วันเวลาปัจจุบัน 17 ก.ย. 2024, 03:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


กฏกติกา
สำหรับผู้ประกาศแจก
1. รายละเอียดสิ่งของที่จะแจก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะ หรือซีดี
2. อีเมล์/เบอร์โทร (ถ้าสะดวก) เพื่อการติดต่อ
3. จำนวนของสิ่งของที่จะแจก
4. กำหนดวันเวลาสิ้นสุดการแจกชัดเจน
5. เมื่อสิ้นสุดการแจก กรุณาปิด-ลบกระทู้ หรือแจ้งให้ผู้ดูแลทราบ

สำหรับผู้ขอรับ
1. กรุณาอ่านรายละเอียดข้อตกลงก่อนว่า ต้องลงชื่อขอรับในเว็บบอร์ดนี้ หรืออีเมล์ และเว็บไซต์ของผู้แจก
2. ชื่อ-ที่อยู่ ชัดเจน และเมื่อได้รับแล้ว กรุณาเข้ามาลบ หรือแจ้งผู้ดูแลลบชื่อท่านออก เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง
....



กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


• ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ •

รูปภาพ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ

:b44: ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์

(๑) มหัศจรรย์ “พระพุทธไสยาส”

(๒) มหัศจรรย์ “ตำราเวชเชตุพน”

(๓) มหัศจรรย์ “มหาเจดีย์สี่รัชกาล”

(๔) มหัศจรรย์ “ต้นตำนานสงกรานต์ไทย”

(๕) มหัศจรรย์ “มรดกโลกวัดโพธิ์”

(๖) มหัศจรรย์ “ตำนานยักษ์วัดโพธิ์”

(๗) มหัศจรรย์ “ผ่านภพรัตนโกสินทร์”

(๘) มหัศจรรย์ “วิจิตรพระพุทธเทวปฏิมากร”

(๙) มหัศจรรย์ “ต้นตำรับนวดแผนไทย”


รูปภาพ

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธไสยาส (พระนอน) ทางด้านพระพักตร์ขององค์พระ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธไสยาส (พระนอน) ทางด้านพระปฤษฎางค์ (ด้านหลัง) ขององค์พระ


(๑) มหัศจรรย์ “พระพุทธไสยาส”

พระวิหารพระพุทธไสยาส หรือ พระวิหารพระนอน
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
ภายในประดิษฐาน “พระพุทธไสยาส” หรือ “พระนอน” ปางโปรดอสุรินทราหู
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่เมื่อ จ.ศ.๑๑๙๓ พ.ศ.๒๓๗๕
โดยสร้างองค์พระขึ้นก่อนแล้วจึงสร้างพระวิหารครอบองค์พระในภายหลัง

“พระพุทธไสยาส” หรือ “พระนอนวัดโพธิ์” ได้รับการยกย่องว่าเป็น
พระพุทธไสยาสที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอันดับต้นๆ แห่งสยามประเทศ
ขนาดองค์พระยาว ๑ เส้น ๓ วา (๔๖ เมตร)
ความสูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา ๑๕ เมตร

เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศก (ไรผม) ถึงพระหนุ (คาง)
ยาว ๑๐ ศอก (๕ เมตร) กว้าง ๕ ศอก (๒.๕๐ เมตร)
พระพุทธบาท ยาว ๕ เมตร สูง ๓ เมตร
จัดว่าเป็นพระนอนที่มีขนาดองค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร
และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย

รองลงมาจากพระนอนจักรสีห์ วัดพระนอนจักรสีห์ วรวิหาร จ.สิงห์บุรี
ซึ่งขนาดองค์พระยาว ๑ เส้น ๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว (๔๗.๔๐ เมตร)
และพระนอนกลางแจ้ง วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง
ซึ่งขนาดองค์พระยาว ๑ เส้น ๕ วา (๕๐ เมตร)


ดำเนินการสร้างโดยช่างสิบหมู่หลวง โดยมี
พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี
เป็นผู้กำกับดูแลการก่อสร้าง
เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองเหลืองอร่ามทั้งองค์
ในขณะที่พระพักตร์อิ่มเอิบ ดูขรึมขลังงดงามสมส่วน เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธายิ่งนัก
เชื่อกันว่าเป็นปางโปรดอสุรินทราหู ในคติที่กล่าวว่า เพื่อลดทิฐิของอสุรินทราหู ผู้เป็นยักษ์
เรื่องการสำคัญผิดถึงความยิ่งใหญ่ของตัวตน ที่ถือตัวว่ามีร่างกายใหญ่โตกว่ามนุษย์
พระพุทธเจ้าจึงทรงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่กว่ายักษ์


ลักษณะพระพุทธไสยาสโดยทั่วๆ ไป มีลักษณะบรรทมตะแคงขวา
พระบาทขวาเลื่อมพระบาทซ้าย แต่พระพุทธไสยาสวัดโพธิ์นั้น
มีความแตกต่างออกไปเป็นเอกลักษณ์พิเศษ
คือ พระบาททั้งซ้ายและขวานั้นซ้อนเสมอกัน

อาจเป็นความตั้งใจของช่างสิบหมู่หลวงผู้สร้างที่ตั้งใจจะแสดงลวดลาย
ลักษณะเป็นภาพมงคล ๑๐๘ ประการ บนฝ่าพื้นพระบาททั้งสองก็เป็นได้

ที่น่าทึ่งคือ ลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการ
ที่งดงามโดดเด่นอย่างยิ่งบนฝ่าพื้นพระบาททั้งสองข้าง

ซึ่งเป็นลายศิลปะไทยกับจีนผสมผสานกันกลมกลืนลงตัวอย่างประณีตศิลป์
หากพิจารณาแล้ว ภาพมงคล ๑๐๘ ประการ และลวดลายภูเขาต่างๆ
ในป่าหิมพานต์
เป็นคติแบบไทยที่รับมาจากชมพูทวีป
ส่วนภาพนก หงส์ ภูเขา เมฆ ฯลฯ รวมทั้งแนวคิดเรื่องฮวงจุ้ยเป็นคติแบบจีน

อนึ่ง การประดับลวดลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการไว้ที่ฝ่าพระบาทนั้น
เป็นไปตามคติอินเดียโบราณที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง
คือ ฝ่าพระบาทมีลายมงคล ๑๐๘ ประการ ได้แก่ ปราสาท หอยสังข์ ช้าง แก้ว
นก หงส์ ภูเขา เมฆ ฯลฯ ตรงกลางเป็นรูปกงจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ
แสดงถึงพระบุญญาบารมีอันแรงกล้า ซึ่งหากเป็นพระพุทธรูปปางอื่นๆ
จะมองไม่เห็น ยกเว้นพระพุทธรูปปางไสยาสน์
ทำให้ช่างผู้สร้างบรรจงประดับลวดลายอันวิจิตรไว้อย่างเต็มที่


รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธไสยาส (พระนอน) มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอันดับต้นๆ แห่งสยามประเทศ

รูปภาพ
พระพุทธไสยาส (พระนอน) ขนาดองค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน

รูปภาพ
ลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการที่พระบาทพระพุทธไสยาส (พระนอน)

รูปภาพ
๑ ในลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการที่พระบาทพระพุทธไสยาส (พระนอน)

รูปภาพ

รูปภาพ
ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาส (พระวิหารพระนอน)

รูปภาพ
พระวิหารพระพุทธไสยาส (พระวิหารพระนอน)

รูปภาพ
“นายทวารบาล” ตุ๊กตาสลักหินรูปฝรั่งถือกระบอง
ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระวิหารพระพุทธไสยาส (พระวิหารพระนอน)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ศิลาจารึกตำรานวดแผนโบราณ


(๒) มหัศจรรย์ “ตำราเวชเชตุพน”

ศาลาจารึกตำรานวดแผนโบราณ ตั้งอยู่ใกล้กับพระมหาเจดีย์ ๔ รัชกาล
ณ บริเวณศาลาหลังนี้มี ศิลาจารึกตำรานวดแผนโบราณ
ศิลาจารึกเกี่ยวกับการรักษาโรค ซึ่งมีจิตรกรรมลายเส้น
บอกตำแหน่งต่างๆ ของอวัยวะในร่างกาย และจุดต่างๆ สำหรับการนวด
โดยการนวดไทยที่วัดโพธิ์นั้น ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อทั้งในหมู่ชาวไทย
และในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจุดกำเนิดของการนวดนั้นก็อยู่ตรงนี้เอง


รูปภาพ
ศิลาจารึกตำรานวดแผนโบราณ

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑-๔ ในยามราตรี


(๓) มหัศจรรย์ “มหาเจดีย์สี่รัชกาล”

ส่วนเหตุที่ “วัดโพธิ์” ได้รับการขนานนามว่าเป็น “อาณาจักรแห่งเจดีย์” นั้น
ก็เนื่องมาจากว่าที่นี่มีเจดีย์กว่าร้อยองค์ เป็นวัดที่ได้ชื่อว่ามีเจดีย์มากที่สุดแห่งหนึ่ง
ทั้งเจดีย์รายและเจดีย์หมู่ แต่เจดีย์ที่มีความงดงามและโดดเด่นที่สุดก็คือ
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นเจดีย์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ ๑-๔
อยู่ในบริเวณกำแพงสีขาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน
ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เครื่องถ้วยหลากสี มีตุ๊กตาหินจีนประตูละคู่
พระมหาเจดีย์แต่ละองค์เป็นเจดีย์ย่อไม้สิบสองเพิ่มมุมสูง ๔๒ เมตร
ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายต่างๆ สังเกตได้ง่าย


รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ”
พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ (สีเขียว)



เจดีย์องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ สีเขียว มีนามว่า
“พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ” เป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑
สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
เพื่อครอบพระพุทธรูป “พระศรีสรรเพชญ์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง ๑๖ เมตร
เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในพระราชวังพระนครศรีอยุธยา
ที่ถูกพม่าทำลายจนเกินจะปฏิสังขรณ์ใหม่ได้ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ


รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน”
พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๒ (สีขาว)



เจดีย์องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ สีขาว มีนามว่า
“พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน” เป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๒
สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระบรมราชชนก คือ รัชกาลที่ ๒


รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์มุนีบัตรบริขาร”
พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๓ (สีเหลือง)



เจดีย์องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ สีเหลือง มีนามว่า
“พระมหาเจดีย์มุนีบัตรบริขาร” เป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๓
สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่นกัน ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา
นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระองค์


รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย”
พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๔ (สีขาบหรือสีน้ำเงินเข้ม)



ส่วนเจดีย์องค์สุดท้ายนั้นเป็นเจดีย์องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้อง สีขาบหรือสีน้ำเงินเข้ม
มีนามว่า “พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย” เป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๔
สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงสร้างขึ้นตามแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง
พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย ไว้ ๑ องค์ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ
ครั้นใกล้จะเสด็จสวรรคตได้มีพระราชดำรัสเฉพาะกับ รัชกาลที่ ๕ ว่า

“พระเจดีย์วัดพระเชตุพนฯ นั้นกลายเป็นใส่คะแนนพระเจ้าแผ่นดินไป
ถ้าจะใส่คะแนนอยู่เสมอจะไม่มีที่สร้าง ควรจะถือว่า
พระเจ้าแผ่นดินทั้งสี่พระองค์นั้น ท่านได้เคยเห็นกันทั้งสี่พระองค์
จึงควรมีพระเจดีย์อยู่ด้วยกัน ต่อไปอย่าให้ต้องสร้างทุกแผ่นดินเลย”
(พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๘๑)


รูปภาพ
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑-๔

รูปภาพ

รูปภาพ
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ส่วนด้านหน้าคือเก๋งจีน

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แก้ไขล่าสุดโดย เว็บมาสเตอร์ เมื่อ 22 ก.พ. 2010, 07:42, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
วีดีทัศน์ “ต้นตำนานสงกรานต์ไทย”


(๔) มหัศจรรย์ “ต้นตำนานสงกรานต์ไทย”

ศิลาจารึกความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์
คติความเชื่อตำนานสงกรานต์
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดโพธิ์
เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว
โดยสมมุติผ่านเรื่องราวธรรมบาลกุมาร
และนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์

ความโดยย่อกล่าวไว้ว่า เศรษฐีคนหนึ่ง ไม่มีบุตร
บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา ซึ่งมีบุตร ๒ คน มีผิวเนื้อเหมือนทอง
วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวคำหยาบคายต่อเศรษฐี
เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก
นักเลงสุราจึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร
ตายแล้วสมบัติก็จะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่า
ท่านเศรษฐีมีความละอายใจจึงบวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์
ตั้งอธิษฐานขอบุตรถึงสามปีก็มิได้มีบุตร อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์
พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทร
อันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำ ๗ ครั้ง
แล้วหุงขึ้นบูชาพระไทรประโคมพิณพาทย์ตั้งอธิษฐานขอบุตร
พระไทรมีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์
พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี
เมื่อคลอดแล้วจึงให้ชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร
ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น
กุมารเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนไตรเพทจบ
เมื่ออายุได้เจ็ดขวบได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง
ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหมองค์หนึ่ง
ว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ
จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ
สัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา
ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า

ข้อ ๑ เช้าราศีอยู่แห่งใด
ข้อ ๒ เที่ยวราศีอยู่แห่งใด
ข้อ ๓ ค่ำราศีอยู่แห่งใด

ธรรมบาลกุมารขอผลัด ๗ วันเพื่อตอบปัญหา
ครั้นล่วงไปได้หกวันธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้
จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม
ไม่ต้องการจำจะหนีไปซุกซ่อนตายเสียดีกว่า
จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล ๒ ต้น
มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น
ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด
สามีบอกว่าจะกินศพธรรมบาลกุมาร
ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสียเพราะทายปัญหาไม่ออก
นางนกถามว่าปัญหานั้นอย่างไร สามีจึงบอกเล่าปัญหาให้เมียฟัง
นางนกถามว่าจะแก้อย่างไร สามีบอกว่าเช้าราศีอยู่ที่หน้า
มนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก
มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อกเวลา
ค่ำราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็กลับไปปราสาท
วันรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา
ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗
อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกันแล้วบอกว่า
เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าตั้งไว้บนแผ่นดิน
ไฟจะไหม้ทั่วโลก ถ้าทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง
ถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้ง ๗ นั้นเอาพานมารับศีรษะ
แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาองค์ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้
แล้วแห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที
แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรีเขาไกรลาศ
บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ
ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมู
ลาดลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้ว แจกกันสังเวยทุกๆ องค์
ครั้นถึงครบกำหนด ๓๖๕ วันโลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นสงกรานต์
นางเทพธิดาเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม
ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี

ธิดาทั้ง ๗ ของท้าวกบิลพรหม
ซึ่งเราสมมุติเรียกว่านางสงกรานต์นั้น มีชื่อต่างๆ ดังนี้คือ

- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันอาทิตย์ นางสงกรานต์มีชื่อว่า ทุงษ
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันจันทร์ นางสงกรานต์มีชื่อว่า โคราด
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันอังคาร นางสงกรานต์มีชื่อว่า รากษส
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันพุธ นางสงกรานต์มีชื่อว่า มัณฑา
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันพฤหัสบดี นางสงกรานต์มีชื่อว่า กิริณี
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์มีชื่อว่า กิมิทา
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันเสาร์ นางสงกรานต์มีชื่อว่า มโหทร


รูปภาพ

รูปภาพ
มหัศจรรย์ “ต้นตำนานสงกรานต์ไทย”

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“จารึกวัดโพธิ์” เกี่ยวกับจุดต่างๆ บนร่างกายมนุษย์


(๕) มหัศจรรย์ “มรดกโลกวัดโพธิ์”

ในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ พระอารามหลวงประจำรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๓ นั้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ชึ่งสมควรจะเล่าเรียน
เป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง
หรือประชุมปราชญ์ผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง

ในส่วนของ “จารึกวัดโพธิ์” นั้น ได้เริ่มมีขึ้น
ในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่อีกครั้ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
โดยการบูรณะในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระราชประสงค์
ให้พระอารามแห่งนี้เป็น “มหาวิทยาลัย” สำหรับประชาชนทั่วไป
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเอาองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทย
และสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี
และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย ฯลฯ
มาจารึกลงบนแผ่นหินอ่อนจำนวน ๑,๓๖๐ แผ่น
ประดับไว้ตามบริเวณผนัง-เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ
พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด

ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือ ‘ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน’
ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ.๒๔๖๒
ว่า

“...ในการที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ มีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง
ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์
ถ้าจะเรียกอย่างทุกวันนี้ ก็คือจะให้เป็นมหาวิทยาลัย
เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไทย
การเล่าเรียนส่วนสามัญศึกษาที่มีเรียนอยู่ตามวัดทั่วไป
แต่ส่วนวิสามัญศึกษาอันจะเป็นวิชาอาชีพของคนทั้งหลายยังศึกษาได้แต่ในสกุล
ผู้อยู่นอกสกุลโดยเฉพาะที่เป็นพลเมืองสามัญไม่มีโอกาสที่จะเรียนได้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ซึ่งสมควรจะเล่าเรียน
เป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง
หรือประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ โดยมาก เพื่อคนทั้งหลายไม่เลือกว่า
ตระกูลชั้นใดๆ ใครมีใจรักวิชาอย่างใด ก็ให้สามารถเล่าเรียนได้จาก
ศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีหลายอย่าง ทั้งเป็นความรู้ส่วนวรรณคดี
โบราณคดี และศัสตราคมต่างๆ เป็นอันมาก และได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา...”


จารึกทั้งหมดในวัดโพธิ์จากหนังสือ ‘ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน’
(คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกสมโภชหิรัญบัฏ
และฉลองอายุวัฒนมงคล ๘๕ ปี พระธรรมปัญญาบดี พ.ศ.๒๕๔๔)
เมื่อแบ่งประเภทออกแล้วก็นับได้หลายหมวดด้วยกัน ดังนี้

หมวดประวัติ ได้แก่ จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑,
จารึกครั้งรัชกาลที่ ๑ จดหมายเหตุเรื่องว่าด้วยพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน,
การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนถอดจากโคลงดั้นฯ, พระพุทธเทวปฏิมากร,
พระพุทธโลกนาถ, พระพุทธมารวิชัย, พระพุทธชินราช, พระพุทธชินศรี,
พระพุทธปาลิไลย, พระพุทธศาสดา, พระพุทธไสยาสน์,
รายการแบ่งด้านปฏิสังขรณ์ถอดจากโคลงดั้นฯ,
โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
(พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
และโคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์

หมวดพระพุทธศาสนา ได้แก่ จารึกเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์
ติดไว้ที่เชิงผนังหน้าต่างระหว่างพระอุโบสถ
เนื้อหาอธิบายถึงประวัติของพระเถระแต่ละรูป เหตุที่ออกบวช
และคุณสมบัติพิเศษที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
ของพระเถระแต่ละองค์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ฯลฯ,
จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ ๑๓ องค์
ที่อยู่เชิงผนังหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์,
จารึกเรื่องอุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คน, จารึกเรื่องอุบาสิกาเอตทัคคะ ๑๐ คน,
จารึกเรื่องอสุภ ๑๐ และญาณ ๑๐, จารึกเรื่องฎีกาพาหุง ๘ บท,
จารึกเรื่องพระพุทธบาท, จารึกเรื่องธุดงค์ ๑๓, จารึกเรื่องพาหิรนิทาน,
จารึกเรื่องอรรถกถาชาดก, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑,
จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๓,
จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๔, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๐,
จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๓,
จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๖, จารึกเรื่องศาลาการเปรียญ,
จารึกเรื่องเวสสันดรชาดก, จารึกเรื่องมหาวงษ์,
จารึกเรื่องนิรยกถา และจารึกเรื่องเปรตกถา

หมวดวรรณคดี ได้แก่ จารึกเรื่องรามเกียรติ์, จารึกนิทานสิบสองเหลี่ยม
ที่จารึกไว้ที่คอสอง เฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก
(ปัจจุบันศาลาแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของมีค่าของวัด),
จารึกตำราฉันท์วรรณพฤติ, จารึกตำราฉันท์มาตราพฤติ,
จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร,
จารึกโคลงกลบท ที่ติดอยู่ตามพระระเบียงของพระอุโบสถ
และจารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่เป็นแผ่นหินอ่อนอยู่รอบพระอุโบสถ

หมวดทำเนียบ ได้แก่ จารึกทำเนียบตราตำแหน่งสมณศักดิ์,
จารึกทำเนียบหัวเมืองขึ้นของกรุงสยามและผู้ครองเมือง
และจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา จารึกอยู่ตามผนังเฉลียงสกัดศาลารายรอบวัด
เพื่ออธิบายลักษณะ อุปนิสัย บ้านเมืองชาวต่างประเทศที่ชาวสยามคุ้นเคย

หมวดประเพณี ได้แก่ จารึกเรื่องรามัญหุงข้าวทิพย์, จารึกเรื่องมหาสงกรานต์,
จารึกเกี่ยวกับริ้วกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นต้น

หมวดสุภาษิต
ได้แก่ จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง
อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังเหนือ,
จารึกฉันท์พาลีสอนน้อง อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ทิศใต้,
จารึกสุภาษิตพระร่วง, จารึกฉันท์อัษฎาพานร และจารึกโคลงโลกนิติ
มีจำนวน ๔๒๐ บทด้วยกัน อยู่ที่ผนังด้านนอกศาลาทิศพระมณฑป

หมวดอนามัย ได้แก่ จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตน
เป็นท่าดัดตนทั้ง ๘๐ ท่าที่จะแก้การปวดเมื่อยของอวัยวะต่างๆ
และจารึกอาธิไท้โพธิบาทว์ เป็นต้น

รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปสลักหินฤาษีดัดตน
ในท่าต่างๆ จำนวนทั้งหมด ๘๐ ท่า สำหรับอธิบายประกอบตำรับตำรา

การบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในครั้งนั้น
ใช้เวลาไปถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน จึงแล้วเสร็จ
ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัย” เท่านั้น
แต่ยังทำให้วัดโพธิ์ในตอนนั้นดูงดงามจนกวีเอก
อย่าง “สุนทรภู่” ถึงกับเอ่ยชมออกมาเป็นบทกลอนว่า

“.....เห็นวัดโพธิ์โสภาสถาพร
สง่างอนงามพริ้งทุกสิ่งอัน
โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง
ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์.....”


เรียกได้ว่าพระองค์ทรงพัฒนาวัดนี้ในทุกด้านอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว
ซึ่งในรัชกาลต่อมาๆ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา
ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญมาตลอดทุกรัชกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

จารึกทั้งหมดนี้จึงเป็นความรู้ด้านศาสนา วิชาการวรรณคดี
โบราณคดี การแพทย์ ประวัติศาสตร์ และอีกหลายสาขา
ซึ่งทรงมุ่งหวังให้ยั่งยืนและเผยแพร่ให้ประชาชนศึกษาได้อย่างเสรี
เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน โดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ
ยศถาบรรดาศักดิ์ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือ ไม่มีโรงเรียน
การเล่าเรียนส่วนใหญ่จะมีสอนให้อยู่ตามวัดต่างๆ หรือตามบ้านผู้ดีมีสกุลเท่านั้น
พระอารามแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
เพิ่มเติมจากการเล่าเรียนวิชาสามัญศึกษาที่มีอยู่ตามวัดทั่วไป
แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า ๑๗๘ ปี วัดโพธิ์ก็ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิทยา
เห็นได้จากความรู้เกี่ยวกับโยคะศาสตร์และตำราการนวดแผนโบราณวัดโพธิ์
เป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไปทั่วโลกในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก
ประเทศไทย โดยคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการฯ

จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization)
หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) จนกระทั่งมีมติรับรองให้ขึ้นทะเบียน
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นเอกสาร
“มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World)
ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๒
ในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่คณะกรรมการแห่งชาติฯ
ได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการองค์การยูเนสโก ไปเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๐
ซึ่งได้มีการรับรองแล้วในที่ประชุมใหญ่องค์การยูเนสโก ประเทศออสเตรเลีย

ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกวิเคราะห์แล้วเห็นว่า
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
ไม่ได้ให้ผลกระทบต่อหลายประเทศในโลก
แต่มีความสำคัญควรได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาค
เนื่องจากองค์ความรู้ในสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ ของจารึกดังกล่าว
มีความสำคัญระดับสากล และมีวิชาหลากหลายที่เป็นสากลด้วย
โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์แผนโบราณ การบริหารกายเพื่อบำบัดโรค
เช่น ตำราแพทย์ วิชาฤาษีดัดตน เป็นต้น

คำว่า “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) คือ
มรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage)
ที่เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด
การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ เป็นมรดกตกทอดจากสังคม
ในอดีตให้แก่สังคมปัจจุบัน ที่จะสืบสานส่งต่อให้แก่สังคมในอนาคต

“มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World)
นี้จะแตกต่างจาก “มรดกโลก” (World Heritage) ที่เรารู้จักกันดี
ตรงที่ “มรดกโลก” นั้นเป็นมรดกที่ประกอบไปด้วยแหล่ง (sites)
หรือสถานที่ ทั้งที่เป็น ‘แหล่งธรรมชาติ’ หรือ ‘แหล่งทางวัฒนธรรม’
ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน เมือง ฯลฯ แต่ต้องเป็นแหล่ง
ที่มีคุณค่าเป็นเอก เป็นสากล สมควรที่ทั่วโลกจะช่วยกันปกป้องรักษา
ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักชื่นชมสืบไป
ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกได้ประกาศอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลกขึ้น
โดยประเทศที่ร่วมเป็นภาคี ตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการตาม
นัยของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์และดำเนินการเกี่ยวกับมรดกโลก

ประเทศไทยมี ‘แหล่งธรรมชาติ’ ที่ขึ้นทะเบียน “มรดกโลก”
(World Heritage) แล้ว ๒ แห่ง ได้แก่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
จังหวัดอุทัยธานี-กาญจนบุรี-ตาก
และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ
จังหวัดสระบุรี-นครนายก-นครราชสีมา-ปราจีนบุรี-สระแก้ว และบุรีรัมย์
โดยเฉพาะด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์
ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ของราชอาณาจักรกัมพูชา

ส่วน ‘แหล่งทางวัฒนธรรม’ มี ๓ แห่ง ได้แก่
มรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จังหวัดสุโขทัย,
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากับเมืองบริวาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

ส่วนมรดกความทรงจำแห่งโลกนั้นจะต้องเป็นมรดกทางเอกสาร
หรือข้อมูลความรู้ที่บันทึกไว้ หรือประกาศถ่ายทอดออกมา
แต่ทั้งมรดกความทรงจำแห่งโลกและมรดกโลกนั้น
ต่างก็เป็นงานขององค์การยูเนสโกเหมือนกัน
โดยมรดกความทรงจำแห่งโลกชิ้นแรกของไทยคือ
‘ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑’ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐาน
ทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่บันทึกและประกาศข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
และนโยบายของรัฐโบราณให้สาธารณชนรับทราบ และมีผลต่อประวัติ
ของโลกนอกพรมแดนวัฒนธรรมของไทย ทำให้เข้าใจความสำคัญ
ของการปกครอง การค้าขาย การติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาติต่างๆ
ในช่วงเวลาของยุคสุโขทัย มีความสมบูรณ์ในตัวเอง
นับเป็นเอกสารสาธารณะที่หาได้ยากยิ่ง
ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖
ต่อมาก็คือ ‘จารึกวัดโพธิ์’ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน

โดยได้มีการส่งมอบเอกสารการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก
มายังคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย
ต่อมา ฯพณฯ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ร่วมกับ นายพงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ได้มีการนำเอกสารนี้ถวายแด่พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร)
เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ และพระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ อันตรงกับ
วันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พร้อมกันนี้ทางวัดได้จัดงานรับเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก ควบคู่กันไปกับ
งานบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการจารึกองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทย
และสรรพวิทยาการต่างๆ ไว้โดยรอบพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาราย ในวัดโพธิ์แห่งนี้

สำหรับ ‘แผนงานของยูเนสโกว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก’
(Memory of the World Program) นั้น เป็นแผนงานที่องค์การยูเนสโก
กำหนดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๕
โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลก
มาประชุมหารือร่วมกัน แผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และ
การเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกไว้ในรูปแบบใดๆ และไม่ว่าจะผลิตในประเทศใด
ถือว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึง
ความหลากหลายทั้งในด้านของวัฒนธรรม และความคิดริเริ่มของมนุษยชาติ


รูปภาพ
“จารึกวัดโพธิ์” เกี่ยวกับจุดต่างๆ บนร่างกายมนุษย์

รูปภาพ
“จารึกวัดโพธิ์” บนศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“ยักษ์วัดโพธิ์” ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)


(๖) มหัศจรรย์ “ตำนานยักษ์วัดโพธิ์”

“ยักษ์” เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี
เป็นความเชื่อของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ
โดยเชื่อว่ายักษ์มีหลายระดับขึ้นอยู่กับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง
มีรูปร่างสวยงาม ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา
ยักษ์ชั้นกลางส่วนใหญ่จะเป็นบริวารของยักษ์ชั้นสูง
ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่ากลัว ผมหยิกตัวดำผิวหยาบ นิสัยดุร้าย

จะเห็นได้ว่าในวัดวาอารามต่างๆ มักจะมียักษ์มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวัด
หรือโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นยักษ์แบกพระเจดีย์ในวัดพระแก้ว
รูปปั้นยักษ์แบกองค์พระปรางค์ในวัดแจ้ง หรือยักษ์วัดโพธิ์ เป็นต้น
ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์สั่งสอนยักษ์ให้ลดทิฐิมานะ
ยักษ์ที่ได้ฟังและเข้าใจในพระธรรม จึงได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา
หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ผู้แบกสรวงสวรรค์ และทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสถูปสถาน
และอาคารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่งคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา


สำหรับยักษ์ประจำวัดโพธิ์ หลายคนคงเคยได้ยินตำนานกำเนิดท่าเตียน
ที่เล่าปากต่อปากกันมาว่า บริเวณท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้น
เป็นผลจากการต่อสู้ของ “ยักษ์วัดแจ้ง” กับ “ยักษ์วัดโพธิ์”
โดยมี “ยักษ์วัดพระแก้ว” เป็นผู้ห้ามทัพ


ตำนานกำเนิดท่าเตียน มีว่า ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์
และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ฝั่งตรงข้ามนั้น
ทั้ง ๒ ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งทางฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน
จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง พร้อมทั้งนัดวันที่จะนำเงินไปส่งคืน
เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เบี้ยวเอาเสียดื้อๆ
ยักษ์วัดแจ้งเมื่อรอแล้วรอเล่าจนทนไม่ไหว
จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ยักษ์วัดโพธิ์ไม่ยอมให้

ดังนั้น ในที่สุดยักษ์ทั้ง ๒ ตนจึงเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน
แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตมหึมาและมีกำลังมหาศาลของยักษ์ทั้ง ๒ ตน
เมื่อต่อสู้กันจึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตายลงหมด
หลังจากที่เลิกต่อสู้กันแล้วบริเวณที่ยักษ์ทั้งสองประลองกำลังกันนั้น
จึงราบเรียบเป็นหน้ากลองกลายเป็นสถานที่ที่โล่งเตียนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย
ซึ่งตามตำนานเรื่องเล่าดังกล่าวยังสรุปไม่ได้ว่า ยักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ


ครั้นเมื่อพระอิศวร (พระศิวะ) ได้ทราบเรื่องราวการต่อสู้กัน
ทำให้บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในบริเวณนั้นเดือดร้อน
จึงได้ลงโทษโดยการสาปให้ยักษ์ทั้ง ๒ กลายเป็นหิน
แล้วให้ยักษ์วัดโพธิ์ ทำหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถ วัดโพธิ์
และให้ยักษ์วัดแจ้ง ทำหน้าที่ยืนเฝ้าพระวิหาร วัดแจ้ง เรื่อยมา

ส่วนฤทธิ์จากการสู้รบของยักษ์ทั้งคู่ที่ทำชุมชนละแวกนี้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง
ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกว่า “ท่าเตียน” เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้


เมื่อคาดคะเนจากตำนานการต่อสู้ ยักษ์ทั้งสามน่าจะมีขนาดใกล้เคียงกัน
หลายคนเลยเข้าใจผิดคิดว่า
“ลั่นถัน นายทวารบาล”
หรือตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่ที่ยืนถือศาสตราวุธ
เฝ้าซุ้มประตูเข้า-ออกในเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดรวม ๓๒ ตัวนั้น
คือ ยักษ์วัดโพธิ์
แต่โดยแท้จริงแล้ว “ยักษ์วัดโพธิ์” มีเพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ
ยักษ์กายสีแดง, ยักษ์กายสีเขียว, ยักษ์กายสีเทา และ ยักษ์กายสีเนื้อ
ประติมากรรมรูปร่างเป็นยักษ์ไทย เขี้ยวแหลมโง้ง มือทั้งสองกุมไม้กระบองเป็นอาวุธ
ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะคล้ายกับยักษ์ในวรรณคดีสำคัญเรื่องรามเกียรติ์
เช่นเดียวกับ “ยักษ์วัดพระแก้ว” หากแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก
เล็กจนสามารถตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) ได้


ส่วนประวัติการสร้างเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้รื้ออสูรที่ยืนเฝ้าประจำประตูทั้ง ๔ ประตูของวัดออกไป
แล้วนำ “ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือรูปตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่มาตั้งแทน
กาลนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปยักษ์ปูนปั้นขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑๗๕ เซนติเมตร
จำนวน ๘ ตน ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)
ทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๑ คู่ เพื่อให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎก
(พระมณฑปหรือหอไตรจตุรมุข ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก เรียกว่าหอพระไตรปิฎกก็ได้)

เมื่อครั้งทำระเบียงพระมหาเจดีย์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) ออกไป ๒ ซุ้ม
ปัจจุบันจึงปรากฏรูปยักษ์วัดโพธิ์เหลืออยู่เพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ

ยักษ์กายสีแดง มีชื่อว่า “พญาแสงอาทิตย์” กับ ยักษ์กายสีเขียว มีชื่อว่า “พญามัยราพณ์”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ยักษ์กายสีเทา มีชื่อว่า “พญาขร” กับ ยักษ์กายสีเนื้อ มีชื่อว่า “พญาสัทธาสูร”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ


ส่วนซุ้มประตูทางเข้าฯ ด้านที่รื้อออกไป ๒ ซุ้มนั้น
แต่เดิมเป็นยักษ์มีชื่อว่า “สหัสเดชะ” กับ “ทศกัณฐ์”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
และยักษ์มีชื่อว่า “อินทรชิต” กับ “สุริยาภพ”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

คนโบราณเชื่อว่ายักษ์ที่ยืนเฝ้าซุ้มประตูมีอิทธิฤทธิ์ในการขับไล่ภูตผีปีศาจทั้งหลาย
จึงมีหน้าที่ปกปักรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีค่าที่อยู่ด้านใน


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“ยักษ์วัดโพธิ์” มีเพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ
ยักษ์กายสีแดง, ยักษ์กายสีเขียว, ยักษ์กายสีเทา และยักษ์กายสีเนื้อ
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป หรือหอไตรจตุรมุข
“ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริงมีลักษณะเช่นเดียวกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์


รูปภาพ
“ยักษ์วัดโพธิ์” ยักษ์กายสีแดง มีชื่อว่า “พญาแสงอาทิตย์”

รูปภาพ
“ยักษ์วัดโพธิ์” ยักษ์กายสีเขียว มีชื่อว่า “พญามัยราพณ์”

รูปภาพ
“ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่
ที่ยืนถือศาสตราวุธเฝ้าซุ้มประตูเข้า-ออก หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “ยักษ์วัดโพธิ์”


:b50: :b49: :b50:

:b47: :b47: หมายเหตุ : โดยเว็บมาสเตอร์

สำหรับ “ยักษ์วัดแจ้ง” นั้น ก็ถือว่าเป็นยักษ์ชื่อดัง
ที่ทุกคนรู้จักกันดีจากวรรณคดีสำคัญเรื่องรามเกียรติ์ นั่นก็คือยักษ์ทศกัณฐ์


ด้านหน้า “ประตูซุ้มยอดมงกุฎ” ก่อนเข้าสู่พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)
มีพญายักษ์หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ยักษ์วัดแจ้ง” ยืนเฝ้าอยู่ ๒ ตน
รูปร่างเป็นยักษ์ไทยตัวใหญ่ เขี้ยวแหลมโง้ง ตัวมีขนาดใหญ่กว่ายักษ์วัดโพธิ์
มือทั้งสองกุมไม้กระบองสีขาวเป็นอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น มีความสูงประมาณ ๓ วา

โดยยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า “สหัสเดชะ” ยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า “ทศกัณฐ์”
ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัว
ของเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทำหน้าที่เป็น “นายทวารบาล” ตามคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์รักษาประตู
เพื่อให้เทพได้ปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา

ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการปั้นรูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในเวลาต่อมา


:b44:

ในส่วนของ “ยักษ์วัดพระแก้ว” นั้น มีทั้งหมดรวม ๑๒ ตน
เนื่องจากประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) มี ๗ ประตู
โดย ๖ ประตูมีรูปยักษ์ยืนปูนปั้นกายสูงใหญ่ถึง ๖ เมตร
ประดับเคลือบสีประณีตงดงาม เป็น “นายทวารบาล” ยืนเฝ้าอยู่ประตูละ ๒ ตน
ยักษ์มีชื่อเรียกต่างกันไป ซึ่งแม้จะคุ้นตาแต่ก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักว่าเป็นยักษ์อะไร

ยักษ์ทั้ง ๖ คู่ เหล่านี้ต่างก็มีที่มาจากวรรณคดีสำคัญเรื่องรามเกียรติ์ทั้งสิ้น
เริ่มตั้งแต่คู่แรกที่ยืนเฝ้าประตูพระฤๅษี มีชื่อว่า จักรวรรดิ และอัศกรรณมารา
คู่ที่ยืนเฝ้าประตูเกยเสด็จ (หน้า) มีชื่อว่า สุริยาภพ และอินทรชิต
คู่ที่ยืนเฝ้าประตูหน้าวัว มีชื่อว่า มังกรกัณฐ์ และวิรุฬหก
คู่ที่ยืนเฝ้าประตูวัดพระแก้ว มีชื่อว่า ทศคีรีธร และทศคีรีวัน
คู่ที่ยืนเฝ้าประตูเกยเสด็จ (หลัง) มีชื่อว่า ทศกัณฐ์ และสหัสเดชะ
และคู่สุดท้ายที่ยืนเฝ้าประตูสนามไชย มีชื่อว่า มัยราพณ์ และวิรุฬจำบัง

ประตูที่ ๗ ประตูสุดท้าย คือประตูวิหารยอด อยู่ตรงข้ามกับวิหารยอด
เป็นประตูเดียวที่ไม่มีรูปยักษ์ทวารบาล มีแต่ภาพยักษ์และภาพวานรเขียนไว้เท่านั้น


:b44:

อ่านเพิ่มเติม >> :b49: ยักษ์วัดพระแก้ว :b49:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=26201

รูปภาพ
“ยักษ์วัดแจ้ง” มี ๒ ตนคือ ยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า “สหัสเดชะ”
ส่วนยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า “ทศกัณฐ์”
ยืนเฝ้าที่ประตูซุ้มยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม


รูปภาพ
“ยักษ์วัดพระแก้ว” นายทวารบาลเฝ้าประตู ๒ ตน
รูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“ศาลาการเปรียญ” ในปัจจุบัน
(พระอุโบสถหลังเก่าของวัดโพธารามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา)


รูปภาพ
บานหน้าต่างของศาลาการเปรียญ


(๗) มหัศจรรย์ “ผ่านภพรัตนโกสินทร์”

“วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดโบราณเก่าแก่
ซึ่งราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดโพธารามที่แน่ชัด
แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปี พ.ศ. ๒๒๓๑
ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี
ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

พระอุโบสถหลังเก่าของวัดโพธารามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
แต่ภายหลังการสถาปนาพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดโพธิ์แล้ว
จึงได้ลดฐานะพระอุโบสถหลังเก่าเป็น “ศาลาการเปรียญ”
โดยภายในมี “พระพุทธศาสดา” ประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“พระพุทธศาสดา” พระประธานในศาลาการเปรียญ


“พระพุทธศาสดา” พระประธานในศาลาการเปรียญ มีขนาดหน้าตัก ๔ ศอก
พระพุทธรูปปางสมาธิองค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง
ปรากฏแต่ว่าเดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถของวัดโพธาราม
เห็นจะตั้งแต่ครั้งแรกสร้างวัดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณก็อยู่ในราว
รัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖ หรือภายหลังจากนั้นมา

ครั้นถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ
แต่ครั้งยังเรียกว่า “วัดโพธาราม” อันเป็นอารามเก่า
ให้เป็นพระอารามใหญ่โตสำหรับพระนคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๒
ครั้งนั้นได้ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอุโบสถขึ้นหลังใหม่
ส่วนพระอุโบสถหลังเก่านั้นให้สร้างแก้เป็นศาลาการเปรียญ
ซึ่งยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ข้อนี้มีปรากฏอยู่ใน
พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่องตำนานพระพุทธรูปสำคัญ
เพราะฉะนั้น “พระพุทธศาสดา”
จึงคงประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในศาลาการเปรียญตั้งแต่นั้นมา

ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ
ครั้งนั้นได้ให้ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญให้ใหญ่โตกว่าเก่า
คือให้ตั้งเสารอยรอบนอกทำเป็นเฉลียงรอบต่อออกไปอีกชั้นหนึ่ง
ส่วนพื้นของเก่านั้นเป็นพื้นกระดานชำรุดหมด ให้รื้อเสียแล้วถมเป็นพื้นปูศิลา
ยกอาสนสงฆ์ทั้ง ๒ ข้างๆ ละ ๔ ห้อง ส่วน “พระพุทธศาสดา” นั้น
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประทับบนฐานชุกชีงดงาม
ก็คงประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในศาลาการเปรียญต่อมาจนกาลทุกวันนี้

ตามเสาและเหนือขอบประตูหน้าต่างภายในมีกรอบไม้สักแกะสลัก
ลวดลายดอกพุดตานงดงามมาก ที่คอสองมุขหน้าและด้านหลัง
มีภาพจิตรกรรมฝาหนังนรกขุมต่างๆ และเปรต ๑๒ จำพวก

ต่อมารัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระนามว่า
“พระพุทธศาสดา มหากรุณาทิคุณ สุนธรธรรมทาน บุราณสุคตบพิตร”
และโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระนามลงในแผ่นศิลาประดับฐานไว้ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ มีการบูรณะศาลาการเปรียญเพิ่มอีก ที่ผนังด้านทิศตะวันออก
สร้างซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปางเปิดโลก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ภายในศาลาการเปรียญจัดให้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและฝึกสมาธิ
ใกล้กับประตูกลางตรงหน้าองค์พระประธานตั้งธรรมมาสน์บุษบกไม้แกะสลัก
ฝีมือสกุลช่างอยุธยาตอนปลาย อันประณีตงดงาม

ปัจจุบันศาลาการเปรียญเป็นพุทธสถานที่ปฏิบัติธรรมแทนพระวิหาร
เพราะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ
ฟังเทศน์ ทำบุญ และใช้เป็นที่เรียนธรรมของพระภิกษุสงฆ์


รูปภาพ

รูปภาพ
มองผ่าน “ธรรมมาสน์บุษบกไม้แกะสลัก” เข้าไปภายในศาลาการเปรียญ
(พระอุโบสถหลังเก่าของวัดโพธารามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 12:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“พระพุทธเทวปฏิมากร” พระประธานในพระอุโบสถ


(๘) มหัศจรรย์ “วิจิตรพระพุทธเทวปฏิมากร”

ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน
นามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร” อันหมายถึง เทวดามาสร้างไว้
เนื่องด้วยเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่งสมกับชื่อ

ที่ใต้ฐานชุกชีพระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่อไว้ ๓ ชั้นนั้น
ในชั้นที่ ๑ ได้บรรจุพระบรมอัฐิ (บางส่วน)
และพระบรมราชสรีรางคารของบุรพกษัตริย์รัชกาลที่ ๑ ไว้ด้วย


“พระพุทธเทวปฏิมากร” พระประธานในพระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปโบราณปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว

มีหลักฐานปรากฏใน “จารึกวัดโพธิ์” ไว้ว่า
เดิมพระพุทธเทวปฏิมากรประดิษฐานอยู่ ณ วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดโพธาราม
ให้เป็นวัดใหญ่สำหรับพระนคร และได้ทรงขนานนามใหม่ว่า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ได้ทรงเลือกหาพระพุทธรูป
ที่มีพุทธลักษณะงามสมควรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด
จึงได้พบและเลือกพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์) ดังกล่าว

ครั้งนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ถวายพระนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร”


รูปภาพ

รูปภาพ
“ซุ้มจรณัม” ประจำประตูทางเข้าพระอุโบสถ


ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระอุโบสถเก่า ซึ่งสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑
ลงทั้งสิ้น แล้วทรงสร้างขึ้นใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเก่า

ส่วนฐานพระพุทธเทวปฏิมากรนั้นรื้อของเก่าทำขึ้นใหม่ขยายเป็น ๓ ชั้น
พระสาวกเดิมมี ๒ องค์ ทรงสร้างขึ้นใหม่อีก ๘ องค์
รวมเป็นพระสาวก ๑๐ องค์ ดังที่ปรากฏอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
มีพระราชดำริถึงพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ซึ่งพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้นได้รับพระราชทานไปกระทำสักการบูชา
เมื่อเจ้านายพระองค์นั้นๆ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีใครพิทักษ์รักษา
ได้เชิญมาเป็นของหลวง มีอยู่ควรจะประดิษฐานไว้ให้มหาชน
ได้กระทำสักการบูชาโดยสะดวก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมอัฐิ
ในกล่องศิลา แล้วเชิญมาบรรจุไว้ในพุทธอาศน์พระพุทธเทวปฏิมากร
และยังมีคำที่เล่าสืบกันมาว่าถึงพระอุณาโลมพระพุทธเทวปฏิมากรนั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้โปรดให้สร้างถวายในครั้งนั้นด้วย

อนึ่ง พระพุทธเทวปฏิมากรพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จะทรงเคารพนับถือว่าเป็นเจดีย์สถานสำคัญแห่งหนึ่งมาช้านานแล้ว
เพราะปรากฏในจดหมายเหตุว่า เมื่อได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเสร็จแล้ว
ได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารค
เมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๗๙

ครั้งนั้น จึงได้เสด็จประทับพระอุโบสถทรงกระทำสักการบูชา
พระพุทธเทวปฏิมากรเป็นปฐม เรื่องนี้เลยเป็นพระราชประเพณีตั้งแต่นั้นสืบมา
คือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารคนั้น
ย่อมเสด็จประทับ ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ทรงกระทำสักการบูชาพระพุทธเทวปฏิมากรสืบมาทุกรัชกาล


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“พระพุทธเทวปฏิมากร” นามอันมีความหมายว่า เทวดามาสร้างไว้

รูปภาพ

รูปภาพ
“พระอุโบสถ” วัดโพธิ์ นับเป็นหนึ่งในพระอุโบสถที่งดงามมากของวัดในเมืองไทย

รูปภาพ
“พระอุโบสถ” วัดโพธิ์ ในยามราตรี

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 13:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“รูปปูนปั้นหล่อเนื้อดีบุกผสมสังกะสีของฤาษีดัดตน”
จากเดิมมี ๘๐ ท่า ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๒๔ ท่าเท่านั้น



(๙) มหัศจรรย์ “ต้นตำรับนวดแผนไทย”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้
ทรงพระราชดำรินำเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถแก้เมื่อย
ของอวัยวะตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และประยุกต์กับคติไทย
ที่ยกย่องฤาษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ
มาสลักทำเป็น “รูปปูนปั้นของฤาษีดัดตน”
ที่แสดงท่าทางการนวดแบบแผนโบราณในอิริยาบถต่างๆ
ไว้ที่วัดโพธิ์
เพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียนและรักษาโรคเกี่ยวกับสรีระร่างกายได้อย่างกว้างขวาง
แต่เดิมรูปปูนปั้นของฤาษีดัดตนมีทั้งหมด ๘๐ ท่า ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๒๔ ท่าเท่านั้น

“จารึกวัดโพธิ์” ในส่วนของ “จารึกฤาษีดัดตน”
อันมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนั้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๓๔๔
มี ๒ ลักษณะ คือ (๑) จารึกศิลาอ่อนซึ่งเป็นโครงภาพฤาษีดัดตน ๘๐ แผ่น และ
(๒) รูปปูนปั้นหล่อเนื้อดีบุกผสมสังกะสี ๘๐ รูป (๘๐ ท่า)
ซึ่งปัจจุบันเหลือให้เห็นอยู่เพียง ๒๔ รูป (๒๔ ท่า) เท่านั้น


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“รูปปูนปั้นหล่อเนื้อดีบุกผสมสังกะสีของฤาษีดัดตน”
ที่แสดงท่าทางการนวดแบบแผนโบราณในอิริยาบถต่างๆ


รูปภาพ
มหัศจรรย์ “ต้นตำรับนวดแผนไทย”

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 14:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


วัดประจำรัชกาลที่ ๑ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19426

“จารึกวัดโพธิ์” ภูมิปัญญาไทยน่าทึ่ง “มรดกความทรงจำแห่งโลก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19751

พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19303

พระพุทธไสยาส หรือ “พระนอน”
พระประธานในพระวิหารพระพุทธไสยาส (พระวิหารพระนอน)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=38874

พระพุทธศาสดา พระประธานในศาลาการเปรียญ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=40906

พระพุทธโลกนาถ พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46274

พระพุทธปาลิไลย พระประธานในพระวิหารทิศเหนือมุขหน้า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=41165

พระพุทธมารวิชัย พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47889

พระพุทธชินศรี พระประธานในพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47905

พระพุทธชินราช พระประธานในพระวิหารทิศใต้มุขหน้า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47916

ประวัติและปฏิปทา “พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=23317

••••••••• ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ •••••••••
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=23364

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2009, 19:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2009, 19:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 ก.ค. 2009, 20:12
โพสต์: 791

แนวปฏิบัติ: พุทโธและสัมมาอรหัง
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: ใต้ร่มโพธิญาณ
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


งดงามเหลือเกิน อนุโมทนาครับสาธุ

.....................................................
ข้าพเจ้าขออาราธนาพระบารมี 30 ทัศ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จนิพพานไปแล้ว มากยิ่งกว่าเม็ดกรวดเม็ดทรายในท้องมหาสมุทรทั้ง 4 ด้วยเดชะพระพุทธานุภาพ พระธรรมมานุภาพ พระสังฆานุภาพ พระบารมีพระโพธิสัตว์ พระปัจเจกโพธิสัตว์เจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายและพระบารมีขององค์พระสมณะโคดมบรมครู ขอได้ส่งพลังมายังตัวข้าพเจ้า จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าหายจากโรคภัยไข้เจ็บและสรรพเคราะห์ทั้งหลายในกายของข้าพเจ้า จงหายไปสิ้นทั้งหมดขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชนะต่ออุปสรรคและมารทั้งหลาย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ค. 2009, 03:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.ค. 2009, 23:11
โพสต์: 1044

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เป็นกระทู้ที่ทรงคุณค่าจริงๆครับ

การถ่ายทอดและความตั้งใจของทีมงานผู้จัดทำ

smiley นับถืออย่างมากครับ และเป็นแรงผลักดันให้รุ่นใหม่

พัฒนาการนำเสนอข้อมูลธรรมะ ดีดี แบบนี้ ต่อไป ครับ

ความปลื้มใจที่ได้อ่านในครั้งนี้ ความสุขและบุญที่เกิดขึ้น

ขอให้ทีมงานและผู้จัดทำบอร์ดและสมาชิกลานธรรมจักรทุกท่าน

เข้าถึงธรรมโดยง่าย โดยเร็วพลัน เทอญ.... :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ตักบาตรทุกวัน....ได้บุญทุกวัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ส.ค. 2009, 09:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 เม.ย. 2009, 06:18
โพสต์: 731

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง
ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม


ขอกราบอนุโมทนาบุญ สาธุ........... :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron