วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 00:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2011, 20:36 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว




imagesCAFY821Y.jpg
imagesCAFY821Y.jpg [ 7.86 KiB | เปิดดู 9523 ครั้ง ]
:b44: :b44: :b44:

หลักปฏิบัติอานาปานสติสูตร
(ฉบับย่อ)
โดยท่านพุทธทาส

อานาปานสติ เป็นหลักในการดำเนินชีวิต และเป็นจิตภาวนาวิธีที่มีความสำคัญมากในพระพุทธศาสนา คืออำนวยประโยชน์ให้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ทำให้ชีวิตสงบเย็นและสว่างไสวด้วยธรรมะที่จำเป็นแก่การดำเนินชีวิต คือ สติ สัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา พระบรมศาสดาจึงทรงชี้ชวนแนะนำให้ภิกษุปฏิบัติให้มาก กระทำให้มาก โดยที่พระพุทธองค์ทรงเป็นอยู่ด้วย อานาปานสติวิหาร ทั้งเมื่อกาลตรัสรู้หรือหลังจากนั้น

ระบบปฏิบัติอานาปานสติภาวนาอันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ เพราะว่าเป็นระบบเดียวเท่านั้นที่ง่ายที่สุด ที่สะดวกที่สุด ที่สมบูรณ์ที่สุด ในการจะปฏิบัติระบบอื่นจะไม่สมบูรณ์บ้าง จะกระท่อนกระแท่นบ้าง จะยากลำบากในการที่ต้องรื้อขนบ้าง ลมหายใจไม่ต้องรื้อถอน เพราะมันมีอยู่ในตัวเราแล้ว

แต่ถ้าเราไปกำหนดกสิณ หรืออสุภะ จะต้องมีการรื้อขนไปมา ไปหา-มาหา ส่วนลมหายใจนี้มันมีอยู่ในตัวเราแล้ว ไปที่ไหนก็อยู่ที่นั่น กำหนดได้ง่ายแล้วสบาย พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญในข้อนี้ คือว่าสะดวกและง่าย ทั้งไม่น่าหวาดเสียว ภาวะที่น่าหวาดเสียวจะไม่ปรากฏในระบบของอานาปานสติภาวนา ผิดจากระบบอื่นเช่น อสุภะ เป็นต้น จะมีอาการน่าหวาดเสียว.

ฉะนั้นจึงทรงแนะนำ อานาปานสติภาวนา แม้แก่ภิกษุที่เบื่อความเป็นอยู่จนถึงไปคิดฆ่าตัวเอง พระองค์ก็ทรงแนะนำกัมมัฏฐานระบบนี้ เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่สัปปายะ ทำให้ มีความสบายยิ่งกว่ากัมมัฏฐานระบบใดหมด.
:b44: :b44: :b44:


แก้ไขล่าสุดโดย narapan เมื่อ 06 มิ.ย. 2011, 18:29, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2011, 20:39 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: :b44: :b44:

อานาปานสติ เป็นหลักในการดำเนินชีวิต และเป็นจิตภาวนาวิธีที่มีความสำคัญมากในพระพุทธศาสนา คืออำนวยประโยชน์ให้ทั้งสมถะและวิปัสสนาทำให้ชีวิตสงบเย็นและสว่างไสวด้วยธรรมะที่จำเป็นแก่การดำเนินชีวิต คือ สติ สัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา พระบรมศาสดาจึงทรงชี้ชวนแนะนำให้ภิกษุปฏิบัติให้มาก กระทำให้มาก โดยที่พระพุทธองค์ทรงเป็นอยู่ด้วย อานาปานสติวิหาร ทั้งเมื่อกาลตรัสรู้หรือหลังจากนั้น

พระพุทธองค์ทรงเป็นอยู่ด้วยอานาปานสติ
ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่

ภิกษุทั้งหลาย ! แม้เราเอง เมื่อยังไม่ตรัสรู้ ก่อนกาลตรัสรู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “กายของเราไม่พึงลำบาก ตาของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน” ดังนี้แล้วไซร้ อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้น พึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี

พุทธพจน์ … เอกธัมมวัคค์ อานาปานสังยุตต์ … มหาวาร.ส. (19/400/1324)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2011, 20:42 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: :b44: :b44:

“อานาปานสติภาวนา” แบ่งเป็น 4 หมวด หมวดละ 4 ขั้น รวมเป็น 16 ขั้น
หมวดที่ 1 กำหนดเรื่อง กาย คือลมหายใจ
หมวดที่ 2 กำหนดเรื่องเวทนา
หมวดที่ 3 กำหนดเรื่องจิต
หมวดที่ 4 กำหนดในเรื่องธรรมที่ปรากฏแก่จิต


จึงเป็นสติปัฏฐานสี่ มีการปฏิบัติติดต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดระยะ ทั้ง 16 ขั้น ระบบปฏิบัติอานาปานสติภาวนาอันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ เพราะว่าเป็นระบบเดียวเท่านั้นที่ง่ายที่สุด ที่สะดวกที่สุด ที่สมบูรณ์ที่สุด ในการจะปฏิบัติ ระบบอื่นจะไม่สมบูรณ์บ้าง จะกระท่อนกระแท่นบ้าง จะยากลำบากในการที่ต้องรื้อขนบ้าง ลมหายใจไม่ต้องรื้อถอน เพราะมันมีอยู่ในตัวเราแล้ว. แต่ถ้าเราไปกำหนดกสิณ หรืออสุภะ จะต้องมีการรื้อขนไปมา ไปหา-มาหา ส่วนลมหายใจนี้มันมีอยู่ในตัวเราแล้ว ไปที่ไหนก็อยู่ที่นั่น กำหนดได้ง่ายแล้วสบาย พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญในข้อนี้ คือว่าสะดวกและง่าย ทั้งไม่น่าหวาดเสียว ภาวะที่น่าหวาดเสียวจะไม่ปรากฏในระบบของ อานาปานสติภาวนา ผิดจากระบบอื่นเช่น อสุภะ เป็นต้น จะมีอาการน่าหวาดเสียว. ฉะนั้นจึงทรงแนะนำ อานาปานสติภาวนา แม้แก่ภิกษุที่เบื่อความเป็นอยู่จนถึงไปคิดฆ่าตัวเอง พระองค์ก็ทรงแนะนำกัมมัฏฐานระบบนี้ เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่สัปปายะ ทำให้ มีความสบายยิ่งกว่ากัมมัฏฐานระบบใดหมด.

อานาปานสติ ที่ยกเอาพระสูตรมาโดยเฉพาะนี้ เป็นเรื่องที่ถูกต้องและสิ้นเชิง หากไปพบชื่อกัมมัฏฐานที่กล่าวถึงอานาปานสติในแห่งอื่น เช่นในบัญชีชื่อหนึ่งในสิบ ของอนุสสติ 10 เป็นต้น ในนั้นเขาไม่อธิบายอย่างนี้. แม้ใน “วิสุทธิมรรค” ก็ไม่อธิบายอานาปานสติอย่างข้อความที่เป็นพุทธภาษิตในอานาปานสติสูตรนี้ ได้แต่กล่าวถึงเพียงในฐานะเป็นอนุสสติ. และยังมีที่อื่นๆ เขาก็อธิบายอานาปานสติเพียงแค่ขั้นที่ 4 เท่านั้น ขั้นที่สูงกว่าขั้น 4 ไม่มี ถึงในอานาปานสติปัพพะของมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุด ก็อธิบายเพียงแค่ขั้นที่ 4 เท่านั้น.

ทั้ง 16 ขั้น ของอานาปานสติสูตรที่เราถือเป็นแนวนี้ มีขั้นคล้องจอง ลงตัวกันกับความเป็นจริง แม้บางคนบางแห่งเขาอาจจะกล่าวถึงขั้นปีติ และสุขว่าต้องผ่านขั้น 5 ก่อน จึงเป็น อัปปนาสมาธิ แต่ที่แท้ต้องเป็นฌานได้อัปปนาสมาธิที่ขั้นที่ 4 ก่อน แล้วจึงจะได้ปีติและสุขมาพิจารณา เรื่องนี้พวกเราต้องระมัดระวังมาก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวเท่านั้น จะเอาตัวรอดได้ คือแนวที่มาในอานาปานสติสูตรแห่งมัชฌิมนิกายนี้.

:b44: :b44: :b44:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2011, 20:46 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: :b44: :b44:

การปฏิบัติตามแนวของ อานาปานสติสูตร แห่งมัชฌิมนิกาย ในพระไตรปิฎก

เนื่องจากต้องมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง รู้ความที่มันสัมพันธ์กันแต่ต้นจนปลาย รู้ความมุ่งหมาย รู้มูลเหตุ คือความที่มองเห็นอยู่ว่า ไม่มีอะไรควรยึดมั่นถือมั่น เพราะไม่เที่ยง เป็นต้น และต้องการให้ความรู้สึกว่า ไม่เที่ยงและไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนี้ อยู่ในใจของเราประจำอยู่ตลอดเวลา แล้วเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะจิตมันไม่ยอมทำ ไม่ยอมให้มีความเห็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา มันดิ้นรนที่จะเป็นอย่างอื่นเสีย ฉะนั้นจึงต้องมีวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะบังคับปรับปรุงจิตให้อยู่ในวิสัยที่ยอมไปในทางจะมองเห็นความไม่เที่ยง หรือความไม่น่ายึดมั่นถือมั่นนี้อยู่ตลอดเวลา ในวิธีการที่ว่านั้นก็คือ ระบอบของอานาปานสติ 16 ขั้น หรือที่เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ ที่อยู่ใน รูปของอานาปานสติ 16 ขั้นนี้ (มาในอานาปานสติสูตร มัชฌิมนิกาย)

ขอให้เข้าใจเสียก่อนว่า สติปัฏฐานสี่นั้น ที่มีอยู่ในรูปอื่นอีกก็ยังมี เช่น กล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรทีฆนิกาย เป็นต้น ซึ่งในที่นั้น ก็เห็นแล้วว่าเพียงพูดถึงบัญชีรายชื่อหัวข้อธรรมเชิงปริยัติ ไม่ได้แสดงถึงแนวปฏิบัติโดยตรง และที่เป็นแนวติดต่อเนื่องกัน ฉะนั้นจึงยกไว้ในฐานะเป็นสติปัฏฐานสี่ทางปริยัติ ส่วนในอานาปานสติสูตร มัชฌิมนิกาย กล่าวถึงอานาปานสติ 16 ขั้นนั้นเป็นสติปัฏฐานสี่ที่อำนวยทางปฏิบัติ เพราะว่าในนั้นแสดงแนวของการปฏิบัติต่อกันมาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงอันดับสุดท้าย กล่าวคือ การบรรลุมรรคผล ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อง เปลี่ยนแนว เรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องโน้น แต่ให้ทำในเรื่องเดียวกันตลอดเนื่องติดต่อกันไปอย่างที่จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้นจึงถือว่าอานาปานสติ หรือสติปัฏฐานสี่แห่งอานาปานสติสูตรนี้เป็นสติปัฏฐานในทางปฏิบัติ เป็นหลักในทางปฏิบัติ จึงได้นำมาแสดงให้เห็น ชี้ให้เห็นลำดับขั้น ดังนี้

ขั้นที่
1 เมื่อหายใจออก-เข้ายาว ก็รู้ (รู้จักการหายใจยาว) (ปชานาติ)
2 เมื่อหายใจออก-เข้าสั้น ก็รู้ (รู้จักการหายใจสั้น) (ปชานาติ)
3 รู้ “กายทั้งปวง” (รู้ข้อเท็จจริงทั้งปวงของกาย) (สพฺพกายปฏิสํเวที)
4 ระงับ “กายสังขาร (ทำกายสังขารให้รำงับ ๆๆ จนสมาธิปรากฏ) (ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ)
( 1-4 = หมวดที่ 1 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

ขั้นที่
5 รู้พร้อมเฉพาะปีติ (เป็นผลของการรำงับกายสังขาร) (ปีติปฏิสํเวที)
6 รู้พร้อมเฉพาะสุข (เป็นผลของการรำงับกายสังขาร) (สุขปฏิสํเวที)
7 รู้พร้อมเฉพาะจิตสังขาร (คือ ปีติ สุข ฯลฯ) (จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที)
8 ระงับ “จิตสังขาร” (ทำให้จิตสังขารรำงับลง ๆๆ) (ปสฺสมฺภยํ จิตฺสงฺขารํ)
(5-8 = หมวดที่ 2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

ขั้นที่
9 รู้พร้อมเฉพาะจิต (รู้ทั่วถึงลักษณะของจิตทุกชนิด) (จิตฺตปฏิสํเวที)
10 ทำจิตให้ปราโมทย์ (บังคับจิตให้ปราโมทย์ตามต้องการ) (ปโมทยํ จิตฺตํ)
11 ทำจิตให้ตั้งมั่น (บังคับจิตให้ตั้งมั่น ตามต้องการ) (สมาทหํ จิตฺตํ)
12 ทำจิตให้ปล่อย (บังคับจิตให้ปล่อยอารมณ์ในขณะนั้น) (วิโมจยํ จิตฺตํ)
(9-12 = หมวดที่ 3 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

ขั้นที่
13 เห็นความไม่เที่ยง (เห็นธรรม คือ ความไม่เที่ยง) (อนิจฺจานุปัสฺสี)
14 เห็นความจางคลาย (เห็นธรรม คือ จางคลาย) (วิราคานุปสฺสี)
15 เห็นความดับ (เห็นธรรม คือ ดับกิเลส-ทุกข์) (นิโรธานุปสฺสี)
16 เห็นความสละคืน (เห็นธรรม คือ สลัดคืน) (ปฏินิสฺสคานุปสฺสี)
(13-16 = หมวดที่ 4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

:b44: :b44: :b44:


แก้ไขล่าสุดโดย narapan เมื่อ 20 เม.ย. 2011, 13:56, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2011, 20:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: :b44: :b44:

อานาปานสติภาวนาขั้นที่ 1-2 นี้เป็นการเริ่มตระเตรียมที่สุด รู้จักลมหายใจออกหรือเข้าที่ยาว ลมหายใจออกหรือเข้าที่สั้น เพื่อรู้ลักษณะของลมหายใจเท่านั้น และในขั้นนี้ก็มีลมหายใจนั่นเองเป็นอารมณ์ หรือเป็นนิมิตสำหรับมีสติกำหนด ฉะนั้นกำหนดสติที่ ตัว ลมหายใจที่เดินทางเข้าอยู่-ออกอยู่ตลอดเวลา

ทีนี้ในขั้นต่อ ๆ มา เรามีสิ่งอื่นเข้ามาแทนตัวลมหายใจ กล่าวคือ ข้อเท็จจริงบางอย่างหรืออาการบางอย่าง หรือความรู้สึกบางอย่าง เอามาเป็นนิมิตแทนลมหายใจ ให้กำหนดสิ่งนั้นอยู่ แต่ก็ทุกลมหายใจออกเข้าเหมือนกัน.

จนกระทั่งถึงขั้น กำหนดลักษณะจิตอย่างไรเพื่อให้รู้จักจิตดี ก็เอามาแทนลมหายใจ “ คือ กำหนดลักษณะของจิตนั่นเองเป็นนิมิต แทนที่จะกำหนดลมหายใจเป็นนิมิต การกำหนดก็ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้าเหมือนกัน”.

จนในหมวดสุดท้าย คือ ตั้งแต่ขึ้นที่ 13 เป็นต้นไป ก็เป็นการกำหนดภาวะที่เราต้องการที่สุด คือ “ภาวะที่เห็นทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่น เอาภาวะดังกล่าวนั่นแหละเข้ามาใส่แทนลมหายใจสิ่งที่เคยใช้กำหนด แล้วคอยกำหนดความไม่เที่ยง หรือความไม่น่าเอาเป็นตัวเราของเรานี้แทนตลอดเวลา ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า”. นี่แหละคือ “ถึงจุดใจความสำคัญของพุทธศาสนา” ที่ตรงนี้.

หลังจากนั้น ก็มีผลเกิดขึ้นตามลำดับ ก็เอาผลที่เกิดนั่นแหละเป็นที่กำหนดเป็นนิมิตแทน กระทั่งถึงขั้นสุดท้าย คือ ความสลัดคืน ซึ่งความที่เคยยึดมั่น สิ่งที่ยึดมั่น ให้ออกไป โดยเอาผลอันนี้แหละ แทนลมหายใจอยู่ทุกลมหายใจออก-เข้า

สรุปความว่า เพราะเหตุที่กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก การกระทำอย่างนี้จึงได้ชื่อว่า “อานาปานสติภาวนา”. ทุกขั้น ได้ชื่อว่า อานาปานสติภาวนา เพราะกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก.

ให้ดูเค้าโครงรายชื่อทั้ง 16 ขั้นอีกที จะเห็นได้ว่า สองขั้นแรก “กำหนดตัวลมหายใจนั่นเอง อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก”. ถัดมา “กำหนดกาย” “กำหนดกายสังขาร” “กำหนดปิติ” “กำหนดสุข” อะไรเรื่อยมา เปลี่ยนแทนกันเรื่อยมา จนวาระสุดท้าย แต่แล้วก็ต้องกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกโดยตลอด.

ขอให้จับใจความของอานาปานสติภาวนาให้ได้ที่ตรงนี้ ว่ากำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แล้วก็เรียกว่า “อานาปานสติภาวนา” ทั้งนั้น แต่เนื่องจากในที่นี้เราต้องการเรื่องความดับทุกข์โดยตรง จึงกำหนดแต่ทุกสิ่งที่จะเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความดับทุกข์. ว่าโดยที่แท้แล้ว จะกำหนดหรือคิดถึงอะไรก็ได้ ตามแต่จริตของตัวเอง หรือทำแล้วเข้ากับตัวเอง ทำแล้วจิตสงบเร็วทำได้ดี ก็ให้กำหนดสิ่งนั้นแทนลมหายใจ หรือคิดถึงพระพุทธรูปอยู่ ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอานาปานสติเหมือนกัน ก็คือกำหนดสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์ ดังนั้นอารมณ์ทั้งหมดทุกขั้น จึงเป็นเรื่องความดับทุกข์ที่ต่อเนื่อง หรือส่งให้กันและกันเป็นลำดับมา

ตัวธรรมที่เป็นตัวการปฏิบัติจริง ๆ และเป็นของปฏิบัติได้จริง ๆ ที่สอนในโรงเรียนนักธรรม ตามหลักสูตรอานาปานสตินี้ไม่ได้สอนเต็มรูปตามแนวอานาปานสติสูตร มัชฌิมนิกาย ถือว่าอานาปานสตินี้เป็นอนุสติอันหนึ่ง ในอนุสติ 10 ที่ปรากฏในธรรมะหมวดสิบเท่านั้น ส่วนสติปัฏฐานสี่ ก็เรียนเป็นธรรมะ หรือแนวปฏิบัติอีกหมวดหนึ่งต่างหาก ซึ่งเนื่องจากว่า มันอยู่ในธรรมะหมวดสี่ การเรียนก็ต้องเรียนตามลำดับหมวด จึงมีการสอนการเรียนกันในหมวดสี่นี้ก่อนธรรมะหมวดสิบด้วยซ้ำไป สติปัฏฐานสี่จึงถูกนำมาสอนก่อน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันจะกล่าวถึงอานาปานสติ นี่ได้ชื่อว่าสอนแต่หนังสือเท่านั้น ยังเอาไปปฏิบัติไม่ได้ เพราะสอนเพียงรายชื่อเป็นบัญชี ให้ท่องเป็นรายละเอียดเรื่องปริยัติเพื่อเรียนสอบ

ส่วนเรื่องปฏิบัติตามแนวของ อานาปานสติสูตร แห่งมัชฌิมนิกาย ในพระไตรปิฏก สูตรนี้มีหลักเกณฑ์การปฏิบัติว่า อานาปานสตินั้น คือ การกระทำอย่างนี้ๆ โดยสมบูรณ์แล้ว เมื่อทำอย่างนี้ได้แล้ว สติปัฏฐานสี่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และสมบูรณ์พร้อมกันไปในตัว เมื่อสติปัฏฐานสี่สมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์เจ็ดจะสมบูรณ์ขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อโพชฌงค์สมบูรณ์แล้ว วิชชาวิมุตติจะปรากฏขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นหน้าที่ของเรา คือ ปฏิบัติอานาปานสติตามแนวนี้ให้สมบูรณ์เพียงอย่างเดียว

ผลที่จะพึงได้จากอานาปานสติตามลำดับ

นอกจากจะต้องรู้ความสัมพันธ์แก่กันและกัน ระหว่างขั้นว่ามันมีคาบเกี่ยวระหว่างขั้นแล้ว ต่อไปก็ยังต้องทราบแนวที่มันคาบเกี่ยวกัน ระหว่างอานาปานสติภาวนานี้ กับสติปัฏฐานสี่, กับโพชฌงค์, กับวิชชาและวิมุตติอีก 4 เรื่องด้วยกัน. ในบาลี มีข้อเท็จจริงตอนนี้ มีอยู่ในรูปพระพุทธภาษิต ว่า :

"อานาปานสติ ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปูเรนฺติ ;
อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์.

สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา โพชฌงฺเค ปริปูเรนฺติ ;
สติปัฏฐาน อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์.

โพชฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปูเรนฺติ ;
โพชฌงค์เจ็ด อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้สมบูรณ์"


:b44: :b44: :b44:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2011, 14:08 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: :b42:

อธิบายอานาปานสติ หมวดที่ 1 (ขั้นที่ 1- 4)

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


ขั้นที่ 1 เมื่อหายใจออก – เข้ายาว ก็รู้
ขั้นที่ 2 เมื่อหายใจออก – เข้าสั้น ก็รู้
ขั้นที่ 3 รู้ “กายทั้งปวง” ทุกครั้งที่หายใจออก – เข้า
ขั้นที่ 4 ระงับ “กายสังขาร” ทุกครั้งที่หายใจออก – เข้า

ขั้นที่ 1. กำหนดลมหายใจยาว
เพราะว่าตามธรรมดาคนเราจะหายใจยาว พอสมควรอยู่เสมอ จึงให้กำหนดเข้าที่ลมหายใจยาวก่อน แล้วจึงให้หัดรู้จักกำหนดลมหายใจสั้นทีหลัง เพราะว่าลมหายใจสั้นนั้นเป็นของจะมีต่อเมื่อร่างกายผิดปรกติ. ถ้าร่างกายเป็นไปตามปรกติ คนเรามีการหายใจยาวตามธรรมดา ต่อเมื่อโกรธ หรือกลัว หรือเศร้า หรือเมื่อมีอะไรที่เป็นอารมณ์เสีย ลมหายใจจึงจะสั้น ดังนั้นเราจึงกำหนดลมหายใจสั้นด้วย ในขั้นต่อไป ว่ามันมีได้อย่างไร เมื่อไร ในลักษณะเช่นไร ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้จักลมหายใจดีนั่นเอง. ที่เกี่ยวกับลมหายใจยาวขั้นนี้ เราต้องรู้กระทั่งที่มันยาวที่สุด โดยเราแกล้งหายใจให้ยาวผิดธรรมดา แล้วก็ค่อย ๆ ผ่อนไป ๆ จนเป็นยาวธรรมดา ก็จะรู้จักคำว่าหายใจยาวได้ดีกว่า.

ขั้นที่ 2. รู้จักลมหายใจสั้น
นี้ก็เหมือนกัน สั้นมาก สั้นน้อยอย่างไร เพราะเหตุไร เช่น เหนื่อยหายใจสั้นอย่างนี้ ไม่เหนื่อยหายใจยาวอย่างนี้ เพื่อรู้ภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของลมหายใจทั้งสองอย่างเสียก่อน เรียกว่ารู้คล่องแคล่วในลักษณะตามธรรมชาติของลมหายใจ. ทั้ง 2 ขั้นนี้มีตัวลมหายใจนั่นเองเป็นอารมณ์แห่งการกำหนด (กล่าวคือนิมิต).

ขั้นที่ 3. รู้กายทั้งปวง
ก็คือ รู้ว่าลมหายใจนั้นทั้งหมด เป็นของที่เนื่องกันอยู่กับกาย ขึ้นด้วยกัน ลงด้วยกัน. หมายความว่าถ้าลมหายใจหยาบ กายก็หยาบ รำส่ำระสาย ถ้าลมหายใจละเอียด กายก็ละเอียด สงบรำงับ อย่างนี้เป็นต้น. ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เรากล่าวว่าลมหายใจเป็นกายอันหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย” หมายความว่า รู้กายทั้งปวงในขั้นที่ 3 นี้ ก็คือรู้ความที่ลมหายใจเป็นของเนื่องกับกาย และปรุงแต่งกาย ลมหายใจหยาบปรุงกายให้หยาบ ลมหายใจละเอียดปรุงกายให้ละเอียด เพราะฉะนั้นลมหายใจนั้นจึงได้ชื่อว่า “สิ่งปรุงแต่งกาย” อีกชื่อหนึ่งว่า “กายสังขาร”. ในขั้นนี้ กำหนดลมหายใจที่ทำหน้าที่ปรุงกายนั้นเองเป็นอารมณ์แทนที่จะกำหนดตัวลมสั้นยาวเฉยๆ. คำว่า “รู้กายทั้งปวง” ก็คือความหมายอย่างนี้ เพื่อจำง่าย ๆ ก็หมายความว่า รู้ข้อเท็จจริงทั้งปวงเกี่ยวกับลมหายใจที่เนื่องกันกับกาย นี้เรียกว่า “รู้กายทั้งปวง”. เมื่อทำอย่างนี้คล่องแคล่วชำนาญดี จนรู้จักว่าอะไรเป็นกายสังขารอย่างนี้แล้วก็หาวิธีทำขั้นต่อไปคือ ฝึกในขั้นที่ 4 ต้องการจะเป็นผู้มีอาจเหนือกายสังขาร คือ เหนือลมหายใจนั้น.

ขั้นที่ 4. ฝึกการรำงับกายสังขาร
รำงับ-ปัสสัมภยะ ในที่นี้ไม่ใช่ให้ดับหมดไปเลย ไม่ใช่. ภาษาไทยจะทำให้เข้าใจผิด เอาแต่เพียงว่ารำงับ ให้มันรำงับลง-รำงับลง ให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นนั่นเองจนประณีตที่สุด เท่าที่มันจะประณีตได้ อย่างนี้เรียกว่าทำกายสังขารให้รำงับอยู่. เพราะฉะนั้นในขั้นที่ 4 นี้ ก็กำหนดความที่กายสังขารรำบังลงๆ รำงับลงๆ ละเอียดลงเท่าไร ละเอียดลงเท่าไรๆ เห็นอยู่ เห็นอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก จนกระทั่งความละเอียดรำงับของลม ละเอียดถึงขนาดที่เป็นสมาธิ ถึงขนาดที่เป็นอุปจารสมาธิ แล้วทำให้ยิ่งขึ้นไปอีกโดยวิธีที่ประณีต จนกระทั่งเป็น “อัปปนาสมาธิ” กันที่ตรงนี้เอง คือในขั้นที่ 4 นั่นเอง. เมื่อได้สมาธิก็เรียกว่าประสบความสำเร็จในการทำกายสังขารให้รำงับอยู่ รำงับอยู่ รำงับลง มันก็เลยหมดไปหมวดหนึ่ง อันเรียกว่า “หมวดกายานุปัสสนา 4 ขั้น” ต้องทำให้คล่องแคล่วชำนาญ ทบไปทวนมาจนชำนาญอย่างยิ่ง ในหมวดที่หนึ่งนี้เสียก่อนดีกว่า แล้วจึงค่อยไปเริ่มหมวดที่สองถัดไป คือ เวทนานุปัสสนา.

:b46: :b46: :b46:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2011, 14:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: :b42:

ปฏิบัติเกี่ยวกับกาย (คือลมหายใจ)

ลมหายใจนี้เป็นกาย โดยพระพุทธภาษิตตรัสไว้ และลมหายใจนี้ เป็นเครื่องตบแต่งกายที่เรียกว่า “กายสังขาร” และขึ้นลงพร้อมกันกับกาย ควบคุมลมหายใจ ก็คือ ควบคุมกาย ควบคุมกายก็คือ ควบคุมลมหายใจ ฉะนั้น เราอาศัยควบคุมกายโดยใช้วิธีผ่านทางลมหายใจ มันก็ควบคุมง่ายกว่าควบคุมเนื้อหนัง เราจึงควบคุมลมหายใจให้รำงับลง ๆ กายสังขารรำงับลง กายก็ระงับลง จึงมีผล คือ เป็นสมาธิ ซึ่งจะเป็นอัปปนาสมาธิ มีฌาณทั้งสี่ก็ได้ หรือไม่เป็นอัปปนาเป็นเพียงอุปจารสมาธิก็ได้ อย่างนี้เรียกได้ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เต็มที่ เหลือที่จะเต็ม มันมีผลเต็มเสร็จ คือสมาธิเกิดขึ้นมา

ให้สังเกตตรงที่ว่า ขั้นที่ 1 ขึ้นที่ 2 ปรากฏว่าเป็นลมหายใจยาว หายใจสั้น แล้วพอมาถึงขึ้นที่ 3 ก็มีคำว่า “กายทั้งปวง” โผล่มา แทนที่จะพูดถึงลมหายใจ ฉะนั้นเราต้องรู้ในข้อนี้ ว่าลมหายใจนั้นเองคือกาย ไปดูในข้อที่ว่า ถ้ากายหยาบ ลมหายใจก็หยาบ ถ้าลมหายใจละเอียด กายก็ละเอียด ถ้าลมหายใจหยาบ กายก็หยาบ มันไปด้วยกัน มันขึ้นลงด้วยกัน ฉะนั้นจึงว่า ลมหายใจนั้นแหละคือกาย กายนั่นแหละคือลมหายใจ เช่นเดียวกับบางทีเราก็เอาลมหายใจเป็นชีวิต เรียกว่า ปราณ หรือปานะ ซึ่งก็หมายถึงลมหายใจด้วยเหมือนกัน ลมหายใจคือชีวิต เพราะว่าไม่มีชีวิต ก็ไม่มีลมหายใจ ไม่มีลมหายใจ ก็ไม่มีชีวิต. นี่ก็เหมือนกัน กายนั้นคือลมหายใจ ลมหายใจนั้นคือกาย เพราะว่ามันเนื่องอยู่ด้วยกัน เป็นอันเดียวกันขึ้นด้วยกัน ลงด้วยกัน สมตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ลมหายใจ ก็คือกายอย่างหนึ่ง

เท่าที่กล่าวมาเป็นอันว่าคำว่า “รู้กายทั้งปวง” นี้ หมายถึง รู้อย่างน้อย 3 อย่าง คือ
- รู้ว่าลมหายใจนั่นแหละ คือกาย อย่างหนึ่ง
- ลมหายใจนั้น ปรุงแต่งกาย อย่างหนึ่ง
- ลมหายใจนั้นสัมพันธ์กันอยู่กับกาย โดยขึ้นด้วยกัน ลงด้วยกัน อย่างหนึ่ง

ลมหายใจนั้นสัมพันธ์กันอยู่กับกาย โดยขึ้นด้วยกัน ลงด้วยกัน อย่างหนึ่ง เท่านี้ก็พอ ส่วนที่รู้ว่าสั้น ยาว หรือว่าอะไรมีอะไร เหล่านี้มันรู้มาแล้วตั้งแต่ขั้นที่ 1 ที่ 2 ก็เป็นอันว่ารวมอยู่ในขั้นที่ 3 นี้ด้วย รู้ความสั้น รู้ความยาว รู้ที่เกิด รู้ที่ตั้งต้น รู้ที่ตรงกลาง หรืออะไรตรงไหนของลมหายใจ รู้มาดีแล้ว ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ที่ 2 หรือจะรวมเข้าด้วยกันก็ได้ แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นหน้าที่ของขั้นที่ 3 ในขั้นที่ 3 นี้ ท่านมุ่งหมายจะให้รู้ข้อเท็จจริงโดยเฉพาะ ในข้อที่ว่าลมหายใจนั้น เป็นเครื่องปรุงแต่งกาย (กายสังขาร) นี่แหละ คือใจความที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ของขั้นที่ 3 ที่ว่าลมหายใจเป็นเครื่องปรุงแต่กาย (กายคำหลังนี้ หมายถึงเนื้อหนังร่างกายทั้งตัวนี้)

ในขั้นที่ 1 ที่ 2 กล่าวถึงลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น นั้นเรียกว่า ลมหายใจ ; พอมาถึงขั้นที่ 3 ลมหายใจถูกเรียกว่าเป็น “กายทั้งปวง” ไปเสีย ครั้นมาถึงขึ้นที่ 4 ลมหายใจนั้นถูกเรียกว่า “กายสังขาร” อย่างเต็มที่ไปเสีย ซึ่งที่แท้เป็นของสิ่งเดียวกัน เราไปเพ่งเล็งลักษณะหรือหน้าที่ที่ต่างกันต่างหาก จึงมีชื่อเกิดขึ้นหลายอย่าง

ทีนี้ทำอย่างไรจึงจะทำให้กายสังขารคือลมหายใจนั้นให้สงบรำงับลง ปัสสัมภยัง คำนี้ คือ ทำให้รำงับไป คือกำลังทำอยู่-ทำอยู่-ๆ ให้รำงับลง ให้รำงับลง ๆ ข้อนี้ได้บอกแล้วว่า กายกับลมหายใจนั้นมันสัมพันธ์กัน ถ้ากายไม่รำงับ ลมหายใจก็ไม่รำงับ ลมหายใจไม่รำงับ ก็คือกายไม่รำงับ ฉะนั้นหาวิธีระงับที่ตรงลมหายใจ กายก็รำงับเอง ทีนี้ก็มีวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับลมหายใจให้ระงับให้ได้เฉพาะขึ้นมา ข้อนี้ก็คือ การทำให้ลมหายใจละเอียด โดยใจความสั้นๆ ที่สุด ก็คือการทำให้ลมหายใจละเอียด ลมหายใจละเอียด กายก็ละเอียด คือสงบรำงับลงๆ กระทั่งความร้อนในร่างกาย การไหลเวียนของโลหิต แม้แต่การหายใจเอง ก็ละเอียด-ละเอียด ๆๆ ลงไป จนกระทั่งถึงขีดที่เรียกว่า แทบจะไม่รู้สึกได้ว่าลมหายใจมีอยู่ ซึ่งเป็นขั้นของจตุตถฌาน. ไม่ต้องถึงขนาดนั้นเพียงให้มันรำงับ ๆ จนเกิดภาวะแห่งความเป็นสมาธิที่รำงับได้ ก็พอแล้ว

คำว่า ปัสสัทธิ ก็เหมือนกับคำว่า สมาธิ ไม่จำเป็นจะต้องถึงฌานหรือถึงอัปปนาสมาธิเสมอไป เป็นอุปจารสมาธิก็ได้ ฉะนั้นเมื่อเราทำให้รำงับลงไปได้ระดับหนึ่ง ก็เรียกว่ากายรำงับ เพราะกายสังขารรำงับ คือทุกอย่างเย็นลง สงบลง ซึ่งเป็นเหตุให้ร่างกายสงบลง จิตใจก็สงบลง สงบลง นี่เรียกว่าสมาธิ ในที่นี้

ตามปรกติ จิตไม่ยอมเป็นสมาธิ เพราะว่าตามเรื่องมันนั้น มันมีการปรุง คือมีการรบกวนของความรู้สึกต่าง ๆ ที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่เรียกว่า กวน หรือปรุง; ความรำงับตามธรรมชาติมีน้อย จนกว่ามันจะเหนื่อยจะเพลีย รำงับไปโดยความจำเป็น อย่างนี้เราไม่นับรวมเข้าในการปฏิบัติ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำขึ้น และไม่อยู่ในการควบคุม ฉะนั้นในการปฏิบัติของเราจึงมีการควบคุม

:b51: :b51: :b51:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2011, 14:17 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: :b42:

เหตุผลที่ต้องรู้จักลมหายใจของเรา

ก่อนอื่น เราจะต้องรู้เรื่องลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น ให้ดีเสียก่อน เพราะว่าเราต้องการจะทำให้มันละเอียดในขั้นต่อ ๆ ไป.

เนื่องจากว่า ยาวนี้มันหยาบก็ได้ สั้นนี้มันหยาบก็ได้ ยาวนี้มันละเอียดก็ได้ สั้นมันละเอียดก็ได้. ถ้ามีคำถามว่า ทำไมต้องแยกเป็นยาวเป็นสั้น? ก็เพราะให้รู้ ว่าขึ้นอยู่ที่ปัจจัยภายนอก ถ้าปัจจัยภายนอกทำให้อารมณ์ของเราร้าย การหายใจมันก็สั้น ๆๆๆ เช่น โกรธ หรือกลัว เป็นต้น

แต่ถ้าไม่มีอะไรมาทำให้อารมณ์ร้ายเกิด ลมหายใจก็ยาวกว่า. นี่ เราก็ได้ข้อเท็จจริงอันหนึ่ง ว่าลมหายใจสั้นหรือถี่นี้ เพราะมันเป็นอารมณ์ผิดปรกติไปในทางปรุงแต่งมากไป ฉะนั้นเมื่อไม่ถูกปรุงแต่งมาก มันก็จะเป็นไปในทางยาว ทางละเอียดและเราต้องการให้จิตนี้ถูกฝึกเก่งไปทุกด้าน จึงฝึกทั้งสั้นและยาว กำหนดให้ได้เหมือน ๆ กันทั้งสั้นและยาว. หมายความว่า ลมหายใจยาวเราก็กำหนดได้ดี ลมหายใจสั้น เราก็กำหนดได้ดี.

ถ้าเรากำหนดลมหายใจสั้นได้ดีนั่นก็หมายความว่า เราอยู่เหนืออำนาจของอารมณ์ร้าย ๆ. ให้เริ่มปฏิบัติขึ้นมาอย่างนี้ก่อน ด้วยการตั้งต้นที่จะเล่นงานอารมณ์ร้าย ที่มาทำให้ลมหายใจสั้นได้ เราจะเอาแต่ความสะดวกสบาย จะหายใจตามสบาย แล้วกำหนดนั้นมันง่ายไป ฉะนั้นเราทำให้มันยาวกว่าปรกติ เรากำหนดได้ ทำให้มันสั้นกว่าปรกติ เราก็กำหนดได้ก็แล้วกัน. เกี่ยวกับยาวแค่ไหน สั้นแค่ไหนนั้น มันเป็นเรื่องที่เราเองทำเองสำหรับกำหนดรู้ (ปชานาติ) เท่านั้น คนอื่นเขาก็อาจจะมีกฎเกณฑ์เป็นอย่างอื่น ว่าอย่างไรเรียกว่ายาวสำหรับเขา อย่างไรเรียกว่าสั้นสำหรับเขา อย่างไรเรียกว่ายาวมาก อย่างไรเรียกว่าสั้นมาก อย่างไรเรียกว่ายาวที่สุด อย่างไรเรียกว่าสั้นที่สุด ฉะนั้นจึงให้ลองพยายามหายใจให้ยาวที่สุด

ในเรื่องการหายใจให้ยาวที่สุดนี้ ถ้าหายใจเข้ายาวที่สุดจริง ๆ ท้องส่วนล่างมันกลับแฟบแต่ส่วนอกมันพองออกที่สุด หากไม่ถึงอย่างนั้น เราไม่เรียกว่าหายใจเข้ายาวถึงที่สุด. ตามธรรมดาเราไม่ได้หายใจเข้ายาวจึงถึงกับท้องแฟบ เราจึงรู้สึกว่าหายใจเข้านี้ มันพองที่ท้องคิดเหมาเอาว่าหายใจเข้ามันพองที่ท้อง แต่แท้จริงหายใจเข้ายาวที่สุดแล้ว มันแฟบที่ท้อง พองข้างบนที่ส่วนอก ต้องถึงอย่างนั้น จึงจะเรียกว่ายาวที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้จริงๆ ว่ายาวถึงที่สุดเป็นอย่างไร ต้องไปนั่งตรง ๆ แล้วหายใจยาวเข้าอัดเข้าไป อัดเข้าไป ๆ จนเกือบตายนั่นแหละ จึงจะรู้ว่าท้องมันแฟบ แล้วข้างบนมันพองจริง ๆ. นี่เรียกว่ารู้ถึงที่สุดว่าลมหายใจเข้ายาวที่สุด มันจะเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องถาม ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ให้ลองทำ

การกำหนดลมหายใจยาวและสั้น ในลักษณะอย่างที่กล่าวแล้วนี้ เรียกว่าทำอานาปานสติมีสติตลอดเวลาไม่มีว่างเว้น สติเนื่องกับลมหายใจ ความรู้เริ่มมีตั้งแต่ขั้นที่ 3 เป็นต้นไป. รู้คือ ปฏิสังเวที ในที่นี้ เรียกได้ว่าเป็นปัญญา

เราต้องนึกให้เห็นเสียก่อนว่า ที่ว่าปัญญา ๆ นั้น มันมี 2 ปัญญา คือ ปัญญาที่จำเป็นทีแรก (สัมมาทิฏฐิ) นั้น ต้องมาก่อนการปฏิบัติอย่างอื่นทั้งหมด ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดที่ต้องจำ การที่ว่าปัญญาเพิ่งจะมาเริ่มมีตั้งแต่ขั้นที่ 3 ในที่กำลังกล่าวนี้นั้น เป็นปัญญาลำดับสอง ต่อจากปัญญาแรก คือมารู้เรื่องลมหายใจนี้โดยเฉพาะ ปัญญาอันแรกนั้น มันกว้างกว่า เพราะหมายถึงปัญญาที่ทำให้เราสนใจก่อนที่จะต้องมาทำอานาปานสตินี้ หรือเราจะมาวัด มาสนใจในพุทธศาสนา ก็ต้องมีปัญญารู้มาก่อนว่ามันดี ปัญญาอย่างนี้ย่อมมาก่อนแน่. ทีนี้พอมาทำการกำหนดเข้า เริ่มต้นขั้นที่ 1 มันก็เริ่มเป็นการกระทำอันหนึ่ง ซึ่งเป็นการบังคับให้ทำเรียกว่า ศีล ; การที่จิตมีอารมณ์จดจ่ออยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่า สมาธิ ; แต่ปัญญาที่รู้เกี่ยวกับอะไร ยังไม่ค่อยจะมี มีเพียง “รู้จัก” เฉย ๆ คือรู้จักการหายใจยาว รู้จักการหายใจสั้น ดังนั้นจึงใช้คำว่า ปชานาติ ไม่ได้ใช้คำว่ารู้แจ่มแจ้งหรือ รู้ซึมซาบ(ปฏิสังเวที) หรืออะไรทำนองนั้น.. ปัญญาที่เริ่มจะรู้อะไรดีขึ้นเช่นรู้ว่า ลมหายใจนั่นแหละคือ “กาย” ดังนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าความรู้ที่เป็นปัญญา จึงเปลี่ยนเรียกเป็นปฏิสังเวทีเอาตอนนี้ ส่วนปชานาตินั้นเป็นเพียงการรู้จัก.

ทั้ง 16 ขั้นแห่งการปฏิบัติอานาปานสตินี้ จะเป็นปฏิสังเวที ตั้งแต่ขั้นที่ 3 และปัญญาจะยิ่งมากขึ้นๆ ตามขั้น. พอรู้มากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง, เปลี่ยนใช้คำว่า อนุปัสสี เช่นในขั้นที่ 13 เป็นต้นไป อันเป็นการรู้ยิ่งขึ้นไปอีกเป็นญาณทัสนะ เป็นความรู้อันดับสูง. สรุปว่าในกลุ่มปัญญานั้น เริ่มตั้งแต่ขั้นที่ 3 เป็นต้นมา แล้วก็เพิ่มขึ้นๆ. ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 เป็นได้เพียง ศีล สมาธิ นับแต่ขั้นที่ 3 เป็นต้นไป เป็นทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา. แต่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญาชุดนี้ หรือชุดต่อ ๆ ไปก็ตาม มันก็ต้องเป็นสิ่งที่จะมีมาได้ ต่อเมื่อมีปัญญา หรือด้วยอำนาจปัญญาที่แรกก่อนหน้าโน้น ที่รู้ว่าเราจะต้องไปแสวงหาอะไร ไปปฏิบัติอะไร จนกระทั่งมาปฏิบัติอานาปานสตินี้. นั่นมันเป็นปัญญา ทั่วไป ไม่เกี่ยวกับชุดที่ว่านี้ อย่าเอามาปนกันเสีย

(ที่บอกว่า รู้ รู้ รู้ นี้ มันมีเป็น 3 ขั้น : เราอ่าน เราเรียน นั่นก็ได้ ความรู้ รู้ชนิดนี้ เป็น Knowledge คือความรู้ธรรมดา. ทีนี้สูงขึ้นไป ก็คือ ความรู้ที่ได้มาจากการคำนึงคำนวณด้วยเหตุผล ความรู้อย่างนี้เราเรียกว่า ความเข้าใจ (Understanding) ซึ่งก็ยังไม่พอ เราต้องการความรู้ที่จิตใจมันได้กระทำลงไปจริง ๆ และรู้สึกอยู่ เรียกว่า ความเห็นแจ้ง (Realization หรือ See-ing) ลักษณะทำนองนี้ไม่ใช่ See-ing ด้วยตา แต่ See-ing ด้วยปัญญา จึงใช้ คำว่า “อนุปัสสี” )

:b45: :b45: :b45:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2011, 14:18 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: :b42:

วิธีการกำหนดลมหายใจ

มีข้อสังเกตอยู่ที่ว่า ถ้าหายใจยาว เราเอาสติไว้ที่ไหน ทำไมเราจึงรู้ว่ายาว ถ้าสติไม่ค่อยวิ่งตามไป ทำไมจึงจะรู้ว่ายาว ดังนั้นเรื่องมันก็คือการมีสติอยู่ที่ความยาว. ขั้นแรก ให้ถือว่า สติอยู่ที่ลมนั่นเอง มันตั้งต้นที่จุดสมมติอันหนึ่ง แล้วไปหยุดที่จุดสมมติอีกอันหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่ว่าใครจะชอบ หรือใครจะรู้สึกอย่างไร. โดยมากเราเอาที่สุด ที่จงอยจมูกเป็นจุดสมมติแห่งหนึ่ง สำหรับข้างนอก แล้วเอาที่สะดือ เป็นจุดสมมติอีกแห่งหนึ่งสำหรับข้างใน แต่ตามความรู้สึกสำหรับบางคนอาจไม่รู้สึกอย่างนั้นก็ได้ มันแล้วแต่เขาจะพอใจ. ในตำราก็มีอธิบายปลีกย่อยหลายอย่างเหมือนกัน เช่น ในรายที่คนมีจมูกหงายแหงนขึ้น ก็ต้องกลายเป็นว่าไปรู้สึกที่จุดอื่น แถวอื่น ยิ่งคนบางชาติ มีจมูกแหงนขึ้นมาก ลมไม่มีโอกาสกระทบจงอยจมูก อาจไปกระทบส่วนสุดของริมฝีปากบนก็มี. แม้ที่จุดสะดือนั้น ก็เป็นเรื่องสมบัติคือหมายเอาว่าการกระเทือนไปสิ้นสุดลงตรงที่สะดือนั้น การกระเทือนที่เนื่องด้วยลมหายใจไปสุดลงประมาณที่นั่น. ผู้ที่มีความรู้ว่าคนเราหายใจด้วยปอด มันก็ต้องไปหยุดลงที่ปอด นั่นมันเป็นเรื่องร่างกาย เป็นการศึกษาเชิงสรีรศาสตร์เป็นข้อเท็จจริงทางสรีรศาสตร์ แต่ในกรณีของเรานี้ มันเป็นเรื่องปฏิบัติธรรม มันจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นเราเอาความง่ายแก่การกำหนดเป็นเกณฑ์ คือ ความกระเทือนของการหายใจไปรู้สึกสิ้นสุดลงที่ตรงไหน ก็ให้ถือว่าลมหายใจไปสิ้นสุดเอาที่นั่น ฉะนั้นจึงถือกันโดยมาก ว่าสะดือเป็นจุด ๆ หนึ่ง ที่เป็นจุดที่สุดของการหายใจเข้า. หายใจเข้า ก็เริ่มที่จมูก ไปสุดที่สะดือ ; หายใจออก ก็เริ่มที่สะดือ ไปสุดที่จมูก เป็น 2 คู่ ดังนี้.

ทีนี้การหายใจที่เรียกว่ายาวนั้น ก็คือ ในอัตราระยะยาวจากจุดหนึ่งถึงจุดหนึ่งที่มีอยู่อย่างตายตัวนั่นแหละ ถ้าใช้เวลาหายใจออก-เข้า เป็นเวลานานก็เรียกว่ายาว ; และที่เรียกว่าหายใจสั้น ก็หมายว่าใช้เวลาสั้น ในระยะทางเท่ากัน. ถ้าเราหายใจอย่างหอบ นั่นก็คือสั้น ลมมันก็น้อย เวลาก็น้อย แต่ระยะทางเท่ากัน. การกำหนดลมหายใจสั้นก่อน หรือยาวก่อนนั้น ไม่เป็นเรื่องสำคัญ มันได้ทั้งนั้น เพราะว่าเมื่อบังคับแล้ว มันต้องบังคับทั้งสองอย่างบังคับให้รู้จักทั้งสั้นทั้งยาว นั่นก็อย่างหนึ่ง ; หรือปล่อยให้หายใจไปตามธรรมชาติ แล้วค่อยสังเกตว่ามันสั้นเพราะเหตุไร มันยาวเพราะเหตุไร มีลักษณะเช่นไร นี้ก็อีกอย่างหนึ่ง. สำหรับคำว่า “กายทั้งปวง” นั้น “ทั้งปวง” ในที่นี้ก็คือ ให้รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลมหายใจทุกชนิด ยาวสั้นตามปรกติอย่างไร ยาวสั้นเพราะบังคับอย่างไร ตลอดถึงกิจหรือหน้าที่ของมัน ที่ปรุงแต่งกาย สัมพันธ์กันอยู่กับกาย ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

:b44: :b44: :b44:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2011, 14:20 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: :b42:

การปฏิบัติลัดลำดับ สำหรับบางคน

ในกรณีของผู้ที่ไม่ต้องการปฏิบัติสมถะให้เต็มที่ เพราะความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น จะปฏิบัติรวบลัด โดยข้ามขึ้นไปทำในขั้นที่ 13 เป็นวิปัสสนาไปเสียเลย ก็ยังได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องมีการเริ่มต้นเป็นอย่างน้อย ที่การรู้จักการจัดระบบของลมหายใจให้ประณีตพอสมควร ตามความมุ่งหมายของอานาปานสติขั้นที่ 3 เสียก่อน เพื่อมีจิตสงบรำงับตามสมควรก่อน แล้วจึงเริ่มกำหนดความไม่เที่ยงเป็นต้น

ตามวิธีกำหนดแห่งชั้นนั้น. คนทั่วไปไม่อยากปฏิบัติอย่างที่เป็นเทคนิคเต็มที่ เหมือนที่ระบุไว้ในคำอธิบายแห่งปฏิสัมภิทามรรค เกี่ยวด้วยอานาปานสติทั้ง 16 ขั้นนี้. เช่นเขาไม่สามารถปฏิบัติเพราะเขามีการศึกษาน้อย หรือเพราะเขาอายุมากเกินไป ดังนี้เป็นต้น เขาจะเริ่มที่ขั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เพียงสักว่าให้รู้จักจัดระบบการหายใจให้ประณีต ใจคอประณีต ร่างกายระงับลงพอสมควร แล้วก็เริ่มนึกถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แห่งการปฏิบัติในขั้นที่ 13 ไปเลย. โดยปรกติคนทั่วไปย่อมไม่ต้องการวิธีปฏิบัติที่เป็นเทคนิคเต็มที่ ย่อมจะเหมาะแต่วิธีปฏิบัติรวบลัดเช่นนี้มากกว่า กว่าที่จะดำเนินโดยวิธีที่สมบูรณ์แบบ 16 ขั้น อย่างว่ามา.

แต่ในที่นี้ เรากำลังพูดถึงอานาปานสติชนิดที่สมบูรณ์แบบที่สุด และก็ไม่มีอะไรจะสมบูรณ์แบบไปกว่านี้ และแม้สมบูรณ์แบบอย่างนี้แล้ว ก็ยังมีว่าถึงฌาน หรือไม่ถึงฌาน ในขั้นที่ 4 คือแบ่งออกไปเป็น 2 พวก คือพวกที่ทำได้ดีที่สุด อันจะนำไปสู่ปฏิสัมภิทา และพวกที่ไม่อาจจะทำให้ถึงที่สุด คือพวกไม่ทำฌานให้เกิด ก็จะนำไปสู่สุกขวิปัสสก. สำหรับชาวบ้าน ก็แนะให้ปฏิบัติไปทางพระไตรลักษณ์เสียเลย ซึ่งก็ยังพอจะสงเคราะห์เข้าในขั้นที่ 13 ได้อยู่นั่นเอง ; แต่ว่าฝรั่งไม่ต้องการอย่างรวบหัวรวบหางอย่างนี้ คือมันไม่เป็นหลักวิชาที่น่าศึกษา หรือแยบคายน่าสนใจ ฉะนั้นเราต้องศึกษาอย่างสมบูรณ์แบบ.

การปฏิบัติที่ลัด เฉพาะในขั้นที่ 4

การปฏิบัติในขั้นที่ 4 เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากที่สุด ในการศึกษาปฏิบัติในบรรดาอานาปานสติทั้งหมด คือยุ่งยากในตอนที่จะทำให้เป็นอัปปนาสมาธิ เกิดฌานขึ้นมาได้นั่นเอง. ส่วนพวกที่ประสงค์จะปฏิบัติอย่างลัดในขั้นที่ 4 นี้ ก็คือผู้ที่ไม่ต้องทำจนถึงกับเกิดอัปปนาสมาธิ เพียงแต่ทำให้เกิดอุปจารสมาธิ ซึ่งก็มีปีติ และสุข ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับจะใช้พิจารณาในขั้นที่ 5 และที่ 6 อีกอย่างเดียวกัน แล้วก็ปฏิบัติต่อไปตามลำดับในขั้นนั้น ๆ เท่าที่จะพึงกระทำได้เพียงใด และไปกระทำอย่างจริงจังในขั้นที่ 13 คือ อนิจจานุปัสสี กระทั่งถึงขั้นสุดท้ายได้อีกอย่างเดียวกัน. นี้เป็นวิธีลัด ที่มีการลัดเฉพาะในขั้นที่ 4.

:b51: :b51: :b51:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2011, 21:41 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b39:

รู้ข้อเท็จจริงแห่งขั้นที่ 3 อย่างเพียงพอก่อนลงมือปฏิบัติขั้นที่ 4

การทำกายสังขารให้รำงับ ในการปฏิบัติอานาปานสติขั้นที่ 4 นั้น ก็เป็นอย่างที่ได้พูดมาแล้วแต่ต้นว่าตามปรกติ ร่างกายมันก็หยาบอยู่ตามธรรมดาในลักษณะหนึ่ง ลมหายใจก็หยาบอยู่ตามธรรมดาในลักษณะหนึ่ง ซึ่งไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป. ที่นี้เรามารู้ธรรมชาติของมันดี และทำให้ประณีตละเอียดลงไป เรียกว่า “รำงับ” คือทำให้ละเอียดลงไปๆ ใครจะข้ามการกระทำในขั้นที่ 4 นี้ไม่ได้.

ผู้ปฏิบัติอานาปานสติจะต้องรู้เรื่องลมหายใจยาวและลมหายใจสั้นให้เพียงพอเสียก่อน ในขั้นที่ 1 ที่ 2 จึงจะปฏิบัติในขั้นที่ 3 ได้. ส่วนการปฏิบัติขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นการรู้ข้อเท็จจริงของลมหายใจ ในทุกแง่ทุกมุมตามที่มันเป็นอยู่เอง แต่ไม่ค่อยจะมีผู้ใดทราบนั้น อย่างน้อยที่สุดเราต้องรู้โดยเฉพาะในข้อที่ว่า ลมหายใจนั้นเนื่องกันอยู่กับกาย มันหยาบด้วยกัน มันละเอียดด้วยกัน มันขึ้นด้วยกัน มันลงด้วยกัน หรืออะไรทำนองนี้ เป็นต้น. แต่ถึงแม้เราไม่รู้เสียเลย แล้วไปทำในขั้นที่ 4 พอเราไปทำลมหายใจให้ละเอียด กายมันก็รำงับเอง ตรงนี้เราก็จะเริ่มรู้ หรือเพิ่มความรู้แห่งขั้นที่ 3 ขึ้นมาเอง. ถ้าไม่รู้มาก่อน มันก็จะรู้ขึ้นมาเองที่ตรงนี้ ว่าลมหายใจรำงับ กายมันก็ระงับ ความร้อนมันลดลง ความรู้สึกที่เป็นความหยาบนั้น มันลดลง ซึ่งเป็นอันกล่าวได้ว่าในการปฏิบัติในขั้นที่ 4 จะย้อนมาให้ความรู้แห่งขั้นที่ 3 สำหรับผู้ที่ไม่รู้มาก่อน อันจะเป็นความไม่ราบรื่นของการปฏิบัติ ดังนั้นเราควรมีความรู้แห่งขั้นที่ 3 มาก่อนอย่างเพียงพอจึงจะเป็นการประหยัดเวลาและการกระทำ.

เคล็ดการทำกายสังขารให้รำงับ

เมื่อเรารู้จักทั้งลมหายใจยาวและลมหายใจสั้นแล้ว เราก็เลือกเอาที่ยาวพอดี ลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นจุดตั้งต้น แล้วกำหนดดูว่า ยาวอย่างนี้นั้น ร่างกายเป็นอย่างไร ; ถ้าร่างกายยังไม่รำงับพอ เราก็ควรให้มันยาวไปอีกหน่อยก็ได้ ยิ่งยาวเท่าไร มันก็ยิ่งทำให้รำงับได้ง่ายขึ้น, นี้อย่างหนึ่ง. ทีนี้กำหนดดูเรื่องของความละเอียด ถ้าทำลมให้ละเอียดได้เท่าไร มันก็ยิ่งรำงับมากขึ้นเท่านั้น เราก็บังคับให้ยิ่งยาว ยิ่งละเอียด คือแผ่วลง ๆๆ ถ้ารู้สึกว่าฝืน ก็ทำจนไม่ฝืนให้มันละเอียดได้โดยลำดับไป, นี้อีกอย่างหนึ่ง. เราต้องทราบไว้ก่อนว่า ลมหายใจยาวนั้น มันหยาบก็ได้ ละเอียดก็ได้, ทีนี้เมื่อทำให้ละเอียดลง ลมก็ระงับลง จะรู้สึกว่าร่างกายรำงับลงๆ ใจคอก็รำงับลง

ทีนี้วิธีที่จะทำให้มันรำงับลงต่อไปอีก ให้ไปกำหนดที่จุดที่เราจะเรียกว่า “สมาธินิมิต” เมื่อเรามีสมาธิของการกำหนดแล้ว เราก็ทำนิมิตของการกำหนดนั้นให้ละเอียดลงอีกทีหนึ่ง ทีนี้มันก็จะละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านั้น เช่นหายใจยาวออกไป มันก็ละเอียดไปแล้ว ทีนี้ความยาวนั้นละเอียดยิ่งขึ้นไป ลมก็ยิ่งละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก. ในขั้นนี้ เรียกว่า มีลมหายใจเป็น “บริกรรมนิมิต”.

ทีนี้เราใช้นิมิต เช่นจุดที่ลมหายใจกระทบ หรือภาพทางมโนคติของจุดที่ลมหายใจกระทบ เรียกชื่อว่า “อุคคหนิมิต” หรือ “ปฏิภาคนิมิต” นั้น มาแทนตัวลมหายใจตอนแรก (บริกรรมนิมิต) นี่ก็เรียกว่าได้นิมิตมาแทนลมหายใจ ; ถ้าทำนิมิตนี้ละเอียดไปได้เท่าไร ลมหายใจนี้จะยิ่งสงบรำงับอีกเท่านั้น เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเกิดในขณะแห่งปฏิภาคนิมิต เป็นที่รำงับถึงที่สุด กายก็จะรำงับได้ถึงที่สุด ถึงขนาดที่เป็นฌานได้.

:b51: :b51: :b51:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2011, 21:44 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: :b44: :b44:

เรื่องเกี่ยวกับนิมิต โดยคร่าว ๆ ทั่วไป

เกี่ยวกับนิมิตนี้ จะทำความเข้าใจให้รู้เรื่องพอสมควร : ในการปฏิบัติตอนแรกที่สุด เราเอาทางที่ลมกระทบทั้งสาย ในภายใน จากจุดหนึ่งถึงจุดหนึ่ง (คือจากจงอยจมูกถึงสะดือ) เป็นที่ตั้งแห่งการกำหนดของการหายใจ ถ้ามันใช้เวลานานระหว่างจุดถึงจุด นี้เราเรียกมันว่ายาว. ถ้าพื้นของอารมณ์ในใจ ในเวลาไหนของเราไม่ดี ความยาวนี้มันหยาบ หรือเราจะทำให้มันหยาบกระทั่งมีเสียงฟืดฟาด อย่างนี้เรียกว่ายาวด้วย หยาบด้วย. ถ้าเราให้มันยาวแต่ให้มันประณีตให้แผ่ว จนรู้สึกได้น้อยลงทุกทีๆ นี้เราก็เรียกว่ายาวอย่างละเอียด. ยิ่งยาวก็ยิ่งทำให้กายรำงับ ยิ่งละเอียด ก็ยิ่งทำให้กายรำงับ นี่เรียกว่าเสร็จไปตอนหนึ่ง ที่เอาตัวลมหายใจเองเป็นนิมิตสำหรับกำหนด เรียกว่า บริกรรมนิมิต.

อธิบายความหมายพิเศษ ของคำว่า “นิมิต”

จะเห็นได้ว่า “นิมิต” นั้นเปลี่ยนเรื่อยๆ มา จนถึงขั้นที่ 13 ก็เอาความรู้สึกว่าไม่เที่ยงนั่นแหละเป็นนิมิต แต่ในขั้นนี้เขาไม่เรียกว่านิมิตเท่านั้นเอง. “นิมิต” ก็คือ “อารมณ์ที่ถูกรู้สึกอยู่” จะเรียกว่า “นิมิต” หรือ “อารมณ์” ก็ตาม เห็นลักษณะความไม่เที่ยงแล้ว กำหนดให้แม่นให้จริงจังอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็คุมความรู้สึกเช่นนั้นไว้ กล่าวคือคุมเอาความเห็นแจ้งในความเป็นเช่นนั้นไว้. มันอาจเอาผลที่ถัดจากนั้น เป็นเครื่องกำหนดก็ยังได้ เช่น ความสังเวชอันมาจากการเห็นความไม่เที่ยงนั้น เอามากำหนดอยู่ มันก็เหมือนกับกำหนดความไม่เที่ยง ฉะนั้น เอานิพพิทามาแทนก็ได้ หลักใหญ่ ๆ ให้เข้าใจอย่างนี้ก็แล้วกัน.

:b46: :b46: :b46:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2011, 21:47 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: :b48:

วิธีผูกจิตกับนิมิต คือลมหายใจ

ในตอนแรกลงมือทำ ถ้าเรากำหนดจิตที่ทางลมเป็นระยะสั้นนิดเดียว จิตก็มีโอกาสหนีไปเสีย ดังนั้น ต้องให้จิตหรือสติ (แล้วแต่จะเรียก) วิ่งตามลมจนตลอดสายในระหว่างจงอยจมูกถึงสะดือ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น คือกำหนดให้รู้สึกว่าลมเข้าไปถึงไหนแล้ว จิตหรือสติก็วิ่งตามไปถึงนั่น ; พอถึงคราวหายใจออกจิตหรือสติก็วิ่งย้อนตามลมมาอีก นี้เรียกว่าเราใช้สติเป็น เครื่องผูกจิตไว้กับลมหายใจ. อาการอย่างนี้แหละ เป็นต้นเหตุให้การกระทำนี้ได้นามว่าทำ “โยคะ”. คำว่า “โยคะ” แปลว่า “ผูก” คือ ผูกของอย่างหนึ่งให้ติดอยู่กับของอีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงสติผูกจิตไว้กับลมหายใจ. ในขั้นนี้ลมหายใจนั้นเองเป็นนิมิต ซึ่งเปรียบเหมือนกับเสาหลักที่ปักไว้สำหรับการฝึกวัว จิตนั้นเหมือนกับลูกวัว หรือวัวป่าที่จับมาเพื่อฝึก แล้วสติ เหมือนกับเชือกที่ใช้ผูกวัวไว้กับหลัก ฉะนั้นจึงเปรียบลมหายใจที่มีอยู่ตามธรรมชาติสม่ำเสมอนี้เหมือนกับหลัก จิตของเราเหมือนกับวัว สติที่กำหนดรู้อยู่ เหมือนกับเชือก รวมกันทั้งหมด จึงได้ชื่อว่า “โยคะ” คือการผูกจิตไว้กับลม เหมือนการผูกวัวไว้กับหลัก.

การกำหนดลมในขั้นที่ทำสติให้วิ่งตามลมนี้ ต้องทำให้เป็นที่แน่นอน ว่าขั้นนี้ได้ทำสำเร็จแล้วเสียก่อน นี้เป็นขั้นแห่งบริกรรมนิมิต มีการปลุกปล้ำด้วยวัตถุสำหรับกำหนด (กล่าวคือลมหายใจโดยตรง) ให้เสร็จไปขั้นหนึ่งก่อน อย่าเพ่อก้าวไปเร็วนัก ถ้ายังทำขั้นนี้ไม่ได้ อย่างเพ่อเลื่อนไป ต้องทำให้ดีจนพอใจแน่นอนเสียก่อน. ก่อนที่จะเลื่อนขั้นไป เราก็ทดสอบดู ว่าจิตที่ผูกไว้กับลมหายใจด้วยสตินี้ มันทำอย่างนี้ได้ดีแล้วหรือยัง จนจิตมันยอม, ยอมอยู่กับอารมณ์, ไม่หนี, จึงจะเรียกว่าดีแล้ว ไม่มีโอกาสที่มันจะหนีไปที่อื่น ไปรับอารมณ์อื่น ในขณะจุดเริ่มก็ตาม ขณะตรงกลางก็ตาม ในขณะจุดปลายก็ตาม ไม่มีโอกาสหนี ไม่อาจจะหนี ก็นับว่าสำเร็จไปขั้นนี้.

วิธีผูกจิต ในขั้นแห่งอุคคหนิมิต

ในขั้นต่อไป เราก็รู้จักระวัง ฉลาดขึ้น เพราะจิตมันเริ่มยอม เราเพียงระวังจุดเดียวก็พอ ไม่ต้องวิ่งตามแล้ว ฉะนั้นท่านจึงเปรียบเหมือนกะว่า กล่อมเด็กให้หลับ : ในตอนเด็กยังไม่หลับ จะตอจากเปล คนระวังเด็กก็ต้องคอยส่ายตาดูเปลที่ไกว ทั้งไปทั้งมา ตลอดสายอยู่ แต่พอเด็กมันจะยอมจะง่วงจะหลับแล้ว ก็ดูเฉพาะเมื่อมันไกวผ่านหน้าเราเท่านั้น ไม่ต้องส่ายหน้าไปมาเหมือนทีแรก. บัดนี้เราจะไม่ส่ายสติกำหนดขึ้นลงตลอดสายเหมือนทีแรก เราสร้าง “อุคคหนิมิต” ขึ้นที่จุดหนึ่ง คอยเฝ้าดูอยู่ตรงนี้ เมื่อเฝ้าอยู่ที่ตรงนี้ได้สำเร็จ ก็เรียกว่าเราบังคับได้มาก คือมันยอมมากขึ้น แล้วละเอียดมากขึ้น มันสงบมากขึ้น. นี่เรียกว่าทำนิมิตใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นนิมิตที่ประณีตละเอียดยิ่งขึ้น จิตก็จะประณีตยิ่งขึ้นไปตาม ลมหายใจนั้นก็ประณีตละเอียดไปตาม กายก็สงบรำงับละเอียดประณีตไปตามด้วยกัน. เราจะต้องฝึกกำหนดจุดที่กล่าวนี้ เมื่อลมหายใจผ่านมาทีหนึ่ง เข้าก็ตาม ออกก็ตาม แล้วจิตไม่มีโอกาสไปไหนเลย เราจึงจะถือว่าเรากำหนดสำเร็จในขึ้น ซึ่งเป็นขั้นแห่ง “อุคคหนิมิต” คือ ใช้อุคคหนิมิตรนี้เป็นบทเรียน. จุดที่ลมกระทบอันจะเป็นอุคคหนิมิตนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษากันยืดยาว.

:b51: :b51: :b51:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2011, 21:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 11:05
โพสต์: 223


 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: :b46: :b46:

ความคาบเกี่ยวระหว่างอุคคหนิมิต กับปฏิภาคนิมิต

เมื่อประสบความสำเร็จในขั้นนี้ ซึ่งเป็นการกำหนดเมื่อลมผ่าน แล้วจิตก็ยังอยู่ที่นี่ตลอดเวลา ไม่ถือโอกาสหนีไปเสียที่อื่น ก็เรียกว่าเราทำสำเร็จไปตอนหนึ่ง.

ทีนี้ก็ทำขั้นต่อไป ที่เรียกว่า “ขั้นปฏิภาคนิมิต” โดยการเปลี่ยนนิมิตจากอุคคหนิมิต มาเป็นปฏิภาคนิมิต คือ เปลี่ยนจากความรู้สึกต่อสิ่งที่มีอยู่จริง ไปเป็นเพียงสิ่งที่สร้างมาใหม่ในความรู้สึก ให้ตรงนั้นเป็นจุดที่สำคัญ มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะว่ามันประณีตละเอียด จนถึงกับไม่ใช่เป็นความรู้สึกทางเส้นประสาท แต่เป็นความรู้สึกทางมโนภาพล้วน ๆ มันเป็นเพียงจุดหรือดวงอะไรดวงหนึ่ง ที่เปลี่ยนรูปได้เรื่อย ๆ ไปเท่านั้น ไม่ใช่ลมหายใจเสียแล้ว. ผู้นั้นไม่ทำความรู้สึกต่อลมหายใจที่ผ่าน หรือที่หยาบละเอียดอะไรต่อไปอีกแล้ว ความสำนึกต่าง ๆ เหลือน้อยเต็มทีแล้ว เหลืออยู่แต่ความรู้สึกว่ามีจุดอยู่จุดเดียว ซึ่งเปลี่ยนรูปร่างอยู่เรื่อย ตามความน้อมนึกของผู้นั้นเท่านั้น ดังนั้นจุดนี้จึงสามารถเป็นที่ตั้งแห่งการสร้างนิมิตอะไรขึ้นมาใหม่ ในความรู้สึกของเราอย่างสมบูรณ์เต็มที จัดเป็นปฏิภาคนิมิตเต็มที่.

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเข้าใจยากอย่างยิ่ง จึงขอทบทวนเป็นการสรุปซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “ปฏิภาคนิมิต” นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ลมหายใจก็แล้วกัน ไม่ใช่ความรู้สึกที่ลมหายใจกระทบ แต่เป็นมโนภาพอันใดอันหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมา. เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้ว เราจัดการกับจุดๆ นี้อย่างประณีตละเอียดขึ้นไป เช่น สมมติว่ามันมีให้เรามีความรู้สึกเหมือกะว่าดวงขาวๆ อะไรอยู่ที่นั่นดวงหนึ่ง ไม่ใช่ลมหายใจ และไม่ใช่เนื้อหนัง เราสามารถที่จะเพ่งให้เหมือนกะว่ามีแก้วอยู่ที่นี่ เราทำอย่างนั้นจนได้ จนสำเร็จ มันจะเป็น “อุคคหนิมิต” ที่สมบูรณ์ขึ้นมาก่อน. ทีนี้ถ้าจะเปลี่ยนให้เป็น “ปฏิภาคนิมิต” เราก็ทำให้สิ่งที่เราเห็นเหมือนดวงแก้วนี้ใหญ่ออกก็ได้ เล็กลงก็ได้ ลอยไปก็ได้ ลอยมาก็ได้ เปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่นก็ได้. นั่นหมายความว่าเราทำให้มันละเอียดประณีต บังคับได้ยิ่งขึ้นไปอีก อยู่ในอำนาจเรามากขึ้นไปอีกอยู่ในตัว. พอถึงขั้นนี้ มันจะเป็น “อุปจารสมาธิ” โดยสมบูรณ์ ; ถ้ายิ่งไปอีก ก็จะเป็น “อัปปนาสมาธิ” ที่สมบูรณ์ มีฌาน.

นี่ มิได้หมายความว่าที่พูดทั้งหมดนี้ จะเหมือนกันกับอาจารย์ที่อื่นที่เขาสอนกัน เพราะว่าเรื่องนี้มีความเห็นต่างกันอยู่ก็มี ต่างกันมากก็มี.

ปฏิภาคนิมิตนั้น ถ้าสมบูรณ์แล้ว อย่างน้อยจะทำให้ได้อุปจารสมาธิ ถ้าทำดีไปกว่านั้นจะได้ อัปปนาสมาธิ เป็น ปฐมฌาน ทุติฌาน จตุตถฌาน สืบไปตามลำดับ เพราะว่าปฏิภาคนิมิตนี้ บางคนจะเป็นเป็นก้อนเมฆก็ได้ บางคนจะเป็นหยดน้ำก็ได้ บางคนจะเห็นเป็นใยแมงมุมก็ได้ แล้วแต่เรื่องของเขา มีมากมายแล้วแต่คนหนึ่งๆ แต่รวมความแล้วก็คือ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่ที่เนื้อหนัง ไม่ใช่ของเดิม “เป็นของสร้างขึ้นมาใหม่ ในลักษณะเป็น อุคคหนิมิต” ทีนี้พอนิมิตอันนั้นเปลี่ยนรูปไป จึงจะเป็น ปฏิภาคนิมิต มันจึงประณีตยิ่งไปกว่าที่แล้วมา และไวต่อการเปลี่ยนรูปอย่างยิ่ง คือ ทันต่อความน้อมนึกของจิตเสมอ.

ความแปลกเป็นพิเศษของอุคคหนิมิต แห่งอานาปานสติ

อุคคหนิมิตที่เกิดในการปฏิบัติอานาปานสตินี้ ไม่เหมือนกับที่เกิดจากการทำโดยวิธีอื่น กล่าวคือ แทนที่จะเป็นนิมิตติดตาเหมือนอุคคหนิมิตของกัมมัฏฐานที่ใช้อารมณ์ภายนอก (เช่นกสิณ เป็นต้น) ก็มากลายเป็นนิมิตทางมโนภาพที่สร้างขึ้นใหม่ จากลมหายใจซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่างอย่างเช่นวงกสิณ เป็นต้นนั้น แม้ตาหลับแล้วก็ยังเห็นนิมิตที่สร้างขึ้นได้ ด้วยการรู้สึกทางตาใน คือ ใจ. เหมือนมีดวงอะไรดวงหนึ่งปรากฏอยู่เฉพาะหน้า เพราะมันจะลืมอะไรหมดกระทั่งเนื้อตัว หัวหูของตัวเอง ความรู้สึกจะไม่รู้สึกต่อเนื้อตัวหัวหู แต่ไปรู้สึกอยู่แต่ดวงที่ ปรากฏทางมโนภาพนั้น คือ เป็นจุด ๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นอะไรก็ได้ เรียกว่า “อุคคหนิมิต”. ถ้าจุดนั้นขยายเปลี่ยนแปลงไปได้ เรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต”. ฉะนั้นมันจึงเป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้ว ว่าบัดนี้จิตอยู่ในอำนาจของผู้นั้นยิ่งขึ้นทุกที ๆ : จิตในขณะแห่งอุคคหนิมิตก็อยู่ในอำนาจของผู้นั้นยิ่งกว่าจิตในขณะแห่งบริกรรมนิมิต ; จิตในขณะของปฏิภาคนิมิต ก็จะมีการอยู่ในอำนาจของผู้นั้นยิ่งกว่าในขณะของอุคคหนิมิต.

:b51: :b51: :b51:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ค. 2011, 18:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ท่านพุทธทาสเป็นผู้นำทางผมสู่พุทธธรรมครับ

ชีวิตนี้ขอมอบให้แก่พระพุทธเจ้าตามท่านพุทธทาส

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 20 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron