วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 14:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 10:52
โพสต์: 15


 ข้อมูลส่วนตัว


ประวัติท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเป็นชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.2467 ท่านได้ประกอบธุรกิจจนประสบความ สำเร็จมีชื่อเสียงมากตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ทั้งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า รวมทั้งเป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิเช่น หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่าและสมาคมพานิชย์และอุตสาหกรรมแห่งร่างกุ้ง นอกจากนี้ยังร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะผู้แทนการค้าของสหภาพพม่าในฐานะที่ปรึกษาอยู่บ่อยๆ

เมื่ออายุ 31 ปี ท่านได้ทดลองเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตร 10 วันเป็นครั้งแรกกับท่านอาจารย์อูบาขิ่น (วิปัสสนาจารย์ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง) หลังจบจากการปฏิบัติตามหลักสูตร 10 วันแล้ว ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในเนื้อหาสาระของคำสอนและในแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนต่อมาท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งให้ท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน

ปี พ.ศ.2512 ท่านได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดียเพื่อเยี่ยมมารดาที่ล้มป่วย ระหว่างที่อยู่ในอินเดีย ท่านได้จัดอบรม วิปัสสนาให้แก่มารดาและญาติพี่น้อง ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นอันมาก นับจากนั้นขบวนการเอหิปัสสิโกก็ได้เริ่มต้น จากปากต่อปากที่บอกต่อๆ กันไป ทำให้มีผู้มาขอเข้าปฏิบัติกันมากขึ้น

และจากการที่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นมีความฝังใจอยู่แต่เดิมว่า ประเทศอินเดียมีบุญคุณอย่างล้นเหลือที่ได้หยิบยื่นธรรมอันบริสุทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ประเทศพม่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน แต่ธรรมอันล้ำค่านี้กลับได้สูญหายไปจากประเทศอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดจนเกือบหมดสิ้น ท่านโกเอ็นก้าจึงมีความปรารถนาที่จะทดแทนคุณประเทศอินเดีย ด้วยการหาทางนำเอาธรรมะอันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่อีกครั้ง ซึ่งท่านอาจารย์อูบาขิ่นก็ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่านเปิดการอบรมวิปัสสนาในแนวทางนี้ขึ้นในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ.2517 ท่านจึงได้ก่อตั้งสถาบันวิปัสสนานานาชาติ “ธรรมคีรี” ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดียนับจากนั้นมาก็ได้มีการจัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันและหลักสูตรระยะยาวต่อเนื่องเรื่อยมา ปี พ.ศ.2522 ท่านเริ่มเดินทางไปเผยแผ่วิปัสสนาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ท่านได้อำนวยการสอนวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออกกว่า 400 หลักสูตร หลักการสอนของท่านโกเอ็นก้าได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ทั้งในอินเดีย ประเทศที่ยังคงมีความแตกต่างทางด้านชนชั้นและศาสนาอย่างมาก และจากทั่วโลก ทั้งนี้เพราะคำสอนที่มีลักษณะเป็นสากล มิได้ขัดต่อหลักศาสนาใด ท่านเน้นเสมอว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด และมีผิวสีอะไร ต่างก็มีความทุกข์ในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น ในเมื่อความทุกข์ของมนุษย์เป็นสากล วิธีการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์จึงต้องเป็นสากลเช่นกัน

ต่อมาท่านได้เริ่มแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยให้ช่วยดำเนินการอบรมแทนท่าน โดยใช้เทปและวิดีโอของท่านเป็นแนวทางในการสอน เพื่อรองรับกับความต้องการที่จะเข้าอบรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้มีอาจารย์ผู้ช่วยกว่า 700 ท่าน และอาสาสมัครช่วยงานต่างๆ อีกนับพันๆ คน มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก ทั้งในอิหร่าน มัสกัต อาหรับอิมิเรสต์ อัฟริกาใต้ ซิมบับเว จีน มองโกเลีย รัสเซีย เซอร์เบีย ไต้หวัน กัมพูชา เม็กซิโกและประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้ โดยมีการ ก่อสร้างศูนย์วิปัสสนาทั้งสิ้น 80 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมหลักสูตรวิปัสสนาทั่วโลกกว่าหนึ่งพัน หลักสูตร โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าอบรม ที่พักหรือค่าอาหารใดๆ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจที่จะบริจาค ทั้งตัวท่านอาจารย์ โกเอ็นก้าเองและอาจารย์ผู้ช่วยต่างๆ ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการอบรมดังกล่าวแม้แต่น้อย

ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาธรรมตามสถาบันต่างๆ รวมทั้งในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกสหัสวรรษใหม่ที่สหประชาชาติด้วย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 15:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 10:52
โพสต์: 15


 ข้อมูลส่วนตัว


คำแนะนำในการเข้าอบรม

ขอให้การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของท่านจงยังประโยชน์สูงสุดให้แก่ท่าน เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว จึงขอเสนอข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้ ด้วยความปรารถนาดีต่อความสำเร็จของท่าน โปรดทำความเข้าใจให้ตลอดก่อนกรอกใบสมัครเพื่อขอเข้ารับการฝึกอบรม

คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ

วิปัสสนาเป็นวิธีการปฏิบัติกรรมฐานที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้สาบสูญไปจากมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้กลับมาค้นพบอีกครั้งโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว วิปัสสนาหมายถึง “การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง” อันเป็นกระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง เราจะเริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อมีสติที่มั่นคง เราก็จะก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากลคือ ได้เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา) การที่ได้รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้จากประสบการณ์ของท่านเองโดยตรง จึงเป็นวิธีการในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ธรรมะเป็นเรื่องสากล มีไว้สำหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นสากล มิได้ผูกขาดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บุคคลทุกคนจึงสามารถจะปฏิบัติได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องของเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ หรือศาสนา ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คนโดยทั่วถึงกัน

วิปัสสนานั้นมิใช่เป็น
* พิธีกรรมที่มีพื้นฐานทางความเชื่อถืออย่างงมงาย
* เรื่องบันเทิงทางปัญญาหรือปรัชญา
* การพักฟื้น การหยุดพักผ่อน หรือโอกาสที่จะมาสังสรรค์กัน
* การหลีกหนีจากปัญหาและความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน

หากแต่วิปัสสนาเป็น
* วิธีการในการขจัดความทุกข์
* ศิลปะของการดำเนินชีวิตที่จะทำให้คนเราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
* วิธีการทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้คนเราสามารถเผชิญกับความตึงเครียด
และปัญหาในชีวิตได้ด้วยความสงบและความสมดุลทางจิตใจ

วิปัสสนากรรมฐานจึงมุ่งไปยังเป้าหมายทางจิตใจในระดับสูงสุด เพื่อการหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงและเพื่อการบรรลุธรรม มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการบำบัดรักษาโรคทางกาย แต่เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากการทำจิตให้บริสุทธิ์ จึงทำให้ความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความเก็บกดในจิตใจหมดไป แท้จริงแล้ว วิปัสสนาสามารถที่จะขจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ 3 ประการ คือ โลภ โกรธ หลง ได้ ถ้าได้ปฏิบัติต่อเนื่องกัน วิปัสสนาจะระบายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและแก้ปมในใจที่ผูกอยู่ เนื่องจากนิสัยดั้งเดิมที่ชอบปรุงแต่งต่อสถานการณ์ต่างๆ เช่น ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบหรือพอใจ (อันทำให้เกิดโลภะ) และไม่ชอบหรือไม่พอใจ (อันทำให้เกิดโทสะ) แม้ว่าวิปัสสนาจะพัฒนาขึ้นมาโดยที่เป็นวิธีการหนึ่งของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การปฏิบัติก็มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของศาสนาแต่อย่างใด วิธีปฏิบัติตั้งอยู่บนพื้นฐานธรรมดาสามัญที่ว่า มนุษย์ทุกคนต่างมีปัญหาเหมือนๆ กัน และวิธีการที่สามารถขจัดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ จะต้องเป็นวิธีที่เป็นสากล มีผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ เคยได้รับผลจากการปฏิบัติวิปัสสนามาแล้ว โดยมิได้มีความขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม

วินัยในการปฏิบัติ

กระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการสังเกตดูตนเองนี้ มิใช่เป็นเรื่องง่ายอย่างแน่นอน เราจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องใช้ความพยายามของตนเองเท่านั้น จึงจะเข้าถึงการรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ไม่มีใครอื่นที่จะทำให้ได้ ดังนั้นวิปัสสนากรรมฐานจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติ และมีความเคร่งครัดต่อระเบียบ เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง และเป็นการคุ้มครองตนเองด้วย กฎระเบียบต่างๆ จะเป็นส่วนที่ทำให้การปฏิบัติกรรมฐานสมบูรณ์ขึ้น เวลา 10 วันนี้นับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นในการที่จะเจาะลึกเข้าไปถึงระดับจิตใต้สำนึก และเรียนรู้วิธีการที่ขจัดกิเลสที่ตกตะกอนอยู่ในส่วนลึกสุด (อนุสัยกิเลส) การปฏิบัติให้ต่อเนื่องโดยไม่พูดจาหรือเกี่ยวข้องกับใคร เป็นเคล็ดลับของความสำเร็จของวิธีการนี้

กฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดขึ้น ก็เพื่อรักษาการปฏิบัติแนวนี้ให้คงอยู่ได้ กฎเกณฑ์ต่างๆ มิได้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของอาจารย์ผู้สอน หรือเพื่อความสะดวกในการบริหาร หรือเพื่อคัดค้านประเพณีคำสอน หรือความเชื่องมงายที่มีอยู่ในบางศาสนา แต่เป็นสิ่งที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติกรรมฐานนับพันๆ คนเป็นเวลาหลายปี และยังเป็นสิ่งที่มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ การรักษากฎระเบียบจะก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นระเบียบอันเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติกรรมฐาน การฝ่าฝืนกฎระเบียบย่อมจะทำให้เกิดมลภาวะ ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ให้ครบ 10 วัน และจะต้องอ่านกฎระเบียบต่างๆอย่างใคร่ครวญ ผู้ที่คิดว่าสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้เท่านั้น จึงควรจะสมัครเข้าปฏิบัติ ผู้ที่มิได้เตรียมตัวที่จะใช้ความพยายามในการปฏิบัติอย่างเต็มที่ ไม่ควรสมัคร เพราะจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ยังจะเป็นการรบกวนบุคคลอื่นที่ตั้งใจเข้ามาปฏิบัติด้วยความเคร่งครัดอีกด้วย ผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับคำเตือนว่า หากเลิกฝึกก่อนที่จะจบการอบรม เนื่องจากเห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ ยากที่จะปฏิบัติ จะทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวผู้นั้น รวมทั้งจะก่อให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นมาได้ ในกรณีที่นับว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ เมื่อถูกเตือนหลายครั้งแล้ว ยังไม่สามารถจะปฏิบัติตามกฎระเบียบได้ ก็จะถูกขอให้ออกไปจากการฝึกอบรม

ผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตประสาท

บุคคลที่ป่วยด้วยโรคทางจิตบางครั้งอาจต้องการสมัครมาเข้ารับการฝึกวิปัสสนาด้วยความเข้าใจผิดว่า การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยรักษา หรือบรรเทาอาการป่วยทางจิตของตน แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไม่ปกติสุขตลอดจนการได้รับการเยียวยาทางจิตประสาทด้วยวิธีต่างๆ มาแล้วนั้น กลับจะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติภาวนาจนถึงขั้นที่ทำให้ไม่ได้รับประโยน์ใดๆ เลยจากการมาเข้ารับการฝึกอบรม หรืออาจทำให้ไม่สามารถอยู่รับการฝึกให้ตลอดหลักสูตรได้ด้วย แม้การปฏิบัติวิปัสสนาจะเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ก็มิใช่เป็นการทดแทนการรักษาพยาบาลด้วยยาหรืออื่นใด เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติของเราให้บริการโดยอาสาสมัครทั้งสิ้นจึงทำให้ไม่สามารถที่จะดูแลบุคคลผู้มีปัญหาเหล่านี้โดยถูกต้องได้ ผู้มีปัญหาทางจิตประสาทจึงไม่ควรสมัครเข้ารับการอบรม

กฎระเบียบ

พื้นฐานในการปฏิบัติวิปัสสนา คือ ศีล ศีลจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมาธิ และกระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญา คือการรู้แจ้งเห็นจริง

ศีล

ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด ได้แก่
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มน้ำเมา
สำหรับผู้ที่เคยผ่านหลักสูตรนี้มาแล้ว จะต้องถือศีล 8 ซึ่งมีเพิ่มเติม คือ
6. เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล
7. เว้นจากการดูละครฟ้อนรำ และการใช้เครื่องหอมตกแต่งร่างกาย
8. เว้นจากการนอนบนที่นอนที่หนาและอ่อนนุ่ม

ผู้ที่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว จะรักษาศีลข้อ 6 ได้ด้วยการดื่มแต่เพียงน้ำปานะหลังจากการพักในเวลา 5 โมงเย็น ในขณะที่ผู้ปฏิบัติใหม่ อาจจะดื่มนม น้ำชา หรือรับประทานผลไม้ได้ อาจารย์ผู้สอนอาจจะยอมให้ผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้วบางคนยกเว้นการรักษาศีลข้อนี้ได้ ถ้าหากบุคคลผู้นั้นมีปัญหาด้านสุขภาพ ส่วนศีลข้อ 7 และ 8 นั้น ทุกคนจะต้องรักษา

การยอมรับอาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ

ในระหว่างการฝึก ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องรับที่จะปฏิบัติตามวิธีการ และคำแนะนำของอาจารย์ผู้สอนทุกประการนั่นคือ ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องปฏิบัติตามวิธีการปฏิบัติที่อาจารย์สอน โดยไม่มีการแต่งเติมหรือตัดทอนใดๆ ทั้งสิ้น การยอมรับด้วยความเชื่อถือเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถปฏิบัติได้อย่างขยันขันแข็งโดยตลอด ซึ่งการยอมรับนี้ก็ควรจะมีการแยกแยะและทำความเข้าใจด้วย มิใช่เป็นไปเพราะถูกบังคับหรือหลงงมงายเหมือนคนตาบอด ความเชื่อมั่นที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนา

พิธีกรรมและวัตรทางศาสนาตลอดจนวิธีการปฏิบัติอื่นๆ

ในระหว่างการฝึก สิ่งที่สำคัญมากคือ จะต้องงดพิธีกรรมและวัตรทางศาสนาต่างๆ ทั้งหมด เช่น การจุดตะเกียงนับลูกประคำ ท่องมนต์ อดอาหาร สวดมนต์ เป็นต้น การปฏิบัติกรรมฐานแบบอื่นๆ หรือการปฏิบัติเพื่อการบำบัดรักษาอื่นๆ จะต้องเว้นด้วย เช่น การเดินจงกรม การฝึกโยคะโดยใช้สมาธิ ทั้งนี้มิใช่เป็นการคัดค้านการปฏิบัติวิธีอื่นๆ แต่เพื่อให้ได้ทดลองฝึกวิธีวิปัสสนาแบบนี้เพียงแบบเดียว เพราะการนำวิธีปฏิบัติวิธีอื่นมาผสมปนเปกับวิธีปฏิบัตินี้ จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ หรืออาจจะทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผลเลย แม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะคอยเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ตาม แต่ก็ยังมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในอดีต เมื่อผู้รับการฝึกนำเอาวิธีการปฏิบัตินี้ไปรวมกับพิธีกรรมอื่นๆ จนทำให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น ความสงสัยและความสับสนที่อาจเกิดขึ้นนั้นสามารถจะแก้ไขให้กระจ่างได้ โดยการไปพบอาจารย์ผู้สอน

การเข้าพบอาจารย์ผู้สอน

หากมีปัญหาหรือความสับสนใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนา ควรจะไปขอคำอธิบายจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น เวลาระหว่าง 12.00 - 13.00 น.จะเป็นเวลาที่จัดไว้ให้สำหรับเข้าพบเป็นการส่วนตัวกับอาจารย์ที่ที่พัก แต่ท่านก็สามารถตั้งคำถามถามอาจารย์ได้ระหว่างเวลา 21.00 - 21.30 น.ในห้องปฏิบัติรวม

การพบกับอาจารย์ผู้สอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขอคำอธิบายสำหรับปัญหาทั่วๆ ไปเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ จึงไม่ควรใช้โอกาสนี้ให้เสียไปกับการอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา หรือถกเถียงกันในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ผู้ที่เข้ารับการฝึกจึงควรมุ่งที่จะปฏิบัติเพียงอย่างเดียว

การรักษาความเงียบ

ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนจะต้องรักษาความเงียบ นับตั้งแต่เริ่มต้นฝึกจนกระทั่ง 10.00 น. ของการฝึกวันที่ 10 การรักษาความเงียบนี้ รวมไปถึงความเงียบทั้งทางกาย วาจา และใจ โดยจะต้องไม่มีการพูดจากับใครเลย และจะต้องงดการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ทั้งการออกท่าทาง การเขียนโน้ต หรือทำสัญญาณต่างๆ แต่ผู้เข้ารับการฝึกสามารถพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนได้หากจำเป็น และติดต่อกับผู้ดำเนินงานได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก อาหาร และอื่นๆ แต่การติดต่อพูดจาเหล่านี้ ก็ควรมีให้น้อยที่สุด ผู้เข้าฝึกทุกคนควรจะสร้างความรู้สึกว่า ตนเองกำลังปฏิบัติอย่างจริงจังเสมือนอยู่คนเดียว

คู่สมรส

จะมีการแยกชายหญิง แม้กระทั่งคู่สมรสก็ไม่ควรมีการติดต่อกันในระหว่างการฝึก

การสัมผัสทางกาย

จะต้องไม่มีการสัมผัสทางร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ตลอดระยะการฝึกและระหว่างที่อยู่ในศูนย์ฯ

โยคะและการออกกำลังกาย

แม้การทำโยคะหรือการออกกำลังกายจะไม่ขัดต่อการปฏิบัติ แต่ระหว่างการเข้ารับการฝึกอบรม 10 วันนี้ ก็ขออย่าให้มีการออกกำลังกายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ท่าดัดตนบริหารร่างกายมือเปล่า หรือวิ่งจ๊อกกิ้ง ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติไม่มีสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะในเรื่องนี้ ถ้าต้องการออกกำลังกาย ให้ทำได้เฉพาะการเดินไปมาในระหว่างชั่วโมงพักผ่อน ในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น

เครื่องราง ลูกประคำ หรืออื่นๆ

สิ่งเหล่านี้ห้ามนำเข้ามาในบริเวณที่พัก หากมีการนำเข้ามาโดยมิได้ตั้งใจ จะต้องนำไปฝากไว้กับผู้ให้บริการตลอด 10 วัน

ของมึนเมาและยา

ห้ามนำเอายา เหล้า หรือของมึนเมา รวมทั้งยากล่อมประสาท ยานอนหลับ และยาระงับประสาท หากจะต้องรับประทานยาเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่ง จะต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทราบล่วงหน้าก่อนการฝึก

สูบบุหรี่

ห้ามสูบบุหรี่หรือเคี้ยวยาเส้นตลอดระยะเวลาการฝึก

อาหาร

เนื่องจากศูนย์ฯ ไม่สามารถที่จะจัดหาอาหารพิเศษตามความต้องการของผู้ปฏิบัติกรรมฐานได้ จึงต้องขอให้ผู้เข้ารับการฝึกรับประทานอาหารมังสวิรัติที่จัดเตรียมไว้ให้ หากผู้ใดที่แพทย์สั่งให้รับประทานอาหารพิเศษ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ ก็ขอให้แจ้งให้ผู้ดำเนินงานทราบในเวลาลงทะเบียน

เสื้อผ้า

เสื้อผ้าที่ใช้ควรเรียบง่ายและสวมสบาย ไม่จำกัดสีหรือแบบ แต่ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง โปร่งบาง เสื้อไม่มีแขน หรือกางเกงรัดรูป ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นทั้งชายหญิง และห้ามอาบแดดหรือเปลือยบางส่วนโดยเด็ดขาด ข้อห้ามเหล่านี้มีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพื่อมิให้รบกวนบุคคลอื่น

ความสะอาด

ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ และปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติธรรม จึงจำเป็นที่จะต้องอาบน้ำทุกวัน และรักษาเสื้อผ้าให้สะอาด ในบางครั้งอาจไม่มีบริการซักผ้า ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องซักเสื้อผ้าเอง แต่ก็ควรทำในช่วงเวลาพักเท่านั้น หากเป็นไปได้ ควรเตรียมเสื้อผ้าให้เพียงพอที่จะใช้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติ

การติดต่อภายนอก

ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ในบริเวณที่ใช้ฝึกตลอดการฝึก จะออกไปภายนอกได้เฉพาะในกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนก่อน ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องงดการโทรศัพท์ การเขียนจดหมาย และการพบปะกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียน นอกจากในกรณีฉุกเฉิน ผู้ที่มาเยี่ยมจะต้องมาติดต่อกับฝ่ายจัดการ

ดนตรี อ่านหนังสือ และเขียนหนังสือ

ห้ามเล่นดนตรี ฟังวิทยุ และห้ามนำสิ่งที่ใช้เขียน หรืออ่านเข้ามาในสถานที่ฝึก ผู้เข้ารับการฝึกไม่ควรรบกวนตนเองโดยการเขียนบันทึก การห้ามเขียนและอ่าน ก็เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด

เครื่องบันทึกเทปและกล้องถ่ายรูป

สิ่งเหล่านี้จะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนเป็นพิเศษเท่านั้น

นาฬิกาปลุก นาฬิกาข้อมือที่มีเสียงบอกเวลา

ห้ามนำมาใช้ในห้องปฏิบัติรวมอย่างเด็ดขาด และไม่ควรใช้นาฬิกาปลุกในที่พัก เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น

ทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน

เพื่อให้การเผยแพร่ธรรมะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ การฝึกอบรมดำเนินได้ด้วยเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว และการบริจาคก็จะรับจากผู้ที่ผ่านการฝึกมาแล้วเท่านั้น เหตุผลก็คือ การบริจาคควรมาจากผู้ที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของธรรมะที่มีต่อตนเอง ซึ่งจะทำให้การบริจาคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ หากท่านมีความปรารถนาที่จะแบ่งปันประโยชน์เหล่านี้กับผู้อื่น ท่านก็อาจจะกระทำได้ด้วยการบริจาคในวันสิ้นสุดการอบรม

การรับบริจาคจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอบรมธรรมะนี้ เป็นรายได้ทางเดียวสำหรับที่จะนำมาใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรม โดยมิได้มีความสนับสนุนในด้านการเงินอื่นใด ทั้งอาจารย์ผู้สอนและผู้ดำเนินงานก็ล้วนไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากการจัดการฝึกนี้ โดยวิธีนี้ ธรรมะจึงเผยแพร่ออกไปได้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ไม่ว่าการบริจาคของท่านจะมากหรือน้อย ก็ขอให้มาจากเจตนาที่บริสุทธิ์ เจตนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นได้มีโอกาสพบกับธรรมะอันบริสุทธิ์เช่นเดียวกับท่าน "เพราะเหตุว่า มีผู้ที่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้กับการฝึกของข้าพเจ้ามาแล้ว ตอนนี้ขอให้เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ให้กับผู้อื่นบ้าง"

:b44: สรุป

สาระของกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ อาจสรุปได้ดังนี้ "จงระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก อย่ารบกวนผู้อื่น อย่าสนใจหากมีผู้อื่นรบกวน" อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เข้ารับการฝึกไม่สามารถเข้าใจเหตุผลของกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้หากเป็นเช่นนี้ควรจะไปขอคำอธิบายในเรื่องเหล่านี้กับอาจารย์ผู้สอน มิใช่ปล่อยให้ตนเองเกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความสงสัยมากขึ้น

ดังนั้นการปฏิบัติตามระเบียบและความพยายามที่จะปฏิบัติให้มากที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกปฏิบัติได้ผลดี และได้รับผลตามความมุ่งหมาย สิ่งที่จะต้องเน้นใน 10 วันนี้ก็คือ "ปฏิบัติ" ปฏิบัติให้เหมือนกับว่า เราอยู่เพียงคนเดียวในการฝึก เพิกเฉยต่อสิ่งรบกวน และความไม่สะดวกสบายที่ต้องเผชิญอยู่ทั้งหมด ปฏิบัติด้วยจิตที่มุ่งเข้าสู่ภายในเท่านั้น

ประการสุดท้าย ผู้เข้ารับการฝึกควรระลึกไว้เสมอว่า ความก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นอยู่กับบารมี (กุศลที่ได้สะสมมาแต่ปางก่อน) และปัจจัย 5 ประการคือ ความเพียร ความศรัทธา ความจริงใจ สุขภาพอนามัย และปัญญา

ขอให้กฎเกณฑ์ต่างๆ และข้อแนะนำเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ท่าน ขอให้ท่านได้รับผลสูงสุดจากการฝึกกรรมฐานนี้ เรายินดีที่ได้มีโอกาสให้บริการแก่ท่าน ขอให้ทุกท่านได้รับความสงบและสันติสุขจากการปฏิบัติวิปัสสนาโดยทั่วกัน

ตารางเวลา

04:00 น. ระฆังปลุก
04:30 น. - 06:30 น. นั่งปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
06:30 น. - 08:00 น. อาหารเช้า
08:00 น. - 09:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
09:00 น. - 11:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวม หรือในที่พักส่วนตัวตามที่อาจารย์กำหนด
11:00 น. - 12:00 น. อาหารกลางวัน
12:00 น. - 13:00 น. พักผ่อน
13:00 น. - 14:30 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
14:30 น. - 15:30 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
15:30 น - 17:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักตามที่อาจารย์กำหนด
17:00 น. - 18:00 น. พักดื่มน้ำปานะ
18:00 น. - 19:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
19:00 น. - 20:15 น. ฟังธรรมบรรยายในห้องปฏิบัติรวม
20:15 น. - 21:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
21:00 น. - 2130 น. สอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
21:30 น. พักผ่อน

หลังจากอ่านคำแนะนำในการเข้าอบรมนี้แล้ว หากท่านพร้อมจะเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามกฎระเบียบข้างต้น ท่านสามารถตรวจสอบ ตารางการอบรม และศูนย์ฯ ที่ปรารถนาจะเข้ารับการอบรมก่อนกรอกใบสมัคร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 15:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 10:52
โพสต์: 15


 ข้อมูลส่วนตัว


สำหรับผู้ที่สนใจแนวทางนี้ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่
http://www.thai.dhamma.org

แต่หากใครต้องการไปเข้าศูนย์อื่นๆในต่างประเทศ ให้เข้าเว็บ
http://www.dhamma.org
เลือกสถานที่ เลือกวันที่ต้องการเข้าอบรม แล้วก็ลงทะเบียนสมัครเลยครับ

ประเทศไทยมี 5 ศูนย์ ดังนี้
1. ธรรมกมลา จ.ปราจีนบุรี 089-7829180
2. ธรรมอาภา จ.พิษณุโลก 081-6055576
3. ธรรมสุวรรณา จ.ขอนแก่น 086-7135617
4. ธรรมกาญจนา จ.กาญจนบุรี 081-8116447
5. ธรรมธานี กรุงเทพฯ 02-9932711


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 15:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 10:52
โพสต์: 15


 ข้อมูลส่วนตัว


ตารางการอบรมหลักสูตร “อานาปานสติสำหรับเด็ก” 2552

มูลนิธิไทยยานยนต์ กรุงเทพฯ
4 เมษายน 2552 โทร. 02-2168888 ต่อ 6001, 6002, 6009

ศูนย์ฯ ธรรมสุวรรณา จ.ขอนแก่น
6 เมษายน 2552 โทร. 086-7135617, 084-7966069

ศูนย์ฯ ธรรมอาภา จ.พิษณุโลก
26 เมษายน 2552 โทร. 081-6055576, 087-1352128


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 18:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 มี.ค. 2008, 17:53
โพสต์: 12


 ข้อมูลส่วนตัว


คุณ equanimous สวัสดีครับ กระทู้น่าสนใจนะครับ ผมขอแจมลงรูปศูนย์ฯ ต่างๆ ด้วย บางท่านได้เข้าดูเว็บต่างประเทศ อาจจะสงสัยว่าทำไมบางศูนย์ไม่มีรูปภาพ ก็อาจจะเป็นเพราะเป็นศูนย์แบบที่เค้าเรียกว่า “ยิปซีแคมป์” น่ะครับ ยังอาศัยสถานที่ต่างๆ จัดการอบรมอยู่ด้วยความไม่พร้อมบางประการ แม้แต่เมืองไทยเราก็ยังมีไปจัดตามโรงเรียน ตามสถาบัน หน่วยงานต่างๆ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างจากศูนย์ 5 ศูนย์ของเรา และผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการอบรมไม่สะดวกเดินทางไกล ก็ขอใช้สถานที่อื่นๆ แล้วผู้ปฏิบัติเก่าทั้งหลายก็ร่วมมือช่วยกันจัดสถานที่จนเรียบร้อย พร้อมแก่การปฏิบัติ

Dhamma Pataka, South Africa

Dhamma Abha, Pitsanulok, Thailand

Dhamma Suvanna, Khon Kaen, Thailand

Dhamma Padipa, Australia

Dhamma Medini, Newzealand

Dhamma Bhumi, Australia

Dhamma Mahavana, California


May all beings be happy!


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 18:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3836

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


บรรยากาศดีจัง
ดูแล้วๆ แต่สวยนะ

อนุโมทนาครับ

.....................................................
อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ
ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้นควรชำระศีลให้บริสุทธิ์
....................................

"หากเป็นคนฉลาดก็มีแต่จะทำให้คนอื่นรักตนเท่านั้น-วาทะคุณกุหลาบสีชา"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2009, 11:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 17:06
โพสต์: 2


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปสวยจังครับ .. ไปเข้ามาแล้วเหมือนกันครับ ได้ประโยชน์มากมายจริงๆ คงไม่ใช่แค่ผมที่ได้รับประโยชน์

:b16: ก้าวแรกที่ผมเข้าไปในศูนย์ ตื่นเต้นและงงมาก ทำไมผู้คนถึงได้มากมายขนาดนี้ ทางศูนย์ไม่เคยมีการติดประกาศโฆษณา ผมไม่เคยรู้จัก อ.โกเอ็นก้า มาก่อน ไม่เคยได้ยิน คิดว่าเพิ่งมีการอบรมแนวทางนี้ด้วยซ้ำไป เพราะน้องสาวผมเพิ่งเล่าให้ฟัง แต่ไหง.. คนมาเข้าอบรมกันเต็มไปหมด แถมยังมีคนมานั่งรอที่ศูนย์ รอว่าถ้ามีใครยกเลิกกระทันหันเค้าจะได้เข้าแทน

คนที่มา บางคนเข้าหลักสูตรยาว 20 / 30 วันมาแล้วด้วย บางคนปฏิบัติมา 10 กว่าปีแล้วก็มี ยังนึกอยู่เลยว่าเราไปอยู่ไหน สนใจธรรมะมาตลอด แต่ทำไมไม่เคยได้ยินชื่อท่าน อ.โกเอ็นก้า เลย

ผมขอเถอะครับ ใครหาเวลาเข้าอบรมได้ ต้องรีบคว้าโอกาสนั้นไว้นะครับ ครั้งหนึ่งในชีวิตที่คุณจะได้มาเรียนรู้วิธีการทำวิปัสสนาที่ถูกต้อง ที่ไม่ต้องเดินอ้อมไปไหนไกล วิธีที่ขจัดกิเลสก้นบึ้งเราได้จริงๆ

http://www.thai.dhamma.org

ภวตุ สพฺพ มํคลํ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2009, 16:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 10:52
โพสต์: 15


 ข้อมูลส่วนตัว


เชิญร่วมอ่านประสบการณ์วิปัสสนา อ.โกเอ็นก้า

http://topicstock.pantip.com/religious/ ... 39266.html

http://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=1727.0

http://www.watkoh.com/kratoo/forum_posts.asp?TID=3662


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2009, 11:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 17:06
โพสต์: 2


 ข้อมูลส่วนตัว


ผมได้ดูหนังสารคดีที่ได้รางวัลที่อเมริกา The Dhamma Brothers แล้วนะครับ ให้เพื่อนส่งมาให้จากอเมริกา ดีมากเลยครับ ถ่ายทำได้ดี และได้สาระ ถ่ายทำจากชีวิตจริงกันเลย มีเสียงท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ด้วย ผมว่าใครดูก็คงอยากเข้าปฏิบัติ

ใครมีญาติพี่น้องอยู่อเมริกา ก็ลองถามดูนะครับ แต่ใครไม่มีก็ไม่ต้องเสียใจ ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมในประเทศไทยมี VCD วิปัสสนาในเรือนจำ "DOING TIME DOING VIPASSANA" อันนี้ก็ได้รางวัลเช่นกัน

ถามรายละเอียดได้ที่

กรุงเทพ 02-9932711
ปราจีน 089-7829180
พิษณุโลก 081-6055576
ขอนแก่น 086-7135617
กาญจนบุรี 081-8116447

เท่าที่ทราบ ทางศูนย์ฯ ต่างๆ จะไม่สะดวกจัดส่งนะครับ ต้องไปติดต่อซื้อที่ศูนย์เองเลย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มี.ค. 2009, 10:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 มี.ค. 2008, 17:53
โพสต์: 12


 ข้อมูลส่วนตัว


เห็นว่ามีศูนย์ใหม่ "ธรรมสีมันตะ" ที่ลำพูน-เชียงใหม่ด้วย
ไม่มีรูปหรือครับ
ใครมีช่วยเอามาให้ชมกันหน่อยนะครับ ผมไม่รู้จะมีโอกาสได้ไปเข้าอีกเมื่อไหร่ เพราะที่ทำงานเปลี่ยนผู้บริหาร ผู้บริหารใหม่ไม่นิยมการปฏิบัติธรรมครับ
:b3:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มี.ค. 2009, 10:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 10:52
โพสต์: 15


 ข้อมูลส่วนตัว


ใช่ครับ ศูนย์ธรรมสีมันตะ เป็นศูนย์ใหม่ในแนวทางอ.โกเอ็นก้า อยู่ที่จ.ลำพูน
แต่ยังไม่ได้เปิดให้เข้าอบรมนะครับ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าต้นปีหน้าน่าจะเสร็จอย่างสมบูรณ์
ศูนย์นี้คงใช้เวลาก่อสร้างนานหน่อยครับ เพราะเป็นศูนย์ที่ใหญ่ จุผู้ปฏิบัติได้มากทีเดียว

ถ้าคุณ behap ไม่มีโอกาสได้เข้าปฏิบัติ ก็อย่าเสียใจเลยนะครับ ทุกอย่างมีเหตุของมัน .. ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้มีประโยชน์กับเรา เราก็อย่าทิ้งมัน เราได้เรียนรู้วิธีการปฏิบัติมาแล้ว เราก็หมั่นนั่งปฏิบัติอยู่บ้านให้เป็นประจำ .. ผมว่าดีกว่าเข้า 10 วันปีละ 1 ครั้ง แต่กลับมาไม่เคยนั่งปฏิบัติเองเลย .. เหมือนคนไม่ได้แปรงฟันทุกวันน่ะครับ ปีนึงมาแปรงจริงๆจังๆอยู่แค่ 10 วัน หินปูนคงเกาะเต็มปากแล้ว

ขอให้ความมุ่งมั่นในธรรมของคุณ behap จงทำให้คุณ behap เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2009, 00:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 10:52
โพสต์: 15


 ข้อมูลส่วนตัว


ตารางการอบรม หลักสูตรอานาปานสติสำหรับเด็ก 2552

ศูนย์ฯธรรมสุวรรณา จ.ขอนแก่น 3 พฤษภาคม 086-7135617, 084-7966069
ศูนย์ฯธรรมธานี กทม. 16 พฤษภาคม 02-9932711


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ค. 2009, 10:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2009, 10:52
โพสต์: 15


 ข้อมูลส่วนตัว


• ในวันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม 2552 จะมีการอบรม
ธรรมบริกร ที่ศูนย์ฯธรรมสุวรรณา จ.ขอนแก่น

กำหนดการคร่าวๆ
9.00 – 9.30 เริ่มลงทะเบียน
9.30 – 10.30 ปฏิบัติร่วมกัน 1 ชั่วโมง
10.30 – 15.30 อบรมธรรมบริกร

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการอบรม
- เป็นผู้ปฏิบัติเก่า
- มีความประสงค์ที่จะรับใช้ธรรมะ

ผู้ที่สนใจ
โทรแจ้งได้ที่เบอร์ 086-7135617, 084-7966069


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2009, 10:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b20:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2009, 15:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 ก.ย. 2006, 09:43
โพสต์: 180

ที่อยู่: กทม

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ :b8:
เป็นการช่วยเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกทางหนึ่ง
และนี่ก็เป็นอีกทางที่ท่านจะได้เรียนภาคปฏิบัติ เพื่อนำพาสู่ประสบการณ์จริงๆกับตัวท่านเอง
ปริยัติแล้วก็ต้องปฏิบัติด้วย :b1:

.....................................................
โคตมะพุทธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ผู้รู้แจ้งโลก อัจฉริยมนุษย์ ยอดครูของครูทั้งหลาย
ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ผู้ก่อตั้ง ผู้ค้นพบ คำสอนถูกบรรจุอยู่ในพระไตรปิฏก


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 40 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร