วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2019, 08:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สามเณรกุมารกัสสปะ อรหันต์น้อยชีวิตพิสดาร
:: เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

สามเณรรูปต่อไปที่กล่าวถึงคือ สามเณรกุมารกัสสปะ เรื่องราวของท่านมหัศจรรย์พันลึกจริงๆ ครับ เป็นอย่างไร โปรดตามข้าพเจ้ามา

มีธิดาเศรษฐีเมืองราชคฤห์นางหนึ่ง มีอุปนิสัยในการบรรพชา อยากบวชมาตั้งแต่รู้ความ ขออนุญาตพ่อแม่ไปบวชในสำนักนางภิกษุณี ก็ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเติบโตเป็นสาวแล้ว พ่อแม่ก็ตกแต่งให้มีครอบครัวกับชายที่มีฐานะทัดเทียมกัน แต่งงานไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว ความคิดอยากจะบวชยังไม่เลือนหายไปจากส่วนลึกของจิตใจ นางจึงขออนุญาตสามีไปบวช สามีคงเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของนางกระมัง ในที่สุดได้อนุญาตตามที่ขอนางจึงไปบวชอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี

บวชไม่นาน ครรภ์ก็โตขึ้นๆ จนปิดบังไม่อยู่ เมื่อความลับเปิดเผยว่า นางภิกษุณีตั้งท้อง ใครรู้เข้าก็ตำหนิติเตียน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเป็นข่าวใหญ่ทางสื่อมวลชนไม่แพ้ข่าวสมีเขียว เพียงแต่ว่า เรื่องสมีเขียวเป็นเรื่องจริง แต่นางภิกษุณีรูปนี้มิได้ทำผิดตามที่เป็นข่าว

ว่ากันว่า สำนักภิกษุณีที่นางสังกัดอยู่ในความดูแลของพระเทวทัต ข่าวภิกษุณีมีท้องรู้ถึงหูพระเทวทัต ท่านก็ “ฟันธง” ทันทีว่า นางภิกษุณีต้อง “อันติมวัตถุ” คือต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว จึงสั่งให้สึกโดยไม่ต้องสอบสวนให้เปลืองสมอง

นางภิกษุณีผู้น่าสงสาร ก็อุทธรณ์ว่านางไม่มีความผิดตามกล่าวหา ขอความเป็นธรรมด้วย พระเทวทัตก็ไม่ยอม พูดว่า ก็ท้องเห็นๆ อยู่จะว่าไม่ผิดได้อย่างไร อยู่ๆ มันป่องขึ้นมาเองหรือ อย่างนี้แสดงว่านางมี “เพศสัมพันธ์” กับบุรุษทั้งผ้าเหลืองแน่นอน

นางบอกเหล่าภิกษุณีว่า นางมิได้บวชอุทิศพระเทวทัต นางบวชอุทิศพระศาสดา (หมายความว่าไม่ได้บวชเป็นศิษย์พระเทวทัต บวชเป็นสาวกของพระศาสดาต่างหาก) ขอให้พานางไปกราบทูลขอพระมหากรุณาจากพระบรมศาสดาเถิด ภิกษุณีทั้งหลายจึงพานางไปเฝ้าพระพุทธองค์ ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี

พระองค์รับสั่งให้พระอุบาลีผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย สอบสวนอธิกรณ์นี้ พระอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะของสตรี บุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภิกษุอย่างท่าน จะจัดการเรื่องนี้คงไม่ถนัด จึงไปขอร้องนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ช่วยสอบสวน

นางวิสาขาให้กั้นม่าน นำนางภิกษุณีเข้าไปตรวจสอบภายใน (ภายในม่านครับและอาจจะ “ภายใน” จริงๆ ด้วยเพื่อความแน่นอน) ตรวจดูมือเท้าท้องและสะดือว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซักถามวันเวลาที่บวช วันเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย วันเวลาที่รู้สึกว่าประจำเดือนไม่มา คำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่า

นางตั้งครรภ์ก่อนออกบวชเป็นภิกษุณี

นางและคณะผู้สอบสวนจึงรายงานผลการสอบสวนให้พระอุบาลีทราบ พระเถระได้นำความกราบทูลพระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์รับสั่งประชุมสงฆ์ ตรัสรับรองความบริสุทธิ์ของนางภิกษุณี เกือบโดนไล่สึกฟรี โดยพระเทวทัตผู้ไม่รอบคอบแล้วละครับ

นางอุ้มท้องอยู่สำนักนางภิกษุณีจนครบกำหนด ก็คลอดลูกชายน่าเกลียดน่าชังคนหนึ่ง เลี้ยงดูตามมีตามเกิด ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าภิกษุณีในสำนัก

เย็นวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินตรวจบริเวณวัด หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ตามปกติ ได้ยินเสียงทารกร้อง จึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังกุฏิที่มีเสียงเด็กร้องลอดออกมา ด้วยความสงสัยในพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จเข้าไปก็ทอดพระเนตรเห็นนางภิกษุณีรูปหนึ่งกำลังให้นมทารกน้อยอยู่ จึงตรัสถาม ได้รับการถวายพระพรถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นว่าภิกษุณีมีความลำบากในการเลี้ยงลูก จึงตรัสขอไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรมในพระราชวัง นางก็ตัดใจมอบให้ไปเพื่อเห็นแก่อนาคตของลูกน้อย เด็กน้อยได้รับขนานนามว่า “กุมารกัสสปะ” แปลว่า กัสสปะผู้ได้รับการเลี้ยงดูดุจพระราชกุมารอื่นๆ

กุมารกัสสปะเจริญเติบโตพอรู้เดียงสาได้ทราบว่าตนเป็นลูกไม่มีพ่อ เกิดสลดใจอยากบวช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกบวชในสำนักของภิกษุสงฆ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ได้บอกว่าอายุเท่าไหร่ แต่ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท บอกว่าเป็นเวลา ๑๒ ปี

นับแต่ลูกน้อยจากไปภิกษุณีผู้เป็นแม่ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม มัวคิดถึงแต่ลูกน้อยผู้จากไป แสดงว่า กุมารกัสสปะคงบวชสามเณรเมื่ออายุประมาณสิบกว่าขวบ

วันหนึ่งขณะสามเณรกุมารกัสสปะไปบิณฑบาตในเมือง นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาก็ไปบิณฑบาตเช่นเดียวกัน นางเห็นสามเณรน้อยจำได้ว่าเป็นลูกชายของตน (จำได้อย่างไรไม่ทราบ เพราะจากไปตั้งแต่ยังเล็กๆ) จึงวิ่งเข้าไปหาปากก็ร้องเรียกว่า “โอ ลูกแม่ๆ” ล้มลงต่อหน้าบุตรชาย ถันหลั่งขีรธาราออกมาเปียกจีวรหมด (นี่ก็ “เว่อร์” อีก ตั้งสิบสองปีแล้ว น้ำนมยังไหลอยู่หรือ)

สามเณรน้อยอรหันต์คิดว่า ถ้าแม่เราได้ยินมธุรสวาจาจากเรา นางก็ยิ่งจะตัดความรักบุตรไม่ขาด เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมแน่นอน คิดแล้วก็กล่าวกับมารดาด้วยเสียงห้าวๆ ว่า

“มัวทำอะไรอยู่ จนป่านนี้แล้ว ยังตัดไม่ขาดกระทั่งความรักลูก”

คำพูดของสามเณรลูกชาย เป็นดุจสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงกลางกระหม่อม นางร้องไห้ด้วยความเสียใจล้มสลบลง ฟื้นขึ้นมาไม่รู้สามเณรน้อยบุตรชายไปที่ไหนเสียแล้ว

นางคร่ำครวญอย่างน่าสงสารว่า ดูหรือลูกเรา เราร้องไห้คร่ำครวญหาด้วยความรักความห่วงใยมาเป็นเวลาสิบสองปี พอพบหน้าจะพูดดีกับเราสักคำก็ไม่มี ช่างใจไม้ไส้ระกำอะไรปานนั้น

นางพยายามข่มใจ ตัดความรักในบุตรได้ เรียกว่าเมื่อลูกไม่ง้อแม่ก็ไม่ง้อเหมือนกัน ว่าอย่างนั้นเถิด ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรทางจิต ไม่นานก็สามารถบรรลุมรรคผลชั้นสูง คือเป็นพระอรหันต์

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2019, 08:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สามเณรกุมารกัสสปะเมื่ออายุครบบวชพระ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา ว่ากันว่าท่านได้บรรลุธรรม เพราะได้ฟังปัญหาพยากรณ์ (การตีปริศนาธรรม) ๑๕ ข้อจากพระพุทธองค์ แล้วนำไปเพ่งพิจารณาในป่าอัมพวัน (ป่ามะม่วงแห่งหนึ่ง) จนกระทั่งกระจ่าง “สว่างวาบในใจ” บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา (ความแตกฉานในเรื่องต่างๆ ๔ ประการ) ในคัมภีร์มิได้ระบุชัดว่า ท่านบรรลุก่อนบวชพระหรือขณะยังเป็นสามเณรอยู่

หลังจากอุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าพระกุมารกัสสปะมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการแสดงธรรมอย่างวิจิตร มีปฏิภาณปัญญาฉับไว โต้ตอบปัญหายากๆ ได้อย่างดี จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการแสดงธรรมอันวิจิตร

สมัยหนึ่งขณะท่านกุมารกัสสปะอยู่ที่ป่าอันธวัน เมืองสาวัตถี เทวดาตนหนึ่งปรากฏตัวต่อหน้าท่านกล่าวปริศนาธรรม ๑๕ ข้อแล้วก็หายวับไป

ท่านกุมารกัสสปะนึกอย่างไรก็ไม่ทราบคำตอบ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถามปริศนาธรรม ๑๕ ข้อนั้น และกราบทูลขอคำอธิบายจากพระพุทธองค์


:b44: ปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ (วัมมิกสูตร) นั้นคือ

มีจอมปลวกหนึ่ง กลางคืนพ่นควัน กลางวันลุกเป็นไฟ พราหมณ์คนหนึ่งสั่งศิษย์ชื่อ สุเมธ ให้เอาจอบมาขุดจอมปลวกนั้น สุเมธจึงขุดลงไปพบลิ่มสลัก พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบอึ่งอ่าง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบทางสองแพร่ง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบหม้อน้ำด่าง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเต่า พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเขียงหั่นเนื้อ พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบชิ้นเนื้อ พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบพญานาค พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกว่า อย่าไปทำอันตรายมัน จงเคารพนอบน้อมมันอย่างดีที่สุด

พระพุทธเจ้าตรัสไขปริศนาให้ท่านกุมารกัสสปะฟัง ดังนี้

๑. จอมปลวกนั้น หมายถึง ร่างกายของคนเรา อันประกอบขึ้นด้วย ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นี้เอง

๒. กลางคืนพ่นควัน หมายถึง คนเราเมื่อเวลากลางคืน มันจะคิดวางแผนว่าจะทำนั่นทำนี่ จนสมองเต็มไปด้วยโครงการต่างๆ เต็มไปหมด (มีโครงการซี่โครงไก่เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น) นี่แหละเรียกว่ากลางคืนพ่นควันละ

๓. กลางวันลุกเป็นไฟ หมายถึง พอเช้าขึ้นมาก็จะไปทำตามแผนการที่วางไว้ให้เป็นรูปร่าง เหนื่อยแทบสายใจจะขาด ดังคำพังเพยว่า “อาบเหงื่อต่างน้ำ” จนแทบว่าร่างกายจะลุกเป็นไฟ (แค่โครงการซี่โครงไก่ยังต้องระเบิดอารมณ์ใส่ผู้สื่อข่าว จนแทบลุกเป็นไฟเลยครับ)

๔. พราหมณ์ หมายถึง ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ในกรณีนี้เพ่งเอาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

๕. สุเมธ ผู้เป็นศิษย์พราหมณ์ หมายถึง ผู้ยังต้องศึกษาปฏิบัติเพื่อมรรคผล คำว่า “สุเมธ” (แปลว่าผู้มีปัญญา) บอกเป็นนัยว่าผู้ศึกษาปฏิบัติต้องใช้ปัญญา

๖. จอบ เครื่องมือสำหรับขุดดิน หมายถึง ปัญญา

๗. การขุด หมายถึง วิริยารัมภะ (ความเพียรที่ต่อเนื่อง) ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ละทิ้งกลางคัน

๘. ลิ่มสลัก หมายถึง อวิชชา (ความโง่เขลา ความไม่รู้ตามเป็นจริง) ขุดไปพบอวิชชาแล้วต้องรีบเอาทิ้ง คือเอาความโง่เขลาทิ้งไป หาไม่จะไม่ได้ผลจากการปฏิบัติ

๙. อึ่งอ่าง หมายถึง ความคับแค้นเพราะความโกรธ ในการปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามอย่าให้กิเลสฝ่ายโทสะเข้ามาครอบงำ


ขอแทรกตรงนี้นิดหน่อย คราวหนึ่งผมถวายความรู้แก่พระนิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์) ผมยกพระสูตรนี้ขึ้นมาแล้วเปรยว่า ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมท่านเปรียบความคับแค้นด้วยความโกรธเหมือนอึ่งอ่าง พระนิสิตจากภาคอีสานท่านหนึ่งกล่าวว่า “อาตมารู้แล้ว อาจารย์ อึ่งอ่างนั้นมันจะโผล่ออกมาจากพื้นดินเฉพาะหน้าฝนเวลาฝนตกเท่านั้น เวลานอกนั้นไม่รู้มันอยู่ที่ไหน คงอยู่ใต้ดินนั่นแหละ นานๆ ฝนจะตกสักที ยิ่งทางภาคอีสานฝนยิ่งไม่ค่อยตก อึ่งอ่างมันคงคับแค้นใจมาก พอมีฝนตกมาที มันจึงได้โอกาสโผล่ขึ้นมาร้อง แถมยังถูกคนจับเอาไปทำ ‘ปลาแดก’ (ปลาร้า) อีกด้วย อย่างนี้ไม่คับแค้นไหวหรือ ท่านว่าอย่างนั้น”

๑๐. ทางสองแพร่ง หมายถึง วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ความสงสัยไม่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติเพื่อมรรคผลอย่างยิ่ง เป็นหนึ่งในนิวรณ์ (เครื่องปิดกั้นมิให้บรรลุธรรม) ๕ ประการ ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจนแทบไม่ต้องขยายความ

๑๑. หม้อน้ำด่าง หมายถึง นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ อันมี ความพอใจในกาม เป็นต้น นิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องย้อมใจให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ไม่ต่างกับหม้อน้ำด่างที่ย้อมผ้าให้เป็นสีต่างๆ พูดให้ชัดก็คือนักปฏิบัติธรรมไม่พึงให้กิเลสทั้งหลายมันย้อมใจจนสูญเสียปกติภาพ

๑๒. เต่า หมายถึง ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ยึดมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู (ตัวมึง ของมึงด้วยแหละ) ไม่ว่าทำอะไร ถ้าเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเกินเหตุก็ยากจะได้ผล ยิ่งการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุผลขั้นสูง ยิ่งต้องปล่อยวางความยึดติดในตัวเราของเราให้ได้

ทำไมเปรียบการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ดุจเต่าก็ไม่ทราบสิครับ อาจเป็นด้วยว่าเต่ามันเป็นสัตว์เชื่องช้า ความยึดติดในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้บรรลุผลช้าก็เป็นได้ หรือเต่านั้นกระดองหนามาก ความยึดมั่นถือมั่น “หนา” ไม่แพ้กระดองเต่า ยากที่จะทำลายได้ หรือเต่านั้นมีนิสัยชอบหดหัวเข้ากระดอง เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ การปฏิบัติธรรมถ้ามัวแต่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็คงไม่ได้ผลเท่าที่ควร

โอ๊ย แปลความได้สารพัดแหละครับ ผิดถูกอย่างไรเป็นเรื่องของท่านผู้อื่นวินิจฉัยเอา ผมก็ลืมอ่าน “อรรถกถา” ว่าท่านอธิบายความไว้อย่างไร

๑๓. เขียงหั่นเนื้อ หมายถึง กามคุณ (ชนิดของกาม ๕) คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ข้อนี้อธิบายง่าย ปุถุชนเราร้อยทั้งร้อยก็ตกอยู่ในอำนาจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้แหละท่านเปรียบเหมือนสัตว์ถูกจูงจมูก แล้วแต่มันจะจูงไปไหนเอาง่ายๆ บางคนเป็นทาสลิ้นติดใจในรสอร่อยเสือกสนไปหามาปรนเปรอลิ้น ไกลแค่ไหนก็ไป บางทีขับรถไปเป็นระยะทางเป็นร้อยๆ กิโลเมตรเพียงเพื่อไปกินก๋วยเตี๋ยวชามสองชามที่เขาว่ามันอร่อยนัก (เขาไหน ก็พวกนี้ไง ว่าแล้วก็ชี้มือไปที่ผู้ชวนชิมทั้งหลาย ชื่อถนัดศอ เป็นต้น ฮิฮิ) เวลาคนเราถูกครอบงำด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันไม่ต่างกับกำลังถูกเขา “ยกขึ้นเขียงเชือด” ยังไงยังงั้น ถูกเชือดบ่อยๆ แล้วมันจะเหลืออะไร

๑๔. ชิ้นเนื้อ หมายถึง นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดี) ตัวความกำหนัดนี่แหละเป็นประดุจชิ้นเนื้อที่เอร็ดอร่อยนักสำหรับปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ใครมัวแต่เพลินกินชิ้นเนื้อก็ถูกเนื้อเป็นพิษเล่นงานเอา เสียผู้เสียคนไปนักต่อนักแล้ว


แทรกตรงนี้หน่อย (เดี๋ยวจะไม่มีโอกาสแทรก) เมื่อวานนี้เองผู้สื่อข่าวทีวีประเทศญี่ปุ่นมาสัมภาษณ์กรณียันดะที่อื้อฉาวเมื่อไม่นานนี้ว่า ทำไมพระภิกษุที่ได้รับความเคารพนับถือมากขนาดนี้ จึงเสื่อมเสียได้ เป็นความบกพร่องของใคร ผมตอบว่า อย่าไปโทษคนอื่นเลย ต้องโทษที่ตัวพระ พระไม่ระมัดระวังเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ว่าใครในที่สุดก็เสีย พระดังที่เห็นๆ กันเล่นชอบฉันแต่เนื้อบนเขียง ไม่ฉิบหายไหวหรือครับ

๑๕. พญานาค หมายถึง พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อขุดมาพบพญานาคนับว่าได้มาพบ “สิ่งประเสริฐที่สุด” แล้ว ไม่ควรเอาทิ้ง ตรงข้ามควรให้ความเคารพบูชา ข้อนี้อธิบายได้ว่า

ผู้ปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอุปสรรคแห่งการปฏิบัติให้หมดตามลำดับ ตั้งแต่ความเขลาไม่รู้จริง ความลังเลสงสัย ความโกรธ ความคับแค้น ความยึดมั่นถือมั่น ความติดในรูป รส กลิ่น เสียง เอาออกให้หมด

เมื่อละสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องละอะไรอีก เพราะได้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติแล้ว


พระกุมารกัสสปะได้ฟังพระพุทธองค์ทรงไขปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ ก็หมดความสงสัย


อ้อ!! เทวดาที่มาถามปริศนาธรรม จะตีความตามตัวอักษรก็ไม่มีใครว่า ผมว่าคงหมายถึงความนึกคิดของท่านเองมากกว่า ว่างๆ ก็นึกปริศนาขึ้นมาแล้วเมื่อแก้ไม่ได้หรือไม่กระจ่างจึงต้องไปกราบทูลพระพุทธองค์ คงเพราะนิสัยชอบขบคิดด้วยปัญญาเช่นนี้แหละ ท่านกุมารกัสสปะจึงกลายเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลมในเวลาต่อมา

:b44: ปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ (วัมมิกสูตร)
ที่เป็นเหตุทำให้ “กุมารกัสสปะ” ได้บรรลุพระอรหัต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=58990

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2019, 08:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


สามเณรกัสสปะรูปนี้หลังจากอุปสมบทแล้ว มีชื่อเสียงในด้านการแสดงธรรม เผยแผ่พระพุทธศาสนามาก ในพระไตรปิฎกมี “ปายาสิราชัญญสูตร” ในทีฆนิกาย บันทึกการโต้วาทะครั้งยิ่งใหญ่ระหว่าง “ราชันย์ปายาสิ” ผู้ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ กับ “พระกุมารกัสสปะ” ในที่สุดแห่งการถกเถียงอภิปราย ราชันย์ปายาสิยอมเชื่อและละทิฐิ (ทฤษฏี, ความเห็น) ของตน

ปายาสิท่านนี้ พระบาลีเรียกว่า “ราชญญะ” (ราชันย์) เจ้าผู้ครองนครเล็กๆ นามว่า เสตัพยะ ในแคว้นโกศล ปายาสิเป็นนักคิดนักวิจัยก็ว่าได้ เพราะทฤษฎีของเธอที่ว่านรกไม่มีสวรรค์ไม่มีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เกิดจากความสงสัย ในเบื้องต้นแล้ว “ทดลอง” เพื่อพิสูจน์ เมื่อพิสูจน์ตามแนวทางของตนแล้วจึงประกาศออกมาสู่สาธารณะ ไม่ประกาศเปล่า ท้าทายด้วยว่าใครแน่จริงให้มาโต้กับตน

ประดาพระอรหันต์ที่ไม่มีอภิญญา (ความสามารถพิเศษ) ไม่มีปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน) ก็หลบๆ ไป ไม่อยากตอแยกับท้าวเธอ ยิ่งทำให้ท้าวเธอได้ใจว่า ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งเท่าข้าฯ (นักวิชาการแสนรู้ทั้งหลายมักจะคิดเช่นนี้แหละครับ)


ร้อนถึงท่านกุมารกัสสปะ อดีตสามเณรน้อยลูกกำพร้าได้เดินทางไปสนทนากับราชันย์ปายาสิ

ปายาสิประกาศว่า โลกหน้าไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี พระมหากัสสปะถามว่า ทำไมคิดเช่นนั้น ปายาสิตอบว่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยสั่งคนทำชั่ว (ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพูดว่าจะต้องไปตกนรกแน่ๆ) ให้กลับมาบอกหลังจากไปตกนรกแล้ว สั่งไปหลายคนแล้ว แต่ละคนก็รับปาก แต่จนบัดนี้ไม่มีใครกลับมาบอกเลย

พระมหากัสสปะอธิบายว่า นักโทษประหารที่เขานำไปสู่ตะแลงแกง แกจะขออนุญาตให้ปล่อยตัวแกเพื่อไปสั่งเสียลูกเมียสักระยะหนึ่ง ย่อมไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับสัตว์นรก ย่อมไม่มีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้ ถึงเขาไม่ลืมสัญญาของท่าน เขาก็มาบอกท่านไม่ได้

ปายาสิแย้งว่า ไม่ใช่เพียงแค่นั้นพระคุณเจ้า ข้าพเจ้ายังได้สั่งให้คนดีมีศีลธรรม (ที่สมณพราหมณ์ยืนยันว่าตายไปจะต้องไปเกิดบนสวรรค์แน่) ให้กลับมาบอกเช่นเดียวกัน พวกนี้ไปแล้วก็เงียบหาย พวกเทวดาไม่ได้ถูกทำโทษทรมาน แล้วทำไมเขาไม่มาบอกเล่า อย่างนี้ชี้ให้เห็นชัดๆ แล้วว่าสวรรค์ก็ไม่มีจริง

พระกุมารกัสสปะอธิบายว่า มีเหตุผลสองประการที่เทวดาไม่มาบอกท่าน ประการแรก คือ ระยะเวลาห่างกันมาก ร้อยปีในเมืองมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งคืนหนึ่งของสวรรค์ ถึงแม้ผู้ที่รับปากท่านไม่ลืม กะว่าพรุ่งนี้จะกลับมาบอกท่าน ถึงเวลานั้นท่านก็ตายไปนานแล้ว

อีกประการหนึ่ง โลกมนุษย์นั้นมันสกปรกเหม็นร้ายกาจ ไม่เป็นที่ปรารถนาของเทวดา เมื่อคนตายจากโลกมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว ก็ไม่อยากกลับมาอีก ดุจคนตกหลุมคูถเน่าเหม็น มีคนช่วยยกขึ้นจากหลุมอาบน้ำชำระให้สะอาดแล้วลูบไล้ด้วยของหอมเขาจะยินดีกระโจนลงไปหลุมคูถอีกหรือ ไม่แน่นอน ท่านปายาสิ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ

ปายาสิกล่าวว่า คำตอบของท่านพอฟังได้โดยอุปมา แต่ข้าพเจ้ายังไม่เชื่ออยู่ดี เพราะถ้านรกสวรรค์มีจริงข้าพเจ้าก็น่าจะสัมผัสได้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย

พระกุมารกัสสปะตอบว่า คนตาบอดตั้งแต่กำเนิดไม่เคยเห็นสีแสงเลย ไม่เคยเห็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ เขากล่าวว่า ข้าฯ ไม่เชื่อว่ามีสีต่างๆ ไม่เชื่อว่ามีพระจันทร์ พระอาทิตย์ เพราะข้าฯ ไม่เห็น คำพูดนี้ฟังขึ้นไหม ไม่ขึ้นแน่นอน เพราะคนตาดีเขามองเห็นและรู้ว่าสีต่างๆ มีจริง พระจันทร์ พระอาทิตย์มีจริง

ปายาสิอ้างผลวิจัยเก่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยนำนักโทษประหารมาใส่หม้อใหญ่ทั้งเป็น เอาหนัง เอาดินเหนียวพอก ปิดให้มิดชิดแล้วยกขึ้นตั้งบนไฟ คอยเฝ้าดูว่าคนตายแล้วชีวะ (วิญญาณ) เขาจะออกจากร่างไปไหน ก็ไม่เห็น ครั้นกะเทาะดินออกดู ก็ไม่เห็นชีวะเขาแต่อย่างใด แสดงว่าตายแล้วสูญ

พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า คนนอนหลับฝันว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ คนที่อยู่ใกล้ๆ เห็นชีวะเขาหรือไม่ ขนาดชีวะของคนเป็นๆ ยังไม่มีใครเห็นเลย ชีวะของคนตายแล้วจะเห็นได้อย่างไร

ปายาสิกล่าวว่า คำอุปมาของท่านก็เข้าที แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่ออยู่ดี ข้าพเจ้าเคยวิจัยอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้จับนักโทษประหารมาชั่งน้ำหนักแล้วเอาเชือกรัดคอเขาจนตาย แล้วยกขึ้นชั่งน้ำหนักดูอีกที ศพกลับหนักกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่อีก ที่ว่าตายแล้วชีวะออกจากร่างก็ไม่จริง เมื่อมันออกจากร่าง ร่างกายต้องเบากว่าสิ แต่นี่กลับหนักกว่าเสียอีก

พระกุมารกัสสปะยกอุปมาอุปไมยให้ฟังว่า เหล็กที่เผาไฟจนร้อนนั้นย่อมเบากว่าเหล็กที่เย็นฉันใด มนุษย์ก็ฉันนั้น เมื่อยังมีไออุ่น ยังมีจิตวิญญาณอยู่ร่างกายย่อมเบากว่าเมื่อตายแล้ว ไม่เกี่ยวกับความเชื่อว่าวิญญาณออกจากร่างหรือไม่ออกจากร่างแต่อย่างใด (ความเชื่อแบบนั้นมิใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา)

ปายาสิกล่าวอีกว่า ข้าพเจ้ามิได้ทดลองเพียงนั้น ยังทดลองวิธีอื่นอีก คือจับนักโทษประหารมาฆ่าโดยมิให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ของเขาช้ำ เมื่อเขาจวนจะตายก็ให้นอนหงาย นอนตะแคง คว่ำหน้า ฯลฯ เพื่อเฝ้าดูว่าชีวะของเขาจะออกมาทางไหน ก็ไม่เห็นเลย

พระกุมารกัสสปะตอบว่า ชาวบ้านมุงดูชายคนหนึ่งเป่าสังข์เสียงไพเราะ ชาวบ้านถามว่า เสียงอันไพเราะนี้มาจากไหน คนเป่าสังข์บอกว่าออกมาจากสังข์นี้ ชาวบ้านจึงจับสังข์มาหงายบอกให้เปล่งเสียง สังข์เงียบ จับมันคว่ำแล้วบอกให้มันเปล่งเสียงสังข์ก็เงียบอีก จับตะแคง เอาไม้เคาะ เอามือทุบ สั่งให้มันเปล่งเสียง มันก็เงียบเหมือนเดิม คนเป่าสังข์จึงยกสังข์ขึ้นเป่าให้ดู เสียงอันไพเราะก็เปล่งออกมา ชาวบ้านก็จ้องดูว่าเสียงมันออกมาทางไหน ก็ไม่เห็น ชาวบ้านโง่ๆ ไม่รู้ว่าวิธีจะให้เสียงเปล่งออกจากสังข์ทำอย่างไร และโง่จนไม่รู้ว่าเสียงสังข์นั้นมันมิใช่สิ่งที่มองเห็นได้ ไม่ต่างอะไรกับบางคนที่ต้องการพิสูจน์วิญญาณออกจากร่างกายอย่างไร ทำไมจึงมองไม่เห็น

ตรงนี้พระเถระกำลังจะบอกว่า การพิสูจน์ทดลองเรื่องการตายโดยวิธีนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตั้งแต่สมมติฐานที่ตั้งไว้แต่แรกแล้วว่าคนตายไปชีวะ (วิญญาณ) จะต้องออกจากร่าง เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ว่าวิญญาณมันออกจากร่างได้อย่างไรก็เลยไม่เชื่อเรื่องการตาย การเกิด


ปายาสิก็ยังไม่ลดละ เสนอผลงานวิจัยของตนต่อไปว่า ข้าพเจ้าเคยสั่งให้เชือดผิวหนัง เชือดเนื้อ ตัดเอ็น กระดูก ของนักโทษประหาร เพื่อจะหาว่าชีวะมันอยู่ที่ไหน ก็ไม่พบ เอามาสับละเอียดก็ไม่พอ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าชีวะหรือวิญญาณไม่มีจริง

พระกุมารกัสสปะเตือนสติอีกครั้ง โดยยกอุปมาอุปไมยว่า ชฏิลผู้บูชาไฟคนหนึ่งสั่งศิษย์อายุประมาณ ๑๐-๑๑ ขวบ ให้ดูแลกองไฟให้ดี ถ้ามันดับให้ก่อไฟใหม่ ศิษย์มัวเล่นเพลินไฟดับ กลัวอาจารย์ดุ จึงเอาไม้สีไฟมาสีกัน (เพราะเคยเห็นอาจารย์ทำประจำ) ก็ไม่เกิดไฟ จึงเอามีดมาถากไม้สีไฟ ก็ไม่มีไฟออกมา จึงสับเป็นชิ้นๆ ก็ไม่เห็นไฟออกมา เสร็จแล้วเอาโขลกในครกจนละเอียด โปรยละอองให้ลมพัด ก็ไม่เห็นไฟออกมา จึงไม่สามารถก่อไฟได้

“เด็กโง่คนนี้ไม่รู้จักวิธีหาไฟ จึงไม่สามารถก่อกองไฟได้ เช่นเดียวกับท่านไม่รู้จักวิธีแสวงหาปรโลก (โลกหน้า) ก็ย่อมไม่พบความจริงฉันนั้น” พระกุมารกัสสปะเตือนสติปายาสิว่า เรื่องการตายเกิด เรื่องจิตวิญญาณไม่สามารถค้นหาโดยวิธีนั้นได้ เมื่อใช้ “เครื่องมือ” ไม่ถูกกับเรื่องก็ย่อมไม่ได้ความรู้ หรือความจริงที่ถูกต้อง

ปายาสิเมื่อไม่สามารถจะหาเหตุผลมาโต้แย้งได้ จึงกล่าวขึ้นว่า “พระคุณเจ้าก็พูดว่าน่าฟัง แต่ข้าพเจ้ายังไม่สละความคิดเห็นเดิมอยู่ดี”

พระเถระถามว่า “ทำไมท่านยังยึดมั่นในความเห็นเดิมที่ตัวท่านเองก็เห็นว่ามันไม่ถูกต้องแล้ว”

ปายาสิตอบว่า “จะให้สละได้อย่างไรในเมื่อใครๆ ก็รับรู้แล้วว่า ข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้มาแต่ต้น พระเจ้าปเสนนิโกศล กษัตริย์แห่งโกศลรัฐก็ดี กษัตริย์แว่นแคว้นอื่นๆ ก็ดี ต่างก็รับรู้ว่า ข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้”

พูดให้ชัดก็ว่าอายเขา ว่าอย่างนั้นเถอะ นักวิชาการผู้มากความรู้ก็อย่างนี้แหละครับ ทั้งๆ ที่รู้ภายหลังว่าตนเห็นผิด ก็ไม่ยอมรับว่าผิด ดึงดันไปทั้งที่ผิดๆ อย่างนั้นแหละ

พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า เมื่อรู้ว่าทรรศนะเดิมไม่ถูกต้องก็จงสละเสียเถิด อย่าดึงดันเลย เพราะไม่เป็นผลดีแก่ตัวท่าน ว่าแล้วท่านก็ยกอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบ ๔ เรื่อง ขอยกมาเพียง ๒ เรื่องคือ

๑. คนเลี้ยงหมูไปหมู่บ้านอื่น เห็นขี้หมูนึกว่านี่แหละอาหารหมู จึงเอาผ้าห่อเทินศีรษะเดินกลับบ้าน บังเอิญฝนตกน้ำขี้หมูไหลลงมาเปรอะตามตัว คนเห็นเขาก็หัวเราะเยาะชี้ให้กันดูชายโง่ที่ไหนแบกขี้หมูตากฝน เขาเถียงว่าไม่ใช้ขี้หมูเว้ย นี้คืออาหารหมู พวกท่านสิโง่ไม่รู้จักอาหารหมู

๒. ชายสองคนเดินทางไปด้วยกันพบสิ่งต่างๆ ระหว่างทางมากมาย เช่น เชือกป่าน ด้าย ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทอง ชายคนแรกถือเอาเชือกป่านแล้วก็ไม่ยอมทิ้ง เมื่อพบสิ่งอื่นดีกว่าก็ไม่ยอมเอา เพราะคิดว่าเชือกป่านนี้ถือติดตัวมาไกลจะทิ้งก็เสียดาย แต่ชายอีกคนเมื่อพบของดีกว่าก็ทิ้งของเก่า เอาของใหม่ จนในที่สุดเขานำทองติดตัวกลับบ้านมากมาย

เมื่อชายทั้งสองกลับถึงบ้าน บุตรและภรรยาของชายคนแรกต่างก็ว่าเขาโง่ ส่วนชายที่ได้ทองไปมากเป็นที่ชื่นชมยินดีของบุตรและภรรยา

“เมื่อรู้ว่าอะไรดีกว่า ถูกต้องกว่า ก็น่าจะยึดถือปฏิบัติ สละทิ้งสิ่งที่ผิดๆ เสีย” พระเถระกล่าวสรุป

ปายาสิยอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศสละความเห็นผิดของตน นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เริ่มให้ทานรักษาศีลแต่บัดนั้นจนสิ้นชีวิต


เรื่องราวของสามเณรกุมารกัสสปะก็จบลงเพียงเท่านี้ แหะๆ เขียนเพลินจนเกือบจบไม่ลง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่....
:b44: ราชันย์ปายาสิ นักคิดนักปรัชญาผู้หลงผิด

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50367

:b44: อุตตรมาณพ ผู้เตือนราชันย์ปายาสิ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50490

จาก : หนังสือ ๔๐ พระอรหันต์ บรรลุธรรมพุทธสมัย
หัวข้อ สิบพระอรหันต์น้อย :b8: :b8: :b8:
เรียบเรียงโดย...เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2019, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


พระกุมารกัสสปเถระ
เอตทัคคะในทางผู้แสดงธรรมได้วิจิตร

ในพระบาลีปรากฏพระเถระที่มีนามว่า “กัสสปะ” อยู่หลายองค์ จึงต้องมีการกำหนดชื่อให้แตกต่างกัน คือ

๑. พระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ มีอาวุโสมาก จึงเรียกกันว่า มหากัสสปะ

๒. พระอุรุเวลกัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ

๓. พระนทีกัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่คุ้งมหาคงคานที จึงได้ชื่อว่า นทีกัสสปะ

๔. พระคยากัสสปะ ท่านบวชเป็นฤษีอยู่ที่คยาสีสประเทศ จึงได้ชื่อว่า คยากัสสปะ

๕. พระกุมารกัสสปะ เพราะท่านบวชตั้งแต่เวลาที่เป็นเด็ก จึงได้ชื่อว่า กุมารกัสสปะ


การที่ท่านพระกุมารกัสสปเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้แสดงธรรมได้วิจิตร นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ อัตถุปปัติเหตุ (เหตุเกิดเรื่อง) คือ เมื่อจะกล่าวธรรมกถา ก็ยกเอาคาถาแค่สี่บทมาตั้ง แล้วนำเอาข้อเปรียบเทียบและเหตุผลมาประกอบเข้ากับบทเหล่านั้น ทำให้พระไตรปิฎกซึ่งเป็นพระพุทธดำรัส มีทั้งแบบต่ำและแบบสูงแสดงอยู่ อีกทั้งพระธรรมกถานั้นจะพร้อมไปด้วยอุปมาและเหตุทั้งหลาย กล่าวเสียอย่างวิจิตรทีเดียว และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

๐ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐี ในพระนครหงสาวดี วันหนึ่งท่านได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ได้ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายหมู่พุทธบริษัท ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศ แห่งภิกษุผู้กล่าวธรรมได้วิจิตร ท่านก็ปรารถนาจะได้อยู่ในตำแหน่งเช่นนั้นบ้างในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต จึงได้นิมนต์พระตถาคตแล้ว ประดับประดามณฑปให้สว่างไสวด้วยรัตนะนานาชนิด ด้วยผ้าอันย้อมด้วยสีต่างๆ ถึง ๗ วัน แล้วเอาดอกไม้ที่สวยงามต่างๆ ชนิดบูชา แล้วแสดงความปรารถนาในตำแหน่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าความปรารถนาของเขาหาอันตรายมิได้ จึงได้ทรงพยากรณ์ดังนี้

ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระศาสดามีนามว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ผู้มีจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักได้เป็นสาวกของพระศาสดามีนามว่า กุมารกัสสปะ เพราะอำนาจดอกไม้ และผ้าอันวิจิตรกับรัตนะ เขาจักถึงความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวธรรมกถาอันวิจิตร

จากนั้นเขากระทำกรรมอันเป็นกุศลอยู่เป็นนิจ ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย

๐ บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ต่อมา ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เขาได้บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่ง ได้ออกบวชหลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ในเวลาต่อมาเมื่อพระศาสนาใกล้จะเสื่อมสิ้นลง เขาและภิกษุอีก ๖ รูป มองเห็นความเสื่อมในการประพฤติของบริษัท ๔ ก็พากันสังเวชสลดใจ คิดว่า ตราบใดที่พระศาสนายังไม่เสื่อมสิ้นไป พวกเราจงเป็นที่พึ่งแก่ตนเองเถิด จึงพากันไปสักการะพระสุวรรณเจดีย์สูงหนึ่งโยชน์ ที่มหาชนได้ร่วมกันสร้างเมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว ได้มองเห็นภูเขาสูงชันลูกหนึ่ง จึงชวนกันขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่บนภูเขาลูกนั้น โดยตั้งใจว่าถ้าไม่สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะยอมสิ้นชีวิตอยู่บนนั้น แล้วจึงตัดไม้ไผ่มาทำเป็นพะอง (บันไดไม้) เพื่อปีนป่ายขึ้นไปตามหน้าผาของภูเขานั้น เมื่อทั้งหมดพากันขึ้นไปยังยอดสูงของภูเขาลูกนั้นแล้ว ก็ผลักพะองให้ตกหน้าผาไปเพื่อไม่ให้มีทางกลับลงมาได้ แล้วต่างก็บำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนนั้น

ในบรรดาภิกษุทั้ง ๗ รูปเหล่านั้น พระเถระผู้อาวุโสสูงสุด ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในคืนนั้นเอง ครั้นรุ่งเช้าพระมหาเถระจึงไปสู่ หิมวันตประเทศด้วยฤทธิ์ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เที่ยวไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ฉันอาหารเสร็จแล้วได้ไปยังที่อื่นต่อไป ได้ภัตตาหารเต็มบาตรแล้ว เอาน้ำที่ สระอโนดาตล้างหน้าแล้วและเคี้ยวไม้สีฟันชื่อ อนาคลดา แล้วจึงนำภัตและสิ่งของเหล่านั้นมายังพระภิกษุเหล่านั้นที่ยังไม่บรรลุธรรมอันวิเศษ

แล้วกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย บิณฑบาตนี้ผมนำมาจากแคว้นอุตรกุรุ น้ำและไม้สีฟันนี้นำมาจากหิมวันตประเทศ ท่านทั้งหลายจงฉันภัตตาหารนี้บำเพ็ญสมณธรรมเถิด ผมจะอุปัฏฐากพวกท่านอย่างนี้ตลอดไป ภิกษุเหล่านั้นได้ฟัง แล้วจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ พระคุณเจ้าทำกิจเสร็จแล้ว พวกกระผม แม้เพียงสนทนากับพระคุณเจ้าก็เสียเวลาอยู่แล้ว บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าอย่ามาหา พวกกระผมอีกเลย พระมหาเถระนั้นเมื่อไม่สามารถจะให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอม ได้โดยวิธีใดๆ ก็หลีกไป

แต่นั้นบรรดาภิกษุเหล่านั้นรูปหนึ่ง โดยล่วงไป ๒-๓ วันได้เป็น พระอนาคามีได้อภิญญา ๕ ภิกษุนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างเช่นที่พระเถระที่บรรลุพระอรหัตทำเหมือนกัน ครั้นถูกภิกษุที่เหลือที่ยังไม่บรรลุธรรมใดๆ ห้ามก็กลับไปเช่นเดียวกัน ภิกษุที่เหลือ ๕ องค์นั้น ครั้นถึงวันที่ ๗ จากวันที่ขึ้นไปสู่ภูเขาก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษไรๆ จึงมรณภาพแล้วก็ไปเกิดในเทวโลก ฝ่ายพระเถระผู้เป็นขีณาสพก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง ท่านที่เป็นพระอนาคามีได้บังเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส เทพบุตรทั้ง ๕ เสวยทิพยสมบัติใน สวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้นกลับไปกลับมา

๐ กำเนิดเป็นกุมารกัสสปะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในมนุษยโลก

ในบรรดาชน ๕ คนเหล่านั้น คนหนึ่งไปเป็น โอรสเจ้ามัลละนามว่าปุกกุสะ (ต่อมาได้พบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมและประกาศตนเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต) คนหนึ่งชื่อว่า พาหิยทารุจิริยะ คนหนึ่งชื่อว่าทัพพมัลลบุตร (ต่อมาได้ออกบวชและบรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุผู้จัดแจงเสนาสนะ ) และคนหนึ่งชื่อว่า สภิยปริพพาชก (ต่อมาได้พบพระพุทธองค์ ทูลขอบรรพชาและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง)

อีกคนหนึ่งมาเกิดในกรุงตักกสิลา แคว้นคันธาระ ชื่อว่ากุมารกัสสปะ มารดาของพระเถระนั้น เป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ มีกุศลมูลอันสั่งสมมาแต่เดิมเป็นอันมาก กำเนิดมาเป็นปัจฉิมภวิกสัตว์ (สัตว์ผู้มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย-จะไม่มาเกิดอีก) มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอยู่เต็มในหทัยของนาง ครั้งนั้น เมื่อเติบใหญ่แล้วธิดาของเศรษฐีนั้นไม่ยินดีในการครองเรือน มีความประสงค์จะบวชอยู่เป็นนิตย์ จึงกล่าวกะบิดามารดาว่า ข้าแต่คุณพ่อและคุณแม่ จิตในของข้าพเจ้าไม่ยินดีในฆราวาส ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ท่านทั้งหลาย จงให้ข้าพเจ้าบวชเถิด บิดามารดากล่าวว่า แม่ เจ้าพูดอะไรอย่างนั้น ตระกูลเรานี้มีทรัพย์สมบัติมาก และเจ้าก็เป็นธิดาคนเดียวของเราทั้งหลาย เจ้าไม่ควรจะบวช นางแม้จะอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ ก็ไม่ได้อนุญาตให้บรรพชาจากบิดามารดา จึงคิดว่า ช่างเถอะ เราจะรอต่อไปจนกระทั่งเราแต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้วเราจะขออนุญาตสามีเพื่อออกบวช

นางเจริญวัย แต่งงานแล้วไปอยู่ในตระกูลของสามี ซึ่งเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมครองเหย้าเรือน ต่อมานางก็ตั้งครรภ์ โดยที่นางไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ในครั้งนั้น ก็เกิดมีงานนักขัตฤกษ์ขึ้นในพระนครเป็นงานใหญ่ ชาวชาวพระนครทั้งสิ้นพากันเล่นงานนักขัตฤกษ์ ทั่วทั้งพระนครก็ได้มีการประดับประดาตกแต่งเหมือนดังเทพนคร แม้งานนักขัตฤกษ์นั้นจะยิ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น แต่นางก็ไม่สนใจประดับประดาร่างกายตนให้สวยงาม เที่ยวไปด้วยการแต่งกายตามปรกตินั่นเอง

สามีจึงกล่าวกะนางว่า นี่เธอ พระนครทั้งสิ้นมีงานนักขัตฤกษ์ที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ แต่เธอไม่ปฏิบัติร่างกาย ไม่ทำการตกแต่ง เพราะเหตุใดหรือ ? นางจึงกล่าวว่า ข้าแต่พี่ท่าน ร่างกายนั้นเต็มด้วยซากศพ ๓๒ ประการทีเดียว ประโยชน์อะไรด้วยร่างกายนี้ที่ประดับแล้ว เพราะกายนี้ เทวดา พรหมไม่ได้นิรมิต ไม่ใช่สำเร็จด้วยทองด้วยแก้วมณี แต่เต็มไปด้วยคูถ ไม่สะอาด มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด มีการขัดสีและการนวดฟั้นเป็นนิตย์ และมีการแตกทำลายและการกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา เป็นเหตุแห่งความโศก เป็นที่อยู่อาศัยแห่งโรคทั้งปวง เป็นที่รับของเสียภายใน ไหลออกภายนอกเป็นนิตย์ เป็นที่อยู่ของหมู่หนอนหลายตระกูลมีความตายเป็นที่สุด

ข้าแต่พี่ท่าน ข้าพเจ้าจักประดับประดาร่างกายนี้ไปเพื่ออะไร การกระทำความประดับกายนี้ ย่อมเหมือนกระทำจิตรกรรมภายนอกหม้อ คูถ เศรษฐีบุตรได้ฟังคำของนางดังนั้นจึงกล่าวว่า เธอเห็นโทษทั้งหลายแห่งร่างกายนี้ เพราะเหตุใดจึงไม่บวช นางกล่าวว่า ข้าแต่พี่ท่าน ถ้าท่านยอมให้ข้าพเจ้าได้บวช ก็จะบวชวันนี้แหละ เศรษฐีบุตรกล่าวว่า ดีแล้ว ฉันจักให้เธอบวช แล้วจึงบำเพ็ญมหาทาน แล้วนำไปสำนักของภิกษุณีด้วยบริขารเป็นอันมาก

นางได้บวชในสำนักของภิกษุณีผู้เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ครั้งนั้น เมื่อครรภ์ของนางแก่แล้ว ภิกษุณีทั้งหลายเห็นความที่อินทรีย์ทั้งหลายแปรเป็นอื่นไป ความที่หลังมือและเท้าบวม และความที่ท้องใหญ่ขึ้น จึงถามนางว่า นี่รูปร่างเธอเหมือนสตรีมีครรภ์ นี่เป็นเรื่องอย่างไรกัน ? ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องใด แต่ศีลของข้าพเจ้ายังบริบูรณ์อยู่

ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นจึงนำนางภิกษุนั้นไปยังสำนักของพระเทวทัต ถามพระเทวทัตว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กุลธิดานี้ไม่สามารถทำให้สามีโปรดปรานได้จึงได้บรรพชา ก็บัดนี้ ครรภ์ของนางปรากฏ ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รู้ว่ากุลธิดานี้ได้ตั้งครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ หรือในเวลาบวชแล้ว บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำอย่างไร

เพราะความที่ตนไม่รู้ และเพราะขาดขันติ เมตตา และความเอ็นดู พระเทวทัตจึงคิดอย่างนี้ว่า ความครหานินทาจักเกิดแก่เราว่า ภิกษุณีผู้อยู่ในฝ่ายของพระเทวทัตมีครรภ์ แต่พระเทวทัตกลับเพิกเฉยเสีย เราให้ภิกษุณีนี้สึกจึงจะควร พระเทวทัตนั้นก็ไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบ กล่าวว่า พวกท่านจงให้ภิกษุณีนั้นสึกเสีย ภิกษุณีเหล่านั้นฟังคำของพระเทวทัตแล้ว ลุกขึ้นไหว้แล้วไปยังสำนัก

ภิกษุณีสาวเมื่อทราบว่าพระเทวทัตตัดสินให้ตนสึกเสียจากเพศบรรพชิต จึงกล่าวกะภิกษุณีทั้งหลายว่าท่านทั้งหลาย พระเทวทัตเถระไม่ใช่พระพุทธเจ้า เรามิได้บรรพชาในสำนักของพระเทวทัต เราบรรพชาในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบุคคลเลิศในโลก อีกประการหนึ่ง การบรรพชาของเรานั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ยากยิ่งนัก ท่านทั้งหลายอย่าทำให้การบรรพชานั้นอันตรธานหายไปเสียเลย มาเถิดท่านทั้งหลาย จงพาเราไปยังพระเชตวัน ในสำนักของพระศาสดา ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาภิกษุณีสาวนั้นไปจากกรุงราชคฤห์สิ้นหนทาง ๔๕ โยชน์ถึงพระเชตวันมหาวิหารโดยลำดับ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ

พระศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุณีนี้ตั้งครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์เป็นแน่ แต่ถึงเป็นอย่างนั้น พวกเดียรถีย์จักได้โอกาสว่า พระสมณโคดมพาภิกษุณีที่พระเทวทัตทิ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ เพราะฉะนั้น เพื่อจะตัดถ้อยคำนี้ ควรจะวินิจฉัยอธิกรณ์นี้ในท่ามกลางบริษัทซึ่งมีพระราชาอยู่ด้วย

ในวันรุ่งขึ้น จึงให้ทูลเชิญพระเจ้าโกศล และเชิญมหาอนาถบิณฑิกเศรษฐี จุลอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา และตระกูลใหญ่ๆ อื่นๆ ที่มีชื่อเสียง ครั้นในเวลาเย็น เมื่อบริษัททั้ง ๔ ประชุมกันแล้ว จึงตรัสเรียกพระอุบาลีเถระมาว่า เธอจงไปชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ ในท่ามกลางบริษัท ๔ พระเถระทูลรับพระดำรัสแล้ว จึงไปยังท่ามกลางบริษัท นั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้เพื่อตน แล้วให้เรียกนางวิสาขาอุบาสิกามาตรงเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ให้รับอธิกรณ์นี้ว่า ดูก่อนวิสาขา ท่านจงไป จงทำให้รู้โดยถ่องแท้ว่า ภิกษุณีสาวนั้นบวชในเดือนโน้น วันโน้น แล้วจงรู้ว่าเธอมีครรภ์นี้ก่อนหรือหลังบวช

มหาอุบาสิการับคำแล้วจึงให้กั้นม่านขึ้น นางและนางภิกษุณีสาวนั้นอยู่ในม่าน นางได้ตรวจดูที่สุดมือ เท้า สะดือ และท้องของภิกษุณีสาว ภายในม่าน นับเดือนและวัน รู้ว่านางได้ตั้งครรภ์ในภาวะเป็นคฤหัสถ์โดยถ่องแท้ จึงไปยังสำนักของพระเถระแล้วบอกเนื้อความนั้น ครั้งนั้น พระเถระได้ทำให้ความเป็นผู้บริสุทธิ์ของนาง ให้ปรากฏขึ้นในท่ามกลางบริษัทแล้ว พระศาสดาได้ทรงสดับเรื่องนั้นแล้วตรัสประทานสาธุการว่าท่านพระอุบาลีวินิจฉัยอธิกรณ์ถูกต้องดีแล้ว นางภิกษุณีนั้นเมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วจึงไหว้ภิกษุสงฆ์และถวายบังคมพระศาสดา แล้วไปยังสำนักนั่นแล พร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย ต่อมา เมื่อนางภิกษุณีครรภ์แก่แล้ว ได้คลอดบุตรผู้มีอานุภาพมาก

ครั้นวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปโดยใกล้ๆ สำนักของภิกษุณี ได้ทรงสดับเสียงทารก จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลาย อำมาตย์ทั้งหลายรู้เหตุนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ภิกษุณีสาวนั้นคลอดบุตรแล้ว นั่นเสียงของบุตรภิกษุณีสาวนั้นนั่นเอง พระราชาตรัสว่า แน่ะอำมาตย์ ชื่อว่าการปรนนิบัติทารกเป็นเครื่องกังวลสำหรับภิกษุณีทั้งหลาย พวกเราจักปรนนิบัติทารกนั้นเอง พระราชาทรงให้มอบทารกนั้นแก่หญิงฟ้อนทั้งหลาย ให้เติบโตโดยการบริหารดูแลอย่างกุมาร ก็ในวันตั้งชื่อกุมารนั้น ได้ตั้งชื่อว่ากัสสป

ในเวลามีอายุ ๗ ขวบ กุมารกัสสปนั้นก็ได้บวชในสำนักของพระศาสดา พอมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก็ได้อุปสมบท แต่เพราะท่านบวชเวลายังเป็นเด็กรุ่น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเรียกกัสสปมา จงให้ผลไม้หรือของขบฉันอันนี้แก่กัสสป พวกภิกษุสงสัยก็ทูลถามว่า กัสสปองค์ไหน พระเจ้าข้า ตรัสว่ากุมารกัสสป กัสสปองค์เด็ก นะสิ เพราะได้รับขนานนามอย่างนี้ ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ถูกเรียกว่า กุมารกัสสป แม้ในเวลาที่ท่านแก่เฒ่าแล้ว อีกนัยหนึ่ง คนทั้งหลาย จำหมายท่านว่ากุมารกัสสป เพราะเหตุที่เป็นบุตรชุบเลี้ยงของพระราชาก็มี

อยู่มาวันหนึ่ง พระตถาคตเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายแล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ภิกษุทั้งหลายรับพระโอวาทแล้ว ปฏิบัติธรรมอยู่ในที่พักของตน ในเวลาเย็น จึงมาประชุมกันในโรงธรรมสภา นั่งพรรณนาพระพุทธคุณว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตทำคนทั้งสอง คือ พระกุมารกัสสปเถระและพระเถรีให้พินาศ เพราะความที่ตนไม่รู้ และเพราะความไม่มีขันติและเมตตาเป็นต้น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นปัจจัยแก่ท่านทั้งสองนั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชา และเพราะทรงถึงพร้อมด้วยขันติพระเมตตา และความเอ็นดู

พระศาสดาเสด็จมายังโรงธรรมสภา ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าด้วยเรื่องพระคุณของพระองค์เท่านั้น แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบพระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นปัจจัยและเป็นที่พึงแก่ชนทั้งสองนี้ ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้เป็นแล้วเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อต้องการให้เรื่องนั้นแจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงชาดกเรื่อง นิโครธมิคชาดก

ครั้นจบแล้วพระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นที่พึ่งอาศัยของพระเถรีและพระกุมารกัสสป ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้เป็นที่พึงอาศัยแล้วเหมือนกัน ก็ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า เนื้อชื่อสาขะในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต แม้บริษัทของเนื้อสาขะนั้น ก็ได้เป็นบริษัทของพระเทวทัตนั่นแหละ แม่เนื้อในครั้งนั้น ได้เป็นพระเถรี ลูกเนื้อในครั้งนั้นได้เป็นพระกุมารกัสสป พระราชาได้เป็นอานนท์ ส่วนพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ ได้เป็นเราเองแล

๐ มารดาพระกุมารกัสสปบรรลุพระอรหัต

ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี ตั้งแต่วันที่พระเจ้าโกศลได้นำพระเถระนั้นไปอุปถัมภ์แล้ว นางภิกษุณีผู้เป็นมารดา ผู้มีทุกข์เพราะบุตรโดนพรากไปจากอก น้ำตาไหลออกจากนัยน์ตาทั้งสองของนางตลอด ๑๒ ปี นางเมื่อเดินออกไปเพื่อบิณฑบาต ก็เดินบิณฑบาตด้วยหน้าอันชุ่มไปด้วยน้ำตาทีเดียว วันหนึ่ง ระหว่างที่นางเดินอยู่บนถนนเพื่อบิณฑบาต พร้อมกับรำลึกถึงบุตรของตนอยู่ ก็ได้พบพระเถระในระหว่างทาง ครั้นพอเห็นพระเถระที่ตนรำลึกถึงอยู่ตลอดเวลา จึงร้องว่า “ลูก ลูก” วิ่งเข้าไปเพื่อจะจับพระเถระ ซวนกายล้มลงแล้ว นางมีถันหลั่งน้ำนมอยู่ ลุกขึ้นมีจีวรเปียก ไปจับพระเถระแล้ว

พระเถระจึงคิดว่า “ถ้าเราจักพูดกับมารดานี้ด้วยถ้อยคำอันไพเราะแล้ว นางจักฉิบหายเสีย เราจักเจรจากับมารดานี้ ด้วยคำอันกระด้างเทียว” คิดดังนั้นแล้วพระเถระจึงกล่าวกะนางภิกษุณีผู้เป็นมารดานั้นว่า “ท่านมัวเที่ยวทำอะไรอยู่ ? จึงไม่อาจตัดแม้มาตรว่าความรักได้” นางคิดว่า “โอ ถ้อยคำของพระเถระหยาบคาย” จึงกล่าวว่า “พ่อ พ่อพูดอะไร ?” พระเถระก็กล่าวเหมือนอย่างเดิมนั้นนั่นแหละ นางภิกษุณีจึงคิดว่า “เราไม่อาจอดกลั้นน้ำตาไว้ได้สิ้น ๑๒ ปี เพราะเหตุแห่งบุตรนี้ แต่บุตรของเรานี้ มีหัวใจกระด้าง ประโยชน์อะไรของเราด้วยบุตรนี้” จึงหักใจ ตัดความเสน่หาในบุตรแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง

๐ ท้าวมหาพรหมมาแสดงอุบายถามปัญหาธรรม ๑๕ ข้อ

จำเดิมแต่บวชแล้ว ท่านก็บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน และศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะ แต่ก็ยังไม่ได้มรรคผลอันใด กล่าวถึงพระเถระที่ร่วมปฏิบัติธรรมอยู่บนยอดเขาในชาติก่อนสมัยพระกัสสปพุทธเจ้าครั้งกระโน้น และบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี เมื่อสิ้นชีวิตลงก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ตรวจดูพรหมสมบัติของตน ก็นึกรำลึกถึงเรื่องราวก่อนที่ตนจะมาเกิดในพรหมโลก รำลึกถึงเรื่องที่ตนขึ้นไปยังภูเขาก็เพื่อนสหธรรมิก เห็นที่บำเพ็ญสมณธรรมแล้ว จึงนึกถึงสถานที่ที่คนที่เหลืออีก ๖ คนไปเกิด ก็รู้ว่าท่านหนึ่งปรินิพพานแล้ว และรู้ว่านอกนี้อีก ๕ คนไปบังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร

ครั้นเวลาต่อมาก็ได้รำลึกถึงคนทั้ง ๕ เหล่านั้นอีก ก็สงสัยว่าเวลานี้คนทั้ง ๕ เหล่านั้นไปบังเกิดในที่ไหนหนอ เมื่อตรวจดูจึงได้เห็นพระกุมารกัสสป คิดว่า สหายของเรากำลังลำบากในการเจริญวิปัสสนา เราจักไปแสดงทางแห่งวิปัสสนาแก่เธอ กระทำอุบายให้บรรลุมรรคผล ดังนี้แล้ว จึงแต่งปัญหาขึ้น ๑๕ ข้อ แล้วไปปรากฏกายในสถานที่อยู่ของพระกุมารกัสสปเถระ ในเวลาหลังเที่ยงคืน พระเถระเห็นแสงสว่างจากรัศมีของท้าวมหาพรหม จึงถามว่า ใครอยู่ที่นั่น

มหาพรหมตอบว่า เราคือ พรหม ผู้กระทำสมณธรรมกับท่านมาแต่ก่อน บรรลุอนาคามิผล แล้วบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส พระเถระถามว่า ท่านมาด้วยการงานอะไรเล่า มหาพรหมบอกปัญหาเหล่านั้น เพื่อแสดงเหตุที่ตนมา แล้วกล่าวว่า ท่านจงเล่าเรียนปัญหาเหล่านี้ เมื่ออรุณขึ้น ก็จงเข้าไปเฝ้าพระตถาคต ถวายบังคมแล้วทูลถาม ด้วยว่านอกจากพระตถาคตแล้ว ผู้อื่นที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่มีดอก แล้วก็กลับไปยังพรหมโลกตามเดิม

วันรุ่งขึ้น พระเถระจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ทูลถามปัญหาตามที่มหาพรหมได้กล่าวไว้ ดังนี้

ดูกรภิกษุ จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงเอาศาตราไปขุดดู

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลักขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้น เอาศาตราขุดดู

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่งขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาตราขุดดู

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่า ทาง ๒ แพร่งขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาตราขุดดู

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงเรียนว่า หม้อกรองน้ำด่างขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอาศาตราขุดลง

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่าขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาตราขุดดู

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่า ชิ้นเนื้อขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาคขอรับ

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่ เจ้าอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมต่อนาค


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
(๑) อะไรหนอชื่อว่า จอมปลวก
(๒) อย่างไรชื่อว่า พ่นควันในกลางคืน
(๓) อย่างไรชื่อว่า ลุกโพลงในกลางวัน
(๔) อะไรชื่อว่า พราหมณ์
(๕) อะไรชื่อว่า สุเมธะ
(๖) อะไรชื่อว่า ศาตรา
(๗) อย่างไรชื่อว่า การขุด
(๘) อะไรชื่อว่า ลิ่มสลัก
(๙) อะไรชื่อว่า อึ่ง
(๑๐) อะไรชื่อว่า ทาง ๒ แพร่ง
(๑๑) อะไรชื่อว่า หม้อกรองน้ำด่าง
(๑๒) อะไรชื่อว่า เต่า
(๑๓) อะไรชื่อว่า เขียงหั่นเนื้อ
(๑๔) อะไรชื่อว่า ชิ้นเนื้อ
(๑๕) อะไรชื่อว่า นาค ดังนี้ ?

๐ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหา ๑๕ ข้อ

พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า

ดูกรภิกษุ

จอมปลวก นั่นเป็นชื่อของกายนี้ อันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องอบรม ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา

อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืนนั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลปรารภการงานในกลางวัน แล้วตรึกถึง ตรองถึงในกลางคืน นี้ชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน

อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน นั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลตรึกถึงตรองถึง (การงาน) ในกลางคืน แล้วย่อมประกอบการงานในกลางวัน ด้วยกาย ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน

พราหมณ์ นั้น เป็นชื่อของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

สุเมธะ นั้น เป็นชื่อของเสขภิกษุ

ศาตรา นั้นเป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ

จงขุด นั้นเป็นชื่อของการปรารภความเพียร

ลิ่มสลัก นั้น เป็นชื่อของอวิชชา.อธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกลิ่มสลักขึ้น คือจงละอวิชชาเสีย จงขุดมันขึ้นเสีย

อึ่ง นั้น เป็นชื่อแห่งความคับแค้นด้วยอำนาจความโกรธ อธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกอึ่งขึ้นเสีย คือจงละความคับแค้นด้วยอำนาจความโกรธเสีย จงขุดมันเสีย

ทาง ๒ แพร่ง นั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา อธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตราก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือจงละวิจิกิจฉาเสีย จงขุดมันเสีย

หม้อกรองน้ำด่าง นั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ อธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือจงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

เต่า นั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ อธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเต่าขึ้นเสียคือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

เขียงหั่นเนื้อ นั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสตกลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ...รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา...โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกายน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด อธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จงละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

ชิ้นเนื้อ นั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ อธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย

นาค นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ อธิบายดังนี้ นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาคดังนี้


พระเถระเล่าเรียนโดยทำนองที่พระศาสดาตรัสไว้ ไปป่าอันธวันเจริญวิปัสสนาแก่กล้า จิตจึงพ้นจากอาสวะกิเลส ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานโดยประการทั้งปวง ก็บรรลุพระอรหัต

๐ เหตุบัญญัติเรื่องการนับอายุครบบวช

สมัยหนึ่ง ท่านพระกุมารกัสสปเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปี (รวมอายุที่อยู่ในครรภ์มารดา) จึงได้อุปสมบท ต่อมาท่านได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุไม่พึงอุปสมบทให้ ก็เรามีอายุครบ ๒๐ ทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้อุปสมบท จะเป็นอันอุปสมบทหรือไม่หนอ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในอุทรมารดา วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว อาศัยจิตดวงแรก วิญญาณดวงแรกนั้นนั่นแหละเป็นความเกิดของสัตว์นั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทกุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์

๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่ง
เอตทัคคมหาสาวกผู้กล่าวธรรมได้วิจิตร


ในอรรถกถามหาเวทัลลสูตร ได้กล่าวไว้ว่า พระเถระผู้มีปัญญามากนั้น เมื่อตั้งปัญหาขึ้นเองแล้วจะตัดสินปัญหานั้นเสียเอง ก็สามารถแต่งพระสูตรนั้นตั้งแต่เริ่มต้นให้จบได้ ก็แหละบางคนอาจตั้งปัญหาขึ้นได้ แต่ตัดสินไม่ได้ บางคนตัดสินได้ แต่ตั้งขึ้นไม่ได้ บางคนไม่ได้ทั้งสองอย่าง บางคนก็ได้ทั้งสองอย่าง ในคนเหล่านั้น มีพระเถระที่เป็นได้ทั้งสองอย่างอยู่หลายองค์ทีเดียว พระเถระหลายรูปที่บรรลุฐานะพิเศษในศาสนานี้คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหากัจจายนเถระ พระปุณณเถระ พระกุมารกัสสปเถระ พระอานนท์เถระ และพระมหาโกฏฐิกเถระ

ในส่วนของพระกุมารกัสสป อรรถกถานั้นกล่าวว่า

ภิกษุที่มีปัญญาน้อย เมื่อจะกล่าวธรรมกถาก็ดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะ เหมือนคนตาบอดถือไม้เท้าเดินสะเปะสะปะ และเหมือนคนไต่สะพานไม้ที่เดินไปได้เพียงคนเดียว แต่ผู้มีปัญญามาก ยกเอาคาถาแค่สี่บทมาตั้ง แล้วนำเอาข้อเปรียบเทียบแลเหตุผลมารวม ทำให้พระไตรปิฎกซึ่งเป็นพระพุทธดำรัส มีทั้งแบบต่ำและแบบสูงแสดงอยู่ ก็เพราะความเป็นผู้มีปัญญามาก พระกุมารกัสสปเถระจึงยกเอาคาถาแค่สี่บทมาตั้ง แล้วนำเอาข้อเปรียบเทียบและเหตุผลมาประกอบเข้ากับบทเหล่านั้น ทำให้พระไตรปิฎกซึ่งเป็นพระพุทธดำรัส มีทั้งแบบต่ำและแบบสูงแสดงอยู่ เหมือนทำให้ดอกไม้ห้าสีบานอยู่ในสระธรรมชาติ หรือเหมือนจุดตะเกียงน้ำมัน พันไส้ให้โพลงอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ฉะนั้น

อรรถกถาอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า

ท่านพระเถระเมื่อจะกล่าวธรรมกถาแก่บริษัท ๔ ไม่ว่าบริษัทจะมากก็ตาม หรือไม่มากก็ตาม พระธรรมกถานั้นจะพร้อมไปด้วยอุปมาและเหตุทั้งหลาย กล่าวเสียอย่างวิจิตรทีเดียวนั้น เมื่อครั้งท่านแสดงสูตรประดับประดาอุปมาต่างๆ เป็นอันมากแก่เจ้าปายาสิ จนเจ้าปายาสิละทิฏฐิที่ผิดเสียได้ พระศาสดาทรงทำพระสูตรนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติต้นเรื่อง จึงทรงสถาปนาท่านไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดเหล่าภิกษุสาวกผู้กล่าวธรรมได้วิจิตร ในพระศาสนานี้แล

๐ พระเถระกับการถือธุดงควัตร

เล่ากันมาว่า พระมหากุมารกัสสปเถระ ผู้ถือโสสานิกังคธุดงค์อยู่ในป่าช้ามาตลอด ๖๐ ปี ภิกษุอื่นแม้แต่รูปเดียวก็ไม่รู้ ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวว่า

เราอยู่ในป่าช้ามาตลอด ๖๐ ปีรวด ภิกษุผู้เป็นเพื่อน ก็ไม่รู้เรา โอเราเป็นยอดของผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร

๐ เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์ ดังที่ปรากฏในชาดก คือ

เกิดเป็นลูกนางเนื้อ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ ใน นิโครธมิคชาดก

๐ พระเถระโปรดเจ้าปายาสิให้พ้นจากมิจฉาทิฏฐิ

เรื่องที่พระเถระทรมานเจ้าปายาสิ ปรากฏอยู่ในปายาสิราชัญญสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญอีกสูตรหนึ่งเกี่ยวกับ ความเห็นผิดว่า ชาติหน้าไม่มี ผลบุญบาปกรรมไม่มี ฯ เป็นพระสูตรที่พระเถระใช้วิธีแต่งนิทานอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบให้เข้าใจ ซึ่งวิธีดังกล่าวได้เป็นแบบอย่างให้แก่พระอรรถกถาจารย์ในรุ่นหลัง ได้นำแบบอย่างมาใช้ขยายความในพระสูตรในกาลต่อมา เช่น ในมิลินท์ปัญหา เป็นต้นฯ พระสูตรนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่อสูตรเท่าไร แต่มีความสำคัญน่าศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งกล่าวถึงพระกุมารกัสสปได้แสดงแก่พระเจ้าปายาสิซึ่งครองเสตัพยนคร ดังมีความย่อดังนี้

สมัยหนึ่ง ท่านพระกุมารกัสสปเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เมื่อถึงนครแห่งชาวโกศลชื่อเสตัพยะ ท่านพระกุมารกัสสปก็ได้พักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียดด้านเหนือนครเสตัพยะ

ก็สมัยนั้น เจ้าปายาสิ ผู้ครองเสตัพยนครซึ่งคับคั่งด้วยประชาชน และหมู่สัตว์ สมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติอันพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานปูนบำเหน็จให้ เจ้าปายาสินั้นมีความเห็นอันผิดๆ ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดี ทำชั่วไม่มี ฯ

พราหมณ์และคฤหบดีชาวนครเสตัพยะ ซึ่งเคยได้ยินกิตติศัพท์อันงามของท่านกุมารกัสสปองค์นั้นว่า เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำอันวิจิตร มีปฏิภาณดี เป็นพระอรหันต์ เมื่อได้ทราบข่าวว่า ท่านพระกุมารกัสสปะ สาวกของพระสมณโคดม เที่ยวจาริกมาถึงนครเสตัพยะพักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียด ด้านเหนือนคร ก็คิดว่าการได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเป็นการดี จึงพากันออกจากนครเป็นหมู่ๆ บ่ายหน้าทางทิศอุดรไปยังป่าไม้ สีเสียด ฯ

สมัยนั้น เจ้าปายาสิทรงพักผ่อนอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน ได้เห็นพราหมณ์และคฤหบดี พากันออกจากนครเป็นหมู่ๆ บ่ายหน้าไปทางทิศอุดร จึงเรียกนายนักการมาถามว่า พวกเหล่านั้นไปไหนกัน ฯ

นายนักการทูลตอบว่า พวกนั้นพากันไปเพื่อดูท่านกุมารกัสสปผู้เป็นสาวกของพระสมณโคดมฯ

เจ้าปายาสิ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปบอกพวกเขาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน เจ้าปายาสิจะเข้าไปหาพระสมณกุมารกัสสปด้วย เมื่อก่อนนี้พระกุมารกัสสปได้ทำให้พราหมณ์และคฤหบดี ผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม เหล่านี้ให้เข้าใจว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ พ่อนักการ ความจริงนั้น โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดี ทำชั่วไม่มี ฯ

นักการจึงไปดำเนินการตามรับสั่งของเจ้าปายาสิ ฯ

ลำดับนั้น เจ้าปายาสิแวดล้อมด้วยชาวนครเสตัพยะ จึงเสด็จเข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปยังป่าไม้สีเสียด แล้วได้ตรัสกะท่านพระกุมารกัสสปอย่างนี้ว่า ดูกรท่านกัสสป ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

ท่านพระกุมารกัสสปถวายพรว่า ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะขอย้อนถามบพิตรว่า พระจันทร์ และพระอาทิตย์นี้อยู่ในโลกนี้หรือในโลกหน้า เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ฯ

เจ้าปายาสิ : ดูกรท่านกัสสป พระจันทร์และพระอาทิตย์นี้ อยู่ในโลกหน้า มิใช่ โลกนี้ เป็นเทวดา ไม่ใช่มนุษย์ ฯ

ท่านพระกุมารกัสสป : ดูกรบพิตร ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนี้ว่าโลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดี ทำชั่วมีอยู่ ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสป กล่าวอย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ายังคง มีความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุด เกิดขึ้นไม่มี ผลวิบาก ของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

ท่านพระกุมารกัสสป : ดูกรบพิตร ก็เรื่องซึ่งเป็นเหตุให้บพิตรยังคงมีความเห็นอยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ ฯ

กถาว่าด้วยโทษของอกุศลกรรมบท

เจ้าปายาสิ : ดูกรท่านกัสสป เหล่าชนที่ข้าพเจ้ารู้จักในโลกนี้ ที่เป็นคนชั่ว ประพฤติชั่ว เมื่อคนเหล่านั้นป่วยหนัก ข้าพเจ้าเข้าไปหาคนเหล่านั้น แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย มีสมณะพวกหนึ่งกล่าวว่า บุคคลที่ทำชั่ว เมื่อตายก็ย่อมตกนรก พวกท่านก็เป็นผู้ประพฤติชั่ว เมื่อท่านตายเมื่อไร ขอจงมาบอกเรา พวกเหล่านั้นก็รับคำ แต่คนพวกนั้นเมื่อตายลงแล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดมาบอกเราเลยว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่

ดูกรท่านกัสสป ปริยายแม้นี้แล เป็นเหตุให้ ข้าพเจ้ายังคงมี ความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

กถาว่าด้วยข้ออุปมาด้วยโจร

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะขอย้อนถามบพิตรในข้อนี้ ว่าเมื่อท่านจับโจรร้ายได้ รับสั่งให้นำตัวไปประหารชีวิต โจรนั้นขอผ่อนผันจากนายเพชฌฆาตว่า ขอท่านจงรอจนกว่าข้าพเจ้าจะได้ไปแจ้งแก่ ญาติมิตรของข้าพเจ้าก่อน นายเพชฌฆาตนั้นจะผ่อนผันให้ หรือจะพึงตัดศีรษะโจรผู้กำลังอ้อนวอนอยู่ ฯ

เจ้าปายาสิ : ดูกรท่านกัสสป ที่แท้นายเพชฌฆาตจะพึงตัดศีรษะโจร นั้นผู้กำลังอ้อนวอนอยู่ทีเดียว ฯ

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ก็โจรซึ่งเป็นมนุษย์ยังไม่ได้รับความผ่อนผันในนายเพชฌฆาตผู้เป็น มนุษย์เช่นนั้นเลย ชนผู้ประพฤติชั่วเหล่านั้น เมื่อตายแล้ว ไฉนจะได้รับการผ่อนผันจากนายนินยบาลในนรกเล่าว่าจักขอผ่อนผันให้มาแจ้งแก่ท่านเสียก่อนว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้น มีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสป กล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องอื่นที่ทำให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุด เกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี เปรียบดังเรื่องนี้ ฯ

กถาว่าด้วยอานิสงส์ของกุศลกรรมบท

ดูกรท่านกัสสป เหล่าชนที่ข้าพเจ้ารู้จักในโลกนี้ ที่เป็นคนดี ประพฤติอยู่ในศีล เมื่อคนเหล่านั้นป่วยหนัก ข้าพเจ้าเข้าไปหาคนเหล่านั้น แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย มีสมณะพวกหนึ่งกล่าวว่า บุคคลที่ทำดี เมื่อตายก็ย่อมจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ พวกท่านก็เป็นคนดี ประพฤติอยู่ในศีล เมื่อท่านตายเมื่อไร ขอจงมาบอกเรา พวกเหล่านั้นก็รับคำ แต่คนพวกนั้นเมื่อตายลงแล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดมาบอกเราเลยว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่

ดูกรท่านกัสสป ปริยายแม้นี้แล เป็นเหตุให้ ข้าพเจ้ายังคงมี ความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

กถาว่าด้วยอุปมาด้วยหลุมคูถ

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมาจักยกอุปมาถวายบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษตกลงไปในหลุมอุจจาระจมจนมิดศีรษะ เมื่อได้ช่วยบุรุษนั้นขึ้นมาแล้ว ขัดล้างชำระกายจนสะอาด ประพรมเครื่องหอมต่างๆ ให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่อันวิจิตร แล้วเชิญขึ้นสู่ปราสาทบำรุงด้วยกามคุณ ๕ ท่านคิดว่าบุรุษนั้นจะยอมลงสู่หลุมอุจจาระอีกหรือไม่ และเพราะเหตุไร ฯ

เจ้าปายาสิ : บุรุษนั้นย่อมไม่ปรารถนาลงสู่หลุมอุจจาระอีกเป็นแน่ เพราะหลุมอุจจาระทั้งไม่สะอาด ทั้งมีกลิ่นเหม็น ทั้งน่าเกลียด ทั้งเป็นสิ่งปฏิกูล ฯ

พระกัสสปเถระ : ฉันนั้นแหละ บพิตร พวกมนุษย์นับเป็นผู้ไม่สะอาด ทั้งนับว่าเป็นสิ่งปฏิกูลของ พวกเทวดา กลิ่นมนุษย์ย่อมเหม็นฟุ้งไปในหมู่เทวดาตลอดร้อยโยชน์ เหล่าชนที่เป็นคนดี ประพฤติอยู่ในศีลเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์แล้ว พวกเขาจักมาทูลพระ องค์ได้ละหรือว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ดูกรบพิตร โดยปริยายของบพิตรนี้แล ต้องเป็นอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรม ที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสป กล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องอื่นที่ทำให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุด เกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของ กรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี เปรียบดังเรื่องนี้ ฯ

กถาว่าด้วยอานิสงส์ศีล ๕

ดูกรท่านกัสสป เหล่าชนที่ข้าพเจ้ารู้จักในโลกนี้ ที่เป็นคนดี ประพฤติอยู่ในศีล เมื่อคนเหล่านั้นป่วยหนัก ข้าพเจ้าเข้าไปหาคนเหล่านั้น แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย มีสมณะพวกหนึ่งกล่าวว่า บุคคลที่ทำดี เมื่อตายก็ย่อมจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ พวกท่านก็เป็นคนดี ประพฤติอยู่ในศีล เมื่อท่านตายเมื่อไร เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ขอจงมาบอกเรา พวกเหล่านั้นก็รับคำ แต่คนพวกนั้นเมื่อตายลงแล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดมาบอกเราเลยว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่

ดูกรท่านกัสสป ปริยายแม้นี้แล เป็นเหตุให้ ข้าพเจ้ายังคงมี ความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะขอย้อนถามบพิตรในข้อนี้ ร้อยปีของมนุษย์เป็นวันหนึ่งคืนหนึ่ง ของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ พันปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ บุคคลที่ประพฤติอยู่ในศีล เมื่อตายก็ย่อมจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถ้าพวกเขาคิดอย่างนี้ว่า รอเวลาที่พวกเราซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ บำเรออยู่ตลอดสองคืนสองวัน หรือสามคืนสามวันก่อน จะพึงไปทูลเจ้าปายาสิว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ พวกเขาจะพบท่านหรือไม่หนอ ฯ

เจ้าปายาสิ : หามิได้ ท่านกัสสป ด้วยว่า พวกเราถึงจะทำกาละไปนานแล้วก็จริง แต่ใครเล่า บอกความข้อนี้แก่ท่านกัสสปว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่ หรือว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนเท่านี้ พวกเรามิได้เชื่อต่อท่านกัสสปว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่ หรือว่าพวกเทวดาชั้น ดาวดึงส์มีอายุยืนเท่านี้ ฯ

กถาว่าด้วยอุปมาด้วยคนบอดแต่กำเนิด

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดแต่กำเนิด เขา จะพึงพูดอย่างนี้ว่า รูปสีดำ สีขาว ฯลฯ รูปดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ ฯลฯ ไม่มี ผู้ที่เห็นรูปสีดำ สีขาว ฯลฯ รูปดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ก็ไม่มี เราไม่รู้สิ่งนี้ เราไม่เห็นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นจึงไม่มี ดูกรบพิตร บุคคลจะพึงพูดดังนั้น หรือหนอ ฯ

เจ้าปายาสิ : หามิได้ ท่านกัสสป รูปเหล่านั้นมีอยู่ ผู้ที่เห็น รูปเหล่านั้นก็มีอยู่ ดูกรท่านกัสสป บุคคลนั้น จะพึงพูดว่า เราไม่รู้สิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นจึงไม่มี ดังนี้หาได้ไม่ ฯ

พระกัสสปเถระ : ฉันนั้นแหละ บพิตร บพิตรย่อมปรากฏเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ดูกรบพิตร สมณพราหมณ์พวกใด อยู่เสนาสนะอันสงัดในป่า เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์แล้ว ย่อมแลเห็นทั้งโลกนี้ทั้งโลกหน้า และเหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้น บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยประการฉะนี้แล หาเหมือนดังที่บพิตรทรงทราบด้วยมังสจักษุนี้ไม่ ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสป กล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องอื่นที่ทำให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุด เกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของ กรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี เปรียบดังเรื่องนี้ ฯ

กถาว่าด้วยสมณพราหมณ์ผู้มีศีล

ดูกรท่านกัสสป ข้าพเจ้าได้เห็นสมณพราหมณ์ในโลกนี้ ซึ่งเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ยังประสงค์จะมีชีวิตอยู่ ไม่ประสงค์จะตาย ยังปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ข้าพเจ้ามี ความคิดเห็นว่า ถ้าท่านสมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมพวกนี้ทราบว่า เมื่อเราตายไปจากโลกนี้แล้วคุณงามความดีจักมีเช่นนี้แล้ว พวกท่านสมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมพวกนี้ ก็จะทำการฆ่าตัวตายเสีย (เพื่อที่จะได้รับผลแห่งความดีนั้น) แต่เพราะเหตุที่ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกนี้ไม่ทราบว่า เมื่อเราตายไปจากโลกนี้แล้ว คุณงามความดีจักมี ฉะนั้น จึงยังประสงค์จะมีชีวิตอยู่ ไม่ประสงค์จะตาย ยังปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์

นี้แหละ ท่านกัสสป จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

กถาว่าด้วยอุปมาด้วยพราหมณ์มีเมีย ๒ คน

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร พราหมณ์คนหนึ่ง มีภริยาสองคน ภริยาคนหนึ่งมีบุตรมีอายุได้ ๑๒ ปี ภริยาอีกคนหนึ่งก็ตั้งครรภ์ จวนจะคลอด พราหมณ์นั้นก็ตายโดยกระทันหัน เด็กหนุ่มนั้นจึงได้เรียกร้องในทรัพย์มรดกของบิดา นางพราหมณีก็ขอร้องให้รอจนกว่านางจะคลอด เพื่อดูว่าลูกที่ออกมาจะเป็นหญิงหรือเป็นชาย ถ้าเป็นชาย เขาก็ควรได้รับมรดกส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นหญิงก็จักเป็นหญิงในตระกูล เด็กหนุ่มนั้นต่อมาก็ได้พูดเรื่องนี้กับแม่เลี้ยงอีกเป็นครั้งที่สอง นางก็ยังคงยืนคำเดิม จนกระทั่งตรั้งที่สาม เมื่อเด็กหนุ่มพูดเรื่องนี้ขึ้นมาอีก นางพราหมณีนั้น ถือมีดเข้าไปในห้อง แหวะท้องตน เพื่อจะดูว่าบุตรเป็นชายหรือหญิง

นางพราหมณีได้ทำลายตน ชีวิต ครรภ์และทรัพย์สมบัติ เพราะนางพราหมณีเป็นคนพาลไม่ฉลาด แสวงหามรดกโดยอุบายไม่แยบคาย ได้ถึงความพินาศ ฉันใด บพิตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนพาลไม่ฉลาด แสวงหาโลกหน้าด้วยอุบายไม่แยบคาย จักถึงความพินาศ เหมือนนางพราหมณีผู้เป็นคนพาลไม่ฉลาด แสวงหามรดกโดยอุบายไม่แยบคาย ได้ถึงความพินาศฉะนั้น

ดูกรบพิตร สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ย่อมจะไม่บ่มผลที่ยังไม่สุกให้รีบสุก และ ผู้เป็นบัณฑิตย่อมรอผลอันสุกเอง อันชีวิตของสมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ต่างจากคนอื่นๆ ทั่วไป คือว่า สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ยิ่งอยู่นานเท่าใด ท่านย่อมสร้างบุญได้มากเท่านั้น และปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่อ อนุเคราะห์โลก เพื่อ ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสป กล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องอื่นที่ทำให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุด เกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของ กรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี เปรียบดังเรื่องนี้ ฯ

ดูกร ท่านกัสสป เมื่อราชบุรุษของข้าพเจ้าจับโจรผู้ประพฤติชั่วหยาบมามอบต่อข้าพเจ้าเพื่อตัดสินลงโทษ ข้าพเจ้าจึงให้นำบุรุษนั้นใส่หม้อใบใหญ่ทั้งเป็น ปิดฝา เอาเชือกรัด เอาดินเหนียวพอก แล้วเผาไฟ เมื่อบุรุษนั้นตายแล้ว จึงให้ยกหม้อนั้นลงแล้วค่อยๆ เปิดปากหม้อ ตรวจดูว่า บางทีจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง พวกเราไม่ได้เห็นชีวะของเขาออกมาเลย ดูกรท่านกัสสป อย่างนี้แหละ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

กถาว่าด้วยอุปมาด้วยคนนอนฝัน

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะขอย้อนถามบพิตรในข้อนี้ บพิตรบรรทมกลางวัน ทรงรู้สึกฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ พื้นที่อันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บ้างหรือ ฯ

เจ้าปายาสิ : เคยฝัน ท่านกัสสป ฯ

พระกัสสปเถระ : ในเวลานั้น หญิงค่อม หญิงเตี้ย นางพนักงานภูษามาลา หรือกุมาริกา คอยรักษา บพิตรอยู่หรือ ฯ

เจ้าปายาสิ : อย่างนั้น ท่านกัสสป ฯ

พระกัสสปเถระ : คนเหล่านั้นเห็นชีวะของบพิตรเข้าหรือออกบ้างหรือเปล่า ฯ

เจ้าปายาสิ : หามิได้ ท่านกัสสป ฯ

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ก็คนเหล่านั้น มีชีวิตอยู่ ยังมิได้เห็นชีวะของบพิตรผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ เข้าหรือออกอยู่ ก็ไฉนบพิตรจักได้ทอดพระเนตรชีวะของผู้ที่ทำกาละไปแล้ว เข้าหรือออกอยู่เล่า ดูกรบพิตร อย่างนี้แหละ ต้องเป็นอย่างนี้ว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสป กล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องอื่นที่ทำให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุด เกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของ กรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี เปรียบดังเรื่องนี้ ฯ

อ้างการชั่งโจร

ดูกร ท่านกัสสป เมื่อราชบุรุษของข้าพเจ้าจับโจรผู้ประพฤติชั่วหยาบมามอบต่อข้าพเจ้าเพื่อตัดสินลงโทษ ข้าพเจ้าจึงให้เอาตาชั่ง ชั่งบุรุษนี้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ แล้วเอาเชือกรัดให้ขาดใจตาย แล้วเอาตาชั่ง ชั่ง อีกครั้งหนึ่ง เมื่อบุรุษนั้นยังมีชีวิตอยู่ย่อมเบากว่า อ่อนกว่า และควรแก่การงานกว่า แต่เมื่อเขาทำกาละแล้ว ย่อมหนักกว่า กระด้างกว่า และ ไม่ควรแก่การงานกว่า ดูกรท่านกัสสป อย่างนี้แหละ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษเอาตาชั่ง ชั่งก้อนเหล็กที่เผาไว้วันยังค่ำ จนลุกแดงแล้ว ต่อมาเอาตาชั่ง ชั่งเหล็กนั้น ซึ่งเย็นสนิทแล้ว เมื่อเทียบกันแล้วเมื่อไรที่ เหล็กก้อนนั้นจะเบากว่า อ่อนกว่า คือเมื่อติดไฟลุกแดงอยู่ หรือว่าเมื่อเย็นสนิทแล้ว ฯ

อุปมาด้วยก้อนเหล็กร้อน

เจ้าปายาสิ : ดูกรท่านกัสสป เมื่อใดก้อนเหล็กนั้น ติดไฟทั่วลุกแดงแล้ว เมื่อนั้น จึงจะเบากว่า อ่อนกว่า แต่เมื่อใดก้อนเหล็กนั้น เย็นสนิทแล้ว เมื่อนั้น จึงจะหนักกว่า กระด้างกว่า ฯ

พระกัสสปเถระ : ฉันนั้นแหละบพิตร เมื่อใด กายนี้ประกอบด้วยอายุ ไออุ่นและวิญญาณ เมื่อนั้น ย่อมเบากว่า อ่อนกว่า ควรแก่การงานกว่า แต่ว่า เมื่อใด กายนี้ไม่ประกอบด้วยอายุ ไออุ่น และวิญญาณ เมื่อนั้น ย่อมหนักกว่า กระด้างกว่า ไม่ควรแก่การงานกว่า ดูกรบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรม ที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสป กล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องอื่นที่ทำให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุด เกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของ กรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี เปรียบดังเรื่องนี้ฯ

อ้างการค้นหาชีวะของโจรที่ตายแล้ว

ดูกรท่านกัสสป เมื่อราชบุรุษของข้าพเจ้าจับโจรผู้ประพฤติชั่วหยาบมามอบต่อข้าพเจ้าเพื่อตัดสินลงโทษ ข้าพเจ้าจึงให้ประหารชีวิตเสียให้ตาย แต่อย่าให้ผิวหนัง เนื้อเอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูกชอกช้ำ บางทีจะได้เห็นชีวะ ของบุรุษนั้นออกมาบ้าง เมื่อบุรุษนั้นเริ่มจะตาย ข้าพเจ้าสั่งบุรุษพวกนั้นว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงผลักบุรุษนี้ให้นอนหงาย บางทีจะได้เห็นชีวะ ของเขาออกมาบ้าง บุรุษพวกนั้นผลักบุรุษนั้นให้นอนหงาย พวกเรามิได้เห็นชีวะของเขาออกมาเลย ข้าพเจ้าจึงสั่งบุรุษพวกนั้นว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงพลิกบุรุษนี้ให้นอนคว่ำลง จงพลิกให้ นอนตะแคงข้างหนึ่ง จงพลิกให้นอนตะแคงอีกข้างหนึ่ง จงพยุงให้ยืนขึ้น จงจับเอาศีรษะลง จงทุบด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาตรา จงลากมาข้างนี้ จงลากไป ข้างโน้น จงลากไปๆ มาๆ บางทีจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง บุรุษพวกนั้นลากบุรุษนั้นมาข้างนี้ ลากไปข้างโน้น ลากไปๆ มาๆ พวกเรามิได้เห็น ชีวะของเขาออกมาเลย

ตาของเขาก็ดวงนั้น แหละ แต่เขาเห็นรูปด้วยตาไม่ได้ หูก็อันนั้นแหละ แต่เขาก็ได้ยินเสียงด้วยหูไม่ได้ จมูกก็อันนั้นแหละ แต่เขาก็ได้กลิ่นด้วยจมูกไม่ได้ ลิ้นก็อันนั้นแหละ แต่เขาก็รู้รสด้วยลิ้นไม่ได้ กายก็อันนั้น แหละ แต่เขาก็ได้รู้สัมผัสด้วยกายไม่ได้

ดูกรท่านกัสสป อย่างนี้แหละ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

อุปมาด้วยคนเป่าสังข์

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร คนเป่าสังข์คนหนึ่ง ถือเอาสังข์ไปยังบ้านป่าชายแดน ยืนอยู่กลางบ้าน เป่าสังข์ขึ้น ๓ ครั้ง แล้ววางสังข์ไว้ที่แผ่นดิน นั่งอยู่ พวกชาวบ้านเมื่อได้ยินเสียงสังข์ก็เกิดความตื่นเต้นว่าเสียงอะไรหนอ ช่างเพราะถึงเพียงนี้ ช่างจับจิตถึงเพียงนี้ จึงถามคนเป่าสังข์นั้นว่าเป็นเสียงอะไร คนเป่าสังข์ ตอบว่า นั่นเป็นสังข์

พวกชาวบ้านจึงจับสังข์นั้นหงายขึ้นแล้วบอกว่า พูด ซิพ่อสังข์ พูดซิพ่อสังข์ สังข์นั้นหาได้ออกเสียงไม่ พวกเขาจับสังข์นั้นให้คว่ำลง จับให้ตะแคงข้างหนึ่ง จับให้ตะแคงอีกข้างหนึ่ง ชูให้สูง วางให้ต่ำ เคาะด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาตรา ลากมาข้างนี้ ลากไปข้างโน้น ลากไปๆ มาๆ แล้วบอกว่า พูดซิ พ่อสังข์ พูดซิ พ่อสังข์ สังข์นั้นหาได้ออกเสียงไม่ ลำดับนั้น คนเป่าสังข์คิดว่า พวกมนุษย์ชนบทเหล่านี้ ช่างโง่เหลือเกิน จักแสวงหา เสียงสังข์โดยไม่ถูกทางได้อย่างไรกัน เมื่อชาวบ้านพวกนั้นกำลังมองดูอยู่ เขาจึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่า ๓ ครั้ง แล้วถือเอาสังข์นั้นไป ชาวบ้านพวกนั้นก็ได้พูดกันว่า ท่านทั้งหลาย นัยว่าเมื่อใด สังข์นี้ประกอบด้วยคน ความพยายาม และลม เมื่อนั้น สังข์นี้จึงจะออกเสียง แต่ว่าเมื่อใด สังข์นี้มิได้ประกอบด้วยคน ความพยายาม และลม เมื่อนั้น สังข์นี้ไม่ออกเสียง

ฉันนั้นเหมือนกัน บพิตร เมื่อใด กายนี้ประกอบด้วยอายุ ไออุ่นและวิญญาณ เมื่อนั้น กายนี้ เห็นรูปด้วยนัยน์ตาได้ ฟังเสียง ด้วยหูได้ ดมกลิ่นด้วยจมูกได้ ลิ้มรสด้วยลิ้นได้ ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกายได้ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจได้ แต่ว่าเมื่อใดกายนี้ไม่ประกอบด้วยอายุ ไออุ่นและวิญญาณ เมื่อนั้น เห็นรูปด้วยนัยน์ตาไม่ได้ ฟังเสียงด้วยหูไม่ได้ ดมกลิ่นด้วยจมูกไม่ได้ ลิ้มรสด้วยลิ้นไม่ได้ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายไม่ได้ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจไม่ได้ ดูกรบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้แหละก็ต้องเป็นอย่างนี้ว่า โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่ สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสป กล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องอื่นที่ทำให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุด เกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของ กรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี เปรียบดังเรื่องนี้ ฯ

ดูกรท่านกัสสป เมื่อราชบุรุษของข้าพเจ้าจับโจรผู้ประพฤติชั่วหยาบมามอบต่อข้าพเจ้าเพื่อตัดสินลงโทษ ข้าพเจ้าจึงให้เชือดผิวหนังของบุรุษ นี้ บางทีจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นบ้าง พวกเขาเชือดผิวหนังของบุรุษ นั้น พวก เรามิได้เห็นชีวะของเขาเลย ข้าพเจ้าจึงบอกบุรุษพวกนั้นว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน จง เชือดหนัง เฉือนเนื้อ ตัดเอ็น ตัดกระดูก ตัดเยื่อในกระดูกของบุรุษนี้ บางที จะได้เห็นชีวะ ของบุรุษนั้นบ้าง พวกเขาตัดเยื่อในกระดูกของบุรุษนั้น พวกเรามิได้ เห็นชีวะของเขาเลย ดูกร ท่านกัสสป เช่นนี้แหละ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ายังคงมี ความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

อุปมาด้วยเด็กก่อไฟ

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร ชฏิลผู้บำเรอไฟผู้หนึ่ง อยู่ในกุฎี ณ ที่ชายป่า วันหนึ่งมีหมู่เกวียนหมู่หนึ่งมาพักอยู่คืนหนึ่ง ในที่ใกล้อาศรมชฎิล แล้วรุ่งขึ้นจึงเดินทางต่อไป ชฎิลผู้นั้นคิดขึ้นว่า ถ้ากระไร เราควรจะเข้าไปในที่ ที่หมู่เกวียนนั้นพัก บางทีจะได้เครื่องอุปกรณ์อะไรในที่นั้นบ้าง ชฎิลผู้นั้นจึงเข้าไปยังที่ที่หมู่เกวียนนั้นพัก ครั้นแล้วจึงได้เห็นเด็กอ่อนโดนเขาทิ้งนอนอยู่ ครั้นเห็นเกิดสงสารจึงได้นำมาเลี้ยงไว้จนโต อายุย่างเข้า ๑๐ ปี หรือ ๑๒ ปี

วันหนึ่งชฎิลผู้บำเรอไฟ มีธุระบางอย่างในชนบท จึงได้บอกทารกนั้นว่าตนจะไปยังชนบท ทารก เจ้าพึงบำเรอไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึงก่อไฟแล้วบำเรอไฟเถิด เขาสั่งทารกนั้นอย่างนี้แล้ว ได้ไปยังชนบท เมื่อทารกนั้นมัวเล่นเสีย ไฟดับแล้ว ทารกนั้นนึกขึ้นได้ว่า บิดาได้บอกเราไว้ให้บำเรอไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าว่าไฟดับ เจ้าพึงก่อไฟเถิด ทารกนั้นจึงเอามีดถากไม้สีไฟ ด้วยเข้าใจว่า บางทีจะพบไฟบ้าง เขาไม่พบไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก แล้วผ่าออกเป็น ๓ ซีก ๔ ซีก ๕ ซีก ๑๐ ซีก ๒๐ ซีก แล้วเกรียกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ครั้นแล้ว จึงโขลกในครก ครั้นโขลกแล้วจึง โปรยในที่มีลมมาก ด้วยเข้าใจว่า บางทีจะพบไฟบ้าง เขาไม่พบไฟเลย

เมื่อชฎิลนั้นทำธุระในชนบทเสร็จแล้ว จึงกลับมายังอาศรมของตน ครั้นแล้วได้กล่าวกะทารกนั้นว่า พ่อ ไฟของเจ้าดับเสียแล้วหรือ ทารกนั้นตอบว่า ข้าแต่คุณพ่อ ขอประทานโทษเถิด กระผม มัวเล่นเสียไฟจึงดับ กระผมจึงทำอย่างนี้ อย่างนี้ แต่กระผมไม่พบไฟ เลย ลำดับนั้น ชฎิลผู้บำเรอไฟ นั้นได้มีความคิดว่า ทารกนี้ช่างโง่เหลือเกิน ไม่เฉียบแหลม จักแสวงหาไฟโดยไม่ถูกทางได้อย่างไรกัน เมื่อทารกนั้นกำลังมองดูอยู่ ชฎิลนั้นหยิบไม้สีไฟมาสีให้เกิดไฟแล้ว ได้บอกทารกนั้นว่า เขาติดไฟกันอย่างนี้ ไม่เหมือนอย่างเจ้าซึ่งยังเขลา ไม่เฉียบแหลม แสวงหาไฟโดยไม่ถูกทาง

ดูกรบพิตร บพิตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังทรงเขลา ไม่เฉียบแหลม ทรงแสวงหาปรโลกโดยไม่ถูกทาง ขอบพิตรจงทรงเปลี่ยนความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ขอบพิตรจงทรงปล่อยวางความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ความคิดที่ผิดนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนานเลย ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสปะกล่าวอย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้ายังไม่อาจจะเปลี่ยนความคิดที่ผิดนี้เสียได้ก็เพราะพระราชาทั้งหลายทรงรู้จักข้าพเจ้าว่า มีทิฐิเชื่อว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ท่านกัสสป ถ้าข้าพเจ้าเปลี่ยนความคิดนี้เสียก็จักมีผู้ว่าข้าพเจ้าได้ว่า ช่างโง่เขลาเหลือเกิน เชื่อในสิ่งที่ผิดมาโดยตลอด ข้าพเจ้าก็จักคงความเชื่อนั้นไว้ ฯ

อุปมาด้วยพ่อค้าเกวียน

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร ดูกร บพิตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พ่อค้าเกวียนหมู่ใหญ่ มีเกวียนประมาณพันเล่ม ได้เดินทางไกลไปยังชนบท เมื่อพ่อค้าเกวียนหมู่นั้นไป เสบียงกรังก็หมดเปลืองไปโดยรวดเร็ว ในหมู่นั้นมีนายกองเกวียน ๒ คนได้ปรึกษากันว่า หมู่เกวียนเรานี้มีเกวียนประมาณพันเล่ม ถ้ารวมกันอยู่ เสบียงก็จะหมดเปลืองไปโดยรวดเร็ว พวกเราควรจะแยกหมู่เกวียนหมู่ใหญ่นี้ออกเป็น ๒ หมู่ หมู่ละ ๕๐๐ เล่มแล้วแยกกันเดินทาง พ่อค้าเกวียนก็ทำดังนั้น นายกองเกวียนคนแรกออกหมู่เกวียนไปก่อน เมื่อขับไปได้สองสามวัน ก็ได้เห็นบุรุษผิวดำ นัยน์ตาแดง ผูกสอดแล่งธนู ทัดดอกกุมุท มีผ้าเปียก ผมเปียก แล่นรถอันงดงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา จึงได้ถามขึ้นว่า ดูกรท่าน ในหนทางข้างหน้า ฝนตกมากหรือ ฯ

อย่างนั้นท่าน ในหนทางมีน้ำบริบูรณ์ หญ้า ฟืน และน้ำมีมาก พวกท่านจงทิ้งเสบียงของเก่าเสียเถิด เกวียนจะได้เบา จะไปได้รวดเร็ว วัวเทียมเกวียนก็ไม่ลำบาก ลำดับนั้น นายกองเกวียนจึงได้ทิ้งเสบียงของเก่า ขับหมู่เกวียนไป ตลอดทางที่ผ่านไปก็หาเสียงหาน้ำมิได้ ถึงความวอดวายด้วยกันทั้งหมด

เมื่อนายกองเกวียนพวกที่สองรู้สึกว่า บัดนี้หมู่เกวียนแรกนั้นออก ไปนานแล้วจึงบรรทุกเสบียงและน้ำไปเป็นอันมาก แล้วขับหมู่เกวียนไป เมื่อขับไปได้สองสามวัน ก็เห็นบุรุษ ผิวดำ นัยน์ตาแดง ผูกสอดแล่ง ธนู ทัดดอกกุมุท มีผ้าเปียก ผมเปียก แล่นรถอันงดงามมีล้อ เปื้อนตมสวนทาง มา ครั้นแล้ว จึงได้ถามขึ้นเช่นกับที่นายกองเกวียนหมู่แรกถามนั่นแหละ และก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน

นายกองเกวียนที่สองคิดว่า บุรุษนี้มิใช่มิตร มิใช่ญาติของพวกเรา พวกเราจะเชื่อบุรุษนี้ได้อย่างไร เราไม่ควรทิ้งเสบียงของเก่าเสียแล้วขับเกวียนไปพร้อมทั้งสิ่งของตามที่ได้นำมา พวกเกวียนเหล่านั้นก็ได้เห็นหมู่เกวียนที่ได้ถึงความวอดวายเท่านั้น ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกเกวียนมาบอกว่า นี้คือหมู่เกวียนนั้นได้ถึงแก่ความวอดวายแล้ว ทั้งนี้ เพราะนายกองเกวียนนั้นเป็นคนโง่เขลา ถ้าอย่างนั้น ในหมู่เกวียนของพวกเรา สิ่งของชนิดใด มีสาระน้อยจงทิ้งเสีย ในหมู่เกวียนหมู่นี้ สิ่งของชนิดใดมีสาระมาก จงขนเอาไปเถิด พวกเกวียน พวกนั้นรับคำนายกอง เกวียนนั้นแล้ว จึงทิ้งสิ่งของชนิดมีสาระน้อยในเกวียนของตนๆ ขนเอาไปแต่สิ่งของมีสาระมาก ข้ามทางกันดารนั้นไปได้โดยสวัสดี ทั้งนี้ เพราะนายกองเกวียนนั้นเป็นคนฉลาด

ดูกรบพิตร บพิตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังทรงเขลา ไม่เฉียบแหลม ทรง แสวงหาปรโลกโดยไม่ถูกทาง จักถึงความวอดวาย เหมือนบุรุษนายกองเกวียนฉะนั้น ชนเหล่าใดสำคัญผิดคิดว่าทิฐิของบพิตร เป็นสิ่งที่ควรฟัง ควรเชื่อถือ ชนเหล่านั้นก็จักถึงความวอดวาย เหมือนพ่อค้าเกวียนพวกนั้น ฉะนั้น

ขอบพิตรจงทรงเปลี่ยนความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ขอบพิตรจงทรงปล่อยวางความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ความคิดที่ผิดนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนานเลย ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสปะกล่าวอย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้ายังไม่อาจจะเปลี่ยนความคิดที่ผิดนี้เสียได้ก็เพราะพระราชาทั้งหลายทรงรู้จักข้าพเจ้าว่า มีทิฐิเชื่อว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ท่านกัสสป ถ้าข้าพเจ้าเปลี่ยนความคิดนี้เสียก็จักมีผู้ว่าข้าพเจ้าได้ว่า ช่างโง่เขลาเหลือเกิน เชื่อในสิ่งที่ผิดมาโดยตลอด ข้าพเจ้าก็จักคงความเชื่อนั้นไว้ ฯ

อุปมาด้วยคนลี้ยงสุกร

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร บุรุษผู้เลี้ยงสุกรคนหนึ่งได้ออกจากบ้านของตนไปยังบ้านอื่น ได้เห็นอุจจาระแห้งเป็นอันมากซึ่งเขาทิ้งไว้ในบ้านนั้น ครั้นแล้วเขาได้มีความคิดขึ้นว่าอุจจาระแห้งเป็นอันมากซึ่งเขาทิ้งไว้นี้ เป็นอาหารสุกรของเรา ถ้ากระไร เราควรขนอุจจาระแห้งไปจากที่นี้ เขาปูผ้าห่มลงแล้ว โกยเอาอุจจาระแห้ง แล้วผูกให้เป็นห่อทูนศีรษะเดินไป ในระหว่างทาง ฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมา เขาเปรอะเปื้อนอุจจาระตลอดผมถึงปลายเล็บเท้า เดินพาเอาห่ออุจจาระซึ่งล้นไหลออกจากห่อไป พวกชาวบ้านเห็นแล้ว ก็พูดว่า ท่านเป็นบ้าหรือเปล่า ท่านเสียจริตหรือหนอ ไหนท่านจึงเปรอะเปื้อนไปด้วยอุจจาระตลอดถึงปลายเล็บ จะนำเอาห่ออุจจาระซึ่งล้นไหลอยู่ไปทำไม บุรุษนั้นตอบว่า พวกท่านนั่นแหละเป็นบ้า พวกท่านเสียจริต ความจริงสิ่งนี้เป็นอาหารสุกรของเรา

ดูกรบพิตร บพิตรก็เหมือนบุรุษผู้ทูนห่ออุจจาระนั้นเหมือนกัน ขอบพิตรจงทรงเปลี่ยนความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ขอบพิตรจงทรงปล่อยวางความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ความคิดที่ผิดนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนานเลย ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสปะกล่าวอย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้ายังไม่อาจจะเปลี่ยนความคิดที่ผิดนี้เสียได้ก็เพราะพระราชาทั้งหลายทรงรู้จักข้าพเจ้าว่า มีทิฐิเชื่อว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ท่านกัสสป ถ้าข้าพเจ้าเปลี่ยนความคิดนี้เสียก็จักมีผู้ว่าข้าพเจ้าได้ว่า ช่างโง่เขลาเหลือเกิน เชื่อในสิ่งที่ผิดมาโดยตลอด ข้าพเจ้าก็จักคงความเชื่อนั้นไว้ ฯ

อุปมาด้วยนักเลงสกา

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร นักเลงสกาสองคนเล่นสกากัน คนหนึ่งกลืนกินเบี้ยแพ้ ที่แล้วๆ มาเสีย นักเลงสกาคน ที่สองได้เห็นนักเลงสกานั้นกลืนกินเบี้ยแพ้ที่แล้วๆ มา ครั้นแล้วได้พูดว่า ดูกรสหาย ท่านชนะ ข้างเดียว ท่านจงให้ลูกสกาแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักเซ่นบูชา นักเลงสกาคนนั้นรับคำแล้ว จึงมอบลูกสกาให้นักเลงสกานั้น ลำดับนั้น นักเลงสกาคนที่สอง เอายาพิษทาลูกสกาแล้วพูด กะนักเลงสกาคนที่หนึ่งว่า มาเถิดสหาย เรามาเล่นสกากัน นักเลงสกาคนที่หนึ่งรับคำ แล้วนักเลงสกาเหล่านั้นเล่นสกากันเป็นครั้งที่สอง แม้ในครั้งที่สองนักเลงสกาคนที่หนึ่งก็กลืนกินเบี้ยแพ้ที่แล้วๆ มาเสีย นักเลงสกาคนที่สอง เห็นดังนั้นจึงพูดว่า

บุรุษกลืนกินลูกสกาซึ่งอาบด้วยยาพิษมีฤทธิ์กล้ายังหารู้สึกไม่ นักเลงชั่วเลวผู้น่าสงสารกลืนยาพิษเข้าไป ความเร่าร้อนจักมีแก่ท่าน ดังนี้ ฯ

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร บพิตรก็เหมือนนักเลงสกาอย่างนั้นเหมือนกัน ขอบพิตรจงทรงเปลี่ยนความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ขอบพิตรจงทรงปล่อยวางความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ความคิดที่ผิดนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนานเลย ฯ

เจ้าปายาสิ : ท่านกัสสปะกล่าวอย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้ายังไม่อาจจะเปลี่ยนความคิดที่ผิดนี้เสียได้ก็เพราะพระราชาทั้งหลายทรงรู้จักข้าพเจ้าว่า มีทิฐิเชื่อว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ท่านกัสสป ถ้าข้าพเจ้าเปลี่ยนความคิดนี้เสียก็จักมีผู้ว่าข้าพเจ้าได้ว่า ช่างโง่เขลาเหลือเกิน เชื่อในสิ่งที่ผิดมาโดยตลอด ข้าพเจ้าก็จักคงความเชื่อนั้นไว้ ฯ

อุปมาด้วยสหายสองคน

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร ชนบทแห่งหนึ่งตั้งขึ้นแล้ว ครั้งนั้น สหายผู้หนึ่งเรียกสหายมาบอกว่า มาไปกันเถิดเพื่อน เราจักเข้าไปยังชนบทนั้น บางทีจะ ได้ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งในชนบทนั้นบ้าง สหายคนที่สองรับคำ แล้ว เขาทั้งสองเข้าไปยังชนบท ถึงถนนในบ้านแห่งหนึ่งแล้ว ได้เห็น เปลือกป่านที่เขาทิ้งไว้มากมายที่ตำบลบ้านนั้น ครั้นแล้วสหายคนที่หนึ่งได้บอกสหายอีกคนหนึ่งว่า สหาย นี้เปลือกป่านเขาทิ้งไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงผูกเอาเปลือกป่านไปมัดหนึ่ง และฉันจักผูกเอาเปลือกป่านไปมัดหนึ่ง คนทั้งสองจึงถือเอามัดเปลือกป่านเข้าไปยังถนนในบ้านอีกแห่งหนึ่ง ได้เห็นด้ายป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย สหายคนที่หนึ่งจึงบอกสหายอีกคนหนึ่งว่า เราจะเอาเปลือกป่านไปทำไม ด้ายป่านนี้เขาทิ้งไว้มากมาย เราจงทิ้งเปลือกป่านเสียเถิดแล้วเอามัดด้ายป่านไป สหายอีกคนตอบว่า มัดเปลือกป่านนี้ เราเอามาไกล แล้วยังมัดไว้ดีแล้วด้วย เราไม่เอาละ ฯ

สหายคนที่หนึ่งจึงทิ้งมัดเปลือกป่านเสียแล้วถือเอามัดด้ายป่านไป คนทั้งสองนั้นเข้าไปยังถนนในบ้านอีกแห่งหนึ่ง ได้เห็นผ้าป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย สหายคนที่หนึ่งจึงบอกสหายคนที่สองว่า เราจะเอาเปลือกป่านหรือด้ายป่านไปทำไม ผ้าป่านเหล่านี้เขาทิ้งไว้มากมาย เราทั้งสองจงถือเอามัดผ้าป่านไป สหายคนที่สองตอบว่า มัดเปลือกป่านนี้เราเอามาไกลแล้ว ทั้งมัดไว้ดีแล้วด้วย เราไม่เอาละ ฯ

ลำดับนั้น สหายคนที่หนึ่งนั้น ทิ้งมัดด้ายป่านแล้ว ถือมัดผ้าป่านไป สหายทั้งสองเข้าไปยังถนนในบ้านอีกแห่งหนึ่ง ได้เห็นเปลือกไม้โขมะ ได้เห็น ด้ายเปลือกไม้โขมะ ได้เห็น ผ้าเปลือกไม้โขมะ ได้เห็นลูกฝ้าย ได้เห็นด้ายฝ้าย ได้เห็นผ้าฝ้าย ได้เห็นเหล็ก ได้เห็นโลหะ ได้เห็นดีบุก ได้เห็นสำริด ได้เห็นเงิน ได้เห็นทอง ที่เขาทิ้งไว้มากมายในถนนในบ้านนั้น ครั้น แล้วสหายคนที่หนึ่งจึงบอก สหายคนที่สองว่า สหาย เราจะเอาไปทำไมกับ เปลือกป่าน หรือด้ายป่าน หรือผ้าป่าน หรือเปลือกไม้โขมะ หรือด้ายเปลือกไม้โขมะ หรือผ้าเปลือกไม้โขมะ หรือลูกฝ้าย หรือด้ายฝ้าย หรือผ้าฝ้าย หรือเหล็ก หรือโลหะ หรือดีบุก หรือ สำริด หรือเงิน นี้ทองที่เขาทิ้งไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้นท่านจงทิ้งมัดเปลือกป่านเสียเถิด และฉันก็จักทิ้งห่อเงินเสีย เราทั้งสองจักถือเอาห่อทองไป สหายคนที่สองตอบว่า มัดเปลือกป่านนี้เราเอามาไกลแล้ว ทั้งมัดไว้ดีแล้วด้วย เราไม่เอา ฯ

สหายนั้นทิ้งห่อเงิน ถือเอาห่อทองไป สหายทั้งสองนั้นเข้าไปยังบ้านของ ตนๆ แล้ว ในเขาทั้งสองนั้น สหายผู้ถือเอามัดเปลือกป่านไป มารดา บิดา บุตร ภริยา มิตร สหาย หาได้พากันยินดีไม่ และเขาไม่ได้รับความ สุขโสมนัสซึ่งเกิดจากเหตุที่ได้จากเปลือกป่านนั้นมา ส่วนสหายที่ถือเอาห่อทองไป นั้น มารดา บิดา บุตร ภริยา มิตร สหาย พากันยินดี และเขายังได้รับความสุขโสมนัสซึ่งเกิดจากเหตุที่ถือเอาห่อทองนั้นมา ฯ

ดูกรบพิตร บพิตรก็เหมือนบุรุษผู้ถือ มัดเปลือกป่านนั้นเหมือนกัน ขอบพิตรจงทรงเปลี่ยนความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ขอบพิตรจงทรงปล่อยวางความคิดที่ผิดนั้นเสียเถิด ความคิดที่ผิดนั้นอย่าได้มีแก่บพิตร เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนานเลย ฯ

เจ้าปายาสิละทิฏฐิ

เจ้าปายาสิ : ด้วยข้อความอุปมาข้อก่อนๆ ของท่านกัสสป ข้าพเจ้าก็มีความ พอใจยินดี ยิ่งแล้ว แต่ว่าข้าพเจ้าใคร่จะฟังปฏิภาณในการแก้ปัญหาที่วิจิตรเหล่านี้ จึงพยายามโต้แย้งคัดค้านท่านกัสสปอย่างนั้น

ข้าแต่ท่านกัสสปผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ดังนี้

ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอท่านกัสสป จงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง สรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

ข้าพเจ้าปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชายัญ อันจะเป็นประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน ฯ

พระกัสสปเถระ : ดูกรบพิตร ยัญที่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ต้องได้รับ ความพินาศ และปฏิคาหก เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจผิด เช่นนี้ ย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ ไม่มีความรุ่งเรือง ใหญ่ ไม่แพร่หลายใหญ่

เปรียบเหมือนชาวนาถือเอาพืชและไถไปสู่ป่า เขาพึงหว่านพืชที่หัก ที่เสีย ถูกลมและ แดดแผดเผาแล้ว อันไม่มีแก่น ยังไม่แห้งสนิท ลงในนาไร่อันเลว ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่ดี มิได้แผ้วถางตอและหนามให้หมด ทั้งฝนก็มิได้ตกชะเชย โดยชอบตามฤดูกาล พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์หรือ? ชาวนาจะพึงได้รับผลอันไพบูลย์หรือ ฯ

เจ้าปายาสิ : หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านกัสสป ฯ

พระกัสสปเถระ : ฉันนั้นเหมือนกัน บพิตร ยัญที่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่า สัตว์ ต่างๆ ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหกก็เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจา ผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจผิด เช่นนี้ ย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ ไม่มีความรุ่งเรืองใหญ่ ไม่แพร่หลายใหญ่ ฯ

ดูกรบพิตร ส่วนยัญที่มิต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ ต่างๆ ไม่ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหกก็เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ เช่นนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ มีความรุ่งเรืองใหญ่ แพร่หลายใหญ่

เปรียบเหมือนชาวนาถือเอาพืชและไถไปสู่ป่า เขาพึงหว่าน พืชที่ไม่หัก ไม่เสีย ไม่ถูกลมแดดแผดเผา อันมีแก่นแห้งสนิท ลงในนาไร่อันดี เป็นพื้นที่ดี แผ้ว ถางตอและหนามหมดดีแล้ว ทั้งฝนก็ตกชะเชยโดยชอบตามฤดูกาล พืชเหล่านั้น จะพึงถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์หรือหนอ ชาวนาจะพึงได้รับผลอันไพบูลย์หรือ ฯ

เจ้าปายาสิ : เป็นอย่างนั้น ท่านกัสสป ฯ

พระกัสสปเถระ : ฉันนั้นเหมือนกัน บพิตร ยัญที่มิต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือ เหล่าสัตว์ ต่างๆ ไม่ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหกก็เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ เช่นนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ มีความรุ่งเรืองใหญ่ แพร่หลายใหญ่ ฯ

๐ เจ้าปายาสิเริ่มให้ทาน

นับแต่นั้นมา เจ้าปายาสิเริ่มให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย แต่ในทานนั้นท่านได้ให้โภชนะเช่นนี้ คือปลายข้าว ซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับข้าว และได้ให้ผ้าเนื้อหยาบ มีชายขอดเป็นปมๆ เมื่อเจ้าปายาสิสิ้นพระชนม์ลงจึงได้ไปบังเกิดเป็นเทวดาเพียงชั้นจาตุมหาราช เนื่องเพราะเจ้าปายาสิมิได้ให้ทานโดยเคารพ มิได้ให้ทานด้วยมือของตน มิได้ให้ทานโดยความนอบน้อม ให้ทานอย่างทิ้งให้ ดังนี้


:b8: :b8: :b8: จาก : พระกุมารกัสสปเถระ (เอตทัคคะ)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7589


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มิ.ย. 2020, 16:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


พระกุมารกัสสปเถระ
พระธรรมกถึก ที่สามารถเทศนากลับใจคน
ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b50: :b47: :b50:

พระกุมารกัสสปเถระ เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการเทศนากลับใจคนที่มีมิจฉาทิฐิให้เข้าใจถูกต้อง ท่านรูปนี้มีชีวิตค่อนข้างพิสดารก่อนที่จะมาบวช

ท่านเป็นบุตรนางภิกษุณี นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาของท่านตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวมาก่อนบวช บวชมาแล้ว เมื่อครรภ์โตขึ้นปรากฏต่อสายตาประชาชน พระเทวทัตผู้ดูแลภิกษุณีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีมารดาของท่านรวมอยู่ด้วย ได้ตัดสินใจให้ท่านลาสิกขาโดยไม่สอบถามรายละเอียด

นางภิกษุณีเชื่อมั่นว่าตนบริสุทธิ์ จึงอุทธรณ์เรื่องต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอุบาลีเป็นประธานพิจารณา ท่านพระอุบาลีจึงขอแรงนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี ช่วยคลี่คลายคดี

นางวิสาขาจึงได้ตรวจสอบอย่างละเอียด และตรวจดูความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มีมติว่านางตั้งครรภ์ก่อนบวช นำความกราบเรียนพระเถระ พระเถระอาศัยข้อมูลนั้นเป็นหลักฐานประกอบคำวินิจฉัย ตัดสินให้นางภิกษุณีบริสุทธิ์

เมื่อนางคลอดบุตรมาก็เลี้ยงดูในวัดนั้นเอง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปพบเข้า จึงขอไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม

กุมารน้อย จงมีชื่อว่า กุมารกัสสปะ
(กัสสปะ ผู้เป็นพระกุมารในพระราชวัง) เมื่อเติบโตมารู้เบื้องหลังชีวิตของตนเอง จึงสลดใจไปบวชเป็นสามเณร ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

ข้างฝ่ายภิกษุณีมารดา มัวแต่คิดถึงลูก การปฏิบัติธรรมจึงมิได้ก้าวหน้าแม้แต่น้อย วันหนึ่งเห็นสามเณรบุตรชายขณะออกบิณฑบาต จึงรี่เข้าไปหา ร้องเรียกลูก

สามเณรอรหันต์คิดว่า ถ้าพูดดีๆ กับแม่ แม่ก็จะไม่สามารถตัดความรักฉันแม่กับลูกได้ การปฏิบัติธรรมก็ไม่ก้าวหน้า จึงพูดอย่างเย็นชาว่า “อะไร จนป่านนี้แล้ว แค่ความรักระหว่างแม่กับลูกยังตัดไม่ได้ จะทำอะไรได้สำเร็จ” ว่าแล้วก็เดินจากไป

ทิ้งให้ภิกษุณีผู้มารดาเป็นลมสลบ ณ ตรงนั้น

ฟื้นขึ้นมาก็ “ตัดใจ” ว่า เมื่อลูกไม่รักเราแล้ว เราจะมัวคิดถึงเขาทำไม กลับสำนักภิกษุณีคร่ำเคร่งปฏิบัติภาวนา ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุพระอรหัต

เป็นอันว่าสามเณรหนุ่มได้ช่วยพามารดาของท่านลุถึงฝั่งแล้ว

เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านได้ฟังพระโอวาทของพระพุทธองค์เรื่องปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ (วัมมิกสูตร) ได้บรรลุพระอรหัต

เข้าใจว่าในช่วงท้ายๆ พุทธกาล เพราะคัมภีร์บันทึกว่า หลังพุทธปรินิพพานไม่นานนัก มีเจ้านครเสตัพยะ นามว่า ปายาสิ มีความเห็นผิดอันเป็นภัยร้ายกาจต่อพระศาสนาและระบบศีลธรรมจรรยา คือ เธอเชื่อว่า นรกสวรรค์ไม่มีจริง บุญบาปไม่มี ชาติก่อนชาติหน้าไม่มี

ปายาสิเธอเป็นนักพูด มีวาทะคารมคมคาย จึงสามารถหักล้างสมณพราหมณ์ได้เป็นจำนวนมาก พระเถระอรหันต์หลายต่อหลายรูป ท่านก็หมดกิเลสเท่านั้น ไม่มีปฏิภาณปัญญาจะไปโต้ตอบกับเธอได้ จึงถอยห่างออกไป

พระกุมารกัสสปะจึงไปโต้วาทะกับปายาสิราชันย์ ใช้เหตุใช้ผลอธิบายประกอบอุปมาอุปไมย ในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ของปายาสิ

ในที่สุดปายาสิยอมจำนน ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา (ดูรายละเอียดใน ปายาสิราชัญญสูตร - ที.ม. ๑๐/๑๐๓-๑๓๐)


เจ้าปายาสิเชื่อว่านรกไม่มี สวรรค์ไม่มี โดยทดสอบจากชีวิตจริงของคน คือสั่งนักโทษประหาร (ที่แน่ใจว่าตายแล้วต้องตกนรกแน่ เพราะทำกรรมชั่วไว้มากมาย ดังสมณพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวสอนกัน) ว่า ถ้าตายไปตกนรกจริงก็ให้กลับมาบอก นักโทษคนนั้นรับปากแล้วก็ไม่เห็นกลับมาบอก จากนั้นก็ทดลองเช่นเดียวกันกับอุบาสกผู้มีศีลธรรมว่า หลังจากไปเกิดในสวรรค์แล้วให้กลับมาบอก ก็ไม่กลับมาบอกเช่นเดียวกัน

โดยวิธีนี้เจ้าปายาสิจึงสรุปว่า นรกไม่มี สวรรค์ก็ไม่มี

พระเถระอธิบายโดยยกอุปมาอุปไมยว่า เพียงแค่นักโทษประหารจะขออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปสั่งเสียลูกเมีย แล้วจะกลับมาให้ประหารทางการก็ไม่อนุญาต นักโทษประหารมีมีอิสระเสรีภาพจะไปไหนได้ตามชอบใจ สัตว์นรกยิ่งกว่านั้น หาโอกาสจะไปไหนไม่ได้ ถึงเขาไม่ลืมคำมั่นสัญญา เขาก็ไม่สามารถกลับมาบอกได้ฉันใด ฉันนั้น

ครั้นถูกแย้งว่า สัตว์นรกไม่มีอิสระก็พอฟังขึ้น แต่คนที่ตายไปเกิดบนสวรรค์มีอิสรเสรีเต็มที่ แต่ทำไมยังไม่มาบอก

เหตุผลที่พระเถระยกมากล่าวในข้อนี้ คือ กำหนดระยะเวลาบนสรวงสวรรค์นั้นช้ากว่าในโลกมนุษย์ (ว่ากันถึงขนาดว่า วันหนึ่งคืนหนึ่งของเทวดาเท่ากับหนึ่งร้อยปีของโลกมนุษย์) ถึงแม้เขาไม่ลืมคำมั่นสัญญา เพียงคิดว่า รอสักครู่ค่อยกลับไปบอก “สักครู่” ของเทวดา ก็เป็นสิบเป็นร้อยปี

พระกุมารกัสสปะตอบคำถาม หักล้างความคิดเป็นของเจ้าปายาสิ ท่านใช้หลายวิธี เช่น อธิบายตรงๆ ยกอุปมาอุปไมย หรือใช้วิธีอนุมาน จึงสามารถทำให้นักปราชญ์อย่างเจ้าปายาสิยอมรับและถวายตนเป็นอุบาสกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในเวลาต่อไป

นัยว่าท่านพระกุมารกัสสปะ ได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล

ท่านดำรงชีวิตจนถึงอายุขัยแล้วนิพพาน



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 เม.ย. 2022, 10:42 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร