นก็ยิ่งละเอียด ปัญญาญาณยิ่งชัดเจน ญาณต่างๆเกิดจากความชัดเจนของสภาวะในขณะที่กำลังกำหนด

ขณะที่รู้อยู่ในความว่าง จะต้องรู้ถึงเจตนาที่รับรู้นั้นด้วยว่า มีเจตนาที่จะจับที่ความว่างอย่างเดียว? มีเจตนาที่จะจับที่อาการเกิด-ดับของความว่าง? มีเจตนาจะจับที่พลังความว่าง? มีเจตนาที่จะพิจารณาศึกษาความเป็นไปของความว่างนั้น? ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องมีเจตนาทุกครั้ง ไม่ใช่อยู่ๆก็ว่างอยู่ๆก็เกิดขึ้นแล้ว ต้องมีเหตุผลต้องมีที่มาแห่งความว่างนั้น ทำไมถึงว่าง? ในความว่างนั้นมีอะไรหายไปบ้าง? ความว่างเกิดขึ้นได้อย่างไร? ความว่างนั้นเป็นอาการของรูปหรือนาม? ความว่างที่ปรากฏสามารถเจริญฌานได้หรือเปล่า? ความว่างที่ปรากฏสามารถเจริญวิปัสสนาได้หรือเปล่า? พลังความว่างมีจริงมั้ย? แล้วเราเจริญพลังความว่างเพื่อประโยชน์อะไร?

ถ้ามีเจตนาที่จะดูพลังนั่นเป็นการเจริญพลัง มีเจตนาที่จะดูอาการเกิด-ดับของความรู้สึกฯ เป็นการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา สองอย่างนี้ต้องชัดเจน เมื่อไรที่เราเห็นอาการเกิด-ดับของความรู้สึก รูป-นามก็จะตื่นตัวและมีกำลังมากขึ้น มีเจตนาจะดูพลังจะต้องไม่เน้นดูอาการเกิด-ดับ ให้จับที่บรรยากาศของความรู้สึกที่ว่างนั้นว่า มีความสงบหนาแน่นมั้ย? สังเกตว่ามีพลังมากน้อยเข้มข้นแค่ไหน นี่คือมีเจตนาที่จะดูพลัง สองอย่างนี้อาจจะเลือกสลับกัน หรือจะเลือกเจริญเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตนาในขณะนั้นๆ



เรียบเรียงโดย แม่ครูนราวรรณ กุลธรชุติภาส
ที่มาจาก http://www.mtt4.com

สอนวิธีเจริญสติ
๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘

รูปภาพ
โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร
เรียบเรียงโดย แม่ครูนราวรรณ กุลธรชุติภาส

เมื่อเกิดความรู้สึกเหนื่อย เพลีย ซึมๆ ขยายความรู้สึกให้กว้างไม่ได้ ให้จับที่ความรู้สึกไม่ต้องขยาย ความรู้สึกอยู่ตรงไหนก็จับตรงนั้น ความรู้สึกอยู่ใกล้รูปก็ให้จับความรู้สึกที่อยู่ใกล้รูป ความรู้สึกอยู่ในรูปก็ให้จับความรู้สึกที่อยู่ในรูป จับความรู้สึกได้แล้วตัวตนจะหายไป เมื่อไม่มีตัวตนความรู้สึกก็จะกว้างออกเอง สติจะใสขึ้นตื่นตัวขึ้นเอง ให้เอาความรู้สึกที่ใสตื่นตัวนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อ ถ้าเอาความรู้สึกที่ใสตื่นตัวนั้นไปวางข้างหน้าอย่างเดียว ก็จะเป็นไปเรื่อยๆ อยู่อย่างนั้น ความใสตื่นตัวก็จะค่อยๆอ่อนกำลังลง จะต้องจับที่ความรู้สึกที่ใสตื่นตัวที่วางอยู่ข้างหน้าอีกต่อหนึ่ง เพราะนั่นคือการกำหนดดูจิตในจิต เมื่อทำอย่างนี้จะรู้สึกถึงความรู้สึกที่มีกำลังมากขึ้น จากนั้นต้องรู้ถึงเจตนาที่จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรต่อด้วย ไปกำหนดรู้อารมณ์ ไปกำหนดรู้เสียง ไปกำหนดรู้ความคิด ไปกำหนดรู้อิริยาบถย่อย ต้องกำหนดรู้อย่างนี้ไม่งั้นเหมือนกับไม่ได้ทำอะไร แค่ยกจิตขึ้นสู่ความรู้สึกทำให้ตื่นตัวแล้วก็ธรรมดา ไม่ได้เจาะสภาวะ ต้องกำหนดรู้อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะต้องสานต่อไปเลย เอาพลังจิตตัวนี้มาใช้ประโยชน์ไม่งั้นไม่เกิดประโยชน์

ขณะเปลี่ยนอิริยาบถย่อยก็ต้องจับที่ความรู้สึกต้องทำให้ต่อเนื่อง กำหนดไม่ต่อเนื่องความรู้สึกที่ใสตื่นตัวจะลดลงเรื่อยๆที่สุดแล้วก็เฉยๆ ขณะที่นั่งต้องมีเจตนาที่จะรู้ว่าเรานั่งทำอะไร จิตทำงานนะ กายพักไม่ทำจิตต้องทำไม่งั้นไม่ตื่นตัว ขณะที่กายไม่ได้ทำงาน จิตต้องกำหนดรู้ถึงการไม่ทำของกาย จิตต้องกำหนดรู้ถึงการพักของกาย ไม่งั้นพอกายไม่ทำกายสงบนั่งเฉยๆ แล้วจิตไม่ทำงานด้วย คือจิตไม่พิจารณาสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อจิตไม่ทำงานก็หยุด พอหยุดก็จะเฉื่อยลงๆ ถ้าจิตเรายังมีการกำหนดพิจารณาสภาวะ มีการพิจารณาอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีอาการอย่างไร ขณะที่รูปมีการเปลี่ยนแปลง นามหรือความรู้สึกมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ขณะที่เห็นว่ารูปมีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกที่ใสตื่นตัวนั้นมีกำลังมากขึ้นหรือน้อยลง ความรู้สึกที่ทำหน้าที่กำหนด ในแต่ละครั้งแต่ละขณะมีช่องว่างหรือติดกัน รูปมีอาการเกิด-ดับ จิตมีอาการเกิด-ดับหรือไม่

เมื่อจิตเราทำงานตลอดเวลาก็จะมีความตื่นตัวต่อๆไปเรื่อยๆ สติก็จะมีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ สภาวญาณก็จะก้าวหน้าขึ้นชัดเจนขึ้นด้วย กำลังความใสตื่นตัวบางครั้งก็ดีบางครั้งก็ตก เกิดจากไม่ได้พิจารณาสภาวะอย่างต่อเนื่อง มีสมาธิอย่างเดียวไม่มีความตื่นตัวสติก็อ่อนก็เฉื่อย เมื่อต้องการให้จิตตื่นตัวให้เพิ่มตัวมุ่งพร้อมกับกำหนดทิศทาง ทิศทางก็คืออารมณ์ที่ต้องการกำหนดรู้ ความตื่นตัวก็มีกำลังมากขึ้น ทำให้รูป-นามคล่องแคล่วขึ้น เมื่อสติ สมาธิสมดุล ปัญญาก็เกิด แต่ถ้าสมดุลกันแล้วไม่พิจารณาไม่กำหนด ปัญญาก็ไม่เกิดอีก ต้องพิจารณาอาการอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย พิจารณาลักษณะการเปลี่ยนแปลง หรือพิจารณาอาการเกิด-ดับของสภาวะที่เกิดขึ้น สภาวญาณก็จะปรากฏชัดขึ้น ความสงบ นิ่งๆ เฉยๆ คือสมาธิเป็นการสงบจากอารมณ์ แต่ถ้ามีสติกำหนดด้วยก็จะเป็นการเจริญวิปัสสนา จิตมีความตื่นตัวพร้อมที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมที่จะกำหนดรู้ พร้อมที่จะพิจารณาอารมณ์ต่างๆ จิตชนิดนี้จะมีความเพียรมาก ไม่เกิดอาการเบื่อหน่ายการงานที่ต้องทำ ต้องกำหนดรู้ ต้องพิจารณา ความซึมเซาไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นสมาธิที่สงบเงียบเฉยๆ จะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลยได้พักอย่างเดียว อาการนิ่งสงบเป็นสมถะ นิ่งสงบอย่างเดียวจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ตาม ถ้าไม่เห็นอาการเกิด-ดับ ก็จะเป็นสมถะที่มีแต่สมาธิ เพราะไม่เห็นอาการเกิด-ดับของอารมณ์ วิปัสสนาปัญญาไม่เกิด อาการพระไตรลักษณ์ไม่ปรากฏ ในความนิ่งสงบจะต้องกำหนดรู้ถึงอาการนิ่งสงบด้วย ความตื่นตัวจึงจะมีกำลังต่อเนื่อง

ขณะที่ได้ยินเสียง เอาความรู้สึกเข้าไปกำหนดรู้ในเสียงนั้น ก็จะรู้สึกว่าทั้งได้ยิน ทั้งเห็นอาการเกิด-ดับเปลี่ยนแปลงด้วย เห็นบัญญัติและปรมัตถ์สลับกัน เสียงที่ฟังรู้เรื่อง (รูปบัญญัติ) มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน เป็นคนละส่วนกับความรู้สึกที่ทำหน้าที่กำหนดรู้ เสียงที่มีอาการเกิด-ดับ (รูปปรมัตถ์) ไม่เป็นกลุ่มก้อน มีอาการเกิด-ดับพร้อมกับความรู้สึก เมื่อยกจิตเข้าไปรู้อาการเกิด-ดับของเสียง จะเห็นว่าอาการเกิด-ดับที่ปรากฏขึ้นในความว่างไม่มีรูปร่าง นั่นเป็นอารมณ์ปรมัตถ์เป็นญาณสูงแล้ว และถ้าหากรับรู้บัญญัติก็เป็นบัญญัติที่ไม่มีตัวตน เป็นญาณที่ 1 คือแยกรูปแยกนามได้แต่ไม่เห็นอาการเกิด-ดับ แต่ถ้ามีเจตนาที่จะสังเกตอาการเกิด-ดับของอารมณ์ที่เกิดขึ้น สภาวญาณต่อไปก็จะปรากฏให้เห็น เห็นว่าเวลาเกิดๆ อย่างไร เวลาดับๆอย่างไร ถ้าสติมีกำลังเราสามารถที่จะยกจิตขึ้นสู่ญาณสูงได้เลย (อารมณ์ที่ละเอียดขึ้นไปอีก) หรือว่าจะเริ่มจากญาณต่ำก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาของเราในขณะนั้น ถ้าเข้าไปรู้เข้าไปเกาะติดกับอาการปรมัตถ์เลย ก็จะเข้าถึงญาณสูงได้อย่างรวดเร็ว ทำอย่างนี้ได้สติต้องมีความใสคมชัดนะ ต้องมีความตื่นตัวมีความนิ่ง จึงเกาะติดหรือจับอารมณ์นั้นได้ เวลาปฏิบัตินี่กำลังของเราขึ้นเป็นขณะๆเป็นลำดับ ถ้ากำลังเราไม่ถึงเราไม่สามารถกระโดดไปถึงตรงนั้นได้ในทันที ขึ้นได้นิดเดียวเดี๋ยวก็ตกลงมาเพราะกำลังไม่ถึง จะเกาะติดอาการปรมัตถ์ไปได้ตลอดสติต้องมีกำลังมากเป็นพิเศษจริงๆ

การที่เราไม่รู้ลักษณะญาณดีอย่างหนึ่งแล้วก็ไม่ดีอย่างหนึ่ง ดีนั้นทำให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติ ไม่ดีทำให้จิตตกได้ง่ายถ้าหากไม่สมหวัง ที่ถูกให้รู้ว่าเป็นสภาวญาณก็พอ ไม่ต้องไปรู้ว่าญาณนี้ ญาณ 11 ญาณนี้ 12 ญาณ 13 สุดท้ายเดี๋ยวจ้องแล้ว จ้องเมื่อไหร่ตัวตนก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเรารู้ว่าอ๋อ! อันนี้เป็นลักษณะของสภาวะ แล้ววิธีเข้าถึงสภาวะอันนี้ต้องทำอย่างนี้ ทำแล้วสภาวะจะก้าวหน้าได้เร็วขึ้นเพราะเหตุนี้ นี้คือสิ่งที่ต้องรู้ต้องเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้กำลังใจ ความเพียรก็เกิด รู้ว่าเกาะติดสภาวะได้เมื่อไหร่โอกาสขึ้นญาณสูงก็เกิดขึ้น มีแต่จิตที่ทำหน้าที่รับรู้ไม่มีเราเป็นผู้รับรู้ มีแต่รูปกับนามที่ทำหน้าที่เท่านั้น ขณะกำหนดเสียง เสียงเป็นรูปความรู้สึกเป็นนาม นามทำหน้าที่รับรู้เสียงไม่มีเราเป็นผู้รับรู้ มีแต่รูป-นามเท่านั้น รูปเกิดขึ้นนามทำหน้าที่รับรู้แค่นั้นเอง นี่คือสภาวะ นี่คือธรรมชาติของรูป-นาม พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี่คือภาวะความเป็นอนัตตา สภาวะเหล่านี้ถ้าพูดออกมาสื่อออกมาได้จะดีมากๆ เมื่อตัวตนดับไปไม่มีเราแล้วเหลืออะไร ก็เหลือแต่รูปกับนาม เสียงเป็นรูปความรู้สึกเป็นนาม

ขณะกำหนดเวทนาให้ขยายความรู้สึกให้กว้างกว่าเวทนา แล้วจับที่ความรู้สึกที่รู้ในเวทนาเพียงอย่างเดียว แค่รู้สึกนะ เมื่อมีอาการกระทบแล้วให้ปล่อยอาการนั้นผ่านรูป (ตัว) กระทบแล้วปล่อยให้ผ่านรูปๆ ให้สังเกตดูว่าขณะที่ผ่านรูป (ตัว) อารมณ์นั้นผ่านในลักษณะอย่างไร ผ่านแบบแผ่วเบา ผ่านแบบวูบหาย ผ่านแบบเลือนหาย หรือจะสังเกตตรงจุดกระทบก็ได้ กระทบแล้วมีอาการเป็นอย่างนี้ๆ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น อย่างนี้เรียกว่ากำหนดดูอาการ ขณะที่รูปมีเวทนาจิตจะเป็นอุเบกขา รูปมีอาการแปรปรวนไม่มีใครเบิกบานได้หรอก แค่อุเบกขามีแต่อาการเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าพิเศษแล้ว ธรรมชาติของจิตต้องทำหน้าที่รับรู้ ถ้าปรุงแต่งเป็นอกุศลก็เกิดกิเลสเกิดความทุกข์ขึ้นมาถ้าปรุงแต่งเป็นกุศลก็เกิดสุข ขณะที่เกิดภาวะกดดันให้สังเกตดูว่า อารมณ์ข้างนอกกดดันความรู้สึกใช่มั้ย ลองให้อารมณ์นั้นผ่านรูปไปจะรู้สึกอย่างไร ให้พิจารณาสังเกตดูความกดดันที่อยู่ข้างหน้า มีอาการผลักเข้ามาทำให้อึดอัดใช่มั้ย พอรู้สึกอึดอัด 1. ให้ความกดดันนั้นผ่านรูปเราไปเลย 2. ขยายความกดดันให้กว้างออกแล้วให้เลยไปข้างหลัง สังเกตดูว่าผ่านได้มั้ย ผ่านได้ใช่มั้ย ที่ว่าผ่านรูปความรู้สึกต้องกว้าง บาง หรือเบา อย่างใดอย่างหนึ่งถึงจะผ่านได้ ต้องทำความรู้สึกให้ว่างด้วยการปล่อยความรู้สึกให้กว้างออก ให้แรงกดดันผ่านรูปไปอาการนั้นก็จะหายไป อารมณ์บัญญัติ (ความเป็นกลุ่มก้อน) เป็นเหตุให้เรารู้สึกกดดัน ความกดดันเกิดจากมีตัวตน เมื่อต้องการดับความกดดันให้ใช้วิธีดับตัวตนก็ได้ เมื่อตัวตนหมดไปความกดันจะหายไปด้วย เหตุหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติช้านั้น เกิดจากไม่ได้เอาวิธีที่สอนไปใช้ต่อ ไม่ได้ทำต่อเนื่อง เช่นบอกให้เอาความรู้สึกมุ่งเข้าไปกำหนดที่อาการ มุ่งทีเดียวแล้วก็หยุดไม่ได้กำหนดต่อ บางครั้งพอมีอาการอื่นเกิดขึ้นมุ่งครั้งเดียวแล้วก็หยุด มุ่งเฉพาะอาการที่บอกอาการเดียว พอบอกให้เอาความรู้สึกเกาะติดอาการ เกาะได้ชั่ววันหนึ่งพอวันต่อไปไม่ทำต่อแล้ว ไม่ได้เกาะอาการอีกไม่กำหนดต่อ ตรงนี้แหละ บางทีพอไม่เกาะก็ถอยกลับมา พอเกาะก็จะดีขึ้น พอเกาะไม่ได้ก็ไม่พยายามที่จะเอาความรู้สึก เข้าไปเกาะอาการนั้นให้ได้ พยายามหาอาการหาอารมณ์ใหม่ ความใสของสติก็เลยมีอาการขึ้นๆลงๆ สภาวญาณก็เลยไม่ก้าวหน้า ญาณหมายถึงปัญญา ที่สามารถเข้าไปเห็นอาการพระไตรลักษณ์ในขณะนั้น เห็นอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอารมณ์นั้นในขณะนั้น

เมื่อขยายความรู้สึกให้กว้างกว่ารูปจิตจะมีกำลัง พอจิตมีกำลังให้เอากำลังนั้นไปใช้ประโยชน์ ด้วยการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์หลักอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเดิน เสียงที่ได้ยิน อาการของลมหายใจ อาการพอง-ยุบ หรือว่าอาการเกิด-ดับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ยกจิตเข้าไปเกาะติดกับอาการเกิด-ดับที่ปรากฏขึ้นมา ต้องเข้าใจนะว่า ต้องอาศัยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งของ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ความเย็น ร้อนอ่อน แข็ง หย่อน ตึง) ความรู้สึก หรือธัมมารมณ์ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดแล้ว อยู่ๆก็เกิดแล้ว อย่างนี้ไม่ดีต้องรู้ว่าเป็นอาการเกิด-ดับของอารมณ์อะไร กำหนดอารมณ์อะไรอยู่อาการเกิด-ดับจึงได้ปรากฏขึ้นมา บางคนกำหนดอารมณ์หลักไม่ชัดเจน พอหายปุ๊บจะกำหนดต่อไม่รู้จะกำหนดอะไรต่อ เพราะไม่มีอารมณ์หลักที่ชัดเจนแน่นอน กำหนดอารมณ์อยู่ มีเสียงปรากฏชัดขึ้นมาในความว่าง จะต้องกำหนดเสียงที่อยู่ในความว่างนั้นทันที เมื่อมีอาการเกิด-ดับเกิดขึ้น ก็สามารถรู้ได้ในทันทีว่าเป็นอาการเกิด-ดับของเสียง บางครั้งขณะกำหนดนั่งอยู่จะมีอาการคล้ายชีพจรเต้นตุ้บๆไม่มีรูป แต่รู้สึกได้ถึงอาการเต้นนั้น นั่นเป็นอาการของรูปละเอียด ให้เอาความรู้สึกเข้าไปเกาะติดกับอาการเต้น แล้วให้พิจารณาอาการเต้นนั้นมีอาการอย่างไร เต้นสม่ำเสมอ เดี๋ยวช้าเดี๋ยวเร็วไม่แน่นอน อาการเต้นยิ่งกำหนดยิ่งชัดยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือยิ่งกำหนดยิ่งละเอียดยิ่งเล็ก เป็นอาการเล็กลงเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องคงที่ เป็นอาการเล็กลงที่ไม่คงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ขณะที่กำลังกำหนดพิจารณาอาการเหล่านี้อยู่ ถ้าหากมีอารมณ์จรแทรกเข้ามา ให้ไปกำหนดอารมณ์จรก่อน ถ้าหากอารมณ์จรนั้นหมดไปก็ให้หลับมากำหนดอาการเต้นต่อ วิปัสสนาต้องอาศัยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในการเจริญสติ เพื่อให้เข้าถึงแก่นของอารมณ์นั้นๆ เข้าถึงความไม่มีตัวตนในทุกๆอารมณ์ทุกๆอาการ เพื่อยุติความสงสัยในรูป-นามขันธ์๕ ด้วยตนเอง เป็นการยุติที่ไม่ได้เกิดจากการฟัง การคิด หรือจากความเชื่อ เป็นการยุติที่เกิดจากการปฏิบัติ รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง

ขณะกำหนดเกิดอาการยิบๆข้างนอก เป็นอาการของรูปละเอียด ที่รู้สึกว่าอยู่ข้างนอกเกิดจากไม่มีตัวตน ไม่มีเรา เราต้องรู้ว่าอาการนี้เป็นอาการของรูปอะไร อย่างขณะที่เรากำหนดอาการนั่ง เราจะเห็นว่าอาการนั่งเป็นกลุ่มก้อนมีรูปร่าง รูปนั่งกับความรู้สึกเป็นคนละส่วน มีความรู้สึกว่ารูปนั่งที่ถูกกำหนดรู้ไม่ใช่ตัวเรา ส่วนความรู้สึกขณะนั้นยังเป็นเราอยู่ พอเป็นอย่างนี้จะต้องทำลายความรู้สึกที่ยังรู้ว่าเป็นเรา ให้เอาความรู้สึกเข้าไปในความรู้สึกที่เป็นเรา ความรู้สึกที่เป็นเราจะหายไป เหลือแต่ความรู้สึกล้วนๆ เป็นความรู้สึกที่ทำหน้าที่รับรู้เท่านั้น รูปตัวก็ไม่ใช่เรา นามหรือความรู้สึกก็่ไม่บอกว่าเป็นเราหรือเป็นใคร นามมีหน้าที่รับรู้เพียงอย่างเดียว ต้องสังเกต ต้องกำหนดทุกขั้นตอนนะ ทำอย่างนี้สติจะไม่หลุดจากอารมณ์ปัจจุบัน กำหนดต่อไปรูปนั่งที่เป็นกลุ่มก้อนชัดเจน จะบางลงๆ ยิ่งกำหนดยิ่งบาง จากที่มีรูปร่างมีหน้าตาก็เริ่มเลือน กำหนดต่อไปอีกตรงนี้สำคัญนะ รูปมีความบางมากขึ้นหน้าตาก็ค่อยๆหายไป พอกำหนดไม่ทันปัจจุบันหน้าตาก็แวบขึ้นมาให้เห็นอีก พอกำหนดได้ปัจจุบันหน้าตาก็หายไปอีก พอสติอ่อนมากๆ หน้าตา รูปร่างก็เป็นผืนเดียวกัน เห็นชัดว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร พอสติอ่อนลงมาอีกก็รู้เลยว่านั่นคือเรา พอสติมีกำลังมากขึ้นก็เห็นแวบๆส่วนนั้นส่วนนี้อีก เห็นปุ๊บหายๆ แค่รู้ว่าเป็นตาแต่ยังไม่บอกว่าเป็นตาของใคร แค่รู้ว่าเห็นยังไม่บอกว่าเห็นอะไรก็แวบหาย ถ้านึกก็ยังนึกออกว่าเป็นอะไรหรือเป็นใคร บางครั้งเห็นตาแวบขึ้นมานิดนึงแล้วแวบหายไปอย่างรวดเร็ว อาการที่รู้ถึงส่วนนั้นส่วนนี้จากที่เกิดบ่อยก็ค่อยๆน้อยลงๆ เป็นอาการน้อยลงที่อยู่นิ่งๆ หลังแวบหมดจะมีอาการนิ่งๆ สลับอยู่อย่างนี้จนกว่าสติจะมีความใสมากขึ้น รูปที่นิ่งก็เริ่มมีอาการยิบๆ นี่คือการเข้าไปรู้ เข้าไปเห็นถึงธรรมชาติของรูป ต้องรู้ให้ละเอียดอย่างนี้จึงจะเรียกว่ากำหนดต่อเนื่อง


บางครั้งเรานั่งหลับตาปุ๊บเหมือนกับรูปเรากว้างออกใหญ่ขึ้น อาการนี้จะเกิดขึ้นได้ความรู้สึกของเราต้องอยู่ข้างในหรืออยู่หลังรูป (รูป) รู้สึกมั้ยว่ารูปเราใหญ่ไม่ใช่หนานะ พอไม่มีตัวตนไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเรา อาการยิบๆ เกิดขึ้นจึงรู้สึกว่าอยู่ข้างนอก อาการยิบๆ เป็นอาการของรูปละเอียด (ตัว) เราต้องรู้ว่าจิตเราอยู่ในรูปหรือว่านอกรูป รู้สึกมั้ยว่าอยู่หลังรูปบัญญติ (รูปตัว) แต่ขณะเดียวกันเหมือนกับอยู่ข้างในรูปละเอียด ทำไมจึงรู้ว่าอาการยิบๆ ที่เกิดขึ้นในความว่างที่เราเห็น เป็นอาการของรูปอะไร เกิดจากเรามีสติกำหนดต่อเนื่อง เห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปเป็นขั้นเป็นตอน เกิดความมั่นใจเราจึงบอกได้ว่าเป็นอาการของอาการอะไร อาการยิบๆเป็นอาการเปลี่ยนแปลงของรูปที่กำลังกำหนดอยู่ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นๆ ต้องรู้ด้วยนะ อาการยิบๆเป็นอาการของรูปไม่ใช่นาม (ความรู้สึก) ถ้าเป็นความรู้สึกจะไม่มีอาการยิบๆหรอก ความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นหนึ่งครั้ง (จิตหนึ่งดวง) จะดับครั้งเดียว อาการยิบๆเป็นอาการแตกกระจายของรูปบัญญัติ นามแตกกระจายไม่ได้มีแต่ดับอย่างเดียว สังเกตดูนะ จับที่ความรู้สึกที่ทำหน้าที่รับรู้เสียง ความรู้สึกที่ทำหน้าที่รับรู้มีอาการแตกกระจายมั้ย เมื่อสังเกตจะเห็นว่า ที่แตกกระจายนั้นเป็นรูปไม่ใช่ความรู้สึก ที่บอกว่าเป็นรูปเพราะอาการแตกกระจายรับรู้ไม่ได้ ความรู้สึกรับรู้ได้ รับรู้ทีเดียวแล้วก็หมด ความรู้สึกจึงไม่แตกกระจาย คำว่าแตกกระจายกับขยายกว้างออกก็ไม่เหมือนกันนะ แตกกระจายจะไม่เป็นกลุ่มก้อนรูปร่าง ขยายกว้างไม่มีอาการยิบๆ อาการยิบๆ เกิดจากรูปไม่รวมตัว ขยายกว้างออกเกิดจากการรวมตัวของรูป ขณะที่มีอาการยิบๆแตกกระจายออก ความรู้สึกที่รับรู้จะรับรู้ถึงอาการแตกกระจาย แต่ความรู้สึกไม่แตกกระจาย แตกกระจายเป็นพรุเป็นอาการของรูปไม่ใช่ความรู้สึก แตกเป็นเหมือนเม็ดฝนระยิบระยับไปหมดเป็นอาการของรูป แตกออกเป็นเสี่ยงๆเป็นอาการของรูป พุ่งขึ้นมาแล้ววูบหายไปเป็นอาการของรูป แตกเป็นหย่อมๆเป็นอาการของรูป อาการไหวๆ เป็นอาการของรูป ไหวในลักษณะเป็นเงาๆเป็นอาการของรูป ไหวแบบรู้บ้างไม่รู้บ้างเป็นอาการของนาม (ความรู้สึก) รู้แบบหายๆเป็นอาการของนาม ถ้าเอาความรู้สึกเข้าไปเกาะติดกับอาการก็จะเห็นชัดขึ้น ให้เกาะติดอาการด้วยการจับที่ความรู้สึกที่รู้ถึงอาการไหวๆ อาการไหวๆจะค่อยๆลดน้อยลง ให้จับความรู้สึกที่รู้ถึงอาการค่อยๆลดน้อยลงนั้นต่อ จากนั้นก็จะมีอาการคล้ายเป็นแผ่นใสๆแยกส่วนออกแล้วหายไปๆ อันนี้เป็นอาการของรูปนะไม่ใช่ความรู้สึก ถ้ามีอาการแยกเป็นชั้นรูปร่างชัดเจนนั่นเป็นบัญญัติ

ขณะที่เห็นอาการเกิด-ดับเราต้องบอกได้นะ ว่าเป็นอาการเกิด-ดับของรูปหรือของนาม ถามว่าเป็นอาการเกิด-ดับของอารมณ์อะไรต้องบอกได้ เมื่อไหร่ที่อารมณ์หรือความรู้สึกหดสั้นลง ก็จะอยู่ใกล้ตัวเข้ามา ใกล้ตัวเข้ามา ต่อมาอารมณ์นั้นก็จะอยู่เฉพาะหน้าจริงๆ อารมณ์ต่างๆจะเกิดอยู่เฉพาะหน้าให้เรากำหนด ไม่ต้องไล่ตามหรือหาอารมณ์อีกต่อไป อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ชัดขึ้นๆ เป็นอาการปรมัตถ์ เกิดอยู่ข้างหน้าแล้วก็ดับอยู่ข้างหน้า เป็นอาการเกิด-ดับพร้อมกันของรูปของนาม รูปละเอียดหมายถึงรูปที่ไม่มีรูปร่างเรียกรูปนี้ว่ารูปปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ไม่มีรูปร่างจะมีแต่อาการเท่านั้น บอกได้แต่อาการอย่างเดียว เช่นมีอาการไหวๆ มีอาการกระเพื่อมๆ มีอาการหมอกๆ มีอาการระยิบระยับ มีอาการเลือนๆคล้ายจะบอกได้แต่ก็สรุปไม่ได้ มีอาการเหมือนใช่แต่ก็ไม่ใช่ สื่อออกมาได้ยากเพราะไม่ชัดเหมือนบัญญัติ มีอาการคล้ายจะคิดแต่ก็บอกไม่ได้ว่าคิด มีอาการคล้ายจะมีแต่ก็ไม่มี คล้ายๆจะเป็นสีนี้แต่ก็ไม่ชัด คล้ายจะเป็นสีเขียวแต่ก็ไม่แน่ใจ คล้ายจะเป็นสิ่งนั้น คล้ายจะเป็นสิ่งนี้ ล้วนแล้วแต่ให้ความรู้สึกไม่มั่นใจไม่แน่ใจ ไม่กล้าสรุปว่าใช่สิ่งนี้หรือใช่สิ่งนั้น เป็นความรู้สึกที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เมื่อมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ให้กำหนดรู้อยู่ในความรู้สึกเท่านั้น ไม่ต้องไปกังวลว่าสิ่งที่กำหนดรู้อยู่นั้นเป็นอะไร คืออะไร เรียกว่าอะไร เพราะขณะที่กังวลอยู่ หรือต้องการเห็นให้ชัด รู้ให้ชัด ก็จะกำหนดรู้ไม่ทันขณะแรกของอารมณ์ เพราะอารมณ์ปรมัตถ์จะเลือนหายเร็วกว่าบัญญัติ เมื่อเป็นอย่างนี้จึงทำให้เรากำหนดลำบาก เพราะต้องพบกับอารมณ์ที่ไม่ชัดแล้วยังเลือนหายเร็วกว่าเมื่อก่อนอีก อย่างที่บอกจึงต้องจับที่ความรู้สึก การจับที่ความรู้สึกที่รู้ถึงอาการนั้นจะช่วยให้การกำหนดได้ปัจจุบันมากขึ้น การที่จะถึงเป้าหมาย ถึงจุดสุดยอดของวิปัสสนาได้นั้น ต้องอาศัยขณะแรกของอารมณ์ปรมัตถ์เท่านั้น เมื่อเกิดอาการลังเล สงสัย หรือมีความอยากเข้าไปเกี่ยวข้อง ปรมัตถ์ก็จะตกสู่บัญญัติทันทีไม่มีระหว่างคั่น เพราะอาการนี้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก จากที่ไม่มีตัวตนก็จะมีตัวตนขึ้นมาในทันทีอย่างไม่รู้ตัว ขอให้ทำความเข้าตรงนี้นะ เพราะมีประโยชน์มาก

ความรู้สึกเราบางครั้งเหมือนรอให้อาการต่างๆเกิด ถ้ามีอาการนิ่งรอจะต้องจับที่ความรู้สึกเราที่นิ่งรอ ขณะนิ่งรอตัวตนก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อต้องการดับตัวตนจึงต้องจับความรู้สึกที่นิ่งรอ นิ่งรอในความว่างก็ต้องจับอาการนิ่งรอในความว่าง นิ่งรอว่าอะไรจะเกิดในความว่าง อะไรจะเกิดนั้นเป็นอาการจ้องแล้ว ตัวตนเกิดแล้ว จึงต้องไปจับที่อาการจ้องว่าอะไรจะเกิดในความว่าง รู้ว่าจ้อง รู้ว่ารอ รู้ว่าคอย ตรงนี้ยังอยู่ใกล้ตัวตนมาก ต้องระวัง เพราะเผลอนิดเดียวตัวตนเกิดแล้วๆ จะต้องเข้าไปจับหรือเกาะติดอาการอีกทีหนึ่ง ไม่ว่าอาการหรืออารมณ์อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ต้องมีสติเข้าไปเกาะติดกับอาการนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาการของรูป ของนาม ชัดหรือไม่ชัดก็ตาม ต้องเกาะติด ต้องกำหนดให้หมด แค่รู้อย่างเดียวสภาวะไม่ก้าวหน้า อย่างมากก็แยกรูปแยกนาม (ไม่มีตัวตน) อย่างสูงก็ได้แค่ญาณที่ 3 ขณะที่เรานิ่งและจับที่ความรู้สึกที่นิ่งรอนี่ จิตจะมีพลังมีกำลัง แต่ถ้ารอไปเรื่อยๆเฉื่อยๆไม่มีความตื่นตัวอันนั้นน่ะไม่ดี ต้องนิ่งแล้วรู้ชัดว่าขณะนี้เรานิ่งสังเกตอะไร ขณะที่กำลังสังเกตให้จับที่อาการสังเกตว่า มีการเปลี่ยนแปลงหรือนิ่งสังเกตเฉยๆ อาการสังเกตมีการเปลี่ยนแปลง แล้วตัวที่ทำหน้าที่จับสังเกตมีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ต้องรู้ เข้าใจนะ ในความว่างสภาวะว่างจะว่างได้ไม่นาน แล้วก็ต้องมีสภาวะใหม่เกิดขึ้นมาอีก ต้องมีเกิดใหม่แน่นอน อาจจะเป็นความคิดของเรา ขณะรอคิดอะไรหรือเปล่า คิดหาสภาวะหรือเปล่า ถ้ามีในขณะรอให้จับอาการรอ ขณะคิดให้จับอาการคิด ขณะมองหาสภาวะให้จับอาการมองหา เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นความว่างก็ไม่ว่างแล้ว ว่างในที่นี้หมายถึงว่างจากสภาวะ ว่างไม่มีตัวตนกับว่างจากสภาวะไม่เหมือนกันนะ ตรงนี้ต้องเข้าใจนะ ขณะกำหนดให้สังเกตว่าแต่ละอาการที่เอาความรู้สึก ไปจับหรือเกาะติดมีอาการอย่างไร ให้จับที่ความรู้สึก ความจริงไม่ซับซ้อน พอพูดมากขึ้นอธิบายมากขึ้นจะรู้สึกว่าหลายชั้นขึ้น พออธิบายละเอียดแล้ว ก็จะจับอะไรไม่ถูก ก็จะเลือกสิ่งที่คิดว่าเราน่าจะทำได้ และให้ผลดี เลือกจะทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ เลือกเองหมด พอเลือกเองหมดบางทีมันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องการปฏิบัติก็เลยช้า สภาวะก็เลยขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวได้ปัจจุบัน เดี๋ยวไม่ได้ปัจจุบัน เดี๋ยวท้อแท้ เดี๋ยวเบื่อหน่าย เดี๋ยวมีตัวตน เดี๋ยวไม่มีตัวตน เดี๋ยวว่าง เดี๋ยวไม่ว่าง เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติจึงสำคัญมากๆ

ฟังเฉยๆกับการฟังด้วยการกำหนดรู้นั้นต่างกัน ถ้าเราฟังด้วยการกำหนดรู้จะมีความเข้าใจในธรรมชาติของรูป-นาม เข้าใจถึงอาการไม่เที่ยงของรูป-นาม ทั้งเห็นทั้งรู้สึกชัดว่าลักษณะอย่างนี้ๆเกิดจากความไม่เที่ยง เกิดจากบังคับไม่ได้ เกิดจากตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นความเข้าใจที่ไม่ใช่เกิดจากความคิดเรา แต่เป็นความเข้าใจที่เกิดจากการปฏิบัติของเรา เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างบังคับไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจก็มีกำลังใจกำลังใจที่รู้ว่ามาถูกทางแล้ว เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้โอกาสที่สภาวญาณก็ก้าวหน้าก็มี ถ้ารู้ว่าแค่ฟังเฉยๆสภาวก็จะเป็นพื้นๆ ธรรมดา แค่แยกรูป-นามธรรมดา เห็นชัดเกิดในที่ว่างแต่ไม่เห็นอาการพระไตรลักษณ์ ไม่เห็นอาการเปลี่ยนแปลงเกิด-ดับของอารมณ์ เป็นอาการเห็นแค่แยกรูป-นาม เวลาเล่าสภาวะต้องเล่าตั้งแต่มีเจตนาที่จะกำหนดอารมณ์อะไร เป็นต้นว่าต้องการกำหนดเสียง ขณะที่ได้ยินเสียงเอาความรู้สึกเกาะติดเสียงที่ได้ยิน ขณะที่กำหนดด้วยการเกาะติดอาการ ก็จะรู้ว่าสภาวะมันเป็นอย่างนี้ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ๆ สภาวะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ให้เล่าถึงการเปลียนแปลงของสภาวะในขณะนั้น ไม่ต้องไปกังวลว่าจะเล่าถูกหรือผิด ให้เล่าตามอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างเดียวไม่ต้องกังวล ขณะฟังเสียงให้จับที่ความรู้สึกที่ได้ยิน จะเห็นว่าการได้ยินนั้นต้องอาศัยใจด้วย การได้ยินนั้นไม่ได้เกิดจากหูอย่างเดียว ถ้าไม่มีใจการได้ยินของเราก็ไม่เกิด มีใจแต่ไม่ใส่ใจดูจิตในจิตของเราเอง ก็ไม่เห็นอาการพระไตรลักษณ์ จิตเป็นผู้ได้ยินเสียง เมื่อต้องการเห็นอาการพระไตรลักษณ์ของเสียง จึงต้องจับที่ความรู้สึกที่ได้ยิน ไม่ใช่จับที่เสียงอย่างเดียว ถ้าเราจับที่เสียงอาการพระไตรลักษณ์เกิดช้า ให้เราจับที่ความรู้สึกที่ได้ยิน จะเห็นอาการพระไตรลักษณ์ได้เร็วกว่า นี่คือประโยชน์ของการพิจารณา ของการกำหนดอารมณ์ปัจจุบัน จะเห็นลักษณะการเกิด-ดับของเสียง มีลักษณะวูบดับไปนิดหนึ่ง แล้วก็วูบดับไปอีก

บางครั้งจับเสียงแล้วมีอาการโล่งไม่เห็นอะไร เกิดจากกำลังไม่ถึงกำลังไม่พอก็จะไม่เห็น จึงบอกว่าอย่าหา นี่แหละพอหาอย่างนั้นปุ๊บคอยจ้อง พอจ้องมีตัวตนกำลังไม่พอ เพราะฉะนั้นจึงให้เกาะติดแล้วสังเกต ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ขณะต่อไปเป็นอย่างไร บางคนกำลังสติมีเท่าเดิมกำหนดเมื่อไหร่ก็จะเห็นอย่างนั้น จึงเน้นกำหนดให้ได้ปัจจุบัน ให้ทันขณะแรกให้ได้มากที่สุด เมื่อกำหนดทันขณะแรกของอารมณ์ปัจจุบันได้มากขึ้น สติก็จะมีกำลังมากขึ้นด้วย อารมณ์ต่างๆจะเกิดขึ้นมาให้เราได้เห็นได้กำหนดต่ออีก เราก็จะบอกได้เองไม่ต้องไปหาหรอก เห็นมั้ยภาพคมชัดกับภาพเบลอต้องมีคนบอกมั้ย พอเห็นปุ๊บเราจะรู้สึกเลยว่า เออ ! ภาพนี้ใสนะ คมชัดนะ ลายเส้นคมชัด ขอบคมชัดเราบอกได้เอง ภาพนี้มันเบลอๆเราก็บอกได้รู้ได้เอง ก็เหมือนอาการเกิด-ดับเหมือนกัน เห็นเกิด-ดับเป็นแบบนี้ ดับแบบเฉียบขาด เด็ดขาด ดับอย่างพลุ ต้องมีใครบอกมั้ยว่าดับแบบไหน เห็นแล้วจะรู้ได้เลยว่ามีลักษณะอย่างน อันนี้พุ่งขึ้นๆๆ ไม่เห็นดับมีแต่พุ่งขึ้นอย่างเดียว อันนี้ดับแบแตกกระจายขึ้นข้างบน อันนี้แตกแล้วก็กระจายออก เราบอกได้เพราะเราเห็นเอง ลักษณะอาการต่างๆก็เหมือนกัน ให้เล่าตามที่เห็นนั้นเลย เห็นลักษณะอาการแตกต่างกันเกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง อาจจะเกิดจาก 1. สมาธิ 2. สติ 3. ความเพียร 4. การพิจารณา มีกำลังต่างกันไม่เท่ากัน คนที่มีการพิจารณาที่ละเอียดอ่อน ก็จะเห็นรอยต่อของอาการนั้น พอสิ่งนี้ดับปุ๊บช่องว่างตรงนี้เป็นอย่างนี้ อาการใหม่เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้จะต่อเนื่องไป จะต้องเห็นช่องว่างระหว่างญาณ รอยต่อของญาณ ไม่ใช่ช่องว่างระหว่างอารมณ์อย่างเดียง ช่องว่างระหว่างอารมณ์พวกเราเห็นอยู่แล้ว ยังไงก็เห็นถ้าไม่เห็นสภาวญาณไม่ก้าวหน้า ช่องว่างระหว่างญาณนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การกำหนดในขณะนั้นต้องต่อเนื่องได้ปัจจุบันจริงๆ

ที่ปฏิบัติช้าเพราะไม่สามารถวางตำแหน่งของสติได้ ได้แต่ตามกำหนดรู้ตามดูอาการของรูปไปเรื่อย ดูแต่อาการของรูปอย่างเดียว ไม่สามารถเอาความรู้สึกเข้าไปเกาะติดในอาการได้ อาการในที่นี้หมายถึงอาการที่เกิดอยู่ในความรู้สึก อย่างเช่นขณะที่เคลื่อนไหวมือ ก็เอาจิตตามดูอาการเคลื่อนนั้นไป จะต้องเข้าไปเกาะติดอาการเคลื่อนที่ปรากฏอยู่ในความรู้สึกอีกทีหนึ่ง จะช่วยให้ญาณสูงเกิดเร็วขึ้น พอไปเกาะติดอาการที่เกิดอยู่ในความรู้สึก รูปมือจะหายไปเหลือแต่อาการ พอรูปมือหายไปอาการระยิบๆ ปรากฏขึ้นมา เริ่มเข้าสู่ญาณสูงขึ้นแล้ว เป็นลักษณะฆนบัญญัติแตก พอมีอาการยิบๆเกิดขึ้นให้สังเกตอาการยิบๆ กำหนดอาการยิบๆ ที่เกิดอยู่ในความรู้สึก ถ้าเราไปไล่ตามอาการ ไล่ยังไงก็ไม่ทันหรอก ขณะกำหนดไม่ต้องไปพยายามดูอาการยิบว่ามีรูปร่างอย่างไร เราต้องมีเจตนาที่จะกำหนดอาการขณะที่เคลื่อนด้วย สังเกตอาการเคลื่อนว่ามีลักษณะการเคลื่อนเป็นอย่างไร มีอาการต่อเนื่องหรือเป็นขณะๆ ต้องมีเจตนาที่ลึกซึ้งเข้าไปอีก ขณะเคลื่อนมีอาการเกิด-ดับๆ หรือว่าเป็นเส้นๆ ขาดเป็นช่วงๆ เคลื่อนแบบบางๆ ไหวๆ ตรงนี้ต้องสังเกตต้องพิจารณา ไม่ใช่รู้ว่าไป รู้ว่าเคลื่อนอย่างเดียว แค่รู้ว่าไปเป็นบัญญัติอย่างเดียว จะต้องมีเจตนาที่จะเข้าไปสังเกตว่าขณะไปมีอาการอย่างไร ขณะเคลื่อนไหวมีอาการเป็นอย่างไร ต้องมีความสังเกตอย่างนี้จึงจะเข้าถึงปรมัตถ์ได้

เมื่อถูกความคิดรบกวนตลอดเวลา เห็นแต่ความต่อเนื่องของความคิดตั้งอยู่ตลอดเวลา เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าความคิดนั้นไม่มีการดับ ลองดูนะ วิธีพิสูจน์ความคิด ลองคิดถึงเรื่องอะไรก็ได้ครั้งเดียว ครั้งเดียวนะ แล้วบังคับให้ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นตั้งอยู่สัก10นาที ตั้งอยู่ได้หรือเปล่า ถ้าสังเกตจะเห็นว่าตั้งอยู่ไม่ได้มีอาการแวบไป ต้องคิดซ้ำ ต้องคิดใหม่ใช่มั้ย บังคับไม่ได้ นี่คืออนัตตา นี่คือความไม่เที่ยงของความคิด ถ้าความคิดเข้ามาเยอะให้ใช้วิธีสังเกตอย่างนี้ อันนี้เข้ามาดับอย่างนี้ อันนั้นเข้ามาดับอย่างนี้ เราจะเห็นความคิดแยกเป็นคนละส่วนจากที่เห็นว่าความคิดติดกันเป็นพืดแยกส่วนไม่ได้ ก็จะเห็นเป็นคนละส่วน เมื่อจับที่ความรู้สึกที่คิดต่อไปอีก จะเห็นว่าความคิดครั้งแรกกับความคิดครั้งหลัง มีช่องว่างแยกเป็นคนละส่วนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปก็จะเห็นมากขึ้นไปอีกว่า แม้ความรู้สึกที่รับรู้ถึงความคิดนั้นก็เป็นคนละส่วนกัน ใจที่รับรู้ถึงความคิดกับอาการคิดเกิด-ดับพร้อมกัน ความคิดที่เกิดขึ้นไม่มีตัวตนเป็นผู้คิด แต่ถ้ามีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้คิดเมื่อไหร่จะปรุงแต่ไปเรื่อย มันก็เลยไม่ดับซักที เพราะไม่เห็นรอยต่อของความคิด ไม่เห็นรอยต่อของมโนภาพที่เกิดขึ้น ที่ไม่เห็นอาการเกิด-ดับของความคิดเพราะไม่รู้วิธีกำหนด ไม่รู้วิธีเจริญสติ ไม่ได้จับที่ความรู้สึกที่รู้ว่าคิดจึงไม่เห็นอาการเกิด-ดับ เห็นแต่ความคิดต่างๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ความคิดเก่ายังไม่หมดความคิดใหม่ก็เกิดขึ้น อันเก่ายังไม่ทันหมดอันใหม่เกิดต่อทันที เราไม่เห็นอาการดับเห็นแต่อาการเกิดอย่างเดียว

ตรงนี้เรียกว่าเห็นแต่อาการตั้งอยู่ ภพชาติ กิเลส หรือความทุกข์ต่างๆ อาศัยความตั้งอยู่ของความคิดเกิด ความคิดมันจึงยาวเพราะเห็นแต่ความต่อเนื่องของความคิด ถ้าเราเห็นเราเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับ เราก็จะอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันอย่างเดียว เมื่ออยู่กับปัจจุบันก็จะไม่มีการปรุงแต่ง เห็นแต่ธรรมชาติของจิตที่คิดเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ ไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับความคิดนั้น เมื่อไม่ถูกปรุงแต่งด้วยกิเลสจิตก็ไม่เศร้าหมอง ถ้าถูกกิเลสปรุงแต่งเมื่อไรจิตเศร้าหมองก็เกิด แต่ถ้าเรารู้ว่าคิดไม่ดีเกิดขึ้นรู้แล้วรีบเอาสติเข้าไปดับเดี๋ยวก็หยุด

ธรรมะในแต่ละขณะถ้าเข้าถึงแล้วจะทำให้สภาพจิตเปลี่ยน สภาวะเปลี่ยน รูปเปลี่ยน อาการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สภาวะที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวบอกว่ากำหนดได้ปัจจุบันมั้ย เข้าถึงสภาวะนั้นจริงมั้ย กำหนดไล่ตามสภาวะแล้วมีแต่อาการหายไปๆไม่ดับ ที่ไม่ดับนั้นเกิดจากตัวไล่ (สติ) ไม่ดับ ให้จับตัวความรู้สึก(สติ)เอง เพราะความรู้สึกเป็นตัวไล่ ให้สังเกตว่าขณะแรกหายอย่างนี้ ขณะต่อไปหายอย่างไร ไม่ใช่รู้แค่ว่าหายอย่างเดียว ให้เพิ่มความนิ่งความสงบให้มากขึ้น ถ้าเราเพิ่มความนิ่ง (สมาธิ) ให้มากขึ้น อาการต่างๆจะปรากฏชัดขึ้นมาไม่ต้องไปหา เมื่อความรู้สึกเข้าถึงอาการ อาการก็ดับความรู้สึกดับๆพร้อมกับอาการ ต้องสังเกตว่าดับในลักษณะอย่างไรต่อไปสภาวะก็จะชัด ถ้าเราไปหาๆยังไงก็ไม่ทัน เพราะขณะที่เราหาความรู้สึกก็จะแยกออกมาทันที ความรู้สึกแยกออกปุ๊บ ความรู้สึกก็เป็นตัวเพ่งอาการทันที เพราะฉะนั้นถ้าอยากเห็นต้องเข้าไปเกาะติดอารมณ์อย่างเดียว เข้าไปที่อาการอย่างเดียว ถ้ามีอาการสะดุดเบาๆก็ให้สังเกตอาการสะดุดเบาๆนั้นอีก อาการสะดุดเบาๆนั้นรู้สึกชัดหรือไม่ชัด ความรู้สึกดับหรือเปล่า ต้องสังเกตอย่างนี้ไม่ใช่ไปจ้องให้มันชัด ให้สังเกตแล้วจะชัดขึ้นเองไปบังคับให้ชัดไม่ได้ สิ่งเหล่านี้บังคับบัญชาไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ทำให้ชัด ก็คือสติและสมาธิของเรามีกำลังแค่ไหน วิธีสังเกตพอเรานิ่งสมาธิเพิ่มขึ้น สติเพิ่มขึ้น ความตื่นตัวมากขึ้น เมื่อทุกอย่างมีกำลังสภาวะก็จะชัดขึ้นเอง เรียกว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่ใช่ไปบังคับ จึงต้องทำเหตุปัจจัยให้ดีขึ้น การทำเหตุปัจจัยให้ดีขึ้นก็คือ การเพิ่มสมาธิ สติให้มีกำลังมากขึ้นเท่านั้นเอง

ขณะที่เห็นอาการดับแต่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง(รูปดับนามไม่ดับ) เกิดจากเข้าไม่ถึงอาการนั้น ได้แค่เห็นจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง การที่จะให้ทันปัจจุบันจริงๆความรู้สึกต้องอยู่ที่เดียวกับอาการ ในขณะที่ความรู้สึกแตะถูกอาการ นั่นเป็นลักษณะอาการที่ทันปัจจุบันจริงๆเข้าถึงจริงๆ เมื่อทำได้ต่อเนื่องสภาวะจะก้าวหน้าเร็ว สิ่งที่ต้องรู้ก็คือว่าขณะนี้เราจะกำหนดอย่างนี้เพื่ออย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเราอยากเห็นอย่างนี้อยากเห็นอย่างนั้น นี่เป็นความอยากแล้วเป็นความอยากที่มีตัวตน ทางสายกลางไม่เกี่ยวกับความอยาก ความชอบหรือไม่ชอบ ไม่เกี่ยวกับความอยากหรือไม่อยาก ถ้าอยากเมื่อไรก็ไปไม่ถึง อยากได้ มรรค ผล นิพพาน อยากได้น่ะเรียกมีเป้าหมายชัดเจน ถ้าอยากก็ต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่นั่งอยากอยู่อย่างนั้นแล้วไม่ทำอะไร พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “เราอาจอาศัยความอยาก เพื่อละความอยากได้” ก็คือถ้าอยากที่จะหลุดพ้นก็ต้องอาศัยความอยาก แล้วก็ปฏิบัติเพื่อที่จะละความอยาก พอปฏิบัติหลุดพ้นแล้วความอยากที่อยากจะหลุดพ้นก็หายไป อยากอย่างอื่นก็หายไปด้วย แม้แต่กระทำความดีก็ไม่ได้อาศัยความอยากของความมีตัวเอง อาศัยเหตุปัจจัยที่ควรทำ พระพุทธเจ้าแสดงความดีให้ประจักษ์ให้เห็น ให้คนแยกแยะออกว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ถ้าต้องการความสุข สงบ สันติแก่ชีวิต ก็จะต้องเลือกทำความดี ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อความสันติสุข เพื่อให้ความดีของตัวเองเจริญยิ่งๆขึ้นไป เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ประกาศว่า “เราแสดงธรรมเพื่อให้คนศรัทธา เราไม่ได้แสดงธรรมเพื่อต้องการสาวก แต่แสดงธรรมเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นพ้นจากทุกข์” เห็นมั้ยพระองค์ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองสักอย่าง พระองค์ทำเพื่อให้สรรพสัตว์ได้พ้นจากความทุกข์ ให้พบกับสันติสุขของชีวิต เป็นศาสนาที่ให้อิสระไม่มีการบังคับแต่มีกรอบชัดเจนว่า ถ้าต้องการความเจริญในธรรมกรอบเป็นอย่างนี้นะ อันไหนให้โทษจะไม่ชี้ทางให้ ถ้าต้องการหลุดพ้นทำอย่างนี้ พระองค์ทรงแสดงความจริงให้ประจักษ์ พระองค์สิ้นสุดแล้วไม่มีแล้วที่จะทำบาป ไม่มีความรู้สึกที่จะเบียดเบียนแล้ว เพราะอะไร เพราะกิเลสความโกรธไม่มีแล้ว จึงไม่มีตัวกระตุ้นให้ทำบาปอีก

คำว่าเอาจิตออกนอกรูป (ตัว) กับปล่อยจิตให้เลื่อนลอยต่างกัน ขณะที่เอาความรู้สึกออกนอกตัวแล้วจับที่ความรู้สึกที่อยู่นอกตัวอีกทีหนึ่ง ตรงนี้เป็นการเอาจิตออกนอกตัวอย่างมีสติสัมปชัญญะ เพราะมีจิตอีกดวง (สติ) ทำหน้าที่ดูอีกทีหนึ่ง หมายถึงว่าเอาจิตออกมาตั้งไว้ข้างหน้าแล้วจับที่จิตที่อยู่ข้างหน้า แล้วสังเกตจิตที่อยู่ข้างหน้าว่าเป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร ซึ่งต่างกับการปล่อยจิตออกนอกตัวไปเรื่อยๆ การปล่อยจิตออกนอกตัวไปเรื่อยๆ นั้น จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปหมด ซึ่งต่างกับการปล่อยจิตออกนอกตัวอย่างมีสติ จิตที่มีสติคอยควบคุมจะไม่เลื่อนลอย จะสังเกตเห็นการทำงานของจิตได้สติต้องใสและคม ขณะที่จิตอยู่นอกตัว (ไม่มีตัวตน) จะเห็นว่าจิตนั้นมีอาการเบา อาการโล่งว่าง เมื่อจิตว่างจากอุปาทานอาการตื่นตัวของจิตจึงเกิดขึ้น เพราะเหตุนี้สติสัมปชัญญะจึงดีมากๆ นี่เป็นการดูจิตในจิตจึงไม่ใช้ปล่อยให้จิตเลื่อนลอย จิตที่คลายอุปาทานสามารถเห็นจิตของตัวเองได้ ใช้งานได้จึงไม่ธรรมดา คนที่ไม่เคยปฏิบัติก็จะเข้าใจผิดเกิดอาการกลัว กลัวว่าเมื่อจิตออกนอกตัวแล้วจะกลับไม่ได้กลัวจิตหลุดไปเลย จิตที่มีสติคอยดูแลรักษาจะไม่หลุดลอย

จิตที่หลุดลอยเกิดจากขาดสติหรือสติอ่อน จริงๆ พอตกใจปุ๊มสติก็มาที่ตัวแล้ว มีใครบ้างพอตกใจแล้วจิตไปอยู่ที่อื่น ถ้าอยู่ที่อื่นจะไม่รู้ถึงอาการตกใจ วันนี้พอก่อนนะ ขอให้มีแต่ความสุขความเจริญ



:b8: :b8: :b8: ที่มา http://www.mtt4.com


แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 17 ก.พ. 2020, 09:19, แก้ไขแล้ว 8 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2016, 08:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สอนการนั่งสมาธิ
วิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่

โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร

การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป้าหมายสำคัญคือ การกำหนดรู้อารมณ์ปัจจุบัน มีสติรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน เพื่อรู้เท่าทันในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และอารมณ์ปัจจุบันที่เราต้องกำหนดรู้ในขณะที่เราปฏิบัตินั้นมีหลายอย่าง อารมณ์หลัก ๆ ก็มีอยู่ ๔ อย่าง อย่างที่เราเข้าใจกันคือ การดูกายในกาย ดูเวทนาในเวทนา ดูจิตในจิต และ ดูธรรมในธรรม อันนี้เป็นอารมณ์หลัก ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งเจริญกรรมฐานอยู่ เพราะฉะนั้น อารมณ์หลักที่เกิดขึ้นนี่ อารมณ์ไหนที่ปรากฏ “ชัด” แก่จิตหรือแก่ความรู้สึกของเรา ตรงนั้นจะเป็น “อารมณ์ปัจจุบัน”

อย่างเช่น เรานั่งหลับตาพิจารณากำหนดรู้อาการพองยุบ หายใจเข้าท้องพองออก หายใจออกท้องยุบลง ถ้าขณะนั้นอาการพองยุบชัด อารมณ์หลักก็คืออาการพองยุบ แต่ถ้าขณะที่เรานั่ง อาการกระเพื่อมไหวที่ท้องไม่ชัด แต่ชัดที่บริเวณอื่น อย่างเช่น ส่วนบริเวณหทยวัตถุมีอาการกระเพื่อมเกิดขึ้น ตรงนั้นล่ะคืออารมณ์หลักที่เราต้องตามกำหนดรู้ ก็คือ “การดูกายในกาย” แล้วอีกอย่างหนึ่ง เวลาเราเจริญกรรมฐานแบบนี้ อีกอารมณ์ก็คือ “เวทนา” เมื่อเรานั่งแล้วมีเวทนาปรากฏขึ้นมา ไม่ว่าจะเกิดเวทนาส่วนไหนของร่างกายก็ตาม ถ้าเวทนาชัดกว่าอาการพองยุบ อารมณ์ปัจจุบันของเราก็คือเวทนา นั่นเป็นอารมณ์ที่เราต้องตามกำหนดรู้

นอกจากเวทนา ก็คือ “ความคิด” ที่ปรากฏขึ้นมา ขณะที่เราเจริญกรรมฐาน พอนั่งไปมีความคิดเยอะแยะมากมาย ลมหายใจหรืออาการพองยุบไม่ชัด เวทนาไม่มี มีแต่ความคิดอย่างเดียว ขณะนั้นความคิดก็คืออารมณ์ปัจจุบัน เขาเรียกว่า “ดูจิตในจิต” แต่คำว่า “จิตในจิต” นี่ หนึ่ง รู้ว่าคิดอะไร ? สอง รู้ว่าสภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร ? รู้สึกสงบ รู้สึกโล่ง รู้สึกโปร่ง รู้สึกเบา รู้สึกว่าง ๆ รู้สึกมีความสุข นั่นคือลักษณะของจิตเช่นกัน

และอีกอย่างหนึ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก แม้แต่ “จิตที่ทำหน้าที่รู้” เองก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดรู้ว่า จิตที่ทำหน้าที่รู้หรือตัวสติที่ทำหน้าที่รู้ เขามีอาการอย่างไร ? มีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดดับหรือไม่ ? อันนี้คือ “การดูจิตในจิต” หนึ่ง รู้ว่าคิดอะไร ? สอง รู้ว่าสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ? สาม แม้แต่จิตที่ทำหน้าที่รู้ เราก็ต้องรู้ว่าเขามีการเกิดดับหรือไม่ ? อันนี้คือละเอียดขึ้น

สี่ ก็คือสภาวะที่บอกว่า “ดูธรรมในธรรม” สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาในขณะที่เราเจริญกรรมฐานนั้นเป็นอย่างไร ? สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาในขณะที่เราเจริญกรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นอาการพองยุบ อาการของเวทนา อาการของความคิด อันนี้คือสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นให้เราได้รับรู้ ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันจริง ๆ หรือมีอาการเกิดดับที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้า มีแล้วหมดไป มีอาการกระเพื่อมไหว มีอาการแตกกระจาย หรือแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นมา ที่เรียกว่า “โอภาส” หรืออาการอื่น ๆ ที่สติเรารับรู้ ตรงนั้นจัดเป็นสภาวธรรมทั้งหมด รวมแล้วสภาวธรรมก็คืออาการของรูปนามนั่นเอง

ทีนี้ ในขณะที่เรากำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน สิ่งที่เราต้องตามรู้คืออะไร ? รู้ถึงอาการพองยุบ รู้ถึงอาการของเวทนา รู้ถึงอาการของความคิด รู้ถึงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และที่เราต้องสนใจกำหนดรู้จริง ๆ ควรจะรู้อะไร ? สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาก็คือ การกำหนดรู้อาการเกิดดับของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้อาการเกิดดับของรูปนามที่ปรากฏขึ้น รู้อาการเกิดดับของอาการพองยุบ รู้อาการเกิดดับของเวทนา รู้อาการเกิดดับของความคิด รู้อาการเกิดดับของสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้าเรา เขาเรียก “ตามกำหนดรู้อาการพระไตรลักษณ์” คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

เพราะฉะนั้น เวลาเราตามกำหนดรู้อาการ จึงต้องมี “เจตนา” ที่จะรู้ว่าอาการนี้ “เกิด” ในลักษณะอย่างไร ? “ดับ”ในลักษณะอย่างไร ? อย่างเช่น เราตามดูลมหายใจ หรือตามรู้อาการพองยุบ สังเกต เวลาเราหายใจเข้าไปนี่ ท้องพองออก พองออกแล้วมีอาการหยุดหรือหายไปก่อนไหม ก่อนที่จะยุบเข้าไป ? ยุบเข้าไปสุด มีอาการหยุด หายไปก่อนไหม ก่อนที่จะพองออกมา ? และการพิจารณาให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น แม้แต่ในขณะที่เขากำลังพองออก... เป็นเส้น หรือเป็นคลื่น หรือเป็นขณะ ขณะ ขณะ ? ต้องมี “เจตนา” ที่จะสังเกตอาการเกิดดับของพองยุบ ตรงนี้จะทำให้สติเรารู้อยู่กับปัจจุบันได้ต่อเนื่อง

และสิ่งที่เราต้องรู้ต้องสังเกตก็คือว่า อาการเกิดดับของพองยุบเรา “เปลี่ยนไป” ในลักษณะอย่างไร ? ยังคงเดิม หรือเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เร็วบ้าง ช้าบ้าง ? นี่คือสิ่งที่ต้องรู้ เขาเรียก “รู้ความไม่เที่ยง” ดูการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ใช่รู้แค่ว่า พองแล้วก็ยุบ พองแล้วก็ยุบ... หรือ ยุบแล้วก็พอง... ต้องมีเจตนาที่จะรู้ถึงอาการเกิดดับของพองยุบ เวทนาก็เช่นเดียวกัน การดูจิต ดูความคิด ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้น เราเข้าไปรู้เวทนาที่ปรากฏขึ้นมานั้น มีอาการอย่างไร ? ไม่ใช่แค่ปวดมากปวดน้อย เวทนานั้นมี “การเปลี่ยนแปลง” อย่างไร ? อันนี้คืออารมณ์หลัก ๆ ที่เราต้องมีเจตนาที่จะรู้

ทีนี้ การกำหนดรู้อารมณ์หลัก ๆ เหล่านี้ เรารู้แล้วว่าขณะที่เรานั่ง อารมณ์อะไรที่ปรากฏชัดที่สุดสำหรับเรา อารมณ์หลักของแต่ละคนไม่เหมือนกันในการนั่งกรรมฐานแต่ละครั้ง บางคนนั่งแล้วอาการพองยุบชัดเจน บางคนนั่งแล้วความคิดมาก่อน แสดงว่าอารมณ์หลักของแต่ละคน ในแต่ละขณะ ก็อาจจะไม่เหมือนกัน เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ทุกครั้งเวลาเราปฏิบัติ ในแต่ละบัลลังก์ จุดเริ่มต้นสภาวะ อาจจะไม่ได้เริ่มด้วยพองยุบเสมอไป บางครั้งหลับตาความคิดมาก่อนแล้ว บางครั้งหลับตาลงก็เริ่มจากพองยุบ นั่งไปแป๊บหนึ่ง มีเวทนาขึ้นมา พองยุบไม่ชัดเจน นี่คือสภาวะที่ปรากฏขึ้นมา

เพราะฉะนั้น โยคีต้องสังเกตสภาวะของตัวเองว่า ขณะนี้มีอารมณ์อันไหนที่ปรากฏชัดสำหรับเรา สติเราจะได้รู้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าเราพยายามเลือกอารมณ์ อย่างเช่น พอเรานั่งกรรมฐานทุกครั้ง พอเริ่มนั่ง เราก็พยายามยึดพองยุบอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นมีความคิดปรากฏชัดกว่าพองยุบ เราก็พยายามบังคับจิตให้อยู่ที่พองยุบ ตรงนั้นมันจะเป็นสองอารมณ์ สังเกตว่าพอเป็นสองอารมณ์ อารมณ์ไหนมีกำลังมากกว่า จิตก็จะไปรับรู้อารมณ์นั้น นั่นคืออารมณ์ปัจจุบัน


เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าให้มีสติอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน เราต้องเข้าใจว่าขณะนั้นอารมณ์ปัจจุบันของเราคืออะไร แสดงว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ความคิดมีกำลังมากกว่า จิตเราเข้าไปรับรู้ความคิด ความคิดก็คืออารมณ์ปัจจุบัน ถ้าเป็นอย่างนั้น ให้มีสติกำหนดรู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของความคิด การกำหนดรู้อย่างนี้ต้องมีเจตนา ไม่ใช่ไปพยายามบังคับให้มันดับ หรือไม่ให้คิด เข้าไป “รู้” ความคิดที่เกิดขึ้นดับอย่างไร ? เข้ามาแล้วหายแบบไหน ? จางหาย หรือว่าแวบหายไป หรือแตกกระจายไป ? อันนี้คือการกำหนดรู้อาการเกิดดับของความคิดที่เข้ามา

อีกอย่าง การมีสติกำหนดรู้ ไม่ใช่เฉพาะขณะที่เรานั่ง อิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง แล้วก็นอน ให้มีสติกำหนดรู้ในทุก ๆ อิริยาบถ ถามว่า อิริยาบถ “ยืน” เรากำหนดอะไร ? “เดิน” กำหนดรู้อะไร ? “นั่ง” เราพอเข้าใจแล้ว เวลาเรานั่งกำหนดอะไร อย่างที่พูดไปเมื่อกี้ “นอน” ก็ไม่ต่างกับนั่ง เพราะอยู่ในอิริยาบถที่เรานิ่ง “ยืน” ก็ไม่ต่างกับอิริยาบถนั่ง เพราะเราหยุดนิ่ง

“เดิน” คือการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้น การที่เราก้าวเท้าซ้ายขวา ไม่ว่าจะเป็น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้สติเราอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด จะใช้คำบริกรรมหรือไม่ก็ได้ (ขวาย่างหนอ.. ซ้ายย่างหนอ.. อันนี้เขาเรียก “คำบริกรรม”) หรือให้รู้ชัดไปกับอาการเคลื่อนไหวไปเลย ให้มีสติเกาะติดไปกับอาการ ก้าวขวา รู้ชัด ก้าวซ้าย รู้ชัด พร้อมกับสังเกตในลักษณะเดียวกันว่า ในขณะที่เราก้าวเท้าแต่ละข้าง มีอาการอย่างไร ? เป็นเส้น หรือมีอาการสะดุด มีการเกิดดับเป็นขณะ ๆ ไป ? อันนี้คือวิธีสังเกตอาการเกิดดับในขณะที่เราเดินจงกรมอีกอย่างหนึ่ง นอกจากการกำหนดรู้อาการเกิดดับของอารมณ์ต่าง ๆ สังเกตไหม เป้าหมายของการปฏิบัติของเราคืออะไร ? ดับทุกข์ ทำจิตให้ว่าง มีความสุข แม้ที่สุดแล้วก็เพื่อมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น ขณะที่เราปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นขณะยืนเดินนั่งนอน หรืออิริยาบถย่อยก็ตาม ขอให้เราทำจริง ๆ เจตนาใส่ใจในการกำหนดรู้จริง ๆ การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำจริง แม้ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาก็อาจจะยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะคิดได้ ทำจริง ๆ แล้วเราจะพบกับธรรมะที่พิเศษสำหรับเรา ขอให้เราตั้งใจกัน

ที่มา พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร เมตตาสอนโยคี ใน โครงการอบรมกรรมฐาน ณ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ 11 ก.พ.2556


แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 10 มิ.ย. 2019, 10:45, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2016, 11:30 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




สำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต.jpg
สำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต.jpg [ 72.42 KiB | เปิดดู 5096 ครั้ง ]
ความเข้าใจเรื่องอิริยาบถย่อย
ธรรมบรรยาย ณ วัดบางไผ่พระอารามหลวง จังหวัดนนทบุรี
วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙

อิริยาบถย่อยก็คืออาการต่าง ๆ นอกจากอิริยาบถหลัก นอกจากการเดิน การยืน การนั่ง การนอน แล้วกิริยาอาการของเรามีอะไรอีก ? หยิบ จับ เคลื่อนไหว กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เหยียด คู้ ยก หันซ้าย หันขวา กระพริบตา อ้าปาก อันนี้เขาเรียกว่า “อาการของอิริยาบถย่อย” ที่จริงอิริยาบถย่อยคือ อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ของร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายของเรา แม้แต่กระพริบตา แม้แต่อ้าปาก... เราอ้าปากตอนไหนบ้าง ? ตอนพูดนี่เยอะนะ สังเกตไหมว่า ก่อนที่เราขยับปากแต่ละครั้ง จิตเขาสั่งก่อนไหม ? “ต้นจิต” กับ “อิริยาบถย่อย” อาศัยกันแล้วจะกำหนดได้ดี

การกำหนดอารมณ์ในอิริยาบถย่อย สิ่งที่ต้องสังเกต - สภาพจิต ต้นจิต แล้วก็อิริยาบถย่อย สภาพจิตเป็นอย่างไร ? สภาพจิตก็คือจิตใจเรานั่นแหละ อย่างที่เรานั่งอยู่ตอนนี้ สภาพจิตใจเป็นอย่างไร ? (โยคีกราบเรียนว่า โล่ง ๆ) ตรงนี้คืออยากให้รู้ ที่ถามนี่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่อยากให้เข้าใจว่าคำว่า “สภาพจิตใจ” เราเรียกอาการประมาณไหน ตรงไหนถึงเรียกว่าสภาพจิต สภาพจิตรู้สึกสงบ รู้สึกว่าง รู้สึกโล่ง รู้สึกโปร่ง รู้สึกเบา รู้สึกขุ่นมัว รู้สึกทุกข์ รู้สึกอึดอัด ตรงนี้คือลักษณะของสภาพจิต

ทีนี้ สภาพจิตประเภทไหน สภาพจิตอย่างไร จะทำให้เรากำหนดอิริยาบถย่อยได้ดี หรือจะกำหนดต้นจิตได้ง่าย ? ถ้าสภาพจิตเราไม่ว่าง มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความหนัก มีแต่ความขุ่นมัว มีแต่ความเศร้าหมอง เราจะกำหนดไม่ทันอิริยาบถของเรา สังเกตไหม ถ้าเราเกิดความรู้สึกขัดเคืองขุ่นมัว เราจะไม่สนใจอิริยาบถย่อยของเราหรอก เพราะอารมณ์มันพาไป มันจะทำไปก่อนแล้วค่อยคิด ทำไปก่อนแล้วค่อยรู้ตัว ก็เลยกลายเป็นว่าทำไปโดยที่ไม่มีสติ โดยที่ไม่รู้ตัว

การสังเกตอิริยาบถย่อย อย่างหนึ่งคือกำหนดให้รู้ทันอาการเคลื่อนไหวของอิริยาบถย่อยของเราในแต่ละครั้ง ก่อนที่จะหยิบ ก่อนที่จะจับ ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะเคลื่อนไหว ให้รู้สึกก่อน รู้สึกทัน! จริง ๆ ถ้ารู้สึกทันอาการตรงนี้ มีสติรู้ทัน รู้ทัน จะเป็นการกำหนดอิริยาบถย่อยได้ปัจจุบัน กำหนดได้ปัจจุบันแบบนี้ รู้ถึงอาการเคลื่อนไป ขยับ หยิบ จับ ยก วาง กระพริบตา อ้าปาก... ยิ่งรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบันมากเท่าไหร่ สติเราก็แก่กล้ามากขึ้น จิตจะตั้งมั่นขึ้น การที่รู้อารมณ์ปัจจุบัน/รู้อิริยาบถย่อยนี่ เพื่อความต่อเนื่องของสติจากอารมณ์หลัก

อย่างเช่น เรานั่งกรรมฐาน อารมณ์หลักคือตอนอิริยาบถนั่ง พอนั่งกำหนดลมหายใจ กำหนดความคิด กำหนดเวทนาหมดไป ตอนที่เราจะถอนกรรมฐานนี่ เราลืมตา... จริง ๆ แล้วปกติไม่ค่อยได้ใช้คำว่าถอนกรรมฐานหรอก พอลืมตาเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งเป็นลุกนี่ พอลืมตาขึ้นมาปุ๊บ มีสติรู้ถึงอาการค่อย ๆ ลืมตาขึ้นมา อาการลืมตาเป็นอย่างไร พอลืมตาเสร็จ พอเราจะขยับมือ มีสติรู้ชัดถึงอาการค่อย ๆ ขยับ ค่อย ๆ เคลื่อนไหว ค่อย ๆ ขยับตัว... มีสติรู้อยู่กับอารมณ์

ตรงนี้เขาเรียกว่า “การกำหนดอิริยาบถย่อย” จะลุก จะขยับ จะพลิกซ้ายพลิกขวา เราก็มีสติรู้ สติเราก็จะต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จนเราลุกยืน ยืนเสร็จจะก้าวเดิน จะเดินไปทำธุระ เดินเปลี่ยนอิริยาบถ ก็มีสติรู้ถึงอาการเคลื่อนไหว ยกเท้า ย่างไป วางลง ถึงแม้ไม่ใช้คำบริกรรมว่าย่างหนอก็ตาม แต่มีสติรู้ชัดถึงอาการเคลื่อนไหว ถึงการขยับ ความต่อเนื่องของสติเราก็จะมากขึ้น ๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้นี่สติเราต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ลูกโซ่... ไป

ในการกำหนดอิริยาบถย่อย ที่บอกว่าจะกำหนดได้ดีก็คือว่าสภาพจิตของเราตอนที่เรานั่งก่อนที่จะลุกเดิน สมมติ เรานั่งอยู่ ก่อนที่เราจะลุกเดิน จิตรู้สึกว่าง โล่ง เบา ไปหมด พอจะลุกเดินปุ๊บนี่ เราต้องสังเกตจิตเราด้วย ขณะที่เรากำลังขยับ จิตเรายังรู้สึกโล่ง รู้สึกเบาอยู่ไหม ? ถ้าสังเกตว่าจิตเราโล่งเบา วิธีทำให้จิตที่โล่งเบาตั้งอยู่นานก็คือว่า ไม่ใช่ดูแค่ข้างในแล้วนะ เราก็สังเกตรอบ ๆ ตัวด้วย - รอบ ๆ ตัวรู้สึกเบาด้วยไหม ? พอรอบ ๆ ตัวโล่ง เบา ความรู้สึกที่เบาหรือตัวสภาพจิตตรงนี้ เขาจะกลายเป็นกำลังของสมาธิ คือจิตเรายังสงบอยู่ จิตเรายังตั้งมั่นอยู่ เมื่อลืมตาขึ้นมา สติเพิ่มขึ้น ความตื่นตัวก็จะเกิดขึ้น สติจะไวขึ้น

เพราะฉะนั้น เวลาเราจะกระพริบตา จะขยับ จะพูด จะหยิบ จะจับ จิตเขาจะรู้สึกทันที สติเราจะไว จะรู้สึกทันทีขณะนี้กำลังขยับ กำลังจะหยิบ กำลังจะจับ กำลังพลิกซ้าย กำลังพลิกขวา สติเราก็จะรู้ทัน รู้ทัน รู้ทัน ตรงนี้การกำหนดในอิริยาบถย่อย จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโยคีทุกคน เพราะเป็นการเพิ่มกำลังของสติ การเพิ่มกำลังของสติก็คือการปรับอินทรีย์นั่นเอง – อินทรีย์ความเป็นใหญ่ - ทำให้สติที่เป็นใหญ่แก่กล้าขึ้น สติเรามีกำลังมากขึ้นนั่นเอง

อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าเราดูสภาพจิตแล้ว เห็นสภาพจิตเราว่างกว้าง สังเกตว่า ขณะที่เราเคลื่อนไหว ขณะที่ขยับแต่ละครั้ง มีความรู้สึกว่ามีตัวตนไหม ? มีความรู้สึกว่าเป็นเราไหม ? หรือมีแต่สติที่ทำหน้าที่รู้ว่าร่างกายมันกำลังจะขยับ จะเคลื่อนไหว เคลื่อนไป วางลง ยกขึ้น ? ลองดูสิ รู้สึกไหมเวลาจะกระพริบตา อาการกระพริบตาแต่ละครั้งเขาเป็นอย่างไร ? เออ! ไม่แน่ใจฉันกระพริบตาหรือเปล่านะ ? ตอนที่ไม่แน่ใจว่าฉันกระพริบตาหรือเปล่า นั่งทำตาปริบ ๆ นี่ ถามว่า อยู่กับปัจจุบันไหม ? อันนี้คือการสังเกตอาการของอิริยาบถย่อย

อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การกำหนดรู้อิริยาบถย่อยนี่เรารู้อย่างไร ? ที่จริงก็ไม่ต่างกับที่เรารู้อาการที่ปรากฎในอิริยาบถหลักที่เรากำหนดลมหายใจหรือเวทนานั่นแหละ เรากำหนดว่าเวลากระพริบตาครั้งหนึ่ง เขามีอาการดับไปไหม ? พอลืมตาขึ้นมา เขาเกิดขึ้นมาใหม่ แล้วเขาก็ดับไป... สังเกตอาการเกิดดับ เพราะฉะนั้น เวลาเราขยับมือเพื่อที่จะไปหยิบอะไรสักอย่าง ขยับปุ๊บเขาดับก่อนไหมก่อนที่จะสัมผัสถูกสิ่งของ ? เวลาเราสัมผัสถูกปุ๊บนี่ เขามีอาการดับไปก่อนไหมก่อนที่เราจะยกขึ้นมา ?

เมื่อเราเจตนาที่จะรู้อาการเกิดดับในลักษณะอย่างนี้ สติเราอยู่กับองค์ของกรรมฐาน อยู่กับการเจริญภาวนาตลอดเวลา ไม่มีคำว่าออกจากกรรมฐานหรอก เพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถจากอิริยาบถหลักไปเป็นอิริยาบถย่อยเท่านั้นเอง แล้วมีเจตนาที่จะรู้ต่อเนื่องไป สติเราก็จะได้เข้ากรรมฐานเก็บอารมณ์อย่างต่อเนื่อง เรามาเข้ากรรมฐานห้าวัน มีใครบ้างในห้าวันนี้ไม่หลุดเลย ? ไม่มีเลยนะ ถ้าถามว่าใครหลุดบ่อยที่สุด ยกมือพรึ่บเลยนะ สังเกตไหม หลุดจากกรรมฐาน หลุดไปไหน ? ไปไหนก็ไม่รู้ อยู่ ๆ มันก็หลุดไป

ที่จริงคำว่าหลุดจากกรรมฐาน เขาเรียกว่าหลุดจากอารมณ์ปัจจุบัน ใช่ไหม ? เราไม่ได้หลุดจากกรรมฐานหรอก เพียงแต่หลุดจากอารมณ์ปัจจุบัน เผลอไป... พอรู้สึกตัว รีบกลับมาดูอารมณ์ปัจจุบันไหม ? (โยคีตอบรับว่ารีบกลับมาดู) ถ้าเป็นอย่างนี้เจตนายังตั้งมั่น แต่ถ้ารู้สึกตัวแล้ว อ้าว! เผลอไปแล้ว ไม่เป็นไรเอาไว้ก่อน... แทนที่จะรู้สึกตัวแล้วกลับมาดูอารมณ์ปัจจุบันเลย กลับเอาไว้ก่อน เอาไว้ก่อน เวลาในการมีสติจะน้อยลง ๆ เวลาในการที่กิเลสจะเข้ามาก็ยาวขึ้น ยาวขึ้น ช่องว่างให้โมหะเกิดก็จะยาวขึ้น ยาวขึ้น... เพราะฉะนั้น การเจริญกรรมฐาน พอรู้สึกตัวเมื่อไหร่ให้มารู้อารมณ์ปัจจุบันทันที

ทีนี้ อารมณ์ปัจจุบันขณะแรกเลยที่เราตัองรู้ มารู้อะไร ? พอรู้สึกตัวปุ๊บดึงกลับมาที่พองยุบ พอรู้สึกตัวปุ๊บมาที่ลมหายใจ พอรู้สึกตัวปุ๊บไปรู้ที่จิตเลย ไปดูว่าจิตเราเป็นอย่างไร ? กิเลสเกิดขึ้นหรือยัง ? มันเผลอไปเมื่อกี้มีกิเลสไหม ? พอรู้สึกตัวปุ๊บกิเลสเมื่อกี้หายไหม ? มันหยุดไหม ? ถ้าเรารู้แบบนี้ เราจะจบอารมณ์ได้ง่าย แต่บางทีพอโยคีกลับมาที่ลมหายใจ อ้าว! ลมหายใจไม่มี ลมหายใจหาไม่เจอ ทำอย่างไรดี!? ก็กังวลต่อ พอกังวลก็คิดต่อ คิดต่อ... คิดจนเหนื่อย หายใจหอบแรง ๆ อ๋อ! ลมหายใจชัดแล้ว... ก็เลยรู้สึกชัดขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ถ้าเรากลับมาปุ๊บ มาดูจิตเรา อ๋อ! จิตเรายังนิ่งยังสงบอยู่ เราก็ไปดูจิตที่นิ่งที่สงบต่อ พอเรานิ่งนิดหนึ่งปุ๊บ จิตเราตั้งมั่นขึ้น อาการอื่นก็จะชัด พอเรานิ่งนิดหนึ่ง ความคิดมันเกิดขึ้น เราก็กำหนดความคิด นั่นคืออารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฎเฉพาะหน้าจริง ๆ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมาที่ลมหายใจ เวลามันคิดไป เรานิ่ง หยุดนิดหนึ่ง แล้วไปกำหนดความคิด พอความคิดดับปุ๊บ นิ่งนิดหนึ่ง บริเวณตัวเรามีอาการอะไรปรากฎขึ้นมา ? มีความปวด มีลมหายใจ มีอาการพองยุบ มีอาการเต้นของหัวใจ...

เคยไหม พอเรารู้สึกตัวเร็วจนตกใจ หัวใจมันเต้นเร็ว ๆ ๆ ๆ ทำอย่างไร ? แทนที่จะมารู้อาการเต้นของหัวใจ เราก็กังวลอีก ทำไมเต้นเร็วขนาดนี้ เป็นโรคหัวใจหรือเปล่า!? คิดไปโน่นอีก ก็ยิ่งกังวลมากไปอีก วิธีก็คือว่า สภาวะเหล่านี้เราต้องสังเกตทั้งหมด เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเรามีอาการตกใจ หัวใจเขาจะทำงานเร็วโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่ตกใจเขาก็ไม่ทำงานเร็ว แต่ถ้าตกใจปุ๊บ เขาจะสูบฉีด ปึบ ๆ ๆ ๆ ให้เร็วขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็นิ่ง ๆ อย่าวิตก อย่ากลัว อย่ากังวล! นิ่ง ๆ แล้วดูเขาไป เขามีอาการเต้น ๆ ๆ แล้วค่อย ๆ บางไป หายไป... ก็ตามรู้แบบนี้ไป

ทีนี้ การรู้สภาพจิต ที่บอกว่าสภาพจิตให้ว่าง ๆ ให้กว้าง ๆ ตอนที่กำหนดอิริยาบถย่อยนี่ จิตที่ว่าง ๆ ที่กว้าง ๆ เขาจะเป็นทั้งกำลังของสมาธิและสติ เวลาจะขยับจะหยิบจะจับจะเคลื่อนไหวนี่เราจะรู้ทัน เพราะสติเรากว้างกว่าอาการ เพราะฉะนั้น จะขยับจะหันซ้ายหันขวาเหมือนอยู่ในสายตาของสติ มันจะรู้ทัน รู้ทัน ไปเรื่อย ๆ อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เราควรสังเกตในขณะที่กำหนดอารมณ์ในอิริยาบถย่อย - ตอนที่เรานั่ง จิตเราว่าง จิตที่ว่าง ๆ บอกว่าไม่เป็นเรา เวลากำหนดอิริยาบถย่อยก็เหมือนกัน ทำจิตให้ว่าง ๆ จะให้ดีกลับมาดูว่าจิตที่ทำหน้าที่รู้เขาบอกว่าเป็นเราไหม ? ร่างกายหรือตัวที่กำลังเคลื่อนไหวเขาบอกว่าเป็นเราหรือเปล่า ?

ทำไมถึงถามว่าเขาบอกว่าเป็นเราหรือเปล่า ? ให้ไปถามเขาดูว่าตัวที่นั่งอยู่เขาบอกว่าเป็นเราไหม ? แล้วจิตที่ทำหน้าที่รู้เขาบอกว่าเป็นเราไหม ? ทำไมถึงตั้งคำถามอย่างนี้ ? การตั้งคำถามอย่างนี้ เราจะไม่คิดเข้าข้างตัวเอง จะไม่คิดเข้าข้างคนอื่น และไม่คิดเข้าข้างสภาวะที่เกิดขึ้น บางทีเราไม่ได้ถามตัวเองอย่างนี้ คิดว่า ใช่-ไม่ใช่ เอ๊ะ! เราคิดเอาเองหรือเปล่า.... มันไม่ใช่อย่างนั้น! แค่เราคิดว่าเราคิดเอาเอง มันก็เป็นอาการคิดทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าเราสังเกตดูว่า มีเราไหม ? หรือเขาปรากฏแบบนั้นจริง ๆ ? อันนี้เป็นตัวคำตอบว่าไม่มีตัวตนแล้วเป็นอย่างไร

ขณะที่ไม่มีตัวตนแบบนี้ ในการกำหนดอิริยาบถย่อยนี่ เราจะเห็นถึงธรรมชาติของรูปนามที่กำลังทำงาน ที่โบราณเขาบอกว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” นั้นเป็นอย่างไร เวลาจะขยับแต่ละที รู้สึกจิตมันสั่งก่อนไหมก่อนที่จะขยับ ? เวลาจะกระพริบตา จิตเขาสั่งก่อนไหมก่อนที่จะกระพริบตา ? ก่อนที่จะอ้าปากพูดแต่ละคำนี่ จิตเขาสั่งก่อนไหม ? การที่จะเห็นว่าจิตสั่งก่อนหรือเปล่า เป็นการเพิ่มตรงที่เขาเรียกว่า “กำหนดต้นจิต”

ต้นจิต คือ จิตที่ทำหน้าที่รู้ก่อนที่จะขยับ รู้ก่อนที่จะเคลื่อนไหว หรือจิตที่ทำหน้าที่สั่งให้กายมีการขยับมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ลองสังเกตดู แม้แต่ตาเรานี่ ลองลืมตาไว้ ถ้าจิตไม่สั่ง เขาจะกระพริบไหม ? ลองลืมตานาน ๆ ลองดู รู้สึกเป็นอย่างไร ? ตอนที่จะกระพริบตานี่จิตเขาสั่งก่อนไหม ? ถ้าไม่สั่ง ลองดูว่า เขาจะกระพริบไหม ? เอ้อ! จิตไม่สั่งมันก็กระพริบนะ แต่จริง ๆ แล้วเพราะเราไม่เห็นว่าจิตเขาสั่ง เพราะบางครั้งเขาไม่ได้สั่งเป็นภาษาหรอก...

เขาสั่งว่ารู้สึกทนไม่ได้แล้วนะ ลมเข้าตาเริ่มแสบแล้วนะ ตาเริ่มแห้งเริ่มเคือง รู้สึกว่าต้องกระพริบตาเพื่อไม่ให้ตาแห้ง รู้สึกนิดหนึ่งก่อนที่จะกระพริบ นั่นคือจิตที่สั่งให้ร่างกายทำงานเพื่อปกป้องตัวเอง นี่คือต้นจิต หรือขณะแรกของจิต หรือวิถีจิต การทำงานของจิตที่บางทีเราไม่เห็น เราคิดว่ามันก็ทำไปตามสัญชาตญาณ แล้วอะไรคือตัวสัญชาตญาณสั่งให้ทำ ? ก็ตัวจิต ที่บอกว่ามันทำไปโดยสัญชาตญาณ ไม่ประกอบด้วยเจตนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา สัญชาตญาณ - ทำไปเพราะความเคยชินหรือเปล่า ?

ที่จริงการสังเกตต้นจิตแบบนี้ ปัญญาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมา อันนี้อยากให้โยคีสังเกตเอง ลองดูว่า ขณะที่เราเห็นจิตสั่งก่อนที่จะขยับ ก่อนที่จะกระพริบตา ก่อนที่จะเคลื่อนไหว ก่อนที่จะอ้าปาก... ขณะที่เราสังเกตเห็นจิตมันรู้ก่อน รู้ก่อน รู้ก่อน สั่งก่อนนี่ จิตใจเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? สติเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? (โยคีกราบเรียนว่า มั่นคง) เออ! นี่ชัดเจน จิตจะตั้งมั่น มั่นคง ชัดเจนในอารมณ์ที่เกิดขึ้น เขาจะมีความชัดเจนในสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำโดยไม่มีเหตุผล แล้วเขาจะรู้ถึงเหตุและผลว่าที่ทำอย่างนี้เพราะอะไร - ทำไมต้องขยับ ทำไมต้องกระพริบตา ทำไมต้องอ้าปากที่จะพูด...

สังเกตไหม เวลาเราอ้าปากพูด ปากเราไม่ได้อ้าเท่าเดิม ลิ้นเราก็ไม่ได้เท่าเดิม เพราะภาษาเสียงที่เราเปล่งออกไป บางครั้งก็ปรับลิ้น บางครั้งก็ปากกว้าง บางครั้งก็แคบ... ทำไมเป็นไปอย่างนั้น ? เพราะจิตเรากำกับ ถ้าสังเกตเราจะเห็นเลยว่า เขาคอยกำกับว่า อันนี้กระดกลิ้น เวลาออก ร เรือ ลิ้นเป็นอย่างไร ออก ล ลิง ลิ้นทำแบบไหน นี่คือธรรมชาติของจิต เพราะเราเคยฝึกใช้ แต่ถ้าเราไม่สังเกต จะไม่เห็นเลยว่าจิตเขาสั่งหรือเปล่า เพราะนี่คือความละเอียดของเขา

ตรงที่เราเห็นการทำงานของจิตเร็วแบบนี้ ก็เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงวิถีจิต หนึ่งลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิดแสนโกฏิดวง เขาทำหน้าที่เร็วมาก เมื่อช่วงบ่ายโยมเขาถามว่า ในหนึ่งขณะของรูป จิตทำงานกี่ขณะ ? ๑๗ ขณะ ใช่ไหม ? วิถีจิตทำงาน ๑๗ ขณะในหนึ่งขณะของรูปนี่เป็นอย่างไร ? นี่แหละถ้าอยากเห็น สังเกตตรงนี้! การทำงานของวิถีจิต เขาทำไปโดยอัตโนมัติ เพียงแต่เราเข้ามาศึกษาเรียนรู้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงไหม

แล้วผลที่ตามมาก็คือ ใครก็ตามที่มีสติแก่กล้าปัญญาเฉียบแหลม แล้วเห็นตามที่พระพุทธเจ้าตรัส คนนั้นสติ/จิตใจเป็นอย่างไร ? รู้สึกไหม จิตเราจะมั่นคงขึ้น ? เราจะเป็นคนที่มีสติตั้งมั่น มีจิตที่ตั้งมั่น เพราะฉะนั้น การที่เข้าไปกำหนดรู้ เพื่อเห็นสัจธรรมธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้าที่บอกว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นแล้วดับไป มีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับตลอดเวลา จึงให้ใส่ใจกำหนดรู้อาการเกิดดับตรงนี้ เมื่อเรากำหนดรู้แบบนี้เราจะเห็นความจริงมากขึ้น เมื่อเห็นความจริงของธรรมชาติของรูปนามมากขึ้น ๆ จิตก็จะคลายอุปาทานมากขึ้น ๆ จิตก็จะอิสระมากขึ้น นั่นแหละจึงให้เน้นกำหนดรู้อาการเกิดดับ

ทีนี้ การกำหนดต้นจิตนี่ ทำอย่างไรถึงจะกำหนดทัน ? จริง ๆ ก็บอกไปแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะกำหนดทัน ถ้าเรากำหนดรู้ด้วยจิตที่ว่าง ๆ ไม่มีเรา... นี่ ใช้คำว่าเราแล้วบอกว่าไม่มีเรา ทับศัพท์แล้วกัน คำว่าเราตัวที่หนึ่ง สมมติว่านี่คือเรา คำว่าไม่มีเราตัวที่ ๒ ก็คือว่าโดยสภาวะ จิตที่ไม่บอกว่าเป็นเรา รูปนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นเรา แต่สมมติเรียกว่าเป็นเรา ไม่งงนะ ? คือใช้จิตที่ว่าง ๆ ที่โล่ง ๆ เบา ๆ ที่ไม่บอกว่าเป็นเรา ทำหน้าที่รับรู้

ใช้จิตที่เบา ๆ ว่าง ๆ ทำหน้าที่รับรู้อย่างไร ? ที่บอกว่า เอาจิตที่ว่าง ๆ ไปไว้ที่สมอง รู้สึกเป็นอย่างไร ? เอาจิตที่ว่าง ๆ เข้าไปที่เวทนา แล้วเป็นอย่างไร ? บางคนเข้าไปแล้วเวทนามันจางหาย เข้าไปที่อาการปวด ที่ปวดหัวก็หาย เอาไปที่สมอง สมองก็หายไป ไม่มีสมองมีแต่ปัญญา! สมองมันโล่งไปหมดเลย เหลือแต่ตัวสติกับปัญญา นี่คือการใช้จิตที่ว่างทำหน้าที่รับรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตที่ว่าง ๆ พร้อมที่จะสังเกตอาการต่าง ๆ ที่ปรากฎขึ้น ไม่ว่าจะหยิบ จะจับ จะเคลื่อนไหว จะพูด จะเดิน จะล้างมือล้างหน้า ก็สามารถกำหนดได้

บางคนเวลาล้างหน้า พอกวักน้ำขึ้นมาล้างหน้าหรือเอามือลูกหน้าปึ๊บ สัมผัสถูกความว่าง ไม่ถูกหน้าตัวเอง ลูบไป เอ๊ะ! ทำไมว่าง ๆ หน้าเราอยู่ตรงไหน!? ลองดูสิ นั่งอยู่นี่ เอาจิตที่ว่าง ๆ มาไว้ที่หน้าดู เขามีรูปร่างของหน้าไหม ? รู้สึกเป็นอย่างไร ? รู้สึกทั้งหมดหรือเฉพาะจุดที่สัมผัส ? รู้เฉพาะจุดที่สัมผัส สัมผัสเป็นเส้น เป็นจุด เป็นขณะ ๆ ไป นี่คือรู้แค่อาการที่สัมผัส เวลาน้ำโดนหน้า รู้สึกเย็นแล้วก็วาบหายไปในที่ว่าง ๆ นี่คือการรับรู้อย่างไม่มีตัวตน

เพราะฉะนั้น การสังเกตอิริยาบถย่อยนี่เราสามารถกำหนดได้ตลอด ขณะดื่มน้ำ ลองดูสิ ลองดูว่ากลืนไปที่ไหน ? กลืนลงไปในที่ว่าง ๆ หรือเปล่า ? อันนี้สามารถสังเกตได้ เวลาแปรงฟัน ทำจิตให้ว่าง เอาความว่างไว้ที่ปาก แล้วก็เคลื่อนมือ ขยับมือ ลองดู สังเกตอาการสัมผัส การกระทบ แรงที่กระทบเคลื่อนไหวอยู่ เขาอยู่ที่ไหน ? เขาเกิดอยู่ในที่ว่าง ๆ หรือเปล่า ? นี่คือจุดที่สามารถสังเกตได้หมด กำหนดได้หมดเลย

ทีนี้ เวลาเราเคี้ยวอาหารเราจะกำหนดอย่างไร ? ในการกำหนดอารมณ์เวลาเราทานอาหาร ที่บอกพิจารณาอาหารก่อนทาน พิจารณาก่อนฉัน จะพิจารณาเป็นภาษาบาลี หรือพิจารณาเป็นภาษาไทยก็ตาม เราพิจารณาเพื่ออะไร ? เพื่อไม่ให้หลงในรสชาติของอาหาร ไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร ถ้าเพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร ทำอย่างไร ? ไม่ใช่ไม่ให้รู้รสนะ คนละอย่างนะ! ไม่ให้ติดในรสกับไม่ให้รู้รสคนละอย่างกัน ลิ้นทำหน้าที่รู้รส รับรส เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่รู้รสต้องเช็คลิ้น! คือไม่ให้ติดในรสชาติที่เราเคยชอบ เคยยินดี เคยพอใจ เวลาไม่ได้ดั่งใจแล้วความทุกข์เกิดขึ้นมา หรือแสวงหาจนเกิดมีความทุกข์ อันนี้อย่างหนึ่ง

ทีนี้ การพิจารณารสชาติของอาหารเพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร อันที่จริงนี่กุญแจดอกเดียวกันเลย ก็คือใช้จิตที่ว่าง ๆ ว่างจากตัวตน ว่างจากเรา ลองดูนะว่า เวลารสชาติอาหารมันรู้สึกอร่อยอยู่ตรงนี้ มันมีความอร่อยอยู่ตรงไหนนะ ? ตรงกระพุ้มแก้มมั้ง มันอยู่ตรงใกล้โคนลิ้นนิดหนึ่ง รสชาติอร่อยอยู่แถวนั้นแหละ แล้วก็เอาจิตที่ว่าง ๆ เข้า ไป เราจะเห็นเลยว่ารสชาติของอาหารเขาอยู่ที่ไหน เขาลอยอยู่ที่ว่าง ๆ หรือเปล่า ?

ขณะที่นั่งอยู่นี่ ลองเอาความรู้สึกที่ว่าง ๆ เข้ามาไว้ในปาก แล้วลองดูว่า บริเวณปากเรานี่ ข้างในรู้สึกเป็นอย่างไร ? มันมีรูปร่างของปากไหม ? หรือรู้สึกมีฟันไหม ? (โยคีกราบเรียนว่า ไม่มี) เขารู้สึกเป็นอย่างไร ? เบา ๆ กลวง ๆ โล่ง ๆ ว่าง ๆ อยู่ นี่คือเพราะจิตเราว่าง พอจิตเราว่าง ทีนี้รสชาติเขาเกิดอยู่ในความว่างปึ๊บนี่ ความยินดีพอใจในรสชาติเกิดขึ้นไหม ? แยกระหว่าง “รสชาติที่เกิดขึ้น” กับ “จิตเรา” เราจะรู้ว่าหวานแล้วก็ดับไป เปรี้ยวก็ดับไป เค็มก็ดับไป กลมกล่อมก็ดับไป อร่อยก็ดับไป...

ไม่ดับหรือ ? สังเกตไหมว่า รสชาติไม่ดับเพราะเรากลัวรสชาติมันหายเลยเติมตามเร็วขึ้น สังเกตสิ เรายังกลืนในปากไม่หมดเลยตักรอเสียแล้ว พอเริ่มเคี้ยวจะกลืน ก็ป้อนเข้าไป เหมือนโรงงาน มันหมุนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าลองดู เคี้ยว ๆ ๆ ๆ จนกลืนหมดแล้ว นิ่งนิดหนึ่ง พิจารณาดูสิ รสชาติที่ว่าอร่อยที่สุดถ้าขาดตอนแล้วรู้สึกอย่างไร ? ความเพลิดเพลินในรสชาตินั้นลดลงทันที แล้วเราก็จะรู้สึกว่าความอร่อยจะน้อยลง การติดในรสชาติลดลง อันนี้คือการที่เราหยุดเพื่อให้เห็นช่องว่างระหว่างรสชาติ

แต่ถ้าเรากำหนดแบบนี้ – สมมติว่า พอเปรี้ยวขึ้นมา เอาจิตที่ว่าง ๆ เข้าไปปึ๊บ ดูว่าความเปรี้ยวเขาดับอย่างไร ? พอหวานขึ้นมา เข้าไปรู้ ความหวานเขาดับอย่างไร ? แม้แต่ความหวานที่อมไว้ในปากก็ยังไม่เที่ยง! ทุกคนที่นั่งในที่นี้คิดว่าคงเคยอมลูกอมสักอย่างหนึ่งแหละ อมแล้วรู้สึกหวาน อร่อย ถูกใจ อมไปเรื่อย ๆ พอความหวานเริ่มหาย เราก็เริ่มขยับลิ้นเพื่อให้ความหวานมันออกมาแล้วก็อมต่อ พอสักพักมันเริ่มจืด เราก็ขยับลิ้นใหม่เพื่อให้ความหวานมันออกมา แล้วก็ขยับอยู่เรื่อยเพื่อให้รสชาติความหวานมันต่อเนื่อง ถ้าอมเฉย ๆ รสชาติมันจะหายไป นั่นคือก็ความไม่เที่ยง-การดับของเขา

ถ้าหวานเท่าเดิมตลอด รับรองเลี่ยน! สังเกตไหม ถ้าหวานตลอดเลย จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ จืดก็ไม่ได้ หวานอยู่ในปากตลอดนี่ ไม่นานเดี๋ยวก็รู้สึกเลี่ยนแล้ว หาทางล้างปากแล้ว ไม่ไหวแล้ว แสดงว่าเกินที่ร่างกายของเราจะรับ เพราะฉะนั้น สังเกตดูว่ารสชาติของอาหารจึงมีการเกิดดับ เขาดับแล้วก็เติมใหม่ เกิดดับแล้วก็เติมใหม่ เติมใหม่อยู่เรื่อย ๆ นั่นคือการเกิดดับของมัน ถ้าเราสนใจรู้การเกิดการดับของเขา เราจะเห็นเลยว่ารสชาติเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

ทีนี้ การกำหนดการไม่ติดในรสชาติเพื่ออะไร ? บางทีเราจะเห็นว่าอาหารบางอย่างรสชาติไม่ถูกปาก แต่จำเป็นต่อร่างกาย เราจะทานอย่างไรถึงจะรับได้โดยที่ไม่รู้สึกเป็นทุกข์กับมัน ? แม้แต่ยาบางชนิด เราไม่ชอบเลยแต่จำเป็นต้องรับ บางคนทานยากมาก ลองดู เอาจิตที่ว่าง ๆ ไป แล้วให้มันกลืนลงไปในที่ว่าง ๆ สิ แทนที่จะกลืนลงไปในท้อง ลองดูสิ เวลาเรากลืนน้ำลายมันลงไปที่ไหน ? ลงไปที่ท้องไหม ? ไม่รู้สึก ใช่ไหม ? รู้สึกว่าแค่เลยคอไปก็หายแล้ว ลงท้องหรือเปล่าก็ไม่รู้ ?

การกำหนดรสชาติของอาหารเพื่อไม่ติดในรสชาติอย่างหนึ่ง แล้วการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา รู้การเกิดดับของรสชาติที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ให้ละเอียดมากขึ้นก็คือว่า จิตที่ทำหน้าที่รู้กับรสชาติที่เกิดขึ้น เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วน ? ความหวานกับจิตเรา เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ? ความอร่อยกับจิตเรา เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ? สังเกตแบบนี้เพื่ออะไร ? เพื่อที่จิตจะคลายจากอุปาทาน คลายความยินดีพอใจ แต่ก็ยังรู้ว่าอะไรดีไม่ดี

ถ้าไม่รู้รสชาติเลยเดี๋ยวก็มีปัญหาขึ้นมา ถ้าไม่รู้รสชาติเลย ทานแต่เกลือ เค็มแต่ไม่รู้ว่าเค็มนี่ก็อันตรายนะ ทานหวาน ๆ ๆ ๆ ไปตลอด ไม่รู้ว่าหวาน น้ำตาลขึ้นเรียบร้อยแล้วเราก็ไม่รู้ อันนี้ก็อันตราย เพราะฉะนั้น การพิจารณา - ลิ้นทำหน้าที่ของเขา เขารู้รส แต่ความยินดีพอใจในรสนั้น อยู่ที่เราเป็นผู้กำหนด อยู่ที่เราเป็นผู้เลือกว่าเราจะยินดีพอใจในรสชาติอาหารนั้นมากแค่ไหน ไม่ใช่ไม่รู้รส รู้ แต่ติดหรือไม่ติดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้คือการพิจารณา

เพราะฉะนั้น ลองดูนะ พรุ่งนี้เวลาเคี้ยวอาหาร ถ้ารสชาติอาหารไหนที่รู้สึกว่าเข้าปากแล้วไม่ถูกใจ ลองทำใจให้ว่าง ๆ แล้วมันจะเข้าไปได้สบาย ๆ อาหารรสชาติไหนไม่ถูกปากก็ให้ร่วงไป ใช่ไหม ? ทันไหม ? เพราะไม่ถูกปากแล้วจะไปที่ไหน... มันก็ร่วงสิ! ไม่ถูกปากก็อยู่ข้างนอกปากไง! อาหารไหนที่เราทานแล้วรู้สึกถูกใจ อร่อย เราก็ลองดูว่า อร่อยแล้วเขาหายอย่างไร ? อร่อยแล้วเป็นอย่างไร ? รู้ กำหนดเคี้ยวไป เคี้ยวไป... อันนั้นคือรู้รสชาติ

ทีนี้ การรู้อาการเกิดดับ - เวลาเราเคี้ยวอาหาร เอาจิตที่ว่าง ๆ ไปรู้ “จุดกระทบ” ของการเคี้ยว กระทบแต่ละครั้ง กระทบไป กระทบไป... สังเกตอาการเกิดดับ จะให้ละเอียดขึ้นไปอีกก็คือว่า เราเคี้ยวแล้วให้จิตเราไปอยู่ที่ระหว่างจุดกระทบตรงนี้ เวลาเราเคี้ยวแต่ละคำ เคี้ยวถูกจิตเราด้วยไหม ? ลองดูนะ แล้วจะมีความรู้สึกสนุก ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน ยิ่งเห็นอาการเห็นจิตดับแล้วจิตยิ่งผ่องใส ยิ่งตื่นตัวขึ้น ตรงนั้นสังเกตดู นี่คือการกำหนดรู้อิริยาบถย่อย นี่คือการยกตัวอย่าง

ทีนี้ อาการอื่นก็เช่นเดียวกัน เยอะแยะมากมายในการหยิบ จับ เคลื่อนไหว จะเปิดประตูห้องนี่ พอเอื้อมมือไปแตะลูกบิด เขามีอาการดับไปก่อนไหม พอหมุนปุ๊บ อาการหมุนลูกบิดเขามีอาการฟึบเดียว หรือกึ๊ก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ แล้วก็ดับไป ? อย่างตอนนี้ลองดูสิ เวลาเราหันคอแบบนี้ ค่อย ๆ หัน อาหารเคลื่อนหันไปนี่เขามีอาการขาดเป็นช่วง ๆ ? มีสะดุดเป็นขณะ ๆ ? หรือเป็นเส้นไป แล้วเส้นนี้สุดเขามีอาการดับไปก่อนไหมก่อนที่จะเคลื่อนไป ? รู้สึกเป็นอย่างไร ? นี่คืออาการเกิดดับของการเคลื่อนไหว เราสังเกตอาการเกิดดับแบบนี้

เพราะฉะนั้น เวลาเราเดินจงกรมสุด หยุด เราหันปุ๊บเราก็สังเกตอาการนี้ มันมีอาการอย่างไร ? จะสังเกตที่เท้าที่เคลื่อนไป หรือที่หน้าที่เคลื่อนไปก่อนก็ได้ เวลาเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พอหยุดปุ๊บ ยืนนิดหนึ่ง แล้วก็ขยับเท้าขวาปุ๊บ เท้าซ้ายตามเป็นจังหวะ หันปุ๊บ นั่นคือให้เห็นอาการเกิดดับเป็นขณะ ถ้าเราสังเกตแบบนี้ได้นี่จะเห็นอาการเกิดดับตั้งหลายขณะเลย ปึ๊บ ปึ๊บ ปึ๊บ ปึ๊บ... พอหยุดปุ๊บ นิ่ง แล้วก็มารู้อาการเดิน พอจะยกเท้า เห็นว่าจิตเขาไปที่เท้าก่อนไหมก่อนที่เขาจะยกขึ้น ? เขามีอาการเกิดดับอย่างไร ? ให้สังเกตแบบนี้ วิธีการกำหนดอิริยาบถย่อย คงเข้าใจขึ้นนะ

คนที่อยู่ไม่ค่อยนิ่งนี่อิริยาบถย่อยจะเยอะ พอนั่งสมาธิไป ได้ยินอะไรก็แวบหันซ้ายแวบหันขวา เดี๋ยวก็เกา เดี๋ยวก็ขยับ เดี๋ยวก็นั่งไม่ติด เดี๋ยวบิด เดี๋ยวโยก... นั่นคืออาการของอิริยาบถย่อย ลองดู รู้ให้ทัน รู้ให้ทัน มันจะขยับแล้วนะ มันจะกระพริบตา จะหาวแล้วนะ บางคนหลับแบบไม่หาวเลย นั่ง ๆ แล้วก็ง่วงหลับไปเลย ไม่หาว แต่บางคนยิ่งหาวยิ่งตื่น ก็งงอีก ทำไมเดิน ๆ แล้วมันหาวเอา หาวเอา!? ง่วงไหม ? ไม่ง่วง แต่หาว มีนะนักปฏิบัติเดินจงกรม เดินไปหาวไป เดินไปหาวไป... ก็งงตัวเอง ฉันไม่ง่วง แต่ทำไมหาวได้หาวดี!?

สังเกตว่า เวลาเราหาว อะไรออกมา ? ลม ใช่ไหม ? ธาตุลม ขับลมออก ขับลมออก แล้วก็ตื่นขึ้น พอหาวเสร็จจิตก็จะตื่น กำหนดอาการต่อไปได้ แต่ตอนหาวก็ไม่รู้สึกง่วงนะ แต่พอถึงเวลาง่วงจริง ๆ นั่งไปไม่หาวเลย หลับ! เห็นไหม หลับเพราะสมาธิเยอะ สติอ่อน บางครั้งสติสมาธิก็ไม่ค่อยมีหรอก สติอ่อนมาก ๆ จนหลับ หลับทั้ง ๆ ที่ยุ่งอยู่ หลับทั้ง ๆ ที่วุ่นวาย เขาเรียกเพลียจนหลับไป เพราะฉะนั้น ลองสังเกตดู

เป้าหมายของการกำหนดแบบนี้เพื่ออะไร ? การปฏิบัติธรรมจะให้ดีควรจะมีสติต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ คำว่า “เป็นลูกโซ่” คือไม่ขาดตอน ไม่มีช่องว่าง ช่องสะดุด เพราะฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติไปแล้วรู้สึกหลุดบ้าง ก็รู้ให้เร็ว แต่บางคนพอปฏิบัติมากขึ้น สติเริ่มดีขึ้น เริ่มเห็นว่าตัวเองหลุดบ่อยขึ้น แล้วรู้สึกว่า เอ๊! ทำไมเดี๋ยวหลุด ๆ เดี๋ยวเผลอ ๆ ก็เริ่มหงุดหงิดกับตัวเอง แต่นั่นคือสติเขาเริ่มดีขึ้น เริ่มเห็นว่าเวลาตัวเองเผลอเป็นอย่างไร ก่อนหน้านั้นเผลอไปตั้งนานแล้วยังไม่รู้สึกตัวเลย ตอนนี้พอเริ่มเผลอก็รู้ เริ่มเผลอก็รู้ แสดงว่าสติไวขึ้น ๆ เพราะฉะนั้น จงภูมิใจ อย่าวิตกกังวล ให้เริ่มใหม่ให้เร็วขึ้น เริ่มใหม่เร็วขึ้น พอใจที่จะเริ่มใหม่ แล้วต่อไปสติเราก็จะมีความต่อเนื่องได้ดีขึ้น


แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 24 ก.ค. 2018, 17:50, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ม.ค. 2018, 12:19 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2018, 10:53 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย.jpg
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย.jpg [ 129.67 KiB | เปิดดู 5098 ครั้ง ]
การปฏิบัติเบื้องต้น

ผู้ที่เคยฝึกนะ เคยปฏิบัติมาแล้ว ถึงมาใหม่ก็เคยปฏิบัติอย่างอื่นมาแล้วใช่ไหม? เคยปฏิบัติวิธีอื่นมาแล้ว ปฏิบัติยังไง? ฝึกแบบไหน? พองยุบนะ อ๋อ ดีแล้ว ข้างหลังโยมเคยฝึกมาหรือยัง? ฝึกแบบไหน? อ๋อ ที่เสถียร กำหนดยังไง? อ๋อ สวดมนต์ นั่งหลับตา กำหนดลมหายใจนะ งั้นดีแล้วนะ

งั้นผู้ที่เคยฝึกแล้ว ยกจิตได้เลยนะ ยกจิตขึ้นสู่ความว่าง ความสงบ ทำจิตให้ว่าง แล้วจะสอน จะบอกวิธีปฏิบัติ สำหรับผู้มาใหม่เราก็สานต่อเหมือนที่เคยมา ฝึกยกจิตขึ้นสู่ความว่าง แยกรูปนามได้แล้วนะ ยกจิต สานต่อของเราก่อน ยกจิตขึ้นสู่ความว่าง เติมความสุข แล้วก็รู้อาการเกิดดับที่เกิดขึ้นที่รูป ขณะกำหนดลมหายใจ หรือกำหนดพองยุบก็ตาม ให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะนั้นๆ งั้นลองดูนะ.. ผู้ที่มาใหม่ เพิ่งมาฝึกใหม่ๆ อาจจะแตกต่างกันนิดหนึ่ง คงจะได้ฟังแล้ว ฟังการแนะนำบ้างแล้วใช่ไหม? ได้ฟังการแนะนำบ้างแล้วว่า เวลาเราปฏิบัติเนี่ยทำอย่างไร เพราะฉะนั้นลองดู

จะบอกวิธีทำใจให้ว่างให้เร็ว เราปฏิบัติ ถ้าเราทำให้ว่างได้เร็ว จิตเราก็จะสงบเร็ว เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของจิตเรา จิตเราไม่ค่อยอยู่กับตัว เดี๋ยวก็ไปโน่นไปนี่ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรเราถึงจะควบคุมจิตตรงนั้นได้ หรือทำให้สงบลงได้ การที่เราจะทำให้จิตสงบลงได้ จิตเราต้องว่าง หรือจิตเราต้องมีกำลังนะ ทีนี้สงสัยว่าเมื่อไม่สงบแล้วจะว่างได้อย่างไร ลองดูนะ.. ให้มองมาที่ดอกไม้ ขณะที่เห็นรู้สึกยังไงก็อย่างนั้นนะ เราจะจับที่ความรู้สึกเป็นหลัก

อย่างเช่นเวลาเราสบายใจ จิตใจเรารู้สึกหนักหรือเบา? เบานะ รู้สึกอย่างไรก็อย่างนั้น เพราะความรู้สึกตรงนี้คือลักษณะของจิต อันนี้คือลักษณะของจิต รู้สึกเบา รู้สึกโล่ง รู้สึกโปร่ง รู้สึกอึดอัด เวลาเราไม่สบายใจ ก็จะรู้สึกหนักๆ อึดอัดใช่ไหม? นี่คือการเห็นจิตตัวเอง รู้สึกทันทีโดยไม่ต้องคิด เพราะฉะนั้นนี่ต่อไปเดี๋ยวอาจารย์จะถาม ขณะที่เห็นดอกไม้ใจเราอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ตัวหรืออยู่ที่ดอกไม้? ให้มอง ขณะที่มองดอกไม้ ใจเราอยู่ที่ดอกไม้หรืออยู่ที่ตัว? อยู่ที่ดอกไม้นะ ถูกแล้วนะ อันนี้คือธรรมชาติของจิต เพียงแต่ให้สังเกตต่อว่า ขณะที่จิตอยู่ที่ดอกไม้ จิตกับดอกไม้เป็นอันเดียวกันหรือคนละส่วน? คนละส่วนนะ

ต่อนะ.. จิตกับดอกไม้เป็นคนละส่วนกัน ขณะเห็นรู้สึกไหมว่าจิตเราอยู่ในตัวหรือนอกตัว? อยู่ในตัว ไหนใครเห็นต่าง? ต้องขณะหนึ่งนะ เมื่อกี้บอกว่าขณะที่เห็นปุ๊บ จิตเรามาที่ดอกไม้ใช่ไหม? เพราะฉะนั้นขณะที่จิตมาที่ดอกไม้ จิตเราอยู่ในตัวหรือนอกตัว? นอกตัว อืม..เก่ง เก่งนะ ทีนี้สังเกตต่อ ถูกแล้ว เพียงแต่สังเกตต่อว่า ขณะที่จิตอยู่นอกตัว ให้สังเกตจิตที่อยู่ข้างนอกเนี่ย รู้สึกหนักหรือเบา? เบานะ สังเกตต่อนะ.. ความรู้สึกที่เบากับดอกไม้ อันไหนกว้างกว่ากัน? ความรู้สึกกว้างกว่านะ ความรู้สึกที่เบาสามารถย้ายที่ได้ไหม? เคลื่อนย้ายที่ได้ไหม? ได้นะ

ต่อไปให้ย้ายจิต ย้ายความรู้สึกที่เบาอันนี้แหละ เขาเรียกฝึกใช้จิต เรารู้ว่าจิตเบาแล้ว เอาจิตที่เบามาใช้งานให้ได้ ไม่ใช่แค่เบาๆ แล้วหยุด อันนี้สำคัญ เพราะทุกๆอารมณ์ที่เกิดขึ้น จิตทำหน้าที่รับรู้ ไม่ว่าจะเกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ก็ตาม จิตเป็นผู้ทำหน้าที่รับรู้ เพราะฉะนั้นเราสามารถย้ายจิตดวงนี้ได้ เราก็สามารถรับรู้ได้ทุกอารมณ์ ลองดูนะ ให้จิตที่เบา ย้ายจิตที่เบาไปที่มือ ลองดูว่าที่มือรู้สึกยังไง? เมื่อจิตที่เบาไปที่มือ มือรู้สึกหนักหรือเบา? หนัก ให้ดูที่จิตไม่ใช่ดูมือ เราย้ายจิตไปที่มือก็จริง แต่ให้ดูจิตเรา ให้จิตกว้างกว่ามือ จิตที่เบาความรู้สึกที่เบากว้างกว่ามือหน่อย รู้สึกเป็นยังไง? เบา ย้ายความรู้สึกที่เบาไปที่แขน แขนรู้สึก? เบา ย้ายความรู้สึกที่เบาไปที่สมอง ลองดูรู้สึกเป็นยังไง? เบานะ ตรงนี้จิตที่เบาทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ ย้ายไปรู้ตรงไหน ตรงนั้นก็เบา

ลองสังเกตอีกนิดหนึ่ง จิตที่เบาเนี่ยให้กว้างกว่าตัวได้ไหม? ขณะที่จิตกว้างกว่าตัว ตัวเป็นยังไง? ตัวรู้สึก? เล็กลง ขณะที่ตัวเล็กลง รู้สึกหนักหรือเบา? สังเกตจิตที่เบา ความรู้สึกที่เบากับตัวที่นั่งอยู่เป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วน? คนละส่วนนะ อืม.. ถูกแล้ว ตรงนี้เป็นการแยกรูปแยกนาม จิตที่เบาคือนาม ตัวที่นั่งอยู่คือรูป คือการแยกรูปแยกนาม ต่ออีกนิดหนึ่งนะ ทำถูกแล้ว

เพราะฉะนั้นต่อไปสังเกตต่อว่า จิตที่เบาเนี่ย ลองขยายจิตที่เบาให้เท่ากับห้องนี้ได้ไหม? ปล่อยจิตที่เบาให้กว้างออกเท่ากับห้องนี้ ลองดู พอกว้างออกแล้วรู้สึกเป็นยังไง? กว้างออกแล้วรู้สึกยังไง? จิตที่กว้างนะ โล่ง โล่งมากขึ้นหรือเท่าเดิม? มากขึ้น ทีนี้ลองต่อนะ นี่เป็นการฝึกจิต นี่คือการเห็นจิตตัวเอง เห็นไหม.. เราสามารถรู้ขอบเขตของจิตเราได้ เพราะเรารู้ถึงลักษณะของจิตว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร เราก็จะดูขนาด ขอบเขตของจิตเราไม่ได้ บางทีจิตเราอยู่แคบๆ เราก็จะไม่รู้ว่าจิตเราแคบ

ทีนี้ลองดู.. ให้ความรู้สึกหรือจิตที่เบาเนี่ยกว้างไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ให้กว้างเท่าท้องฟ้าไปเลย ปล่อยไปไกลๆ รู้สึกเป็นยังไง? ปล่อยให้กว้าง ปล่อยความรู้สึกหรือจิตที่เบาให้กว้างเท่ากับท้องฟ้า ให้กว้างเท่ากับจักรวาล พอกว้างออกไปแล้ว จิตที่กว้างรู้สึกอย่างไร? เบาสบายนะ รู้สึกโล่งขึ้น ตรงนี้สังเกตอีกนิดหนึ่ง สังเกตต่อนะ จิตที่โล่งรู้สึกเป็นไง? วุ่นวายไหม? สงบ ตรงนี้คือดูจิตตัวเอง เขาเรียกเห็นจิตในจิต เพราะฉะนั้นให้จิตที่เบาทำหน้าที่รับรู้อารมณ์

สังเกตดู ขณะที่จิตที่เบา โล่ง สงบ ถามว่าจิตที่กว้าง ที่โล่ง เบา เขาบอกว่าเป็นเราหรือเปล่า? เขาไม่บอกว่าเป็นใคร และย้อนกลับมาดูนะ จิตที่เบาย้อนกลับมาดูตัวที่นั่งอยู่ ตัวเราที่นั่งอยู่เขาบอกว่าเป็นใครหรือเปล่า? บอกไหมว่าเป็นใคร? ไม่บอกนะ ขณะที่ไม่บอกว่าเป็นใคร รูปที่นั่งอยู่รู้สึกหนักหรือเบา? เบานะ ตรงนี้เขาเรียกว่าเห็นความเป็นอนัตตา คือความไม่มีตัวตน ไม่บอกว่าเป็นเราเป็นเขา หรือไม่บอกว่าเป็นใคร เราถาม ไม่ใช่คิด เราเป็นผู้ถาม พอถามก็จะเห็นคำตอบที่เกิดขึ้น เมื่อไม่บอกว่าเป็นเรา ไม่บอกว่าเป็นใคร สังเกตดูนะ จิตขณะนั้นมีกิเลสตัวไหนเกิดบ้าง? ไม่มีเลย นี่คือจิตที่บริสุทธิ์ สงบ เบา โปร่ง อิสระ ตรงนี้ถูกแล้วนะ ทำได้ดี

ต่อไปให้เอาจิตที่เบามาใส่ตรงที่ส่วนที่ ๒ จากคอถึงลิ้นปี่ ลองเอาความเบาใส่เข้าไป รู้สึกเป็นไง? รู้สึกยังไงแล้วบอกได้เลยนะ ถ้าใส่ไม่ได้ก็บอกว่าไม่ได้ แค่นั้นเองนะ ไม่ผิด ใส่ไม่ได้นะ วิธีใส่เข้าไปก็คือ จำได้ไหมขณะที่เราย้ายความรู้สึกเบาไปที่สมอง สมองรู้สึกโล่งได้ใช่ไหม? เราก็ย้ายแบบนั้นแหละ ใช้วิธีเดียวกัน เอาความรู้สึกที่เบาย้ายมาไว้ที่ตัว ตรงนี้ที่หทยวัตถุ เขาเรียกระหว่างคอถึงลิ้นปี่ ตรงนี้ทั้งหมดเลยนะ ทั้งตัว ไม่ใช่เฉพาะเป็นเล็กๆ ยังไม่ได้ไม่เป็นไร ไม่ต้องรีบ ต่อไปรู้สึกเป็นไง? ได้ไหม? ไม่แน่ใจ รู้สึกว่าเบา เออ.. ถูกแล้วนะ จริงๆลองใหม่นะ คนทำได้แล้ว ถูกแล้ว

ต่อไปให้จิตที่เบา พอนั่งหลับตา พอเราเคยกำหนดพองยุบ ก็เอาความรู้สึกที่เบาเกาะติดไปกับพองยุบ พร้อมกับสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอาการพองยุบว่าเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร อย่างเช่น เวลาพองออกเนี่ยเขาเป็นกลุ่มก้อน เป็นเส้น หรือว่าเป็นคลื่น มีอาการกระเพื่อมหรือว่าเป็นอย่างไร อันนี้นั่งแล้วกำหนดอย่างนี้ คนที่กำหนดลมหายใจเข้าออก ก็เอาความรู้สึกหรือจิตของเราเกาะติดไปกับลมหายใจ พร้อมกับสังเกตการเปลี่ยนแปลง ขณะที่เราหายใจเข้า หายใจเข้าไปลึกถึงไหนก็ปล่อยให้ถึงนั่น ไม่ต้องบังคับนะ ให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ถ้าเขาสั้น ก็ให้รู้ชัดว่าสั้นๆเบาๆ แต่ถ้ายาวก็ตาม ตามอาการนั้นไปเรื่อยๆจนสิ้นสุด แล้วก็สังเกตระหว่างขณะที่หายใจเข้าไปแต่ละครั้ง ต้องสังเกตเป็นขณะๆแต่ละครั้งเลยนะ ขณะที่เข้าไปแต่ละครั้ง มีความแตกต่าง มีการเปลี่ยนแปลง มีความแตกต่างกันอย่างไรโดยไม่ต้องบังคับ ตามรู้อย่างเดียว ตามรู้อย่างเดียว

ถ้าสติเราสามารถเกาะติดกับอาการของลมหายใจนั้นได้ยิ่งดีนะ เพราะการกำหนด หรือจิตที่เกาะติดกับอาการนั้น เขาเรียกว่าเป็นการกำหนดได้ปัจจุบัน ยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นความเกิดดับหรือเปลี่ยนแปลง เห็นความแตกต่างกันมากเท่าไหร่ สติเราก็จะอยู่กับปัจจุบันมากเท่านั้น หลักของวิปัสสนาคือ การกำหนดรู้การเกิดดับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะตั้งอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หน้าที่ของเราคือ เข้าไปรู้ถึงธรรมชาติของเขาเท่านั้นเอง เข้าไปรู้ถึงลักษณะการเกิด การตั้งอยู่ และดับไป โดยไม่ต้องบังคับ และการเข้าไปรู้ ไม่ใช่เพียงเป็นผู้ดูอยู่ห่างๆ หรืออยู่ไกลๆ ต้องเข้าไปเกาะติดกับอาการ เราถึงจะเห็นชัด เขาเรียกการยกจิต ก็คือการยกจิตขึ้นสู่อาการนั้น วิจารณ์คือเกาะติดกับอาการ ดูการเปลี่ยนแปลง ดูการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเหล่านั้นไปเรื่อยๆ ดูว่าเขาเป็นอย่างไร ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ตาม

สภาวะที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งปฏิบัติ หรือเจริญกรรมฐานนั้น อารมณ์หลักๆที่เกิดเป็นประจำ หรือต้องเกิดอย่างแน่นอน ซึ่งเรียกว่าอารมณ์หลัก ก็คือ ๑. ลมหายใจเข้าออก หรือพองยุบ ๒. ก็คือเวทนา เวทนาหมายถึงความปวด ความเมื่อย อาการชา อาการคัน อันนี้เรียกว่าเวทนา อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความคิด เวลาเรานั่งแล้วมีความคิดเกิดขึ้น เวลาปฏิบัติเมื่อไหร่ก็จะมีความคิดแว่บไปโน่น แว่บไปนี่ เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ไม่อยู่กับที่ สภาวะเหล่านี้จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ๓ - ๔ อย่าง อีกอย่างหนึ่งก็คือสีสัน สีสันต่างๆ หรือว่านิมิตที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งสมาธิ ตรงนี้เรียกว่าอารมณ์หลัก

ไม่ว่าอารมณ์ไหน สภาวะไหนเกิดขึ้นก็ตาม หน้าที่ของเราคือ ตามกำหนดรู้ หรือเอาจิตเข้าไปที่อาการนั้น เข้าไปกำหนดรู้ให้ชัดว่าเขาเกิดอย่างไร เกิดแล้วดับอย่างไร เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ว่าจะเห็นขณะเกิดอย่างเดียว บางครั้งเห็นแต่ตอนที่เกิดใหม่ เกิดใหม่ เกิดใหม่.. อย่างเดียว ตอนดับไม่เห็น ก็ไม่ผิดนะ ไม่ผิดนะ แม้จะเห็นเกิดอย่างเดียวก็ตาม บางครั้งเห็น แต่ว่าการเกิดไม่ทัน รู้แต่ว่า รู้แล้วก็หมด รู้แล้วก็หมด รู้แล้วหมด รู้แล้วหมดก็คือ รู้อาการ รู้แล้วหมดไป รู้อาการดับอย่างเดียว ไม่เห็นตอนเกิดแต่เห็นตอนดับ ถามว่าผิดไหม? ไม่ผิด บางครั้งเห็นเฉพาะตอนเกิด เกิดอย่างเดียวดับไม่เห็น ก็ไม่ผิด เพียงแต่ว่าสภาวะช่วงนั้นขณะนั้นเป็นอย่างนั้นเองนะ เป็นอย่างนั้นเอง

เรามีหน้าที่ตามกำหนดรู้ แต่ต้องรู้ให้ชัด ไม่งั้นนี่จะหลับนะ ถ้าดูเผินๆ ไม่ได้ใส่ใจ ดูแค่รู้เฉยๆ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง พอสมาธิมากขึ้น ก็จะทำให้ง่วง แล้วหลับ เพราะฉะนั้นต้องเกาะติดนะ ใช้ความรู้สึกที่เบาเกาะติดอาการ ให้เวลาสัก ๑ ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยเล่าสภาวะเห็นยังไงเดี๋ยวเล่าให้ฟัง ใครมีคำถาม ใครสงสัย อยากถามก็ถามได้ จะได้เล่าสภาวะพร้อมกัน

การกำหนดไม่ว่าจะเป็นการกำหนดลมหายใจหรือพองยุบก็ตาม ถ้าเขาเบาลง น้อยลง บางลง หรือหายไป ก็ให้รู้ชัดตามที่เขาเป็น ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องบังคับนะ บางทีรู้สึกลมหายใจเบาลงๆ และเราก็บังคับให้มันแรงขึ้นมาใหม่ อันนั้นไม่ต้อง แต่ให้รู้ชัดว่าเขาเบา เขาบาง แต่ไม่ใช่ไม่ใส่ใจหรือไม่สนใจที่จะดู อันนั้นไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ถูก เพราะการเจริญสติคือ การทำให้สติเราอยู่กับปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันเราไม่ต้องหาให้ยาก ก็คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับรูปของเราหรือที่ตัวของเรานั่นเอง เพราะธรรมชาติที่รูป หรือที่ตัวของเรามีอาการเกิดดับ มีอาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีอาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่ว่างเปล่านิ่งๆอย่างเดียว ถ้าสังเกตดีๆเราจะเห็น ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

สำหรับบางคนที่มีสมาธิดีนะ มีกำลัง ฝึกแล้วเนี่ย ขณะที่จิตว่าง พอนิ่งในความว่าง เมื่อยกจิตขึ้นสู่ความว่าง ให้นิ่งในความว่าง พอนิ่งในความว่างปุ๊บเนี่ย สังเกตว่าในความว่างข้างหน้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง มีอะไรเกิดขึ้น ถ้ามีอาการเกิดดับปรากฏขึ้นมา ให้เกาะติดตามรู้อาการเกิดดับนั้นๆ ถ้าเรากำหนดหรือรู้ชัดว่า ขณะที่ตามรู้อาการเกิดดับของสภาวะที่เกิดขึ้น ถ้าบอกได้ด้วยว่าเป็นอาการเกิดดับของอารมณ์อะไรจะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะจะรู้ที่มาที่ไปของสภาวะที่เกิดขึ้น จะไม่มีอาการอยู่ๆก็เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไป เพราะธรรมชาติของจิตในการกำหนดอารมณ์ เราต้องรู้อารมณ์หลักที่เรากำหนดว่าคืออะไร

ถ้าเรารู้อารมณ์หลักว่าเรากำหนดอะไร ก็จะรู้ว่าสภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเกิดจากอารมณ์ไหน ถ้าความรู้สึกเราว่างจริงๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ให้นิ่งในความว่าง แล้วจับที่ความรู้สึกที่ทำหน้าที่รู้ความว่าง พร้อมกับสังเกตว่า เมื่อจิตไปจับที่ความรู้สึกที่รู้ว่าว่างแต่ละขณะ ความรู้สึกที่รู้ว่าว่างหรือใจรู้อันนั้นมีอาการอย่างไร มีการเกิดดับ มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า? มีอาการดับไปเกิดใหม่หรือเปล่า? หรือตั้งนิ่งเฉยๆ? ให้เข้าไปดูที่อาการนะ ขณะที่รู้สึกมีอาการเคร่งตึง ให้เข้าไปที่อาการ และทะลุรูปออกไป ทำรูปให้ว่าง ถ้ามีหลายอารมณ์ มีหลายๆอารมณ์ ให้เลือกอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เลือกกำหนดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นหลัก อารมณ์ไหนชัดที่สุดหมายถึงชัดที่สุดในความรู้สึก ไม่ใช่ใหญ่ที่สุด คือชัดที่สุดในความรู้สึก ให้เอาความรู้สึกเราไปกำหนดอาการนั้น

เมื่อเราเลือกอารมณ์ที่ชัดที่สุด กำหนดไปสักพัก อารมณ์นั้นหมดไป มีอารมณ์ใหม่เด่นชัดขึ้นมาต่อ ก็กำหนดอารมณ์ใหม่ที่เด่นชัดขึ้นมาต่อ เมื่อกำหนดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อารมณ์ก็จะน้อยลง สภาวะต่างๆที่รู้สึกว่ามีเยอะแยะมากมายก็จะน้อยลง ก็จะเหลือแค่อารมณ์ที่ชัดที่สุดเฉพาะหน้าที่ปรากฏขึ้นมาให้เรากำหนด ต่อไปก็จะกำหนดง่ายขึ้น กำหนดอารมณ์ข้างหน้าอย่างเดียว เรามีหน้าที่ตามกำหนดรู้ถึงลักษณะการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสภาวะต่างๆเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพองยุบ หรือลมหายใจเข้าออก เวทนาคืออาการเจ็บปวด เมื่อยคัน ชา หรือความคิดก็ตาม เรามีหน้าที่ตามกำหนดรู้อาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงของเขาเท่านั้น ต้องกำหนดอย่างไม่มีความอยาก อยากรู้ได้นะ อยากรู้เป็นการทำให้เกิดปัญญา อยากรู้การเปลี่ยนแปลง อยากรู้ถึงลักษณะการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตรงนี้ยิ่งอยากรู้ ความเพียรยิ่งมาก แต่ถ้าอยากได้ อยากให้เป็น หรืออยากให้ตั้งอยู่ตรงนั้นเกิดจากกิเลสนะ ตรงนั้นจะเป็นกิเลส จะทำให้สติเราอ่อนลง แต่ถ้าอยากรู้เมื่อไหร่ สติยิ่งตื่นตัว จิตยิ่งตื่นตัว สติมีกำลัง สมาธิก็จะเพิ่มขึ้น

ดังนั้นเวลาเราปฏิบัติ การพิจารณาสภาวะธรรมต่างๆ ต้องมีความรู้สึกอยากรู้ หรืออยากเห็นว่าต่อจากนั้นเป็นอย่างไร เมื่อสภาวะนี้เปลี่ยนแล้ว ต่อไปสภาวะใหม่เกิดขึ้นเปลี่ยนอย่างไร หรือเกิดดับอย่างไรต่อไป การตามรู้ ตามกำหนดรู้ให้ชัดนะ ไม่ใช่ว่าอยากให้เป็นอย่างนี้ตลอด อยากให้อยู่อย่างนี้ อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากให้เป็นอย่างนั้น อันนั้นเรียกว่ากิเลส ความอยากที่เกิด อยากอย่างมีตัวตนเป็นกิเลส ความอยากที่จะพาเราพ้นทุกข์คือ อยากรู้ธรรมชาติ อยากรู้สัจธรรม ต้องอาศัยความอยาก ทำให้เรามีความเพียร มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติ เมื่อเราพิจารณา ยิ่งเห็นอาการเปลี่ยนแปลง การเกิดดับของอารมณ์ของสภาวะที่เกิดขึ้นข้างหน้ามากเท่าไหร่ จิตก็ยิ่งมีความตื่นตัว หรือเพลิดเพลิน ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เซื่องซึม นิวรณ์ไม่เกิดนะ พอใจที่จะกำหนดรู้ ตามกำหนดรู้ให้ชัดในสิ่งที่เกิดขึ้น ในสภาวะที่เกิดขึ้น

ถ้ารู้สึกว่ามีความคิดหรือจิตไม่ค่อยสงบ ทำให้กำหนดอารมณ์อื่นไม่ได้ ให้เข้าไปรู้ความไม่สงบ ให้เอาความรู้สึกเข้าไปรู้ความไม่สงบนั้น เมื่อเอาความรู้สึกเข้าไปรู้และยังเห็นอาการไม่สงบอยู่ เห็นความไม่สงบ ต่อไปให้ความรู้สึกที่ว่างเบาเข้าไปชน ให้ความรู้สึกใหญ่กว่าอารมณ์นั้น แล้วเข้าไปชน ชนไปเรื่อยๆ พอชนแต่ละครั้ง ให้สังเกตว่าอาการนั้นเขาดับไป สลายไป จางไป หรือว่าดับเด็ดขาด นี่คือสังเกตการเกิดดับ สังเกตอาการเกิดดับของอารมณ์นั้น

สำหรับคนที่รู้สึกว่านั่งแล้วยังมีอะไรวุ่นๆ แต่บอกไม่ถูก ไม่สงบ รู้สึกมันมีอะไรรบกวน การที่เราฝึกย้ายจิตได้ เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น หรือมีสภาวะต่างๆเกิดขึ้น เราจึงสามารถย้ายจิต หรือเอาจิตของเราไปที่อารมณ์นั้นได้ เข้าไปที่อาการนั้นได้

ถ้าใครเห็นสภาวะเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ไกลๆ เบาๆ ไม่สามารถเข้าถึงสภาวะนั้นได้ ให้นิ่ง แล้วสังเกตดู ให้นิ่งก่อน นิ่งๆ สังเกตดู ต่อไปก็ให้มาจับที่ความรู้สึกที่นิ่ง จับที่ความรู้สึกที่ทำหน้าที่รู้สภาวะนั้น เพราะการจับที่ความรู้สึกคือผู้ดู หรือจิตที่นิ่งอยู่ จะทำให้เรากำหนดได้ปัจจุบัน จับนามถูก สภาวะก็จะชัดขึ้นมา

การเจาะสภาวะคือ การมุ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างเดียว อย่างต่อเนื่อง เกาะติด ตามกำหนดรู้การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างต่อเนื่อง จนอาการเหล่านั้นสิ้นสุดลงในแต่ละขณะ แต่ละขณะ ในขณะหนึ่งอาจจะตามได้ กำหนดอาการเกิดดับที่มีความต่อเนื่องได้ประมาณสัก ๒ นาที แล้วก็สิ้นสุดลง สิ้นสุดลงแล้วเกิดใหม่อีก เกาะติดไปอีกสัก ๓ นาที อันนี้เค้าเรียกสิ้นสุดแต่ละขณะ แต่ละขณะ แต่ละครั้ง หรืออาจจะเกิดขึ้นประมาณสัก ๑ นาที แต่ภายใน ๑ นาทีนั้น มีอาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนสิ้นสุดลงหรือว่างไป อันนี้เรียกว่าสิ้นสุด สภาวะแต่ละขณะ แต่ละช่วง
เพราะฉะนั้นถ้าสังเกตอย่างนี้ เราจะเห็นว่าแต่ละขณะ อย่างเช่นขณะที่กำหนดประมาณสัก ๒ นาทีแรก อาการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดดับนั้นมีการเกิดดับในลักษณะอย่างนี้ อย่างนี้ พอช่วงต่อไป พอหมดไปก็เกิดใหม่อีก อาการเกิดดับที่เกิดใหม่ยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนต่างออกไปจากเดิม นั่นคือวิธีสังเกต

จุดที่ต้องสังเกต การที่เรามีเจตนาที่จะรู้ถึงความแตกต่าง ความเปลี่ยนแปลง ลักษณะของอาการเกิดดับ เป็นการพัฒนาปัญญา เป็นการฝึกการพิจารณาสภาวะให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะสภาวะที่เกิดขึ้นภายในที่เกิดจากการนั่งสมาธิหรือการปฏิบัติธรรมเป็นสภาวะที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่สภาวะที่ละเอียดเหล่านี้แหละ ในชีวิตหนึ่งที่เป็นบัญญัติสมมติโลก อาการต่างๆก็เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงในลักษณะอย่างนี้ แต่เป็นของหยาบแค่นั้นเอง ดังนั้นถ้าเราสามารถพิจารณาสภาวะที่ละเอียดอ่อน ความละเอียดอ่อนที่เกิดขึ้นภายในได้ สภาวะภายนอกเราก็จะสามารถกำหนดได้ พิจารณาได้อย่างละเอียด อย่างรอบคอบได้เช่นกัน

การพิจารณาตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ การกำหนดรู้อาการเกิดดับ การเปลี่ยนแปลง จะต้องไม่เป็นการปรุงแต่งนะ ไม่มีการปรุงแต่ง อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่าเขาเป็นอย่างไร ขณะที่เห็นการเปลี่ยนแปลง หรืออาการเกิดดับขณะที่ตามกำหนดรู้อยู่นั้น ให้สังเกตสภาพจิตเราด้วยว่ารู้สึกอย่างไร เช่น ยิ่งตามรู้อาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ สภาพจิตยิ่งรู้สึกตื่นตัว ใสขึ้น นิ่งขึ้น สงบขึ้น หรือว่ายิ่งดูยิ่งเบลอ ยิ่งเบลอ ยิ่งคลุมเครือ ยิ่งเป็นหมอกๆ มัวๆ สลัวๆ รู้สึกยังไงตรงนี้ให้รู้ชัด

มีเวลาอีก ๕ นาที เดี๋ยวค่อยๆถอนออกจากสมาธิ ค่อยๆลืมตา การถอนจากสมาธิก็ให้เราค่อยๆลืมตาธรรมดานะ จิตเราก็จะถอนออกมา ไม่มีพิธีอะไรมาก สมาธิเราถอน รู้สึกตื่นตัว หรือถอยออกมาจากอาการ


แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 24 ก.ค. 2018, 17:38, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2018, 10:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




ปฏิบัติธรรม วัดบางไผ่.jpg
ปฏิบัติธรรม วัดบางไผ่.jpg [ 74.91 KiB | เปิดดู 5098 ครั้ง ]
ขันธ์ ๕
ณ วัดบางไผ่พระอารามหลวง จ.นนทบุรี
วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗

เรื่องขันธ์ ๕ จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญนะ การที่เราปฏิบัติธรรมที่จะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ก็อาศัยการพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ คืออะไร ? ขันธ์ทั้ง ๕ คือตัวเรา ใช่ไหม ? ตัวเรานี่แหละที่ประกอบด้วยขันธ์ทั้ง ๕ มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ คือตรงนี้ เวลาเราปฏิบัติที่จริงแล้วเรากำหนดเรื่องของขันธ์ ๕ ลองสังเกตดูสิ ดูรูป ก็คือดูร่างกายของเรา รูปนี้เขาเรียกว่าเป็น “รูปขันธ์” ตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้ก็คือตัว “วิญญาณขันธ์” เห็นไหม มา ๒ ขันธ์แล้ว รูปขันธ์อย่างหนึ่ง วิญญาณขันธ์อย่างหนึ่ง

“สังขารขันธ์” คือการปรุงแต่ง เราเข้าใจแต่ว่าร่างกายนี้คือตัวสังขาร เข้าใจผิดไหม ? ไม่ผิดหรอก เข้าใจถูกเลยว่ารูปนี้ก็คือสังขาร ตัวเป็นสังขารอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่า “รูปสังขาร” ทำไมถึงเรียกว่าสังขาร ? เพราะถูกปรุงแต่งด้วยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็กรรม ไม่ใช่แค่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างเดียวนะ มีกรรมประกอบเข้ามา เป็นผลของกรรมที่เราทำในอดีตประกอบขึ้นมา ทำให้เราอุบัติขึ้นมาแล้วเป็นคน เขาเรียกว่า “รูปสังขาร” รูปสังขารตรงนี้จัดเป็นรูปขันธ์

ทีนี้ นามขันธ์คืออะไร ? นามทั้งหมด ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นนามขันธ์ “เวทนาขันธ์” อาศัยอะไรเกิด ? เวทนาขันธ์ก็อาศัยรูปนามอีกเหมือนเดิมเกิดขึ้นมา อาศัยร่างกายเกิดขึ้น เจ็บ ปวด เมื่อย ชา คัน ตรงนั้นเขาเรียกว่าเป็นเวทนาทางกาย ที่เรากำหนดเวทนาเวลามีเวทนาเกิดขึ้น มีสติเข้าไปกำหนดรู้อาการเกิดดับของเวทนา เราก็ไปรู้ถึงความไม่เที่ยงของขันธ์นั่นเอง รู้ถึงเวทนาขันธ์เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็คือรู้อาการพระไตรลักษณ์ รู้ถึงไตรลักษณะของเวทนาขันธ์ที่เกิดขึ้นกับกายของเรา ตรงนี้เป็นเวทนาทางกาย

แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวทนาทางใจหรือเวทนาทางจิต อันนั้นก็เป็นเวทนาขันธ์เหมือนกัน เวทนาทางใจของเราเป็นยังไงบ้าง ? ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นเวทนาประเภทไหน ? (โยคีกราบเรียนว่าสุขเวทนา) แหม! เพิ่งฟังธรรมได้ไม่กี่คำก็มีความสุขแล้ว นั่นคือเป็นเวทนาทางใจของเราหรือเวทนาทางจิต บางคนก็เป็นอุเบกขาเวทนา คือจิตเรารู้สึกเฉย ๆ ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน แล้วก็ทุกขเวทนา ความขัดเคือง ขุ่นมัว ขัดข้องหมองใจของเรานั้น เป็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับใจ จัดเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวทนาตรงนี้ก็จัดเป็นขันธ์ ๆ หนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นเวทนาขันธ์

เวทนานั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? เวทนาไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป เวทนาเมื่อไม่เที่ยง ลองดูว่า เราบังคับเขาให้เที่ยงได้ไหม ? ก็ไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ก็เป็นอะไร ? ก็เป็นอนัตตา ใช่ไหม ? ลองสังเกตดูนะว่า เวทนาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ ล้วนตั้งอยู่ในกฏของไตรลักษณ์ เกิดขึ้นแล้วดับไป อย่างเมื่อคืนนี้ที่บอกว่าเวลาเราปฏิบัติธรรม บางคนกลัวติดสุข สุขขึ้นมาแล้วอย่าไปคลุกคลีนะ ต้องรีบดับ จะได้ไม่ติดสุข! กลัวติดสุขแต่ก็พยายามยึดอุเบกขา! ถามว่า เป็นอุปาทานไหม ? ก็อุปาทานอีกนั่นแหละ อุเบกขาเวทนาไง! เราก็คิดแต่ว่าความสุขเป็นของไม่เที่ยง แล้วความทุกข์ล่ะมันเที่ยงไหม ? แล้วทำไมต้องติดเขาล่ะ ?

เมื่อทุกขเวทนาทางใจเกิดขึ้น เราก็พิจารณาสิว่า ทุกข์มันไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวก็หาย! ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ ทุกข์อยู่กับเราไม่นานหรอก มันทุกข์แป๊บเดียว พอเราคิดว่าทุกข์มันไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวมันก็หายแล้ว ความทุกข์ก็จะบรรเทาทันที แต่ถ้าเราเห็นว่า ทำไมต้องทุกข์แบบนี้ ทุกข์มากเหลือเกิน... ตอนที่เราคร่ำครวญความทุกข์จะทวีคูณมากขึ้น แต่ถ้าเรากำหนดรู้ถึงความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นมา ความทุกข์ก็สักแต่ว่าเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง แล้วเรามีสติกำหนดรู้ถึงกฏไตรลักษณ์ของเวทนาก็คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าเราพอใจที่จะรู้ว่า เขาเกิด เดี๋ยวเขาก็ดับ ลองดูว่า จิตใจเราเป็นอย่างไร ?

ความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว พิจารณาดูว่า “ทุกข์ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ควรเข้าไปยึดเอาถือเอาว่าเป็นของเรา” แต่ก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่งว่า ขนาดความทุกข์ไม่ใช่เรา ก็ยังยึดว่าเป็นของเรา! ที่จริง “ความทุกข์เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความเป็นเรา” ลองไล่สภาวะดูสิ เอาความรู้สึกว่าเป็นเราออกจากตัว เอาความรู้สึกว่าเป็นเราออกไปให้ไกล ลองดูว่า ตัวเรารู้สึกเป็นยังไง ? ใจเรารู้สึกเป็นยังไง ? (โยคีกราบเรียนว่า รู้สึกเบาโล่ง)

ขณะที่ไม่มีเรา แล้วคิดถึงเรื่องที่เคยทำให้ทุกข์ ลองดูว่า เขาทุกข์อีกไหม ? คิดด้วยความรู้สึกที่ไม่มีเรา แค่มีสติทำหน้าที่รู้เรื่องที่คิด มีแค่จิตทำหน้าที่รู้ถึงเรื่องที่คิดเท่านั้นเอง ลองดูว่า ทุกขเวทนาที่อาศัยเรื่องนั้นเกิดขึ้นได้หรือไม่ ? หรือคิดอย่างไรเขาก็ไม่ทุกข์ ? สังเกตดูว่า เมื่อไหร่ที่พิจารณากำหนดรู้อารมณ์ต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกที่ไม่มีตัวเรา ไม่มีเรา คือมีแต่ “สติสัมปชัญญะ” พิจารณากำหนดรู้เรื่องที่เกิดขึ้น ตรงนี้แหละที่ทำให้เรารู้ว่าทำไมระลึกถึงเรื่องที่เคยทำให้ทุกข์แล้วไม่ทุกข์ ที่เราเห็นได้เพราะ “ไม่มีเรา”

เมื่อไหร่ที่เติมคำว่า “เรา” เข้าไปในใจ ความรู้สึกว่าเป็นเราเกิดขึ้นมาที่ตัวนี่ ลองดูว่า ผลต่างกันไหม ? พอมีคำว่า “เรา” เกิดขึ้น ใจเรารู้สึกหนักหรือเบา ? หนัก ใช่ไหม ? นั่นคืออุปาทานที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ด้วยความเคยชินของเรา เวลาละจึงละยาก เพราะเราจะคิดเอาก็ไม่ได้ บางครั้งเราคิดได้ก็รู้สึกบรรเทาไป แต่บางครั้งระลึกไม่ได้มันก็จะเป็นเรา ทั้ง ๆ ที่เราอยากจะละทุกข์ คือไม่อยากจะทุกข์เลย แต่ก็ไม่ยอมปล่อยความรู้สึกว่าเป็นเราหรือตัวตน ยังมีเราอยู่ มีเราเป็นผู้รับ มีเราเป็นผู้เสวย เพราะฉะนั้น จึงมีผู้เสพอารมณ์นั้นตลอด แล้วทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางใจนี่มันก็ดับยาก ทั้ง ๆ ที่เขาเกิดดับตลอดเวลา

เวทนาทางใจที่เกิดขึ้น เวลาสุขเวทนาเกิดขึ้นมา เราก็เกิดความยินดีพอใจ อยากให้อยู่นาน ๆ เวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้นมา ก็ไม่อยากให้อยู่นาน อยากให้หายไว ๆ พอไม่เป็นไปตามความอยากก็เป็นทุกข์อีก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นแหละคือทุกข์ เพราะเราปรารถนาแล้วไม่เป็นอย่างที่ปรารถนา แต่เมื่อเรามากำหนดรู้แบบนี้ ที่เรากำหนดแยกรูปนาม เบื้องตันให้เห็นว่าจิตกับกายเป็นคนละส่วนกัน ตรงนี้เหลือเป็นรูปขันธ์กับนามขันธ์

ทีนี้ เมื่อเวทนาเกิดขึ้น เวลาเรากำหนดเวทนาทางกาย เวลามีความปวดแล้วไปกำหนดรู้ว่า “ความปวดกับจิตที่ทำหน้าที่รู้เป็นคนละส่วนกัน” อันนี้อาจารย์เฉลยแล้วนะ ถ้าเราพิจารณาเห็นถึงความเป็นคนละส่วนระหว่างจิตกับเวทนาปุ๊บนี่ เวทนาที่เกิดขึ้นทางกายจะบีบคั้นจิตใจเราน้อยลง คือความทรมานจะน้อย ความทุกข์ก็ทุกข์แค่ทุกข์ทางกาย ก็จะเห็นว่าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนาที่อาศัยเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้นมา เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ได้บอกว่าเป็นของเรา

พอไม่เห็นว่าเป็นเราปุ๊บนี่ ความทุกข์ที่จะเกิดกับเวทนาทางกายก็น้อยลง ความทุกข์ตรงนี้คือกิเลสที่จะเกิดกับใจของเราเพราะอำนาจของเวทนานั้นก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเรามีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่า เวทนาไม่ใช่ของเรา จิตที่ทำหน้าที่รู้เวทนาก็คนละส่วนกัน เมื่อเห็นอย่างนี้จึงทำให้รู้สึกว่าเวทนาก็สักแต่เวทนา แต่ถ้าเมื่อไหร่เราไม่พิจารณา หรือไม่มีปัญญาเข้าไปเห็นถึงความเป็นคนละส่วนระหว่างวิญญาณขันธ์กับเวทนาขันธ์ วิญญาณขันธ์กับเวทนาขันธ์ก็จะรวมเป็นอันเดียวกัน เมื่อเวทนาขันธ์กับวิญญาณขันธ์รวมกันเป็นอันเดียวกันเมื่อไหร่ ความเป็นเราก็เกิดขึ้น เมื่อมีความเป็นเราเกิดขึ้น ความทุกข์ทรมานกับเวทนาตรงนั้นก็จะมากขึ้นด้วยในตัว เพราะฉะนั้น การที่เราพิจารณากำหนดรู้เวทนาขันธ์ รู้ว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร

แล้วอีกอย่างหนึ่ง เวลาเรากำหนดเวทนา ไม่ใช่ว่าเรากำหนดรู้ว่า ปวดหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ... อย่างเดียว เพราะปวดใครก็รู้ ใช่ไหม ? เรารู้ตั้งแต่แรกตอนที่เขาเริ่มปวดแล้ว ไม่ท่องก็รู้! แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้ก็คือว่า เมื่อมีความปวดเกิดขึ้น เราจะกำหนดรู้อะไร ? ปัญญาของวิปัสสนาก็คือ รู้อาการพระไตรลักษณ์ของเขา รู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเขา เพราะฉะนั้น เมื่อมีความปวดเกิดขึ้น ก็มีสติเข้าไปกำหนดรู้ว่า ปวดแล้ว เกิดแล้วดับอย่างไร

บางทีค่อย ๆ ปวดขึ้น ปวดขึ้น ปวดขึ้น... ปวด ๆ ๆ ๆ ถึงที่สุด... จะสุดแล้วไม่สุด ปวดทนไม่ได้ แล้วเราก็ขยับเสียก่อน ใช่ไหม ? มันปวดจนถึงที่สุด ที่สุดไหน ? ก็ทนไม่ได้นั่นแหละถึงที่สุดของแต่ละคน แต่ทีนี้เวลาเขาปวดขึ้นมาเราก็ดู ปวด หยุดนิดหนึ่ง แล้วก็เบาลง เป็นขณะ บางครั้งที่ดูว่าปวดถึงที่สุดแล้วเขาหายอย่างไร ถึงที่สุดแล้วเขาจาง ๆ ๆ ค่อยบาง หรือว่าเป็นปึ๊บ ๆ ๆ เป็นขณะ ตรงนี้แหละคือลักษณะอาการเกิดดับของเวทนา ไม่ใช่ว่าปวดแล้วหายแล้วถึงเรียกว่าดับ ในขณะที่มีเวทนาอยู่ ขณะที่ปวดตรงนั้น เขาจะแสดงอาการเกิดดับ ที่มันปึ๊บ ๆ ๆ ๆ ๆ ตรงนั้นคืออาการเกิดดับของเวทนา

ทีนี้ ขณะที่เราเห็นเวทนาทางกายตรงนี้ที่แสดงอาการเกิดดับ แสดงอาการพระไตรลักษณ์อยู่ ตัวจิตที่ไปรู้นี่ ถ้ารู้อย่างมีตัวตน เราก็จะทรมาน แต่ถ้าไม่มีตัวตน จะรู้ได้ว่าปวดมาก ปวดน้อย แล้วก็เบาไป และตัวสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการกำหนดเวทนาตรงนี้ ถ้าเราสังเกตเป็นคนละส่วน อย่างเมื่อคืนที่บอกว่า เอาความรู้สึกว่าเป็นแขนออก เป็นขาออก เป็นเข่าออก เป็นเราออกนี่ เขาเรียก “เพิกบัญญัติ” หมดแล้ว ก็จะเหลือแต่ “อาการ”

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าเวทนาที่เกิดขึ้น เขาเกิดอยู่ในที่ว่าง ๆ เกิดอยู่ในความสงบ เกิดอยู่บริเวณหัวเข่าก็จริงแต่ไม่มีรูปร่างของหัวเข่า ถ้าไม่มีรูปร่างของหัวเข่า จะเรียกว่าอะไร ? ก็เป็นความว่าง บริเวณตัวแต่ไม่มีรูปร่างของตัว จะเรียกว่ามีตัวได้ไหม ? ก็ไม่ได้อีก นั่นแหละก็คือต้องรู้ว่าเขาเกิดอยู่ในที่ว่าง ๆ บางครั้งพอสติเรามีกำลังมาก ๆ รู้สึกว่าเวทนามันมาเกิดอยู่ข้างหน้า มันลอยอยู่ข้างหน้า เหมือนกับตอนแรกก็ปวดหัวเข่า พอกำหนดไปมาก ๆ สติมีกำลังมากขึ้น กลับเห็นว่าเวทนาเขาลอยอยู่ข้างหน้าในที่ว่าง ๆ แล้วเราก็เห็นว่าเขาเกิดดับแบบนี้ แบบนี้...

ถ้าสติเรามีกำลังมาก เวทนาตรงนี้จะปรากฏอยู่ ๒ อย่าง เวทนาทางกายกับเวทนาทางจิต เวทนาทางกายกับเวทนาทางจิตก็จะมีความแตกต่างกัน ทางกายเป็นทุกขเวทนาคือความปวด แต่ทางจิตกลับเป็นสุขเวทนา หรือมีความสุขขณะที่กำหนดอาการเกิดดับของเวทนา จิตกลับเบิกบานผ่องใสขึ้นมา จิตกลับกลายเป็นสุขเวทนา แม้ร่างกายมีความปวด เป็นทุกขเวทนาทางกาย กลายเป็น ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น เวทนาทางกายกับเวทนาทางจิต ไม่จำเป็นต้องเป็นอันเดียวกัน

เวทนานั้นก็เป็นขันธ์ ๆ หนึ่งที่เกิดขึ้น แสดงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเปลี่ยนตลอดเวลา ร่างกายนี้เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เวลามีความเจ็บเกิดขึ้นตอนที่เราเจริญกรรมฐาน ทำไมเราต้องกำหนด ? จริง ๆ แล้วทำไมเวทนาเขาจึงต้องเกิดตอนที่เรานั่งกรรมฐาน ? เป็นเรื่องปกติของร่างกาย อยู่ในท่าไหนนาน ๆ ก็มีเวทนาเกิดขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละบางครั้งทำไมอยู่ตั้งนานเวทนาไม่เกิด !? บางครั้งนั่งชั่วโมงกว่าเวทนาไม่มี แต่บางที ๑๕ นาทีเวทนามาแล้ว นี่คือความไม่แน่นอน นี่คือการเปลี่ยนแปลง นี่คือสภาวธรรมที่เกิดขึ้น

บางครั้งเรานั่งไปนี่เวทนาทางกายไม่มีเลย ว่างหมด กายก็ว่าง ใจก็ว่าง เหลือแต่เวทนาที่เป็นสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ไม่ถึงกับสุขดื่มด่ำแต่ว่ารู้สึกสบาย ๆ เบา ๆ แล้วตัวสำคัญก็คือว่า ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้น สิ่งที่เราต้องสังเกต ต้องรู้นะว่าที่สบาย “ใคร” สบาย ? ใจสบาย ใช่ไหม ? ไม่มีใครสบายหรอก ใจเขาสบาย แต่เราก็คอยปลื้มนะ แล้วก็มีความสุขตาม พอ “ไม่มีเรา” แล้วเขารู้สึกสบาย สังเกตดูนะ ทำไมเขาถึงสบาย ?

จิตที่ไม่มีรูป ไม่มีร่างกาย ไม่มีเวทนาทางกาย นั่นแหละจิตเขาจะอิสระ เขาไม่ถูกพันธนาการ ไม่ต้องไปเกาะเกี่ยวกับอะไร ก็รู้สึกสบาย รู้สึกโล่ง ๆ โปร่ง ก็เลยรู้สึกอิสระ แต่เป็นความอิสระที่ประกอบด้วยสติและสมาธิ ไม่ใช่อิสระแบบหลงหรือแบบหลับ สติดี ที่เราเห็นว่าจิตเราโล่ง โปร่ง เบา ใส ตรงนี้ที่เรียกว่าดูสภาพจิตเรา ตรงนี้เป็นการเห็นจิตเรา เขาเรียก “ดูจิตในจิต” เห็นว่าจิตเบา จิตโล่ง จิตโปร่ง จิตสงบ แล้วตัวไหนทำหน้าที่เห็น ? ก็คือตัวจิตนั่นเองทำหน้าที่รู้ ก็คือตัววิญญาณขันธ์ทำหน้าที่รู้เวทนาที่เกิดกับใจของเรา

ทีนี้ ตัวสังขารทางจิต... สังขารทางกายคือร่างกายที่ถูกปรุงแต่งด้วยธาตุ ๔ ต่าง ๆ นี่ แล้วอีกอย่างหนึ่งที่เรายังกังวลและสงสัยว่าเราปรุงแต่งเองหรือเปล่า อย่าปรุงแต่งนะเดี๋ยวจะไปติดไปหลงในการปรุงแต่งสังขารอีก ตรงนี้แหละที่เวลาเราปฏิบัติแล้วเราก็กลัวว่าเราหลงไปคิดเอาเองหรือเปล่าในสภาวธรรมที่เกิดขึ้น สภาวธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเรานี่ เราคิดให้เขาเกิดหรือเปล่าเขาถึงได้เป็นอย่างนั้น ? เดี๋ยวเห็นอย่างนั้นเดี๋ยวเห็นอย่างนี้ มีนิมิตต่าง ๆ เกิดขึ้นมา เห็นอาคาร บ้านเรือน ตันไม้ ภูเขา เห็นคน เห็นสถานที่ต่าง ๆ แม้แต่เห็นพระพุทธรูปปรากฏขึ้นมา มาลอยอยู่ข้างหน้า ตรงนี้ถามว่า เป็นนิมิตหรือว่าเราปรุงแต่งขึ้นมา ?

ถ้าถามว่าเขาเกิดจากอะไร ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่โยคีจะต้องสังเกตให้ดี ต้องพิจารณา ต้องศึกษา ต้องสังเกตว่าเขาเกิดจากสมาธิ หรืออยู่ ๆ เขาเกิดเอง หรือว่าเป็นเพราะเราอยากรู้อยากเห็นแล้วก็คิดขึ้นมา อันนี้ต้องบอกตัวเองนะ เราจะต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ถ้าเราซื่อสัตย์กับตัวเอง เราไม่โกหกตัวเอง เราก็จะไม่หลอกตัวเอง แล้วเราจะไม่ปรุงแต่งขึ้นมา อยากให้เป็นนั่นอยากให้เป็นนี่ เราจะเห็นแต่ว่า พอสงบปุ๊บ มีภาพนิมิตนั้นขึ้นมานิมิตนี้ขึ้นมา ถามว่า นิมิตเกิดจากอะไร ? ก็เกิดจากสมาธินั่นเอง

ทีนี้ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างที่เราปฏิบัติอยู่นี่ เมื่อมีนิมิตเหล่านั้นขึ้นมา เราจะทำอย่างไร ? หน้าที่ของเราคือ เข้าไปกำหนดรู้ดูว่า “เขาเกิดแล้วดับอย่างไร” ไม่ใช่เข้าไปยึดเอา และขณะที่อาการเหล่านั้นปรากฎขึ้นมา สังเกตดูสภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร เราจะให้คำตอบกับตัวเองได้เลยว่า เป็นเพราะจิตเรานิ่ง ๆ สงบเงียบ ภาพต่าง ๆ จึงปรากฏขึ้นมา พอเรามีสติมากขึ้นภาพนั้นก็หาย พอจะเข้าไปดูให้ชัดเขาก็หาย นั่นคือเขาแสดงอาการพระไตรลักษณ์ พอสติมีกำลังมากเมื่อไหร่ เขาก็แสดงธรรมชาติของเขาที่เขาเป็นคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เมื่อเราเห็นธรรมชาติแบบนี้ ทุก ๆ อารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแล้ว ควรหรือที่จะเข้าไปยึดว่าเป็นของเรา ? เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ?

แต่นิมิตบางอย่างที่เกิดขึ้น ถามว่า เป็นไปได้ไหมอยู่ ๆ ก็มีนิมิตเหมือนบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ? อันนี้มี แต่สิ่งสำคัญ เราต้องพิจารณาให้ดี สังเกตให้ดี อย่าเพิ่งหลง แล้วอย่าเพิ่งสรุปว่า เคยเห็นแบบนี้ต้องเป็นแบบนี้ทั้งหมด อันนั้นจะทำให้เราหลงติดง่าย ๆ ต้องสังเกตดี ๆ บางครั้งก็เป็นติดต่อกันสัก ๑๐ ครั้ง เห็นแล้วบอกได้ถูกหมด พอครั้งที่ ๑๑ เจองานใหญ่ อ้าว! ผิดเสียนี่ กลายเป็นเราเข้าใจผิด กลายเป็นว่าเราสรุปเพราะจิตเราเคยชิน มันจะเกิดความอยากขึ้นมา อยากให้เป็น แล้วเราก็สร้างมโนภาพแบบนั้นขึ้นมา แล้วก็ไม่เป็นอย่างที่เราอยาก เพราะฉะนั้น นิมิตต่าง ๆ เหล่านี้ต้องสังเกต

แต่ว่าสิ่งที่ต้องสังเกตอย่างหนึ่งก็คือว่า ที่เราปรุงแต่งไม่ได้เลยก็คืออาการพระไตรลักษณ์ คืออาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของทุก ๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราสังเกตได้ว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร เพราะหลักของกฎไตรลักษณ์ ใครจะยึดอย่างไรก็ยึดไม่อยู่ เขาต้องดับไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป ไปบังคับเขาไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วไม่ให้ดับได้ไหม ? ก็ไม่ได้อีก ดับแล้วไม่ให้เกิดอีกได้ไหม ? ก็ไม่ได้ เหมือนลมหายใจของเรา หายใจสุดมันหมดไปแล้วนี่ ไม่หายใจออกได้ไหม ? ก็ไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ต้องออก นี่คือธรรมชาติที่เราบังคับไม่ได้

แล้วสภาวธรรมที่เกิดขึ้น อย่างเช่น บางคนกำหนดพองยุบ บางคนกำหนดลมหายใจ อาการของลมหายใจเขาเรียก “ตัวรูปขันธ์” ลมหายใจหรือพองยุบนี่คือการดูกาย เขาเรียกว่าการตามรู้อาการของกาย กายนี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ “กายภายใน” อย่างหนึ่ง อาการเกิดดับของกายภายในเขามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อีกอย่างหนึ่ง “มีสติไปในกาย” มีสติเกาะติดรู้ถึงอาการเคลื่อนไหวของเราตลอดเวลา อาจารย์จึงใช้ว่ากำหนดอิริยาบถย่อย มีสติตามรู้อาการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ตรงนี้สติเราก็จะอยู่กับปัจจุบัน ถ้าเราสำรวจกายอย่างเดียว ไหลไปไหลมา แล้วไม่เห็นอะไร เห็นแต่กาย กาย... เราก็บอกไม่ได้ว่ากายนี้เป็นของว่างเปล่า

แล้วตัวสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ที่บอกว่าอาการเกิดดับของรูปที่เป็นรูปปรมัตถ์จริง ๆ เราอาศัยร่างกายนี่แหละ อย่างเช่น อาศัยพองยุบ อาศัยลมหายใจ พอตัวหายไปหมด ลมหายใจหายไป อาการพองยุบหายไป มันเหลือแต่อาการที่เกิดขึ้น บางทีมันวุบ ๆ หรือมีอาการกระเพื่อมที่ตัวเราเบา ๆ วุบ ๆ หรือเป็นจุดเล็ก ๆ ข้างหน้า ใส ๆ ที่มันแวบ ๆ กระเพื่อม ตรงนั้นคือเป็นรูปที่ละเอียด อาศัยรูปหยาบก็จริงแต่รูปหยาบมันหายไป เหลือแต่ลักษณะอาการที่แสดงอาการพระไตรลักษณ์ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ร่างกายเรานี่ ถึงแม้เราหลับ เขาก็ยังทำงานเปลี่ยนแปลงเกิดดับอยู่โดยธรรมชาติของรูป แต่เราไม่เห็น

ในลักษณะเดียวกัน ขณะที่เรากำหนดรู้ สติเราดี รูปนี้หายไป ก็จะเหลือแค่อาการที่แสดงอาการเกิดดับที่เป็นรูปละเอียด จะเป็นรูปปรมัตถ์อย่างหนึ่งขึ้นมา มีอาการเปลี่ยนแปลงอยู่เรี่อย ทีนี้ บางทีเขาจะมาในลักษณะไม่ใช่รูปร่าง แต่จะเป็นสีเป็นแสง มีอาการวาบหายวาบหาย พอมาดูจริง ๆ อ้าว! กลายเป็นลมหายใจของเรา หายใจเข้ามันวุบเข้ามา หายใจออกมันวุบออกไป หายใจเข้าวุบเข้ามา แต่มันไม่ได้อยู่ตรงที่ตัวเหมือนเดิมแล้ว กลับมาอยู่ข้างหน้าเรา ตรงนี้ก็คืออาการเกิดดับของกายหรือของรูป เขาเรียก “ดูกายในกาย”

บางครั้งพอเราหลับตา ข้างหน้ามันมีอาการกระพริบแวบ ๆ อยู่ข้างหน้าแต่ก็อาศัยเปลือกตาของเรา อาศัยรูปที่ปิดตานี่แหละแต่มันมาชัดอยู่ข้างหน้า แวบ ๆ เราก็ เอ๊ะ! ทำไมมันเกิดอยู่ในที่ว่าง ๆ ? เป็นอาการเกิดดับของอะไร ? ที่จริงก็คืออาการเกิดดับของรูปนั่นแหละ อาการของกาย แล้วอีกอย่างหนึ่ง ที่บอกว่าพอลมหายใจหายไป พองยุบหายไป ตัวหาย เหลือแต่อาการเต้นของหัวใจที่เราเรียกว่าชีพจร มันตึ้บ ๆ ๆ ที่จริงก็คือเป็นอาการเกิดดับของรูป

บอกว่าเป็นอาการเต้นของหัวใจ แต่ทำไมผิดจังหวะ ใช่ไหม ? ทำไมบางครั้งเร็ว ๆ ๆ รัว ๆ ๆ แต่บางครั้งก็ตึ้บ ๆ ตามจังหวะของลมหายใจ ? นี่คือความไม่เที่ยงของเขา เขาเกิดดับตามปกติ แต่ทำไมเราเห็นแล้วไม่เหมือนเดิม ? ตรงนี้คือจุดสำคัญ! ทำไมถึงไม่เหมือนเดิม ? ที่เห็นต่างออกไปเพราะเกิดจากกำลังของสติ สมาธิ ปัญญาในการพิจารณาสังเกตรู้ในขณะนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น อาการของรูปขันธ์ที่มีการเกิดดับตรงนี้จึงเรียกว่าสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมา “ดูธรรมในธรรม” ดูสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นมาว่าเขาเกิดแล้วดับเปลี่ยนแปลงอย่างไร

คำว่า “สภาวธรรม” กับ “หัวข้อธรรม” คนละอย่างกัน “สภาวธรรม” คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นไปอยู่จริง ๆ ขณะนี้ “หัวข้อธรรม” คือ สมมติตั้งหัวข้อขึ้นมา เป็นเรื่องราวขึ้นมา แล้วก็พูดตามเรื่องนั้นไป เราก็จะตีความกันไปต่าง ๆ แต่สภาวธรรมเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น อย่างเช่น เวลาเราปวด เขาเรียกเป็นเวทนาที่เกิดขึ้น ถามว่า ต้องแปลไหม ? จะแปลว่าอย่างไรเวทนาขันธ์ ? เวทนาต้องแปลว่าเป็นแบบนี้ถึงเรียกว่าเวทนา ? ไม่ใช่! ปวดก็คือปวด เราไม่ต้องแปลเลย ตรง ๆ นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงแยกว่ารูปนามของเรา ถ้าแยกเป็นส่วน ๆ ก็มีรูปอย่างหนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกส่วนกัน ทำไมถึงเป็นคนละส่วนกัน ? ถ้าเราคิด เราจะไม่เห็นหรือแยกไม่ออก แต่ถ้าเราสังเกต เข้าไปกำหนดรู้จริง ๆ ถ้าเราแยกรูปนามได้ แยกจิตกับกายได้ เราจะเห็นเลยว่า เวลามีเวทนาเกิดขึ้น ก็จะมีตัวสติหรือตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้เวทนา ที่ทำหน้าที่รู้ว่าปวด ถามว่า ความปวดกับจิตที่ทำหน้าที่รู้เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วน ? ก็คนละส่วนกัน มันแยกส่วนกัน จึงเรียกเป็นคนละขันธ์กัน ถ้าเป็นส่วนเดียวกันก็เป็นขันธ์เดียว

ตรงนี้วิญญาณขันธ์คือตัวรู้ เวทนาขันธ์คืออารมณ์ที่ถูกรู้ ก็กลายเป็นคนละส่วนกัน นี่คือเรื่องของขันธ์ มันเป็นธรรมชาติเลย ทุกคนมีเหมือนกันหมด เวลาเดินแล้วปวดหลัง นั่งแล้วปวดหลัง ใครปวด ? ปวดอยู่ตรงไหน ? ก็ปวดอยู่ที่หลัง แล้วจิตอยู่ที่ไหน ? ไม่รู้ อันนี้ล่ะยากเลย! ถามว่า เวลาปวด จิตอยู่ที่ไหน ? อยู่ที่ปวด จิตกับความปวดเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ? ก็ “ฉัน” ปวดนี่ จะคนละส่วนได้ยังไง!? ก็มีฉันก็แล้วไป โดยที่ยังไม่ได้สังเกตไง

ถ้าเรานิ่ง แล้วสังเกตดูว่า “ความปวดกับตัวจิตหรือตัววิญญาณรู้ เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ?” แค่เราตั้งคำถามให้ตัวเองให้ถูกแค่นั้นเอง แล้วเขาจะปรากฏให้เราเห็น แต่ถ้าเราตั้งคำถามไม่ถูก เขาก็จะไม่ปรากฏให้เราเห็น “ตั้งคำถามให้ถูก” ทำไมถึงตั้งคำถามแบบนี้ว่าเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ? นี่แหละเพื่อการพิจารณาดูขันธ์ ๕ ว่าแต่ละขันธ์เขาต่างกันอย่างไร ทำไมพระพุทธเจ้าถึงแยกเป็นส่วน เราจะได้เห็นตามพระพุทธเจ้าสอนว่า เออ! เวทนาก็ขันธ์หนึ่ง วิญญาณก็ขันธ์หนึ่ง รูปก็อีกขันธ์หนึ่ง ๓ ขันธ์แล้ว

๔ ขันธ์แล้ว... ปรุงแต่งต่อ สนุก ขันใหญ่! มันน่าขันตรงที่เราเข้าไปยึดเอาขันธ์ ๕ ว่าเป็นของเรา ไม่มีเราเลยแต่ก็อุตส่าห์ยึด แบกแล้วแบกอีก จะปล่อยก็ปล่อยไม่ได้ ยึดจนติดแล้ว พระอรหันต์พอถึงเวลาสุดท้าย เขาเรียกว่าละสังขารหรือดับขันธ์ ดับขันธ์อะไร ? ร่างกายดับ แต่ถ้าดับรอบก็เรียก “ดับขันธปรินิพพาน” ถ้าไม่ถึงนิพพานก็ยังไม่รอบ ก็ยังดับแค่ขันธ์ ยังไม่ถึงปรินิพพาน “ปริ” แปลว่ารอบ ดับขันธปรินิพพาน ดับขันธ์แล้วก็นิพพานได้เลย

คิดดูสิว่า ในชีวิตของเรานี่ มีอาการไหนบ้างที่ไม่เกี่ยวกับขันธ์ ๕ ? แล้วที่บอกว่าเราปรุงแต่งนี่ การปรุงแต่งของเราจะมีลักษณะอยู่ ๓ อย่าง ปรุงแต่งที่เป็นบุญอย่างหนึ่ง ปรุงแต่งที่เป็นบาปอย่างหนึ่ง ปรุงแต่งที่เป็นกลาง ๆ อย่างหนึ่ง คือปรุงแต่งไป คิดสัพเพเหระไปเรื่อย อันนี้ปรุงแต่งแล้วไม่ส่งผลอะไร ไม่เกิดเรื่อง กับปรุงแต่งชอบคิดแต่เรื่องที่ไม่ดี คิดแล้วคิดอีก คิดเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์ เอาแต่เรื่องที่ไม่ดีเข้ามาสุม คิดถึงแต่เรื่องที่ไม่ดีของคนอื่น

เวลาเราปรุงแต่งคิดถึงแต่เรื่องที่ไม่ดีของคนอื่น เรามักจะไม่เห็นความไม่ดีของตัวเอง เห็นแต่ความไม่ดีของคนอื่น ลืมดูตัวเอง! เห็นอะไรก็ไม่ดีไปหมด พอคนอื่นพูดแบบเดียวกันกับเราก็ยังไม่ยอมหันกลับมาดูอีก กลายเป็นว่าความไม่ดีที่มากที่สุดไม่ได้อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่เรา! เพราะเราถูกปิดบังด้วยโมหะ แล้วเราก็เก็บเอามา เก็บเอามา... ยิ่งเราพูดถึงความไม่ดีของคนอื่นมากเท่าไหร่ ความไม่ดีในใจของเราก็มากขึ้นเท่านั้น แล้วเราจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญในการเห็นสิ่งที่ไม่ดี ของดี ๆ ก็เห็นว่าไม่ดีทั้งนั้นแหละ ไม่ถูกใจสักอย่าง มีข้อติอยู่เรื่อย แม้แต่พระพุทธรูปนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ เอ้อ! ดูไม่สวยเลย... เห็นไหม เราเป็นผู้ชำนาญ!

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราทำจิตของเราให้ดี แล้วฝึกมองสิ่งที่ดี เห็นอะไรก็รู้สึกดี ตรงนี้เพราะจิตเราดี พระพุทธเจ้าเคยถามภิกษุที่เดินผ่านภาพปั้นในผนัง “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธอเห็นภาพอันวิจิตรนั้นไหม” ภิกษุบอกว่าเห็น “เธอรู้ไหม นั่นแหละ ภาพที่วิจิตรเพราะจิตวิจิตร เพราะจิตงดงาม” จิตของใครงดงาม ? แม้แต่ผู้ทำเองก็เป็นจิตที่วิจิตร แม้แต่ผู้ดูก็มีจิตที่วิจิตรถึงเห็นภาพนั้นเป็นสิ่งที่วิจิตร ถ้าจิตของผู้ดูไม่วิจิตร ถึงภาพนั้นจะวิจิตรพิสดารอย่างไร เราก็ไร้อารมณ์ ใช่ไหม ? เห็นแล้วก็รู้สึกเฉย ๆ แต่คนอื่นเห็น โอ้โห! ดีจังเลย นี่แหละอยู่ที่จิตของเรา

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าถ้าเราเติมความสุขให้ตัวเอง ทำจิตของเราให้ผ่องใส ให้มีความสุข ลองดู โลกเราจะเป็นอย่างไร ? โลกของเรานะ ไม่ใช่โลกของคนอื่น โลกของเราเอง ทำจิตของเราให้มีความสุข จิตเราก็ผ่องใส เห็นอะไรก็มีความสุข โลกจึงเป็นโลกที่สดใสหรือมีความสุข เพราะเราไม่ทุกข์ ไม่ใช่เพราะโลกไม่มีปัญหา แต่ว่าเพราะใจเราไม่ทุกข์ มองอะไรก็เห็นแต่ส่วนดี เห็นสิ่งที่ดี คนเห็นแต่สิ่งที่ดีแม้เรื่องที่ไม่ดีก็ยังเห็นความดีของเรื่องที่ไม่ดี นั่นแหละคือจิตที่ดี มองแล้วได้ประโยชน์ เห็นไหม ?

เพราะฉะนั้น จิตของคนเรา ที่บอกว่าจิตที่วิจิตรตรงนี้พิสดาร เวลาเราปฏิบัติ ลองพิจารณาดูความงดงาม ความพิสดารของจิตเรา ตัวเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นเวทนาประเภทไหน ? เพราะฉะนั้น การปรุงแต่งของเรานี่จะปรุงแต่งแบบไหน ? ปรุงแต่งแล้วดี ปรุงแต่งแล้วไม่ดี หรือปรุงแต่งแบบสัพเพเหระ ไม่มีงานทำ แล้วก็ปรุงแต่งไป แต่การปรุงแต่งตรงนี้ ถ้าเราสังเกตดี ๆ เมื่อเราเห็นจิตของเราปุ๊บ เราแยกได้ เราก็สั่งตัวเองได้ว่าเราจะปรุงแต่งเรื่องไหน ควรให้จิตเราเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องไหนดีที่สุด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตที่เป็นกุศลที่ดีอยู่แล้วพยายามรักษาเอาไว้ กุศลอันไหนยังไม่เกิดก็ทำให้เกิดขึ้น อกุศลตรงไหนที่มีอยู่ก็ละไป ป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ตรงนี้แหละการที่เราดูจิตของเรา การปรุงแต่ง จิตสังขารตรงนี้ ที่บอกว่าเราปรุงแต่ง คิดสร้างสรรค์ คิดทำสิ่งที่ดี ๆ อยากทำสิ่งที่ดี ๆ ถามว่า ต้องคิดไหม ? คิด! ถ้าไม่คิดจะทำได้ไหม ? ก็ไม่ได้อีก คิดไม่เป็นทำไม่ได้! เห็นไหม นี่คือการปรุงแต่ง! คิดเรื่องดี เขาเรียก “ปุญญาภิสังขาร” การปรุงแต่งที่เป็นบุญ ปรุงแต่งสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ปรุงแต่งแล้วไม่ดี

แต่ทีนี้ว่าตอนที่เราเจริญกรรมฐาน เขาบอกอย่าไปปรุงแต่ง อย่าสานต่อ ก็คือให้เราพิจารณารู้อาการตามความเป็นจริงว่าเขาเกิดดับอย่างไร ดีอย่างไร ตรงที่ดีอย่างไรไม่ดีอย่างไร ตรงไหนที่เรียกว่าดีหรือไม่ดี ? สิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นจะเกิดที่จิตของเรา เห็นแล้วจิตเรารู้สึกดี รู้สึกสงบ มั่นคง ผ่องใส เบิกบาน สว่าง กว้าง เบา สะอาด บริสุทธิ์ นั่นคือกำหนดรู้แล้วจิตเราดีขึ้น เห็นแล้วรู้สึกดี ก็มีความสุขขึ้นมา นั่นคือการกำหนดอาการที่เกิดขึ้น เราต้องสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เรื่องขันธ์ ๕ นี่แหละคือเรื่องของธรรมะหมดเลย ที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์

ทีนี้ ส่วนใหญ่ปรุงแต่งแล้วเราเข้าไปยึดเอาว่าเป็นของเรา ยึดในสิ่งที่เราคิด ยึดเอาทิฏฐิ อุปาทาน สักกายทิฏฐิ อัตตทิฏฐิ แล้วก็เข้าใจผิด เขาเรียก “มิจฉาทิฏฐิ” สัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิก็มาถึงการปรุงแต่งอยู่เหมือนเดิม ก็คือตัวสังขารขันธ์ คือการปรุงแต่งนั่นเอง เราปรุงแต่งแล้วคิดว่าอย่างไร เข้าใจว่าอย่างไร ถ้าเอามารวมในขันธ์ ๕ ก็คือตัวสังขารขันธ์นั่นเอง ทีนี้เรามีขันธ์ ๔ ขันธ์แล้ว เหลืออยู่ขันธ์เดียว รูปขันธ์ วิญญาณขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์... เหลืออะไร ?

“สัญญาขันธ์” ให้สัญญากับตัวเองแล้วจะต้องไม่ลืม ที่จริงตัวสัญญาขันธ์นี่เขาทำหน้าที่ของเขาโดยธรรมชาติ เห็นแล้วเราจำได้ พอเห็นปุ๊บจำได้เลยว่า อ๋อ! คนนี้เคยเห็นแล้ว พอเห็นปุ๊บคนนี้ยังไม่เคยเจอ จำได้ทันที! ตัวนี้เขาทำหน้าที่จำ และตัวสัญญาที่ทำหน้าที่จำนี่เขาจำทั้งเรื่องอดีตและปัจจุบัน จำทุกเรื่องที่เกิดขึ้นที่จิตเข้าไปรับรู้ อยู่ที่ว่าอารมณ์ไหนจะมีกำลังมากจนจำได้นาน เรื่องที่มีกำลังมากคือเรื่องที่ประทับใจมาก ๆ แล้วจำได้นาน เรื่องไหนที่ไม่ประทับใจก็ลืมง่ายหน่อย ก็อย่างว่าแหละเรื่องที่ชอบก็ประทับใจ ชอบมากก็ประทับอยู่นานหน่อย ไม่ชอบก็ประทับไม่นาน ไม่เข้มข้น พอประทับนาน ๆ ก็ล้างยาก ใช่ไหม ?

เพราะฉะนั้น เรื่องอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา เรื่องในอดีตที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ระลึกถึงเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์ ทำไมเราระลึกได้ ? นั่นคือตัวสัญญา พอระลึกถึงเรื่องอดีต เราคิดว่า โห! ไปอดีตอีกแล้ว พอเรานึกเรื่องอนาคต ก็เป็นเรื่องของอนาคต ปรุงแต่งไปแล้ว เห็นไหม ? คิดถึงอนาคตคือการปรุงแต่ง คือการวาดภาพขึ้นมาว่าอยากเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้... นั่นคือการสร้างภาพหรือการวาดภาพขึ้นมา ที่จริงมันดีตรงที่เราวาดภาพสร้างภาพแล้ววางแผนแล้วปฏิบัติตามได้ นั่นคือการปรุงแต่งในสิ่งที่ดี เราต้องวางแผน สร้างภาพ หรือคิดขึ้นมาว่าจะทำอะไร อันนี้ไม่ผิดนะ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้ด้วย

บางครั้งจำได้เรื่องในอดีต ที่บอกสำคัญมากก็คือว่า อดีตตั้งแต่โน่น... ตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่เล็ก ๆ เรายังจำได้เลย มันประทับใจเราอยู่ อันนี้ถ้าเป็นเรื่องดี นึกถึงเมื่อไหร่ก็มีความสุข อยู่คนเดียวก็ยิ้มได้ แต่ถ้าเป็นสัญญาที่ไม่ดี นึกถึงเมื่อไหร่อยู่คนเดียวก็น้ำตาไหลได้ นั่นคือตัวสัญญา เมื่อมีสัญญาเกิดขึ้นแล้วทำไมน้ำตาไหล ? มีสัญญาเกิดขึ้นแล้วทำไมถึงหัวเราะได้ ? สัญญาเกิดขึ้นแล้วทำไมถึงเฉย ๆ ? เพราะอะไร ?

เมื่อมีสัญญาปรากฏขึ้นมา สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือเวทนาทางใจ เวทนาทางใจทำไมถึงเกิดทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องในอดีต ? เพราะสัญญาเป็นเรื่องราวในอดีตแต่กำลังเกิดในปัจจุบัน เรื่องราวเป็นเรื่องของอดีตแต่ขณะนี้เขากำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเรา เรากำลังระลึกอยู่ตรงนี้ ตรงนี้เขาเป็นปัจจุบัน ความคิดเป็นปัจจุบันแต่อาศัยเรื่องราวในอดีต ดังนั้นเมื่อคิดขึ้นมาแล้วมีรสชาติ ตรงนี้แหละธรรมะที่เกิดกับใจ อารมณ์ภายในเกิดขึ้นมา มีผัสสะเกิดขึ้น มีเวทนา มีตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ เข้าไปสู่ปฏิจจสมุปบาทเลย นี่คือธรรมะ เป็นวงจรเดียวกันครบเลย แต่เราแยกเป็นส่วน ๆ แยกเป็นเรื่อง ๆ ออกมาให้ศึกษา

สังเกตดู การพิจารณาดูขันธ์ ๕ ของเรานี่ มันเหมือนกับศึกษาธรรมะทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าเอามาตรัสนี่ เพียงแต่เราจะเข้าใจเขามากแค่ไหนว่าเราจะได้ประโยชน์อย่างไร เห็นแล้วจะเข้าใจว่าอย่างไร อย่างที่เคยถามว่า ขณะที่เราพิจารณาเห็นถึงความไม่มีเรา แยกกายแยกจิตออกมา แล้วเห็นว่ารูปนามกายใจไม่เป็นเรา ทุกครั้งที่เห็นว่ารูปนามกายใจไม่บอกว่าเป็นเรานี่ จิตใจจะรู้สึกอิสระ รู้สึกสบาย รู้สึกเบามาก ๆ เลย เราเห็นแบบนี้เราจะคิดอย่างไรต่อ ? จะเข้าใจอะไรได้บ้าง ? เราเข้าใจได้กว้างแค่ไหน ? อันนี้แหละคือความพิเศษในการพิจารณา

แต่ถ้าเรารู้แค่นี้ก็จบแค่นี้ พอรู้ว่าไม่มีเรา ไม่ได้บอกว่าเป็นของเรา กลับไปก็เป็นเราอีกเหมือนเดิม! พอออกจากกรรมฐานก็ “ของฉัน” เต็มที่! ตรงนี้คือรู้แล้วเราจำไม่ได้หรือเราไม่จำแล้วนำไปใช้ นำไประลึกอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ธรรมานุสติ เราจะระลึกถึงธรรมข้อไหนเราถึงจะไม่ทุกข์ ? พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็นึกถึงตัวพระพุทธเจ้า พระองค์ที่เป็นรูปร่าง ธรรมานุสติระลึกถึงอะไร ? ธรรมะข้อไหนล่ะ ? เราจะใช้ธรรมะข้อไหนกับชีวิตของเรา ? ถามว่า ระลึกถึงธรรมะเพื่ออะไร ?

เมื่อคืนก็ยังบอก พอมีเวทนาเราก็ระลึกถึงขันติธรรม ใช่ไหม ? ในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อเห็นว่ารูปนี้ไม่บอกว่าเป็นเรา จิตที่ทำหน้าที่รู้ไม่บอกว่าเป็นเรา ตรงนี้เรียกว่าอะไร ? ความไม่มีตัวตนหรือเป็นอนัตตา ถึงเราจะระลึกถึงความเป็นอนัตตาอยู่เนือง ๆ ความไม่มีเราอยู่บ่อย ๆ ก็ยังทำงานได้อยู่เหมือนเดิม “ไม่มีเรา แต่ก็ยังรับรู้ได้ ยังทำงานได้เหมือนเดิม” ที่ถามว่า ควรหรือที่จะเข้าไปยึดเอาว่าเป็นตัวเราของเรา ? ถ้าไม่เข้าไปยึดเอาแล้วจะเป็นอย่างไร ? ไม่ใช่ให้ลืมนะ แค่ไม่เข้าไปยึดเอาแค่นั้นเอง! อันนี้ไม่ใช่ลืมตัว ลืมตัวสติไม่ดีแล้ว ใช่ไหม ? คือไม่เข้าไปยึด ไม่ใช่ให้ลืม ต้องเข้าใจนะ ต้องแยกชัด

พอมีเราขึ้นมาก็ดับความเป็นเรา แต่รู้ชัดว่ากำลังทำอะไรอยู่ ตรงนี้เรารู้ด้วยสติสัมปชัญญะ และประกอบด้วยปัญญาพิจารณาถึงการกระทำถึงการดำเนินชีวิตของเรา และถ้าเราพิจารณาอีก ที่การดูจิต การดูสังขารการปรุงแต่งของเรา ดูสัญญาของเรา เราก็จะเห็นว่าบางครั้งตัวสัญญาขันธ์เกิดขึ้นแล้วเกิดความอยากขึ้นมา ตรงนั้นเป็นตัวอะไร ? เวทนาเกิด กิเลสก็ตามมา สุขเวทนากิเลสก็อยากได้อยากยึด ทุกขเวทนาก็อยากละอยากดับ เห็นไหม กิเลสก็ตามมา

ถามว่า ทุกข์แล้วไม่อยากดับหรือ ? ถ้าอยากดับทุกข์ ดี! อย่าเก็บเอาไว้เลย แต่ถ้าอยากแล้วบังคับให้เป็นอย่างที่ต้องการ เดี๋ยวก็ทุกข์ต่อ! คำว่า “อยากดับทุกข์” ไม่ใช่บังคับให้ทุกข์หาย อยากต้องเข้าใจอาศัยสติปัญญาพิจารณา เข้าไปรู้ว่าเขาดับอย่างไร จะให้ง่ายก็คือ เราต้องไม่ลืมว่าแม้แต่ความทุกข์เองก็เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป ที่บอกว่าเราพอใจที่จะรู้ว่าเดี๋ยวเขาก็ดับ ความทุกข์ก็จะน้อยลงแล้ว ดับตอนไหนก็ตอนนั้นแหละ

ยิ่งถ้าเรายกจิตของเราได้เร็ว พอเห็นปุ๊บเรายกจิต ทำจิตของเราให้กว้างกว่าเรื่องนั้น กว้างกว่าตัว เอาความรู้สึกว่าเป็นเราออก แล้วยกจิตขึ้นสู่ความว่างปุ๊บนี่ ความทุกข์ก็จะร่วงไปดับไปหายไป เพราะความทุกข์เขาตั้งอยู่ในความว่างไม่ได้ ความทุกข์อาศัยความเป็นเราเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่ว่างจากเรา ความทุกข์เขาก็หายไป วิธีดับทุกข์ใช้เวลาแค่อึดใจ แต่ถ้าจะดับถาวรแบบไม่ต้องทุกข์อีกเลย เราก็ต้องใช้เวลาอีกนิดหนึ่งด้วยการปฏิบัติ แต่อย่างน้อยก็จะเป็นตัวบอกว่า “เราสามารถดับทุกข์ได้” หรือหลุดจากความทุกข์นั้น แม้ชั่วขณะหนึ่ง ๆ เขาเรียก “ตทังควิมุตติ” ใช่ไหม ? หลุดพ้นชั่วขณะหนึ่ง ๆ หลุดออกมา

ทีนี้ ถ้าเราเป็น “ผู้ดู” ต่อไปพอความทุกข์ดับ คิดถึงเรื่องเดิมที่เคยทำให้ทุกข์ ตัวสัญญาเก่าขึ้นมา เมื่อเรามีสติพิจารณาว่าเรื่องราวเก่าสัญญาเก่า แต่เราเป็น “ผู้ดู” สัญญา มีผู้ดูหรือมีตัววิญญาณหรือตัวสติทำหน้าที่รู้ถึงเรื่องราวเก่า ๆ แต่ไม่ได้เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น สัญญานั้นก็จะไม่ส่งผลให้เป็นทุกข์ ตอนแรกเกิดขึ้นมาเป็นทุกข์ ขณะที่ ๒ เรารู้ปุ๊บ เราดับความเป็นเรา เอาความรู้สึกว่าเป็นเราออก เหลือแต่จิตที่ว่าง ๆ จิตที่สงบทำหน้าที่รู้ สัญญาก็สักแต่ว่าสัญญา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เกิดขึ้นมาแล้วดับไป มีแล้วหายไป

เห็นไหม นี่ธรรมะ! แค่เราพอใจที่จะรู้ ดำเนินไปกับชีวิตของเราตลอดเวลา อาจารย์จึงบอกว่าตัวเราทุกคนนี่แหละคือก้อนของธรรมะที่เดินได้ ก้อนธรรมะที่เคลื่อนไปตลอดเวลา แต่ว่าเราศึกษาไม่รู้ ดูไม่เห็น ไม่เข้าใจถึงความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ลองไปดูสิ พระพุทธเจ้าตรัสถึงอะไร ? ถึงรูปนามขันธ์ ๕ พูดถึงความทุกข์ การไม่เข้าไปยึดไปติดไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของเรา แล้วพิจารณารู้ตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นมา ดับไป ตั้งอยู่ในกฎของไตรลักษณ์

แต่ทำไมรู้แล้วเราถึงยังทุกข์อยู่ ? อันนี้น่าคิด! ใช่ไหม ? ถามว่า เคยรู้เคยได้ยินไหม ? ได้ยิน รู้ไหม ? รู้ เห็นหรือยัง ? ยัง เออ! ตรงนั้นแหละ มันถึงยังทุกข์อยู่! ถามว่า เห็นหรือยัง ? ยัง ยังก็ยังทุกข์ต่อไป ถ้าได้เห็นเมื่อไหร่ก็ไม่อยากทุกข์แล้ว เมื่อไหร่ที่เราเห็นเขาก็จะดับไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่เห็น รู้ก็จริงแต่ก็ยังทุกข์อยู่ อันนี้คือส่วนสำคัญว่าธรรมะรู้แล้วทำไมยังทุกข์ ต้องบอกตัวเองได้นะ รู้แล้วทำไมยังทุกข์ ? เพราะเราทำไม่ได้ไง! ใช่ไหม ? เราไม่เห็นหรือเข้าไม่ถึง

การปฏิบัติธรรมเราต้องเข้าถึงหรือเห็นได้ ปฏิบัติแล้วรู้ได้ เข้าใจได้ เห็นได้ พิสูจน์ได้! ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วเอาไว้ชาติหน้าค่อยรับผล ปฏิบัติชาตินี้ไว้รับผลชาติหน้า นานจังเลย! ชาติหน้าจะมาเกิดที่นี่อีกหรือเปล่าก็ไม่รู้!? จะได้รับผลที่เราทำหรือเปล่า!? จะไปเกิดที่ไหนต่อ!? เห็นไหม สังเกตดูว่า ถ้าเราทำชาตินี้แล้วไปรอรับผลชาติหน้า พระอรหันต์ที่ผ่านมาท่านจะรับผลชาติไหนล่ะ ใช่ไหม ? ทำแล้วก็รับทันที ธรรมะทำทันทีเกิดทันที เบาก็เบาทันที สงบก็สงบตรงนี้ทันที ว่างก็ว่างตรงนี้ทันที! ไม่ใช่รอ ชาติหน้าค่อยว่าง ชาติหน้าว่างก็ไม่ต้องเกิดแล้ว! ใช่ไหม ? ธรรมะเป็นแบบนั้น

เพราะฉะนั้น ที่บอกให้เราปฏิบัตินี่ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ! นี่คือตัวสาระ นี่คือตัวสภาวะ นี่คือธรรมะที่เราต้องศึกษา ไม่ว่าจะเป็นไตรสิกขา ศึกษา ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกี่ยวกับอะไร ? ก็รูปนามขันธ์ ๕ ตรงนี้นั่นเอง ตัวศีลเพื่ออะไร ? เราสำรวมกายวาจาเพื่อไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน สังคมเราก็อยู่ด้วยกันอย่างสงบ ใจเราคิดไปเถอะถ้าร่างกายเราไม่เบียดเบียน คนอื่นไม่รู้หรอก คงจะเห็นแต่หน้าดำคร่ำเครียดอยู่คนเดียวเท่านั้นแหละ แต่นี่เราก็สำรวมใจ เราขัดเกลาจิตใจเราด้วย แทนที่จะระวังแค่กาย ระวังใจเราไม่ให้อกุศลที่ไม่ดีมันเกิดขึ้นมากับใจของเรา ตรงนี้แหละเราทำได้เมื่อไหร่ ? ขณะนี้ เดี๋ยวนี้!

เพราะฉะนั้น การที่เรามีสติกำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบันตลอด ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด จะทำให้เราเห็นจิตของเรา การปรุงแต่งทั้งสังขารทางจิต ทางกายเรา เป็นไปในลักษณะอย่างไร มีตัวตน มีโมหะ มีโลภะ มีโทสะเกิดขึ้นไหม ? มีโทสะเกิดขึ้นแล้วจะดับอย่างไร ? อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาอีกแหละ เวลาอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ต้องอยู่ที่ “เจตนา” ที่จะละหรือเปล่า อยากดับหรือเปล่า

บางคนพอมีโทสะเกิดขึ้น ถามว่า ดับได้ไหม ? ไม่ได้ ทำไม ? ยังไม่อยากดับ ทำไมไม่ดับให้เร็ว ? ยังไม่สะใจ อยากโกรธจนสาใจก่อนค่อยดับ เขาเรียกเสวยอารมณ์นั้นเต็มที่ อิ่มแปล้ แล้วก็เงียบ สงบไป ตอนที่เราเสวยอารมณ์ตรงนั้นบ่อย ๆ แล้วเราไม่รีบดับไม่ยอมดับนี่ พอมันเกิดซ้ำบ่อย ๆ ก็กลายเป็นสั่งสม สั่งสมมาก ๆ ก็กลายเป็นอนุสัย พอกลายเป็นอนุสัยต่อไปก็รื้อยาก! เราก็มานั่งรื้อแบบนี้แหละ... ไปนั่งแล้วก็ ทำไมใจของเรามันเป็นแบบนี้!? ทำไมตอนที่ไม่ปฏิบัติไม่ค่อยเห็นเลยใจที่ไม่ค่อยดี!?

พอปฏิบัติ พอเริ่มสงบ ทำไมที่ไม่ดีมันผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมา แสดงว่าเริ่มรื้อพรมขึ้นมาแล้ว ที่อยู่ข้างในลึก ๆ เริ่มปรากฏชัดขึ้นมาแล้ว จะได้เห็นว่า โอ! จริง ๆ แล้วเราก็ยังมีอะไรที่ต้องแก้ไข ต้องทำ ต้องชำระ ต้องล้างในใจเรา เห็นไหม เรานั่งเงียบ ๆ นั่งว่าง ๆ นั่งอย่างมีสติ เราจะได้เห็นอะไรที่พิสดาร อะไรที่ละเอียดที่อยู่ภายในลึก ๆ ถ้าเราเห็นแล้วว่าเขาผุดขึ้นมาแล้วหาย... อย่างเช่น บางทีเวลาเรานั่งกรรมฐาน นั่ง ๆ แล้วคิดโน่นคิดนี่ คิดสารพัดสัพเพเหระไม่รู้คิดอะไรหรอก เรื่องตั้งแต่อดีตโน้น... ตั้งแต่เพิ่งจำความได้ แล้วก็ผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมา... เรื่องที่ไม่เคยคิดไม่เคยสนใจก็โผล่ขึ้นมา เกิดขึ้นมาให้เห็น

พอเราอยากสงบเรื่องนั้นก็มา อยากสงบเรื่องนี้ก็มา ขึ้นมาบ่อย ๆ เกิดความรำคาญตัวเอง แล้วเราก็จะรู้สึกหงุดหงิด ทำไมนั่งแล้วคิดจัง!? คิดเยอะแยะมากมาย! ก็ลืมไป ที่คิดตรงนี้ถ้าเรารู้ทันนะ รู้แล้วก็ดับไป รู้แล้วดับไป... เขาก็ชำระภายใน อารมณ์ที่ตกค้างอยู่ภายในก็จะหมดไปเรื่อย ๆ ต่อไปคิดนี่ก็จะไม่มีรสชาติ แล้วความคิดพวกนี้มันจะธรรมดาเลย แล้วก็จะหายไป หายไป... เหมือนชำระไปในตัว พอหมดปุ๊บนี่เราก็จะรู้สึกเบา เราไม่ต้องแบก เพราะฉะนั้น นี่คือสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดกับใจของเรา และเป็นสภาวธรรมที่เราต้องเข้าไปกำหนดรู้ว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร ไม่ใช่สภาวธรรมที่เกิดมาแล้วเราต้องหงุดหงิด

ความคิดไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราหงุดหงิด ที่เราหงุดหงิดเพราะเราไม่รู้ เขาก็เกิดตามธรรมชาติของเขา แล้วจะไปหงุดหงิดเขาทำไม ? เราก็รู้สึกว่าทำไมเขาเกิดบ่อยจัง ก็เขาไม่ใช่เรา! เราก็อย่าหงุดหงิดสิ เรื่องของเขา ใช่ไหม ? เขาคิดก็คิดไป เราเป็น “ผู้ดู” ดูว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร เกิดแล้วดับอย่างไร... ไม่ต้องไปหงุดหงิด ยิ่งหงุดหงิดความคิดก็ยิ่งเยอะ เพราะไม่ได้ดั่งใจ แล้วก็จะคิดต่อไปอีก... เมื่อก่อนทำไมไม่เป็นแบบนี้... ตอนนี้ทำไมถึงเป็นแบบนี้... ทำไมไม่เหมือนเดิม... คงไม่มีวาสนาแล้ว!

มีโยคีคนหนึ่ง เมื่อวานปฏิบัติไม่ได้เลย สงสัยไม่มีวาสนาแล้ว จะกลับบ้านแล้ว มาวันนี้ อ๋อ! ดีแล้วอาจารย์ ยังคิดจะกลับอีกไหม ? ไม่กลับแล้ว เห็นไหม วาสนามาแล้ว! พอสภาวะไม่ดีคิดว่าเราคงไม่มีวาสนาบารมีที่จะปฏิบัติ ถามตัวเองสิ ไม่มีบารมีเรื่องไหนล่ะ ? บารมีมีตั้ง ๑๐ ทัศ อย่างน้อยตั้ง ๑๐ ข้อ แล้วตัวไหนที่ไม่มี ? เห็นไหม อย่าดูถูกตัวเอง อย่ามองข้ามความดีของตัวเอง! เวลานั่งปฏิบัติธรรม คิดว่าเราคงไม่มีปัญญา... “ปัญญาหาได้ ทำได้ในปัจจุบัน ปัญญาอาศัยการพิจารณาและการสังเกต”

เพราะฉะนั้น ถ้าเราอาศัยปัญญาบารมีในอดีตยังไม่พอ เราก็มาอาศัยปัจจุบันที่เรามาปฏิบัติ ตอนนี้แหละเรากำลังสร้างบารมีอยู่ ถึงแม้จะยังไม่เห็นก็ตั้งใจไปเถอะ สังเกตไปเถอะ พอใจ มีความสุขกับการตามกำหนดรู้อารมณ์ปัจจุบัน ถ้าไม่มีบารมีทางธรรม ทำตอนนี้เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็จะมีบารมีทางธรรม ใช่ไหม ? แต่คำว่า “บารมี” คือปัญญาที่เต็ม จะเต็มได้อย่างไรถ้าเราไม่สังเกต เราไม่ใช้ปัญญา ปัญญาเราก็จะหายไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนือง ๆ ปัญญาเราก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ

เรามีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน พิจารณาอาการของสภาวธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นี่แหละกำลังสร้างบารมีอยู่ เพราะฉะนั้น อย่าไปโทษตัวเองว่าไม่มีบารมีไม่มีวาสนา เราก็วาดฝันไว้ก่อน ทำไปเดี๋ยวก็มีวาสนาเองแหละ เราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เรามีสติกำหนดรู้ดูอาการ ดูสภาวธรรมต่าง ๆ แม้ ๕ นาที ๑๐ นาที นั่นคือการสั่งสมของเรา ๕ นาทีที่มีสติต่อเนื่อง นั่นคือการเพิ่มขึ้นของสติเรา จาก ๓ นาที เป็น ๕ นาที นั่นก็คือการเพิ่มขึ้นของสติเรา จาก ๕ นาที เป็น ๑ ชั่วโมง นั่นก็คือการเพิ่มขึ้นของสติเรา

เห็นไหม ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติ ๕ นาทีแล้วไม่ได้อะไร อย่างน้อยได้ความเพียร ได้ความตั้งใจ อย่างน้อยก็ยังมีสติสัก ๕ นาที ใช่ไหม ? เพราะฉะนั้น นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราเพียรใส่ใจกำหนดต่อเนื่องบ่อย ๆ จาก ๕ ก็เป็น ๑๐ เหมือนน้ำฝนตกทีละเม็ด ๆ ใส่ตุ่มที่อยู่กลางแจ้ง เดี๋ยวก็เต็ม! เพราะฉะนั้น อย่าบอกว่าตัวเองไม่มีบารมีนะ ถ้าไม่มีบารมีจริง ๆ ไม่ได้มานั่งอยู่นี่หรอก ใช่ไหม ? นี่แหละคือสิ่งที่เราสร้างมา แล้วเราก็พยายามแสวงหา ขวนขวาย แล้วทำให้มีมากขึ้น ๆ ตรงนั้นแหละบารมีทางธรรมก็จะเพิ่มขึ้นเอง อยู่ที่เราพอใจ อยู่ที่เจตนาของเรา มีเป้าหมายและตั้งใจทำ

เราก็ให้เวลาตัวเองเยอะหน่อยในการปฏิบัติธรรม วันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ก็คงจะได้แหละ พรุ่งนี้ไม่ได้ มะรืนก็คงจะได้แหละ มะรืนไม่ได้ มะเรื่องนี้ วันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า... ยังไงเสียชาติหน้าก็ยังมีอีกถ้ายังไม่ได้ เพราะว่าอะไร ? ถ้าเมื่อไหร่ที่ยังเกิดอีก ยังไงก็ต้องทำต่อ ถ้าจบแล้วไม่ต้องมาเกิดอีกแล้ว ชาติหน้าไม่ต้องห่วงแล้ว นั่นคือการปฏิบัติของเรา เพราะฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติจึงบอกว่า มีเวลาแค่ไหนก็ตาม มีเวลา ๕ นาที ๑๐ นาที ขอให้ทำจริง ๆ แต่ไม่ใช่ให้เครียดนะ คนละอย่างกันนะ!

บอกให้ทำจริง ๆ ไม่ใช่ให้เครียด คือตั้งใจแล้วสังเกตจริง ๆ ดูให้ชัด ไม่ใช่ไปพยายามบังคับให้เขาเป็น แต่มีเจตนาสังเกตให้ดี รู้ให้ชัดว่าเขาเป็นอย่างไร นั่นแหละคือการทำจริง! ตั้งใจจริง ทำจริง ปฏิบัติจริง ๆ เราก็ได้เห็นของจริง เพราะฉะนั้น สภาวธรรมที่เกิดขึ้นนี่ เราจะบอกตัวเองได้ว่าเขาเกิดขึ้นจริง ๆ นะ เราไม่ได้โกหกตัวเอง เราไม่ได้ปรุงแต่งเอาเอง เราไม่ได้คิดเอาเอง เหมือนเวลาเราปวด เขาก็ปวดขึ้นมาเอง เราไม่ได้คิดให้เขาปวด เราไม่ได้ปรุงแต่ง เห็นไหม เราก็จะเห็นชัด ๆ ว่า อ๋อ! อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราไม่ได้ปรุงแต่ง

สรุปแล้ว “ขันธ์ ๕” คืออะไร ? ขันธ์ ๕ คือ ก้อนของธรรมะนี่แหละ ที่ถามว่า กายกับจิตเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ? จิตที่ว่าง ๆ เบา ๆ กับตัวที่นั่งอยู่ เป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ? นี่คือการตั้งคำถามให้เราสังเกตถึงธรรมชาติที่แท้จริงระหว่างรูปกับนาม ถ้าอาจารย์ไม่ถามอย่างนี้เราก็ไม่คิดหรอก เพราะเราไม่รู้ว่าจะพิจารณาอย่างไร รู้แต่ว่าธรรมะดี ไม่รู้ว่าดีอย่างไร อยากให้ดีเหมือนเขา แต่เราปฏิบัติไม่เหมือนเขา จะดีเหมือนเขาได้อย่างไร ? เพราะฉะนั้น ปฏิบัติดี ก็ดีแบบของเรานั่นแหละ เราก็ดีเขาก็ดี เห็นไหม คนอื่นก็ดี ดีในแบบของตัวเอง

แต่อย่างหนึ่งที่ดีขึ้นก็คือว่า สติดีขึ้น จิตใจดีขึ้น หรือกิเลสน้อยลง ความทุกข์น้อยลง นั่นถือว่าดีขึ้น การปฏิบัติธรรมเราต้องสังเกตแบบนี้ อย่าให้คนอื่นบอกอย่างเดียวว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี... เราก็งง ๆ ไม่ดียังไง เรารู้สึกดี ทำไมเขาบอกว่าไม่ดี!? นั่นแหละปัญญาตรงนี้จะกลายเป็นปัญญาของเราเอง ที่ให้สังเกตเยอะ ๆ สิ่งที่เราเห็น สภาวธรรมที่เกิดขึ้น นั่นคือปัญญาของเรา ไม่ใช่เพราะอาจารย์บอก ไม่ใช่ปัญญาของอาจารย์ แต่ถ้าจำที่อาจารย์พูดไปเล่าต่อ นั่นเป็นปัญญาของอาจารย์นะ สงวนลิขสิทธิ์นะ! เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าปฏิบัติแล้วให้เกิดปัญญา คือต้องสังเกต แล้วต้องพิจารณา สภาวะนี้เกิดขึ้นเพราะอย่างนี้...

เพราะฉะนั้น เวลาสอบอารมณ์ อาจารย์จึงถามว่า ต่อไปเป็นอย่างไร ? เขาต่างจากเดิมอย่างไร ? ให้เพิ่มตัวนี้ ลองดูนะว่า เขาเป็นอย่างไร ? นิ่งแล้วอาการเขาจะเป็นอย่างไร ? ไม่ใช่ว่านิ่งแล้วต้องทำให้เป็นแบบนี้ นิ่งแล้วดูเขาเป็นอย่างไร ? ที่ถามว่าดูเขาเป็นอย่างไร เพราะสภาวธรรมเขามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เขาจะไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น การที่เราเห็นไม่เหมือนเดิมจึงไม่ผิด เห็นเขาเปลี่ยนไปจึงไม่ผิด นั่นก็คืออาการพระไตรลักษณ์นั่นเอง

จริง ๆ แล้ว ธรรมะเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาให้เรารู้ชัดได้ก็ด้วยการปฏิบัตินั่นแหละ เรามาช่วยกันศึกษาธรรมะ นำธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้ามาใส่ใจของเรา ให้เกิดขึ้นกับตัวเรา เขาเรียกว่า “โอปนยิโก” เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัวใส่ใจของเรา น้อมเข้ามาให้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ว่าธรรมะเป็นแบบนี้ ๆ เราเป็นสาวก เราเป็นผู้ตาม เราจะได้เห็นตามธรรมะที่พระองค์ทรงแสดง แล้วเราจะได้เข้าใจว่าธรรมะนั้นดีอย่างไร พาเราให้พ้นทุกข์ได้อย่างไร ก็ขอฝากเอาไว้ให้เราได้ตั้งใจ ได้พิจารณาสภาวธรรมกันให้เยอะ ๆ เพื่อความเจริญความงอกงามในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป เจริญธรรม


แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 24 ก.ค. 2018, 17:27, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2018, 16:53 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




ยุวพุทธ เขมรังสี.jpg
ยุวพุทธ เขมรังสี.jpg [ 62.31 KiB | เปิดดู 5097 ครั้ง ]
การเล่าสภาวะ
วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ธรรมบรรยาย ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี (ศูนย์ ๔) จ. พระนครศรีอยุธยา

ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่โยคีทุก ๆ คน นั่งตามสบาย มั่นใจขึ้นแล้วนะวิธีส่งสภาวะ เริ่มส่งกันมากขึ้นแล้ว เพราะรู้สึกตั้งแต่ไม่ต้องจ่าหน้าซองสภาวะเริ่มชัดขึ้น เวลาส่งสภาวะไม่ต้องจ่าหน้าซอง แต่เขียนให้ถูกนะ! ตรงนี้จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งสำคัญ ทำไมเราต้องส่งสภาวะทุกวัน ? ทำไมต้องเล่าสภาวะทุกวัน ? บางคนรู้สึกว่านาน ๆ ค่อยส่งทีหนึ่งก็ได้ มีโยมคนหนึ่งเดือนหนึ่งส่งสภาวะครั้งเดียว เพราะเดือนหนึ่งอาจารย์ไปครั้งเดียว แล้วเขาก็ส่งครั้งเดียว วันเดียวด้วยนะ ไปสองวันก็ส่งอยู่วันเดียว แต่สภาวะก้าวหน้ามากเลย ปฏิบัติแล้วไม่มีถอย มีแต่เดินหน้า เป็นหมอด้วย...
เขาจะทำงานไปด้วยปฏิบัติไปด้วย อันนั้นดี การที่เขาปฏิบัติแล้วเดินหน้า เพราะเขาจำการบ้านที่อาจารย์ให้ไปทำได้หมดเลย ทำอย่างไรเขาก็จะเอาตรงนั้นแหละมาเล่า อย่างเช่น พอเล่าสภาวะเสร็จ อาจารย์บอกว่าเพิ่มตัวมุ่งนะ เขาจะจำเลย พอเดือนต่อไปเขาจะมาเล่าว่า หลังจากที่อาจารย์ให้เพิ่มตัวมุ่งแล้ว สภาวะเขาเปลี่ยนไปแบบนี้ อาการเกิดดับเปลี่ยนเป็นแบบนี้ ๆ นั่นคือสิ่งที่ต้องเล่า! พอเขาเล่าแบบนี้ปึ๊บ ปัญหาแต่ละอย่างมันจะหลุดไปทีละเปลาะ ทีละเปลาะ
พวกเราที่เล่าสภาวะทุกวัน จริง ๆ แล้วเป็นโอกาสดีมากเลย โชคดีที่ได้เล่าสภาวะทุกวัน จะได้เดินหน้าไปทุกวัน แต่ก็ยังไม่มั่นใจตัวเอง เล่าแล้ว เอ๊ะ! ถูกไม่ถูกนี่... ที่จริงหลักของการเล่าสภาวะที่ถูกต้อง จะเล่ามากแค่ไหน ? เล่าอะไรบ้าง ? จริง ๆ แล้วสภาวธรรมนี่เล่าได้ “เกือบ” หมด ทำไมถึงเรียกว่าเกือบหมด ? เล่าหมดไม่ได้เหรอ ? ถ้าเป็นตัวสภาวธรรมจริง ๆ นี่เล่าได้ทั้งหมด แต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสภาวธรรมไม่ต้องเล่าทั้งหมดก็ได้ แต่เราก็แยกไม่ออกอีกว่าอันไหนคือสภาวธรรมอันไหนไม่ใช่สภาวธรรม
เรามาทบทวนวิธีเล่าสภาวะอีกนิดหนึ่ง เรากำหนดกาย-เวทนา-จิต-ธรรมก็จริง แต่ว่าเวลาเล่าสภาวะมันจะเป็นลักษณะที่ว่าเรากำหนดอะไรบ้าง เริ่มจากเรากำหนดอาการพองยุบ กำหนดลมหายใจ... ถ้าในบัลลังก์นี้เรากำหนดลมหายใจ เราเล่าเลยว่า วันนี้ขณะนี้บัลลังก์นี้กำหนดลมหายใจ ลมหายใจเขามีอาการแบบนี้ ๆ แล้วก็หมดไป พอลมหายใจหมดไปปึ๊บกำหนดอะไรต่อ... พอลมหายใจหมดไปแล้วมันว่าง พอว่างแป๊บหนึ่งความคิดมา ก็เลยไปกำหนดความคิดต่อ... เห็นไหม “ก็เลยไปกำหนดความคิดต่อ” - เรารู้เจตนาตัวเองเลยว่าเราทำอะไร

พอไปกำหนดความคิด ความคิดเกิดดับอย่างไร เราก็เล่าไป ความคิดเกิดแล้วดับไป มีแล้วดับแว้บ ๆ ๆ ๆ ๆ แล้วหมดไป อันนี้คือการเล่าความคิด สิ่งที่ต้องเล่าก็คือ เล่าอาการของพองยุบ/อาการของลมหายใจเข้าออก เล่าถึงเวทนา เล่าถึงความคิด เล่าอาการของต้นจิต เล่าอาการของอิริยาบถย่อย แล้วก็สภาพจิต – จำได้นะหกอย่าง! ถ้าเราแยกเล่าแบบนี้เราจะจำแม่น! ลมหายใจกับพองยุบนี่จัดอยู่ในข้อเดียวกัน เพราะว่าถ้ากำหนดลมหายใจเราก็เล่าลมหายใจ ถ้ากำหนดพองยุบก็บอกว่ากำหนดพองยุบ แค่นั้นเอง
ทีนี้ หกอย่างนี้เราต้องเล่าทุกวันไหม ? ถ้าเล่าทุกวันได้ ดี! เพราะหกอย่างนี้เป็นอารมณ์ที่เรากำหนดทุกวัน ถ้าไม่มีลมหายใจไม่มีพองยุบ จำเป็นต้องเล่าไหม ? ไม่จำเป็นหรอก แค่พูดถึงนิดเดียวว่าบัลลังก์นี้ไม่มีพองยุบเลย ลมหายใจก็ไม่มี มีแต่อาการนี้... ไม่ต้องไปคร่ำครวญว่าทำไมไม่เห็น ให้เล่าที่มีก็พอ อย่างเช่น ไม่มีพองยุบ ไม่มีลมหายใจเลย มันมีแต่อาการกระเพื่อม ๆ ๆ เราก็รู้ อ๋อ! เปลี่ยนเป็นกระเพื่อมแล้ว พอดูไปแล้วมีอาการกระเพื่อม ๆ ก็กำหนดอาการเกิดดับ
อาการเกิดดับที่เราจะรู้ถึงความต่างก็คือว่า ขณะที่มีอาการกระเพื่อมขึ้นมา เมื่อมีสติเข้าไปกำหนดรู้ตามรู้อาการกระเพื่อม จากที่เขากระเพื่อมช้า ๆ เขาเริ่มกระเพื่อมเร็วขึ้น ๆ ๆ พอเร็วขึ้นแล้วกลายเป็นขาด ปึ๊บ ๆ ๆ ๆ แล้วก็หมดไป นี่เล่าแบบนี้! พออาการนี้หมดปุ๊บกำหนดอะไรต่อ... อาการกระเพื่อมหมดไปกลายเป็นค่อย ๆ ผุดขึ้นมา วาบเบา ๆ ทีนี้ เวลาอาการเกิดดับเบา ๆ ช้า ๆ เพื่อเป็นการรักษาเวลาเราก็ไม่ต้องเล่าแบบ มันค่อย ๆ ค่อย ๆ... ใช้เวลาคนอื่นด้วยนะ! แค่บอกว่าอาการเกิดดับมันเกิดแบบช้า ๆ ค่อย ๆ ขึ้นมาแล้วก็ดับ ค่อย ๆ ขึ้นมาแล้วก็ดับ แล้วก็เบาลงไปเรื่อย ๆ ช้าลง ๆ ๆ แล้วก็หมดไป
การเล่าสภาวะ เรารู้ว่าเราพูดถึงอะไร เรากำหนดอะไร เขาเกิดดับอย่างไร เป็นการจัดระเบียบของเราด้วย เราจะจำแม่นขึ้น แล้วสมาธิก็จะมากขึ้น ความชัดเจนในสภาวธรรมก็จะดีขึ้นด้วย บางทีโยคีจำไม่ได้ก็เลยใช้เป็นว่าอาจารย์เรียงเอาเองแล้วกัน! บางครั้งก็อย่างนั้นบางครั้งก็อย่างนี้ บางทีก็ช้าบางทีก็เร็ว ไม่เหมือนกันเลย แต่เล่าไม่ถูกว่ามันต่างกันยังไง อาจารย์คิดเอาเองแล้วกัน! อาจารย์ก็ต้องมาเรียบเรียงเอง บางทีโยคีมาเล่า บางครั้งเป็นอย่างนี้ บางครั้งก็เปลี่ยน แต่ละบัลลังก์ไม่เหมือนกันเลย... รู้ว่าไม่เหมือนกัน เพราะรู้ว่าไม่เหมือนกันจึงให้สังเกตว่าเขาต่างกันอย่างไร เขาเปลี่ยนไปอย่างไร

สังเกตไหม ทุกครั้งที่สอบอารมณ์ อาจารย์จะบอกว่าให้ดูต่อนะ ให้ดูว่าเขาเปลี่ยนไปอย่างไร เปลี่ยนต่างจากเดิมอย่างไร คำว่า “ต่างจากเดิมอย่างไร” – นี่คือจุดที่โยคีต้องใส่ใจ! ไม่ใช่แค่บอกว่าเขาไม่เหมือนเดิม เขาเปลี่ยนไปตลอด... รู้อยู่แล้วว่าเขาเปลี่ยน จึงให้ดูว่าเขาเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะนี่คือความเป็นอนิจจัง นี่คือสภาวธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง เราพิจารณากำหนดรู้ความเป็นอนิจจังของสภาวธรรมที่เกิดขึ้น รู้ความต่างของอาการเกิดดับที่ปรากฏขึ้น
แม้แต่อารมณ์เดียวกันลักษณะของการเกิดดับยังต่างกันเลย ไม่ใช่ระหว่างความคิดกับเสียงเกิดดับต่างกัน แต่ระหว่างเสียงกับเสียงแต่ละขณะ การเกิดดับยังต่างกันเลย! เพราะฉะนั้น จึงถามว่าเขาต่างจากเดิมอย่างไร - เกิดดับขณะนี้ ขณะต่อไป ขณะต่อไป เขาต่างจากเดิมอย่างไร ? จริง ๆ แล้วอาจารย์ถามแบบเจาะจงมากเลยนะ สมัยก่อนไม่มีคำถามแบบนี้หรอก เมื่อก่อนจะถามว่า อาการเกิดดับเปลี่ยนไปอย่างไร ต่างจากเดิมอย่างไร – เราต้องหาคำตอบ!
ปัจจุบันนี้ถามว่า เขาเกิดดับเร็วขึ้นหรือช้าลง เกิดดับแบบแตกกระจาย หรือค่อย ๆ เลือนไป ค่อย ๆ บางไป... เจาะจงมากเลย! ขนาดให้ตัวอย่างขนาดนี้ยังลอกไม่ถูกอีก! มีช้อยส์ให้เลือกยังเลือกไม่ถูกเลย! ไม่ใช่แค่เลือกไม่ถูกนะ ไปเลือกอย่างอื่นมาด้วย เลือกที่ไม่ได้ถามน่ะนะ! เหมือนเราจับประเด็นไม่ถูกว่าสิ่งที่ควรจะสนใจคืออะไร สิ่งที่อาจารย์ให้ไปรู้คืออะไร... แล้วเราก็มาถาม ทำอย่างไรให้ก้าวหน้า อาจารย์ ? ทำไมมันติดอีกแล้ว มันวนอีกแล้ว ? กลายเป็นว่าเราไปกังวลว่าทำอย่างไรถึงจะเดินหน้า

สิ่งที่อาจารย์ให้ไปดู จุดที่อาจารย์แก้ เพื่อไม่ให้วน เพื่อให้ก้าวหน้า แล้วพอเราทำไม่ได้อย่างที่อาจารย์บอก ก็ไปหาวิธีอื่นก่อนก็แล้วกัน ไปลองโน่นลองนี่... คือแบบนี้นะ - ทำไม่ได้ก็ให้บอกว่าทำไม่ได้ ให้การบ้านไปแล้วหาไม่เจอ จะได้รู้ว่าไปหาแบบไหนจึงหาสภาวะไม่เจอ เล่าได้เลยไม่ต้องไปกลัวผิด แล้วไม่ต้องกลัวอาจารย์ดุ ดุแน่นอน ถ้าไม่ดุเดี๋ยวไม่จำนะ... อาจารย์ไม่ค่อยดุหรอก สงสารโยคี เพราะเห็นว่าแค่จำการบ้านไม่ได้ก็เครียดแย่แล้ว พอไปหาแล้วไม่เจอ เดี๋ยวอาจารย์จะว่าไหม!? ไม่หรอก อาจารย์พร้อมที่จะเข้าใจโยคี
สังเกตไหม บางทีเล่าผิด เล่าให้ก็ได้! บางทีโยคีเล่าไม่ถูก อาจารย์ก็จะถาม อย่างนี้ใช่หรือไม่ ? อ๋อ! ใช่ ๆ แล้วก็เล่าไป... ถามเพื่อให้เล่าถูก เพราะว่าสภาวะเขาจะเป็นของเขา เรารู้ว่าถ้าเราเคยปฏิบัติเราก็เคยเล่าผิด เราก็เคยเข้าใจผิด เราก็เคยทำไม่ถูกเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องปกติ! แต่ที่สำคัญก็คือว่า ถ้าผิดครั้งเดียวให้จำ จำให้ได้ แล้วต่อไปจะผิดน้อยลง น้อยลง แค่นั้นเอง! เราก็ต้องพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ตามหลักเลยนะ เขาห้ามเล่าเรื่องนอกตัว เรื่องที่อยู่ข้างนอกไกล ๆ นี่ห้ามเล่า ต้องเล่าเฉพาะสภาวะอย่างเดียว! เดินจงกรมเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร ความคิดเกิดดับอย่างไร อันนี้ต้องเล่าอาการ
ถามว่า ความคิดเป็นอย่างไร ? อูย เยอะแยะเลย... ไม่ใช่อย่างนั้นนะ! ถามว่า ความคิดเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้ ? โอ้โห! สนุกเยอะแยะ วันนี้คิดไปนู่นไปนี่ มีแต่คิดแต่ดี ๆ ทั้งนั้นเลย อันนั้นจุดหนึ่ง แต่ถ้าเราจะเล่าว่าความคิดช่วงนี้มีแต่ความคิดเป็นกุศลทั้งนั้นเลย - เล่าได้ไหม ? ได้ อันนี้ได้นะ ถ้าเราสรุปว่าช่วงนี้คิดแต่เรื่องดี ๆ ทั้งนั้นเลย ก็ให้บอกด้วยว่าที่คิดเรื่องดี ๆ เพราะอะไร ทำไมถึงอยู่ ๆ แล้วคิดแต่เรื่องดี ๆ เหตุที่ทำให้เราคิดแต่เรื่องดี ๆ นั้นสภาพจิตเป็นอย่างไร
ถ้าเราบอกว่าตอนนี้จิตผ่องใสมากเลย จิตสงบมีความสุขมากเลย มีความคิดขึ้นมามีแต่เรื่องดี ๆ ถ้าบอกได้อย่างนี้ความคิดจะไม่เป็นอุปสรรค แต่สังเกตนิดหนึ่งว่า ถ้าจิตเราเป็นกุศล เราคิดแต่เรื่องที่ดี ๆ ทำให้จิตใจเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? ยิ่งมีกำลังของความเป็นกุศลมากขึ้น อิ่มขึ้น ผ่องใสขึ้น เบิกบานขึ้น สังเกตแบบนี้ ถ้าคิดแล้วจิตผ่องใสขึ้นกิเลสน้อยลง ความคิดนั้นมิใช่ปัญหา แต่ก็มีอีกนั่นแหละ โยคีจะกังวลว่า พอจิตมีความใสมีความสุขปึ๊บ คิดมากเลยวันนี้... เกิดความรู้สึกไม่ดีกับความคิดที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าความคิดเป็นกุศล แต่มีความกังวลกลายเป็นอกุศลเกิดขึ้นมา
ทีนี้ ทำอย่างไรความเป็นกุศลถึงจะต่อเนื่อง ? วิธีก็คือว่า เมื่อมีความคิดเป็นกุศล ยิ่งคิดจิตยิ่งผ่องใส ส่วนหนึ่งที่ควรพิจารณาควบคู่กันไปคือว่า ความคิดที่เกิดขึ้น คิดถึงเรื่องดีเรื่องนี้ปึ๊บเขาก็ดับแบบนี้ คิดถึงเรื่องนี้ ดับปึ๊บ จิตยิ่งใสขึ้น คิดเรื่องนี้จบปุ๊บ ดับ จิตยิ่งใสขึ้น มีความสุขมากขึ้น... นั่นเราบอกถึงลักษณะอาการเกิดดับของความคิดด้วย และรู้ถึงผลที่เกิดขึ้นมาด้วย เป็นการเล่าสภาวะ - เห็นทั้งลักษณะการดับและผลที่ตามมา ยิ่งคิดจิตยิ่งผ่องใสยิ่งสุข แต่ก็เห็นเกิดดับ เกิดดับ... ตรงนี้เราจะได้ไม่คล้อยตามหรือหลงไปกับความคิดอย่างเดียว แต่จะมีเพียงสติคอยกำหนดตามรู้ความคิดที่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ตรงนี้วิธีเล่าสภาวะ
ทีนี้ เพื่อความต่อเนื่องของสภาวะ อย่างเมื่อกี้บอกความคิดเป็นความคิดที่เป็นกุศล เขาดับเด็ดขาด วุบไปแล้วจิตใสขึ้น วุบแล้วจิตใสขึ้น... พอสักพักกำหนดไปเรื่อย ๆ เราหยุด พอหยุดปึ๊บมีความคิดใหม่เกิดขึ้น เป็นความคิดสัพเพเหระหรือความคิดทั่ว ๆ ไป เวลาเล่าก็คือว่า ความคิดมันเปลี่ยนไปแล้ว จากที่เมื่อเช้าคิดแต่เรื่องดี ๆ ทั้งนั้นเลย พอสักพักจิตเปลี่ยนจากความสุขเป็นความสงบ เริ่มคิดโน่นคิดนี่คิดสัพเพเหระทั่วไป คือเราบอกว่ามันเปลี่ยนเรื่องคิดเป็นสัพเพเหระแล้วนะ... แต่ว่าเขาเกิดดับอย่างไร ?
ความคิดที่เกิดใหม่เขาดับต่างจากเมื่อกี้ตรงที่ว่า พอลอย ๆ มาบาง ๆ แล้วก็หมดไป ขึ้นมาแบบบาง ๆ แล้วก็หมดไป... นี่คือเล่าถึงอาการเกิดดับของความคิด ถ้าเล่าแบบนี้อาจารย์จะได้รู้ว่า ถึงแม้ความคิดเกิดขึ้นมาก็ตาม แต่สติเรามีมากน้อยแค่ไหน อันนี้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งโยคีเองจะได้รับรู้ว่า ถึงแม้จะมีความคิดเกิดขึ้นมาเยอะก็ตาม ถ้ากำหนดแบบนี้เราจะเห็นว่า ความคิดที่เกิดขึ้นมาใหม่ส่งผลต่อสภาพจิตของเราอย่างไร - เหมือนเดิม หรือต่างไปอย่างไร ? เป็นความคิดที่บางกว่าเดิม เบากว่าเดิม แล้วจิตก็ยังมั่นคงตั้งมั่น เพราะฉะนั้น ความคิดที่เกิดขึ้นใหม่ก็ไม่รบกวนใจของเรา - อันนี้เป็นความคิดทั่วไป
แต่ถ้าเป็นความคิดที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น - ขณะที่จิตเราสงบขึ้นแล้ว ความคิดที่เกิดขึ้นมานี่เขามีน้ำหนักเป็นกลุ่มก้อนทึบ ๆ หรือว่าเป็นก้อนก็จริงแต่บางกว่าเมื่อก่อนที่เคยเกิด ถ้าเราเปรียบเทียบแบบนี้เราจะชัดว่า มีความคิดขึ้นมาแล้ว จิตที่เป็นอกุศลมันสั้นกว่าเดิม มันเบากว่าเดิม เกิดปึ๊บดับเลย เกิดปึ๊บดับเลย... การเปรียบเทียบตรงนี้เป็นการรู้ถึง “อายุของอารมณ์” ด้วย อายุของอารมณ์อกุศลที่เคยติดอยู่ในใจเรานานมันลดลง ถึงแม้เขาจะเกิดต่อเนื่อง ดับแล้วเกิด ดับแล้วเกิด ดับแล้วเกิด... เราจะเห็นเลยว่าถึงแม้เกิดใหม่ก็ตาม แต่เกิดขึ้นมาใหม่ยิ่งบางกว่าเก่า บางกว่าเก่า...
ถ้าบางกว่าเก่านี่ รู้สึกเป็นอย่างไร ? ถ้าความคิดที่เป็นอกุศล อายุเขาสั้นกว่าเดิม เบากว่าเดิม สภาพจิตเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? ดีขึ้นใช่ไหม ? ดีขึ้น ดีขึ้นตรงนี้ดีแบบไหน ? สงบขึ้น มั่นคงขึ้น อารมณ์นั้นกระทบจิตใจเราน้อยลง เราจะเห็นจิตที่พัฒนาขึ้น การปฏิบัติเราก้าวหน้าขึ้นแค่ไหน แต่โยคีก็มักจะ คิดอีกแล้ว คิดอะไรไม่รู้คิดอีกแล้ว... ตรงนี้คือปัญหา การที่เราไม่สังเกตถึงความเปลี่ยนไป เราก็มัวแต่จะเล่าว่าไม่อยากให้เกิด ถ้าเราใช้คำว่า “ความคิดเข้ามาอีกแล้ว รบกวนอีกแล้ว!” นั่นแสดงว่าเราไม่อยากให้ความคิดเกิด เพราะเราไม่อยากคิดเรื่องที่เราไม่ชอบ เราก็เลย อย่ามานะ อย่ามานะ... ตอนนี้ฉันกำลังจำศีลอยู่!
ถ้าเรามีเจตนารู้แบบนี้ มันจะเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิตของเรา! ถ้าเราเป็นคนชอบสั่งสมอารมณ์ ชอบเก็บเรื่องไม่ดีเอาไว้ในใจบ่อย ๆ ถ้ากำหนดแบบนี้ก็จะสะสางไอ้ที่ค้างอยู่ในใจของเราให้หมดไปเรื่อย ๆ ๆ เกิดก็เกิดสิ! ต่อไปก็แยกระหว่าง “ตัวจิต” กับ “ความคิด” ทีนี้กลายเป็นว่า เรื่องที่คิดเป็นเรื่องอกุศลแต่จิตไม่ได้เป็นอกุศลตามแล้ว คิดเรื่องราวที่รู้สึกไม่ดีกับเขา คิดได้แต่จิตไม่รู้สึกตาม นี่คือที่บอกว่า อารมณ์ภายนอกเป็นอกุศลแต่จิตไม่ได้เป็นอกุศลตาม ตรงนี้วิบากเป็นอกุศลแต่จิตไม่เสวยอกุศลวิบากอันนั้น เป็นจิตที่สงบจิตที่ผ่องใสเข้าไปรับรู้ เห็นไหม นี่คือความแตกต่างเลย!
อารมณ์วิบากเป็นอย่างไร ? อย่างเช่น เราชอบเห็นภาพที่ไม่ดี ภาพที่ไม่พึงปรารถนา เห็นเมื่อไหร่ก็หงุดหงิด เห็นเมื่อไหร่ก็หงุดหงิด นั่นคืออารมณ์ภายนอกเป็นวิบากสำหรับเรา แต่พอกำหนดรู้แบบนี้ปึ๊บ เห็นต่อไปกลับเฉย ๆ ไม่รู้สึกกับอารมณ์นั้น จิตสงบจิตผ่องใสขึ้น นั่นคือการกำหนดรู้ แล้วเราก็จะละไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น เวลาเล่าสภาวะ เราก็เล่าว่า จากที่เวลาเห็นอะไรที่เคยไม่ชอบ เดี๋ยวนี้พอเห็นปึ๊บมันดับเร็ว เห็นแล้วตอนนี้ไม่รู้สึกเลย เห็นแล้วเฉย ๆ เห็นแล้วรู้สึกสบาย ๆ เห็นแล้วสงบ...
เห็นไหม นี่เป็นตัวบอกว่าการที่เราละหรือการที่เราปล่อยวางมันง่ายขึ้นเยอะ ถ้าเราไม่พิจารณาแบบนี้ เอาแต่กลัวว่า อย่าเกิด อย่าเกิด... กลายเป็นว่าเราปฏิเสธอารมณ์นั้น แล้วเรายึดอะไร ? คือเราไม่อยากเห็น เรามีเงื่อนไข กรอบของเราแคบลง เราก็ขังตัวเองเอาไว้ในที่แคบ ๆ อันนั้นก็เกิดไม่ได้ อันนี้ก็เกิดไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ห้ามไม่ได้หรอก เขาก็เกิดเป็นปกติของเขา เพราะฉะนั้น เวลาเล่าสภาวะเราเปรียบเทียบเลยว่า ความคิดเมื่อก่อนดับแบบนั้น วันนี้ดับอย่างนี้...
โยคีมาเล่า บัลลังก์ก่อนความคิดเยอะมาก.... อยู่ดีไม่อยู่ดี จะไปดีไม่ไปดี จะกลับดีไหม ? ที่อาจารย์บอกตั้งแต่วันแรก ๆ เลยว่า สังเกตไหม ความคิดเขาไม่เที่ยง ? สองบัลลังก์แรกนี่ โอ้โห! อาการหนักมาก ๆ เลย คิดอย่างเดียวเลย แต่พอบัลลังก์ที่สาม อัศจรรย์มากเลย มันหายไปเอง ไม่มีความคิดเลย เงียบสงบ นี่เป็นตัวบอกถึงความเป็นอนิจจัง แล้วเราทำไมเราต้องกังวลกับเขา... เดี๋ยวเขาก็ไปอยู่แล้ว ? ตั้งสติดี ๆ กำหนดสองบัลลังก์ก็ไป สามบัลลังก์ก็ไป ทั้งวันเดี๋ยวเขาก็ไปอยู่ดี อารมณ์เขาไม่อยู่ตลอด นั่นคือความไม่เที่ยงของอารมณ์อย่างหนึ่ง
อันนี้พูดในลักษณะที่เรากำหนดอาการเกิดดับของความคิดไม่ได้เลย แค่เราเห็นอย่างเดียวเขาก็ไปแล้ว ไม่ต้องกังวล แค่ทำใจสบาย ๆ แล้วดูมันไป ก็จะจบเร็วกว่าที่คิดเยอะ จากที่เราคิดว่าคงจะอยู่ทั้งวัน เขาจะอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงก็หายไปแล้ว เพราะเราผ่อนคลาย เราปล่อยความเป็นตัวตน ไม่กังวล ไม่อยาก ไม่เครียด โยคีเล่าเองว่า บางทีก็ช่างมัน ปล่อยไปทำอย่างอื่นก่อน กลับมา อ้าว! หายแล้ว แต่การที่เรากำหนดความคิด เราปล่อยสบาย ๆ แต่คอยสังเกตว่าเขาไปแล้วนะ เริ่มมีแล้วน้อยลงแล้วนะ เบาลงกว่าเดิมนะ แล้วดูสภาพจิตเรา – จิตรู้สึกนิ่งขึ้น สงบขึ้นไหม ? นี่คือวิธีการกำหนดความคิด
เวลาเล่าสภาวะเหมือนกัน ถ้าเราเล่าเฉพาะอาการแบบนี้ อาจารย์ว่ามันจะเล่าแป๊บเดียวนะ ยกตัวอย่างในการกำหนดเวทนา ตอนนี้เริ่มมีเวทนากันบ้างแล้ว ไม่กี่นาทีเวทนาก็มาแล้ว ทีนี้ เวลาเล่า - วันนี้ขณะนั่ง มีเวทนาขึ้นมา เวทนามันเป็นก้อนเลย เป็นก้อนนิ่งสนิท พอมีสติเข้าไปรู้ปึ๊บ ที่ก้อนนั้นค่อย ๆ เปลี่ยน ค่อย ๆ เปลี่ยน... สักพักกำหนดไปเรื่อย ๆ เขาเปลี่ยนเป็นเบาลง เบาลง แล้วก็เหลือแต่ชา ๆ เห็นไหม เล่าอาการ! พออาการเวทนาเบาลง เบาลง เหลือแต่อาการชา ๆ สภาพจิตเลยรู้สึกตื่นตัวขึ้น ตั้งมั่นขึ้น...
พอสภาพจิตตั้งมั่นขึ้น เวทนาเริ่มไม่ชัดแล้ว อาการเต้นของหัวใจเริ่มแรงขึ้น เลยไปกำหนดอาการเต้นของหัวใจต่อ อาการเต้นของหัวใจแบบรัว ๆ เร็ว ๆ ปุ๊บ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ แล้วก็หมดไป ก็นิ่งสักพัก เกิดขึ้นมาใหม่ เขาช้ากว่าเดิม ไม่รัวแล้ว เขามีอาการ ตึ๊บ.. ตึ๊บ.. ตึ๊บ.. ตึ๊บ... เล่าตามอาการแบบนี้ พอดูอาการเต้นของหัวใจสักพัก เวทนามาอีกแล้ว ทีนี้เดี๋ยวผุดตรงนั้นเดี๋ยวผุดตรงนี้ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย เล่าแบบนี้นี่อาจารย์จะไม่ถามเลย เพราะสภาวะจบในตัว คือชัดเจนทั้งเกิดดับ ทั้งอาการที่เปลี่ยนไป เล่าทั้งลักษณะของอาการ เล่าทั้งสภาพจิต นี่มันจบเลยทั้งเหตุและผล
ทีนี้ จากที่เขาเปลี่ยนตำแหน่ง เดี๋ยวเปลี่ยนตรงนั้น เดี๋ยวเปลี่ยนตรงนี้ สักพักเวทนามาเหลือแค่จุดเดียว จุดเดียวแล้วอยู่ในที่ว่าง ๆ แล้วเวทนานั้นก็มีอาการเกิดดับแบบเริ่มบิด เริ่มหมุน หรืออะไรแล้วแต่ เล่าตามอาการ หมุน ๆ แล้วก็บิดมากขึ้น ๆ แรงขึ้น ๆ สักพักทนไม่ได้เลยถอยออกมา ถอยออกมาแล้วก็นิ่ง ปวดขึ้นอีกเข้าไปรู้ใหม่ เล่าตามที่เป็น ถอยออกมาไม่ผิดนะ เพราะเราไม่ไหวจริง ๆ ก็ถอยจิตออกมา สู้ใหม่ นิ่งใหม่แล้วเข้าไปรู้อีก จากที่เขาหมุนเป็นเกลียวขึ้นมาแรง ๆ เขาก็เริ่มแผ่วลง หรือเบาลง เบาลง แล้วก็นิ่งไป - เล่าตามอาการที่เห็น
ถ้าเราเล่าแบบนี้ จะชัดเลยว่าเราพูดถึงเวทนา ทีนี้พอนิ่งครั้งใหม่ มีเวทนาขึ้นมา เวทนาเปลี่ยนไปแล้ว... เปลี่ยนเป็นเดี๋ยวแปล๊บตรงนั้น เดี๋ยวแปล๊บตรงนี้ เดี๋ยวเหมือนมดไต่ เดี๋ยวเหมือนแมลงไต่ยิบ ๆ ๆ ๆ เป็นที่หน้า ที่หัว ที่ตัว หรือเหมือนกับถูกรุมด้วยมด... เล่าไปเลย นั่นคือลักษณะของเวทนา นี่คือสภาวธรรมทั้งหมด ถูกรุมอยู่นานไหม ? โอ! บัลลังก์นี้ถูกมดรุมทั้งบัลลังก์เลย เต็มหมด คัน ก็เลยเกา... เกาก็บอกได้ เกาก็บอกว่าเกา! ก็เลยขยับเลยเกา เอ้า! ดูแล้วไม่มีมดไม่มีอะไร... ที่บอกว่าไม่มีมดนี่ เราลืมตาพิสูจน์ดูได้เลยนะ จะได้ไม่ต้องไปกังวลว่ามดจริงหรือมดไม่จริง
มีโยม-ไม่ทราบใครนะ พอมันยิบ ๆ เลยนึกถึงตัวเองเคยไปทำรังมด วิบากที่ไปทำรังมด มดกัดเต็มตัวเลย ดูแล้วไม่มีมด... แต่วันก่อนมดจริงนะ ดูแล้วมดไต่รอบตัวเลย อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง เวทนาสภาวธรรมนี่บางครั้งคัน ไม่ปวดแต่คันจนทนไม่ได้ มันรำคาญจนนั่งไม่ติดต้องลุก จริง ๆ แล้วเราเล่าตามสภาวะที่เป็น มันคันมากแค่ไหน ? คันมากกว่าเดิมอีก คันจนทนไม่ได้ ต้องเกาแล้วนี่... อาจารย์ก็เกาเหมือนกัน บางทีไม่ไหว เกาได้ไหม ? ได้ ไม่จำเป็นต้องเอาให้ชนะอย่างเดียว
คำว่า “ชนะเวทนา” - จริง ๆ แล้วเราจะเอาชนะเวทนา หรือชนะกิเลสของเรา ? การพิจารณาเวทนา เขาจะดับไม่ดับอย่างไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราเข้าไปรู้ บางครั้งพอเอาความว่างเข้าไปใส่ปึ๊บนี่มันดับฟึบไปเลย แต่บางครั้งเอาความว่างเข้าไปแล้วทำไมไม่ดับ เอาความว่างเข้าไปใส่ก็ยังเด่นเป็นสง่าอยู่ จริง ๆ ก็คือว่าสภาวะต้องสังเกตแบบนี้ ครั้งก่อนเคยเข้าไปแล้วเขาดับฟึบทีเดียว ตอนนี้เข้าไปแล้วเขาชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น... นั่นคือความไม่เที่ยงของเวทนา เล่าตามอาการ นี่วิธีเล่าสภาวะ
ลองทบทวนว่าที่ผ่านมานี่เล่าแบบไหน ? เล่าถูกแล้วนะ เล่าสภาวะถูกหมดแต่เรียงไม่ค่อยถูก อาจารย์ก็ต้องจับเรียง เพราะฉะนั้น เวลาโยคีเล่าสภาวะ อาจารย์ต้องนิ่งฟัง บางครั้งดูเหมือนอาจารย์หัวเราะเสียงดังเวลาฟังโยคีเล่าสภาวะ ที่หัวเราะเพราะเห็นปุ๊บเดี๋ยวโยคีจะพูดอะไร หัวเราะไว้ก่อน เขาคิดว่าเขาจะไม่พูดคำนั้นแต่เดี๋ยวเขาก็พูดคำนั้นออกมา... บางทีก็คือว่า สภาวะเขาดี ก็ยิ้มดีใจกับเขาที่เขาปฏิบัติได้ดีขึ้น ชัดขึ้น พอเขาหัวเราะดีใจ ก็ดีใจ
ทีนี้วิธีเล่าสภาวะนี่อาจารย์ว่าง่ายมากนะ สิ่งที่ต้องจำคือเล่าอะไร อาการเกิดดับเขาเปลี่ยนไปอย่างไร สภาพจิตเป็นอย่างไร อาจารย์จึงบอกว่าอย่าไปกังวลแยกว่าอันนี้คือรูป อันนี้คือนาม อันนี้เป็นเจตสิกไหม อันนี้เป็นฌานไหน... โอ้โห! ไปไกลเลยตรงนั้นน่ะ ให้รู้ว่าจิตสงบขึ้น ใสขึ้น เบาขึ้น โล่งขึ้น สว่างขึ้น แล้วรู้สึกว่ามีบรรยากาศของความใสคลุมตัวทั้งหมด ความสงบห่อหุ้มตัวไปหมด เล่าแค่นี่ก็ชัดแล้ว ฌานไหนก็ช่างเหอะ ถึงจะเรียกว่าฌานไหนเราก็ได้อยู่เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องห่วง!
เสริมนิดหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับวิธีเล่าสภาวะ อันนี้เกี่ยวกับการที่เราเดินจงกรม ถ้าเดินจงกรมเดินออกกำลังกาย มีความสงบ ความใส หรือความสุขรองรับ บรรยากาศตรงนั้นเขาเรียกเป็น “บรรยากาศของอารมณ์ฌาน” ถ้าเราเดินแล้วอยู่ในความว่าง ความใส ความสงบตลอดเวลา เราก็เหมือนเดินอยู่ในฌาน เพราะฉะนั้น ฌานนี้จะตั้งอยู่ได้นาน ถ้าทำแบบนี้กำลังเราจะเยอะ ใช้ได้ตลอด! พระพุทธเจ้าบอกว่าการเดินจงกรมทำให้สมาธิตั้งอยู่ได้นาน ฌานเกิดขึ้นตั้งอยู่ได้นาน แต่ถ้านั่ง ลุกขึ้นมาปุ๊บฌานหายเลย
แต่ถ้าใช้ในการเดิน ใช้ในอิริยาบถย่อยได้ ที่บอกว่าให้ยกจิตขึ้นสู่ความว่าง ทำอะไรอยู่ในบรรยากาศของความว่างบ่อย ๆ ดูสภาพจิตบ่อย ๆ เหมือนมีองค์ฌานรองรับ มีสมาธิคอยกำกับคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา สังเกต ทุกครั้งพอมีบรรยากาศรองรับ เราจะสงบโดยปริยาย จิตเราจะนิ่ง แต่ถ้าเมื่อไหร่บรรยากาศหาย ความวุ่นวายก็จะเข้ามาแทน ความสงบก็จะน้อยลง ความสบายก็ลดลง เพราะฉะนั้น ก็เลยใช้วิธีสอนว่า เวลาเดินจงกรมทุกครั้ง ยกจิตขึ้นสู่ความว่างก่อนนะ ให้กว้างกว่าตัว แล้วเดินเข้าไปในความว่าง...
อาจารย์จะใช้คำพูดแบบสบาย ๆ จริง ๆ แล้วสำคัญมากเลยนะ พิเศษมากเลย พูดให้เราไม่ต้องรู้สึกกังวล ถ้าบอก “ให้เดินอยู่ในฌาน” เราจะคิดมากทันที แต่ให้เดินอยู่ในความว่างความเบานี่เราทำได้ง่าย เพราะเราเข้าถึงได้ พอบอกเป็นฌานปึ๊บเราก็เริ่มหา เพราะฉะนั้น การที่มีบรรยากาศรองรับจะช่วยการประคองจิตเราได้ดีด้วย บรรยากาศเป็นสภาพจิตของเรา องค์ฌานนั้นก็เป็นสภาพจิตใจของเราเอง จำได้นะวิธีเล่าสภาวะ ยกแค่สองตัวอย่างก็น่าจะชัดนะ
ทีนี้การเล่าสภาวะ จริง ๆ ประโยชน์มีมากกว่าการที่เราจะพูด ๆ แล้วผ่านไป การเรียงลำดับของสภาวะที่เกิดขึ้นสำคัญมากเลย เพราะว่าเราจะรู้เหตุรู้ผล รู้ที่มาที่ไปของสภาวะ ต่อไปเวลาเราจะยกจิตขึ้นสู่ความว่างเราก็จะยกจิตได้ง่าย เพราะเราบอกว่าเริ่มต้นด้วยการยกจิตขึ้นสู่ความว่างแล้วกำหนดอาการ บางทีรู้สึกว่าวันนี้ยกจิตขึ้นสู่ความว่างไม่ได้เลย จิตมันนิ่ง ๆ อย่างเดียว... เล่าไปเลย อย่ามัวแต่นั่งกังวล! พอจะส่งอารมณ์ปึ๊บทำหน้าแบบมีปัญหาก่อนแล้ว วันนี้ยกจิตขึ้นสู่ความว่างไม่ได้เลย... ยังไม่เล่าก็รู้แล้วเพราะหน้าบอก
วิธีก็คือว่า มีปัญหา-เล่าไปเลย! เพราะสภาวธรรมเหล่านี้แก้ไม่ยาก แต่ขอให้พร้อมที่จะแก้ พร้อมที่จะทำ มันจะแก้ได้ง่าย แก้ทีละจุดทีละเปลาะ แล้วเราก็จะทำได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามัวแต่ไปนั่งเอ๊ ๆ ๆ อยู่ อันนี้ล่ะจะแก้ยาก เวลาเล่าสภาวะนี่บางคนก็เข้ามาแบบดีใจที่จะได้เล่าสภาวะ เจออาจารย์แล้วจะเล่า ๆ ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า โยคีเล่าถึงสภาวะที่ปรากฏข้างหน้าไม่ถูก อันนั้นก็ไม่ใช่อันนี้ก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่ว่างอย่างนั้นนะอาจารย์... ว่างอย่างไรเขายังไม่ได้เล่าอาจารย์ฟังเลย! บอกแต่ว่าไม่ใช่อย่างนั้นไม่ใช่อย่างนี้ แล้วมันอย่างไรล่ะ!? มันเป็นแบบนี้... ก็เล่าแค่นี้ก็จบแล้ว! ไอ้ที่ไม่ใช่พูดอยู่ตั้งนาน พอเล่ามา อ๋อ! แค่นี้เอง
ยกตัวอย่างนะ โยคีเล่าถึงเวทนา วันนี้เวทนามากเลย กำหนดแล้วสู้ไม่ชนะ ยังไม่หมดเลย หมดเวลาก่อน... งั้นให้กำหนดแบบนี้นะ ให้พิจารณากำหนดรู้และสังเกตอาการเกิดดับให้เยอะ ไม่ต้องไปดูความเป็นกลุ่มก้อนของเขา... บัลลังก์หลังจากนั้นไปนั่งหาเวทนาอย่างเดียวแล้ว หาแล้วไม่มี แล้วก็มานั่งทำหน้าเสียใจ เสียใจที่ทำการบ้านอาจารย์ไม่ได้! วันนี้นั่งแล้วหาเวทนาไม่มีเลยอาจารย์ เลยไม่ได้ทำการบ้าน... แล้วมีอะไรล่ะ ? มันมีแต่ความคิดอย่างเดียว เวทนาไม่มี ก็เลยไม่ได้กำหนด เลยทำการบ้านไม่ได้เลย...

จริง ๆ แล้วก็คือว่า พออาจารย์ให้ไปดูแบบนั้น พอไปนั่งปึ๊บนี่เวทนาไม่มีเลย บัลลังก์นั้นหายไปเลย มีแต่ความคิด ก็เลยกำหนดความคิด... เล่าแบบนี้เลย ไม่ใช่ปัญหา นั่นเป็นอารมณ์ปัจจุบันที่เราต้องกำหนดอยู่แล้ว พอไปสังเกตลักษณะอาการเกิดดับเหมือนที่อาจารย์ให้กำหนดเวทนาปึ๊บ ความคิดเขาดับแบบนี้ แบบนี้ แบบนี้.... เล่าไปเลย เล่าที่เห็นที่เป็น นี่คือวิธีการเล่าสภาวะ! เป็นการจบโดยที่ไม่มีเศษอารมณ์ ไม่มีการคร่ำครวญ ไม่มีการรำพึงรำพัน
บางทีก็มัวแต่รำพึงรำพัน จนเมื่อก่อนเคยใช้คำว่า “อย่าคร่ำครวญ” เวลาโยคีเริ่มเล่าสภาวะ มันยังงั้นมันยังงี้... อย่าคร่ำครวญ! เวลาเล่าสภาวะอย่าคร่ำครวญ ให้เล่าอาการที่เห็นอย่างเดียว นี่คือใช้คำไม่ให้คร่ำครวญ อาการประมาณไหนถึงเรียกว่าคร่ำครวญ ? รู้ใช่ไหม ? ไม่ต้องบอกก็รู้ ยังงั้นยังงี้... กลายเป็นบ่นคร่ำครวญไป จริง ๆ คือเห็นก็เห็น ไม่เห็นก็คือไม่เห็น จบ! ทำได้ก็ได้ ทำอะไรไม่ได้บอกเลย แค่นั้นเอง!
เมื่อก่อนเคยไปส่งอารมณ์กับท่านแม่ครู ทำไม่ได้เลย ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้... ท่านบอกว่าหน้าที่แก้ปัญหาคือท่าน หน้าที่ปฏิบัติคืออาจารย์ ปัญหาตรงไหนให้เล่า เดี๋ยวจะแก้ปัญหาให้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่! พอเล่าเสร็จปุ๊บ ท่านบอกให้ทำตรงนี้ นิดเดียวเอง อ๋อ! หลุดแล้ว คือที่เราคิดมากอยู่ทั้งวัน ทำอย่างไรก็ไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้สักที กำหนดก็ไม่ได้ พอเล่าให้ท่านฟัง แค่นี้เอง หลุดแล้ว! เหมือนพลิกฝ่ามือ เหมือนเส้นผมบังตา แต่ว่าเราไม่เห็น - นิดเดียวเอง!
เพราะฉะนั้น การเล่าสภาวะจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ มันเหมือนการแก้ปัญหาของเรา ตรงไหนที่ไม่เข้าใจ คำว่า “ไม่เข้าใจ” นี่สำคัญมากเลย บางครั้งเรามัวแต่พยายามที่จะเข้าใจมากกว่าเข้าถึง เลยเข้าใจแล้วแต่ก็ยังเข้าไม่ถึง ถ้าเข้าไม่ถึง ความเข้าใจเราจะตรงไหม ? นิดเดียวเอง! ถ้าเราเข้าไม่ถึง ความเข้าใจเราจะถูกไหม ? เราไม่เคยเห็นเลยนี่! ศูนย์ ๔ อาจารย์ไม่เคยเห็น เขาบอกว่าลำบากมากเลย หน้าร้อนร้อนมากเลยอาจารย์ อูย! อยู่ไกลมากเลย ลำบากมากเลย... อาจารย์ว่า โห! ลำบากขนาดนั้นเลยเหรอ ก็เลยต้องลองมาดูซิ โอ! สัปปายะมากเลย
เห็นไหม บางทีแค่คนอื่นพูดปุ๊บนี่ถ้าเราคล้อยตามนะ เราก็ เอ๊.... เราไม่ได้พิจารณาดี ๆ ลองดูสิลำบากขนาดไหน... มาแล้ว โอ้โฮ! สิ่งที่จินตนาการกับความเป็นจริงต่างกันมากเลย! เพราะฉะนั้น สภาวะก็เหมือนกัน สภาวะที่เราเข้าถึงแล้ว ถ้าเรามาถึงแล้วเรากลับไปพูดต่อนี่ เราจะบอกได้เลยว่าดีอย่างไรไม่ดีอย่างไร สภาวะที่เคยเห็นแล้วเขาเป็นอย่างไร สภาพจิตเป็นอย่างไร จิตสงบเป็นอย่างไร จิตที่เบาเป็นอย่างไร อาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราจะบอกได้ เหมือนเช่นสถานที่นี้มีอะไรบ้างเราก็บอกได้
อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า โยคีมัวกังวลว่าเขาเรียกว่าอะไร - สภาวะนี้เรียกว่าอะไรดี มันสงบแบบนี้เรียกว่าอะไรดี... จริง ๆ พูดไปเรียบร้อยแล้ว ก็มันสงบ เรียกว่าสงบไหม ? มันสงบแบบนี้จะเรียกว่าอะไรดี ก็เรียกว่าสงบไง พูดไปเรียบร้อยแต่ก็จะมาหาว่า เอ๊ะ! แล้วเขาเรียกว่าอะไร เขาเรียกว่าอะไรช่างเขาเถอะ ขอให้เราเรียกสำหรับเราได้ก็ดีแล้ว เหมือนกับเรารู้สึกสงบ รู้สึกใส รู้สึกอิ่ม เล่าได้เลยนะ โยคีไม่ต้องห่วงว่าปฏิบัติแล้วมันรู้สึกพิสดารมาก ๆ เลย มันดีมาก ๆ ใสมาก ๆ ผ่องใสมากเลย บอกไม่ถูกเลย... ก็เล่าไปเถอะ พูดแค่นั้นก็ได้แล้ว
เผื่ออาจารย์จะเข้าใจบ้าง อาจารย์จะได้ อ๋อ! เป็นแบบนั้นเหรอ เดี๋ยวยังมีดีกว่านี้นะ... ถ้าอาจารย์บอกได้ว่ายังมีดีกว่านี้ ไม่ต้องห่วงว่าที่เล่ามาอาจารย์จะเข้าใจหรือเปล่า อันนั้นตัดไปเลย แล้วทำไมอาจารย์ไม่บอกว่าเรียกว่าอะไร ก็เรียกเรียบร้อยแล้ว! สังเกตไหม ภาษาที่เราใช้เองเป็นภาษาสภาวะที่เกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่ภาษาที่อยู่ในหนังสือที่เขาบัญญัติมา บางอย่างอาจารย์โยงเข้าเพื่อให้รู้ว่าอันนี้คือภาษาที่เขาบัญญัติมานะ ในหนังสือเขาเรียกว่าอย่างนี้ แต่สภาวะเขาเป็นแบบนี้
สภาวะที่เป็นตรงนี้เขาเรียกว่า “องค์ธรรม” องค์ธรรม คือ สภวะที่เกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่ชื่อเรียก ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาเรามีความสุขมาก ๆ แล้วรู้สึกอยากให้คนอื่นมีความสุข ตรงที่อยากให้คนอื่นมีความสุขเขาเรียก “เมตตา” แต่องค์ธรรมของความเมตตาคือ ความสุข ความอิ่ม เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่มีความสุขความอิ่มใจ เมตตาก็จะเกิดขึ้นเอง ความอยากให้คนอื่นมีความสุขเขาจะเกิดขึ้นมาเอง ถึงแม้จะไม่ชอบก็อยากให้เขามีความสุข
เคยไหม คนที่เคยรู้สึกไม่ชอบก็ยังรู้สึกว่าช่างเขาเถอะ อยากให้เขามีความสุข อโหสิให้ แล้วก็เป็นการให้ด้วยใจจริง ๆ เป็นการให้จากความรู้สึกเรา ไม่ใช่แค่ให้ผ่าน ๆ ไป นี่คือจิตที่มีเมตตา องค์ธรรมของความเมตตาเขาจะเกิดเอง ตรงนั้นไม่ใช่แค่คิดปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุขแล้วเราก็คอยอิจฉานิด ๆ พอเขามีความสุขเขายิ้ม ก็แหม... ใช่ไหม ? นิดหนึ่ง แอบนิดหนึ่ง... ไม่ได้ องค์ธรรมของความเมตตาจะไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าเวลาเล่าสภาวะ ให้บอกได้เลยว่าวันนี้เดินแล้วกำหนดไม่ได้เลย อาการเขาเป็นแบบนี้อย่างเดียว... ถ้าบอกว่าเดินแล้วกำหนดไม่ได้เลย ให้บอกว่าที่กำหนดไม่ได้เขาเป็นอย่างไร พอมีความคิดเกิดขึ้นมาเยอะแยะมากมาย กำหนดไม่ได้เลย ให้รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร แล้วจะได้แก้ปัญหา ไม่ยากหรอก! ความคิด ความเครียด ความทุกข์ ความไม่เข้าใจ การเข้าไม่ถึงสภาวะ เหล่านี้แก้ไม่ยากนะ! แต่โยคีต้องร่วมมือ ต้องพร้อมที่จะแก้ แต่ถ้าพูดไปแล้ว เฉย ไม่เอา ไม่ฟัง... อันนี้ก็แก้ยากเหมือนกัน
สภาวะที่เกิดขึ้นมันเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติของชีวิต เป็นอาการของรูปนามทั้งหมด เพราะฉะนั้น เวลาเล่าสภาวะนี่เล่าให้เป็น แล้วก็เพิ่มอีกอย่างหนึ่งนะ ตรงที่ว่าถ้าเราเป็นคนขี้ลืม เวลาปฏิบัติ เจาะสภาวะแล้วลืม ลืม ลืม... เหตุที่ทำให้ลืมสภาวะนี้อย่างไร นั่นอีกอย่างหนึ่ง แต่วิธีที่จะจำให้ได้คือ “กำหนดจำสภาวะ” เห็นแล้วดูให้ชัด อย่างเช่น เราจำไม่ได้เลยพองยุบเขาเกิดดับอย่างไร ตอนกำหนดชัดเจนมากเลย แต่จำไม่ได้... แสดงว่ามันชัดไม่เต็มที่ แล้วไม่มีเจตนาจำ
อันนี้ที่จริงนี่ ถ้าเรามี “เจตนาที่จะรู้ชัด” เราจะจำ! ที่จำไม่ได้ เราจะบอกได้ว่า รู้สึกอาการมันชัดเจน แต่มันจบเร็วมากเลยจนจำไม่ได้ อันนี้คือจำได้เรียบร้อยแล้ว จำได้ว่าเพราะมันดับเร็ว อายุมันสั้น รู้ขึ้นมาแล้วดับ รู้ขึ้นมาแล้วดับ รู้ขึ้นมาแล้วดับ... ถ้าเล่าแบบนี้แสดงว่าจำได้เรียบร้อย เล่าเรียบร้อยแล้วไง สิ่งที่เล่าคือสิ่งที่ต้องจำ ไอ้เรื่องราวที่มันดับไปไม่ต้องจำหรอก สภาวะคือตัวลักษณะอาการเกิดดับเอง เห็นไหม ง่ายขึ้นแล้วนะ ต่อไปจะไม่มีปัญหา อาจารย์จะไม่นั่งนาน โยคีเล่าสภาวะเก่งขึ้น แป๊บเดียว แป๊บเดียว...
ไปนั่งห้าหกคน คนนั่งท้าย ๆ ก็ ทำไมเล่าช้าจัง!? เริ่มคิดในใจนิดหนึ่ง ๆ แอบมองเข้าไปในห้องสอบอารมณ์ เหลืออีกกี่คน... สี่คน สักพักคงเข้าได้แล้ว ไม่เป็นไรให้คนส่งอารมณ์เกือบหมดก่อน เรานั่งอยู่ที่กุฏิอยู่ก่อน พอไปถึง อ้าว! หมดเวลา แล้วก็ไม่ได้ส่งนะ... บางทีก็คิดว่าเดี๋ยวผู้ประสานไปตามเองแหละ แหม! โยนภาระนะนั่นน่ะ เราก็ต้องมารอมั่ง คิดถึงผู้ประสานบ้างแล้วนะ แต่ก็ถือว่าได้ออกกำลังกายนะ-ปั่นจักรยาน ถือว่าได้บุญ-เขาก็จะได้บุญที่ส่งข่าว
บางทีเขาเห็นนั่งเงียบ ๆ เกรงใจว่าโยคีกำลังเจาะสภาวะ จะสะกิดจะเรียกก็ไม่ได้ เดี๋ยวเขากำลังจะไปนิพพาน พอสะกิดปึ๊บหลุดออกมานี่ โอ้โห! เสร็จเลยนะ ไปตัดมรรคผลนิพพานของเขานี่ ต้องดูดี ๆ นะ ต้องส่งสัญญาณแบบไม่ให้เขาตกใจ จริง ๆ นะ เขากำลังมุ่ง ๆ ๆ สภาวะดีเลย สะดุดกึก! เสียดายมากเลย หันมามองค้อนนิดหนึ่ง... กลายเป็นว่า โอ้โห! เราทำบาปไปเสียนี่ เพราะฉะนั้น วิธีก็คือ ก่อนที่จะไปถึง ทำเสียงดัง ๆ กระไอกระแอมก็ได้ คือทำอยู่นอก ๆ
จริง ๆ นะ พอกำลังดิ่ง ๆ แล้วไปสะกิดปึ๊บ สะดุ้งเฮือกเหมือนตกจากที่สูงเลย ถ้าทำเสียงดัง เขาก็จะค่อย ๆ แว่ว ๆ เข้ามา เขาก็ค่อยได้รู้สึกตัว แล้วเขาจะได้ไม่รู้สึกถูกรบกวน นี่วิธีแก้นะ! เคยเห็น โอ้โห! เรากำลังนั่งสมาธิเจาะสภาวะอยู่ดี ๆ เลย เขามากระซิบข้างหู เขาเกรงใจมากเลยนะ กระซิบปึ๊บ หูว! ใจวูบไปเลย คือจิตกำลังสงบ คิดดูสิ เบาแค่ไหนมันก็ยังดัง! กระซิบปึ๊บมันก็วูบเลย ยิ่งถ้าสะกิดเหมือนกับอะไรมากระทบอย่างแรง อันนี้สังเกตนะ แล้วกลายเป็นบาปไม่รู้ตัว
เมื่อก่อนตอนที่ปฏิบัติอยู่ โยคีเขาปฏิบัติในถ้ำ อาจารย์ก็ปฏิบัติอยู่อีกจุดหนึ่ง พอดีมีพระผู้ใหญ่มา แล้วเขาอยากเข้าไปดูถ้ำนั้น เราก็เอาไงดี โยมปฏิบัติอยู่ เขาก็เดินจงกรม ตั้งใจขะมักเขม้น... เราพาพระผู้ใหญ่ไป ก็ส่งเสียงก่อน ทำเป็นคุยเสียงดัง ๆ พอไปถึงก็ขออนุญาต ขอโอกาสนะ พระผู้ใหญ่มา จะไปดูถ้ำ ก็ไปกัน จะกลัวว่าไปรบกวนเขากำลังปฏิบัติ กำลังมุ่งไปนิพพาน แล้วไปสะดุด ก็เป็นผลต่อการปฏิบัติของเรานะ ทำให้เราปฏิบัติแล้วก็ติด ๆ ขัด ๆ ติด ๆ ขัด ๆ แล้วเราก็จะรู้สึกหงุดหงิดตัวเองอีก ทำไมไม่เดินหน้าสักที!? บางทีเหตุพวกนี้เราไม่รู้ว่ามันมีผลมากไหม เราป้องกันไว้ก่อนดีกว่า
เพราะฉะนั้น เวลาโยคีเดินจงกรม อาจารย์พยายามเลี่ยง ๆ ๆ ทำไมอาจารย์ไม่เดินบนทางปูน ? ทำไมอาจารย์ชอบเดินตรงกลาง ? ไม่หรอก หลบโยคี! เพราะว่านิดเดียว แค่อาจารย์เดินผ่าน บรรยากาศมันก็จะทำให้โยคีต้อง...นิดหนึ่ง บางคนก็ดีใจได้รับพลัง บางคนก็รู้สึกถูกรบกวน อันนี้ก็ต่างกันไป สังเกตดู อาจารย์พยายามเลี่ยง ๆ แต่ก็เลี่ยงยากนะ ถ้าเห็นอย่างนั้นก็กำหนดไปเลยแล้วกัน เอาความว่างเข้าไปใส่เลย กำหนดไม่เห็นอาจารย์เลย ว่าง ๆ ไปเลย
บางทีโยคีเดินจงกรม อาจารย์ก็มองดูว่าเขาเดินจงกรมกัน การยก-การก้าวเป็นอย่างไร สติเขาอยู่ตรงไหน คอยดูว่าเขากำหนดนี่ สติเขาอยู่ที่เท้าหรืออยู่ห่างจากเท้า คือมองแบบไกล ๆ ไม่กล้าเข้าไปรบกวน ถ้าเขามองแบบอยากถาม บางครั้งอาจารย์ก็จะบอกเลย บางครั้งก็เลี่ยง ๆ ไปก่อน ให้เขาหาก่อน สภาวะเหล่านี้นี่ จริง ๆ เมื่อก่อนอาจารย์ไม่รู้หรอก ท่านแม่ครูบอกว่า เวลาโยคีเดิน เห็นไกล ๆ เห็นข้างหลังก็รู้แล้วว่าจิตเขาเป็นอย่างไร เขาเดินแบบไหน สติเขาอยู่ตรงไหน... เราก็ เอ๊ะ! รู้ได้อย่างไร ไม่ต้องคุยเลยเหรอ!?
จริง ๆ นะ ยิ่งเราดูสภาพจิตเรา เราปฏิบัติ เราเห็นจิตเราชัด จิตเรายิ่งผ่องใส เราฝึกตรงนี้มาก ๆ เห็นบรรยากาศรองรับบ่อย ๆ มันเป็นการดูจิตในจิต คนเราจะมีบรรยากาศเฉพาะตัว คือสภาพจิตเขาเป็นอย่างไร บรรยากาศเขาก็จะออกมารอบ ๆ ตัวเขา เราจะเห็นได้ง่ายมากเลย เรียกว่า “บรรยากาศสภาพจิต” จิตเรายิ่งละเอียด เราก็จะเห็นข้างนอกได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น การปฏิบัติแบบนี้จึงให้ดูสภาพจิตให้เยอะ เราจะเป็นคนที่ละเอียดมากขึ้น
พูดนอกเรื่องไป เรื่องหลักคือต้องกลับมาส่งอารมณ์ให้ถูกแล้วนะ นี่ต้องไม่ลืม! ประเด็นคือการส่งอารมณ์ของเรา บางทีโยคีพอส่งอารมณ์เสร็จ อาจารย์อธิบายให้ฟัง พออธิบายเสร็จ ลืมการบ้านไปเสียแล้ว! เข้าใจแล้วลืมไปเลย กลับมา... อาจารย์ให้ทำอะไรนะเมื่อกี๊!? เล่าไปอีกเรื่องหนึ่งเลย! อันนี้ก็เป็นเยอะนะ อย่าคิดว่าไม่ใช่เรา ให้คิดว่าเราต้องระวังมากขึ้น ทบทวนมากขึ้น แต่ที่ไม่เป็นก็เยอะ อันนี้เล่าประสบการณ์ให้ฟัง เพราะฉะนั้น การเล่าสภาวะ จำไว้เลยว่าสิ่งที่เราต้องเล่าคือ อาการของลมหายใจ อาการพองยุบ เวทนา ความคิด ต้นจิต อิริยาบถย่อย สภาพจิตเรา
สภาพจิตนี่ สมมตินะ เราบอกว่าเมื่อวานสภาพจิตไม่ดีเลย มาวันนี้ดีเยอะเลย สบายไม่มีปัญหา แต่ถ้าบอกว่าเมื่อวานจิตผ่องใสมากเลย ทำอะไรรู้สึกคล่องแคล่วเบิกบานแจ่มใส มาวันนี้ขุ่น... กลายเป็นว่าซึมไปเลย ขุ่น... กำหนดไม่ได้ อันนี้มาเล่าได้เลย จะได้แก้ง่าย ๆ มาแก้สภาวะ มาพิจารณากำหนดได้ง่ายขึ้นเยอะ จะได้ไม่ต้องไปติดสองวันสามวันสี่วัน เหลือวันสุดท้ายแล้ว! หรือว่าติดออกไป เซ็งแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ปฏิบัติแล้ว กลายเป็นแบบนั้นไปอีก! เพราะว่าสภาวะบางอย่างเขาเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น พอรู้สึกว่ามันมีมัว ๆ สลัว ๆ กำหนดอย่างไรดี ? จะแก้อย่างไรดี ? นั่นคือประเด็นที่เราต้องจัดการ ไม่ใช่ว่าพอมัว ๆ แล้วหาไม่ได้ แล้วก็มานั่งเครียด จะเอาอะไรไปส่งดี กำหนดไม่ได้ แก้ไม่ได้ นั่งเครียดอยู่คนเดียว หน้าที่แก้สภาวะ – อาจารย์จะทำหน้าที่แก้ เรามีหน้าที่ทำตาม ง่าย ๆ แบบนี้ แล้วจะไม่เป็นปัญหา บางคนเจอสภาวะแบบนี้ก็เดี๋ยวไปถามอาจารย์ดีกว่า บางครั้งเราก็ต้องลองแก้เองบ้าง จะได้รู้วิธีแก้ปัญหาด้วย
วิธีแก้ปัญหาอย่างไร ? ทบทวนสิ่งที่อาจารย์สอน - ที่ผ่านมาถ้าเจออาการนี้ อาจารย์บอกว่าให้ทำอย่างไร ทบทวนแล้วเอามาใช้ได้เลย ไม่ต้องรออาจารย์บอกใหม่ก็ได้! สังเกตไหมว่า สภาวะตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้พูดซ้ำเยอะมากเลย แล้วอาการก็คล้าย ๆ กัน ? นอกจากปัญหาแล้ว สภาวะดี ๆ ก็เล่าให้ฟังได้นะ อาจารย์ก็จะได้มีพลังมากขึ้นด้วย แผ่บุญให้กันบ้าง... เวลาสภาวะดี ๆ นี่เก็บดีอยู่คนเดียว พอไม่ดีแล้วมาให้เรา! เข้าใจขึ้นนะ ? ลองดูว่าพรุ่งนี้การเล่าสภาวะจะเป็นอย่างไร บอกไว้นะอาจารย์เป็นคนจำสภาวะโยคีแม่น หน้าแบบนี้เคยเล่าอาการแบบนี้... หลายคนจำหน้าได้แต่จำชื่อไม่ได้ ก็ถือว่าเรารู้จักกันก็แล้วกัน


แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 24 ก.ค. 2018, 17:36, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2018, 17:09 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




วัดบางไผ่.jpg
วัดบางไผ่.jpg [ 135.4 KiB | เปิดดู 5096 ครั้ง ]
ธรรมบรรยาย เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท
ณ วัดบางไผ่พระอารามหลวง จ.นนทบุรี
วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗

สาธุ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่โยคีทุก ๆ คน วันนี้เป็นวันที่ ๔ ของการเข้าคอร์สของเราและเป็นคืนสุดท้าย พรุ่งนี้ก็เป็นวันสุดท้ายแล้ว วันนี้จะฟังเรื่องอะไรดี ? (โยคีกราบเรียนว่า อยากฟังเรื่องปฏิจจสมุปบาท) ธรรมะสูงนะปฏิจจสมุปบาท ตอนแรกคิดว่าจะให้ถามปัญหา บางคนก็ถามบ้างแล้วว่า “พรุ่งนี้ถ้ากลับไปบ้านจะทำอย่างไร ?” ตอนที่อยู่ที่นี่เราเจริญสติอย่างไร กลับไปบ้านก็เจริญสติแบบนั้นแหละ แต่จำไว้อย่างหนึ่งว่า สติเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องใช้ในชีวิตของเรา กลับไปบ้านยังไงก็ยังใช้สติอยู่ดีแหละ มาฝึกเจริญสติแล้วอย่าเอาสติฝากไว้ที่วัด เรามาฝึกแล้วก็เอาสติกลับไปบ้านด้วย สติจะได้คุ้มครองเรา

กลับมาสู่ธรรมะ... จะเอาปฏิจจสมุปบาทแบบไหนล่ะ ? แบบของเราหรือแบบของเขา ? เอาแบบของเรานะ เราฟังเราจะได้รู้เรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” ประกอบด้วยอะไรบ้าง ? เขาเรียก “นามรูป” มีทั้งนามและรูป คือการเกิดนั่นเอง “สฬายตนะ” จริง ๆ เขาเรียก “อายตนะ ๑๒” คนเรามีอายตนะ ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอีก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ รวมกันก็เป็น ๑๒ เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เมื่อมีเหตุปัจจัย มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เมื่อมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาเรียกมีสฬายตนะ มีอายตนะเกิดขึ้นมา ตัวที่ตามมาคือ “ผัสสะ” จึงเกิดขึ้น

ถ้ามีแค่ตาอย่างเดียว ไม่มีรูป เราก็ไม่มีผัสสะทางตา ใช่ไหม ? ถ้ามีแต่รูป ไม่มีตา สายตาไม่ดี การกระทบทางตาก็ไม่เกิดขึ้น มีหู มีแต่ใบหู แล้วหูไม่ดี ผัสสะทางทวารหูก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในที่นี้หมายถึงคนที่มีอาการครบ ๓๒ เราไม่ใช่เป็นคนพิการ อายตนะที่เกิดขึ้นทั้ง ๖ เพราะมีผัสสะขึ้นมา สังเกตดูว่า พอมีผัสสะกระทบขึ้นมา ก็มีเวทนา... กลับมาสู่ชีวิตจริงของเราแล้ว พอมีกระทบก็มีเวทนา มีสุข มีทุกข์ มีอุเบกขา มีชอบ ไม่ชอบ มีโกรธ หงุดหงิด สบายใจ มีความสุข มีความเบาใจ ตรงนี้จัดเป็นเวทนาที่เกิดขึ้นมา

ถามว่า เราหลีกเลี่ยงได้ไหมไม่ให้เวทนาเกิด ? ไม่ได้ นี่คือธรรมชาติ! ที่บอกเมื่อคืน ธรรมชาติของขันธ์ มีผัสสะก็มีเวทนา เห็นไหม ข้ามเร็วมากเลย ปฏิจจฯแป๊บเดียวเกือบจะครบวงจรแล้ว การเดินทางของชีวิตเราจบเร็วมากเลย! เพราะฉะนั้น เวทนาเกิดขึ้นนี่ ถ้าเป็นสุขเวทนา อะไรจะตามมา ? ถ้าเป็นทุกขเวทนา อะไรจะเกิดขึ้น ? เวทนาที่เกิดขึ้นมา ถ้าเป็นสุขเวทนา การกระทำของเราจะเป็นอย่างไร ? อย่างเช่น เวลาเรามีความสุข นั่นก็คือเป็นสุขเวทนา เวลาเราทำบุญแล้วมีความสุขเกิดขึ้น กรรมที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นมโนกรรม กายกรรม หรือวจีกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ?

เมื่อไหร่ที่เรามีความสุข กรรมที่ตามมาก็จะเป็นกรรมดี ถ้าเราสบายใจเราอิ่มใจ กรรมที่ตามมาก็จะเป็นกุศลกรรม อย่างเช่น เวลาเรามีความสุข เจออารมณ์ที่เข้ามากระทบใหม่ทางตา จากที่เคยกระทบแล้วมีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เวทนาทางจิตเราเป็นสุขเวทนา แม้กระทบเรื่องเดิมแต่ปัญหาน้อยลง เพราะเราไม่ทุกข์ เรามีพลังของบุญ มีพลังของความสุขเป็นตัวรองรับห่อหุ้มจิตใจของเรา ทำให้อารมณ์ที่เข้ามากระทบไม่บีบคั้นจิตใจเรา ก็สักแต่ว่าเห็น รูปก็สักแต่ว่ารูป มีผัสสะแต่เวทนาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นทุกขเวทนา กลับกลายเป็นอุเบกขาเวทนา คือไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจิตเราเป็นกุศลเป็นตัวรอบรับอยู่

แต่ทีนี้ว่า ถ้าเราไม่พิจารณาหรือไม่มีสติกำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนใหญ่แล้วเมื่อผัสสะเกิดขึ้น มีเวทนาเกิดขึ้น ก็จะมีความยินดีพอใจหรือมีความอยากเกิดขึ้น ความไม่อยากเกิดขึ้น ความไม่พอใจเกิดขึ้น เขาเรียกมีความอยาก ๓ อย่าง อยากให้เกิด/ไม่อยากให้เกิด อันไหนไม่ชอบก็อยากให้มันไปเร็ว ๆ อันไหนที่ตัวเองชอบก็อยากยึดเอาไว้นาน ๆ กามตัณหา” คือ ความยินดีพอใจในอารมณ์นั้น ๆ “ภวตันหา” คืออยากยึดเอาไว้ “วิภวตัณหา” คืออยากให้มันไป จริง ๆ แล้ว ภวตัณหาตรงนี้เป็น กามภพ รูปภพ อรูปภพ

ทีนี้ การยึดนี่เรายึดอะไร ? เขาเรียก “กามตัณหา” อย่างเช่น เราอยู่ในกามภูมิ เราอยู่ในโลกมนุษย์ เราอาศัยความยินดีในการอยู่ เรายึดติดในภพภูมิมนุษย์ เพราะเรารู้สึกว่าได้อะไรอย่างที่เราต้องการเราก็ดีใจ จะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เจออะไรถูกใจเราก็ยึด เราก็ไหลตามเขาไป เราก็สร้างภพชาติใหม่ต่อไป ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน เราเข้าไปยึดแล้วก็สร้างภพสร้างชาติต่อไปเรื่อย ๆ ตัณหา ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสสะ อุปายาสะ ครบวงจรขององค์ปฏิจจสมุปบาท

สังเกตดู พอเรายินดีในการเกิด พอใจในการมีชีวิต พอเราจะตายเมื่อไหร่ เราก็ตั้งจิต เกิดชาติหน้าเมื่อไหร่ขอให้สบายกว่านี้... เราก็อยากเกิดต่อไปอีกเรื่อย ๆ ถามจริง ๆ เถอะ มาปฏิบัติอยากเกิดอีกหรือว่าไม่อยากเกิด ? ไม่แน่ใจ ? เราก็ยังไม่แน่ใจตัวเองว่าจะเกิดอีกดีไม่ดี แล้วบางคนไม่เชื่อด้วยว่าตัวเองจะตัดภพชาติได้ ยังไงก็ต้องเกิดแน่นอน เพราะเราอยากเกิด ใช่ไหม ?

ทีนี้ การตัดองค์ของปฏิจจสมุปบาทนี่เราจะตัดอย่างไร ? เราจะตัดตั้งแต่ตอนเกิดก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มีจุดเริ่มต้นไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้ว เรามีรูปนามขันธ์ ๕ ครบ เขาเรียกมีสฬายาตนะครบ มันจะมีผัสสะเกิดขึ้น เรามีผัสสะเกิดขึ้นตั้งแต่เล็กจนโต การเห็นทางตา เสียงกระทบทางหู จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส เย็นร้อนอ่อนแข็งเคร่งตึงหนักเบา อาการต่าง ๆ ที่มากระทบกายเรา นั่นแหละคือสัมผัสเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ สิ่งที่ตามมาคือเวทนา เวทนามีหลากหลายแต่เราย่อมาสั้น ๆ ก็คือ สุขเวทนากับทุกขเวทนา

ทีนี้ เวทนาที่เกิดขึ้นก็จะมีอยู่ ๒ ทาง อย่างที่บอกเมื่อคืนว่า เวทนาทางกายอย่างหนึ่ง เวทนาทางใจอย่างหนึ่ง เวทนาเหล่านี้นี่แหละเมื่อเกิดขึ้น มันจะเป็นแรงผลักดันให้เราทำอะไรต่าง ๆ อย่างที่บอกแล้วว่าพอเราชอบเราก็อยากทำ ๆ ๆ พอเราไม่ชอบเราก็ไม่เอาแล้ว ถ้าเราเอาความชอบเป็นที่ตั้ง เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง แล้วไม่มีสติพิจารณาถึงสิ่งที่ดีไม่ดี เราก็จะไหลตามเขาไปเรื่อย ๆ ตรงนี้คนเราจึงกลายเป็นไหลตามกระแสโลก ไม่เคยทวนโลก

เราไม่คิดที่จะทวนกระแส เราก็ไหลตามกระแส มีเยอะ! นักปฏิบัติเองก็เถอะ วันนี้รู้สึกสติอ่อน ทำไมสติอ่อน ? ไหลตามเขาหมด หลุดไปหมดเลย... หลุดยังไง ? ดูพองยุบอยู่ดี ๆ มีความคิดแทรกเข้ามาก็ไหลตามเขาไป! บอกได้นะว่าไหลตามเขาคล้อยตามเขา เขามาชวนตอนไหนไม่รู้ แต่เขามาแล้วก็ไปตามเขา แสดงว่าเขาฉลาดกว่าเรา หรือว่าเราไม่ฉลาดเท่าเขา ใช่ไหม ? ทีนี้ พอรู้ตัว อ้าว! เผลอไป เดินไปกับเขาตั้งนาน! พอรู้ตัวปุ๊บเขาก็หายไป เห็นไหม พอรู้ตัวเขาก็หายไป หายตัวไปแป๊บเดียว ไปอยู่ที่ไหนไม่รู้... เผลออีก มาอีก ไปอีกแล้ว! ชวนเราไป

ตรงนี้คือผัสสะที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ตัวไหนที่เรารู้ไม่ทัน สติเราอ่อน หรือไม่มีเจตนาที่จะรู้เท่าทันเขา “ไม่มีเจตนาที่จะรู้เท่าทัน” สำคัญนะ! ไม่ใช่สติไม่ดี แต่ไม่มีเจตนาที่จะรู้ อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะเราไม่เคยใส่ใจหรือไม่สนใจที่จะรู้ว่าเขาจะมาเมื่อไหร่ เขาจะพาเราไปไหน ไม่รู้! รู้แต่ว่าไปไหนก็ได้ เขาพาไปไหนก็ไป ไปเที่ยวที่ไหนก็ไปทั้งนั้น ตรงนี้ตัวไหนที่พาไป ? ก็คือตัวจิต ก็คือกิเลส อาจจะเป็นเพราะว่าด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะก็ตาม ย่อให้สั้นลงจะได้จำง่าย

ทีนี้ ถ้าธรรมชาติเขาเป็นอย่างนี้ พอมีเวทนาเกิดขึ้น แล้วเราปรุงแต่งต่อไหลตาม นั่นคือการสร้างภพชาติใหม่เกิดขึ้น การสร้างภพชาติใหม่มีอยู่ ๒ อย่างก็คือว่า “การเกิดในปัจจุบัน” คือ ปัจจุบันจิตเราไปเกิดไปเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ไหน แล้วเราปรุงแต่งเรื่องนั้นขึ้นมา แล้วก็เป็นภพภูมิ แล้วเราก็ไปอาศัยอยู่ เพลิดเพลินอยู่กับเขา แล้วก็มีความสุข ใช่ไหม ? เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนเราไปนั่งอยู่ชายหาด สร้างวิมานสวยงาม ปรุงแต่งไป แล้วพอลืมตาขึ้น อ้าว! หายเสียแล้ว...

ภพชาติขณะเล็ก เมื่อมีเราเป็นผู้สร้าง มีเราเกิดขึ้น เขาเรียกมีตัวตนเกิดขึ้น พอเข้าไปยึดปุ๊บ ถ้าเกิดเราตายตอนนั้น เราทำกรรมประเภทไหนเราก็จะไปเกิดเป็นสิ่งนั้นต่อ นี่คือภพภูมิอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ขณะที่เรามีความโกรธเกิดขึ้นมา จิตเราเป็นอกุศล ใช่ไหม ? ความโกรธ ๕ นาทีที่เกิดขึ้นและมีกำลังมากจนทำให้เราทำปาณาติบาตลงไปภายใน ๕ นาทีนั้น ผลของการทำปาณาติบาตตรงนั้นซึ่งใช้เวลาของอกุศลโทสะ ๕ นาที เราจะไปตกนรกกี่ชาติ กี่ปี ? นี่แหละเห็นไหม เราทำไปเพียงแค่ชั่วขณะนิดเดียว แต่เราสร้างภพชาติใหม่ที่ยาวนาน

ภพชาติหนึ่ง ๆ ที่เกิดขึ้นมาที่เราเสวยอยู่นี่ สังเกต เวลาเรามีความทุกข์ รู้สึกว่าทำไมเราอยู่กับความทุกข์นี่นานเหลือเกิน ? เมื่อคืนที่บอกว่าทุกข์ ๑ ชั่วโมงกับสุข ๑ ชั่วโมง อันไหนนานกว่ากัน ? เราก็ยังบอกว่าความทุกข์นานกว่า เห็นไหม ? ทำไมความรู้สึกว่ามันทนยากนานมากเลย!? แล้วภพชาติที่เราไปเกิดนี่ ถ้าเกิดอยู่ ๕๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ชาตินี่ คิดดูว่าจะนานสักแค่ไหน ? ๕ นาทีกับปาณาติบาต อาศัยความทุกข์ ๕ นาทีแล้วทำกรรมลงไป ตรงนี้จะสร้างภพชาติต่อไป เพราะฉะนั้น การที่เราไปเกาะเกี่ยวยึดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แล้วเราก็ติดอยู่ตรงนั้น ถึงแม้ไม่เป็นปาณาติบาตก็ตาม นั่นคือภพชาติที่เรากำลังสร้างอยู่

ทีนี้ ภพ ชาติ ชรา มรณะที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็ตามมา ถ้าเกิดในลักษณะที่มีรูปนามขึ้นมา ไม่ว่าไปเกิดเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นมด เป็นปลา เป็นม้า เป็นช้างก็ตาม ก็เป็นไปตามวัฏสงสาร ตามวัฏจักรของเขา เขาเรียกว่าปฏิจจฯ ภพ ชาติ ชรา มรณะ... ทุกคน! โสกะ ใครโศกเศร้า ? เราหรือคนอื่น ? ทั้งตัวเราและคนอื่น

บางคนไม่อยากตาย พอจะตายก็เสียดาย อาลัยอาวรณ์ โดยเฉพาะคนที่ไม่ฟังธรรม ไม่ใส่ใจธรรม สนใจแต่กรรม หรือการกระทำ หรือทรัพย์สมบัติอย่างเดียว พอจะตายก็เสียดายทรัพย์ จะหลับตาก็ยาก กลัวคนอื่นจะเอาไป ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็เอาไปไม่ได้สักอย่างเดียว แต่ก็ยังกลัวคนอื่นจะเอาทรัพย์ไป คิดดู! แล้วสุดท้ายเป็นอย่างไร ? ตายไปก็กลายเป็นว่าไปไหนไม่ได้ ต้องเฝ้าทรัพย์อยู่อีก ใช้ก็ไม่ได้ใช้ เฝ้าอยู่นั่นแหละ! นั่นแหละภพภูมิที่ไปเกิดอยู่ นั่นคือการยึดติด

การที่เราจะตายไปเกิดเป็นอะไร หนึ่ง อาศัยกรรมที่สร้างเอาไว้ สอง อาจิณกรรม คือกรรมที่ทำเป็นประจำ สาม อาสันกรรม กรรมก่อนตาย แล้วก็กรรมนิมิต อย่างเช่น เวลาเราจะตายนี่ จิตเราไปเกาะเกี่ยวกับอะไร กำลังปรุงแต่งทำกรรมอะไรอยู่ พอขาดใจตรงนั้นก็จะไปเกิดเป็นสิ่งนั้น กับที่เราก่อนจะตายไปยึดอยู่กับทรัพย์สมบัติ ห่วงทรัพย์สมบัติ พอดับไปก็ไปเกิดอยู่ตรงนั้น เฝ้าอยู่ตรงนั้นอีก อยากจะเฝ้าต่อไหมล่ะ ? เขาใส่ปากไปสักเหรียญหนึ่งก็ยังเอาไปไม่ได้เลย มือจับไม่ได้ อุตส่าห์ใส่ปากให้แล้วยังเอาไปไม่ได้เลย! นั่นคือวงจรชีวิตของเรา น่าเศร้า! การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น วัฏสงสาร เขาเรียก “ปฏิจจสมุปบาท” โดยตรงนี่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้ววงจรเราจะเป็นไปตามปกติ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องมองให้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเกิดขึ้นทุกครั้งไม่ธรรมดา ถามคุณยายที่นั่งอยู่ข้างหลัง ปวดธรรมดาไหม ? อูย.. แทบจะตายแล้วอาจารย์ ไม่ไหวแล้ว จะไม่อยู่แล้ว ถามว่า อยากตายไหม ? เปล่าเลย ยังไม่อยากตายหรอก อูย! ไม่อยากจะอยู่แล้ว แต่ก็ไม่อยากไปจริง ๆ เห็นไหม แต่สิ่งที่อยากคืออยากจะพ้นทุกข์ ถ้าอยากพ้นทุกข์จริง ๆ เราก็ต้องมีสติ

เพราะฉะนั้น การที่เราจะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร แม้ชั่วขณะหนึ่ง ๆ เราจะหยุดตรงไหนล่ะ ? ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ไหลตามองค์ของปฏิจจฯ ? ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ว่าทำไมพระพุทธเจ้าสอนธรรมะ พระพุทธเจ้าตรัสนี่คือธรรมชาติของชีวิตที่เป็นไป เรื่องของปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องปกติของชีวิตทุกชีวิต แต่การที่จะหลุดพ้นจากวงจรนี้นี่แหละคือความไม่ธรรมดา! ทำอย่างไรถึงจะไม่ธรรมดา ? ก็ต้องอาศัยสติ สมาธิ ปัญญา พิจารณารู้ตามความเป็นจริงของทุก ๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของรูปนามขันธ์ ๕ นั่นเอง

อย่างที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี่ก็คือ การแยกกายแยกจิตเราจากกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ... เวลายกตัวอย่าง เราต้องยกจิตเราด้วยนะ อาจารย์พูดอย่างเดียวไม่ได้ เดี๋ยวเรา เอ๊! จริงหรือเปล่า ? ใช่หรือเปล่า ? ลองพิสูจน์ดู ยกจิต ทำจิตเราให้ว่าง ให้กว้างกว่าตัว แยกกายกับจิตออกจากกัน ลองดู จิตเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? ทำจิตของเราให้กว้าง ให้ว่าง ไม่มีขอบเขต แล้วหันมาดูกายที่นั่งอยู่ ลองดูว่า ขณะที่ร่างกายเรามีเวทนา จิตเรารู้สึกเป็นอย่างไร ?

ขณะที่กายเรามีการสัมผัสกับพื้น จุดกระทบอยู่แล้วจิตเราแยกออกมานี่ เวทนาที่เกิดขึ้นรู้สึกเป็นอย่างไร ? ทรมาน ? เป็นทุกข์ ? หรือว่าเวทนาก็ส่วนเวทนา จิตเราก็ส่วนจิตเรา แยกคนละส่วนกัน จิตเราไม่ไหลตามไม่คล้อยตามเวทนานั้น หรือไม่เข้าไปยึดเวทนานั้นเป็นของเรา ? ถ้าเป็นอย่างนั้น ลองดูว่า สภาพจิตใจเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? รู้สึกดีไหม ? รู้สึกสบาย ใช่ไหม ? นี่แหละคือการที่เราไม่ไหลตามเขา ไม่คล้อยตาม เราก็จะเป็นอิสระ เป็นผู้ดู

ผัสสะ มีเวทนาเกิด แต่ตัณหาไม่เกิด ไม่เข้าไปยึด ไม่มีภพชาติ แต่เขาก็เกิดดับของเขา เวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมชาติ แต่ผู้เสวยเวทนาไม่มี สังเกตดู แม้เราหลุดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แค่ชั่วครู่หนึ่ง ยังรู้สึกอิสระขนาดนี้ ถ้าเราหลุดไปเรื่อย ๆ ไม่เกาะเกี่ยวกับเขาไปตลอดเวลา จิตเราจะเป็นอย่างไร ? คำว่า “ความอิสระ ไม่ถูกพันธนาการด้วยโลภะโทสะโมหะ” ลองดู จิตจะเป็นอย่างไร ? จะดีอย่างไรไม่วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ?

แล้วอีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้น เวทนาทางกายเราเห็นชัดว่าเขาเป็นคนละส่วนกัน แม้แต่เวทนาทางใจเอง หรือผัสสะที่เกิดขึ้นทางใจที่ว่าเป็นของละเอียด ก็คือความคิดที่เกิดขึ้น ที่เราบอกว่าความคิดมันเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง แต่เรารู้ว่าคิดเรื่องอะไร ทีนี้ พอคิดขึ้นมา มีเวทนาเกิดขึ้น มีสติเข้าไปรู้แล้วเขาดับ รู้แล้วเขาดับ รู้แล้วเขาดับ... ลองสังเกตนะ พอเห็นว่าเขาดับไปแต่ละขณะ แต่ละขณะ สภาพจิตใจรู้สึกเป็นอย่างไร ? ใสขึ้น เบาขึ้น ว่างขึ้น ? การปรุงแต่งต่อเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือถูกตัดไป ? ก็ตัดไป! เพราะฉะนั้น กรรมที่จะอาศัยอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นมาอีกมันจะอ่อนกำลังลง

อย่างเช่น มีโทสะขึ้นมา พอเราไปรู้ปุ๊บเขาดับทันที กรรมที่จะอาศัยโทสะเป็นตัวผลักดันขึ้นมานี่ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะสติเรามีกำลังที่เข้าไปตัดตรงที่มีเวทนา โทสะเกิดขึ้น ทุกขเวทนาทางใจเกิดขึ้น มีความหนัก ความอึดอัด ความขัดเคือง ความร้อน พอมีสติเข้าไปกำหนดรู้ปุ๊บ เขาดับ กรรมที่จะตามมาก็เกิดไม่ได้ เพราะกรรมฐานคือสติของเรามีกำลังมาก ปัญญาเรารู้ไปดูการดับของเขาปุ๊บ เขาก็จะถูกตัดไป ตัดไป ตัดไป...

เพราะฉะนั้น สังเกตดู กรรมไม่ดีอะไรที่เราเคยทำบ่อย ๆ โดยอาศัยเวทนาทางใจผลักดันให้เราทำ เมื่อเรามีสติรู้ทัน เขาจะตัดไปเรื่อย ตัดไปเรื่อย ตัดไปเรื่อย... กรรมเหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ? คือกุศลกรรมที่มีกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เขาดับไปจิตเราจะสงบขึ้น ทุกครั้งที่ดับไปจิตเราจะใสขึ้น ผ่องใสขึ้น สะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้นในตัวเองเลย ทุกครั้งที่เราเห็นว่าเขาดับไป ดับไป เป็นการชำระไปในตัว เพราะฉะนั้น กรรมใหม่ที่เกิดขึ้นก็จะถูกตัดไป ตัดไปเรื่อย ๆ

และการที่เรากำหนดรู้ตรงนี้แหละ เห็นอาการเกิดดับของเขาไปเรื่อย ๆ ถ้าเราปฏิบัติไปจนถึงว่าได้ธรรมะเป็นพระอริยะ อย่างน้อยได้เป็นโสดาบันนี่ สมมติ กรรมที่เราเคยสร้างมานี่จะเกิดอีกสัก ๑๐๐ ชาติถ้าเรายังไม่ถึงพระโสดาบัน แต่ปัจจุบันนี่เราปฏิบัติธรรมไปเรื่อย ๆ จนเข้าถึงธรรมะเป็นพระโสดาบันปุ๊บ เราเกิดอีกแค่ ๗ ชาติ ถ้าไม่ทำต่อนะ เป็นพระโสดาบันแล้วถ้าไม่ปฏิบัติต่อก็คือยังไงก็เกิดอีกแค่ ๗ ชาติ เดินทางไปสู่ความพ้นทุกข์ ดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงอย่างเดียว

ทีนี้ แล้วอีก ๙๓ ชาติหายไปไหน ? กรรมที่จะส่งผลต่อกลายเป็นโมฆะไป ไม่ส่งผลเพราะเราไม่เกิด ถ้าเราไม่เกิดอีกเขาก็ส่งผลไม่ได้ ไม่มีผู้รับ! บ้านไม่มีคนอยู่ส่งไปไม่มีใครรับหรอก ก็ไม่มีบ้านให้รับ ไม่มีภพชาติให้อยู่ แต่ถ้าเราหลุดพ้นไปแล้วนี่เป็นอย่างไร ? ไม่ต้องเกิดอีก กรรมที่ตามมากลายเป็นโมฆะไป ไม่ใช่อโหสิกรรมนะ อโหสิก็คือยังมีผู้ใช้อยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะตัดกรรม ก็ต้องมีสติพิจารณากำหนดรู้ ที่เรารู้อารมณ์ปัจจุบันตรงนี้แหละ...

มีอะไรเกิดขึ้นมา รู้แล้วดับ ไม่ปรุงแต่งต่อ รู้แล้วดับ เกิดดับไป... จิตยิ่งผ่องใส เราชำระจิตใจเราไปเรื่อย ๆ ตรงนี้แหละภพชาติเราก็จะสั้นลง ๆ น้อยลง การสร้างกรรมก็กลายเป็นกรรมดีมากกว่ากรรมไม่ดี ไม่ใช่ไม่สร้างนะ การที่เจริญกรรมฐานก็คือการทำกรรม เป็นกรรมปัจจุบัน แต่เป็นกรรมที่พิเศษออกไป ทำไมถึงเรียกว่า “พิเศษ” ? เพราะมีเจตนาที่จะขัดเกลาจิตใจตัวเอง ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำเพื่อจะไปเกิดต่อ ๆ ไป เพื่อการขัดเกลาจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใสยิ่งขึ้นไป

มาถึงคำว่า “การทวนกระแส” เราจะทวนอย่างไร ? กระแสมันแรงเหลือเกิน ใช่ไหม ? ทวนยาก แต่เราก็มาทวนแล้วนี่! สังเกต “ทวนกระแส” มี ๒ อย่าง หนึ่ง เราไม่ไหลตามสังคม ไม่ไหลตามโลก เราจะพิจารณาอย่างไรเราถึงจะไม่ไหลตามโลก ? เราอาศัยแล้วไม่หลงไหลในสิ่งนั้น อาศัยในสิ่งที่จำเป็น พิจารณาว่าจำเป็น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาเป็นเรื่องของปัจจัย ๔ ที่จำเป็นจริง ๆ ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเราดำรงอยู่ได้ ขาดอย่างอื่นไม่เป็นไรแต่ขาดปัจจัย ๔ เราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าขาดอาหาร ยารักษาโรค เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย เราก็จะเป็นทุกข์ อย่างอื่นก็เป็นส่วนเกิน

แต่ตอนนี้ปัจจัย ๔ คงเอาไม่อยู่ ใช่ไหม ? ปัจจัยอื่น ๆ ไม่รู้เท่าไหร่แล้วตามมา แต่ถ้าว่าโดยความจำเป็นจริง ๆ ตัวที่จำเป็นจริง ๆ ก็ตัวปัจจัย ๔ มีแค่ปัจจัย ๔ เราก็อยู่ได้แล้ว แต่ทีนี้การทวนกระแสตรงนั้นอย่างหนึ่งว่า เราเลือกที่จะรับในส่วนที่ดี เช่น เครื่องเทคโนโลยีนี่ดีนะ ถ้าไม่มีตรงนี้ช่วย เราไม่ได้ยินหรอก เสียงอาจารย์เบา เห็นไหม อันนี้ไม่จัดอยู่ในปัจจัย ๔ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ ถามว่า เราติด ? ไม่ใช่ อันไหนที่เป็นประโยชน์เราก็พิจารณาให้ดี แต่ไม่ได้ติด รู้ว่าจำเป็นในสถานการณ์ เหตุปัจจัยเขาเป็นอย่างไร

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การทวนกระแสที่เราปฏิบัติอยู่นี่ เขาเรียกว่า “ทวนจากบัญญัติกลับไปสู่ปรมัตถ์” เพราะอะไร ? การรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ของเราในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน การรับรู้ทุกครั้งเรารู้ถึงความเป็นสมมติบัญญัติ เป็นคน เป็นเรา เป็นเขา เป็นรถ เป็นสิ่งของต่าง ๆ มากมาย นั่นคือความเป็นสมมติบัญญัติหรือสมมติสัจจะ เป็นความจริงโดยสมมติ ทีนี้ก็คือ การทวนจากสมมติเข้าไปสู่ปรมัตถ์ การที่เราจะคิดเอาเพื่อให้เป็นปรมัตถ์นี่ยาก เพราะสภาวะปรมัตถ์อาศัยการพิจารณา การสังเกต การกำหนดรู้

ถามว่า อารมณ์ปรมัตถ์จริง ๆ อาศัยอะไร ? อาศัยอาการของรูปนามนั่นแหละ อาศัยอาการของลมหายใจ อาศัยเวทนา อาศัยอาการที่เกิดขึ้นจากร่างกายของเรา อย่างเช่น ขณะที่เรานั่งอยู่นี่ สังเกต ขณะที่เรารู้ว่านั่ง รู้สึกไหมว่ามีตัวเรา มีความเป็นเรา รู้สึกว่ามีตัวนั่งอยู่ ? บางคนก็รู้สึกหนัก ๆ บางคนรู้สึกทึบ ๆ บางคนรู้สึกว่าตัวใส ๆ บางคนรู้สึกตัวโปร่ง ๆ บางคนรู้สึกตัวเบา ๆ บางคนก็เป็นเราทั้งแท่งนั่งอยู่ ใช่ไหม ? เราก็รู้สึกว่าฉันกำลังนั่งอยู่ และก็พยายามยึดว่าฉันกำลังนั่งอยู่ ไม่มีฉันไม่ได้ กลัวเดี๋ยวเขาว่าลืมตัว

แต่ทีนี้ว่า การที่เราพิจารณาการเพิกบัญญัติ คำว่าบัญญัติ เขาเรียก “คณบัญญัติ” คณบัญญัติ คือ ความเป็นกลุ่มก้อนของสิ่งต่าง ๆ ทั้งร่างกายทั้งที่เกิดขึ้นในใจของเรา ที่เกิดขึ้นในใจของเราคืออะไร ? คือความคิดและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับใจของเรา ที่เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตรงนั้นแหละคือเป็นบัญญัติขึ้นมา แต่ทีนี้การที่เราจะย้อนทวนบัญญัติกลับเข้าไปสู่ปรมัตถ์ ตรงนี้ต้องใช้กำลังของสติ สมาธิ และปัญญาพอสมควร ไม่ใช่อยู่ ๆ เราก็คิดเอาได้ แต่ถ้าใครมีปัญญาก็ไม่ยาก

เหมือนอย่างที่เราปฏิบัติอยู่นี่ เคยเห็นไหมสภาวะปรมัตถ์ ? (โยคีกราบเรียนว่า ไม่แน่ใจ) ลองดูแล้วกันถ้าไม่แน่ใจ ลองดูนะ เอาความรู้สึกว่าเป็นเราออกจากตัว เอาความรู้สึกว่าเป็นแขนออก เอาความรู้สึกว่าเป็นขาออก เอาความความรู้สึกว่าเป็นตัวออก เอาความรู้สึกว่าเป็นรูปออก เอาความรู้สึกว่าเป็นรูปร่างออกไปทั้งหมด แล้วลองดูว่า เหลืออะไร ? เหลืออะไรไหม หรือไม่เหลืออะไร ? (โยคีกราบเรียนว่า ไม่เหลืออะไร) แน่ใจนะว่าไม่เหลืออะไร ? เหลือ “ตัวจิต” ใช่ไหม ? จิตที่ทำหน้าที่รู้ ขณะที่เหลือตัวจิต จิตก็เป็นจิตปรมัตถ์

ทีนี้ มาดูที่รูปเรา พอดูที่ตัว ไม่มีรูปร่างของตัว รู้สึกว่าง ๆ เบา ๆ แต่ก็มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นมา มีอาการเปลี่ยนแปลงเกิดดับ ตรงที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดดับ อาการเกิดดับที่ตัวหรืออาการเต้นของหัวใจ แล้วมันไม่มีรูปร่าง มีแต่แวบหาย แวบหาย แวบหาย... ตรงที่เราเห็นอาการเกิดดับตรงนี้แหละ นี่คือสภาวะปรมัตถ์ และเขาก็แสดงอาการพระไตรลักษณ์ เกิดดับตลอดเวลา

เมื่อเป็นอย่างนี้เราจะเข้าไปยึดไม่ได้เลย พอเข้าไปยึดเมื่อไหร่ก็ดับ ยึดเมื่อไหร่ก็ดับ เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าไปยึดติดอารมณ์ปรมัตถ์จึงไม่เกิดขึ้น และการที่เอาอารมณ์เหล่านั้นมาปรุงแต่งก็ไม่เกิดขึ้น หรือปรุงแต่งไม่ได้อีก เขาเกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป... ทุกครั้งที่เราเห็นอารมณ์ปรมัตถ์ ลองดูว่า สภาพจิตใจรู้สึกเป็นอย่างไร ? เบา รู้สึกอิสระไหม ? นี่คือความจริง นี่คือสัจธรรมจริง ๆ ที่เราต้องพิจารณา

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ปฏิบัติแล้วเข้าถึงความว่างตรงนี้ และเหลือแต่อาการเกิดดับอย่างเดียว นั่นคือย้อนจากความเป็นรูปร่างความเป็นกลุ่มก้อนแล้วไปสู่ปรมัตถ์ รู้อาการเกิดดับอย่างเดียว เมื่อเห็นแค่อาการเกิดดับตรงนี้ ยิ่งเห็นว่าจิตดับไปด้วยหรือเปล่าแต่ละขณะ ไม่ใช่แค่อาการดับนะ ไม่ใช่แค่รูปดับ แม้แต่ตัวจิตเองที่เข้าไปรู้อาการที่เกิดขึ้น เห็นแล้วเขาก็ดับไปด้วย ยิ่งเห็นจิตดวงเก่าดับไป จิตดวงใหม่เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ตรงนั้นแหละ สังเกตดู จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นมาให้ความรู้สึกเป็นอย่างไร ? ต่างจากเดิมอย่างไร ? ดีอย่างไร ?

สังเกต จิตเราขุ่นมัวเพราะไปยึดเอาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้วก็ติดอยู่กับเขา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นว่าเขาดับไปแล้วเกิดใหม่ ดับไปแล้วเกิดใหม่... จากขุ่นมัวก็จะผ่องใสขึ้น ผ่องใสขึ้น ใสขึ้น สะอาดขึ้น ตรงนั้นแหละ การเข้าไปรู้อาการพระไตรลักษณ์หรือเห็นอารมณ์ปรมัตถ์ การทวนจากบัญญัติเข้าไปสู่ปรมัตถ์ เป็นความพิเศษของจิตเรา จึงต้องอาศัยกำลังของสติ สมาธิ และปัญญาพอสมควร และการที่เราเห็นเกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป เขาก็จะว่างไป ว่างไป ตัดขาดไป การสร้างภพชาติใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น ตรงนี้แหละปฏิจจสมุปบาท การวนต่อโดยรอบไม่เกิดขึ้น เราก็จะไม่แก่แล้ว!

สังเกตไหม จิตของเราไม่มีการแก่ เกิดแล้วดับเลย ดับแล้วเกิดใหม่ทันที เหมือนที่เขาบอกเป็นเทวดา โอปาติกะ ผุดเกิดขึ้นมาใหม่ จิตดวงใหม่เกิดขึ้น จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นเป็นจิตที่สะอาดและผ่องใส จิตดวงนั้นแหละจะเป็น “จิตที่ประภัสสร” ดับไปเกิดใหม่และใสกว่าเดิม ยิ่งเห็นดับยิ่งใสกว่าเดิม จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้น ขณะแรกที่เกิดใหม่ เกิดใหม่... ตรงนั้นแหละ อยู่ที่ว่าสติของเรามีกำลังมากแค่ไหน

พระพุทธเจ้าบอกว่าหนึ่งลัดนิ้วมือเดียวจิตเราเกิดแสนโกฏิดวง แต่ชั่วโมงหนึ่งเราเห็นกี่ดวง ? เห็นไหม ลัดนิ้วมือเดียวเกิดแสนโกฏิดวง แต่หนึ่งชั่วโมงเราเห็นไม่กี่ขณะเอง เราเองยังรู้สึกดีขนาดนี้ ถ้าเราเห็นการเกิดดับของเขาอย่างต่อเนื่อง ลองดูว่า สภาพจิตเราจะเป็นอย่างไร ? การหมุนเวียนของวัฏสงสารจะถูกตัดลง เขาจะไม่ไหลตามกระแสแล้ว เขาจะรู้เท่าทันแม้กระทั่งความคิดหรือกิเลสที่เกิดขึ้น พอการปรุงแต่ง ความอยาก ตัณหากำลังเกิดขึ้น ก็จะรู้ทัน แล้วก็ไม่ไหลตามเขา

ตรงนั้นแหละที่เราสวดมนต์ว่า นี่แน่ะ นายช่างปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะสร้างเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป เพราะอะไร ? เพราะพอมีอารมณ์เข้ามากระทบ มีผัสสะ มีเวทนาปุ๊บ ตัณหากำลังจะเกิด เอ้า! รู้ทันนะ อันนี้ตัณหากำลังจะเกิดแล้ว พอรู้ทันเขาก็ดับ พอรู้ทันเขาก็ดับ... นั่นแหละพุทธอุทานของพระพุทธเจ้า “นี่แน่ะ นายช่างปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะสร้างเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป” เราก็สามารถเห็นได้!

ลองสังเกตดูสิ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้ทันความคิด พอเขากำลังคิดขึ้นมา เขากำลังจะปรุงแต่ง พอไปรู้ทันเขาก็ดับ ไปรู้ทันก็ดับ... ทุกครั้งที่เขาดับไป จิตเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? สงบขึ้นไหม ? จิตเราก็จะสงบระงับจากความเร่าร้อน ไม่ทุรนทุราย แล้วก็ไม่สร้างภพชาติใหม่ขึ้นมา แม้ชั่วขณะหนึ่ง ๆ นี่แหละคือสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ที่เรากำหนดเราเจริญสติปัฏฐาน ๔ ทุกวันนี้ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เราพิจารณาอยู่นี่ เรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด มีสติกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเขา เพราะตรงนั้นจะทำให้เรารู้ทัน เห็นชัดว่าเขาเกิดและดับอย่างไร

เพราะเรามี “เจตนา” ที่จะรู้ว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร เราจึง “เห็น” ว่าเขาเกิดและดับ ถ้าไม่มีเจตนาที่จะรู้ว่าเขาเกิดและดับอย่างไร รู้แต่ว่าดูสิเขาคิดอะไร ไปถึงไหน ดีไม่ดี เราก็จะคล้อยตามไปเรื่อย... ไม่ดีก็ไม่เอา ดีก็ไป บางทีไม่ดีก็ไม่มีเจตนาที่จะไม่เอา ไม่ดีก็เอา! เอาอย่างไร ? คิดไม่ดี พอรู้ว่าคิดไม่ดี ขอคิดต่ออีกสักหน่อยหนึ่ง ไม่ดีก็เอา ขอคิดต่อ ปรุงแต่งต่อ นั่นคือความเคยชิน หรือมีเจตนาของเราว่า เวลาเราปฏิบัติ การพิจารณาดูสิ่งที่เกิดขึ้นสิ่งที่เรารับรู้นี่ ส่งผลต่อสภาพจิตใจเราอย่างไร ส่งผลให้เราทำกรรมอะไรต่อไป

สังเกตไหมว่า กรรมที่เราสร้างทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจก็ตาม ก็อาศัยผัสสะที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งนั้น อาศัยสัญญาเก่าบ้าง อารมณ์ใหม่บ้าง ความอยากบ้าง อาศัยตัวปัญญาบ้าง คือทำด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่บางครั้งเราก็ทำด้วยความมีโลภะ โทสะ หรือโมหะเป็นมูล แล้วก็ทำตามนั้นจนเกิดความเคยชิน เขาเรียกเป็นอุปนิสัย พอเป็นอุปนิสัย ซึมซับสั่งสมเข้าไปเรื่อย ๆ ก็เป็นอนุสัย พอเป็นอนุสัยแล้วเราก็ต้องมารื้อใหม่ จะทำอย่างไรถึงจะละอนุสัยนั้นได้ พอมันติดเป็นอนุสัยหลาย ๆ ภพชาติ เราก็ละยากแล้ว กลายเป็นวาสนาของเรา

เพราะฉะนั้น กรรมที่เราทำจึงส่งผล ด้วยจิตเป็นกุศลหรืออกุศลเป็นตัวผลักดันตัวบีบคั้นให้เราสร้างกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา ตรงนี้เราเป็นชาวพุทธ จะบอกว่าเราเป็น “พุทธะ” คือผู้ที่มีปัญญา ใช้สติปัญญานำหน้า ไม่ใช่ใช้อารมณ์นำหน้านะ พุทธะไม่ใช่ใช้อารมณ์ ใช้ปัญญานำ ใช้สติพิจารณาให้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มีผัสสะกระทบขึ้นมา เวทนาเกิดขึ้นแล้ว ตั้งสติดี ๆ ว่าเป็นแบบไหน จะทำอย่างไร จะหยุดหรือจะสร้างต่อ อันนี้โดยทั่วไปนะในชีวิตของเรา

ย้อนกลับมาปัจจุบัน ขณะที่เรามาปฏิบัติธรรมตรงนี้ เวลาเราเดินจงกรม เรานั่งสมาธิ สิ่งที่เราต้องทำเหลือน้อยลงมาก อารมณ์ที่เกิดขึ้นมีน้อยลงมาก ตอนนั่งหลับตา อารมณ์ที่เราต้องรู้คือลมหายใจ คือยุบ คือเวทนา คือความคิด อืม! ยังเยอะอยู่นะ นับไปนับมาเกือบครบ หายไปอย่างเดียวคือตาที่เห็นรูป ว่าน้อยแล้วนะ ถ้าไปอยู่ข้างนอกจะเยอะขนาดไหน จริง ๆ แล้วไม่ต่างกัน เพราะไม่ว่าพองยุบ เวทนา ความคิด หรือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นกับใจเรา สิ่งเหล่านี้เขาไม่ได้แย่งกันเกิด เขาไม่ได้เกิดพรึ่บทีเดียว ๕-๖ อย่าง เขาจะชัดทีละอย่าง อย่างมากก็มีสัก ๓ อย่าง ๔ อย่างที่เกิดพร้อมกัน

เสียง เวทนา ลมหายใจ อาการเต้นของหัวใจ พวกนี้จะเกิดพร้อมกันได้ แต่ ๔ อย่างนี้ถ้าเราสังเกตดี ๆ เขาก็จะชัดทีละอย่าง เพราะฉะนั้น เวลาเราเข้าไปกำหนดรู้ เราก็รู้ทีละอย่าง ๆ อันไหนชัดก็ไปรู้ตรงนั้นก่อนว่าเขาเกิดดับอย่างไร อันไหนไม่ชัดไม่ต้องไปสนใจหรอก เอาไว้ก่อน! เก็บทีละอย่าง ๆ กำหนดรู้ทีละอารมณ์ไป เดี๋ยวเขาก็หมดเอง บางครั้งเรากำหนดอารมณ์ที่กำลังชัดอยู่หมดไปปุ๊บ อีก ๓ อย่างหายไปด้วยก็มี เพราะฉะนั้น อารมณ์มันเหลือน้อยลงในการปฏิบัติ

การกำหนดรู้อาการเกิดดับตรงนี้เป็นไปเพื่อ “การละ” และจะกลับเข้าไปสู่ปรมัตถ์ ที่บอก “ทวนกระแสจากบัญญัติเข้าไปสู่ปรมัตถ์” และจะเกิดความอิสระขึ้นในใจของเรา เพราะฉะนั้น เรามาเข้าคอร์สปฏิบัติ เราก็ต้องมีเจตนาที่จะปฏิบัติ และต้องรู้ว่าสิ่งที่เราต้องทำคืออะไร ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เราต้องทำมีแค่นี้เอง ก็ง่ายนิดเดียว! ไม่ต้องไปห่วง คิดก็คิดไป คิดขึ้นมาก็ “ฉันจะดูสิว่าความคิดขึ้นมาแล้วดับอย่างไร เรื่องนี้มาดับอย่างไร เรื่องนี้ขึ้นมาดับอย่างไร...” ถ้าเรามีเจตนาอย่างนี้ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ

แต่ที่เป็นอุปสรรคก็คือ พอคิดขึ้นมาก็ไปแล้ว... ลืมปัจจุบัน! เราไปคิดถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทีนี้ ถ้าเรามีเจตนาที่จะรู้ว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร การมีเจตนาที่จะรู้ว่าเขาเกิดดับอย่างไรไม่ใช่ว่าห้ามเขาเกิดนะ คนละอย่างกันนะ! ห้ามความคิดเกิดกับพอใจที่จะรู้ว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร คนละอย่างกันเลย! เพราะบางทีเวลาปฏิบัติโยคีจะรู้สึกว่าความคิดเป็นอุปสรรค แล้วพอมีความคิดขึ้นมาก็จะรู้สึกว่า จะต้องไม่คิด จะต้องไม่คิด ฉันจะไม่คิด จะสงบ...

พอไม่อยากคิด มันก็ยิ่งคิด เลยคิดแต่เรื่องที่ไม่อยากจะคิด แล้วเรื่องที่อยากคิดทำอย่างไร ? จริง ๆ สังเกตดูดี ๆ นะ เรื่องที่เราจำเป็นต้องคิดจริง ๆ มีไม่เยอะ และเรื่องที่เราจำเป็นต้องคิดจริง ๆ เขาไม่สับสนหรอก จับประเด็นดี ๆ สังเกต ที่คิดขึ้นมานี่เพราะอะไร ? ต้องการอะไร ? สรุปให้ได้ว่าที่เรากำลังคิดอยู่นี่ อันนี้ยังไม่คิด อันนี้วางไว้ก่อน มารู้ปัจจุบันก่อน เขาเกิดขึ้นมาก็จะเบา แต่ถ้าเราไม่สรุปนี่ ก็จะมาเรื่อย เรื่อย เรื่อย...

ถ้าจำเป็นต้องคิดในขณะที่เราปฏิบัติ ให้คิดอยู่ในที่ว่าง ๆ และเป็นผู้ดูความคิด แล้ววิเคราะห์พิจารณาความคิด ไม่ใช่สักแต่ว่าดู ถ้าสักแต่ว่าดูคำตอบจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าดูสิว่ามันจะคิดไปถึงไหน เป็นอย่างไร คิดแล้วเพื่ออะไรนี่ คำตอบก็จะเกิดขึ้นมา เพราะอะไร ? เมื่อเรามีเจตนาที่จะคิดด้วยสมาธิของเรา จิตที่สงบพอเขาจัดระเบียบความคิดปุ๊บ คำตอบเขาจะปรากฏเอง คำตอบก็จะปรากฏขึ้นมา ปรากฏขึ้นมา... ให้เรารู้

แต่ที่เราหาคำตอบไม่ได้ คิดไม่รู้จักจบ ขณะที่เราคิด จิตเราไม่สงบ แล้วมันวุ่นวาย กลายเป็นสับสน คือข้อมูลไม่ตรง มันสลับกัน เดี๋ยวอยากอันนั้น เดี๋ยวอยากอันนี้ อันนี้ยังอยากไม่จบเลย อยากใหม่อีกแล้ว อยากเรื่องอื่น... อยากไปอยากมา เอายังไงแน่!? ก็เลยรู้สึกว่าไม่จบ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรแน่ คือคิด ๆ อยาก สลับกันไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องนี่ เรื่องนี้อยากรู้ เฉพาะเรื่อง เฉพาะเรื่อง ทีละอย่าง ก็จัดระเบียบคำตอบไม่ยาก

ความพิเศษของจิตเราอย่างหนึ่งก็คือว่า บางครั้งสิ่งที่เราคิดค้างเอาไว้ พอเรามานั่ง จิตเราสงบ เขาจัดระเบียบปุ๊บ คำตอบจะปรากฏเอง! บางครั้งเรานั่งเงียบ ๆ คำตอบที่เคยสงสัยมานาน คิดไม่ออกสักที เขาก็ผุดขึ้นมา อ๋อ! เป็นแบบนี้! เพราะอะไร ? เพราะความเป็นระเบียบของจิตเรา เพราะฉะนั้น ลองสังเกตดูดี ๆ เวลาเรากำหนดอารมณ์ เรามาพิจารณาอารมณ์ปัจจุบัน เวลามีความคิดเกิดขึ้นขณะที่เราปฏิบัติ ถ้าเราจะเข้าไปสู่ปรมัตถ์ ต้องมีเจตนาที่จะรู้ “อาการเกิดดับ” ของเขาให้มากที่สุด

แล้วเมื่อความคิดนี้ดับไป ความคิดใหม่ขึ้นมานี่ ถ้ามันเกิดขึ้นมาบ่อย ๆ อย่าเพิ่งหงุดหงิดกับความคิด ให้ยิ้ม ทำใจดี ๆ แล้วลองดูว่าจะมาเมื่อไหร่ เดี๋ยวฉันจะตามให้ทัน พอเริ่มจะเกิด เอ้า! รู้ทัน พอเริ่มจะคิด เอ้า! รู้ทันแล้วนะ เรื่องนี้รู้ทันแล้วนะ... พอเราสนุกกับการตามรู้เมื่อไหร่ สติเรากลับไวขึ้น ๆ แทนที่จะมานั่งหน้านิ่วคิ้วขมวด เกิดอีกแล้ว ๆ ๆ อันนั้นน่ะเครียด เพราะอะไร ? เพราะเราไม่อยากให้เกิด และที่ไม่อยากให้เกิดเพราะ “มีเรา”

แต่ถ้า “พร้อมที่จะรู้ว่าเขาเกิดแล้วดับ” นั่นคือเรารู้ธรรมชาติของขันธ์ ใช่ไหม ? เราจะได้ไม่ต้องมานั่งขัน นั่งยิ้ม ขำ มาแล้ว ๆ เราจะรู้ว่า อ๋อ มาอีกแล้ว แบบนี้เอง แบบนี้... เดี๋ยวก็ดับไป ดับไป... แทนที่จะทุกข์กลับเป็น “ความเข้าใจถึงธรรมชาติของตัวเราเอง” และจะเข้าใจตัวเองด้วยว่าความคิดที่เกิดขึ้นของเรามีพื้นฐานมาจากจิตแบบไหน เราจะเข้าใจตัวเองว่า อ๋อ! เราเป็นคนชอบคิดแบบนี้ เป็นคนชอบแบบนี้ เขาก็จะปรากฏขึ้นมาให้เรารู้ นี่คือการศึกษาธรรมชาติของธรรมะ ธรรมชาติของรูปนามที่กำลังเป็นไปอยู่เนือง ๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นชีวิต เป็นคน เป็นเรา เป็นเขา ต่าง ๆ อยู่ในโลกนี้แหละ

จุดเริ่มจุดรวมเลยของคนเราทุกคนมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูล กับอารมณ์อโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นมูล ที่ทำให้เราทำกรรมต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ถามว่า ที่เรามาปฏิบัติธรรมตรงนี้อาศัยอะไร ? (โยคีกราบเรียนว่า ศรัทธา) โชคดีนะ ศรัทธาอาศัยอะไร ? อาศัยปัญญา เพราะเรามีปัญญาจึงเข้าหาธรรม เพราะมีปัญญาจึงหาทางออก เราทุกคนที่มาปฏิบัติธรรม จริง ๆ แล้วต้องบอกตัวเองได้ว่าที่เราทำนี่เพื่ออะไร เราหาทางออกจากอะไร หาทางออกจากวัฏสงสารจากการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง หรือเพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ มรรค ผล นิพพาน

วัฏสงสารคืออะไร ? การหมุนวน การเวียนว่าย การเวียนตายเวียนเกิดไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อไม่มีที่สิ้นสุดคืออะไร ? ก็คือองค์ของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง มีนามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครบ ๑๒ วนไปไม่มีจุดเริ่มต้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่เราก็ตัดได้ตรงไหน ? คืออารมณ์ปัจจุบันนั่นเอง ที่มีผัสสะขึ้นมา กำหนดรู้ อย่างที่ให้ลองดูเมื่อกี้ว่าถ้าเราจะไม่ไหลตามเราจะทำอย่างไร

เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรามันจะต่างตรงไหน ? ก็เข้ามาทางทวารทั้ง ๖ นั่นแหละ ไม่มีทวารพิเศษหรอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่นั่นเอง! แต่ทำไมเราถึงจะหลงใหล ? อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะเราไม่เคยย่อให้มันสั้นลง เรามีแต่ยืดให้มันยาวขึ้น หารายละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมไม่ตัดตั้งแต่ทวาร ? เข้ามาก็ปิดประตูเสีย มันก็จะสั้นลง ๆ พอความคิดเกิดขึ้น แล้วเราพร้อมที่จะรู้ เขาก็ดับ พอเห็นปุ๊บ มีสติเข้าไปรู้ ภาพที่เห็นเขาก็ดับ พอมีเวทนาเกิดขึ้น ไปรู้เวทนา เวทนาก็แสดงอาการเกิดดับ พอเห็นเวทนาเกิดดับ จิตเป็นอย่างไร ? จิตก็ผ่องใส แทนที่จะขุ่นมัวเศร้าหมอง

ถ้าเราไม่เข้าไปรู้ถึงอาการเกิดดับ มันก็เริ่มขุ่นมัว เริ่มหงุดหงิดรำคาญ แล้วก็คิดไปต่าง ๆ นานา ปรุงแต่งแล้วก็กลายเป็นเรา จากไม่มีอะไรก็เริ่มมี จากไม่มีเราก็เริ่มมีเรา จากตัวเล็กก็เริ่มใหญ่ขึ้น ๆ ไม่ใช่ใหญ่ธรรมดานะ ใหญ่แล้วหนักด้วย! เห็นไหม ไม่ใช่ตัวใหญ่ขึ้น ความทุกข์มันใหญ่ขึ้น อุปาทานมันยึดมากขึ้น แล้วก็หนัก พอหนักแล้วสลัดออกยาก เพราะไม่รู้จะเอาออกอย่างไร

เพราะฉะนั้น เวลาเรามีสติรู้แบบนี้ พอมีอารมณ์ไหนเกิดขึ้น กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติเข้าไปรู้แล้วดับ เห็นอาการดับของเขา การเข้าไปยึดเอา การไปรับเอา ก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว เขาก็จะรู้ตามความเป็นจริง เกิดแล้วนะ ดับแล้วนะ จิตก็จะอิสระ ต่อไปก็ไม่ถูกพันธนาการ ไม่ถูกผูกมัด ไม่ถูกรัดตรึงอยู่ในวัฏสงสาร เราหาทางออกให้เจอ ถ้าอยากออกจากทุกข์ เราจะไปที่ไหนได้ ?

ทางเดียวเท่านั้นแหละที่จะไปได้ คือทางที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ และการปฏิบัติธรรมที่อาศัยการกำหนดรู้รูปนาม ที่บอกสติปัฏฐาน ๔ ดูกาย เวทนา จิต ธรรม ก็เลยกลายเป็นว่า ประตูที่เราจะออกไม่ได้อยู่ไกลเลย อยู่ตรงนี้เอง! อาศัยรูปนามของเรา ไม่ได้ไปอยู่ไกลที่ไหนเลย! แต่เราเปิดไม่ได้ เปิดไม่เป็น ไม่มีปัญญา หรือว่าไม่มีกุญแจในการเปิดประตูไปสู่ความเป็นอิสระเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อรู้วิธีรู้แนวทางแล้วนี่ ให้เอาไปใช้บ่อย ๆ พยายามเอากุญแจดอกนั้นมาไข ๆ ๆ มีอันนี้ขึ้นมา เอากุญแจดอกนี้มาใช้ ปัญญาให้ไปเยอะแยะ ถ้าทุกข์ ทำอย่างไร ? ทุกข์กำหนดรู้ ดูแล้วก็คลาย รู้ว่าทุกข์ก็ดับทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้วิธีการดับทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ขึ้นมาแล้วทำหน้าที่ทุกข์อย่างเดียวนะ ทุกข์มาแล้วก็ดับสิ! ดับอย่างไร ? แค่เราเอาความรู้สึกว่าเป็นเราออก ดับความเป็นตัวตน ดับความเป็นเรา ดับความเป็นเขา ความทุกข์ก็ดับแล้ว ทำจิตให้กว้าง ให้ว่าง ความทุกข์ก็หายไปแล้ว นั่นคือวิธีการดับทุกข์แบบง่าย ๆ

แต่ถ้าจะดับอย่างสิ้นเชิง เราจะต้องมีเป้าหมาย มีเจตนาที่จะรู้ถึงอาการเกิดดับของทุก ๆ อารมณ์ของรูปนามอยู่เนือง ๆ ทำบ่อย ๆ เห็นชัด ๆ จนเราเข้าใจชัด ธรรมชาติของจิตเรานี่เขาเก่งนะ เมื่อไหร่ที่เขาเห็นชัดแล้ว เขาจะไม่หลง ไม่เข้าไปยึดอีก แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่เห็น เขาก็ยังยึดอยู่ดี จะเห็นได้ก็ต้องอาศัยการใส่ใจ สังเกต พิจารณาให้ดีว่ารูปนามนี้เปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะส่วนใหญ่แล้วการยึดของคนเราไม่ได้ไปยึดอะไรไกลหรอก ยึดรูปนาม ยึดกายยึดจิตอันนี้แหละ

จิตก็คือตัวความต้องการ ความอยากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความคิดเราเกิดขึ้น เราก็ยึดแน่นอยู่กับความคิดของเรา เขาเรียกเป็นทิฏฐิของเรา ความรู้ของเรา ทั้ง ๆ ที่รู้แล้วเขาก็ดับไป รู้แล้วก็ดับไป ก็ยังยึดอยู่! ความคิดตรงนี้คือจิตของเรา กับรูปอันนี้ร่างกายเรา ก็ยึด ๒ อย่างนี้ ย่อลงมาจึงกลายเป็นว่าเรายึดรูปนามนั่นแหละ ไม่ว่าจะอาศัยอารมณ์ภายนอกหรือภายในก็ตาม เพราะฉะนั้น ลองสังเกตดู เราพยายามทำให้ “สั้น” ลงแล้วประตูจะเปิด แล้วเราก็จะเข้าถึงสิ่งที่เราปรารถนาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องไปหาไกล การที่จะเดินทางไปสู่ความดับทุกข์ไม่ใช่เป็นเรื่องไกล ๆ อยู่ใกล้ ๆ เรา อยู่ที่เรา “พอใจ ใส่ใจ” ที่จะไปหรือเปล่าแค่นั้นเอง!

ถามว่า ทุกคนมีปัญญาไหม ? มี! มีปัญญา ถามว่า อยากดับทุกข์สิ้นเชิงไหม ? ไม่แน่ใจ อันนี้ไม่แน่ใจนะ เพราะความไม่แน่ใจนี่แหละ เวลาเราทำอะไรเราจึงทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เผื่อเอาไว้! ทำไมเวลาจะปฏิบัติก็ต้องเผื่อเอาไว้ เผื่ออะไร ? เผื่อเกิดอีก ใช่ไหม ? เผื่อเกิดอีก เราก็เลยทำเผื่อ ๆ ไว้ เราจึงกลายเป็นคนที่ไม่เด็ดขาด พระพุทธเจ้ามีความเด็ดขาด เด็ดเดี่ยว เด็ดขาดทำก็คือทำ ความเด็ดขาดไม่ใช่การดุนะ ความเด็ดขาดไม่ได้ใช้อารมณ์ ใช้ปัญญาของเรา เรารู้ถึงสิ่งที่ต้องทำ คือ “ทำจริง ๆ” เวลาทำก็ทำจริง ๆ

ชีวิตของเรานี่ไม่ใช่ว่าทำแบบนี้อย่างเดียวหรอก ทำแบบนี้ก็ทำอย่างอื่นได้ด้วย พอยิ่งมีสติมากเท่าไหร่ การดำเนินชีวิตของเรา เราก็ต้องอาศัยสติที่ดีขึ้นนี่แหละในการทำต่อไป เราปฏิบัติ สติมากขึ้น หน้าตาเราก็ยังคงหน้าตานี้แหละนะ คงไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น หรือว่าต้องไปให้เขาทำให้ใหม่เท่านั้นแหละถึงจะเปลี่ยน ใช่ไหม ? ใจเราใสขึ้น หน้าตาเราผ่องใสขึ้น หน้าเดิมแต่ก็ดูดีกว่าเก่า เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติไปแบบนี้ มีสติกำหนดรู้ดูจิตของตัวเองไปให้เยอะ ทำจิตของเราให้ผ่องใสเรื่อย ๆ การที่เราทำจิตของเราให้ผ่องใส ก็แค่ยกจิตขึ้นสู่ความว่างแล้วเติมความสุขให้ตัวเอง เขาก็ผ่องใสแล้ว ง่ายนิดเดียว! ความสุขเกิดขึ้นง่าย ๆ ไม่ยาก!

แล้วอีกอย่างหนึ่ง วิธีหาความสุขที่ง่ายที่สุดคือ “ให้พอใจในความไม่ทุกข์ของตัวเอง” หมั่นสำรวจดู เมื่อไหร่ที่เห็นว่าเราไม่ทุกข์ ให้พอใจในความไม่ทุกข์ ความสุขก็จะเกิดขึ้น! แต่ส่วนใหญ่ไม่ทุกข์แล้วก็ยังไม่พอใจ ทุกข์เมื่อไหร่ดูอยู่นั่นแหละ ใส่ใจเวลามีความทุกข์ สนใจมัน ไม่ยอมปล่อยวาง แต่เวลาไม่ทุกข์ เมิน มองข้ามเขาไป แล้วก็อยากจะมีความสุข แต่ไม่เห็นว่าเวลาไม่ทุกข์เป็นอย่างไร เห็นไหม เราก็เลยหาความสุขไม่เจอเลย ดิ้นรนหาความสุขอยู่นั่นแหละ ลองหันกลับมาดูใกล้ ๆ ดูที่ “ใจ” ของเรา เวลาไม่ทุกข์ ตอนนี้ฉันไม่ทุกข์ แค่ยิ้มก็มีความสุขแล้ว แค่เรารู้หรือพอใจในความไม่ทุกข์ ความสุขก็เกิด นั่นคือวิธีทำให้ความสุขเกิดได้ง่ายที่สุด ไม่เชื่อลองดูแล้วกัน!

หมดเวลา เรื่องปฏิจจสมุปบาท เข้าใจขึ้นบ้างไหม ? เข้าใจขึ้นแล้วนะ เห็นไหม ปฏิจจสมุปบาทแบบของเรานี่มันอีกอย่างหนึ่งเลยนะ จริง ๆ แล้วไม่ได้ต่างหรอก ว่าโดยสภาวะว่าโดยธรรม จริง ๆ เขาก็เป็นแบบนี้ แต่ว่าโดยภาษาหนังสือ ภาษาเขาก็ว่าอย่างนั้น จริง ๆ แปลแล้วก็คือหลักการเดียวกัน ถามว่า รู้ปฏิจจสมุปบาทไปเพื่ออะไร ? เพื่อที่จะออกจากวงจรของการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสให้เรารู้เรื่องของปฏิจจสมุปบาท ก็คือสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปโดยธรรมชาติ โดยวัฏสงสาร หรือด้วยองค์ของปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าเรารู้ว่าเราเวียนว่ายตายเกิดตามองค์ของปฏิจจสมุปบาท แล้วเราไม่หาทางออกจากวัฏสงสาร ถามว่า เกิดกี่ชาติ ๆ เราจะออกได้ไหม ? ก็ไม่ได้ เราก็ยังหมุนตามอยู่นั่นเอง การเวียนตายเวียนเกิดของเราไม่มีจุดเริ่มต้นไม่มีที่สิ้นสุด ที่เขาบอกว่ากระดูกของคนเราคนหนึ่งที่เคยเวียนว่ายตายเกิด มากมายมหาศาลจนกองเท่าภูเขาแล้ว แต่เราก็ยังเวียนวายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

แต่เมื่อเรารู้ถึงธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสถึงการจะออกจากทุกข์ได้ ทำอย่างไร ? จงลงมือทำและทำให้จริง แล้วเราก็จะไปสู่เป้าหมาย เราจะได้ออกจากทุกข์ เราจะไม่หลงอยู่ในมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง ห่างไกลจากชายฝั่ง เมื่อไหร่ที่ลงมือพาย ลงมือพาย ลงมือว่าย แล้วเราก็จะใกล้ฝั่งเข้าไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น การที่เราปฏิบัติธรรม ก็คือการว่ายหาฝั่ง หาทางออกจากวัฏสงสาร

การแสดงธรรมมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอจบลงไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เจริญธรรม
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2018, 11:25 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




@ยุวพุทธ เขมรังสี_๑๗๑๒๑๙_0255_resize.jpg
@ยุวพุทธ เขมรังสี_๑๗๑๒๑๙_0255_resize.jpg [ 100.48 KiB | เปิดดู 5029 ครั้ง ]
การตามกำหนดรู้สภาวธรรม
ธรรมบรรยาย ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี (ศูนย์ ๔) จ. พระนครศรีอยุธยา
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙


ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่โยคีทุก ๆ คน นั่งตามสบายนะ วันนี้เป็นวันที่ห้าของการปฏิบัติ แล้วก็เป็นวันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งปกติทุกปี ๆ เราก็จะแสดงความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันคล้ายวันพระราชสมภพ แต่ปีนี้พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยก่อน เรามาปฏิบัติบำเพ็ญธรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอีกวาระหนึ่ง เมื่อเช้าเราก็ได้แผ่บุญถวายเป็นพระราชกุศลรอบหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น ช่วงนี้เรามาปฏิบัติธรรมพร้อม ๆ กัน นั่งท่าที่สบาย ท่าที่เวทนาจะเกิดช้านะ

ในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดกุศล หรือให้จิตเราเป็นมหากุศลยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อที่เราจะได้มีพลังของกุศลที่จะได้แผ่บุญแผ่กุศลออกไป ไม่ว่าจะให้ใครก็ตามก็ใช้หลักการเดียวกัน เพราะฉะนั้น ทำใจของเราให้สบาย ๆ หรือยกจิตขึ้นสู่ความว่าง เริ่มต้นด้วยการทำจิตให้ว่าง ๆ ว่างจากตัวตน โดยการแยกรูปแยกนาม แยกจิตของเราออกไปจากกาย ให้เหลือแต่ความรู้สึกที่ว่าง ๆ เบา ๆ เป็นการรับรู้อารมณ์ด้วยความรู้สึกที่ไม่มีตัวตน

เมื่อยกจิตขึ้นสู่ความว่างได้แล้ว เรามาลองทำตามขั้นตอนนิดหนึ่ง ยกจิตขึ้นสู่ความว่าง ทำจิตให้ว่าง ๆ ให้กว้าง กว้างกว่าห้องนี้ กว้างออกไป... จนรู้สึกว่ารูปนี้ตั้งอยู่ในที่ว่าง ๆ คำว่า “ว่าง” นี้ ถ้าเป็นความรู้สึกที่ว่างหรือจิตที่ว่าง เราจะรู้สึกได้ถึงความว่าง ความโล่ง ความโปร่ง ความเบา เป็นความว่างที่ให้ความรู้สึกโล่ง โปร่ง เบา ไม่ใช่แค่ว่าง ๆ หรือว่างจากความความคิดเท่านั้น ไม่ใช่ว่างจากอารมณ์ แต่ว่างจากตัวตน ว่างจากความรู้สึกว่าเป็นเราเป็นเขา ว่างจากอุปาทาน

จิตที่ว่างจากอุปาทานก็ยังทำหน้าที่รับรู้อยู่ ตรงนี้แหละสิ่งสำคัญมาก ในการปฏิบัติธรรม ในการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้าที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน ถ้าเรารับรู้ด้วยความรู้สึกที่ไม่มีตัวตน ด้วยความรู้สึกที่ว่าง ด้วยความรู้สึกที่เบา ด้วยความรู้สึกที่โล่ง ๆ ด้วยความรู้สึกที่สบาย การรับรู้อย่างไม่มีตัวตนตรงนี้ ถ้าเราพิจารณา เราจะเห็นว่า ความรู้สึกที่ไม่มีตัวตนแต่มีสติชัดเจน ไม่บอกว่าเป็นเราแต่ยังรับรู้ถึงรูปที่นั่งอยู่ได้

ทีนี้ เมื่อความรู้สึกว่างแล้ว หรือเมื่อยกจิตขึ้นสู่ความว่างได้แล้ว ลองพิจารณาดูว่า อาการอะไรที่ปรากฏชัดที่สุดในความว่างนั้น ในความรู้สึกที่ว่าง ๆ ? ในความรู้สึกที่ว่าง ๆ ที่คลุมรูปอยู่ ลองดู อาการอะไรปรากฏชัดที่สุด ? ก่อนอื่น ถ้าในความว่างข้างหน้าไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมา ขอให้เราย้อนกลับมาดูที่รูป ดูตัวที่นั่งอยู่ ตรงนี้เขาเรียกว่า “รูป” ตัวที่นั่งอยู่เป็นเพียงรูป ๆ หนึ่งที่ตั้งอยู่ จิตที่ว่างเป็นนามเป็นตัวรู้ แล้วย้อนกลับมาดูว่าที่รูปที่นั่งอยู่ก็มีอาการอย่างไร มีอะไรปรากฏขึ้นมา

คำว่า “มีอะไร” ที่นี้หมายถึงทั้งลมหายใจ ทั้งอาการพองยุบ ทั้งอาการกระเพื่อมไหว ทั้งอาการเต้นของหัวใจ รวมทั้งเวทนา มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏเกิดขึ้นมาหรือไม่ ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏเกิดขึ้น ขอให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้ หรือมีเจตนาที่จะเข้าไปกำหนดรู้ว่า อาการที่กำลังปรากฏอยู่ในที่ว่าง ๆ นั้น เขามีการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดดับในลักษณะอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรือเป็นเวทนา ไม่ว่าจะเป็นอาการกระเพื่อมไหว หรือเป็นจุดใส ๆ ดำ ๆ ที่ปรากฏขึ้นมา หรือว่ามีความสว่างเกิดขึ้นก็ตาม ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้ดูว่าเขาเปลี่ยนอย่างไร

ตรงนี้ขอให้ “รู้สึกชัด” ในอาการ และให้ “สติเข้าไปให้ถึงอาการ” เข้าไปให้ถึงความใส เข้าไปถึงความสว่าง เข้าไปให้ถึงจุดใส ๆ จุดดำ ๆ ที่ปรากฏขึ้นมา เข้าไปให้ถึงจุดอาการที่กระเพื่อมนั้น เมื่อมีสติก็ไปกำหนดรู้ เข้าถึงอาการ สังเกตดูว่า อาการเหล่านั้นเขาเปลี่ยนอย่างไร ? ถ้ากำหนดลมหายใจ มีสติเข้าไปเข้าไปข้างในเกาะติดกับอาการของลมหายใจ - ขณะที่หายใจเข้าไปเขามีอาการอย่างไร ? หายใจออกมาเขามีอาการอย่างไร ? หายใจเข้าไปสุดเขามีอาการหยุดหรือดับหายไปก่อนไหมก่อนที่จะหายใจออกมา ? พอหายใจออกมายาวแค่ไหน สิ้นสุดมีอาการหยุดหายไปก่อนไหมก่อนที่จะหายใจกลับเข้าไป ?

ให้สังเกตรายละเอียดแบบนี้ การกำหนดรู้แบบนี้จะทำให้เราเห็นถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ถ้าหยุดแล้วหาย นั่นคือการดับ ถ้าหยุดแล้วค้างอยู่ แล้วไปต่อ ไม่เรียกว่าดับ เห็นแค่อาการหยุดแล้วก็เคลื่อนต่อไป เคลื่อนต่อไป... ยิ่งกำหนดรู้ต่อไป บางครั้งก็จะเห็นว่าระหว่างหายใจเข้ากับหายใจออก ไม่มีอาการสะดุด ไม่มีอาการหยุด ไม่มีอาการขาด แต่เป็นการหมุนวนไปเรื่อย ๆ เหมือนวงล้อเกวียน ถ้าเห็นอย่างนั้นแล้วผิดไหม ? ทำไมอาจารย์ถึงถามว่าเขาหยุดเขาดับไปก่อนไหม ?

การที่เราเจตนาที่จะรู้ถึงการเกิดดับ ไม่ใช่ว่าเราบังคับให้อาการนั้นเกิดดับ เพียงแต่มีเจตนาที่จะรู้ถึงลักษณะอาการพระไตรลักษณ์ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ถึงแม้ว่าเขาจะมีอาการหมุนรอบไป ไม่มีอาการสะดุด ไม่มีอาการหยุด เราก็ยังสามารถกำหนดรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจได้ว่า ถ้าลมหายใจเข้า-หายใจออกไม่มีอาการสะดุด ไม่มีการหยุด ก็เพิ่มการสังเกต ใส่ใจให้มากยิ่งขึ้น ระหว่างเข้า-ออกเขามีความชัดเจนเท่ากันตลอดหรือไม่ ? มีความยาวเท่ากันตลอดหรือไม่ ? หรือมีบางช่วงที่เบาไป จางไป หรือหายไป ? นั่นคือการสังเกตรายละเอียดเพิ่มขึ้น

เราใส่ใจพิจารณาในรายละเอียดของอาการของรูป อันนี้เขาเรียกว่า อาการของรูปหรืออาการของกาย เป็นการดูกายในกาย รู้อาการของกายที่มีการเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวของลมหายใจ สำหรับคนที่รู้สึกว่าไม่มีอาการของลมหายใจ ไม่มีอาการพองยุบ แต่ยังรู้สึกถึงอาการกระเพื่อม ๆ ไหว ๆ ลึก ๆ ไม่รู้ว่าอยู่ตำแหน่งไหน แต่รู้สึกถึงอาการกระเพื่อมไหวเป็นขณะ ๆ ขอให้นิ่ง แล้วพิจารณาดูอาการกระเพื่อมนั้น เข้าไปรู้ที่อาการกระเพื่อมเป็นขณะ ๆ ๆ ว่าเขามีการเปลี่ยนไปอย่างไร - อาการกระเพื่อมนั้นกว้างออกไป ? เบาไป ? จางไป ? หรืออาการกระเพื่อมค่อย ๆ สั้นลง ? แคบลง ? อันนี้อย่างหนึ่ง

จะให้ดีก็เพิ่มเจตนาที่จะรู้ว่า กระเพื่อมไปแต่ละขณะ แต่ละขณะ เขามีอาการหยุดขาด หยุดดับไป ชุดหนึ่งเป็นขณะ ๆ เป็นช่องว่าง มีอาการหยุดหรือหาย หยุดขาดไปเป็นขณะหรือไม่ ? อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราเพิ่มเจตนาที่จะรู้ว่า “รอยต่อ” ระหว่างอาการกระเพื่อมแต่ละขณะ เขามีอาการหยุด สะดุด ขาดไปหรือไม่ ? นี่เพิ่มการสังเกตในรายละเอียดมากขึ้นถ้ากำหนดรู้ถึงอาการกระเพื่อม บางครั้งขณะที่ยกจิตขึ้นสู่ความว่างก็มีอาการกระเพื่อม บางครั้งเหมือนกับโยนของลงไปในน้ำแล้วมีอาการกระเพื่อมเป็นขณะ ๆ ๆ ๆ ออกไป อย่างนี้ก็มี

ตรงนั้นคืออะไร ? ตรงนั้นก็คืออาการเกิดดับของรูปอย่างหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่ชัดในความว่างแค่นั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอาการอะไรปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้า ขอให้มีเจตนาตามกำหนดรู้ ดูให้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลง ถ้าใครไม่รู้สึกว่ามีอาการกระเพื่อม รู้สึกแค่เหมือนมีอาการผุดเกิดขึ้นมา เหมือนน้ำเดือดผุดขึ้น ผุดขึ้น ผุดขึ้น... แล้วก็หายไป ผุดขึ้น ผุดขึ้น...ต่อเนื่องเรื่อย ๆ ก็ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้อาการที่เขาผุดใหม่ ผุดใหม่ ผุดใหม่... ตามรู้อาการนั้น

หรือถ้าใครรู้สึกว่านั่งว่าง ๆ เงียบ ๆ แล้วเห็นข้างหน้าเหมือนมีตะปุ่มตะป่ำไม่เรียบ เหมือนเป็นคลื่น เป็นตะปุ่มตะป่ำแข็ง ๆ ก็มี นั่นก็คือสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้อาการนั้นแหละ กำหนดรู้ดูว่าเมื่อมีสติเข้าไปกำหนดรู้ อาการตะปุ่มตะป่ำนั้นเปลี่ยนอย่างไร – เขามีอาการหายไป หรือชัดขึ้น ชัดขึ้น... หรือค่อย ๆ จางไป จางไป จางไป... นี่ก็คืออาการเกิดดับ คือการเปลี่ยนแปลงของสภาวะ และอาการที่รู้สึกเหมือนเป็นตะปุ่มตะป่ำเกิดขึ้นมาในที่ว่าง ๆ ก็คือสภาวธรรมอย่างหนึ่ง

สภาวธรรมตรงนี้คืออะไร ? ถ้าจัดในสติปัฏฐานสี่ ก็คืออาการของรูปนั่นเอง คืออาการของกาย แต่ปรากฏชัดอยู่ข้างหน้าในที่มืด ๆ ในที่เงียบ ๆ ในความสงบ หรือปรากฏเกิดขึ้นมาในความใส ความสว่าง ที่อยู่ข้างหน้า เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าไม่ว่าอาการที่ปรากฏข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม นั่นคือสภาวธรรมทั้งหมด และให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้

ทีนี้ ถ้าสงสัยว่าอาการที่ปรากฏเกิดขึ้นมา เราปรุงแต่งเองหรือไม่ เราสร้างเองหรือเปล่า หรือเราปรุงแต่งตามที่อาจารย์บอก อันนี้ขอให้เราพิจารณาดี ๆ มีสติเข้าไปกำหนดรู้ให้ชัด พิสูจน์เลย-ไม่ต้องกลัว! ถ้าจะปรุงแต่งให้เป็น ก็ลองปรุงแต่งดูว่าเขาจะเป็นเหมือนเดิมไหม ? อันนี้คือการพิสูจน์ถึงสภาวะที่เกิดขึ้น แก้ความสงสัยของเราเอง เราปฏิบัติธรรม เราต้องแก้ปัญหา ทำลายความสงสัย เขาเรียกตัว “วิจิกิจฉา” ความสงสัยในสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ต้องดับไป ต้องเป็นการรู้จริง ๆ รู้แจ้ง รู้ชัดเจนในความรู้สึกจริง ๆ ว่าเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราปรุงแต่งแล้วไม่เป็นอย่างนั้น หรือทำให้หายแล้วไม่หาย บังคับให้หายแล้วไม่หาย เขาก็ยังเกิดอยู่ ยังมีอยู่ ตรงนี้ลองพิจารณาดูว่าเขาเกิดจากการปรุงแต่งหรือไม่ หรือเกิดจากกำลังของสติ สมาธิ ปัญญา ที่เข้าไปพิจารณาเห็นอาการของรูปนามที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปต่าง ๆ นานา บางครั้งสภาวะที่เกิดขึ้นเป็นสภาวธรรมที่เราไม่เคยเห็น แต่ก็ปรากฏให้เห็นได้ ถามว่า อะไรก็ตามที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยผ่านตา เราสามารถปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ ? อันนี้ก็ต้องพิจารณาดู

และที่สำคัญก็คือว่า ไม่ว่าจะปรุงแต่งหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน เพื่อตัดปัญหา นอกจากพิจารณาดูว่าเป็นการปรุงแต่งหรือไม่แล้ว อารมณ์ที่เกิดขึ้น เราเข้าไปรู้ความจริงของอารมณ์นั้นกับกฎของไตรลักษณ์ คือการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เพราะเมื่อไหร่ที่เห็นการดับ การเข้าไปยึดเข้าไปหลงก็หายไป เมื่อไหร่เข้าไปกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น-การตั้งอยู่-การดับไป อุปาทานที่จะอาศัยอารมณ์เหล่านั้นก็ถูกตัดไปเช่นกัน

เพราะฉะนั้น สภาวธรรมที่เกิดขึ้น เพื่อความชัดเจนในสิ่งที่ปรากฏ ขอให้รู้ให้ชัด รู้ด้วยสติสัมปชัญญะ มีเจตนาที่จะรู้อย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ดูผ่าน ๆ ยิ่งสงสัยยิ่งต้องพิจารณา อันนี้สำคัญ! สงสัยได้และควรสงสัยด้วย การพิจารณาสภาวธรรมที่เกิดขึ้น สงสัยได้ไม่ผิด ถ้าเรารู้จักตั้งคำถามให้ตนเอง จะเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ปัญญาเราพัฒนาขึ้น เพียงแต่ว่าเราจะต้องตั้งคำถามให้ถูกว่า สภาวธรรมที่เกิดขึ้นนี้มีการเกิดดับในลักษณะอย่างไร ? สภาวธรรมที่เกิดขึ้นนี้เราเข้าไปยึดได้ไหม ? ตั้งคำถามตรงนี้ คำตอบจะง่าย

ถ้าเราตั้งคำถามว่า “ใช่ หรือ ไม่ใช่ ?” คำตอบจะยาก คำตอบยากเพราะอะไร ? เพราะว่าสภาวธรรมที่เกิดขึ้น บางครั้งเราคิดด้วยเหตุผลของเราไม่ได้ เพราะสติปัญญาเรายังไปไม่ถึง แต่สภาวะเขาปรากฏเกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าเราพิจารณาว่าสภาวธรรมที่เกิดขึ้นนี้ สภาพจิตใจเป็นอย่างไร ? ขณะที่เห็นสภาวธรรมตรงนี้สติเราเป็นอย่างไร ? สติแก่กล้า สติมีความชัดเจน สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไหม ? อันนี้เราจะตอบตัวเองได้ และสภาวะที่เกิดขึ้น เมื่อรับรู้อย่างนั้นกิเลสเกิดขึ้นไหม ? อันนี้เราจะตอบได้ง่าย และการรับรู้อารมณ์/สภาวธรรมที่เกิดขึ้น เรารับรู้อย่างมีตัวตนหรือเปล่า ? อันนี้เราจะตอบได้ง่าย

คำตอบตรงนี้ ตอบได้แล้ว ส่งผลเป็นอย่างไร ? ถ้าเราตอบได้ว่า สภาวะที่เกิดขึ้น ไม่มีตัวตนเลย ไม่มีเรา มีแต่สติทำหน้าที่รู้ รู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ถามว่า ผิดตรงไหน ? ถ้าเรารู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ผิดหรือถูก ? ถามว่า ผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ หรือเราเห็นตามความเป็นจริง ตามอาการพระไตรลักษณ์ที่พระองค์ทรงแสดงถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ? นี่คือการพิจารณาสภาวธรรมที่เกิดขึ้น

และถ้าพิจารณาอย่างไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีการปรุงแต่ง แล้วอาการอย่างนี้เกิดขึ้นได้หรือเปล่า ? หรือทำไมถึงเกิดขึ้นได้ ? ก็ต้องย้อนกลับมาดู “สภาพจิต” เรา - เรามีสติเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม จิตเรายังผ่องใสเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม จิตตั้งมั่นมากขึ้นหรือเท่าเดิม อาการนี้ถึงปรากฏเกิดขึ้นมาได้ ? นี่คือการพิจารณา เราจะได้เห็นว่าเหตุที่สภาวธรรมนี้เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเห็นปรากฏเกิดขึ้นมา เพราะสติเราต่างไปอย่างไร สมาธิเราต่างจากเดิมอย่างไร การใส่ใจในสภาวธรรมต่างจากเดิมอย่างไร นั่นคือเป็นเหตุและผลที่ตามมาที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้านั้นจึงปรากฏเกิดขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาธรรม ถ้าเรากำหนดรู้แบบนี้ เราจะรู้ถึงเหตุและผล เหตุปัจจัยที่ทำให้สภาวธรรมข้างหน้าเกิด ที่พิจารณาตรงที่ว่าสติมีกำลังแค่ไหน ต่างจากเดิมอย่างไร สมาธิมีกำลังเท่าเดิม นิ่งเท่าเดิม สงบมากกว่าเดิม นี่คือการพิจารณาเรื่องอะไร ? ก็เรื่องของพละห้า อินทรีย์ห้านั่นแหละ สติมีกำลังมากขึ้นก็คือเป็นตัวพละ ตัวกำลังของสติ สมาธิมีกำลังขึ้นมา ก็คือตัวสมาธิที่เป็นพละ มีกำลัง พละก็คือพลังนั่นเอง สมาธิมีกำลังมากขึ้น สติมีกำลังมากขึ้น เพราะฉะนั้นคือการปรับความสมดุล เพิ่มกำลังของสติ สมาธิ ปัญญา สภาวธรรมข้างหน้าจึงปรากฏเป็นในลักษณะอย่างนี้

ทีนี้ ลองสังเกตดูว่า ถ้าสติอ่อน สติน้อย สภาวธรรมที่เคยชัดอยู่ข้างหน้าเปลี่ยนไปอย่างไร - เขาเริ่มจาง เริ่มมัว เริ่มสลัว เริ่มซึม หรือว่าเป็นอย่างไร ? นั่นคือเหตุและผลที่เกิดขึ้นมา สภาวะปรมัตถ์ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยกิเลส ด้วยตัวตน ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะ แต่เป็นอาการของรูปนามที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า เป็นไปตามเหตุปัจจัย ทำไมสภาวะปรมัตถ์ถึงเป็นสภาวธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยกิเลส ?

สภาวธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับอยู่ข้างหน้า ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยกิเลส เพราะรูปนามอันนี้โดยธรรมชาติเขามีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับตลอดเวลา อยู่ที่สติ สมาธิ ปัญญาของเราแก่กล้าแค่ไหน ถึงจะเข้าไปเห็นถึงอาการเกิดดับที่มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนนั้นได้ อาการเกิดดับของรูปนามแต่ละขณะที่เป็นปรมัตถ์จึงต้องอาศัยจิตที่ไม่ประกอบด้วยตัวตน ไม่มีเรา ถึงจะเข้าถึงสภาวะปรมัตถ์นั้นได้ ไม่ว่าจะปฏิบัติธรรมด้วยวิธีไหนก็ตาม ถ้าจะเข้าสู่ปรมัตถ์ได้ก็อาศัยความไม่มีตัวตนทั้งสิ้น

ถ้ามีตัวตน ยังมีความเป็นเราเป็นเขา ก็ยังมีอัตตา มีอัตตาก็คือบัญญัติ อัตตาจะเกิดขึ้นมาอาศัยเฉพาะอารมณ์บัญญัติเท่านั้นเอง อัตตาไม่สามารถอาศัยอารมณ์ปรมัตถ์ได้เพราะเขาไม่มีที่ให้ยึดให้เกาะ มีแต่ความรู้สึกที่ว่าง ๆ มีแต่สติที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ไม่มีตัวตนหรือไม่มีอัตตา ไม่ใช่แค่สภาพจิตที่ว่าง อะไรเกาะไม่ได้ แม้แต่รูปที่นั่งอยู่ยังรู้สึกเบา บางครั้งเมื่อสติแก่กล้ามากขึ้น รูปที่นั่งก็ว่างไป หายไป เหลือแต่ลักษณะของจิตที่สงบ หนักแน่น มั่นคง จิตที่เป็นกุศล

เพราะฉะนั้น เหลือแต่พลังจิตอย่างเดียว ไม่มีรูป ที่รูปมีแต่พลัง กลายเป็นว่ารูปหายไป ความมีตัวตนหายไป รูปหายไป แต่บางครั้งถึงมีรูปอยู่แต่ไม่มีตัวตนก็มี มีตัวนั่งอยู่แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเรา อันนี้ก็คือเรียกว่า “ความเป็นอนัตตา” ไม่มีตัวตน มีแค่รูปที่ไม่ได้บอกว่าเป็นเรา รูปที่นั่งอยู่ก็รู้สึกว่าง ๆ แยกส่วนกันระหว่างจิตกับรูปอย่างชัดเจน นี่คือการวิธีการพิจารณาสภาวะ

ทีนี้ก็จะมีคำถามว่า เมื่อยกจิตขึ้นสู่ความว่าง จิตที่ว่างเราใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ? ที่จริงถ้าถามกลับไปว่า ทุก ๆ วันนี้ เราใช้จิตประเภทไหนทำหน้าที่รับรู้เรื่องราวในชีวิตประจำวันของเรา ? ถ้าเราใช้จิตเหล่านั้นทำหน้าที่รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของเราได้ จิตที่ว่างก็ทำหน้าที่แบบเดียวกันได้ เพราะจิตทำหน้าที่รับรู้ทุก ๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่เกิดกับใจ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้าเรา ก็ใช้จิตนี่แหละทำหน้าที่รับรู้

จิตที่ว่าง คือ ว่างจากตัวตน-ไม่ได้ว่างจากสติ ว่างจากตัวตน-ไม่ได้ว่างจากพลัง ว่างจากตัวตน-ไม่ได้ว่างจากสมาธิ ว่างจากตัวตน-ไม่ได้ว่างจากปัญญา แต่ว่างจากกิเลส เพราะฉะนั้น จิตตรงนี้จึงสามารถทำหน้าที่รับรู้ทุก ๆ อารมณ์ได้เช่นเดียวกันในชีวิตประจำวันของเรา สำคัญอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถเอาจิตที่ว่างนี้ไปใช้ตลอดเวลาได้ เพราะเรายังไม่ชำนาญหรือยังใช้ไม่ได้คล่องเท่านั้นเอง แต่ถ้าใครสามารถเอาจิตที่ว่างจากตัวตนตรงนี้ไปใช้กับชีวิตประจำวันได้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง! ถ้ารับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ด้วยจิตที่ไม่มีตัวตน ไม่มีเราไม่มีเขา ลองดูว่า ชีวิตจะเป็นอย่างไร จะมีความสุขแค่ไหน!?

คำว่า “ไม่มีตัวตน–ไม่มีเราไม่มีเขา” ไม่ใช่สุขไม่ได้ คำว่า “ไม่มีตัวตน-ไม่มีเราไม่มีเขา” ใช่จะเพียงแค่อุเบกขาเฉย ๆ กับอารมณ์ต่าง ๆ เพราะจิตยิ่งว่าง จิตที่ไม่มีตัวตน กุศลยิ่งเกิดได้ง่าย เมื่อกุศลเกิดได้ง่าย ความสุขจึงเกิดได้ง่าย! เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าต้องอุเบกขาเสมอไป จิตยิ่งว่างก็ยิ่งมีความสุข คิดถึงสิ่งดี ความดีเกิดขึ้นได้ง่าย นั่นหมายถึงว่าจิตที่ว่างจากกิเลส ว่างจากตัวตน เป็นจิตที่ไวต่อกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินสิ่งที่เป็นกุศล จิตก็จะอนุโมทนาหรือยินดีในกุศลนั้น แล้วก็มีความสุข มีพลังของความดีเกิดขึ้น นั่นแหละคือจิตที่เป็นกุศล

เพราะฉะนั้น การพิจารณาสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา จึงควรรับรู้ในลักษณะที่รู้ความจริงของสภาวะที่เกิดขึ้น หมั่นพิจารณารู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปของทุก ๆ อารมณ์ ที่สำคัญ การรับรู้การเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป แก้ปัญหาของเรา ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าเป็นคนที่ความคิดเยอะ และเมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมามากมาย เราจะรู้สึกว่าดับไม่ได้ แล้วก็ปรุงแต่ง เข้าไปยึด/คลุกคลีกับความคิดตรงนั้น แล้วทำให้ทุกข์ขึ้นมา

เพราะฉะนั้น การแยกรูปนาม การทำจิตให้ว่าง ให้กว้าง แล้วเราจะเห็นถึงธรรมชาติของ “จิตที่ว่าง” กับ “ความคิดที่เกิดขึ้น” ตรงนี้ต้องมีเจตนาที่จะรู้ เมื่อจิตว่างจากตัวตน และมีเจตนาที่จะรู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปของความคิดอยู่เนือง ๆ เราจะเห็นถึงสัจธรรมความจริงว่า สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง สังขารทางใจ/จิตสังขาร การปรุงแต่งทางจิต ก็ไม่เที่ยง - ปรุงขึ้นมาก็ดับไป รับรู้แล้วก็ดับไป รู้แล้วก็ดับไป... แม้แต่เรื่องราวเก่า ๆ ที่ปรากฏเกิดขึ้นมา ก็เป็นเพียงสัญญา แล้วก็ดับ... สัญญาก็ไม่เที่ยง!

ที่บอกว่าถ้าเรารู้ถึงความเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ เมื่อมีจิตสังขาร/สัญญาเกิดขึ้นมา แยกระหว่างจิตที่ทำหน้าที่รู้กับจิตสังขารกับสัญญา แล้วเป็นผู้ดู กำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป... ลองดูว่า ความทุกข์เขาดับไปด้วยไหม ? หรือถ้ามีความทุกข์เกิดขึ้น เขาตั้งอยู่นานแค่ไหน หรือเขาดับไป สั้นลงเรื่อย ๆ ? มีแต่เรื่องราวที่เคยทำให้ทุกข์ปรากฏ แต่ความทุกข์ไม่ปรากฏ สัญญาปรากฏขึ้นแต่ความทุกข์ไม่ตามมา นี่คือผลของการพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการมีเจตนาในการกำหนด

จึงบอกว่าในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานของเรา สนใจอาการของรูปนามของกายของจิตเราอยู่เนือง ๆ ธาตุภายนอกที่เข้ามากระทบทางกาย ไม่ว่าจะเป็นความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง หนัก เบา ก็เป็นอารมณ์ที่เข้ามากระทบตามธรรมชาติ เราสามารถเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้ทั้งหมด คือมีเจตนาเข้าไปกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นมา พิจารณาถึงความเป็นคนละส่วนระหว่างจิตกับความร้อน แล้วเข้าไปกำหนดรู้ว่าความร้อนเขาเปลี่ยนอย่างไร เกิดแล้วเปลี่ยนอย่างไร หายไปอย่างไร จางอย่างไร หรือร้อนมากขึ้นแค่ไหน

อย่างที่เคยบอกแล้วว่า ถ้าเรากำหนดจิตให้ว่าง ว่างจากตัวตน รูปก็ว่าง ข้างในตัวก็รู้สึกว่าง ๆ ถ้าเป็นความร้อนจากแสงแดดหรือร้อนจากข้างนอก เราจะรู้เลยว่าความร้อนเข้าไม่ถึงใจ จะรู้สึกแต่เพียงความร้อนอยู่รอบ ๆ ตัวเท่านั้นเอง ทำไมความร้อนเข้าไม่ถึงใจ ? เพราะจิตว่าง ว่างจากตัวตน แล้วความร้อนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้ไหม ? ความร้อน – ไม่ว่าจะเป็นจากข้างนอกหรือข้างใน - ก็เป็นอาการของธาตุอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรเลยที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของความเป็นไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่หรืออยู่ที่มุมไหนของโลกก็ตาม ก็ยังแสดงอาการพระไตรลักษณ์อยู่เสมอ

เพราะฉะนั้น มีสติเข้าไปกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปของอารมณ์นั้น ๆ ของอาการของธาตุนั้น ๆ จะได้เห็นความจริง ถามว่า ทำไมเราต้องกำหนดรู้ละเอียดขนาดนี้ เพื่ออะไร ? ก็เพื่อในสิ่งที่เราปรารถนานั่นแหละ! “เพื่อการละ เพื่อการคลาย เพื่อการเห็นสัจธรรมความจริง” เมื่อเราละด้วยการเห็นความจริงจะไม่กลับเข้าไปยึดอีก แต่ถ้าละแบบไม่เห็นความจริงของสภาวธรรมที่ปรากฏ เดี๋ยวก็จะกลับไปยึดอีกเหมือนเดิม! ละแล้วไม่ปล่อยเลย ละแล้วค่อยรอเวลากลับไปยึดใหม่

แต่เมื่อไหร่ที่เห็นถึงสัจธรรมความจริงที่ปรากฏขึ้นจริง ๆ ไม่มีเราไม่มีเขา มีการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปอยู่เสมอ จิตจะคลายอุปาทานโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อไหร่ที่เผลอจะเข้าไปยึด เมื่อรู้สึกตัว มีสติปรากฏขึ้นมา เขาก็พร้อมที่จะละ โดยธรรมชาติจิตจะไม่เข้าไปยึดสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะธรรมชาติของจิตต้องการความอิสระนั่นเอง ถ้าเราพิจารณาเราจะเห็นว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความทุกข์เกิดขึ้นภายในจิตใจ จะเกิดความรู้สึกกระวนกระวายหาทางออกจากทุกข์นั้น เพียงแต่ว่าวิธีที่จะออกจากทุกข์อาจจะแตกต่างกันออกไป

แต่ใครที่อาศัยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะรู้ว่า เมื่อมีความทุกข์ขึ้นมาควรต้องมีสติกำหนดรู้อย่างไร ที่ทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะอะไร... ทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะมีความเป็นตัวตน-มีเรามีเขา เพราะอวิชชาครอบงำ เพราะความไม่รู้จึงเข้าไปยึดว่าเป็นของเรา ยึดเอารูปนี้ว่าเป็นของเรา ยึดเอาความคิดว่าเป็นของเรา แล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมา... เมื่อเข้าใจอย่างนั้นแล้ว เมื่อมีความทุกข์ขึ้นมา ก็สลัดความรู้สึกว่าเป็นเรา เมื่อมีความรู้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ อวิชชาก็หายไปเมื่อนั้น เมื่อมีสติปรากฏขึ้นมาเมื่อไหร่ วิชชาเกิด อวิชชาความไม่รู้ก็หายไป เหลือแต่ปัญญาที่ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เพราะฉะนั้น ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นจึงใส่ใจพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์ของทุก ๆ อารมณ์ เราไม่มีเงื่อนไขว่า อารมณ์นี้ต้องรู้เกิดดับ อารมณ์นี้ต้องยึดเอาไว้ก่อน... ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความสงบ ความโล่ง ความโปร่ง ความเบา ก็รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของเขาไป เพราะการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้เกิดการพัฒนา! เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิต เปลี่ยนเป็นสงบขึ้น ใสขึ้น เราจึงพัฒนาขึ้น, เห็นความทุกข์ทางจิตดับไป ทำให้จิตสงบขึ้น โล่งขึ้น เบาขึ้น สะอาดขึ้น, มีอกุศลขึ้นมา มีสติเข้าไปกำหนดรู้ เห็นเขาดับไป ทำให้จิตสงบขึ้น เบาขึ้น ตรงที่เบาขึ้นสงบขึ้น ก็คือ “การเปลี่ยนแปลงของจิต”

เพราะฉะนั้น ยิ่งเห็นความเป็นอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลงของจิต เห็นถึงจิตที่สงบขึ้น ใสขึ้น สะอาดขึ้น จิตกลับรู้สึกอิสระขึ้น สบายขึ้นเรื่อย ๆ นั่นแหละคือการพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์ เพราะพระไตรลักษณ์จึงทำให้จิตผ่อนคลาย จิตจึงไม่เข้าไปยึด ไม่มีอุปาทาน เพราะฉะนั้น ขอให้เรามีเจตนาใส่ใจพิจารณาสภาวธรรมที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้าให้ชัดเจนว่าขณะนี้อาการอะไรปรากฏเกิดขึ้น ถ้ามีเวทนาปรากฏขึ้นมา ก็กำหนดอย่างที่เราเคยกำหนดนั่นแหละ...

กำหนดอย่างไร ? เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้น ขอให้กำหนดรู้ถึงความเป็นคนละส่วน จิตที่ทำหน้าที่รู้กับเวทนาแยกส่วนกัน จากนั้นก็ไปกำหนดรู้ว่าเวทนามีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับอย่างไร เขาเรียก “เวทนานุปัสสนา” ตามรู้อาการของเวทนา เวทนาอนิจจา – เวทนาไม่เที่ยงนั้นเป็นอย่างไร ? ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลงของเวทนา เกิดจุดนี้ไปดับจุดนั้น วิ่งไปตรงนี้ไปหายตรงนั้น ผุดตรงนั้นมาดับตรงนี้ นั่นก็คือความไม่เที่ยงของเวทนา

เพราะฉะนั้น การที่เรากำหนดรู้ในลักษณะอย่างนี้ เวทนากับจิตเป็นคนละส่วนกัน เวทนาจะไม่เป็นเหตุให้กิเลสเกิด แต่เวทนาจะเปลี่ยนเป็นปัจจัยให้สติมีกำลังมากขึ้น ทำให้จิตมีความผ่องใสขึ้น เพราะจิตมีความตื่นตัว สติมีกำลังมากขึ้น ถ้าเข้าไปกำหนดรู้อาการเกิดดับของเวทนา เข้าไปกำหนดรู้อาการเปลี่ยนแปลงของเวทนา แทนที่เวทนาจะเป็นปัจจัยให้กิเลสเกิด ก็จะเป็นปัจจัยให้กุศลเกิด คือสติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าขึ้น ทำให้เรามีขันติมากขึ้น

เราสู้กับเวทนา “สู้” พิจารณา “สู้” กำหนดรู้การเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปของเวทนา ไม่ใช่สู้เพื่อที่จะชนะเวทนาอย่างเดียว “สู้” เพื่อที่จะกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปของเวทนา นี่คือการสู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่สู้ด้วยกำลังอย่างเดียว บังคับให้หาย ให้หาย... อันนั้นเราก็จะมีความทุกข์เกิดขึ้นมาอีก! เพราะฉะนั้น เวทนาจึงไม่เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิด แม้แต่เวทนาทางใจ ก็สามารถกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปได้เช่นกัน นี่คือหลักของการเจริญวิปัสสนา

เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เรานั่งวิปัสสนา หลับตาลง สภาวะอะไรเกิดขึ้นมา ก็ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้อย่างชัดเจน รับรู้อย่างมีสติสัมปชัญญะ มีความตื่นตัว ทุก ๆ อารมณ์ให้เอามาเป็นอารมณ์กรรมฐาน แล้วเราจะรู้สึกว่าสติเราคลุกคลีอยู่กับสภาวธรรมตลอด ไม่จะเป็นความคิด ไม่ว่าจะเป็นเสียง ไม่ว่าจะเป็นความเย็น ความร้อนที่เกิดจากอาการของธาตุภายในร่างกายของเราก็เป็นสภาวธรรม พิจารณาด้วยความรู้สึกที่ “ไม่มีตัวตน” เราจะเห็นถึงสัจธรรมจริง ๆ

แล้วลองดูว่า เมื่อกำหนดรู้ในลักษณะอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ยิ่งเห็นชัดมากขึ้นเท่าไหร่ ดูว่า สภาพจิตใจเป็นอย่างไร ? ผลที่เกิดขึ้นทำให้จิตใจเราเป็นอย่างไร ? นี่คือวิธีการพิจารณาสภาวธรรมในขณะที่เราปฏิบัติธรรม อันนี้พูดถึงการพิจารณาเฉพาะสภาวธรรมที่เป็นไปเท่านั้นเอง แล้วก็ผลที่เกิดขึ้นจากการกำหนดรู้ในลักษณะอย่างนี้ เมื่อพูดถึงความเข้าใจในสภาวะที่เกิดขึ้น ให้เราพิจารณาอาการตรงนี้ให้ชัด จากนั้นเราก็จะมีความเข้าใจในธรรมที่ชัดขึ้นเรื่อย ๆ

“ภาวนามยปัญญา” เห็นสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนว่าเป็นไปในลักษณะอย่างไร เมื่อเราจะทำความเข้าใจในสภาวะที่เกิดขึ้น ก็จะเข้าใจได้ง่าย และแจ่มแจ้งชัดเจน ไม่มีความคลางแคลงสงสัยว่าสภาวะที่เกิดขึ้นนี้เป็นสภาวธรรมไหม เป็นของจริงไหม ความจริงที่เกิดขึ้นอย่างนี้เขาเรียกว่า “ปรมัตถธรรม” ความจริงโดยปรมัตถ์ คำว่า “ปรมัตถ์” ก็มาจากคำว่า “บรมธรรม” คือธรรมอันยิ่ง ธรรมอันพิเศษ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยความคิด!

แต่เข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติ เข้าถึงได้ด้วยการกระทำ เข้าถึงได้ด้วยการเข้าไปกำหนดรู้จริง ๆ มีสติสัมปชัญญะที่แก่กล้า รู้สึกได้จริง ๆ เห็นได้จริง ๆ นั่นคือของจริงที่เกิดขึ้น เราอยู่กับบัญญัติ เป็นสมมุติ พอมาเจอสภาวธรรมจริง ๆ ที่เป็นปรมัตถ์ เราก็เลยสงสัยว่าเป็นของจริงหรือเปล่า เพราะไม่เหมือนกับบัญญัติที่เราจับต้องได้ ความ “ต่าง” ไปเท่านั้นเอง! เราจึงสงสัยว่าเป็นของจริงหรือเปล่า ทั้งที่เขาเป็นของจริงที่เป็นปรมัตถธรรม

เหมือนวิถีจิต การที่เข้าไปรับรู้อาการดับแล้วจิตดับ ถามว่า จิตที่ดับไป ดับจริง ๆ ไหม ? นั่นคือสภาวธรรมจริง ๆ ที่ปรากฏขึ้นมา จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมา ทำหน้าที่รับรู้แล้วก็ดับไป จิตดวงใหม่ปรากฏขึ้นมา... ถามว่า เราเห็นได้อย่างไร ? เราคิดเอาแล้วเห็นไหมว่าจิตดวงนี้ดับไป จิตดวงใหม่ขึ้นมา ต่างจากเดิมอย่างไร ? เราไม่สามารถคิดเอาแล้วเห็นได้ นอกจากการเจริญสติ สมาธิ ปัญญาที่แก่กล้ายิ่งขึ้น มีปัญญาพิจารณาถูกจุด ถ้าแยกรูปนามไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจิตดับอย่างไร รูปดับอย่างไร เพราะเราจะรู้สึกว่ามีแต่เราเป็นผู้ดูอยู่ตลอดเวลา จึงไม่เห็นว่าจิตดับหรือไม่ดับ

แต่ถ้าใครที่แยกรูปนามได้ เห็นว่านามเป็นแบบนี้ รูปเป็นแบบนี้ ตัวจิตที่เข้าไปรับรู้เกิดดับอย่างไร ก็จะสามารถเห็นอาการของรูปนามอย่างแท้จริง ว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดดับในลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้น ขอให้เราตั้งใจ ใส่ใจ สังเกตอาการที่อยู่เฉพาะหน้าจริง ๆ ขณะนี้เดี๋ยวนี้ว่าเป็นไปในลักษณะอย่างไร มีเจตนาที่จะรู้ถึงอารมณ์ปัจจุบันที่เรียกว่า “ปัจจุบันขณะ” หรือทุก ๆ ขณะที่เกิดขึ้นนี่แหละคือขณะปัจจุบันจริง ๆ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เป็นสภาวธรรมที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันจริง ๆ

ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่า จิตที่ทำหน้าที่รู้เขาจะไม่ปรุงแต่งอะไรเลย มีแต่จิตที่นิ่ง แล้วตามกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป, เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป... ตัวรู้นี่เขาจะไม่ปรุงแต่ง แต่รู้ว่าใส รู้ว่าสุข รู้ว่าเบา รู้ว่าสงบ รู้ว่าสว่าง... ตัวรู้ตัวนี้ไม่ปรุงแต่ง นี่แหละคือจิตที่เป็นกลางจริง ๆ เขารู้แบบไม่ต้องไปปรุงแต่งให้ใส ไม่ต้องไปปรุงแต่งให้เบา แต่มีหน้าที่รู้ความเบา รู้ความสุข รู้แล้วก็ดับไป นั่นคือจิตที่เป็นกลางจริง ๆ รู้ชั่วขณะหนึ่งก็ดับไป

เพราะฉะนั้น สังเกตให้ดี ทุก ๆ วินาที คือการเจริญกรรมฐาน คือการเดินทางไปสู่มรรคผลนิพพาน ทุก ๆ วินาทีที่เรารับรู้ถึงการเกิดดับของรูปนาม คือการเดินทางไปสู่ความอิสระของจิต เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสภาวธรรมอะไรที่เกิดขึ้นมา ขอให้มีเจตนาที่จะเข้าไปกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไปของสภาวธรรมเท่านั้น แล้วก็พิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้น คือสภาพจิตใจที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปกำหนดรู้อย่างชัดเจนถึงอาการเกิดดับของรูปนามว่าเปลี่ยนไปอย่างไร
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2019, 10:35 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b42: หลักการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร
ธรรมบรรยาย ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี (ศูนย์ ๔)
จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


วิปัสสนากรรมฐานนั้นเน้นอะไร วิปัสสนากรรมฐานเน้นการกำหนดรู้ถึงอาการพระไตรลักษณ์ คือความจริงของรูปนาม การปฏิบัติมีหลายรูปแบบ แต่วิปัสสนากรรมฐานนั้นเจาะจงจำเพาะการพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์ของรูปนามเป็นหลัก ที่ตั้งชื่อคอร์สว่า “ดับตัวตน ค้นธรรม” อันที่จริงแล้วทุกคนก็รู้ว่าการกำหนดอารมณ์แต่ละครั้งนั้น ถ้ากำหนดด้วยความรู้สึกว่า “เรา” เป็นผู้กำหนด ก็จะมีอัตตาเข้าไปแทรกเป็นระยะ ๆ มักจะกำหนดด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นผู้ดู เราตามรู้ เราตามเห็น แล้วก็ให้เป็นอย่างที่เราต้องการ อันนี้ความเป็นเราก็เกิดขึ้นมา

แต่การดับตัวตน ค้นธรรม ก็คือเอาความรู้สึกว่าเป็นเราออกจากใจ ดับความรู้สึกว่าเป็นเรา ให้เหลือแต่สติ สมาธิ ปัญญา พิจารณาถึงสภาวธรรมที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าเราว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่าสภาวธรรมนั้นจะเป็นแบบไหนก็ตาม จะปรากฏเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจก็ตาม ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอารมณ์นั้น ๆ แม้แต่ตัวจิตที่ทำหน้าที่กำหนดรู้อารมณ์ต่าง ๆ เอง ก็รู้ว่าเขามีการเกิดดับไปด้วยหรือไม่ อย่างไร... อันนี้คือสิ่งสำคัญ ถ้าเรามีเจตนารู้ในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะกำหนดรู้ทั้งรูปและนาม ไม่ใช่กำหนดรู้แค่อาการของรูปที่เกิดขึ้น

ทีนี้ ทบทวนอีกนิดหนึ่งว่า อารมณ์หลัก ๆ ของสติปัฏฐานสี่คือ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต และรู้ธรรม เราจะต้องไม่ลืมว่านี่คืออารมณ์หลัก ๆ ที่จะปรากฏขึ้นมาให้เราได้กำหนดรู้ อารมณ์หลักเหล่านี้เขาจะเวียนกันมา ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน - อิริยาบถหลักทั้งสี่ หรือในอิริยาบถย่อยก็ตาม เขาจะสลับกันเกิดขึ้น ในอิริยาบถนั่ง อาการอะไรที่อาศัยร่างกายเราเกิดขึ้น เขาเรียกว่า “อาการของกาย” โดยส่วนใหญ่ก็คือ อาการของพองยุบ อาการของลมหายใจเข้าออก อาการเต้นของหัวใจของเรา นี่แหละคืออาการของกายในขณะที่เราเจริญสติในอิริยาบถนั่ง

ถ้าใหม่ ๆ ลมหายใจหรืออาการพองยุบอาจจะชัด แต่สักพักก็อาจจะเป็นอาการเต้นของหัวใจ หรืออาการกระเพื่อมไหวที่รูป อย่างใดอย่างอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นมา ขณะที่นั่งเจริญกรรมฐานก็ให้เริ่มจากจุดนี้ ถ้าไม่มีอาการเต้นของหัวใจ ไม่มีอาการของลมหายใจ ไม่มีอาการกระเพื่อมไหว มีแต่อาการหมอก ๆ มัว ๆ สลัวขึ้นมาข้างหน้า หรืออาการไหว ๆ หรือเป็นสีเป็นแสงปรากฏขึ้นมาข้างหน้า มีการปรากฏขึ้นมาแล้วเปลี่ยนไปดับไป มีแล้วหายไป นั่นก็คือสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น บางทีเราก็เรียกเป็นนิมิตบ้าง แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นนิมิตหรือเป็นอะไร เราจะเรียกตามที่เห็นที่เป็น

ถ้าเป็นสีก็เรียกว่ามีสี ถ้ามีแสงเกิดขึ้นมาก็เรียกตามอาการนั้น ที่สำคัญก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นสีเป็นแสงต่าง ๆ เกิดขึ้นมา หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือ เข้าไปกำหนดรู้ว่าเขาเกิดแล้วดับอย่างไร เกิดแล้วดับอย่างไร... ถามว่า สีหรือแสงต่าง ๆ ที่ปรากฏเฉพาะหน้าเราเกิดจากอะไร ? เกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยกำลังของสมาธิของสติของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏให้ได้รู้ได้เห็น และเป็นสิ่งที่โยคีจะต้องตามกำหนดรู้ดูว่าเขาเกิดดับในลักษณะอย่างไร เห็นไหม ดูกายในกาย ดูจิตในจิต ดูเวทนาในเวทนา แล้วก็รู้ธรรมในธรรม อันนี้เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นที่ไม่ใช่อาการของลมหายใจ ไม่ใช่อาการของกาย

ทีนี้เวทนา ผู้ปฏิบัติในที่นี้ส่วนใหญ่ก็จะรู้ดีว่าเวทนาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติของร่างกายเรา มันไม่ใช่เป็นเรื่องพิเศษอะไร แต่ความพิเศษอยู่ที่ “การที่เรามีสติเข้าไปกำหนดรู้เวทนาที่เกิดขึ้น” ความพิเศษจะเกิดขึ้นมาเมื่อเรามีสติเข้าไปกำหนดรู้อาการเกิดดับของเวทนาที่กำลังปรากฏอยู่นี้ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดดับในลักษณะอย่างไร อาการเกิดดับของเวทนาที่ปรากฏอยู่นี้เปลี่ยนไปต่างจากเดิมอย่างไร นั่นคือวิธีเพิ่มปัญญา พิจารณาด้วยความแยบคาย

เวทนานุปัสสนา - การตามรู้อาการของเวทนา เวทนาทางกายนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงไป วิธีกำหนดเวทนา ให้สังเกตในลักษณะเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้ยิน หรือเคยได้ยินแล้วแต่ยังเข้าใจไม่ชัด หรือเข้าใจแต่ยังไม่ชัดในการกำหนดเวทนา ส่วนใหญ่เราตามรู้ว่า พอมีเวทนาทางกายเกิดขึ้น จะกำหนดว่าปวดหนอ ปวดหนอ... หรือว่า รู้ว่าปวด ปวด ปวด... แล้วก็ข้ามไป อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง

แต่การกำหนดรู้เวทนาอย่างไม่มีเรา ให้สังเกตในลักษณะอย่างนี้ว่า เวทนาที่กำลังปรากฏนั้นกับจิตที่ทำหน้าที่รู้หรือกับสติของเรานี่ เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน อันนี้ต้องสังเกตนะ ไม่ใช่แค่คิด! ให้สังเกตกำหนดรู้ขณะนั้นจริง ๆ ที่เป็นปัจจุบันขณะจริง ๆ ว่า เวทนาที่กำลังปรากฏกับจิตที่ทำหน้าที่รู้ เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน และให้สังเกตว่า เวทนาที่ปรากฏขึ้นมาแต่ละขณะมีความต่างกันอย่างไร

อย่างเช่น ขณะที่เรานั่งไปสักพัก เวทนาปรากฏขึ้นมาที่หัวเข่า และเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา อันนี้คือลักษณะของเวทนา พอมีเวทนาเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา สังเกตว่า กลุ่มก้อนของเวทนากับจิตที่ทำหน้าที่รู้ เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน อันนี้คือการสังเกต ตรงนี้เราจะได้แยกระหว่างเวทนากับจิต แยกนามกับนาม เวทนาเป็นนาม แต่จริง ๆ แล้วจะเป็นอะไรไว้ค่อยเรียกทีหลังก็ได้นะ แต่ให้สังเกตว่า จิตกับเวทนาเขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน อันนี้ขั้นตอนหนึ่ง

และถ้าสติเราดี พิจารณาเห็นจิตกับเวทนาเป็นคนละส่วนกัน ขอให้สังเกตว่าเวทนานั้นเกิดอยู่ที่ไหน “เวทนานั้นเกิดอยู่ที่ไหน ?” เมื่อกี้อาจารย์บอกว่าเกิดอยู่ที่หัวเข่า แต่ไม่จำเป็นว่าเราต้องมีรูปร่างของหัวเข่า คือสัญญาจำได้ว่าบริเวณหัวเข่า ถามว่า เขามีรูปร่างของหัวเข่าไหม ? หรือว่าเกิดเป็นก้อน ตั้งอยู่ในที่ว่าง ๆ ตั้งอยู่ในความสงบ ? การพิจารณาตรงนี้เพื่อคลายอุปาทาน - คลายอุปาทานการเข้าไปยึดว่าเป็นของเรานั่นเอง

จากนั้นก็มีเจตนาพิจารณาถึง “การเปลี่ยนแปลง” ของตัวเวทนาว่าเกิดดับในลักษณะอย่างไร - มีการเคลื่อนไหว มีอาการเดี๋ยวปวดมากขึ้น เดี๋ยวเบาลงเป็นขณะ ๆ หรือเดี๋ยววุบหาย วุบหาย เป็นขณะ นี่คือรู้การเปลี่ยนแปลงของเวทนา เพราะฉะนั้น การกำหนดเวทนา ให้มีเจตนาที่จะรู้ถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเวทนา แต่ว่าขอให้พิจารณาว่าเวทนานั้นเกิดอยู่ที่ไหน - เกิดอยู่ในที่ว่าง ๆ เกิดอยู่ที่หลัง เกิดอยู่ที่ไหล่ เกิดอยู่ที่หัวเข่า หรือเกิดอยู่ในความสงบ เกิดอยู่ที่โล่ง ๆ ? สังเกตในลักษณะอย่างนี้

การกำหนดรู้แบบนี้ ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เรากำหนดรู้ตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่บังคับให้เขาเป็น การที่เรามีเจตนาที่จะรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เราจะได้เห็นถึงสภาวธรรมที่กำลังปรากฏจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ใช้สัญญา เราจำได้ว่านี่คือหัวเข่า นี่คือหลัง นี่คือไหล่... ถึงแม้ไม่มีรูปร่างก็จำได้ว่าเป็นหลังเป็นไหล่ นั่นคือเราจะติดในบัญญัติ แล้วจะยึดเอาความเป็นฆนบัญญัติ ความเป็นกลุ่มก้อนความเป็นเราขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ในการกำหนดอารมณ์ ขอให้กำหนดสภาวะตามที่เป็นจริง เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น! เพราะตัวยึดหรืออุปาทาน ไม่ใช่รูปยึด แต่จิตเป็นตัวยึด รูปเป็นที่อาศัยของเวทนา แต่รูปไม่ได้ยึดเวทนา ตัวที่ยึดเวทนาคือจิตของเรา ความเข้าใจของเราที่เข้าไปยึดเอาเวทนาว่าเป็นของเราแค่นั้นเอง! พระพุทธเจ้าบอกว่าเวทนาเป็นของไม่เที่ยง เราก็เข้าไปพิจารณาดูตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแค่นั้นเอง ว่าไม่เที่ยงอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร ต่างจากเดิมอย่างไร

ไม่ใช่รู้ว่าไม่เที่ยงแล้วไม่สนใจ ถ้ารู้ว่าไม่เที่ยงแล้วไม่สนใจ ตรงนั้นทั้งสติ สมาธิ ปัญญาของเราจะไม่พัฒนาขึ้น แค่เข้าใจแล้วปล่อยไป แล้วความทุกข์ก็จะตามมาเป็นปกติอีก เราก็จะเกิดความทุกข์กับเวทนาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เพราะเรา “คิด” ว่าปล่อยวาง... คำว่า “ปล่อยวาง” กับ “ปล่อยทิ้ง” ต้องแยกกันนิดหนึ่งนะ บางทีเรา อ้ะ! ปล่อยไปเหอะ ปล่อยไป ไม่ยึด.... แต่ก็ยังติดอยู่ในใจ

การที่เราปล่อยวางจริง ๆ ปล่อยวางด้วยปัญญา พิจารณาจนเห็นชัดตามความเป็นจริง ตรงนี้แยกส่วนกันอย่างสิ้นเชิง เขาเรียกเป็น “สมุจเฉท” แยกส่วนกันอย่างเป็นสมุจเฉท คือสิ้นเชิง เห็นชัดเจนแล้วว่าเป็นคนละส่วนกัน ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่ใช่ของเรา ตรงนั้นแหละจิตก็จะเปลี่ยนจะต่างไป เราก็จะเห็นตามความเป็นจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่เข้าใจแต่ไม่แน่ใจว่าถูกหรือเปล่า อันนี้มันจะตัดความลังเลสงสัยในสภาวธรรมที่เกิดขึ้น

การส่งอารมณ์อยากให้เป็นแบบนี้ ในการปฏิบัติธรรมถ้าสงสัยเรื่องสภาวะขอให้ถาม เวลาส่งอารมณ์ก็ถามได้ หรือตอนเย็นเอามาถามสนทนาธรรมกัน เพื่อความเข้าใจในสภาวธรรมที่ชัดขึ้น จะได้กำหนดถูก อะไรที่เป็นสภาวะ อะไรที่เป็นความคิด ตรงนั้นจะช่วยได้เยอะในการปฏิบัติธรรม บางทีเราปฏิบัติธรรมแล้วเราพูดถึงความเข้าใจมากกว่าสภาวะที่เข้าถึง แล้วก็จะสับสนว่าถูกหรือผิด ถูกหรือผิด ถูกหรือผิด... อยู่เรื่อย ๆ เราก็จะไม่ชัดเจนในตัวเอง

แต่ถ้าเราพูดถึงสภาวะที่เราเห็น สภาพจิตใจที่กำลังเป็นอยู่ จิตเราที่เกิดขึ้น อาการพระไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นของกาย เวทนา จิต หรือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นก็ตาม สภาวธรรมมีไม่เยอะแต่ลึกซึ้งละเอียด สิ่งที่พิเศษก็คือ “สภาพจิต” ของเราเอง จิตใจของเราที่พัฒนาขึ้น สติสมาธิของเราแก่กล้าขึ้น การพิจารณาละเอียดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือเป็นการขัดเกลาจิตใจของเรา จะเห็นได้ชัดขึ้นว่าจิตใจเราเปลี่ยนไปอย่างไร อันนี้คือส่วนสำคัญ

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรม อาจารย์ถือว่าโยคีทุก ๆ คนที่นั่งอยู่ ณ สถานที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ตั้งใจ เป็นผู้มีเจตนาแน่วแน่ที่จะเข้ากรรมฐานปฏิบัติธรรม โดยหลักของการเข้ากรรมฐานจริง ๆ ตื่นเช้าขึ้น มา เดินจงกรม-นั่งสมาธิตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นสลับกันไป บัลลังก์ต่อบัลลังก์ เดินจงกรมนั่งสมาธิไป โดยที่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ต้องไปกังวล เป็นการพัฒนาตัวเอง เป็นการควบคุมตัวเอง เป็นการจัดการกับตัวเอง


ทีนี้ ในการจัดการในการปฏิบัติตรงนี้ ลองสังเกตอย่างหนึ่งว่า ในการปฏิบัติธรรมสิ่งที่จะเข้ามารบกวนจิตใจเรามากที่สุดคืออะไร ? สภาวธรรมที่เกิดขึ้นที่เราเรียกว่า “ฟุ้งซ่าน” ฟุ้งซ่านเรื่องอดีตเรื่องอนาคตแล้วแต่ แต่ส่วนมากแล้วนี่เป็นความคิด เราจะได้เห็นว่าความฟุ้งซ่านความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะอะไร - เพราะความอยากของเรา เพราะความกลัวของเรา เพราะความพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า... อารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าไม่ใช่แค่สิ่งที่ตาเห็น แต่อาจจะเป็นสิ่งที่กำลังคิดอยู่ ความคิดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้แหละมารบกวนจิตใจของเรา

ที่จริงแล้วตรงนี้จัดเป็นการดูจิตในจิต เราจะได้เห็นจิต จิตทำหน้าที่คิดโน่นคิดนี่คิดสารพัด ที่เรารู้ว่าจิตเราคิดอะไร อันนี้คือการดูจิตอย่างหนึ่งนะ ดูกายในกาย, รู้เวทนาในเวทนา-ตามรู้เวทนา, ตามรู้จิตในจิต คือ จิตที่คิดโน่นคิดนี่ คิดเรื่องสารพัดทั้งดีและไม่ดี แต่ก็คือความคิด เห็นไหม ส่วนมากนี่เราทนได้ยากเพราะเราไปแยกว่าความคิดนี้ฉันชอบ/ไม่ชอบ ชอบ/ไม่ชอบ... ที่ทนไม่ได้ไม่ใช่เพราะคิดมาก แต่เพราะชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ ทำให้ความคิดนั้นมาเป็นตัวบีบคั้นกดดันเราจนอดทนหรือทนสู้ไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าความคิดที่เกิดขึ้นมาเป็นสภาวธรรมที่ปรากฏทางจิตเรา หลักของวิปัสสนาก็คือ เราต้องเข้าไปกำหนดรู้ - ตามรู้จิต ดูจิตในจิต ดูว่าคิดอะไร อันนี้อย่างหนึ่งนะ การเข้าไปรู้ว่าคิดอะไรนี่ส่วนใหญ่ก็จะคิดยาว เพราะคิดจากเรื่องหนึ่งต่อไปอีกเรื่องหนึ่งไปเรื่อย ๆ คิดดี/ไม่ดี ชอบ/ไม่ชอบ ก็จะคิดปรุงแต่งต่อไป ที่เรียกว่า “ตัวสังขาร” แต่ตามหลักของวิปัสสนา การจัดการกับความคิดก็คือ ความคิด “เกิดอย่างไร ดับอย่างไร” ดี/ไม่ดีเรารู้อยู่แล้ว เพราะ “สัญญา” ทำหน้าที่ของเขา ตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้น

รู้ว่าความคิดไม่ดีเข้ามาแล้ว เราก็โมโหว่าทำไมเราต้องคิดไม่ดี โมโหก็คืออาหารของกิเลสนั่นเอง ยิ่งไม่พอใจกิเลสก็จะยิ่งเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น วิธีก็คือว่า ความคิดขึ้นมา... เกิดดับอย่างไร ? ในการกำหนดรู้ความคิดก็ใช้หลักการเดียวกันกับการกำหนดรู้เวทนา เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมา ลองสังเกตดูว่า จิตที่ทำหน้าที่รู้ความคิดกับความคิด เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วนกัน ? สิ่งที่ทำให้ความคิดยึดเกาะก็คือความเป็นเรา ไม่ใช่รูป! เวทนายังอาศัยรูปอยู่ การละรูปเป็นเรื่องยาก แต่การละตัวตนนั้นง่าย เพราะไม่มีอะไรให้เขาเกาะ เขาเป็นนามธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าเรากำหนดรู้ว่าความคิดที่เกิดขึ้นมาเขาเกิดดับอย่างไร และสังเกตว่า ความคิดที่เกิดขึ้นกับจิตที่ทำหน้าที่รู้เป็นคนละส่วนกัน ความคิดเขาจะลอยเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ลอยเข้ามาแล้วก็ผ่านไป... ที่ผ่านไม่ได้เพราะมีเราเป็นผู้รับอยู่เสมอ ตรงนี้เขาเรียกคิดอย่างมีตัวตน และที่เรารับนี่ก็กลายเป็นชอบไม่ชอบนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ถ้าเราดับความรู้สึกพอใจ/ไม่พอใจ หรือละความชอบ/ไม่ชอบ พอใจที่จะรู้ความคิดที่เกิดขึ้นว่าเขาเกิดดับอย่างไร - เรื่องนี้ขึ้นมา ดับแบบนี้... มีแล้วหมดไป มีแล้วหายไป... ตรงนี้ความคิดก็จะจบง่ายขึ้น แล้วจิตจะจัดระเบียบตัวเองได้ง่ายขึ้น

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาความคิด เขาเรียก “ดูจิตในจิต” นี่ ขอให้มีเจตนาที่จะรู้ว่าความคิดเกิดดับอย่างไร อันนี้อย่างหนึ่ง ตามหลักของวิปัสสนาพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์แล้ว ต้องพอใจที่จะรู้ว่าเขาเกิดดับอย่างไรเป็นหลัก - เกิดอย่างไร ดับอย่างไร เกิดแล้วหมดไป... เพราะนี่คือธรรมชาติของความคิด ธรรมชาติของขันธ์จริง ๆ ไม่มีอะไรตั้งอยู่นานเลย! สังเกตไหมว่า หนึ่งนาทีเราคิดกี่เรื่อง ? ห้านาทีเราคิดกี่เรื่อง ? เพราะฉะนั้น แสดงว่าเขาเปลี่ยนเร็วมาก เขาดับเร็วมาก อายุอารมณ์เขาตั้งไม่นาน ถ้าเราพอใจที่จะรู้ปุ๊บนี่ เดี๋ยวเขาก็ผ่านไป ผ่านไป... “ไม่มีผู้รับ มีแต่ผู้รู้”

ทีนี้ ต้องมี “เจตนา” ที่จะรู้ว่าเกิดแล้วดับ เพราะการมีเจตนาที่จะรู้ให้ทันการเกิด หรือเห็นการดับ สติจะมีกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเห็นชัดว่าความคิดแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมา เขาแยกส่วนกันชัดเจนจริง ๆ ว่าอันนี้มีช่องว่าง ขาดไป อันใหม่ขึ้นมา คือต้องมีเจตนาที่จะกำหนดรู้จริง ๆ ไม่ใช่แค่รู้แล้วผ่าน รู้แล้วผ่าน... ลองสังเกตดูว่า ถ้าคิดขึ้นมาแล้วรู้แล้วผ่าน เราไม่ใส่ใจ สภาพจิตเราเป็นอย่างไร ? ยังเหมือนเดิมไหม ? ยังเหมือนเดิม! แล้วทุกข์เหมือนเดิมอยู่! ถ้าถามว่าทำถูกหรือยัง อันนี้ก็ลองตอบตัวเองนะ

มีสติแล้วทำไมยังทุกข์อยู่ ? แสดงว่ามีสติ มีสมาธิ แต่ขาดปัญญา ก็ยังทุกข์อยู่! เพราะฉะนั้น สติ สมาธิ ปัญญาก็ต้องไปด้วยกัน การพิจารณาอาการพระไตรลักษณ์ของความคิดที่เกิดขึ้น เรียกว่า “ดูจิตในจิต” อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งการดูจิตในจิต นอกจากที่เรารู้ว่าคิดอะไร ความคิดเกิดดับอย่างไร ให้ดูว่าสภาพจิตใจเราตอนนั้นรู้สึกเป็นอย่างไร - รู้สึกสงบ รู้สึกสบาย รู้สึกมีความสุข รู้สึกผ่องใส รู้สึกขุ่นมัว รู้สึกอึดอัด ขัดเคือง แน่น หรือเป็นอย่างไร ? นั่นคือลักษณะของสภาพจิต หรือผลของการกำหนดรู้ความคิดที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าการที่จะละอกุศลหรือละความทุกข์ สิ่งที่จะปรากฏก็คือตัวสภาพจิตตรงนี้ว่าจิตเราเป็นอย่างไร เราจะเห็นว่าบางครั้งคิดเรื่องต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย แต่คิดได้อย่างสงบ ตัวที่สงบนั้นเรียกว่า “ตัวสภาพจิต” สภาพจิตใจเรา จิตที่มีสมาธิ ความคิดเกิดขึ้นได้แสดงว่าความคิดจึงเป็นธรรมชาติของขันธ์ ๆ หนึ่งแค่นั้นเอง คิดแล้วจิตใจเป็นอย่างไร - อันนี้ส่วนหนึ่ง และจะละเอียดขึ้นก็คือ ตัวจิตที่ไปรู้ว่าคิด รู้ว่าสุข รู้ว่าทุกข์ ตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้เอง เขาเรียกว่า “วิญญาณรู้” หรือ “ตัววิญญาณขันธ์” ตรงนี้ เขามีอาการรู้แล้วดับไป เกิดใหม่ รู้แล้วดับไปด้วยหรือเปล่า - อันนี้เพิ่มละเอียดขึ้นมา

การดูจิตในจิตจึงต้องใส่ใจอย่างดี เพราะเป็นสภาวธรรมที่ลึกซึ้งที่แยบคาย ที่เรามักบอกว่ากิเลสเกิดขึ้นมาตอนไหนไม่รู้ เพราะเราไปสนใจแค่รูปข้างนอก ถ้าเราไม่ได้ดูสภาพจิตของเราว่าขณะนั้นเป็นอย่างไร กิเลสมาตอนไหน สติเราก็จะรู้ไม่ทัน! เพราะฉะนั้น เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอใจ/ไม่พอใจเกิดขึ้น เฉย ๆ เกิดขึ้นมานี่ ตอนนั้นเรามีเจตนาไหม ? หรือเป็นไปโดยที่ไม่มีเจตนารับรู้เลย ? รู้แต่ว่าบังเอิญขณะนั้นสภาพจิตใจสงบก็เลยไม่กระทบเท่าไหร่ ถ้าเกิดบังเอิญขณะนั้นจิตใจไม่สงบก็กระทบอย่างจังเหมือนกัน แล้วเราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา หรือมีกิเลสปรากฏขึ้นมา

เพราะฉะนั้น การมีสติกำหนดรู้สภาพจิตตนเอง การดูจิตในจิต จะช่วยให้เราประคองจิตได้ดี แล้วการที่จะทำให้จิตสงบเป็นอย่างไร ? การจะทำให้จิตตื่นตัวเป็นอย่างไร ? เวลาเรามีความขุ่นมัว หรือว่าเป็นตัวถีนมิทธะ มีความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นมานี่ เราจะทำอย่างไร ? นี่คือการดูจิตในจิต เพราะฉะนั้น หลักของวิปัสสนา – รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม อันนี้คืออารมณ์หลักใหญ่ ๆ ที่เขาจะเวียนสลับกันมา เพราะว่าในบัลลังก์เดียว ไม่ใช่ว่าเกิดแค่อาการของรูป มีทั้งเวทนา ทั้งจิต สลับกันมา

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะไหนปรากฏขึ้นมาเขาก็เป็นอารมณ์ปัจจุบัน ถ้าเขาเด่นชัดขึ้นมานั่นคืออารมณ์ปัจจุบัน หน้าที่ของโยคีคือ มีสติเข้าไปกำหนดรู้ว่าเขาเกิดดับอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร... งานเราก็เหลือแค่นี้ในการปฏิบัติธรรม “รู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือกาย เวทนา จิต ธรรม อาการเหล่านี้ปรากฏเป็นเรื่องปกติชีวิตประจำวันของเรา อันนี้พูดถึงในลักษณะที่เราอยู่ในอิริยาบถนั่ง

อิริยาบถเดิน จริง ๆ แล้วไม่ต่างกันหรอก อาการเหล่านี้ก็ปรากฏ กาย เวทนา จิต และธรรมเหมือนกัน การเคลื่อนไหวของกายก็คืออาการของกาย กระทบมีเวทนา - เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง หนัก เบา ปวด เมื่อย ชา คัน เกิดขึ้นมาตามร่างกาย เกิดได้ไหม ? เกิดได้ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าอารมณ์ปัจจุบันขณะนั้นเป็นอะไร ขอให้มีสติรู้ชัดว่าถ้าเรากำหนดอาการเดิน อารมณ์อะไรอาการลักษณะไหนที่ปรากฏชัด ก็ให้กำหนดไป

ถ้าโยคียกจิตขึ้นสู่ความว่างได้ ทำจิตให้ว่าง ๆ ไม่มีตัวตน แล้วก็เดินเข้าไปในความว่าง เดินอยู่ในความว่าง สังเกตแค่อาการเคลื่อนไหวของการเคลื่อนไป ไม่ต้องไปดูรูปร่างของเท้าก็ได้นะ ไม่ต้องกลัวเท้าหายหรอก ยังไงก็อยู่! แต่จะหายจากความรู้สึกเรา คือว่าง ๆ ไป เหลือแค่อาการ สังเกตอาการเคลื่อน - กระทบแล้วดับอย่างไร กระทบแล้วดับอย่างไร... อันนี้ให้พิจารณาตามจังหวะที่เราเคยเดินจงกรมอยู่ แต่ถ้าไม่แน่ใจเดี๋ยวส่งอารมณ์ก็ถามได้ แล้วก็จะมาทำความเข้าใจกันในจุดที่ต้องสังเกตรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่าต้องทำอย่างไร อันนี้คือหาอารมณ์หลัก ๆ ในจุดที่เราต้องกำหนดรู้

ทีนี้โดยปกติแล้วนี่ ถ้าปฏิบัติเราก็จะส่งอารมณ์ ถ้าส่งอารมณ์ทุกวันได้ก็ดี! การส่งอารมณ์ - การเล่าสภาวะไม่จำเป็นต้องเล่าส่วนที่ดีที่สุดนะ ไม่จำเป็นว่า อูว..ปฏิบัติให้ดีที่สุดแล้วค่อยมาเล่า เผื่ออาจารย์จะได้ชม อันนี้ไม่ต้องนะ! มีปัญหาก็เล่าได้ ปฏิบัติไม่ได้ กำหนดไม่ได้ อันนั้นมาเล่าได้ เพื่อแก้สภาวะไป เราจะทำความเข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้นด้วยกัน ว่าถ้าเจอสภาวะแบบนี้แก้อย่างไร และจะให้ปฏิบัติเดี๋ยวนั้น ทำเดี๋ยวนั้น ถ้าเข้าใจ เห็นแล้ว ก็ปฏิบัติต่อ ผลเป็นอย่างไรก็ว่ากันไปตามแต่ละขณะ แต่ละบัลลังก์ แต่ละสภาวะไป

เพราะรายละเอียดของธรรมะยังมีอีกเยอะ เทคนิคหรือวิธีการกำหนดสภาวธรรมในแต่ละช่วง ในแต่ละขณะนั้น จะมีความแตกต่างกัน เขาเรียก “สภาวญาณที่เปลี่ยนไป” การเข้าไปกำหนดรู้อาจจะมีความแตกต่างกันในบางขณะที่เราต้องทำ บางอย่างที่ต้องเพิ่ม - เพิ่มสมาธิอย่างไร เพิ่มสติอย่างไร อันนี้อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมคอร์สนี้ ก็อยากให้เราเอาจริง ๆ นะ เดินทางจริง ๆ ตั้งใจจริง! จะเดินไปไหน - ขอให้ไปนิพพาน! นิพพานัสสะ เม ภันเต เผื่อจะใกล้นิพพานเข้าไปอีกก้าวหนึ่ง พัฒนาจิตเราให้ดี สติเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ทีนี้ อิริยาบถย่อย เพราะอิริยาบถนอนโยคีถนัด คือถนัดนอนนะ กำหนดถนัดด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ!? อิริยาบถย่อยนี่เป็นส่วนสำคัญมาก ๆ นะ อิริยาบถย่อย – การจะหยิบ จะจับ เคลื่อนไหว การจะกระพริบตา อ้าปาก หันซ้ายหันขวานี่ แค่นิดหนึ่ง นิดหนึ่ง เราก็ต้องมีสติกำหนดรู้! เราสังเกตอาการของอิริยาบถย่อย เวลาจะเคลื่อนเขาดับอย่างไร เคลื่อนแล้วเขาเกิด-ดับอย่างไร อย่างเช่น เราหันหน้า ขณะที่เราหันนี่ มันเป็นเส้นไป หรือขาด ดับเป็นขณะ ๆ ๆ ๆ ไป นี่คืออาการเกิดดับของการเคลื่อนไหวเป็นขณะ หยุด ๆ ๆ ๆ แล้วก็ดับไป...


แม้แต่เราหันหน้ายังเห็นอาการเกิดดับได้ ฉะนั้น กระพริบตาก็เหมือนกัน เราสังเกต เรามีเจตนา มีสติรู้ชัดกับอารมณ์ปัจจุบัน สภาวธรรมก็จะปรากฏชัด แต่จะให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการกำกับให้มีเจตนาที่ชัดเจน เขาเรียกว่า “รู้ต้นจิต” รู้ก่อนทำ! ก่อนที่จะขยับ ให้มีสติก่อนนิดหนึ่ง แล้วก็เคลื่อนไป... คำว่า “มีต้นจิต” ก็ไม่จำเป็นต้องช้าเสมอไป อาจจะเร็วก็ได้ช้าก็ได้ ขออย่างเดียว-เน้นว่าขออย่างเดียว คือให้มีสติรู้ชัดและรู้ทัน ถ้าไม่ทัน-ถอยกลับมาให้ช้าลง ถ้าทันแล้วเร็วแค่ไหนก็ได้ อันนี้เอากำลังของสติเราเป็นที่ตั้ง ถ้าเราทันนี่ ช้าได้ เร็วได้ นี่คือการกำหนดสภาวธรรม

เพราะฉะนั้น นอนก็ต้องพูดนะ ไม่พูดก็ไม่ครบอิริยาบถทั้งสี่อีกนะ ส่วนใหญ่แล้วทำไมเขานอนตะแคง ? จริง ๆ แล้วนอนพร้อมที่จะลุก พอเมื่อยก็ลุกปฏิบัติ มีสติกำหนดรู้ เพราะว่าคนเรานี่นอนท่าเดียว ยากนะ! ปกติก็นอนตะแคงซ้ายบ้างขวาบ้าง เพื่อที่จะได้นอนสบายมากขึ้นให้ตลอดทั้งคืน ถ้านอนท่าเดียว จะขยับปั๊บ รู้สึกตัว ก็ต้องตื่นขึ้นมาปฏิบัติ... ก็ขอให้กำหนดเอง ประมาณว่าเราจะนอนกี่ชั่วโมง แต่ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ต้องนอนน้อยนะ - บัณฑิตนอนสี่ เศรษฐีนอนหก ยาจกนอนแปด ถ้านอนมากกว่านั้นก็แย่เลย!

เราเป็นนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญปัญญา ลองดูว่า เราจะนอนมากนอนน้อยอย่างไร ? กำหนดรู้สภาวธรรมให้มากขึ้น ตั้งนาฬิกาให้กับตนเอง - นาฬิกาใจก็ได้ นาฬิกาปลุกก็ได้ ตั้งไว้ในใจเรา จะตื่นเวลานั้น จะเดินจงกรม แล้วก็จะปฏิบัติไป... ทีนี้ว่า ในการปฏิบัติแต่ละบัลลังก์จะนานแค่ไหน ? ดูแล้วที่นั่งอยู่นี่ ชั่วโมงหนึ่งเรื่องเล็กเลยนะ... เอาเป็นว่าไม่ต้องเยอะ สบาย ๆ บัลลังก์สลับกันครั้งละชั่วโมงหรือ ๔๕ นาที พิจารณาตามความเหมาะสม - ธรรมะเกินแล้วหลับก็ไม่ดี น้อยเกินฟุ้งซ่านก็ไม่ดี

ทีนี้ การเล่าสภาวะ อาจารย์จะใช้วิธีสอบอารมณ์ เน้นดูว่าโยคีมีสภาวะอะไร มีปัญหาตรงไหน - ถ้าใครรู้สึกคิดมาก มาเล่า แล้วก็ลองปฏิบัติดูว่าแก้ปัญหาความคิดมากได้ไหม กลัวมาก ๆ ก็จะได้รู้ว่ากลัวอะไรบ้าง แก้ได้ไหม... ยิ่งเรามาอยู่กับธรรมชาติ จริง ๆ แล้วบรรยากาศดีมากเลย แต่ก็ต้องเข้าใจธรรมชาตินะ ธรรมชาติตรงนี้มีแมงมีมดมีอะไรเข้ามาเป็นเรื่องปกติเลย อันนี้เราก็กั้นธรรมชาติข้างนอกไม่ให้เข้ามา ไม่มีมดไม่มีแมงเท่าไหร่ ก็ดีไป ไม่ต้องกลัว! เราจะได้เจริญสติ ฝึกขันติ... ขันแล้วไม่ใช่มานั่งติโน่นตินี่ นั่นไม่ใช่ขันติแล้ว นั่นเหลือแต่ติอย่างเดียว! ขันให้แน่น ๆ อดกลั้น นี่คือสติกำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน

อย่าลืมว่า เรามาพิจารณากำหนดรู้อาการพระไตรลักษณ์ พัฒนาปัญญาของเรา เพื่อรู้สัจธรรมความเป็นจริง ไม่มีเราไม่มีเขา มาเพื่อละความเป็นเราเป็นเขา มาเพื่อปล่อยวาง ปล่อยวางเราจากการเข้าไปมีประธาน เพื่อความอิสระของจิตเรา ปล่อยวางรูปนาม ปล่อยวางความคิด ปล่อยวางอกุศล ปล่อยวางความเป็นตัวตน ปล่อยวางกิเลส ละออกไป ให้จิตเราได้เกิดความอิสระ แต่บางครั้งความอิสระก็ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้น ความอิสระต้องใช้สติ สมาธิ ปัญญา พิจารณาเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง จะทำให้เราคลายอุปาทานได้อย่างเป็นสมุจเฉทหรืออย่างเด็ดขาด เป็นลำดับไป

เพราะฉะนั้น คิดว่าโยคีรู้แนวทางในการปฏิบัติแล้ว วันนี้การแสดงธรรมมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอหยุดไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่โยคีทุก ๆ คน เจริญพร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2020, 10:39 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




ปฏิทินสำนัก 2561_๑๗๑๒๑๙_0003.jpg
ปฏิทินสำนัก 2561_๑๗๑๒๑๙_0003.jpg [ 60.69 KiB | เปิดดู 4383 ครั้ง ]
สภาพจิต บรรยายธรรม ณ สำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต จ.ตรัง
วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘


คำว่า “สภาพจิต” กับ “ตัวจิต” “สภาพจิต” คือ ผลของการปฏิบัติของเราที่เกิดขึ้นมา ก็คือสภาพจิตใจนั่นเอง พูดง่าย ๆ คือสภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร สมมติ สภาพจิตใจเรารู้สึกสบาย รู้สึกเบา อันนั้นลักษณะของสภาพจิต แต่ตัวจิตตัวหนึ่งก็คือ “ตัวจิต” ที่ทำหน้าที่รู้ว่าเบาว่าสบาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ “ตัวความรู้สึก” ที่ทำหน้าที่รู้ว่าเบาสบาย เรารู้สึกเบาสบาย รู้สึกมีความสุข รู้สึกมั่นคง ทำไมใช้คำเดียวกัน ? ตรงที่รู้สึกสงบก็คือความรู้สึกก็คือตัวจิตนั่นเอง ลักษณะของจิตอย่างหนึ่ง แต่เป็นลักษณะของสภาพจิตที่บอกว่าผลที่เกิดขึ้นมา แต่ตัวจิตที่รู้ถึงความรู้สึกสงบ รู้สึกสบาย สังเกตไหม เขาเป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วน ?

ทีนี้ คำว่า “บรรยากาศ” กับ “สภาพจิต” จริง ๆ แล้วตัวบรรยากาศก็ต้องเป็นบรรยากาศของสภาพจิตเรา สมมติเรารู้สึกสงบ แล้วความสงบนั้นกว้างออกไปก็กลายเป็นบรรยากาศ ก็เลยเป็นบรรยากาศของสภาพจิต อันนี้มีบรรยากาศของความรู้สึกที่สงบหรือนั่นคือจิตที่สงบรองรับอยู่ แต่ตัวความรู้สึกหรือตัวจิตอีกตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่รู้ว่าสงบ ตัวรู้ถึงบรรยากาศนั้นเป็นตัวจิตหรือตัวรู้ ตัวรู้ที่ทำหน้าที่รู้ว่าสงบแล้วก็กว้าง เพราะตัวรู้ตัวนี้บางทีก็จะไม่กว้าง เขาเป็นแค่ตัวรู้อยู่ รู้เป็นขณะ รู้เป็นขณะ

เพราะฉะนั้น เวลาเรารู้แต่ละขณะ รู้แล้วเขาดับปุ๊บรู้สึกสงบขึ้น รู้ดับแล้วใสขึ้น เบาขึ้น โล่งขึ้น ลักษณะสภาพจิตเราโล่งมากขึ้น แต่ตัวรู้เขาทำหน้าที่รู้แล้วดับไป นั่นคือผลที่ตามมา เพราะสภาพจิตที่โล่งขึ้น กว้างขึ้น นั่นคือสภาพจิตใจของเรา เปลี่ยนไปตรงที่มันโล่งขึ้น เบาขึ้น หรือสงบขึ้น อันนี้จะตั้งอยู่ได้นาน ซึ่งเป็นขณะใหญ่ที่จิตเราจะเปลี่ยนไปเลย เปลี่ยนจากเมื่อก่อน จากก่อนหน้าโน้นที่เคยรู้สึกว่าความสงบตั้งอยู่ไม่นานหรือเฉพาะตัว แต่พอกลายเป็นบรรยากาศเมื่อไหร่ สิ่งที่กำลังเป็นอยู่นี้เขาจะตั้งอยู่นานขึ้น

เพราะฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติแล้ว โดยรวมเรารู้สึกว่าจิตใจเรารู้สึกสงบขึ้น ก็คือตัวสภาพจิต ไม่ใช่แค่ตัวรู้สงบขึ้น ตัวรู้เขาคล่องแคล่วขึ้นเร็วขึ้น แต่สภาพจิตเรารู้สึกสงบขึ้น ตัวลักษณะของสภาพจิตตรงนี้ ทีนี้ เมื่อสภาพจิตสงบหรือสภาพจิตเรามีความสุข ตรงนี้เราแยกนามกับนาม เราจึงเห็นชัด เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพจิตเราสงบแต่ตัวรู้ไม่สงบ ไม่มีรสชาติของความสงบด้วย แค่เป็นตัวรู้แบบแห้ง ๆ เฉย ๆ นิ่ง ๆ แล้วรู้ในความสงบอย่างเดียว ถ้าตัวนี้หมดไปปุ๊บ หรือถ้าเราไม่ได้ดูบรรยากาศที่รองรับ มาดูสภาพจิตเรา ความสงบนั้นจะหายไป เหลือแต่แค่รู้นิ่ง ๆ นิ่ง ๆ เฉย ๆ

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้ แล้วตัวรู้มีรสชาติแบบเดียวกันกับบรรยากาศ ลองสังเกตดูนะ ขณะที่เรายกจิตขึ้นสู่ความสุขแล้ว ทำให้สภาพจิตเรารู้สึกมีความสุข เติมความสุขให้เต็มตัว แล้วตัวรู้เป็นเพียงผู้ดูเฉย ๆ รู้สึกเป็นอย่างไร ? กับที่ให้ตัวรู้มีความสุขด้วย ลองดูว่า การรับรู้อารมณ์ตรงนั้นรู้สึกเป็นอย่างไร ? อันไหนสบายกว่ากัน ? อันไหนมีกำลังมากกว่ากัน ? ขณะที่ตัวรู้มีความสุขด้วย ความรู้สึกเรา จิตเราจะมีกำลังขึ้น ความสุขจะชัดขึ้น แล้วตั้งอยู่ได้นานขึ้น

แล้วถ้าตัวรู้นี้มีความสุขนะ จะมีลักษณะเวลาเราเห็นอะไรก็ตามความสุขก็จะมาถึงนี่ด้วย แต่ถ้ามีแค่บรรยากาศของความสุขแล้วตัวรู้ไม่สุขด้วย เป็นเพียงผู้ดูความสุข เวลาเรามองสิ่งนี้เป็นอย่างไร ? ความสุขไม่มา อยู่แค่ข้างใน หรือน้อย มันอยู่คนละส่วนกัน เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพจิตตรงนี้แหละ ตัวสำคัญว่าที่เราปฏิบัติแล้วสภาพจิตเราเปลี่ยนไปอย่างไร ดีอย่างไร อาการเกิดดับ... ตัวจิตนี่ทำหน้าที่รู้ แล้วที่เราให้อารมณ์ต่าง ๆ เกิดอยู่ในบรรยากาศ อันนี้ยกตัวอย่างเป็นเพียงความสุข

ถ้าเป็นความสงบ ลองดูนะ ในการรับรู้อารมณ์ บรรยากาศรอบตัวเราสงบ แล้วให้ตัวรู้นี้สงบด้วย ให้ตัวรู้หรือจิตที่ทำหน้าที่รู้ “กว้างกว่า” ภาพที่เห็น แล้วลองดูว่า เวลาเราเห็นให้ความสงบเข้าไปถึงภาพที่เห็น รู้สึกเป็นอย่างไร ? (มีโยคีกราบเรียนว่า รู้สึกสงบ) คนที่เห็นต่างจากความสงบ นอกจากสงบแล้วมีอะไร ? ตรงที่สงบนี่ ความรู้สึกเราสงบหรือภาพที่เห็นสงบ ? แล้วภาพที่เห็นรู้สึกเป็นอย่างไร ? (โยคีคนหนึ่งกราบเรียนว่า ว่างเปล่า) เออ! เห็นไหม เริ่มต่างกันแล้วนะ... นอกจากว่างเปล่าแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร ? (โยคีอีกคนหนึ่งกราบเรียนว่า นิ่ง) เออ! ภาพที่เห็นกลับนิ่ง... สงบก็ถูก นิ่งก็ถูก ว่างเปล่าก็ถูก

ที่ว่างเปล่านี่สังเกตดูนะ ถ้าให้เห็นภาพเลย ที่ว่างเปล่านี่ภาพนี้หายไป หรือความรู้สึกเราว่างเปล่า ? (โยคีกราบเรียนว่า ความรู้สึกว่างเปล่า) เพราะ ? นี่คำถามต่อไปแล้วนะ นี่คือการพิจารณาสภาวะ (โยคีกราบเรียนว่า ความสงบอยู่ที่ใจ) ให้ความสงบมาตรงนี้ด้วย ลองดู ภาพที่เห็น มิติของภาพเป็นอย่างไร ? (โยคีกราบเรียนว่า ไม่เห็นเป็นกล่อง) ไม่เห็นเป็นกล่องแล้วเห็นเป็นอะไร ? ไม่บอกว่าเป็นกล่อง แต่ “เห็น” ไหม ? (โยคีกราบเรียนว่า เห็น) แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นกล่อง แต่โดยสมมติเรารู้ว่ามันเป็น อันนั้นคือเราบอกได้ว่าเป็นรูปทรง ก็คือเราสมมติเรียกตามบัญญัติอยู่ว่ารูปนี้เป็นรูปทรงอยู่

แต่รูปทรงอันนี้มีกี่มิติ ขณะที่ใช้ความสงบรับรู้ ? (โยคีกราบเรียนว่า ๒ มิติ) ขณะที่ ๒ มิติ ลองดูว่า เขามีรสชาติไหม ? (โยคีกราบเรียนว่า ไม่มี) เหมือนภาพถ่ายภาพหนึ่ง แล้วลองดูว่า ถ้าเราเอาความรู้สึกอันนี้ไปมองคน มองแต่ละคนนี่เป็นแค่ภาพถ่ายติดไว้อยู่บนผนัง ผนัง ผนัง... รสชาติก็จะหายไป สังเกต เรามองคนเป็นแค่ภาพถ่าย จริง ๆ นิมิตที่เกิดขึ้นกับใจเราก็เหมือนภาพถ่ายสะท้อนเข้าไปในความรู้สึกของเรา เพียงแต่ว่าเพราะมีวิญญาณเข้าไปครองมันจึงมีชีวิตขึ้นมา แล้วส่วนใหญ่เราไม่ได้มองภาพเป็นภาพ มองภาพเป็นสิ่งที่มีรสชาติ เป็นมิติ หรือมีชีวิตขึ้นมา

แต่ถ้าจิตเราสงบจริง ๆ เราจะเห็นเป็นแค่มิติหนึ่ง เป็นภาพ ๆ หนึ่งปรากฏขึ้นมา เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราเห็นเป็นภาพแบบนี้ รู้สึกเป็นอย่างไร ? มีผลต่อสภาพจิตเราอย่างไร ? (โยคีกราบเรียนว่า ไม่มี) การปรุงแต่ง กิเลสเกิดได้ไหม ? สังเกต ทำไมเราเห็นแบบนี้ได้ ? นี่แหละคือการพิจารณาอย่างหนึ่ง ใช้จิตที่สงบทำหน้าที่รับรู้ แต่ถ้าเห็นแบบนี้บ่อย ๆ ลองดูว่าจิตเราจะเป็นอย่างไร ? เดี๋ยวแห้งแล้งนะ เห็นอะไรก็เฉยเมย... ไม่จำเป็น! “อุเบกขา” กับ “เฉยเมย” นี่ต่างกันนะ

ลองสังเกตดูนะ ภาษาที่เราใช้ ถ้าเราใช้แล้วจิตเรานิ่ง สงบ เป็นอุเบกขาวางเฉยที่กว้าง ก็จะมีพลัง ความวางเฉยอุเบกขาที่กว้าง จะสบาย ไม่วุ่นวาย แล้วก็ไม่ใช่ดิ่งอยู่กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่รับรู้ทุกอย่าง คือความรู้สึกอุเบกขาที่กว้าง กว้างอย่างไม่มีตัวตน สงบอย่างไม่มีตัวตน ลองดูสิ ลองให้ความรู้สึกที่สงบของเราให้กว้างเท่ากับศาลานี้ รู้สึกเป็นอย่างไร ? เฉยแบบอยู่แค่นี้กับเฉยแล้วกว้างเท่าศาลา ? ความรู้สึกที่เฉย เฉยแล้วอยู่แค่นี้กับเฉยแล้วกว้างออกไป รู้สึกเป็นอย่างไร ?

“อิสระ” ใช่ไหม ? รู้สึกสบาย อิสระ... แล้วฝั่งนี้รู้สึกเป็นอย่างไร ? (โยคีกราบเรียนว่า ถ้าเฉพาะจุดก็จะรู้สึกแน่น ๆ) พอกว้างออกรู้สึก ? (โยคีกราบเรียนว่า โล่ง ๆ) สบายขึ้น เห็นไหม ? ไม่จำเป็นต้องเฉยแล้วแคบ “โล่งแล้วอิสระ” เพราะฉะนั้น เลือกเอาว่าจะใช้แบบไหน อันนี้คือเปรียบเทียบให้ดูว่าการที่เราจะวางเฉยกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ผิด! การที่เรารู้จักใช้อุเบกขากับชีวิตของเรา ไม่ผิด! และเป็นเรื่องที่ควรทำด้วยในบางเรื่องบางโอกาส เพียงแต่ว่าอุเบกขาแบบไหนแล้วไม่เบียดเบียนตัวเอง

อุเบกขาก็เบียดเบียนตัวเองได้นะ อุเบกขาเพราะมีตัวตนหรือแคบ ก็จะเป็นการทำให้ตัวเองรู้สึกไม่สบาย ไม่มีอิสระ รู้สึกหนัก ๆ ไม่คล่องตัว อันนั้นรู้สึกไม่ดี เพราะฉะนั้น วิธีก็คือให้กว้าง อุเบกขาแบบจิตของพรหม พรหมอยู่บนสวรรค์ เมตตาไม่มีขอบเขต อุเบกขาก็ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ... อยู่ในบรรยากาศนั้น แล้วลองดูว่ารู้สึกอย่างไร ? วางเฉยเสียบ้าง เฉย ๆ นั่งเฉย ๆ นั่งเฉย ๆ ไม่ทำอะไรหรือนั่งเฉย ๆ แล้วทำงาน ? เอาแบบไหนดี ? นั่งเฉย ๆ แบบไม่ทำอะไร นั่งพัก นั่งปล่อย... ปล่อยอะไร ? ปล่อยความรู้สึกให้มันเฉย ๆ หรือปล่อยสติให้ล่องลอยไป หรือปล่อยใจให้เคลิบเคลิ้มกับอารมณ์ ?

ถ้าปล่อยให้เคลิบเคลิ้ม ไม่นั่งเฉยแล้วนะ นั่งเพลิดเพลินเสวยอารมณ์ไปเรื่อย ๆ แล้ว กับนั่งแล้วรู้สึกสงบ อิสระ สบาย แล้วก็ดูจิตที่สบายตรงนั้นแหละ จิตที่อุเบกขานี่ไม่ใช่ปฏิเสธอารมณ์ เรารู้สึกสงบ สังเกตนะ อุเบกขากว้าง จิตที่กว้างนี่ ลองดูว่าเขาปฏิเสธอารมณ์อะไรหรือเปล่า ? เห็นไหม เขาไม่ปฏิเสธอารมณ์ ถึงแม้ไม่ปฏิเสธอารมณ์ อารมณ์เหล่านั้นก็ไม่กระทบใจ แปลกไหม!? ไม่ปฏิเสธอารมณ์แต่อารมณ์เหล่านั้นกลับปรากฏอยู่ในที่ว่าง ๆ ไม่ธรรมดานะ ใช้ได้! ที่รู้แล้วก็เอาไปใช้บ่อย ๆ ใช้เยอะ ๆ นี่คือตัวสภาพจิต

ทีนี้ว่า เวลาเราปฏิบัติ สภาพจิตที่เปลี่ยนไปนี่ สังเกตดู สภาพจิตเราต่างจากเดิมอย่างไร ? จากที่สภาพจิตโดยรวมของเรารู้สึกว่าว่างก็จริง มันยังรู้สึกหนัก ๆ บ้าง ตอนนี้ว่างแล้วเบากว่าเดิม หรือว่างเหมือนเดิมแต่สงบมากกว่าเดิม สงบแต่เบากว่าเดิม มั่นคงกว่าเดิมแต่เบากว่าเดิม... เห็นไหม เราก็รู้ได้สภาพจิตเราเปลี่ยนอย่างไร อายุอารมณ์เปลี่ยนไป เมื่อกี้การที่ให้ความรู้สึกเรากว้างนี่ อุเบกขากว้าง นั่นเป็นชั่วขณะที่เราพิจารณาหรือเรากำหนดเท่านั้น แต่ถ้าเราทำได้บ่อย ๆ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ถ้าจะเอามาใช้บ่อย ๆ ตรงนี้เราต้องมี “เจตนา” ที่จะใช้

ถ้าไม่มีเจตนา เดี๋ยวเราก็กลับมาที่ความเคยชิน เขาเรียกกลับมาที่ตัวตนจริง ๆ ของเรา ตรงไหนที่เป็นตัวตนจริง ๆ ของเรา ? ทั้ง ๆ ที่เราไม่มีตัวตน แล้วทำไมถึงเรียกว่าเป็นตัวตนจริง ๆ ของเรา ? ตามจริตของเรา อุปนิสัยของเรา แต่ไม่ต้องอาศัยกิเลสนะ สังเกตไหม “ความเป็นเรา” อาจารย์ก็เป็นอาจารย์แบบนี้แหละ จะให้อาจารย์แบบคนนั้นก็ไม่ได้ เป็นแบบคนนี้ก็ยาก แต่ถ้าใครเก่งก็เอาของคนนั้นบ้างคนนี้บ้างมารวมกัน มามิกซ์กัน แล้วก็เป็นตัวเอง ใช่ไหม ?

จริง ๆ การที่เราเลือกสิ่งดี ๆ แล้วเอาสิ่งดี ๆ มาใช้ประโยชน์ อันนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่แกล้งเป็น คือเป็นตัวเรา แต่รู้จักเลือกสิ่งที่ดี ๆ เข้ามาหาตัว ให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง ตรงนี้ก็คือตัวปัญญา ไม่ใช่ว่าคนนั้นดี ก็เรื่องของเขา ไม่สนใจ ไม่เกี่ยวกับเรา เราก็เป็นของเราอย่างนี้... ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็พัฒนายาก! บางอย่างที่พัฒนาได้ยาก ไม่ใช่แค่ตัวการกระทำของเรา ถ้าเราไม่ยินดีที่จะพัฒนาหรือจะแก้ไข เราก็อาศัยตามความเคยชินของเรา ถึงแม้จิตจะดีขึ้น สภาพจิตจะผ่องใสขึ้น สงบขึ้นแล้วก็ตาม แต่ “คำพูด” ถ้าเราไม่มีเจตนาที่จะขัดเกลาหรือจะแก้ไข เราก็ใช้คำเดิมนั่นแหละ...

เราเคยพูดยังไงเราก็มักจะใช้คำแบบนั้น ภาษาเราเป็นอย่างไรเราก็ใช้ภาษานั้นแหละ แต่ถ้าเรารู้จักพิจารณาแล้วปรับปรุง ตรงนี้เราพัฒนาได้! เราเรียนภาษาตั้งหลายภาษานะ ภาษาไทย ภาษาฝรั่ง ภาษาจีน เราก็เรียนกันหมดเพื่อที่จะใช้ให้เหมาะกับเวลา แต่ “ภาษาพูด” ของเรา คำพูด ภาษาที่เราใช้ ใช้ภาษาแบบไหนที่เรารู้สึกว่าดี ไพเราะ ฟังแล้วเขาเรียก “สัมมาวาจา” เป็นสัมมาวาจา ปิสุณาวาจา ไม่ใช่ผรุสวาจา คำพูดที่ไพเราะที่อ่อนหวาน ฟังแล้วคนฟังสบายใจ บางครั้งอาจจะไม่ต้องสำเนียงหวาน ๆ ก็ได้ แต่พูดดี ๆ ก็เป็นการพูดที่ไพเราะ น่าฟัง ตรงนี้เราพัฒนาได้ เราปรับเปลี่ยนได้

ก็เหมือนกับมารยาทของเรานั่นแหละ จิตเราผ่องใสสงบ แต่ตรงนี้เราต้องศึกษาต้องพัฒนาต่อว่าเราจะแก้ไขอย่างไร ปรับปรุงได้ อันนี้พัฒนากันได้ พอเราพัฒนาแบบนี้ เราเจตนาที่จะแก้อุปนิสัยของเรา เขาก็จะพัฒนาก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ ถามว่า อุปนิสัยที่ติดตัวเรามานี่เกิดจากอะไร ? เกิดจากสิ่งที่เราทำบ่อย ๆ เมื่อชาติที่แล้ว สิ่งที่เราทำซ้ำเมื่อชาติก่อนนั่นแหละติดตัวมาถึงชาตินี้ กลายเป็นอุปนิสัยไป แล้วเราก็มาบอกชาตินี้เราเปลี่ยนไม่ได้หรอก มันเป็นอุปนิสัยเก่าเรา... ข้ออ้างนะ! แล้วชาติที่แล้วสั่งสมมาได้อย่างไรจนชาตินี้เป็นแบบนี้ ? ไม่งั้นคนเราก็พัฒนาไม่ได้ พัฒนาจิตแล้วก็ต้องพัฒนากาย

ที่บอกว่าจิตเรานี่มีความผ่องใส มีความสะอาด มีความสงบ มีความนิ่มนวลอ่อนโยน แล้วสังเกตได้ง่ายที่สุด เวลาจิตเรามีความเป็นกุศล หรือมีความนิ่มนวลอ่อนโยน มีความสุข ลองดูสิ กิริยาของเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? จะหยิบจะจับจะทำอะไรก็นิ่มนวลอ่อนโยน รู้สึกเรียบร้อยเป็นระเบียบไปหมด แต่พอสภาพจิตเปลี่ยนปั๊บก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย จากนิ่มนวลอ่อนโยนเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม ทำอะไรก็ก๊งเก๊ง ๆ แม้แต่เดิน ขนาดพื้นเราใช้คอนกรีตใช้กระเบื้องเสียงยังดังเลย เดินแล้วคนนั่งสมาธิสะเทือนเลยแหละ ยังไม่ต้องพูดถึงพื้นไม้

เพราะฉะนั้น การที่เรารักษาสภาพจิตหรือดูสภาพจิตของเราบ่อย ๆ ตรงนี้ เมื่อไหร่ที่รู้สึกแห้งแล้ง เราก็ยกจิต คนที่ได้รับประโยชน์ก่อนเพื่อนคือตัวเรา จำง่าย ๆ เมื่อไหร่ที่เรายกจิตขึ้นสู่ความสุข ยกจิตขึ้นสู่ความสงบ ยกจิตขึ้นสู่ความสบาย คนที่ได้รับอานิสงส์ก่อนเพื่อนคือตัวเรา คนอื่นอยู่ข้างนอกก็ได้รับทีหลัง เพราะฉะนั้น การที่ทำอย่างนี้เหมือนเราเมตตาตัวเอง ให้พรกับตัวเอง ให้สิ่งดี ๆ กับตัวเอง ทำจิตที่ดีของตัวเองให้เกิดขึ้นกับเราบ่อย ๆ เราก็จะรู้สึกว่าอยู่กับความสุขความสบาย ใจเราก็จะสบาย ๆ มีความสุขตลอด ใครไม่ให้เราก็มีความสุขของเรา แล้วเราจะเป็นผู้ให้ก่อน

พอเรามีความสุข สิ่งดี ๆ ก็จะหลั่งไหลออกมา เวลาเราไม่มีความสุข ไอ้ที่ไม่ดีมันก็ค่อย ๆ ซึมออกมา ออกมาเรื่อย ๆ จนเรารู้สึกว่าความสบายหายไปหมดเลย คนที่เจอก่อนคือตัวเรา คนอื่นเขาก็รับทีหลัง เพราะฉะนั้น การที่เราปฏิบัติ ที่บอกว่าดูสภาพจิตของเราที่เปลี่ยนไป ดูสภาพจิตบ่อย ๆ บ่อย ๆ แล้วการดูสภาพจิตไม่ใช่แค่ดูว่า อ้อ! ตอนนี้มีความสุข ก็ดีใจ ยิ้ม... ตอนนี้เฉย ๆ แล้วก็เฉย... ตอนนี้แห้ง ๆ แล้ง ๆ เราก็ อ๋อ! มันแล้ง... ตอนที่มันแล้ง ๆ แล้วทำอย่างไร ? ไม่ได้ทำอะไร ปล่อยให้มันแล้งไป... รดน้ำให้เขาบ้างนะ

ถ้าแห้งแล้งเราก็ยกจิต เฉย ๆ เติมความสุขได้ไหม ? ไม่จำเป็นต้องให้เฉย การดูสภาพจิตไม่ใช่แค่ไปดูให้เห็นแล้ว อ๋อ! เห็นแล้วก็หยุด ดูสภาพจิต พอเห็นปุ๊บดีอย่างไร ให้เข้าไปในสภาพจิตที่ดีนั้นอีก สงบ เข้าไปดูจิตที่สงบ เข้าไปแล้วรู้สึกอย่างไร ? เขาเปลี่ยนอย่างไร ? “เข้าไปในความสงบแล้วรู้สึกอย่างไร ?” อันนี้จุดหนึ่งที่ต้องสังเกต และ “เมื่อเข้าไปแล้ว ความสงบนั้นเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร ?” อันนี้ต้องสังเกต เปลี่ยนแล้วให้ความรู้สึกดีไม่ดีอย่างไร ?

ไม่ใช่ดู รู้ว่าอ๋อ! สงบ สงบ สงบ.. ลองดูสิ พอเข้าไปดูปุ๊บ รู้สึกอย่างไร ? ดีไหม ? อาจารย์จึงเปรียบเทียบ เหมือนกับว่าเวลาเราเดินลงไปในสระน้ำแล้วรู้สึกอย่างไร ? เย็น สบาย... พอร้อน ๆ เดินลงไปรู้สึกเย็นสบาย แต่สระน้ำมีความหนาแน่นหรือเปล่า ? มวลน้ำนี่ให้ความรู้สึกเป็นอย่างไร ? น้ำกระเพื่อมบ้างไหม ? หรือน้ำนิ่งสนิท ? เข้าไปในความสุขแล้วรู้สึกอย่างไร ? ที่จริงง่ายมากเลย เราอยู่ข้างนอกอาคาร บรรยากาศข้างนอกเป็นอย่างนี้ พอเข้ามาในอาคาร บรรยากาศในอาคารรู้สึกอย่างไร ?

เหมือนสภาพจิตเรา ดูแล้วรู้สึกสงบ เป็นผู้ดูอยู่ แล้วถ้า “เข้าไปอีก” รู้สึกอย่างไร ? คือเข้าไปในความรู้สึกที่สงบ นอกจากเข้าไปแล้วรู้สึกสงบขึ้น เข้าไปในความสงบอีก เข้าไปอีก เข้าไปอีก เข้าไปอีก... เข้าไปเรื่อย ๆ ถ้ายังมีการเปลี่ยนแปลง เข้าไปในความรู้สึกที่สงบแล้วดูอะไรบ้าง ? นอกจากความรู้สึกที่สงบเปลี่ยนไป รูปนี้เป็นอย่างไร ? บรรยากาศรอบตัวเป็นอย่างไร ? สภาพจิตเราเปลี่ยนไปอย่างไร ? อาการที่เปลี่ยนแต่ละขณะเปลี่ยนเป็นอย่างไร ? คำถามแต่ละจุด ๆ แต่ละคำถาม แต่ละครั้ง ลองสังเกตดี ๆ ผลที่ตามมา เรามีเจตนาเข้าไปสังเกตแต่ละขณะนี่ เขาเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ? อันนี้คือการดูสภาพจิต

ถ้าเข้าไปแล้วยิ่งเบา ยิ่งเบา... สภาพจิตที่เบาคือความรู้สึกที่ว่างเบา ไม่ใช่อาการที่พริ้ว ๆ เบา ๆ ต่างกันนะ อาการที่เขาพริ้ว ๆ เบา ๆ บาง ๆ เหมือนเมฆเหมือนเส้นไหมบาง ๆ ใส ๆ นั่นเป็นอาการอย่างหนึ่ง แต่อาการที่พริ้ว ๆ บาง ๆ เขาเกิดอยู่ในบรรยากาศของความรู้สึกแบบไหน ? โล่ง เบา สว่าง หรือโปร่ง ๆ นั่นคือตัวสภาพจิตที่รู้สึกโล่ง ๆ โปร่ง ๆ เบา ๆ แต่ที่พริ้ว ๆ บาง ๆ นั่นเป็นอาการอย่างหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาในบรรยากาศตรงนั้น บางทีเราดูสภาพจิตไปเรื่อย ๆ แล้วมีอาการปรากฏขึ้นมาในบรรยากาศของสภาพจิตที่เบา ๆ นั้น มีอาการพริ้ว ๆ ไหว ๆ บาง ๆ ที่ไหว ๆ บาง ๆ จัดเป็นอาการเกิดดับอย่างหนึ่ง แต่ความรู้สึกคือบรรยากาศที่รองรับ เป็นตัวสภาพจิตเรา

เข้าใจนะ ? ถ้าเข้าใจแล้วก็ดีแล้ว ดูพรุ่งนี้เล่าสภาวะจะเป็นอย่างไร ? จะเล่าถูกไหม ? บางคนเล่าถูกนะ เล่าแบบนี้... ยิ่งปฏิบัติยิ่งกำหนดไปรู้สึกสภาพจิตยิ่งสงบขึ้น รู้สึกดีจังเลย สบาย สภาพจิตโดยทั่วไปอยู่กับความสุข “โดยทั่วไป” อยู่กับความสุข อันนี้ต้องสังเกตดี ๆ นะ สภาพจิตโดยทั่วไป หมายถึงว่า “ส่วนใหญ่” ถึงแม้ว่าจะมีอารมณ์เข้ามากระทบบ้างเป็นบางช่วงบางขณะก็ตาม อารมณ์ที่เข้ามากระทบทำให้จิตเรามีอาการขุ่นขึ้นมานิดหนึ่ง เราก็รู้แล้วเขาก็ดับไป ขุ่นขึ้นมาแล้วดับไป นั่นคือความขุ่นเข้ามาระยะสั้น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วรู้สึกว่าสงบแล้วมีความสุข ตรงนี้คือสภาพจิตที่เราเป็นอยู่จริง ๆ นอกนั้นเป็นแค่อารมณ์จรเข้ามาชั่วขณะหนึ่ง ๆ แค่นั้นเอง

แต่บางทีเราไปให้ความสำคัญตรงอารมณ์จรชั่วขณะหนึ่ง แล้วเราก็ไปกังวลกับอารมณ์จรว่า อย่าเกิด อย่าเกิด... อันที่เป็นอยู่จริง ๆ ที่ดีอยู่แล้วนี่ข้ามไป ทำให้จิตเราไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้น อารมณ์จรก็คืออารมณ์จร แทรกเข้ามาดับไป แต่ดูตัวที่เราเป็นอยู่ สภาพจิตจริง ๆ ของเรารู้สึกเป็นอย่างไร ? ถ้าเรากลับมาดูสภาพจิตตรงนี้จิตเราจะมีกำลังขึ้น เหมือนเรากลับมาอยู่บ้านเรา กลับมาหาบ้านที่อยู่ของเรา อารมณ์จรนี่เหมือนลมพัด แสงแดดส่อง ฝนตก เข้ามาแล้วก็ผ่านไป เข้ามาแล้วผ่านไป... เป็นชั่วขณะหนึ่ง ๆ พิจารณาแบบนั้น

(โยคีกราบเรียนถามว่า สภาพจิตที่พระอาจารย์เมตตาสอน มันจะเปลี่ยนไปเองโดยธรรมชาติหรือเราสามารถเลือกได้ ?) เลือกได้ สภาพจิตเราเลือกได้ เพราะการยกจิตก็เหมือนเราเลือกสภาพจิตจะให้เป็นแบบไหน การที่เติมความสุขได้นี่คือเปลี่ยนสภาพจิตเรา เรายกจิตขึ้นสู่ความสงบก็เปลี่ยนสภาพจิตเรา นั่นเป็นเหมือนอารมณ์ฌานที่เราเปลี่ยนได้ ถ้าเรารู้วิธีเราเปลี่ยนวิถีจิตของเราได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเลือกได้ทุกครั้ง ถ้าว่าโดยสภาวญาณ ถ้าเขาเป็นอย่างนั้นก็จะเป็นอย่างนั้น ที่จะรู้สึกว่าเติมความสุขก็ไม่ได้ เติมความสงบก็ไม่ได้ เขาก็อยู่เฉย ๆ อย่างนั้น อันนั้นเป็นสภาวญาณของเขา แต่ถ้าโดยทั่วไปเราสามารถเปลี่ยนได้

เหมือนที่เขาบอกว่า ฌาน ๔, ๕, ๖ พอถึงฌานแล้วอยากข้ามไปสู่ฌานไหนได้ การยกจิตการเข้าฌานเราจำรสชาติได้เราเปลี่ยนได้เลย อันนี้เราเลือกได้ แต่ลักษณะอาการพระไตรลักษณ์หรืออาการเกิดดับเราเลือกไม่ได้ ตัวพลังตัวสภาพจิตนี่เราเปลี่ยนได้ แล้วควรเปลี่ยนด้วย เพราะฉะนั้น จึงบอกให้ยกจิตไง ยกจิตจากที่เป็นอกุศล ยกจิตขึ้นมาให้เป็นกุศลเสีย ถ้าเราปล่อยตามยถากรรม ใช้เวลานานนิดหนึ่ง... แล้วแต่กรรม ใช่ไหม ? ยถา ยถา

เพราะฉะนั้น ทำไมเราจึงทำจิตให้ว่างได้เร็ว นั่นคือการยกจิต แล้วการยกจิตตรงนี้ก็เริ่มด้วยการแยกรูปนาม พอเรานิ่งปุ๊บ ยกจิตขึ้นสู่ความว่าง ไปจับที่ความรู้สึกที่ว่าง เขาก็ว่างแล้ว พอว่างปุ๊บ นิ่ง ในความว่างนั้นรู้สึกมีความสงบไหม ? ลองไปจับที่ความรู้สึกที่สงบในความว่างนั้น เข้าไปดูความสงบในความว่าง แล้วให้ความสงบนั้นกว้างออก รู้สึกเป็นอย่างไร ? บรรยากาศตรงนี้ สภาพจิตเราก็กลายเป็นความสงบ พอสงบแล้วจะยกจิตขึ้นสู่ความมั่นคงทำอย่างไร ? นิ่ง ให้ความสงบหนาแน่นขึ้น ลองดู รู้สึกเป็นอย่างไร ? มั่นคงขึ้นไหม ? นี่คือการยกจิต นิดเดียว!

พูดแล้วเหมือนกับคิดเอาเองหรือเปล่า ? จริง ๆ แล้วตอนนี้ลองนิ่งแล้วดูความรู้สึกสงบ รู้สึกเป็นอย่างไร ? ชัดไหม ? แต่ถ้าเราไม่ดู ไปดูที่ความเบา เห็นไหม นิดเดียว “เจตนา” นี่คือการเปลี่ยนจิตของเรา จิตดวงไหนปรากฏขึ้นมา ? ถามว่า เขามีอยู่แล้วหรือเปล่า ? นี่เป็นคำถาม ที่เราเปลี่ยนได้อย่างนี้เพราะเขามีอยู่แล้วหรือเปล่า ? สิ่งที่เคยเจอแล้ว! การยกจิตนั้นเราจะยกจิตได้ต่อเมื่อยกจิตขึ้นสู่บรรยากาศที่เราเคยเจอแล้ว ถ้าเราไม่เคยเจอเราก็ยกจิตไปตรงนั้นไม่ได้ ใช่ไหม ? แต่สภาพจิตใหม่ตรงนั้นที่เกิดขึ้นมาก็อาศัยกำลังที่เราปฏิบัติต่อไป ถ้าชัดเขาจะปรากฏขึ้นตามสภาวะของเขา

ขณะที่รู้สึกว่าจิตเราว่างแล้ว สมมติว่า เสียงเขาดังอยู่ในที่ว่าง ๆ ๒ เสียงนี้ สังเกตนิดหนึ่งว่า เรารับรู้สลับกัน หรือว่ารู้อันนี้ไปสักพักหนึ่ง หยุด แล้วก็มารู้อาการนี้ นิดหนึ่ง หยุด แล้วก็กลับมารู้อาการอื่นใหม่ ? (โยคีกราบเรียนว่า มันวิ่งไปวิ่งมา) ตรงนั้นล่ะที่ถามว่าอันนี้จบไป แล้วก็กลับมารู้อันนี้ จุดที่สังเกต พออันนี้จบ เขาดับ เขาดับอย่างไร ? พอมารู้อันนี้ เขาดับต่อจากตรงนี้ เขาดับอย่างไร ? อันนี้ ๒ อารมณ์แต่ต่อเนื่องกัน แต่ “รู้คนละขณะ” เพราะฉะนั้น สังเกตนิดหนึ่ง ตรงนี้สำคัญมาก ๆ เพราะบางทีโยคีไม่เข้าใจนึกว่ามี ๒ อารมณ์

ทำไมถึงเรียกว่า “อารมณ์เดียว” ? ตอนที่เรารู้ชัดรู้อันนี้อย่างเดียว แต่พออันนี้หมดปุ๊บมารู้อารมณ์นี้ต่อเลย อันนี้แวบ หมดปุ๊บ อันนี้ชัดขึ้นมาใหม่ อันนี้ “เกิดทีละอารมณ์” ถ้า ๒ อารมณ์คือดังเท่า ๆ กัน แต่ถ้าแวบ เดี๋ยวก็แวบ ๆ ๆ ๆ แล้วก็แวบ ๆ ๆ อันนี้เป็นคนละขณะกัน ทำไมถึงต้องรู้ว่าเป็นคนละขณะ ? เพราะการรู้ว่าเป็นคนละขณะแบบนี้นี่ วิถีจิตที่ทำงาน เราจะได้เห็นชัดถึงธรรมชาติของจิต จริง ๆ แล้วนี่จิตเรารับรู้พร้อมกันทุกอารมณ์หรือคนละขณะ ? วิถีจิตแต่ละขณะ ตรงนี้แหละตัวสำคัญเลย จะได้เห็น

ตัววิถีจิตตรงนี้ ที่เราเห็นว่าจิตมารู้ตรงนี้ดับก่อน จิตตรงนี้รู้ตรงนี้ดับไปแล้ว ถึงมาเกิดแล้วมารับรู้อันนี้ใหม่ จิตดวงใหม่ที่เกิดมารับรู้ เขาจะต่างจากตรงนี้อย่างไร ? จิตดวงใหม่ที่มารับรู้อารมณ์ใหม่ เขาต่างกันอย่างไร ? ใสกว่าเดิม นิ่งมากขึ้นกว่าเดิม ตื่นตัวกว่าเดิม ไวกว่าเดิม ? แล้วก็เห็นว่าเขาดับแบบเด็ดขาดมากกว่าเดิมหรือเปล่า ? ตรงนี้แหละเป็นตัวทำให้สติเรามีกำลังมากขึ้น ถ้ารู้แค่วิ่งไปวิ่งมาวิ่งไปวิ่งมา อันนั้นสติเราก็จะมีกำลังน้อยกว่าที่เราจะเห็นว่าเขาดับทีละขณะ กลายเป็นว่าเวลาเล่าสภาวะก็จะรู้สึกเดี๋ยววิ่งไปวิ่งมาวิ่งไปวิ่งมา

เวลาโยคีเล่าก็จะฟังดูวิ่ง เขาวิ่ง เดี๋ยวแวบหมด... มันจะมีคำหนึ่งที่บอกให้รู้ว่า สิ่งที่เขาใช้ที่พูดว่าวิ่งไปวิ่งมากับสภาวะที่เกิดขึ้น บางทีไม่ตรงกัน ว่าโดยสภาวะแล้วเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ภาษาที่ใช้คือความเข้าใจคิดว่าเป็นแบบนั้นอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อาจารย์จึงให้สังเกตรายละเอียดเพิ่มขึ้น ต้องสังเกตดี ๆ ทำไมถึงต้องสังเกตดี ๆ ? เพื่อความเข้าใจที่เราเข้าใจอยู่กับสภาวะที่เราเห็น เราเข้าใจถูกหรือเปล่า ? ถ้าเราเข้าใจตรงตามสภาวะ ดี แต่ถ้าเราสังเกตดูอีกนิด ที่เราเข้าใจมาก่อนหน้านี้เป็นแบบนี้ พอดูดี ๆ อ้าว! ไม่ใช่ เขาเป็นแบบนี้ เพื่อความชัดเจน นั่นคือตัวปัญญาอย่างหนึ่ง ปัญญาที่รู้สภาวะที่เป็นจริงของเขา

แล้วการดูสภาพจิต ตัวสำคัญเลยก็คือว่า การที่ดูสภาพจิตบางคนต้องอาศัย ที่อาจารย์บอกว่าสภาพจิตดูให้เยอะ ๆ นี่ แสดงว่างานหลักคืออยู่ที่สภาพจิต แล้วสภาพจิตเปลี่ยนต่างจากเดิมอย่างไร ? แม้แต่ความโล่งความผ่องใสของจิตของเรา จากเมื่อก่อนเป็นแบบนั้น ตอนนี้ต่างจากเดิมอย่างไร ? เพราะอะไร ? การดูสภาพจิตตรงนี้นี่ ส่วนหนึ่งจะเป็นการบอกตัวเองได้ว่า ตรงที่สภาพจิตเราเปลี่ยนไป “ต่าง” จากเมื่อก่อนอย่างไร ? ก่อนหน้าโน้นกิเลสเราเป็นอย่างไร ? มาถึงตอนนี้กิเลสอาศัยสภาพจิตใจเรายังมากเท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม ? ถึงแม้จะบอกไม่ได้ว่าตัวโทสะหรือโมหะมันหายไปหรือน้อยลง แต่รู้สึกได้ว่ามันน้อยกว่าเดิม

สังเกต เราปฏิบัติแบบนี้ เรารู้อาการเกิดดับของรูปนามที่เป็นสภาวะเหล่านี้ เราไม่ต้องมานั่งแยกว่า เราดับโทสะแค่นี้ ดับโมหะแค่นี้ แต่ดูแล้วไม่ค่อยมี หรือมีน้อยกว่าเดิม กลายเป็นว่าไม่ใช่ว่าหาว่าโทสะดับเท่านี้เท่านั้น แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยมี แปลกไหม ? เพราะเราไม่ได้กำหนดดับกิเลส เราจะรู้แต่ว่าดับความทุกข์ พอมีกระทบขึ้นมา รู้สึกไม่สบายใจแล้ว ขุ่นขึ้นมาแล้ว พอดับความขุ่นปุ๊บมันก็จบไป ขุ่นเกิดจากอะไร ? ไม่สบายใจขึ้นมาเกิดจากโทสะโมหะ แต่พอดับปุ๊บจิตก็ผ่องใสขึ้นมา เราไม่ใช้คำว่ากิเลสตัวไหนเลย รู้แต่ว่ารู้แล้วดับ อาการเกิดดับของรูปนาม อกุศลเกิดขึ้น ดับไป จิตเป็นกุศลมากขึ้น และผ่องใสขึ้นกว่าเดิม

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าการที่เราจะต่อสู้กับกิเลสของเรานี่ต่อสู้กิเลสตรงไหน ? เรารู้สึกว่ากิเลสไม่ใช่ศัตรู เรารู้อยู่กับปัจจุบัน รู้อาการเกิดดับของรูปนาม แล้วเขาก็ไม่เกิด หรือละไปโดยอัตโนมัติ เพราะการละความเป็นเราหรือตัวตนของเราน้อยลง อายุอารมณ์สั้นลง เราก็จบง่ายขึ้น พอเรายิ่งจบ สังเกตดูว่า ถึงแม้เวลาอารมณ์กระทบ พอมีกระทบปุ๊บ มีเวทนาขึ้นมา แต่เวลาจบกลับรู้สึกเกลี้ยง ไม่มีเศษ ตรงนี้สังเกตดูความต่างได้เลยว่า เมื่อก่อน กระทบ จบ เราจบแต่ข้างนอก แต่ข้างในไม่จบ ตอนนี้กระทบ ข้างนอกหยุด ข้างในก็หยุด ช่องว่างคือว่างไป ไม่มีจริง ๆ หยุดปุ๊บคือหยุดจริง ๆ มันว่างจริง ๆ มันจบจริง ๆ

ถ้าเกิดใหม่ก็เกิดใหม่จริง ๆ รู้ว่าเป็นของใหม่แต่หน้าตาคล้าย ๆ เดิม ใช่ไหม ? เกิดใหม่แต่หน้าตาคล้าย ๆ เดิม ถ้าอารมณ์จิตแบบเดิมขึ้นมา เกิดมาหน้าตาคล้าย ๆ เดิม ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หน้าตาคร่ำเครียด พอเราดับปุ๊บ จบ จึงสังเกตว่าทำไมเศษอารมณ์ถึงหายไป แล้วหาได้เลยว่าหายไปจริงไหม ? มีเศษมากน้อยแค่ไหน ? ตรงนี้สำรวจเข้าไปดูสภาพจิต ดูแล้วเห็นหรือไม่เห็น ? มีหรือไม่มี ? หรือหาแล้วไม่เจอเลย ? ก็คือดับไม่มีเศษเหลือเลย จิตที่ไม่เหลือเศษของอกุศลนี่เป็นอย่างไร ? ผ่องใส สะอาด หรือเป็นอย่างไร ? อันนี้คือจุดที่ต้องสังเกต


อันนั้นจะเป็นตัวบอกว่าสภาวะของเรา เวลาเราปฏิบัติแล้ว เอ๊ะ! ทำไมอารมณ์กระทบแล้วยังมีเวทนา ? ลมพัดยังรู้สึกเย็นไหม ? เออ! ถ้ายังเย็นอยู่ก็ยังมีชีวิตอยู่ ใช่ไหม ? แต่ว่ากระทบปุ๊บก็จบ นี่ที่บอกว่าโดยสภาวะเขาจบ แต่ที่ไม่จบเพราะเราพยายามยื้อ ดูเมื่อไหร่เขาก็จบ เขาหายไป อันนี้คือความพิเศษของธรรมะ เขาทำหน้าที่ของเขา ตรงนี้ที่บอกว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเป็นนิตย์” อายุอารมณ์เขาสั้น เขาก็พยายามที่จะดับ จะดับ จะดับ จะตัดออกไป จิตของเราเขาไม่ชอบถืออะไรที่หนัก ๆ ไม่มีใครชอบนอกจากคนไม่รู้

ถ้ารู้แล้วไม่อยากถือไว้นานหรอก ถือไว้เมื่อไหร่ก็หนัก! มีอะไรขึ้นมา คว้า กอดไว้แน่นไม่ยอมปล่อย... จริง ๆ เหนื่อยอยู่แล้ว จะปล่อยก็ปล่อยเถอะอย่าเสียดาย จะปล่อยก็เกรงใจนะ กลัวเสียหน้า เขาปฏิบัติจนเอาหน้าออกหมดแล้วนะ อย่าว่าแต่หน้าเลย ตัวก็หาย เอาหน้าออก เอาตัวออก เอาหัวออกแล้ว เออ! หน้าเราอยู่ตรงไหน ? กลัวเสียหน้ามากกว่าเสียใจ กลัวเสียหน้ามากกว่าเสียชาติ เสียไปอีกชาติหนึ่งแล้ว! ยึดมันเอาไว้จนเสียไปอีกชาติหนึ่งแล้ว ปล่อย ๆ มันไปเถอะ

เพราะฉะนั้น สังเกตไหม ที่บอกว่าธรรมะที่เราปฏิบัติ การที่เรายกจิตขึ้นสู่ความว่าง ทำจิตให้ว่าง ไม่มีอะไร แต่ที่บอกว่าสิ่งไหนที่เราพัฒนาได้ สิ่งที่ดี ยิ่งถ้าเราอยู่ด้วยกันนี่ คำพูดการกระทำอะไร เราก็มีเมตตาต่อกัน คือให้เกียรติกัน ยังไงก็ดี ให้เกียรติกัน ดีมาก ๆ นะ ทุกคนก็อยากมีเกียรติทั้ง ๆ ที่ไม่มีตัวตน สังเกตดู นี่คือธรรมชาติ นี่คือสมมติ นี่คือธรรมะ สิ่งที่ดียังไงก็ดี เชื่อมั่นในความดี เชื่อมั่นในธรรมะ

บางครั้งเราคิดถึงธรรมะของเรา เวลาจิตเราเป็นแบบนี้ เรายังรู้สึกดีแบบนี้ แล้วคนอื่นจิตเขาผ่านอารมณ์พวกนี้มาแล้ว สภาวะเหล่านี้มาแล้ว จิตเขาจะเป็นอย่างไร ? เราบอกว่าเราไม่เป็นไร เขาไม่แน่นะ! เรายกเอาไว้ ยกเอาไว้... ถ้าเรายกเอาไว้ ยกไปเรื่อย ๆ เราก็อิสระ เรายกเอาไว้อยู่บนหิ้งหมดแล้ว เราก็อยู่สบาย ๆ คนนี้ก็ยกเอาไว้ คนนี้ก็ยกเอาไว้ คนนี้ก็ยกเอาไว้ เขาไม่ยุ่ง ถ้าเมื่อไหร่โดนยกเอาไว้นี่เขาไม่ยุ่งแล้วนะ ต้องดูนะ ถ้าอยากให้เขาดีก็ดู อย่าไปยกไว้อย่างเดียว ช่วยกันขัดเกลา ช่วยกันเช็ด ช่วยกันถู ทุกคนช่วยกันจะดี

เรามองกระจกเราก็มองเห็นแต่หน้าตัวเอง ถึงแม้จะหันหลังให้กระจกก็เห็นแค่ครึ่งเดียว ถ้ามีกระจกหลายบานเราก็จะเห็นรอบตัวเรา เราก็จะได้รู้ เออ! ตรงนี้มีจุดดียังไง บางทีกระจกมันหลอกเรา ส่องแล้วหน้าสวย ออกมา เอ๊ะ! ไปดูกระจกบานนี้ทำไมหน้าเรากลมเชียว ไปดูบานนี้หน้ายืด ๆ เคยเห็นไหมกระจกมันหลอกเรา ? กระจกบางบานไม่สะท้อนความจริง อาจารย์สังเกตกระจกบานหน้าต่างพวกนี้เหมือนกัน เราเดินไปตามสถานที่ บางทีเราเดินผ่านบานนี้โย่งเลย บานนี้ทำไมยืด ๆ ออกด้านข้าง อ่อ! บางครั้งกระจกก็ไม่เที่ยงนะ ไม่ได้สะท้อนความจริงจริง ๆ ถ้ามีหลาย ๆ บาน ไปดูบานกระจกที่ใกล้เคียงกับความจริง จริง ๆ อ๋อ! นี่หน้าตาเราเป็นแบบนี้ สะท้อนผลออกมา

แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ถ้าเราสายตาดี เราพิจารณาดี ๆ เรารู้จักตัวเอง ถึงกระจกมันจะยืด จะย่อ ขยาย โย่งแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าก็สะท้อนให้เรารู้ให้เราเห็น คนเราก็เหมือนกัน สังเกตดู อยู่ในสังคม เราอยู่ด้วยกัน ผลสะท้อนกลับมาเหมือนเป็นกระจกเงาที่ส่องเรานั่นแหละ ก็ดู ๆ ฟัง ๆ อันนั้นสะท้อน เออ! ดี ถ้ากระจกหัวมุมเราก็ต้องดูดี ๆ นะ กระจกตรงหัวมุมนี่เขาจะโค้ง ๆ ถ้ากระจกอยู่ตรง ๆ กระจกนี้ก็จะตรงนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น สังเกตดี ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นกระจกสะท้อนเรา ให้เราได้รู้ให้เราได้เห็นตัวเอง ได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ยิ่งเราตั้งอยู่บนพื้นฐานมีธรรมะเป็นที่ตั้ง

อย่างหนึ่งนะ ธรรมะที่บอกว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย คำว่า “เหตุปัจจัย” ไม่ใช่เหตุเมื่อวาน หรือว่าเป็นอย่างนี้เหมือนเมื่อวานทุกครั้ง แต่เหตุปัจจัยของสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เขาเปลี่ยนได้ทุกขณะ เขาเปลี่ยนได้ตลอดเวลา อากาศที่มาเดี๋ยวเย็น เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวก็พัดมานิ่ง ๆ เหมือนพัดลมนี่ ลองสังเกตดูนะ ที่พัดลมหมุนตลอดเวลา ลองสังเกตดูว่า ลมที่มากระทบอยู่ของเรา เขามาสม่ำเสมออย่างนั้นตลอดเวลาหรือเปล่า ? เห็นไหม เดี๋ยวแรงบ้าง เบาบ้าง แรงบ้าง... ชีวิตของเราก็ไม่ต่างกัน!

เหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไป เราทำแบบนี้ดีแล้ว เรารู้ว่าเย็นแล้ว มันน่าจะเย็นแบบนี้ตลอดเวลา ลองดูนะ ถ้าเย็นอย่างเดียวอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาโดยไม่ที่มีการเปลี่ยนแบบนี้ เราจะเป็นอย่างไร ? ไข้ขึ้นนะ แม้แต่แอร์ที่ว่าเย็นสม่ำเสมอ ปรับอุณหภูมิเท่าเดิม ยังรู้สึกเย็น สักพักเขาปรับสภาพตัวเอง รู้สึกพอทนได้ แต่ถ้าเย็นอยู่อย่างนั้นก็ทนไม่ได้ อาจารย์จึงเปรียบเทียบ แม้แต่ของหวานที่เราบอกว่าอร่อย อาหารที่บอกว่าอร่อย ใส่เข้าปากแล้วอมไว้นานหน่อย ลองดู รู้สึกอย่างไร ? ที่อร่อยเพราะเคี้ยว ๆ กำลังอร่อยแล้วก็กลืน แล้วก็เคี้ยวใหม่ อร่อยใหม่แล้วก็กลืน...

ถ้าความอร่อยตั้งอยู่นานสัก ๕ นาที คิดดูว่าจะเป็นอย่างไร ? อมแล้วไม่เคี้ยว ที่เราเคี้ยวนี่เพราะอะไร ? ยิ่งเคี้ยวมันยิ่งอร่อย ที่อร่อยมันออกมาเรื่อย ๆ ถ้าเคี้ยวแล้วอมไว้เฉย ๆ อย่างของหวานที่เรารู้สึกชอบ อมไว้นาน ๆ ก็เลี่ยน เพราะฉะนั้น เวลาอมลูกอม เราอมไปสักพักก็นิ่ง เราต้องขยับลิ้นนิดหนึ่งเพื่อให้รสหวานออกอีกนิดหนึ่ง สักพักมันก็จืดไป เราก็ขยับนิดหนึ่งให้รสหวานออก เราจึงรับได้อยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา เราทำความเข้าใจ ดูกาล สถานที่ บุคคล อันนี้คือเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่เราทำให้เหมาะสม

เป็นเรื่องยากนะ พอเราเปลี่ยนตามเหตุปัจจัย ก็บอกไม่มีหลักการ พอเรายืดหยุ่น ไม่มีหลักการ ไม่มีระเบียบ... ต้องมีหลักการ ต้องมีกรอบ แต่ยืดหยุ่นอยู่ในระเบียบได้ ยืดหยุ่นได้ หลักการกว้าง ๆ แต่ทุกอย่างก็ปรับได้เปลี่ยนได้ เพื่อให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด เปลี่ยนเหตุปัจจัยเพื่ออะไร ? เพื่อให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด ทำเพื่ออะไร ? เพื่อประโยชน์ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์อันไหนล่ะ ? ถ้าเห็นประโยชน์ตนอย่างเดียวเขาเรียกเห็นแก่ตัว ประโยชน์ท่านอย่างเดียวก็เหนื่อย เราก็เลยต้องปรับมาเข้าหากัน ทั้งประโยชน์เราประโยชน์เขา ได้ทุกคนพอเหมาะพอสม อันนั้นจะเป็นผลดี

มีอะไรอีก ? ปฏิบัติแล้วน้ำหนักขึ้น ถามว่า เราทานที่บอกอยู่ในความว่างตรงนี้ ทานแบบไม่มีตัวตน แล้วมีกิเลสไหม ? อร่อยแบบไม่มีกิเลส ? แปลกนะ อันนี้พูดเรื่องจริง ลองสังเกตดู อร่อยได้แต่ไม่มีกิเลส ทำไมถึงอร่อยได้ ? เพราะลิ้นทำหน้าที่รู้รส คำว่า “รู้รส” สัญญาคือเราจำได้ว่าอะไรอร่อยไม่อร่อย ถามว่าเราปรุงแต่งให้อร่อยหรือเปล่า ? ก็มันอร่อยจริง ๆ ใช่ไหม ? อร่อยอยู่ในที่ว่าง ๆ ถือว่าเป็นบุญอย่างมากเลยนะ เป็นบุญทั้งผู้ให้และผู้รับ ผู้ให้ก็อิ่มใจ ผู้รับก็อิ่มท้อง... อิ่มทั้งใจด้วย! อิ่มทั้งตัวอิ่มทั้งใจ นี่เป็นบุญจริง ๆ

ตรงนี้การพิจารณาอาหาร ที่บอกว่าพิจารณาอย่างไร พิจารณาอาการเกิดดับของรสชาติเอง พิจารณาอาการเกิดดับของการเคี้ยว และพิจารณาอาการดับของคำอาหารที่ลงไป เขาลงไปในที่ว่าง ๆ ว่างแล้วหาย ว่างแล้วหาย... พอเราเห็นอย่างนี้ เราจะพิจารณาอย่างไร ? เราจะเข้าใจอย่างไร ? หรือจะเอาสภาวธรรมเหล่านี้มาพิจารณาดูว่า เมื่อทานเข้าไปในที่ว่าง ๆ เราจำเป็นต้องทานเยอะไหม ? หรือต้องเติมให้เต็มความว่างนั้นหรือเปล่า ? หรือแค่พอประมาณก็ได้แล้วแหละ ให้เหลือที่ว่างสำหรับอย่างอื่น ? จริง ๆ ให้พิจารณาแบบนี้ แค่นี้พอแล้ว

อาจารย์ไปญี่ปุ่น แล้วมีร้านอาหารหนึ่ง ไปนั่ง เมนูเขามาวางปุ๊บ บอกเลยอาหารนี้มีกี่แคลอรี่ อาหารนี้มีกี่แคลอรี่ ถ้าคนรักษาสุขภาพก็เอาแค่นี้ก็พอ ทานแค่แคลอรี่ไม่ใช่ทานรสชาตินะ รสชาติอาจไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ แต่แคลอรี่เราได้ครบ พลังงานเราได้ครบ เรานี่เอาปริมาณเข้าว่า ทานให้เต็มที่แคลอรี่ไว้ทีหลัง! เอาไว้มาเบิร์นทีหลังนะ เพราะฉะนั้น เสร็จแล้วต้องเดินจงกรมให้เยอะ นั่งสมาธิ พอมาถึง หลับ! ทำไม ? เพลีย อิ่มมาก ร่างกายเราทำงาน ก็เลยหลับ!

เพราะฉะนั้น สภาวะที่เห็นแบบนี้ก็คือว่า ที่เราเห็นรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มอร่อยเกิดขึ้น รู้แล้วดับไป อยู่ที่เราพิจารณารสชาติอร่อยแบบนี้ แล้วอยู่ที่ว่าเราจะพอแค่ไหนแค่นั้นเอง อันนี้เรามาพิจารณาอีกทีหนึ่ง แต่บางทีเราทานแล้วเพลิน บางคนพอพิจารณาอาหารปุ๊บ คำข้าวเคี้ยวแล้วรสชาติเห็นว่าหวานแล้วจาง หาย รสอร่อยแล้วจาง หาย ทานไปทานมาเห็นแต่อาการดับ จาง หาย จาง หาย... รสชาติไม่เหลือแล้ว ไม่รู้สึกว่ายินดีในรสชาตินั้น ทานไปทานมาอิ่มเสียแล้ว ทานไม่ลงเพราะใจอิ่ม ใจอิ่มเลยหยุด อันนี้อย่างหนึ่ง

บางคนพอจิตรู้สึกเห็นสภาวะตรงนี้แล้วอิ่มใจ พอออกไปไม่นาน ท้องเริ่มหิว! อันนี้ก็ต้องพิจารณาทั้ง ๒ อย่าง บางทีโยคีบอกพอเห็นก็อิ่มแล้ว แต่ว่าพอเดินออกไป ท้องมันร้อง หิว... พอไปนั่งปฏิบัติก็นั่งเงียบ ๆ นั่งเงียบ ๆ แบบไม่ค่อยมีแรง นั่งเงียบ ๆ ไม่ค่อยมีแรงก็ไม่ดี สังเกตดู นั่งเงียบ ๆ ไม่มีแรงส่วนใหญ่เราจะนั่งพัก สภาวะต่าง ๆ จะไม่ชัด แต่สภาพจิตเรารู้สึกชัด สภาพจิตเราสงบเงียบอยู่ แต่ขาดความตื่นตัว อาการพระไตรลักษณ์อาการเกิดดับจะไม่ชัด

แต่พอจิตเรามีกำลัง รูปเรามีกำลัง อาการเกิดดับปรากฏขึ้นมานี่ เวลาเรามุ่งเจาะสภาวะจะทำได้ดี จะปฏิบัติได้ดี ตรงนี้เมื่อก่อนท่านแม่ครูท่านบอกว่า ความต้องการอาหารของคนเราไม่เท่ากัน ท่านบอกทานให้เต็มที่ โยคีตักอาหารเมื่อก่อนตักข้าวเยอะ ทานข้าวมากกว่ากับ กับมีแต่พอประมาณ ข้าวนี่เยอะ อยู่ได้! บางคนตักเยอะ จะหมดไหม ? ทำไมตักเยอะจัง!? ท้องเขาอาจจะมีปริมาณที่รับได้มากกว่า บางคนตักนิดเดียว บางคนตักเยอะก็เยอะเพื่อให้แข็งแรงในการปฏิบัติ แต่ถ้าเยอะเกินไม่เอื้อต่อการปฏิบัติก็ไม่ดี นี่แหละสิ่งที่เราต้องพิจารณา เยอะไป นั่งแล้วก็หลับ มันเป็นสูตรสำเร็จ

ถามหมอ ทำไมฉันอาหารเสร็จแล้วมันง่วงจังเลย ? นั่นแหละธรรมชาติของร่างกายเขาต้องการให้เราพัก ร่างกายจะได้ย่อยดึงสารอาหารไปใช้ อาจารย์ฉันอาหารสูตรหมอใหม่ ๆ นี่ แป๊บเดียวง่วง ๆ อาหารบางอย่างทำให้พักผ่อน ไม่ต้องทานยานอนหลับ พวกเอ็นแก้วพวกนี้ แป๊บเดียว... แต่พักต้องพร้อมที่จะปฏิบัติ ไม่ใช่พักพร้อมที่จะหลับ พักนิดหนึ่งสลับกันได้ เราจะได้มีแรงในการเจาะสภาวะ แต่ผู้สูงอายุของเรานี่ขยันไม่ยอมพัก ทำงานทั้งวัน ทำโน่นทำนี่ทั้งวันเลย ขยัน!

อาจารย์โชคดี อย่างเรื่องบริเวณสวนต้นไม้อะไรนี่ โยมส่องดูแลจัดการหมดเลย โชคดีมากเลย ทำเสียสวยชวนทิดไปตัดกิ่ง ตอนแรกอาจารย์ว่า ตัดไหวไหม ? พอไปตัด เออ! สวยนะ เริ่มจะเป็นบอนไซแล้ว ต้นใหญ่ ๆ เริ่มเป็นบอนไซ เริ่มสะอาด กิ่งเขาสะอาด เขาโชว์กิ่ง โชว์ต้นดูสะอาดดี อาจารย์ไปเห็นที่ญี่ปุ่น ต้นไม้เขา เอ๊ะ! ทำไมลำเขาสวยจัง ไปดู สังเกตกิ่งต่าง ๆ เขาตัดหมดเลย เหลือแต่ใบที่เขาให้อยู่ ต้นสนที่เขาถ่ายรูปออกมาสวย ๆ เขาแต่งที่วัดเซน ต้นสนเขาให้มันออกกิ่งข้างเดียว ข้างนี้เขาตัดหมดเลย แล้วกิ่งก็ยื่นออกมาข้างเดียว สวย แล้วเขาก็ดัดให้เป็นหงิก ๆ งอ ๆ

อันนั้นเขาเรียก “ธรรมชาติที่ถูกตกแต่ง” ไม่ใช่ธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ ธรรมชาติที่ถูกตกแต่งแล้ว แสดงว่าธรรมชาติบางอย่างเขาแต่ง เราเห็นแล้วชอบ รู้สึกว่าเป็นศิลปะ แต่ธรรมชาติบางอย่างเขาขึ้นเอง ก็จะเป็นธรรมชาติดิบ ๆ ที่ยังไม่ถูกตกแต่ง เขาเรียกป่าดงดิบไง ใช่ไหม ? ยังไม่ถูกตกแต่ง แต่ความสะอาดเขาก็จะเป็นแบบของเขา บรรยากาศของเขาก็จะเป็นแบบของเขา เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของคนเรา จะให้ดูดีก็ต้องตกแต่ง ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง

แต่งอะไร ? แต่งแต่หน้าอย่างเดียวไม่ได้แต่งกายแต่งใจเลย “ทานรวย ศีลสวย สมาธิงาม” ความงามอยู่ที่ใจเรา คนที่สงบ ดูงดงามมีสมาธิ คนรู้จักสำรวม กิริยาอาการต่าง ๆ ก็ดูงดงาม นั่นคือการทำให้งาม เพราะฉะนั้น เราแต่งกายของเราแล้ว ก็แต่งใจของเราให้ดูงดงาม ใครเห็นก็ดูดี เห็นแล้วรู้สึกน่าเลื่อมใส เห็นแล้วก็รู้สึกดี เราปฏิบัติธรรม ธรรมะทำให้เราสงบ ธรรมะทำให้เรามีความสุข ความสบาย ความอิสระ แต่ความอิสระอยู่บนความที่ถูกจัดระเบียบด้วยความสงบ

ทำอย่างไรเราถึงจะเรียบร้อย ? เพิ่มความสงบเข้าไปนิดเดียว มีความสงบแล้วมีความอ่อนโยน ในความอ่อนโยนมีความสงบ ในความสงบมีความอ่อนโยนรองรับ อันนี้ไปด้วยกันได้นะ ไม่ใช่ว่าสงบแล้วอ่อนโยนไม่ได้ มีความสงบที่อ่อนโยน เป็นความนุ่มนวลที่สงบ ถ้านิ่มนวลอ่อนโยนแล้วสงบ ก็จะมีความมั่นคงในตัว มีความสุข มีความเรียบร้อย แต่ถ้านิ่มนวลอย่างเดียว อ่อนอย่างเดียว ไม่ดี มีความนิ่มนวลอ่อนโยนและสงบด้วยแล้วจะดูดี มีบรรยากาศของความสุขรองรับ ใครเห็นก็รู้สึกดี นั่นคือมีบรรยากาศของความมีเมตตารองรับในตัว เราแต่งได้นะ ตื่นมาก็แต่งหน้าดี ๆ หน่อย ทำหน้าดี ๆ หน่อย

เมื่อก่อนจะห่วงท่านแม่ครูมาก ๆ เวลาท่านไปทำงานกลับมา ท่านเหนื่อย เราก็ห่วง พอห่วงมากหน้าตาเราก็ไม่ดี เราก็ห่วงจนหน้าเหี่ยว ท่านว่าทำหน้าดี ๆ หน่อย กลับมาแทนที่จะเห็นหน้าบาน ๆ หน้ามีความสุข เราก็จะได้มีแรง ไปทำงานกลับมา เจอหน้าเหี่ยวอีก หมดแรงเลย... จริง! เจอโยคีเวลาห่วงอาจารย์มาก ๆ ออกอาการ อาจารย์ก็ยิ่งเหนื่อยไปใหญ่เลย เหนื่อยจากทำงานมาแล้วก็ต้องมาเอาใจอีก มาทำให้เขาสบายใจอีก

นึกถึงเลย อ๋อ! มิน่าท่านแม่ครูถึงว่า เมื่อก่อนท่านทำงาน งานบางอย่างที่เรามองไม่เห็น ต้องใช้พลังจิตเยอะ แล้วก็เหนื่อย เราก็ห่วง... พอท่านมา เราก็รีบเข้าไปด้วยความเป็นห่วง หน้าก็ไม่ค่อยดี ห่วงแล้วหน้าไม่ดีแล้ว เพราะห่วงมาก นี่ก็จะเข้าใจ อ๋อ! เป็นอย่างนี้เอง ทำหน้าดี ๆ หน่อย เราก็พยายามฝืนยิ้มแล้วนะ แล้วก็ยิ้มแห้ง ๆ อ๋อ! เข้าใจแล้ว... เราก็ทำอย่างไร ? เราก็สงบ นิ่ง แล้วก็ต้องสร้างบรรยากาศ

แล้วอย่างหนึ่งที่ท่านพยายามสอนโยคี เมื่อก่อนนี้ยังไม่ได้มีการสอนเรื่องบรรยากาศเรื่องพลัง พอเริ่มสอนไป ท่านบอกว่าพยายามให้มีบรรยากาศรองรับบ่อย ๆ จริง ๆ เจตนาทุกครั้งที่เรามีบรรยากาศรองรับรอบตัวเรานี่ เราจะสำรวมทั้งกาย วาจาของเรา คำพูด กิริยาอาการ มันจะเป็นตัวกรองอาการต่าง ๆ ของเราทั้งหมด เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่มีบรรยากาศรองรับ มันก็จะออกมาเป็นดุ้น ๆ คำพูดก็จะเป็นก้อนกลุ่มหนัก ๆ ออกมา กิริยาก็เป็นอะไรที่ดูไม่ดี

ที่เรายกจิตได้ ทำจิตให้ว่าง มีความสุขได้ มีความสบายได้ อยากให้มีบรรยากาศ อยู่ในบรรยากาศของตัวเอง มีบรรยากาศรองรับ เหมือนเรามีบ้านของเรา เรามีบ้านของตัวเองแล้ว อย่าไปเข้าบ้านคนอื่นมากนัก เรามีบ้าน ถ้าบ้านเราใหญ่ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดส่องก็ไม่ร้อน คือบรรยากาศที่รองรับของเรา สังเกตไหม พอเรามีบรรยากาศกว้าง เวลาลมกระทบ มันก็กระทบไม่ถึง เหมือนแดดร้อนฝนตกนั่นแหละ แต่เมื่อไหร่ที่บรรยากาศเราหาย แดดนิดเดียวก็ส่องเข้าถึงในบ้านแล้ว ร้อนแล้ว ฝนตกมานิดเดียวก็เปียกแล้ว สังเกตดู บางครั้งเวลาเราไม่มีบรรยากาศ เสียงดังอยู่ไกลไม่เกี่ยวกับเราเลย ชักตะหงิด ๆ แล้ว แสดงว่าเราอยู่แบบไม่มีผนังเลย รู้สึกไม่มีอะไรกั้นให้เรา

เพราะฉะนั้น การที่เรามีบรรยากาศรองรับ ใช้บ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ มีบรรยากาศอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความว่าง ความโล่ง ความเบา ความสงบ ความนิ่มนวล ความอ่อนโยน ความสว่าง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างก็ได้ หรือมีทุกอย่างก็ได้ ถ้ามีทุกอย่างได้ก็ดี จะได้อยู่แบบมีความสุข เป็นรสชาติที่กลมกล่อม จะรู้สึกว่ามั่นคง สบาย การรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา ที่ท่านแม่ครูบอกว่ามองผ่านความสุข รับรู้ผ่านความสุข ยืนอยู่ในความสุข เวลากลืนก็กลืนเอาความสุขเข้าไปด้วย เวลาเดินก็เดินอยู่บนความสุข เวลานอนก็นอนอยู่ในความสุข มีความสุขห่อหุ้ม มีความสุขมารองรับจุดกระทบ

เมื่อก่อนใหม่ ๆ ท่านสอน ลองดูสิ ไม่เชี่อลองเอาความสุขมารองรับจุดกระทบที่เรานั่งอยู่ ลองดูว่ารู้สึกเป็นอย่างไร ? นั่งอยู่ที่ไหน ? นั่งอยู่บนความสุขหรือนั่งอยู่บนพื้น ? ถ้าเรานั่งอยู่บนความสุขได้ เวลาเรานอน ไปปูเตียงให้ดี ๆ แล้วเวลาจะนอนก็เอาความสุขไปปู แล้วก็นอนบนความสุข ลองดู เวลาเรานอนอยู่บนความสุข นอนอยู่บนเตียง หรือนอนอยู่บนสวรรค์ ? เราจะนอนที่ไหน ? จะนอนบนพื้น หรือนอนบนสวรรค์ ? เลือกเอา!

ลองดูสิ ใช่ไหม ? ลองดูนะ ถ้าบรรยากาศความสุขรองรับ ถ้าเราไม่ได้รู้สึกว่านั่งอยู่บนพื้น แล้วเรานั่งอยู่ที่ไหน ? บรรยากาศตรงนั้นเป็นอย่างไร ? รอบ ๆ ความรู้สึก ? บรรยากาศทั้งหมดนี่ รู้สึกว่าอยู่ตรงไหน ? อยู่ในโลกมนุษย์ หรืออยู่อีกมิติหนึ่ง อยู่ในอีกบรรยากาศหนึ่ง ? เพราะอะไร ? เพราะตัวที่อาศัยอยู่คือจิตเรา ไม่ใช่แค่รูปอันนี้ นั่นเป็นที่อยู่ของจิตเรา การที่เราไปพักอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นดีอย่างไร ? เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเรายกจิตขึ้นสู่บรรยากาศนี้ จิตเราจะอิสระ อยู่ที่ไหนก็กว้าง... บ้านเรากว้าง อยู่ที่ไหนก็กว้าง

เมื่อก่อนอาจารย์พักอยู่หลังที่ ๔ นี้ ใหม่ ๆ เลยนะ อาจารย์ปฏิบัติ นอนแล้วก็มองดูเพดาน พิจารณาไปพิจารณามา โอ! ทำไมมันกว้างจัง ? ตัวเราเล็กนิดเดียว รูปเราก็แค่นี้ กุฏิขนาดนี้ กว้าง! แต่บางครั้งเรารู้สึกแคบเพราะอะไร ? สภาพจิตเราเป็นอย่างไร ? ตอนที่จิตเราอิสระ จิตเราสบาย ทำไมมันกว้าง! รู้สึกว่าแค่นี้ก็ดีมากแล้ว ลองพิจารณาดู เรามีที่นอนก็ถือว่าดีมากแล้ว ฝนตกไม่เปียก กันเหลือบ ยุง ลม แดด ความร้อน ความหนาว เราก็อยู่ได้ สบายแล้ว... สบาย ไม่มีอะไร เราก็เหลือแต่ดูสภาพจิต เพราะฉะนั้น รู้สึกดูแล้วก็สบาย ๆ

พอไปกุฏิหลังใหญ่หลังนี้ หลังตรงที่จอดรถที่หลวงมุขพักนี่ พอนอนลงปุ๊บ กุฏินี้ใหญ่มากเลย ยิ่งกว้างเข้าไปอีก พอเห็นกว้างเมื่อไหร่ เราก็สบายเมื่อนั้น เห็นกว้างเมื่อไหร่ก็สบายแล้ว กุฎิเราแคบลงเพราะของเยอะ เยอะนี่ของใช้หรือของไม่ใช้ ? บ้านเราเต็มไปหมด ถามว่า ของใช้หรือของไม่ใช้ ? ของใช้มีน้อย ของไม่ใช้นี่เยอะ ไม่ค่อยได้ใช้หรอก ตั้งไว้อย่างนั้นแหละ นาน ๆ ใช้ทีมันก็เลยเยอะ

หมดแล้ว หมดอะไรจะพูดแล้ว มีอะไรอีกนี่ ? บอกว่ามาคุยกัน อาจารย์ว่ามาคุยแบบสบาย ๆ ไม่มีพิธีรีตอง อาจารย์พูดคนเดียวทุกที! วันก่อนอาจารย์มานั่งตรงนี้ไม่มีพิธีเลย พูดอยู่ ๓ ชั่วโมง ตอนนี้เขาไม่มีปัญหาแล้ว เวลาเล่าสภาวะนี่คงจะไม่มีปัญหาเหมือนกัน บางทีอาจารย์ดุเลย เล่าไม่ถูกอาจารย์ก็ดุ สภาวะดีนะแต่เล่าอะไรก็ไม่รู้ อันนั้นอาจารย์ดุเลยแหละ ที่ดุเพราะอยากให้ถูก ถ้าสภาวะไม่ดีเล่าไม่ถูกก็ว่าไปอย่างหนึ่ง ถ้าสภาวะดีเล่าไม่ถูกนี่ ดุ ไม่ได้ ธรรมะเล่าไม่ถูกไม่ได้ พอเราไปพูดต่อมันไม่ถูก ไม่ดี! คนถามเราปฏิบัติ เราก็ไปพูดต่อ ความหมายคนละอย่างไม่ตรงกับสภาวะ ไม่ดี

ปีก่อนโน้นท่านแม่ครูพาไปเกาะหมู เกาะเภตรา เกาะเหลาเหลียง พาคุณยายไป ไปนั่งเรือแล้วเขาก็ทำซีฟู้ดบนเรือ อาจารย์ไม่สะดวกหรอกนั่งฉันบนเรือ โยมนักท่องเที่ยวก็ดำดูประการัง เราไม่ได้ลงทะเลหรอก ไม่เคยลงทะเล นั่งเรือแล้วเมา นั่งเรือถ้ามีลมโกรกหน่อยไม่เป็นไร แต่ถ้าแรงไปก็เมา ตอนที่ไปลอยอังคารคุณยาย แม่ของท่านแม่ครู เรือมัน ๒ ชั้น เราไปอยู่ชั้นล่าง พอฉันอาหารเสร็จขึ้นไปอยู่ชั้นบน พอดีลมแรง แล้วคลื่นสูงประมาณสัก ๒ เมตรกว่า หมดสภาพเลย เพิ่งฉันเสร็จนี่คืนทะเลหมดเลย! ขำตัวเอง ช่วงนั้นเมาจริง วันก่อนไปนั่งเรือที่พังงาไม่เมา อากาศดีหน่อย ตอนนี้ไม่ค่อยเมาแล้ว ไม่เมาอะไรง่าย ๆ แล้ว

วันนี้ก็จบไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน พรุ่งนี้ มะรืนนี้ มะเรื่องนี้ ถ้ามีโอกาสอาจจะได้มานั่งคุยต่อ บางทีโยคีไม่ได้ส่งอารมณ์ เมื่อเช้ามีหลายคนไม่ได้ส่งอารมณ์ ก็มานั่งคุยกัน จุดสำคัญที่อยากบอกให้รู้ก็คือ เรามาปฏิบัติ เราจะต้องไม่ลืมว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่เพื่อเห็นอาการเกิดดับ เพื่อนิพพานอย่างเดียว แต่ก่อนจะถึงนิพพาน ระหว่างทางที่เราเดิน เราจะต้องรู้อะไร ? เส้นทางที่ผ่านไปมีอะไรบ้าง ? เขาเปลี่ยนอย่างไร ? สภาพจิตแต่ละขณะเปลี่ยนไปอย่างไร ? และจิตใจเราดีอย่างไร ? ต่างจากเดิมอย่างไร ? อายุอารมณ์เปลี่ยนไปอย่างไร ? ตรงนั้นคือผลที่เกิดขึ้น

เพราะอะไร ? การปฏิบัติธรรมที่เป็นไปเพื่อการขัดเกลาจิตใจของเรา เราจะต้องรับรองตัวเองส่วนหนึ่ง เราจะต้องรู้ด้วยตัวเองว่าดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร ไม่ใช่อยู่ที่อาจารย์บอกว่าอันนี้ถึงแล้วนะ แค่นี้ได้แล้วนะอย่างเดียว พออาจารย์บอกว่านี่ใช่แล้วนะถึงแล้วนะ แต่เราก็ไม่รักษาความดีตรงนั้นที่เกิดขึ้นแล้วให้อยู่เนือง ๆ จริง ๆ แล้วธรรมะที่เกิดขึ้นกับเราเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ๆ เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า แต่ว่าการรักษาหรือให้ธรรมะตรงนั้นนำหน้ายิ่งสำคัญ เพราะว่าจะเป็นตัวประกาศธรรมะ

เรารู้สึกว่าเราอยากประกาศธรรมะ อยากบอกให้คนอื่นได้รู้ได้เห็นถึงความดีของธรรมะ สิ่งที่ประกาศได้ดีที่สุดก็คือ “การกระทำของเรา” นั่นแหละ การแสดงธรรมที่ดีที่สุด ถึงไม่พูดก็แสดงธรรมได้ ด้วยกิริยาด้วยอาการของเรา นั่นแหละสำคัญอย่างมาก! การแสดงออกของเราให้เขาได้รู้ว่า อ๋อ! คนที่มีธรรมะคนที่ปฏิบัติธรรมเป็นแบบนี้ ไม่ใช่พูดอย่างเดียว บางคนไม่ต้องพูดแต่ก็แสดงธรรมะได้ชัดเจน บางคนพูดแล้วธรรมะก็ยังไม่ชัด ถ้าแสดงกิริยาที่มีธรรมะรองรับ หรืออาการตั้งบนบรรยากาศของความรู้สึกที่เป็นธรรมะได้ด้วย กับแสดงด้วยคำบอกกล่าวได้ด้วยก็จะยิ่งดีมาก ๆ ปัญญาตรงนี้เราก็ต้องพิจารณา

การแสดงธรรมของเราก็แสดงอยู่ทุกวัน ๆ การแสดงของเราแสดงให้ดี แล้วก็จะเป็นผลดีกับตัวเรา ธรรมะจะได้รักษาคุ้มครองเราได้อย่างเต็มที่ โดยสภาวธรรมแล้วเขาคุ้มครองเรารักษาเราอยู่แล้วไม่ให้ตกไปสู่อบาย แต่ด้วยการคุ้มครองภายนอก คุ้มครองตัวเอง การเห็นการได้ยินของคนอื่น ภาพที่ออกไปเราก็ควรดูแลให้ดี เขาจะได้บอก อ๋อ! ธรรมะดี มีหลักทำให้คนดีขึ้น จิตใจดีขึ้น คนนี้ใจดีเขามีธรรมะ นั่นแหละ! ก็ขอให้เราทุกคนมีความเจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2020, 12:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร