วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ธ.ค. 2019, 05:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


" คนเรา จงอย่าดูถูกบุญของคนอื่น แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ และห้ามขัดบุญใคร แม้แต่แค่เศษดินหรือใบไม้ใบเดียว ที่เขาตั้งใจเอาไปบูชาพระ เป็นบุญใหญ่ เขามีกำลังที่จะทำได้เท่านั้น แต่กำลังใจเขาอาจจะใหญ่กว่าพวกที่ทำมากๆ ก็ได้ เพราะเขาทำด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ "

หลวงพ่อมนัส มนฺตชาโต
สำนักกัมมัฏฐานฟื้นฟูจิต บ.คลองโป่ง ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี








".. หากบวช​เข้ามาแล้ว​ และมีจุดประสงค์ด้านปฏิบัติตรงหวังพระนิพพาน​ ต้องเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์​ เดินจงกรมทั้งวัน​นั่งสมาธิทั้งคืน​ เร่งอย่างมีสติอยู่ในคำบริกรรม​ อย่างเร็วไม่เกิน​ ๗ วัน​ อย่างกลางไม่เกิน​ ๗ เดือน​ อย่างจนตรอกที่สุด​ ๗ ปี​ ต้องเห็นธรรม​ รู้ธรรมขั้นหนึ่ง​ล่ะ​ หากไม่รู้อะไรเลยในเวลาชั่ว​ ๗ ปี​ อย่าบวชอยู่นาน​ ระเบิดตายด้าน​ ทำไปก็ไม่มีผล​ เสียเวลาเปล่า​ ๆ​ เสียอนาคตเปล่า​ ๆ​ แต่หากหวังทางปริยัติ​ ทางวิชาการทางยศทางศักดิ์​ ก็แล้วแต่จะทำ​ จะบวชอยู่นานอยู่ช้าก็แล้วแต่จะทำ... เพราะทางใครทางมัน​ อันนี้ไม่ว่ากัน .."

หลวงปู่ประเสริฐ สิริคุตฺโต
๒๐/๑๒/๒๕๖๒








โมโหร้าย แต่ว่าแป๊ปเดียวหาย
หลวงพ่อ : “โมโหร้าย… ดี …แต่ว่า …อย่าร้ายตามโมโห ให้โมโหมันร้ายอย่างเดียว… ถ้าโมโหแป๊ปเดียวหายเช้ามืดเราก็รีบโมโหเลย บอก “เอ็งโมโหแป๊บเดียวหาย เช้ามืดเราก็รีบโมโหเลย บอก “เอ็งโมโหเฉพาะเวลานี้นะ เวลาอื่นห้ามโมโห”
ถ้าแป๊บเดียวหายเขาเรียกว่า “โทสะจริต” เกิดโมโหไวหายเร็ว ….. ที่หายเร็วแสดงว่าตัวยับยั้งมันมาก… เราก็ต้องพยามยาม พอตื่นมาตอนเช้าคิดว่าวันนี้เราจะไม่โมโหใคร ตั้งใจไว้เลย… แต่มันอดเผลอไม่ได้นะ มันเป็นของธรรมดา … ทีนี้ถ้าเผลอ พอจะหลับเราก็นั่งนึกวันนี้เราโมโหใครบ้างหรือเปล่า บังเอิญถ้าโมโห เราก็คิดใหม่ว่าจะไม่โมโหอีก อย่างนี้ไม่ช้าก็หาย …
ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ ถ้าแกล้งทำเป็นโมโหแล้วพูดหยาบออกไป อย่างนี้จะเป็นไรไหมคะ…?
หลวงพ่อ : “ไอ้แกล้งโมโหนี่ เป็นลีลาแม้กระทั่งพระอรหันต์ ท่านก็ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น
พระพุทธเจ้ามีลีลาว่า…นิคหะ ปัคหะ..ถ้าดีเราก็ยกย่องสรรเสริญ ถ้าไม่ดีก็ถูกขับออกไป ท่านทำก็เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของคนอื่น อันนี้ไม่ใช่โทสะแท้ เขาไม่ถือว่าเป็นเรื่องโทสะ เป็นเรื่องลีลาของการปกครอง ก็เหมือนกับการแสดงละคร คนนี่มีนิสัย ๒ ประเภทคือ คนนิสัยหยาบ ต้องขู่บังคับ ถ้าคนที่มีนิสัยละเอียดต้องปลอบ แบบนี้แสดงว่าคนนั้นเขามีนิสัยหยาบ เราแสดงออกแบบนั้น ความจริงเนื้อแท้เราไม่มีอะไร แต่เราทำเพื่อผลงาน อันนี้ไม่เสียหาย
ถ้าเข้าไปในสมาคมขี้เมา เรากินโซดาเราก็เมาเท่าเขา ทำเสียงเป็นเมา อาจจะเมากว่าคนกินเหล้าอีกนะ ทำเสียงดังกว่า เขาเรียกว่า ต้องทำตามเขาไป แต่เนื้อแท้จริงๆ เราไม่เมา แต่เราก็ไม่ขัดกับสังคม ใช่ไหม…”

จาก หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรม (ฉบับพิเศษ เล่ม ๓) หน้า ๖๕-๖๖ โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
ที่มา:เพจบันทึกธรรมพระราชพรหมยาน








คนเราโดยมากมักถือ " อุปสรรค "
เป็นเครื่องบั่นทอนกำลังใจ
เลยท้อแท้ที่จะแก้ไขปรับปรุง
หรือดำเนินกิจการให้รุดหน้าต่อไป
ส่วนผู้ที่มีความเข้มแข็ง
หรือจะทำจิตใจของตนให้เข้มแข็งต่อไป
จะต้องถืออุปสรรคอันตรายต่างๆ
เป็นสิ่งช่วยสร้างเสริม
" บารมี " ของตนให้เพิ่มขึ้น

คำสอนหลวงปู่สิม







"ที่เคารพนับถือ
ก็ร่วงโรยลงไปเรื่อยๆ
เราจะมา​ อยู่ด้วยความประมาท
มันสมควรกับธรรมแล้วเหรอ
ความประมาท เป็นเรื่องของ
กิเลสซึ่ง พาให้สัตว์โลก จมอยู่
ในวัฏสงสาร​ อันเป็นคลังแห่ง
ทุกข์ทั้งมวล.."
ยังไม่พากันสะดุดใจ
เห็น "โทษของมัน" อีกหรือ

#คติโอวาทธรรม
#หลวงตาบัว_ญาณสัมปันโน..








ทำความดีไม่ขึ้น

ผู้ถาม : “แต่รายนี้บอกว่าเจ็บใจเหลือเกินค่ะ
ทำความดีมาหลายครั้ง ปรากฏว่าทำบุญแล้ว
ไม่ขึ้น”

หลวงพ่อ : “จะขึ้นไปไหน การให้ไปถือว่าเป็น
“จาคานุสสติกรรมฐาน” เป็นตัวตัดความโลภ
เมื่อความโลภมันตัดได้แล้ว กิเลสมันก็ยังอยู่อีก
ตัวหนึ่งคือความโกรธเขาก็มาซ้อม
ต้องจำไว้ว่าคนมีทั้งดีทั้งเลว
จำไว้ว่าในโลกนี้ถึงจะทำความดีขนาดไหนก็ต
าม คนที่เห็นความดีมันเห็นยาก ก็ไม่ควรจะมา
โลกนี้อีกต่อไป ตัดสินใจอย่างนี้นะ
ของที่ให้ไปแล้วก็ถือว่าแล้วกันไป ไอ้ที่เขาว่าก็
ถือเป็นอโหสิกรรมไป แต่ว่าจำหน้าไว้ว่าคนนี้ไม่
ควรให้ต่อไป ต้องทำตามพระพุทธเจ้าบอก
อย่างบิดาท่านวิสาขาท่านแนะนำว่า
“ผู้ให้เราจงให้ ผู้ไม่ให้เราอย่าให้”
ถ้าเราให้เขาไป สมมติเขามายืมของไป
เขามาส่งคืนเราก็ให้เขาต่อไป
ถ้ายืมของไปแล้วเขาไม่ส่งกลับ คนนั้นเลิกให้
ต่อไป แล้วไอ้คนที่เราให้ไปแล้วไม่รู้สึกคุณ
ก็ไม่ควรจะให้ต่อไป”

จาก ตอบปัญหาธรรม ธัมมวิโมกข์ ฉบับ ๒๑๐ หน้า ๙๗
โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี








#เรื่อง_การเดินธุดงค์ที่แท้จริง
นานมาแล้วในอดีต มีพระอาจารย์รูปหนึ่ง
เข้ามาถามถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการเดินธุดงค์กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตว่า จะปฏิบัติด้วยวิธีใดจึงจะเป็นการถูกต้อง พระอาจารย์รูปนั้นได้เน้นว่า ผมเห็นพระธุดงค์ที่ไปปักกลดตามที่ชุมนุมชน หรือธุดงค์ไปไหว้พระเจดีย์ พระพุทธบาท บางกลดถึงกับเขียนประกาศติดไว้ที่มุ้งกลดว่ามีของดีใครต้องการ ให้มารับ
#พระอาจารย์มั่น ได้ให้คำตอบและอธิบายเรื่องนี้ให้พระรูปนั้นฟังอย่างแจ่มแจ้ง โดยใจความว่า
#การธุดงค์นั้นมุ่งหมายเพื่อถ่ายถอนกิเลส
กำจัดกิเลส การที่ออกธุดงค์โดยการโฆษณาหรือประกาศโฆษณาว่าจะออกไปทางโน้น
ทางนี้ โดยต้องการว่าจะให้คนไปหามากๆ
นั้นไม่ชื่อว่าเป็นการถูกต้อง ธุดงค์ก็แปลว่าเครื่องกำจัดความอยาก มีการฉันหนเดียว
ฉันในบาตรไม่มีภาชนะอื่น การบิณฑบาต
การอยู่โคนต้นไม้ การอยู่ป่า การปฏิบัติ
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นธุดงค์ เช่นการฉันหนเดียวเป็นการตัดความอยากที่จะต้องการฉันอย่างโน้นอย่างนี้ เมื่อฉันแล้วก็แล้วกัน ในวันนั้น
ตัดการกังวลทั้งปวง หรือเช่นการฉันในบาตร ก็ไม่ต้องคิดถึงรสชาติ หรือต้องหาภาชนะให้เป็นการกังวล ที่จะคิดว่าจะแบ่งกับข้าว และข้าวไว้ต่างกันเพื่อหารสชาติแปลกๆ ต่างๆ
รวมกันหมดในบาตรเป็นการขจัดความอยากอย่างหนึ่ง หรือเช่นการไปอยู่ในป่าที่ไกล
จากบ้านพอควร หรือในถ้ำภูเขานี้ก็เป็นการหาสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐาน แสวงหาความสงบเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม
#การแสวงหาแหล่งที่เป็นป่า
ภูเขาถ้ำนี้ต้องหาสถานที่เป็นสัปปายะ
เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณกิจ สมณธรรม
จริง อย่าไปหาถ้ำภูเขาที่ประชาชนไปกัน
มาก เป็นการผิด และไม่เป็นการดำเนินธุดงค์ หรือจะไปแสวงหาแหล่งที่เป็นภูเขา ถ้ำ ที่เป็นแหล่งเหมาะแก่การที่ประชาชนจะไปให้มาก และอยู่นานๆ จนประชาชนรู้จักแล้วก็จัดการก่อสร้างถาวรวัตถุให้เป็นที่จูงใจนักท่องเที่ยว มิหนำซ้ำยังมีการชักชวนประชาชนให้มาดูมาชม เขาไม่มาก็ไปหาเขา เขามาก็ต้อนรับด้วยวิธีการต่างๆ จนประชาขนติดใจ ชักชวนกันมา พระธุดงค์เหล่านั้นกลับดีใจว่าประชาชนขึ้นตัวมาก ไม่พยายามที่จะคิดหนีหรือไม่หาวิเวกทางอื่นอีก บางแห่งทำสถานที่โอ่อ่ายิ่งกว่าในบ้านในเมืองเขาเสียอีกอย่างนี้
#เมื่อพระอาจารย์มั่นได้พรรณนาถึงความเป็นเช่นนี้เกี่ยวกับการธุดงค์
ท่านจึงให้หลีกจากความเป็นดังกล่าวเสีย
เมื่ออยู่นานจะเป็นการเคยชินแล้วก็พยายามหาหนทางไปทางอื่น เมื่อรู้ว่ามีคนมามาก ก็รีบหลีกเลี่ยงไปเสีย การธุดงค์จึงจะถูก และเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสได้จริง เมื่อจะอยู่ที่ใดอันเป็นแหล่งของการวิเวกสงบสงัดแล้ว ก็พึงอยู่
ที่นั่นแล้วบำเพ็ญประโยชน์แก่ตน ยิ่งสงบเท่าใดยิ่งดี ยิ่งปราศจากผู้คนเท่าไรยิ่งดี ยิ่ง
อยู่ในดงสัตว์ร้ายเท่าไรยิ่งดี และพยายามอย่าอยู่แห่งเดียว เปลี่ยนที่อยู่เสมอๆ เพื่อแก้ความเคยชินต่อสถานที่ ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านเตือนหนักเตือนหนาว่าอย่าเอาการอยู่ป่า อยู่บนภูเขา อยู่ในถ้ำ เป็นเครื่องมือโฆษณาเป็นอันขาด เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการทำให้
คนแตกตื่น เพราะคนชอบแตกตื่นกันอยู่แล้ว พอเห็นของแปลกเข้า ก็เลยแตกตื่นกันใหญ่ หากทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการปลอมแปลงการถือธุดงค์ จะไม่ได้รับผลจากการรักษาปฏิบัติธุดงค์ตามความมุ่งหมาย.

#ปกิณกรรม_หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต
#จาก_หนังสือชีวิตคือการต่อสู้
#โดย_พระอาจารย์วิริยังค์_สิรินฺธโร







ทุกข์ภัยโรคทั้งหลายทั้งหมดก็พินาศฉิบหาย
ก็เพราะอาศัยจิตสงบน่ะแหละ
จิตสงบระงับดับหมดซึ่งกิเลสจัญไรทั้งหลายเหล่านี้

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร









เรื่อง “ตัดอารมณ์ของใจเสีย”..
.. ความจริงคนเราทุกคนไม่ต้องกลัวตาย “กลัวเกิดดีกว่า” ถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียว มันจะตายอย่างไรให้มันรู้ไป ถ้าไม่เกิดให้มันตายที ทีนี้เราเกิดมา เพราะตาเราเห็นรูป เราพอใจในรูป หูได้ยินเสียง พอใจในเสียง เป็นต้น “ความพอใจ” ไอ้ตัวจริง ๆ ที่เป็นตัวร้าย
ที่เราจะต้องตัดคือใจ “ตัดอารมณ์ของใจเสีย” อย่าให้ใจมันโง่ แนะนำมันบอกว่า นี่ไอ้แกไปหลงใหลใฝ่ฝันในรูป รูปนี้สวย ทรวดทรงดี ถามมันดูซิว่า มีรูปอะไรที่มีการทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง ไม่มีการทรุดโทรม ไม่มีการเสื่อมมันมีบ้างไหม ถามใจมันดู ..
.
จาก..หนังสือรวมคำสอนธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑ หน้าที่ ๒๙
โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี








รู้ทุกข์..รู้ทาง..
คงจะเริ่มด้วยอริยสัจ ๔ ก่อน พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ปฏิวัติศาสนาแห่งโลก เพราะศาสนาของพระศาสดาเรา ไม่ได้เริ่มจากปรัชญา อภิปรัชญา และความเชื่อ แต่จุดเริ่มต้นคือความเป็นมนุษย์ของเรา เริ่มต้นจากสิ่งที่ทุกคนสามารถมองเห็นและยอมรับได้ จึงถือว่าเป็นพื้นฐานที่มั่นคงและหนักแน่นของศาสนา ธรรมพระพุทธองค์ทรงตั้งข้อสังเกตว่า ชีวิตของมนุษย์เรา ขาดความสุขที่แท้จริง มนุษย์เรามีชีวิตที่ไม่สมปรารถนาในทุกประการ
ไม่ใช่ว่าพระพุทธองค์ปฏิเสธความสุข หรือมองโลกมองชีวิตของมนุษย์ในแง่ร้าย แต่พระพุทธองค์เชิญชวนให้เรากล้าเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิต
ในเมื่อเราเป็นผู้ที่เกิดแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย มนุษย์ทั่วไปจะต้องทุกข์กับความเจ็บ ทุกข์กับความแก่ ทุกข์กับความตาย ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงเริ่มด้วยสิ่งที่คนทุกคนต้องยอมรับว่าใช่ บางคนอาจจะทุกข์น้อย แต่ที่จะไม่ทุกข์เสียเลยนั้นไม่มี
ความทุกข์จากการที่เราต้องอยู่กับสิ่งที่เราไม่ชอบหรือบุคคลที่เราไม่ชอบ มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต การที่เราต้องพลัดพรากหรืออยู่ห่างจากสิ่งต่างๆ และบุคคลที่เราชอบที่เรารัก ก็เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
การที่สิ่งที่เราต้องการสิ่งที่เราอยากได้ มีมากกว่าสิ่งที่เราจะได้ และสิ่งที่เราอยากได้นั้น แม้จะได้แล้ว เราก็ยังไม่สมปรารถนาอย่างแท้จริง หรือเราได้ความสุขอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่พอที่จะระงับความรู้สึกภายในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งทรงเรียกสรุปว่า 'ความพร่อง' คนเรานี้รู้สึกพร่องอยู่เป็นนิจ พระพุทธองค์ทรงท้าทายให้เรากล้าดูความรู้สึกพร่องภายในชีวิตของตน

พระอาจารย์ชยสาโร







#แม้แต่สังขารร่างกายของเรานี้

"ถ้าเรามาพิจารณาให้ดีแล้ว
อายุของเราเวลานี้มันมาถึงกี่ปี
อยู่มาได้ ๔๐ ๕๐ นี้ก็เรียกว่า
เป็นมหากุศลอย่างยิ่ง ที่เรายัง
ไม่แตกดับ​ ทีนี้ในกาลข้างหน้า
นั้นเราคาดคะเนไม่ได้​ เพราะ
พญามัจจุราชคอยจ้องที่จะจับ
อยู่เสมอเพราะฉะนั้นเราต้องมา
ถามตนเองว่า คุณงามความดี
คืออาวุธที่จะต่อสู้กับมฤตยูคือ
ความตายนั้น มีพอแล้วหรือยัง
ทีนี้อาวุธที่เราจะต่อสู้ก็คืออย่าง
ที่พวกท่านทำอยู่เดี๋ยวนี้
มีทาน ศีล ภาวนา คืออบรม
จิตใจอยู่เดี๋ยวนี้ในขณะที่
ขันธ์ทั้ง ๕ เนี่ย คือรูป เวทนา
สัญญาณ สังขาร วิญญาณ
มันจะแตกจะดับในขณะนั้นถ้าผู้
ที่เคยปฏิบัติแล้ว ไม่สะทกสะท้าน
ต่อเวทนาที่มันกลุ้มรุมร่างกายของ
เราอยู่คือมีสติรู้อยู่ว่ามันจะแตก
เมื่อไหร่แต่ว่าจิตใจนั้นไม่ได้เป็นห่วง
ร่างกาย คือมันวางเสียทีนี้อย่างที่
ท่านทั้งหลายก็คงได้เห็นบางท่าน
เวลาจะตายนั้นไม่มีการดิ้นรน
ท่านหลับตาไปแล้วก็หมดไปเอง
นี่เรียกว่าท่านตั้งสติได้ ความจำก็
ไม่ลืมไม่กระวนกระวายนี่ก็เนื่องมา
จากท่านปฏิบัติจิตใจของท่านอย่าง
ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติอยู่เดี๋ยวนี้ก็
เพื่อหาอาวุธ เพื่อป้องกัน ต่อสู้กับ
พญามัจจุราช.."
#คือ_ความตายที่จะมาในข้างหน้า

#พระอุดมญาณโมลี
[หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป]​
วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี







ถาม : ชาวบ้านมีสิทธิเป็นสงฆ์สาวกได้ไหม
.
ตอบ : ได้ ขอให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ยึดมั่นในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ปฏิบัติศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วก็ฝึกจิตให้มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นไปได้ ความเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดา สกิทา อนาคาท่านไม่ได้ผูกขาดไว้สำหรับนักบวช ความเป็นพระก็ไม่เป็นได้เฉพาะพวกห่มผ้าเหลือง พวกชาวบ้านปฏิบัติ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา ทำกิจของพระ ก็เป็นพระได้
.
ที่โคราชก็มีอยู่คนหนึ่ง เขาก็มีแต่สวดมนต์ เขาบอกว่าเขาไม่ค่อยนั่งสมาธิหรอก แต่เขาฝึกสติ เขาเอาสติรู้จิตของเขาอยู่ตลอดเวลาไปๆ มาๆ วันหนึ่งเขานั่งเล่น จิตของเขาว่างลง มันรู้ขึ้นมาว่า ยัง กิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ เขาก็สงสัย เอ๊ะ! เราก็ไม่เคยท่องสวดมนต์บทนี้ สวดได้แค่ อิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน แล้วก็เมตตาพรหมวิหารเท่านั้น แล้วคำนี้มันมาจากไหน เขาก็มาถาม อันนี้มันเป็นภูมิความรู้ของท่านอัญญาโกณฑัญญะ ท่านอัญญาโกณฑัญญะฟังเทศน์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ฟัง พอฟังจบลงไป จิตของท่านอัญญาโกณฑัญญะก็สงบวูบลงไป นิ่ง สว่าง แล้วก็เป็น จักขุง อุทปาทิ เอาจิตไปหยั่งรู้อยู่ว่าเป็นญาณ
.
พอจิตมันไหวตัวรู้ขึ้นมาว่า ยัง กิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ นี่มันเป็นปัญญาพอรู้ขึ้นมาแล้ว จิตยอมรับสภาพความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ดับไปเป็นธรรมดา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม พอได้ดวงตาเห็นธรรม หายสงสัย จิตสว่างไสว สว่างโพล่งขึ้นมา อาโลโก อุทปาทิ จักรวาลนี่มันสว่างไสวไปหมดเพราะจิตมันรู้แจ้งเห็นจริง ตอนนั้นท่านอัญญาโกณฑัญญะยังไม่ได้บวชนะ ยังเป็นฤาษีอยู่ คนที่ยังไม่ได้บวชเลย เป็นชาวบ้าน ฟังเทศน์จบเป็นอรหันต์ก็หลายองค์
.
เพราะฉะนั้น ชาวบ้านญาติโยมทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติไปเถอะ ใจเย็นๆ ไม่ต้องไปนับมันหรอก ขั้นตอนสมาธิ ขั้นโน้น ขั้นนี้ ให้ได้สติรู้ตัวอยู่อย่างเดียวเท่านั้นพอแล้ว
.
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย









การอยู่ด้วยกันให้มีศีลเสมอกัน มีทิฐิเสมอกัน จึงจะได้ดี ศีลเสมอกันก็เริ่มที่ศีล ๕ นั่นเอง ถ้าทั้งสองฝ่ายตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ เรียกว่าถึงจะมีความผิดพลาด ถึงจะมีปัญหาเกิดขึ้น เป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ยาก แต่ถ้าศีลแม้แต่ข้อเดียวลดลงจะเป็นจุดเสื่อมของชีวิตคู่ได้ ศีลข้อที่ ๔ จะเป็นข้อที่ยากที่สุดก็ได้ เพราะอะไร เพราะคนไม่ค่อยจะเห็นความสำคัญของการงดเว้นจากการพูดเท็จโดยเด็ดขาด เราทุกคนจะมีเงื่อนไขว่า ในบางกรณีจำเป็นสมควรจะพูดเท็จ ตัวนี้เป็นตัวอันตราย เป็นตัวไวรัสที่จะคอยขยายตัว ขอแนะนำว่าอย่าให้มีการพูดเท็จต่อกันและกันเลย แม้แต่ในเรื่องเล็กเรื่องน้อย ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกจะพูด ก็พูดเลยว่าเรื่องนี้ไม่สะดวกจะพูดตอนนี้ ขอเวลาก่อน ไม่ใช่ต้องเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างในใจ เพราะบางสิ่งบางอย่างเป็นแค่อารมณ์ชั่วแวบเท่านั้นเอง ไม่ต้องพูด เพราะบางทีความรู้สึกที่ไม่จริงไม่จัง พอพูดออกมาแล้วรู้สึกมีน้ำหนักมากขึ้น เหมือนเป็นของจริงของจังมากขึ้นเพียงเพราะเราได้พูดออกไป เวลาเรามีอารมณ์ ซึ่งจะต้องมีเป็นบางครั้งบางคราวแน่นอน แม้แต่คู่รักก็ต้องมีบางเวลาที่รู้สึกไม่รักกันเลย รู้สึกไม่พอใจกันเลย น้อยใจกัน ก็อย่าให้มันค้างคืน หรือค้างคาไป ให้แก้ปัญหาทุกวัน ให้มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน

พระอาจารย์ชยสาโร









...ถ้าผู้ใดได้มาเกิดมาพบกับ
พระพุทธศาสนา จะย่นเวลา
รอไปพระนิพพานนี้ จากล้านชาติ
เหลือแค่ชาติเดียว
ชาตินี้แหละ..
"ไปนิพพานกันได้ทุกคน"
ถ้าอยากจะไปกัน.
................................
ธรรมะโดนใจเล่ม4 หน้า66
ธรรมะบนเขา 3/10/2558
พระอาจารยืสุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 35 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร