วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2010, 20:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


ประเพณีการขอขมาคารวะ
ธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์


รูปภาพ
คณะสงฆ์กราบขอขมาคารวะสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร)
ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


:b42: :b42:

มีธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์อย่างหนึ่งใน “เทศกาลเข้าพรรษา” คือพระสงฆ์จะไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระ ที่อาจจะพลั้งเผลอล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกเวลาหากมีความประมาท ก่อนอธิษฐานเข้าพรรษาจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติ คือการกราบขอขมาคารวะต่อพระรัตนตรัย จากนั้นก็จะมากราบขอขมาคารวะต่อพระเถระในอารามที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษา หลังเข้าพรรษาก็จะนิยมเดินทางไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระทั้งหลายตามวัดต่างๆ ขอให้ท่านอดโทษ ยกโทษให้ ดังนั้น หลังวันเข้าพรรษาตามอารามต่างๆ ที่มีพระเถระผู้มีตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์อยู่ จึงมีพระภิกษุสามเณรจากวัดต่างๆ เดินทางมากราบขอขมาคารวะต่อพระเถระ ณ อารามทั้งหลาย

สำหรับธรรมเนียมการกราบขอขมาคารวะ หรือบางครั้งเรียกว่า “ทำวัตร” ของพระวัดป่าปฏิบัติสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั้น นิยมกระทำกันในช่วงก่อนหรือระหว่างเข้าพรรษา (และช่วงเวลาอื่นๆ ตามโอกาสอันเหมาะสมด้วย) ปกติก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรจากหลายวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันมักจะมารวมตัวกันที่วัดใดวัดหนึ่งในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นวัดที่มีพระเถระผู้มีอายุพรรษามากและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพเลื่อมใสในหมู่พระภิกษุสามเณร เพื่อกราบขอขมาคารวะและรับฟังโอวาทธรรม อันเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และยังเป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมกำจัดกิเลสในช่วงฤดูเข้าพรรษาอย่างเต็มที่ ส่วนวันที่พระภิกษุสามเณรท่านจะมารวมตัวกัน มักนิยมวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) คือก่อนเข้าพรรษา ๑ วัน แต่บางแห่งโดยเฉพาะพื้นที่ที่การคมนาคมไม่ค่อยสะดวก อาจจะกำหนดวันก่อนหน้านั้นก็ได้ อย่างเช่น วันอาสาฬหบูชาของทุกปี พระภิกษุสามเณรจำนวนเกือบ ๔๐๐ รูป จากเกือบ ๑๐๐ วัด ในเขตจังหวัดสกลนคร จังหวัดมุกดาหาร และพื้นที่ใกล้เคียง จะเดินทางมารวมตัวกันที่วัดดอยธรรมเจดีย์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เพื่อลงอุโบสถฟังปาฏิโมกข์ กราบขอขมาคารวะและรับฟังโอวาทธรรมจากท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร เป็นต้น

ธรรมเนียมการกราบขอขมาคารวะและรับฟังโอวาทธรรมนี้ ไม่เพียงแต่จะทำกันในช่วงก่อนเข้าพรรษาอย่างเดียว ในช่วงระหว่างเข้าพรรษา ๓ เดือน พระภิกษุสามเณรท่านก็นิยมที่จะเดินทางไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพื้นที่อื่น ซึ่งอาจจะไกลจากวัดที่จำพรรษาด้วย โดยมักจะเดินทางไปเป็นขบวนใหญ่ ทั้งพระภิกษุสามเณรและฆราวาสญาติโยม เพื่อให้ได้มีโอกาสทำบุญและฟังธรรมกับพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยกัน โดยเมื่อเดินทางไปถึงวัดเป้าหมาย หมู่คณะที่เดินทางไปทั้งหมดก็จะได้รับการต้อนรับให้พักผ่อนเสียก่อน

เมื่อพร้อมแล้ว พระผู้เป็นผู้นำหมู่คณะจะถือพานดอกไม้ธูปเทียนนำขอขมาคารวะ โดยการกราบ ๓ ครั้ง และนำกล่าว “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” ๓ จบก่อน

จากนั้นจะนำกล่าวคำขอขมาคารวะเป็นภาษาบาลีว่า

“มหาเถเร ปะมาเทนะ, ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต” (กล่าว ๓ ครั้ง)


แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า : “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเถระจงอดโทษซึ่งความผิดทั้งปวงที่พวกข้าพเจ้าได้กระทำล่วงเกินด้วยความประมาทในพระเถระ ด้วยไตรทวาร”

เสร็จแล้วผู้ขอขมาทั้งหมดจะหมอบกราบลงกับพื้นโดยยังไม่เงยหน้าขึ้น พระเถระผู้รับขมาจะกล่าวคำว่า

“อะหัง ขะมามิ ตุมเหหิปิ ขะมิตัพพัง”


แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า : “ข้าพเจ้ายกโทษให้ และขอให้พวกท่านพึงยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วย”

ผู้ขอขมาทั้งหมดจะกล่าวรับว่า “ขะมามะ ภันเต”

จากนั้นพระเถระผู้รับขมาจะกล่าวให้พร เมื่อจบแล้ว ผู้ขอขมาทั้งหมดจะกล่าวรับพรว่า “สาธุ ภันเต” แล้วจึงเงยหน้าขึ้นจากพื้น และกราบอีก ๓ ครั้ง ก็เป็นอันว่าเสร็จพิธี จากนั้นก็อาจจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาต่อไป ในการกล่าวคำขอขมาคารวะนั้น ถ้าผู้รับขมาเป็นพระมหาเถระผู้มีอาวุโสมาก ให้ใช้คำว่า “มหาเถเร” มีอาวุโสรองจากนั้นให้ใช้คำว่า “เถเร” แทน หรือถ้ามีอาวุโสรองลงมาอีกให้ใช้คำว่า “อาจริเย” แทน ซึ่งผู้ขอขมาควรจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลผู้รับขมา


สำหรับพระเถระผู้รับขมาที่กล่าวให้พรนั้น ก็จะให้พรในทำนองว่าสิ่งที่ทำผิดมาแล้วก็ขอให้แล้วไป ให้กลับตัวกลับใจเสียใหม่เริ่มต้นกันใหม่ ภาษิตที่นิยมนำมาแสดงมาจาก อังคุลิมาลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (๑๓/๕๓๔/๓๙๖) ความว่า ครั้งหนึ่งพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุติสุข ได้เปล่งอุทานในเวลานั้นว่า

โย จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา ปจฺฉา โส นปฺปมชฺชติ
โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภามุตฺโตว จนฺทิมา
ยสฺส ปาปํ กตํ กมฺมํ กุสเลน ปหียติ
โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภามุตฺโตว จนฺทิมาฯ


แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า : “ก็ผู้ใด เมื่อก่อนประมาท ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น ผู้ใดทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ”


พระองคุลิมาลคืออดีตมหาโจรที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคำบรรยายในพระสูตรว่า

“โจรองคุลิมาลเป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงทรงไว้”

พระพุทธเจ้าเสด็จเดินผ่านทางที่องคุลิมาลอาศัยอยู่ องคุลิมาลก็ถือดาบผูกสอดแล่งธนูเดินตามหลังพระพุทธเจ้าไปด้วยเจตนาจะปล้นและฆ่า แต่เดินอย่างไรก็ตามไม่ทัน แม้จะวิ่งก็ยังตามไม่ทันอีก เพราะพระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธาภิสังขารที่แม้องคุลิมาลจะวิ่งเต็มกำลังก็ไม่อาจจะตามทันพระพุทธเจ้าผู้เสด็จไปตามปรกติได้ องคุลิมาลวิ่งจนเหนื่อยจึงกล่าวขึ้นว่า “จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ”

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด”

คำว่า “หยุด” ในอังคุลิมาลสูตร (๑๓/๕๒๕/๓๙๑) พระพุทธเจ้าอธิบายไว้ว่า

“ดูกร องคุลิมาล เราวางอาชญาในสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่าหยุดแล้วในกาลทุกเมื่อ ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจึงหยุดแล้ว ท่านยังไม่หยุด”

ภายหลังองคุลิมาลได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงนิยมเรียกกันว่าโจรกลับใจ จากผู้ร้ายกลายเป็นพระอรหันต์ ในการกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระจึงนิยมนำคำเปล่งอุทานที่พระองคุลิมาลแสดงไว้มาเป็นอุทาหรณ์ว่า แม้ผู้ที่ได้ชื่อว่าทำผิดมามาก แต่ภายหลังก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้

ธรรมเนียมการกราบขอขมาคารวะนี้ เกิดจากธรรมเนียมนิยมของพระพุทธศาสนาที่ว่า ผู้ใดกระทำการล่วงเกินใดๆ ต่อผู้อื่นไว้ ผู้นั้นไม่ควรปล่อยให้ล่วงเลยผ่านไป หากแต่ควรจะขอโทษคือการขอขมา และผู้ที่ถูกล่วงเกินเมื่อได้รับการขอขมา ก็ไม่ควรผูกอาฆาตพยาบาทโกรธไม่หาย ควรจะรับขมาและยกโทษให้

คนเราอาจจะพลั้งเผลอด้วยความประมาทจนทำผิด พูดผิด คิดผิด บางครั้งอาจจะแอบนินทาว่าร้ายต่อพระเถรานุเถระทั้งหลาย เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาในแต่ละปีจึงต้องกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระเหล่านั้น ขอให้ท่านอดโทษ ยกโทษให้ ไม่เอาผิดไม่ถือโทษโกรธเคือง ปุถุชนผิดพลาดกันได้ แต่ทำผิดแล้วยอมรับผิดและพร้อมที่จะแก้ไข ก็มีแนวโน้มจะเป็นคนดีได้ อีกอย่างหนึ่ง พระผู้น้อยก็มีโอกาสได้เข้ากราบถวายเครื่องสักการะแด่พระมหาเถระอันแสดงออกถึงความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพรักนับถือกันตามสมควรแก่ฐานะและอายุพรรษา ใครอุปสมบทก่อนพรรษามากกว่า พระผู้อุปสมบททีหลังก็ต้องให้ความเคารพกันตามธรรมเนียมปฏิบัติ พระสงฆ์ไม่ได้เคารพนับถือกันที่อายุขัย แต่เคารพนับถือกันที่อายุพรรษา ใครอุปสมบทก่อนแม้อายุจะน้อยกว่าก็ต้องกราบไหว้ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

การกราบขอขมาคารวะจึงนับเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบกันมา เป็นกิจที่ผู้น้อยควรทำแก่ผู้ใหญ่ แม้ไม่ได้กระทำการล่วงเกินกันมาก่อน ก็ควรกระทำอยู่เพื่อแสดงถึงการเคารพนับถือกัน ซึ่งธรรมเนียมการเคารพนับถือกันตามอาวุโสนี้ ถ้าหากได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันย่อมจะเป็นการสร้างเสน่ห์และความเจริญให้แก่ตนเอง และเป็นการรักษาไว้ซึ่งประเพณีไทยอันดีงามให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและปฏิบัติตามอย่างถูกต้องสืบต่อไป


รูปภาพ
คณะสงฆ์กราบขอขมาคารวะสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร) กรุงเทพมหานคร


รูปภาพ
คณะสงฆ์กราบขอขมาคารวะสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย)
ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


รูปภาพ

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญเลิศ สุจิตโต ถือพานดอกไม้ นำกล่าวกราบขอขมาคารวะ
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี
ในคราวที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เดินทางมาเยี่ยมวัดบอสตันพุทธวราราม
เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซ็ทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑


รูปภาพ

รูปภาพ
พระอาจารย์ไพโรจน์ วิโรจโน นำคณะสงฆ์วัดบอสตันพุทธวราราม
เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซ็ทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
กราบขอขมาคารวะพระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐



:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของบทความ ::
(๑) เรื่องถวายสักการะขอขมาพระเถระในเทศกาลเข้าพรรษา
เขียนโดย พระมหาบุญไทย ปุญญมโน ๐๘/๐๘/๒๕๕๕

http://www.cybervanaram.net/index.php?o ... &Itemid=14
(๒) เรื่องประเพณีการขอขมา
เขียนโดย คุณภิเนษกรมณ์ (อาจารย์ Pakorn Kengpol)

https://www.facebook.com/notes/pakorn-k ... 1699995199

= การขอนิสัย การขอขมา =
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=48418

:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอาสาฬหบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45499

:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันเข้าพรรษา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45498

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2010, 15:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.ค. 2009, 20:44
โพสต์: 341

ที่อยู่: ภาคตระวันออก

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาในความเพียรเผยแผ่ธรรมกับท่านครับ
ท่านสาธุๆๆๆๆ

:b8: :b28: :b28:

.....................................................
การให้ธรรมะเป็นทานชนะการให้ท้งปวง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ส.ค. 2011, 10:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2014, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2008, 09:20
โพสต์: 349


 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุกับบทความนี้ค่ะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ค. 2018, 12:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุการค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร