วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2018, 13:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สรกานิสูตรที่ ๒
ผู้ถึงสรณคมน์ไม่ไปสู่วินิบาต
[๑๕๓๗] กบิลพัสดุ์นิทาน. ก็สมัยนั้น เจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์ พระผู้มี
พระภาคทรงพยากรณ์ท่าน ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้
ในเบื้องหน้า ดังได้ยินมา พวกเจ้าศากยะมากด้วยกัน มาร่วมประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมยกโทษ
ติเตียนบ่นว่า น่าอัศจรรย์หนอ ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ท่านผู้เจริญ บัดนี้ ในที่นี้
ใครเล่าจักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะเจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์แล้ว พระผู้มีพระภาคทรง
พยากรณ์ท่าน ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า
เจ้าสรกานิศากยะมิได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา.
[๑๕๓๘] ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้
กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะ
ตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดังได้ยินมา พวกเจ้าศากยะมากด้วยกัน มาร่วมประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อม
ยกโทษติเตียนบ่นว่า ... เจ้าสรกานิศากยะมิได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา.
[๑๕๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน จะพึงไปสู่วินิบาตอย่างไรเล่า ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูก
พึงกล่าวอุบาสกนั้นว่า อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน
เมื่อจะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวเจ้าสรกานิศากยะว่า เจ้าสรกานิศากยะเป็นอุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนาน เจ้าสรกานิศากยะนั้นจะพึงไปสู่วินิบาต
อย่างไร?
[๑๕๔๐] ดูกรมหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ...
ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีปัญญาร่าเริง เฉียบแหลม และประกอบด้วยวิมุติ เขาย่อม
กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย
อบาย ทุคติ วินิบาต.
[๑๕๔๑] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่ง แน่วแน่ในพระ-
*พุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีปัญญาร่าเริง เฉียบแหลม แต่ไม่ประกอบด้วยวิมุติ
เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เขาเป็นพระอนาคามี ผู้อันตราปรินิพพายี อุปหัจจ-
*ปรินิพพายี อสังขารปรินิพพายี สสังขารปรินิพพายี อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี บุคคลแม้นี้ก็พ้น
จากนรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.
[๑๕๔๒] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระ-
*พุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ไม่ประกอบด้วย
วิมุติ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง เขาได้เป็นพระสกทาคามี
จักมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก ... อบาย
ทุคติ วินิบาต.
[๑๕๔๓] ดูกรมหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ...
ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบด้วยวิมุติ
เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เขาได้เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะ
ตรัสรู้ในเบื้องหน้า บุคคลแม้นี้ก็พ้นจากนรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.
[๑๕๔๔] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ใน
พระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบ
ด้วยวิมุติ แต่เขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมทนซึ่งการเพ่งด้วยปัญญาของเขา (ยิ่ง) กว่าประมาณ
บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต.
[๑๕๔๕] ดูกรมหาบพิตร ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เลื่อมใสยิ่งแน่วแน่ใน
พระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลม ทั้งไม่ประกอบ
ด้วยวิมุติ แต่เขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ และเขามีศรัทธา มีความรัก
ในพระตถาคตพอประมาณ บุคคลแม้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก ... อบาย ทุคติ วินิบาต.
[๑๕๔๖] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนนาที่ไม่ราบเรียบ มีพื้นไม่ดี ยังมิได้ก่นหลัก
ตอออก และพืชเล่าก็แตกร้าว เสีย ถูกลมและแดดกระทบแล้ว ไม่แข็ง (ลีบ) เก็บไว้ไม่ดี
ถึงฝนจะหลั่งสายน้ำลงมาเป็นอย่างดี พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์บ้างไหม?
พระเจ้ามหานามศกยราชกราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า.
พ. ข้อนี้ฉันใด ดูกรมหาบพิตร ในข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมที่กล่าวไม่ดี
ประกาศไม่ดี ไม่เป็นนิยยานิกธรรม ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศ
อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะนาที่ไม่ราบเรียบ และสาวกเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้น อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะพืชที่ไม่ดี.
[๑๕๔๗] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนนาที่ราบเรียบ มีพื้นดี ก่นหลักตอออกหมด
แล้ว และพืชเล่าก็ไม่แตกร้าว ไม่เสีย ลมและแดดมิได้กระทบ แข็งแกร่ง เก็บไว้ดีแล้ว
ฝนพึงหลั่งสายน้ำลงมาเป็นอย่างดี พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์บ้างไหม?
ม. ได้ พระเจ้าข้า.
พ. ข้อนั้นฉันใด ดูกรมหาบพิตร ในข้อนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมที่กล่าวดีแล้ว
ประกาศดีแล้ว เป็นนิยยานิกธรรม เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะนาที่ราบเรียบ และสาวกเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติ
ชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้น อาตมภาพกล่าวเรื่องนี้ในเพราะพืชที่ไม่ดี จะป่วยกล่าวไป
ไยถึงเจ้าสรกานิศากยะ เจ้าสรกานิศากยะได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในเวลาจะสิ้นพระชนม์.
จบ สูตรที่ ๕

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2018, 13:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อด้วยอุคคตคหฤหบดี
คหบดีคนหนึ่ง เป็นชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี ท่านผู้นี้พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมว่าใครหมดในด้านการบำรุงสงฆ์ (สังฆุปัฏฐาก(๑)) ท่านได้รับตำแหน่งเศรษฐีแทนบิดาในเมื่อบิดาท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปยังหมู่บ้าน หัตถิคามประทับอยู่ที่อุทยานนาควัน เวลานั้นท่านอุคคเศรษฐีได้ดื่มสุราเมามายเป็นเวลา ๗ วัน ในวันสุดท้าย ได้พาพวกเต้นรำออกไปยังอุทยานนาควัน มีการบำรุงบำเรอและเฮฮาร่าเริงกันอย่างเอกเกริก แต่เมื่อเข้าไปพบพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดความละอาย ความเมามายของท่านจึงหายไป ท่านได้ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วนั่งอยู่ในที่สมควรข้างหนึ่ง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมโปรด ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ตั้งแต่นั้นมา ท่านจึงงดการร่าเริงต่าง ๆ เสีย แล้วอนุญาตให้พวกเต้นรำไปอยู่ที่อื่นตามใจชอบ ส่วนตัวท่านเองได้อุทิศชีวิตถวายทานแก่พระสงฆ์ด้วยความเลื่อมใสยิ่ง คืนหนึ่งเทวดาตนหนึ่งได้เข้าไปบอกท่านว่า ภิกษุรูปโน้นได้บรรลุวิชาชา ๓ รูป นั้นได้บรรลุอภิญญา ๖ รูปนั้นเป็ฯผู้มีศีล รูปนี้เป็นผู้ทุศีล แม้จะทราบความจริงเช่นนั้น ท่านก็มิได้คำนึงถึงข้อเสียหายของภิกษุบางรูป ได้แต่พูดสรรเสริญในแง่ดีทั้งนั้น แม้เวลาถวายทานก็ถวายด้วยจิตใจเป็นกลาง สม่ำเสมอ ไม่มีลำเอียง หรือเลือกหน้าถวาย ทั้งถวายด้วยความยินดีเท่าเทียมกัน(๒)

ต่อมา พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระสงฆ์ว่า ท่านอุคคคหบดีมีคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ถึง ๘ อย่าง พอถึงตอนเช้าภิกษุรูปหนึ่งซึ่งได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้น ได้ไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านหัตถิคามแล้วเข้าไปหาท่านอุคคคหบดี ได้ถามท่านคหบดีเกี่ยวกับคุณธรรมที่แปลกน่าอัศจรรย์ ๘ อย่างนั้น ท่านคหบดีตอบว่า ท่านเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าคุณธรรม ๘ อย่าง ที่พระพุทธองค์ตรัสถึงนั้นได้แก่อะไรบ้าง แต่ท่านคหบดีได้อธิบายถึงคุณธรรม ๘ อย่างที่เกิดในใจท่านให้ภิกษุรูปนั้นฟังโดยลำดับว่า

(๑) ขณะที่ท่านกำลังเมาสุราอยู่ที่อุทยานนาควันนั้น เมื่อเห็นพระพุทธองค์เสด็จมา ความเมาสุราของท่านก็ได้สูญสิ้นไป นี้เป็นคุณธรรมข้อแรกที่เกิดขึ้นในใจท่าน

(๒) เมื่อท่านมีใจเลื่อมใสได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้ฟังอนุปุพพิกถา ๕ คือ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา และเนกขัมมกถา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงโปรด แล้วมีจิตปลอดโปร่ง อ่อนโยน ปราศจากนีวรณธรรม เบิกบาน และผ่องใสยิ่ง เหมือนผ้าที่ขาวสะอาดปราศจากจุดด่างดำ ควรรับน้ำย้อมได้ฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงทราบภาวะจิตของท่าน แล้วได้ทรงแสดงสามุกกังสิกธรรมเทศนา คือ อริยสัจ ๔ อันได้แก่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดท่าน ขณะที่นั่งอยู่บนอาสนะนั่นเองท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือมีปัญญาเห็นประจักษ์ว่า สิ่งใดที่เกิดมาแล้วสิ่งนั้นทั้งหมดก็จะต้องดับ จึงชื่อว่าท่านได้เห็นธรรม ได้บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งถึงธรรม หมดความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลง เป็นผู้มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในเรื่องสัตถุศาสน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะสมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สอง

(๓) โดยที่ท่านมีภริยา ๔ คนท่านจึงแจ้งให้ภริยาทราบ ท่านสมาทานสิกขาบทแล้ว ผู้ใดปรารถนาจะใช้โภคทรัพย์ จะทำบุญทำทาน หรือจะกลับไปอยู่บ้านญาติของตน ก็เชิญตามใจชอบ หรือถ้าปรารถนาชายใดก็จะยกให้ชายนั้นตามต้องการ ภริยาหลวงจึงขอให้ท่านยกให้ชายที่ตนชอบคนหนึ่ง ท่านก็ยินดีจัดการให้ตามความประสงค์ ขณะที่บริจาคภริยานั้น ท่านก็มิได้มีจิตคิดฟุ้งซ่าน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สาม

(๔) ท่านมีโภคสมบัติมากมายแต่ท่านมิได้ตระหนี่ ท่านได้แจกจ่ายแก่ท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมโดยทั่วหน้ากัน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่สี่

(๕) ท่านเข้าไปหาภิกษุรูปใด ก็เข้าไปหาด้วยความเคารพ เมื่อฟังธรรมก็ฟังด้วยความเคารพเมื่อภิกษุไม่แสดงธรรมให้ฟัง ท่านก็แสดงให้ภิกษุฟัง นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่ห้า

(๖) เมื่อท่านนิมนต์พระสงฆ์แล้ว แม้จะมีเทวดามาบอกท่านว่า ภิกษุรูปนั้นมีคุณธรรมอย่างนั้น รูปนี้มีคุณธรรมอย่างนี้ รูปนี้มีศีล รูปโน้น ไม่มีศีล ท่านก็มีใจสม่ำเสมอ ได้ถวายทานแก่ภิกษุเหล่านั้นโดยเท่าเทียมกัน นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่หก

(๗) แม้จะมีเทวดาเข้าไปหาท่านและได้สนทนาธรรมกับท่านเสมอ ท่านก็มิได้เกิดความลำพองใจในเพราะเหตุนั้น นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่เจ็ด

(๘) หากท่านจะสิ้นชีวิตก่อนพระพุทธเจ้าท่านก็มิได้อัศจรรย์ใจอะไรเลย ที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเกี่ยวพัน อันจะทำให้เวียนมาเกิดในโลกนี้อีก นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ข้อที่แปด

ภิกษุรูปนั้น เมื่อได้สนทนาและได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถึงคำอธิบายที่ตนได้ฟังมานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสรับรองว่า ธรรมที่ท่านคหบดีแสดงนั้น เป็นธรรมที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ในพระทัย ในเวลาที่ทรงสรรเสริญท่านคหบดีแล้ว(๓)

ในสังยุตตนิกายเล่าว่า ท่านอุคคคหบดีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่หัตถิคาม ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย มิให้สัตว์บางพวกปรินิพพาน ให้บางพวกปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ผู้มีอุปทานย่อมไม่ปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้ ส่วนผู้ไม่มีอุปทานย่อมปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้(๔)

ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านอุคคคหบดีก็เคยเป็นคหบดีเช่นกัน วันหนึ่งท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าได้เห็นพระพุทธองค์ทรงประกาศยกย่องอุบาสกคนหนึ่งว่า เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใครหมดในด่านบำรุงสงฆ์ (สังฆุปัฏฐาก) ท่านมีความเลื่อมใสได้ปรารถนาจะได้รับตำแหน่งเช่นนั้นในอนาคต จึงได้บำเพ็ญบุญกุศลจนตลอดชีวิต และได้รับตำแหน่งนั้นสมปรารถนา ในพุทธุปาทกาล(๕)นี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2018, 13:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สันติอำมาตย์
๙. เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ [๑๑๕]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสันตติมหาอำมาตย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อลงฺกโต เจปิ สมญฺจเรยฺย" เป็นต้น.

สันตติมหาอำมาตย์ได้ครองราชสมบัติ ๗ วัน
ความพิสดารว่า ในกาลครั้งหนึ่ง สันตติมหาอำมาตย์นั้นปราบปรามปัจจันตชนบท ของพระเจ้าปเสนทิโกศล อันกำเริบให้สงบแล้วกลับมา. ต่อมา พระราชาทรงพอพระหฤทัย ประทานราชสมบัติให้ ๗ วัน ได้ประทานหญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนและการขับนางหนึ่งแก่เขา. เขาเป็นผู้มึนเมาสุราสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างแล้ว ขึ้นสู่คอช้างตัวประเสริฐไปสู่ท่าอาบน้ำ เห็นพระศาสดากำลังเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่ระหว่างประตู อยู่บนคอช้างตัวประเสริฐนั่นเอง ผงกศีรษะ ถวายบังคมแล้ว.
พระศาสดาทรงทำการแย้ม พระอานนท์ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล? เป็นเหตุให้ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ" เมื่อจะตรัสบอกเหตุแห่งการแย้ม จึงตรัสว่า
"อานนท์ เธอจงดูสันตติมหาอำมาตย์ ในวันนี้เอง เขาทั้งประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างเทียว มาสู่สำนักของเรา จักบรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาอันประกอบด้วยบท ๔ แล้ว นั่งบนอากาศ ชั่ว ๗ ลำตาล จักปรินิพพาน."
มหาชนได้ฟังพระดำรัสของพระศาสดา ผู้กำลังตรัสกับพระเถระอยู่.

คน ๒ พวกมีความคิดต่างกัน
บรรดามหาชนเหล่านั้น พวกมิจฉาทิฏฐิคิดว่า "ท่านทั้งหลายจงดูกิริยาของพระสมณโคดม, พระสมณโคดมนั้นย่อมพูดสักแต่ปากเท่านั้น ได้ยินว่า ในวันนี้ สันตติมหาอำมาตย์นั่น มึนเมาสุราอย่างนั้น แต่งตัวอยู่ตามปกติ ฟังธรรมในสำนักของพระสมณโคดมนั้นแล้ว จักปรินิพพาน ในวันนี้ พวกเราจักจับผิดพระสมณโคดมนั้นด้วยมุสาวาท."
พวกสัมมาทิฏฐิคิดกันว่า "น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมาก ในวันนี้เราทั้งหลายจักได้ดูการเยื้องกรายของพระพุทธเจ้า และการเยื้องกรายของสันตติมหาอำมาตย์."
ส่วนสันตติมหาอำมาตย์เล่นน้ำตลอดวันที่ท่าอาบน้ำแล้ว ไปสู่อุทยาน นั่งที่พื้นโรงดื่ม.

หญิงฟ้อนเป็นลมตาย
ฝ่ายหญิงนั้นลงไปในท่ามกลางที่เต้นรำ เริ่มจะแสดงการฟ้อนและการขับ เมื่อนางแสดงการฟ้อนการขับอยู่ในวันนั้น ลมมีพิษเพียงดังศัสตราเกิดขึ้นแล้วในภายในท้อง ได้ตัดเนื้อหทัยแล้ว เพราะความที่นางเป็นผู้มีอาหารน้อยถึง ๗ วัน เพื่อแสดงความอ้อนแอ้นแห่งสรีระ. ในทันทีทันใดนั้นเอง นางมีปากอ้าและตาเหลือก ได้กระทำกาละแล้ว.

โศกเพราะภรรยาตาย
สันตติมหาอำมาตย์กล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย จงตรวจดูนางนั้น" ในขณะสักว่าคำอันชนทั้งหลายกล่าวว่า "หญิงนั้นดับแล้ว นาย" ดังนี้ ถูกความโศกอย่างแรงกล้าครอบงำแล้ว. ในขณะนั้นเอง สุราที่เธอดื่มตลอด ๗ วัน ได้ถึงความเสื่อมหายแล้ว ประหนึ่งหยาดน้ำในกระเบื้องที่ร้อนฉะนั้น.
เธอคิดว่า "คนอื่น เว้นพระตถาคตเสีย จักไม่อาจเพื่อจะยังความโศกของเรานี้ให้ดับได้" มีพลกายแวดล้อมแล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดาในเวลาเย็น ถวายบังคมแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความโศกเห็นปานนี้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์, ข้าพระองค์มาแล้ว ก็ด้วยหมายว่า ‘พระองค์จักอาจเพื่อจะดับความโศกของข้าพระองค์นั้นได้’ ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด."

พระศาสดาระงับความโศกของบุคคลได้
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "ท่านมาสู่สำนักของผู้สามารถเพื่อดับความโศกได้แน่นอน อันที่จริง น้ำตาที่ไหลออกของท่านผู้ร้องไห้ในเวลาที่หญิงนี้ตาย ด้วยเหตุนี้นั่นแล มากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้ง ๔" ดังนี้แล้ว
จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
"กิเลสเครื่องกังวลใด มีอยู่ในกาลก่อน เธอจงยังกิเลส
เครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวล จงอย่ามีแก่
เธอในภายหลัง, ถ้าเธอจักไม่ยึดถือขันธ์ ในท่ามกลาง จักเป็น
ผู้สงบระงับ เที่ยวไป."
ในกาลจบพระคาถา สันตติมหาอำมาตย์บรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาดูอายุสังขารของตน ทราบความเป็นไปไม่ได้แห่งอายุสังขารนั้นแล้ว จึงกราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตการปรินิพพานแก่ข้าพระองค์เถิด."
พระศาสดา แม้ทรงทราบกรรมที่เธอทำแล้ว ก็ทรงกำหนดว่า "พวกมิจฉาทิฏฐิประชุมกัน เพื่อข่มขี่ (เรา) ด้วยมุสาวาท จักไม่ได้โอกาส, พวกสัมมาทิฏฐิประชุมกัน ด้วยหมายว่า ‘พวกเราจักดูการเยื้องกรายของพระพุทธเจ้า และการเยื้องกรายของสันตติมหาอำมาตย์’ ฟังกรรมที่สันตติมหาอำมาตย์นี้ทำแล้ว จักทำความเอื้อเฟื้อในบุญทั้งหลาย" ดังนี้แล้ว
จึงตรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงบอกกรรมที่เธอทำแล้วแก่เรา, ก็เมื่อจะบอก จงอย่ายืนบนภาคพื้นบอก จงยืนบนอากาศชั่ว ๗ ลำตาลแล้ว จึงบอก."

แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในอากาศ
สันตติมหาอำมาตย์นั้นทูลรับว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว จึงถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ขึ้นไปสู่อากาศชั่วลำตาลหนึ่ง ลงมาถวายบังคมพระศาสดาอีก ขึ้นไปนั่งโดยบัลลังก์บนอากาศ ๗ ชั่วลำตาลตามลำดับแล้ว ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงสดับบุรพกรรมของข้าพระองค์"
(ดังต่อไปนี้) :-

บุรพกรรมของสันตติมหาอำมาตย์
ในกัลป์ที่ ๙๑ แต่กัลป์นี้ ครั้งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ข้าพระองค์บังเกิดในตระกูลๆ หนึ่ง ในพันธุมดีนคร คิดแล้วว่า ‘อะไรหนอแล? เป็นกรรมที่ไม่ทำการตัดรอนหรือบีบคั้น ซึ่งชนเหล่าอื่น’ ดังนี้แล้ว
เมื่อใคร่ครวญอยู่ จึงเห็นกรรม คือการป่าวร้องในบุญทั้งหลาย
จำเดิมแต่กาลนั้น ทำกรรมนั้นอยู่ ชักชวนมหาชนเที่ยวป่าวร้องอยู่ว่า ‘พวกท่านจงทำบุญทั้งหลาย จงสมาทานอุโบสถ ในวันอุโบสถทั้งหลาย จงถวายทาน จงฟังธรรม ชื่อว่า รัตนะอย่างอื่นเช่นกับพุทธรัตนะเป็นต้นไม่มี พวกท่านจงทำสักการะรัตนะทั้ง ๓ เถิด."

ผลของการชักชวนมหาชนบำเพ็ญการกุศล
พระราชาผู้ใหญ่ทรงพระนามว่าพันธุมะ เป็นพระพุทธบิดา ทรงสดับเสียงของข้าพระองค์นั้น รับสั่งให้เรียกข้าพระองค์มาเฝ้าแล้ว ตรัสถามว่า ‘พ่อ เจ้าเที่ยวทำอะไร?’
เมื่อข้าพระองค์ทูลว่า ‘ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์เที่ยวประกาศคุณรัตนะทั้ง ๓ ชักชวนมหาชนในการบุญทั้งหลาย.’ จึงตรัสถามว่า ‘เจ้านั่งบนอะไรเที่ยวไป?’
เมื่อข้าพระองค์ทูลว่า ‘ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์เดินไป’ จึงตรัสว่า ‘พ่อ เจ้าไม่ควรเพื่อเที่ยวไปอย่างนั้น จงประดับพวงดอกไม้นี้แล้ว นั่งบนหลังม้าเที่ยวไปเถิด’ ดังนี้แล้ว ก็พระราชทานพวงดอกไม้ เช่นกับพวงแก้วมุกดา ทั้งได้พระราชทานม้าที่ฝึกแล้วแก่ข้าพระองค์.
ต่อมา พระราชารับสั่งให้ข้าพระองค์ ผู้กำลังเที่ยวประกาศอยู่อย่างนั้นนั่นแล ด้วยเครื่องบริหารที่พระราชาพระราชทาน มาเฝ้า แล้วตรัสถามอีกว่า ‘พ่อ เจ้าเที่ยวทำอะไร?' เมื่อข้าพระองค์ทูลว่า ‘ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทำกรรมอย่างนั้นนั่นแล’ จึงตรัสว่า ‘พ่อ แม้ม้าก็ไม่สมควรแก่เจ้า เจ้าจงนั่งบนรถนี้เที่ยวไปเถิด’ แล้วได้พระราชทานรถที่เทียมด้วยม้าสินธพ ๔.
แม้ในครั้งที่ ๓ พระราชาทรงสดับเสียงของข้าพระองค์แล้ว รับสั่งให้หา ตรัสถามว่า ‘พ่อ เจ้าเที่ยวทำอะไร’ เมื่อข้าพระองค์ทูลว่า ‘ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทำกรรมนั้นแล’ จึงตรัสว่า ‘แน่ะพ่อ แม้รถก็ไม่สมควรแก่เจ้า’ แล้วพระราชทานโภคะเป็นอันมาก และเครื่องประดับใหญ่ ทั้งได้พระราชทานช้างเชือกหนึ่งแก่ข้าพระองค์.
ข้าพระองค์นั้นประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง นั่งบนคอช้าง ได้ทำกรรมของผู้ป่าวร้องธรรมสิ้นแปดหมื่นปี กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกายของข้าพระองค์นั้น กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปาก ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้
นี้เป็นกรรมที่ข้าพระองค์ทำแล้ว."

การปรินิพพานของสันตติมหาอำมาตย์
สันตติมหาอำมาตย์นั้น ครั้นทูลบุรพกรรมของตนอย่างนั้นแล้ว นั่งบนอากาศเทียว เข้าเตโชธาตุ ปรินิพพานแล้ว. เปลวไฟเกิดขึ้นในสรีระไหม้เนื้อและโลหิตแล้ว. ธาตุทั้งหลายดุจดอกมะลิเหลืออยู่แล้ว.
พระศาสดาทรงคลี่ผ้าขาว ธาตุทั้งหลายก็ตกลงบนผ้าขาวนั้น.
พระศาสดาทรงบรรจุธาตุเหล่านั้นแล้ว รับสั่งให้สร้างสถูปไว้ที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง ด้วยทรงประสงค์ว่า "มหาชนไหว้แล้ว จักเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ."

สันตติมหาอำมาตย์ควรเรียกว่าสมณะหรือพราหมณ์
พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุ สันตติมหาอำมาตย์บรรลุพระอรหัตในเวลาจบพระคาถาๆ เดียว ยังประดับประดาอยู่นั่นแหละ นั่งบนอากาศปรินิพพานแล้ว, การเรียกเธอว่า ‘สมณะ’ ควรหรือหนอแล? หรือเรียกเธอว่า ‘พราหมณ์’ จึงจะควร."
พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ? เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลว่า "พวกข้าพระองค์นั่งประชุมกันด้วยกถาชื่อนี้"
จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย การเรียกบุตรของเรา แม้ว่า ‘สมณะ’ ก็ควร, เรียกว่า ‘พราหมณ์’ ก็ควรเหมือนกัน" ดังนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2018, 06:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๘. เรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร [๑๐๒]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภนายพรานชื่อกุกกุฏมิตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปาณิมฺหิ เจ วโณ นาสฺส" เป็นต้น.

ธิดาเศรษฐีรักพรานกุกกุฏมิตร
ได้ยินว่า ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ เจริญวัยแล้ว เพื่อประโยชน์แก่การรักษา มารดาบิดาจึงมอบหญิงคนใช้ให้คนหนึ่ง ให้อยู่ในห้องบนปราสาท ๗ ชั้น
ในเวลาเย็นวันหนึ่ง แลไปในระหว่างถนนทางหน้าต่าง เห็นนายพรานคนหนึ่งชื่อกุกกุฏมิตร ผู้ถือบ่วง ๕๐๐ และหลาว ๕๐๐ ฆ่าเนื้อทั้งหลายเลี้ยงชีพ ฆ่าเนื้อ ๕๐๐ ตัวแล้วบรรทุกเกวียนใหญ่ให้เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์เหล่านั้น นั่งบนแอกเกวียนเข้าไปสู่พระนคร เพื่อต้องการขายเนื้อ เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในนายพรานนั้น ให้บรรณาการในมือหญิงคนใช้ ส่งไปว่า "เจ้าจงไป จงให้บรรณาการแก่บุรุษนั้น รู้เวลาไป (ของเขา) แล้วจงมา."
หญิงคนใช้ไปแล้ว ให้บรรณาการแก่นายพรานนั้นแล้ว ถามว่า "ท่านจักไปเมื่อไร?" นายพรานตอบว่า "วันนี้ เราขายเนื้อแล้ว จักออกไปโดยประตูชื่อโน้นแต่เช้าเทียว." หญิงคนใช้ฟังคำที่นายพรานนั้นบอกแล้ว กลับมาบอกแก่นาง.

ธิดาเศรษฐีลอบหนีไปกับนายพราน
ธิดาเศรษฐีรวบรวมผ้าและอาภรณ์อันควรแก่ความเป็นของที่ตนควรถือเอา นุ่งผ้าเก่า ถือหม้อออกไปแต่เช้าตรู่เหมือนไปสู่ท่าน้ำกับพวกนางทาสี ถึงที่นั้นแล้วได้ยืนคอยการมาของนายพรานอยู่. แม้นายพรานก็ขับเกวียนออกไปแต่เช้าตรู่.
ฝ่ายนางก็เดินตามหลังนายพรานนั้นไป. เขาเห็นนางจึงพูดว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักเจ้าว่า ‘เป็นธิดาของผู้ชื่อโน้น’ แน่ะแม่ เจ้าอย่าตามฉันไปเลย."
นางตอบว่า "ท่านไม่ได้เรียกฉันมา, ฉันมาตามธรรมดาของตน, ท่านจงนิ่ง ขับเกวียนของตนไปเถิด." เขาห้ามนางแล้วๆ เล่าๆ ทีเดียว. ครั้นนางพูดกับเขาว่า "อันการห้ามสิริอันมาสู่สำนักของตนย่อมไม่ควร" นายพรานทราบการมาของนางเพื่อตนโดยไม่สงสัยแล้ว ได้อุ้มนางขึ้นเกวียนไป.
มารดาบิดาของนางให้คนหาข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่พบ สำคัญว่า "นางจักตายเสียแล้ว" จึงทำภัตเพื่อผู้ตาย๑- แม้นางอาศัยการอยู่ร่วมกับนายพรานนั้น คลอดบุตร ๗ คนโดยลำดับ ผูกบุตรเหล่านั้นผู้เจริญวัยเติบโตแล้ว ด้วยเครื่องผูก คือเรือน๒-
____________________________
๑- ทำบุญเลี้ยงพระแล้วอุทิศผลบุญให้ผู้ตาย.
๒- จัดแจงแต่งงานให้มีเหย้าเรือน.

กุกกุฏมิตรอาฆาตในพระพุทธเจ้า
ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นนายพรานกุกกุฏมิตรกับบุตรและสะใภ้ เข้าไปภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญว่า "นั่นเหตุอะไรหนอแล?" ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของชนเหล่านั้นแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร ได้เสด็จไปที่ดักบ่วงของนายพรานนั้นแต่เช้าตรู่. วันนั้นแม้เนื้อสักตัวหนึ่งก็มิได้ติดบ่วง.
พระศาสดาทรงแสดงรอยพระบาทที่ใกล้บ่วงของเขา แล้วประทับนั่งที่ใต้ร่มพุ่มไม้พุ่มหนึ่งข้างหน้า. นายพรานกุกกุฏมิตรถือธนูไปสู่บ่วงแต่เช้าตรู่ ตรวจดูบ่วงจำเดิมแต่ต้น ไม่พบเนื้อแม้ตัวเดียวซึ่งติดบ่วง ได้เห็นรอยพระบาทของพระศาสดาแล้ว.
ทีนั้น เขาได้ดำริฉะนี้ว่า "ใครเที่ยวปล่อยเนื้อตัวติด (บ่วง) ของเรา" เขาผูกอาฆาตในพระศาสดา เมื่อเดินไปก็พบพระศาสดาประทับนั่งที่โคนพุ่มไม้ คิดว่า "สมณะองค์นี้ปล่อยเนื้อของเรา เราจักฆ่าสมณะนั้นเสีย" ดังนี้แล้ว ได้โก่งธนู.
พระศาสดาให้โก่งธนูได้ (แต่) ไม่ให้ยิง (ธนู) ไปได้. เขาไม่อาจทั้งเพื่อปล่อยลูกศรไป ทั้งลดลง มีสีข้างทั้ง ๒ ปานดังจะแตก มีน้ำลายไหลออกจากปาก เป็นผู้อ่อนเพลีย ได้ยืนอยู่แล้ว.
ครั้งนั้น พวกบุตรของเขาไปเรือนพูดกันว่า "บิดาของเราล่าช้าอยู่ จักมีเหตุอะไรหนอ?" อันมารดาส่งไปว่า "พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าจงไปสู่สำนักของบิดา" ต่างก็ถือธนูไปเห็นบิดายืนอยู่เช่นนั้น คิดว่า "ผู้นี้จักเป็นปัจจามิตรของบิดาพวกเรา." ทั้ง ๗ คนโก่งธนูแล้ว ได้ยืนอยู่เหมือนกับบิดาของพวกเขายืนแล้ว เพราะอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า.

กุกกุฏมิตรเลิกอาฆาตในพระพุทธเจ้า
ลำดับนั้น มารดาของพวกเขาคิดว่า "ทำไมหนอแล? บิดา (และ) บุตรจึงล่าช้าอยู่" ไปกับลูกสะใภ้ ๗ คน เห็นชนเหล่านั้นยืนอยู่อย่างนั้น คิดว่า "ชนเหล่านี้ยืนโก่งธนูต่อใครหนอแล?" แลไปก็เห็นพระศาสดา จึงประคองแขนทั้ง ๒ ร้องลั่นขึ้นว่า "พวกท่านอย่ายังบิดาของเราให้พินาศ พวกท่านอย่ายังบิดาของเราให้พินาศ."
นายพรานกุกกุฏมิตรได้ยินเสียงนั้นแล้ว คิดว่า "เราฉิบหายแล้วหนอ นัยว่า ผู้นั้นเป็นพ่อตาของเรา, ตายจริง เราทำกรรมหนัก." แม้พวกบุตรของเขาก็คิดว่า "นัยว่า ผู้นั้นเป็นตาของเรา, ตายจริง เราทำกรรมหนัก." นายพรานกุกกุฏมิตร เข้าไปตั้งเมตตาจิตไว้ว่า "คนนี้เป็นพ่อตาของเรา." แม้พวกบุตรของเขาก็เข้าไปตั้งเมตตาจิตว่า "คนนี้เป็นตาของพวกเรา."
ขณะนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มารดาของพวกเขาพูดว่า "พวกเจ้าจงทิ้งธนูเสียโดยเร็ว แล้วให้บิดาของฉันอดโทษ."

เขาทั้งหมดสำเร็จโสดาปัตติผล
พระศาสดาทรงทราบจิตของเขาเหล่านั้นอ่อนแล้ว จึงให้ลดธนูลงได้. ชนเหล่านั้นทั้งหมดถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ให้พระองค์อดโทษว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงอดโทษแก่ข้าพระองค์" ดังนี้แล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสอนุปุพพีกถาแก่พวกเขา. ในเวลาจบเทศนา นายพรานกุกกุฏมิตรพร้อมทั้งบุตรและสะใภ้มีตนเป็นที่ ๑๕ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต ได้เสด็จไปสู่วิหารภายหลังภัต.
ลำดับนั้น พระอานนทเถระทูลถามพระองค์ว่า "วันนี้พระองค์เสด็จไปไหน? พระเจ้าข้า."
พระศาสดา. ไปสำนักของกุกกุฏมิตร อานนท์.
พระอานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายพรานกุกกุฏมิตร พระองค์ทำให้เป็นผู้ไม่ทำกรรม คือปาณาติบาตแล้วหรือ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เออ อานนท์ นายพรานกุกกุฏมิตรนั้นมีตนเป็นที่ ๑๕ ตั้งอยู่ในศรัทธาอันไม่คลอนแคลน เป็นผู้หมดสงสัยในรัตนะ ๓ เป็นผู้ไม่ทำกรรมคือปาณาติบาตแล้ว.
พวกภิกษุกราบทูลว่า "แม้ภริยาของเขามีมิใช่หรือ? พระเจ้าข้า"
พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย นางเป็นกุมาริกาในเรือนของผู้มีตระกูลเทียว บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว."

พระโสดาบันไม่ทำบาป
พวกภิกษุสนทนากันว่า "ได้ยินว่า ภริยาของนายพรานกุกกุฏมิตร บรรลุโสดาปัตติผลในกาลที่ยังเป็นเด็กหญิงนั่นแล แล้วไปสู่เรือนของนายพรานนั้น ได้บุตร ๗ คน, นางอันสามีสั่งตลอดกาลเท่านี้ว่า ‘หล่อนจงนำธนูมา นำลูกศรมา นำหอกมา นำหลาวมา นำข่ายมา’ ได้ให้สิ่งเหล่านั้นแล้ว นายพรานนั้นถือเครื่องประหารที่นางให้ไปทำปาณาติบาต แม้พระโสดาบันทั้งหลายยังทำปาณาติบาตอยู่หรือหนอ?"
พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้"
ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พระโสดาบันย่อมไม่ทำปาณาติบาต แต่นางได้ทำอย่างนั้น ด้วยคิดว่า ‘เราจักทำตามคำสามี’ จิตของนางไม่มีเลยว่า สามีนั้นจงถือเอาเครื่องประหารนี้ไปทำปาณาติบาต
จริงอยู่ เมื่อแผลในฝ่ามือไม่มี ยาพิษนั้นก็ไม่อาจจะให้โทษแก่ผู้ถือยาพิษได้ฉันใด ชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป แม้นำเครื่องประหารทั้งหลาย มีธนูเป็นต้นออกให้ เพราะไม่มีอกุศลเจตนาฉันนั้นเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
๘. ปาณิมฺหิ เจ วโณ นาสฺส หเรยฺย ปาณินา วิสํ
นาพฺพณํ วิสมเนฺวติ นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต.
ถ้าแผลไม่พึงมีในฝ่ามือไซร้, บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้,
เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมเข้าสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ฉันใด,
บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำอยู่ ฉันนั้น.

แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาสฺส แปลว่า ไม่พึงมี.
บทว่า หเรยฺย แปลว่า พึงอาจนำไปได้.
ถามว่า "เพราะเหตุไร?"
แก้ว่า "เพราะยาพิษไม่ซึมไปสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล"
จริงอยู่ ยาพิษย่อมไม่อาจซึมซาบเข้าสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ฉันใด ชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป แม้นำเครื่องประหารทั้งหลายมีธนูเป็นต้นออกให้ เพราะไม่มีอกุศลเจตนา ฉันนั้นเหมือนกัน
แท้จริง บาปย่อมไม่ติดตามจิตของบุคคลนั้น เหมือนยาพิษไม่ซึมเข้าไปสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผลฉะนั้น ดังนี้แล.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว.

บุรพกรรมของกุกกุฏมิตรพร้อมด้วยบุตรและสะใภ้
โดยสมัยอื่น พวกภิกษุสนทนากันว่า "อะไรหนอแล เป็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของนายพรานกุกกุฏมิตร ทั้งบุตร และสะใภ้? นายพรานกุกกุฏมิตรนี้เกิดในตระกูลของพรานเนื้อ เพราะเหตุอะไร?"
พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้."
ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล หมู่ชนจัดสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระกัสสปทสพล กล่าวกันอย่างนี้ว่า "อะไรหนอ จักเป็นดินเหนียว? อะไรหนอ จักเป็นน้ำเชื้อแห่งเจดีย์นี้?"

การสร้างเจดีย์ในสมัยก่อน
ทีนั้น พวกเขาได้มีปริวิตกนี้ว่า "หรดาลและมโนสิลาจักเป็นดินเหนียว, น้ำมันงาจักเป็นน้ำเชื้อ." พวกเขาตำหรดาลและมโนสิลาแล้ว ผสมกับน้ำมันงา ก่อด้วยอิฐ ปิดด้วยทองคำ แล้วเขียนลวดลายข้างใน. แต่ที่มุขภายนอกมีอิฐเป็นทองทั้งแท่งเทียว. อิฐแผ่นหนึ่งๆ ได้มีค่าแสนหนึ่ง.
พวกเขา เมื่อเจดีย์สำเร็จแล้ว จนถึงกาลจะบรรจุพระธาตุ คิดกันว่า "ในกาลบรรจุพระธาตุ ต้องการทรัพย์มาก, พวกเราจักทำใครหนอแล ให้เป็นหัวหน้า?"

แย่งกันเป็นหัวหน้าในการบรรจุพระธาตุ
ขณะนั้น เศรษฐีบ้านนอกคนหนึ่ง กล่าวว่า "ข้าพเจ้าจักเป็นหัวหน้า" ได้ใส่เงิน ๑ โกฏิ ในที่บรรจุพระธาตุ. ชาวแว่นแคว้นเห็นกิริยานั้น ติเตียนว่า "เศรษฐีในกรุงนี้ ย่อมรวบรวมทรัพย์ไว้ถ่ายเดียว ไม่อาจเป็นหัวหน้าในเจดีย์เห็นปานนี้ได้, ส่วนเศรษฐีบ้านนอกใส่ทรัพย์ ๑ โกฏิ เป็นหัวหน้าทีเดียว."
เศรษฐีในกรุงนั้นได้ยินถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า "เราจักให้ทรัพย์ ๒ โกฏิแล้วเป็นหัวหน้า" ได้ให้ทรัพย์ ๒ โกฏิแล้ว.
เศรษฐีบ้านนอกคิดว่า "เราเองจักเป็นหัวหน้า" ได้ให้ทรัพย์ ๓ โกฏิ. ครั้นเศรษฐีทั้ง ๒ เพิ่มทรัพย์กันด้วยอาการอย่างนั้น เศรษฐีในกรุงได้ให้ทรัพย์ ๘ โกฏิแล้ว.
ส่วนเศรษฐีบ้านนอกมีทรัพย์ ๙ โกฏิเท่านั้นในเรือน. เศรษฐีในกรุงมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ. เพราะฉะนั้น เศรษฐีบ้านนอกจึงคิดว่า "ถ้าเราให้ทรัพย์ ๙ โกฏิไซร้. เศรษฐีนี้จักกล่าวว่า "เราจักให้ ๑๐ โกฏิ." เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหมดทรัพย์ของเราจักปรากฏ" เธอจึงกล่าวอย่างนี้ว่า "เราจักให้ทรัพย์ประมาณเท่านี้ และเราทั้งลูกและเมียจักเป็นทาสของเจดีย์" ดังนี้แล้ว พาบุตรทั้ง ๗ คน สะใภ้ทั้ง ๗ คนและภริยา มอบแก่เจดีย์พร้อมกับตน.

เศรษฐีบ้านนอกได้เป็นหัวหน้า
ชาวแว่นแคว้นทำเศรษฐีบ้านนอกนั้นให้เป็นหัวหน้า ด้วยอ้างว่า "ชื่อว่าทรัพย์ใครๆ ก็อาจให้เกิดขึ้นได้, แต่เศรษฐีบ้านนอกนี้พร้อมทั้งบุตรและภริยา มอบตัว (เฉพาะเจดีย์) เศรษฐีนี้แหละจงเป็นหัวหน้า." ชนทั้ง ๑๖ คนนั้น ได้เป็นทาสของเจดีย์ด้วยประการฉะนี้. แต่ชาวแว่นแคว้นได้ทำพวกเขาให้เป็นไท แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็ปฏิบัติเจดีย์นั่นแล ดำรงอยู่ตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก.
เมื่อชนเหล่านั้นอยู่ในเทวโลกตลอด ๑ พุทธันดร ในพุทธุปบาทนี้ ภริยาจุติจากเทวโลกนั้น บังเกิดเป็นธิดาเศรษฐีในกรุงราชคฤห์.

คติของผู้ไม่เห็นสัจจะไม่แน่นอน
นางยังเป็นเด็กหญิงเทียว บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ก็ชื่อว่าปฏิสนธิของสัตว์ผู้ยังไม่เห็นสัจจะ เป็นภาระหนัก เพราะฉะนั้น สามีของนางจึงเวียนกลับไปเกิดในสกุลพรานเนื้อ. ความสิเนหาในก่อนได้ครอบงำธิดาของเศรษฐี พร้อมกับการเห็นนายพรานกุกกุฏมิตรนั้นแล.
จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสคำนี้ไว้ว่า
ความรักนั้น ย่อมเกิด เพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ อย่างนี้ คือ
เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑
ดุจดอกบัวเกิดในน้ำ (เพราะอาศัยเปือกตมและน้ำ) ฉะนั้น.
ธิดาของเศรษฐีนั้นได้ไปสู่ตระกูลของพรานเนื้อ เพราะความสิเนหาในปางก่อน แม้พวกบุตรของนางก็จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในท้องของนางนั่นแล.
แม้เหล่าสะใภ้ของนางบังเกิดในที่นั้นๆ เจริญวัยแล้ว ได้ไปสู่เรือนของชนเหล่านั้นนั่นแหละ. ชนเหล่านั้นทั้งหมดปฏิบัติเจดีย์ในกาลนั้น ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยอานุภาพแห่งกรรมนั้น ดังนี้แล.

เรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร จบ.

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ค. 2019, 09:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: สาธุ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร