วันเวลาปัจจุบัน 07 ต.ค. 2024, 01:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2010, 08:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส


วัดป่าพระสถิตย์
ต.พรานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านพระครูปัญญาวิสุทธิ์ (หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส) มีนามเดิมว่า บัวพา แสงศรี เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2454 เป็นบุตรคนโต (ในจำนวนทั้งหมด 7 คน) ของนายหยาดและนางทองสา แสงศรี ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ ชาติภูมิอยู่บ้านบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันนี้ขึ้นกับจังหวัดยโสธร) ต่อมาโยมบิดา-มารดาได้อพยพไปตั้งหลักแหล่งอยู่บ้านกุดกุง ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

อุปนิสัยของเด็กชายบัวพา แสงศรี ปกติเป็นคนพูดน้อย มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเชื่อฟังผู้ใหญ่ เป็นคนว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทของโยมบิดา-มารดา เมื่ออายุครบเกณฑ์เข้าเรียนหนังสือก็เข้าโรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งจบหลักสูตรของการศึกษาในสมัยนั้น


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ครั้นนายบัวพา แสงศรี อายุได้ 21 ปีบริบูรณ์ โยมบิดา-มารดาเห็นว่าสมควรจะบวชได้แล้ว จึงจัดเตรียมกองบวชให้ลูกชาย และจัดการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 ณ สีมาน้ำวัดบ้านกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันนี้ขึ้นกับจังหวัดยโสธร) โดยมีพระอาจารย์ม่อน ยโสธโร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ก็ได้จำพรรษาอยู่วัดบ้านกุดกุง

ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว เพื่อนสหธรรมิกมาชวนไปปฏิบัติกรรมฐานออกธุดงค์ในป่า เพื่อทดลองดูว่าจิตใจจะยึดมั่นในทางปฏิบัติได้หรือไม่ ด้วยความใฝ่ใจในการฝึกฝนอบรมจิต พระบัวพา ปญฺญาภาโส จึงไปฝึกปฏิบัติพระกรรมฐานกับเพื่อนสหธรรมิกาที่วัดป่าบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พระภิกษุที่ไปด้วยกันคราวนั้น เมื่อปฏิบัติกรรมฐานไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดศรัทธาปสาทะ จึงขอทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตหมดทุกรูป แต่ตอนนั้นพระภิกษุบัวพา ปญฺญาภาโส ยังไม่พร้อมที่จะขอญัตติเป็นพระธรรมยุต ยังพิจารณาว่าจะควรทำหรือไม่ เพราะยังไม่ได้บอกลาอุปัชฌาย์อาจารย์

พระภิกษุบัวพาเห็นว่าควรลองปฏิบัติกรรมฐานไปเรื่อยๆ ก่อน ถ้าเห็นว่าเหมาะว่าควร จึงจะขอทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตในภายหลัง ประกอบกับครูบาอาจารย์อยากให้ท่านเรียนปริยัติธรรมด้านสนธิและมูลกัจจายนะ พอให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมเสียก่อน แล้วค่อยออกปฏิบัติกรรมฐานในโอกาสต่อไป ดังนั้นพระภิกษุบัวพา จึงไปเรียนหนังสือที่วัดบ้านไผ่ใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ 1 พรรษา

ครั้นออกพรรษาแล้วจึงยังย้อนกลับมาอยู่กับพระอาจารย์ม่อน ยโสธโร ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ วัดบ้านปอแดง และได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนสนธิและมูลกัจจายนะเพิ่มเติมอีก พอว่างจากการเรียนหนังสือ พระภิกษุบัวพาก็ชอบอยู่ในที่สงัด เช่น ตามโคนต้นไม้ตามป่าเป็นต้น ซึ่งในสมัยนั้นหาได้ง่าย ท่านมีใจใฝ่ในการปฏิบัติกรรมฐานตลอดมา ฉันมื้อเดียวเป็นประจำ พอออกพรรษาแล้วมีเพื่อนชวนไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดป่าบ้านโนนทัน พระที่ไปด้วยกันได้ขอทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตหมด ยังเหลือแต่พระภิกษุบัวพา ปญฺญาภาโส ที่ยังไม่พร้อมที่จะญัตติเป็นพระธรรมยุต เหมือนเช่นเคย เนื่องจากยังไม่ได้บอกลาพระอุปัชฌาย์

ในปีนั้นท่านได้ปฏิบัติกรรมฐานอยู่วัดป่าบ้านโนนทัน กับท่านพระอาจารย์ทอง ฝึกหัดนั่งสมาธิ เดินจงกรม บำเพ็ญเพียรในอิริยาบถต่างๆ รู้สึกว่าจิตใจสงบร่มเย็นขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่นั้นต่อมาท่านก็เลยเลิกเรียนปริยัติ มุ่งหน้าแต่ด้านปฏิบัติกรรมฐานเพียงอย่างเดียว

รูปภาพ
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

รูปภาพ
พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)

รูปภาพ
พระราชสุทธาจารย์ (หลวงปู่พรหมา โชติโก)


ด้วยเหตุที่มีจิตใจมุ่งมั่นในการปฏิบัติกรรมฐาน พระภิกษุบัวพาจึงออกเดินทางไปวัดสีฐาน อำเภอมหาชนะชัย เพื่อฝึกอบรมกรรมฐานให้ได้ผล และแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความชำนาญในการสอนกรรมฐาน ในช่วงนั้นชื่อเสียงและปฏิปทาของ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ทางด้านการสอนกรรมฐานกำลังเลื่องลือและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป พระภิกษุบัวพาก็อยากจะพบเห็น เพื่อจะได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ทั้งสอง จึงได้ชักชวนเพื่อนสหธรรมิกเดินทางไปยังจังหวัดสกลนคร

การเดินทางในสมัยนั้นลำบากมาก เพราะไม่มีถนน ไม่มีรถยนต์ ต้องเดินทางไปตามทางเกวียน ผ่านป่าดงหนาทึบข้ามภูเขาหลายลูก คณะของพระภิกษุบัวพาจึงออกเดินทางจากอำเภอมหาชนะชัย ไปจังหวัดสกลนคร ในขณะเดียวกันก็มีคณะพระภิกษุสามเณรจะเดินทางไปอำเภอบัวขาว จังหวัดกาฬสินธุ์ และจะต่อไปยังสกลนคร พระภิกษุบัวพาจึงขอเดินทางร่วมไปด้วย เมื่อไปถึงสกลนครก็ได้เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดป่าสุทธาวาส ขอฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของท่าน เมื่อฝึกปฏิบัติกรรมฐานไปได้ระยะหนึ่ง จิตใจของท่านรู้สึกสงบเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ท่านจึงตกลงใจว่าสมควรที่จะขอทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตได้แล้ว

ดังนั้น หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล จึงสั่งการให้จัดเตรียมบริขาร เป็นต้นว่า ผ้าจีวร ผ้าสังฆฏิ และผ้าสบง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว หลวงปู่เสาร์จึงสั่งให้พระภิกษุ 2 รูป นำคณะของพระภิกษุบัวพาเดินทางไปขอทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตที่จังหวัดนครพนม พิธีการอุปสมบทเป็นพระธรรมยุตครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ณ พัทธสีมาวัดศรีเทพประดิษฐาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมี พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสารภาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระราชสุทธาจารย์ (หลวงปู่พรหมา โชติโก) เมื่อครั้งยังเป็น พระมหาพรหมา โชติโก ป.ธ. 5, นักธรรมเอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ปญฺญาภาโส” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีปัญญาเป็นแสงสว่าง”

ต่อจากนั้น พระภิกษุบัวพาและคณะจึงได้เดินทางกลับไปยังสกลนคร อยู่ปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นับว่าพระภิกษุบัวพาได้ครูบาอาจารย์ที่ชำนาญในด้านพระกรรมฐานเป็นผู้แนะนำพร่ำสอน สมความมุ่งหวังที่ท่านตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติพระกรรมฐานอย่างเต็มที่ และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่เสาร์เรื่อยมาจนถึงกาลสุดท้ายของหลวงปู่เสาร์

เมื่อออกพรรษาปาวารณาแล้ว หลวงปู่เสาร์มักจะพาหมู่คณะออกธุดงค์ เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านรู้จักอดทนและยึดมั่นในหลักไตรสิกขา พระภิกษุบัวพาก็ได้ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปในที่ต่างๆ รู้สึกว่าได้ประโยชน์มากมาย สถานที่ที่หลวงปู่เสาร์พาลูกศิษย์ออกไปแสวงหาวิเวกนั้น ส่วนมากก็จะเป็นป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากเกินไป พอจะไปภิกขาจารได้

หลวงปู่เสาร์พาหมู่คณะเดินธุดงค์ไปถึงนครพนม แล้วเข้าพักอาศัยอยู่วัดป่าอรัญญิกาวาส ประมาณสองเดือนจึงลงเรือล่องมาตามแม่น้ำโขงมาขึ้นที่พระธาตุพนม ไปพักที่วัดเกาะแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ได้สร้างไว้ พักอยู่ที่นั้นประมาณเดือนกว่า พอดีญาติโยมทางอุบลฯ ไปนิมนต์หลวงปู่เสาร์ให้ไปโปรดประชาชนทางอุบลฯ บ้าง เมื่อหลวงปู่เสาร์รับนิมนต์แล้ว จึงได้คัดเลือกเอาพระภิกษุ 2 รูป สามเณร 1 รูป และอุบาสก (คือชีปะขาว) 1 คน เดินทางไปด้วย ในจำนวนนั้นมีพระภิกษุบัวพาอยู่ด้วย

โดยที่หลวงปู่เสาร์ได้ปรารภว่า “คุณรูปหนึ่งละที่ต้องไปกับฉัน เพราะเป็นคนทางเดียวกัน เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้ดูแลกัน” นับว่าเป็นนิมิตหมายอันสำคัญยิ่ง ที่หลวงปู่เสาร์พูดปรารภความเจ็บป่วยให้พระภิกษุบัวพาช่วยดูแล ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะต่อมาพระภิกษุบัวพาก็ได้ตามไปอุปัฏฐากดูแลหลวงปู่เสาร์อย่างใกล้ชิด จวบจนถึงวันหลวงปู่เสาร์มรณภาพ

คณะของหลวงปู่เสาร์ได้ออกเดินทางโดยรถยนต์ที่ญาติโยมชาวอุบลฯ นำไปรับพักค้างคืน 1 คืน ที่อำเภออำนาจเจริญ เนื่องจากถนนหนทางในสมัยนั้นไม่ดี ใช้เวลาเดินทาง 2 วันจึงถึงจังหวัดอุบลราชธานี ไปพักอยู่วัดบูรพา ต่อมาหลวงปู่เสาร์ได้ไปสร้างวัดใหม่เป็นป่าปู่ตา ใกล้หนองอ้อ บ้านข่าโคม อำเภอเขื่อนใน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่เสาร์ ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดสร้างใหม่นี้ 3 พรรษา

ต่อจากนั้นก็ได้ออกธุดงค์แสวงหาวิเวกไปทางอำเภอพิบูลมังสาหาร พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ที่ดอนธาตุบ้านทรายมูล ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำมูล มีต้นยางใหญ่ร่มรื่นสงบสงัด เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม หลวงปู่เสาร์พร้อมด้วยพระภิกษุบัวพาจึงได้จัดสร้างวัดลงที่นั่น เป็นวัดมั่งคงตราบเท่าทุกวันนี้ มีชื่อว่า วัดดอนธาตุ หลวงปู่เสาร์กับพระภิกษุบัวพาได้อยู่ที่นั้น 3 พรรษา

หลังออกพรรษาแล้วทุกปี หลวงปู่เสาร์ก็จะพาพระสงฆ์ออกธุดงค์ไปทางนครจำปาศักดิ์ ลี่ผี ปากเซ ฝั่งประเทศลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุอีก เมื่อ พ.ศ. 2482 บ่ายวันหนึ่งขณะที่หลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่โคนต้นยางใหญ่ พอดีมีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินโฉบลงมาเอารวงผึ้งอยู่บนต้นไม้ ที่หลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ รวงผึ้งขาดตกลงมาใกล้ๆ กับที่หลวงปู่นั่งอยู่ ตัวผึ้งได้รุมกัดต่อยหลวงปู่ จนต้องหลบเข้าไปในมุ้งกลด มันจึงพากันหนีไป

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่เสาร์ก็อาพาธเรื่อยมา โดยมีพระภิกษุบัวพาเป็นผู้อุปัฏฐากดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อมาหลวงปู่เสาร์พาพระภิกษุบัวพาไปเดินธุดงค์ทางปากเซ จำปาศักดิ์ ไปประเทศลาว ในระยะนี้หลวงปู่เสาร์อาพาธหนัก จึงสั่งให้พระภิกษุบัวพา นำท่านกลับมาที่วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ล่องเรือมาตั้งแต่เช้าจนค่ำ นอนบนแคร่ในเรือประทุน หลวงปู่เสาร์หลับตานิ่งมาตลอด เมื่อถึงนครจำปาศักดิ์แล้วท่านก็ลืมตาขึ้นพูดว่า “ถึงแล้วใช่ไหม ? ให้นำเราไปยังอุโบสถเลย เราจะไปตายที่นั่น”

พระภิกษุบัวพาจึงได้นำหลวงปู่เสาร์เข้าไปในอุโบสถ หลวงปู่เสาร์สั่งให้เอาผ้าสังฆาฎิมาใส่ ท่านกราบพระ 3 ครั้ง แล้วนั่งสมาธิไม่ขยับเขยื้อนนานเท่านานจนผิดสังเกต พระภิกษุบัวพาซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ เอามือไปแตะที่จมูก ปรากฏว่าหลวงปู่เสาร์ได้หมดลมหายใจไปแล้ว เลยไม่ทราบว่า ท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปในเวลาใดกันแน่ ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ชาวนครจำปาศักดิ์ขอให้ตั้งศพไว้บำเพ็ญกุศลอยู่ 3 วันเพื่อบูชาหลวงปู่เสาร์ ครั้นวันที่ 4 ชาวอุบลฯ จึงได้ไปอัญเชิญศพของท่านไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์เคยอยู่มาก่อน ปีที่หลวงปู่เสาร์มรณภาพคือ ปี พ.ศ. 2484 (วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484 สิริอายุรวมได้ 82 ปี 3 เดือน 1 วัน) ในปีต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2485 จึงมีพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เสาร์

ครั้นเสด็จจากงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เสาร์แล้ว พระภิกษุบัวพา ปญฺญาภาโส ซึ่งตอนนั้นมีพรรษาได้ 9 พรรษา ได้รับนิมนต์จากญาติโยมวัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ให้กลับไปจำพรรษาที่นั่น ท่านจึงได้โปรดญาติโยมที่วัดอดนธาตุ 1 พรรษา ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านก็ออกเดินธุดงค์ลงมาทางบ้านเดิม ซึ่งโยมบิดามารดาทำมาหากินอยู่ที่นั่น คือ บ้านกุดกุง ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ท่านไปโปรดโยมมารดาและชาวบ้าน จนมีคนเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2010, 08:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)


ต่อมาพระภิกษุบัวพา ได้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าบ้านโคก อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร กับ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ช่วงนั้นหลวงปู่มั่นจำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านนามน ซึ่งไม่ห่างไกลจากวัดป่าบ้านโคก ดังนั้นในพรรษา พระอาจารย์กงมากับพระภิกษุบัวพา ก็จะพากันไปฝึกอบรมกรรมฐานและฟังเทศน์จากหลวงปู่มั่น 3 วันต่อ 1 ครั้ง ทำให้พระภิกษุบัวพาได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น เพลิดเพลินในหลักภาวนา

เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงกราบลาหลวงปู่มั่นออกเดินธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวกไปเรื่อยๆ จนถึงวัดป่าบ้านกุดแห้ง แล้วพักจำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน 1 พรรษา หลังจากออกพรรษาแล้วก็เดินธุดงค์ไปโปรดญาติโยมพี่น้องซึ่งอพยพมาจากอุบลฯ มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และจำพรรษาอยู่ 1 พรรษา โดยมี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นหัวหน้าคณะ ออกพรรษาแล้วท่านได้กลับไปโปรดญาติโยมบ้านกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ตอนนั้นโยมมารดาของท่านได้บวชเป็นชี และได้ติดตามท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาท บ้านหนองยาง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ท่านได้อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและญาติโยม ให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย และฝึกอบรมในการปฏิบัติกรรมฐาน

เมื่อออกพรรษาแล้ว ในปี พ.ศ. 2490 ท่านได้พาแม่ชีที่เป็นมารดา พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรจำนวนหนึ่งออกธุดงค์ เดินทางจากวัดพระพุทธบาท บ้านหนองยาง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ผ่านจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี แล้วเข้าเขตจังหวัดหนองคาย ไปพักอยู่ที่วัดป่าพระสถิตย์ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เดิมทีเดียวนั้นสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงโคกหรือป่าช้า อันเป็นที่เลี้ยงโคกระบือของชาวบ้าน และยังเป็นวัดร้างอีกด้วย หลังจากที่พระภิกษุบัวพา และคณะได้มาปักหลักอยู่ที่นี่ก็มีชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา ช่วยกันพัฒนาที่อยู่ที่อาศัย จัดสร้างเสนาสนะและพระอุโบสถ จนเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองแล้วตั้งชื่อเป็น “วัดป่าพระสถิตย์”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา ทางสำนักพระราชวังได้นิมนต์หลวงปู่บัวพา ไปในงานพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลของสำนักพระราชวัง เป็นประจำทุกปี ส่วนมากหลวงปู่บัวพาจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับ ท่านเจ้าคุณพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) หลวงปู่บัวพาได้บำเพ็ญศาสนกิจ ฝึกอบรมสานุศิษย์เรื่อยมา

ครั้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่บัวพาได้รับนิมนต์ไปในพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชวัง หลวงปู่บัวพาได้เป็นลมอาพาธกระทันหันในงานพระราชพิธีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงรับสั่งให้แพทย์หลวงถวายการรักษา และนำหลวงปู่บัวพาส่งโรงพยาบาลวิชัยยุทธ และได้รับหลวงปู่บัวพาไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และเสด็จไปเยี่ยมในขณะที่หลวงปู่อยู่โรงพยาบาลถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งอาการของหลวงปู่บัวพาดีขึ้น จึงได้ออกจากโรงพยาบาลวิชัยยุทธในปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2528

พ.ศ. 2519 หลวงปู่บัวพาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศชั้นตรี ในพระราชทินนามที่ พระครูปัญญาวิสุทธิ์ เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านหม้อ เขต 2 อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หลวงปู่ได้แนะนำสั่งสอนประชาชนให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักศีลธรรม ถือหลักกตัญญูกตเวทีเป็นสำคัญ ทางด้านการปกครองคณะสงฆ์ ในฐานะที่หลวงปู่เป็นเจ้าคณะตำบล ท่านได้อบรมแนะนำพร่ำสอนให้พระภิกษุสามเณรเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เคารพกฎระเบียบของคณะสงฆ์ วางตนให้อยู่ในฐานะอันเหมาะสม


๏ ธรรมโอวาท

หลักธรรมที่หลวงปู่บัวพา เทศนาอบรมสั่งสอนมักจะเป็นเรื่องการฝึกฝนอบรมจิตใจ และการรู้จักสภาพที่แท้จริงของจิต ท่านสอนว่า “ธรรมชาติของปกติจิต คือพื้นที่ของภวังคจิต เป็นจิตที่ผ่องใสไพโรจน์ จิตที่แปรผันออกจากพื้นที่ของมันเพราะตัวอวิชชา คือ ความไม่รู้เท่าทันต่อโลก ไม่รู้เท่าทันต่ออารมณ์ จิตจึงได้ผันแปรออกจาก ‘ความปกติ’ (หมายถึงความสงบ) แล้วกลายเป็นบุญหรือกลายเป็นบาป

บุญก็ดี บาปก็ดี ท่านเรียกว่า ‘เจตสิกธรรม’ ซึ่งมีอยู่ประจำโลก เป็นกลางๆ ไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ บุญหรือบาปไม่ได้วิ่งเข้าไปหาใคร มีแต่ตัวบุคคลเท่านั้นที่วิ่งเข้าไปหาบุญแลบาป บุญนั้นมีผลเป็นความสุข ส่วนบาปมีผลเป็นความทุกข์

อารมณ์ 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ จึงเปรียบเหมือนลม 6 จำพวก ทวาร 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และหทัยวัตถุ เปรียบเหมือนฝั่งมหาสมุทร จิตใจของคนเราก็เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทร เมื่อลม 6 จำพวก เกิดเป็นพายุใหญ่ในเวลาฝนตก ทำให้น้ำในมหาสมุทรเกิดเป็นคลื่นแล้วระลอกใหญ่โต เรือ แพ หลบไม่ทันก็ล่มจมเสียหายขึ้นนี้ฉันใด อุปมัยดังพาลชนไม่รู้เท่าทันโลก ไม่รู้เท่าทันอารมณ์ ปล่อยให้โลกเข้ามาประสมธรรม ปล่อยให้อารมณ์เข้ามาประสมจิต จึงเกิดราคะ โทสะ โมหะ

ถ้าอยากเห็นวิมุตติ ก็ให้เพิกถอนสมมุติออกให้หมด เพราะโลกบังธรรม อารมณ์บังจิตฉันใด สมมุติก็บังวิมุตติฉันนั้น คนเราควรใช้สติปัญญาเป็นกล้องส่องใจจะได้รู้ว่าสภาพที่แท้จริงของจิตเป็นอย่างไร”


๏ ปัจฉิมบท

หลวงปู่บัวพาได้บำเพ็ญสมณธรรม ปฏิบัติศาสนกิจ อบรมสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย และสำเหนียกในไตรสิกขา อันเป็นแนวทางแห่งอริยมรรค จนในที่สุดสรีระร่างกายของหลวงปู่ก็เป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ เกิดมาแล้วก็มีอันเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา หลวงปู่บัวพาได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาพอดี หลวงปู่ได้ละกายสังขารอันเป็นภาระหนักและทรมาน ที่อาพาธมานานไปโดยอาการอันสงบ เมื่อเวลา 20.45 น. สิริรวมอายุได้ 81 ปี 11 เดือน 11 วัน นับพรรษาได้ 61 พรรษา

คณะสงฆ์พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดงานฌาปนกิจศพ โดยขอพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ณ เมรุวัดป่าพระสถิตย์ ตำบลพรานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย


.............................................................

:b8: :b8: :b8: ♥ คัดลอกมาจาก ::
หนังสือแก้วมณีอีสาน : รอยชีพรอยธรรมพระวิปัสนาจารย์อีสาน
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ :: ห้องพระ chiangmai1900


:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส” วัดป่าพระสถิตย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42950

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 11:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ชีวประวัติ
หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส

วัดป่าพระสถิตย์ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

โดย กองทุนพลังชีวิต อาคมธรรมทาน
จัดพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมบรรณาการ ไม่มีจำหน่าย
ตามเจตนารมณ์ของเรืออากาศตรี อาคม ทันนิเทศ


คำปรารภ

ก่อนอื่นที่ท่านผู้อ่านจะได้รู้จะได้อ่านหนังสือชีวประวัติองค์หลวงปู่บัวพานี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปมอบตัวเป็นลูกศิษย์ อยู่ศึกษากับองค์หลวงปู่อยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้อยู่เป็นประจำเหมือนกับองค์อื่นๆ เคยได้อยู่ใกล้ชิดได้ฟังองค์ท่านเล่าความเป็นมาขององค์ท่านเมื่ออยู่กับองค์หลวงปู่เสาร์ ให้ได้ฟังอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นหนังสือขึ้นมา ได้แต่ทบทวนความจำเอาไว้เท่านั้น เพราะตัวข้าพเจ้ามีการศึกษาน้อย รู้ตัวเองว่าไม่มีสติปัญญาความสามารถที่จะทำเป็นหนังสือขึ้นมาได้

แต่พอเมื่อองค์หลวงปู่ได้ล่วงลับจากเราไปอย่างไม่มีโอกาสที่จะได้พบเห็นองค์ท่านอีก คงเหลือไว้แต่คุณงามความดี บุญคุณที่องค์ท่านมีต่อเรา เคียงคู่อยู่กับความทรงจำของหัวใจ ข้าพเจ้าจึงเฝ้าคอยฟัง คอยดู คอยอ่านประวัติท่านพระอาจารย์ผู้มีพระคุณอันสูงสุดในหัวใจ จนล่วงเลยมาเป็นสิบปี ก็ไม่ปรากฏว่ามีท่านผู้ใดจัดทำขึ้น ทั้งที่คณะลูกศิษย์ลูกหาที่เคยอยู่และไปศึกษากับองค์ท่านก็มีมากพอสมควร ก็ไม่มีวี่แววให้ได้พบได้อ่าน

ข้าพเจ้าจึงได้แต่ปรารภอยู่ในใจเพียงคนเดียว โดยไม่มีใครรู้ ว่าพระครูบาอาจารย์ที่เราเคารพสูงสุดในหัวใจ และปฏิปทาอันงดงาม เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และเราถือว่าองค์ท่านเป็นพระที่สำคัญองค์หนึ่งทางฝ่ายพระป่า แต่องค์ท่านเป็นพระที่เก็บตัว ไม่ค่อยแสดงออก ไม่ค่อยบอกให้ใครรู้เรื่องขององค์ท่านเลย ก็มีแต่พวกลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ใกล้ๆ พอจะได้ชม ได้ดู ได้รู้ความสำคัญขององค์ท่านบ้าง

ข้าพเจ้าจึงมาคิดว่า พระดีๆ อย่างองค์หลวงปู่จะเลือนลางจางหาย และดับสิ้นไปกับองค์ท่าน โดยไม่มีใครได้มีโอกาสได้รู้ความสำคัญขององค์ท่านเลย มันไมน่าจะเป็นไปได้

ข้าพเจ้าคิดแล้วคิดอีก คอยแล้วคอยเล่า ถ้าเราจะเป็นคนทำหนังสือขึ้นมา ตัวเราเองก็เป็นผู้ด้อยทุกๆ อย่าง ไม่ว่าการศึกษา สติปัญญา และความสามารถ จึงเป็นเหตุให้จนสติปัญญา จนใจในทุกๆ ด้าน แต่ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่จนศรัทธาในองค์ท่าน ข้าพเจ้าจึงพยายามทำหนังสือชีวประวัติท่านพระอาจารย์ขึ้นมา ด้วยความมีศรัทธาอันหาประมาณมิได้

แต่ต้องขออภัยท่านผู้รู้ผู้อ่านมา ณ โอกาสนี้ด้วย เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ด้อยทุกอย่างจริงๆ แต่ยึดเหนี่ยวอาศัยเอาแรงศรัทธาเป็นเครื่องผลักดันความด้อยทุกๆ อย่างไป เพื่อเป็นการเทิดทูนบูชาพระคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณอันสูงสุดในหัวใจ ผิดพลาดประการใด โปรดให้อภัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้ผิด บัณฑิตยังรู้หลง หงส์ทองยังต้องถลา เหยี่ยวกาย่อมรู้หลงผิดจนติดนิสัย ฝากไว้ให้ท่านผู้รู้ผู้อ่านในการติชม ไม่เหมาะไม่สมขอรับติชมแต่เพียงผู้เดียว

พระพล ยโสธโร

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 12:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส กับ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ


วัดป่าพระสถิตย์ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ความเป็นมาขององค์หลวงปู่บัวพาโดยลำดับแล้ว นับว่ายากที่จะได้รับรู้ประวัติของท่านให้ได้โดยละเอียด เพราะโดยนิสัยขององค์ท่านแล้วเป็นคนที่มีนิสัยพูดน้อยและไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง ถ้าจะพูด ก็พูดเกี่ยวเนื่องกับพระอาจารย์ขององค์ท่าน คือองค์หลวงปู่ใหญ่เสาร์นั่นเอง แต่องค์หลวงปู่บัวพาเป็นผู้พูดน้อย ปฏิบัติมากและทำแบบสม่ำเสมออย่างมั่นคง ไม่จับๆ วางๆ ฉะนั้นการเขียนประวัติขององค์หลวงปู่ จึงเป็นการยากที่จะรวบรวมให้ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าขาดตกบกพร่องด้วยประการใด จึงขอความกรุณาให้อภัยผู้เรียบเรียงด้วยเทอญ เพราะเป็นผู้มีปัญญาน้อย แต่ศรัทธาหาประมาณมิได้

องค์หลวงปู่บัวพา หรือท่านพระครูปัญญาวิสุทธิ์ สถานะเดิมขององค์ท่าน เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ ณ ที่บ้านบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร) โยมบิดาชื่อ นายหยาด โยมมารดาชื่อ นางทองสา แสงศรี มีพี่น้องด้วยกัน ๗ คนคือ

องค์หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส (แสงศรี)
นางมี แสงศรี
นายจันทร์ แสงศรี
นายคำพัน แสงศรี
นางนาง แสงศรี
นางกาสี แสงศรี
นายหนู แสงศรี

เมื่อกาลต่อมา โยมบิดามารดาของท่านได้อพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่บ้านกุดกุง ตำบลสงเปลือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธรปัจจุบัน อาชีพบิดามารดาของท่านทำนา

ตามอุปนิสัยขององค์หลวงปู่แล้ว เมื่อเป็นฆราวาสนั้นเป็นคนพูดน้อย มีความเคารพนอบน้อมเชื่อฟังผู้ใหญ่ คือเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย แต่โดยส่วนมาก นิสัยขององค์หลวงปู่เป็นคนไม่ชอบทำบาป มีจิตใจใฝ่บุญกุศลตั้งแต่เป็นเด็กตลอดมา

พออายุครบบวช บิดามารดามีความปรารถนาอยากจะให้ท่านบวชก่อนจะมีครอบครัว บังเอิญในปีนั้นนายเทพ ลูกชายของน้องสาวโยมพ่อหลวงปู่ (โยมแตงอ่อน) ได้ถึงแก่กรรม ลุงท่านได้ขอร้ององค์หลวงปู่ซึ่งสมัยนั้นท่านยังเป็นหนุ่ม อายุครบบวชพอดี ให้ช่วยบวชอุทิศส่วนกุศลให้แก่นายเทพ ซึ่งเป็นลูกชายของโยมแตงอ่อน

พ่อคำมี แสงศรี จึงเป็นเจ้าภาพจัดกองบวชให้ และองค์หลวงปู่ก็ได้เข้าบวชเป็นพระเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ สีมาน้ำวัดบ้านกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร มีพระอาจารย์มอนเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชฝ่ายมหานิกาย

ในพรรษาแรกอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านกุดกุง วัดบ้านกุดกุงนั้นเป็นวัดอยู่นอกบ้าน ห่างบ้านพอประมาณ ตั้งอยู่ฝั่งอุดกุง น้ำในกุดกุงใสสะอาด เป็นกุดที่กว้างใหญ่มากทีเดียว

ภายในพรรษาแรก องค์หลวงปู่ท่านฉันมื้อเดียว และฝึกหัดภาวนาอยู่ตามลำพังแต่องค์เดียวมิได้ขาดเพราะเป็นวัดบ้าน การทำสมาธิภาวนาไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน ท่านก็คิดทำของท่านเอง คงเป็นอุปนิสัยเก่าขององค์หลวงปู่ที่เคยสั่งสมมา

มีอยู่วันหนึ่ง องค์หลวงปู่ท่านระลึกถึงเมื่อสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อยู่ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นที่มาที่มีความสุขเป็นที่ประทับใจขององค์หลวงปู่มาก ก็พอดีภายในวัดบ้านกุดกุงนั้น มีต้นโพธิ์อยู่ต้นหนึ่ง องค์หลวงปู่ก็น้อมจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าท่านได้ตรัสรู้แจ้งชอบด้วยพระองค์เอง ในคืนวันเพ็ญเดือนหก ณ ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ เราน่าจะเอาเป็นตัวอย่าง

ในคืนวันนั้นองค์หลวงปู่ท่านรอให้เสียงผู้เสียงคนเขาเงียบสงัดเสียก่อน องค์ท่านจึงค่อยไปนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์โดยไม่มีใครรู้ พอไปถึงท่านกราบลง ๓ ครั้ง แล้วนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริกรรม “พุทโธ” อยู่องค์เดียว ใช้เวลาภาวนาอยู่ไม่นานนัก จิตก็รวมสงบลงอย่างแน่วแน่ ท่านได้พบความสุขอยู่อย่างสุดซึ้งที่ใต้ต้นโพธิ์นั้นเอง นั่งสมาธิอยู่เกือบสว่าง พอได้ยินเสียงผู้คนเขาออกไปตักน้ำที่กุดกุงตอนใกล้รุ่ง องค์ท่านจึงเข้ามาทำข้อวัตรต่อที่กุฏิของท่าน

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 12:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัดต้นโพธิ์เป็นบาปจริงๆ องค์หลวงปู่เล่า

อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์เจ้าอาวาสได้สั่งให้องค์หลวงปู่ขึ้นตัดกิ่งก้านต้นโพธิ์ที่รุงรังปกคลุมหลังคาวิหาร องค์หลวงปู่ก็ต้องจำใจทำเพราะความเคารพในท่านอาจารย์

พอองค์ท่านขึ้นไปตัดกิ่งก้านต้นโพธิ์เสร็จ เตรียมตัวจะลง พอก้าวขาหาที่เหยียบว่าจะลงเท่านั้น เหมือนมีอะไรมาผลักขาลื่นหลุด เหลือแต่แขนกอดโอบต้นโพธิ์ รูดตกถึงพื้นดินล้มลง แล้วก็รีบลุกขึ้นสำรวจตัวเองว่าเจ็บตรงไหน เห็นมีรอยขูดขีดตามแขนตามหน้าอกเล็กน้อย ก็รีบไปหายาทา แผลนั้นก็หาย แต่ยังมีแผลหนึ่งอยู่ที่หน้าอกนิดเดียว ใช้ยาอะไรทาก็ไม่หาย ไม่ยอมตกเกล็ดเหมือนแผลอื่น ทำอย่างไรก็ไม่หายสักที

องค์หลวงปู่ก็มานึกขึ้นได้ด้วยตนเองว่า เรานี้เป็นบาปเสียแล้ว ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าได้อาศัยตรัสรู้ และเป็นต้นไม้ที่มีพระคุณต่อพระพุทธเจ้า แล้วก็มีพระคุณแก่เราในวันนั้นด้วย ที่เราไปนั่งสมาธิได้พบความสุขที่ต้นโพธิ์นี่เอง

เมื่อองค์ท่านระลึกได้ดังนี้ พอตกตอนกลางคืนพระเณรองค์อื่นเงียบหมดแล้วท่านได้ไปเอาดอกไม้ที่ญาติโยมเขาเอามาบูชาที่โต๊ะบูชา ใส่ขันแล้วเดินไปนั่งคุกเข่ากราบลง ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำขอขมาโทษที่ตนได้ล่วงเกินต้นโพธิ์อันมีพระคุณแก่พระพุทธเจ้า ขอจงงดเสียซึ่งโทษบาปกรรมล่วงเกินอันนั้น เพื่อการสำรวมระวังต่อไปด้วยเทอญ ขอให้คุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์และต้นมหาโพธิ์อันมีพระคุณแก่ข้าพเจ้า จงช่วยงดเสียซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อการสำรวมระวังต่อไป

ภายในวันสองวันเท่านั้นแผลนั้นก็หายเป็นปลิดทิ้งไม่มีรอยแผลเป็นปรากฏอยู่เลย


นอนหันเท้าไปทางพระพุทธรูปก็บาปเหมือนกัน

แล้วท่านก็เล่าไปถึง การนอนหันเท้าไปทางพระพุทธรูปอยู่ ก็บาปเหมือนกัน องค์ท่านเล่าให้ฟังว่า

สมัยเราเป็นเด็กหนุ่มอายุ ๑๔-๑๕ ปี เห็นจะได้ เคยไปขายน้ำย้อมกับพวกผู้ใหญ่เขา สมัยก่อนพวกพ่อค้าต้องเดินด้วยเท้าหาขายสิ่งของต่างๆ ไปต่างบ้านต่างเมือง ไปถึงบ้านไหน เมื่อตกตอนเย็น ก็จะไปขอพักนอนตามวัดไปเรื่อยๆ องค์หลวงปู่ไปขายน้ำย้อมกับหมู่ผู้ใหญ่ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน จะต้องนอนพักตามวัดตามศาลาตามเคย

มาวันหนึ่ง พอตกตอนเย็น ก็พากันไปขอพักนอนตามวัด มีศาลาแห่งหนึ่ง พระท่านอนุญาตให้พักได้ ภายในศาลาหลังนั้น มีพระพุทธรูปตั้งประดิษฐานอยู่ในศาลา พวกพ่อค้านอน เขาไม่นอนเหมือนคนธรรมดานอน คือเขาจะเอาสิ่งของวางรวมกันไว้ระหว่างกลาง แล้วก็นอนหันหัวเข้าหากัน หันขาออก เรียกว่านอนให้เป็นวงกลม ให้รอบสิ่งของเอาไว้ วันนั้นก็เช่นเดียวกัน นอนหันหัวเข้าหากันหันเข้าออก เพื่อรักษาสิ่งของช่วยกัน แต่พวกผู้ใหญ่เขาฉลาด เขาก็เลือกที่นอนก่อน และเขาก็นอนประจำที่ก่อนทุกๆ คน เขาเว้นที่ให้เราตรงพระพุทธรูปแต่หันเท้าไปตรงพระพุทธรูป เราเป็นเด็กไม่มีทางเลือกก็ต้องนอน เพราะเขาบังคับทางอ้อม แต่พอนอนไปได้สักพักหนึ่ง พวกผู้ใหญ่เขาก็โวยวายขึ้นว่า

“นี่ตีนใคร นี่ขาใคร มันมายันหัวกูนี่หือ”

เขาก็ลุกขึ้นดู

“นี่ตีนบักบัวพานี่หว่า มึงเอาตีนมายันหัวหมู่ทำไม”

พวกผู้ใหญ่เขาก็ปลุกขึ้นให้นอนใหม่ แต่นอนไปไม่นาน พวกผู้ใหญ่เขาก็โวยวาย ปลุกขึ้นให้นอนใหม่อีก เป็นอยู่อย่างนี้ทั้งคืน เดี๋ยวก็โวยขึ้นอยู่อย่างนั้นทั้งคืน จนไม่เป็นอันนอนเลยในคืนนั้น นอนที่อื่นไม่เห็นเป็นอย่างนั้น ก็มันเป็นอย่างนี้เพราะหันเท้าไปทางพระพุทธรูปนั่นเอง เรื่องของเรากับพระพุทธรูปนี้ย่อมปรากฏอานุภาพให้เห็นทันตา


ทดลองออกวิเวกครั้งแรก

รูปภาพ
วัดปอแดง


พอออกพรรษาในปีนั้น องค์หลวงปู่ก็ขอลาครูบาอาจารย์ออกเที่ยววิเวก เพื่อเป็นการฝึกกัมมัฏฐานไปในตัว เพื่อจะได้รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่ถูกต้องที่แท้จริง แต่พระอาจารย์ของท่านอยากให้ท่านเรียนสนธิ เรียนมูลกัจจายเสียก่อน จึงออกปฏิบัติภายหลัง ในพรรษาปีต่อมา องค์หลวงปู่จึงได้ไปเรียนสนธิ เรียนมูล อยู่ที่วัดบ้านไผ่ใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ อยู่หนึ่งพรรษา

ปีต่อมา ท่านได้ไปเรียนสนธิอยู่บ้านปอแดง ซึ่งในสมัยนั้น สำนักเรียนสนธิมูลกัจจาย ที่บ้านปอแดง มีชื่อเสียงมากที่สุด ทางภาคอีสาน แต่คงเป็นอุปนิสัยเก่าขององค์หลวงปู่ก็ว่าได้ เพราะท่านอยู่วัดบ้าน แต่ฉันมื้อเดียว เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ไหว้พระสวดมนต์อยู่เป็นนิจไม่เคยขาดเลย ใครเขาจะทำหรือไม่ทำ ท่านก็ทำของท่านอยู่องค์เดียว

พอออกพรรษา ท่านจะถือโอกาสออกวิเวกฝึกหัดปฏิบัติกัมมัฎฐานทุกๆ ปี และท่านเองก็ปรารภกับหมู่อยู่เสมอว่า ท่านจะออกปฏิบัติกัมมัฏฐานตามแบบแนวทางของพระพุทธเจ้า จนหมู่เพื่อนรู้จักกันดีว่า ท่านบัวพาจะออกปฏิบัติอย่างเดียว

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 13:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


บุญเก่ามากระตุ้นเตือนใจ ให้รีบออกปฏิบัติอย่างถึงใจ

รูปภาพ
จากซ้าย : หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ,
หลวงปู่หลุย จันทสาโร และหลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส


ในคืนหนึ่งมีพวกพ่อค้าเข้ามาขอพักนอนที่ศาลาวัดบ้านปอแดง ท่านพระอาจารย์ก็เมตตา สั่งให้พระเณรไปช่วยดูที่พักให้พวกพ่อค้าที่มาขอพักที่ศาลา ก็พูดคุยทักทายปราศรัยถามความเป็นมาของพวกพ่อค้า พูดคุยอยู่สักระยะหนึ่ง

ในกลุ่มพ่อค้าที่มาพักในคืนนั้น มีคนมีอายุวัยกลางคนผู้หนึ่ง มีอัธยาศัยดี พูดจาน่าฟัง เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เอ่ยปากถามหลวงปู่บัวพาว่า

“ครูบาบวชได้กี่พรรษาแล้ว อยู่อย่างนี้ได้ปฏิบัติบ้างไหม”

องค์หลวงปู่ก็บอกเขาไปว่า

“ได้สี่พรรษา ก็ปฏิบัติอยู่ แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติเต็มที่ เพราะวัดบ้านตอนหัวค่ำจะมีทั้งเด็กวัดทั้งพระเณรท่องหนังสือ มีทั้งหมอลำไปเรียนลำที่วัด เขาก็ท่องกลอนลำจนดึกดื่น เราก็ต้องรอให้เขานอนเงียบเสียงกันเสียก่อน ตอนดึกเราค่อยลงมาเดินจงกรมนั่งสมาธิของเรา ใช้เวลาตอนที่เขาไม่ใช้กัน คือตอนเขานอนนั่นเอง”

คุยกันไปมา พ่อค้าคนนั้นเลยเล่านิทานให้ฟัง แกคงเห็นอุปนิสัยขององค์หลวงปู่ชอบในการปฏิบัติ

“ครูบา” พ่อค้าคนนั้นพูดขึ้น

“พ่อออกจะเล่านิทานให้ฟังจะฟังไหม”

องค์หลวงปู่ก็บอกว่า “ฟัง"

เพราะนิสัยขององค์หลวงปู่น่ารักอยู่แล้ว พ่อค้าคนนั้นก็ถือโอกาสเล่านิทานให้ฟังว่า

ยังมีหนุ่มฉกรรจ์สามคนเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก ต่างคนต่างขยันใฝ่ในการศึกษาหาความรู้เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต อยู่มาวันหนึ่งสามสหายรักได้มาพบกัน สนทนากันด้วยความดีใจและจริงใจต่อกัน คุยกันไปกันมามีเพื่อนคนหนึ่งถามขึ้นว่า

“เออเพื่อน เราทั้งสามโตขึ้นมาแล้ว เราจะดำเนินชีวิตของเราเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่า เราจะใช้ชีวิตไปในรูปแบบไหนถึงจะดีนะเพื่อน”

เพื่อนคนหนึ่งนั่งคิดอยู่ครู่หนึ่งบอกว่า

“เออนี่เพื่อน เรานี้จะเรียนวิชาหาความรู้ให้มีความสามารถแล้วจะแต่งงาน ตั้งหลักปักฐานให้ร่ำรวย แล้วจะขวนขวายทำบุญกุศลสร้างวัดวาอารามถวายสงฆ์ให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะบำรุงพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่นั้นเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า หรือว่าเพื่อนมีความคิดเห็นเห็นประการใด”

ส่วนเพื่อนอีกคนก็พูดขึ้นว่า

“ในชีวิตของคนเราจะให้มีค่าที่สุดแล้ว ก็คิดว่าเราจะบวชแล้วศึกษาพระธรรมวินัยให้แตกฉานชำนาญ ในพระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แล้วเราจะตั้งสำนักสอนธรรมแก่สานุศิษย์ให้ได้เป็นคณาจารย์ใหญ่กว่าคนทั้งหลาย แล้วเราจะกระจายขยายสานุศิษย์ไปเผยแผ่ให้กว้างไกล เราจะเป็นคณาจารย์ใหญ่มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหลายร้อยหลายพัน เรามีความคิดเห็นเป็นอย่างนี้”

เพื่อนอีกคนพูดขึ้นว่า

“ฟังเพื่อนๆ พูดแล้วมันยุ่งยาก เราคิดว่าเราจะบวชแล้วออกธุดงคกัมมัฎฐาน ไปแบบไม่มีลูกศิษย์ลูกหา ไม่มีวัดมีวา ค่ำไหนนอนนั่น ตายแล้วก็แล้วไป ไม่ยุ่งกับใคร ไม่สนกับใคร หาความสุขใส่ใจเป็นอันพอ เรามีความคิดเห็นอยู่อย่างนี้แหละเพื่อน”

ทั้งสามก็อนุโมทนาในความคิดความฝันของกันและกัน เพราะความฝันอาจเป็นจริงก็ได้

อยู่ต่อมาความฝันของสามสหายกลายเป็นความจริงขึ้นมาก็ดำเนินชีวิตไปตามความคิดความหวังที่ตนตั้งไว้ ทุกคนสมหวังดั่งตั้งใจไว้ทุกประการ

เพื่อนคนที่แต่งานก็ได้ลูกได้หลาน ได้สร้างฐานะให้ร่ำรวย ได้สร้างวัดวาอาราม เฝ้าปรนนิบัติอุปัฏฐากพระสงฆ์ให้มีความผาสุกมาโดยตลอดจนแก่เฒ่าชรา บำรุงวัด บำรุงสงฆ์อยู่เป็นนิจไม่เคยขาด

ส่วนเพื่อนอีกคนก็ออกบวชตามตั้งใจเอาไว้ให้ได้เป็นคณาจารย์ใหญ่ ก็ได้เป็นสมดั่งปณิธานดังใจหมายไว้ว่า ให้มีลูกศิษย์ห้าร้อยมิได้ขาด

ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่งเมื่อบวชแล้วหายเงียบออกธุดงค์ไป ไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย ไม่ได้ข่าวคราวเลย เพื่อนทั้งสามรู้สึกว่า ใช้ชีวิตเป็นไปตามความฝันของตนๆ ทุกประการเลยทีเดียว

อยู่มาวันหนึ่งพระคณาจารย์ใหญ่นั่งกินลมเมื่อยามเย็นๆ ที่ระเบียงกุฏิของตน ได้มีลูกศิษย์มากราบเรียนให้ทราบว่า มีพระธุดงค์ขอเข้าพบ พระคณาจารย์ก็อนุญาตให้เข้าพบได้ พระธุดงค์องค์ชราก็ได้เข้าพบเป็นส่วนตัวพระธุดงค์ไหว้แล้วนั่งอยู่ข้างใกล้ๆ แล้วแกล้งสนทนาขึ้นว่า

“สบายดีท่านพระคณาจารย์ใหญ่ อยู่สบายดีหรือ”

พระคณาจารย์ใหญ่ก็บอกว่า

“เออ สบายดี ท่านล่ะไปธุดงค์เป็นไงสมประสงค์บ้างไหม แล้ววันนี้จะธุดงค์ไปพักที่ไหน ได้ที่พักหรือยัง และรู้จักใครบ้างไหมในสำนักนี้”

พระธุดงค์บอกว่า

“ยังไม่มีที่พัก และตั้งใจว่าจะมาพักที่นี่ เคยรู้จักกันกับพระองค์หนึ่งซึ่งเคยเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเป็นเด็กด้วยกัน มีคนเขาบอกว่าท่านที่เป็นเพื่อนได้มาอยู่ที่นี่ จึงมาเพื่อเยี่ยมเยียน ไม่รู้ว่าท่านอยู่หรือเปล่า”

“ก็เพื่อนท่านชื่ออะไรล่ะ”

พอพระธุดงค์บอกชื่อให้ทราบ พระคณาจารย์ก็บอกว่าท่านอยู่ พระคณาจารย์สังเกตดูทั้งกริยาอาการและเสียง จำได้ถนัดว่าเป็นเพื่อนของตน

“ก็เรานี่เองเป็นเพื่อนของท่าน”

ทั้งสองเข้ากอดจับไม้จับมือแสดงออกซึ่งความดีอกดีใจที่ได้พบกันหลังจากแยกกันไปตั้งแต่หนุ่มจนแก่ชราจึงค่อยได้พบกัน

จากกันไปนานเสียจริงๆ นึกว่าตายแล้ว จนจำกันแทบไม่ได้เพื่อนเอ๋ย เรานึกว่าเธอไปธุดงค์นาน จนเราคาดว่าเพื่อนคงตายเสียแล้ว

เพื่อนพระธุดงค์ก็บอก เรารอดตายมาเหมือนกันแล้วก็ถามข่าวไปถึงเพื่อนอีกคนเขาอยู่อย่างไร

“เออ! ไอ้นั่นมันก็ดีของมัน ร่ำรวยสร้างวัดสร้างวาอุปถัมภ์วัดมาไม่เคยขาด สมดั่งแกตั้งใจเอาไว้ทุกประการ แล้วท่านล่ะออกธุดงค์เป็นไง” พระคณาจารย์ถาม

“สมดั่งตั้งใจไว้ทุกประการเช่นกัน”

“บ๊ะ! เราเข้าไปหาเพื่อนที่เป็นฆราวาสที่อยู่บ้านโน้นกันดีกว่า”

ทั้งสองเข้าไปหาเพื่อนอีกคนที่อยู่ในบ้าน พอไปถึงก็จำกันได้ เพื่อนที่เป็นฆราวาสก็จัดแจงอาสนะถวายให้นั่งที่อันควร แล้วก็มากราบไหว้และสนทนาว่า

“ท่านคณาจารย์ใหญ่มีธุระอันใด จะให้ข้าน้อยรับใช้หรือคิดถึงจึงมาหาถึงบ้าน”

“เออ! คิดถึงจึงพาเพื่อนมาเยี่ยม นี่ไงเพื่อนของเราที่ออกธุดงค์ไป ไม่ว่าเป็นหรือตาย ได้กลับมาแล้วนี่ไง”

พอรู้ว่าเพื่อน สามสหายก็ดีอกดีใจทักทายทุกข์สุขกันอยู่ยกใหญ่ เพราะไม่ได้เจอกันหลายสิบปี แล้วพูดถึงการบำเพ็ญประโยชน์อันเป็นมงคลของชีวิตของแต่ละคนว่าได้บำเพ็ญสุดกำลังสมดั่งได้ตั้งใจเอาไว้ ว่าใครจะได้บุญมากกว่ากัน เพื่อนผู้เป็นฆราวาสพูดขึ้นว่า

“ผมก็บำเพ็ญมาสุดกำลัง ไม่ได้อาศัยใครกิน มิหนำซ้ำยังมีแต่ให้ และสร้างวัดสร้างวาบำรุงพระสงฆ์มาตลอด ผมก็ว่าผมได้บุญมากกว่าเพื่อนที่บวช”

ส่วนพระคณาจารย์ใหญ่พูดว่า

“เราก็ว่าเราได้บุญมาก เพราะเราบวชบำเพ็ญสร้างวัด สอนลูกศิษย์ลูกหามาเป็นหลายร้อยหลายพันคน ได้สำเร็จประโยชน์มากมายเลยทีเดียวนะ”
ฝ่ายพระธุดงค์ก็ว่า

“เราได้บุญมาก เพราะเราเป็นผู้ที่เสียสละ ไม่เอาอะไรสักอย่าง ดำเนินชีวิตไปตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้าอย่างเดียว แม้แต่ชีวิตก็มอบถวายคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”

ต่างคนก็ต่างเชื่อว่าตนเองได้บุญมาก พูดจาไม่ลงกัน จึงชวนกันไปกราบพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดผู้เดียวเท่านั้น ทั้งสามสหายก็เลยพากันออกเดินทางสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ในระหว่างเดินทางไปสู่สำนักพระพุทธเจ้านั้น มีแม่น้ำไหลเชี่ยวมีน้ำมากอยู่แห่งหนึ่ง พอไปถึงก็ไม่มีใครกล้าข้าม เกี่ยงกันไปมา

“ผมเป็นโยม มีลูกมีเมียมีภาระที่จะต้องทำ ยังไม่ได้มอบหมายให้ใครเป็นที่เรียบร้อย ให้ท่านผู้เป็นพระนั่นแหละไปก่อน เพราะพระไม่มีลูกมีเมีย

ส่วนพระคณาจารย์ใหญ่ก็บอกว่า

“ให้ท่านพระธุดงค์นั่นแหละไปก่อน เพราะท่านไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ส่วนผมมีลูกศิษย์ลูกหาเฝ้าคอยอยู่เป็นร้อยเป็นพัน ยังไม่ทราบว่าเขาจะอยู่กันอย่างไร”

ตกลงต้องเป็นพระธุดงค์เป็นองค์ลุยน้ำไปก่อน เพราะไม่มีอะไรจะอ้างอย่างเขา พอข้ามไปได้น้ำลึกประมาณเหนือเข่า ถลกผ้าขึ้น ผ้าไม่เปียก พระคณาจารย์จึงข้ามเป็นอันดับสอง น้ำเพียงเอว เล่นเอาผ้าสบงเปียก จีวรไม่เปียก เพื่อนที่เป็นฆราวาสตามไปหลังสุด เล่นเอาน้ำเพียงคอ ผ้านุ่งเปียกปอนทั้งหมด พอขึ้นฝั่งได้หมดแล้วก็เดินทางต่อ มุ่งหน้าสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พอไปถึงพากันเข้าฟังธรรมและถามปัญหาความข้องใจกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้บอกว่า

“จะมาถามเราทำไม ก่อนที่ข้ามแม่น้ำมา ก็แสดงให้รู้แล้วว่าใครเป็นผู้ได้บุญมากน้อยกว่ากัน แม่น้ำนั้นเป็นผู้ตัดสินอยู่แล้ว”

สามสหายเมื่อได้ฟังแล้วก็หายสงสัย จึงพากันกราบลาพระพุทธเจ้ากลับสู่บ้านเมืองของตนๆ องค์หลวงปู่ก็นั่งฟังโยมคนนั้นเล่านิทานให้ฟังอยู่อย่างสงบ องค์หลวงปู่ชอบใจประทับใจในนิทานเรื่องนี้มาก

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 13:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


คืนวันที่ตัดสินใจออกปฏิบัติอย่างเดียว

ในคืนนั้นองค์ท่านได้พจารณาตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะลาหมู่ออกปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะขอหยุดการเรียนหนังสือแต่วันนี้ ในคืนต่อมาองค์หลวงปู่ก็บอกกับหมู่ที่อยู่ด้วยกัน ว่าจะออกปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หมู่เพื่อนที่อยู่ในที่นั้นก็พากันอนุโมทนาสาธุด้วยความดีใจแล้วก็ร้องไปบอกองค์อื่นๆ ให้รู้ว่า ท่านบัวพาจะออกปฏิบัติแล้วเน้อ

พระที่รู้จักกันพอได้ยินเสียงบอกดังนั้น ต่างองค์ต่างก็รีบออกมาแสดงความดีใจ จับไม้จับมือ บางองค์ก็ร้องบอกหมู่ไปว่า ท่านบัวพาจะไปเป็นพระอรหันต์แล้วเน้อ พวกเราจงมาอนุโมทนาเอาบุญกับท่านบัวพาเน้อ หมู่พวกที่อยู่ในห้องต่างก็ออกมาสาธุกันยกใหญ่ จากนั้นท่านก็เตรียมตัวกราบลาครูบาอาจารย์มุ่งปฏิบัติอย่างเดียว มุ่งหน้าปฏิบัติฝึกหัดกัมมัฏฐาน แสวงหาครูบาอาจารย์อย่างจริงจัง


พระอาจารย์องค์แรกขององค์หลวงปู่บัวพา

รูปภาพ
หลวงปู่กอง


ท่านพระอาจารย์กอง หรือหลวงปู่กอง ท่านเป็นพระอาจารย์องค์แรกขององค์หลวงปู่บัวพา เมื่อคราวสมัยองค์หลวงปู่บัวพายังเป็นพระวัดบ้านอยู่ องค์ท่านได้ตะเกียกตะกาย แสวงหาทางออกจากทุกข์อย่างไม่มีผู้นำพาฝึกหัดปฏิบัติเลย จนในที่สุดได้มาพบกับหลวงปู่กอง ที่วัดป่าบ้านโนนทัน ซึ่งเป็นพระป่าปฏิบัติอยู่ในเขตอำเภอคำเขื่อนแก้ว องค์หลวงปู่กอง เปรียบอุปมาเหมือนเป็นผู้บอกทิศให้ออกจากปาดงใหญ่ อันคนกำลังหลงป่าแสวงหาทางออกอย่างสุดกำลัง องค์หลวงปู่บัวพาจึงได้รู้ทิศที่จะออกจากป่า และได้ไปพบเส้นทางใหญ่ เดินไปสู่แดนอันเกษม

ดังนั้น การที่ได้รู้ทิศที่จะไปคือหลวงปู่กองเป็นผู้ชี้แนะ เมื่อเดินตามทิศที่บอกมาจนได้พบองค์หลวงปู่ใหญ่เสาร์ องค์หลวงปู่เสาร์เปรียบอุปมาเหมือนทางนำพาดำเนินไปสู่แดนอันเกษมอันเป็นจุดเป้าหมายนั้น คือองค์หลวงปู่บัวพาเมื่อได้แสวงหาครูอาจารย์จึงได้เข้ามาศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและฝึกหัดธรรมกัมมัฏฐาน อยู่กับหลวงปู่กองก่อน ได้รู้ข้อวัตรปฏิบัติทางสายพระป่าจนเข้าใจและฝึกได้ทุกๆ อย่าง องค์ท่านฝึกหัดอยู่กับหลวงปู่กอง จนคนอื่นมองดูไม่รู้ว่าท่านเป็นพระบ้านเลย และได้จัดแจงเตรียมแต่งผลัดเปลี่ยนอัฐบริขารให้ถูกต้องตามธรรมเนียมวินัย ตามกฎระเบียบของสายพระป่าทุกๆ ประการแล้วองค์หลวงปู่บัวพา จึงได้กราบนมัสการลาหลวงปู่กอง เพื่อมุ่งหน้าไปสู่สำนักองค์ท่านหลวงปู่ใหญ่เสาร์ จนได้เข้าเฝ้ารับใช้ใกล้ชิดติดตามองค์หลวงปู่ใหญ่เสาร์ ไปทั่วสารทิศ ติดตามไปดุจดังเงาเฝ้าตามตัวชั่วชีวิตจะหาไม่


เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ท่านอาจารย์กอง

องค์หลวงปู่ได้เดินทางไปบ้านโนนทัน วัดป่าบานโนนทันมีอาจารย์กองเป็นผู้ฝึกสอนกัมมัฎฐานองค์แรก ได้อยู่อบรมกัมมัฎฐานอยู่กับอาจารยกองระยะหนึ่ง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมและเตรียมอัฐบริขารให้ถูกต้องของทางวัตรปฏิบัติ ซึ่งในช่วงนั้นชื่อเสียงขององค์หลวงปู่เสาร์ องค์หลวงปู่มั่นได้ระบือไปทั่วสารทิศ ท่านองค์หลวงปู่บัวพาจึงน้อมจิตอธิษฐานส่งใจไปถึงองค์หลวงปู่เสาร์ ว่าขอให้ได้พบและเป็นลูกศิษย์ติดตามปฏิบัติอุปัฏฐากองค์ท่านด้วยเถิด

เมื่อน้อมจิตส่งไปอย่างนั้นแล้ว ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปจังหวัดสกลนคร ในระหว่างทางที่มุ่งหน้าไปเมืองสกลนครนั้น ได้ไปพบกับพระ ท่านว่าท่านมาจากสำนักองค์หลวงปู่เสาร์ จึงถามท่านว่า

มีพระอยู่กับองค์หลวงปู่มากไหมหนอ

ท่านก็บอก มีมากพอสมควร มีพระประมาณ ๒๐ กว่าองค์เห็นจะได้

ถามท่านว่า มีพระปฏิบัติอุปัฏฐากองค์ท่านไหมหนอ

ท่านก็บอกว่า มีพระอุปัฏฐากองค์ท่านอยู่ประจำ

องค์หลวงปู่บัวพานึกในใจว่า ถ้าเราได้ปฏิบัติอุปัฏฐากองค์ท่าน คงเป็นบุญของเราอย่างยิ่งแท้หนอ ที่จะหาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้เลย

จึงขอติดตามพระท่านไปสู่สำนักองค์หลวงปู่เสาร์ ท่านก็ยินดีให้ไปกับท่าน พระองค์นี้ท่านบอกว่า ท่านไปส่งเณรที่บ้านบักนาว นับเป็นโอกาสอันเป็นมงคลที่สูงสุดของชีวิต องค์หลวงปู่บัวพาดีใจมากจนบอกไม่ถูก


เข้ามอบกายถวายชีวิตเป็นศิษย์องค์หลวงปู่เสาร์

รูปภาพ
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล


เมื่อไปถึงเมืองสกลนครแล้ว ได้เข้ากราบนมัสการองค์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่วัดป่าสุทธาวาส มอบกายถวายชีวิตต่อองค์หลวงปู่เสาร์ ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขององค์ท่าน องค์ท่านก็เมตตารับไว้ แต่ตอนนั้นองค์หลวงปู่บัวพา ท่านยังเป็นพระมหานิกายอยู่ สุดแสนที่จะดีใจเมื่อได้ถวายตัวเป็นศิษย์องค์ท่านแล้ว ท่านให้ฝึกหัดปฏิบัติตัวให้ได้ให้ถูกต้องทุกๆ ประการเสียก่อนจึงจะนำไปญัตติใหม่ แต่องค์หลวงปู่บัวพาท่านพร้อมอยู่แล้วเมื่อสมัยอยู่กับพระอาจารย์กอง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากนักสำหรับองค์หลวงปู่บัวพา


ได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตใหม่ที่เมืองนครพนม

รูปภาพ
หลวงปู่จันทร์ เขมิโย


เมื่อใกล้จะเข้าพรรษา องค์หลวงปู่เสาร์ก็สั่งให้พระที่เตรียมพร้อมแล้วไปญัตติเป็นพระธรรมยุตใหม่ องค์ท่านให้ไปญัตติกับพระครูสารภาณมุนี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย - ท่านดำรงสมณศักดิ์สุดท้ายที่ พระเทพสิทธาจารย์ - หัวหอม) การอุปสมบทใหม่ครั้งนี้ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ณ พัทธสีมาวัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมืองนครพนม โดยมี พระครูสารภาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาพรมมา โชติโก เปรียญธรรม ๕ นักธรรมเอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลังจากได้ญัตติกรรมเป็นพระธรรมยุตแล้ว ได้เดินทางกลับมาวัดป่าสุทธาวาส เดินทางอยู่สองวัน ทั้งไปและกลับเป็นสี่วัน ซึ่งในสมัยนั้นต้องเดินทางด้วยเท้าเพราะทางคมนาคมยังไม่สะดวก มาอยู่วัดป่าสุทธาวาสกับหลวงปู่เสาร์ มอบกายถวายชีวิตเป็นศิษย์ขององค์ท่านตลอดไป

เมื่อได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตแล้ว ท่านดีใจจนตัวจะลอยเพราะได้เข้าใกล้รับใช้ครูบาอาจารย์ และได้ช่วยหมู่คณะอย่างเต็มที่ เพราะก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้ญัตตินั้นคือเป็นพระมหานิกายอยู่ ท่านให้นั่งสุดแถว คือเป็นองค์สุดท้ายของพระ และไม่ได้รับประเคนสิ่งของช่วยหมู่คณะ ก็ไม่มีโอกาสเข้ารับใช้ใกล้ชิดองค์หลวงปู่ แต่พอได้ญัตติแล้วได้ทำทุกๆ อย่างเหมือนพระองค์อื่นๆ


พรรษาแรกที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร

รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

รูปภาพ
อุโบสถ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
ซึ่งได้สร้างครอบสถานที่ประชุมเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
และเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ทางวัดป่าสุทธาวาสได้ทำพิธีบรรจุอัฐิธาตุ
ของหลวงปู่มั่นไว้ภายในอุโบสถหลังนี้


พอหน้าเข้าพรรษามาถึง พระเณรครูบาอาจารย์ จึงประชุมกันจัดเวรอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ เพราะจะได้เข้ารับใช้องค์หลวงปู่เสมอกันทุกๆ องค์ จัดเวรวันละสามองค์ คือพระสอง เณรหนึ่ง ให้เป็นผู้อุปัฏฐากองค์หลวงปู่ ส่วนองค์หลวงปู่บัวพานั้น ท่านตั้งใจจะอุปัฏฐากองค์หลวงปู่เสาร์ตลอดไปท่านจึงมาทำการอุปัฏฐากอยู่ทุกๆ วัน คือวันซึ่งเป็นเวรของตนก็มาทำเต็มที่ วันซึ่งไม่ใช่เวรของตน ก็มาทำช่วยเพื่อนไม่เคยขาด จนองค์หลวงปู่จำหน้าจำตาได้เป็นอย่างดี เป็นบางวันองค์หลวงปู่เสาร์จะถาม

“เจ้าชื่อหยัง (เจ้าชื่ออะไร) อยู่บ้านใดเมืองใด”

องค์หลวงปู่บัวพาก็กราบเรียนให้องค์หลวงปู่เสาร์ทราบด้วยความเคารพ จนบางวันองค์หลวงปู่เสาร์จะพูดว่า

“เฮามันคนอุบลฯ ทางเดียวกันนอ” (เราคนเมืองอุบลฯ บ้านเมืองเดียวกันนะ)

ท่านองค์หลวงปู่บัวพาท่านทำการอุปัฏฐากทั้งช่วยเพื่อน ทั้งเป็นเวรของตนเอง อย่างนั้นตลอดมา พอออกพรรษาปีนั้น องค์หลวงปู่เสาร์ได้ปรารภกับหมู่คณะว่า มีคนทางเมืองอุบลฯ เขามานิมนต์ให้ไปโปรดญาติโยมทางบ้านเก่าบ้าง แต่จะไปกันหมดก็ไม่งาม เราจะต้องแบ่งกันไปแบ่งกันอยู่ เพราะทางนี้ไม่มีพระเลยก็ไม่งาม เขาจะว่าพระกัมมัฏฐานเราได้ พระกัมมัฏฐานเมื่อตอนอยู่ก็แย่งกันอยู่ เมื่อตอนไปก็แย่งกันไป เขาจะว่าพระกัมมัฏฐานเราได้ มันไม่ดี

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 13:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่จิตสลดหดหู่ทั้งตื่นเต้นระทึกใจ

รูปภาพ
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และสานุศิษย์บรรพชิต
บันทึกภาพร่วมกัน ณ สำนักวัดป่าข่าโคม หรือวัดป่าหนองอ้อ
อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐
(หลวงปู่บัวพานั่งติดอยู่ซ้ายมือของหลวงปู่เสาร์แถวหน้า)


อยู่มาวันหนึ่งองค์หลวงปู่นัดประชุมเรื่องจะไปเมืองอุบลฯ พอก่อนจะเลิกประชุมองค์หลวงปู่จึงเลือกเอาพระเณรที่จะติดตามองค์ท่านไป

วันนั้นเป็นวันที่พระเณรทั้งใจชื่นบาน ทั้งใจซบเซา ผู้ที่ได้ติดตามองค์หลวงปู่ไปก็ใจชื่นบาน ผู้ที่ไม่ได้ไปก็จิตใจซบเซา มันเป็นธรรมดาอยู่เอง พูดถึงเรื่องอย่างนี้มีใครบ้างไหมที่จะไม่อยากติดตามไปกับพ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของหัวใจผู้เป็นลูกเป็นหลาน แต่ก็เป็นไปไมได้ที่จะไปกันทั้งหมด

องค์หลวงปู่ท่านเลือกเอาพระเณรว่า ท่านองค์นี้องค์หนึ่ง ท่านองค์นั้นองค์หนึ่ง ท่านไล่ไป องค์นั้นหนึ่ง องค์นี้หนึ่ง ส่วนองค์หลวงปู่บัวพาเป็นพระบวชใหม่ นั่งอยู่หลังๆ ท้ายสุดของหมู่คณะ ท่านก็อัดอั้นตันใจเป็นแรงกล้าเพราะเป็นพระบวชใหม่ ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ติดตามองค์หลวงปู่ไปหรือเปล่า ท่านก็นั่งก้มหน้านึกในใจอยู่ว่า

นับถูกเราไหมหนอ นับถูกเราไหมหนอ

นั่งภาวนาอยู่ในใจ ขอให้เราได้ติดตามไปกับองค์หลวงปู่ด้วยเถิด อยู่แบบใจหายใจคว่ำ พอท่านนับถึงองค์สุดท้าย ท่านก็ชี้มือมาทางองค์หลวงปู่บัวพานั่งอยู่ว่า

“เจ้าผู้หนึ่งไปนำข้อย เฮามันคนทางเดียวกัน บัดท่าเจ็บป่วยไข้พอได้เบิ่งกัน” (ท่านองค์หนึ่งไปกับเรา เราเป็นคนถิ่นเดียวกัน เมื่อเวลาเจ็บป่วยไข้ พอจะได้ดูแลกัน)

ท่านองค์หลวงปู่บัวพาดีใจจนน้ำตาไหลอาบแก้มจนหมู่พวกหันมามอง เราเป็นองค์สุดท้ายที่องค์หลวงปู่นับ องค์ท่านคงรู้ล่วงหน้า ท่านถึงได้พูดถึงการเจ็บไข้ไม่สบายพอได้ดูแลกัน ก็เป็นจริงดังองค์หลวงปู่พูดเอาไว้ทุกประการ

จากนั้นท่านก็สั่งให้ตระเตรียมบริขารให้พร้อม ใครยังไม่พร้อมก็ให้หาเอาให้พร้อม

พอถึงวันกำหนด องค์หลวงปู่ท่านก็พาออกเดินทางจากวัดป่าสุทธาวาสมุ่งหน้าสู่เมืองนครพนม พอไปถึงเมืองนครได้เข้าพักวัดอรัญญิกาวาส พักอยู่ระยะหนึ่งแล้วจึงเตรียมลงเรือไปพระธาตุพนม

วันนั้นพอลงเรือเตรียมจะออก ก็มีเหตุที่คาดคิดไม่ถึงอย่างสลดใจขึ้น


แรงบุญกรรมผลักดันให้ได้เป็นพระอุปัฏฐาก

คือพอเรือจะออกเท่านั้น ก็มีคนวัดวิ่งตามมา ได้ถวายจดหมายพระองค์อยู่ใกล้ พระได้นำจดหมายมาอ่านถวายให้องค์หลวงปู่ท่านฟัง ในใจความของจดหมายเขียนถึงพระที่อุปัฏฐากประจำองค์หลวงปู่ว่า

“ขณะนี้พ่อแม่อยู่ทางบ้าน ได้ป่วยหนักมาก ขอให้พระลูกกลับบ้านด่วน”

พระที่อุปัฏฐากองค์หลวงปู่อยู่ก่อนนั้น ท่านเป็นคนทางเมืองขอนแก่น ไม่รู้จะทำประการใดดี จึงกราบเรียนให้องค์หลวงปู่ช่วยเป็นผู้ตัดสินให้ว่าจะไปหรือกลับ องค์หลวงปู่พูดขึ้นแบบเย็น ว่า

“เออ! พ่อแม่ก็เป็นผู้มีพระคุณแก่เรา เมื่อถึงคราวเจ็บไข้ได้ป่วยก็คิดพึ่งลูก เราเป็นห่วงครูบาอาจารย์นั้นดีอยู่ แต่พ่อแม่ก็เป็นที่จะต้องดูแลเมื่อยามเป็นเช่นนี้”

พระองค์นั้นถึงกับร้องไห้น้ำตาไหลทะลักออกมา ห่วงพ่อแม่ก็ห่วง ห่วงองค์หลวงปู่ก็ห่วง เป็นเหตุต้องจำใจจาก ก้มหน้าลงกราบเท้าลาองค์หลวงปู่ไปแบบน้ำตานองหน้า แล้วคลานถอยออกพร้อมกับเสียงสะอื้น เล่นเอาหมู่คณะที่อยู่ในเหตุการณ์น้ำตาคลอไปตามกัน

“น่าสงสารพระองค์นั้นจริงๆ” องค์หลวงปู่ท่านว่า

แต่ก็เป็นโอกาสทองขององค์หลวงปู่บัวพาต้องเข้าทำหน้าที่อุปัฏฐากองค์หลวงปู่เสาร์แทนพระองค์นั้น เพราะเป็นผู้มีคุณสมบัติพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความขยัน ความอดทนและความอ่อนน้อมถ่อมตน กิริยามารยาท ความซื่อตรง สำคัญที่สุดคือความตั้งใจ จริงใจ เพราะองค์หลวงปู่ตัวพาได้ตั้งปณิธานความปรารถนาเอาไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้พบเห็นองค์หลวงปู่เสาร์เลย ว่าถ้าเราได้ไปอยู่กับองค์หลวงปู่ขอให้ได้เป็นพระรับใช้อุปัฏฐาก เมื่อเราได้อุปัฏฐากองค์ท่านแล้วเราจะอยู่อุปัฏฐากองค์ท่านจนกว่าชีวิตของเราหรือองค์ท่านจะหาไม่

องค์หลวงปู่บัวพาได้ตั้งใจไว้อย่างนี้จริงๆ ซึ่งเป็นไปตามความตั้งปณิธานความปรารถนาเอาไว้สมเจตนาก็ทุกประการ ที่เป็นไปได้อย่างนี้คงเป็นเพราะ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา เป็นผู้มีบุญที่ได้สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน ถึงได้จัดล็อกลงตัวอย่างคาดไม่ถึง

ล่องเรือมาตามลำน้ำโขงมาถึงพระธาตุพนม องค์หลวงปู่ก็พาขึ้นไปพักอยู่วัดเกาะแก้วอัมพวันประมาณเดือนเศษ วัดเกาะแก้วแห่งนี้เป็นวัดที่องค์หลวงปู่เสาร์ได้สร้างเอาไว้ตั้งแต่องค์หลวงปู่เสาร์เที่ยววิเวกอยู่แถวบริเวณพระธาตุพนมกับหลวงปู่มั่น

องค์หลวงปู่บัวพาเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยองค์หลวงปู่เสาร์กับองค์หลวงปู่มั่นเที่ยววิเวกอยู่แถวพระธาตุพนมนั้น พระธาตุพนมยังไม่มีใครไปบูรณะ รกรุงรังเต็มไปด้วยเครือไม้เถาวัลย์ปกคลุมเต็มไปหมด องค์หลวงปู่เสาร์เที่ยวธุดงค์มาเห็นเข้า จึงชักชวนศรัทธาญาติโยมช่วยกันแผ้วถางเครือไม้เถาวัลย์ออกจากองค์พระธาตุพนม ให้มีความสะอาดโล่งเตียนเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาท่านก็วิเวกขององค์ท่านไปเรื่อยๆ


ได้นั่งรถครั้งแรกในชีวิต

รูปภาพ
รูปหล่อพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น
ณ วัดเกาะแก้วอัมพวัน


พักอยู่วัดเกาะแก้วอัมพวันเดือนเศษ จากนั้นท่านก็พาขึ้นรถที่อำเภอธาตุพนมไปเมืองอุบลฯ ใช้เวลาสองวันค่อยถึงเมืองอุบลฯ พักค้างคืนที่อำเภออำนาจเจริญหนึ่งคืน เพราะถนนหนทางไม่ดี รถก็วิ่งได้ไม่เร็ว รถก็รถใช้ถ่าน

รถถ่านในที่นี้ ไม่ใช่รถบรรทุกถ่านนะ แต่เป็นรถใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง เหมือนรถไฟ สมัยก่อนรถไฟเขาใช้ฟืน จึงได้เรียกว่ารถไฟ รถถ่านก็เช่นเดียวกัน เขาใช้ถ่านแทนฟืน องค์หลวงปู่บัวพาเล่าว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้นั่งรถ รู้สึกตื่นเต้นมาก แต่เผลอไม่ได้ สะเก็ดไฟพอถ่านมันแตกเท่านั้นแหละ สะเก็ดไฟปลิวว่อน ไหม้เสื้อผ้าผู้คนโดยสาร ต้องคอยดูแลระวังเอา กลัวไฟจะไหม้ผ้า


พรรษาที่ ๒-๓ ที่บ้านข่าโคม บ้านเกิดขององค์หลวงปู่เสาร์

พอเข้าถึงเมืองอุบลฯ เข้าพักวัดบูรพา องค์หลวงปู่เสาได้พักโปรดญาติโยมเมืองอุบลอยู่ระยะหนึ่ง องค์หลวงปู่ก็พาเดินทางไปบ้านข่าโคม ซึ่งเป็นบ้านเกิดขององค์หลวงปู่ท่าน

พอไปถึงบ้านเดิมขององค์ท่านแล้ว องค์ท่านก็ปรารภว่าจะไปพักที่หอปู่ตา ใกล้ป่าหนองอ้อ ญาติโยมชาวบ้าน ลูกหลานจึงได้ช่วยกันจัดแจงเสนาสนะป่าหนองอ้อขึ้นถวายให้ได้ครบพระเณรที่ติดตามองค์หลวงปู่ไปทั้งหมด หอปู่ตา ป่าหนองอ้อ จึงกลายเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าข่าโคมขึ้นมา

ได้อยู่จำพรรษาที่สำนักวัดป่าข่าโคมแห่งนี้สองพรรษาเพื่อโปรดญาติโยมขององค์ท่าน ณ สำนักวัดป่าข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ณ หนองอ้อแห่งนี้เอง องค์หลวงปู่บัวพาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งขณะนั่งเฝ้ารับใช้องค์หลวงปู่เสาร์อยู่ เห็นองค์ท่านหัวเราะหึๆ ขึ้น หลวงปู่บัวพาจึงกราบเรียนถามท่านว่า

“องค์ท่านมีอีหยังนอ ข้าน้อย” (องค์ท่านมีอะไรไม่ทราบหนอ)

หลวงปู่หัวเราะ แล้วจึงเล่าให้ฟังว่า

หนองนี้แหละในชีวิตของเรา เคยทำบาปใหญ่ครั้งหนึ่ง สมัยเราเป็นหนุ่ม ฝนมันตก ปลามันขึ้นจากหนองนี้ มีแต่ตัวใหญ่ๆ ใครๆ เขาไม่กล้ามาเอา เขากลัว เพราะผีมันดุ ตาปู่มันร้าย ใครมาทำอะไรในเขตของเขาเป็นอันไม่ได้ คนเขาถึงกลัว เรากับพ่อเป็นคนไม่กลัว ได้พร้าอีโต้คนละเล่ม ตะข้องคนละใบ ฝนตกตอนกลางคืนเรามาสองคนกับพ่อ เราก็ฟัน พ่อก็ฟัน ฟันเอา ฟันเอา จนเต็มข้องไผข้องมัน (เต็มข้องของแต่ละคน)

หลวงปู่บัวพาเลยกราบเรียนองค์ท่านว่า

“ทอนี้” (เท่านี้) หรือ องค์หลวงปู่ บาปใหญ่ที่สุดในชีวิต คนอื่นเขาทำจนนับไม่ถ้วน และไม่รู้ว่าเขาได้ทำบาปอะไรไว้บ้าง แล้วพวกเขาเหล่านั้น จะเป็นบาปขนาดไหน

ณ สำนักวัดป่าข่าโคมนี่เอง เมื่อออกพรรษาปีนั้น ได้มีผ้าป่าทางชาววังจัดมาทอดถวายพระป่าเป็นครั้งแรก มีเจ้าจอมทับทิมนำคณะมาทอดถวายผ้าป่า ๗๐ กอง

พระคณะศิษย์ขององค์หลวงปู่เสาร์ที่ได้ติดตามไปเพื่อศึกษาฟังธรรม กับองค์หลวงปู่ ที่แยกย้ายกันไปอยู่จำพรรษาในบริเวณใกล้ๆ แถวนั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว ต่างองค์ต่างมารวมกันที่วัดป่าข่าโคม อยู่กับองค์หลวงปู่เสาร์ เพื่อเตรียมต้อนรับผ้าป่าทางพระราชวัง พระเณรปักกลดอยู่ตามร่มไม้ในป่าหอปู่ตาหนองอ้อเต็มไปหมด ดูแล้วเป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากจริงๆ

คณะทางราชวังได้มาเห็นบรรยากาศที่พระเณรปักกลดพักอยู่ตามร่มไม้ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อน จนพากันน้ำตาร่วงน้ำตาไหล เพราะบรรยากาศที่เห็นนั้น เป็นภาพที่ประทับใจของคนชาวกรุงมากทีเดียว

ต่อมาองค์หลวงปู่พาวิเวกไปทางอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้ไปพบสถานที่สงบสงัดซึ่งเป็นที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญภาวนา เป็นดอนกลางแม่น้ำมูลเป็นป่ายาง มีทั้งต้นไม้ใหญ่ ต้นปานกลาง และต้นน้อย ทั้งต้นสูงต้นต่ำ อากาศก็เย็นสบายดี มีน้ำล้อมรอบ มีเนื้อที่ร้อยกว่าไร่ องค์หลวงปู่จึงนำหมู่คณะเข้าไปพักบำเพ็ญภาวนา

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 14:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


พรรษาที่ ๔-๗ ที่วัดดอนธาตุ

รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดดอนธาตุ ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
(วัดเกาะแก้วพระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา)


รูปภาพ
เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ณ วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี


รูปภาพ
รูปหล่อเหมือนและรูปภาพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารฯ วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี


เมื่อชาวบ้านเขาเห็นก็เกิดศรัทธา จึงช่วยกันสร้างที่พักถวายจนกลายเป็นวัดขึ้นมา ให้ชื่อว่า วัดดอนธาตุ ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายขององค์หลวงปู่เสาร์ มีบ้านทรายมูลเป็นบ้านอุปถัมภ์

ในสมัยนั้นเป็นที่วัดดอนธาตุนี้เอง มีรังผึ้งใหญ่เจ้ากรรมขององค์หลวงปู่อยู่ที่ต้นยางใหญ่ ใกล้ ๆ กุฏิขององค์ท่าน วันหนึ่งองค์หลวงปู่ท่านนั่งอยู่ตามสบาย ตามอัธยาศัยอยู่บนแคร่ข้างกุฏิขององค์ท่าน ได้มีเหยี่ยวตัวหนึ่งไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรของมัน บินมาโฉบเอารังผึ้งขาดตกลงมาเสียงดัง ฮึ่ม! แม่ผึ้งแตกกระจายบินว่อน ไอ้ผึ้งมันคงโมโหว่าใครทำมัน พากันบินหาผู้ที่ทำร้ายเขา พอมาเจอองค์หลวงปู่ คงนึกว่าเป็นคนทำเขา ก็พากันเข้าตะลุมบอนทั้งกัดทั้งต่อยองค์หลวงปู่อย่างเต็มที่ เพราะผึ้งทั้งรัง องค์หลวงปู่รีบลุกขึ้นเข้าไปในกุฏิ พระมาช่วยเอาองค์หลวงปู่เข้าในมุ้งกลด แล้วนั่งล้อมรอบองค์หลวงปู่อยู่

องค์หลวงปู่บัวพาเล่าเรื่องไปหลี่ผีสี่พันดอนให้ฟังว่า มันเป็นสี่พันดอนจริงๆ มันเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ทั้งเกาะใหญ่ๆ มากมายหลายพันเกาะ สมที่เรียกกันว่าสี่พันดอนจริงๆ เมืองโขงเป็นดินแดนของประเทศลาว เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในจำนวนเกาะ เรียกกันว่าสี่พันดอน คือสี่พันเกาะนั่นเอง เกาะโขงหรือเมืองโขงมีหมู่บ้านสิบกว่าหมู่บ้าน ต้องนั่งเรือเข้าไป

เมืองโขงเป็นบ้านเมืองที่สงบที่สุดไม่มีแสง เสียง สีอะไรให้รำคาญหูรำคาญตา เราขึ้นไปนึกว่าไม่ใช่เกาะ เพราะเป็นเกาะใหญ่ นึกว่าเป็นแผ่นดินใหญ่เหมือนบ้านเราธรรมดา มีป่า มีดงมีเขา มีทุ่งนา แต่จะออกจะเข้าต้องนั่งเรือออกเรือเข้า ก็นับว่าเป็นบ้านเมืองที่น่าอยู่สำหรับผู้รักความสงบ

หลี่ผีเป็นน้ำตกที่สวยงามและใหญ่มาก จัดเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียก็ว่าได้ จากหลี่ผีลงไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตรจะเป็นทะเลสาบ เขตติดต่อสามประเทศระหว่าง ลาว เขมร และเวียดนาม ทะเลสาบแห่งนี้เป็นที่เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดก่อนจะขยายพันธุ์ไปสู่แม่น้ำต่างๆ

รูปภาพ
กุฏิพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี

รูปภาพ
ทางเดินจงกรมของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ณ วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี


รูปภาพ
ที่นั่งวิปัสสนากรรมฐานของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ณ วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี


ความเป็นมาของคำว่า “หลีผี”

แม่น้ำโขงที่ไหลทอดยาวมาไกลสุดสาย จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ไหลลงผ่านเข้ามาประเทศลาวและไทย ไหลไปจนสุดแดนลาวระหว่างอำเภอโขงเจียม ประเทศไทย แม่น้ำโขงยังไหลวกเข้าไปในแผ่นดินลาว ไหลยาวลงไปจนถึงเขตแดนระหว่างลาวกับเขมร แล้วเบนวกไหลเข้าไปเกือบถึงเมืองญวนสุดสายกลายเป็นทะเลสาบระหว่าง ๓ ประเทศ คือ ลาว เขมร และญวน

ก่อนที่น้ำโขงจะไหลตกถึงทะเลสาบประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะเป็นภูเขาหินขวางกั้นน้ำโขงเอาไว้ เหมือนกับคันเขื่อน จึงทำให้น้ำโขงทางภาคใต้ไม่ลดระดับลงมาก น้ำโขงจะเต็มฝั่งอยู่ตลอดปีทำให้มีความอุดมสมบูรณ์มีความเป็นธรรมชาติ ทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารมีอยู่ตลอดปี แม้หน้าฝนน้ำในแม่น้ำโขงจะท่วมจะมากขนาดไหน แต่ทางภาคใต้แม่น้ำโขงก็ไม่เคยท่วม ส่วนมากน้ำจะทรงตัว หน้าแล้งน้ำโขงก็ไม่ลดมากนัก ยังเต็มฝั่งอยู่ หน้าฝนน้ำก็ไม่ท่วมมากยังทรงอยู่ในระดับฝั่ง คือน้ำขึ้นก็ไม่ขึ้นมากเกินไป น้ำลดก็ไม่ลดมากเกินไป เพราะอาศัยภูเขาหินแห่งนี้เป็นเหมือนคันเขื่อนกั้นน้ำโขงเอาไว้ ดูแล้วเหมือนกับฝายน้ำล้น แต่ก็ล้นเป็นแบบธรรมชาติ ซึ่งมีน้ำล้นตลอดปีธรรมชาติได้สร้างภูเขาหินลูกนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยยกระดับน้ำในแม่น้ำโขงเอาไว้อย่างน่าอัศจรรย์

ตรงที่น้ำโขงไหลล้นภูเขาหินลงไปนั้น ทำให้เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ตกอยู่หลายแห่ง ที่เรียกว่า “หลี่ผี” นี้ก็เป็นน้ำโขงไหลล้นภูเขาหินอีกแห่งหนึ่ง ที่เขาเรียกอย่างนั้นเพราะว่าน้ำตกแห่งนี้ เมื่อน้ำตกลงไปแล้วต่อจากน้ำตกลงไปจะเป็นคลองหินธรรมชาติแคบๆ ไม่ใหญ่นัก และสิ่งของที่เป็นต้นไม้ ท่อนซุง ซากศพทั้งคนและสัตว์ที่ไหลตกลงไปกับน้ำ ยิ่งหน้าฝนแล้ว ถ้าใครเคยอยู่ใกล้ๆ แม่น้ำโขงจะรู้เองว่ามันเป็นอย่างไร ทั้งไม้ทั้งท่อนซุง ทั้งซากศพคนและสัตว์ ยิ่งไม้ที่ไหลมาเป็นต้นๆ ทั้งโคนทั้งราก ไหลมาเต็มไปหมด สมัยเดินเรือจากฝั่งไทยไปฝั่งลาวหรือไปๆ มาๆ ทั้งสองฟากฝั่ง เมื่อหน้าฝนจะลำบากและอันตรายมาก เพราะต้นไม้ท่อนซุงสารพัดที่ไหลมากับน้ำมากมาย จนต้องเดินเรืออย่างระมัดระวัง และคนที่อยู่หัวเรือก็คอยระมัดระวังผลักไม้ผลักเรือออกช่วยกัน

พอไหลไปตกที่น้ำตกแห่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตกลงไปหายเงียบ ไม่มีสิ่งใดปรากฏโผล่ลอยขึ้นมาให้เห็นอีกเลย คนทั้งหลายจึงถือเอาความเงียบหายของทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับการตายจากกันไป จึงพากันเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า "หลี่ผี" คือเมื่อมีอะไรตกลงไปแล้ว จะไม่มีโอกาสเห็นสิ่งนั้นอีกเลย

แต่พอเลยหลี่ผีไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ จุดนี้แหละทำให้ปลาในแม่น้ำต่างๆ ที่ไหลมารวมกับแม่น้ำโขง จึงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ปลาเกือบทุกชนิด เพราะทะเลสาบนั้นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาอย่างดีเยี่ยม แต่ก็มีปลาบางพันธุ์บางชนิดที่ไม่ยอมขึ้นมาแม่น้ำโขงตอนบนเหนือหลี่ผีขึ้นมา เพราะไม่ปรากฏว่าได้มีใครจับปลาชนิดนี้ได้

ในแม่น้ำโขง จะเห็นปลาชนิดนี้มีอยู่ทางตอนใต้หลี่ผีลงไปเท่านั้น ที่เล่ามานี้ผู้เขียนได้ไปสัมผัสมาด้วยตนเอง ทั้งได้รับฟังการเล่าจากองค์หลวงปู่และการบอกเล่าของผู้คนชาวบ้านในแถบนั้น เป็นอันว่า คำว่า “หลี่ผี” จึงเป็นที่มาของความเงียบหายของทุกสิ่งทุกอย่าง คืออะไรตกลงไปแล้วไม่มีโอกาสผุดโผล่ขึ้นมาให้เห็นอีกเลย จึงได้ชื่อเล่าลือกันว่า “หลี่ผี”


องค์หลวงปู่ใหญ่เสาร์ล้มป่วยอีกครั้ง

ธุดงค์ขากลับมา องค์หลวงปู่ใหญ่ท่านล้มป่วยอีกครั้ง แต่ครั้งนี้อาการหนักมากจนองค์หลวงปู่บอกให้รีบพากลับ องค์ท่านอาพาธหนักมาก จนไม่พูดไม่จา อาการเห็นท่าจะไม่ไหว จึงติดต่อขอเรือประทุนนำส่งองค์หลวงปู่กลับนครจำปาศักดิ์

การเดินเรือมานั้น ต้องเอาเรือเล็กผูกพ่วงมากับเรือใหญ่ให้องค์หลวงปู่นอนมาในเรือเล็ก เพราะเรือใหญ่สั่นสะเทือนมาก ให้พระเณรนั่งเรือใหญ่มา มีพระอุปัฏฐากองค์สององค์นั่งมาในเรือเล็กกับองค์หลวงปู่เท่านั้น

เมื่อถึงเวลาฉัน หลวงปู่บัวพาเอาข้าวต้มเข้าไปถวาย องค์หลวงปู่ไม่ยอมฉัน หลวงปู่บัวพาเอาช้อนตักข้าวต้มจ่อที่ปากองค์หลวงปู่เสาร์ กราบวิงวอนให้องค์หลวงปู่ฉัน จนองค์ท่านทนต่อการอ้อนวอนไม่ไหว องค์ท่านจึงอ้าปาก แล้วงับเอาช้อนทั้งข้าวต้มไว้ไม่ยอมปล่อย อยู่สักพักหนึ่งองค์หลวงปู่จึงคลายออกมาทั้งช้อนทั้งข้าวต้ม

หลวงปู่บัวพาจึงแน่ใจว่าองค์หลวงปู่ไม่ยอมรับอะไรอีกแล้ว จึงเก็บข้าวต้มและช้อน แล้วนั่งเฝ้าดูแลองค์หลวงปู่อยู่ ไม่อ้อนวอนองค์ท่านอีก

ตามที่องค์หลวงปู่บัวพาเล่า ท่านสังเกตมาในเรือนั้น องค์หลวงปู่ผุดลุกผุดนั่ง พอนั่งไปหน่อยก็นอนลง พอนอนลงอยู่สักพักก็ลุกขึ้นนั่งอีก ทำอยู่อย่างนี้ตลอดทาง

พอถึงนครจำปาศักดิ์เรือเข้าเทียบฝั่ง ท่าจอดเรืออยู่เหนือท่าวัดอำมาตย์ จึงล่องเรือเล็กมาขึ้นท่าวัด ในช่วงล่องเรือเล็กลงมาท่าวัดอำมาตย์นี้ พระเณรที่ติดตามจะต้องเดินไปตามทางไปช่วยรับองค์หลวงปู่ขึ้นจากเรือ จะมีแต่พระอุปัฏฐากติดมากับเรือเล็ก พอมาถึงท่าวัดก็เอาเปลมารอรับแล้วหามองค์หลวงปู่ขึ้นด้วยเปลเข้าวัดอำมาตย์

หมู่เพื่อนถามว่าจะเอาองค์หลวงปู่ไปพักที่ไหนดี องค์หลวงปู่บัวพาบอกหมู่ว่า เอาองค์ท่านไปพักที่โบสถ์ เพราะองค์ท่านเคยนอนพักที่นั่น พอเอาองค์หลวงปู่เข้าไปในโบสถ์เรียบร้อยแล้ว องค์หลวงปู่บัวพาก็คลานเข้าไปกราบเรียนใกล้ๆ หูองค์ท่านว่า

“พ่อแม่ครูอาจารย์ ถึงแล้ว ถึงวัดอำมาตย์แล้ว นี่ภายในโบสถ์ที่พ่อแม่ครูจารย์เคยนอนพัก”

องค์หลวงปู่เสาร์พอได้รู้ว่ามาอยู่ในโบสถ์แล้ว องค์ท่านก็ลุกนั่งเองเลย หันหน้าไปทางพระพุทธรูปแล้วน้อมหัวลงสามครั้ง เพราะกราบไม่ได้ แล้วองค์ท่านก็หันหน้าเอียงออกทางขวามือ ไม่ให้ตรงหน้าพระพุทธรูป นั่งราบเรียบไม่ได้นั่งสมาธิ เอามือทั้งสองประคองตัวไว้ ไม่ให้เอียงซ้ายเอียงขวาอยู่นาน จนพระที่นั่งเฝ้า มีพระอาจารย์ดี ฉันโน หลวงปู่บัวพา และหมู่คณะหลายๆ องค์ ชวนกันเอาองค์ท่านนอนลงเพราะกลัวองค์ท่านเหนื่อย

พระสามองค์โอบกอดจะเอาองค์ท่านนอนลง ตัวองค์ท่านแข็งเกร็งไว้ไม่ยอมลง จึงพากันคิดได้ว่าหรือองค์ท่านจะเอาทางนั่งกระมัง จึงพากันถอยออก นั่งเฝ้าดูอยู่ล้อมรอบ มีท่านอาจารย์ดี ฉันโนเป็นผู้ผิวน้ำไปตามตัวองค์หลวงปู่ การเป่าผิวน้ำเพื่อให้เย็นนี้ องค์หลวงปู่บัวพาท่านเล่าว่า ท่านอาจารย์ดีเป่าได้ดีจริงๆ จนเหมือนปุยหมอกของน้ำค้างเมื่อฤดูหนาว เป็นปุยเล็กๆ จนเป็นควัน ท่านอาจารย์ดีเป่าเก่งจริงๆ

พอสักครู่หนึ่งไหล่ขององค์ท่านกระตุกสามครั้งแล้วเงียบสงบไป ต่างองค์ต่างก็สังเกตดูอยู่อย่างใกล้ชิดและใจจดใจจ่อ ไม่มีแม้แต่เสียงจามและเสียงไอ องค์หลวงปู่บัวพาเอานิ้วมือไปจ่อที่ใกล้จมูกดู ก็ไม่ปรากฏลมเข้าลมออก จึงบอกหมู่คณะว่าไม่ปรากฏมีลมเข้าลมออกเลย องค์นี้ก็เอามือมาจ่อดู องค์นั้นก็เอามือมาจ่อดู จึงได้แน่ใจว่าองค์หลวงปู่ใหญ่เสาร์ถึงแก่มรณภาพเสียแล้ว จึงพากันเอาองค์ท่านนอนลง แล้วหามเอาองค์ท่านออกไปทางหลังโบสถ์ อาบน้ำศพผลัดเปลี่ยนผ้าให้องค์ท่านเรียบร้อยแล้วก็เอาองค์ท่านเข้ามาไว้ในโบสถ์ตามเดิม

ข่าวการมรณภาพขององค์หลวงปู่เสาร์ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว องค์หลวงปู่บัวพาน้อมระลึกย้อนกลับไปตอนเอาองค์หลวงปู่มาในเรือ การที่องค์หลวงปู่เดี๋ยวลุกนั่ง เดี๋ยวนอนลงมาตลอดทางนั้น เป็นเพราะองค์ท่านคงตั้งใจเตรียมมรณภาพท่านั่ง ท่านดูอาการว่าใจจะขาด องค์ท่านก็ลุกขึ้นนั่ง แต่พอใจยังไม่ขาด องค์ท่านจึงนอนลงอีก เราจึงหายสงสัยในเรื่องนี้


ทำหน้าที่อุปัฏฐากดุจเงาตามตัว

รูปภาพ
อัฐิธาตุพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
ณ สำนักวัดป่าข่าโคม หรือวัดป่าหนองอ้อ


นับตั้งแต่องค์หลวงปู่บัวพา ได้เข้ามามอบกายถวายชีวิตตัวเป็นศิษย์ติดตามปฏิบัติอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ใหญ่เสาร์ มาเป็นเวลาหกปีนี้ นับว่าเป็นช่วงที่องค์หลวงปู่เสาร์อยู่ในวัยชรามากแล้ว ท่านจึงได้ติดตามปฏิบัติอุปัฏฐากอยู่อย่างใกล้ชิด จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตขององค์หลวงปู่ใหญ่เสาร์

การปฏิบัติอุปัฏฐากองค์หลวงปู่นั้น องค์หลวงปู่บัวพาได้เคยเล่าให้ฟังว่า ได้อยู่เฝ้าดูแลรับใช้อยู่ทั้งวันทั้งคืนดุจดังเงาตามตัวเลยก็ว่าได้ จนพระครูบาบางองค์จะเรียกท่านว่าพระอานนท์ เพราะทำหน้าที่อุปัฏฐากอยู่กับองค์หลวงปู่ตลอด

การอยู่เฝ้าปฏิบัติอุปัฏฐากนั้นทำทุกอย่าง การอยู่กับองค์หลวงปู่เสาร์นั้นไม่เคยเหน็ดเหนื่อยท้อถอย ความขี้เกียจขี้คร้าน ความง่วงเหงาหาวนอนหดหู่รำคาญก็ไม่มีเลย นี่มันเป็นเรื่องแปลก มีแต่เกิดปีติเยือกเย็นใจ สุขใจอยากอยู่ใกล้เข้ารับใช้อยู่ตลอดเวลา เช่นตอนกลางวันคอยดูแลเฝ้ารับใช้อยู่จนกว่าองค์หลวงปู่ท่านเข้าพักผ่อน เราค่อยไปทำกิจส่วนตัว พอตกตอนบ่ายก็ทำข้อวัตรส่วนรวม แล้วไปสรงน้ำองค์หลวงปู่ จากสรงน้ำองค์ท่านแล้ว ตอนเย็นก็ถวายนวดเส้นองค์ท่านจนกว่าองค์ท่านบอกให้กลับกุฏิ หรือบางวันถวายนวดองค์ท่านจนหลับ

มีอยู่บ้างบางวันขณะที่นวดเส้นอยู่จนดึก องค์ท่านหลับ เราก็เผลอหลับ พอองค์ท่านตื่นเรารู้สึกตัวก็นวดต่อ แล้วองค์ท่านบอกให้กลับ เราก็ค่อยมาทำกิจส่วนตัวอีก ตกดึกเรานอนรู้สักตัวตื่นขึ้นไม่รู้ว่ากี่ทุ่มกี่ยาม กี่โมงก็ไม่รู้ พอตื่นรู้สึกตัวปุ๊บ เราก็สะดุ้งรีบลุกขึ้นหอบเอาผ้าครองรีบไปกุฏิองค์หลวงปู่ ไม่รู้ว่ากี่ทุ่มกี่ยามเพราะไม่มีนาฬิกา เมื่อพักผ่อนตื่นขึ้นก็มา เมื่อมาถึงกุฏิขององค์ท่านก็ค่อยๆ ย่องๆ เข้าไปใกล้กุฏิเพื่อฟังรหัสเสียงว่ามีเสียงอะไรบ้าง องค์หลวงปู่ตื่นหรือยัง ถ้ายังเงียบอยู่ เราก็ถอยๆ ออกไปเดินจงกรมอยู่ข้างๆ กุฏิขององค์ท่าน คอยฟังเสียงว่าท่านตื่นหรือยัง ถ้าได้ยินเสียงว่าองค์หลวงปู่ตื่น ก็รีบเข้าไปถวายน้ำล้างหน้า ยาสีฟัน ผ้าเช็ดหน้าแล้วก็เก็บสิ่งของ เก็บที่นอน ปัดกวาดกุฏิ ส่วนองค์หลวงปู่ท่านก็ลงเดินจงกรม เราก็มาทำธุระส่วนตัว แล้วเข้าไปคอยรับใช้

ส่วนข้อวัตร เช่นทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นนั้น การลงทำวัตรสวดมนต์รวม องค์หลวงปู่บัวพาไม่ได้มาทำวัตรร่วมกับหมู่คณะ เพราะเข้ารับใช้องค์หลวงปู่อยู่อย่างใกล้ชิด ตอนเย็นต้องถวายนวดเส้นให้องค์ท่านทุกๆ วัน องค์หลวงปู่ท่านไม่ค่อยพูด เราก็ไม่พูด นวดไปภาวนาไป องค์ท่านภาวนาไป เราก็นวดไปภาวนาไป บางวันจิตขององค์หลวงปู่จะสงบ องค์ท่านก็จะบอกให้ถอยออก พอเราถอยออก หลวงปู่ก็ลุกขึ้นนั่งภาวนา บางครั้งพอเราถอยออกองค์ท่านก็นอนนิ่งๆ สงบอยู่เราก็ถอยออกมานั่งของเราเช่นกัน

วันหนึ่งขณะที่นวดเส้นให้องค์หลวงปู่อยู่นั้น องค์ท่านได้บอกให้ถอยออกๆ เมื่อเราถอยออกองค์หลวงปู่ก็ลุกขึ้นมานั่งภาวนา เราก็ถอยออกมานั่งภาวนาเหมือนกัน เรานั่งหันหน้าไปทางองค์ท่าน จิตขององค์หลวงปู่สงบ จิตเราก็สงบลง ปรากฏแสงสว่างเห็นองค์หลวงปู่เสาร์เป็นภูเขาหินแท่งทึบทั้งแท่ง ตั้งตระหง่านอยู่เฉพาะหน้า สูงตระหง่านตรงกลางเป็นช่องเป็นรูทะลุขึ้นไปเป็นปล่อง บนยอดเขาปรากฏเห็นองค์หลวงปู่เสาร์ขึ้นไปตามช่อง ผุดขึ้นมาจากช่องนั้น มายืนอยู่บนภูเขาหิน อยู่บนยอด ที่ผุดขึ้นมา ในมือถือคบเพลิงแกว่งรอบตัวอยู่บนยอดภูเขาหินนั้นจนเกิดแสงสว่างไสวไปหมด องค์ท่านแกว่งเร็วเท่าไร ก็ยิ่งสว่างจ้าขึ้นโดยลำดับ พอเราเห็นดังนั้น เราก็กำหนดจิตบอกให้องค์หลวงปู่วางคบเพลิงนั้นเสีย กำหนดจิตว่า

“วางแหม้หลวงปู่ (วางเถอะหลวงปู่) วางคบเพลิงแหม้หลวงปู่ หลวงปู่ วางแหม้” (วางคบเพลิงเถิดนะหลวงปู่ หลวงปู่วางเถอะ)

พออยู่สักพักใหญ่ๆ หลวงปู่ก็วางทิ้งคบเพลิงนั้นลงหน้าผา องค์ท่านก็หายปั๊บเข้าไปในช่องหินนั้น จิตเราก็ถอนออกมาพอดี

การนวดเส้นถวายองค์หลวงปู่นั้นภาวนาอยู่ตลอด เราก็ต้องภาวนาไปด้วยเพราะองค์หลวงปู่ท่านไม่พูดอะไร เราก็เป็นคนไม่ชอบพูดอยู่แล้ว เราทำหน้าที่อุปัฏฐากอยู่อย่างนี้ตลอดมา จนถึงวาระสุดท้ายชีวิตขององค์หลวงปู่ ไม่ขาด และไม่ย่อท้อเบื่อหน่ายเลย มีแต่อยากจะทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ในช่วงองค์หลวงปู่มรณภาพใหม่ๆ นั้น เราก็เกิดเจ็บหน้าอกขึ้นมา โดยไม่รู้ว่าด้วยสาเหตุอันใดจนหมู่พวกพากันพูดว่า

“คราวนี้แหละท่านบัวพาอกจะแตกตายไปตามองค์หลวงปู่ เหมือนม้ากัณฐกะอกแตกตายเพราะอาลัยในพระพุทธเจ้า”


ศรัทธาชาวจำปาศักดิ์ ขอบำเพ็ญศพองค์หลวงปู่

เมื่อข่าวการมรณภาพขององค์หลวงปู่เสาร์ จากปากต่อปากกระจายกันไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ศรัทธาชาวนครจำปาศักดิ์ ทั้งพระทั้งฆราวาสทั้งทางบ้านเมือง ได้ขอบำเพ็ญกุศลศพอยู่สองคืนก่อน เพื่อบูชาพระคุณขององค์หลวงปู่ จึงได้ชะลอการอัญเชิญศพมาเมืองอุบลราชธานี สามวันสองคืนที่ศรัทธาชาวนครจำปาศักดิ์ได้หลั่งไหลมาบำเพ็ญกุศลศพเป็นการบูชาพระคุณองค์หลวงปู่อย่างหน้าเต็มไปด้วยใบบุญจริงๆ พอวันที่สาม ศรัทธาชาวเมืองอุบลฯ ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ญาติโยม ทางราชการจึงได้อัญเชิญศพองค์หลวงปู่ ไปสู่วัดบูรพาเมืองอุบลฯ ซึ่งเป็นวัดที่องค์หลวงปู่ได้เคยอยู่มาก่อน

รูปภาพ

รูปภาพ

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 15:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


ตั้งศพองค์หลวงปู่เพื่อบำเพ็ญที่วัดบูรพา

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม


แล้วตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่จนออกพรรษา จึงได้จัดพิธีถวายเพลิงศพขององค์หลวงปู่ ปีที่องค์หลวงปู่เสาร์มรณภาพนั้น ตรงกับวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย (๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕) เมื่อออกพรรษาแล้วค่อยได้ถวายเพลิงศพ ในงานถวายเพลิงศพนี้มีพระครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ มากันมากมาย มีองค์หลวงปู่มั่นมาเป็นประธานในงาน แต่ผู้ดำเนินงานคือ ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

ในวันถวายเพลิงศพองค์หลวงปู่เสาร์นั้น พุทธศาสนิกชนชาวเมืองอุบลราชธานี ได้จัดงานฌาปนกิจศพพระเถระผู้ใหญ่ อยู่ในเมืองอุบลถึง ๔ รูปด้วยกัน คือท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก รองเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี และพระมหารัฐ พระอุปัชฌาย์พร้อมกันที่วัดสีทอง (วัดศรีเมืองในปัจจุบัน) พระครูวิโรจน์รัตโนบล ที่วัดทุ่งศรีเมือง และองค์หลวงปู่เสาร์ที่วัดบูรพา นับว่าเป็นการสูญเสียอันใหญ่หลวงของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองอุบลราชธานี และของทั่วทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ในครั้งนั้น ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเลย


กลับคืนสู่วัดดอนธาตุ แต่ขาดพ่อแม่

ในพรรษาที่ตั้งศพอยู่วัดบูรพา องค์หลวงปู่บัวพาได้แบกเอาความว้าเหว่ที่ไร้ร่มโพธิ์ร่มไทรที่ให้ร่มเงาเฝ้าอยู่เป็นสุข ทุกข์ก็ดับเย็น กลับเป็นเหมือน

ฝูงนกไม่มีป่า เหมือนฝูงปลาไม่มีหนอง ห้วยคลองไม่มีแม้แต่น้ำ ได้กลับมาดูวัด ปฏิบัติตามคำสั่งเสียขององค์หลวงปู่ กลับมาสู้กับความเศร้าโศก

วัดดอนธาตุเมื่อขาดองค์หลวงปู่ น้ำมูลดูเหมือนขุ่นมัว แต่ก่อนเคยนั่งเฝ้ารับใช้องค์หลวงปู่เจ้าทุกค่ำเช้าเราสุขนักหนา เดี๋ยวนี้เมื่อเราเข้ามานั่งเฝ้าแลดูแต่กุฏิพ่อแม่ผู้มีพระคุณ ยามเช้าก็ไม่ได้อาจาริยวัตร ยามกลางคืนเงียบสงัดก็ไม่ได้ปฏิบัติบีบนวดถวาย ญาติโยมก็เศร้า พระเณรก็เงียบเหงา นั่งดูร่องรอยที่อยู่เก่าๆ ของหลวงปู่เจ้าฝากไว้ สู้ทนกัดฟันแข็งใจพาหมู่อยู่ไป สักวันคงได้พึ่งตนจนได้ ไม่สายเกินรอ

อยู่จำพรรษาวัดดอนธาตุปีนี้ไม่มีพ่อแม่ครูอาจารย์ องค์หลวงปู่บัวพาท่านได้พาพระเณรอยู่รักษาศรัทธาญาติโยม เพื่อเขาเหล่านั้นไม่ซบเซาเหงาโศกจนเกินไป เพื่อเป็นกำลังใจของชาววัดและชาวบ้าน พรรษานั้นองค์หลวงปู่บัวพาต้องรับภาระดูแลหมู่เพื่อน ทั้งการอบรม ทั้งการสวดพระปาฏิโมกข์

แรกๆ องค์หลวงปู่บัวพามีความหนักใจในเรื่องสวดพระปาฏิโมกข์ เพราะองค์ท่านท่องพระปาฏิโมกข์ยังไม่จบเลย เพราะไม่ค่อยมีเวลาท่องเอาเสียเลย ท่านจึงตั้งอธิษฐานจิตด้วยความจริงใจว่า ถ้าเราสวดพระปาฏิโมกข์ไม่จบภายในพรรษา เราจะสึก จะไม่ขออยู่อีกต่อไป

พอองค์ท่านอธิษฐานจิตดังนั้นแล้ว องค์ท่านก็ตั้งใจท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้เพราะองค์ท่านไม่อยากสึก ปรากฏว่าองค์ท่านท่องพระปาฏิโมกข์ไม่กี่วันก็ได้จบ จึงพาหมู่อยู่ด้วยความสะดวกขึ้นบ้าง

พอออกพรรษาปีนี้ท่านต้องไปเตรียมช่วยงานถวายเพลิงศพขององค์หลวงปู่เสาร์ที่วัดบูรพา เมื่อเสร็จงานถวายพระเพลิงศพแล้ว องค์หลวงปู่ได้ไปโปรดโยมมารดาและญาติโยมที่บ้านเดิมของท่านที่บ้านกุดกุง ตำบลสงเปลือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (ปัจจุบัน)


ไปกราบนมัสการองค์หลวงปู่ใหญ่มั่น
และจำพรรษาที่วัดป่าบ้านโคก (วัดป่าวิสุทธิธรรม ในปัจจุบัน)


รูปภาพ
หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ


ในปีนั้นองค์หลวงปู่บัวพาได้ตั้งใจขึ้นไปกราบนมัสการองค์หลวงปู่ใหญ่มั่นที่วัดป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์ ในปัจจุบัน) อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ได้รับการอบรมอยู่กับองค์หลวงปู่มั่น แล้วเลยไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านโคก (วัดป่าวิสุทธิธรรม ในปัจจุบัน) อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร อยู่จำพรรษากับองค์หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ และองค์หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลวงปู่กงมากับหลวงปู่อ่อน และหลวงปู่บัวพา ได้พร้อมกันไปรับการอบรมฟังธรรมองค์หลวงปู่มั่นสามวันต่อครั้งตลอดพรรษาอยู่มิได้ขาด เพราะสองวัดนี้ไม่ห่างไกลกันนัก

ในสมัยองค์หลวงปู่บัวพาปฏิบัติองค์หลวงปู่เสาร์อยู่นั้น ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาอย่างเดียว แต่ภาวนาและอุปัฏฐากไปพร้อมกันเพราะอุปัฏฐากอยู่ดุจดังเงา รับใช้อย่างใกล้ชิดทั้งกลางวันกลางคืน พอมาอยู่จำพรรษานี้ ได้รับกาอบรมจากองค์หลวงปู่มั่นเป็นประจำ และภาวนาอย่างเดียว รู้สึกว่าได้ผลขึ้นโดยลำดับ ในพรรษานี้ทำให้จิตใจเพลิดเพลินในการทำจิตภาวนาเป็นอย่างยิ่ง

พอออกพรรษาแล้ว ได้ถือโอกาสกราบลาองค์หลวงปู่ใหญ่มั่นและครูบาอาจารย์เพื่อแสวงหาที่วิเวกต่อไปเรื่อยๆ ได้ธุดงค์ไปในเขตภูเขาลำเนาไพรระหว่างเทือกเขาภูพาน เขตจังหวัดสกลนคร ไปทั่วๆ หลายๆ พื้นที่ มีความเพลินอยู่กับการภาวนาอย่างยิ่ง จึงได้เที่ยววิเวกไปทั้งขึ้นทั้งลงแถวเทือกเขาภูพาน เกือบทุกที่มีแต่ความวิเวกอันเป็นธรรม


ธุดงค์ไปพบหลวงปู่หลุย จันทสาโร

รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จันทสาโร


ในช่วงออกจากวัดองค์หลวงปู่มั่นใหม่ๆ ได้ธุดงค์ไปพบกับองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ได้ไปบิณฑบาตด้วยกัน กลับจากบิณฑบาตมาจัดที่ฉันที่เถียงนาแห่งหนึ่ง ก็จัดของใครของเราลงในบาตร หลวงปู่หลุยท่านเล่นตลก เล่นเอาหมกเอาห่ออาหารที่บิณฑบาตได้มา แกะออกแล้ววางแบห่อหมกอาหารไปตามพื้นเถียงนา มีกี่หมกกี่ห่อแกะวางไว้หมด แล้วกฉันจ้ำหมกนั้น จ้ำห่อนี้ฉันไป

เรามองดูท่าน ท่านก็หัวเราะท่านก็พูดขึ้นว่า ฉันอย่างนี้แหละ เรามันถึงถนัด มันถึงอร่อยเป็นธรรมชาติดี ไปอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นฉันไม่ถนัด ฉันไม่อร่อยสักที ทำอย่างนี้มันถึงอร่อยถึงใจ ท่านว่าแล้วก็หัวเราะไป ฉันไป เพราะอยู่ในสำนักองค์หลวงปู่มั่นฉันรวมลงในบาตรทั้งหมด ไม่มีถ้วยไม่มีจาน ช้อนก็ไม่ได้ซด ฉันด้วยมือ แต่หลวงปู่หลุยท่านคงทำของท่านครั้งเดียวเท่านั้น เพราะต่อมาเจอองค์ท่านอีก ไม่เคยเห็นท่านทำอย่างอยู่ที่เถียงนานั้นอีกเลย


ผีมีจริงหรือไม่

รูปภาพ
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต


ในระหว่างเที่ยววิเวกอยู่ในเขตจังหวัดสกลนครนั้น ได้ขึ้นไปภาวนาอยู่บนเขาลูกหนึ่งไกลจากหนองหาน ไม่มากนัก ไปกับหลวงปู่หลอด ปโมทิโต ได้อบรมสั่งสอนให้ญาติโยม ชาวบ้านเลิกละการนับถือผีปีศาจพวกอาฮัก (อารักษ์) หลักเมือง ตาแฮกตาปู่ สอนให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรมสอนให้นับถือพระไตรสรณคมน์อย่างเดียว

ชาวบ้านเมื่อรู้ว่าการนับถือพระพุทธเจ้าพระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นของเลิศเป็นของประเสริฐเลิศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด จึงพากันเลิกนับถือผีทั้งบ้าน พากันไปขอขึ้นไตรสรณคมน์กันหมดทั้งบ้าน

มีอยู่วันหนึ่งที่บ้านกวนบุ่น อำเภอเต่างอย แม่ตันซึ่งเป็นเฒ่าจ้ำหรือคนทรงผี หรือคนที่เป็นสื่อผี หรือเป็นคนที่ติดต่อผี พูดกันรู้เรื่องกับผีได้เหมือนคนทรง หรือหัวหน้าผีก็เรียก เบื่อหน่ายในการนับถือผี เมื่อมีครูบาอาจารย์พอที่จะเป็นที่พึ่งได้ ก็ให้ลูกหลานพาไปหาหลวงปู่ องค์หลวงปู่บัวพา อยู่กับหลวงปู่หลอด ไปขอขึ้นพระไตรสรณคมน์ พอไปถึงก็เล่าเรื่องให้องค์หลวงปู่ฟังและขอครูบาอาจารย์จงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้า จากนั้นองค์หลวงปู่ก็ให้ขึ้นไตรสรณคมน์ องค์หลวงปู่บอกให้ว่าตาม พอแกว่าตามไปยังไม่ถึงครึ่ง ผู้อื่นมาเข้า แกสั่นทั้งตัว ตาขวาง พูดเหมือนเสียงคำรามขึ้นอย่างแรง

องค์หลวงปู่เห็นดังนั้น จึงบอกให้ลูกหลานจับกุมแกไว้ ต้องได้หยุดการขึ้นไตรสรณคมน์ ก็ไม่รู้ว่าจะทำประการใดดี จึงบอกลูกหลานแกไปเอาน้ำมาทำน้ำมนต์ พอองค์หลวงปู่ทำน้ำมนต์ไปได้สักพักหนึ่ง เฒ่าหัวหน้าผีก็พูดคำรามอย่างแรงออกมาว่า

ทำมาเลยน้ำมนต์ น้ำมนต์ทำมาเลย อย่าว่าแต่น้ำมนต์แค่นี้ กูจะกินมันหมดหนองหานนี้ละ ทำมาเลย

องค์หลวงปู่เห็นว่าน้ำมนต์ใช้ไม่ได้เสียแล้ว จะทำอย่างไรดี จึงได้ปรึกษากันกับหลวงปู่หลอดซึ่งนั่งอยู่ด้วยกันว่าจะเอาอย่างไรดี จึงนึกขึ้นได้ว่า เอ้า! เรานั่งสมาธิดีกว่า

ผีมันก็ขึ้นของมันอยู่นั่นแหละ แต่ลูกหลานก็ช่วยกันจับแกเอาไว้ ต่างองค์ก็ต่างนั่งสมาธิหันหน้าออกจากกัน นั่งสมาธิอยู่สักครู่ จิตก็สงบปั๊บ หลวงปู่ ได้เล่าว่า ได้ปรากฏเห็นพระราชาเสด็จขึ้นมาพร้อมกับมหาอำมาตย์ซ้ายขวา พอมาเห็นเฒ่าหัวหน้าผีเข้านั่น พระราชาสั่งมหาอำมาตย์ว่า จัดการมันเลย พร้อมกับชี้มือใส่ สั่งจัดการมันเดี๋ยวนี้ มหาอำมาตย์ก็วิ่ง เข้าใส่ จับเฒ่าผีนั้นยกขึ้นตีเข่าถีบเตะเอาแบบไม่ยั้งมือเลยทีเดียว

พอดีจิตถอนออกมา ลืมตาดู เห็นเฒ่าผีนั้นนั่งพนมมือ บอกว่า

“หลาบแล้ว ยอมแล้ว ยอมแล้ว หลาบแล้ว”

พอแกได้สติขึ้นมา แกก็พูดว่า

“โอย น่าอายครูบาอาจารย์เด้”

รอให้แกตั้งสติเป็นปกติดีแล้ว องค์หลวงปู่จึงพาขึ้นไตรสรณคมน์ไปจนจบสามหน แล้วก็อบรมให้แกกับลูกๆ หลานๆ ให้อาจหาญร่าเริงมีจิตใจเข้มแข็ง ตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย แล้วให้กลับบ้านไป

จากนั้นชาวบ้าน ทั้งบ้านทุกๆ คนไม่นับถือผีเลย พากันตั้งมั่นในไตรสรณคมน์ทั้งบ้านเลย เพราะผีนั้นมีแต่จะจับผิดหาเรื่องจะกินของเซ่น ทำให้เป็นนั่นเป็นนี่ คอยระวังแต่จะผิดผี ส่วนการนับถือพระรัตนตรัยไม่เห็นว่าผิดโน่นผิดนี่ ไม่ต้องคอยกลัวจะเป็นนั่นเป็นนี่เหมือนการถือผี


ผีเข้าเมียของเพื่อนที่เคยบวชด้วยกัน

จากนั้นองค์หลวงปู่ก็เลยเล่าเรื่องผีเข้าเมียของเพื่อนให้ฟังว่า แกเคยบวชด้วยกันแล้วสึกไปเอาเมีย เราก็เป็นพระใหม่ๆ อยู่ เพื่อนก็มาขอร้องอ้อนวอนให้ไปช่วยเมียเขาบ้าง เพราะผีเข้า เมียแกจะตายอยู่แล้ว ไม่รู้จะไปพึ่งใคร เราก็ไม่รู้จะทำประการใด หาทางออกไม่เจอ จึงบอกให้แกไปเอาน้ำมาทำน้ำมนต์

เมียมันก็นอนไม่ลืมหูลืมตาดูใคร เราก็จุดเทียนทำน้ำมนต์ของเราไป สวดมนต์ของเราไปเรื่อยๆ สวดจากพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณยายอีนางผีเข้ามันนอนคลุมโปงอยู่ มันหัวเราะกิ๊กๆ แล้วพูดว่า

“ครูบาสวดมนต์เพราะแท้ ม่วนแท้ เสียงดีแท้” (อาจารย์สวดมนต์เพราะจริงๆ เสียงดีจริงๆ)

เราก็เป็นพระใหม่ ตรงไหนเราสวดไม่ได้ สวดไม่ถูก อีนางผีเข้ามันบอกเราเสร็จ มีแต่เสียงหัวเราะกับชมเรา เราสวดมนต์ผิดตรงไหนมันบอกเราหมด เราสวดอะไร อีนางผีเข้ามันได้ก่อนเราหมด จำเป็นไล่ผีเข้าเมียเพื่อนไม่ออก เลยบอกเพื่อน เราหมดปัญญาแล้วเพื่อนเอ๋ย ก็เลยกลับวัดขังตัวเอง ผีมันเก่งกว่าเรา ผีมันสวดมนต์ได้หมด เราสวดมนต์ไม่ได้เท่าผี ผีอย่างนี้ก็มีเหมือนกัน ผีมันเก่งจริงๆ องค์ท่านเล่าให้ฟัง ทั้งองค์ท่านหัวเราะ


จำพรรษาอยู่กับอาจารย์ดี

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉันโน


ธุดงค์จากสกลนครล่องลงมาทางนครพนม มาธาตุพนม มุกดาหาร มาเลิงนกทา เข้ามาจำพรรษาอยู่กับอาจารย์ดีที่บ้านกุดแห่ พระอาจารย์ดี ฉันโน นี้เป็นลูกศิษย์องค์หลวงปู่เสาร์ แต่เป็นศิษย์ผู้พี่เคยอยู่ร่วมกันสมัยองค์หลวงปู่เสาร์ยังมีชีวิตอยู่


จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่อ่อน

พอออกพรรษาหมดเขตกฐิน ได้กราบลาท่านอาจารย์ดี ออกธุดงค์ขึ้นไปทางอุดรฯ เพื่อไปเยี่ยมญาติโยมพี่น้องที่อพยพไปจากเมืองอุบลฯ มาตั้งหลักแหล่งที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และได้จำพรรษาอยู่บ้านดอนแก้ว กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ อีกครั้ง วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบร่ำโบราณตั้งแต่กาลไหนไม่มีใครรู้จัก มีใบสีมาหินธรรมชาติใหญ่ๆ หลายใบสูงท่วมหัว โนน (เนิน) บ้านทั้งวัดเป็นดอนอยู่กลางน้ำหนองหาน ก็เป็นบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง พอออกพรรษาหมดเขตกฐินในปีนั้น องค์ท่านออกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมขององค์ท่านไปเรื่อยๆ


โปรดเอามารดาบวชเป็นชี

ปีนั้นองค์ท่านย้อนกลับไปบ้านกุดกุง ซึ่งเป็นบ้านเดิมขององค์ท่านเพื่อเยี่ยมญาติและโปรดเอามารดาบวชเป็นชีในปีนั้น แล้วองค์หลวงปู่ได้พาแม่ชีซึ่งเป็นมารดาไปจำพรรษาอยู่วัดพระพุทธบาทบ้านหนองยาง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลฯ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร)


บ้านเสาหินใหญ่ในประเทศลาว

องค์หลวงปู่ท่านเป็นพระที่เคร่งครัด ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยท่านออกเดินธุดงค์เที่ยวหาสถานที่วิเวกไปในที่ต่างๆ จนมีอยู่ครั้งหนึ่งองค์หลวงปู่ท่านได้จาริกเพื่อท่องเที่ยวเพื่อปฏิบัติธรรมไปทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สมัยก่อนเรียกสั้นๆ ว่าประเทศลาว

เลยนครเวียงจันทร์ไปด้านหลัง ไกลจากเมืองไปหลายสิบกิโลเมตร มีหมู่บ้านหนึ่งซึ่งผู้เขียนก็จำชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้ เพราะองค์หลวงปู่เล่าให้ฟังนานมาแล้ว เป็นหมู่บ้านอยู่ตามป่าตามเขา องค์หลวงปู่ได้มาพักเพื่อหาความวิเวกใกล้หมู่บ้านแห่งนี้

ตอนเช้าวันหนึ่ง ได้คลุมผ้าออกเดินบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน องค์ท่านได้ไปเห็นบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านโบราณ อายุคงนานมาก ดูแล้วไม่มีบ้านหลังอื่นเหมือนบ้านหลังนั้นเลย ดูช่างเป็นบ้านที่แปลกตาแปลกใจ จนองค์ท่านอดที่จะถามคนในหมู่บ้านนั้นไม่ได้ว่า บ้านนี้เป็นบ้านของใคร และเขาสร้างบ้านหลังนี้ได้อย่างไร คือบ้านหลังที่ว่านี้เป็นบ้านที่สร้างด้วยหินล้วนๆ มีเสาเรือนที่ใหญ่โตสร้างด้วยหิน เสาใหญ่เป็นโอบเป็นอุ้ม และรอยถากเสาหินเหมือนถากเสาไม้

ชาวบ้านจึงเล่าให้องค์หลวงปู่ฟังว่า

มีพ่อใหญ่คนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ แกเป็นคนที่มีวิชาอาคมขลัง แกสร้างบ้านหลังนี้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครช่วยแกเลย ใช้วิชาเวทมนต์ของแกเอง แผ่นหินนี้แกจะดีดบรรทัดเหมือนเขาดีดบรรทัดจะเลื่อยไม้หรือถากไม้ เมื่อแกดีดบรรทัดลงไปกระทบแผ่นหิน หินก็จะถูกตัดแตกออกมาเลย แล้วก็ดีดบรรทัดถากเสาหินเหมือนกับถากเสาไม้ แกทำของแกคนเดียว

วันที่แกจะเอาเสาหินมาบ้าน พ่อใหญ่เจ้าของบ้านหินคนนั้น ก็เดินขอแรงไปตามหมู่บ้านทุกหลังคาเรือน ขอแรงคนในหมู่บ้าน ขอแรงหมดทุกคน ขอแรงคน แรงวัว แรงควาย แรงล้อ แรงเกวียน ทุกคนที่แกไปขอแรงก็รับปากว่าจะไปช่วยแกขนเสาหินมาสร้างบ้าน โดยแกบอกว่า

“ตอนเย็นขอแรงไปเอาเสาหินมาสร้างด้วยกันหน่อยเด้อ”

ตกตอนเย็นก็ไม่เห็นแกมา ชาวบ้านก็คอยอยู่จนดึก เพื่อจะไปช่วยแก เมื่อไม่เห็นมา ก็พากันเข้านอน จนเวลาผ่านไปถึงวันรุ่งขึ้น ตื่นเช้าขึ้นมาปรากฏว่าแกเอาเสาหินมาเรียบร้อยแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าแกเอามาได้อย่างไร

แต่ที่มีผิดสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ ตื่นขึ้นมาตอนเช้า ทุกคนในหมู่บ้านที่เคยรับปากว่าจะไปช่วยแกเอาเสาหินนั้น พากันเจ็บตามเนื้อตามตัว ตามแข้งตามขา เมื่อยล้าอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปวดหลัง ปวดเอว ไปตามกันหมดทั้งหมู่บ้าน แม้แต่วัวควายก็สังเกตได้ว่าร่างกายทรุดโทรมหมดเรี่ยวหมดแรง ไม่อยากจะลุกไม่อยากจะเดิน ไม่อยากดื่มน้ำกินหญ้าเหมือนแต่ก่อน อาการอย่างนี้เป็นอยู่หลายวันจึงหายเป็นปกติ

ส่วนบ้านหินของพ่อเฒ่าคนนั้นก็ถูกตั้งเป็นบ้านที่ใช้การใช้ประโยชน์ โดยไม่มีใครได้ช่วยแกเลย พอชาวบ้านเล่าให้องค์ท่านฟังจบแล้ว องค์หลวงปู่ก็ได้พูดกับเขาว่า “เรื่องอย่างนี้ก็มีอยู่น้อ”

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 15:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


องค์หลวงปู่บัวพาเจอคนบ้านกลายเป็นคนป่า

เมื่อครั้งสมัยยังท่องเที่ยววิเวกไปในภูผาบ้านป่าดง องค์หลวงปู่เคยธุดงค์ไปตามเขตประเทศไทย-ลาว ระหว่างเมืองอุบลฯ ลงไปถึงนครจำปาศักดิ์ ได้เที่ยวไปในป่า ได้ไปพบหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จึงได้เข้าไปขอพักอาศัยในวัดบ้านแห่งนั้น ที่วัดแห่งนี้มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง คนเขาเอามาฝากไว้ที่วัดให้อยู่กับพระ องค์หลวงปู่ได้พักอยู่วัดแห่งนี้หลายวัน จึงได้รู้จักกันและได้พูดคุยกันกับชายหนุ่มคนนั้น จึงได้ถามหาสาเหตุความเป็นมา ที่แกจะได้มาอยู่ที่วัดนี้ด้วยเหตุปัจจัยอันใด

เขาจึงเล่าความเป็นมาของชีวิต คือเมื่อตอนสมัยเขาเป็นเด็ก ได้มีพี่น้องร่วมท้องของพ่อแม่ด้วยกันสามคน ตัวเขาเองมีอายุคงไม่เกิน ๕ ขวบ น้องสาวคนกลางประมาณ ๓ ขวบ น้องคนเล็กยังเด็กๆ นอนแบเบาะอยู่เลย พ่อแม่ก็มาถึงแก่กรรมตามไปทั้งสองคน ทิ้งเขากับน้องทั้งสองไว้ให้เป็นภาระของน้าสาวคอยเลี้ยงดูอยู่ไม่นาน น้าสาวเขาที่เป็นสาวใหญ่ ซึ่งยังไม่ได้แต่งงาน จึงเป็นการมีลูกแต่ไม่มีผัว ไม่รู้ว่ากรรมเวรอันใดจึงทำให้ใจน้าสาวไปหลงคารมเจ้าบ่าวหนุ่มใหญ่ไร้คุณธรรม มาเคลียคลอน้าสาวว่าจะแต่งงานด้วย เพื่อความรักจะมีความสุข จึงยุให้น้าสาวทิ้งหลานทั้งสามคนตาดำๆ

ความรักเป็นใหญ่ในหัวอก จึงคิดไม่ตกว่าจะทำประการใด กามารมณ์ร้อนเร่า จึงทิ้งหลานจนได้เพราะใจต้องการกาม ความหลงใหลในกาม จึงหลงทำกรรมอย่างมืดมิดสนิทใจ ความต้องการในกาม ความสุขในกาม ความพอใจในรสกาม จึงเป็นการหลงใหลไม่มีคำว่าอิ่มพอ ต่อให้ได้สมหวังเท่าแผ่นดิน แผ่นน้ำ และแผ่นฟ้า ตัณหาก็ยิ่งไม่มีประมาณ จึงสมควรแก่การที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “นตฺถิตณฺหาสมานที” ว่า แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาย่อมไม่มี

ดูอย่างในเรื่องนี้ น้าสาวเลี้ยงหลานตาดำๆ ทั้งสามคน ยังไม่รู้ว่าดีหรือชั่ว หลงคารมชายที่จะมาเป็นผัว จึงตามืดตามัวหลงกามกับผัว จึงทำกรรมชั่วโดยไม่กลัวกรรมตามสนอง ทะเลมหาสมุทรไม่เคยเต็มเพราะน้ำทุกๆ สายที่ไหลไปสู่มหาสมุทร ไฟไม่เคยอิ่มเชื้อ เมื่อมีมากไฟก็ยิ่งลุกแรง กามก็ยิ่งลุกลามไปตามความใคร่ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อหลงใหลไปตามรสของกามคุณ ก็ยิ่งอุ่น ก็ยิ่งทุกข์ จะพบความสุขเป็นอันไม่มี ดีไม่ดีทำให้มีโทษ มีบาป มีกรรม

คำโบราณจึงว่า ตัณหาหน้ามืด มืดยิ่งกว่าโลกันต์มหานรกที่ว่ามืดเสียอีก มีที่ไหน เป็นไปได้อย่างไรกัน มันก็เป็นไปแล้ว เพราะเมาในกามตัวเดียวไม่มีเพียงพอ ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีแก่หนุ่ม ไม่มีลูกหลาน หน้าด้านมืดมัวไม่กลัวบาปกรรม จึงทำได้ทั้งสิ้น จากดินถึงฟ้า จากขี้ข้าถึงจอมกษัตริย์ จากมนุษย์และสัตว์ถึงเทวโลก ต้องทุกข์ต้องโศกเพราะกามคุณ

อยู่มาวันหนึ่ง น้าสาวได้คิดกลมารยา บอกว่าจะพาไปเที่ยวป่าไพร อุ้มเอาหลานคนเล็กเดินนำหน้าเข้าไปในป่าใหญ่ดงไม้แน่นหนา ป่าใหญ่ในดงลึกต้นไม้หนาทึบจนมองไมเห็นดวงตะวัน น้าสาวก็ผูกอู่ (เปล) ใส่ต้นไม้ เอาน้องคนเล็กนอนไว้ในอู่ แล้วก็บอกเขาทั้งสองว่าให้ไกวอู่ดูน้องเอาไว้ น้ามีธุระจะไปเดี๋ยวเดียวจะมา หลานก็เชื่ออย่างสนิทใจ ไกวอู่น้องคอยน้ากลับมา

น้าหายเงียบจนเกือบจะค่ำก็ไม่เห็นมา น้องคนเล็กหิวนมร้องไห้เสียงลั่นป่า ผู้เป็นพี่ก็ได้แต่บอกน้องว่า อย่าร้องๆ เดี๋ยวสักครู่แม่ของเราก็จะมา คอยแล้วคอยเล่า คอยมองทาง น้าสาวเจ้าจะมา จนตกค่ำน้ำตานองหน้า ทั้งสามร้องไห้หาน้าสาวเพราะความกลัว พี่ไกวอู่น้อง ตาก็จ้องดูทางที่น้าสาวจะมา ปากก็บอกน้องว่าอย่าร้องๆ อีกหน่อยแม่มาคงได้กินนม คือเรียกน้าเป็นแม่

แต่แล้วก็สิ้นหวัง พอตกมืดค่ำจึงต้องนั่งใจหาย แขนหนึ่งกอดน้องเอาไว้ มือหนึ่งไกวอู่น้องไป ทั้งสามร้องไห้ทั้งหิวทั้งกลัว น้องคนเล็กที่นอนในอู่ร้องไห้จนหมดเสียง เพราะหิวนมจึงเงียบไป อีกสองคนกอดกันเอาไว้ บอกน้องอย่าร้องไห้ แม่ไปไม่กลับมาหาเราอีกแล้ว ต้องนอนตามโคนไม้ในป่าลึกด้วยความรู้สึกทั้งกลัวทั้งหิว

น้องคนเล็กได้ตายอยู่ในอู่เพราะหิวนม เราสองคนร้องไห้กอดกันหลับไป ตื่นขึ้นเป็นวันใหม่ เขาผู้เป็นพี่ชายก็หาเก็บผลไมใบไม้มากินแก้หิว ผลไม้ลูกไม้อะไรก็ได้รู้ กินได้ก็กิน กินไม่ได้ก็ทิ้งเพื่อประทังความหิว พอตกถึงบ่ายวันต่อมา เขาทั้งสองนั่งเฝ้าอู่น้องอยู่ ได้มีช้างฝูงหนึ่งเดินเข้ามาใกล้ มายืนดูเขาทั้งสอง พี่น้องก็กอดกันเอาไว้เพราะความกลัว

ช้างตัวหนึ่งคงเป็นหัวหน้าโขลง ได้เอางวงล้วงเข้าไปในอู่อุ้มเอาน้องคนเล็กที่ตายในอู่ แล้วเดินออกไปไม่ไกลนัก แล้วช้างก็เอาเท้าขุดดินให้เป็นหลุม แล้ววางน้องลงในหลุม ช้างก็เอาเท้าคุ้ยดินถม ช้างฝังน้องแล้วช้างก็เอาไม้มาทับไว้

เขาทั้งสองกอดกันนั่งดูช้างฝังน้อง จากนั้นช้างก็หันมามองดูเขาทั้งสอง แล้วช้างก็เดินจากไป พอเขาเห็นช้างช่วยฝังน้องคนเล็กที่หิวนมจนตาย และไม่มีท่าทีว่าจะเป็นอันตราย เขาก็เลยมีจิตใจนึกว่าฝูงสัตว์ที่มีชีวิตในป่าในดงนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนกับเขาทั้งนั้น จึงพาน้องอีกคนออกเดินไปตามป่า หาผลไม้ที่ร่วงหล่นมากินเป็นอาหาร ถ้าไม่มีลูกที่หล่นเห็นมีลูกอยู่เต็มต้น ผู้เป็นพี่ก็ขึ้นเก็บหรือเขย่าให้หล่นลงมา ผู้เป็นน้องก็คอยเก็บอยู่ข้างล่าง ใช้ชีวิตเลี้ยงชีพด้วยผลไม้ในป่า หาไปกินไป ค่ำไหนนอนนั่น บางทีเห็นไฟก็เข้าไปอาศัยนอนอยู่ใกล้ๆ ไฟที่ไหม้ตอไม้ขอนไม้ และหานอนตามโคนไม้ใหญ่ๆ

บางทีไปเจอเนื้อสัตว์ที่เสือกินไม่หมด ก็เอามาปิ้งไฟ เผาย่างไฟกินเป็นอาหาร บางทีไปเจอเสือมันกำลังกินเนื้ออยู่ เขาก็เข้าไปแย่งเอาเนื้อกับเสืออีกด้านหนึ่ง เสือก็ไม่ทำอะไร ได้แต่คำรามไล่ฮือๆ เท่านั้น จนกลายเป็นนิสัยและไม่มีความเกรงกลัวอะไรในป่าเลย จะกลัวก็แต่คนที่เขาเข้าไปคล้องช้าง

ทั้งสัตว์ ทั้งช้าง ทั้งเสือ ทั้งสองคนเขาจะรีบวิ่งหนีไปคนละทิศละทางเพื่อเอาตัวรอด เพราะเขากับน้องและพวกสัตว์ในป่าถือว่า พวกคนเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ทำร้ายพวกเขาในป่า

อยู่ตามป่า หากินตามป่า จนเสื้อผ้าขาดเปื่อยไปหมด บางทีต้องเอาใบไม้มานุ่งมาห่มไปพรางอาศัยเดินตามฝูงสัตว์ไปเรื่อยๆ ฝูงสัตว์ก็เห็นเขาเป็นเพื่อน อยู่ในป่า เขาไมได้กินข้าว ไม่ได้เห็นผู้คน เห็นแต่ต้นไม้ป่าไม้และฝูงสัตว์ป่าด้วยกัน จนน้องสาวเขาโตจะเป็นสาวน้อยอายุได้ ๑๒-๑๓ ปี เขาเองก็ได้ ๑๕-๑๖ ปีเห็นจะได้ จนผมยาวตกหลัง คนน้องสาวตกถึงก้น อยู่กินกันแบบคนป่า จะมีคนเข้าไปบ้าง ก็พวกคนเข้าไปคล้องช้าง พวกเขาต้องวิ่งหนีชุลมุน

บางครั้งพวกคนคล้องช้างเขาจับช้างได้ เจ้าป่าผู้เป็นใหญ่ของพวกเขาที่อยู่ในป่าก็เอาทองคำมาไถ่ถอนช้างไว้ คนพวกคล้องช้างเขาก็คืนช้างให้

ครั้งหลังสุดที่พวกคนคล้องช้างจะจับตัวเข้ามาได้ เขากำลังขึ้นเอาผลไม้บนต้นไม้ที่สูงอยู่ น้องสาวเป็นคนคอยเก็บอยู่ข้างล่าง พวกคนคล้องช้างเขาเข้าไปใกล้กระชั้นชิด เขาตั้งตัวไม่ติด น้องสาวอยู่ข้างล่างได้วิ่งหนีไปก่อน เขาอยู่บนต้นไม้ก็รีบลงมาอย่างรีบร้อนและรวดเร็วจนทำให้พลัดตกลงมาบาดเจ็บที่โคนขาเลือดไหล ลุกขึ้นวิ่งหนีตามน้องไปแต่เจ็บขามาก ก็หกล้ม ลุกขึ้นได้ก็วิ่งต่อ เดี๋ยวก็ล้มอีก คนเขาวิ่งไล่ตามทัน เขาได้จับมัดมือจนดิ้นไม่หลุด คนพวกคล้องช้างเขาวิ่งตามน้องไปไม่ทันเพราะน้องวิ่งเร็วมาก เขาถามหาที่อยู่ของน้อง แกก็ไม่บอก เขาจึงเอาตัวแกขึ้นหลังช้างมาที่ทับ เขาก็พากลับมาบ้านเขา พวกคนคล้องช้างไปเที่ยวนี้ไม่ได้ช้าง ได้แต่เจ้าหนุ่มคนป่าคนเดียว

พอมาถึงบ้านคนทั้งหมู่บ้านต่างก็มามุงดูแก คนที่มาก็ถามโน่นถามนี่ แกก็ไม่พูดจากับใคร เขามัดแกไว้หลายวัน เขาก็เอาข้าวเอาน้ำให้กิน หลายวันเข้ามาคงเป็นภาระยุ่งยากแก่เขาในการเลี้ยงดู ทั้งการไปทำมาหากิน เขาก็เลยพาแกไปฝากไว้ที่วัดให้อยู่กับพระ ก็พอไว้วางใจได้บ้าง

เมื่อตอนองค์หลวงปู่บัวพาได้ไปพบเห็นแกนั้น เป็นช่วงที่แกอยู่เป็นอิสระและพูดจาได้บ้างแล้ว แต่มีนิสัยชอบนั่งยองๆ แล้วมองไปที่สูงๆ ตามยอดไม้ต้นไม้ ชอบนั่งเหม่อมองตามต้นไม้ยอดไม้ เพราะนิสัยเคยมองหาผลไม้กินเป็นอาหาร

องค์หลวงปู่เคยเก็บผลไม้ลูกไม้มาให้แกกิน แกดีอกดีใจมากและกินผลไม้ลูกไม้อย่างน่าเอร็ดอร่อย ลูกไม้ผลไม้อะไรแกกินเป็นหมด ลูกโพธิ์ ลูกไทร ลูกบก ลูกหว้า ลูกหม้อ ลูกเม็ก กินได้อย่างเอร็ดอร่อยจริงๆ
องค์หลวงปู่เห็นแล้วก็สงสาร ออกปากชวนแกไปด้วย แกก็อยากจะติดตามไปด้วย แต่มาคิดได้ว่าจะเป็นภาระ จึงตัดใจจากความเมตตา วางอุเบกขาสลัดภาระ ดั้นด้นสัญจรเดินหน้าเที่ยวไปแต่เพียงผู้เดียว
แกได้เล่าให้องค์หลวงปู่ฟังแล้ว แกก็ทำหน้าโศกเศร้ารำพึงรำพันถึงน้องสาวแกว่า

“ป่านนี้น้องสาวเฮาจะเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้”

แกรำพึงรำพันไปเศร้าโศกไปแล้วก็ยิ้มๆ เล็กน้อยแล้วแกก็พูดว่า

“น้องสาวเฮางามดิ๊” (น้องสาวเราสวยนะ)

องค์หลวงปู่ได้ไปสอบถามชาวบ้านที่เคยไปคล้องช้างเพื่อหาข้อเท็จจริง ก็ได้ความจริงดังแกเล่ามาทุกประการ ดังเรื่องเจ้าป่าเคยเอาทองคำไถ่ถอนช้างป่าไว้นั้น ชาวบ้านเขาก็รับว่าเคยมีจริง จึงเป็นสิ่งที่จะพอเชื่อได้บ้าง

เรื่องสลับซับซ้อน ลี้ลับ ลึกลับ ในป่าดงพงไพรป่าใหญ่ดงหนา สิ่งที่ตามองไม่เห็นเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามไป ยังมีผู้คนเข้าไปในป่าใหญ่ดงหนาได้พบ ได้เห็น ได้สัมผัส เป็นขวัญหู ขวัญตาอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ที่ผู้เขียนเรียนให้ท่านผู้อ่านตามการที่ได้ยินได้ฟังมานี้ ตามที่องค์หลวงปู่บัวพาท่านได้ไปพบไปเห็นมาด้วยตัวขององค์ท่านเอง


พบวัดร้างได้สร้างให้เป็นวัดที่เจริญ

พอออกพรรษาปีนี้ องค์หลวงปู่ได้พาแม่ชีผู้มารดา ออกเดินทางมาทางอุดร หนองคาย ผ่านมาทาง ท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ ได้มาพบวัดร้างแห่งหนึ่งซึ่งเป็นวัดที่วิเวกพอที่จะเจริญในการบำเพ็ญเพียรภาวนา ชื่อวัดโคกพระคอย หรือ วัดโคกป่าคอย ก็เรียก ซึ่งตั้งเป็นป่าช้าของชาวบ้านแถวนั้น ภายในป่าช้าจะมีสองแห่ง อยู่คนละมุมกัน คือ ที่หนึ่งจะเป็นป่าช้าของเด็ก ส่วนอีกที่หนึ่งจะเป็นป่าช้าของผู้ใหญ่ เขาไม่เผารวมกัน คือป่าช้าของเด็ก เขามีแต่ฝังอย่างเดียว ที่สำคัญของวัดร้างแห่งนี้ มีบ่อน้ำเก่าแก่ มีโบสถ์เก่าๆ มีพระพุทธรูปเก่าแก่ ไม่มีใครรู้ว่าสร้างไว้แต่เมื่อใด

องค์หลวงปู่บัวพาได้เข้ามาอยู่จำพรรษาประจำอยู่วัดร้างแห่งนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หรือ พ ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ได้พัฒนาวัดร้างแห่งนี้ขึ้น จนเป็นวัดที่สมบูรณ์ และต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดอย่างเป็นทางการว่า “วัดป่าพระสถิตย์” เพราะอาศัยความเป็นมาของวัด ซึ่งมีพระพุทธรูปเก่าแก่กับปาที่เป็นที่สถิตย์ของพระพุทธรูปนี้มานานเป็นนามวัด จึงเป็นวัดป่าพระสถิตมาตราบเท่าทุกวันนี้

ตามที่ผู้เขียนได้เข้าไปรู้ ไปสัมผัสกับองค์หลวงปู่บัวพา องค์ท่านเป็นพระปฏิบัติเคร่งครัด มีปฏิปทาอันงดงาม เป็นที่น่าเลื่อมใสในบุคคลผู้ที่ได้เข้ามาพบเห็น องค์ท่านมีความเพียรเป็นเยี่ยม ทำแบบสม่ำเสมอ มีนิสัยสุขุมเยือกเย็น เป็นพระพูดน้อย สันโดษ และถ่อมตน ไม่เคยพูดยกโทษ (กล่าวโทษ) ใคร เป็นพระที่เป็นเยี่ยงอย่างในทางปฏิบัติ

คนส่วนมาก ถ้าไม่ได้เข้าไปสัมผัสอับองค์ท่านด้วยตนเองแล้วจะไม่รู้เลยว่าองค์ท่านหลวงปู่บัวพาท่านเป็นพระอย่างไร เพราะท่านไม่แสดงตัว และองค์ท่านก็ไม่โด่งดัง ท่านอยู่ขององค์ท่านแบบเงียบๆ แต่ความเพียรขององค์ท่านยากที่จะมีใครเสมอเหมือน

ถ้าองค์ท่านว่าใคร ท่านก็ว่าแบบปกติ ไม่แสดงกิริยาและขึ้นเสียงดุดันเกรี้ยวกราด ถ้าองค์ท่านได้ว่าใครถึงสามครั้งแล้ว องค์ท่านจะไม่ว่าคนนั้นอีกในเรื่องนั้นๆ เพราะองค์ท่านถือว่าเป็นคนไม่เอาไหนเสียเลย

องค์ท่านจะไม่เทศน์เอาเสียเลย พอจะได้ฟังบ้างก็เฉพาะพระเณร เมื่อองค์ท่านอบรมปฏิบัติกัมมัฏฐานและข้อวัตรการประพฤติต่างๆ เท่านั้น ถ้าเป็นการเป็นงานยิ่งแล้วใหญ่ จะไม่ได้ยินเสียงองค์ท่านเทศน์เลย

กับเรื่องความอดทนนี้เป็นอมตะจริงๆ ไม่เคยบ่นเจ็บ บ่นปวด บ่นทุกข์ บ่นยาก และไม่เคยบ่นอะไรให้ใครฟังเลย จะเจ็บปวดขนาดไหนไม่เคยปริปากบ่น จะมีเรื่องอะไรเรื่องหนักอกหนักใจ จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น องค์ท่านไม่เคยแสดงกิริยา สีหน้า ให้ลูกศิษย์ลูกหา หรือคนอื่นใดได้รู้ว่าองค์ท่านเป็นทุกข์เลย อยู่แบบสม่ำเสมอ ไม่ขึ้นไม่ลงตามกระแสของอารมณ์ องค์ท่านมีอารมณ์สม่ำเสมอจริงๆ

สมัยสร้างโบสถ์ยังไม่แล้วเสร็จ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ช่างเขาตีนั่งร้านเต็มไปหมด ทั้งในโบสถ์และรอบๆ โบสถ์ ข้อวัตรขององค์ท่านคือ ทำวัตรเย็นรวมที่ศาลาแล้ว องค์ท่านจะไปทำวัตรที่ในโบสถ์แล้วนั่งสมาธิต่อ พอดึกประมาณห้าหรือหกทุ่ม องค์ท่านจะลงไปเดินจงกรมที่ทางเดินจงกรมข้างกุฏิขององค์ท่าน ก็ไม่รู้กี่ทุ่ม องค์ท่านค่อยขึ้นกุฏิ พอเข้าในกุฏิองค์ท่านทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิต่ออีก ไม่รู้ว่าองค์ท่านพักผ่อนเวลาไหน บางทีหรือทุกครั้งที่เราไปทำข้อวัตรตอนเช้า จะเห็นองค์ท่านนั่งคลุมผ้าจีวรเรียบร้อยอยู่ตลอด ไม่รู้ว่าองค์ท่านนอนตอนไหน

วันที่เกิดเหตุก็เช่นเดียวกัน พอเลิกประชุมที่ศาลา องค์ท่านลอดนั่งร้านเข้าไปในโบสถ์ ทำวัตร นั่งสมาธิขององค์ท่านประจำ ประมาณห้าทุ่มกว่าๆ พระเณรเงียบสงบกันหมดแล้ว ได้ยินเสียงเป๊งเล้ง (โครมคราม) อย่างดัง พระเณรองค์ที่ท่านอยู่ใกล้ได้ยินเสียง ก็นึกว่าแมวมันยันกระโถนที่ศาลา แล้วก็เงียบไป

แท้จริงแล้ว เป็นองค์หลวงปู่ท่านนั่งสมาธินานไป บังเอิญปวดปัสสาวะ องค์ท่านจึงถือเอากระโถนกับไฟฉายเดินออกไปปัสสาวะข้างนอกโบสถ์ โบสถ์สูงประมาณ ๒ เมตร พอมายืนอยู่บันได องค์ท่านเสียหลัก เซถลาเอาด้านข้างลง พื้นรอบๆ โบสถ์ขรุขระด้วยเศษปูนเศษกระเบื้อง องค์ท่านตกลงไปแบบมองไม่เห็นอะไรเลย เพราะเป็นกลางคืนดึกๆ สลบอยู่กับที่ ไม่รู้ว่านานขนาดไหน โดยไม่มีใครรู้เรื่องเลย จนองค์ท่านฟื้นขึ้นมาเองมือยังถือกระโถนอยู่ องค์ท่านก็งง จำไม่ได้ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน องค์ท่านก็เดินหาทางออกไปจากกำแพงแก้วโบสถ์จะไปกุฏิ และไม่รู้ว่ากุฏิอยู่ทางไหนด้วย

องค์ท่านถือกระโถนเดินวนรอบไปตามกำแพงแก้วโบสถ์เป็นห้าหกรอบ ก็ไม่เห็นทางออก บังเอิญท่านอาจารย์มนัส วรจิตโต ท่านเปิดไฟที่กุฏิของท่านด้วยธุระส่วนตัว พอองค์หลวงปู่ท่านเห็นแสงไฟ ท่านก็ลัดไปหาแสงไฟ ไปเจอทางออกจากกำแพงแก้วโบสถ์พอดี องค์ท่านก็เดินไปหาแสงไฟ ไปถึงกุฏิท่านอาจารย์มนัส เอาไม้ไปเคาะบันได

ใครอยู่นี้ นี่ใครอยู่นี่

ท่านอาจารย์มนัสได้ยินเสียงองค์หลวงปู่ก็ตกใจ จึงรีบออกมาจากห้องกุฏิลงมาเปิดไฟดู เห็นองค์หลวงปู่ถือกระโถนอยู่ ที่แผลยังมีเลือดอยู่ มีรอยช้ำระบมตามหน้า ตามแขน ตามไหล่

ท่านอาจารย์มนัสถามองค์ท่านว่า ท่านอาจารย์เป็นอะไร

องค์ท่านบอกว่า จะไปกุฏิแต่ไปไม่ถูก

ท่านอาจารย์มนัสก็เลยตามไปส่งองค์ท่านที่กุฏิ หายาทา ยาใส่

ตื่นเช้ามาพระเณรค่อยรู้กัน จะพาองค์ท่านไปหาหมอ องค์ท่านก็ไม่ยอมไป ตกลงก็รักษาแบบธรรมดาเอายาทา หาสมุนไพรต้นไม้ใบไม้มาต้มให้องค์ท่านอาบ องค์ท่านก็พูดเป็นปกติ ไม่ทุกข์ร้อนอะไรและไม่บ่นเจ็บบ่นปวดอะไรเลย

ผู้เราเห็นอาการขององค์หลวงปู่แล้วเจ็บปวดแทนองค์ท่าน ถึงขนาดนั้นองค์ท่านยังไปทำวัตรนั่งสมาธิอยู่ตามเดิม พระเณรพากันกราบนิมนต์ ขอร้องวิงวอนให้องค์ท่านเลิกไปทำวัตรนั่งสมาธิที่ในโบสถ์เพราะเป็นช่วงก่อสร้างอยู่ องค์ท่านไม่ยอม ท่านก็ไปทำขององค์ท่านตามปกติ หลังๆ มาไม่ค่อยเห็นองค์หลวงปู่ไปทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิในโบสถ์เหมือนเก่า เห็นองค์ท่านเลยไปเดินจงกรมที่ข้างกุฏิขององค์ท่านเลย

ได้โอกาสเวลาสรงน้ำองค์หลวงปู่ท่าน จึงกราบเรียนถามองค์ท่านว่า

“ขอโอกาสหลวงปู่ หลวงปู่ไมได้ไปทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิ ที่ในโบสถ์อีกแล้วหรือ”

องค์ท่านบอกว่า “ไม่ได้ไปแล้ว”

“เพราะเหตุใดหลวงปู่”

หลวงปู่ท่านนั่งสมาธิอยู่ในโบสถ์ พระพุทธรูปองค์พระประธาน ซึ่งเป็นพระเก่าแก่โบราณประดิษฐานอยู่ในโบสถ์มาบอกว่า

แก่เฒ่าแล้ว ไม่ต้องมาทำที่โบสถ์ดอก ทำที่กุฏิเอาก็ได้

องค์ท่านก็เลยทำตามที่พระพุทธรูปบอก เราดีใจแสนจะดีใจเมื่อได้รู้ว่าองค์หลวงปู่ไม่ไปนั่งสมาธิที่ในโบสถ์อีกเลย สันนิษฐานว่า สมัยองค์หลวงปู่มาอยู่ใหม่ๆ ได้มาพบพระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ร้าง องค์ท่านคงตั้งสัจจะอธิษฐานว่าจะทำวัตรนั่งสมาธิต่อพระพุทธรูปทุกๆ คืน องค์ท่านถึงได้ทำไม่เคยขาด ถึงแก่เฒ่าขนาด

หลังๆ มาองค์หลวงปู่ ได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้น แล้วก็อัญเชิญเอาพระพุทธรูปที่เก่าแก่ขึ้นไปเป็นพระประธานในโบสถ์หลังใหม่อีก องค์ท่านก็ตามไปทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิที่โบสถ์ใหม่อีก แต่องค์ท่านก็ไม่ได้เล่าเรื่องตั้งสัจจอธิษฐานให้ฟัง เพียงสันนิษฐานเอาว่า ที่ท่านตั้งใจทำถึงขนาดนั้นคงมีอะไรสักอย่าง

ที่เล่ามานี่ คือความตั้งใจและความอดทนขององค์ท่าน มีมากมายหลายๆ เรื่องแต่จะไม่ขอเล่า จะขอเล่าอีกเรื่องหนึ่งในความอดทนขององค์ท่าน

สมัยผู้เขียนได้มีโอกาสทำหน้าที่อุปัฏฐากองค์ท่านหลวงปู่บัวพาชั่วระยะหนึ่ง ไม่ได้อยู่อุปัฏฐากรับใช้อยู่เป็นประจำและอยู่นานๆ เหมือนท่านองค์อื่นๆ องค์ท่านนั่งสมาธิอยู่ในโบสถ์ ยุงมันกัดตามแขนตามไหล่ตามหลังด้านผ้าคลุมปิดไม่ถึง ขึ้นตุ่มเหมือนหนังคางคก เพราะยุงตามชานเมืองมากจริงๆ

เรากราบเรียนองค์ท่านว่า หลวงปู่นั่งสมาธิอยู่ในโบสถ์ ยุงมันกัดจนเป็นหนังคางคกแล้ว ยุงมันมากขนาดนี้หลวงปู่ทำไมถึงนั่งได้

องค์ท่านบอกว่า “มีแหน่” คือมีบ้างเล็กน้อย ถ้าองค์ท่านบอกมีมากนี้มันจะขนาดไหน เรายังงงเลย ขนาดเราถือว่ามากที่สุดแล้ว แต่องค์ท่านบอกว่ามีแหน่

และอีกครั้งหนึ่งผู้เขียนไปทำข้อวัตรอุปัฏฐากถวายน้ำล้างหน้า ยาสีฟันตอนเช้า เห็นองค์ท่านซักผ้าสบงตากไว้ใหม่ๆ น้ำยังหยดอยู่เลย จึงกราบเรียนองค์ท่านว่า หลวงปู่เป็นอะไรหรือ

องค์ท่านบอกว่า ท้องเสีย ถ่ายทั้งคืน ครั้งหลังสุดไปไม่ทันจึงได้ซักผ้าสบง

ผู้เขียนมองดูองค์ท่านซูบซีด น้ำเสียงสั่นระรัว อาการหนักมากจนไม่มีแรงจนหูอื้อหมด จึงกราบเรียนองค์ท่านว่า หลวงปู่หมดแรง เหนื่อยมากนะนี่

องค์ท่านก็บอก เหนื่อยแหน่ (เหนื่อยเล็กน้อย)

ผู้เขียนเลยถือโอกาสกราบนิมนต์ไม่ให้องค์ท่านไปบิณฑบาต ลูกหลานพระเณรเต็มวัดเต็มวา จะไปบิณฑบาตมาเผื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์เอง องค์ท่านก็ไม่พูดอะไร

เรานำของนำบาตรมาจัดเตรียมที่ศาลาฉัน พอถึงเวลาออกบิณฑบาต เห็นองค์ท่านกำลังคลุมผ้าจะออกบิณฑบาต เพราะเราไม่ได้จัดผ้าไว้ถวายองค์ท่าน นึกว่าองค์ท่านจะไม่ไปบิณฑบาต

ผู้เขียนเห็นก็รีบขึ้นไปหาองค์ท่าน กลัดรังดุมลูกดุมถวาย ทั้งกราบวิงวอนไม่ให้องค์ท่านไปบิณฑบาต องค์ท่านก็บอก ไปได้ ไปได้ คำเดียว แต่น้ำเสียงทั้งไม้ทั้งมือยังสั่นอยู่เลย องค์หลวงปู่ท่านมีความอดทน เป็นเลิศจริงๆ จะนั่งทั้งวันก็ไม่เคยบ่นเจ็บแข้งเจ็บขา บ่นว่าเหนื่อย ว่าล้า เลยจริงๆ

องค์หลวงปู่เป็นผู้สงเคราะห์ญาติได้ดีด้วย สมัยองค์ท่านยังมีชีวิตอยู่ ลูกหลานขององค์หลวงปู่ที่ท่านได้อบรมสั่งสอน ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโต เป็นครูบาอาจารย์ เป็นมหาเปรียญหลายท่าน หลายองค์

องค์หลวงปู่เป็นผู้สงเคราะห์ญาติขึ้น ในปัจจุบันลูกหลานองค์หลวงปู่ที่มีชื่อเสียง เป็นครูบาอาจารย์สืบทอดจากองค์ท่านก็ยังมีหลายองค์ อาทิ

ท่านอาจารย์มหาคำหล้า ธัมมกาโม ที่วัดสมานโสภาราม ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เป็นทั้งหลานเป็นศิษย์ผู้ใหญ่

ท่านอาจารย์สมุทร อธิปัญโญ หรือ พระครูภาวนานุโยค เป็นเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ที่เขาจีนแล จังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันท่านดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชสังวรญาณ - หัวหอม)

ท่านอาจารย์บัวพันธุ์ กตปุญโญ หรือ พระครูภาวนาวิมล วัดวิเวการาม บางพระ จังหวัดชลบุรี

ท่านอาจารย์มหาสมาน สิริปัญโญ หรือ พระนิเทศศาสนคุณ วัดคำโป้งเป้ง เมืองหนองคาย

ล้วนแต่เป็นแรงสำคัญสืบทอดองค์หลวงปู่มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ท่านทั้งสี่องค์นี้เป็นทั้งหลานเป็นศิษย์ขององค์หลวงปู่

รูปภาพ
จากซ้าย : พระคุณเจ้าองค์ที่ ๓ ถึง องค์ที่ ๗ คือ
พระนิเทศศาสนคุณ (พระอาจารย์สมาน สิริปัญโญ),
พระราชสังวรญาณ (พระอาจารย์สมุทร อธิปัญโญ),
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต),
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
และพระครูภาวนาวิมล (พระอาจารย์บัวพันธุ์ กตปุญโญ)
ในงานพระราชทานเพลิงศพ “หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส”
เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๖
ณ วัดป่าพระสถิตย์ ต.พรานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

หมายเหตุ : พระนิเทศศาสนคุณ (พระอาจารย์สมาน สิริปัญโญ),
พระราชสังวรญาณ (พระอาจารย์สมุทร อธิปัญโญ)
และพระครูภาวนาวิมล (พระอาจารย์บัวพันธุ์ กตปุญโญ)
ทั้ง ๓ รูปนี้เป็นหลานและทายาทธรรมของหลวงปู่บัวพาโดยตรง

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


ความน่าอัศจรรย์ในคุณพระรัตนตรัย

รูปภาพ
ศาลาวัดป่าพระสถิตย์


ตั้งแต่องค์หลวงปู่ได้เข้ามาบูรณะวัดป่าพระสถิตย์ และจำพรรษาโดยตลอดมา บางครั้งบางคราวองค์หลวงปู่จะออกไปวิเวกทางหินหมากเป้ง-ผาดัก ไปทางผาดัก

มีครั้งหนึ่งองค์ท่านไปวิเวกทางผาดัก พอไปถึงภูพนังม่วงซึ่งเป็นเทือกเขาเหมือนพนังกั้นน้ำ มีหน้าตาเป็นพนังล้อมรอบก่อนจะถึงผาดัก พอองค์ท่านไปถึงภูพนังม่วงซึ่งเป็นเขาลูกแรก พอขึ้นหลังเขาภูพนังม่วงได้แล้ว จากนั้นจะเดินตามหลังเขาไปเรื่อยๆ จนถึงภูผาดัก

ตอนนั้นพอไปถึงภูพนังม่วงก็เป็นเวลาพลบค่ำเย็นพอดี ที่พักก็ไม่ได้เลือกหาดู ไม่รู้ที่เหมาะที่สมว่ามีที่ไหนบ้าง ชาวบ้านเขาเอาฟางไปปูถวายเป็นที่พักใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง พิจารณาดูก็พอพักได้ ก็แขวนกลดกางมุ้ง จัดทำเรียบร้อยทุกอย่างแล้ว ก็เข้ากลดไหว้พระสวดมนต์ แล้วนั่งภาวนาทำความสงบได้สักพักใหญ่ พวกมดดำมดง่ามพากันขึ้นมารุมภายในกลดทั่วบริเวณเต็มไปหมด ตามที่นั่งที่นอน ตามมุ้ง กลด เต็มตามตัว ไม่มีที่ว่างแม้แต่นิด

พอรู้สึกตัวว่ามีมดอย่างมาก องค์ท่านก็ลืมตาดู เอาไฟฉายส่องดูเห็นมีแต่มดเต็มไปหมด ดำเต็มไปหมด ขึ้นมากัดตามเนื้อตามตัวทั่วไปหมด ตั้งแต่เท้าถึงหัว ตั้งแต่หัวถึงเท้า ทุกเส้นผม ทุกขุมขนเต็มไปหมด ทั้งในผ้า ทั้งนอกผ้า มีแต่มดอย่างเดียว องค์ท่านแปลกใจว่า มดนั้นมาจากไหนกัน ทำไมมันมากมายถึงขนาดนี้ หรือเราได้ทำความผิดพระธรรมวินัยอันใดบ้างหนอ

ก็สำรวจตัวเองหลายรอบ ก็ไม่เห็นมีความบกพร่องของตัวเองแม้แต่นิดเลย จึงได้ส่งกระแสจิตออกไปข้างนอก เพื่อจะหาที่พักใหม่ คิดไปตรงไหนก็ไม่มีที่จะคิดออกว่าจะไปพักที่ใหม่ที่ไหน เพราะเรามาถึงที่นี่ก็มืดพอดี จึงไม่คิดหาที่จะย้ายไปที่อื่นอีก จึงปรารภกับตัวเองว่า ถ้าจะย้ายที่ก็ไม่รู้ที่จะย้ายไปไหน

หมดหนทางที่จะเลือก จึงน้อมจิตเข้ามาอยู่ภายในอีก น้อมนึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ เอาพระคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาเป็นที่พึ่ง มาเป็นสักขีว่า ถ้าเรารู้ที่พักที่อื่นเราก็จะหลีกทางให้ แต่นี่เราไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จำจะต้องอาศัยร่มไม้แห่งนี้

แล้วก็น้อมจิตตั้งมั่นอยู่กับพุทโธอยู่ภายใน แน่วอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ส่งส่ายไปไหนอีก ใช้ความอดทนอยู่ไม่นานนัก มดก็เริ่มถอยลงหมดตัว ที่ตามหัว ตามตา ตามหู ตามหน้า ตามปาก วางลง วางลง วางจากข้างบนลงมาก่อน วางลงมาเรื่อยๆ มาจนตามเนื้อ ตามตัว ตามแขน ตามขา วางลงมาตามตัว ตามเท้า รู้ด้วยความรู้สึก

พอรู้ว่ามดมันลดลงถอยไปหมดแล้ว ทำสมาธิภาวนาสักพักใหญ่ๆ ก็เลยลืมตาเอาไฟฉายมาส่องดูมด ไม่เห็นมีมดแม้แต่ตัวเดียว ไม่รู้มันหายไปไหนหมด ตามมุ้งกลดตามบริเวณฟางปูไม่มีแม้แต่ร่องรอยของมด เหมือนแผ่นดิน แผ่นหญ้าในป่าในเขานี้มันไม่มีมดเอาเสียเลย ส่องไฟฉายดูตามที่นอนหมอนมุ้ง รื้อดูใต้ฟางที่เขาปูให้นอน ก็ไม่มีมดแม้แต่ร่องรอยของมดก็ไม่เห็นมี นี้ก็เป็นเรื่องแปลก ช่างน่าอัศจรรย์คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงๆแท้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

นับตั้งแต่องค์หลวงปู่ได้มาพัฒนาวัดพร้อมกับการพัฒนาคนไปพร้อมกัน ทำให้วัดร้างแห่งนี้ได้เป็นวัดที่มีความเจริญเป็นวัดที่สมบูรณ์ มีศาลามีโบสถ์ครบทุกอย่าง

การที่องค์หลวงปู่สอนคนให้ได้เป็นกำลัง และสืบทอดพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กันนั้น เป็นเพราะองค์ท่านเป็นผู้ทรงคุณงามความดีเสมอต้นเสมอปลายมาโดยตลอด เป็นผู้ปฏิบัติงามเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จนไม่มีใครแม้แต่คนเดียวจะพูดตำหนิติเตียนท่านเลย

ตั้งแต่องค์ท่านสร้างวัดป่าพระสถิตให้เจริญมานี้ ในเขต บริเวณใกล้เคียงในแถวนั้น องค์ท่านหลวงปู่บัวพาเคารพองค์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีมากที่สุด เพราะดูจากการพูดการจา กิริยาแสดงออก ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง ถ้าองค์ท่านจะพูดถึงองค์หลวงปู่เทสก์ องค์ท่านจะใช้คำว่า ท่านอาจารย์เจ้าคุณ ทุกๆ คำไป

องค์หลวงปู่เทสก์ก็เคยมาพักอยู่ที่วัดป่าพระสถิตย์กับหลวงปู่บัวพา ก่อนที่องค์ท่านจะไปอยู่หินหมากเป้ง องค์หลวงปู่เทสก์ได้พักอยู่กับหลวงปู่บัวพา แล้วองค์หลวงปู่เทสก์ปรารภจะไปหาที่วิเวก พระเณรทั้งญาติโยมได้กราบเรียนเรื่องความวิเวกที่หินหมากเป้งให้องค์หลวงปู่เทสก์ฟัง ซึ่งในสมัยนั้นมีท่านอาจารย์บัวพัน กตปุญโญ เป็นหลานองค์หลวงปู่บัวพา ไปจากวัดป่าพระสถิตย์ไปอยู่ก่อนแล้ว องค์หลวงปู่ก็ปรารภอยากจะไปดู ญาติโยมศรัทธาวัดป่าพระสถิตย์จึงจัดเรือหางยาวพาองค์หลวงปู่ไปดู เมื่อองค์หลวงปู่เทสก์ท่านไปเห็นก็ชอบใจ เพราะเป็นที่วิเวกและอากาศก็เย็น องค์หลวงปู่เทสก์จึงได้อยู่พัฒนาวัดหินหมากเป้งตลอดมา

ส่วนพระอาจารย์ที่เป็นสหธัมมิกที่สนิทสนมมากที่สุด คือองค์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ แห่งวัดอรัญญบรรพต เปรียบเสมือนเป็นองค์เดียวกันก็ว่าได้ นิสัยสงบเยือกเย็นเหมือนกัน ไปไหนมาไหน ไปด้วยกัน ใช้ของใช้แบบเดียวกัน สีผ้าก็สีเดียวกัน ไปในการในงานเห็นองค์หนึ่งก็ต้องเห็นองค์หนึ่ง จนได้ฉายาว่า วัวงามคู่

ส่วนพระที่เป็นอุปัฏฐากองค์หลวงปู่บัวพานานที่สด คือ ท่านอาจารย์อ้น อยู่กับองค์หลวงปู่นานที่สุดในบรรดาลูกศิษย์ จนได้สืบทอดวัดป่าพระสถิตย์แทนองค์หลวงปู่มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ทางพระราชวังได้อาราธนานิมนต์องค์หลวงปู่ไปบำเพ็ญกุศลในงานพระราชพิธีของสำนักพระราชวังที่จัดขึ้นตลอดมาทุกๆ ปี ส่วนมากองค์หลวงปู่จะไปกับองค์หลวงปู่เหรียญ เป็นวัวงามคู่ อยู่มิได้ขาด

พอมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ วันที่ ๕ ธันวาคม องค์หลวงปู่บัวพาได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นตรี ที่พระครูปัญญาวิสุทธิ หลังจากนั้นองค์หลวงปู่บัวพา ก็ได้รับการอาราธนานิมนต์ไปบำเพ็ญกุศลในงานพระราชพิธีทางสำนักพระราชวังที่จัดขึ้นตลอดมาทุกปี

จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ องค์หลวงปู่บัวพาได้รับอาราธนานิมนต์ไปบำเพ็ญกุศลในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในสำนักพระราชวัง และในขณะที่บำเพ็ญกุศลต่อหน้าพระที่นั่ง องค์หลวงปู่บัวพา ได้อาพาธเป็นลมในงานพิธี สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจึงได้ให้แพทย์หลวง ถวายการรักษาและนำส่งโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ทรงรับองค์หลวงปู่ไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่องค์หลวงปู่บัวพาตลอดมาเป็นประจำทุกๆ เดือน จนถึงองค์หลวงปู่บัวพาได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาพอดี

องค์หลวงปู่บัวพาได้ละสังขารอันหนักและทรมานที่อาพาธมานาน จากพวกเราไป สุดที่จะอาลัยด้วยความสงบดีงามที่กุฏิขององค์ท่าน ท่ามกลางบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั้งฝ่ายฆราวาสบรรพชิต ต่างคนก็ต่างเศร้าโศกอาลัยการจากไปของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เมื่อเวลา ๒๐.๔๐ น. สิริอายุองค์หลวงปู่บัวพาได้ ๘๑ ปี ๑๑ เดือน ๑๑ วัน ๖๑ พรรษา

รูปภาพ
เจดีย์หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


แก้ไขล่าสุดโดย หัวหอม เมื่อ 05 เม.ย. 2015, 17:27, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2015, 17:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


ปฏิปทาที่น่าศึกษาอันเป็นกิจประจำขององค์หลวงปู่บัวพา

รูปภาพ
ซุ้มประตูทางเข้าวัดป่าพระสถิตย์


ปฏิปทาอันเป็นประจำขององค์หลวงปู่บัวพาที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งคือ องค์หลวงปู่บัวพาท่านเป็นพระผู้มีปฏิปทาอันงดงาม สันโดษอย่างมั่นคงและตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดจนชีวิตขององค์ท่าน นับว่าเป็นสิ่งหาดูได้ยากสำหรับพระสมัยในปัจจุบัน

องค์หลวงปู่บัวพาท่านเป็นพระสันโดษ เป็นพระสมถะ บริโภคสิ่งของแบบรู้จักคุณค่าและรู้จักใช้อย่างคุ้มค่ากับสิ่งของนั้นจริงๆ จนคนบางคนมองท่านว่าเป็นพระประหยัด แต่องค์ท่านก็ไม่เก็บสะสม ไม่ตระหนี่ในสิ่งของนั้นๆ จนเป็นลักษณะประจำตัวของท่าน ท่านจะใช้สิ่งของให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าจนหมดคุณค่า หมดประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นจริงๆ

ปฏิปทาบางอย่างที่ท่านทำอย่างเด็ดขาดจนเป็นนิสัยตลอดไป เช่น ท่านถือฉันมื้อเดียว ท่านก็ฉันมื้อเดียวจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปงานสวยสาย (ไปสาย) ขนาดไหน หมู่เพื่อนอื่นๆ เขาจะฝันของว่าง กาโฟมกาแฟ ขนมนมเนย ผลไม้ของขบเคี้ยวก่อนเวลาฉัน องค์ท่านจะไม่แตะต้องสิ่งของเหล่านั้นเป็นอันขาด แต่องค์ท่านก็ไม่ยกโทษใคร

เรื่องตัวอักษรหรือตัวหนังสือก็เหมือนกัน องค์ท่านถือการไม่นั่งทับนอนทับ เหยียบ หรือทิ้งลงในกระโถน ไม่บ้วนน้ำลายคายเสลดลงในสิ่งของที่มีตัวหนังสือ จะเป็นภาษาอะไรก็ช่าง ท่านเคารพหมด และท่านจะไม่วางหนังสือไว้ที่ต่ำ แต่ถ้าท่านเห็นกระดำที่มีตัวหนังสือ ท่านจะเก็บเอาไว้ทั้งหมดแล้วจะเอาไปเผาไฟ เพราะองค์ท่านถือว่าตัวหนังสือทำให้คนได้ศึกษาและจารึกพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทุกภาษาและคนจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้ได้ดิบได้ดี ก็ได้ไปจากหนังสือทั้งนั้น

ขนาดบางครั้งองค์ท่านอาพาธ คนเขาทิ้งหลอดยาฉีดลงในกระโถน พระไม่รู้ก็ยกกระโถนขึ้นรับเพื่อให้ท่านบ้วนน้ำหมาก พอท่านจะบ้วนน้ำหมาก ท่านเหลือบเห็นหลอดยาฉีดที่มีตัวหนังสืออยู่ในกระโถน ท่านไม่บ้วนน้ำลายน้ำหมากลงในกระโถนเลยเป็นอันขาด หรือบางครั้งเวลาขึ้นรถเขาจะเอาหนังสือพิมพ์ให้รองเหยียบ หรือไปในที่นิมนต์บางบ้านเขาจะปูหนังสือพิมพ์รองสำรับกับข้าวเพื่อกันเปื้อน องค์ท่านจะไม่เหยียบไม่ข้ามไปเลยเป็นอันขาด ท่านจะบอกให้เขาเก็บออกเสียก่อนท่านจึงค่อยเหยียบเข้าไป หรือรองเท้าที่มีตัวหนังสือท่านจะไม่ยอมใส่เป็นอันขาด ถ้าเขาอยากจะให้ใส่ องค์ท่านจะบอกให้เขาเอาไปลบตัวหนังสือออกเสียก่อน องค์ท่านจึงจะใส่ให้ ยิ่งเป็นหนังสือพระธรรมหรือพระปาฏิโมกข์ยิ่งแล้วใหญ่ ยกไว้สูงเหนือหัวเลยทีเดียว

อีกทั้งเรื่องเทป วิทยุ หนังสือพิมพ์ ท่านจะไม่ให้มี ไม่ให้ฟังไม่ให้อ่านเลยเป็นอันขาด ถ้ามีใครเขาเอามาถวายพระ องค์ท่านจะดุว่า “เอากิเลสมาให้พระทำไม” ตัวองค์ท่านเองก็ไม่มี ไม่รับ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์เป็นอันขาด

กับการเปิดเรียนเปิดสอนนักธรรม ท่านไม่ให้มีในวัดท่าน มีอยู่ครั้งหนึ่งพระภายในวัด อยากให้มีการสอนนักธรรมในวัด จึงเข้าไปกราบเรียนขออนุญาตจากองค์ท่าน องค์ท่านจึงบอกว่า ให้ผมตายเสียก่อน ค่อยพากันเปิดการเรียนการสอนนักธรรม

และมีอยู่ครั้งหนึ่งเณรน้อยไปกราบลาท่านไปเรียนหนังสือ องค์ท่านบอกว่า

“เออ...อยากเรียนก็ไปเรียนสายให้เรียนนักธรรมตรี โท เอก ก็พอนะ จะได้นำมาปฏิบัติ อย่าไปเรียนเป็นมหาฯ นะ มันหล่วง” (มันเลยเถิด)


เรื่องการเคารพคารวะ

องค์หลวงปู่บัวพาองค์ท่านเป็นพระผู้มีอุปนิสัยมาแต่ตั้งเดิมแล้วว่า องค์ท่านเป็นผู้สงบเสงี่ยม สำรวมเยือกเย็น เป็นพระพูดน้อยเสียงเบา เคารพคารวะต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เคารพคารวะต่อพระธรรมวินัยอย่างเคร่งคัดจนเป็นอุปนิสัย จนพระบางองค์ข้ามล่วงเลย ไม่เชื่อฟังคำขององค์ท่านก็มี เพราะนิสัยขององค์ท่านไม่เคยว่าใคร ไม่เคยขึ้นเสียงเถียงเอาชนะกับใคร ถูกผิดถ้าเขาไม่เชื่อฟัง องค์ท่านก็วางเฉยเสีย จึงทำให้พระบางองค์ คนบางคน ได้ใจว่าตนเองเก่งกว่า หรือดีกว่าท่าน

อย่างองค์ท่านเหลือบไปเห็นพระพุทธรูปในทางที่องค์ท่านจะผ่านไป องค์ท่านจะทรุดตัวลงน้อมกราบอย่างสวยงาม เป็นที่หาดูได้ยากในพระทุกวันนี้ หากมีพระครูบาอาจารย์ที่มีพรรษาแก่กว่าองค์ท่าน จะกี่พรรษาก็ตาม พรรษาหรือสองพรรษาหรือบวชพรรษาเดียวกันแต่บวชก่อน องค์ท่านจะน้อมลงกราบอย่างนอบน้อมสวยงามจริงๆ ไม่มีคำว่าแข็งกระด้างทั้งกาย วาจา ใจ

เมื่อครั้งองค์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ แห่งวัดอรัญญบรรพต มาเยี่ยมป่วย องค์หลวงปู่บัวพาท่านป่วยหนักจนช่วยตัวเองไม่ได้ พอเห็นองค์หลวงปู่เหรียญมาเยี่ยมป่วยเท่านั้นแหละ องค์หลวงปู่บัวพาจะทรุดตัวจากเก้าอี้ลงสู่พื้น องค์หลวงปู่เหรียญห้ามก็ไม่ฟัง เพราะป่วยหนักอยู่แล้ว ไม่ต้องกราบก็ได้ แต่องค์หลวงปู่ก็ไม่ยอมฟัง ทรุดตัวลงกราบจนได้ จนบางครั้งองค์หลวงปู่เหรียญพูดว่า แบบนี้ก็ไม่อยากมาเยี่ยมป่วยแล้ว เพราะเท่ากับมารบกวนเบียดเบียนคนป่วย

ความสันโดษ ความอดทน ความสำรวม ความนอบน้อมถ่อมตน ความเคารพคารวะ ผู้เขียนขอยกถวายให้เกียรติอันสูงสุดเป็นสมบัติขององค์หลวงปู่บัวพา ตั้งแต่ได้พบเห็นมา ไม่มีท่านใดเสมอเหมือนองค์ท่าน มิใช่ว่าองค์ท่านทำเป็นบางครั้งบางคราว องค์ท่านเคารพคารวะพระผู้มีอาวุโสกว่าจนเป็นอุปนิสัยเลย ไม่ว่าจะอยู่ดีมีแรง จะเจ็บไข้ได้ป่วย จะไปไหนมาไหน เป็นนิสัยขององค์ท่านมาตลอด นี่คือพระผู้ที่ท่านฝึกฝนลดละมานะทิฐิ ฆ่าตัวฆ่าตนได้เป็นอย่างดีเลิศเสียจริงๆ

ขนาดคนบ้ามาอาศัยนอนอยู่ศาลาบำเพ็ญศพ ชื่อคำใส ผู้เขียนเคยเห็นบางครั้งบางหน แกวิ่งตามถนนไปนั่นไปนี่ บางทีเมื่อวิ่งไปมาแล้ว ก็เข้าไปอยู่ตามป่าตามสวนข้างทาง ถอนหญ้าเล่นเป็นนิสัย บางทีก็ถอนหญ้าตามลานวัด แต่ไม่ค่อยทำอะไรให้ใคร ใครๆ ก็รู้จักแกหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะเรียก “บักคำใส บักคำใส” จนติดปากกันทั้งหมด ตอนผู้เขียนอยู่วัดป่าพระสถิต ไม่ว่าพระหรือเณรน้อยก็เรียก บักคำใส เราก็เรียกบักคำใสมาตลอด

วันหนึ่งองค์หลวงปู่ได้ยินเข้าท่านจึงถามเรากับเณรว่า

“เรียกใคร อีตาคำใสนั้นอายุมากกว่าพ่อพวกเจ้าพุ่นดิ๊ จะมาเรียกแกว่าบักได้อย่างไร”

องค์ท่านบอกว่าให้เรียกว่า “อีตาคำใส”

องค์ท่านก็พูดต่อไปว่า ถึงแกจะเป็นคนบ้าก็จริง พวกเราพูดหยาบคาย มันจะเป็นบาปของเรา และจะทำให้เราเป็นคนชอบพูดคำหยาบจนติดเป็นนิสัย แต่พวกเราๆ ท่านๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไม่ถือว่าเป็นคำหยาบคาย แต่องค์หลวงปู่ท่านไม่ให้พูดคำว่า “ไอ้” หรือคำว่า “บัก” กับใครทั้งนั้น แม้แต่คนบ้า นี่ดูสิ นิสัยคำพูดคำจาต่างกันไกลขนาดไหนกับคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ


กิจนิมนต์ขององค์หลวงปู่บัวพา

องค์หลวงปู่บัวพา องค์ท่านเป็นผู้สันโดษและเป็นพระไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่เคยขึ้นเสียงขัดข้องหมองใจกับใคร การที่องค์หลวงปู่ท่านรับนิมนต์จำเป็นต่อการสะดวกของศรัทธาญาติโยมเป็นอย่างดี ขอให้องค์ท่านว่าง ใครมานิมนต์จะใกล้จะไกล จะเป็นใครมาจากที่ไหนองค์ท่านรับกิจนิมนต์หมด ขอให้กล่าวคำนิมนต์ให้ถูกต้อง โดยไม่ขัดข้องต่อพระวินัย

บางรายก็มีอยู่บ้างที่องค์ท่านไม่รับนิมนต์ เพราะใช้คำนิมนต์ไม่ถูกต้องต่อพระวินัย บางคนเห็นองค์ท่านเป็นพระไม่ถือตัวและเข้าหาง่าย ก็ไม่คิดว่าท่านจะขัดข้องต่อท่าน ไปนิมนต์องค์ท่านว่า

“ขอนิมนต์หลวงปู่ไปฉันข้าวที่บ้านผมผมจะทำบุญเลี้ยงพระในวันนั้นวันนี้”

องค์ท่านจะบอกว่า “อาตมารับนิมนต์ไปฉันข้าวที่บ้านโยมไม่ได้ เพราะโยมนิมนต์ผิดพระวินัย”

แล้วองค์ท่านก็อธิบายความในพระวินัยให้ฟัง

เขาก็พูดว่า “ถ้าอย่างนั้นผมขอนิมนต์หลวงปู่ใหม่”

องค์ท่านก็บอกว่า “ไปไม่ได้เพราะที่นิมนต์ใหม่นี้เป็นคำที่อาตมาบอก ไมใช่คำของโยมมานิมนต์”

ถ้าใช้คำว่าฉันข้าว ฉันอาหาร ฉันขนม ที่บ้านผมจะทำบุญเลี้ยงพระ เช่นนี้รับรองได้ว่าไม่ได้องค์ท่านแน่ แต่ถ้ามีผู้ที่ได้รู้ได้รับการศึกษามาก่อน องค์ท่านจะให้ใช้คำว่า

“ขอนิมนต์พระไปรับบิณฑบาตที่บ้านผมในวันนั้นวันนี้”

องค์ท่านจะรับไปในงานนิมนต์ของญาติโยมอย่างทั่วหน้า จะเป็นคนร่ำรวยหรือคนยากคนจน ผู้ดีหรือไพร่ ที่ใกล้หรือที่ไกล องค์ท่านจะไปหมด ไม่มีที่ว่ารัก ที่ว่าชัง ที่มีคุณ หรือที่คนเขาไม่มีคุณ องค์ท่านไปให้เสมอภาคกันหมดเลย และจะไปตามนิมนต์ก่อนนิมนต์หลัง เว้นไว้แต่องค์ท่านติดรับนิมนต์ที่อื่นอยู่เท่านั้น แต่ถ้ามีกิจนิมนต์ภายในเขตบ้านหรืออำเภอหรือบ้านใกล้ๆ แถวนั้น องค์ท่านจะไปบิณฑบาตก่อนค่อยไปที่พื้นที่ แต่ถ้านิมนต์ทางไกล บางทีก็เดินทางไปหลายวัน จนองค์ท่านแก่เฒ่าชรามากแล้วก็ยังต้องไปในกิจนิมนต์อยู่ บางทีทางไกลองค์ท่านก็ไป ทางใกล้ก็ไป

บางทีพวกพระเณรลูกหลานเห็นองค์ท่านไปในกิจนิมนต์มาก ก็เหนื่อยแทนองค์ท่าน เคยมีหลายครั้งที่พวกลูกศิษย์ลูกหาหลายๆ ท่านหลายๆ องค์ ขอนิมนต์ให้องค์ท่านอยู่อย่างสบาย ไม่ต้องรับกิจนิมนต์เพราะแก่มากแล้ว พวกลูกศิษย์ลูกหาก็อดเป็นห่วงไม่ได้ องค์ท่านก็พูดยิ้มๆ ว่า

“อาจารย์เราไปจนถึงวันตายพุ้นดิ้”

พวกลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมชาววัดก็ได้รู้จะทำประการใด ได้แต่ ปรึกษาหารือกันอยู่และก็คอยดูแลการไปกิจนิมนต์ให้องค์ท่านและใช้อุบายเปลี่ยนกันพูดกับองค์ท่านบ่อยๆ ว่า

“ขอนิมนต์องค์หลวงปู่อยู่ ไม่รับกิจนิมนต์”

องค์ท่านก็ยืนกรานพูดคำเก่าขององค์ท่านอยู่ตามเดิม ด้วยเหตุนี้เองกิจนิมนต์ขององค์หลวงปู่จึงมากมาย ไม่มีเว้นแม้แต่คนทุกข์คนยาก คนใกล้คนไกล ขอให้เป็นกิจนิมนต์ที่ถูกต้องไม่ขัดข้องต่อพระวินัย องค์ท่านก็ไปขององค์ท่าน จนไปไม่ไหวจริงๆ


พระธรรมคำสอนขององค์หลวงปู่

รูปภาพ
กุฏิหลังใหม่ขององค์หลวงปู่บัวพา


ดังได้พูดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า องค์หลวงปู่เป็นพระปฏิบัติ แต่ท่านไม่ค่อยเทศนา ยิ่งเป็นการเป็นงานยิ่งแล้วเลย แต่ก็มีอยู่บ้าง เวลาองค์ท่านอบรมพระเณรและญาติโยมอยู่ที่วัด ส่วนมากท่านจะแนะนำให้เข้าถึงพระไตรสรณคมน์เป็นเบื้องต้น จากนั้นท่านก็สอนให้ตั้งอยู่ในองค์ศีล อบรมให้ตั้งใจภาวนา คือท่านจะพูดไปอบรมไป ไม่ได้เทศน์เป็นกัณฑ์ เช่น องค์ท่านจะแนะนำว่า

“พวกเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นบุญอันเลิศ เป็นลาภอันประเสริฐ ที่เราได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา”

เมื่อเราเกิดมาได้บุญได้ลาภอันประเสริฐเช่นนี้แล้ว จงพากันตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในชีวิต ในความเป็นอยู่ เพราะชีวิตและความเป็นอยู่เป็นสิ่งไม่แน่นอน จงรักษาบุญ รักษาลาภอันประเสริฐของเราเอาไว้ให้ได้ ถ้าผู้ใดเกิดความประมาทจะขาดทุนสูญกำไร ทำให้หลงไปทำบาปหยาบช้า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่น โทษของบาปกรรมนั้นๆ จะทำให้เราไปตกนรกหมกไหม้ ตกต่ำย่ำแย่ ตกระกำลำบาก จะทำให้เกิดมามีอายุสั้นเร็วพลันตายง่าย เกิดเป็นบ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์ เกิดเป็นคนพิกลพิการ หูหนวก ตาบอด ง่อยเปลี้ยเสียขา เกิดมาไม่สมประกอบ ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรตอสุรกาย เปรตวิสัย ได้ไปสู่ภพภูมิอันต่ำ ที่เรียกว่าอบายภูมิ เพราะความประมาท ทำให้ได้ทำบาปทำกรรม จึงต้องได้รับผลของกรรมตามที่ตนได้ทำเอาไว้ เรียกว่าเกิดมาขาดทุนสูญกำไร จึงไม่สมควรกับที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มาพบพระพุทธศาสนา

แต่ถ้าผู้ใดตั้งอยู่ในศีล เข้าถึงพระไตรสรณคมน์ ถือเอาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก ที่นับถือ ไม่มีสิ่งอื่นใดมายึดถือ ว่าเป็นที่พึ่งนอกจากคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น ผู้มีศีลห้าและเข้าถึงคุณของพระรัตนตรัยอันแท้จริงเช่นนี้แล้ว ย่อมไปเกิดในที่สุขคติ โลกสวรรค์เสวยผลชมสมบัติอันเป็นทิพย์ หรือไม่ก็มาเกิดเป็นมนุษย์สมบัติ คือบุคคลผู้นั้นจะปิดอบายภูมิทั้งสี่ มีนรกเป็นต้น จะไม่ตกไปสู่โลกอันต่ำเป็นอันขาด คนเช่นนี้เรียกว่าเกิดมาไม่ขาดทุน เป็นผู้เกิดมาได้กำไร จึงได้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิด ผู้เข้าถึงพระไตรสรณคมน์อย่างแท้จริงเท่านั้นจะปิดอบายภูมิได้อย่างแน่นอน

จากนั้นท่านจะอบรมการภาวนา ส่วนมากท่านจะเน้นการพิจารณากายให้เห็นเป็นอสุภะ เป็นของปฏิกูล หรือให้เห็นเป็นธาตุสี่ เพ่งพินิจให้คลายลงสู่ธาตุเดิม มีดิน น้ำ ลม ไฟ แยกธาตุสี่ ขันธ์ห้า ตลอดจนถึงแยกกายออกให้เป็นคนละชิ้นละส่วน ไม่ให้เห็นว่าเป็นของสวยของงาม ให้เห็นเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด น่าขยะแขยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ให้เห็นเป็นสักแต่ว่าธาตุสี่ มีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นธรรมธาตุเดิมของเขาเท่านั้น แล้วท่านก็พานั่งสงบไปเรื่อยๆ


อุปาทานเป็นการสร้างทุกข์

เมื่อตอนสมัยที่องค์หลวงปู่บัวพาได้ไปฝึกหัดบำเพ็ญภาวนาอยู่ในสำนักแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นองค์หลวงปู่บัวพายังไม่ได้มาอยู่ฝึกหัดปฏิบัติกับองค์หลวงปู่เสาร์ มีพระที่ไปฝึกหัดปฏิบัติอยู่ด้วยกันหลายองค์ อยู่มาคืนหนึ่งเวลาประมาณ ๔-๕ ทุ่ม ได้ยินเสียงเกรียวกราวดังทางกุฏิพระท่านองค์หนึ่งพระที่อยู่ในวัดได้ยินเสียง ต่างองค์ก็ต่างพากันออกมาดูเพื่อรู้เหตุและพากันไปที่กุฏิของพระองค์ที่ท่านเกิดเหตุนั้น แต่พอไปถึง จึงได้รู้ว่าพระองค์นั้นโดนตะขาบกัด ร้องเสียงโอดโอยอยู่

พระที่ไปดูเหตุการณ์ต่างองค์ก็ต่างติดไฟขึ้นให้สว่าง ช่วยกันหายาหาน้ำมัน ใครมียาอะไรดีก็นำออกมาใช้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล ความเจ็บปวดไม่ได้ทุเลาเบาบางลงได้เลย พระองค์นั้นแสดงอาการเจ็บปวดมาก ร้องครวญครางอยู่อย่างเจ็บปวดเป็นทุกข์ จึงร้องโอดโอยอยู่ พระที่ไปดูอาการบางองค์สอบถามว่า

“เป็นอย่างไร อะไรกัด”

ท่านก็บอกว่า “ตะขาบกัด”

อีกองค์ก็ถามว่า “ทำอย่างไรถึงให้มันกัด กัดอยู่ที่ไหน”

ท่านก็บอกว่า “กัดอยู่ที่นอน”

พระที่ไปดูอาการต่างองค์ก็ต่างหาด เผื่อตะขาบมันซ่อนอยู่ตามที่นอนหมอนมุ้ง รื้อผ้ารื้อเสื่อ ค้นดูตรงนั้นตรงนี้หาไปหามา ก็ไปเจอแมงป่องไต่ออกจากหมอน พระองค์ที่เจอแมงป่องก็ร้องขึ้นว่า

“โอ๊ย! นี่เจอตัวมันแล้ว แมงงอดตัวนี้เอง”

พระอีกองค์ก็พูดขึ้นว่า “โอ๊ย! ปะสาแมงงอด ปวดอิหยังนักหนา ฮ่อง (ร้อง) คือสิตายแท่นะ”

พระองค์ที่เจ็บปวดก็บอก “จริงหรือ? ผมปวดมากจริงๆ ถ้าเป็นแมงงอด ทำไมผมถึงปวดขนาดนี้ ผมว่าตะขาบกัดผมแน่ๆ ละ มันถึงได้ปวดขนาดนี้”

พูดไปพูดมาใครๆ ก็ว่าตะขาบที่ไหน หาดูตรงที่ว่า เห็นแต่แมงงอดวิ่งหนี ตะขาบตะเข็บไม่เห็นมี พระองค์นั้นก็คุยกับหมู่เพลินไป ทั้งพูดทั้งหัวเราะ

“โอ่! แมงงอดต่อยมันก็ปวดขนาดนี้น้อ”

หมู่พวกพระเณรที่ไปดูบางองค์ก็พูดว่า

“แมงงอดตอดซื่อๆ สิเป็นหยัง”

ก็ชวนกันกลับ พอจะกลับจริงๆ มีพระองค์หนึ่งจัดที่นอนให้ใหม่ ดึงผ้าไปดึงผ้ามา ไปยกเอาห่อผ้าครองขึ้นจัดที่ให้ ดันไปเจอตะขาบตัวบักใหญ่ วิ่งออกมาจากห่อผ้าครอง พระองค์นั้นก็ร้องขึ้นว่า

“โอ้ นี่ไงตะขาบเจอตัวมันแล้ว”

พระองค์ที่ถูกตะขาบกัดร้องโอ๊ยขึ้นทันที

“ขี้เข็บกัดผม ขี้เข็บกัดผม ผมถึงปวดขนาดนี้”

พระองค์ที่ถูกตะขาบกัดล้มลงนอนครางโอ๊ยๆ ปวดขึ้นกะทันหัน แกบอกว่า

“ผมว่าแล้ว ผมว่าแล้ว ขี้เข็บกัดผม ขี้เข็บกัดผม ผมถึงปวดขนาดนี้ โอย! โอย! ผมว่าแล้ว ผมว่าแล้ว”

จำเป็น (สมควรแล้ว) พระองค์ที่ถูกตะขาบกัดต้องเจ็บปวดร้องโอดโอย นอนไม่หลับอยู่ตลอดคืน

เรื่องกำลังใจนี่ก็แปลก พอใครก็ว่าแมงป่อง แกก็ไม่ปวดไม่คราง พูดจาอยู่กับหมู่เฉย พอไปเจอตะขาบตัวจริงเข้าเท่านั้น ล้มนอนร้องโอยๆ นอนไม่หลับทั้งคืน

“น่าขบขันนะ เรื่องอุปาทานของคน”

องค์หลวงปู่พูดแล้วก็ขบขันหัวเราะไปตามการเล่าให้พระเณรฟัง


ของฝากหากใครอยากรู้

จะขอเล่าสู่กันฟัง พระเณรรุ่นหลังถ้ายังไม่ได้ฟังก็อาจยังไม่รู้ จิตใจของพระแก่ๆ รุ่นปู่ พระเณรรุ่นหลังยังไม่รู้ก็หาว่าพระโบราณล้าหลังไม่ทันสมัย พูดจาอันใดก็ไม่ทันคน เห็นผลปรากฏชัด คุณสมบัติของท่านประจำตัว พระผู้มีความหนักแน่นเป็นแกนนำ มุ่งหน้าปฏิบัติธรรมไม่เคยอวดตัว ผู้เขียนจำไม่ลืมเรื่ององค์หลวงปู่บัวพา ท่านดำเนินชีวิตปฏิบัติมาด้วยความหนักอยู่ ๔ ประการ เรียกว่าสอบผ่านได้เกรด ๔ ดีมากๆ เลยทีเดียว คือ

๑. ใจหนักแน่น
๒. กายหนัก
๓. ปากหนัก
๔. หูหนัก และรู้จักรักษาน้ำใจหมู่เพื่อน

คำว่า หนัก ในที่นี้คือหนักแน่นนั่นเอง ใจหนัก ท่านเป็นพระผู้มีจิตใจหนักแน่นมากๆ เลยทีเดียว ใครเขาจะด่า จะว่า จะถก จะเถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน บางทีเรื่องที่ท่านพูดอยู่นั้นถูก แต่ถ้าคนอื่นเขาว่าของเขาถูก ท่านก็เฉยเสีย ใครจะยกย่องสรรเสริญท่าน ท่านก็ไม่หลงเพลิดเพลิน ท่านจะดำเนินด้วยความนิ่งเฉย ไม่แสดงอาการขึ้นๆ ลงๆ ให้ปรากฏขึ้นมาให้ได้ชมเป็นขวัญตาบ้างเลย จิตใจของท่านตั้งมั่นเป็นหนึ่งในอารมณ์เดียวจริงๆ คือท่านจะนิ่งและก็เฉย

กายหนัก คือจิตใจร่างกายของท่านจะหนักแน่น ไม่ค่อยเจ็บปวด เช่น ท่านนั่งสมาธิ หรือนั่งรับแขกอย่างนี้ ท่านจะนั่งได้ทั้งวัน ไม่เคยพลิกไปมา ไม่เคยบ่นเจ็บบ่นปวดให้ใครได้ยินเลย บางทีท่านนั่งสมาธิตลอดคืน ก็มีไม่เคยเห็นท่านบ่นปวดแขนปวดขา สำหรับท่านจะลุกกราบพระได้เลย ไม่เคยเห็นเหยียดแข้งเหยียดขา เจ็บนั้นเจ็บนี้ แต่องค์ท่านก็ลุกไปเลยเดี๋ยวนั้น จึงว่ากายท่านมีความทนต่อความเจ็บปวดได้จริงๆ

ปากหนัก องค์ท่านจะไม่พูดให้กระทบกระเทือนใครเลย ไม่เคยติฉินนินทาว่าร้ายใคร เรื่องที่ไม่ดีของใคร ท่านจะไม่พูดไม่ประจานใคร ถ้ามีคนอื่นเขามาพูดเรื่องของคนอื่น พระองค์อื่น ว่าท่านทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ท่านก็จะพูดว่า คนเรามันสร้างบารมีมาต่างๆ กัน จะให้ใจเหมือนกัน ทำเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ ท่านก็พูดเป็นกลางๆ อย่างนี้ตลอดมา ผู้เขียนเคยถามญาติๆ ขององค์หลวงปู่ดู พวกญาติๆ ของท่านก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า องค์หลวงปู่ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพูดจาให้ผิดใจใครเลย ไม่เคยพูดให้คนเสียอกเสียใจเลย ซึ่งเป็นอุปนิสัยขององค์ท่านเอง

หูหนัก องค์ท่านเป็นพระหูหนัก ไม่วู่วามเชื่อง่าย ใครจะมาฟ้องท่าน ว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนั้นทำผิดอย่างนั้น คนนี้ทำผิดอย่างนี้ องค์ท่านก็จะรับฟังเฉยอยู่ แล้วท่านก็จะยิ้มๆ แล้วก็แล้วไป แต่ถ้าคนนั้นมาฟ้องถึงสองสามครั้ง องค์ท่านก็จะพูดแบบเย็นขึ้นว่า

“ผมอยู่กับหมู่กับเพื่อน อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์เป็นอย่างนี้ ไม่เคยนำเรื่องต่างๆ ไปฟ้องร้องให้ท่านฟัง เพราะกลัวครูบาอาจารย์จะหนักใจ ถ้าไม่เป็นเรื่องหนักหนาอันใด เราก็จะพูดจา (เคลียร์) กันเสีย ไม่ให้ไปถึงครูบาอาจารย์ เป็นการช่วยรักษาความสงบ ความสามัคคี ช่วยท่าน”

เล่นเอาพระที่ชอบฟ้องหงายหมาออกมา ไม่กล้าไปฟ้ององค์ท่านอีก แล้วท่านก็เล่าเรื่องปฏิบัติการอยู่กับครูบาอาจารย์ให้ฟังว่า

ขนาดสมัยเราอยู่อุปัฏฐากองค์หลวงปู่เสาร์ มีพระเณรเห็นท่านอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ บางท่านก็อยากจะทำบ้างจนถึงไปทำข้อวัตรตัดหน้าตัดหลัง ชิงทำก่อนท่านอยู่บ่อยๆ เพราะองค์หลวงปู่เสาร์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ใครๆ ก็อยากปฏิบัติอุปัฏฐาก หลวงปู่บัวพาท่านก็ไม่ว่า ไม่หวง ปล่อยให้ทำ ตัวท่านก็เฝ้าดูแลอยู่ใกล้ๆ เขาทำอะไร ท่านก็ปล่อยให้ทำ ถ้าจัดสิ่งของตั้งสิ่งของใช้ไม่ถูก ท่านก็ไม่ว่า พอเขากลับไปแล้ว ท่านก็ไปจัดให้เข้าที่เดิมให้เป็นปรกติเหมือนไว้ทุกวัน เพราะกลัวว่าพระองค์ที่จัดไม่ถูก จะโดนครูบาอาจารย์ดุเอา ท่านก็เอาเวลาเขาออกไปแล้ว ไปจัดให้เรียบร้อยอย่างเก่า เช่นปูที่นอน ปูผ้าปูนั่ง ตั้งบาตร วางกระโถน ตั้งกาน้ำ เก็บย่าม เก็บผ้าสังฆา จีวร เครื่องใช้ต่างๆ ท่านจะไม่กันไม่หวงและก็ไม่พูดให้เขาเสียความรู้สึก เมื่อผู้ที่ทำ ไปแล้ว ท่านก็จัดบริขารดังกล่าวให้อยู่ในที่เดิม ให้อยู่สภาพเดิม ให้เป็นที่เรียบร้อยอย่างเดิม ไม่ให้ครูบาอาจารย์ว่าพระที่จัดบริขารไม่ถูกได้

นี่คือน้ำใจของพระผู้ใฝ่ความรักความสามัคคี มีความหวังดีต่อหมู่ต่อคณะ ทั้งครูบาอาจารย์ สุดที่จะหาที่ไหน ไม่มีอีกแล้วในพระปัจจุบัน ทุกวันนี้


ความเป็นมาของวัดป่าพระสถิตย์

รูปภาพ
บริเวณภายในวัดป่าพระสถิตย์


บทความบทนี้มาจากคำบอกเล่าของคุณพ่อบัวแดง รักษาสัตย์
ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากวัดป่าพระสถิตย์มาตั้งแต่เริ่มตั้งวัด


จะขอเล่าตามบันทึกความเป็นมาของวัดป่าพระสถิตย์ ที่คุณพ่อบัวแดง รักษาสัตย์ได้ช่วยเขียนเล่าไว้ก่อนหน้า เมื่อคราวสมัยอำเภอศรีเชียงใหม่ยังเป็นบ้านศรีเชียงใหม่อยู่ ยังมีป่า มีดง มีที่สาธารณะ ป่าช้า ของชาวบ้านศรีเชียงใหม่ เป็นป่าที่เคยมีพระธุดงค์เที่ยววิเวกผ่านไปมาปักกลดตามป่าช้าของหมู่บ้านอยู่บ่อยๆ

มีสมัยหนึ่งองค์ท่านหลวงปู่ใหญ่มั่นได้เดินธุดงค์ ไปพักปักกลดอยู่ที่ป่าสักในเขตบ้านศรีเชียงใหม่ ได้ทำให้คุณพ่อคำ รักษาสัตย์เกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าไปรับใช้ฟังธรรมท่านองค์หลวงปู่ใหญ่มัน และได้ขึ้นธรรมกับองค์หลวงปู่ใหญ่มั่น คือ ขอขึ้นไตรสรณคมน์นั้นเอง

นับแต่บัดนั้นมาทำให้พ่อตู้คำ หรือคุณพ่อคำได้เลื่อมใสศรัทธาพระธุดงค์มาตลอด พ่อตู้คำจึงคิดหาที่จะสร้างสำนักสงฆ์ สร้างวัดขึ้น เพื่อพระธุดงค์ไปมาจะได้มีที่พึ่งพาอาศัย ชาวบ้านญาติโยมก็จะทำบุญกับพระธุดงค์บ้าง จึงพาญาติพี่น้องชาวบ้านศรีเชียงใหม่ ไปถากถางป่าดอนแม่เหล็ก เพื่อจะทำเป็นวัดป่าให้พระธุดงค์ได้มาจำพรรษา

ป่าดอนแม่เหล็กเป็นป่าช้าของชาวบ้านคุ้มวัดกลาง คุ้มวัดหาดประทุม เป็นที่ฝังศพป่าช้า เป็นที่สาธารณะ

ผมชื่อบัวแดง รักษาสัตย์ อายุผมในตอนนั้นได้ประมาณ ๑๒-๑๓ ปี ได้ไปช่วยคุณพ่อผมถากถางสร้างวัดป่าดอนแม่เหล็กขึ้น คุณพ่อคำคือคุณพ่อของผม สมัยนั้นอายุได้ประมาณ ๔๐ ปี ได้สร้างศาลาหลังคามุงแฝกขึ้น ๑ หลัง และสร้างกระต๊อบสองสามหลังไว้ต้อนรับพระธุดงค์

เมื่อพระธุดงค์ท่านมาพักนานๆ เข้า ท่านบอกคุณพ่อผมว่าอากาศไม่สู้จะดี ตรงที่ตั้งวัดเป็นที่ตาย ไม่เหมาะสมในการจำพรรษา ซึ่งเป็นฤดูฝน ถ้าฤดูแล้งก็พออยู่ได้ ป่าช้าดอนแม่เหล็กแห่งนี้ ปัจจุบันคือได้สร้างเป็นโรงเรียนศรีเชียงใหม่

ต่อมาพี่ชายผม (บัวแดง) ได้ออกบวชเป็นพระธุดงค์ ขณะที่บวชใหม่ๆ ท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่า ท่านเคยอยู่กับหลวงปู่ที่สกลนคร ตอนนั้นผมจำได้ว่าในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓ ถ้าผมจำไมผิด เมื่อท่านกลับมาจากจังหวัดสกลนคร ท่านจะมาพักที่โคกป่าคอย วัดป่าคอย หรือหมาคอยก็เรียกกันถามชาวบ้าน ตามประวัติที่ผมจำได้ (บัวแดง) ผมกับคุณพ่อต้องมาจังหันให้พี่ชายผมทุกวัน

พี่ชายผมตอนนั้นพรรษาระหว่างสองสามพรรษา ท่านบอกกับคุณพ่อผมว่า เอาที่นี่เป็นวัดเถอะ อากาศก็ดีเป็นที่สัปปายะ เหมาะสำหรับพระผู้ที่ท่านปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน เพราะที่ป่าคอยนี้เป็นที่ฝังศพของชาวคุ้มวัดเจียมปางและชาวคุ้มสะพานทอง

ตกลงคุณพ่อคำและญาติๆ จึงไปรื้อเอาศาลามุงแฝกและกระต๊อบที่ป่าช้าดอนแม่เหล็ก มาทำที่พักวัดโคกป่าคอยขึ้น โดยมีท่านอาจารย์สวัสดิ์ซึ่งเป็นพี่ชายผม (บัวแดง) และเป็นลูกชายคุณพ่อคำ รักษาสัตย์ เป็นพระผู้คอยดูแลให้คำแนะนำในการสร้างวัดป่าคอยแห่งนี้ขึ้น คุณพ่อผมก็ได้เพื่อนมาร่วมสร้างวัดป่าคอยแห่งนี้อีกแรง คือพ่อผู้ใหญ่นาคและพ่อตู้คำตา ได้มาช่วยกันสร้างวัดป่าคอยแห่งนี้ขึ้น

พ่อผู้ใหญ่นาคคือพ่อตาพ่อเฒ่าของพ่อตู้เพชร ที่เป็นทายกวัดป่าพระสถิตย์มาตลอด ส่วนพ่อตู้คำตานั่นคือพ่อของแม่มวน หรือแม่ตู้สงวน มีที่นาติดกับวัดป่าพระสถิตย์ แต่ปัจจุบันเป็นที่ของโรงเลื่อยไปแล้ว

คุณพ่อทั้งสามคนได้ร่วมมือกันสร้างวัดป่าคอยแห่งนี้ขึ้นมา ไม่นานก็เจริญรุ่งเรืองเพราะได้คุณพ่อผม พ่อผู้ใหญ่นาคและพ่อตู้คำตารวมสามแรง คุณพ่อผมอยู่คุ้มวัดช้างเผือกกับพ่อตู้คำตา ส่วนพ่อผู้ใหญ่นาคอยู่คุ้มเจียมปางสะพานทอง แต่ก่อนมีผู้ใหญ่คนเดียวปกครองสองคุ้มวัด ก็ได้ชักชวนญาติพี่น้องฝ่ายใครฝ่ายเรา มาร่วมกันสร้าง

อยู่ต่อมาพระพี่ชายผมคือพระอาจารย์สวัสดิ์ ได้มามรณภาพลง แต่อายุยังไม่มาก ท่านเพียงได้ ๑๓ พรรษาเท่านั้น วัดก็เลยเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาหลวงปู่บัวพาได้เที่ยวมาจากทางเมืองอุบลฯ ท่านจึงได้มาอยู่วัดป่าคอยแห่งนี้ จึงได้นำความเจริญมาสู่วัดป่าคอย จนได้กลายเป็นที่สมบูรณ์ทุกอย่าง จึงได้มาตั้งชื่อวัดใหม่ในทางราชการให้ชื่อว่า วัดป่าพระสถิตย์ มาตราบเท่าทุกวันนี้

จนท่านหลวงปู่บัวพาได้แก่เฒ่าชรา ได้มรณภาพลงจากพวกเราไป ณ ที่วัดป่าพระสถิตย์แห่งนี้เอง ส่วนผม (บัวแดง รักษาสัตย์) ได้บันทึกประวัติวัดป่าพระสถิตย์ให้ท่านฟังก็อายุได้ ๘๔ ปีพอดีแล้ว ไม่รู้ว่าจะได้เห็นหน้ากันไปอีกกี่วันก็ไม่รู้ เพราะเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ของผมก็กลับบ้านเก่ากันหมดแล้ว ผมก็ภาวนาอยู่ทุกวันว่า อยากจะอยู่ทำบุญไปอีกนานๆ บ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าความตายมันจะมาถึงเราวันไหน ก็ไม่มีใครทราบได้ ฉะนั้นเมื่อพี่น้องที่รักของผมทุกๆ คน และครูบาอาจารย์ที่กระผมเคารพทุกๆ ท่าน ที่ได้อ่านประวัติของหลวงปู่ท่านแล้ว จงช่วยกันอุทิศส่วนกุศลผลบุญที่หลวงปู่ได้สร้างเอาไว้ จงช่วยดลบันดาลให้ท่านหลวงปู่ จงไปสู่ที่สุขที่สุขโน้นเถิด ผมบัวแดง รักษาสัตย์ ผู้มีความรู้น้อยได้บันทึกประวัติของวัดป่าพระสถิตย์ ไว้ให้ท่านอ่านท่านฟังได้เพียงเท่านี้ สวัสดี เอวํ



:b8: ที่มาของเนื้อหา : http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... -02-01.htm

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron