วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


เชิญประชาสัมพันธ์สถานที่ปฏิบัติ โดยการลงชื่อ-ที่อยู่ กำหนดการ-ระเบียบการ และเว็บไซต์ (ถ้ามี)
ของสถานที่ปฏิบัติธรรม จังหวัดอุทัยธานี ได้เลยครับ


เว็บไซต์จังหวัดอุทัยธานี
http://uthaithani.ect.go.th

.......

สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่กระดานสนทนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=1


:b8:

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระวิหารแก้ว วัดท่าซุง
............................................................................



วัดท่าซุง (วัดจันทาราม)
เลขที่ 60 หมู่ 1 บ้านท่าซุง
ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี 61000
โทรศัพท์ (056) 511-366,
(056) 511-391, (056) 511-938


พระครูปลัดอนันต์ พัทธญาโณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) อดีตเจ้าอาวาส


เป็นวัดปฏิบัติสายพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ข้อปฏิบัติในปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมที่วัด ตามปกติ ถ้าเป็นช่วงวันธรรมดาที่วัดไม่ได้มีจัดงานสำคัญ
สาธุชนทุกท่านสามารถมาพักที่วัดได้ โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้

- พักครั้งละไม่เกิน 7 วัน
- การมาพักต้องติอต่อพระเจ้าหน้าที่ ที่ศาลานวราช (อยู่บริเวณโบสถ์ ติดกับหอนาฬิกา)
- ต้องมีบัตรประชาชนหรือใบขับขี่เป็นหลักฐาน
- หากเป็นพระต้องมีใบรับรองจากเจ้าอาวาสที่ท่านสังกัดมาแสดงโดยทางวัด

- พระเจ้าหน้าที่จะขอเก็บไว้ 1 บัตรหรือใบต่อ 1 ห้องพักเพื่อแลกกับกุญแจ (และไว้มาแลกคืนตอนกลับ)
- ต้องมาติดต่อพระเจ้าหน้าที่ (ไม่ว่าจะขอกุญแจหรือคืนกุญแจ) ต้องติดต่อในช่วงต่อไปนี้เท่านั้นคือ
ช่วงเช้า 09.00 น. ถึง 11.00 น.
ช่วงบ่าย 13.00 น. ถึง 16.00 น.
(หากติดต่อนอกเวลา จะไม่อนุญาตให้พักในวัด)
- ที่พักมีพักเป็นห้องๆ หลายจุดในวัด แยกชายหญิง

- เตรียมเสื้อผ้าที่สุภาพมาให้เพียงพอ
- ทางวัดมีห้องน้ำไว้บริการเพียงพอ
- เรื่องอาหารการกินผู้มาปฏิบัติต้องรับผิดชอบตนเอง โดยมีร้านอาหารตั้งอยู่หลายจุดรอบๆ วัด
- ภายในวัด มีร้านสหกรณ์ของวัดจำหน่ายของใช้ของจำเป็นทุกอย่าง

- มีการทำวัตรเช้าที่ศาลานวราช ทำวัตรเย็นที่วิหาร 100 เมตร
- ในวัดมีมีรถบัสที่ดัดแปลงเป็นรถนั่ง 2 แถว หรือไม่ก็มีรถสามล้อเครื่องให้ใช้บริการตามสะดวก
- ห้ามดื่มเหล้าและเล่นการพนันรวมทั้งอบายมุขทุกอย่าง
-ท่านต้องเคารพในสถานที่และทำตามระเบียบของวัดท่าซุงอย่างเคร่งครัด

การเจริญกรรมฐานและการฝึกมโนมยิทธิ ท่านสามารถฝึกกรรมฐานทั้งแบบมโนมยิทธิและกรรมฐานแบบปกติได้ทุกวันในเวลา 12.30 - 14.00 น. ที่มหาวิหารแก้ว 100 เมตร

รูปภาพ
อุโบสถ วัดท่าซุง
............................................................................



วิธีการเดินทาง

ขับรถส่วนตัว ดูแผนที่ไปวัดท่าซุง

(1) จากกรุงเทพ ขับเข้ามาในตัวเมืองอุทัย และขับออกจากเมืองไปตามทางหลวง หมายเลข 3265 มุ่งตรงไปทางแพข้ามฟากอำเภอมโนรมย์ของชัยนาท ประมาณ 12 กิโลเมตร ดูแผนที่ตัวเมืองอุทัย

(2) จากกรุงเทพ ขับมาตาม ทางหลวงหมายเลข 32 จนถึงส่วนของจังหวัดชัยนาท ให้ขับตรงมาจนถึงจุดตัดกับถนนหมายเลข 3212 ให้เลี้ยวซ้ายเพื้อไป อ.มโนรมย์ (ให้ดูแผนที่ ถนนจังหวัดชัยนาท) สุดถนน 3212 เป็นแม่น้ำสะแกกรัง ให้เอารถขึ้นแพข้ามฟากไปฝั่งอุทัยธานี (ไม่ทราบว่ากี่บาทต่อรถหนึ่งคัน) และขับต่อขึ้นไปตามถนน 3265 ไม่กี่นาทีก็จะถึงบริเวณวัด

นั่งรถโดยสาร
วิธีที่ 1 นั่งรถบขส. สาย กรุงเทพ - มโนรมย์ (ชัยนาท) ขึ้นจากหมอชิตใหม่ นั่งจนมาถึงมโนรมย์ จะเป็นแพหรือโป๊ะข้ามฟาก ให้นั่งโป๊ะข้ามแม่น้ำสะแกกรังไปฝั่งอุทัยธานี 2 บาท แล้วต่อรถสองแถว 5 บาท ที่ผ่านวัดท่าซุง (รถหมดประมาณบ่ายสาม) นั่งไปประมาณ 10 กว่านาที ก็จะพบกำแพงเหลืองๆ ยาวตลอดแนว ก็แสดงว่าถึงวัดแล้ว

วิธีที่ 2 นั่งรถตู้ไปอุทัยธานี (จอดที่ใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ มุม ตะวันออกเฉียงเหนือของอนุสาวรีย์ คนละ 110 บาท รอบแรก 6 โมงเช้า ใช้เวลา 3 ชั่วโมง วันงานคนมาก) ถึงตลาดอุทัย (บขส. อุทัย) ให้ขึ้นรถสองแถวที่เขียนว่า ท่าซุง - มโนรมย์ ราคา 8 บาท (รถหมดประมาณ 4 - 5 โมงเย็น) หรือเหมารถสามล้อ นั่งได้ 2 คน ในราคาประมาณ 70 บาท

โทรศัพท์ (พระเจ้าหน้าที่เป็นผู้รับสาย)
(056) 502-506, (056) 502-507, (056) 502-631

รูปภาพ
ปราสาททอง วัดท่าซุง
............................................................................



ประวัติวัดท่าซุง (วัดจันทาราม)

วัดท่าซุง มีชื่อว่าวัดท่าซุงเพราะว่าสมัยที่การล่องซุงทางน้ำ แพซุงมักจะพักแวะที่หน้าวัด แต่ชื่อเดิมของวัดชื่อว่า วัดจันทาราม ตั้งชื่อตามอดีตเจ้าอาวาสชื่อ จันทร์ ส่วนอดีตเจ้าอาวาสที่มีความสำคัญอีกคือ หลวงปู่ไหญ่, หลวงปู่เล่ง, หลวงพ่อไล้ และหลวงปู่ขนมจีน

สำหรับหลวงปู่ใหญ่ และหลวงปู่ขนมจีน พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้สร้างรูปเหมือน และสร้างมณฑปไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้สักการะบูชา เดิมก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อจะมาอยู่ วัดท่าซุงทรุดโทรมมาก พระครูสังฆรักษ์อรุณ อรุโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง จึงได้นิมนต์พระเดชพระคุณหลวงพ่อมาจากวัดสะพาน จังหวัดชัยนาท เมื่อปี พ.ศ. 2511 เพื่อมาช่วยบูรณปฏิสังขรณ์วัด

วัดท่าซุง แต่เดิมมีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ ปี พ.ศ. 2517 คณะศิษย์และลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ร่วมกันซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามวัดเก่า เพื่อสร้างโบสถ์แทนโบสถ์เก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ต่อมาก็มีสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินถวายวัดมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้วัดมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 510 ไร่ โดยแยกเป็นเนื้อที่วัด 280 ไร่ เนื้อที่ป่า 230 ไร่ มีสิ่งปลูกสร้าง และถาวรวัตถุมากมายอาทิเช่น

ห้องปฏิบัติพระกรรมฐาน, ศาลา 2 ไร่, ศาลา 3 ไร่, ศาลา 1 ไร่, ศาลา 12 ไร่, มหาวิหาร 100 เมตร, วิหารสมเด็จองค์ปฐม, วิหารสมเด็จพระศรีอรียเมตไตรย์ สิ่งก่อสร้างที่เลื่องลือกันมากที่สุดคือ ศาลา 12 ไร่ และมหาวิหาร 100 เมตร, สมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก 4 ศอก เป็นพระหล่อด้วยโลหะผสมทองคำ ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุ มณฑปทั้งหมดบุแก้วทั้งข้างนอกข้างในสวยงามมาก

มหาวิหาร 100 เมตร เป็นตึก 2 ชั้น หลังคาเป็นจตุรมุข 3 ยอด ด้านนอกด้านใน ปิดกระจกจากชั้น 2 ถึงยอดหลังคา ภายในปิดกระจกเสาทุกต้น ข้างฝาและเพดานทั้งวิหาร พระเดชพระคุณหลวงพ่อให้ประดับด้วยกระจกเงาใสสะท้อนสวยงามมาก ดูเด่นเป็นสง่า ไม่ว่าจะมองใกล้หรือไกล ตัวตึกสร้างสูงยกพื้น 1.5 เมตร มีขนาดกว้าง 28 เมตร ยาว 100 เมตร สูง 8 เมตร ภายในวิหารมีพระประธานแบบทรงพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก นอกจากนั้นยังมีรูปปั้นพระอรหันต์ 7 องค์ เช่น พระโมคลาน์, พระสารีบุตร อยู่หน้าพระพุทธชินราช ฯลฯ มีรูปหล่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อลักษณะยืนถือไม้เท้า เพดานวิหารมีช่อไฟระย้าทั้งช่อใหญ่ และช่อเล็กรวมทั้งหมด 119 ช่อ สวยงามมาก และมีบุษบกตั้งศพพระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ตั้งอยู่ในมหาวิหารนี้ด้วย

พระวิสุทธิเทพ เป็นพระองค์สำคัญของวัดท่าซุง ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อจำลองของจริงบนพระนิพพาน ชั้นดาวดึงส ์ประดับด้านในพระจุฬามณีเจดียสถาน

พระจุฬามณี ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดท่าซุง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนพระสุธรรม-ยานเถระวิทยา และอยู่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช พระวิสุทธิเทพจำลองพร้อมวิหาร “พระจุฬามณี” ในโลกนี้มีอยู่แห่งเดียวที่วัดท่าซุง ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 จะนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้วัดท่าซุงอย่างมากคือ การเป่ายันต์เกราะเพชร การเป่ายันต์เกราะเพชร เป็นการอาราธนาบารมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้บทพระพุทธคุณจุดกลางยันต์ เมื่อเข้าไปรักษาคนจะอยู่ที่กระหม่อม แล้วจะวนรอบทั่วร่างกายใช้ป้องกัน และแก้โรคไสยศาสตร์ได้ สำหรับยันต์เกราะเพชร เป็นยันต์ยอดธงมหาพิชัยสงครามสมัยสุโขทัย สมัยนั้นตอนเรารบทำสงครามกันจะมีผู้ถือยันต์นำหน้าทัพ ยันต์เกราะเพชรเป็นยันต์ที่ทำไว้สูงกว่ายันต์พิชัยสงคราม เป็นยันต์ยอดธง ซึ่งทางวัดท่าซุงย่อส่วนลงมาให้เล็กลง ผ้ายันต์แดงเป็นยันต์พิชัยสงคราม ยันต์เกราะเพชรเป็นผ้าสีขาว

ท่านสาธุชนสามารถมาปฏิบัติธรรมที่วัดได้ โดยค้างที่วัดได้คราวละอย่างมาก 7 วัน ต้องมีบัตรประชาชนมาแสดงด้วย หากเป็นพระต้องมีใบรับรองจากเจ้าอาวาสที่ท่านสังกัดมาแสดงโดยทางวัดจะฝึกกรรมฐานทั้งแบบมโนมยิทธิและกรรมฐานแบบปกติในเวลา 12.30 - 14.00 น. เตรียมเสื้อผ้าที่สุภาพมาให้เพียงพอ ทางวัดมีที่พักและห้องน้ำไว้บริการเพียงพอ แต่ห้ามไม่ให้ดื่มเหล้า และเล่นการพนันรวมทั้งอบายมุขทุกอย่าง สำหรับเวลาเปิด - ปิดมหาวิหาร 100 เมตร มีสองเวลาคือ ระหว่าง 09.00 - 12.30 น. และ 14.00 - 17.00 น.

“จงอย่าสนใจจริยาของบุคคลอื่น และการเจริญสมาธิจงอย่าทำเพื่อโอ้อวด การเจริญสมาธิที่จะทำให้ดีได้ ให้ถือใจความพระพุทธเจ้าว่า ใครเขาจะมีกินมาก ใครเขาจะมีกินน้อย ใครเขาอ้วนมาก ใครเขาอ้วนน้อย ใครเขามีสาวกมาก ใครเขามีสาวกน้อย คนนั้นมีสมบัติมาก คนนั้นมีสมบัติน้อย คนนั้นเจริญสมาธิ วิปัสสนาญาณ แล้วยังแต่งตัวสวย ยังผัดหน้า ยังทาแป้ง ใครเขาจะดีจะชั่วอย่างไร เป็นเรื่องของเขา จงอย่าไปสนใจ เราจะนั่งสมาธิก็จงอย่านั่งให้บุคคลอื่นเห็น ถ้าหากไปทำอย่างนั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ยังมีกิเลสอีกมาก”

ที่มา : คัดจากคำสอนที่สายลม เดือนสิงหาคม 2522

รูปภาพ
หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา พระประธานที่ตึกพระไตรปิฎก 6 ชั้น
พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร สูง 30 ศอก ที่บริเวณพระหนุ (คาง) พระศอ (คอ)
และที่บาตรจะมีผึ้งมาทำรังตลอดเวลา มีผู้นับว่ารวมเป็น 4 รังแล้วตั้งแต่สร้างมา
ซึ่งนับว่าเป็นมงคลตามความเชื่อว่านำความโชคดีมาให้



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

แผนที่วัดท่าซุง (วัดจันทาราม)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=1932

ประวัติและปฏิปทาหลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=34508

รวมคำสอน “หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38703

ประมวลภาพ “หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=22899

เว็บไซต์วัดท่าซุง
http://www.watthasung.com/

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดอมฤตวารี (หนองน้ำคัน)
ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี
โทรศัพท์ 086-939-4391, 056-513-883


พระครูอุทิตศุภการ (หลวงพ่อสุบิน สันติกโร) เจ้าอาวาส

ทางทิศใต้ของบริเวณวัดมีหนองน้ำแห่งหนึ่งขนาดกว้าง 10 วา ยาว 1 เส้นเศษ สมัยก่อนหนองน้ำแห่งนี้มีอาถรรพ์ คือใครลงไปอาบจะรู้สึกคันตัวจนกว่าน้ำที่เปียกตัวจะแห้งจึงจะหายคัน แม้วัวความยลงไปก็ต้องรีบขึ้น สัตว์น้ำในหนองน้ำแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นปู ปลา เต่า หากใครจับไปทำเป็นอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ก็จะมีอันเป็นไปทุกราย เช่น เป็นโรคกลากเกลื้อน (ลักษณะเช่นนี้เมื่อ 20 ปีก่อนยังปรากฎอยู่)

หนองน้ำแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า “หนองน้ำคัน” วัดที่อยู่ริมหนองน้ำนี้เขาจึงตั้งชื่อกันว่า “วัดหนองน้ำคัน” และหมู่บ้านรอบๆ หนองน้ำจึงพลอยถูกเรียกว่า “บ้านหนองน้ำคัน” ไปด้วย

โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองสามโคกได้มาตั้งถิ่นฐาน (ประมาณ ปีเถาะเอกศกจุลศักราช 1121 หรือ พ.ศ. 2302) ได้สร้างวัดเพื่อบำเพ็ญกุศล ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และเอาบุตรหลานของตนมาฝากให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงนับได้ว่าเป็นหัวใจของหมู่บ้าน ดังนั้นจึงมีเศรษฐีมอญหรือหัวหน้ามอญได้ชักชวนกันสร้างวัดขึ้นมา เพราะปรากฎว่าหมู่เจดีย์ 5 องค์นั้นเป็นลักษณะทรงมอญ อุโบสถ กุฎีหน้าอุโบสถ จัดว่าเป็นฝีมือสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าสร้างขึ้นในเมื่อ พ.ศ. ใดแน่

รูปภาพ
พระครูอุทิตศุภการ (หลวงพ่อสุบิน สันติกโร)


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาหลวงพ่อสุบิน สันติกโร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=27409

เว็บไซต์วัดอมฤตวารี
http://members.thai.net/mayerman/

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


วัดถ้ำทอง (ธรรมยุต)
หมู่ 3 ต.ทุ่งนางงาม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี 61160
โทรศัพท์ 056-461-336


พระครูสุปัญญาโกศล เจ้าอาวาส

วัดถ้ำทอง เป็นวัดที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ
ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามแนวนโยบายของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดถ้ำรัตนคีรี (วัดเขากวางทอง)
เลขที่ 147 หมู่ 12 ต.เขากวางทอง
อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี 61110
โทรศัพท์ 08-1888-5195, 08-9965-1012


พระครูอุทัยบุญญาภิวัตน์ (พระอาจารย์บุญเรือง กตปุญโญ) เจ้าอาวาส

วัดถ้ำรัตนคีรี ตั้งอยู่ที่ ต.เขากวางทอง อ.หนองฉาง ภายในวัดมีปูชนียวัตถุ เจดีย์บรรจุพระธาตุสีวลี มีพระสีวลี 5 องค์ บริเวณวัดมีความร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีถ้ำ ภายในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อย มีลำธารไหลผ่าน มีพระธาตุสีวลีและยังค้นพบโอ่งโบราณซึ่งมีอายุนับเป็นพันปี นอกจากนี้ภายในอุโบสถมีภาพเขียนทางพระพุทธศาสนาที่งดงาม สัญลักษณ์ของวัดจะะป็นกวางทอง ซึ่งจะมีลักษณะโดดเด่นอยู่บริเวณหน้าวัด

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระครูอุดมวิสุทธิธรรม (สุชาติ อินทปัญโญ)
............................................................................



วัดสามัคคีรังสรรค์ (ทุ่งนาใหม่)
ต.เขาบางแกรก อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี 61170


พระครูอุดมวิสุทธิธรรม (สุชาติ อินทปัญโญ) เจ้าอาวาส

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระครูอุดมวิสุทธิธรรม ร่มธรรมเมืองอุทัยธานี

“พระครูอุดมวิสุทธิธรรม” เป็นพระเถระที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเรือนเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ยึดมั่นที่จะสร้างสรรค์ พัฒนาสังคมให้มีความเจริญรุ่งเรือง ด้วยความรู้คู่กับคุณธรรม ปัจจุบัน พระครูอุดมวิสุทธิธรรม สิริอายุ 51 พรรษา 30 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอหนองฉาง และเจ้าอาวาสวัดสามัคคีรังสรรค์ (ทุ่งนาใหม่) ต.เขาบางแกรก อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

อัตโนประวัติ พระครูอุดมวิสุทธิคุณ มีนามเดิมว่า สุชาติ คงพันธ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2498 ที่บ้านท่าพุทรา ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เป็นบุตรของนายครและนางทองชุบ คงพันธ์ ประกอบอาชีพกสิกรรม

ชีวิตในวัยเยาว์ ด.ช.สุชาติศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนวัดอรัญญวาสี ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนลาออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดา-มารดา ประกอบอาชีพทำนา-ทำไร่

ช่วงวัยหนุ่มไม่ถูกคัดเกณฑ์ทหาร จึงเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2520 ณ พัทธสีมาวัดคฤหบดีสงฆ์ ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร โดยมีพระครูพัชรคุณาภรณ์ (หลวงพ่อลำใย ฐานิสสโร) วัดคฤหบดีสงฆ์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวชิรธรรมโชติ (หลวงพ่อเสาร์ ธัมมโชโต) วัดคลองเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์จำลอง ฐิตธัมโม วัดคฤหบดีสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "อินทปัญโญ" หมายถึง ผู้มีปัญญาดุจพระอินทร์

เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์ เรียนนักธรรมบาลีกับพระครูพิพิธวัชรธรรม

พ.ศ.2521 สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2522 สอบได้นักธรรมโท พ.ศ.2523 สอบได้นักธรรมเอก ขณะเดียวกัน ได้ศึกษาวิชาอาคม อักขระขอม คาถาต่อกระดูก ดับพิษไฟ คาถาปลุกเสกจากตำราของหลวงพ่อสว่าง อุตตโร โดยมีพระครูพัชรคุณาภรณ์ เป็นผู้ถ่ายทอด

พ.ศ.2524 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจำสำนักศาสนศึกษาวัดคฤหบดีสงฆ์ ในปีเดียวกัน ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดสามัคคีรังสรรค์(ทุ่งนาใหม่) ต.เขาบางแกรก อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสามัคคีรังสรรค์

พ.ศ.2525 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสามัคคีรังสรรค์ (ทุ่งนาใหม่) ต.เขาบางแกรก อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี และได้จัดตั้งสำนักศาสนศึกษาพระปริยัติธรรม วัดสามัคคีรังสรรค์

พ.ศ.2528 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกาฐานานุกรมของพระครูอุปการโกวิท(หลวงพ่อแอ๋ว) วัดหัวเมือง อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองฉาง จ.อุทัยธานี

พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูอุดมวิสุทธิธรรม

พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

และวันที่ 11 ตุลาคม 2546 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอหนองฉาง จ.อุทัยธานี

งานด้านการศึกษา พ.ศ.2534 เป็นกรรมการคุมสอบบาลีที่วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรม และเป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวงชั้นตรี ที่วัดท่ากฤษณา อ.หันคา จ.ชัยนาท

งานศึกษาสงเคราะห์ ท่านได้จัดซื้อหนังสือเรียนภาษาบาลี หนังสือเรียนนักธรรมตรี-โท-เอก อุปกรณ์การสอนคอมพิวเตอร์ให้พระภิกษุ-สามเณร ได้ศึกษาเล่าเรียนในวัดสามัคคีรังสรรค์

นอกจากนี้ ยังเป็นประธานจัดตั้งกองทุนแผนกธรรม-บาลี วัดสามัคคีรังสรรค์ เป็นประธานจัดตั้งทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอีกด้วย

งานด้านเผยแผ่ พ.ศ.2531 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูต ประจำอำเภอหนองฉาง

งานด้านสาธารณูปการ พ.ศ.2538 เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ ท่านยังจัดตั้งทุนหาเงินช่วยสงเคราะห์นักเรียนยากจนที่เรียนดี จัดหาเงินร่วมสร้างตึกสงฆ์ โรงพยาบาลหนองฉาง และนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้แก่ราษฎรหมู่บ้านกะเหรี่ยง อีมาด อีทราย เป็นประจำ

พระครูอุดมวิสุทธิธรรม ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจากหลวงพ่อแอ๋ว มีวัตถุมงคลที่เด่นดัง อาทิ ตะกรุดมหาภูต ตะกรุดโทน ยันต์มหาภูต สมเด็จหลังลายเซ็น ปี 31 ปลุกเสกเดี่ยวนาน 16 พรรษา สมเด็จเสาร์ 5 ปี 36 อกร่อง ด้านหน้ายันต์หัวใจสิงห์ ด้านหลังยันต์ปลอดภัย

พระครูอุดมวิสุทธิธรรม ถือได้ว่าปฏิบัติตามหน้าที่สนองงานพระศาสนาอย่างเต็มกำลัง ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เป็นศูนย์รวมศรัทธาแห่งชาวเมืองอุทัยธานีโดยแท้

หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31
คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 โดย สุธน พันธุเมฆ
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5581

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


วัดตลุกดู่
หมู่ 4 ต.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี


หลวงพ่อเสมา จันทโชโต อดีตเจ้าอาวาส

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หลวงพ่อเสมา จันทโชโต ผู้ประกาศิตป่าสักอุทัยธานี

“กูเอาไม้ป่านี้ ไปทำไม่ได้ คนอื่นก็เอาไปทำไม่ได้ เช่นกัน” เป็นวาจาของ “หลวงพ่อเสมา จันทโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดตลุกดู่ ต.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี พระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีวัตรอันน่าเลื่อมใสศรัทธา ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ในวาจาของท่าน เป็นปาฏิหาริย์สำคัญที่ทำให้ “ป่าสัก” ในเขตอำเภอลานสัก จ.อุทัยธานี ยังคงสภาพเดิมมาจนทุกวันนี้

อัตโนประวัติ หลวงพ่อเสมา เกิดที่บ้านสีแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2428 เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี โยมบิดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์โพ เจ้าอาวาสวัดสีแก้ว เล่าเรียนอยู่ 2 ปี จนสามารถอ่านออกเขียนได้

ต่อมาได้บรรพชา ศึกษาพระธรรมวินัย และพออายุครบ 20 ปี ญาติพี่น้องจัดให้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสีแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด โดยมีพระอาจารย์เสน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า จันทโชโต แปลว่า ผู้มีแสงสว่างดังดวงจันทร์

ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสีแก้ว 1 พรรษา ก่อนย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดคอกควาย อ.เมือง จ.ลพบุรี ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์มี 1 พรรษา พระเสมา มีความตั้งใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัยที่กรุงเทพฯ แต่เกิดอาพาธอย่างหนัก ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่วัดมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม อีก 1 พรรษา จนหายดี และได้ทราบว่าพระอาจารย์เสนไปอยู่วัดตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี จึงได้ติดตามมาอยู่ด้วยถึง 3 พรรษา

ภายหลังพระอาจารย์เสนมรณภาพ ท่านได้กลับมาช่วยงานฌาปนกิจศพจนเสร็จ และจำพรรษาอยู่ที่วัดตลุกดู่ ศึกษามูลกัจจายกับพระอาจารย์สารี เจ้าอาวาสวัดตลุกดู่ 2 พรรษา เมื่อพระอาจารย์สารีลาสิกขาบท ท่านจึงรั้งตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดตลุกดู่

พ.ศ.2468 หลวงพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นพระอธิการเจ้าอาวาสวัดตลุกดู่

หลวงพ่อเสมาได้จัดเสนาสนะของวัดให้เป็นระเบียบ ย้ายกุฏิสงฆ์และจัดสร้างใหม่ให้เป็นหมวดหมู่ มีหอประชุมสำหรับจัดให้เป็นโรงเรียนพระธรรมวินัยของพระภิกษุ-สามเณรในวัด

พ.ศ.2472 ได้ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ขนาดยาว 15 วา กว้าง 5 วา นับเป็นอุโบสถที่มีขนาดใหญ่มาก สิ้นงบประมาณ 8,000 บาท ครั้งนั้น การสร้างเสนาสนะของวัดตลุกดู่จำเป็นมาก เพราะศรัทธาของชาวบ้านที่มาทำบุญมีจำนวนมากขึ้น หลวงพ่อเสมาได้สร้างศาลาการเปรียญ และสร้างอุโบสถขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างจำเป็นต้องใช้ไม้ สำหรับประกอบเป็นเครื่องบนของอุโบสถ หลวงพ่อเสมาเห็นว่าในป่าแห่งหนึ่งมีไม้สักที่ต้องการอยู่ จึงนำประชาชนที่มาช่วยการสร้างอุโบสถไปตัดไม้แห่งนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำหนิ โดยมิให้นำไม้ออกจากป่าดังกล่าว ความหวังของหลวงพ่อเสมาและชาวตลุกดู่ได้หยุดลงตรงนี้

หลวงพ่อเสมาตัดสินใจไม่เอาไม้ออกจากป่านี้ พร้อมกับกล่าวว่า "กูเอาไม้ในป่านี้ไปทำไม่ได้ คนอื่นก็เอาไปทำไม่ได้เช่นกัน" จากนั้น หลวงพ่อเสมาให้ชาวบ้านหาซื้อไม้ไปจัดทำอุโบสถจนแล้วเสร็จ

พ.ศ.2481 ท่านได้สร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลตลุกดู่ มีความยาว 13 วา กว้าง 4 วา มีมุขกลาง นับเป็นโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของตำบลตลุกดู่

หลวงพ่อเสมา มรณภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2484 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตลุกดู่ สิริรวมอายุได้ 56 ปี

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเสมา จันทโชโต ยังผลให้วัตถุมงคลเหรียญรูปไข่รุ่นบล็อกแตก 9 พระเกจิอาจารย์ปลุกเสก ยังเป็นที่ปรารถนาของชาวอุทัยธานี

วาจาของหลวงพ่อเสมาที่มิให้นำไม้สักออกจากป่า กลายเป็นประกาศิตที่ไม่มีใครกล้านำไม้สักในป่าดังกล่าวมาใช้ประโยชน์อีกเลย ป่าสัก 500 ไร่แห่งนั้นจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้สักมาจนถึงทุกวันนี้ จนกลายมาเป็นอำเภอลานสักในปัจจุบัน หลวงพ่อเสมาจึงเป็นพระสงฆ์ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้บูชาโดยแท้

หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31
คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 โดย สุธน พันธุเมฆ
วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5434

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


วัดหนองเต่า
ต.หนองเต่า อ.เมือง จ.อุทัยธานี
โทรศัพท์ 056-506-109, 089-859-4658


พระครูธรรมกิจจาทร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

พระครูอุกฤษฎ์สุตการ (หลวงปู่อำนวย ฐิตาจารี) อดีตเจ้าอาวาส


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อาลัย “หลวงปู่อำนวย ฐิตาจารี” พระนักปฏิบัติดังเมืองอุทัยธานี

พระครูอุกฤษฎ์สุตการหรือ “หลวงปู่อำนวย ฐิตาจารี” อดีตพระนักปฏิบัติพัฒนาเมืองอุทัยธานี เจ้าอาวาสวัดหนองเต่า ต.หนองเต่า อ.เมือง จ.อุทัยธานี และเจ้าคณะตำบลเนินเหล็กอีกด้วย มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยสูง ทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นและต่างจังหวัด ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างสูง

อัตโนประวัติ หลวงปู่อำนวย ถือกำเนิดในสกุล เพ็ชรสวัสดิ์ เมื่อวันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2458 ที่บ้านหาดสูง หมู่ที่ 5 ต.หาดสูง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์

หลังจบการศึกษาชั้น ป.4 ที่โรงเรียนประชาบาลวัดหาดสูง บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 ณ วัดหาดสูง ต.หาดสูง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ โดยมีพระมหาเชื่อม วัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมา สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท ตามลำดับ ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดตากแดด ต.หาดสูง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2478 โดยมีพระอุดมธรรมภาณ (หลวงพ่อสม) เจ้าคณะอำเภอทัพทัน จ.อุทัยธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูนิบุลธรรมธร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาเชื่อม วัดหาดสูง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ฐิตาจารี" หมายถึง ผู้ดำรงอยู่ในความดี

ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดหาดสูง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระมหาเชื่อม ก่อนย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองเต่า ต.หนองเต่า อ.เมือง จ.อุทัยธานี ศึกษาวิทยาคมและบาลีกับพระอุดมธรรมภาณ (หลวงพ่อสม) และศึกษาตำราอาคมขลังของพระครูอุทัยธรรมวินิต (หลวงพ่อสิน จันทสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองเต่า ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเคลือบ สวรธัมโม ผู้มีวาจาสิทธิ์

พ.ศ.2479 สอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดหนองเต่า

พ.ศ.2481 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พร้อมจัดตั้งโรงเรียนบาลีไวยากรณ์

พ.ศ.2486 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองเต่า

พ.ศ.2500 เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมชั้นโท

พ.ศ.2522 เป็นกรรมการสอบธรรมสนามหลวง ที่ อ.ทัพทัน

พ.ศ.2513 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ พระครูอุกฤษฎ์สุตการ

พ.ศ.2519 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเนินเหล็ก และเป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงปู่อำนวย มีความสามารถในการอ่านแบบแปลนผังการก่อสร้างได้อย่างชำนาญ ทั้งงานไม้และงานคอนกรีต เพื่อให้งานเป็นไปตามแบบ นอกจากนี้ ท่านเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการก่อสร้างเขื่อนวังร่มเกล้าด้วย

ด้านงานปกครองคณะสงฆ์ หลวงปู่อำนวย ได้จัดให้มีหัวหน้ากุฏิและหัวหน้าคณะ ช่วยทำการอบรมพระภิกษุ-สามเณร ตั้งอยู่ในสาราณียธรรม 6 มีอปริหานิยธรรม 7 เป็นหลักประพฤติปฏิบัติ ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ต้องศึกษานักธรรมและบาลี ออกบิณฑบาตทุกวัน

หลวงปู่อำนวย ยังได้ให้การอบรมศีลธรรมประจำโรงเรียนหนังสือไทยเขตบริการ 3 โรงเรียน เป็นผู้อบรมศีลธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร และประชาชน โดยจัดให้มีพิธีการทางศาสนาในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา, มาฆบูชา, อาสาฬหบูชา และพิธีอัฐมีบูชา

งานด้านสังคม ได้เป็นประธานหน่วยอบรมประชาชน (อบต.) และเป็นกรรมการสร้างอุโบสถวัดวังปลากด มอบทุนการศึกษาแก่เด็กเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ ท่านได้นำพระภิกษุ-สามเณร ร่วมกับชาวบ้าน ก่อสร้างฝายรับน้ำส่งน้ำคอนกรีตภายในตำบลหนองเต่าทุกสาย ทำถนนสายหนองเต่า-หนองแก และสายหนองเก่า-ทัพทัน เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการก่อสร้างเขื่อนวังร่มเกล้า และโรงเรียนประชาบาลวัดหนองเต่า สำหรับงานพัฒนาภายในวัดหนองเต่า ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถใหม่ แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม เป็นต้น

ด้วยสังขารไม่เที่ยงแท้ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2548 หลวงปู่อำนวยได้อาพาธอย่างฉับพลัน คณะศิษย์ได้นำส่งโรงพยาบาลปากน้ำโพ เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ณ ห้องไอซียู คณะแพทย์ระบุว่า หลวงปู่เป็นโรคปอดอักเสบ และออกซิเจนในเลือดต่ำ ต่อมา หลวงปู่อำนวยได้มรณภาพลงอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เมื่อเวลา 09.57 น. ของเช้าวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2548 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุรวม 90 พรรษา 70

ปัจจุบันสังขารหลวงปู่อำนวย ได้บรรจุในโลงทอง ณ หอสวดมนต์วัดหนองเต่า อ.เมือง จ.อุทัยธานี คณะกรรมการวัดหนองเต่าและคณะศิษยานุศิษย์ ได้บรรจุศพหลวงปู่อำนวย ตั้งบำเพ็ญกุศล 7 วัน 50 วัน และ100 วัน จนครบ 1 ปีเต็ม

ทั้งนี้ ได้กำหนดพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่อำนวย ในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 เวลา 16.00 น. ณ เมรุวัดหนองเต่า ต.หนองเต่า อ.เมือง จ.อุทัยธานี โดยมีพระราชอุทัยกวี เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายอุดม พัวสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

กำหนดพิธีการ ดังนี้ วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 เวลา 12.30 น. พิธีเคลื่อนศพหลวงปู่อำนวย จากหอสวดมนต์ไปยังศาลาการเปรียญ เวลา 16.30 น. พระสงฆ์สมณศักดิ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ เวลา 20.00 น. พระสงฆ์สมณศักดิ์ 4 รูป สวดพระอภิธรรม

วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 เวลา 07.30 น. ถวายภัตตาหารพระภิกษุสามเณร เวลา 10.30 น. พระสงฆ์สมณศักดิ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ-สามเณร จำนวน 100 รูป เวลา 13.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ โดยพระเทพปริยัติสุธี เจ้าคณะภาค 3 เวลา 14.00 น. พระสงฆ์ 100 รูป สวดมาติกา-บังสุกุล เวลา 16.00 น. พระราชทานเพลิงศพ

วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 เวลา 06.30 น. พิธีสามหาบ เวลา 07.30 น. พระสงฆ์สมณศักดิ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ-สามเณร ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เสร็จพิธี

หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31
คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 โดย สุธน พันธุเมฆ
วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5896

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


วัดเนินเหล็ก
หมู่ 4 บ้านเหนือ ต.เนินเหล็ก
อ.เมือง จ.อุทัยธานี 61000


หลวงพ่อจิ๋ว สุขาจาโร อดีตเจ้าอาวาส

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หลวงพ่อจิ๋ว สุขาจาโร ร่มธรรมเมืองอุทัยธานี

พระครูอุทัยธรรมวินิจ หรือหลวงพ่อจิ๋ว สุขาจาโร อดีตเจ้าคณะตำบลเนินเหล็ก และเจ้าอาวาสวัดเนินเหล็ก อ.เมือง จ.อุทัยธานี เป็นพระเถระผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง แม้ได้ละสังขารมาเป็นเวลานาน แต่ชาวบ้านยังเลื่อมใสศรัทธามิคลาย

อัตโนประวัติ พระครูอุทัยธรรมวินิจ มีนามเดิมว่า จิ๋ว ธัญญกรรม เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2447 ณ บ้านหนองโพธิ์ ต.หนองไผ่แบน อ.เมือง จ.อุทัยธานี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายทัด-นางนิ่ม ธัญญกรรม ประกอบอาชีพกสิกรรม ในช่วงวัยเยาว์ เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดหนองไผ่แบน จบชั้นป.4 ก่อนลาออกมาช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ

ทุกวันพระมักไปทำบุญที่วัดหนองโพธิ์กับโยมบิดา-มารดา เป็นประจำเสมอมิได้ขาด เมื่อเติบใหญ่ จึงกลายเป็นคนใจบุญกุศลเป็นลำดับ เมื่ออายุครบ 21 ปี นายจิ๋วถูกเกณฑ์ทหาร ไปประจำอยู่ที่ค่ายจิระประวัติ จ.นครสวรรค์ เป็นเวลา 2 ปี พอพ้นเกณฑ์ทหาร ได้กลับบ้านช่วยบิดามารดา

จนมีอายุได้ 24 ปี นายจิ๋วได้บวชทดแทนคุณบิดามารดา ดังลูกผู้ชายพึงควรปฏิบัติ ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบุญลือ ต.เนินแจง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ (ปัจจุบันเป็น อ.เมือง จ.อุทัยธานี) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2471 โดยมีพระญาณกิตติ วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า สุขาจาโร แปลว่า ผู้มีความประพฤติอันงดงาม

เมื่ออุปสมบท พระจิ๋วได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดทัพทันวัฒนาราม อ.ทัพทัน เพื่อเข้ารับการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2474 สอบได้นักธรรมชั้นโท โดยมีพระอุดมธรรมภาณ เป็นพระอาจารย์สอน

พ.ศ.2476 พระจิ๋ว ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาบาลีกับพระอาจารย์ประสิทธิ์ศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ในสมัยนั้น

พ.ศ.2483 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่ครั้นจะศึกษาต่อเปรียญธรรม 4 ประโยค ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จำเป็นต้องเรียนๆ หยุดๆ ไม่เป็นอันเรียน

จนถึงปี พ.ศ.2487 สงครามโลก ยังไม่สงบ พระมหาจิ๋ว ได้ตัดสินใจ เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมที่วัดเนินเหล็ก ต.โนนเหล็ก อ.เมือง จ.อุทัยธานี ในขณะนั้น พระครูอุทัยธรรมวินิจ (จิ๋ว อินทสุวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดเนินเหล็ก ได้มรณภาพลง

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2488 พระอุดมธรรมภาณ (สม สุนทรธัมโม) อาจารย์ของท่าน พร้อมชาวบ้าน ได้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเนินเหล็ก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พร้อมเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมให้กับพระภิกษุสามเณร

ต่อมา คณะสงฆ์ได้เล็งเห็นว่า พระมหาจิ๋ว มีความรู้ความสามารถ ประกอบกับเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง พ.ศ.2491 จึงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเนินเหล็ก

พ.ศ.2492 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลโนนเหล็ก

พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนาม "พระครูอุทัยธรรมวินิจ"

พ.ศ.2500 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี หลวงพ่อจิ๋วสร้างคุณูปการแก่วัดเนินเหล็กและชาวบ้าน ต.เนินเหล็ก ท่านเป็นผู้เคร่งครัดและสอนสั่งให้พระภิกษุสามเณร คณะศิษย์ ตลอดจนเด็กวัด ให้เป็นผู้มีเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไปทั้งในวัดและชาวบ้าน คอยให้คำปรึกษา แก้ปัญหา ชี้แนะให้ชาวบ้านปฏิบัติตนเป็นคนดีและพัฒนาจิตใจชาวบ้านให้อยู่กันอย่างสงบสุข และมีความสามัคคีอย่างดีเยี่ยม

หลวงพ่อจิ๋ว ได้พัฒนาวัด ด้วยการสร้างกุฏิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ เมรุ อุโบสถ และถาวรวัตถุอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ด้านการศึกษา หลวงพ่อจิ๋วได้เอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง โดยได้ก่อตั้งโรงเรียนราษฎร์ มีชื่อว่า โรงเรียนวินิจประสิทธิเวท เพื่อให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับที่จบชั้นประถม ได้มีที่เรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา นอกจากนี้ ยังรับบุคคลภายนอกที่มีอายุเกินเกณฑ์ ให้ได้เข้าเรียน โดยให้บวชเป็นพระภิกษุ-สามเณร ทำให้วัดเนินเหล็ก มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษานับร้อยรูปเกือบทุกปี ส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรม มีการเรียนการสอนประจำในสำนักเรียน ในแต่ละปี มีนักเรียนสอบได้นักธรรม-บาลีเป็นจำนวนมาก

หลวงพ่อจิ๋ว ยังได้ทำงานด้านการพัฒนาวัตถุและพัฒนาคน ทั้งในวัดและนอกวัด รวมระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ภายหลังการสร้างอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ ท่านได้ล้มป่วยลง และละสังขารไปด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 ณ โรงพยาบาลอุทัยธานี สิริอายุ 88 พรรษา 65

หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31
คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 โดย สุธน พันธุเมฆ
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5498

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


ธรรมสถานไร่ป่าแดนธรรม
หมู่ 8 ต.หนองจอก
อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี 61180


ธรรมสถานไร่ป่าแดนธรรม เป็นสถานที่สัปปายะมาก เพราะอยู่ติดเขาเป็นธรรมชาติ
มีที่พักให้ โดยผู้สนใจสามารถเข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้ทุกเวลาโดยไม่มีกำหนดการ
เพียงแค่ เตรียมกายให้พร้อม และมีความตั้งใจที่เต็มเปี่ยม เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว


นำข้อมูลมาจาก..คุณกฤษฎากร แก่นจำปา

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2008, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


เมื่อวันที่ 18/02/07 คุณองุ่นได้เดินทางไปที่ จ.อุทัยธานี และได้ไปยังสถานที่ 2 แห่ง คือ หุบป่าตาด และวัดถ้ำเขาวง ซึ่งวัดถ้ำเขาวง เป็นวัดที่สวยมากๆ ไปแล้ว ได้บรรยากาศ จัดว่าเป็นสถานที่สัปปายะแห่งหนึ่งของอุทัยธานีก็ว่าได้ ซึ่งต้องเดินขึ้นไปบนภูเขา และจะมีถ้ำสำหรับพระปฏิบัติเพื่อทำสมาธิภาวนาจำนวนมากมาย และตัวศาลาจะเป็นศาลาทรงไทย มีทั้งหมด 4 ชั้น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมอย่างมาก หากท่านใดผ่านไปที่อุทัยธานี ลองแวะไปดู แล้วจะติดใจ


นำข้อมูลมาจาก..คุณองุ่น

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร