วันเวลาปัจจุบัน 10 ธ.ค. 2024, 12:53  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 27 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


ยาใจ

ธรรมะ
พระครูญาณวิศิษฏ์
(ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)



ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ

ธรรมบรรณาการ
วัดเมตตาวนาราม
Valley Center, California, U.S.A.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


สารบัญ

ภาค ๑ : ภาษาใจ
เรื่องปาก
เรื่องท้อง
บุญ
คนเข้าวัด
ศิษย์ อาจารย์
โลกธรรม
อบรมพระ
สมาธิ
ลม
นิมิต
รู้
พิจารณา
พ้น

ภาค ๒ : พระธรรมเทศนา
เรานี้ จริงหรือยัง
ฟังด้วยดี
เนื้อคู่ คือ ตัวเวร
สรุปวิธีการนั่งสมาธิ
ปัญญาญาณ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เรื่องปาก

หนังสือยาใจ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

ภาค ๑ : ภาษาใจ
ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ
เรื่องปาก หน้า ๕-๘

:b8: :b8: :b8:

๏ ตามปกติท่านพ่อเป็นผู้ที่ประหยัดคำพูด คือพูดตามเหตุถ้ามีเหตุที่จะต้องพูดหรืออธิบายยาว ท่านก็พูดยาวหน่อย ถ้าไม่มีเหตุอย่างนั้น ท่านก็พูดน้อยหรือไม่พูดเอาเสียเลย ท่านบอกว่า ท่านถือตามคติท่านพ่อลีว่า “ถ้าจะสอนธรรมะให้เขาฟัง แต่เขาไม่ตั้งใจฟัง หรือไม่พร้อมที่จะรับ ธรรมะที่พูดไปนั้น ถึงจะดีวิเศษวิโสแค่ไหนก็ยังนับว่าเป็นคำเพ้อเจ้ออยู่ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร”

“ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่าที่จะพูดนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด นี่เป็นขั้นแรกในการอบรมใจ เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไม่ได้ เราจะควบคุมใจได้อย่างไร”

๏ เมตตาธรรมของท่านพ่อเป็นสิ่งที่ประจักษ์ใจแก่ลูกศิษย์ทุกคน ถ้าใครมีความทุกข์ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนชาติชั้นวรรณะใดก็ตาม ท่านก็ยินดีที่จะปรับทุกข์ให้ แล้วปลุกใจที่จะต่อสู้กับเหตุการณ์ต่อไป แต่เมตตาของท่านพ่อนั้น มีทั้งเมตตาเย็นและเมตตาร้อน คือบางครั้งต้องมีดุบ้างเป็นธรรมดา เพื่อให้ลูกศิษย์ที่ทำผิดได้แก้ตัวเองเป็นคนดีขึ้น การดุของท่านนั้น ท่านไม่เคยใช้เสียงดัง น้ำเสียงเผ็ดร้อน หรือคำหยาบคายแต่ประการใด ท่านก็พูดเรียบๆ ธรรมดา แต่ความหมายของท่านเจ็บแสบเข้าไปถึงหัวใจไม่รู้ลืม

ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์คนหนึ่งปรารภกับท่าน “ท่านพ่อ ทำไมคำพูดของท่านพ่อบางครั้งเจ็บถึงหัวใจเลย” ท่านก็ตอบว่า “ดีแล้ว จะได้จำ ถ้าว่าไม่ถึงใจผู้ฟัง มันก็ไม่ถึงใจผู้ว่าเหมือนกัน”

๏ การที่ท่านพ่อจะติลูกศิษย์นั้น ท่านก็ดูความตั้งใจของลูกศิษย์เป็นเกณฑ์ ถ้าศิษย์คนไหนตั้งใจปฏิบัติ ท่านจึงจะติ ยิ่งตั้งใจ ท่านก็ยิ่งติใหญ่ เพราะท่านคงถือว่าคนประเภทนี้จะได้ใช้คำติของท่านให้เกิดประโยชน์

ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์ฆราวาสคนหนึ่งที่ไม่เข้าใจหลักนี้ ไปช่วยพยาบาลท่านพ่อในระหว่างที่ท่านป่วยอยู่ที่กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าเขาจะพยาบาลปฏิบัติท่านให้ดีที่สุด ก็ไม่วายที่จะถูกติอยู่เรื่อย จนกระทั่งเขาคิดที่จะหนีท่านเลย พอดีมีฆราวาสอีกคนหนึ่งเข้ามาเยี่ยมไข้ ท่านพ่อจึงพูดกับคนที่มาเยี่ยม “การติของครูบาอาจารย์นั้นมีอยู่สองอย่าง คือติเพื่อให้ไป กับติเพื่อให้อยู่”

พอคนแรกได้ยินอย่างนี้ ก็เข้าใจทันที แล้วก็ยินดีที่จะอยู่ปฏิบัติท่านต่อไป

๏ นิทานเรื่องหนึ่งที่ท่านพ่อชอบเล่าให้ฟังเพื่อเป็นคติใจ คือเรื่อง “หงส์หามเต่า”

ครั้งหนึ่งมีหงส์สองตัวชอบแวะกินน้ าที่สระแห่งหนึ่งเป็นประจำ ในระหว่างนั้นได้รู้จักกับเต่าตัวหนึ่งที่อยู่ในสระ คุยกันไปคุยกันมาเกิดความคุ้นเคยกันเข้า แล้วต่างฝ่ายก็ต่างเล่าถึงเรื่องต่างๆ ที่ได้ผ่านมาในชีวิต พอเต่าฟังพวกหงส์เล่าถึงสิ่งต่างๆ ที่เคยเห็นในระหว่างบินอยู่บนท้องฟ้า ก็รู้สึกเสียดายที่ตนเองบินไม่ได้ ไม่มีโอกาสวาสนาที่จะเห็นโลกอย่างเขาบ้าง แต่หงส์ก็ปลอบใจเต่าว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวพวกเราจะหาวิธีพาเธอขึ้นบนท้องฟ้าให้ได้ ง่ายนิดเดียว” เขาก็เลยหาไม้ท่อนหนึ่งมา หงส์สองตัวใช้ปากคาบปลายไม้ไว้คนละข้าง แล้วให้เต่าใช้ปากเกาะไว้ตรงกลาง หงส์สองตัวจึงบินขึ้นฟ้าพาเต่าไปเที่ยวด้วยฝ่ายเต่าได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นในชีวิตก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก

พอดีมีเด็กกลุ่มหนึ่งเห็นหงส์พาเต่าเที่ยวบนฟ้าจึงร้องตะโกน “ดูซิ หงส์หามเต่า หงส์หามเต่า หงส์หามเต่า” ฝ่ายเต่าก็เกิดเขินขึ้นมา จึงกะว่าจะตะโกนกลับไปว่า “ไม่ใช่ เต่าหามหงส์” เพื่อแก้เขิน แต่พอจะอ้าปากพูด ก็ตกกระดองแตกตาย

ท่านพ่อก็สรุปความว่า “เดินดินระวังเท้า เข้าที่สูงระวังปาก”

๏ เย็นวันหนึ่งมีลูกศิษย์สาวๆ ๓-๔ คนที่เป็นเพื่อนกันได้มาเจอกันพอดีที่ตึกเกษมฯ ฉะนั้นแทนที่จะนั่งภาวนากับท่านพ่อ เขาก็หามุมไปตั้งวงคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ตามประสาสาวๆ ที่ทำงานในกรุงเทพฯ คุยกันเพลินไปจนไม่สังเกตว่าท่านพ่อเดินผ่าน ท่านจึงจุดไม้ขีดไฟไปก้านหนึ่งโยนลงไปในกลางวง ทำให้วงแตกทันที คนหนึ่งก็ร้อง “ว๊าย ทำไมท่านพ่อทำอย่างนั้น หนูเกือบโดน” ท่านพ่อก็ยิ้มน้อยๆ แล้วบอกว่า “เผามันซะบ้าง ไอ้ฝอยที่มันกองอยู่ตรงนั้น เผามันซะบ้าง”

“หูเราก็มี ๒ หู ปากก็มีปากเดียว แสดงว่าเราต้องฟังให้มาก ต้องพูดให้น้อย”

๏ ศิษย์ที่เป็นคนช่างพูดเคยถูกท่านพ่อเตือนว่า “อย่าให้ลมออกมากนะ ลมออกมากได้อะไรขึ้นมา มีแต่เรื่อง ให้กำหนดลมเข้าจะดีกว่า”

“เรามีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างภาวนา เราไม่ต้องไปเล่าให้ใครฟังนอกจากอาจารย์ของเรา เรามีอะไรจะไปอวดเขาทำไม เป็นกิเลสไม่ใช่หรือ”

“คนชอบขายความดีของตัวเอง ที่จริงขายความโง่ของตัวเองมากกว่า”

“ของดีจริงไม่ต้องโฆษณา”

“ให้มีคมในฝัก ให้ถึงเวลาที่จะต้องใช้จริงๆ จึงค่อยชักออกมา จะได้ไม่เสียคม”

๏ ท่านพ่อได้ยินศิษย์สองคนนั่งคุยกัน คนหนึ่งถามปัญหา อีกคนหนึ่งตอบโดยเริ่มต้นว่า “เข้าใจว่าคงจะ...” แต่ท่านพ่อก็ตัดบททันที “ถ้าไม่รู้ก็ตอบว่าไม่รู้ ก็หมดเรื่อง เขาขอความรู้ เราก็ให้ความเดา มันจะถูกที่ไหน”

๏ ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งรู้ตัวว่า เป็นผู้ที่พูดจาไม่ค่อยเรียบร้อย จึงถามท่านพ่อว่า ข้อนี้จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติไหม ท่านตอบว่า “อย่าไปข้องใจกับกิริยาภายนอก ให้ภายในใจของเราดีเป็นสำคัญ”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องท้อง

หนังสือยาใจ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

ภาค ๑ : ภาษาใจ
ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ
เรื่องท้อง หน้า ๙-๑๐

:b8: :b8: :b8:

“ลิ้นคนเรามันยาวนะ อยู่เฉยๆ มันก็แลบไปถึงโน่น ทะเล อยากกินของทะเล เดี๋ยวก็แลบไปถึงเมืองนอก อยากกินของจากเมืองนอก ต้องฝึกให้มันหดเข้าซิ”

“เวลากินข้าวให้ใจอยู่กับลม แล้วพิจารณาดูว่า เรากินเพื่ออะไร ถ้าเรามัวแต่กินเพื่อเอร็ดอร่อย อาหารที่กินเข้าไปนั้นให้โทษกับเราได้”

๏ เมื่อท่านพ่อกลับจากอเมริกาใหม่ๆ มีศิษย์คนหนึ่งถามท่านว่า ได้มีโอกาสฉันพิซซ่าที่นั้นบ้างหรือเปล่า ท่านก็รับว่าได้ฉัน และหอมอร่อยด้วย ที่ท่านตอบแบบนี้ทำให้ลูกศิษย์ที่ไปอเมริกาด้วยกันเกิดแปลกใจ จึงพูดกับท่านว่า “เห็นท่านพ่อฉันแค่สองคำ นึกว่าท่านคงไม่ชอบ” ท่านพ่อก็ตอบว่า “กินคำสองคำก็อิ่มแล้ว จะให้กินเพื่ออะไรอีก”

๏ บางครั้งมีโยมบางคนที่ตั้งใจดีแต่ขาดการพิจารณา เข้ามาหาท่านพ่อแล้วถามในสิ่งที่ไม่ควรถาม ท่านพ่อจะหาคำตอบที่จะให้เขาสำนึกตัวบ้าง เช่นครั้งหนึ่งมีโยมคนหนึ่งนึกอยากจะทำอาหารถวายท่านพ่อ จึงถามท่านว่า “ท่านพ่อคะ ท่านพ่อชอบฉันอะไร” ท่านก็ตอบว่า “ชอบฉันของที่มีอยู่”

๏ คืนวันหนึ่ง มีศิษย์กลุ่มหนึ่งนั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปวัดธรรมสถิต พอดีมีคนอื่นฝากส้มหนึ่งเข่งไปถวายวัดด้วย ในระหว่างทางมีศิษย์หัวใสคนหนึ่งนึกอยากกินส้ม จึงชวนเพื่อนให้กินด้วย โดยอ้างว่า “เราเป็นลูกท่านพ่อ ท่านคงอยากให้เรากิน ถ้าคนไหนไม่กินก็ไม่ใช่ลูกท่านพ่อ” บางคนในรถกำลังถือศีล ๘ จึงรอดไป นอกจากนั้นทุกคนช่วยกันกินมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งๆ ที่บางคนกินแล้วรู้สึกไม่สบายใจ พอถึงวัดก็เล่าให้ท่านพ่อฟัง ท่านก็เลยว่าอย่างเสียหายว่า คนไหนกินของวัดโดยไม่ได้ถวายพระก่อนก็จะต้องเกิดเป็นเปรต ศิษย์คนหนึ่งเกิดตกใจมาก จึงรีบแก้ตัวว่า “ก็หนูกินแค่กลีบเดียวท่านพ่อ” ท่านก็ตอบว่า “ไหนๆ ก็จะตกเป็นเปรต น่าจะกินมากๆ จะได้อิ่ม”

๏ ในระหว่างพรรษา พ.ศ. ๒๕๒๐ มีสามีภรรยาคู่หนึ่งมาฝึกภาวนากับท่านพ่อที่วัดเป็นประจำแทบทุกวัน มีแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือเวลาใจมีอาการอะไรเกิดขึ้นก็มักจะคล้ายๆ กันพร้อมๆ กันทั้งคู่ ครั้งหนึ่งทั้งสองคนเกิดอาการกินข้าวไม่ลง เพราะเห็นแต่ความปฏิกูลในอาหาร เป็นมา ๓-๔ วัน จึงสงสัยตัวเองว่า ได้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นไหนแล้ว พอดีมีโอกาสมาหาท่านพ่อที่วัด แล้วเล่าความสงสัยให้ท่านฟัง ท่านก็เลยให้นั่งภาวนาแล้วบอกว่า “ให้พิจารณาอาหารดูซิ ว่าเป็นอะไร ก็แค่ธาตุใช่ไหม แล้วตัวเราเองคืออะไร ก็เป็นธาตุเหมือนกัน ธาตุก็ต้องอาศัยธาตุบำรุงจึงจะอยู่ได้ แล้วจะมาถืออะไรนักหนา ว่าเขาสกปรกปฏิกูล ตัวเราเองก็สกปรกปฏิกูลเหมือนกัน ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นความปฏิกูลในอาหารก็เพื่อกำจัดความลุ่มหลง ไม่ใช่สอนเพื่อกินข้าวไม่ได้”

ปัญหาที่ว่ากินข้าวไม่ลงนั้น เลยหายไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


บุญ

หนังสือยาใจ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

ภาค ๑ : ภาษาใจ
ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ
บุญ หน้า ๑๑-๑๕

:b8: :b8: :b8:

๏ ลูกศิษย์ท่านพ่อคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่ไปพบท่าน ท่านก็ถามว่า “เคยทำบุญที่ไหนบ้าง” เขาก็ตอบว่า เคยไปช่วยสร้างพระพุทธรูปที่วัดนั้น ช่วยสร้างเมรุที่วัดนี้ ฯลฯ ท่านก็เลยถามอีกว่า “ทำไมไม่ทำที่ใจล่ะ”

“สร้างพระไว้ในใจของเรา ได้บุญยิ่งกว่าสร้างพระข้างนอก”

๏ ครั้งหนึ่งท่านพ่อใช้ลูกศิษย์คนหนึ่งถางหญ้าที่วัด คนนั้นก็ทำไปโดยไม่เต็มใจ คิดแต่ในใจว่า “กรรมอะไรน้อ ที่ต้องมาทำงานอย่างนี้” พอเขาทำเสร็จ ท่านพ่อก็บอกว่า “โยมก็ได้บุญหรอก แต่ได้ไม่เต็มที่”

“โฮท่านพ่อ ทำถึงขนาดนี้ยังไม่ได้หรือ”

“โยมจะให้ได้เต็มที่ บุญก็ต้องถึงใจ”

๏ เรื่องหญ้ายังมีอีก วันหนึ่งท่านพ่อชี้หญ้าที่ขึ้นรกบริเวณกุฏิท่านให้โยมคนหนึ่งดู แล้วถามเขาว่า “หญ้าปากคอกโยมไม่เอาหรือ”

“เป็นอย่างไรท่านพ่อ หญ้าปากคอก”

“ก็บุญที่อยู่ใกล้ตัว ที่คนอื่นเขามองข้ามไป นั่นเรียกว่า หญ้าปากคอก”

๏ อีกครั้งหนึ่งท่านพ่อพาลูกศิษย์จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปทำความสะอาดบริเวณพระเจดีย์ พอดีเจอเศษขยะที่ใครไม่ทราบทิ้งไว้บนนั้น ลูกศิษย์คนหนึ่งจึงบ่นว่า “แหม ไม่น่าจะมีใครขาดความเคารพถึงขนาดนี้” แต่ท่านพ่อก็บอกว่า “อย่าไปว่าเขานะ ถ้าเขาไม่ได้ทิ้งของไว้ พวกเราจะไม่มีโอกาสเอาบุญ”

๏ วันหนึ่งมีโยมนำอาหารถวายท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ แต่พอดีวันนั้นท่านได้รับนิมนต์ไปฉันข้างนอก เขาก็รอจนหมดเวลา เห็นท่านไม่มา จึงเอาอาหารนั้นไปกินเสียเอง พอท่านพ่อกลับมาถึงวัด เขาก็บ่นเสียดายว่า “แหม ลูกตั้งใจเอาอาหารมาถวายท่านพ่อ แต่ท่านพ่อไม่อยู่”

“แล้วเอาอาหารนั้นไปทำอะไร”

“ก็รอจนหมดเวลา เลยกินเอง”

“แล้วจะเอาอะไรอีก บุญก็ได้ ไส้ก็อิ่ม”

๏ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๒ มีคนกลุ่มหนึ่ง มาหาท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ บ่อยๆ พอเห็นคนอื่นทำบุญกับท่านพ่อหรือเล่าเหตุการณ์ที่ปรากฏในสมาธิ เขาก็ต้องยกมือไหว้แล้วว่า “สาธุ อนุโมทนา” เป็นเสียงดังๆ พร้อมๆ กันทุกครั้งไป ท่านพ่อจึงตั้งฉายากลุ่มนี้ว่า “พวกหุ้นลม”

“ทำดีให้มันถูกตัวดี อย่าให้มันดีแต่กิริยา”

๏ วันหนึ่งหลังจากชื่อของท่านพ่อปรากฏในวารสารฉบับหนึ่งมีผู้ชายสามคนลางานแล้วขับรถจากกรุงเทพฯ มาระยอง เพื่อกราบนมัสการท่านพ่อที่วัด พอกราบเสร็จเขาก็สนทนาสักพักหนึ่งแล้วถามท่านว่า “พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เราพอจะกราบขอบารมีท่าน คงมีอยู่ในประเทศไทยเรา ใช่ไหมครับหลวงพ่อ”

“มีหรอก” ท่านพ่อตอบ “แต่ถ้าเราเที่ยวไปขอบารมีจากท่านบ่อยๆ โดยไม่ได้สร้างของเราเอง ท่านเห็นว่าเราเป็นคนขี้ขอ ท่านคงจะขี้เกียจให้”

๏ ครั้งหนึ่งมีโยมที่ปากน้ำสมุทรปราการบอกผ่านลูกศิษย์ของท่านพ่อว่า อยากจะถวายปัจจัยหลายหมื่นบาทเพื่อช่วยสร้างพระใหญ่ที่วัดธรรมสถิต แต่จะขอให้ท่านพ่อไปรับที่บ้านเขา พอลูกศิษย์เล่าถวายท่านพ่อ ท่านก็ปฏิเสธทันที โดยพูดกับลูกศิษย์ว่า “คนเราต้องไปหาบุญ ไม่ใช่ว่าจะให้บุญมาหาเรา”


๏ อีกครั้งหนึ่ง มีโยมโทรศัพท์ผ่านสำนักงานวัดมกุฏฯ ว่าเขาจะทำบุญที่บ้าน แล้วอยากจะนิมนต์ท่านพ่อไปฉันในงานนั้นด้วย เพราะได้ข่าวว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโน พอพระจากสำนักงานเล่าถวายท่านพ่อ ท่านก็ปฏิเสธที่จะไป แล้วต่อท้ายว่า “ข้าวของเขาจะวิเศษถึงขนาดนั้นหรือ ต้องเป็นพระอริยเจ้าจึงจะให้กิน”

๏ มีคนมาปรารภกับท่านพ่อว่า อยากจะทำบุญวันเกิด ท่านก็บอกว่า “ทำไมต้องทำวันเกิด ทำวันอื่นไม่เป็นบุญหรือ คิดอยากจะทำบุญเมื่อไร ก็ให้รีบทำวันนั้น อย่าไปรอวันเกิด กว่าจะถึงวันเกิด เราอาจจะถึงวันตายก่อนก็ได้”

๏ อีกคนหนึ่งบอกกับท่านพ่อว่า จะทำบุญฉลองวันเกิด ท่านก็ตอบว่า “ฉลองมันทำไม วันเกิดก็คือวันตายนั่นแหละ”

“มัวแต่นึกถึงวันเกิด ให้นึกถึงวันตายเสียบ้าง”

“คนเราทุกคนก็อยู่ในบัญชีตาย พอเกิดมาเราก็เข้าคิวรอเขาประหารชีวิต จะถึงตัวเราเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ ฉะนั้น เราจะประมาทไม่ได้ ต้องรีบสร้างความดีของเราให้ถึงพร้อม”

๏ มีลูกศิษย์ต่างชาติมาปฏิบัติธรรมกับท่านพ่อใหม่ๆ ถามถึงเรื่องชาติก่อน-ชาติหน้า ว่ามีจริงหรือไม่ ท่านตอบว่า “คนเราจะปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่ออย่างเดียว คือเชื่อกรรม นอกจากนั้นจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่สำคัญ”

๏ ท่านพ่อเคยปรารภคนที่ไม่สนใจนั่งภาวนา แต่ยินดีช่วยงานก่อสร้างในวัด ว่า “บุญเบาๆ เขาไม่ชอบ ต้องหาบุญหนักๆ ให้เขาทำ จึงจะถึงใจเขา”


๏ เมื่อครั้งสร้างเจดีย์เสร็จใหม่ๆ มีลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งนั่งคุยกันชื่นชมยินดีในผลานิสงส์ผลบุญที่เขาจะต้องได้รับจากการสร้างบุญในคราวนี้ เผอิญท่านพ่อเดินผ่านได้ยินเข้า จึงพูดเปรยๆ ว่า “อย่าไปติดอยู่ในวัตถุ ทำบุญแล้วอย่าไปติดอยู่ในบุญ มัวเอาใจไปคิดว่า เจดีย์นั้นฉันสร้างมากับมือ ดีไม่ดีเป็นลมตายไปตอนนี้ แทนที่จะได้เกิดเป็นชาวฟ้าชาวสวรรค์กับเขา จะต้องไปเกิดเป็นเปรตงูเหลือมเฝ้าเจดีย์ก่อนสัก ๗ วัน เพราะใจมัวแต่ไปข้องยึดอยู่ในวัตถุว่าของฉัน ของกู อยู่นั่นแหละ พอจะตายก็ เจดีย์ของกูๆ”

“คนเรา ถ้าทำดีแล้วติดดี ก็ไปไม่รอด เมื่อใจยังมีติด ภพชาติยังมีอยู่”

๏ บางครั้งเวลาลูกศิษย์นั่งภาวนาหรือทำการบุญใดๆ ท่านพ่อจะสอนให้อธิษฐานใจไว้ก่อน แต่คำที่จะสอนให้อธิษฐานนั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลบางครั้งท่านจะสอนให้อธิษฐานตามแบบฉบับของพระเจ้าอโศกว่า “เกิดชาติหน้า ขอให้มีความสามารถในตัวของตัวเอง นั่นก็พอ”

๏ บางครั้งท่านจะสอนว่า “อย่าไปอธิษฐานอะไรให้มากมาย เกิดชาติหน้าฉันใด ขอให้ได้เกิดตามพระพุทธศาสนาก็แล้วกัน”

๏ แต่ไม่ใช่ว่า ท่านพ่อจะสอนลูกศิษย์ทุกคนให้อธิษฐานใจเวลาทำบุญ ศิษย์คนหนึ่งเคยกราบเรียนท่านว่า เวลาทำบุญ จิตรู้สึกเฉยๆ ไม่นึกอยากจะขออะไรทั้งสิ้น ท่านก็บอกว่า “ถ้าจิตมันเต็มแล้ว ไม่ต้องขอก็ได้ เหมือนเราทานข้าว มันก็ต้องอิ่ม ถึงจะขอหรือไม่ขอให้มันอิ่ม อย่างไรมันก็ต้องอิ่ม”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


คนเข้าวัด

หนังสือยาใจ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

ภาค ๑ : ภาษาใจ
ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ
คนเข้าวัด หน้า ๑๖-๒๑

:b8: :b8: :b8:

๏ คนเข้าวัดลูกศิษย์ท่านพ่อคนหนึ่งทำการค้าขายเป็นอาชีพ เคยมีลูกค้ามาตำหนิว่า “นี่เป็นคนเข้าวัด ไม่น่าจะโลภมากคิดราคาแพงอย่างนี้ คนเข้าวัดน่าจะคิดถูกๆ เอาแต่พออยู่พอกิน” ตัวเขาเองก็รู้อยู่ว่าราคาที่เขาตั้งนั้นเป็นราคายุติธรรม ไม่ได้คดโกงหลอกลวงใคร แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังตอบลูกค้าเหล่านี้ไม่ถูก จึงไปปรึกษากับท่านพ่อ ท่านก็บอกว่า ให้ตอบเขาอย่างนี้สิ “ก็ฉันไม่ได้เข้าวัดเพื่อให้โง่”

๏ โยมคนหนึ่งมาวัดธรรมสถิตเป็นครั้งแรก กำหนดจะอยู่ถือศีล-ภาวนาเป็นเวลา ๒ อาทิตย์ ท่านพ่อก็เตือนว่า “ฆราวาสออกจากบ้าน ก็เหมือนสมภารออกจากวัด จะไปหาความสะดวกสบายไม่ได้นะ”

๏ โยมคนหนึ่งมาพักภาวนาที่วัด กะว่าจะอยู่สักอาทิตย์หนึ่ง แต่พอถึงวันที่สองก็ไปหาท่านพ่อเพื่อกราบลากลับกรุงเทพฯ เพราะเป็นห่วงทางบ้าน ท่านพ่อจึงสอนให้ตัดกังวลอย่างนี้ “ให้คิดเสียว่า เรามาอยู่ที่นี่เหมือนเราตายไปแล้ว คนทางบ้านจะอยู่อย่างไร เขาก็ต้องอยู่ของเขาได้”

๏ เคยมีศิษย์หลายคนที่ขอใช้เวลาพักร้อนมาถือศีล ๘ ที่วัด แต่ไม่มีชุดขาวที่จะนุ่งห่ม หรือถึงจะมีแต่เวลาถูกท่านพ่อใช้ให้ทำงานในวัด ก็กลัวชุดขาวจะเปรอะเปื้อนไป ท่านพ่อจะสั่งให้ใส่ชุดธรรมดาแล้วทำงานไป โดยกำชับไว้ว่า “ขาวข้างนอกไม่สำคัญ ให้ใจขาวข้างในก็แล้วกัน”

๏ โยมคนหนึ่งมาหาท่านพ่อในช่วงก่อนเข้าพรรษาแล้วเล่าให้ท่านฟังว่า ตัวเองอยากจะรักษาศีล ๘ ในพรรษาบ้าง แต่กลัวว่า อดข้าวเย็นแล้วจะหิว ท่านก็ว่าใหญ่ “พระพุทธเจ้าอดข้าวจนเนื้อไม่มีเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เพื่อเอาธรรมะมาสอนพวกเรา แต่เราจะอดข้าวแค่มื้อเดียวก็ทนกันไม่ไหวแล้ว นี่เป็นเพราะอันนี้ที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี่” ทำให้โยมคนนั้นตั้งใจจะรักษาศีล ๘ ในพรรษานั้นให้จนได้

ในที่สุดก็ได้ถือศีล ๘ ทุกวันพระในพรรษาจนสำเร็จ เมื่อออกพรรษาแล้วก็รู้สึกภูมิใจมาก แต่พอเข้าไปหาท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ ยังไม่ทันได้เล่าอะไรให้ท่านฟัง ท่านก็พูดขึ้นมาว่า “ดีนะ พรรษาของเรามีแค่ ๑๒ วัน เราก็สบายซิ ของคนอื่นก็ต้อง ๓ เดือน” ทำให้โยมคนนั้นรู้สึกละอายแก่ใจ จึงตั้งใจรักษาศีล ๘ ตลอดพรรษาทุกปีตั้งแต่วันนั้นมาจนทุกวันนี้

๏ ลูกศิษย์คนหนึ่งนั่งภาวนากับท่านพ่อแล้วเผลอไปตบยุงที่มากัดที่แขน ท่านก็เลยตั้งข้อสังเกตว่า “แหม เรานี้คิดแพงนะ มันมาขอเลือดเรานิดเดียว แต่เราเอาถึงชีวิต”

๏ ศิษย์อีกคนหนึ่งปรารภเรื่องศีลข้อที่ ๕ กับท่านพ่อว่า “ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามกินเหล้านั้น ก็เพราะคนส่วนใหญ่กินแล้วขาดสติ แต่ถ้ากินโดยมีสติคงไม่เป็นไรใช่ไหมครับท่านพ่อ” ท่านพ่อก็ตอบว่า “ถ้าเรามีสติจริง เราจะไม่กินมันเลย”

๏ อุบายแก้ตัวสำหรับผู้ที่จะไม่รักษาศีลข้อที่ ๕ นี้ รู้สึกว่ามีมากต่อมาก อีกวันหนึ่งมีศิษย์คนหนึ่งนั่งสนทนากับท่านพ่อในขณะที่ศิษย์คนอื่นกำลังนั่งภาวนาในห้องนั้นด้วยกันหลายคนเขาก็พูดว่า “การที่จะไม่กินเหล้านั้นผมทำไม่ได้ครับ เพราะผมอยู่ในสังคม บางครั้งผมก็ต้องกินไปตามสังคมเขา” ท่านพ่อก็ชี้คนที่นั่งหลับตาอยู่รอบๆ ตัวเขา แล้วถามว่า “ก็สังคมนี้ ไม่เห็นกินเหล้ากัน ทำไมไม่ทำตามสังคมนี้บ้าง”

๏ ศิษย์คนหนึ่งเห็นคนอื่นจะไปถือศีล ๘ ที่วัดอโศการาม ในงานประจำปีของท่านพ่อใหญ่จึงเล่าให้ท่านพ่อฟังว่า ตัวเองนึกอยากจะไปถือศีล ๘ กับเขาด้วย ท่านก็ตอบว่า “ระวังอย่าให้เป็นศีลแปดเปื้อนก็แล้วกัน”

๏ ศิษย์อีกคนหนึ่งเห็นเพื่อนถือศีล ๘ กันที่วัด ก็เลยอยากถือกับเขาบ้าง แต่พอตะวันบ่าย เดินผ่านกุฏิพระ เห็นลูกฝรั่งสวยๆ แล้วก็เก็บใส่ปากเลยท่านพ่อเห็นก็ทักทันที “ไหนว่าจะถือศีล ๘ มีอะไรอยู่ในปาก” ลูกศิษย์ก็สะดุ้ง เพราะสำนึกได้ว่า ศีลขาด ท่านพ่อก็เลยปลอบใจว่า “คนเราจะถือศีล ๘ นั้น ไม่ค่อยจำเป็นนัก แต่ขอให้ถือศีล ๑ ก็แล้วกัน รู้จักไหม-ศีล ๑”

“เป็นยังไงท่านพ่อ”

“ศีล ๑ ก็คือ การไม่ทำชั่วนั่นแหละ ยึดข้อนี้ไว้ให้มั่น”

๏ ครั้งหนึ่งที่ผู้ชายอายุกลางคนมาเที่ยววัดแล้วเกิดแปลกใจที่ได้เห็นว่ามีพระฝรั่ง เขาก็เล่าความแปลกใจให้ท่านพ่อฟังว่า “ทำไมฝรั่งจึงบวชได้” ท่านพ่อก็ตอบว่า “ฝรั่งเขาไม่มีใจหรือ”

๏ เคยมีผู้ชายมาขอบวชอยู่กับท่านพ่อ ๗ วัน ท่านก็ตอบว่า “ไปบวชเผือก บวชมัน เอาไปกิน ๗ วัน ยังดีกว่า”

๏ มีหลายกรณีที่พ่อแม่บางคนเห็นว่า ลูกชายเป็นคนเลี้ยงยากหรือเลี้ยงไม่ไหว ก็โยนปัญหาไปให้พระ คือฝากลูกชายให้อยู่วัด ให้พระดัดนิสัยบ้าง ครั้งหนึ่งท่านพ่อปรารภเรื่องนี้แล้วพูดว่า “ตอนมันทุกข์ ก็วิ่งมาหาพระ ไอ้ตอนมันสุขไม่เห็นนึกถึงพระกันเลย”

๏ สมัยหนึ่งมีชีปะขาวที่ใช้กำลังสมาธิรักษาโรค ได้ลงประวัติของตัวเองในวารสาร อ้างว่า แกเคยไปกราบท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ แล้วท่านพ่อรับรองว่าแกได้ฌาน ซึ่งฟังแล้วก็รู้สึกว่าผิดจากปกตินิสัยท่านพ่อ แต่เมื่อชื่อของท่านปรากฏอยู่ในวารสารนั้นแล้ว มีคนมาหาท่านที่วัดมากกว่าปกติ โดยหลงไปเข้าใจว่า ท่านเป็นหมอดูหรือหมอรักษาโรคเหมือนชีปะขาวคนนั้น มีคนหนึ่งมาถามท่านว่า ท่านรักษาโรคไตได้ไหม ท่านก็ตอบว่า “ฉันรักษาได้แต่โรคเดียว คือโรคใจ”

๏ มีคนหนึ่งที่เคยศึกษาธรรมะมามากพอสมควรไปกราบท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ แล้วเล่าถึงธรรมะที่เขาเคยศึกษามามากมาย พอเขากลับ ท่านพ่อก็เอ่ย “รู้มากก็ยากนาน คนรู้น้อยก็พลอยรำคาญ”

๏ โยมคนหนึ่งขออนุญาตจดธรรมะของท่านพ่อไว้เพื่อกันลืม ท่านก็ปฏิเสธโดยบอกว่า “เราเป็นคนอย่างนั้นหรือ ไปไหนก็ต้องมีข้าวห่อติดตัว กลัวจะอดข้างหน้า” แล้วท่านก็ให้เหตุผลต่อไปว่า “ถ้าเรามัวแต่จดไว้ เราจะถือว่า ถึงลืมก็ไม่เป็นไร เพราะยังอยู่ในสมุด ผลสุดท้ายธรรมะจะอยู่ในสมุดหมด ไม่มีเหลืออยู่ในใจของเรา”

๏ ในระหว่างการก่อสร้างเจดีย์ที่วัดธรรมสถิต มีช่วงหนึ่งที่ลูกศิษย์ที่ไปช่วยงานก่อสร้างเกิดทะเลาะกัน ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ไม่พอใจในเหตุการณ์ไปรายงานท่านพ่อ ซึ่งขณะนั้นพักอยู่ที่วัดมกุฏฯ พอเขารายงานเสร็จ ท่านพ่อก็ถามว่า

“รู้จักหินไหม” “รู้จักค่ะ”

“รู้จักเพชรไหม” “รู้จักค่ะ”

“แล้วทำไมไม่เลือกเก็บเพชรล่ะ เก็บมันทำไม-หิน”

๏ คนบางคนที่ปฏิบัติธรรมแล้ว เจอปัญหาที่พ่อแม่ไม่เห็นดีด้วยที่ลูกมาสนใจในทางนี้ เคยมีศิษย์ท่านพ่อคนหนึ่งเกิดความไม่พอใจต่อพ่อแม่เมื่อปัญหานี้เกิดขึ้น แต่ท่านพ่อก็เตือนเขาไว้ว่า “พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา ถ้าเราไปโกรธเขา ไปว่าเขา ไฟนรกก็สุมอยู่ที่หัวเรานะ ให้ระวังไว้ แล้วตรองไว้อีกให้ดีๆ ที่เขาไม่เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติของเรา ให้ถามตัวเองว่า ทำไมไม่เลือกไปเกิดกับพ่อแม่ที่เขามีความสนใจในการปฏิบัติธรรมกันบ้าง ที่เรามาเกิดกับพ่อแม่ของเรา แสดงว่าเราได้ทำกรรมร่วมกับเขาไว้ ฉะนั้นเราจึงต้องใช้กรรมไป ไม่จำเป็นที่จะต้องตอบโต้กับเขา”

๏ บางครั้งพอถึงเวลาปิดเทอม จะมีเด็กนักเรียนจากกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งมาช่วยงานที่วัด พอดีมีเด็กคนหนึ่งกลัวผีเอามากๆ ท่านพ่อจึงใช้ให้เด็กคนนั้นขึ้น-ลงเขาเพื่อเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ในเวลากลางคืนอยู่เสมอๆ เพื่อให้เด็กชินกับความมืดและความเงียบสงัด จะได้จัดการกับความกลัวผีได้ แต่เด็กคนนั้นยังไม่วายที่จะกลัวอยู่นั่นเอง จึงออกปากขอคาถากันผีจากท่านพ่อ ท่านพ่อก็หัวเราะแล้วบอกว่า “ผีเผอที่ไหนมี มัวแต่กลัวผีนอกอยู่นั่นแหละ ที่อยู่กับผีในไม่รู้จักกลัว ตัวเรานี้นะผีเหมือนกัน ผีเป็นน่ะ รู้จักไหม ป่าช้าผีดิบดีๆ นี่เอง ทั้งผีหมู ผีวัว ผีควาย ผีเป็ด ผีไก่ สารพัดที่อยู่ในท้อง เดินไปไหนก็เอาป่าช้าผีดิบติดตัวไปด้วย ยังจะกลัวอะไรอีก เอาล่ะ ถ้าอยากได้คาถาก็จะให้ เอาไปท่องจำให้ขึ้นใจนะ
ผีตายหลอกผีเป็น เกิดมาไม่เคยเห็น มีแต่ผีเป็นหลอกผีตาย”

“ถ้าใจเรามั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พวกที่เขาเล่นของ เล่นไสยศาสตร์ จะทำอะไรเราไม่ได้”

๏ ท่านพ่อเคยปรารภนักปฏิบัติที่ยังนับถือคนเข้าทรง ว่า “ถ้าต้องการให้ปฏิบัติได้ผลดี ต้องอธิษฐานว่า จะขอถือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ใช่ที่พึ่ง”

“เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปอัศจรรย์ใครทั้งนั้น ว่าเขาดีวิเศษวิโสแค่ไหน จะทำอะไรก็ต้องมีหลัก”

“ท่านผู้รู้ทั้งหลาย เราไม่ต้องไปเที่ยวกราบท่านหรอก เป็นการลำบากเปล่าๆ ทั้งสองฝ่าย ให้กราบท่านในใจดีกว่า เรากราบท่านในใจนั่นแหละเราถึงท่านแล้ว”

“ของจริงขึ้นอยู่กับเรา ถ้าเราทำจริงเราจะได้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริงเราจะได้แต่ของปลอม”

“ไปกี่วัดกี่วัด รวมแล้วก็วัดเดียวนะละ คือวัดตัวเรา”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


ศิษย์ อาจารย์

หนังสือยาใจ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

ภาค ๑ : ภาษาใจ
ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ
ศิษย์ อาจารย์ หน้า ๒๒-๒๕

:b8: :b8: :b8:

“ทำอะไรก็ให้นึกถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เราลืมท่านก็เหมือนเราตัดรากของตัวเอง”

“อย่าเป็นศิษย์นอกคอก หัวล้านนอกครู ครูบาอาจารย์สอนอะไร ท่านก็ย่อมพิจารณาแล้ว ธรรมทั้งหลายที่มาสอนเรา ท่านก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลกมา พวกเราซิสบาย ไม่ต้องลำบากอะไรเลย ท่านเอามาป้อนให้ถึงปาก ยังไม่อยากจะเอากันเลย”

๏ ปกติเวลาท่านพ่อได้พระเครื่องหรือรูปครูบาอาจารย์ ท่านก็แจกลูกศิษย์ไป แต่นานๆ ทีจะให้ลูกศิษย์ที่ปฏิบัติท่านใกล้ชิด ถึงจะให้ก็ให้ด้วยอาการโยนทิ้งว่า “อยากได้ก็เอาไป”

ครั้งหนึ่งลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้ชิดท่านก็บ่นแบบน้อยใจว่า ทำไมท่านพ่อได้พระดีๆ ก็แจกคนอื่นหมด ไม่เคยให้เขาสักที ท่านก็ตอบทันที “ของดีกว่านั้นก็ให้ไปแล้ว ทำไมไม่เอา”

๏ ทุกครั้งที่ปลงผมท่านพ่อ ท่านก็สั่งว่าให้เอาเส้นผมท่านไปทิ้งที่โคนไม้ แต่ถ้าวันโกนตรงกับวันหยุดราชการ จะมีลูกศิษย์ฆราวาสถือขันคอยที่ประตูกุฏิท่าน เพื่อขอเส้นผมท่านจากพระอุปัฏฐาก เมื่อท่านพ่อทราบว่าเขารออยู่เพื่ออะไร ท่านก็ว่า “เฮ้ย สมบัติขี้ทุกข์ขี้ยาก”

๏ วันหนึ่งในขณะที่ลูกศิษย์ผู้ชายคนหนึ่งกำลังบีบนวดขาถวายท่านพ่ออยู่ มีศิษย์ผู้หญิงคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “แหม โชคดีจริงๆ ที่เกิดมาเป็นผู้ชาย ได้ปรนนิบัติใกล้ชิดท่านพ่อ ลูกอยากจะเกิดเป็นผู้ชายบ้างเจ้าค่ะ จะได้มีโอกาสใกล้ชิดอย่างนี้บ้าง” ท่านพ่อจึงหันหน้ามาบอกว่า “การปฏิบัติครูบาอาจารย์ไม่ใช่ของเล่นๆ นะ เหมือนดาบสองคม ถ้ารู้จักใช้ดาบให้ดีก็มีประโยชน์ ถ้าใช้ไม่ดี ประมาท ดาบนั่นแหละจะเชือดคอเจ้าของ ยิ่งใกล้ชิดท่านผู้รู้แล้วยิ่งน่ากลัวใหญ่ ประมาทนิดเดียวตกนรกเลย”

ศิษย์ผู้หญิงคนนั้นเลยร้องตอบว่า “โอ๊ย อย่างนั้นไม่เอาแล้วเจ้าค่ะ”

ท่านพ่อหัวเราะน้อยๆ แล้วพูดต่อ “เออ ให้รู้จักพอใจในสิ่งที่เรามี เป็นผู้หญิงก็มีโอกาสได้มรรคได้ผลเหมือนกัน ให้ภาวนาไป ไอ้บุญอย่างนี้ไม่ต้องไปหวังมันหรอก”

๏ ลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นคนช่างถาม สงสัยอะไรก็ถามท่านพ่ออยู่เรื่อย เรื่องภาวนาบ้าง ปัญหาชีวิตบ้าง บางครั้งท่านก็ตอบดีๆ บางครั้งท่านก็ย้อนถามว่า “ทำไมจะต้องให้มีคนป้อนให้ถึงปากอยู่ตลอดเวลา ให้คิดเอาเองบ้างซิ”


๏ ท่านพ่อเคยปรารภเรื่องคนที่ต้องให้ครูบาอาจารย์แก้ปัญหาในชีวิตทุกอย่างว่า “เหมือนลูกหมา พอมีขี้ติดตูดอยู่นิดหนึ่ง ก็ต้องรีบวิ่งไปหาแม่ ไม่รู้จักล้างตัวเองบ้าง อย่างนี้เรียกว่า ลูกแหง่ เลี้ยงไม่โตสักที”

“คนติดครูบาอาจารย์ก็เหมือนแมลงหวี่มาตอม ไล่เท่าไรๆ ก็ไม่ยอมไป”

“พวกภาวนาที่อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ แต่ไม่รู้จักท่าน ก็เหมือนทัพพีอยู่ในหม้อแกง ไม่มีโอกาสรู้รสของแกงว่า เปรี้ยว เผ็ด มัน อย่างไร”

“คนหลายอาจารย์ ที่จริงไม่มีอาจารย์เลย”

“ถ้าครูบาอาจารย์ชมใครต่อหน้า แสดงว่าคนนั้นก็หมดแค่นั้น ชาตินี้ก็คงไม่ปฏิบัติอะไรให้ยิ่งกว่านั้น ที่ท่านชมก็เพื่อให้เขาภูมิใจว่า ในชาตินี้เขาได้ปฏิบัติถึงขนาดนี้ ใจจะได้มีอะไรไว้ยึดเหนี่ยวต่อไป”

๏ ธรรมดาของลูกศิษย์บางคน อยากจะให้อาจารย์ดัง โดยไม่ได้คานึงถึงว่าความดังนั้นจะให้ผลกระทบกระเทือนถึงอาจารย์และศิษย์อื่นด้วยกันอย่างไรบ้าง ครั้งหนึ่งลูกศิษย์ปรารภหญ้าที่กาลังขึ้นสูงๆ หน้าวัดธรรมสถิต แล้วพูดเป็นนัยให้ท่านพ่อฟังว่า “รกคนดีกว่ารกหญ้านะ ท่านพ่อ” ท่านพ่อก็ตอบทันที “รกคนบ้า รกหญ้าดีกว่า”


๏ สมัยสร้างเจดีย์เสร็จใหม่ๆ มีศิษย์หลายคนมากราบเรียนท่านพ่อว่า จะขอนิมนต์หรือเชิญผู้ที่มีเกียรติผู้นั้นผู้นี้มาเป็นประธานในงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ท่านพ่อก็ปฏิเสธโดยบอกว่า “ถ้างานนั้นเราทำเองไม่ได้ ทำไม่เสร็จ ก็น่าจะเชิญเขามา แต่ถ้าเราทำเองได้ จะเชิญเขามาทำไม ลาบากไปเปล่าๆ ทั้งสองฝ่าย”

๏ มีลูกศิษย์คนหนึ่งมาขอรูปเล็กๆ ของท่านพ่อ เพื่อห้อยไว้ที่คอ ท่านก็บอกว่า “ไม่ต้องห้อยรูปครูบาอาจารย์หรอก ไม่ต้องไปบอกว่า ใครเป็นอาจารย์ รู้ไว้ที่ใจก็พอ”

๏ ศิษย์หลายคน ในเมื่อรับความเมตตาจากท่านพ่อ ก็อดไม่ได้ที่จะพูดกับท่านว่า รักท่าน เคารพท่าน เหมือนพ่อบังเกิดเกล้า บางครั้งท่านก็ย้อนถามว่า “จริงอย่างที่พูดหรือเปล่า ถ้าจริงก็อย่าลืมลมซิ รักพ่อจริงอย่าทิ้งลมนะลูก”

๏ และมีศิษย์อีกหลายคนที่มีความเชื่อมั่นว่าท่านพ่อต้องรู้วาระจิตเขา เพราะมีหลายต่อหลายครั้งที่ท่านพูดหรือทำอะไรที่ตรงกับเรื่องที่เขากำลังคิดหรือข้องใจอยู่ แต่คำที่ท่านพูดในกรณีแบบนี้ ส่วนใหญ่มีความหมายพิเศษเฉพาะสาหรับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ฉะนั้น จึงต้องยกไว้เป็นสมบัติส่วนตัวของคนเหล่านั้น แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึง ๒ กรณี ที่เห็นว่าเป็นคติดีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป

ครั้งหนึ่งมีศิษย์ผู้ชายคนหนึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อช่วยงานก่อสร้างเจดีย์ที่วัดธรรมสถิต พอลงที่ปากซอยเข้าวัดก็นึกขี้เกียจเดินเข้าไป เพราะเป็นระยะทางตั้ง ๖ กิโลเมตร เขาจึงนั่งรอหน้าร้านที่ปากซอย เผื่อจะมีรถเข้าไป รอสักพักหนึ่งก็เกิดนึกอยู่ในใจว่า “ถ้าท่านพ่อแน่จริง จะต้องมีรถผ่านมารับเราเข้าวัด” แต่รอจนแล้วจนรอด ๒-๓ ชั่วโมง ไม่มีรถผ่านเข้าซอยสักคัน เขาจึงต้องเดินเข้าไป พอถึงวัดก็ไปกราบท่านพ่อ แต่เมื่อท่านพ่อเห็นเขาเดินเข้ามาหา ท่านก็เข้าห้องปิดประตู เขาก็เริ่มใจไม่ดี แต่ยังกราบลงที่หน้าประตูห้อง พอเขากราบเสร็จ ท่านพ่อก็เปิดประตูบอกว่า “กูไม่ได้ขอร้องให้มึงมา มึงมาของมึงเอง”


๏ คืนอีกวันหนึ่ง ศิษย์คนนั้นนั่งภาวนาที่เจดีย์โดยหวังไว้ว่า จะมีเสียงนิมิตเข้าหูบอกเลขสัก ๒-๓ ตัว แต่แทนที่จะได้ยินเสียงนิมิต กลับได้ยินเสียงองค์ท่านพ่อจริงๆ เดินผ่านแล้วถามลอยๆ ว่า “นี่ จะมาเอาอะไรเป็นที่พึ่ง”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


โลกธรรม

หนังสือยาใจ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

ภาค ๑ : ภาษาใจ
ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ
โลกธรรม หน้า ๒๖-๓๒

:b8: :b8: :b8:

“ท่านอาจารย์มั่นเคยพูดไว้ว่า “คนเราก็เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน แต่รวมแล้วก็เหมือนกัน” อันนี้ต้องเอาไปคิดมากๆ หน่อย จึงจะเข้าใจความหมายของท่าน”

๏ โยมคนหนึ่งไปนั่งที่วัดมกุฏฯ รู้สึกไม่สบายใจ เพราะวันก่อนมีลูกศิษย์อีกคนหนึ่งไปต่อว่าท่านพ่อเป็นการใหญ่ พอท่านพ่อทราบว่าโยมคนนี้ไม่สบายใจเรื่องอะไร ท่านก็ว่า “คนมันโง่ ไม่รู้จักคำว่า ‘คน’ ไม่ใช่จะมีแต่คน ๒ ขาเดินได้ คนที่เขาคนอยู่ในหม้อให้มันเละมันเปื่อยมันวุ่นวายก็มี แล้วเราไปปล่อยให้เขาคนอยู่ในใจของเรา ให้มันเศร้าหมอง ถ้ารู้จักอย่างนี้จะได้ทำใจได้”

“อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง”

“จะดูคนอื่น ต้องดูที่เจตนาเขา”

“เราจะให้คนอื่นเขาดี เราต้องดูว่า ดีของเขามีอยู่แค่ไหน ถ้าดีของเขามีอยู่แค่นั้น เราจะให้เขาดีกว่านั้น เราก็โง่”

๏ กราบท่านพ่อครั้งแรก โยมคนหนึ่งพูดกับท่านว่า “หมู่นี้โยมทำงานไม่ค่อยสะดวกใจ ไม่รู้เป็นอะไร รู้สึกหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา” ท่านก็นิ่งสักครู่หนึ่ง แล้วบอกว่า “ทำงานอย่าเอาแต่ใจตัวเอง เราทำอะไรเราก็ว่าเราถูก แต่มันอาจจะไม่ถูกคนอื่นเขา อย่ามัวแต่ว่าคนนั้นทำผิด คนนี้ทำผิด ให้กลับมาดูความผิดของตัวเองอย่างเดียวดีกว่า”

“ใครจะดีอย่างไร จะชั่วอย่างไร ก็เรื่องของเขา เราดูเรื่องของเราดีกว่า”

๏ ศิษย์คนหนึ่งเล่าให้ท่านพ่อฟังถึงปัญหาทั้งหลายแหล่ที่เข้ามาเรื่อยๆ ในที่ทำงาน ตัวเองก็อยากจะลาออก อยู่เงียบๆ แต่ก็ลาไม่ได้ ท่านพ่อจึงแนะนำว่า “ในเมื่อเราต้องอยู่กับมัน เราต้องรู้จักให้อยู่เหนือมัน เราจึงจะอยู่ได้”

“เราทำงาน อย่าให้งานทำเรา”

๏ ศิษย์คนหนึ่งขอคำแนะนาจากท่านพ่อเรื่องปัญหาในการร่วมสังคมทางโลก ว่าบางครั้งต้องสังสรรค์ ร่วมกิจกรรม หรือเที่ยวกับคนหมู่มาก ซึ่งความจริงน่าจะสนุก แต่ส่วนลึกแล้วรู้สึกเศร้าสลดอย่างไรชอบกล ท่านพ่อก็บอกว่า “เราอยู่กับสังคม บางทีต้องทำตามเขาแต่ขัดใจเรา ถ้าเราทำตามใจเรา เราก็ขัดกับพวก คนเราต้องรักตัวเราเองยิ่งกว่าคนอื่น ฉะนั้นจะทำอย่างไรจึงจะได้ทั้ง ๒ อย่าง คือทำตามเขาแต่กาย ส่วนใจมีสติรู้อยู่ของเราข้างใน คือมีสติรักษาลม”

๏ ศิษย์อีกคนหนึ่งมาบ่นกับท่านพ่อว่า ทั้งในบ้าน ทั้งในที่ทำงาน ตัวเองต้องเจอแต่ปัญหาที่หนักๆ แทบเป็นแทบตายทั้งนั้น ท่านจึงบอกว่า “เราเป็นคนจริง จึงต้องเจอของจริง”

“เจออุปสรรคอะไรเราก็ต้องสู้ ถ้าเรายอมแพ้เอาง่ายๆ เราจะต้องแพ้อยู่เรื่อย”

“ข้างในเราก็ต้องแกร่ง มีอะไรมากระทบเราจะได้ไม่หวั่นไหว”

“ให้พกหิน อย่าพกนุ่น”

“ให้ทำตัวเป็นแก่น อย่าทำตัวเป็นกระพี้”

๏ ศิษย์คนหนึ่งปรับทุกข์กับท่านพ่อว่า เวลาเขาทำอะไรที่บ้านหรือที่ทำงาน คนอื่นมักจะมองเขาในแง่ไม่ดีอยู่เสมอ ท่านพ่อก็สอนให้เขาพิจารณาอย่างนี้ “หู-ตาคนอื่นเป็นหูกระทะ-ตาไผ่ หูกระทะเป็นยังไง เวลาเราพูดเขาฟังรู้เรื่องไหม”

“เปล่า ไม่รู้เรื่องรู้ราว”

“แล้วตาไผ่เป็นยังไง”

“มันก็แหลมๆ ถ้าเราไม่ระวังมันก็จะทิ่มเอา”

“นั่นแหละซิ แล้วจะเอาอะไรกับมัน”

๏ ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งเจอปัญหาในที่ทำงานคือ มีคนชอบนินทาเขาอยู่เรื่อย ตอนแรกเขาไม่ได้คิดอะไร เพียงแต่ทนเอาเฉยๆ แต่เมื่อเจอบ่อยเข้าก็รู้สึกเบื่อเรื่องนี้มากๆ วันหนึ่งไปนั่งภาวนากับท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ แล้วเกิดนิมิตเห็นภาพตัวเองซ้อนๆๆ หลายชั้นจนนับไม่ถ้วน ทำให้คิดว่าตัวเองเคยเกิดมาหลายภพหลายชาติ คงจะเจอเรื่องแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว ทำให้รู้สึกยิ่งเบื่อใหญ่ พอออกจากสมาธิก็เล่าให้ท่านพ่อฟังว่ารู้สึกเบื่อมากๆ ต่อการนินทานี้ ท่านพ่อก็สอนให้วางโดยบอกว่า “สิ่งพรรค์นี้เป็นโลกธรรม เป็นของคู่กับโลก เมื่อมีดีก็ต้องมีไม่ดีด้วย รู้อย่างนี้จะไปยุ่งกับมันทำไม” แต่อำนาจกิเลสที่กำลังแรงทำให้ศิษย์คนนี้โต้กลับท่านพ่อว่า “ก็หนูไม่ได้ไปยุ่งกับมัน มันมายุ่งกับหนูเอง” ท่านก็เลยสวนทางทันที “แล้วทำไมไม่ถามตัวเองว่า เสือกเกิดมาทำไม”

“เขาว่าเราไม่ดี มันก็อยู่แค่ปากเขา ไม่เคยถึงตัวเราสักที”

“คนอื่นเขาด่าเรา เขาก็ลืมไป แต่เราไปเก็บมาคิด เหมือนเขาคายเศษอาหารทิ้งไป แล้วเราไปเก็บมากิน แล้วจะว่าใครโง่”

“ใครจะด่าว่ายังไงก็ช่างหัวมัน อย่าไปสนใจ ให้หัดเอาหินถ่วงหูไว้บ้าง อย่าเอามาหาบมาคอน หนักเปล่าๆ ของไร้สาระ”

๏ วันหนึ่งท่านพ่อตั้งปัญหาให้โยมคนหนึ่งว่า “ถ้าเสื้อผ้าของโยมตกลงไปในบ่ออาจม โยมจะเอาขึ้นไหม”

โยมก็งง แต่ก็รู้ตัวว่า จะตอบปัญหาท่านพ่อแบบเซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ได้ จึงตอบว่า “ก็แล้วแต่ ถ้าเรามีชุดนั้นชุดเดียว คงจำเป็นจะต้องเอาขึ้นมา แต่ถ้ามีชุดอื่นก็คงจะปล่อยทิ้งไป ท่านพ่อหมายถึงอะไร”

“คนเราที่ชอบฟังเรื่องไม่ดีของคนอื่นเขา ถึงแม้ว่าเราไม่ได้รับกรรมของเขา แต่กลิ่นมันจะต้องมาถึงเรา”

๏ เวลาลูกศิษย์คนไหนถือโกรธอยู่ในใจ ท่านพ่อจะสอนว่า “ความโกรธแค่นี้เราสละกันไม่ได้หรือ ให้คิดว่าเราให้ทานเขาไป คิดดูสิ พระเวสสันดรสละไปแค่ไหน ท่านก็ยังสละได้ ไอ้ของแค่นี้ไม่มีค่าอะไร ทำไมเราสละกันไม่ได้”

“โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า”

“ทิฐิกับสัจจะมันคนละอย่างกันนะ ถ้ารักษาคำพูดด้วยใจขุ่นมัว คิดจะเอาชนะเขา นั่นคือตัวทิฐิ ถ้ารักษาด้วยใจปลอดโปร่ง สงบเยือกเย็น นั่นคือสัจจะ ถ้าเวลารักษาสัจจะเราก็กัดฟันไปด้วย นั่นไม่ใช่สัจจะหรอก”

“จะทำอะไรก็ให้คิดก่อนจึงค่อยทำ อย่าทำแบบที่ว่า ทำแล้วจึงค่อยมาคิดทีหลัง”

๏ โยมคนหนึ่งชอบทำตัวเป็นที่ปรึกษาของเพื่อนๆ ในที่ทำงาน แต่พอรับฟังความทุกข์จากเพื่อนๆ มากเข้าๆ ใจตัวเองชักจะเป็นทุกข์กับเขาด้วย ท่านพ่อจึงแนะนา “ให้รู้จักปิดฝาตุ่มซะบ้าง ปิดหน้าต่างซะบ้าง ฝุ่นจะได้ไม่เข้า”

“ระวังเมตตาตกบ่อนะ คือเราเห็นเขาตกทุกข์ยากลำบาก เราก็คิดอยากจะช่วยเขา แต่แทนที่จะดึงเขาขึ้น เขาก็กลับดึงเราลง”

“เขาว่าดี แต่มันดีของเขา จะดีของเราหรือเปล่า”

“เราทำตามเขา เราก็โง่ตามเขาซิ”

“เขาโกรธเรา เขาเกลียดเรา นั่นแหละเราก็สบาย จะไปไหนมาไหนไม่ต้องเป็นห่วงหน้าห่วงหลังว่า เขาจะเสียใจไหม เขาจะคิดถึงไหม กลับมาเราก็ไม่ต้องเอาของมาฝากด้วย เราก็เป็นอิสระในตัวของเรา”

“คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ”

“เอาชนะคนอื่นนะ มันเป็นเวรเป็นกรรมกัน สู้ชนะตัวเราเองไม่ได้หรอก ชนะตัวเองนั้นประเสริฐที่สุด”

“อะไรจะเสียก็ให้มันเสียไป แต่อย่าให้ใจเสีย”

“เขาเอาของเราไป ก็ให้ถือว่าให้ทานเขาไป ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้จักหมดเวรหมดกรรมกันสักที”

“เขาเอาของเรา ดีกว่าเราเอาของเขา”

“ถ้าเป็นของเราจริงๆ ยังไงๆ มันต้องอยู่กับเรา ถ้าไม่ใช่ของเรา เราจะเอามันทำไม”

“มิจฉาชีพคืออะไร มิจฉาชีพคือ เราทำอะไรที่จะเอาของเขามาด้วยเจตนาไม่ซื่อตรง นั่นก็เรียกว่ามิจฉาชีพทั้งนั้น”

“จนข้างนอกไม่เป็นไร อย่าให้จนข้างในก็แล้วกัน ให้ใจเรารวยทาน ศีล ภาวนา รวยอริยทรัพย์ดีกว่า”

๏ ลูกศิษย์คนหนึ่งเคยบ่นกับท่านพ่อว่า “หนูเห็นคนอื่นเขาอยู่อย่างสบาย ทำไมชีวิตของหนูรู้สึกว่าลำบากเหลือเกิน” ท่านพ่อก็ตอบว่า “โธ่ ลำบากของเรามัน ๑๐ ดี ๒๐ ดีของคนอื่นเขา ทำไมไม่ดูคนที่เขาลำบากกว่าเราบ้าง”

๏ บางครั้งเวลาลูกศิษย์มีความทุกข์ ท่านพ่อสอนให้ปลงตกโดยใช้ประโยคว่า “จะโทษใครได้ ก็เราเองอยากเกิดมานี่ ไม่มีใครจ้างให้มา”

“อารมณ์ทั้งหลายมันก็มีอายุของมัน ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปตลอด พอหมดอายุมันก็ดับไปเอง”

“การมีคู่เป็นทุกข์ ยิ่งมีคู่ดีก็ยิ่งทุกข์มากกว่าคู่ไม่ดี เพราะมันผูกพันกันมาก”

“เราก็ว่า ‘ลูกของเรา ลูกของเรา’ แต่เขาเป็นของเราจริงหรือเปล่า ขนาดตัวของเราเองท่านก็บอกว่าไม่ใช่ของเรา แล้วจะว่ายังไง”

๏ คืนวันหนึ่งศิษย์สองคนแม่-ลูก มาหาท่านพ่อที่ตึกเกษมฯ พอดีลูกเกิดเถียงกับแม่ต่อหน้าท่านพ่อ ท่านจึงว่า “โอ้โห เถียงกับแม่อย่างนี้เชียวหรือ”

ฝ่ายแม่ก็ตอบว่า “ค่ะ ฉันต้องอโหสิให้ลูกๆ วันละ ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ฉันไม่เอากรรมเอาเวรกับเขาหรอก”

ท่านก็บอกว่า “ก็นั่นแหละสิ พ่อแม่ไม่เอากรรมเอาเวรกับลูก แต่เบื้องบนเบื้องล่างเขาจะยอมหรือเปล่า”

๏ คืนอีกวันหนึ่งในระหว่างที่ป่วยหนัก ศิษย์ท่านพ่ออีกคนหนึ่งฝันเห็นตัวเองตายแล้วขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ เช้าตื่นขึ้นมาก็รู้สึกใจไม่ดี จึงเล่าให้ท่านพ่อฟัง ท่านก็พยายามปลอบใจว่า ที่ฝันอย่างนั้นเป็นมงคล ถ้าอยู่มีชีวิตต่อไปการงานคงจะได้เลื่อนขั้น ถ้าตายไปก็คงอยู่เบื้องบนละ แต่พอท่านพูดถึงข้อนี้เขาก็ยิ่งใจเสีย บอกว่า “แต่หนูยังไม่อยากตายเลย ท่านพ่อ” ท่านก็ตอบว่า “อายุของเรา ถ้าจะหมดแค่นี้ก็ต้องยอมเขา ไม่ใช่หนังสติ๊กที่จะยืดได้หดได้”

“สุขในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ฯลฯ ที่เราปรารถนามากเป็นพิเศษ แสดงว่าเราเคยเสวยแล้วในชาติก่อนๆ เราจึงคิดถึงมันในชาตินี้ คิดอยู่แค่นี้ก็น่าจะเกิดความสลดสังเวชในตัวเองได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


อบรมพระ

หนังสือยาใจ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

ภาค ๑ : ภาษาใจ
ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ
อบรมพระ หน้า ๓๓-๔๐

:b8: :b8: :b8:

“เราบวชมาเพื่อเอาบุญ แต่ตัวบุญเป็นยังไง อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไรเราก็ไม่ทราบ ต้องภาวนาให้ใจสงบ นั่นแหละจะได้เห็นตัวบุญ”

“บางคนก็หาว่า พระไม่ได้ทางาน แต่ที่จริงงานละกิเลสนี้เป็นงานที่ยากที่สุดในโลก งานทางโลกเขายังมีวันหยุดบ้าง แต่งานนี้ไม่มีเวลาหยุดกันเลย ต้องทำตลอด ๒๔ ชั่วโมง บางครั้งเราจะรู้สึกว่าเราทำไม่ไหว แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำ ใครจะมาทำให้เรา เป็นหน้าที่ของเราโดยตรง ถ้าเราไม่ทำ เราจะบวชกินข้าวชาวบ้านเพื่ออะไร”

“เวลาเราทำงานอะไรอยู่ ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสีย ก็ให้หยุดทำทันที แล้วกลับมาดูใจของตัวเอง เราต้องรักษาใจของเราไว้เป็นงานอันดับแรก”

“วัดนอกเราดูแลพอประมาณ สาคัญอยู่ที่วัตรในของเรา อย่าให้ขาด”

“เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามลดละอารมณ์”

๏ เย็นวันหนึ่งที่วัดธรรมสถิต ขณะที่พระอาทิตยกำลังตกหลังเขา มีพระหนุ่มๆ จากกรุงเทพฯ องค์หนึ่งนั่งที่ระเบียงกุฏิท่านพ่อ แล้วพูดชมว่า “แหม วิวที่นี่สวยไม่ใช่เบานะ ท่านพ่อ” ท่านพ่อก็สวนทางทันที “ใครว่าสวย ดูซิ ตัวไหนที่ว่าสวย ให้ดูตัวนั้นดีกว่า”

๏ วันหนึ่งในระหว่างที่ถูกุฏิท่านพ่ออยู่ พระที่ปฏิบัติท่านพ่อเป็นประจำเกิดนึกขึ้นมาว่า ที่ตัวเองทำอย่างนี้คงจะได้อานิสงส์ไม่ใช่น้อย คิดไปก็ถูไป พอดีท่านพ่อเดินขึ้นกุฏิแล้วพูดขึ้นมาว่า “อยากได้อานิสงส์เต็มที่ ก็ต้องให้ใจอยู่กับลมซิ”

๏ เรื่องความสะอาด การเช็ดของ การวางของเข้าระเบียบ ฯลฯ เหล่านี้ท่านพ่อเป็นคนละเอียดมาก ถ้าท่านสังเกตว่า ลูกศิษย์คนไหนตั้งใจปฏิบัติ ท่านจะสอนเรื่องราวนี้อย่างเข้มงวดกวดขัน เพราะท่านเองถูกครูบาอาจารย์ฝึกมาอย่างนี้ และท่านถือว่า “แค่ของหยาบๆ อย่างนี้ทำไม่ได้ แล้วการทำใจซึ่งเป็นของละเอียดกว่านี้ จะทำได้อย่างไร”

๏ เมื่อมีพระมาปฏิบัติท่านพ่อ ท่านพ่อก็ถือเป็นโอกาสสอนธรรมะโดยกิริยา คือแทนที่จะบอกว่าสิ่งใดควรอยู่ที่ใด กิจใดควรทำเวลาไหน ท่านก็บังคับให้ใช้ความสังเกตเอาเอง ถ้าทำถูก ท่านพ่อจะไม่ว่าอะไร ถ้าทำผิด ท่านจะดุทันที เป็นอุบายสอนให้หูไวตาไวไปในตัว ท่านก็บอกว่า “ถ้าถึงกับต้องพูดกัน แสดงว่ายังไม่รู้จักกัน”

วันหนึ่งพระที่มาปฏิบัติท่านพ่อใหม่ๆ ยังไม่เข้าใจในหลักการของท่าน เกิดขยันจัดกุฏิท่านพ่อให้เข้าระเบียบใหม่ที่ตนเห็นว่าดีกว่าระเบียบเก่า พอท่านพ่อเห็น ท่านก็รีบจัดเข้าระเบียบเดิม โดยบอกว่า “ถ้าทำไม่ถูกใจ อย่าทำเลย ผมทำของผมเองดีกว่า”

๏ เย็นวันหนึ่ง พระองค์หนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อเห็นท่านกำลังทำงานคนเดียว เก็บเศษไม้ให้เข้าระเบียบในบริเวณก่อสร้างเจดีย์ พระองค์นั้นจึงรีบลงไปช่วยท่าน พอช่วยสักพักหนึ่ง จึงพูดกับท่านว่า “แหมหลวงพ่อ งานแบบนี้ทำไมหลวงพ่อต้องทำเอง คนอื่นมีตั้งเยอะแยะ ทำไมหลวงพ่อไม่ใช้ให้เขาทำ”

“ผมก็กำลังใช้คนอยู่” ท่านพ่อตอบพลางทำงานไปพลาง

พระองค์นั้นหันไปมองรอบตัว แต่ไม่เห็นมีใคร จึงถามท่านพ่อ “ใช้ใครหลวงพ่อ”

“ก็ท่านนะซิ”

“การเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องแค่นั่งหลับหูหลับตาอย่างเดียว ต้องทำให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างจึงจะใช้ได้”

“คนเราจะได้ดีนั้น ก็ต้องรู้จักขโมยวิชา คืออย่ารอให้อาจารย์บอกทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องใช้ความสังเกตเอาเองว่า ท่านทำอะไร เพราะอะไร เพื่ออะไร เพราะท่านทำอะไรท่านก็มีเหตุผลของท่าน”

๏ สมัยก่อนสร้างเจดีย์ เครื่องมือของวัดส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในห้องเก็บของที่กุฏิท่านพ่อ วันหนึ่งพระที่มาอยู่วัดได้ ๓-๔ เดือน ขึ้นกุฏิท่านพ่อเพราะต้องการหาไขควง พอเห็นท่านพ่อนั่งอยู่หน้าห้องจึงถามท่านว่า “ท่านพ่อครับ ในห้องมีไขควงไหมครับ” ท่านพ่อก็ตอบสั้นๆ ว่า “ถามฉันทำไม ฉันไม่ได้ขาย”

๏ พระองค์หนึ่งที่อยู่กับท่านพ่อหลายปี เข้าไปหาท่านพ่อแล้วขอพรวันเกิด ท่านพ่อก็ให้พรสั้นๆ ว่า “ให้ตายเร็วๆ” ตอนแรกพระองค์นั้นใจหาย ต้องเอาไปพิจารณาความหมายของท่านพ่อหลายๆ วันจึงเข้าใจว่า ท่านพ่อให้พรจริงๆ

๏ การวางตัวของพระต่อฆราวาสญาติโยมที่มาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องละเอียดมาก ท่านพ่อเคยพูดอยู่เสมอกับพระลูกศิษย์ว่า “จำไว้นะ ไม่มีใครจ้างให้เราบวช เราไม่ได้บวชเพื่อเป็นขี้ข้าของใคร” แต่ถ้าพระองค์ใดมาบ่นกับท่านพ่อว่า โยมที่อยู่ประจำที่วัดไม่ยอมทำตามที่ท่านขอไว้ ท่านพ่อจะย้อนถามทันที “ท่านบวชมาเพื่อให้เขารับใช้หรือ”

“ความเป็นอยู่ของเราก็อาศัยเขา เพราะฉะนั้นเราอย่าทำอะไรที่จะต้องหนักที่เขา”

“ถึงเขาจะปวารณา เราอย่าเป็นพระขี้ขอ ผมเองตั้งแต่บวชมา ถึงจะมีคนปวารณา ผมไม่เคยขออะไรที่เขาต้องออกไปซื้อ ได้ปัจจัยมาผมก็ทำบุญไป ไม่เคยซื้ออะไรเก็บไว้เป็นส่วนตัว นอกจากหนังสือธรรมะ”

“พระเราถ้ากินข้าวของชาวบ้าน แต่ไม่ตั้งใจปฏิบัติให้สมกับที่เขาใส่บาตรเรา ชาติหน้าเราก็มีหวังเกิดมาเป็นควายใช้หนี้เขา”

“ท่านพ่อใหญ่ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) มีลูกศิษย์พวกใหญ่ๆ โตๆ แยะ แต่ผมไม่เคยเสนอตัวให้เขารู้จัก จะเกี่ยวข้องกับเขาเฉพาะเวลาที่ท่านพ่อใหญ่สั่งไว้ว่า มีธุระจำเป็น นอกจากนั้นผมก็ถือว่าเป็นเรื่องของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องของเรา”

“คนรวยจะมาเกี่ยวข้องกับเรา เราจะเห็นแก่ได้ไม่ได้นะ เราต้องเห็นว่า เราพอมีธรรมะที่จะช่วยเขาได้จริงๆ และเขาพอจะรับธรรมะจากเราได้ นั่นเราจึงจะยอมเกี่ยวข้องกับเขา”

“อย่าเห็นว่าข้อวินัยเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องไม่สาคัญ ท่านอาจารย์มั่นเคยบอกว่า ไม้ทั้งท่อนไม่เคยเข้าตาใครหรอก แต่ขี้ผงเล็กๆ นั่นแหละ เข้าตาง่าย ทำให้ตาบอดได้”

“เราเป็นพระ เราไม่มีสิทธิ์ที่จะต่อรองราคากับใครได้นะ เขาบอกราคามา แสดงว่าเขาให้แค่นั้น เราจะขอให้เขาลดให้เรามันก็ผิดวินัย เพราะเขาไม่ได้ปวารณาอะไรกับเราเลย”

๏ พระต่างชาติที่มาบวชกับท่านพ่อมีแม่เลี้ยงที่ถือศาสนาคริสต์ พอพระลูกชายกลับไปเยี่ยมที่บ้าน เขาก็กะว่าจะกอดท่านบ้าง เพราะไม่ได้เห็นท่านเป็นเวลาหลายปี แต่ท่านกลับห้ามไม่ให้ทำ เขาก็โกรธมาก หาว่าศาสนาพุทธสอนให้รังเกียจผู้หญิง พอเรื่องนี้ถึงหูท่านพ่อ ท่านก็อธิบายว่า “ที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พระจับต้องผู้หญิงนั้น ไม่ใช่ว่าเพราะผู้หญิงไม่ดี แต่เป็นเพราะพระไม่ดีต่างหาก เพราะพระยังมีกิเลสจึงจับต้องกันไม่ได้”

๏ สาหรับผู้ที่จะเดินตามทางพรหมจรรย์ ความดีของเพศตรงข้ามเป็นสิ่งที่ทำให้หลงทางง่ายที่สุด ฉะนั้นท่านพ่อเคยเตือนพระลูกศิษย์ว่า “ผู้หญิงก็เหมือนเถาวัลย์ที่ขึ้นตามต้นไม้ ตอนแรกเขาก็มาอ่อนๆ น่าเอ็นดู แต่พอเลื้อยไปเลื้อยมาเขาก็รัดตัวเราเข้า แล้วผลสุดท้ายก็คลุมหัวเราตาย”

“อยู่กับหมู่ให้เหมือนอยู่คนเดียว - หมายความว่า เราไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับใคร ฉันข้าว ทำกิจวัตรเสร็จแล้ว ก็กลับกุฏิ ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาลูกเดียว

อยู่คนเดียวให้เหมือนอยู่กับหมู่ - หมายความว่า เรามีกิจวัตรประจำวันของเรา พอถึงเวลาเราก็ทำของเราไปโดยไม่ได้ปล่อยปละละเลย”


๏ ข้อแนะนำสำหรับลูกศิษย์ต่างชาติที่จะไปจำพรรษาในวัดที่มีพระจำนวนมาก - “เขาถามมาเป็นภาษาไทย เราก็ตอบเป็นภาษาฝรั่ง เขาถามเป็นภาษาฝรั่ง เราก็ตอบเป็นภาษาไทย เดี๋ยวเขาก็ขี้เกียจมาคุยกับเรา เราจะได้มีเวลาภาวนาบ้าง”

“การอยู่กับหมู่ที่ไม่ดี มันก็ดีเหมือนกัน จะได้รู้จักพึ่งตัวเอง ถ้าเราไปอยู่กับหมู่ที่มีแต่คนดีๆ ทุกคน เราจะต้องติดหมู่ แล้วจะไปไหนไม่รอด”

“คนไม่ดี เราก็มีไว้เพื่อทดสอบกิเลสของเราว่าหมดจริงหรือยัง”

๏ ข้อคิดสาหรับพระปฏิบัติเวลามีคนนิมนต์ไปในงานวัด “ถ้าเราไม่ไป เขาทำไม่ได้ เราก็ควรไป ถ้าเราไม่ไป เขายังทำของเขาได้ เราจะไปทำไม เราเป็นพระกรรมฐาน ไม่ใช่พระเที่ยว เวลาท่านอาจารย์มั่นออกเที่ยวป่า ไม่ใช่ว่าท่านจะไปตามอารมณ์ ท่านก็รู้ของท่านว่า ท่านมีธุระที่จะต้องทำที่นั้น ท่านจึงไป ถ้าท่านไม่มีธุระจำเป็น ท่านก็ไม่ไป”

“การถือธุดงควัตร ก็มีจุดประสงค์ที่จะขัดเกลากิเลสของเราให้หมดไป ถ้าเราคิดจะถือเพื่อให้คนอื่นศรัทธาเรา เราอย่าไปถือเลยดีกว่า”

“การอดอาหาร ไม่ใช่ว่าจะให้ผลดีเสมอไป บางทียิ่งอด กิเลสก็ยิ่งกำเริบ กายหมดแรง ไม่ใช่ว่ากิเลสจะต้องหมดแรงไปด้วย เพราะกิเลสเกิดที่ใจ ไม่ได้เกิดที่กาย”

๏ คำเตือนสาหรับพระที่ชอบปล่อยใจให้คิดถึงเรื่องกาม - “เอามือลูบหัวเจ้าของซะ จะได้ไม่ลืมว่าเราเป็นอะไร”

“พระธรรมท่านบอกว่า “วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่” แล้วเราจะตอบท่านว่ายังไง”

“ปฏิบัติยังไม่เข้าขั้นแล้วเที่ยวไปสอนเขา มันมีโทษนะ”

๏ มีคนมาเล่าให้ท่านพ่อฟังเรื่องพระไทยที่ไปเผยแพร่ธรรมะที่เมืองนอก แต่ผลสุดท้าย ไปสึกแล้วแต่งงานที่นั่น ท่านพ่อก็ยิ้มๆ แล้วพูดว่า “ที่จริงไปถูกเขาเผยแพร่มากกว่า สอนไปสอนมา กลายเป็นปฏิกูลน่ากิน อสุภะน่ากอด”

๏ วันหนึ่งในขณะที่พระลูกศิษย์องค์หนึ่งกาลังเตรียมตัวที่จะขึ้นธรรมาสน์เทศน์เป็นครั้งแรก ท่านพ่อก็ให้กำลังใจโดยบอกว่า “ให้คิดว่าเรามีดาบอยู่ในมือ ใครคิดดูถูกเรา เราก็ตัดหัวซะ”

๏ ตอนที่ท่านพ่อมาอยู่วัดธรรมสถิตใหม่ๆ การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับวัดรู้สึกว่าลำบากมาก ไม่เหมือนทุกวันนี้ คืนวันหนึ่งในระหว่างนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งอุตส่าห์เดินทางหลายชั่วโมงจากกรุงเทพฯ คนเดียวเพื่อให้ท่านพ่อช่วยแก้ปัญหาชีวิต กว่าจะแก้ได้เป็นที่สบายใจของเขา ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง หลังจากเขากลับแล้วท่านพ่อก็พูดกับพระลูกศิษย์ว่า “ที่เราอยู่ไกลออกไปอย่างนี้ก็ดีอยู่อย่าง ถ้าเราอยู่ใกล้กรุงเทพฯ พวกที่อยู่ว่างๆ เปล่าๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็มาหาเราง่ายๆ เราก็ต้องนั่งคุยกับเขา เสียเวลาเปล่าๆ แต่เวลาเรามาอยู่ที่นี้ยังมีคนมาหาเรา แสดงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจากเราจริงๆ ทีนี้เราจะพูดกับเขาสักเท่าไรก็ไม่เสียเวลา”

“ถ้าใครมาหาผม ผมก็ให้นั่งสมาธิก่อน ให้เขารู้จักทำใจให้สงบ จากนั้นถ้ามีอะไรก็ค่อยว่ากันไป ถ้าจะพูดอะไรให้เขาฟังในเมื่อใจเขายังไม่สงบ ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง”

“คนที่มีอาการวิปัสสนู เราไม่ต้องไปชี้แจงเหตุผลอะไรกับเขาหรอก ถ้าเขาไม่เชื่อเรา ๑๐๐% เรายิ่งพูด เขาก็ยิ่งยึดในความเห็นของเขา ถ้าเขาเชื่อในเราจริงๆ เราไม่ต้องพูดอะไรมากมาย แค่คำสองคำเขาก็หายไปเอง”

๏ วันหนึ่งท่านพ่อเล่าถึงเรื่องอดีตสมัยที่ท่านพ่อลียังมีชีวิตอยู่ ว่ามีพระนักเขียนชื่อดังไปวัดอโศการามเพื่อโต้วาทีกับท่านพ่อ เริ่มแรกทีเดียวพระองค์นั้นถามท่านพ่อใหญ่ว่า “หินยานกับมหายาน อย่างไหนจะดีกว่ากัน” (เพราะพระองค์นี้เคยหาว่าท่านพ่อใหญ่สอนอิทธิฤทธิ์แบบมหายาน)

ท่านพ่อใหญ่ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) ก็ตอบว่า “ยานแปลว่าอะไร ยาน (ญาณ) แปลว่าความรู้ มหา แปลว่าใหญ่ ถ้าความรู้มันใหญ่ จะเสียหายตรงไหน”

พระองค์นั้นตอบไม่ได้ จึงลากลับ

๏ โยมบิดาของพระที่เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อเห็นว่าพระลูกชายมีความเป็นอยู่ลำบาก จึงเขียนจดหมายมาชวนให้สึก กลับบ้าน เรียนต่อ ทำมาหากินมีลูกมีเมีย หาความสุขเหมือนคนทั้งหลายเขาทำกัน เมื่อพระองค์นั้นนำเรื่องนี้เล่าถวายท่านพ่อ ท่านพ่อก็บอกว่า “เขาว่าสุขของเขาดีวิเศษ แต่ไปดูซิ มันเป็นสุขอะไร ก็สุขเน่าๆ นั่นแหละ ไอ้สุขดีกว่านั้นไม่มีหรือ”

๏ เรื่องนี้เป็นเรื่องของแม่ชี แต่เป็นคติธรรมที่ใช้ได้ดีกับพระก็ได้ คือมีแม่ชีคนหนึ่งคิดจะสึกกลับไปอยู่บ้าน จึงมาปรึกษากับท่านพ่อ ท่านก็แนะนาว่า “ให้ถามตัวเองซิ ว่าเราจะไปในบ่วง หรือจะไปนอกบ่วง” ผลสุดท้ายแม่ชีคนนั้นตัดสินใจว่าจะไปนอกบ่วงดีกว่า


รูปภาพ
ท่านพ่อใหญ่ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) แห่งวัดอโศการาม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


สมาธิ

หนังสือยาใจ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

ภาค ๑ : ภาษาใจ
ศิษย์บันทึกคำสอนของท่านพ่อ
สมาธิ หน้า ๔๑-๔๗

:b8: :b8: :b8:

“ร่างกายเรียก ‘ไอ้ใบ้’ เพราะมันพูดอะไรของมันเองไม่ได้ จิตก็เรียก ‘ไอ้บ้า’ เพราะมันคิดของมันได้ร้อยแปดพันอย่าง เราต้องคุมไอ้บ้าให้อยู่จึงจะเป็นสุขทั้งคู่”

๏ มีหลายครั้งที่คนมาพูดกับท่านพ่อ ว่าตัวเองทำงานหนัก มีภาระมาก จึงไม่มีเวลานั่งภาวนา และมีหลายครั้งที่ท่านพ่อจะย้อนถามว่า “แล้วตายแล้วจะมีเวลาหรือ”

“ให้ภาวนาอย่ามัวแต่ห่วงนอน นอนกันมาไม่รู้กี่ชาติแล้วไม่รู้จักอิ่มสักที มัวแต่เป็นผู้ประมาทไม่รู้จักรักษามนุษย์สมบัติเอาไว้ ระวังจะเหลือไม่เท่าเก่า”

“คนเราทุกคนต้องการความสุข แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจสร้างเหตุของความสุข จะเอาแต่ผลอย่างเดียว แต่ถ้าเราไม่สนใจกับตัวเหตุ ตัวผลจะอยู่ได้อย่างไร”

“เรียน พุท-โธแค่นี้ก็พอ เรียนอย่างอื่นไม่รู้จักจบ ไม่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์ พุท-โธตัวเดียว ถ้าเรียนจบได้เมื่อไหร่ ก็สบายเท่านั้น”

“คิดอะไร ก็ทำใจให้เป็นหนึ่ง แล้วจะสำเร็จ”

“เมื่อคิดที่พุทโธแล้วไม่ต้องลังเลว่า จะนั่งไม่ได้ดี ถ้าตั้งใจจริงแล้วมันต้องได้ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราเป็นมารผจญ เขาจะเล่นละครอะไร เราก็ดูไป ไม่ใช่ว่าไปเล่นกับเขาด้วย”

“จิตเปรียบเหมือนพระราชา อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนเสนา เราอย่าเป็นพระราชาหูเบา”

“เวลาภาวนาอย่าไปกลัวว่า ภาวนาแล้วเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเป็นของที่แก้กันได้ ให้กลัวอย่างเดียวว่า จะภาวนาไม่เป็น”


๏ ครั้งหนึ่งมีฆราวาสคณะหนึ่งที่เคยศึกษาวิชาอภิธรรมมาขอฝึกใจกับท่านพ่อ แต่เมื่อท่านบอกให้นั่งหลับตา เขาก็ปฏิเสธทันที โดยอ้างว่าไม่อยากจะฝึกสมาธิเพราะกลัวจะติดฌานแล้วไปเกิดเป็นพรหม ท่านพ่อก็ตอบว่า “จะกลัวทำไม ขนาดพระอนาคามียังเกิดเป็นพรหม ไหนๆ เกิดเป็นพรหมยังดีกว่าเกิดเป็นหมา”

๏ เวลามีใครฝึกภาวนากับท่านพ่อ ท่านไม่ค่อยจะอธิบายอะไรให้ล่วงหน้า เมื่อรู้จักหลักเบื้องต้นท่านก็ให้นั่งไปเลย ถ้าจิตเกิดมีอาการอะไรขึ้นมาจากการปฏิบัติ ท่านจึงอธิบายวิธีแก้และวิธีปฏิบัติขั้นต่อไป ครั้งหนึ่งมีฆราวาสคนหนึ่งที่เคยผ่านอาจารย์มากต่อมาก มาถามปัญหาธรรมะกับท่านพ่อในเชิงลองภูมิท่าน ท่านก็ย้อนถามว่า “ใจเป็นหรือยัง” เขาก็ตอบว่า “ยัง” ท่านจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นจะไม่ขอตอบเพราะถ้าตอบเมื่อใจยังไม่เป็น ก็จะเป็นแค่สัญญาไม่ใช่ตัวจริงของธรรมะ”

๏ อีกครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์ที่ฝึกภาวนากับท่านพ่อแล้วเห็นว่า การปฏิบัติของตนได้รุดหน้าอย่างรวดเร็วจึงอยากทราบว่า ขั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อถามท่านพ่อ ท่านก็ตอบว่า “ไม่บอก ถ้าบอกเดี๋ยวจะเป็นผู้รู้ก่อนเกิด ผู้เลิศก่อนทำ แล้วกลายเป็นผู้วิเศษไปเลย ไม่เอา ให้ทำเอาเอง เดี๋ยวจะรู้เอง”

“การปฏิบัติจะให้เป็นไปตามที่เรานึกคิดไม่ได้นะ ใจของเรามีขั้นมีตอนของเขาเอง เราต้องให้การปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนของเขา เราจึงจะได้ผล ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอรหันต์ดิบขึ้นมา”

“คนเราต้องบ้าภาวนา จึงจะภาวนาได้ดี”

“อะไรๆ ก็ขึ้นอยู่กับความสังเกตของเรา ถ้าความสังเกตของเรายังหยาบๆ เราจะได้แต่ของหยาบๆ การภาวนาของเราก็ไม่มีทางที่จะเจริญก้าวหน้าไปได้”

“มีสติทำให้เกิดปัญญา มีศรัทธาทำให้เกิดความเพียร”

“ความเพียรเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เรื่องของอิริยาบถ คือจะทำอะไรก็ตาม ต้องรักษาสติไว้เรื่อยๆ อย่าให้ขาด ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ให้ใจมีความเพียรอยู่ในตัว”

“การรักษาสติเป็นเรื่องรู้นิดๆ แต่ต้องให้เป็นนิตย์”

“อย่าทำตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน เคยเห็นไหม ไม้หลักปักขี้เลน ปักลงไปก็คลอนไปคลอนมา ทำอะไรก็ต้องทำให้มันจริง ให้มั่น ให้หนึ่งจริงๆ อย่างลมนี้ เอาให้เป็นหนึ่ง ปักลงแล้วให้มันมั่นคงจริงๆ อย่าให้คลอนแคลนง่อนแง่น”

“อย่าทำแค่ถูกใจ ต้องทำให้ถึงใจ”

“คนเราเวลานั่งภาวนา กว่าใจจะสงบได้ก็ต้องใช้เวลานาน แต่พอจะออกจากที่นั่งก็ทิ้งเลยอย่างนี้เรียกว่า เวลาขึ้นบ้านก็ขึ้นบันได เวลาลงก็กระโดดหน้าต่าง”


๏ ลูกศิษย์คนหนึ่งนั่งภาวนากับท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ จนรู้สึกว่าใจสบายเบิกบานเป็นพิเศษ แต่เมื่อกลับไปถึงบ้านแทนที่จะรักษาอารมณ์นั้นไว้ ไปมัวแต่ฟังทุกข์ของเพื่อนจนจิตของตนเองที่ไม่ได้รักษาไว้นั้นพลอยเป็นทุกข์ไปด้วย วันต่อมาพอกลับไปถึงวัดแล้วเล่าให้ท่านพ่อฟัง ท่านก็บอกว่า “นี่เรามาเอาทองไปแลกกับขี้”

๏ ศิษย์คนหนึ่งหายหน้าจากท่านพ่อไปหลายเดือน พอกลับมาหาท่านอีกก็เล่าถวายท่านฟังว่า “ที่หนูหายไปนั้น ก็เพราะที่ทำงานสั่งให้ไปเรียนพิเศษ ในระหว่างนั้นไม่มีเวลานั่งภาวนาเลย แต่ตอนนี้เรียนจบแล้ว ใจคิดแต่อยากภาวนา งานการอะไรก็ไม่อยากทำ อยากทำแต่ความสงบอยู่ลูกเดียว” ในขณะที่เขาเล่าถวายท่านพ่อ เขาก็เข้าใจว่า ท่านคงจะรู้สึกยินดีที่เขายังสนใจภาวนาถึงขนาดนั้น แต่ท่านกลับบอกเขาว่า “ที่ไม่อยากทำงานนั้นเป็นกิเลสไม่ใช่หรือ คนภาวนาทำงานไม่ได้หรือไง”

“การภาวนาไม่ใช่ว่าจะให้ใจอยู่ว่างๆ นะ ใจของเราต้องมีงานทำ ถ้าปล่อยให้ว่างๆ เดี๋ยวอะไรๆ ก็เข้าได้ ดีก็เข้าได้ ไม่ดีก็เข้าได้ เหมือนเราเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ อะไรๆ ก็เดินเข้าไปในบ้านเราได้”

๏ มีลูกศิษย์คนหนึ่งฝึกภาวนากับท่านพ่อหลายๆ วันต่อๆ กัน วันหนึ่งหลังจากนั่งเสร็จแล้วได้ปรารภกับท่านว่า “ทำไมวันนี้นั่งไม่ดีเหมือนวันก่อนๆ” ท่านพ่อบอกว่า “การนั่งก็เหมือนเราใส่เสื้อ วันนี้ใส่สีขาว พรุ่งนี้ใส่สีแดง สีเหลือง ฯลฯ คือต้องมีเปลี่ยนอยู่เรื่อย จะใส่ชุดเดียวกันทุกวันๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาจะใส่สีอะไร เราก็ดูเขาไป อย่าดีใจเสียใจกับเขา”

๏ คืนอีกวันหนึ่ง ศิษย์คนนั้นนั่งภาวนาเกิดอารมณ์ดีจนนึกว่า ต่อไปนี้อารมณ์ไม่ดีจะไม่สามารถแทรกแซงเข้าไปในดวงจิตได้อีกเลย แต่ต่อไปก็เกิดอารมณ์ไม่ดีเข้ามาจนได้ จึงเอาเรื่องนี้มากราบเรียนท่านพ่อ ท่านก็บอกว่า “การเลี้ยงจิตก็เหมือนเลี้ยงลูกต้องมีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้าจะเอาเฉพาะเวลาเขาดีมันจะไปกันใหญ่ ฉะนั้นเราต้องทำใจให้เป็นกลาง อย่าไปเข้ากับทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี”

“ภาวนาดีอย่าไปดีใจ ภาวนาไม่ดีอย่าไปเสียใจ ให้ดูเอาเฉยๆ ว่า ที่ภาวนาดี-ไม่ดีนั้น เป็นเพราะอะไร ถ้าเราสังเกตได้ อีกไม่นานก็จะกลายเป็นวิชชาขึ้นมาในตัวเรา”

๏ ศิษย์คนหนึ่งนั่งภาวนากับท่านพ่อ รู้สึกว่าจิตปลอดโปร่งเบาสบายมาก พิจารณาธาตุได้ชัดเจนตามที่ท่านพ่อสอนไว้ แต่วันต่อมานั่งภาวนาแล้วไม่ได้เรื่อง เมื่อเขาออกจากสมาธิ ท่านพ่อก็ถามว่า “นั่งวันนี้เป็นไงบ้าง” เขาก็ตอบว่า “เมื่อวานนี้เหมือนคนฉลาด แต่วันนี้เหมือนคนโง่” ท่านพ่อก็ถามต่อไปว่า “แล้วคนโง่กันคนฉลาดเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า”

๏ ศิษย์อีกคนหนึ่ง หลังจากปฏิบัติธรรมกับท่านพ่อเป็นเวลาพอสมควร ได้ปรารภกับท่านว่าเมื่อปฏิบัติแล้ว รู้สึกว่าจิตยิ่งสกปรกวุ่นวายกว่าเดิม ท่านก็ตอบว่า “อันนี้แน่นอนซิ เปรียบเหมือนบ้านเรา ถ้าเราถูพื้นอยู่เสมอแล้ว มีฝุ่น มีขยะอะไรอยู่นิดหน่อย เราจะทนไม่ได้ ยิ่งบ้านเราสะอาดเท่าไร เราก็ยิ่งเห็นความสกปรกได้ง่ายเท่านั้น จิตเราเมื่อไม่ช าระอะไรเลย เราก็สามารถนอนอยู่กลางดินกลางหญ้าโดยไม่รู้สึกอะไรเลย แต่ถ้าเรานอนอยู่บนพื้นที่สะอาดแล้ว มีฝุ่นอยู่นิดเดียว เราก็จำเป็นต้องไปปัด ไปกวาด เราจะไม่สามารถทนอยู่กับความสกปรกนั้นได้”

“ถ้าไปยินดีในความเป็นของผู้อื่นก็เท่ากับว่า เราไปยินดีในทรัพย์สมบัติของคนอื่นเขา แล้วมันจะได้อะไร ให้สนใจในสมบัติของเราเองดีกว่า”

“เมตตา กรุณา ถ้าขาดอุเบกขา ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ ฉะนั้นใจของเราต้องมีฌาน สิ่งเหล่านี้จึงจะสมบูรณ์ได้”

“การภาวนาของเราไม่ต้องไปบันทึกไว้นะ ถ้าบันทึกไว้ เดี๋ยวเราจะภาวนาเพื่อให้มันเกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อจะให้มีเรื่องบันทึก แล้วเราจะได้แต่ของปลอม”

“สมาธิของเราต้องให้สัมมานะ คือพอดีสม่ำเสมออยู่เรื่อย ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่าให้มีขึ้นมีลง”

“ต้องรู้จักทำ รู้จักรักษา รู้จักใช้”

“พอเราจับจิตให้อยู่ มันจะอยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว ไม่ได้วอกแวกถึงเรื่องอดีต-อนาคตนั่นแหละ เราจะใช้มันทำอะไรได้ตามที่เราต้องการ”

๏ วันหนึ่งมีลูกศิษย์มาบ่นให้ท่านพ่อฟังว่าตัวเองฝึกภาวนามาหลายปี แต่ไม่เห็นมันได้อะไรขึ้นมา ท่านพ่อก็ตอบทันที “เขาภาวนาเพื่อให้ละ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้เอา”

๏ คืนวันหนึ่ง หลังจากพาลูกศิษย์ฆราวาสทำงานที่วัด ท่านพ่อก็พาให้นั่งภาวนาที่เจดีย์ โยมคนหนึ่งรู้สึกเพลียมาก แต่ยังฝืนนั่งเพราะเกรงใจท่านพ่อ นั่งไป นั่งไป รู้สึกว่า ใจเหลืออยู่นิดเดียวกลัวใจจะขาด พอดีท่านพ่อเดินผ่านแล้วพูดขึ้นมาว่า “ตายเตยไม่ต้องกลัว คนเราก็ตายอยู่แล้วทุกลมหายใจ เข้า-ออก” ทำให้โยมคนนั้นเกิดกำลังใจที่จะนั่งต่อสู้กับความเพลียนั้นได้ต่อไป

“การภาวนา ก็คือการฝึกตาย เพื่อเราจะได้ตายเป็น”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b39:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


tongue


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b16:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2020, 14:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 27 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร