วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 01:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2019, 11:24 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2019, 11:26 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ธรรมคำสอน
ของ
พระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก

การฟังโอวาทนั้น ถ้าจะชี้เฉพาะลงไป ก็คือให้พิจารณากายกับจิตเท่านั้นเอง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็สอนให้พิจารณากายกับจิตนี่เอง เมื่อฟังไปมากโอวาท อย่างอื่นก็เป็นของภายนอกไป เมื่อพูดไปมาก ก็กลายเป็นของทางอ้อมไปเท่านั้น ไม่ใช่ตรงต่อหนทางโลกุตตรธรรม การทำความเพียร ถ้าไม่ทำจริงๆ ก็เป็นเหมือนศรัทธาหัวเต่า หลุบเข้าหลุบออก เที่ยวหากินเห็ดไปเรื่อยๆตามโคกตามป่า เมื่อภัยมาถึง เช่นหมามาพบเข้า หมาก็เห่า เต่าก็หลุบหัวเข้าไปกระดอง ซึ่งถือว่าดีว่าเลิศประเสริฐ ครั้นเมื่อเจ้าของหมามาพบเข้า ก็จับเอาเต่าไปฆ่าไปแกงเท่านั้นเอง เจ้าของหมาก็คือ พญามัจจุราชนั่นเอง

แต่ครั้งก่อนมาไม่มีผู้ใดขอศีลจากพระเลย ไม่เหมือนทุกวันนี้ กว้างศอกยาววาหนาคืบ คือตัวพระศาสนา ผู้ใดไม่พิจารณากายเห็นธรรมในกาย ผู้นั้นไม่เห็นสัจธรรมหรือคุณของครูบาอาจารย์ คนเรามีความหลงอยู่สองอย่างคือ หลงแต่เกิดมานี้อย่างหนึ่ง ครั้นต่อมามีความรู้ความฉลาดตามแบบตามบัญญัติตามสมมติ เป็นหลงชั้นสอง

“ไม้ซกงกมีหกพันหง่า กะปอมก่าแล่นขึ้นมื้อร้อย กะปอมน้อยแล่นขึ้นมื้อพัน มาบ่ทันแล่นขึ้นเรื่อยๆ” ท่านว่าได้แก่ อายตนะภายใน ๖ อย่าง สัมผัสกับอายตนะภายนอก ๖ แล้วยินดีเพลิดเพลินโดยไม่รู้เท่าทัน เรียกว่าเป็นของปลอมทั้งสิ้น การภาวนา เช่น นั่งสมาธิ ถ้าเกิดเวทนาขึ้นที่กาย เราต่อสู้ไม่ได้ ลุอำนาจแก่เวทนา แล้วล้มลงนอนเสียเช่นนี้ เป็นการข้องที่เวทนาแล้วล้มลงไม่ดี เลยคล้ายกับเราเดิน พอขาไปข้องหรือติดกับเถาวัลย์ก็ล้มลงเสีย เป็นอันว่าเดินทางต่อไปอีกไม่ได้ ก็ไม่ถึงที่หมายง่ายๆ หลักของการปฏิบัติจะต้องไม่ยิ่งหย่อนจนเกินไป คือเดินสายกลาง คำว่าสายกลางมีดังนี้ กลางคืนแบ่งเป็น ๓ ยามๆ ละ ๔ ชั่วโมง

ปฐมยาม นั่งสมาธิและเดินจงกรม
มัชฌิมยาม นอนสีหไสยาสน์
ปัจฉิมยาม เดินจงกรมและนั่งสมาธิจนกว่าสว่าง

กลางวันก็เดินจงกรมและนั่งสมาธิ ทำอยู่อย่างนี้เป็นนิตย์ พิจารณากายเป็นอารมณ์ดังนี้ จึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาโดยแท้ ถ้าทำไม่ได้อย่างนี้ จะเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาไม่ได้เป็นอันขาด เวลากลางคืน ตื่นจากนอน ต้องล้างหน้าก่อนจึงนั่งสมาธิภาวนา ถ้าไม่ล้างหน้าก่อนนั่งสมาธิใช้ไม่ได้ และอย่าภาวนาหันหน้าไปทางตีนนอน ให้หันหน้าไปทางหัวที่นอน ก่อนภาวนาให้ได้ไหว้พระเสียก่อนยิ่งดี การนั่งสมาธิ ถ้าล้มตัวลงนอนเสียก่อนจิต หรือจิตสงบ ท่านว่าคนนั้นย้านขี้ (กลัวขี้) ไม่ใช่คนขี้ย้านหรือขี้คร้านอะไรแต่อย่างใด คือคนดีๆเรานี้เองแต่ย้านขี้ กลัวขี้จึงจะถูก หรือว่าให้ขี้ชนะตนเสียแล้ว จะเกิดแก่เจ็บตายอย่างไรช่างมัน นั่งนอนเฝ้าขี้อยู่อย่างนั้น

การพิจารณาอย่างอื่นนอกจากกายอันนี้ เป็นการพิจารณาทางอ้อม ไม่เห็นอริยสัจจธรรมง่ายๆ เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งเอาผ้าเคียนหัว (โพกหัว) หลงผิดคิดว่าตัวเองลืมไว้ที่ใดที่หนึ่ง วิ่งหาไปมา ถามคนโน้นคนนี้เรื่อยไป พอมีคนบอกว่าผ้าเคียนหัวอยู่ที่หัว (โพกอยู่ที่หัว) เท่านั้นจึงรู้ว่า อ๋อ อยู่นี่เอง เราวิ่งหาเกือบตาย ฉันใดการหาธรรมะก็เช่นกัน มีอยู่ที่กายที่ใจนี้ทั้งนั้น จะไปหาที่อื่นพิจารณาที่อื่นเป็นอันไม่เห็นอริยสัจจธรรมอย่างแน่นอน

ทุกข์ กับ สมุทัย เป็นโรคอย่างร้ายแรง นิโรธ กับ มรรค เป็นยาวิเศษคอยกำจัดโรค อคคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ แปลว่า มนุษย์เป็นสถานกลางอันเลิศ เทวดาถึงจะได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าได้บรรลุธรรมวิเศษ ก็สำเร็จเพียงแค่ชั้นอนาคามี จะสำเร็จถึงชั้นอรหันต์นั้นเป็นไม่มี อรหันต์ แปลว่า ไม่หัน หยุดหัน อะ แปลว่า คำปฏิเสธ ผู้ที่ยังไม่ถึงอรหันต์ ก็คือจิตยังไม่หยุดหันนั่นเอง

สังขารตามแบบมีสองอย่าง คือ สังขารภายในอย่างหนึ่ง สังขารภายนอกอย่างหนึ่ง แท้จริงมีอย่างเดียว คือ สังขารภายใน ได้แก่ ใจ เพราะของภายนอกอย่างอื่น เช่น ต้นไม้หรือวัวควายอย่างนี้เป็นต้น เขาไม่ได้บอกว่าเขาเป็นต้นไม้ หรือวัวควายแต่อย่างใด ใจของเราเองต่างหาก ที่ออกไปสมมติว่าเขาเป็นนั่นเป็นนี่ จึงว่าสังขารมีอย่างเดียว อปฺปิจฺฉตา ความมักน้อยหรือมหิจฺฉตา ความมักมากก็ดี ไม่ได้หมายเฉพาะอาหารการกินหรือเครื่องนุ่งห่มใช้สอยเท่านั้น ถ้าหมายเพียงเช่นนี้เป็นชั้นที่หยาบมาก ส่วนชั้นในละเอียด หมายถึง อปฺปิจฺฉตา มักน้อยในอารมณ์ที่เป็นภายในด้วย คือยินดีพิจารณาเฉพาะกายเท่านั้น สิ่งอื่นนอกจากกายและใจ เป็นมหิจฺฉตา มักมากทั้งนั้น เมื่อมักมากในอารมณ์เช่นนั้น ใจก็ไม่สงบ ฟุ้งซ่าน หรือถ้าสงบ ก็ไม่มีญาณจะเห็นอริยสัจจธรรม ๔

การพิจารณากาย เมื่อใจรวม ย่อมมีญาณเห็นอริยสัจจธรรม ๔ ตรงต่อหนทางอริยมรรคโดยแท้ คำว่าโลภ ก็เหมือนกันคือ หมายถึงการพิจารณาหลายอย่าง ถ้าพิจารณาตามอย่างเดียว ชื่อว่าไม่โลภถูกหนทางด้วย คำว่าโกรธก็เหมือนกัน ต้องไม่ขัดเคืองเกลียดชังใจตัวเองด้วย ถ้ายังลำเอียงเกลียดชังใจของตัว ว่าไม่อยู่ในอำนาจตน ก็จะเป็นโกรธชั้นในด้วย ไม่ถูกทาง และคำว่า พรหมเสื่อมฌานลงมากินง้วนดินหอม ก็คือผู้รักษาศีล ประพฤติพรหมจรรย์ สึกหาลาเพศไปมีเมียมีลูก ดมแก้มผู้หญิงอันเป็นธาตุดินนั้นเอง การอนุโลมตามญาติโยมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูก เป็นเหตุให้ข้อวัตรของเราเพลียอ่อนลงไปไม่ถูกทาง เพราะตัวเราเองยังไม่พ้นทุกข์ จะหย่อนยานให้ใครไม่ได้ ถ้าหย่อนยานชื่อว่าทำตนให้ลำบากเปล่าๆ ผู้ใดกลัวตายผู้นั้นจะตายอีก ผู้ใดไม่กลัวตายผู้นั้นจะพ้นจากความตาย จงกล้าหาญชาญชัยให้เหมือนกับม้าอาชาไนย

การปฏิบัติพระศาสนาอย่ากลัวผิด ถ้าไม่ผิดจะมีทางถูกได้อย่างไร สิ่งที่ผิดนั่นเป็นครู จะได้ฝึกหัดจิตของตนให้ละจากสิ่งที่ผิดนั้น และอย่ารังเกียจต่อ โลภ โกรธ หลง หรือกิเลส อาสวะใดๆเลย ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้จะไปสู่พระนิพพานได้อย่างไร สำหรับผู้ที่ไปสู่พระนิพพานได้นั้น จะต้องคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้นทั้งสิ้น ฝึกละสิ่งเหล่านี้แหละจึงจะถูกคำสอนของพระพุทธเจ้า การพิจารณาอริยสัจจธรรม ๔ ก็คือพิจารณาทุกข์ อันได้แก่ ความแก่ เจ็บ ตาย พิจารณาสมุทัย ก็คือพิจารณาจิต เมื่อพิจารณาจนชำนาญรอบคอบแล้วก็เป็นนิโรธ คือรู้เท่า หรือดับ ทุกข์อยู่ที่ไหน มรรคอยู่ที่ไหน นิโรธคือความดับทุกข์ก็อยู่ที่นั้น ทุกข์กับสมุทัยสองอย่างนี้ เป็นของมีอยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ส่วนมรรคกับนิโรธ เป็นหนทางแก้ไขไปสู่พระนิพพาน

การพิจารณากาย เมื่อเราชำนาญอย่างหนึ่งหรือถนัดอย่างใด อย่าเปลี่ยน ให้ใช้อุบายนั้นพิจารณามากๆ จนกว่าจะทะลุปรุโปร่งในกาย เห็นจริงในกาย ถ้าเปลี่ยนบ่อยๆ หยิบโน่นหยิบนี่วางนี้อยู่เรื่อยไป ก็จะไม่เห็นอานิสงส์ของการภาวนาเลย และเมื่อเกิดสมาธินิมิตเห็นกายของตนส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องเจริญหรือพิจารณาส่วนนั้นให้มาก ทำให้ยิ่ง เจริญให้มาก ปัญญาก็จะเกิดในนั้นเอง ส่วนการพิจารณาโดยแยบคายนั้น เช่นพิจารณาผม จะต้องพิจารณาเฉพาะเส้นเดียว ให้ได้ ๕ ฐาน คือ ๑. สี ๒. กลิ่น ๓. ที่เกิด ๔. ที่อาศัย ๕. สัณฐาน ยกตัวอย่างเช่น

๑. สี ผมมีสีดำ
๒. ที่เกิด เกิดด้วยอาหารใหม่อาหารเก่า
๓. ที่อยู่ อยู่บนศีรษะ
๔. สัณฐาน ปลายและกกเรียวตรงกลางนูน
๕. กลิ่น เหม็นสาบคาว

ให้พิจารณาอย่างนี้ไปจนครบอาการ ๓๒ ในกาย ให้ชำนิชำนาญ การพิจารณากายให้เป็นวิปัสสนานั้น ให้พิจารณาธาตุ ๔ ในกายคือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ชำนาญ ถึงแม้ว่าจิตจะไม่ยอมว่าเช่นนั้นก็ตาม ให้พิจารณาเป็นอารมณ์อยู่อย่างนั้น จนจิตหยุด เป็น ฐีติภูตํ เกิดญาณรู้ขึ้นเอง ตัดสินขึ้นเอง ถ้าไม่อาศัยการพิจารณากาย ชอบพิจารณาแต่จิตอย่างเดียว เวลาจิตหยุดเป็นสมาธิแล้ว ญาณย่อมไม่บังเกิดเห็นอริยสัจจธรรม ๔ เป็นแต่เพียงเห็นจิตว่างๆ แล้วก็หลงอรูปติดอรูปฌาน แล้วก็จะเข้าใจผิดคิดว่าตนเป็นพระอรหันต์ จบกิจในพรหมจรรย์นี้เสียแล้ว

การพิจารณากาย ให้พิจารณาการแตกทำลายของกายตามเป็นจริง คือให้จิตรู้ว่า เป็นของแตกสลายจริงๆ จิตจึงจะถอนจากอุปาทานความถือมั่น ปล่อยวางลงได้ ถ้าจิตไม่เห็นตามเป็นจริงเช่นนั้น ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง จิตก็ไม่ปล่อยวางอุปาทานง่ายๆ แต่ถ้าจิตรู้เห็นของเขาก็ปล่อยวางเองได้ เปรียบเหมือนคนถือหม้อแตกหม้อร้าว ถ้าเขารู้ว่าหม้อนั้นแตกร้าวจริงๆ เขาคงจะทิ้ง เขาจะขืนถือไปเป็นประโยชน์อะไร ฉะนั้น ถ้าพิจารณาขันธ์ ๕ นี้ไม่แตก ก็เท่ากันกับร่างกายอันนี้เป็นของไม่มีค่า เราต้องทำค่าของกายอันเป็นอสุภะนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองให้ได้ ถ้าบวชเข้ามาแล้วไม่รู้ของจริงของกายก็เท่ากับบวชเล่นหัวโล้นเปล่าๆ

การฝึกหัดสติปัฏฐาน ๔ ในครั้งแรก เราต้องหัดพิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วแต่ความถนัดของเรา พอเมื่อเราตั้งหลักได้แล้ว ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่งนอน ก็พิจารณาแต่ส่วนของกายนั้นๆ อย่าเปลี่ยนแปลง เอาจนเป็นมหาสติปัฏฐาน เพื่อแก้ความหลงในกาย เมื่อพิจารณาพอชำนาญแล้ว จิตก็จะสงบเป็นสมาธิ แล้วก็จะมีญาณรู้ขึ้นเองในเรื่องอริยสัจ ๔ แต่เมื่อจิตหยุดเป็นสมาธิแล้ว อย่าโน้มจิตไปพิจารณาอะไร ให้หยุดพักเสียก่อน จนกว่าสมาธินั้นจะถอนเอง แต่ทั้งนี้อย่าหลงสมาธิแต่เพียงนั้น เมื่อจิตถอนจากสมาธิแล้ว ก็ให้ตรวจค้นพิจารณากายต่อไปอีก อย่าท้อถอย กระทำอยู่นั้นทุกชั้นภูมิ

มีบางอาจารย์มักหลงว่า เมื่อเห็นกายเป็นอสุภะของปฏิกูลแล้วก็หาที่เอาไม่ได้ ก็เลยเลิกพิจารณากายเสียอย่างนี้ จิตไปติดอยู่ที่อากิญจัญญายตนฌาณ เป็นการช้าต่อหนทางเปล่าๆ เพราะจิตกระด้างไม่มีอุบายจะพิจารณาฝึกจิตต่อไป จิตนี้ถ้ากระด้างก็ต้องหาทางหาอุบายหัก ฟัน ทุบต่อย คือใช้ขันติ วิริยะ ชักลากขู่เข็ญฝึกจิตจนใช้ได้ โคตรภูญาณ คือจิตจะก้าวจากปุถุชนเป็นอริยะ มีญาณหน่วงเหนี่ยวเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่มีทางเสื่อม เป็นคติเที่ยงแท้ และจะเป็นเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ นับแต่ชั้นโสดาเป็นต้นมา

เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว เอกัคคตาจิตเป็นหนึ่ง รู้ตัวขึ้นมา มีญาณรู้ตามสภาพความเป็นจริงของจิต จิตเป็นฐีติจิต เมื่อถอนจากนั้นแล้ว ก็ให้พิจาณาตรวจค้นกายให้ละเอียดอีก ยังจะมีรู้พิเศษไปกว่านั้นอีก การละ ราคะ โทสะ โมหะ สงเคราะห์เข้ามาในเวลาภาวนาตรวจดูจิต ถ้าจิตชอบในอารมณ์ใด นั่นแหละตัวราคะ ถ้าจิตไม่ชอบหรือรังเกียจในอารมณ์ใด นั่นคือตัวโทสะ แต่ถ้าจิตไม่รู้ไม่มีสติสัมปชัญญะต่ออารมณ์ทั้งสอง คือไม่รู้ทั้งตัวราคะ โทสะ นั่นคือตัวโมหะ แต่ถ้ารู้ตัวอยู่เสมอ กำหนดไม่หลงลืมและรู้เท่าทัน ก็เป็นการละอยู่ในตัวเสร็จ เวลานั่งภาวนา ถ้าเกิดเวทนาโดยเหตุที่จิตไปยึดอุปาทานในขันธ์ห้า ต้องหาอุบายต่อสู้ อย่ากระดิกกายง่ายๆ ถ้าเรารบไม่ชนะ อยู่ก็เป็นทุกข์ ตายไปก็ไม่มีความสุข ดังนี้

อริยธมฺโม ฐิโต นโร แปลว่า ธรรมของพระพุทธเจ้า ก็อยู่ที่นรชนหรือปุถุชนคนเรานี้ทั้งนั้น ความดีกลั่นได้มาจากความชั่ว ต้องหมั่นพิจารณากายอย่างทั่วกาย ให้จิตเห็นว่าร่างกายเป็นของเน่าเปื่อยเป็นของปฏิกูลจริงๆ และให้รู้ด้วยว่าส่วนใดเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ให้รู้ชัด การกำหนดจิตในเวลาจวนจะตาย จิตจะได้ไม่มีห่วงใยในร่างกาย จะรวมจิตได้เร็วขึ้น เวลาจวนจะตายไม่ใช่จะมามัวพิจารณากาย จะมาพิจารณาไปทำไม เพราะจิตเอากายไปไม่ได้แล้ว

การเพ่งจิตไปข้างนอก เช่น เพ่งกสิณภายนอก เป็นการไม่ถูกต่อหนทาง เป็นการเดินทางอ้อม และมักหลงทางเปล่าๆ เป็นกสิณของฤาษีดาบส ส่วนที่เป็นทางตรงคือ การเพ่งกสิณภายในกายของตน การเพ่งกสิณภายนอก เมื่อเกิดอุคคหนิมิตแล้วส่งจิตตามไป ก็ไปติดในอรูปฌานเท่านั้น การเพ่งกสิณภายใน เมื่อเกิดอุคคหนิมิตแล้ว พิจารณาให้แยบคายเป็นปฏิภาคนิมิต จนเห็นกายของตนชัดเจน เห็นตามเป็นจริง เน่าเปื่อยผุพังไปตามธรรมชาติ จึงถูกต่อหนทางอริยมรรค คือเห็นอริยสัจจธรรม ๔ จริง ผู้ใดมีกาย วาจา ใจ แต่ไม่เป็นกายของตนโดยสัจธรรมของจริง ก็เท่ากับมีกาย วาจา ใจ เปล่าประโยชน์ เป็นจักขุสุญโญ โสตะสุญโญ ฆานะสุญโญ ชิวหาสุญโญ กายะสุญโญ มโนสุญโญ ไปเท่านั้น ถึงเป็นนักบวชก็หัวโล้นเปล่าๆ วุ่นวายกันเปล่าๆ

การพิจารณากายให้แยบคายนั้น คือให้พิจารณาทุกส่วนในร่างกาย สุดแต่ใครจะมีอุบายใดๆ ให้เห็นที่คด ที่งอ ที่ต่อ ที่กิ่วฯ อย่างนี้เรียกว่าแยบคาย การพิจารณาอย่างนี้ ถึงแม้จะเป็นสังขารปรุงแต่งอนุมานเอาก็จริง แต่จะเป็นการแก้สังขารให้เป็นวิสังขาร ให้จิตเห็นตามเป็นจริง เพื่อถอนอุปาทานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อดีตปัจจุบันและอนาคต ก็คือใจดวงเดียวนี้เอง เปลี่ยนขณะไปๆมาอย่างนี้ เช่น เวลานี้เราพิจารณากระดูกในกายเป็นปัจจุบัน แล้วต่อไปพิจารณาเอ็น กระดูกก็กลายเป็นอดีตไป ต่อไปก็พิจารณาสิ่งอื่นล่วงหน้าอีก อันนั้นก็เป็นอนาคตเรื่อยไป

ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เหตุใดนักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อจะสอนกัมมัฏฐานแก่กุลบุตร ผู้บรรพชา อุปสมบทในพระพุทธศาสนา จึงสอนกัมมัฏฐาน ๕ ก่อน ได้ความว่า สัตว์ทั้งหลายไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉานทั้งหมด ที่มีความกำหนัดยินดีรักใคร่ ในรูปารมณ์อันเป็นด้วยจักษุทวาร เกิดความหลงรักเพราะอาศัยของ ๕ อย่าง มีหนังเป็นที่สุดอันประจักษ์ต่อตา จึงหลงสำคัญว่าสวยว่างาม ได้ความว่า คนฺโธ รโส โอชา สณฺฐาโณ เมื่อตามองเห็นรูปที่มีหนังหุ้มขึ้นอยู่โดยรอบ วณฺโณ สำคัญว่าสีขาว สีดำ สีแดง เกิดความรักใคร่พอใจ คนฺโธ สำคัญว่ามีกลิ่นอันหอม รโส เมื่อกระทบกระทั่งด้วยลิ้นว่ามีรสอร่อย โอชา เมื่อสัมผัสถูกต้องกาย สำคัญว่ามีโอชารสอันซึมซาบ สณฺฐาโณ อันว่าจิตคือตัวมหาเหตุนี้เข้าไปหมายมั่นว่ามีสัณฐาน สูง ต่ำ สั้น ยาว ตามความหลงอันสะสมมาแล้วแต่หลายภพหลายชาติ ถ้าหนังหุ้มไม่มีเสียแล้ว เหลือแต่กระดูก ความกำหนัดยินดีย่อมไม่เกิดมี ฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาหนังก่อน เพราะหลงหนังจึงหลงรัก ให้พิจารณาว่าหนังเป็นเพียงธาตุดิน เป็นของอสุภะไม่สวยไม่งาม เป็นของที่จะต้องแตกต้องทำลายไปสู่สภาพเดิมของเขา ให้เห็นแจ้งประจักษ์ในใจโดยประจักษ์จริงๆจึงจะไม่หลงหนัง เหมาะแก่จริตทั่วไป และก็ถูกกันกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จงทำให้ยิ่งเจริญให้มาก ไม่ว่าอิริยาบถใด ยืน เดิน นั่ง นอน จึงจะเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด

เกี่ยวกับสีมา หลวงปู่เคยได้ยินหลวงปู่มั่นพูดให้ฟังเสมอๆ พระพุทธองค์ทรงพิจารณาบัญญัติสีมา การผูกสีมาโดยทั่วไปต้องทักนิมิตก่อนทั้ง ๘ ทิศ แล้วทักซ้ำอีกจึงไม่เป็นสีมาวิบัติ กรรมวาจาจารย์ทั้ง ๔ เข้าไปใน ต้องสวดถอนเสียก่อนจึงตั้งญัตติ ๔ หน แล้วตัดหินอันแขวนไว้ที่ขาย่างทำเป็นนิมิตลงสู่พื้น เมื่อเสร็จแล้ว ใครถอนไม่ได้ ท่านเปรียบเทียบให้ฟังว่า สีมาในการทักนิมิตคือ การเข้าไปอาศัยอยู่ในฌานสมาบัติ ๘ การทักให้รอบคือ การพิจารณาให้พอ กรรมวาจาจารย์ทั้ง ๔ หรืออาจารย์สวดทั้ง ๔ ก็คืออริยสัจจธรรม ๔ การสวดถอนคือ ให้ถอนจากอารมณ์ทั้งหลาย ส่วนการตัดหินอันเป็นนิมิตก็คือ ญาณตัดสินจิตพ้นจากอาสวะ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ รวมเป็น ๙ ให้พิจารณาสีมาในกาย น้อมเข้ามาเป็นโอปนยิโก นิมิต ๙ คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ เป็น ๙ พอดี ให้พิจารณาให้รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้ยิ่ง เป็นภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้ยิ่งเจริญให้มาก จนเพียงพอแล้ว อันเป็นส่วนแห่งวิปัสสนา แก่กล้าพอ ก็ตัดสินตัวเจ้าของได้เอง อุปมาเหมือนการตัดหวายให้หินหลุดลงสะดือสีมาฉะนั้น

บุคคล ถ้าขาดเสวนาซ่องเสพกับนักปราชญ์บัณฑิตแล้ว เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์จริงๆ ถึงแม้จะเจริญสมณธรรม ก็ไม่เป็นไปเพื่อภูมิธรรมขั้นสูง ถึงจะเป็นไปก็เพียงความรู้ความเห็นของตนขั้นสมาธินิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น เพราะธรรมดาเราผู้เป็นสาวกต้องอาศัยการได้ยินได้ฟัง อย่างพระสารีบุตร ถ้าไม่ได้พบกับพระอัสสชิแล้วก็มีประโยชน์น้อย และท่านยังได้แสดงโทษของการไม่ได้ซ่องเสพ ว่ามีโทษไปในภพเบื้องหน้าด้วย เช่นผู้ใดเคยเจริญภูมิจิตชั้นใดภูมิใดเป็นนิสัยไว้ ชาติหน้าภพหน้าก็จะกระทำได้เพียงของเก่าเท่านั้น จะยิ่งไปกว่านั้นก็นับเป็นของยากหนักหนา ถ้านานๆ จึงปรารภหรือสนทนาธรรมกัน ก็เป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง ไม่รู้หนทางดำเนินไปข้างหน้า หรือรู้ก็มัวๆ ไม่แจ่มแจ้ง เหมือนนายพรานตามรอยเนื้อ เช่นรอยกวางเป็นต้น ถ้ามีฝนตกใส่รอยเสีย ก็หารอยไม่ค่อยจะพบ ยิ่งถ้าน้ำท่วมเสียหาย ยิ่งหารอยไม่เห็น การทำจิตทางภาวนาก็เช่นกัน ถ้าผู้เป็นหัวหน้าไม่ค่อยให้โอวาทหรือให้อุบายการฝึกจิตแล้ว ผู้นั้นก็มัวหมอง เจริญสมณธรรมไม่ติดต่อกัน ก็เป็นไปได้ยาก

การฝึกจิตของตนให้เป็นหนึ่งเป็นเอกจิตไม่ได้ หรือให้จิตของตนเป็นสมาธิไม่ได้ จงรู้เถิดว่า การดำเนินตนมาเป็นการไม่ชอบอยู่ คือเป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสมาธิ มิจฉาสังกัปโป อยู่ ต้องหาวิธีแก้ไขตนเอง ให้ได้สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือ เห็นกาย วาจา ของตน เป็นทุกขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ต้องเห็นอย่างนี้ สัมมาสังกัปโป คือดำริชอบ ต้องดำริให้เป็นเนกขัมมะ หนทางออกจากกองทุกข์ คือต้องเห็นว่ากายเป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นของอสุภะ อสุภัง มรณังจริงๆ โดยใจของตนเห็นตามสภาพความจริง ถ้าเห็นว่ายังสวยยังงามอยู่ เพลิดเพลินไปตาม ส่งจิตไปตาม ดำริไปตาม ชื่อว่าหิงสา เบียดเบียนตนเองทั้งนั้น ถ้าจิตเป็นสมาธิอยู่เสมอ จะมากหรือน้อยก็ตาม ก็ยังมีความหวังต่อไป ปัญญาก็จะเกิดมาเอง เปรียบเหมือนกอข้าวในนา พอตั้งตัวตั้งตนได้ ก็มีหวังว่าต่อไปจะเป็นรวงข้าวขึ้นมา พอได้เก็บเกี่ยวเป็นประโยชน์

ในขณะที่เรากำหนดจิต เมื่อรู้ว่าจิตไม่เป็นหนึ่ง ยังวิ่งไปตามอารมณ์อยู่ ให้พิจารณาอารมณ์ที่จิตไปติดนั้น ให้เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตามสภาพความเป็นจริงของเขา เพื่อถอนสลัดคืนตามเดิม ให้จิตรู้เท่าเสีย แล้วจิตก็จะหยุดรวมลงเป็นสมาธิได้ โดยอาการรู้เท่าอารมณ์ของจิต จิตเป็นสมาธิเอกัคคตาจิตนั้น จะต้องละนิวรณ์ ๕ จึงเป็นเอกัคคตาจิตได้ ถ้าละนิวรณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จะเรียกว่าเป็นเอกัคคตาจิตไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อเราใช้จิตเพ่งกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอารมณ์อยู่โดยเฉพาะ เช่นเพ่งกระดูกดังนี้ จะเรียกว่าเป็นเอกัคคตาจิตไม่ได้ เพราะกระดูกก็เป็นอันหนึ่ง จิตเพ่งก็เป็นอันหนึ่ง ยังเป็นสองอยู่ ส่วนที่เป็นหนึ่งเอกัคคตาจิตนั้น คือจิตเข้าไปสงบอยู่เฉพาะจิต ไม่หมายในการเพ่งกระดูกอีก จิตละจากการเพ่งแล้วไปเป็นหนึ่งอยู่เฉพาะจิต จึงเรียกว่าเอกัคคตาจิตได้ และละนิวรณ์ ๕ ได้ด้วย

การภาวนา ถ้าอาศัยแต่จิตเป็นสมาธิอย่างเดียว ไม่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาไปด้วย เป็นการผิดต่อหนทางอัฏฐังคิกมรรค ปัญญาไม่สัมปยุต จิตก็ไม่รวมเป็นมรรคสามัคคี การสวดถอดสีมาเป็นอุบายของนักปราชญ์เท่านั้น ความจริงคือให้ถอนสมมติ ถอนนิวรณ์ ถอนความนิยม ส่วนนิมิต ๙ คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ เป็น ๙ นิมิต สีมาก็มี ๙ ใช้ได้ กรรมวาจาจารย์ทั้ง ๔ ก็คืออริยสัจ ๔ ลูกนิมิตอยู่กลางก็คือหัวใจ ถ้าไม่สวดถอน จะทับของเก่านั้น คือใจของเรา สัญญาอดีตทับถมอยู่แล้ว หลงของเก่าอยู่แล้ว การสวดทักนิมิตนั้นคือ ให้นึกถึงอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต เป็นพยานเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่าหยุดหย่อน อวิชชา แปลว่าเครื่องปกปิด ก็คือ ตโจ หนัง ปกปิดอริยสัจจธรรม ๔ ถ้าพิจารณาให้เห็นหนัง ก็เห็นทุกส่วนในร่างกายไม่มีอะไรปกปิดได้เลย คนเราจะหลงรักกันก็หลงที่หนังนี้ก่อน และหนังก็เป็นที่ตั้งอยู่ได้ของกาย ถ้าลอกหนังออกแล้ว ร่างกายทุกส่วนก็ตั้งอยู่ไม่ได้

อวิชชา ท่านพระอาจารย์มั่นท่านพูดว่า เณรบัญญัติขึ้น เขาบัญญัติขึ้นไม่รู้เท่าสมมติ ไม่รู้เท่าบัญญัติ โลโป เขาลบไม่เห็น จึงกลายเป็นมหานิยมมหาสมบัติ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า ธัมมนิยามตา แปลว่า จิตดวงใดแล่นไปตามสมมติ แล่นไปตามนิยม แล่นไปตามบัญญัติแล้ว จิตดวงนั้นถึงที่ตาย ธรรมฐิติหรือฐีติภูตัง ให้จิตหยุดอยู่กับที่ จึงมีญาณรู้เกิดขึ้น จึงไม่ตาย

มีอาจารย์กัมมัฏฐานบางอาจารย์สอนไม่ให้นึกไม่ให้คิด ให้จิตนิ่งอยู่เฉยๆ นั่นไม่ถูกกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะเลย ต้องนึกคิดจึงจะถูกกับหลักอัฏฐังคิกมรรค แต่ต้องนึกคิดในมหาสติปัฏฐาน ๔ ผู้ที่ฟังธรรมเป็น ย่อมได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ เพราะธรรมะปรากฏกึกก้องอยู่ทุกเมื่อ คืออะไรก็ตามมากระทบสัมผัสกับจิต ล้วนเป็นธรรมะทั้งสิ้น แล้วโอปนยิโกน้อมเข้ามาสอบสวนด้วยตนเอง ปัญญา แปลว่า รู้แจ้งแทงตลอดทะลุทะลวงไม่มีที่ปิดบัง ก็คือย่อมรู้ในกองสังขารนี้เองฯ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 19:19 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron