วันเวลาปัจจุบัน 17 ก.ย. 2024, 01:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


กฏกติกา
สำหรับผู้ประกาศแจก
1. รายละเอียดสิ่งของที่จะแจก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะ หรือซีดี
2. อีเมล์/เบอร์โทร (ถ้าสะดวก) เพื่อการติดต่อ
3. จำนวนของสิ่งของที่จะแจก
4. กำหนดวันเวลาสิ้นสุดการแจกชัดเจน
5. เมื่อสิ้นสุดการแจก กรุณาปิด-ลบกระทู้ หรือแจ้งให้ผู้ดูแลทราบ

สำหรับผู้ขอรับ
1. กรุณาอ่านรายละเอียดข้อตกลงก่อนว่า ต้องลงชื่อขอรับในเว็บบอร์ดนี้ หรืออีเมล์ และเว็บไซต์ของผู้แจก
2. ชื่อ-ที่อยู่ ชัดเจน และเมื่อได้รับแล้ว กรุณาเข้ามาลบ หรือแจ้งผู้ดูแลลบชื่อท่านออก เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง
....



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2018, 16:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เมืองสาวัตถี (Sravasti)

เมืองสาวัตถี แห่งแคว้นโกศล เมืองคนดีและคนบาป
เมืองที่เป็นทั้งปาฏิหาริย์และอัศจรรย์
ภาษาบาลีเรียก “สาวัตถี” ภาษาสันสกฤตเรียก “ศราวัสตี”


เมืองสาวัตถี นอกจากจะเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญที่สุด
ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล
ที่มีพระอรหันต์ มีเศรษฐีใจบุญแล้ว
ยังเป็นเมืองที่มีผู้หญิงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตเถรีถึง ๑๓ องค์
และเป็นเมืองที่มีคนถูกธรณีสูบถึง ๔ คน ได้แก่
พระเทวทัต นันทมานพ นางจิญจมาณวิกา
และพระเจ้าสุปปพุทธะ (พระราชบิดาของพระเทวทัต
และพระนางยโสธราพิมพา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ)

ในจำนวนทั้งหมด ๕ คนตามพระพุทธประวัติด้วย
ส่วนรายที่ ๕ ที่ถูกธรณีสูบไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นยักษ์ มีนามว่า
นันทยักษ์ ซึ่งมีฤทธิ์เดชมาก ได้เหาะขึ้นกลางอากาศแล้วใช้กระบอง
ซึ่งเป็นอาวุธประจำตน ฟาดลงมาหมายเศียรของพระสารีบุตร


เมืองสาวัตถี ในปัจจุบันมีฐานะเป็นเพียงอำเภอชนบทหนึ่ง
ทางภาคตะวันออกของรัฐอุตตรประเทศ หรือรัฐยูพี
ห่างจากสถานีรถไฟพารัมปุระ (Balrampur)
ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
ปัจจุบัน เป็นเพียงซากโบราณสถาน ซากกองอิฐที่เหลืออยู่
แต่ก็ยังคงมีรอยอดีตอันยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธศาสนา


เมืองสาวัตถีมีสถานที่สำคัญๆ ๒-๓ แห่ง โดย ๑ ในนั้น คือ
วัดเชตวันมหาวิหาร หรือ วัดพระเชตวัน
วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี
เป็นอารามหรือวัดที่สร้างขึ้นโดย “ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี”
มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี
บนที่ตั้งของเชตวันหรือสวนเจ้าเชต นอกเมืองสาวัตถี
ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้อมาด้วยเงินมากถึง ๑๘ โกฏิ
(ตามการนับค่าเงินในสมัยนั้น)
วัดแห่งนี้นับเป็นฐานที่มั่นสำคัญ เป็นเสมือนศูนย์บัญชาการ
ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดในสมัยพุทธกาล
และเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษานานที่สุดถึง ๑๙ พรรษา
จากจำนวนทั้งหมด ๔๕ พรรษาแห่งการเผยแผ่ประกาศพระพุทธศาสนา
ทั้งยังเป็นวัดที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย
จึงนับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
เหล่าพุทธบริษัททั่วทั้งชมพูทวีป
เมื่อประสงค์จะเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะต้องเดินทางดั้นด้นมาที่เมืองสาวัตถีและวัดเชตวันมหาวิหาร


วัดสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ที่ตั้งอยู่ในเมืองสาวัตถี
มีทั้งหมด ๓ วัด ประกอบด้วย
วัดบุพพารามมหาวิหาร สร้างโดยมหาอุบาสิกาวิสาขา
วัดราชิการาม สร้างโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล
โดยสร้างไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง
และวัดเชตวันมหาวิหาร สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
โดยสร้างถวายพระพุทธเจ้า


สถานที่สำคัญที่สุดในวัดเชตวันมหาวิหาร ก็คือ พระมูลคันธกุฏี
หรือกุฏิของพระพุทธเจ้า ซึ่งด้านหน้ามีซากฐานของพระเจดีย์ทอง
ตามพุทธประวัติระบุว่า เป็นสถานที่ซึ่งท้าวสักกะให้เทวดาองค์หนึ่ง
มากราบทูลพระพุทธองค์ว่า “เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี
ได้พากันคิดมงคลทั้งหลายมาเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้
ขอพระพุทธองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดว่าคืออย่างไร
เพื่อนำประโยชน์สุขมาให้โดยส่วนเดียวแก่ชาวโลกทั้งปวง”


พระพุทธองค์จึงทรงแสดง “มงคลสูตร” โปรดเทวดา
ปรากฏเป็นมงคลสูตร ๓๘ ประการ
ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นธรรมอันเป็นอุดมมงคล
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประพฤติมงคลเช่นนี้แล้ว
จะเป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า
ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

นอกจากนี้แล้วด้านหน้าของพระมูลคันธกุฏียังมีบ่อน้ำ
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำที่พระพุทธองค์ทรงใช้น้ำในบ่อแห่งนี้
ทั้งดื่มกิน สรงสนาน (อาบน้ำ) ปัจจุบันยังคงมีน้ำอยู่ตลอด
มีการทำคันโยกสำหรับดึงน้ำขึ้นมาจากบ่อ
ที่เชื่อว่าหากนำมาล้างหน้า ลูบศีรษะแล้วจะเป็นมงคลแก่ชีวิตด้วย

นอกจากพระมูลคันธกุฏีหรือกุฏิอันเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์แล้ว
ภายในวัดเชตวันมหาวิหารยังมีกุฏิของพระอรหันตสาวกอีกหลายองค์
อาทิ กุฏิพระมหากัสสปะ กุฏิพระสารีบุตร กุฏิพระโมคคัลลานะ
กุฏิพระสีวลี กุฏิพระองคุลีมาล กุฏิพระอานนท์
เป็นต้น

ห่างจากวัดเชตวันมหาวิหารไปประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร
มีสถูปขนาดใหญ่ที่เหลือเป็นเพียงเนินดินขนาดใหญ่อยู่ริมถนน
ตั้งอยู่บริเวณนอกเขตเมืองสาวัตถี
ระหว่างเมืองพารัมปุระกับเมืองสราวัสสติ
คือ “ยมกปาฏิหาริย์สถูป” หรือ คัณฑามพฤกษ์
ชาวบ้านเรียกว่า สวนมะม่วงของคัณฑกะ
สันนิษฐานว่าคือสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “ยมกปาฏิหาริย์”
ปราบทิฏฐิพวกเดียรถีย์ ซึ่งเป็นนักบวชนอกศาสนาพุทธ
หลังจากออกรับบิณฑบาตที่เมืองสาวัตถี
ในพรรษาที่ ๗ หลังตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ยมกปาฏิหาริย์ เป็นการแสดงธรรมด้วยอิทธิฤทธิ์อัศจรรย์
ซึ่งถือเป็นการแสดงปาฏิหาริย์ครั้งสำคัญและครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์


อย่างไรก็ดี ปกติแล้วพระพุทธเจ้าไม่โปรดการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
อีกทั้งยังห้ามไม่ให้พระภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ด้วยซ้ำ
โดยพระพุทธองค์นั้นโปรดการแสดง “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”
ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงอิทธิฤทธิ์ความอัศจรรย์ของพระธรรมคำสอนมากกว่า


:b50: :b49: :b50:

• “๕ ผู้ต้องธรณีสูบ” ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=52387

• มงคลสูตร ๓๘ ประการ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=22916


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 08:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ

พระมูลคันธกุฏี หรือ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร”
ที่วัดพระเชตวัน (วัดเชตวันมหาวิหาร) เมืองสาวัตถี
กุฏิอันเป็นที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้า
ที่ทรงประทับนานที่สุดถึง ๑๙ พรรษา
ซึ่งด้านหน้ามีซากฐานของพระเจดีย์ทอง


:b47: :b45: :b47:

:b50: :b49: :b50: หมายเหตุ : (๑) พระคันธกุฏี หรือพระมูลคันธกุฏี
ซึ่งชาวพุทธเมื่อไปนมัสการพุทธสังเวชนียสถาน แสวงบุญ
นิยมเดินทางเข้าไปสักการะที่โดดเด่น ๓ แห่ง คือ

๑.๑ พระคันธกุฏี หรือพระมูลคันธกุฏี บนยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์

๑.๒ พระคันธกุฏี หรือพระมูลคันธกุฏี ที่สารนาถ เมืองพาราณสี

๑.๓ พระคันธกุฏี หรือพระมูลคันธกุฏี
ที่วัดพระเชตวัน (วัดเชตวันมหาวิหาร) เมืองสาวัตถี


(๒) ในหนังสือพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุดคำวัด
โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต)
สมณศักดิ์ปัจจุบันคือ พระมหาโพธิวงศาจารย์
พระเดชพระคุณท่านได้กล่าวไว้ว่า


พระคันธกุฏี หรือพระมูลคันธกุฏี
(อังกฤษ : Mulagandhakuti แปลว่า กุฏีที่มีกลิ่นหอม)
เป็นชื่อเรียกสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ
เรียกเต็มว่า “พระมูลคันธกุฏี”
ในพุทธประวัติ เล่าว่าสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าทุกแห่ง
จะมีผู้นำของหอมนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้หอม ดอกไม้หอม เป็นต้น
มาบูชาพระพุทธเจ้ามิได้ขาด โดยประดับไว้ภายในที่ประทับบ้าง
วางเรียงรายอยู่โดยรอบบ้าง โดยมุ่งบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกลิ่นหอม
จึงปรากฏว่าหลังวัดที่ประทับจะมีดอกไม้ที่แห้งแล้ว
ถูกนำไปทิ้งไว้เป็นกองใหญ่ด้วยมีจำนวนมาก
พระคันธกุฏี มิใช่จะมีกลิ่นหอมเท่านั้น
ยังถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดารเท่าที่มนุษย์จะทำกันได้ด้วยแรงศรัทธา


:b39:

• พระมูลคันธกุฏี บนยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44857

• พระมูลคันธกุฏี ที่สารนาถ เมืองพาราณสี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43034

รูปภาพ

ในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ชาวพุทธศรีลังกาจะมาประดับประดาพวงมาลาและดอกไม้
ถวายตามพระมูลคันธกุฏีและเรือนธรรมต่างๆ
ภายในพุทธสังเวชนียสถาน
และสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา


รูปภาพ

วัดเชตวันมหาวิหาร หรือวัดพระเชตวัน
วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี
เป็นอารามหรือวัดที่สร้างขึ้นโดย “ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี”
มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี
บนที่ตั้งของเชตวันหรือสวนเจ้าเชต นอกเมืองสาวัตถี
ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้อมาด้วยเงินมากถึง ๑๘ โกฏิ
(ตามการนับค่าเงินในสมัยนั้น)
วัดแห่งนี้นับเป็นฐานที่มั่นสำคัญ เป็นเสมือนศูนย์บัญชาการ
ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดในสมัยพุทธกาล
และเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษานานที่สุดถึง ๑๙ พรรษา
ทั้งยังเป็นวัดที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย
จึงนับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง


ธรรมศาลา ภายในวัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
สถานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม
เป็นสถานที่ที่เกิดเรื่องราวและพระสูตรที่สำคัญๆ จำนวนมาก
ในพระพุทธศาสนามากมาย เช่น เรื่องของพระองคุลิมาล, นางปฏาจาราเถรี,
พระนางกิสาโคตมีเถรี, การถวายอสทิสทาน, เรื่องพระพุทธองค์ทรงดูแลภิกษุไข้,
พราหมณ์จูเฬกสาฏก, ทรงพยากรณ์สุบินนิมิต ๑๖ ประการ, นางกาลียักษิณี,
นางจิญมาณวิกาถูกแผ่นดินสูบ, พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ เป็นต้น

ในส่วนพระสูตรนั้นมีจำนวนมากที่สำคัญๆ เช่น มหามงคลสูตร, ธชัคคสูตร,
ทสธัมมสูตร, สาราณียธรรมสูตร, อหิราชสูตร, เมตตานสังสสูตร,
คิริมานนทสูตร, ธัมมนิยามสูตร, อปัณณกสูตร, อนุตตริยสูตร,
พลสูตร, มัคควิภังคสูตร, โลกธัมมสูตร, ทสนารถกรณธัมมสูตร,
อัคคัปปทานสูตร, ปธานสูตร, อินทริยสูตร, อนริยสูตร และสัปปุริสธัมมสูตร
โดยทั้งหมดทรงแสดง ณ วัดเชตวันมหาวิหาร แห่งนี้


รูปภาพ

กุฏิพระมหากัสสปะ

รูปภาพ

รูปภาพ

กุฏิพระสารีบุตร

รูปภาพ

กุฏิพระโมคคัลลานะ

รูปภาพ

กุฏิพระสีวลี

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

อานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก

:b49: :b50:

“ต้นอานันทโพธิ์” ณ วัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน)
เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ชมพูทวีป
เป็นต้นดั้งเดิม โดยเป็นต้นโพธิ์ที่ได้ปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล
ที่ประตูหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน)
(ปลูกจากเมล็ดของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้)
โดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
จึงเรียกชื่อว่า อานันทโพธิ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก
ที่ยังคงยืนต้นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. ๒๕๖๐)
มีอายุกว่า ๒,๕๖๐ ปี
(มีอายุมากกว่าพุทธศักราช)
และชาวพุทธนับถือว่ามีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เป็นอันดับสอง
รองจาก “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้


พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
และประทับเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้าแล้ว
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ แต่อย่างใด
มีกล่าวถึงในอรรถกถา แต่เมื่อคราวพระอานนท์ได้มายังพุทธคยา
เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับตรัสรู้
กลับไปปลูก ณ วัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน)
ตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปประทับที่อื่น


ประวัติความเป็นมาของ “ต้นอานันทโพธิ์” จากหนังสือปูชาวัลลิยะ
ของสมาคมมหาโพธิ์ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย

ได้กล่าวไว้มีใจความสำคัญว่า...

“แม้ว่าพระเชตวันมหาวิหาร จะเป็นที่ยังความสะดวกและความสงบให้เกิดได้
ยิ่งกว่าสถานที่แห่งใดๆ อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า
แต่พระองค์ได้ประทับพักตลอดปีไม่ แต่ละปีพระพุทธองค์ทรงประทับพัก
เพียง ๓ เดือนในพรรษาเท่านั้น ส่วนอีก ๙ เดือนของปีนอกฤดูฝน
พระองค์เสด็จจาริกออกไปแสดงธรรมในคามนิคมชนบทและหัวเมืองอื่น

เมื่อพระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปสู่ที่อื่นประมาณปีละ ๙ เดือน
ชาวนครสาวัตถีผู้เลื่อมใสในพระธรรม ใคร่จะทูลเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นนิจ
ไม่ปรารถนาให้พระองค์เสด็จไปประทับแห่งใดๆ จึงพากันเกิดความเดือดร้อนใจ
ปรึกษากันว่า จะทำไฉนหนอ จึงจะทูลเชิญพระองค์ให้ประทับอยู่ตลอดปีได้
เมื่อพระองค์ต้องเสด็จไป ก็ทำให้เกิดความอ้างว้างใจ
จะหาสิ่งใดของพระองค์ให้ปรากฏอยู่เป็นเครื่องระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้าได้

ความนั้นทราบถึงพระอานนท์เถระ พุทธอุปัฏฐาก เป็นต้น
จึงนำกราบทูลให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณา เพื่อจะยังมหาชนให้สมปรารถนา
จึงรับสั่งให้นำผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด)
ที่ตำบลพุทธคยา มาปลูกไว้ที่หน้าวัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ จักได้เป็นที่บูชากราบไหว้ของคนทั้งปวง

ครั้งนั้นพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกฝ่ายซ้าย
ทราบความประสงค์ของพระพุทธเจ้า จึงทูลอาสาแสดงฤทธิ์
โดยเหาะไปในอากาศถึงตำบลพุทธคยา
นำเอาผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด)
กลับมายังพระเชตวันมหาวิหารได้ในวันเดียวกันนั้น

ครั้นนำผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) มาแล้ว
ก็มีการปรึกษากันว่า ผู้ใดจักสมควรเป็นผู้ปลูก
เบื้องต้นชาวเมืองและพระสงฆ์พร้อมใจกันถวายพระเกียรติ
แด่พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์ผู้ครองกรุงสาวัตถี
ให้ทรงเป็นผู้ปลูก แต่ทรงปฏิเสธ
โดยบอกว่าฐานะกษัตริย์ย่อมไม่มั่นคงถาวร
ทายาทที่จะมาภายหลังจะให้ความคุ้มครอง
บารุงรักษาต้นโพธิ์ต่อไปนี้ได้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้
จึงควรยกเกียรตินี้ให้แก่คนอื่น

ในที่สุดก็ได้ตกลงให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้ปลูก
เพราะด้วยคิดกันว่า ต้นโพธิ์จะอยู่ภายในที่สาคัญของท่านอย่างหนึ่ง
และท่านมีบริวารข้าทาสหญิงชายมาก คงสืบตระกูลช่วยกันรักษาต้นโพธิ์
ต่อๆ กันไปได้อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปลูกเสร็จก็ได้มีการฉลองต้นโพธิ์
และพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จประทับนั่งอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ ๑ ราตรี
ตั้งแต่นั้นมา ชาวเมืองก็พากันกราบไว้ต้นโพธิ์เสมือนเครื่องระลึกแทนพระพุทธเจ้า
ที่เรียกชื่อว่า อานันทโพธิ์ นั้นเป็นเพราะว่าพระอานนท์เป็นผู้จัดการดูแล
เรื่องการปลูกและรดน้ำจนต้นโพธิ์เจริญเติบโตนั่นเอง”


อานันทโพธิ์ต้นนี้ยังคงยืนต้นอยู่
ณ ภายในวัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน) เมืองสาวัตถี
รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ตราบเท่าถึงปัจจุบันนี้


อานันทโพธิ์ คือต้นโพธิ์ที่มาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์
พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้
ชาวพุทธทั่วโลกจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาถูกทำลายมาแล้ว ๓ ครั้ง
แต่ที่วัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน) นี้ยังคงอยู่
ชาวพุทธเราจึงเชื่อว่า ต้นอานันทโพธิ์
มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา


:b39:

:b36: • “ต้นพระศรีมหาโพธิ์”
ที่สำคัญที่ยังคงยืนต้นอยู่ในปัจจุบันนี้ มี ๓ ต้น

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39333

รูปภาพ

โบราณสถานซาก “ยมกปาฏิหาริย์สถูป” หรือ “คัณฑามพฤกษ์”

:b40: :b47: :b40:

โบราณสถานซาก “ยมกปาฏิหาริย์สถูป” หรือ คัณฑามพฤกษ์
ซึ่งล้วนแต่เป็นซากกองอิฐที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตทั้งสิ้น
ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งหนึ่ง
จึงมีแท่นให้จุบธูปเทียนบูชา วางข้าวของถวาย
รวมถึงมีการปิดทองกันประปรายตามแนวฐานสถูป
โดยบนฐานสถูปมีเหล่านักแสวงบุญนิยมกันมานั่งสมาธิภาวนา

ห่างจากวัดเชตวันมหาวิหารไปประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร
มีสถูปขนาดใหญ่ที่เหลือเป็นเพียงเนินดินขนาดใหญ่อยู่ริมถนน
ตั้งอยู่บริเวณนอกเขตเมืองสาวัตถี
ระหว่างเมืองพารัมปุระกับเมืองสราวัสสติ
คือ “ยมกปาฏิหาริย์สถูป” หรือ คัณฑามพฤกษ์
ชาวบ้านเรียกว่า สวนมะม่วงของคัณฑกะ
สันนิษฐานว่าคือสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “ยมกปาฏิหาริย์”
ปราบทิฏฐิพวกเดียรถีย์ ซึ่งเป็นนักบวชนอกศาสนาพุทธ
หลังจากออกรับบิณฑบาตที่เมืองสาวัตถี
ในพรรษาที่ ๗ หลังตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ยมกปาฏิหาริย์ เป็นการแสดงธรรมด้วยอิทธิฤทธิ์อัศจรรย์
ซึ่งถือเป็นการแสดงปาฏิหาริย์ครั้งสำคัญและครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์


อย่างไรก็ดี ปกติแล้วพระพุทธเจ้าไม่โปรดการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
อีกทั้งยังห้ามไม่ให้พระภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ด้วยซ้ำ
โดยพระพุทธองค์นั้นโปรดการแสดง “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”
ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงอิทธิฤทธิ์ความอัศจรรย์ของพระธรรมคำสอนมากกว่า

แต่เหตุที่พระพุทธองค์จำเป็นต้องแสดงยมกปาฏิหาริย์ในครั้งนี้
ก็เนื่องจากว่าบรรดาเหล่าเดียรถีย์ซึ่งเป็นนักบวชนอกศาสนาพุทธ
ได้มาท้าพระพุทธองค์แข่งแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่าใครจะเก่งกว่ากัน
ซึ่งหากพระพุทธเจ้าไม่แสดงยมกปาฏิหาริย์
ก็จะยิ่งเป็นเหตุให้พวกเดียรถีย์หาเรื่องทำลายพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศว่า
จะเสด็จไปแสดงปาฏิหาริย์ใกล้โคนต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์
ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตรงกับวันอาสาฬหบูชา
ก่อนถึงวันเข้าพรรษา ๑ วัน
เหล่าเดียรถีย์เมื่อทราบข่าว
ก็ให้พรรคพวกลูกน้องและสาวกที่นับถือพวกตน
ไปจัดการโค่นต้นมะม่วงทิ้งจนหมดสิ้น
ทราบว่าบ้านใครสวนใครมีต้นมะม่วง ก็ใช้อิทธิพลทางการเงินซื้อ
แล้วโค่นทำลายหมด แม้แต่หน่อต้นเล็กต้นน้อยก็ขุดทำลายเสียจนสิ้นซาก
แต่สุดท้าย “นายคัณฑกะ” คนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล
(กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ซึ่งมีเมืองสาวัตถีเป็นเมืองหลวง)
ได้เห็นว่าภายในพระราชอุทยานที่ตนดูแลอยู่
มีมะม่วงผลหนึ่งสุกเหลืองอร่ามน่ากิน จึงได้สอยเอามาเก็บไว้
โดยตั้งใจว่าจะนำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล

แต่เมื่อนายคัณฑกะได้พบกับพระพุทธเจ้าในระหว่างทาง
จึงได้ถวายมะม่วงสุกผลนั้น เมื่อพระพุทธองค์เสวยเนื้อมะม่วงแล้ว
ได้ให้นายคัณฑกะวางเมล็ดมะม่วงลงในดิน
จากนั้นทรงใช้น้ำล้างพระหัตถ์รดลงไปบนเมล็ดมะม่วง
ทันใดก็พลันบังเกิดความอัศจรรย์ขึ้น
ปรากฏว่าเมล็ดมะม่วงได้ให้กำเนิดเป็นต้นมะม่วงสูงใหญ่ขึ้น
ถึง ๕๐ ศอก หรือ ๒๕ เมตร พร้อมทั้งแผ่สยายกิ่งก้านสาขา
ออกลูกดกเต็มต้น รวมถึงร่วงหล่นให้ผู้คนได้เก็บกินกัน


หลังจากนั้นก็ใกล้จะถึงเวลาที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์บนโลกมนุษย์
ก็มีพุทธบริษัทมาเฝ้ารอชมการแสดงปาฏิหาริย์กันอย่างเนืองแน่น
ขณะที่บนสวรรค์ชั้นฟ้า เหล่าเทวดาทุกชั้นต่างก็มาชุมนุม
เพื่อเฝ้ารอชมการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน

ยมกปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์คู่ อัศจรรย์ไฟคู่น้ำ
โดยพระพุทธองค์ทรงเข้าฌาน แล้วเหาะลอยขึ้นไปในอากาศ
พร้อมนิมิตให้มีร่างของพระองค์เองขึ้นมาคู่กันอีกหนึ่งองค์
เพื่อแสดงปาฏิหาริย์คู่กันไป
อาทิ
ทำให้เกิดเปลวไฟออกจากพระวรกายพุ่งขึ้นเบื้องบน
พร้อมกับทำให้มีสายน้ำออกมาจากพระวรกายพุ่งลงเบื้องล่าง
แล้วสลับให้สายน้ำพุ่งขึ้นเบื้องบน เปลวไฟพุ่งลงเบื้องล่าง
เปลวไฟพุ่งออกจากทางด้านซ้าย สายน้ำออกจากทางด้านขวา
จากนั้นก็สลับกัน
จนท้ายที่สุดทรงทำให้มีเปลวไฟและสายน้ำพุ่งออกจากร่างพร้อมกัน
โดยเปลวไฟนั้นให้ความสว่างไสวสวยงาม
ส่วนสายน้ำนั้นให้ความสดชื่นเย็นชุ่มฉ่ำ นับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ซึ่งบรรดาเหล่าเดียรถีย์ไม่สามารถจะทำได้
ทำให้ต้องพ่ายแพ้ไม่เป็นท่าไปในที่สุด

หลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ในวันรุ่งขึ้นตรงกับวันเข้าพรรษา
พระพุทธองค์ก็ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายา
ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ ๗ วัน
ทรงดำริที่จะสนองคุณของพระพุทธมารดา
จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอภิธรรม ๗ คัมภีร์โปรดเทพบุตรพระพุทธมารดา
(ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์)
และเทวดาทั้งหลายอยู่เป็นเวลา ๑ พรรษา
และด้วยเหตุนี้เองชาวพุทธเราจึงนิยมทำบุญตักบาตร
และถวายมะม่วงสุกแด่พระสงฆ์ ในวันอาสาฬหบูชา


:b39:

• ยมกปาฏิหาริย์สถูป เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=41346

รูปภาพ

บริเวณบ้านของปุโรหิตผู้เป็นบิดาของ “พระองคุลีมาลเถระ”
ตรงข้ามกันมองออกไปไม่ไกลนักจะเห็นซากอาคารก่อด้วยอิฐ
ซึ่งล้วนแสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตทั้งสิ้น
ด้านหน้าบริเวณนั้นคือ บ้านท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี อุบาสกผู้คอยอุปัฏฐากพระพุทธศาสนา
ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นอุบาสกผู้เลิศในการเป็นผู้ถวายทาน


:b39:

• สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50333

รูปภาพ

“พระพุทธมหามงคลชัย มหาเมตตาธรรม ประทานพร เพื่อสันติภาพโลก”
พระพุทธรูปปางประทานพรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย
ประดิษฐาน ณ สำนักปฏิบัติธรรม “แดนมหามงคลชัยสันติภาพโลก”
เมืองสาวัตถี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย


:b39:

• พลิกฟื้นประวัติศาสตร์...ที่สาวัตถี
(อ.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39323

--------------------------------------------
:b50: :b49: :b50:
:b44: :: ที่มา :: :b8:

>>>>> :b39: พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
: สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39377


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร