วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 59 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2019, 19:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


แสดงการอำนาจ แห่งปกตูปนิสสยปัจจัยที่ช่วยอุปการะแก่อนาคตธรรม

พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ศรีอริยะเมตไตร แม้ผู้จะมีในอนาคต, พระธรรมของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ศรีอริยเมตไตร นั้น และหมู่สงฆ์ของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าศรีอริยเมตไตรนั้น ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัย เพื่อความเป็นไปแห่งบุญบารมี ของชนเป็นอันมากทั้งหลาย ในบัดนี้ และในภพปัจจุบันนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ความเป็นใหญ่ในคณะรัฐบาล ทรัพย์ ข้าวเปลือก ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ที่ตนจักได้เฉพาะในเวลาภายหลัง ย่อมช่วยอุปการด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัย เพื่อความเกิดขึ้นแห่งปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ต่างๆ ทั้งหลาย ของมหาชนทั้งหลาย ผู้ดำรงอยู่แล้วในกาลก่อน และ ภวสมบัติ โภคสมบัติ มรรคสมบัติ ผลสมบัติ นิพพานสมบัติ ที่จักได้ตามเสวยในอนาคตภาพ ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัย เพื่อความเกิดขึ้นแห่งการทำบุญมีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ของมหาชนทั้งหลาย ผู้ดำรงอยู่แล้วในปัจจุบันภพ ในกาลนี้.

เหมือนอย่างว่าในทางโลก ชนทั้งหลายใส่ใจอยู่ว่า เราทั้งหลายจักได้ข้าวเปลือกและผลไม้ทั้งหลาย ในหน้าหนาว จึงเริ่มทำการงานคือการไถและการหว่านในหน้าฝน ชนทั้งหลายใส่ใจอยู่ว่า เมื่อการงานสำเร็จแล้ว เราทั้งหลายจักได้ซึ่งทรัพย์นั้นๆ จึงเริ่มทำ วิริยะกรรมนั้นๆ หรือ ปัญญากรรมนั้นๆ ในส่วนเบื้องต้น ในข้ออุปมานั้น การได้เฉพาะซึ่งข้าวเปลือกและผลไม้ และการได้เฉพาะซึ่งทรัพย์นั้นๆ ย่อมได้รับการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอนาคตปกตูปนิสสยปัจจัยแก่การริเริ่มทำการงานนั้นๆ และการริเริ่มทำการงานนั้นๆ และการได้เฉพาะซึ่งข้าวเปลือกและผลไม้ ย่อมได้รับการช่วยอุปการะมาด้วยอำนาจแห่งอดีตปกตูปนิสสยปัจจัย เพื่อการได้เฉพาะซึ่งทรัพย์นั้นๆ ฉันนั้นเหมือนกัน มหาชนทั้งหลาย เมื่อเห็นอยู่ เมื่อปรารถนาอยู่ ซึ่งผลแห่งกรรมต่างๆ ทั้งหลาย ในอนาคต อันจะมีในภายภาคหน้า จึงริเริ่มทำบุญต่างๆ ทั้งหลาย ในปัจจุบัน อันมีในภายภาคนี้ ในถ้อยคำนั้น ผลแห่งบุญทั้งหลายย่อมได้รับการช่วยอุปการะด้วยอำนาจอนาคตปกตูปนิสสยปัจจัยในการทำบุญทั้งหลาย, การทำบุญทั้งหลายย่อมจะช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอดีตปกตูปนิสสยปัจจัยแก่ผลบุญทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น แม้อนาคตปกตูปนิสสยปัจจัย ก็เป็นเหมือนอดีตปกตูปนิสสยปัจจัย ย่อมเป็นปัจจัยที่กว้างขวางมาก



แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยโดยปัจจุบันธรรม

ปัจจัยธรรมทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น องค์ปัจจุบัน ชื่อว่า ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปัจจุบันปกตูปนิสสยปัจจัย แก่ มนุษย์ เทวดา และพรหมทั้งหลาย ในปัจจุบัน มารดาและบิดาทั้งหลายในปัจจุบัน ชื่อว่า ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปัจจุบันปกตูปนิสสยปัจจัยแก่ปิยชนทั้งหลายมีบุตร ธิดา เป็นต้น ในภพปัจจุบัน ปัจจุบันปกตูปนิสสยปัจจัยนี้ ปรากฏชัดเจดีแล้ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2019, 00:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัย ด้วยอัชฌัตตะและพหิทธะ ธรรมทั้งหลาย

ธรรมดาว่า ปกตูปนิสสยปัจจัยธรรมทั้งหลาย ที่เป็นภายใน ที่เกิดขึ้นแล้วในความสืบต่อของผู้มีชีวิต มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยธรรมทั้งหลาย ธรรมดาว่า ปกตูปนิสสยปัจจัยทั้งหลายที่เป็นภายนอก มีแผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ มหาสมุทร เป็นต้น ที่เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งสัตว์ทั้งหลายมีอุปการะมาก แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ ป่า ต้นไม้ในป่า หญ้า ปุพพัณณชาติและอปัณณชาติ เป็นต้น พระจันทร์ พระอาทิตย์ ดาว และนักขัตฤกษ์ เป็นต้น ฝน น้ำ ไฟ ลม ความเย็น ความร้อน เป็นต้น เหล่านั้นแม้ทั้งปวง ย่อมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่มีกำลัง เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม หรือเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม ทั้งเพื่อความเกิดขึ้นแห่งความสุข ทั้งเพื่อความเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย



แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสปัจจัยโดยนิพพานธรรม

ชนทั้งหลาย ผู้เพียรพยายามอยู่เพื่อประโยชน์ มรรค ผล นิพพาน เหล่านี้ ใส่ใจอยู่ว่า เราทั้งหลายจักเข้านิพพานในภพปัจจุบันนั่นเทียว ย่อมเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ชนทั้งหลาย ผู้เพียรพยายามอยู่เพื่อประโยชน์แก่ มรรค ผล นิพพาน เหล่านั้น ใส่ใจอยู่ว่า เราทั้งหลายจักนิพพาน ในกาลของพระพุทธเจ้าในอนาคต ย่อมบำเพ็ญบารมีธรรม ๓๐ ประการในถ้อยคำเหล่านั้น นิพพานธรรม ย่อมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่มีกำลัง แก่โพธิปักขิยธรรมและบารมีธรรมเหล่านั้น.



แสดงความไม่เป็นเหตุปัจจัย และเหตุปัจจยุบันแห่งนิพพานและบัญญัติธรรมทั้ง ๒

ในปกตูปนิสสยปัจจัย ข้าพเจ้าจะกล่าว ถ้อยคำบางอย่างที่ยังเหลือ จิต เจตสิก รูปธรรม ที่ชื่อว่าสังขตธรรม เพราะถูกปรุงแต่งโดย เหตุปัจจัยธรรมทั้งหลาย ครั้นเมื่อเหตุปัจจัยธรรมมีอยู่ ย่อมเกิดขึ้น, ครั้นเมื่อเหตุปัจจัยธรรมไม่มีอยู่ ย่อมไม่เกิดขึ้น, แม้เกิดขึ้นมาแล้ว ครั้นเมื่อเหตุปัจจัย เพื่อความตั้งอยู่ยังมีอยู่ ย่อมตั้งอยู่, ครั้นเมื่อเหตุปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่ ไม่มีอยู่ ย่อมไม่ตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น ชื่อว่า เหตุปัจจัยธรรม เพื่อความเกิดขึ้น หรือเพื่อความตั้งอยู่แห่งนิพพานและบัญญัติธรรมทั้งหลาย เหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมไม่มี ก็นิพพานและบัญญัติธรรม ย่อมเป็นอสังขตธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีชาติ เป็นธรรมที่ไม่มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมที่เที่ยง และเป็นธรรมที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ชื่อว่าเหตุปัจจัย เพื่อความเกิดขึ้น หรือเพื่อความตั้งอยู่แห่งนิพพาน บัญญัติธรรมเหล่านั้นย่อมไม่มี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ส.ค. 2019, 02:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยระหว่างกุศลกับกุศล
อกุศลกับอกุศล อัพยากตกับอัพยากตธรรม

กุศลธรรม ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัยแก่กุศลธรรม
กุศลธรรมย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยแก่กุศลธรรม ปรากฏดีแล้วในบาลีปัฏฐาน ด้วยคำว่า เป็นต้นว่า บุคคลอาศัยแล้วซึ่งศรัทธา ย่อมถวายซึ่งทาน, ย่อมสมาทานซึ่งศีล เหมือนอย่างนั้น อกุศลธรรม ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยแก่อกุศลธรรม ปรากฏดีแล้วในพระบาลีปัฏฐาน ด้วยคำว่า เป็นต้นว่า บุคคลอาศัยแล้วซึ่งราคะ ย่อมฆ่าสัตว์, ย่อมลักขโมยของที่เจ้าของยังไม่ได้ให้และไม่อนุญาต อัพยากตธรรม ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัยแก่อัพยากตธรรม ปรากฏดีแล้ว ในพระบาลีปัฏฐาน ด้วยคำว่า เป็นต้นว่า บุคคลอาศัยแล้วซึ่งฤดูอันเป็นสัปปายะ ซึ่งโภชนะอันเป็นสัปปายะย่อมได้รับความสุขทางกาย



แสดงการช่วยอุปการด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยระหว่ากุศลธรรมกับอกุศลธรรม

จะกล่าวอีกนัยหนึ่ง กุศลธรรมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังแก่อกุศลธรรม บุคคลครั้นถวายแล้วซึ่งทาน เพราะทานนั้นเป็นเหตุย่อมยกตน ย่อมข่มผู้อื่น เหมือนอย่างนั้น บุคคลเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพราะศีล สมาธิ และปัญญานั้นเป็นเหตุ ย่อมยกตน ย่อมข่มผู้อื่น



แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยระหว่างกุศลธรรมกับอัพยากตธรรม

กุศลธรรมย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังแก่อัพยากตธรรม กุศลกรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหลาย ทั้งปวง หรือ กุศลทั้งหลายที่เป็นบริวารแห่งกรรม ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังแก่วิบากอัพยากตธรรมทั้งหลาย ในกาลอื่น ในกาลที่เพิ่มพูนบำเพ็ญทานบารมี ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยทุกข์ทางกาย เป็นอันมาก, เหมือนอย่างนั้น ในการเพิ่มพูนบำเพ็ญ ศีลบารมี เนกขัมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี บัณฑิตพึงทราบตามนัยนี้เหมือนกันแม้ในเวลาบำเพ็ญฌานและมรรคทั้งหลาย



แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยระหว่างอกุศลธรรมกับกุศลธรรม

อกุศลธรรม ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลัง แม้แก่กุศลธรรม, บุคคลบางคนในโลกนี้ ครั้นทำแล้วซึ่งบาป ย่อมเป็นผู้ตามเดือดร้อนในภายหลัง ย่อมบำเพ็ญซึ่งทานกุศล ศีลกุศล ฌานกุศล และมรรคกุศล เพื่ออันละซึ่งบาปนั้น, บาปที่ตนได้เคยทำไว้แล้วนั้น ย่อมช่วยอุปการด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังแก่ทานกุศลเป็นต้นเหล่านั้น.



แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยระหว่างอกุศลธรรมกับอัพยากตธรรม

อกุศลธรรม ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยที่มีกำลัง แม้แก่อัพยากตธรรม ชนทั้งหลายเป็นอันมากในโลกนี้ ครั้นทำแล้วซึ่งทุจริตกรรมทั้งหลาย ตกไปแล้วในอบายภูมิทั้ง ๔ ย่อมเสวยซึ่งความทุกข์ในอบาย บุคคลทั้งหลายบางพวก ย่อมเสวยซึ่งความทุกข์เป็นอันมากเพราะเหตุคือ ทุจริตกรรมของตน หรือของคนอื่นในโลกนี้, บุคคลทั้งหลายบางพวกย่อมเสวยซึ่งความสุข เพราะการได้ซึ่งทรัพย์โดยทุจริตกรรม, ชนเป็นอันมากทั้งหลายย่อมเสวย ซึ่งความทุกข์เป็นอันมาก ซึ่งมีราคะเป็นเหตุ และนักศึกษาทั้งหลายพึงทราบโดยพิสดารว่า ย่อมเสวยซึ่งความทุกข์เป็นอันมาก ซึ่งมีโทสะเป็นเหตุ ซึ่งมีโมหะเป็นเหตุ ซึ่งมีความเห็นผิดเป็นเหตุ และซึ่งมีความถือตัวเป็นเหตุ เป็นต้น



แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยระหว่างอัพยากตธรรมกับกุศลธรรม

อัพยากตธรรม ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังแม้แก่กุศลธรรม บุคคลบางคน ย่อมถวายซึ่งทาน เพราะความถึงพร้อมแห่งทรัพย์ ย่อมรักษาซึ่งศีล ย่อมเจริญซึ่งปัญญา ย่อมเจริญซึ่งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้นๆ เพราะได้ซึ่งอาวาส ซึ่งที่หลีกเร้น ซึ่งถ้ำ ซึ่งต้นไม้ ซึ่งป่า ซึ่งภูเขา ซึ่งหมู่บ้านที่เที่ยวบิณฑบาต อันเป็นที่เหมาะแก่การเจริญภาวนา หรือซึ่งความเป็นสัปปายะแห่งอุตุ ความสัปปายะแห่งอาหาร



แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยระหว่างอัพยากตธรรมกับอกุศลธรรม

อัพยากตธรรม ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังแม้แก่อกุศลธรรมในโลก เพราะอาศัยความสมบูรณ์แห่งตา อกุศลธรรมทั้งหลายมากมาย ซึ่งมีการดูเป็นเหตุย่อมเกิดขึ้น นักศึกษาพึงทราบ นัยตามที่กล่าวแสดงไว้แล้วในความสมบูรณ์แห่งตานี้ ทั้งในความสมบูรณ์แห่งหูเป็นต้น บัณฑิตพึงกล่าว ซึ่งอธิบายเป็นอันมากโดยพิสดาร โดยนัยเป็นต้นว่า เพราะอาศัยซึ่งความสมบูรณ์แห่งมือ ความสมบูรณ์แห่งเท้า ความสมบูรณ์แห่งศาสตรา ความสมบูรณ์แห่งอาวุธ โดยนัยเดียวกันนี้ อุปนิสสยปัจจัยมี ๓ อย่างโดยนัยที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2019, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


แสดงสุตตันตูปนิสสยปัจจัย

บัณฑิตพึงกล่าว สุตตันตอุปนิสสยปัจจัย ซึ่งมาแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า เพราะอาศัยซึ่งกัลยาณมิตร, เพราะอาศัยซึ่งบาปมิตร, เพราะอาศัยซึ่งหมู่บ้าน เพราะอาศัยซึ่งป่า ในที่ทั้งหลายเป็นอันมากไว้ในที่นี้ ก็อีกอย่างหนึ่ง นิยามธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นเหตุที่มีกำลัง เพื่อความเป็นไปอย่างไม่ขาดสายแห่งโลกทั้ง ๓ คือ สัตวโลก สังขารโลก และโอกาสโลก และการอธิบายเนื้อความนี้ ก็ได้แสดงไว้แล้วโดยพิสดาร ในนิยามปทีปนีนั่นเอง



แสดงไขเนื้อความแห่งอารัมมณูปนิสสยศัพท์

ถามว่า ที่ชื่อว่า อารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะหมายความว่าอย่างไร

ตอบ อารมณ์นั่นเองที่เป็นอธิบดี ชื่อว่า อารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะว่า เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง แห่งอารัมมณิกธรรมทั้งหลาย(ธรรมที่รับอารมณ์ทั้งหลาย)



แสดงอุปมาเรื่องเนื้อความแห่งอนันตรูปนิสสยศัพท์

ถามว่า ชื่อว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย เพราะหมายความว่าอย่างไร?

ตอบว่า จิตที่ไม่มีจิตดวงอื่น ที่เกิดขึ้นก่อน มีชื่อว่า อนันตรูปนิสสย เพราะหมายถึงว่าเป็นที่อาศัย และเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมาก เพื่อความเกิดขึ้นแห่งจิตที่ไม่มีจิตดวงอื่นเกิดขึ้นมาคั่นในภายหลัง จิตที่เกิดก่อนพึงเห็นเหมือนมารดา จิตที่เกิดภายหลัง พึงเห็นเหมือนบุตร มารดาย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยที่มีกำลัง เพื่อความเกิดขึ้นแห่งบุตรในลำดับแห่งตน ฉันใด จิตที่เกิดก่อนก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เพื่อความเกิดขึ้นแห่งจิตดวงหลังๆ นั่นเอง



แสดงเนื้อความแห่งปกตูปนิสสยศัพท์

ถามว่า ชื่อว่า ปกตูปนิสสยะ เพราะหมายความว่าอย่างๆร?

ตอบว่า ที่อาศัยที่ปรากฏชัดของบัณฑิตทั้งหลายในในโลก คือ สภาวะที่เป็นปกติ มีชื่อว่า ปกตูปนิสสยะ(ที่อาศัยที่ปรากฏชัดคือความเป็นปรกติ)



แสดงไขอำนาจที่แตกต่างกันระหว่างอนันตรูปนิสสยะกับปกตูปนิสสยะ

ก็ในอุปนิสสยปัจจัยนี้ อำนาจแห่งอนันตรูปนิสสยปัจจัยย่อมแผ่ไปเฉพาะในจิตดวงอื่นที่เกิดติดต่อกันเท่านั้น ส่วนอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัยย่อมแผ่ไป แม้ในที่ไกลได้แน่นอน จริงอย่างนั้น ในภพนี้ ในวันก่อนๆ ทั้งหลาย, หรือในปีก่อนๆ ทั้งหลาย อารมณ์ทั้งหลายที่เห็น, ที่ได้ยิน, ที่ได้กลิ่น, ที่ลิ้มรส ที่ถูกต้อง ที่รับทราบ เมื่อเหตุมีสภาวะเช่นนั้น ยังมีอยู่ ย่อมมาสู่คลองในมโนทวารได้ แม้ในเวลานานตั้ง ๑๐๐ ปี สัตว์ทั้งหลายย่อมตามระลึกถึงได้ โดยนัยเป็นต้นว่า รูปารมณ์ สัททารมณ์ ชื่อนี้ ข้าพเจ้าเคยได้เห็นแล้ว เคยได้ฟังมาแล้วในกาลก่อน, ส่วนโอปปาติกปฏิสนธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมตามระลึกได้แม้ซึ่งภพที่เป็นอดีตที่เคยมีมาก่อน เหมือนอย่างนั้น แม้ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย คนทั้งหลายบางพวก ย่อมได้สัญญา คือการจำอดีตภพที่มีมาก่อนได้, เหมือนอย่างนั้น ความสืบต่อแห่งมโนวิญญาณแผ่ซ่านไปอยู่ ในอารมณ์ที่ตนเคยเห็น เคยได้ยิน เป็นต้น แม้มากในรูปารมณ์เป็นต้น ที่ตนเคยเห็นและเคยได้ยินเป็นต้น ตั้งหลายแสนชาติในกาลก่อน เมื่อมาเห็นหรือมาได้ยินอารมณ์อย่างอื่นในขณะหนึ่งในภายหลังนั่นเอง

จบการแสดงอุปนิสสยปัจจัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2019, 09:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๐. ปุเรชาตปัจจัย



แสดงการจำแนกปุเรชาตปัจจัย

ปุเรชาตปัจจัยมี ๓ อย่าง คือ
๑. วัตถุปุเรชาตปัจจัย
๒. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย
๓. วัตถารัมณปุเรชาตปัจจัย



แสดงความเหมือนกันระหว่าง วัตถุปุเรชาต วัตถารัมมณปุเรชาต และอารัมมณปุเรชาตปัจจัย

ในปุเรชาตปัจจัยทั้ง ๓ อย่าง เหล่านั้น วัตถุปุเรชาตปัจจัย และวัตถารัมณปุเรชาตปัจจัย ข้าพเจ้ากล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ในนิสสยปัจจัยข้างต้นโดยมีชื่อว่า นิสสยปัจจัยนั่นเอง.



แสดงการช่วยอุปการะหลังจากที่ได้แสดงจำแนกปัจจัยกับปัจจยุบันธรรม พร้อมทั้งอุปมาในอารัมมณปุเรชาตปัจจัย

ชื่อว่า อารัมมณปุเรชาตปัจจยุบัน ก็มีเฉพาะในนิปผันรูป ๑๘ เท่านั้น แม้ใน นิปผันรูป ๑๘ เหล่านั้น ปัญจารมณ์ มีรูปารมณ์ และสัททารมณ์ เป็นต้น ที่เป็นปัจจยุบัน ย่อมช่วยทำอุปการะด้วยอำนาจอารัมณปุเรชาตปัจจัย แก่ปัญจวิญญาณจิต ๕ อย่าง โดยแน่นอน, เหมือนอย่างว่า ธรรมดาว่า เสียงพิณทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้น เพราะไม้สีพิณกระทบที่สายพิณทั้งหลายเท่านั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น เสียงพิณทั้งหลายเหล่านั้น เว้นจากสายพิณ และไม้สีพิณทั้งหลายที่เกิดขึ้นก่อรน ย่อมไม่อาจเพื่อความเกิดขึ้นได้ฉันใด, ฉันนั้น เหมือนกัน แม้ปัญจวิญญาณวิถีจิตทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นได้เพราะเหตุคือการมาสู่คลองแห่งอารมณ์ทั้ง ๕ อย่าง ในวัตถุและทวารทั้ง ๕ เท่านั้น และการมาสู่คลองย่อมมีเฉพาะในเวลาที่ถึงฐิติขณะเท่านั้น สำหรับวัตถุและทวารทั้ง ๒ อย่างเหล่านั้น และในเวลาที่มาสู่คลองนั้น อารมณ์ ๕ อย่างเหล่านั้น ย่อมไม่มาสู่คลองในวัตถุทั้ง ๕ อย่าง เหล่านั้น อย่างเดียวเท่านั้น, โดยที่แท้ ย่อมมาสู่คลองแม้ในมโนทวารที่เรียกว่า ภวังค์ แน่นอน เพราะมาสู่คลองในมโนทวารเท่านั้น แม้ภวังคจิตนั้น ย่อมเกิดไหว ๒ ครั้ง แล้วขาดลง, เมื่อกระแสภวังคจิตขาดลองแล้วเท่านั้น ปัญจทวารวิถีจิตเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้น และเมื่อมีความเป็นเช่นนั้น ปัญจทวารวิถีจิตเหล่านั้นย่อมไม่สามารถเพื่ออันเกิดขึ้นเว้นจาก วัตถุ ทวาร และอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาก่อน

นิปผันรูป ๑๘ ประการเหล่านั้น แม้ทั้งปวง แม้ที่เป็นอดีตก็ดับไปเรียบร้อยแล้ว แม้ที่เป็นอนาคตก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย แม้ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังเกิดขึ้น นิปผันรูปที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบันเหล่านั้น แม้ทั้งหมด ย่อมเป็นอารมณ์ของมโนวิญญาณวิถีจิตทั้งหลาย บรรดานิปผันรูปที่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ เหล่านั้น เฉพาะที่เป็นปัจจุบันนิปผันรูปเท่านั้น ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอารัมมณปุเรชาตปัจจัยแก่ปัญจวิญญาณวิถีจิต เหล่านั้น ในกาลใด ย่อมทำวัตถุและอารมณ์นั้นๆ ที่ดำรงอยู่แล้วในที่ไกล, หรือในที่ปกปิด ให้เป็นอารมณ์ด้วยใจเท่านั้น ในกาลนั้น ถ้าอารมณ์และวัตถุที่ดำรงอยู่ในที่ไกล เป็นต้นเท่านั้น ย่อมปรากฏในที่นั้นๆ อารมณ์และวัตถุนั้นๆ ชื่อว่า ปัจจุบันอารมณ์



จบการแสดงปุเรชาตปัจจัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2019, 17:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๑. ปัจฉาชาตปัจจัย



แสดงสภาวะของปัจจัยกับปัจจยุบบัน การช่วยทำอุปการะ และข้ออุปมาในปัจฉาชาตปัจจัย

จิตที่เป็นปัจจุบันดวงหลังๆ ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปัจฉาชาตปัจจัย เพื่อความเจริญเติบโตขึ้นแห่งรูปกาย ที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ๔ อย่าง ที่เกิดก่อน ที่กำลังถึงฐีติขณะในอธิการว่าด้วยการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปัจฉาชาตปัจจัยนี้ บัณฑิตพึงทราบด้วยข้ออุปมาดังต่อไปนี้ เหมือนอย่างว่า น้ำฝนทั้งหลายที่ตกลงมาอยู่ทุกปี ในปลายฤดูฝนทั้งหลายย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจความเกิดขึ้นในภายหลัง แก่หน่อไม้ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในต้นฤดูฝนทั้งหลาย



แสดงองค์ธรรมของจิตดวงหลังๆ และรูปที่เกิดก่อน

ในปัจฉาชาตปัจจัยนี้ คำว่า "จิตดวงหลังๆ" หมายถึง เริ่มตั้งแต่ปฐมภวังค์ที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตจนมาถึงจุติจิต ท่านกล่าวหมายถึงจิตทุกดวง บทว่า "รูปที่เกิดก่อน" หมายถึง เริ่มตั้งแต่กัมมชรูปกายที่เกิดขึ้นร่วมกันกับปฏิสนธิจิต ท่านกล่าวหมายถึงรูปกายที่เกิดมาจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ที่นับเนื่องในอัชฌัตตสันดานทั้งหมด



แสดงการไม่ช่วยทำอุปการะด้วยอำนาจแห่งปัจฉาชาตปัจจัยสำหรับกัมมัชรูปที่เกิดร่วมกันกับปฏิสนธิจิตและภวังคจิตดวงที่ ๑๖ ที่เกิดต่อมาเรื่อยจากปฏิสนธิจิต

ภวังคจิต ๑๕ ดวง มีปฐมภวังค์เป็นต้น ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปัจฉาชาตปัจจัยแก่กัมมชรูปกายที่เกิดร่วมกันกับปฏิสนธิจิต ส่วนปฏิสนธิจิต ย่อมไม่เป็นปัจฉาชาตปัจจัยเพราะเกิดขึ้นร่วมกันกับกัมมชกายนั้น ส่วนภวังคจิตดวงที่ ๑๖ ย่อมไม่เป็นปัจฉาชาตปัจจัยเพราะเกิดขึ้นในภังคักขณะแห่งกัมมชกายที่เกิดขึ้นร่วมกันกับปฏิสนธิจิตนั้น เพราะฉะนั้นเฉพาะภวังคจิต ๑๕ ขณะเท่านั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว.



แสดงความเกิดขึ้นแห่งทวิชกาย ติชกาย และจตุชกาย พร้อมทั้งการช่วยทำอุปการะด้วยอำนาจปัจฉาชาตปัจจัยจากปัจฉิมจิต

ส่วยในฐีติขณะแห่งปฏิสนธิจิต รูปกายย่อมเกิดขึ้น ๒ หมวดคือ

๑. กัมมชรูปกาย
๒. อุตุชรูปกาย

ย่อมเกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้นแม้ในภังคักขณะ ส่วนในอุปาทักขณะแห่งปฐมภวังค์ รูปกาย ๓ หมวดย่อมเกิดขึ้น คือ

๑. กัมมชรูปกาย
๒.จิตตชรูปกาย
๓. อุตุชรูปกาย

ในกาลใดโอชาที่มีอยู่ในรูปกลาป ๓ หมวดที่เรียกว่าอัชฌัตตสันดานได้แล้ว ซึ่งโอชาที่แผ่ซ่านไปอยู่ในอาหารที่มีในภายนอกย่อมทำให้อาหารชรูปกลาปเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ความเกิดขึ้นแห่งอาหารชรูปนั้นไป รูปกลาป ๔ หมวดที่เกิดขึ้นจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ย่อมเป็นไปไม่ขาดสาย เปรียบดัง ประทีปและสายน้ำ ฉะนั้น จตุสมุฏฐานิกรูปนั้น ก้าวล่วงอุปาทขณะย่อมดำรงอยู่โดยสภาวะแห่งฐีติขณะเพียงใด จิต ๑๕ ขณะย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งปัจฉาชาตปัจจัยแก่จตุสมุฏฐานิกรูปกลาปทั้งหลายเพียงนั้น นั่นเอง



แสดงอธิบายถึงถ้อยคำที่ว่า วุฑฒิวิรุฬหิยา ดังนี้เป็นต้น

บทว่า วุฑฒิวิรุฬหิยา หมายถึงว่า เพื่อความเติบโตเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปแห่งลำดับของจตุสมุฏฐานิกรูป จริงอย่างนั้น ถ้ารูปกลาป ๔ หมวดที่เกิดก่อนๆ ได้ปัจฉาชาตปัจจัยบ่อยๆ ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น จตุสมุฏฐานิกรูปกลาปเหล่านั้น แม้เมื่อดับไปอยู่ ย่อมดับไปเพื่อความเป็นเหตุที่มีกำลัง เพื่อความเจริญ งอกงามไพบูลย์ แห่งความสืบต่อลำดับแห่งรูปกลาปทั้งหลายนั้นภายหลังแล.



จบการแสดงปัจฉาชาตปัจจัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2019, 23:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๒. อาเสวนปัจจัย


แสดงสภาวะของอาเสวนปัจจัยกับอาเสวนปัจจยุบัน

โลกียชวนจิต ๔๗ ดวง คือ
อกุศลจิต ๑๒ ดวง
โลกียกุศลจิต ๑๗ ดวง
กิริยาจิต ๑๘ ดวง (เว้นอาวัชชนจิต ๒ ดวง)
ชื่อว่าอาเสวนปัจจัย

บรรดาโลกียชวนจิต ๑๗ ดวงเหล่านั้น ชวนจิตที่เกิดก่อนๆ ถึงลำดับแห่งชวนจิตที่เป็นไปไม่ขาดสายชื่อว่า อาเสวนปัจจัย ชวนจิตที่เกิดหลังๆ พร้อมทั้งมัคคจิตทั้ง ๔ ดวง ชื่อว่า อาเสวนปัจจยุบัน



แสดงเนื้อความของอาเสวนศัพท์

ถามว่า ที่ชื่อว่า อาเสวนะ เพราะมีความหมาย อย่างไร?
ตอบ ที่ชื่อว่า อาเสวนะ เพราะมีความหมายว่า เพื่อความเจริญทางการช่ำชอง และเพื่อความเจริญโดยมีพลังแรงยิ่งๆ ไป



แสดงอธิบายศัพท์ ปคุณภาวและปริวาส เป็นต้น

ในถ้อยคำนั้น คำว่า ปคุณภาวะ คือภาวะที่ช่ำชอง ได้แก่ความเป็นไป โดยง่ายแห่งจิตดวงหลังๆ ในความต่างแห่งฐานะและความต่างแห่งกิจ กล่าวคือชวนฐานและชวนกิจ ดุจความเป็นไปแห่งการสวดพระบาลีของบุคคลผู้ที่ทำการสาธยายบ่อยๆ ก็เป็นไปได้โดยง่าย ที่ชื่อว่า ปริวาส หมายถึงการอบรม ก็คือ การอบรบด้วยโลภะ โทสะ เป็นต้น หรือ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น บ่อยๆ ในจิตตสันดาน ดุจการอบกลิ่นผ้ากาสีด้วยกลิ่นหอมบ่อยๆ ฉะนั้น เมื่อชวนจิตดวงก่อนแม้ดับไปแล้ว อำนาจแห่งความเร็วของชวนะของชวนจิตดวงนั้นย่อมดับไป ย่อมแผ่ซ่านเป็นไปอยู่สู่ลำดับแห่งจิตดวงหลังๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ชวนจิตดวงหลังๆ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นมีกำลังมากกว่าเพราะถูกความเร็วแห่งชวนจิตดวงก่อนๆ นั้นสนับสนุนแล้ว ฉะนั้น เหมือนกับจิตดวงก่อนๆ ย่อมให้จิตดวงหลังๆ เจริญอยู่ ให้ยึดถืออยู่ และจิตดวงหลังๆ ถือเอาแล้ว ซึ่งการเจริญของจิตดวงก่อนย่อมเป็นไป แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ความเร็วแห่งอำนาจของอาเสวนปัจจัย ย่อมถึงซึ่งความสิ้นไปรอบ โดยจิตตวาระ ๗ ขณะ โดยปกติในเวลาภายหลังต่อจาก ชวนวาระ ๗ ขณะนั้นไป ตทาลัมพณวิบากจิตย่อมเกิดขึ้นหรือภวังคจิตวาระย่อมเป็นไป.



แสดงอาเสวนปัจจัยตามสุตตันตนัย

ในที่นี้ ก็พึงกล่าว อาเสวนปัจจัยตามสุตตันตนัย บัณฑิตพึงทราบเนื้อความที่ท่านได้กล่าวไว้แล้วในฐานะเป็นอันมากว่า ย่อมเจริญสติปัฏฐานธรรม ย่อมเจริญสัมมัปธานธรรม ย่อมเจริญสติสัมโพชฌังคธรรม ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงคธรรม ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิธรรม ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะธรรมดังนี้ เป็นต้น และในพระบาลีเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งบทว่า ภาเวติ ดังต่อไปนี้ คือ ย่อมเจริญ แม้ตลอดวันหนึ่ง ย่อมเจริญแม้ตลอด ๗ วัน ย่อมเจริญแม้เดือนหนึ่ง ย่อมเจริญตลอดแม้ ๗ เดือน ย่อมเจริญแม้ตลอดปีหนึ่ง ย่อมเจริญแม้ตลอด ๗ ปี ดังนี้แล.


แสดงการช่วยอุปการะด้วยอำนาจแห่งอาเสวนปัจจัยระหว่างกุศลธรรม อกุศลธรรมในภพก่อนๆ กับกุศลธรรม อกุศลธรรมในภพหลังๆ

กุศลธรรมทั้งหลาย คือกุศลธรรมทั้งหลายที่ตนเคยสั่งสมไว้แล้ว เคยเจริญไว้แล้ว เคยทำไว้มากแล้วในภพก่อนๆ ทั้งหลาย ย่อมช่วยอุปการะเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย หรือกุศลธรรมทั้งหลายที่มีกำลังมากกว่าในภพทั้งหลายที่มีในภายหลัง



แสดงความต่างกันระหว่างอำนาจของอุปนิสสยปัจจัยกับอำนาจของอาเสวนปัจจัย

ธรรมดาว่า อุปนิสสยปัจจัยย่อมเป็นปัจจัยที่ช่วยทำการอุปการะเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่มีสภาวะเช่นเดียวกันนั้นในกาลอื่นหรือในภพอื่น ส่วนธรรมดาว่าอาเสวนปัจจัยย่อมเป็นปัจจัยที่ช่วยอุปการะเพื่อประโยชน์คือการมีกำลังมากกว่ากุศลธรรมและอกุศลธรรมเหล่านั้นเท่านั้น



แสดงธรรมทั้งหลายที่สืบเนื่องมาจากผลของอาเสวนปัจจัย

การเจริญ การสั่งสม การอบรม ในกายภาวนากรรมทั้งหลาย ในวาจาภาวนากรรมทั้งหลาย ในจิตภาวนากรรมทั้งหลาย ในการฝึกหัดอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลายในแห่งการงาน แหล่งศิลปศาสตร์ และแหล่งวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่มีมากมายในโลก ชื่อว่า ย่อมปรากฏว่าเป็นคุณคือผลของการสั่งสมการงานไว้มากนั่นเอง



แสดงภาวะที่ไม่เว้นจากอำนาจของอาเสวนปัจจัย แม้แต่ในการได้บรรลุความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า

การงานของความเพียรกล้าที่เป็นไปสิ้นกาลนานด้วยอำนาจแห่งการเพิ่มพูนกำลังและความเพียรของสัตว์ทั้งหลายที่มากยิ่งขึ้นไป ย่อมถึงซึ่งความสำเร็จ ย่อมบรรลุแม้ซึ่งความเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าเพราะความที่อาเสวนปัจจัยเห็นปานนี้มีปรากฏอยู่ในท่ามกล่างแห่งธรรมที่มีชวนะทั้ง ๓ ทั้งปวงเท่านั้น.



จบการแสดงอาเสวนปัจจัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ต.ค. 2019, 06:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๓. กัมมปัจจัย



กรรมปัจจัยมี ๒ อย่าง คือ

๑.สหชาตกัมมปัจจัย
๒. นานาขณิกกัมมปัจจัย



แสดงสภาวะของสหชาตกัมมปัจจัยกับสหชาตกัมมปัจจยุบัน

บรรดาปัจจัยทั้ง ๒ อย่างนั้น กุศลเจตนา อกุศลเจตนา และ อัพยากตเจตนาทั้งหลาย แม้ทั้งปวงที่ประกอบด้วยขณะทั้ง ๓ ชื่อว่า สหชาตกัมมปัจจัย จิตเจตสิกธรรมทั้งหลายแม้ทั้งปวง ที่ประกอบด้วยกันกับเจตนาธรรม กัมมชรูปทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันแล้ว พร้อมกันกับปฏิสนธิจิตและจิตตชรูปธรรมทั้งหลายในเวลาปวัตติกาล ชื่อว่า เป็นปัจจยุบันธรรมแก่สหชาตกัมมปัจจัยนั้น.



แสดงการจำแนกนานาขณิกกัมมปัจจัยกับนานาขณิกกัมมปัจจยุบัน

กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วชื่อว่านานาขณิกกัมมปัจจัย, ธรรมทั้งหลายที่เป็นโลกียวิบากจิตและเจตสิก ๓๒ กัมมชรูปทั้งหลายทั้งปวง ชื่อว่า ธรรมที่เป็นปัจจยุบันของนานาขณิกกัมมปัจจัยนั้น



แสดงเนื้อความแห่งศัพท์

ถามว่า ชื่อว่า กัมม เพราะมีความหมายอย่างไร?
ตอบว่า ชื่อว่า กัมม เพราะมีความหมายว่าเป็นสภาวะที่มีความแตกต่างกันทางการกระทำ ความจริงเจตนาเจตสิกย่อมเป็นสภาวะที่มีความแตกต่างกันทางการกระทำเพราะเป็นประธานในการกระทำทั้งปวงทั้งหลาย จริงอยู่ เจตนานั้น ย่อมทำให้ธรรมที่ประกอบร่วมทั้งหลาย คิดไป ดำริไป จัดแจงไป เพื่อที่จะให้กรรมนั้นๆ สำเร็จ ในเมื่อกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมทั้งปวงปรากฎเฉพาะหน้าแล้ว ย่อมให้เกิดขึ้นโดยความเป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นประธานในกรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่ชื่อว่า "กรรม" เพราะมีความหมายว่าเป็นความแตกต่างกันทางการกระทำ ด้วยประการฉะนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ชื่อว่า กรรม เพราะเป็นเหตุให้กระทำ ย่อมกระทำ ซึ่งกรรมอะไร ย่อมกระทำซึ่งกรรมที่เป็นไปทางกายบ้าง ย่อมกระทำกรรมที่เป็นไปทางวาจาบ้าง ย่อมกระทำซึ่งกรรมที่เป็นไปทางใจบ้าง ในถ้อยคำนั้นชื่อว่ากรรมที่เป็นไปทางกาย ก็คือมีอาการมีการ เดิน ยืน นั่ง เป็นต้น และการเดินหน้า ถอยหลัง เป็นต้นโดยที่สุด แม้การขยับ ยักคิ้ว หลิ่วตา ที่ชื่อว่ากรรมที่เป็นไปทางวาจารก็คือกิริยาคือการเปล่งถ้อยคำ ที่ชื่อว่ากรรมที่เป็นไปทางใจก็คือกิริยาที่คิดดี คิดร้าย โดยที่สุด แม้ทัสสนกิจและสวนกิจเป็นต้นแห่งปัญจวิญญาณจิตทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมกระทำกิริยาเหล่านี้ทั้งปวงด้วยเจตนานั้น และย่อมจัดแจงด้วยเจตนานั้น เพราะเหตุนั้นเจตนานั้นชื่อว่า กรรม.



แสดงเนื้อความแห่งบทว่าสหชาตกรรมปัจจัยเป็นต้น

ธรรมชาติใดย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับปัจจยุบันธรรมของตน เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สหชาต และธรรมที่เกิดพร้อมกันกับปัจจยุบบันธรรมนั้นก็เป็นทั้งสหชาตด้วย เป็นทั้งกรรมด้วย ที่เป็นสภาวะที่ช่วยอุปการะซึ่งชื่อว่าสหชาตกัมมปัจจัย มีคำอธิบายว่า ย่อมช่วยอุปการะโดยความเป็นสหชาตด้วยเป็นกรรมด้วย



แสดงวจนัตถะแห่งบทว่า นานาขณิกกัมมปัจจัย เป็นต้น

ที่ชื่อว่า นานาขณิกะเพราะมีความหมายว่า ขณะที่เกิดขึ้นแห่งเจตนากรรมก็เป็นอีกเวลาหนึ่ง ขณะที่เกิดขึ้นแห่งผลของเจตนากรรมก็เป็นอีกเวลาหนึ่ง หรือ ขณะที่เกิดขึ้นแห่งนานาขณิกเจตนากรรมนี้ แตกต่างกัน ธรรมที่มีเวลาเกิดขึ้นแตกต่างกันนั้น เป็นนานาขณิกะด้วยเป็นกรรมด้วย เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า นานาขณิกกัมมะ นานาขณิกกัมมะเป็นสภาวะที่ช่วยอุปการะ จึงชื่อว่านานาขณิกกัมมปัจจัย มีคำอธิบายว่า เป็นปัจจัยโดยสภาวะที่ช่วยอุปการะโดยความเป็นนานาขณิกะด้วยเป็นกรรมด้วย เจตนาที่ประกอบกับอริยมรรค ๔ อย่าง ย่อมให้วิบากที่เป็นอริยผล ๔ อย่าง เกิดขึ้นในลำดับที่ตนดับไปแล้วเท่านั้น แม้เจตนาที่มีในอริยมรรค ๔ อย่างนั้นก็ชื่อว่า นานาขณิกกัมมปัจจัยเหมือนกัน.



แสดงความที่เจตนาอย่างเดียว ช่วยทำอุปการะแตกต่างกัน ด้วยอำนาจกัมมปัจจัย ๒ อย่างในกาลทั้ง ๒

จะกล่าวต่อไปในกัมมปัจจัยนี้ ทานกุศลเจตนาอย่างหนึ่งย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจสหชาตกัมมปัจจัย แก่จิตเจตสิกทั้งหลายที่เกิดขึ้นร่วมกันกับตนและแก่จิตชรูปทั้งหลายที่เป็นกิริยาทางกายและทางวาจาเพราะทานกุศลเจตนากรรมนั้น ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจของนานาขณิกกัมมปัจจัยแก่วิบากนามขันธ์ ๔ อย่าง และแก่กัมมชรูปซึ่งจะเกิดขึ้นในกาลอื่นต่อไป เจตนาที่เป็นกุศล อกุศลที่ถึงความเป็นกรรมบถอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่าย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจของปัจจัย ๒ อย่าง แก่ปัจจยุบบัน ๒ อย่างในกาลทั้ง ๒ ด้วยประการนี้.



แสดงการให้ผลที่แตกต่างแห่งกรรมที่เป็นกามาวจรกรรมกับมหัคคตกรรมทั้ง ๒ อย่าง

จะกล่าวต่อไป ในนานาขณิกกัมปัจจัยนี้ บทว่า กัมมะ หมายถึง กิริยาพิเศษและกิริยาพิเศษนั้น แม้เจตนาจะดับไปแล้วก็ยังไม่ดับเลย ย่อมเข้าถึงความสืบต่อแห่งจิตนั้นเหมือนกันในกาลใดย่อมได้ซึ่งโอกาสเมื่อนั้นย่อมให้ผลในกาลนั้น กิริยาที่พิเศษนั้นย่อมให้ผลปรากฏอยู่เป็นอัตภาพอย่างหนึ่ง ในจุติจิตดวงอื่น แต่ว่า เมื่อไม่ได้อยู่ซึ่งโอกาสย่อมเข้าถึงลำดับแห่งความสืบต่อ ลำดับแห่งขันธ์ของสัตว์นั้น ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง แสนชาติบ้าง แต่ว่ามหัคคตเจตนากรรมเมื่อได้โอกาสอยู่ย่อมให้ผลปรากฏเป็นอัตภาพขันธ์ของพรหมเหล่าหนึ่ง ในพรหมภูมิในภพที่ ๒ แต่ว่า เพราะความที่กรรมแก่รอบด้วยดีแล้ว ย่อมสิ้นไปในภพที่ ๒ นั่นเอง ย่อมไม่ติดตามไปหลังจากพ้นจากภพที่ ๒ นั้นไปแล้ว.



จบการแสดงกัมมปัจจัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2019, 06:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๔. วิปากปัจจัย



แสดงสภาวะของวิปากปัจจัยธรรมกับวิปากปัจจยุบันธรรมทั้งหลาย

ธรรมทั้งหลายที่เป็นสภาพของวิบาก และสภาพของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นร่วมกันด้วยสัมปโยคลักษณะทั้ง ๔ ทั้ง ๓๖ ประการ ชื่อว่า วิปากปัจจัย ธรรมที่เป็นวิปาก ๓๖ ประการ และ เจตสิก ๓๘ ประการ เหล่านั้นนั่นเอง ที่ช่วยอุปการะแก่กันและกัน กัมมชรูปทั้งหลายในปฏิสนธิขณะและจิตตชรูปทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากวิบากจิต ชื่อว่าวิปากปัจจยุบันธรรม



แสดงเนื้อความแห่งวิปากศัพท์

ถามว่า ที่ชื่อว่า วิปากะ เพราะหมายถึงอะไร
ตอบว่า ที่ชื่อว่า วิปากะ เพราะหมายถึงว่า เผล็ดผล(วิปัจจนะ) การก้าวล่วงภาวะที่อ่อนเยาว์เข้าถึงภาวะที่แก่รอบ ชื่อว่า วิปัจจนะ

ถามว่า ภาวะที่อ่อนเยาว์แห่งธรรมอะไร ภาวะที่แก่รอบแห่งธรรมอะไร
ตอบว่า ภาวะที่อ่อนเยาว์แห่งอดีตเจตนากรรม ที่เรียกว่า นานาขณิกกัมมปัจจัย และ ภาวะที่แก่รอบแห่งนานาขณิกเจตนาอดีตกรรมนั้นนั่นเอง



แสดงอวัคถา ๔ อย่างแห่งเจตนาอย่างหนึ่ง

ในถ้อยคำนั้น นักศึกษาทั้งหลาย พึงทราบเนื้อความดังต่อไปนี้ อวัตถา(ชั่วเวลาหนึ่ง) แห่งเจตนากรรมอย่างหนึ่งมีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. เจตนาวัตถา
๒. กัมมวัตถา
๓. นิมิตาวัตถา
๔. วิปากวัตถา



แสดงกัมมาวัตถา

บรรดาอวัตถาทั้ง ๔ อย่างนั้น นานาขณิกเจตนานั้นแม้จะดับไปแล้ว ก็ยังไม่เป็นกิริยาที่ดับไปอย่างพิเศษแห่งเจตนานั้น ย่อมฝังแน่นอยู่ในจิตสันดานของสัตว์นั้น เจตนาที่ดับไปแล้ว ในเวลาภายหลังก็มาปรากฏชั่วครู่หนึ่งในจิตสันดานของสัตว์นั้น ชื่อว่า กัมมาวัตถา



แสดงนิมิตตาวัตถาของนิมิตทั้ง ๓ อย่าง

บรรดา นิมิตตาวัตถา คือ กรรมที่เป็นกิริยาพิเศษที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานของสัตว์ผู้นั้น ย่อมได้ซึ่งโอกาสเพื่ออันเผล็ดผลในกาลใด ในกาลนั้น ที่เป็นเวลาใกล้ตาย กรรมที่จะให้ผลนั้นนั่นเอง ย่อมปรากฏแก่บุคคลนั้น ในกาลนั้น บุคคลนั้นย่อมเป็นเหมือนกำลังถวายทานอยู่ ย่อมเป็นเหมือนรักษาศีลอยู่ ย่อมเป็นเหมือนทำการฆ่าสัตว์อยู่ กรรมนิมิตนั้นย่อมมาปรากฏเฉพาะหน้า ทานวัตถุเป็นต้นที่เป็นอุปกรณ์แห่งการสั่งสมกรรมนั้นในกาลก่อน หรือว่าอารมณ์อื่นมีมีดเป็นต้น ย่อมเป็นเหมือนอยู่ในมือของบุคคลนั้นเวลานั้นๆ อีกอย่างหนึ่ง คตินิมิตย่อมมาปรากฏเฉพาะหน้า อารมณ์มีทิพยวิมานเป็นต้น หรืออารมณ์มีเปลวไฟในนรกเป็นต้น เป็นอารมณ์ที่สัตว์พึงได้หรือจะพึงเสวยในภพที่จะเกิดขึ้นอยู่ ย่อมมาปรากฏในกาลนั้น การปรากฏชั่วขณะหนึ่งแห่งกรรม กรรมนิมิต และคตินิมิตทั้ง ๓ อย่าง แต่ละอย่างๆ ในเวลาใกล้จะตายนี้ ชื่อว่า นิมิตตาวัตถา.



แสดงวิปากาวัตถา

บทว่า วิปากาวัตถา คือ บุคคลนั้นยังไม่ทันปล่อยอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกรรมที่จะให้ผลนั้น หรือว่ากรรมนิมิตนั้น หรือว่าคตินิมิตนั้น บุญหรือบาปอันปรากฏเฉพาะหน้า ถ้าย่อมตายลงไซร้ในกาลนั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในภพใหม่นั้น กรรมนั้น ย่อมปรากฏเป็นอัตภาพขันธ์อย่างหนึ่งในภพนั้น (จะไม่ขอกล่าวถึงเจตนาวัตถาเพราะนักศึกษาก็เคยพบมาแล้วว่า หมายถึงขณะทั้ง ๓ ของเจตนาที่ได้เคยสั่งสมทุจริตและสุจริตกรรมไว้แต่ละอย่างนั่นเอง)

บรรดาอวัตถาทั้ง ๔ ประการนั้น ในอวัตถา ๓ ประการข้างต้น กรรมนั้นยังเป็นสภาวะที่ยังอ่อนเยาว์นัก แต่ว่าที่ถึงวิปากาวัตถาในภายหลัง ย่อมเป็นสภาวะที่แก่รอบ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้แล้วว่า สภาวะที่ก้าวล่วงสภาวะอ่อนเยาว์ถึงความแก่รอบชื่อว่า วิปัจจนคือการเผล็ดผล ดังนี้ รวมจิต เจตสิกธรรมทั้งหลายที่ถึงภาวะแก่รอบ ชื่อว่า วิบาก ด้วยประการฉะนี้



จบการแสดงวิปากปัจจัย
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2019, 17:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๕. อาหารปัจจัย



แสดงการจำแนกอาหารปัจจัย ๒ หมวด

๑. รูปอาหารปัจจัย
๒. นามอาหารปัจจัย



แสดงสภาวะของรูปอาหารปัจจัยกับรูปอาหารปัจจยุบันทั้งหลาย

บรรดาอาหารปัจจัยทั้ง ๒ อย่างนั้น

ธรรมดาว่า รูปอาหารปัจจัย ท่านกล่าวเรียกถึงโอชารูป กล่าวคือ กพฬีการาหาร และโอชารูปนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑. โอชารูปภายใน
๒. โอชารูปภายนอก

จตุสมุฏฐานิกรูป(รูปที่เกิดจากเหตุทั้ง ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร)ธรรมทั้งหลาย แม้ทั้งปวง ชื่อ ปัจจยุบันธรรม แห่งรูปอาหารปัจจัยทั้ง ๒ อย่างนั้น ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอาหารคือคำข้าวเป็นอาหาร



แสดงสภาวะของนามอาหารปัจจัยธรรมกับนามอาหารปัจจยุบัน

ก็นามอาหารมี ๓ อย่าง คือ

๑. ผัสสาหาร (อาหารคือการสัมผัส)
๒. มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือความตั้งใจ)
๓. วิญญาณาหาร(อาหารคือความคิด)

นามปัจจัยธรรมแม้ทั้ง ๓ อย่าง เหล่านั้น ย่อมช่วยอุปการะด้วยอำนาจอาหารปัจจัยแก่นามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันและนามธรรมรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันย่อมเป็นปัจจยุบันธรรมแก่นามอาหารธรรมทั้ง ๓ อย่างเหล่านั้น



แสดงเนื้อความแห่งอาหารศัพท์

ถามว่า ชื่อว่าอาหารเพราะหมายถึงอะไร?
ตอบว่า ชื่อว่า อาหาร เพราะหมายถึงว่า นำไปอย่างรุนแรง

บทว่า เพราะหมายถึงว่า นำไปอย่างรุนแรง ก็หมายถึง การทำให้เป็นไปอย่างมั่นคง มีคำอธิบายว่า เพราะหมายถึงช่วยอุปถัมภ์ เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความเจริญ เพื่อความงอกงาม เพื่อความไพบูลย์สิ้นกาลนาน แม้อาหารที่ประกอบกับชนกกิจที่ทำให้เกิดขึ้น ก็เป็นประธานในอุปถัมภนกิจที่ช่วยอุดหนุน



แสดงรูปอาหารทั้ง ๒ หมวด มีชื่อว่าอาหารก็เพราะช่วยอุดหนุนลำดับแห่งรูปในภายใน

ในอาหารปัจจัยนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความดังต่อไปนี้

อาหาร ๒ อย่าง ช่วยอุดหนุนรูปกายที่เกิดจากเหตุทั้ง ๔ ในภายในสันดาน ย่อมนำไปอย่างรุนแรงย่อมให้เป็นไปมั่น ย่อมให้ดำรงอยู่สิ้นกาลนาน ย่อมให้เป็นไป จนถึงที่สุดรอบแห่งอายุกัปป์นั้นๆ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า อาหาร.



แสดงการจำแนกหน้าที่ของนามอาหารทั้ง ๓ อย่าง

ผัสสาหาร นำไปอยู่ซึ่งความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ย่อมนำไปซึ่งสัมปยุตธรรมทั้งหลายอย่างรุนแรง ในอารมณ์ทั้งหลาย. มโนสัญเจตนาหาร ย่อมทำให้เกิดความอุตสาหะขึ้น ในกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมทั้งหลาย แล้วย่อมนำสัมปยุตธรรมทั้งหลายไปอย่างรุนแรง. วิญญาณาหารนำไปสู่ซึ่งปุพพคมกิจจ์คือ การถึงอารมณ์ก่อน เพราะหมายถึงว่ารู้อารมณ์ ย่อมนำสัมปยุตธรรมทั้งหลายไปอย่างรุนแรง ย่อมให้เป็นไปอย่างมั่นคง ย่อมให้ดำรงอยู่สิ้นกาลนาน เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าอาหาร หมายถึง การนำสัมปยุตธรรมทั้งหลายไปอย่างกล้าแข็ง พร้อมทั้งนำแม้รูปธรรมที่เกิดร่วมทั้งหลายไปด้วยเหมือนกัน



แสดงการช่วยอุปการะแห่งอาหารปัจจัยด้วยอุปมาเรื่องนกตามนัยแห่งพระสูตร

ในอธิการแห่งอาหารปัจจัยนี้ บัณฑิตพึงกล่าว แม้ตามสุตตันตนัย เปรียบเหมือนว่านกทั้งหลายจดจำแล้ว ซึ่งทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย บินไปแล้วด้วยปีกทั้งหลาย จากต้นไม้ต้นหนึ่งสู้ต้นไม้อีกต้นหนึ่ง จากป่าหนึ่ง สู่อีกป่าหนึ่งทางอากาศ จิกกินแล้วซึ่งผลไม้น้อยใหญ่ทั้งหลายด้วยจงอยปากทั้งหลาย ย่อมยังร่างกายให้เป็นไปได้จนสิ้นชีวิตฉันใด สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ฉันนั้น เหมือนกัน สั่งสมแล้วซึ่งอารมณ์ทั้ง ๖ ด้วยวิญญาณทั้ง ๖, กระทำความพยายามเพื่อต้องการที่จะได้อารมณ์และวัตถุ ด้วยมโนสัญเจตนาหารทั้ง ๖, ย่อมทำความรักความชัง อย่างรุนแรงในอารมณ์ทั้งหลาย ด้วยผัสสาหาร ๖ อย่าง, ด้วยวิญญาณทั้ง ๖ อย่าง ย่อมให้สำเร็จนามสมบัติและรูปสมบัติทั้ง ๒ อย่างแล้ว ย่อมทำความรักความชังในอารมณ์ทั้งหลายให้ปรากฏ ด้วยผัสสะทั้งหลาย ย่อมทำให้สำเร็จซึ่งเวทนา คือการตามเสวยรสแห่งอารมณ์แล้ว ย่อมถึงซึ่งความไพบูลย์แห่งตัณหา แล้วทำให้กระทำความดี ความชั่วต่างๆ หลายประการ ซึ่งมีตัณหาเป็นต้นเหตุ ด้วยเจตนาทั้งหลาย แล้วย่อมท่องเที่ยวไปจากภพหนึ่งสู่อีกภพหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบ หน้าที่แห่งอาหารที่ยิ่งใหญ่แห่งอาหารธรรมทั้งหลาย ตามนัยแห่งพระสูตร โดยนัยตามที่กล่าวมาแล้วนี้.



จบการแสดงอาหารปัจจัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2019, 03:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๖. แสดงการจำแนกอินทริยปัจจัย



อินทริยปัจจัยมีอยู่ ๓ อย่างคือ

๑. สหชาตินทริยปัจจัย
๒. ปุเรชาตินทริยปัจจัย
๓. รูปชีวิตินทริยปัจจัย


แสดงสภาวะของสหชาตินทริยปัจจัยกับสหชาตินทริยปัจจยุบันธรรมทั้งหลาย

บรรดาอินทริยปัจจัยทั้ง ๓ อย่างนั้น นามอินทริยธรรมที่ชื่อว่า สหชาตินทริยปัจจัยมีอยู่ ๑๕ อย่าง คือ
๑. นามชีวิตินทรีย์
๒. มนินทรีย์
๓. สุขินทรีย์
๔. ทุกขินทรีย์
๕. โสมนัสสินทรีย์
๖. โทมนัสสินทรีย์
๗. อุเปกขินทรีย์
๘. สัทธินทรีย์
๙. วิริยินทรีย์
๑๐. สตินทรีย์
๑๑. สมาธินทรีย์
๑๒. ปัญญินทรีย์
๑๓. อนัญญาตัญญัสสามิตินทรีย์
๑๔. อัญญินทรีย์
๑๕. อัญญาตาวินทรีย์

จิต เจตสิกธรรมทั้งหลาย และรูปธรรมทั้งหลาย ที่เกิดร่วมกันกับนามอินทรีย์ปัจจัยธรรม ๑๕ อย่างเหล่านั้น ชื่อว่า ปัจจยุบันธรรมของสหชาตินทริยปัจจัยนั้น.


แสดงสภาวะของปุเรชาตินทริยปัจจัยมีอยู่ ๕ อย่าง คือ
๑. จักขุนทรีย์
๒. โสตินทรีย์
๓. ฆานินทรีย์
๔. ชิวหินทรีย์
๕. กายินทรีย์

ปัญจวิญญาณจิตกับสัพพจิตสาธารณเจตสิกธรรม ๗ ประการ ที่ประกอบร่วมทั้งหลาย ชื่อว่า ปัจจยุบันธรรม แห่งปุเรชาตินทริยปัจจัยนั้น.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2019, 06:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


แสดงสภาวะแห่งรูปชีวิตินทริยปัจจัยกับรูปชีวตินทริยปัจจยุบัน

รูปชีวิตินทรีย์อย่างเดียว ชื่อว่า รูปชีวิตินทริยปัจจัย กัมมชรูปที่เว้นรูปชีวิตินทรีย์ ทั้งปวง ชื่อว่า ปัจจยุบันธรรมของรูปชีวิตินทรีย์ปัจจัยนั้น


แสดงเนื้อความแห่งอินทริยศัพท์

ถามว่า ที่ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะหมายถึงอะไร?
ตอบว่า ที่ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะหมายถึงว่า เป็นใหญ่, และในถ้อยคำที่ว่าเป็นใหญ่นั้น ถามว่า เป็นใหญ่ที่ไหน? ตอบว่า เป็นใหญ่ในปัจจยุบันธรรมทั้งหลายของตนๆ ถามต่ออีกว่า เป็นใหญ่ในหน้าที่ไหน? ตอบว่า ก็เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนๆ นามชีวิตินทรีย์ก็เป็นใหญ่ในหน้าที่ คือ การเป็นอยู่ในขณะทั้ง ๓ แห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย, บทว่า ในหน้าที่คือความเป็นอยู่ คือ ในกิจการเจริญด้วยอายุ อธิบายว่า เพื่อความดำรงอยู่อย่างติดต่อ ได้แก่ ในหน้าที่คือ การตั้งอยู่ได้สิ้นกาลนาน, มนินทรีย์ เป็นใหญ่แก่สัมปยุตธรรมทั้งหลายในหน้าที่คือการรับอารมณ์, สภาวะแห่งเนื้อความของอินทรีย์ ได้กล่าวแสดงไว้แล้วในอินทริยยมกทีปนี


แสดงการไม่นับอิตถินทรีย์กับปุริสินทรีย์ ๒ อย่าง เข้าในอินทริยปัจจัย

ในอธิการนี้ หากจะพึงมีคำท้วงว่า
อิตถินทริยรูปและปุริสินทริยรูป ๒ อย่าง แม้เป็นอินทรีย์ เพราะเหตุไร ท่านถึงไม่ถือเอาไว้ในอินทริยปัจจัย พึงกล่าวเฉลยว่า ที่ท่านไม่ถือเอาไว้ ก็เพราะความไม่มีแห่งอำนาจของปัจจัย.


แสดงการจำแนกอำนาจของปัจจัย ๓ อย่าง

จะกล่าวให้พิสดารต่อไป อำนาจของปัจจัยมีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. อำนาจในการให้เกิด
๒. อำนาจในการอุปถัมภ์
๓. อำนาจในการช่วยอนุบาล

บรรดาปัจจัยสัตติทั้ง ๓ อย่างเหล่านั้น ปัจจัยใดย่อมช่วยอุปการะเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปัจจยุบันธรรม เมื่อปัจจัยใดไม่มีอยู่ ปัจจยุบันธรรมย่อมไม่เกิดขึ้น อำนาจของปัจจัยที่ช่วยอุปการะเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปัจจยุบันธรรมนั้น ชื่อว่า ชนกสัตติ(อำนาจที่ช่วยทำปัจจยุบันย่อมให้เกิดขึ้น) ดังอำนาจที่ช่วยทำให้เกิดขึ้นในอนันตรปัจจัย ฉะนั้น

ปัจจัยใดย่อมช่วยอุปการเพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความเจริญ เพื่อความงอกงาม แห่งปัจจยุบันธรรม เมื่อปัจจัยใดไม่มีอยู่ ปัจจยุบันธรรมย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เจริญ ย่อมไม่งอกงาม ปัจจยสัตติที่ช่วยอุปการะเพื่อความตั้งมั่น เจริญ งอกงาม แห่งปัจจยุบันธรรมนั้น มีชื่อว่า อุปถัมภณกิจ(อำนาจหน้าที่ในการอุปถัมภ์) ดังอำนาจที่แสดงไว้ในปัจฉาชาตปัจจัย ฉะนั้น

ปัจจัยใดย่อมช่วยอุปการะเพื่อความเป็นไป แห่งปัจจยุบันธรรม เว้นจากปัจจัยใดเสียแล้ว ปัจจยุบันธรรมย่อมไม่เป็นไปสิ้นกาลนาน ย่อมขาดความเป็นไปแห่งความสืบต่อปัจจยสัตติ ที่ช่วยทำการอุปการะเพื่อความเป็นไปได้ไม่ขาดสายแห่งปัจจยุบันธรรมนั้น ชื่อว่าอนุปาสนกิจ(อำนาจหน้าที่ในการตามรักษา) ดังอำนาจที่แสดงไว้ในรูปชีวิตินทริยปัจจัย ฉะนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2019, 01:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


แสดงสภาวะที่อิตถีภาวรูปและปุมภาวรูป แม้ว่าท่านจะไม่ได้ถือเอาไว้ในอินทริยปัจจัย แต่ก็ยังเรียกได้ว่าเป็นอินทรีย์

เมื่อไม่มีการรวมเข้าไว้ว่าเป็นอินทริยปัจจัยอย่างนี้มีอยู่ ก็จะพึงกล่าวได้หรือไม่ว่า อิตถีภาวรูปและปุมภาวรูปทั้ง ๒ ประการ เหล่านั้น เป็นอินทรีย์ จะไม่พึงกล่าวก็หามิได้ เพราะอะไร เพราะเหตุที่ยังมีหน้าที่คือความเป็นใหญ่อยู่



แสดงการทำหน้าที่เป็นใหญ่ของอิตถีภาวรูปกับปุมภาวรูป

ถามว่า ก็หน้าที่ที่เป็นใหญ่ของอิตถีภาวรูปกับปุมภาวรูป เหล่านั้น เป็นอย่างไร?
ตอบว่า หน้าที่ที่เป็นใหญ่ของอิตถีภาวรูปกับปุมภาวรูป เหล่านั้น ก็คือความเป็นใหญ่ในเพศ ในนิมิตสัณฐาน ในท่าทาง และอากัปกิริยาทั้งหลาย ซึ่งเป็น อินทริยกิจ, จริงอย่างนั้น ในปฏิสนธิขณะของบุคคลใด อินทริยรูปย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลใด, ในสันดานของบุคคลนั้น ขันธ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุธรรมทั้งหลาย ๔ อย่าง มีกรรม เป็นต้น ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ตามภาวะแห่งหญิงที่ประกอบด้วยท่าทางของหญิงและอากัปกิริยาของหญิง ย่อมไม่เป็นโดยประการอื่น, แลละอิตถินทริยรูปก็ไม่ได้ทำให้เบญจขันธ์ธรรมทั้ง ๕ อย่าง เหล่านั้น เกิดขึ้น ทั้งไม่ได้ช่วยอุปถัมภ์ ทั้งไม่ได้ช่วยอนุบาล โดยที่แท้ ขันธ์ทั้ง ๕ อย่างเหล่านั้น เมื่อเกิดขึ้นอยู่ ด้วยปัจจัยทั้งหลายของตนๆ ก็เป็นดุจตั้งไว้อยู่ ซึ่งอำนาจอย่างนี้ว่า จงเกิดขึ้น อย่างนี้ด้วยๆ ย่อมให้อานุภาพของตนเป็นไป ในธรรมทั้งหลาย เหล่านั้น และธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเกิดขึัน เหมือนอย่างนั้นนั่นเอง บัณฑิตทั้งหลายทราบว่า หาเกิดขึ้นโดยประการอื่นไม่ ถ้อยคำตามที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นความเป็นใหญ่ในเพศหญิงเป็นต้นแห่งอิตถินทริยรูป ความเป็นใหญ่ในเพศชาย เป็นต้น แห่งปุริสินทริยรูป ก็นัยเดียวกันนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า อิตถีภาวรูปกับปุมภาวรูปทั้ง ๒ อย่างเหล่านี้ ย่อมชื่อว่า เป็นอินทรีย์ ก็เพราะมีหน้าที่คือความเป็นใหญ่ในเพศเป็นต้น



แสดงความไม่สามารถสำเร็จอินทริยกิจของหทยวัตถุ

ส่วนหทยวัตถุรูป แม้จะให้สำเร็จอยู่ ซึ่งหน้าที่เป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุทั้ง ๒ อย่าง ก็ย่อมไม่ให้สำเร็จ หน้าที่คือความเป็นใหญ่ ในมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุทั้งหลายเหล่านั้น

ถามว่า เพราะเหตุไร?
ตอบว่า เพราะบุคคลผู้มีจิตอันเจริญอบรมภาวนาแล้ว เมื่อหทยวัตถุรูปเกิดเป็นสภาวะที่ผ่องใสแล้ว หรือว่าแม้ไม่ผ่องใสแล้ว มโนวิญญาณธาตุทั้งหลายก็ย่อมไม่คล้อยตามหทยวัตถุรูปนั้นเลย


จบการแสดงอินทริยปัจจัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2019, 20:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๗. ฌานปัจจัย



แสดงสภาวะของฌานปัจจัยกับฌานปัจจยุบันธรรม

องค์ฌานทั้ง ๗ มีชื่อว่า ฌานปัจจัย, ๗ ประการมีอะไรบ้าง?

๗ ประการมี

๑. องค์ฌานคือ วิตกเจตสิก
๒. องค์ฌานคือ วิจารเจตสิก
๓. องค์ฌานคือ ปีติเจตสิก
๔. องค์ฌานคือ โสมนัสเวทนา
๕. องค์ฌานคือ โทมนัสเวทนา
๖. องค์ฌานคือ อุเบกขาเวทนา
๗. องค์ฌานคือ เอกัคคตาเจตสิก

จิต เจตสิกธรรมทั้งหลาย (เว้นปัญจวิญญาณจิต) และรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันกับองค์ฌาน ๗ ประการเหล่านั้น ชื่อว่า ปัจจยุบันธรรมแห่งฌานปัจจัยนั้น.



แสดงเนื้อความแห่งฌานศัพท์

ถามว่า ที่ชื่อว่า ฌาน เพราะหมายถึงอะไร?
ตอบว่า ที่ชื่อว่า ฌาน เพราะหมายถึงว่า เข้าไปเพ่งซึ่งอารมณ์ และบทว่า ที่ชื่อว่าฌาน เพราะหมายถึงว่าเข้าไปเพ่ง เพราะหมายถึงว่ามองดู เข้าถึงอารมณ์โดยใจ.



แสดงองค์ฌานที่แน่วแน่อยู่ในอารมณ์ด้วยอุปมาเรื่องนายขมังธนู

เปรียบเหมือนว่า นายขมังธนูยืนอยู่แล้วในที่ไกล เมื่อใช้ศรยิงที่เป้าธนูอันเล็ก จึงทำลูกศรให้ตรง ให้แน่นอน ทำเป้าธนูไว้ให้ชัดเจน มองดูอย่างแน่วแน่ จึงยิงลูกศรออกไป ฉันใด, ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้กระทำจิตให้ตรง ทำให้ไม่หวั่นไหว ด้วยองค์ฌานทั้ง ๗ เหล่านี้ และทำอารมณ์ให้ปรากฏชัดเจน เพ่งแน่วแน่อยู่ ท่านกล่าวเรียกว่า ผู้เข้าไปเพ่งอารมณ์ ครั้นเข้าไปเพ่งอารมณ์อยู่อย่างแน่วแน่อย่างนี้ ย่อมสามารถกระทำกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ให้ผิดพลาดได้ ในถ้อยคำนั้น การเดินหน้าและการถอยหลังเป็นต้น ท่านกล่าวเรียกชื่อว่า กายกรรม, การเปล่งถ้อยคำให้บริบูรณ์ด้วยอักขระ, บท และพยัญชนะ ท่านกล่าวเรียกชื่อว่า วจีกรรม, การตรึกถึงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งบ่อยๆ ทางใจ ท่านกล่าวเรียกชื่อว่า มโนกรรม, ทานกรรม หรือ ปาณาติบาตกรรม เว้นเสียจากองค์ฌานทั้งหลายที่เหมาะสม ย่อมไม่สามารถเพื่ออันกระทำด้วยจิตที่อ่อนกำลัง, ในกุศลและอกุศลกรรมทั้งหลายที่เหลือบัณฑิตก็พึงทราบโดยนัยนี้แล.



แสดงลักษณะแต่ละอย่างๆ ของฌานธรรมทั้งหลาย

บัณฑิตพึงแสดงสภาวะลักษณะทั้งหลายแต่ละอย่างๆ แห่งฌานังคธรรมทั้งหลายมีวิตก เป็นต้น ซึ่งมีเนื้อความดังนี้ องค์ฌาน คือ วิตก มีลักษณะคือ การปักสัมปยุตธรรมทั้งหลายลงไปในอารมณ์, วิตกนั้นย่อมประกอบจิตไว้ในอารมณ์อย่างมั่นคง, องค์ฌาน คือ วิจาร มีลักษณะคือการทำให้สัมปยุตธรรมทั้งหลายเคล้าคลึงในอารมณ์, วิจารนั้น ย่อมประกอบจิตไว้ในอารมณ์อย่างมั่นคง, องค์ฌานคือ ปีติ มีลักษณะคือ การทำให้สัมปยุตธรรมทั้งหลายให้เอิบอาบอยู่ในอารมณ์, ปีตินั้น ย่อมทำให้จิตเอิบอาบรอบด้านในอารมณ์, เวทนาแม้ทั้ง ๓ อย่าง มีลักษณะคือการตามเสวยรสแห่งอารมณ์, เวทนาทั้ง ๓ อย่างแม้เหล่านั้น ย่อมทำจิตไว้ในอารมณ์ ให้ตามผูกพันอย่างมั่นคงโดยหน้าที่คือการตามเสวยรสอติอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ และอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ องค์ฌานคือ เอกัคคตา มีลักษณะคือ การตั้งมั่นโดยชอบด้วยดี แม้ เอกัคคตาฌานังคเจตสิกนั้น ย่อมตั้งจิตไว้ในอารมณ์ ทำไม่ให้หวั่นไหว บัณฑิตพึงทราบ ลักษณะ สภาวะแต่ละอย่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้



จบการแสดง ฌานปัจจัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ย. 2019, 23:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๘. มัคคปัจจัย


แสดงสภาวะของปัจจัยธรรมกับปัจจยุบันธรรมของมัคคปัจจัย

องค์มรรค ๑๒ ชื่อว่า มัคคปัจจัย, ๑๒ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญินทรีย์เจตสิก ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิมรรค
๒. สัมมาสังกัปปะ วิตกเจตสิก ชื่อว่า สัมมาสังกัปมรรค
๓. สัมมาวาจา สัมมาวาจาเจตสิก ชื่อว่า สัมมาวาจามรรค
๔. สัมมากัมมันตะ สัมมากัมมันตเจตสิก ชื่อว่า สัมมากัมมันตมรรค
๕. สัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะเจตสิก ชื่อว่า สัมมาอาชีวมรรค
๖. สัมมาวายามะ วิริยเจตสิก ชื่อว่า สัมมาวายามมรรค
๗. สัมมาสติ สติเจตสิก ชื่อว่า สัมมาสติมรรค
๘. สัมมาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิก ชื่อว่า สัมมาสมาธิมรรค
๙. มิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิเจตสิก ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิมรรค
๑๐. มิจฉาสังกัปปะ วิตกเจตสิก ชื่อว่า มิจฉาสังกัปปะมรรค
๑๑. มิจฉาวายามะ วิริยเจตสิก ชื่อว่า มิจฉาวายามมรรค
๑๒. มิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิก ชื่อว่า มิจฉาสมาธิ

ธรรม ๓ ประการที่เหลือ คือ

๑. มิจฉาวาจา
๒. มิจฉากัมมันตะ
๓. มิจฉาอาชีวะ

ย่อมไม่เป็นเจตสิกธรรมแผนกหนึ่ง เป็นเรื่องของอกุศลขันธ์ ๔ ประการ ที่เป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งมุสาวาทาเป็นต้น, เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า มิจฉาวาจา, มิจฉากัมมันตะและมิจฉาอาชีวะเหล่านั้น ท่านไม่ได้จัดไว้ในมรรคปัจจัย แผนกหนึ่ง, จิต เจตสิกธรรมทั้งหลาย ทั้งปวงที่เป็นไปกับด้วยมรรค และรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันกับมรรคเจตสิก ชื่อว่า เป็นปัจจยุบันธรรมแห่งมัคคปัจจัยนั้น.


แสดงเนื้อความแห่งมัคคศัพท์

ถามว่า ที่ชื่อว่า มรรค เพราะหมายความว่าอย่างไร
ตอบ ที่ชื่อว่า มรรค เพราะหมายความว่า นำให้ถึงซึ่งสุคติภพ ทุคติภพ และพระนิพพานเป็นความจริงว่า สัมมามรรค ๘ ประการ มี สัมมาทิฏฐิเป็นต้นย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อทำเหล่าสัตว์ให้เข้าถึงสุคติภูมิ และนิพพานภูมิ, ส่วนมิจฉามรรค ๔ ประการ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อทำเหล่าสัตว์ให้เข้าถึงทุคติภูมิ.


แสดงข้อความอุปมาที่ต่างกันระหว่างอำนาจแห่งฌานปัจจัยกับมัคคปัจจัยทั้ง ๒

ในอธิการนั้น ฌานปัจจัยย่อมกระทำจิตให้ตรงต่ออารมณ์ ย่อมกระทำจิตให้มั่นคง, ย่อมกระทำจิตให้บรรลุถึงอัปปนา จิตที่แล่นเข้าไปในนิมิตารมณ์ มีกสิณนิมิตเป็นต้น เปรียบเหมือนปลาว่ายไปในน้ำอันลึก ท่านเรียกชื่อว่า จิตที่ถึงอัปนา, มัคคปัจจัย ย่อมกระทำเจตนากรรมในการดำเนินไปสู่สังสารภพให้มุ่งตรงต่อภาวนากรรม ในการดำเนินออกไปจากสังสารภพ ย่อมกระทำให้มั่นคง ย่อมกระทำให้ล่วงถึงกรรมบถ, ย่อมกระทำให้เจริญ, งอกงาม, ไพบูลย์ ย่อมกระทำให้บรรลุถึงภูมิอื่นที่ต่างกัน, ถ้อยคำตามที่กล่าวมาแล้วนี้เอง เป็นความต่างกันระหว่างฌานปัจจัยกับมัคคปัจจัยทั้ง ๒ เหล่านั้น.


แสดงอธิบายข้อความที่ว่าให้ล่วงถึงกรรมบถและให้บรรลุถึงภูมิอื่นที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้

ในถ้อยคำเหล่านั้น ข้อที่ว่า ให้ล่วงถึงกรรมบถก็คือ เจตนากรรมที่ถึงความเป็นกรรมที่ท่านเรียกว่า ภาวะที่สามารถในกาลให้เกิดผลคือ ปฏิสนธิ เพื่อความบริบูรณ์แห่งองค์ของกุศศลกรรมและอกุศลกรรมมีปาณาติบาต เป็นต้น.

คำว่า ให้บรรลุถึงภูมิอื่นที่ต่างกัน ก็คือ ภาวนากรรมที่ถึงส่วนที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป แม้ในอิริยาบถอย่างหนึ่ง จำเดิมแต่ กามภูมิไปจนถึงโลกุตตรภูมิ, และเนื้อความนี้ บัณฑิตพึงแสดงด้วยสภาวลักษณะทั้งหลายที่ต่างกันๆ แห่งมัคคังคธรรมทั้งหลายมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น โดนนัยแห่งถ้อยคำที่กล่าวไปไว้แล้วในฌานปัจจัย


จบการแสดงมัคคปัจจัย


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 59 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร