วันเวลาปัจจุบัน 14 ก.ย. 2024, 21:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ความรู้ทั่วไป

๏ ความหมายของคำว่า “อสีติมหาสาวก”

ตามรูปศัพท์ คำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ เป็นคำสมาสประกอบด้วยคำ ‘อสีติ’ และ ‘มหาสาวก’

‘อสีติ’ เป็นปกติสังขยา คือ จำนวนนับตามปกติ แปลว่า ‘๘๐’

‘มหาสาวก’ ประกอบด้วยคำว่า ‘มหา’ ซึ่งเป็นคุณศัพท์แปลว่า ใหญ่, มาก, สำคัญ และคำว่า ‘สาวก’ ซึ่งเป็น คำนามกิตก์ ประกอบรูปมาจากธาตุ ‘สุ’ (ในความหมายว่าฟัง) + ปัจจัย ณฺวุ มีรูปศัพท์ว่า ‘สาวก’ แปลว่า ผู้ฟัง ในที่นี้หมายถึง ภิกษุผู้บรรลุธรรมชั้นสูงสุดคืออรหัตผล

ดังนั้น คำว่า ‘อสีติ’ และ ‘มหาสาวก’ เมื่อรวมเข้าด้วยกันเป็นคำสมาส เป็น ‘อสีติมหาสาวก’ จึงแปลว่า พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป หรือพระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ ๘๐ รูป หรือพระสาวกสำคัญ ๘๐ รูป


๏ ที่มาของคำว่า “อสีติมหาสาวก” และรายนาม

ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ มาแล้ว ต่อไปนี้เป็นการกล่าวถึงที่มาของคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ และรายนาม ซึ่งในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ ในที่ที่กล่าวถึงพระอสีติมหาสาวก พบแต่คำว่า ‘พระสาวกเถระผู้มีชื่อเสียง’ แต่พบคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ ปรากฏอยู่ในหนังสืออรรถกถาต่างๆ คือ อรรถกถาธรรมบท สุมังคลวิลาสินี และปรมัตถทีปนี

ส่วนรายนามของพระอสีติมหาสาวก ในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้ครบแต่กล่าวไว้ในที่ต่างๆ กัน ส่วนมากกล่าวไว้ในพระสุตตันตปิฎก ในอรรถกถาธรรมบทก็มีบ้าง ในปรมัตถทีปนีกล่าวไว้ครบเช่นเดียวกับในพระไตรปิฎก ดังนี้

พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พระนาลกะ พระยสะ พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ (๑๐),

พระควัมปติ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ (๒๐),

พระมหาจุนทะ พระอนุรุทธะ พระกังขาเรวตะ พระอานนท์ พระนันทกะ พระภคุ พระนันทะ พระกิมพิละ พระภัททิยะ (กาฬโคธาบุตร) พระราหุล (๓๐),

พระสีวลี พระอุบาลี พระทัพพะ (มัลลบุตร) พระอุปเสนะ (วังคันตบุตร) พระขทิรวนิยเรวตะ พระปุณณมันตานีบุตร พระปุณณะ (สุนาปรันตกะ) พระโสณกุฏิกัณณะ พระโสณโกฬิวิสะ พระราธะ (๔๐),

พระสุภูติ พระองคุลิมาล พระวักกลิ พระกาฬุทายิ พระมหาอุทายี พระปิลินทวัจฉะ พระโสภิตะ พระกุมารกัสสปะ พระรัฐบาล พระวังคีสะ (๕๐),

พระสภิยะ พระเสละ พระอุปวาณะ พระเมฆิยะ พระสาคตะ พระนาคิตะ พระลกุณฑกภัททิยะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระมหาปันถก พระจูฬปันถก (๖๐),

พระพากุละ พระกุณฑธานะ พระพาหิยะ (ทารุจีริยะ) พระยโสชะ พระอชิตะ พระติสสเมต เตยยะ พระปุณณกะ พระเมตตคู พระโธตกะ พระอุปสีวะ (๗๐),

พระนันทะ พระเหมกะ พระโตเทยยะ พระกัปปะ พระชตุกัณณี พระภัทราวุธ พระอุทยะ พระโปสาละ พระโมฆราช พระปิงคิยะ (๘๐)


รายนามของพระอสีติมหาสาวกที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ รายนามลำดับที่ ๑-๔๑ ยกเว้นลำดับที่ ๑๖ (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นพระมหาเถระนั่งด้านพระปรัศว์ขวาของพระพุทธเจ้า


ส่วนรายนามลำดับที่ ๑๖ และตั้งแต่ลำดับที่ ๔๒-๘๐ เป็นพระมหาเถระนั่งด้านพระปรัศว์ซ้ายของพระพุทธเจ้า

การที่พระสาวกนั่งด้านปรัศว์ทั้ง ๒ ข้างของพระพุทธเจ้า ถือเป็นธรรมเนียมครั้งพุทธกาล โดยมีหลักอยู่ว่าการปูลาดอาสนะในที่นิมนต์ ให้ปูลาดอาสนะของพระพุทธเจ้าไว้ตรงกลาง ปูลาดอาสนะของพระสารีบุตรไว้ด้านพระปรัศว์ขวา ปูลาดอาสนะของพระมหาโมคคัลลานะไว้ด้านพระปรัศว์ซ้าย แล้วจึงปูลาดอาสนะพระสาวกรูปอื่นๆ ต่อจากอาสนะของพระมหาสาวกทั้ง ๒ นั้น

๏ หลักการเลือกพระอสีติมหาสาวก

ได้กล่าวถึงความหมาย ที่มา และรายนามของพระอสีติมหาสาวกมาแล้ว เรื่องที่จะศึกษาต่อไปก็คือ หลักการเลือกพระสาวก ๘๐ รูปแล้วจัดเป็นพระอสีติมหาสาวก

ผู้เขียนจะกล่าวถึงเหตุผลในการเลือกพระสาวกแล้ว จัดเป็นพระมหาสาวกก่อน ผู้เขียนพบว่า ท่านทำโดยยึดถือคุณธรรม และความสามารถ คือความชำนาญในอภิญญาสมาบัติและความแตกฉานในปฏิสัมภิทาเป็นหลัก โดยไม่เกี่ยวกับพรรษา และอายุ และด้วยเหตุนี้เองจึงปรากฏว่าท่านจัดฆราวาสที่เป็นพระอรหันต์เข้าเป็นพระมหาสาวกด้วย ๑ ท่านคือพระพาหิยะ

ส่วนการคัดเลือกแล้วจัดให้เป็นพระอสีติมหาสาวกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยไว้โดยทรงเสนอเกณฑ์สำหรับพิจารณาไว้ว่า

พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นเอตทัคคะสงเคราะห์พระปัญจวัคคีย์ ๔ พระองค์เข้าด้วย

พระอุรุเวลกัสสปะ สงเคราะห์พระกัสสปะน้องชายอีก ๒ พระองค์เข้าด้วย

พระโมฆราช เป็นเอตทัคคะสงเคราะห์พระคณะเดียวกันอีก ๑๕ พระองค์เข้าด้วย

อีกเกณฑ์หนึ่ง สงเคราะห์พระสาวกผู้มีชื่อระบุไว้ในประถมโพธิกาล แต่มิได้ระบุอยู่ในจำนวนเอตทัคคะ คือ พระยสะกับพระสหายอีก ๔ พระองค์ โดย ๒ เกณฑ์นี้ได้พระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ พระสาวกสหจรแห่งเอตทัคคะ ๒๓ พระองค์ ในประถมโพธิกาล ๑ สหจร ๔ รวมเป็น ๖๙ พระองค์ อีก ๑๑ พระองค์เป็นพระสาวกที่จัดเข้าโดยหาเกณฑ์มิได้ แต่มีนามระบุอยู่ในมัชฌิมโพธิกาลบ้าง ในปัจฉิมโพธิกาลบ้าง


จากหลักการคัดเลือกที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยไว้นี้ ผู้เขียนสรุปได้ว่า

๑. กำหนดเอาพระสาวกผู้เป็นเอตทัคคะเป็นหลัก แล้วรวมพระสหจรในกลุ่มของท่านเข้าด้วยนี้เป็นเกณฑ์แรก ส่วนเกณฑ์ที่ ๒ กำหนดเอาพระสาวกผู้มิได้เป็นเอตทัคคะ แต่มีชื่อระบุไว้ในปฐมโพธิกาล ตามหลักการเลือกนี้ เกณฑ์แรกได้พระสาวก ๖๔ รูป เกณฑ์ที่ ๒ ได้พระมหาสาวกอีก ๕ รูป รวมเป็นได้พระมหาสาวก ๖๙ รูป

๒. ที่เหลืออีก ๑๑ รูปนั้นจัดเข้าโดยไม่มีหลักเกณฑ์ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยว่า “...คงเป็นด้วยต่างอาจารย์ต่างเลือกกันจัดเข้าตามมติของตน เพื่อให้ครบจำนวน ๘๐ จึงต่างรายชื่อกัน”


แนวความคิดที่ทรงวินิจฉัยไว้นี้ ผู้เขียนเห็นว่ามีเหตุผลสมควรแก่การถือเป็นหลักในการศึกษาวิเคราะห์ต่อไป

อนึ่ง ในการเลือกพระสาวกแล้วจัดเข้าเป็นพระอสีติมหาสาวกนั้น ยังมีข้อที่น่าศึกษาเพิ่มเติมคือ เกิดมีขึ้นในยุคใด จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีเค้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยเห็นได้จากคำเรียกที่ว่า “พระสาวกเถระ ผู้มีชื่อเสียง” ซึ่งเท่าที่ระบุนามไว้ ก็เป็นอสีติมหาสาวกทั้งหมด แต่มาเด่นชัดขึ้นในยุคสมัยของพระอรรถกถาจารย์ในลังกา

ทั้งนี้เพราะธัมมปทัฏฐกถา ก็ดี สุมังคลวิลาสินี ก็ดี ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีคำว่า “มหาสาวก” และ “อสีติมหาสาวก” ปรากฏอยู่ล้วนเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในลังกา หรือในยุคที่การศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกากำลังรุ่งเรือง โดยพระอรรถกถาจารย์ผู้มีชื่อเสียงคือ พระพุทธโฆษาจารย์ ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ. ๙๐๐-๑๐๐๐ พุทธศาสนิกชนในยุคนั้นและยุคต่อมาทั้งพระและฆราวาสต่างนิยมยกย่องในตัวพระอสีติมหาสาวกมาก คัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า

“พระเจ้าพุทธทาสแห่งลังกามีพระราชบุตร ๘ องค์ล้วนทรงสุรภาพแกล้วกล้าการรณรงค์สงคราม ทรงขนานนามพระกุมารนั้นตามพระอัชฌาสัยของพระองค์ให้คงนามพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย พระเจ้าพุทธทาสองค์นี้ได้แวดล้อมด้วยพระราชบุตรทั้งหลายอันทรงพระนามตามพระอสีติมหาสาวกว่า สารีบุตร เป็นอาทิ พระองค์ทรงรุ่งเรืองอยู่ดูประหนึ่งว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉะนั้น”

ส่วนปรมัตถทีปนี ซึ่งมีรายนามของพระอสีติมหาสาวกอยู่ครบถ้วนนั้น แต่งที่สำนักพทรติตถวิหาร แคว้นทมิฬ ในอินเดียตอนใต้ โดยพระธรรมปาละ พระอรรถกถาจารย์รูปนี้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๙๕๐-๑๐๐๐ อันเป็นรุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ท่านก็ได้สร้างงานรจนาคัมภีร์อรรถกถาฎีกาสืบต่อจากพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าท่านจะต้องได้รับแนวความคิดเรื่องพระอสีติมหาสาวกนี้มาจากพระพุทธโฆษาจารย์บ้าง

ส่วนเหตุผลที่กำหนดพระมหาสาวกให้มีจำนวน ๘๐ รูปนั้นไม่ปรากฏว่ามีกล่าวไว้ในที่ใด แต่เป็นไปได้ที่จำนวน ๘๐ เป็นจำนวนแสดงความมั่งคั่งของคนในสังคมอินเดียโบราณ เพราะบุคคลผู้จะเป็นนครเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีได้นั้นต้องมีทรัพย์ตั้งแต่ ๔๐ ถึง ๘๐ โกฏิ

ดังนั้นจึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า จำนวน ๘๐ นอกจากจะเป็นจำนวนแสดงความมั่งคั่งของคนในสังคมอินเดียโบราณแล้ว ยังน่าจะเป็นจำนวนแสดงความยิ่งใหญ่ ความสวยงามและความสำคัญได้อีก และจำนวน ๘๐ นี้เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอยู่หลายสถานะด้วยกันคือ

๑. พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

๒. พระพุทธเจ้าทรงมีพระฉัพพรรณรังษีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายวนเวียนรอบเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอก

๓. พระวรกายของพระพุทธเจ้าสง่างามด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐

จากหลักฐานที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงสรุปได้ว่า การกำหนดพระมหาสาวกให้มีจำนวน ๘๐ นั้น น่าจะมีเหตุผลแสดงถึงความยิ่งใหญ่ ความสวยงาม และความสำคัญของพระพุทธเจ้าเกี่ยวข้องอยู่บ้าง


๏ พระอสีติมหาสาวกผู้ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

แม้ว่าพระมหาสาวกจะมีอยู่ถึง ๘๐ รูป ดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็มีเพียง ๔๑ รูปเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะจากพระพุทธเจ้า เพราะตำแหน่งเอตทัคคะคือ ตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระสาวกผู้มีความสามารถเป็นเลิศเฉพาะด้านต่างๆ เพื่อเป็นการยกย่อง และพระอสีติมหาสาวก ๔๑ รูปนั้นได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะก็ด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ

๑. ได้รับยกย่องตามเรื่องที่เกิด (อตฺถุปฺปตฺติโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏโดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

๒. ได้รับยกย่องตามที่สะสมบุญมาแต่อดีต (อาคมนโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้สร้างบุญสะสมมาแต่อดีตชาติ พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาเพื่อบรรลุตำแหน่งเอตทัคคะนั้นด้วย

๓. ได้รับยกย่องตามความเชี่ยวชาญ (จิณฺณวสิโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเป็นพิเศษสมตามที่ตั้งจิตปรารถนามา

๔. ได้รับยกย่องตามที่มีความสามารถเหนือผู้อื่น (คุณาติเรกโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความสามารถในเรื่องที่ทำให้ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะเหนือกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ที่มีความสามารถอย่างเดียวกัน


๏ คุณลักษณะสำคัญของพระอสีติมหาสาวก

ได้ทราบมาแล้วว่า พระอสีติมหาสาวก มีทั้งที่ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะและที่มิได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะซึ่งเป็นไปตามความปรารถนา แต่ถึงอย่างไรพระอสีติมหาสาวก ๒ กลุ่มนี้ก็มีความสำคัญที่ควรกล่าวถึงไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และความสำคัญของพระอสีติมหาสาวกนั้นแยกกล่าวได้เป็น ๒ ประการ คือ

๑. คุณลักษณะสำคัญส่วนตน

ได้แก่ คุณลักษณะสำคัญที่เกิดจากความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก การได้บรรลุอภิญญา และความเป็นผู้มีเถรธรรม

ก. ความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก หมายถึง การได้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อเป็นพระมหาสาวกไว้หลายต่อหลายชาติ ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “พระสาวกของพระพุทธเจ้าใช่ว่าจะเป็นพระมหาสาวกได้ทุกรูป ท่านที่บำเพ็ญบารมีมาเพื่อการนี้เท่านั้นจึงจะเป็นได้ และต้องบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัป”

อนึ่ง นอกจากบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัปแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังต้องบำเพ็ญ ‘คตปัจจาคตวัตร’ อยู่ตลอดเวลาประกอบอีกด้วย ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “วัตรนี้ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระมหาสาวกต้องบำเพ็ญ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่สามารถบรรลุถึงความเป็นพระมหาสาวกได้เลย”

ข. การได้บรรลุอภิญญา หมายถึง การได้บรรลุความรู้ชั้นสูง ความรู้ชั้นสูงเรียกว่า อภิญญา มี ๖ คือ

(๑) อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้สามารถแสดงฤทธิ์ได้
(๒) ทิพพโสต ความรู้ที่ทำให้เกิดหูทิพย์
(๓) เจโตปริยญาณ ความรู้ทำให้รู้ใจผู้อื่นได้
(๔) ปุพเพนิวาสานุสติ ความรู้ทำให้ระลึกชาติได้
(๕) ทิพพจักขุ ความรู้ทำให้เกิดตาทิพย์
(๖) อาสวักขยญาณ ความรู้ทำอาสวะให้สิ้นไป

ค. ความเป็นผู้มีเถรธรรม หมายถึงความเป็นผู้มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง ประกอบด้วย

๑. รัตตัญญู เป็นผู้รู้ราตรี หมายถึง บวชมานานและรู้เห็นกิจการทรงจำเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้มาก

๒. สีลวา เป็นผู้มีศีล หมายถึง เคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลายและสำรวมกายวาจาใจ

๓. พหุสสุตะ เป็นพหูสูต หมายถึง ทรงความรู้ไว้มาก

๔. สวาคตปาฏิโมกขะ เป็นผู้ทรงจำปาฏิโมกข์ได้ดี หมายถึง ทรงจำพระวินัยได้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ สามารถวินิจฉัยได้ดี

๕. อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น หมายถึง เมื่อเกิดเรื่องราวไม่สงบขึ้นในสงฆ์ สามารถหาทางระงับปัญหานั้นได้

๖. ธัมมกามะ เป็นผู้ใคร่ในธรรม หมายถึง รักความรู้ รักความจริง ยินดีในการพิจารณาธรรม

๗. สันตุฏฐะ เป็นผู้ยินดีในของที่ตนมี หมายถึง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

๘. ปาสาทิกะ เป็นผู้น่าเลื่อมใส หมายถึง เป็นผู้มีอิริยาบถ รวมทั้งกิริยาอาการเรียบร้อย ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใส

๙. ฌานลาภี เป็นผู้ได้ฌาน หมายถึง เป็นผู้บรรลุฌานและมีความคล่องแคล่วในฌาน ๔ อันเป็นเครื่องทำให้อยู่เป็นสุขในชีวิตประจำวัน

๑๐. อนาสวเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ เป็นผู้บรรลุเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวะ หมายถึง ละราคะและอวิชชาได้จนทำให้กิเลสสิ้นไป

พระอสีติมหาสาวก แม้จะมีเถรธรรมไม่ครบหรือมีแตกต่างกัน แต่ที่ต้องมีเหมือนกันคือ ข้อ ๑๐ ซึ่งก็หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกทุกรูปต้องเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าบางรูปขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก็สำเร็จได้ภายหลังพุทธปรินิพพาน


๒. คุณลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

คุณลักษณะข้อนี้เป็นผลมาจากความสามารถเฉพาะตัวของพระอสีติมหาสาวก และเกิดจากผลงานที่ส่งผลต่อ ความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา

ก. ความสามารถเฉพาะตัว พระอสีติมหาสาวกแต่ละรูปมีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป จนดูเหมือน ว่าจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ ได้ อาทิ

พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านรัตตัญญู

พระสารีบุตร เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีปัญญามาก

พระมหาโมคคัลลานะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีฤทธิ์มาก

ความสามารถดังกล่าวนี้แม้จะเป็นความสามารถเฉพาะตัวแต่ก็เป็นไปเพื่อส่วนรวม เพราะพระอสีติมหาสาวกได้ใช้ความสามารถนี้ช่วยรับภารกิจของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระพุทธศาสนา

เพราะเหตุที่มีความสามารถเฉพาะตัวนี้เอง พระอสีติมหาสาวกจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตามเสด็จที่ดีเลิศ ตามปกติพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จไปในที่ใด ย่อมมีพระสาวกแวดล้อมตามเสด็จไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วย ดังปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า

“วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ โดยมีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร” และว่า

“คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ในปราสาทของมิคารมารดา ครั้นถึงวันมหาปวารณาเสด็จมาประทับอยู่ที่ชั้นล่างของปราสาท โดยมีพระมหาสาวกนั่งแวดล้อม”


การมีบริวารตามเสด็จนั้นถือว่าเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และถือเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าสง่างาม สุมังคลวิลาสินีกล่าวถึงความสง่างามของพระพุทธเจ้าที่เกิดจากการมีพระอสีติมหาสาวกแวดล้อมขณะเดินทางไกล ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทาในคราวหนึ่งว่า

“ก็วันนั้นแลพระอสีติมหาสาวกส่วนใหญ่นุ่งห่มผ้าบังสุกุลมีสีดังเมฆเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ถือไม้เท้าราวกะช้างตระกูลคันธวงศ์ที่ถูกฝึกหัดมาอย่างดี ปราศจากโทษแล้ว คายโทษแล้ว ทำลายกิเลสแล้ว สางเครื่องรุงรังแล้ว ตัดเครื่องผูกพันได้ขาดแล้วพากันห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พระองค์เองทรงปราศจากราคะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากราคะแล้ว พระองค์เองทรงปราศจากโทสะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากโทสะแล้ว พระองค์เองผู้ปราศจากโมหะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากโมหะแล้ว พระองค์เองทรงปราศจากตัณหาแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากตัณหาแล้ว พระองค์เองทรงหมดกิเลสแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้หมดกิเลสแล้ว พระองค์เองตรัสรู้แล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ตรัสรู้ตาม ราวกะว่าไกรสรราชสีห์แวดล้อมไปด้วยมฤคชาติ ราวกะว่าดอกกรรณิการ์แวดล้อมไปด้วยเกสร ราวกะว่าพญาช้างฉัททันต์แวดล้อมไปด้วยช้าง ๘,๐๐๐ เชือก ราวกะว่าพญาหงส์ธตรฐแวดล้อมไปด้วยหงส์ ๙๐,๐๐๐ ตัว ราวกะว่าพระเจ้าจักรพรรดิแวดล้อมไปด้วยเสนางคนิกร ราวกะว่าท้าวสักกเทวราชแวดล้อมไปด้วยหมู่เทวดา ราวกะว่าท้าวหาริตมหาพรหมแวดล้อมไปด้วยหมู่พรหม เสด็จดำเนินไปด้วยพุทธลีลาอันหาที่เปรียบมิได้ ที่ใครๆ คิดไม่ถึง ซึ่งบังเกิดด้วยผลบุญที่ทรงสั่งสมมาตลอดเวลาอันหาประมาณมิได้ สง่างามคล้ายดวงจันทร์โคจรตลอดพื้นทิฆัมพร ฉะนั้น”

โดยเหตุที่พระอสีติมหาสาวกมีความสามารถดังกล่าว จึงมีผลออกมาเป็นการให้สังคมยอมรับ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระและฆราวาสเมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว มักจะถือโอกาสไปนมัสการพระอสีติมหาสาวกด้วย ดังปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า

“ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองโกสัมพี มีลาภเกิดขึ้นแก่พระองค์และพระสาวกมากมาย มีผู้คนถือเครื่องสักการะ อาทิ ผ้าและยาไปวัดแล้วเที่ยวหาดูว่า พระศาสดาประทับนั่งอยู่ที่ ไหน พระสารีบุตรนั่งอยู่ที่ไหน พร้อมทั้งเที่ยวหาดูที่นั่งของพระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ด้วย”

ในทำนองเดียวกัน พระสาวกทั่วไปเมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะไปไหว้พระอสีติมหาสาวกด้วย อรรถกถาธรรมบทเล่าว่า

“พระเถระผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรรูป หนึ่งส่งศิษย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับสั่งว่า เธอทั้งหลายจงไปถวายบังคมพระศาสดาตามที่ฉันบอกแล้ว และจงไปไหว้พระอสีติมหาสาวกด้วย”

และว่า “ต่อมาพระเถระรูปนั้นมาเฝ้าพระศาสดาเอง เก็บบาตรและจีวรไว้ในสำนักพระเถระผู้เป็นสหายแล้ว จากนั้นจึงไปถวายบังคมพระศาสดาและไหว้พระมหาเถระ ครั้นแล้วจึงกลับมายังที่อยู่ของพระเถระผู้เป็นสหาย”

นอกจากนี้ พระอสีติมหาสาวกด้วยกัน หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็จะถือโอกาสไปมาหาสู่กัน ดังปรากฏในปรมัตถทีปนีว่า

“หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว พระขทิรวนิยเรวตะได้ไปยังที่บำรุงของพระศาสดา และของพระมหาเถระมีพระธรรม เสนาบดี เป็นต้น ตามเวลาอันเหมาะสม”

ข. ผลงาน พระอสีติมหาสาวกได้แสดงผลงานออกมา ด้วยการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายและรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ การช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายนั้น ปรากฏให้เห็นเด่นชัดแต่แรกแล้วนั่นคือ หลังจากได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนาตามลำพังพระองค์เดียวอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งได้พระสาวก ๖๐ รูป ต่อมาทรงเห็นว่าพระสาวกเหล่านั้นสามารถเป็นกำลังสำคัญของพระองค์ได้ จึงทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ วันที่ส่งพระสาวกออกไปประกาศพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า


“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพ้นแล้วจากบ่วง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขเกษมแก่ชนหมู่มากเพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายอย่าได้ไปร่วมทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ให้งามในท่ามกลาง และให้งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ให้พรั่งพร้อมด้วยอรรถและพยัญชนะให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรมจักพากันเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ภิกษุทั้งหลายแม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”

ครั้นแล้วพระสาวกเหล่านั้นก็แยกย้าย กันไปประกาศพระพุทธศาสนา และปรากฏว่าในบรรดาพระสาวก ๖๐ รูป มีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง พระอสีติมหาสาวกรูปที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญไว้ในพระพุทธศาสนา คือ พระอัสสชิโดยท่านได้แสดงธรรมโปรดปริพาชกอุปติสสะให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วปริพาชกอุปติสสะนั้นเองก็ได้แสดงธรรมที่บรรลุแก่ปริพาชกโกลิตะผู้สหายให้ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน ต่อมาปริพาชกทั้ง ๒ ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็น พระอัครสาวก ปริพาชกอุปติสสะเป็นที่รู้ จักกันในนามว่า ‘พระสารีบุตร’ ส่วนปริพาชกโกลิตะเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘พระมหาโมคคัลลานะ’ ทั้ง ๒ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา

นอกจากพระอัครสาวกทั้ง ๒ นี้แล้ว พระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ก็มีผลงานอยู่เหมือนกัน พระไตรปิฏกกล่าวถึงพระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระเรวตะ พระอานนท์ และพระมหาสาวกรูปอื่นๆ ว่า แต่ละท่านนั้นมีศิษย์ที่ต้องแนะนำพร่ำสอนท่านละ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ขณะจำพรรษาอยู่กับพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม

นอกจากเป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ จะเห็นได้จากคราวหนึ่ง พระสารีบุตรทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า การบัญญัติสิกขาบทและการแสดงปาฏิโมกข์ ทั้ง ๒ นี้เป็นเหตุให้พรหมจรรย์มั่นคง พระสารีบุตรจึงกราบบังคมทูลให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงรับข้อเสนอของพระสารีบุตรแต่ตรัสชี้แนะว่า

“ตามปกติพระศาสดาจะบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์แก่สาวก ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะเกิดขึ้นในสงฆ์”

ผลงานอีกอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร คือ การเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ให้จัดทำสังคายนา ซึ่งได้แก่การจัดคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งเมื่อทำอย่างนี้แล้วจะช่วยรักษาธรรมวินัยให้มั่นคงอยู่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้นานแสนนาน

ภายหลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปะผู้เป็นหนึ่งในบรรดาพระอสีติมหาสาวกที่เหลืออยู่ไม่กี่รูป ก็ได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญไว้ นั่นคือเป็นกำลังสำคัญในการรักษาธรรมวินัย โดยชวนพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป (รวมทั้งท่านด้วยเป็น ๕๐๐ รูป) ทำสังคายนาตามแนวทางที่พระสารีบุตรเสนอ ส่งผลให้คำสอนของพระพุทธเจ้ายั่งยืนสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในคราวทำปฐมสังคายนานั้น นอกจากพระมหากัสสปะแล้ว ยังมีพระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ พระอุบาลี และพระอานนท์

นอกจากพระอสีติมหาสาวกรูปที่กล่าวมานี้ พระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ต่างก็ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการรักษาธรรมวินัยให้มั่นคงด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเหมาะสม และปฏิบัติชอบ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวมานี้ของพระอสีติมหาสาวกเหล่านั้นสามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้


:b8: :b8: :b8:

:b39: ที่มา : :b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: :b8: :b8: ผนังพระระเบียง วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
เป็นรูปนูนของพระอสีติมหาสาวก ในท่ายืนประนมมือ
น่าจะมีวัดเดียวแห่งเดียวในประเทศไทย

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: พระอสีติมหาสาวก : ความรู้ทั่วไป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62111

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระปัญจวัคคีย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62110

:b44: พระอสีติมหาสาวก : พระนาลกะ-พระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62109

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มเพื่อนพระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62108

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62107

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62106

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62105

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62104

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62103

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระมาณพ ๑๖
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62102

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62101

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62100

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระต่างแคว้น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62099

:b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 18:17 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2024, 06:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร