วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ย. 2024, 22:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 27 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:01 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


หนังสือ ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า
พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

รูปภาพ

สารบัญ

๑. บันทึกของท่านผู้ทรงคุณวิเศษในชาตินี้

๒. นิพพิทาญาณ

๓. สิ่งที่สร้างความสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ อารมณ์ฟุ้ง

๔. อาการปีติทั้ง ๕ ประการท่านผ่านหมด

๕. เวลานี้พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่

๖. ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง จงจำไว้ให้ถึงที่สุด

๗. สมาบัติแปด...เวลาจะใช้ฤทธิ์ทำอย่างไร ท่องเที่ยวไปตามแบบฉบับพระมหาโมคคัลลาน์

๘. คนที่จะเป็นพระอรหันต์ ท่านมีกำลังใจเป็นอย่างไร พยายามศึกษากำลังน้ำใจของท่านไว้...รักษาธรรมยิ่งกว่าชีวิต

๙. หลวงพ่อปานได้แนะนำท่านผู้เฒ่าว่าท่านผู้นั้นดีผู้นี้ดีประมาณ ๑๐ ท่านด้วยกัน จงไปหาอาจารย์นั้น ท่านบอกแต่เพียงว่าอาจารย์ที่สั่งไปหาทั้งหมด ท่านมีจริยาคล้ายพระอรหันต์

๑๐. หลวงพ่อเนียมสอนการปฏิบัติเพื่อเป็นการบรรลุมรรคผล...เวลาใดที่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระจอมไตรยังมีความครบถ้วน ทั้งพระธรรมวินัยในขณะนั้นถ้าคนเอาจริงเป็นพระอรหันต์ได้หมดทุกคน

๑๑. สำหรับปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า...นี่ความจริงไม่ใช่เรื่องของคนๆ เดียวมันเป็นเรื่องของบุคคลกลุ่มหนึ่ง...ขอลาพระโพธิญาณ

๑๒. คืนที่สองหลังจากองค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงยอมรับการลาจากพุทธภูมิ คนที่จะตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้นั้น ต้องมีจิตใจเข้าถึงอริยสัจ คนที่เขาจะเป็นอรหันต์ได้นั้นเขาไม่คิดแค่นั้น ต้องพิจารณาให้จิตทรงตัวตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

๑๓. เธอจงเห็นทุกข์ในปัจจุบันที่เรียกว่า นิพันธทุกข์เสียก่อน นิพันธทุกข์คือทุกข์เนืองนิตย์ที่มีอยู่ทุกวัน มันมีอะไรบ้าง เธอจงคิดไว้เสมอว่าชีวิตคือเลือดเนื้อและร่างกาย ถ้ายังมีอยู่เพียงใด คำว่าหมดทุกข์ไม่มี คนที่จะถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องอาศัยไม่ติดอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือ ร่างกาย ไม่ติดอยู่ในรสอาหาร นี่เป็นอันดับแรก...ถ้าเธอยังมีความรู้สึกว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งในโลกยังมีความสุข ฉันจะไม่มาสอนตลอดชีวิต

๑๔. เวลานี้ในประเทศไทยถ้าเอากันแค่มรรคเบื้องต้น คือ โสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผลขึ้นไปตามลำดับถึงอรหัตผล เราจะนับเป็นร้อยมันไม่ได้เสียแล้ว ผมก็ไม่กล้านับ จะเป็นพันหรือเป็นหมื่นนี่ผมไม่รู้ แต่ถ้าปริมาณละก็รู้สึกว่าน้อยเกินไป การฝึกจิตที่เราจะชนะจิตนี่มันต้องชนะกันเป็นจุดๆ ในอริยสัจท่านจัดทุกข์ไว้เป็นเบื้องต้นให้รู้จักทุกข์อย่างเดียวว่าอะไรมันเป็นทุกข์

๑๕. หลับตาอ่านหนังสือก็เห็นอ่านออก ไม่ต้องหยิบหนังสือมา เป็นแต่เพียงนึกว่าจะอ่านหนังสือ มันก็มีความเข้าใจว่าหนังสือฉบับนั้นเขาว่าอย่างไร อภิญญารวม โสตัตตะภิญญา เธอนี่ควรจะเอาจิตจับพระนิพพานได้แล้ว และควรจะถือนิพพานนิมิตเป็นสำคัญ จิตใจก็จับพระนิพพานเห็นภาพพระนิพพานใสแจ๋ว...ต้องตรวจสอบกันอยู่เสมอเอากันทุกวันทุกเวลาใดที่มีเวลาว่างต้องตรวจสอบ

๑๖. องค์สมเด็จพระประทีปแก้วสอนคาถาปราโมทย์ เพื่อแสดงความสว่างไสวของอารมณ์จิตที่เห็นสิ่งทั้งหลายที่เป็นทิพย์โดยสะดวก...เมื่อท่านสอนให้เรียงลำดับการปฏิบัติแล้วก็จัดอริยสัจเป็นที่ตั้งให้รู้จักว่าทุกข์แล้วอาการที่จะดับความทุกข์ก็ดับความอยาก...เราอาราธนาขอพบพระมหากัจจายนะอีกวาระหนึ่ง เพื่อขอความปรานีให้ท่านช่วยให้ได้อรหัตผลในชาตินี้...ขึ้นชื่อว่าการบรรลุมรรคผลใครจะพยากรณ์แน่นอนไม่ได้ เวลาไม่ได้อยู่กับผู้พยากรณ์ เวลาอยู่กับผู้ปฏิบัติ

๑๗. ให้คิดเสียว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มันมีขึ้นมาได้ มันไม่มีการทรงตัว ในที่สุดมันก็สลายตัวเป็นของธรรมดา ต้องทรงพรหมวิหารสี่ตลอดเวลา แล้วก็ให้มีอสุภกรรมฐานเป็นปกติ แล้วก็ให้มีมรณัสสติกรรมฐานเป็นปกติ ทรงบารมีสิบเป็นปกติ ทั้งห้าอย่างนี่ต้องพร้อมอยู่ในจิตตลอดเวลา...ได้พบพระมหาเถระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพระอรหันต์ไม่ได้บอกชื่อไว้เสียด้วย...ท่านก็บอกว่าเป็นอรหันต์นิพพานเมื่ออายุ ๙๗ ปีกับสามวัน

๑๘. ใช้วิธีตรวจอารมณ์อยู่เสมอ จับหาความผิด จับหาความชั่วในอารมณ์ของจิตของตัววันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๖

๑๙. ถ้าท่านผู้ใดทิ้งอานาปานสติกรรมฐานก็แสดงว่าท่านผู้นั้นไม่สามารถจะทรงกำลังจิตให้ดีได้ตามสมควร วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๖ ตอนนี้ท่านเริ่มหัวข้อไว้ว่า พุทธพยากรณ์พิเศษ องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า เวลานี้เจ้าไม่ใช่ปุถุชนแล้ว เจ้าเลยโคตรภูมาแล้ว ฉะนั้น เจ้าเป็นพระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุง จำได้ไหม เขาเรียกพระโสดาบันขั้นแรก

๒๐. คาถาเรียกจิต วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๐๖ ระหว่างนี้เธอเป็นเอกพีชีแล้ว และกำลังเสวยผลของเอกพีชี สำหรับผลของเอกพีชีนี้จะต้องรักษาผลนี้ไปอีก ๓ วัน วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖ วันนี้มีอาการประหลาดมาก...เวลานี้เธอเหลือแต่มานานุสสัยเท่านั้น วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๖

๒๑. ในขณะนี้ได้รับคำพยากรณ์ว่าเวลานี้พระโสดาบันขั้นเอกพีชีของเธอเต็มแล้ว และขณะนี้เชื่อว่าจิตของเธอเข้าขั้นของพระสกิทาคามี มาว่ากันถึงอารมณ์ตอนที่ท่านเข้าถึงความเป็นพระสกิทาคามี

๒๒. ต้องการจุดจบ ท่านบอกว่า ทุกสิ่งทั้งหมดนี้จงรักษาอารมณ์ให้เป็นเอกัคคตารมณ์ว่ามันไม่มี คำว่าไม่มีนี่ ความจริงมันมีแล้ว มันก็ไม่มี เพราะต่อไปมันจะพัง อย่าไปสนใจมัน มันผ่านไปแล้วก็หมดไป องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ให้ทำความรู้สึกว่า ปัญจขันธ์ทั้งห้าและทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดในโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ ท่านบันทึกไว้ว่า ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๖ จากนี้ไปอีกไม่เกิน ๑๐ วัน จะถึงอนาคามี

๒๓. อีก ๓ วันจากนี้จะได้พระอนาคามี

๒๔. วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๐๖

๒๕. วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๐๖ จิตของเธอเหลือส่วนอวิชชาเท่านั้น นอกนั้นผ่องใสบริสุทธิ์แล้ว ท่านบอกว่าให้พิจารณาว่า ทุกสิ่งไม่มีอะไรเป็นของจริง เป็นของสมมติทั้งหมด ทุกสิ่งเป็นของไม่มีอะไรจริง เป็นของสมมติทั้งหมด ไม่มีอะไรแน่นอน ย่อมสลายตัวไปหมด ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ต้องพลัดพรากจากกันหมด...แล้วท่านโมคคัลลาน์ก็อธิบายว่า ให้วิจัยถึงเหตุ

๒๖. นี่เธอ หลังจากนี้ไปจงเข้าอภิญญาผลสมาบัติทุกๆ วันนะ จะให้ผลแก่บรรดาประชาชนในปัจจุบันนี้ ในฐานะที่เรามีชีวิตอยู่เพราะอาศัยชาวบ้านเลี้ยง วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๐๖ เจ้าเป็นพระขีณาสพตั้งแต่เวลา ๔ น. วันนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:02 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า

๑. บันทึกของท่านผู้ทรงคุณวิเศษในชาตินี้

สำหรับคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐานในวันนี้ ขอได้โปรดทราบว่าการศึกษาพระกรรมฐานของบรรดาท่านพุทธบริษัท ศึกษากันมาครบแล้วทุกอย่างคือ หนึ่ง มหาสติปัฏฐานสูตรศึกษาจบแล้ว และก็สองกรรมฐานสี่สิบศึกษาจบแล้ว การศึกษาจบเป็นปริยัติ ที่ผ่านมาถือว่าบรรดาท่านทั้งหลายเป็นผู้มีกำไรอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะว่าการศึกษาพระกรรมฐานแบบนี้จะคิดว่า การที่จะรับฟังการอบรมกรรมฐานทั้งสองประการ คือ มหาสติปัฏฐานสูตร และกรรมฐานสี่สิบครบ ในประเทศเรายังมีอยู่ ผมเป็นคนไม่ปิดวิชาความรู้ วิชาความรู้อันใดที่มีอยู่ที่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงสอนมา ถ้าผมรู้อะไรบ้างผมก็สอนทุกอย่าง ความจริงคำสอนนี้สอนให้ปฏิบัติตาม สอนเพื่อการป้องกันการเข้าใจพลาดของท่านพุทธบริษัทและพระโยคาวจรทั้งหลาย เพราะว่าถ้าหากว่าท่านไม่ศึกษาให้ครบถ้วน ดีไม่ดีจะไปทำลายความดีของบุคคลอื่นเข้า และบางท่านศึกษามาอย่างใดอย่างหนึ่งคือ เวลาคนศึกษาโดยเฉพาะไม่ครบถ้วน ถ้าหากว่าเขาปฏิบัติและบอกว่าการปฏิบัติไม่เหมือนของเรา เราก็จะหาว่าของเขาผิด บางทีก็ไปยกว่าของฉันดีกว่า ของเธอสู้ฉันไม่ได้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น มันเป็นการทำลายความดีของตน และการปฏิบัติพระกรรมฐานจะปฏิบัติอย่างไรก็ตาม มันต้องถูกทุกอย่าง แต่ว่าจะถูกถึงระดับไหนเท่านั้น อารมณ์ใจของบุคคลผู้นั้นจะสูงหรือว่าจะต่ำ

อย่างที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญท่านให้ภาวนาว่าสัมมาอรหัง บางคนบอกของฉันนี่พุทโธดีกว่า สัมมาอรหังสู้ฉันไม่ได้ ทางพวกนั้นเขาอาจจะบอกว่าสัมมาอรหังของฉันดีกว่าพุทโธของเธอสู้ฉันไม่ได้ บางท่านก็บอกว่า พุทโธก็ดี สัมมาอรหังก็ดี ไม่ทันสมัย สู้ยุบหนอพองหนอ ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้รับฟัง ท่านจะมีความรู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่ศึกษากันให้ครบ เราก็คงจะคิดว่าไม่ใครก็ใครต้องผิดฝ่ายหนึ่ง ถ้าเราศึกษากันให้ครบจริงๆ ก็จะเห็นว่าการใช้ทั้งสามแบบหรือแบบอื่นก็ไม่มีใครผิด ทั้งนี้เพราะว่า พุทโธ เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน สัมมาอรหัง ดูในอิติปิโสบทต้นก็เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ยุบหนอ พองหนอ เอาเฉพาะคำว่า ยุบหนอ พองหนอ อันนี้เป็นอานาปานสติกรรมฐาน แต่ถ้าอารมณ์ใจของท่านจะใช้ในด้านวิปัสสนาญาณอีกก็ได้ สำหรับที่วัดหลวงพ่อวัดปากน้ำสอนว่าจงเพ่งดวงแก้วภายในอก ถ้าเราไม่ศึกษาให้ครบ เราก็จะนึกว่านี่ยุ่งแล้ว ดวงแก้วในอกนี่ไม่มี สอนแบบนี้น่ากลัวจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ เพราะว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านโดนมาแล้ว ผมเคยได้ฟัง ความจริง คำว่าดวงแก้วจัดว่าเป็นแสงสว่างก็จัดว่าเป็นอาโลกกสิณ และศัพท์ที่ท่านใช้ก็ใช้ให้ฟังง่ายๆ เท่านั้น ถ้าบอกว่าอาโลกกสิณชักยุ่ง ก็เลยไปเบ่งกันว่ากสิณเป็นของวิเศษกว่าของอื่นกันไปหมด ความจริงกรรมฐานทุกกองมีค่าเท่ากัน

เป็นอันว่าถ้าเราศึกษาให้ดี และพิจารณาลักษณะอาการหรือว่านิมิตที่ท่านปฏิบัติ เราก็อนุโลมเข้ามาได้ในกรรมฐานสี่สิบ ไม่มีอะไรผิด หรือว่าในมหาสติปัฏฐานสูตร ความจริงกรรมฐานใหญ่คือกรรมฐานสี่สิบ ย่อมเป็นเครื่องรับรองทั้งหมด การศึกษา ถ้าหากว่าเราศึกษากันไม่ครบ เราก็จะได้ยินบ่อยๆ ว่าทำอย่างนี้ไม่ดีสู้อย่างนั้นไม่ได้ อย่างนี้น่าสลดใจ การศึกษาให้ท่านทั้งหลายศึกษาให้ครบ เมื่อครบแล้วก็จงใช้ปัญญาพิจารณาด้วย ใช้อิทธิบาทสี่ คือ ฉันทะ ความพอใจ พอใจเพื่อจะตัด โลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง

การแนะนำในการต่อไปนี้จะถือตัวบุคคลที่ปฏิบัติมาได้แล้วเป็นตัวอย่าง ความจริงผมอยากจะนำเอาบันทึกของท่านผู้ทรงคุณวิเศษในชาตินี้ ไม่ใช่ชาติก่อน แล้วก็ในระยะเร็วๆ นี้ ถอยหลังไปไม่เกินประมาณ ๓๐-๔๐ ปี ท่านผู้นี้ปฏิบัติได้ถึงที่สุดของอารมณ์ ที่ว่าถึงที่สุดของอารมณ์ไม่ใช่ว่าผมพยากรณ์ เป็นการบังเอิญอย่างยิ่งไปพบสมุดบันทึกของท่านเข้า แล้วท่านผู้บันทึกก็ถึงกาลวาระไปแล้ว กายของท่านไม่ได้เหลืออยู่ บันทึกของท่านไม่ได้ประกาศหรือไม่ได้พิมพ์ขาย เป็นการบันทึกไว้ในสมัยที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วท่านผู้นั้นถ้าหากว่าบันทึกของท่านไม่ผิด เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะทำให้บุคคลเข้าถึงจุดจบของพระพุทธศาสนา จริยาปฏิบัติของท่านเป็นอย่างไร ก็หากว่าท่านทั้งหลายไม่ลืมมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ลืมกรรมฐานสี่สิบ ท่านทั้งหลายก็ปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน

แต่ทว่าสำหรับวันนี้ ก็จะไม่ขอนำอะไรมาพูดมากเพราะว่าศึกษากันมาครบแล้ว และข้อปลีกย่อยๆ ต่างๆ ก็ฟังกันมาจนชิน และผมเองก็มีความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่งว่า ท่านพระโยคาวจรทั้งหลายในสำนักของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่กำลังพูดอยู่นี้ ก็มีอยู่มากท่านด้วยกันที่มีอารมณ์ใจดี ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะมีจิตมุ่งมั่นในการตัดราคะ ความรักในเพศ มุ่งมั่นในการตัดโลภะ ความโลภในทรัพย์สิน มุ่งมั่นในการตัดโทสะหรือความโกรธความพยาบาทที่มีปรากฏในใจ มุ่งมั่นที่จะทำลายกิเลสให้สิ้นไป คืออำนาจของโมหะ เป็นอันว่าท่านทั้งหลายที่อยู่ในสำนักของเรา ที่ศึกษากันในสำนัก ที่ฟังกันตลอดเวลา ที่ท่านทรงอารมณ์ใจดีมีอยู่มาก ที่บอกว่ามีอยู่ก็เพราะว่ามีไม่หมด ถ้ามีทั้งหมดแล้วละก็ วัดเราจะเยือกเย็นดีกว่านี้ แต่เวลานี้ก็มีมากยังเยือกเย็นถึงขนาดนี้ ก็รู้สึกว่านักปฏิบัติทุกท่าน ทั้งภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาต่างก็มีจิตอยู่ในด้านของความดีมาก บางท่านหรือว่าหลายท่านจะเห็นว่ามีใจออกห่างจากราคะ คือความรัก โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง มีอยู่มาก ทำตัวห่างออกมาแล้ว แต่ว่ายังไม่พ้นกระแส แต่ความจริงจะห่างออกไปสักเซ็นต์หนึ่งผมก็ยังชมว่าดี ส่วนใหญ่นักปฏิบัติของเราดีตามนี้มีมากเป็นปริมาณสูง

แต่ทว่าอย่าทะนงตน คิดว่าเราเป็นคนดี ถ้าคิดว่าดีเป็นผู้วิเศษเมื่อไร เมื่อนั้นแหละกรรมใหญ่ อันตรายใหญ่จะมาถึงท่าน ที่เราเรียกกันว่าความประมาท ขอจงพยายามคุมตนไว้ตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ นั่นก็คือทรงอิทธิบาทสี่ให้ครบถ้วน มีจรณะสิบห้าครบถ้วน ผมว่าเท่านี้ก็เหลือกินเหลือใช้ มีบารมีสิบครบถ้วนเท่านี้ก็เหลือแล้ว ถ้าครบเท่านี้แล้ว อาการของความโลภไม่มี อาการของทะเยอทะยานในเรื่องเพศในลักษณะของกามคุณไม่มี อารมณ์ที่จะฝังไว้ในความโกรธไม่มี การที่จะยึดถืออะไรเป็นเราเป็นของเราก็ไม่มี ที่ยังมีอยู่ก็เพราะว่าเพียงแต่รับฟังไว้เฉยๆ ดีไม่ดีก็จำไว้ เอาไว้เป็นเครื่องข่มขู่คนอื่น ทะนงตนอวดว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมในด้านปริยัติ ถ้าอารมณ์อย่างนี้เขาเรียกว่าปฏิบัติเหลว ไม่มีอะไร แดนที่จะไปก็คือ อเวจีมหานรกหรือว่าโลกันตนรก

ฉะนั้นท่านทั้งหลายเมื่อฟังมาแล้ว ศึกษามาแล้ว ก็จงปฏิบัติตามเพื่อความละ เราเห็นว่าคนในสำนักส่วนใหญ่ดีมาก ผมขอใช้คำว่าส่วนใหญ่ ไม่ใช้คำว่าทั้งหมด เพราะผมย่อมรู้อาการจิตของบรรดาท่านทั้งหลายได้ ว่าอารมณ์ใจของบุคคลใดมีอารมณ์ดำอยู่ตรงไหนบ้าง บางทีไม่ดำแต่ในจิต มันออกมาข้างนอกก็มี แต่ส่วนที่ดีมีปริมาณสูงมาก ผมภูมิใจที่บรรดาท่านทั้งหลายมีความเคารพในองค์พระจอมไตรบรมศาสดาอย่างน่าชม ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงรักษาความดีนี้ไว้เหมือนเกลือรักษาความเค็ม

สำหรับพวกเราอยู่ในสำนัก มีโอกาส มีความว่างมาก มีการสดับมาก ผมจะขอนำตัวอย่างของบุคคลที่ปฏิบัติในสำนักของเรา แต่ว่ามีการศึกษาน้อย และก็ภารกิจเนื่องในโลกียวิสัยมาก แต่ทว่าเธอผู้นั้นก็สามารถทรงความดีได้เป็นกรณีพิเศษ บุคคลคนนี้ก็คือ รัชนี ซึ่งมีอายุเพียง ๒๕ ปี รับคำสอนของผมที่กรุงเทพฯ ในช่วงระยะเวลาเพียงปีเศษ ก็คือเดือนละครั้ง บางเดือนเธอก็ไม่ได้มารับฟัง แต่ว่าเวลานี้เธอสามารถจะฝึกมโนมยิทธิไปได้ทุกจุด และก็ไปได้แบบแจ่มใส สามารถจะแก้ปัญหากำลังใจของตนได้ทันที ในเมื่อมีอุปสรรคกับอารมณ์จิตในขณะที่ใช้มโนมยิทธิ เช่น เข้าไปในจุดสูงสุด ถ้าบังเอิญมีอารมณ์มัว เธอก็ถอยออก ตั้งอารมณ์ใหม่ ทำใจเดี๋ยวเดียวกลับเข้าไปใหม่ก็พบกับอารมณ์ผ่องใส เด็กคนนี้มีอายุ ๒๕ ปี มีสามีทำงานอยู่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้าเป็นฝ่ายธุรการ มีลูกเล็ก ที่ยกตัวอย่างนี่ไม่ใช่ดีกว่าทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ ท่านทั้งหลายที่ไม่สามารถทรงมโนมยิทธิได้ แต่สามารถทรงฌาณสมาบัติ ทรงวิปัสสนาญาณได้อย่างดีก็ถมไป แต่ว่ายกตัวอย่างคนที่มีภารกิจมาก มีสามี มีบุตรเล็กๆ นอกจากมโนมยิทธิแล้ว กำลังใจในด้านวิปัสสนาญาณของเธอก็แจ่มใสมาก นี่เธอทำได้อย่างไร สามารถรู้จักการแบ่งเวลาได้อย่างไร

คนที่มีสามีมีภรรยามีภารกิจเพียงใดท่านทั้งหลายย่อมรู้ดีแล้ว สตรีที่มีบุตรกำลังเล็ก ลูกนี่พ่อแม่รักยิ่งกว่าดวงใจ รักยิ่งกว่าตัว แต่ว่าเธอก็สามารถที่จะคลายความรักลูกเสียได้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อวานนี้ปรารภเรื่องการอยู่การตาย ได้มีเวลาคุยกันในเพล ผมก็พยายามอธิบายความเป็นมาแก่คนทุกคน ถึงจริยาแห่งการปฏิบัติ เธอฟังไปฟังมาเธอก็ร้องไห้ ถามว่าร้องไห้ทำไม เธอก็บอกว่าไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ ถามว่าการที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ โกรธใคร เธอบอกว่าไม่ได้โกรธ ถามว่าทำไมจึงไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ เธอก็ตอบว่าโลกมันเป็นทุกข์ มีความเบื่อหน่าย ถามว่าไม่สงสารลูกหรือ หรือว่าไม่ห่วง เธอก็บอกว่าเธอรักเธอสงสารลูก แต่ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเบื่อหน่ายในโลกจริงๆ เวลานี้จิตใจไม่ได้คิดอะไรทั้งหมด ไม่มีความต้องการแม้แต่ลูก สำหรับท่านที่เป็นพระ เป็นผู้ชาย ถ้าไม่มีความเข้าใจในความรักลูกของสตรีละก็ ไปถามท่านสุภาพสตรีที่มีบุตรแล้ว ดูว่ามีความรู้สึกในลูกของตนเพียงใด ท่านที่มีลูก ลูกหญิงก็ตาม ลูกชายก็ตาม ท่านมีความรักมาก ยอมเสียทุกอย่างเพื่อลูก แม้แต่ชีวิต แต่ว่าเด็กผู้หญิงอายุ ๒๕ ที่มีลูกเล็กๆ อย่างรัชนี เธอสามารถถอนลูกศรที่มาเสียบจิต คืออารมณ์ของความรักในลูกเสียได้ ไม่ต้องการอยู่ต่อไปเพื่อโลกียวิสัยเพราะเห็นโลกเป็นทุกข์

อารมณ์นี้มันเกิดจากอะไร อารมณ์อย่างนี้เขาเรียกกันว่านิพพิทาญาณ แต่หากว่าเราจะไปเรียงลำดับในนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณเก้าไม่ถูก เพราะว่านิพพิทาญาณตัวนี้เลยอารมณ์นิพพิทาญาณในนิพพิทาญาณเก้าที่กำลังศึกษา ว่าถ้าจิตของเราเข้าถึงนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณเก้าที่เรากำลังศึกษา อารมณ์ดวงนั้นยังไม่ถึงสังขารุเปกขาญาณ เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณ คือวางเฉยในขันธ์ห้าได้ ยังไม่ใช่อารมณ์ที่เป็นการทรงตัว ต้องใช้สัจจานุโลมิกญาณ อนุโลมในอริยสัจ เมื่อใช้อย่างนี้แล้วก็ยังไม่เข้าถึงนิพพิทาญาณของรัชนีอีก ต้องตัดอารมณ์ให้เข้าโคตรภูญาณ เมื่อเข้าถึงโคตรภูญาณแล้ว ก็ยังไม่เข้าถึงอารมณ์นี้ ต้องต่อไปอีก นี่ผมไม่พูด ตัดต่อไปอีกจึงจะหมดอาลัยในลูกที่ยังเล็กๆ เว้นหากว่าเราหมุนเข้าไปดูว่า เด็กอายุเพียง ๒๕ ปี มีภาระมาก มีลูกเล็ก มีสามี มีภารกิจที่จะต้องทำ มีความเหน็ดเหนื่อยตลอดวัน รุ่งขึ้นเช้าก็มีภาระจะต้องประกอบกิจในครอบครัว หาอาหารให้สามี หาอาหารให้ตัว หาอาหารให้บุตรน้อยและคนในบ้าน แล้วก็ต้องรีบไปทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย การทำงานก็ต้องกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง จากผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา จากเพื่อนผู้เสมอกับตนและเล็กกว่าตนทุกฐานะ เมื่อกลับมาบ้านแล้วก็ต้องพะวักพะวนกับการเลี้ยงลูก ในการเอาใจสามีและคนที่เนื่องถึงกัน ภาระใหญ่มีอย่างนี้ ทำไมเธอจึงปฏิบัติได้อย่างนั้น ถ้าเราจะมองกันไปก็ไม่มีอะไรมาก เพราะเธอมีอิทธิบาทสี่ครบถ้วน

มีฉันทะ ความพอใจในการทรงศีลให้บริสุทธิ์ และก็มีฉันทะความพอใจในการรู้คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และครูบาอาจารย์ บิดามารดาและท่านผู้มีคุณ มีฉันทะ มีความพอใจในการเจริญสมถภาวนาให้มีกำลังยิ่งจนกระทั่งได้มโนมยิทธิ จนสามารถท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ ได้ ไม่จำกัดภพ อย่างที่เขากล่าวกันว่าไม่มี เธอก็พบแล้วก็สามารถพิสูจน์จิตของตนเองได้อยู่เสมอ แล้วแก้ไขอารมณ์จิตได้ในทันทีทันใด ถ้าบังเอิญจิตนั้นมันเลวทรามขึ้นมา นี่เป็นอันว่าฉันทะในอิทธิบาทสี่ครบเพราะเธอมีความพอใจ

วิริยะ มีความเพียรบากบั่นไม่ท้อถอย เพียรทุกอย่างเพื่อความดีเกิดขึ้น

จิตตะ สนใจอยู่เป็นปกติ เช่นว่าถ้าผมจะเดินทางไปไหน ถ้าเธอสามารถจะเดินทางไปได้ ทั้งๆ ที่เธอมีลูกเล็กๆ เธอก็ปล่อย ไม่ห่วง พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำตลอดเวลา มีทั้งความพอใจ มีทั้งความเพียร มีการจดจ่อ

วิมังสา ใช้ปัญญาใคร่ครวญหาความจริง

เป็นอันว่าคำสอนที่เธอได้รับน้อยกว่าคำสอนที่ท่านทั้งหลายได้รับมาก คือ เธอรับคำสอนจากผมจริงๆ ผมเข้าใจว่าไม่เกินสองเปอร์เซ็นต์ของท่านทั้งหลายที่ได้รับฟัง เพราะว่าเธอไม่มีโอกาส เพียงแค่เดือนหนึ่งในสมัยก่อนได้รับฟังเพียงครั้งเดียว อย่างดีก็มารับฟังแค่ ๓ วัน ตรงกันข้ามที่พวกเราฟังกันวันละ ๔ เที่ยว มีเทปสำหรับฟัง มีหนังสือสำหรับดู แต่ว่าทั้งนี้ผมก็ไม่ได้ปรามาสที่ท่านทั้งหลายไม่มีความดี ผมพูดแล้วว่าท่านทั้งหลายมีความดีเป็นที่น่าสรรเสริญ แต่บางท่านเท่านั้นที่มีกำลังใจอ่อนไปบ้าง แต่ก็มีกำลังใจในส่วนด้านของความดีอยู่บ้าง แม้แต่พระที่ตั้งใจบวชเพียงพรรษาเดียว เราก็จะเห็นได้ว่าการเสียสละของท่านทุกอย่างทำเพื่อบุญเพื่อกุศล อย่างนี้จัดว่าท่านทั้งหลายเข้าถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระทศพล

เป็นอันว่าวันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้นในการแนะนำบุคคลผู้ปฏิบัติเข้าถึงความดี เอาเพียงแค่ รัชนี ซึ่งเป็นเด็กคณะที่เราเห็น เธอสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างตามคำสั่งสอนได้ ถ้าหากว่ามีความสงสัยว่าเธอตั้งอารมณ์ไว้แบบใด เธอยังมีชีวิตอยู่ ก็พยายามถามเธอได้เพื่อเป็นการแก้ไขเปลื้องความสงสัยของเรา จะได้ทำจิตใจของเราให้เข้าถึงความดีตามที่เธอกระทำ แต่อย่าลืมว่าพระของเราที่มีดีอยู่จนกระทั่งเวลานี้ตั้งใจจะตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด ไม่ปรารถนาความสุขที่อยู่ในโลกียวิสัยก็มี สำหรับท่านสุภาพสตรีที่มีอารมณ์อย่างนี้ก็มีอยู่มาก เป็นอันว่าส่วนใหญ่ท่านมีใจเข้าถึงธรรมะขององค์พระผู้มีพระภาค วันนี้จะไม่สอนอะไร เพียงแต่พูดให้ฟังเท่านั้น เพราะวิชาความรู้รับไว้มันล้นแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วจงใช้หลักวิชาความรู้ในมหาสติปัฏฐานสูตร และในกรรมฐานสี่สิบที่ได้รับฟังและจดจำไว้ได้ ฝึกฝนกำลังใจของท่านจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:03 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๒. นิพพิทาญาณ

ท่านทั้งหลายตั้งใจรวบรวมกำลังจิตของท่านให้เป็นสมาธิ ในอันดับแรก สิ่งที่ท่านทั้งหลายจะลืมไม่ได้ นั่นก็คือรวบรวมกำลังใจไว้ในอิทธิบาททั้งสี่ประการ คือ

ฉันทะ พอใจในความดีตามพระธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ

สองวิริยะ หักห้ามความชั่วอย่าให้เกิดขึ้นกับจิต

สามสนใจในพระธรรมปฏิปทาที่องค์พระธรรมสามิสร์สอนไว้เพื่อละกิเลส

สี่พิจารณาตามพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ด้วยอำนาจของปัญญาที่เรียกกันว่าวิมังสา

ฉะนั้น คำครหานินทาใดๆ ก็ไม่มีแก่พวกท่าน เราตั้งใจละกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน อันดับแรก รวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิ พยายามตัดโลภะ ความโลภ ตัดโทสะ ความโกรธ ตัดโมหะ ความหลง ด้วยพิจารณาให้ตรงจุดของความเป็นจริงว่า คนที่เกิดมานี่ไม่ว่าชายหรือหญิง เมื่อมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความแปรปรวนในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายจงอย่าสนใจร่างกายของตนเอง จงอย่าสนใจในร่างกายของบุคคลอื่น จงอย่าสนใจในทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เพราะว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายถ้าเป็นเราจริงมันก็ทรงสภาพอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย แต่ทว่าร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ทรงสภาพ ในที่สุดมันก็เข้าถึงขั้นสลายตัว เมื่อเราจะต้องตายทรัพย์สมบัติของเราทั้งหลายในโลกมันก็ไม่ตามเราไป แม้แต่ร่างกายที่เรารักที่สุดมันก็ไม่ตามเราไป มันคงจมอยู่ในพื้นปฐพีเป็นปกติ อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้คิดไว้อยู่เสมอ อย่างเผลอไปในด้านของความโลภ อย่าเผลอไปในด้านของความทะเยอทะยาน อย่าเผลอให้จิตใจมีความโกรธ ความพยาบาท อย่าเผลอให้ความนึกคิดว่านั่นเป็นเราเป็นของเรา อารมณ์อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงต้องการ ฉะนั้น ขอทุกท่านจงรักษากำลังใจอย่างนี้ไว้เป็นปกติ ถ้าหากว่าใจของท่านกระสับกระส่าย จงรักษาอานาปานสติกรรมฐาน มีกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกให้ทรงตัว ยังไม่ต้องคิดอะไรทั้งหมด กำหนดจิตรู้เฉพาะลมหายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นรู้อยู่ ถ้าทำอย่างนี้อารมณ์จิตของท่านจะไม่ฟุ้งซ่าน

สำหรับวันนี้จะขอนำนิพพิทาญาณที่กล่าวไว้แต่วันก่อน ว่าจิตของท่านทั้งหลายที่เข้าถึงนิพพิทาญาณ ความจริงในคณะของเราผมจะไม่กล่าวถึงพระ จะไม่กล่าวถึงบุคคลที่อยู่ในสำนัก เพราะว่าฟังกันวันละสี่เวลา อาจจะได้เปรียบกับบุคคลภายนอก เพราะบุคคลภายนอกมารับฟังวันละครั้งสองครั้ง เดือนละครั้งสองครั้งแล้วก็กลับ บางรายหลายๆ เดือนจะมาสักครั้งหนึ่งแล้วก็กลับ แต่ว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้น แม้แต่เพียงเด็กอายุ ๒๔-๒๕ ปี เป็นเด็กหญิง เธอก็มีอารมณ์เข้าถึงนิพพิทาญาณ คำว่านิพพิทาญาณแปลว่าความเบื่อหน่ายต่อชีวิต มีบางคนคิดจนกระทั่งไม่คิดจะมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อพูดถึงอารมณ์ใจที่จะต้องทรงอยู่ ถึงลูกน้อยกับสามี เธอก็หลั่งน้ำตากล่าวว่าเบื่อ นี่อย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท เป็นอันว่าท่านผู้นั้นปฏิบัติเข้าถึงความดีเป็นที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง

แต่สำหรับนิพพิทาญาณในจุดนี้ ถ้าหากว่าบังเกิดขึ้นกับท่านผู้ใด ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จงระมัดระวังใจให้ดีที่สุด อย่าพยายามทำอัตวินิบาตกรรมคือการฆ่าตนเอง มันเป็นโทษ คือ อารมณ์จิตจะเศร้าหมอง ทั้งนี้เพราะในสมัยเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ในสมัยนั้น องค์สมเด็จพระบรมครูได้แนะนำบรรดาท่านพุทธบริษัท มีบรรดาพระภิกษุเป็นต้น ให้รู้กำลังใจของตนว่า ร่างกายของเรานี้มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายมีสภาพโสโครกสกปรก ไม่มีอะไรน่ารัก ไม่มีอะไรเป็นที่น่านิยมชมเชย เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำอย่างนี้ ปรากฏว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายพากันเบื่อหน่ายในร่างกายของตน เมื่อลับตาองค์สมเด็จพระทศพลแล้ว เพราะอาศัยที่เธอเบื่อหน่าย เพราะเกิดนิพพิทาญาณเห็นว่าขันธ์ห้าคือร่างกายสกปรก ขันธ์ห้าคือร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ จะต้องปรนเปรออยู่ตลอดเวลา กินเท่าไรไม่รู้จักอิ่ม ถ่ายเท่าไรไม่รู้จักหมด ร่างกายมีแต่อาการทรยศ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต

บรรดาพวกพระทั้งหลายเหล่านั้นจึงพากันคิดว่าร่างกายเป็นโทษ ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ เบื่อหน่ายในร่างกาย จ้างปริพาชกให้ฆ่าตนว่า เธอจงเอามีดฟันคอพวกเรา เมื่อเราตายแล้วจงนำร่างกายบริขารเหล่านี้ไป เป็นเหตุให้ปริพาชกคนนั้นฆ่าพระตายเสียมากมายหลายสิบท่านด้วยกัน ต่อมาความเรื่องนี้ทราบถึงองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้มีพระพุทธบัญญัติห้ามพระสงฆ์ทั้งหลายทำอัตวินิบาตกรรม คำว่าอัตนิวิบาตกรรมก็คือการฆ่าตนเอง ถ้าใครทำอย่างนั้นทรงปรับเป็นโทษ ทั้งนี้เพราะว่าอารมณ์จิตมัวหมองอย่างนั้นไม่ใช่ว่าจะไปนิพพานได้ เพราะกำลังใจไม่บริสุทธิ์ คิดเบื่อหน่ายเห็นว่าร่างกายเป็นศัตรู อารมณ์มันก็เศร้าหมอง ทางที่จะไปใกล้พระนิพพานอยู่แล้วกลับเลี้ยวลงมาหาความเศร้าหมองของจิตอย่างนี้ อาจจะหลั่งไหลไปสู่อเวจีมหานรกก็ได้

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ทรงแนะนำบรรดาพระภิกษุทั้งหลายว่า ภิกเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านปฏิบัติร่างกายของท่าน พิจารณาร่างกายของท่าน ใคร่ครวญขยายออก กระจายออก คือ

พิจารณาอันดับแรกเป็นธาตุสี่ ว่าร่างกายของเรานี้เป็น ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุน้ำ มันประกอบเข้ามาเป็นร่างกาย เรามีความเข้าใจว่าร่างกายเป็นแท่งทึบ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ร่างกายของเราแบ่งออกเป็นอาการสามสิบสอง มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น ทั้งหมดนี้รวมเข้าแล้วเป็นกาย แต่ทว่าร่างกายเหล่านี้มันเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มันเต็มไปด้วยความอนิจจัง คือ หาความเที่ยงไม่ได้ มันเต็มไปด้วยทุกขัง คือเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีความสุข มันเต็มไปด้วยอนัตตา คือ มันสลายตัวไปทีละน้อยๆ ทุกเวลาที่เคลื่อนไป

เธอทั้งหลาย จงอย่าสนใจในร่างกายของเธอ จงอย่าสนใจในร่างกายของบุคคลอื่น จงอย่าสนใจในทรัพย์สินทั้งหลาย

จงทำลายความรักในเพศด้วยอำนาจอสุภสัญญา

จงทำลายความโลภด้วยการตัดความอยากได้ด้วยการให้ทาน อย่าทะเยอทะยานในทรัพย์สินที่ไม่ใช่เป็นของดี เป็นปัจจัยให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

อย่าสนใจในความโกรธ ความพยาบาท ในบุคคลทั้งหลาย ใครเขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เขาจะนินทาว่าร้ายว่าเรา ถ้าบังเอิญเราเป็นคนดีก็ไม่เลวไปตามคำพูด ถ้าเขาสรรเสริญว่าเราดี ถ้าเราเลวเราก็ไม่ดีไปตามคำเขาพูด ความดีและความชั่วอยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติเป็นสำคัญ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ใครจะว่าดีว่าเลวก็ช่าง อย่าสนใจทั้งสองประการ เราปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระพิชิตมารเท่านั้นเป็นพอ เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้

ต่อไปองค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ทรงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงอย่ามัวเมาในชีวิต จงอย่าคิดว่าเราจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน เพราะว่าชีวิตร่างกายของเรานั้นมันไม่มีอะไรเป็นความสุข มันมีแต่ความทุกข์ มันไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน

แต่ว่าเมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาอย่างนี้แล้ว ถ้าหากว่าความเบื่อหน่ายมันเกิดขึ้นด้วยว่าเรากระจายออกแล้วจงรวมเข้า คิดถึงว่าถ้าร่างกายของเรายังไม่หมดอายุขัยเพียงใด จงอย่าด่วนทำลายเสีย ให้มันทรงอยู่อย่างนั้น ด้วยว่าการทรงอยู่ของร่างกายถึงแม้ว่าเป็นทางนำมาซึ่งความทุกข์ แต่ทว่าถ้าจิตใจของเรามีความสุข ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาว่าร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุสี่ มีความสกปรก มีความไม่จีรังยั่งยืนอย่างนี้ ที่เราอาศัยอยู่นี้มันสกปรกจริง มันเป็นทุกข์จริง แต่มันมีความเกิดขึ้นแล้วมีการเสื่อมไป แล้วมีการสลายไปในที่สุด เราจำจะต้องยอมบริหารกายก็จริงแหล่ แต่ทว่าอย่าเพิ่งทำลายมันเสีย ทั้งนี้เพราะเมื่อจิตใจเราเกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่าย ตอนนี้กำลังใจของเรายังไม่เข้าถึงความเป็นพระอรหัตผล ชื่อว่ายังเป็นคนผู้ทรงญาณมีวิปัสสนาญาณพอสมควรเท่านั้น

กำลังใจของเราจะทรงให้ได้ดีจริงๆ ต้องน้อมใจของเรานี้ไปฝึกไปด้วยปัญญาพิจารณาหาความจริง จิตใจตั้งอยู่ในสังขารุเปกขาญาณ นั่นก็คือมีอาการวางเฉยตามสภาวะของสังขาร คือ ร่างกายและทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มีความรู้ตามความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นอนิจจัง คนก็เป็นอนิจจัง สัตว์ก็เป็นอนิจจัง วัตถุในโลกก็เป็นอนิจจัง คำว่าอนิจจังแปลว่ามันไม่เที่ยง เรารู้ตามความเป็นจริงของมันว่ามันไม่เที่ยง ในเมื่อมันไม่เที่ยง เรายอมรับนับถือความไม่เที่ยงของมัน มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกหาอะไรเที่ยงไม่ได้

แต่ว่าเมื่อมันไม่เที่ยง เราก็ทำใจของเราให้เที่ยง ทำใจของเราให้เที่ยง มันเที่ยงตรงไหน เที่ยงตรงที่มันมีความรู้สึกตามกฎของธรรมดาอยู่เสมอว่า ร่างกายก็ดี วัตถุธาตุก็ดี ที่เกิดมาในโลกนี้มันไม่เที่ยง มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นและก็มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการแตกสลายตัวไปในที่สุด

สภาพของมันเป็นอย่างนี้ เมื่อสภาพของมันเป็นอย่างนี้เราก็ทรงจิตของเราให้เที่ยง มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี เมื่อมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว มันก็ค่อยๆ คลานเข้าไปหาความเสื่อม หรือคลานเข้าไปหาความตาย ทุกขณะจิต ทุกเวลาสภาวะของร่างกายนี้จะต้องประคบประหงมมันด้วยอาหาร ยารักษาโรค ด้วยอาภรณ์เป็นเครื่องปกคลุมกาย มีบ้านเรือนเป็นเครื่องอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ใจของคนที่เราจำเป็นจะต้องรับสัมผัส คือ อารมณ์ทั้งความชมและความติ

เป็นอันว่าเรารู้ใจมันเสียหมด รู้เท่าทันมันเสียให้หมด ว่าปกติของโลกก็ดี ปกติของชาวโลกก็ดี ไม่มีอะไรจริง คำว่าไม่เที่ยงก็คือไม่จริงจัง ร่างกายของเรามันเป็นของเรา มันก็เป็นของเราไม่จริง ไม่ช้ามันก็พัง อาการป่วยไข้ไม่สบายเป็นอาการปกติของร่างกาย ความแก่เฒ่าเป็นความปกติของร่างกาย การสัมผัสกับอารมณ์ที่เราชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างเป็นธรรมดาอารมณ์ของชาวโลก เวลาเกิดมาแล้ว มีกิจที่จะต้องทำในฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ในฐานะที่เป็นบุคคลใต้บังคับบัญชาของครอบครัว เราปฏิบัติตามหน้าที่ให้ครบถ้วนเพราะว่าเราไม่ทุกข์

ท่านบอกว่า ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ ที่มันจะทุกข์ได้เพราะใจเราเข้าไปยึด ถ้าเราวางเป็นสังขารุเปกขาญาณ คำว่าสังขารุเปกาญาณแปลว่าความวางเฉยในขันธ์ห้าหรือสังขารเมื่อมันจะแก่ก็เชิญแก่ เพราะเรารู้ว่ามันจะแก่ เมื่อความแก่เข้ามาถึงจริงๆ จิตใจเราก็เฉยไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์ตอนที่เรียกว่ามันจะแก่ก็เชิญแก่ เพราะเรารู้ว่ามันจะแก่

เมื่อความป่วยไข้ไม่สบายเข้ามาถึง มันเป็นความทุกข์ ถ้าเราไม่ยึด ถ้าหากว่ามีสังขารุเปกขาญาณความวางเฉย รู้อยู่แล้วว่าร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหมดจะต้องป่วย ในเมื่อมันป่วยเข้ามาจริงๆ เราก็เฉย ถือว่ามันเป็นธรรมดา รักษาหายก็หาย รักษาไม่หายตายก็ช่างมัน เราก็รักษามันไปตามหน้าที่ เป็นการระงับเวทนา ทุกขเวทนาเกิดขึ้นจากการป่วยไข้ไม่สบายก็ดี เกิดขึ้นจากความหิวความกระหายต้องการในอาหารก็ดี ทุกขเวทนาเกิดขึ้นจากความหนาวความร้อนก็ดี เราไม่วิตกกังวล เฉยเพราะถือว่าธรรมดาของร่างกายเป็นอย่างนี้ ต่อมาเมื่อความตายจะเข้ามาถึง ใจก็เฉย มีอารมณ์ใจสงบ ทั้งนี้เพราะเราทราบอยู่แล้วว่าร่างกายมันจะตาย

เป็นอันว่าถ้าท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีอารมณ์ใจเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณ มันก็มีการวางเฉยในทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเป็นไปตามสภาวะของขันธ์ห้าคือร่างกาย ใจก็เป็นสุข เมื่อจิตใจของเราวางเฉยในขันธ์ห้าเสียได้แล้วก็เฉยภายนอกทั้งหมด ร่างกายของใครจะพัง ที่เป็นญาติ เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นคนรัก ใจเราก็เฉย มันเฉยในร่างกายของเราได้แล้ว กายของบุคคลอื่นที่เราจะเห็นว่าสำคัญกว่ากายของเรานี่มันไม่มี

องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงกล่าวต่อไปว่า บุคคลที่มีกำลังใจเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณมีอารมณ์จิตเป็นสุข สุขตอนที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา จิตก็เฉยในกามารมณ์ คือความรักในเพศ คือเฉยในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เฉย ถ้าไม่ยืนเฉย เห็นว่ามันสกปรก มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ไม่สนใจอะไรกับมัน และก็เฉยในความโลภอยากจะร่ำรวย ประกอบอาชีพในทางทุจริตคิดมิชอบ ไม่ถูกตามระบอบของพระธรรมวินัย ไม่ยื้อแย่งทรัพย์สมบัติของใคร หามาได้เท่าไรพอใจเท่านั้นด้วยความสุจริต ไม่หาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม เฉยในความโลภ เพราะเมื่อเฉยในร่างกายได้ มันก็เฉยในความโลภได้ ถ้าเฉยในร่างกายได้ มันก็เฉยในความโกรธได้ เพราะคนที่เขาจะด่า จะว่า จะนินทา เขาด่า เขาว่า เขานินทากาย เมื่อเราไม่สนใจในกาย จิตของเราก็สบายมีความสุข อยากจะด่าก็เชิญ อยากจะว่าก็เชิญ เพราะคนที่ด่าที่ว่าเรานี่ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีอะไรเป็นสรณะที่เราจะยอมรับฟังได้ด้วยความเชื่อถือ เราเฉยได้เพราะเห็นว่าคำนินทาว่าร้ายไม่เป็นประโยชน์ สรรเสริญก็ไม่เป็นประโยชน์ นินทาก็ไม่เป็นโทษ เพราะเราไม่ยอมรับ และเราก็เฉยในการยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกทั้งหมด ปรากฎว่าเราไม่ยินดียินร้ายในเรื่องอะไรทั้งหมด จิตมันก็เป็นสุข เมื่อจิตเป็นสุขอย่างนี้ องค์พระมหามุนีทรงกล่าวว่าเราเป็นพระอรหันต์ อรหันต์แปลว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ไกลจากความเกาะในอารมณ์ทั้งปวง ในขันธ์ห้าของร่างกาย ขันธ์ห้าในร่างกายของบุคคลอื่น วัตถุธาตุทั้งหมด นี่แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัทผู้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต จงกำหนดทรงอารมณ์ไว้อย่างนี้เป็นปกติ ความสุขจะเข้ามาถึงท่าน นั่นก็คือพระนิพพาน

เอาละ สำหรับวันนี้ เวลาสำหรับการที่จะแนะนำกันก็หมดแล้ว ก็ขอยุติก่อน ขอสาวกขององค์สมเด็จพระชินวรจงทรงอารมณ์ใจตามที่กล่าวมาแล้วนี้ในอิริยาบถทั้งสี่ จะนั่งก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จะนอนก็ได้ ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของท่าน จนกว่าจะได้เวลากาลอันสมควร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:03 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. สิ่งที่สร้างความสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ อารมณ์ฟุ้ง

บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัทรวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกมีความสำคัญ เพราะว่าการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี่เป็นกรรมฐานระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทอย่าทิ้งอารมณ์นี้เสีย ถ้าขณะใดมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ขณะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านจงวางคำภาวนาและพิจารณาเสียให้หมด เอาจิตเข้าไปกำหนดจับลมหายใจเข้าหายใจออก และจงอย่าลืมว่าการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี้ อย่าบังคับลมหายใจให้แรงหรือเบา ให้ยาวหรือให้สั้น ปล่อยลมหายใจไปตามปกติเพื่อความสบายใจของจิต หลังจากนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจับลมหายใจเข้าออกว่า เวลานี้เราหายใจเข้าหรือว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือหายใจเข้าสั้น จนกว่าจิตจะสบาย กรรมฐานกองนี้มีความสำคัญมาก บรรดาท่านทั้งหลายมักจะพูดกันอยู่เสมอว่ารวบรวมกำลังใจไม่ได้ ใจมันฟุ้งซ่าน การกำหนดรู้ลมหายใจก็อย่ากำหนดให้นานเกินไป ถ้าเห็นว่านานเกินไป ทนไม่ไหวก็เลิกปล่อยอารมณ์คิดไปตามปกติ

ต่อแต่นี้ไปก็จะนำเอาปฏิปทาของท่านที่ปฏิบัติมาแล้วในชาติปัจจุบันนี้ คือในปัจจุบัน คำว่าปัจจุบันก็หมายความว่าในชีวิตเราๆ สำหรับท่านผู้นี้มีปฏิปทาการปฏิบัติเต็มไปด้วยความยากเข็ญ ก็เห็นจะเหมือนกับพวกเราๆ นี่เอง แต่ว่าในที่สุด อาศัยท่านทรงอิทธิบาททั้งสี่ประการครบถ้วนและก็เป็นท่าเอาจริงเอาจัง ตามสมุดบันทึกปรากฏว่าท่านสามารถเอาชนะกำลังจิตได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง

คาดไม่ถึงก็หมายความว่า คนสมัยหนึ่งมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เวลานี้ไม่มี ฌาณสมาบัติไม่มีมรรคไม่มีผล ไม่มีพระอริยเจ้า สำหรับสมุดบันทึกฉบับนั้นที่สามารถค้นคว้าหาเอามาได้จากปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าที่บันทึกไว้ จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับท่านพุทธบริษัท จึงจะขอนำเอาบันทึกของท่านมาแนะนำกับบรรดาท่านพุทธบริษัทถึงปฏิปทาของคนปัจจุบัน ความจริงก็ไม่ใช่ปัจจุบันนัก เวลากาลผ่านมามากเหมือนกัน รู้สึกว่าในระยะตอนต้นท่านก็ต่อสู้มาหนัก เอามาเล่าสู่กันฟังจะได้เป็นปฏิปทาของท่าน ท่านผู้เฒ่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ไม่ขอบอก เพราะว่าในสมุดบันทึกไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ถ้าหากว่าจะถามว่าจะเชื่อได้อย่างไรว่ามีตัวมีตนอยู่ ก็ขอรับรองในฐานะที่ท่านเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครูปฏิปทาเริ่มต้นของท่านมีดังนี้

อันดับแรกก็เจริญพระกรรมฐานอย่างพวกเราๆ อารมณ์ของท่านก็เหมือนอารมณ์ของเรานี่เอง สิ่งที่จะต้องต่อสู้หนักนั่นก็คือ อารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต คำว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิตนี่มันฟุ้งหลายแบบ คือฟุ้งไปในอารมณ์ของความรักในระหว่างเพศ ฟุ้งไปในอารมณ์ของความโกรธ ฟุ้งไปในอารมณ์ของความผูกโกรธ ฟุ้งไปในอารมณ์ของความหลง ฟุ้งไปในอารมณ์ของความทะเยอทะยาน อาการทะเยอทะยานก็มี

ประการที่หนึ่ง อาการอยากจะมีความรู้ให้เลิศกว่าบุคคลอื่น
ประการที่สอง อยากจะมีจริยาเด่นกว่าคนอื่น
ประการที่สาม อยากจะมีฤทธิ์ อยากจะมีเดช
ประการที่สี่ อยากจะบรรลุ มรรค ผล ทำตนให้ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ

แต่ความฟุ้งอย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน มันเป็นของไม่ดี นี่เราคุยกันแบบย่อๆ จะขอนำปฏิปทาต้นๆ ของท่าน คือจะขอนำประวัติการประพฤติปฏิบัติ ท่านเล่าไว้ในประวัติของท่าน บอกว่ามีอารมณ์ฟุ้ง

อันดับแรกก็มีการแก้อารมณ์ฟุ้งเป็นสำคัญ พอเข้ามาศึกษากับครูบาอาจารย์ บรรดาครูบาอาจารย์สมัยนั้นท่านก็เป็นครูจริงๆ คำว่าครูจริงๆ ก็หมายความว่าสอนกันครั้งเดียว ขึ้นชื่อว่าคำสอนไม่พยายามสอนเป็นวาระที่สอง อะไรก็ตามถ้าบอกไปแล้ว ถ้าจำไม่ได้ในสมัยที่ขณะบอกให้ทวนถาม ถ้าไม่ถามถือว่าเข้าใจ ถ้าขณะที่สอนไปจุดใดจุดหนึ่ง ถ้าจุดนั้นยังทำไม่ได้ ไม่ยอมสอนต่อ การสอนแบบนี้ก็ดีสำหรับนักปฏิบัติผู้เอาจริงเอาจัง และก็เป็นปัจจัยสร้างความอุตสาหะ วิริยะ ให้แก่คณะศิษยานุศิษย์ ซึ่งผิดกับคำสอนในสำนักของเรา ผมก็รู้สึกว่าคำสอนในสำนักของเรานี้มันเฟ้อเกินไป มีความรู้สึกว่าอย่างนั้น ในกาลบางครั้ง เราจะเห็นว่ากำลังใจของท่านนักปฏิบัติที่อยู่ประจำ มองดูแล้วบางท่านบางทีก็ยังไม่ได้อะไรเลยก็มี แต่ว่ามีความหลงผิดคิดว่าเป็นผู้เลิศ นี่ต้องระวังไว้ให้มาก อย่าดูใจคนอื่น อย่าดูจริยาของบุคคลอื่น ดูแต่ใจของเราเองเป็นสำคัญ มาว่ากันถึงการแก้อารมณ์ฟุ้งของท่านผู้เฒ่า

ในอันดับแรกตามที่ท่านบันทึกไว้ ท่านบอกว่าสิ่งที่มันจะสร้างความสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ อารมณ์ฟุ้ง มันฟุ้งทุกอย่าง บางทีเช้าฟุ้งไปอย่างหนึ่งในด้านอารมณ์ของความรัก ทั้งๆ ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พยายามปฏิญาณตนไว้แล้วว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เราขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็ได้สมาทานพระกรรมฐานไว้แล้วว่า อิมาหัง ภควา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจัชฌามิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่ามอบกายถวายชีวิตก็หมายความว่า จะไม่ทำกิจใดๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ผิดต่อพระพุทธพจน์บทพระบาลี เพราะว่าสิ่งใดที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า ไม่ควรจะไม่ทำอย่างนั้น สิ่งใดที่องค์พระภควันต์ทรงแนะนำส่งเสริมให้ปฏิบัติจะทำอย่างนั้น

อันดับแรกจะทำเอาจิตเข้าฌานให้จงได้ ท่านกล่าวว่าแม้แต่ตั้งใจไว้อย่างนี้ ความเลวของจิตก็ยังปรากฏ มันฟุ้งทุกแบบ อาการแรกที่ครูบาอาจารย์สอน ท่านบอกว่า หนึ่ง ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก วิธีกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกก็ปล่อยอารมณ์ธรรมดา ให้มันหายใจธรรมดา คือว่าไม่ฝืนลมหายใจธรรมดา ไม่บังคับให้แรง ไม่บังคับให้เบา ไม่บังคับให้ยาว ไม่บังคับให้สั้น ให้มันอยู่ตามปกติของมัน เวลาหายใจเข้า พระอาจารย์สอนให้นึกว่า พุท เวลาหายใจออกให้นึกว่า โธ แล้วครูบาอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าหากปฏิบัติอย่างนี้ ขณะใดที่จิตรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ขณะใดจิตรู้คำภาวนาว่า พุทโธ ขณะนั้นจิตเป็นสมาธิ ท่านสอนไว้เพียงเท่านี้ แล้วท่านก็ทิ้งท้ายว่า ถ้าเธอยังทำไม่ได้ จงอย่ากลับมาหาฉัน

นี่เป็นคำสอนและก็เป็นคำสั่งของอาจารย์ การรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก การรู้คำภาวนา พุทโธ เป็นคำสอน แต่ว่าคำสั่งก็คือคำว่า ถ้าเธอยังไม่สามารถทำได้ ยังไม่สามารถชนะจิตได้ ถ้าเธอยังอดทิ้งอารมณ์ทั้งสองประการ ไม่สามารถจะบังคับอารมณ์จิตให้ทรงอยู่ได้เป็น เอกัคตารมณ์

คำว่าเอกัคตารมณ์ก็คือว่า ไม่ลืมคำว่า พุทโธ ไม่ลืมกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และขณะที่ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ ขณะที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จะไม่ยอมให้สิ่งอื่นเข้ามามีอำนาจเหนือใจ และพระอาจารย์ท่านยังแนะนำอีกว่า ในขณะที่เราฝึกใหม่ จะชนะใจของตนตลอดเวลาที่เราทรงจิตตั้งอารมณ์ไว้เฉพาะเวลาไม่ได้ มันก็มีเวลาที่อารมณ์จะฟุ้งไปสู่อารมณ์อื่นได้บ้าง เป็นของธรรมดา แต่ว่าเมื่อมันซ่านไปก็ดึงเข้ามา ในเมื่อมันซ่านไปใหม่ เมื่อรู้สึกตัวก็ดึงเข้ามาใหม่จนกว่าเราจะชนะใจ คือทรงอารมณ์ได้ตามเวลาที่เราตั้งไว้เวลาสั้นๆ

ท่านบอกว่าคำแนะนำตอนต้นของอาจารย์ท่านบอกไว้เพียงเท่านี้ แล้วท่านก็พยายามหาทางฝึกทุกอย่าง หาสถานที่สงัดจากเสียง สงัดจากบรรดาสถานที่ที่เต็มไปด้วยคนหรือประชาชน หามุมสงัดนั่งสมาธิด้วยการขัดสมาธิสองชั้นบ้าง นั่งพับเพียบบ้าง นั่งเอนกายบ้าง นั่งห้อยขาเอาหลังพิงเสาบ้าง พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก

ท่านบอกว่าตอนแรกมันง่ายเหลือเกิน รู้สึกว่าพระกรรมฐานนี่ไม่มีอะไรยาก เพียงแค่นี้น่ะรึที่จะเกินวิสัยเรา แต่ว่าทำเข้าจริงๆ บางคราวมันก็สามารถจะรักษาอารมณ์ยาวได้เวลา ๕ นาที ๑๐ นาที คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกพร้อมกับคำภาวนา คือหายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ แต่ว่าในกาลบางครั้งท่านบอกว่ามันกลุ้มกลัดจริงๆ แม้แต่เพียงจะตั้งอารมณ์ไว้สักเพียงสองนาทีก็ทรงอารมณ์ไม่อยู่ ครั้นจะไปหาท่านครูให้แก้อารมณ์ ท่านก็สั่งไว้ว่า ถ้าเธอไม่สามารถจะรักษาอารมณ์นี้ไว้ได้ไม่ต้องเข้ามาหาฉันอีก บรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย ครูสมัยนั้นดุเกินไป แต่ความจริงถ้าคิดว่าครูสมัยนั้นดุเกินไปละก็ยังน้อยเกินไป คือว่าน้อยเกินไปสำหรับกฎที่องค์พระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน

สมัยนั้นองค์สมเด็จพระชินวรทรงสอนอย่างย่อแต่ต้นยันอรหัตผล เมื่อสอนแล้วองค์สมเด็จพระทศพลก็ทรงส่งคนพวกนั้นเข้าป่า เมื่อท่านศึกษาอยู่ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง พระพุทธเจ้าไม่เคยพูดกับใครถึงชั่วโมง ไม่เคยเจอบทคำสอนตอนไหนเลยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรสอนถึงหนึ่งชั่วโมง อย่างมากเราถือว่าหนึ่งชั่วโมงก็แล้วกัน การสอนถึงหนึ่งชั่วโมงนี่จะมีอะไรกันบ้าง ลองมาวาดภาพกันดู แต่เมื่อองค์สมเด็จพระบรมครูทรงสอนแล้ว ก็ส่งพระพวกนั้นเข้าป่าไปเลย ไม่ต้องกลับมาหากันอีก แต่ว่าบรรดาท่านทั้งหลายเหล่านั้นเข้าป่าไปแล้ว กว่าจะเข้ามาพบองค์สมเด็จพระประทีปแก้วบางทีก็ไม่ถึงพรรษา บางท่านก็จำพรรษาในป่า บรรลุอรหัตผลก่อน ออกพรรษาแล้วก็มาเฝ้าองค์สมเด็จพระชินวร

เป็นอันว่าสมัยนั้นพระพุทธเจ้าทรงส่งช้างให้แบก แต่ท่านก็แบกกันได้ ถ้าจะบอกว่าบารมีท่านเต็ม ก็อย่าลืมว่า บารมีแปลว่ากำลังใจ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นท่านมีกำลังใจฉันใด พวกเราก็มีกำลังใจฉันนั้น

คำสอนขององค์สมเด็จพระภควันต์ยังอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ ยังไม่ได้สลายตัวไปจากโลกนี้ ในบันทึกฉบับนั้น ท่านบอกว่ามานึกถึงตอนนี้ก็มาคิดในใจว่า ถ้าเราชนะไม่ได้นี่จะยอมตายเสียดีกว่า จะไม่เข้าไปหาอาจารย์จนกว่าจะชนะจิตเบื้องต้น

คำว่าชนะในตอนนี้พระอาจารย์บอกว่า ถ้าหากเธอจะปฏิบัติได้ถึงฌานสี่ก็ยิ่งดี ถ้าไม่ได้ฌาน ก็ให้ได้ธรรมปีติ ปีติคือความอิ่มใจ แล้วก็การโกหกอาจารย์ท่านทั้งหลายไม่มีผล ถ้าพระอาจารย์องค์ใดท่านปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทศพลจนขั้นได้เจโตปริยญาณ สามารถรู้อารมณ์ใจของเรา เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ท่านบอกว่าอย่างนั้น

แล้วทำอย่างไรเล่า อารมณ์ฟุ้งตอนนี้ ใช้คำภาวนาว่าพุทโธสามรอบก็ไม่ไหว บางคราวมันก็ดี ท่านก็เลยจัดหาวิธีใหม่ สิ่งที่อาจารย์สอนตอนนั้นต้องกล่าวว่ามันละเอียดเกินไปสำหรับใจของท่าน ท่านจะหาลูกประคำท่านก็หาไม่ได้ เพราะเข้าไปอยู่ในป่าช้า เข้าไปอยู่ในป่าชัฏ เข้าไปอยู่ในที่สงัด ลูกประคำเขาไม่มีขายเกลื่อนกลาดเหมือนสมัยนี้ หาอะไรดี ก็ไปเอาเม็ดกรวดมากำมากี่เม็ดก็ตาม เอามากอบหนึ่ง กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึก โธ หยิบเม็ดกรวดจากกองออกไปวางข้างนอก ๑ เม็ด หายใจเข้าว่า พุท ออกว่า โธ หยิบไปเม็ดหนึ่ง ทำกันอย่างนี้ ตั้งใจไว้ว่าถ้าเราชนะอารมณ์จิตเท่าเม็ดกรวดที่มีอยู่นี้ไม่ได้ เราจะไม่ยอมเลิก เราจะยอมตาย

ตามบันทึกท่านบอกว่า ใหม่ๆ เกือบจะดิ้นตาย ว่าไปสองสามเม็ดเท่านั้นมันดิ้นพังเสียแล้ว มันไม่ยอมเอาด้วย คือหมายความว่ามันไม่ยอมจะทรงอยู่ พอว่า พุทโธเม็ดหนึ่ง พุทโธเม็ดสอง พอพุทโธที่สาม พุท ไม่ทัน โธ อารมณ์อาการอย่างอื่นมันก็เข้ามาแทรก มันคิดแซงเข้ามา เห็นท่าจะไปไม่ไหว ทำอย่างไร ต่อสู้กันไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ใช้ปัญญาด้วยตนเอง

คราวนี้ลุกขึ้นเดิน เดินวนไปวนมา วนมาวนไป มันจะคิดอะไรก็ช่าง เดินไปเดินมา เดินมาเดินไปอยู่สักครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ในช่วงแห่งการเดินนั้นก็นับก้าวเล่นโก้ๆ ว่า หนึ่ง สอง สามก้าวตามจังหวะของก้าว แล้วบางทีก็ก้าวไปก็พุทโธ พุทโธ ไม่กำหนดตามลมหายใจเข้าออก เอาตามเท้าก้าว เดินไปเดินมาเดินมาเดินไปสักครู่หนึ่งก็โปร่ง พอโปร่งดีก็ปล่อยใจให้สบาย มันอยากจะคิดอะไรก็คิดไปให้อารมณ์มันเป็นสุข พออารมณ์เริ่มเป็นสุขก็กลับมาเล่นกับเม็ดกรวดใหม่ จับเม็ดกรวดหนึ่งเม็ด พุทโธ เอามาวางนอกกองหนึ่งเม็ด พุทโธ เอามาวางนอกกองอีกหนึ่งเม็ด ท่านบอกว่าตอนนี้ชนะได้ เม็ดกรวดหมดกองไปแล้วใจยังสบาย ไม่เดือดไม่ร้อน หมายความว่า อารมณ์มันก็เริ่มเป็นสุข พอชนะเม็ดกรวดได้หมดกองพอสบายก็นอน

ตอนนอนอยู่นี้ก็ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาสำหรับจิต คืออารมณ์จิตมันอยากจะคิดอะไรก็ปล่อยมันคิดไปตามอารมณ์ เมื่อมันอยากจะคิดก็คิดไป คิดๆ ไปก็เลยหลับ พอตื่นขึ้นมาใหม่ พอมีกำลังใจ พอรู้สึกขึ้น ท่านก็บอกว่าจิตมันก็จับอยู่ พอรู้ตัวก็ พุทโธ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก นอนอยู่แบบนั้น ต่อสู้กับอารมณ์แบบนี้มา ท่านบอกว่ากว่าจะชนะได้หลายวัน อารมณ์จิตกว่าจะเข้าถึงจุด จุดก็ไม่ใหญ่นัก เอากันแค่ปีติเท่านั้น ต่อสู้กันจริงๆ ท่านบอกว่าจะเอาให้อารมณ์ทรงนิ่ง ท่านบอกว่าสู้กันอยู่หลายวันกว่าจะชนะได้ คือเวลาทำไม่ใช่ทำกันอยู่ทั้งวัน ต้องมีอาการผ่อนหนักผ่อนเบาสำหรับอารมณ์

ตอนแรกท่านบอกว่าเรามันโง่ ใช้อารมณ์เครียดเกินไป จะเอาชนะใจทันทีทันใดให้มันเป็นไปตามความประสงค์ มันก็เป็นไม่ได้ พอมาเริ่มรู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ พออารมณ์มันเครียดก็เลิกเสีย อารมณ์มันฟุ้งจัดหนักเข้าก็เลิกเสีย หาอิริยาบถให้มันสบาย นอนบ้าง เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งห้อยขาบ้าง ดีไม่ดีก็มาเล่นอย่างโน้น อย่างนี้ จับไม้เคาะบ้าง บางคราวก็มองดูใบไม้ มองดูยอดไม้ มองดูดิน ให้จิตมันอยู่ที่ยอดไม้ จิตมันอยู่ที่ใบไม้ จิตมันอยู่ที่ดินตามอัธยาศัย บางครั้งก็หยิบไม้มาอันหนึ่ง มานั่งเคาะไม้ป๊อกๆ ให้หูมันอยู่ที่ไม้เคาะ บางทีก็เอาจิตไปจับอยู่ที่พระพุทธรูป ดูพระพุทธรูปว่า ท่านมีพระพุทธลักษณะเป็นอย่างไรที่เขาทำไว้ มองไปเพ่งไปใจก็สุข พอใจมันสงบสงัด มีอารมณ์เป็นสุข จับคำภาวนาว่า พุทโธ อารมณ์ก็เกิดความแช่มชื่น

ท่านบอกว่าต่อสู้อยู่อย่างนี้จนกว่าจะชนะใจได้ตามเวลา คือระยะแรกเอาเม็ดกรวดมากอบหนึ่ง พุทโธ หนึ่งเม็ด พุทโธ หนึ่งเม็ด หมดกอบ ตอนต้น ไม่ทันจะหมดกอบมันไม่อยู่ พอท่านี้เข้าบ่อยๆ เม็ดกรวดหมดกอบ ใจยังอยากพุทโธต่อไป มันอยากพุทโธต่อไป ก็ตั้งใจอยู่ว่ากลับทวนอีกรอบหนึ่ง ถ้ามันไม่จบ จิตมันซ่าน เราจะตั้งต้นใหม่ เราจะยอมตาย แต่ต้องดูกำลังใจ ถ้ามันซ่านจริงๆ ท่านก็บอกว่าเผ่นเหมือนกัน

ในที่สุดรอบที่สองท่านก็สามารถทำได้ และก็ทั้งที่สามารถทำรอบที่สอง แต่ในกาลบางครั้ง บางคราวบางวัน ท่านบอกว่าไม่ไหวเหมือนกัน บางทีพอจับเข้า จิตมันก็นึกพล่าน เมื่อมันพล่านจริงๆ ก็ต้องปล่อยมันให้สบาย ในที่สุดท่านก็สามารถจะเอาชนะ ทรงจิตไว้ได้ตามจำนวนเม็ดกรวดที่กองไว้

บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ปฏิปทาการปฏิบัติของท่านผู้เฒ่านี้ยาว เวลานี้มันหมดเสียแล้ว ขอบรรดาท่านทั้งหลายที่ไม่สามารถจะเอาชนะใจของท่านได้ลองไปปฏิบัติตามปฏิปทาของท่าน นี่ยังนะ วิธีเอาชนะจิตนี่ยังไม่จบวันนี้ เพราะว่าชนะจิตแต่เพียงสั้นๆ ยังไม่จบ แต่ว่าเวลาจบแล้ว ต่อนี้ไปขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงใช้อิริยาบถตามสมควร ท่านจะนั่ง ท่านจะนอน ท่านจะยืน ท่านจะเดินนั่งท่าไหนก็ได้ตามอัธยาศัย ขอให้รักษากำลังใจของท่านให้คงอยู่ตามที่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงต้องการ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:04 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๔. อาการปีติทั้ง ๕ ประการท่านผ่านหมด

จะขอบอกปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าในสมัยเมื่อผมยังเด็กๆ คำว่าเด็กก็หมายถึงสมัยเมื่อบวชใหม่ ได้ทราบถึงปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าผู้นั้น แต่ทว่าเวลานั้นก็ทราบไม่ละเอียดนัก ต่อมาได้รับหนังสือบันทึกของท่านที่ท่านได้ทำเข้าไว้ แต่ความจริงไม่ได้อนุญาตให้ผม ท่านบันทึกไว้เมื่อสมัยท่านทำกิจจบแล้ว

คำว่าจบในที่นี้ ผมก็ไม่ได้พยากรณ์ท่านว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ทว่าการที่ท่านพยากรณ์ไว้ก็ไม่ได้มีความมุ่งหมาย เพราะว่าท่านบันทึกไว้ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะขายให้แก่ใคร เป็นการบันทึกปฏิปทาของท่านไว้เพื่อความทรงจำหรืออะไร ผมก็ไม่ทราบแน่นัก

เป็นอันว่าเรื่องประวัติไม่สำคัญ เรามาดูแนวทางของท่านว่า ที่ท่านทำแล้ว ในที่สุดท่านก็พยากรณ์ชีวิตของท่านว่าจะมีอายุเท่าไร ถ้าไม่มีการต่อใหม่ท่านจะตายเมื่อไรกันแน่ ถ้าหากว่าจะถามว่าต่ออายุได้หรือ ก็ต้องตอบว่าท่านผู้ใดถ้าหากว่ามีความคล่องแคล่วหรือว่าชำนาญในอิทธิบาททั้งสี่ประการ ท่านทั้งหมดนั้นเป็นผู้ที่มีอายุไม่แน่นอน หมายความว่าการทรงชีวิตอยู่ของท่านถ้ามีประโยชน์กับประชาชนทั้งหลาย ท่านก็มีอายุถึงอายุขัยหรือว่าจะเลยกว่านั้นก็ได้ มันเป็นของไม่แปลก ถ้าหากว่าชีวิตความเป็นอยู่ของท่านไม่ประสบการเป็นประโยชน์กับปวงชน ท่านจะตายเมื่อไรก็ได้ก็เป็นเรื่องของท่าน

เป็นอันว่าท่านทั้งหลายที่ทรงอิทธิบาทสี่ มีความคล่องแคล่วมีความชำนาญ องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาตรัสว่า หากว่าท่านผู้นั้นจะอธิษฐานอายุของท่านให้อยู่กัปหนึ่งก็ยังได้ แต่ว่าท่านที่มีความชำนาญแบบนี้มีใครบ้างที่ไหนเขาจะอยากอยู่ เมื่อเห็นว่าขันธ์ห้ามันไม่สามารถจะทรงไหว พยายามให้มันทรงอยู่ต่อไปมันก็อยู่ได้อย่างชนิดไม้ค้ำยัน คือหมายความว่าต้องยันหน้ายันหลังแบบนี้เขาไม่อยู่กัน เขาจะอยู่กันต่อเมื่ออาการอย่างนั้นมันจะทรงตัวไม่ลำบากนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขายังมีประโยชน์กับประชาชนคนที่มีความเลื่อมใสที่จะทำความดี ท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็สามารถจะต่อวาระของท่านไปอีกสักนิดสักหน่อยตามสมควร ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็ไม่น้อยนัก เห็นว่าสังขารมันร่อแร่เต็มที จะพยุงกันด้วยอาหารก็ลำบาก ใช้กำลังใจช่วยก็ไม่สมบูรณ์นัก ก็เลิกไม่อยู่ เพราะถึงอยู่ไปก็ไม่เป็นประโยชน์กับคนทั้งหลาย ก็เลิก ไม่อยู่เหมือนกัน

สำหรับท่านผู้นี้ก็เหมือนกัน ท่านผู้เฒ่าที่เราจะเล่าถึงปฏิปทาของท่าน ท่านบันทึกเวลาตายของท่านไว้ ท่านบอกว่าท่านไม่ยอมต่อ แต่ทว่าต่อมาภายหลังปรากฏว่า ท่านมีอายุยืนยาวกว่าเดิมไปอีกพอสมควร ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระต่อให้ท่าน ถึงเวลากาลอายุที่ท่านบันทึกไว้ ท่านก็ทำท่าว่าร่อแร่ทำท่าว่าจะตายเอาเหมือนกัน ถูกความทุกข์ทรมานมาเป็นเวลาหลายปี ร่างกายทรุดโทรมมาทีละน้อยๆ ในที่สุดก็ทำท่าว่าจะไปไม่ไหว บรรดาแพทย์ทั้งหลายทำการเยียวยากันอย่างหนัก แต่ว่ากำลังใจของท่านทำทุกอย่างเป็นปกติ โดยไม่ประวิงถึงว่าร่างกายมันจะพังหรือไม่พังจนกว่าจะสิ้นอายุขัย แต่ว่าเมื่อเวลาอายุขัยเข้ามาถึง ก็ปรากฏว่าท่านจำจะต้องอยู่ต่อไปตามความต้องการของพระ พระในที่นี้เป็นใครผมไม่บอก ขอให้ท่านทั้งหลายทำจิตเข้าสู่จุดนั้นท่านจะรู้เอง

ต่อนี้ไปก็มาคุยกันถึงปฏิปทาของท่านว่า เมื่อครั้งที่แล้วพูดกันถึงอารมณ์ฟุ้ง ในตอนต้นตามบันทึกของท่านว่าท่านแก้อารมณ์ฟุ้งไปด้วยความลำบาก ความจริงแล้วอารมณ์ฟุ้งนี่มันจะพ้นไปได้จริงๆ เมื่อถึงอรหัตผล แต่ว่าลักษณะการฟุ้งมันไม่เหมือนกัน ท่านแก้อารมณ์ฟุ้งในตอนต้นก็ได้แก่ จิตมันไม่ทรงสมาธิ จะให้มันอยู่ตามกฎตามเกณฑ์มันก็ไม่ยอมอยู่ จะแก้ด้วย วิธีหลายๆ วิธีตามที่กล่าวมาแล้วเมื่อคืนนี้

ขอย่อความว่า ใช้กำหนดลมหายใจเข้าออกบ้าง ภาวนาว่า พุทโธบ้าง เอาเม็ดกรวดมานับเป็นคะแนน ในเมื่อคำว่า พุทโธ ผ่านไป ก็เอาเม็ดกรวดวางไว้ ๑ เม็ด กว่าจะครบกอบก็เล่นเอาหลายวัน

ต่อมาท่านมาใช้การเดินด้วยการภาวนาว่า พุทโธบ้าง นับก้าวที่จะเดินไปบ้าง มองดูภาพพระพุทธรูปบ้าง ใบไม้บ้าง ต้นไม้บ้าง วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ้าง เอาไม้มาเคาะบ้าง ทำจิตให้มันอยู่ในจุดนั้นให้หมด เป็นอันว่าท่านต้องต่อสู้มาสิ้นเวลาหลายวัน จิตก็พออยู่ทรงตัว คำว่าทรงตัวในที่นี้มันก็ไม่ได้มากนัก บางวันมันก็ทรงได้ถึงครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง

แต่บางคราวคิดว่าเมื่อวานนี้เราทำจิตได้ดีพอสมควร แต่ว่าร่างกายไม่ดี ไม่มีเวลาพักผ่อน มาวันนี้เรานอนให้สบาย ตั้งใจจะทำให้มันดีถึงที่สุด ในบันทึกของท่าน วันนั้นเกิดการเตลิดเปิดเปิงเข้ารูปเข้ารอยไม่ได้ เกือบจะกลุ้มใจตายเพราะมันไม่ทรงสมาธิ ทั้งนี้ก็เพราะว่าการตั้งใจเป็นอุทธัจจะกุกกุจจะ เป็นอารมณ์ที่เกิดจากความฟุ้งซ่านและรำคาญของจิต

ตอนนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลายฟังแล้วก็จำ จำแล้วก็คิด คิดแล้วก็ปฏิบัติตาม ทำสติสัมปชัญญะให้มันรู้เพียงแค่จะระงับใจ โดยไม่ต้องพิจารณาบ่อนทำลายอารมณ์ร้ายใดๆ ทั้งหมด ให้จิตมันทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่ง บางวันมันก็ดี บางวันมันก็ไม่ดี ในที่สุดมานั่งตัดสินใจใหม่ว่า แบบชนิดที่ว่าจะเอาดีกันเท่าไรๆ นั้นไม่เอา เลิกกันเสียที ในบันทึกของท่านว่าอย่างนั้น มาเอาดีกันอย่างนี้ดีกว่า เอาว่าวันไหนเวลาไหนดีเท่าไรเอาเท่านั้น โดยมีอารมณ์อันหนึ่งคิดอยู่ในใจว่าขึ้นชื่อว่าบุญกุศล องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาทรงกล่าวว่ามันเป็นเครื่องสะสมอยู่ในจิต ถ้ากำลังจิตของเราดีแล้วมันก็ทรงตัว วันนี้ทำดีน้อยจิตมันก็ทรงน้อย พรุ่งนี้ดีมากจิตก็เพิ่มความดี มะรืนนี้จิตดีน้อยก็เพิ่มความดีน้อยเข้ามา เพราะว่าดีเก่าไม่ได้หมดไปดีใหม่เพิ่มขึ้นมา อันนี้เราจะมีความพอใจในความดีที่จะพึงได้ ตามบันทึกของท่านเขียนไว้ยาวมากในตอนนี้ ต้องขออภัยบรรดาพุทธบริษัทถ้าจะนำบันทึกนั้นมาอ่านให้ฟังจนละเอียด เกรงว่าเป็นการรำคาญ

ขอรวบรัดว่าการปฏิบัติอย่างนั้น กล่าวว่าได้ผลเป็นที่พอใจและคาดไม่ถึง ดีกว่าการตั้งอารมณ์ใจไว้ในตอนเก่า เดิมทีเดียวตั้งอารมณ์ใจไว้สูง จะเอามากนักก็ไม่ได้ดี มาตอนนี้คิดว่าได้เท่าไรพอใจเท่านั้น ไม่สร้างจิตให้มันยุ่ง

ท่านกล่าวไว้ว่า เพียงตั้งอารมณ์จิตไว้ว่าดีเท่าไรพอใจเท่านั้น เพราะคิดว่าบุญก็คือน้ำฝน น้ำฝนที่ตกลงมาในตุ่ม ถ้าเราขังไว้มันก็ไม่ระเหยไปมาก วันนี้ตกมากได้มาก พรุ่งนี้ตกน้อยเพิ่มน้ำฝนมากขึ้น มันตุ่มเดียวกัน น้ำฝนเก่าก็ไม่ไหลไป น้ำฝนเก่าก็ไม่ระเหย น้ำฝนใหม่ก็หลั่งไหลลงมา คิดว่าอย่างนี้ไม่ช้าก็เต็มตุ่ม อารมณ์เป็นสุข ในเมื่ออารมณ์ท่านเริ่มเป็นสุข ใจท่านก็เริ่มเป็นสุข อารมณ์มันเกิดขึ้นกับใจ เมื่อใจเกิดความสุข มีความพอใจตามที่จะพึงทำได้ ไม่ต้องการมากไม่ต้องการมาย

แต่ทว่ากฎของกรรมอันนั้นมันแปลก พอไม่ต้องการมันเท่านั้นแหละ มันกลับได้ดีเป็นกรณีพิเศษ มีอารมณ์เยือกเย็น มีความสดชื่น จนกระทั่งอารมณ์เข้าสู่ปีติ คือความอิ่มใจ ความสดชื่นมีอยู่ ท่านกล่าวถึงอาการปีติทั้ง ๕ ประการท่านผ่านหมด ว่าในระยะแรก เมื่อกำหนดจิตนิดเดียวเกิดขนลุกซู่ซ่า ขนชันตั้งตลอดตัว ใจมีความสุข มีอาการสดชื่น อาการอย่างนี้เป็นอยู่ไม่นานนัก ๒-๓ วัน สภาพอาการอย่างนี้ก็หายไป

ต่อไปเริ่มน้ำตาไหล พอจิตเป็นสมาธิเมื่อไรมันไหลเมื่อนั้น คำว่าสมาธิก็ไม่จำเป็นต้องนั่งเสมอไป บางทีไปทำอะไรกับใคร ใครเขาเกิดความชอบใจ น้ำตามันก็ไหลพรากๆ เพราะความที่ชื่นใจในธรรม นี่ถ้าเขาคุยโดยธรรมะ ถ้าเขากล่าวว่าพระพุทธเจ้าดีน้ำตาก็ไหล เขาสรรเสริญว่าพระอรหัตต์องค์ไหนท่านดีน้ำตาก็ไหล เขาพูดว่าพระองค์นั้นพระองค์นี้ดีในปัจจุบันน้ำตาก็ไหล พูดถึงอำนาจบุญกุศล มีการให้ทานเป็นต้น เขาว่ามีอานิสงส์ดี จิตใจมันก็ชุ่มชื่นน้ำตาก็ไหล ไหลจนกระทั่งอยากจะอายชาวบ้านเขา แต่มันก็ระงับไม่ไหว อาการน้ำตาไหลจิตชุ่มชื่นอย่างนี้ เป็นไปอยู่ไม่กี่วันก็หาย

ต่อไปร่างก็โยกไปโยกมาโยกข้างหน้าโยกข้างหลัง ทีแรกมันก็โยกน้อยๆ แต่ว่าใจสบาย หนักเข้าๆ มันก็โยกจนหัวจะทิ่มพื้น หงายไป หัวเกือบจะถึงพื้นมันก็ไม่ล้ม โยกซ้าย โยกขวา หัวมันจะถึงพื้นมันก็ไม่ยอมล้ม ใจก็เป็นสุข มีความอิ่มเอิบ

ต่อมาก็มีอาการคล้ายกับจะปลุกพระ พอนั่งเข้าก็ดิ้นตึงๆ จนกระทั่งเพื่อนพระเขาแตกตื่นกัน จนกระทั่งทราบว่าท่านทำกรรมฐานก็ไม่มีใครเขาสนใจกัน ไม่มีใครรำคาญ ท่านบอกว่าเมื่ออาการอย่างนี้เกิดขึ้นจิตใจมันก็ชุ่มชื่นอิ่มเอิบมากขึ้น จิตก็ทรงตัวมากขึ้น บางทีเวลานอนๆ นึกถึงอารมณ์กรรมฐานขึ้น มันก็ดิ้นตึงๆ ขึ้นมาเฉยๆ อย่างนี้ท่านเรียก อุพเพงคาปีติ บางคราวท่านบอกว่าพอใจสบายรู้สึกว่ากายมันลอยขึ้นพ้นพื้น ลอยขึ้นจนสูง เมื่อจิตใกล้จะเสื่อมมันก็ค่อยๆ ลอยลงมาจุดเดิม เมื่อเวลาถอนพระกรรมฐานมาดูอาการที่นั่ง มันก็นั่งตามเดิมทุกอย่าง บางครั้งท่านถึงกับขีดเส้นเข้าไว้ว่านั่งลักษณะไหน เข่าอยู่ตรงไหน เข่าซ้ายอยู่แค่ไหน เข่าขวาอยู่แค่ไหน ทำเครื่องหมายไว้ พอร่างกายลอยขึ้นมามันทรงตามเดิมทุกอย่าง สังเกตไม่ได้เลยว่ามันเคลื่อนไป คือสังเกตอาการพลาดหมายไม่ได้

แล้วหลังจากนั้น อาการปีตินี้ผ่านไป ก็มาถึงปีติตัวสุข นั้นคือ ผรณาปีติ มีอาการซาบซ่าน เหมือนกับหน้าใหญ่ ตัวใหญ่ อาการซู่เหมือนกับสิ่งทั้งหลายในร่างกายมันไหลไปหมด ตัวเบา ใจสบาย อารมณ์มีความสุข

ในตอนนี้ท่านกล่าวย้อนไปบอกว่า ตามบันทึกของท่านขณะที่จิตเข้าถึงปีติตัวนี้ ใจมันชุ่มชื่นอิ่มเอบ ตัวท่านเองท่านเป็นนักปฏิบัติกรรมฐาน และเป็นนักประกอบกิจการงานทุกอย่าง ครูบาอาจารย์จะสอนอะไรๆ ท่านจำหมด แล้วก็สิ่งที่ครูบาอาจารย์กำหนดว่าสิ่งนี้เป็นบุญเป็นกุศลท่านทำทุกอย่าง เรียกว่างานหลวงไม่ขาด งานราษฎร์ไม่เสียการ ระมัดระวังกิจการงานทุกอย่างของวัด ทรัพย์สินของวัด ท่านบอกว่าท่านระมัดระวังด้วยชีวิต ก็หมายความว่าสิ่งของๆ วัด หรือของสงฆ์จะต้องเสื่อมสูญไป ท่านกล่าวว่าท่านจะยอมตายดีกว่ายอมให้ของๆ สงฆ์เสื่อมสลายไป กลางวันทำงาน กลางคืนเจริญพระกรรมฐานและก็อยู่ยาม ผลัดเวียนเปลี่ยนกันไปสำหรับพระที่เจริญพระกรรมฐานร่วมกัน ทุกคนบอกว่า เราสมาทานพระกรรมฐานไว้ว่า เราขอมอบกายถวายชีวิตแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรัพย์สินทั้งหมดนี่เป็นของพระพุทธศาสนาที่บรรดาสาธุชนถวายมาด้วยความเลื่อมใส ฉะนั้นเราจะยอมให้ทรัพย์สินทั้งหลายของพระศาสนาสลายตัวไปไม่ได้ ถ้าทรัพย์จะสลายตัวไปเราจะยอมตายดีกว่า เป็นอันว่าเวลาท่านอยู่ยามผลัดเวียนเปลี่ยนไป เวลาเดินไปเดินมาท่านก็ใช้เวลานั้นเป็นเวลาจงกรม

ในบันทึกของท่านเขียนไว้ว่า บางสมัยเวลาท่านทำงานเหนื่อย เหงื่อก็ออก ร้อนก็แสนร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย เดินๆ ไปลองซ้อมกำลังใจว่าสมาธิของเราจะดีแค่ไหน นั่งปับลงไปเข้าสมาธิ จิตมันทรงตัวทันที ทั้งนี้เพราะว่าเวลาที่ท่านทำงาน ท่านตั้งใจทำด้วยความเต็มใจ ฝึกสมาธิไปในตัว เวลานี้ตักน้ำจิต อยู่ที่ตักน้ำ เวลาเดินไปเดินมาท่านก็สังเกตก้าวการเดินไปด้วย เห็นว่าเวลานี้ก้าวเท้าซ้าย เวลานี้ก้าวเท้าขวา เป็นจงกรมไปในตัวเสร็จ แต่ไม่ใช่ไปเดินช้าๆ ยกๆ ย่างๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เดินเร็วๆ ตามที่กำลังจะพึงทำได้ ท่านคล่องในการจงกรมมาก เมื่อเวลาจะทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เอาใจจดจ่ออยู่ในสิ่งนั้นโดยเฉพาะ ทำด้วยความระมัดระวัง เต็มไปด้วยความตั้งใจ มันก็เป็นการฝึกสมาธิไปในตัว ปฏิปทานี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทและพระโยคาวจรทั้งหลายฟังแล้วถ้าเห็นว่าดีก็จำเอาไว้

ท่านกล่าวไว้ว่า ตอนนี้นิมิตย่อมปรากฏ เริ่มปรากฏบางครั้งก็เห็นแสงสว่างผ่องใสสอดแทรกเข้ามาขณะที่ตั้งใจเจริญสมาธิ ในขณะแสงสว่างพุ่งปราดเข้ามาเข้าตา ตกใจคิดว่านี่แสงอะไร แสงหายไปเสียแล้ว บางคราวพอนั่งอยู่ก็รู้สึกเหมือนคนจุดตะเกียงอยู่ใกล้ๆ สว่างไสวไปทั่ว สว่างทั้งข้างบนข้างล่าง ข้างหน้าข้างหลัง มันเห็นไปหมด ในตอนแรกๆ ท่านแปลกใจว่าเรา ดับไฟหมดแล้วทำไมจึงมีแสงไฟอีก หรือเพราะว่าเราเผลอไป ลืมดับเทียน ลืมตาขึ้นมาดูแสงเทียนก็ดับ แสงธูปก็หมด ปรากฏว่ามีแต่ความมืด คราวหลังไม่เอา เวลาจะนั่งคราวหลังไม่เอา สมาทานกรรมฐานแล้ว ดับฟืนดับไฟ ดับหมด ไม่มีอะไรเหลือกันความสงสัย เมื่อเวลาหลับตาลงไปชั่วเวลาสักครึ่งวินาที แสงสว่างก็ปรากฏ แต่ว่าพอจิตเข้าติดแสงสว่างเมื่อไร แสงสว่างหายทุกที ถ้าปล่อยว่ามันจะสว่างก็สว่างมันจะมืดก็มืด ตามใจมัน ถ้าอย่างนี้แสงสว่างอยู่ได้นานแสนนาน บางครั้งบางคราวก็ปรากฏเป็นพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา

ในตอนแรกๆ ปรากฏว่า พระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระบรมสุคตก็เหมือนกับพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่รักจับใจมาก เพราะว่านิสัยของท่านชอบคนอ้วน อ้วนมากอ้วนน้อย อ้วนพุงพลุ้ยก็ตาม ท่านก็ชอบอ้วนๆ ท่านว่าร่างกายของคนผอมมันไม่ดี ใจของท่านคิดอย่างนั้น คิดอ้วน เมื่อคนเนื้อมากดีมีความผ่องใส นิสัยเดิมเป็นอย่างนั้น บางทีท่านจะรักสาวๆ สักคน อาจจะเลือกคนอ้วนๆ ก็อาจจะเป็นได้

ท่านบอกว่าท่านชอบอ้วน ทีนี้เวลาพอใจในพระพุทธรูปก็มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งพระอาจารย์ผู้สอนทำไว้เป็นกรณีพิเศษ หน้าตักประมาณ ๓๐ นิ้ว ลักษณะพระพุทธรูปองค์นั้นอ้วนพี สมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ใช่อ้วนพลุ้ย มีลักษณะสมสัดสมส่วน คือว่าท่านทำตามพุทธลักษณะตามที่ท่านมีความรู้สึก ดีไม่ดีท่านอาจจะเห็นภาพพระพุทธเจ้าก็ได้ เพราะเป็นอาจารย์ที่ทรงคุณธรรมสูง พระองค์นี้เป็นที่จับใจของท่านผู้เฒ่า ท่านบอกว่าตอนแรกพอท่านเห็นพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏเหมือนพระพุทธรูปองค์นั้น

และต่อมาภายหลัง เมื่อพระพุทธรูปปรากฏแล้วเป็นพุทธนิมิต ท่านภาวนาว่า พุทโธ อย่าลืมว่าถ้าภาวนาปกติว่า พุทโธ เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน จิตใจชื่นบาน มีปีติ จิตก็เริ่มเข้าถึงฌาน เมื่อจิตเริ่มเข้าถึงฌานสมาบัติ ฌานนี่เรานับกันไม่ได้ ว่าฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ เป็นอย่างไร จิตมันอยากจะเข้าฌานไหนมันก็เข้าของมัน สุดแล้วแต่อารมณ์ เราจะคิดว่าถึงฌานหนึ่งก่อนแล้วจะถึง ฌานสอง ถึงฌานสาม ถึงฌานสี่ อันนี้ไม่แน่ ไม่แน่จิตบางครั้งก็เข้าฌานสูง บางครั้งก็เข้าฌานต่ำ เมื่อจิตตั้งอารมณ์เป็นฌาน ขณะที่จิตตกลงมาถึงอุปจารสมาธิ อย่าลืมว่าถ้าจิตเป็นฌาน ไม่เห็นภาพนิมิต เพราะจิตดับจากอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตตกลงมาระดับอุปจารสมาธิ เห็นภาพสวยขึ้นๆ ถึงที่สุด จนกระทั่งรูปพระพุทธรูปองค์นั้นกลายเป็นพระสงฆ์ มีลักษณะสวยงามเป็นพิเศษ ไม่เคยเห็นใครคนใดสวยแบบนั้น ริมฝีปากแดงเรื่อๆ สีเนื้อเหลืองคล้ายๆ จีวร แล้วขนงคิ้วก็ดำสนิท ส่วนสัดทั้งหมดสวยจริงๆ แล้วก็ยิ้มให้เห็น พอยิ้มให้เห็น พอจิตใจชุ่มชื่น ก็ปรากฏว่าพระสงฆ์นั้นมีฉัพพรรณรังสี รัศมี ๖ ประการปรากฏ ท่านก็ทราบว่านี่เป็นพระบารมีขององค์สมเด็จบรมสุคต แสดงเป็นนิมิตให้ปรากฏแล้ว จิตใจก็ผ่องแผ้ว มีความชุ่มชื่น มีความสุข เพียงเท่านี้เอง

ท่านบอกว่าจิตของท่านเข้าไปชนฌานสี่ และต่อจากนั้นมาก็ปรากฏว่าเวลาท่านจะเจริญพระกรรมฐาน อย่าลืมว่าการเจริญพระกรรมฐานไม่มีใครเขาทิ้งอานาปานสติกรรมฐาน พอเริ่มต้นก็จับลมหายใจเข้าออก เริ่มภาวนาว่า พุทโธ บางทีพอจับลมหายใจเข้าออกนิดเดียว จิตวิ่งเข้าสู่ฌานสี่ คำภาวนาหายไป

เอาละ บรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้สุ้มเสียงไม่เป็นเรื่อง พูดแล้วคงจะฟังขัดๆ หู เพราะว่าไม่มีการพักผ่อน นอนน้อยเกินไปสำหรับคืนที่แล้ว ถ้าจะพูดกันไปถึงปฏิปทาของสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแล้วก็จะไปไม่รอด เวลาเหลืออีกครึ่งนาที นับตั้งแต่นี้ต่อไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงทรงกำลังใจของท่านให้อยู่ในอานาปานสติกรรมฐาน แล้วต่อจากนั้น ท่านจะภาวนาอะไรก็ได้ จะอยู่ในอิริยาบถไหน จะนั่ง จะนอน จะยืน เดิน จะนั่งท่าไหนนอนท่าไหนก็ได้ เดินก็ท่าเดียว ยืนก็ท่าเดียว จะไปหกคะเมนเกนเก้มันก็ไม่ได้ ทำใจพยายามควบคุมกำลังใจของท่าน พยายามให้เป็นสมาธิ นี่กำหนดไว้ว่าถ้าเราไม่สามารถทรงความดีไว้ได้เราจะตายเสียดีกว่า เอาแบบฉบับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกว่าอารมณ์ของท่านจะมีความสุขและเต็มความปรารถนาของท่าน และต่อแต่นี้ไปขอท่านจงพยายามทรงกำลังใจให้เป็นไปตามที่กล่าวมาแล้วจนกว่าจะได้เวลาอันสมควร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:04 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. เวลานี้พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่

บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท และบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว วันนี้ก็จะขอน้อมนำเอาปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า ท่านผู้นั้นเป็นใครไม่ต้องพูดถึง ก็ขอได้โปรดทราบว่า ท่านผู้นั้น ตามบันทึกของท่านตอนหลัง ท่านหาที่เกิดไม่ได้เสียแล้ว

สำหรับท่านผู้นี้มีอายุกาลไม่นานนัก ที่ท่านจากเราไป เป็นเวลากาลไม่นาน ขอบรรดาท่านนักปฏิบัติทุกท่านจงมีความมั่นใจในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเวลานี้พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ และก็ยังสามารถทำให้ท่านทั้งหลายที่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระจอมไตร ปฏิบัติในด้านอธิศีลคือมีศีลยิ่ง ปฏิบัติในด้านอธิจิตคือมีสมาธิตั้งมั่น และปฏิบัติในวิปัสสนาญาณทำลายกิเลสให้สิ้นไป ยังมีผล

ก่อนที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะรับฟังปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า อันดับแรกจงอย่าลืมควบคุมกำลังใจของท่านให้ทรงอยู่ในสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกให้มีสติคงตัว มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเราต้องตายแน่ ขึ้นชื่อว่าความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตของเราเป็นของไม่เที่ยง ถ้าเรายังพอใจอยู่ในโลกียวิสัย เราจะไม่พ้นความทุกข์ เราจะเข้าถึงความสุขที่เป็น เอกันตบรมสุข ได้แก่สุขยอดเยี่ยมคือพระนิพพาน ก็คือ

หนึ่ง เป็นผู้มีทานเป็นปกติ ไม่โลภโมโทสันในทรัพย์สิน

สอง ตัดความรักในระหว่างเพศ

สาม ทำลายโทสะและพยาบาทให้สิ้นไป

สี่ ตัดอาลัยในร่างกายของตัว ร่างกายของบุคคลอื่นในโลกและวัตถุทั้งหมดในโลก ไม่ยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา พยายามคิดไว้อย่างนี้เสมอ จิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายก็จะเข้าถึงความดีของท่านผู้เฒ่าตามที่ท่านเล่าประวัติของท่านไว้

อย่าลืมว่าประวัติของท่านๆ ไม่ได้พิมพ์แจก ท่านไม่ได้หวังมรรค ท่านไม่ได้หวังผล เป็นแต่เพียงว่าท่านบันทึกปฏิปทาของท่านไว้เท่านั้น ผมก็ไปพบบันทึกของท่านด้วยความบังเอิญอย่างยิ่ง จึงได้นำมาเล่าให้บรรดาพุทธบริษัทชายหญิงได้รับทราบ สำหรับปฏิปทาของท่านผู้เฒ่านี้ ผมจะเล่าแต่เพียงย่อๆ เพราะความรู้ของพวกเรานี้มีเกินไปเสียแล้ว ไม่ใช่พอดี

ในตอนนี้ก็จะเล่าถึงจิตที่จะเข้าสู่อุปจารสมาธิ ขณะที่จิตของท่านเข้าสู่อุปจารสมาธิ ท่านบอกว่าภาพต่างๆ มันเกิดขึ้นอยู่เสมอ ครูบาอาจารย์ต่างๆ เคยแนะนำว่า จงอย่าติดในภาพ ถ้าติดในภาพที่เกิดขึ้น นั่นก็หมายความว่าใจของเราจะพลาดจากสมาธิ ท่านก็บันทึกไว้ตรงๆ ท่านก็บอกว่าใหม่ๆ ก็อดไม่ได้ อดจะติดไม่ได้ บางทีเห็นเป็นพระบ้าง เทวดาผู้ชายบ้าง เป็น เทวดาผู้หญิงบ้าง เป็นภาพฤาษี เป็นภาพวิมานบ้าง เป็นแสงสว่างบ้าง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาในกาลก่อน ก็อดที่จะดีใจไม่ได้ เมื่อเกิดดีใจภาพก็หายไป จนกว่านานแสนนานนับเป็นเวลาแรมเดือนจึงจะสามารถชนะกำลังใจได้ โดยครูบาอาจารย์ก็แนะนำไว้เสมอว่า ภาพที่ลอยมานั้น อย่าสนใจ ถ้าสนใจแล้วจิตมันจะไม่มีสมาธิ มันจะตก คือความจริงภาพต่างๆ เป็นของจริง เป็นภาพทิพย์ เมื่อลอยมาแล้วก็ไม่ได้หายไป ของทิพย์ยังเป็นของทิพย์ ที่หายไปก็เพราะเราสนใจว่าภาพนี้เกิดขึ้น ภาพก็หายเพราะจิตตกจากอุปจารสมาธิ

ตอนนี้ขอท่านรับฟัง แล้วก็นำไปเป็นเครื่องปฏิบัติว่า กำลังของเราขณะที่ทรงไว้ในอุปจารสมาธิ จงอย่าสนใจ อย่าคิดเห็นว่าภาพที่ลอยมาให้เห็นเป็นของดีของวิเศษ ความจริงจิตเราเริ่มเข้าอุปจารสมาธิ เมื่อจิตเริ่มเข้าถึงอุปจารสมาธิจิตก็เริ่มเป็นทิพย์ เมื่อจิตเป็นทิพย์ก็เริ่มเห็นโน่นบ้างนี่บ้าง ไม่สามารถจะบังคับจิตให้เห็นได้นอกจากภาพนั้นจะปรากฏขึ้นเอง

สำหรับการเห็นภาพอย่างนี้ ทำคนเสียมาเสียมากแล้ว ที่ว่าทำคนเสียมามากเพราะหลงในภาพ เป็นภาพสวยสดงดงามชื่นตาชื่นใจไม่เคยเห็น แต่ว่าวันหลังนั่งอยากจะเห็นไม่เห็น เพราะตัวอยากเป็นกิเลส ตัวอยากเป็นตัณหา ตัวอยากเป็นอุทธัจจะ กุกกุจจะ เป็น นิวรณ์ นี่ การที่จะเห็นภาพได้ก็จะเกิดจากไม่ใช่ความอยาก แต่ความจริงภาพนั้นที่เห็น เรายังไม่ได้ทิพจักขุญาณ เพียงแต่ว่าจิตของเราเพิ่งจะเริ่มผ่านเข้าไปถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น ถ้าจิตของเราตกลงมาต่ำกว่าอุปจารสมาธิเราก็ไม่เห็นภาพ ถ้าจิตของเราสูงกว่า มีความสุขมากขึ้นถึงปฐมฌานขึ้นไป เราก็ไม่เห็นภาพ แต่ความจริงสิ่งที่เราต้องการนั่นคือฌาน จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศลที่เรากำลังทรงอยู่ เช่น เรากำลังกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกหรือคำภาวนา ถ้าอาการเกิดขึ้นอย่างนี้ เราก็ตั้งใจกำหนดรู้ไว้เท่านั้น ให้ทรงอยู่ได้นานแสนนานเป็นที่พอใจของเรา ถ้าอารมณ์นั้นตั้งอยู่ได้นาน จิตมีความสุข ไม่มีความหวั่นไหวในอารมณ์ นั่นเป็นอารมณ์ฌาน สำหรับเรื่องนี้ก็พูดกันมามากแล้ว ก็ขอพูดเรื่องปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าต่อไป

ท่านกล่าวว่า มีคราวหนึ่ง มันเป็นเรื่องสำคัญ ภาพที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นแต่ท่านก็ทิ้งไปเสีย เพราะฟังจากคำครูบาอาจารย์สอน ท่านบอกว่าอย่าหลงในภาพ อย่าติดในภาพ นี่ภาพที่มีความสำคัญเกิดขึ้น นั่นก็คือภาพโครงกระดูก เห็นภาพโครงกระดูกลอยมาเป็นแถว เป็นระยะยาวนานตลอดเวลาที่ท่านนั่งอยู่

ท่านบอกว่าท่านให้เวลาจิตมันเป็นสุขอยู่ ๑ ชั่วโมง จะต้องคิดว่าจิตเป็นสุขจริงๆ ถ้ามันปวด มันเมื่อยมันฟุ้งซ่านจะต้องเลิกเสียก่อน อย่าไปตั้งเวลาตามนั้นไว้ ท่านบอกว่าท่านไม่ได้ตั้งเวลาการทรงตัว แต่จิตมันเป็นสุขไม่อยากถอน ในชั่วเวลาหนึ่งชั่วโมงนั้น ภาพโครงกระดูกลอยมาเป็นแถวมาเป็นชิ้นๆ ทีแรกภาพโครงกระดูกด้านศีรษะไปก่อน มากระดูกคอ กระดูกซี่โครงมาเป็นชิ้นๆ แล้วมากระดูกสันหลัง กระดูกขา กระดูกแขน กระดูกมือ กระดูกเท้าลอยไป ลอยไปแล้ว ท่านก็ไม่ได้จับเอาไว้ แต่แล้วภาพนั้นก็กลับมาตั้งต้นใหม่ ลอยวนมาวนไปอยู่อย่างนั้น ท่านก็บอกว่า จิตของท่านก็ทรงไว้อย่างนั้นโดยเฉพาะ คือรู้ลมหายใจเข้าออก รู้คำภาวนา ภาพจะไปจะมาก็ไม่สนใจ

เวลาเช้า เข้าไปหาพระอาจารย์ผู้ใหญ่นั้น นั่นก็คือหลวงพ่อปาน ไปนมัสการท่านตามระเบียบ คือก่อนเวลาท่านฉันข้าว คือเมื่อท่านนั่งอยู่ที่พัก บรรดาพระที่เป็นลูกศิษย์ทั้งหลายก็พากันเข้าไปนมัสการท่านก่อน เป็นประเพณีนิยม เมื่อนมัสการท่านแล้วท่านพบท่านผู้เฒ่าผู้นั้น นี่ตามบันทึกของท่านเขียนไว้อย่างนั้น

หลวงพ่อปานเห็นหน้าเข้าก็ยิ้มว่า คุณ เมื่อคืนนี้ผีหลอกหรืออย่างไร ท่านก็กราบเรียนว่า ผีไม่ได้หลอกขอรับ กระดูกมันหลอน หลวงพ่อปานถามว่ามันหลอนอย่างไร

ท่านบอกว่ามันลอยผ่านหน้าไปตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มทำจิตเป็นสมาธิ เริ่มจับลมหายใจเข้าออก ก็เริ่มเห็นภาพกระดูกลอยไป

หลวงพ่อปานท่านก็ยิ้ม ถามว่าแล้วคุณทำอย่างไรล่ะ ท่านก็กราบเรียน ท่านบอกว่า กระผมก็ช่างมัน เพราะรับคำสอนไว้ว่าช่างมัน อะไรจะไปอะไรจะมาก็ช่างมัน

หลวงพ่อท่านก็ยิ้มอีก ท่านบอกว่า นี่คุณ คุณไม่ได้ช่างมันเสียแล้วนี่ แอบไปช่างเผือกเสียแล้ว เพราะช่างเผือกนี่มันคัน ช่างมันไม่เป็นไร มีประโยชน์ แล้วท่านก็บอกว่า คุณ ทีหลังเอาใหม่นะ คุณเสียท่าไปเสียวันหนึ่งแล้ว ความจริงภาพโครงกระดูกที่ปรากฏขึ้นมานี่มันเป็นกรรมฐานกองเดิมที่คุณได้เคยปฏิบัติมาแล้วในชาติก่อน ความจริงในชาติก่อนๆ ที่คุณจะมาเกิดนี่ คุณบำเพ็ญบารมีเอาไว้มาก คุณได้กรรมฐานมาแล้วหลายสิบกอง ในจำนวนกรรมฐานสี่สิบคุณผ่านมาแล้วเกือบจะทั้งหมดแล้ว หรืออาจจะเรียกว่าทั้งหมดก็ได้ เพราะว่าอย่างอสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่าง เราทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือว่ามีผลเสมอกัน ถือว่าได้หมด หรือว่ากสิณ ๑๐ อย่าง ถ้าได้กองใดกองหนึ่งก็ถือว่าได้กสิณหมด แต่ทว่าเป็นที่น่าเสียดายคุณปล่อยให้ของเก่าหายไป แต่ความจริงเมื่อของเก่าเกิดขึ้น เราจะต้องยึดของเก่านี่ทำให้ถึงที่สุดของอารมณ์

คำว่าที่สุดของอารมณ์ก็หมายถึงว่า อารมณ์ในกรรมฐานกองนั้นจะทรงได้ถึงฌานไหน อาจจะทรงได้ถึงนิพพิทาญาณก็ใช้ได้ ต้องทำให้ถึงที่สุดของอารมณ์นั้นจึงจะถูก เพราะของเก่านี่เราทำได้ง่าย แสวงหาได้ง่าย เกิดผลง่าย มันเหมือนกับสภาพที่เรามีเงินมีทองอยู่ในกระเป๋าไม่รู้จักเงิน ไม่รู้จักทอง ไม่รู้จักใช้ ของที่มีแล้วไม่รู้จักใช้ ไปหาของใหม่นี่มันยาก ถ้าบังเอิญเราจะได้ของเก่ามาใช้ รู้ว่าเงินในกระเป๋ามีควัก เราเอามาใช้อย่างนี้สะดวก ไม่ลำบาก ท่านก็แนะนำต่อไปว่า ถ้าท่านเห็นกระดูกขึ้นมาใหม่ แต่ต้องระวังนะคุณนะ คุณจำไว้ให้ดีที่คุณจะเห็นภาพกระดูกปรากฏก็ดี จะเห็นภาพอย่างอื่นลอยมาก็ดี คุณอย่าลืมว่าภาพเหล่านั้นคุณไม่ได้คิดไว้ก่อนว่ามันจะมา เพราะอาศัยที่คุณไม่ได้คิด อาศัยที่คุณตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ตั้งใจภาวนาตามที่คุณเห็นสมควร ตามที่คุณพอใจ จิตจึงเป็นสมาธิ อารมณ์เป็นทิพย์ที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ คุณจึงเห็นภาพนั้นได้เพราะจิตมันเป็นทิพย์ ถ้าคุณตั้งใจอยากจะเห็นมันก็ไม่มีทาง

เป็นอันว่าหลวงพ่อปานแนะนำแล้วต่างคนต่างก็ลุกมาฉันข้าว พอฉันข้าวเสร็จ หลวงพ่อปานก็นำเรื่องนั้นมาพูดอีกครั้งหนึ่ง ว่าท่านองค์ใดที่พอใจในอสุภสัญญา หรือที่เราเรียกกันว่า อสุภกรรมฐาน เห็นภาพกระดูกก็ดี เห็นเป็นภาพคนตายก็ดี เห็นภาพคนเน่าก็ดี จงยึดเอาภาพนั้นมาเปรียบเทียบกับตัวเรา ถ้าเห็นภาพกระดูกก็จงคิดว่า ร่างกายของเราที่เนื้อหนังมันหุ้มห่ออยู่ได้ก็เพราะกระดูกเป็นโครง ในเมื่อกระดูกมันเป็นโครงแบบนี้ เราก็ต้องคิดว่ากระดูกนี่มันสวยหรือไม่สวย

ความจริงสภาวะกระดูกเป็นสภาวะที่น่าเกลียด มีความโสโครก ไม่มีอะไรจะดี เมื่อเราทราบวาระจิตแบบนี้ ท่านบอกว่าจงมาเปรียบเทียบกับร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มีตัวอย่างกระดูกเป็นโครง ว่ามันไม่สะอาด เต็มไปด้วยความสกปรก ไม่มีอะไรเป็นของสวยสดงดงาม กระดูกผีทุกก้อนเป็นกระดูกเป็นสิ่งที่เราพึงรังเกียจ โครงกระดูกทุกท่อนที่เขาผูกไว้ไม่มีใครพึงปรารถนา

จงคิดว่ากระดูกทั้งหมดคือร่างกาย ทั้งหมดเป็นเรือนร่างที่ตัณหาสร้างขึ้น แล้วตัณหามันก็ทำลายเอง เราเป็นคนโง่ยึดถือเรือนร่างที่ตัณหาสร้างขึ้น เมื่อตัณหามันทำลายแล้วเราก็เสียใจนั่นไม่ถูก เราจงคิดว่าสมบัติใดที่ตัณหาสร้างให้ไว้ สมบัติส่วนนั้นมันเป็นกับสำหรับดักหนูคือเรา ที่ตัณหาจะนำเราเข้าไปขังกรงหรือทุบตีให้เราบาดเจ็บหรือมีทุกขเวทนา การเกิดเป็นคนหรือการเกิดเป็นสัตว์เต็มไปด้วยความทุกข์ ตั้งแต่วันเกิดถึงวันตาย ไม่มีเวลาใดที่จะมีความสุข แล้วท่านก็แนะนำว่าจงจำคำในอริยสัจที่ฉันสอนไว้ สิ่งใดที่ท่านสอนไว้แล้ว ท่านจะไม่พูดต่อไป เพราะว่าในสมัยนั้นต้องเป็นนักจำแล้วก็นักปฏิบัติ นักเอาจริง รวมความว่าลูกศิษย์ของท่านจะต้องประกอบไปด้วยอิทธิบาททั้ง ๔ ประการครบถ้วน

คำว่ามีอิทธิบาททั้ง ๔ ประการครบถ้วน เขาถือว่าเป็นคนจริงเอาจริงทุกอย่าง ไม่สักแต่เพียงว่าฟัง หรือว่าไม่สักแต่เพียงว่าจำไปแนะนำชาวบ้าน เรื่องชาวบ้านนั่นพระสมัยนั้นเขาไม่สนใจ ถ้าชาวบ้านถามเขาตอบ เขาไม่แสดงตนเป็นผู้วิเศษ เขาพยายามสอนตนเขาอยู่เสมอ เขาจึงได้ดีกัน เมื่อท่านย้ำเท่านั้นแล้วท่านก็เลิก ก่อนท่านจะยถา ท่านก็ย้ำว่า พวกคุณจงอย่าลืมคำสอนใดที่ฉันสอนพวกเธอไปแล้วเธอต้องจำ เกรงว่าจะจำไม่ได้ก็ต้องจด จดแล้วก็ท่องเพื่อให้จำได้แล้วก็ปฏิบัติตาม ถ้าสิ่งใดที่ฉันสอนไปแล้วเธอจำไม่ได้ ฉันถือว่าเธอเป็นบุคคลที่หาความเจริญไม่ได้ ฉันไม่พึงปรารถนาบุคคลประเภทนั้น เพราะคนที่มีจิตใจเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ฉันไม่ต้องการ ฉันถือว่าไม่ใช่ลูกศิษย์ของฉัน และเมื่อยถาเสร็จ ทำวัตรเสร็จ ต่างคนต่างก็แยกกันไป

ท่านผู้เฒ่าท่านเล่าต่อไปในบันทึกของท่าน ท่านเขียนไว้โดยย่อ หลังจากนั้นมาจากฉันอาหารเสร็จ ฉันก็รู้สึกว่าฉันเจ็บใจตัวเองว่าฉันไม่น่าจะโง่แบบนั้น แต่ว่าคิดไปอีกที เราจะไปโกรธตัวเองมันก็ไม่ถูกเพราะเราเป็นคนไม่รู้ ครูท่านบอกให้ปล่อยเราก็ปล่อย เราก็ปฏิบัติตามครูแล้ว แต่ทว่าเวลานี้ครูบาอาจารย์ท่านบอกให้เกาะ ท่านบอกให้พวกเราเกาะกระดูก เราก็ต้องเกาะ แต่นอกจากกระดูกเราก็จะไม่ยอมเกาะ

ท่านสั่งไว้แล้วว่า ใครเรียนกรรมฐานกับฉันต้องเรียนแบบโง่ๆ ห้ามอวดฉลาด ในเมื่อเราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ เมื่อท่านให้โง่เราก็ต้องโง่ โง่ตามครูสอนดีกว่าฉลาดนอกรีตนอกรอย ท่านตัดสินใจแบบนั้นแล้วท่านก็ไม่รอค่ำ ทำวัตรเสร็จในตอนเช้า ยังไม่มีงานที่จะต้องปฏิบัติ หมายความว่างานก่อสร้างในวัดตอนนั้นจางๆ ไป คือจะลงมือทำกันก็หลังจากฉันอาหารเพลแล้ว ฉะนั้นท่านก็ไม่ยอมให้เวลามันเสีย แต่ความจริงท่านผู้เฒ่านี่ท่านเป็นผู้เคร่งครัดมาก ยามปกติท่านไม่ค่อยจะคุยกับใคร งานของท่านจัดเป็นเวลาจัดตารางไว้เสมอ เวลานี้ดูหนังสือ เวลานี้เจริญพระกรรมฐาน เวลานี้ปล่อยอารมณ์สบาย ใคร่ครวญไปตามปกติ เวลานี้เป็นเวลางาน เวลานี้เป็นเวลาทำวัตร เวลานี้เป็นเวลาสวดมนต์ เวลานี้เป็นเวลานมัสการครูบาอาจารย์ผ่านกุฏิหลวงพ่อปานทุกครั้ง เวลาท่านผ่านไปท่านยกมือไหว้ ท่านบันทึกไว้อย่างนั้น ท่านบอกว่าฉันไม่ได้ไหว้กุฏิ ฉันไหว้หลวงพ่อปานและความดีของท่าน เวลาไหว้ไปฉันก็นึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย นึกถึงพระธรรมด้วย นึกถึงหลวงพ่อปานด้วย เพราะท่านเป็นครู คำสอนทั้งหมดหลวงพ่อปานเอามาสอนฉัน

ต่อมาท่านบอกว่า หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ ทำวัตรเสร็จ ท่านก็เข้ากุฏิ นั่งบ้างนอนบ้างตามอัธยาศัย เดินมาเดินไปในห้องของท่าน เวลาท่านเดินตามปกติเท้าท่านค่อยมาก ท่านบอกว่าเวลาเข้าไปถึงปับ หันหลังเข้าฝา เอาหน้าเข้าหาพระพุทธรูป กราบไว้ตามสมควร แล้วก็เริ่มจับจิตเป็นสมาธิ พอจิตเริ่มจับเป็นสมาธิ ก่อนจะจับ จิตท่านจับพระพุทธรูปก่อน

ท่านบอกว่าภาพพระพุทธรูปนี่จับใจฉันเหลือเกิน ฉันจะเดินไปไหนก็ตาม ฉันเห็นภาพพระพุทธรูปตลอดเวลา จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ขึ้นชื่อว่าจิตฉันว่างจากพระพุทธรูปฉันไม่มี ทั้งนี้เพราะฉันรักพระพุทธเจ้า ฉันมีความสุขที่มาบวชเป็นพระ ฉันไม่ต้องทำไร่ไถนาเพราอาศัยบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาพพระพุทธเจ้าปรากฏชัดเสมอ แล้วอีกประการหนึ่ง ภาพของหลวงพ่อปานในอิริยาบถต่างๆ ที่ไปหาท่านๆ มีบัญชา ภาพหลวงพ่อปานก็ผสมผสานอยู่กับภาพพระพุทธเจ้าตลอดเวลา เห็นทั้งภาพพระพุทธเจ้าเห็นทั้งภาพหลวงพ่อปาน ท่านบอกว่าใจมันคิดอย่างนี้

เวลากราบพระ จิตนึกถึงภาพพระพุทธเจ้า เวลาเริ่มทำจิตเป็นสมาธิจับลมหายใจเข้าออก พอเริ่มจับก็ปรากฏโครงกระดูกคือศีรษะก้อนเบ้อเร่อ หลวงพ่อปานท่านสั่งไว้ตอนนั้นว่า ทีหลังเธอเห็นภาพโครงกระดูกจงใช้จิตแบบนี้ ว่าโครงกระดูกชิ้นแรกมาบังคับให้ตกลงไปข้างหน้า ชิ้นสองต่อมาก็บังคับให้ตกลงๆ แล้วก็พิจารณาเป็น อัฏฐิกัง ปฏิกุลัง คำนี้แปลว่ากระดูกนี้มันสกปรก ให้เห็นกระดูกนั้นเทียบกับกระดูกของเรา สกปรกกว่านั้น

กระดูกที่เราเห็นนั้นเป็นกระดูกแห้ง กระดูกในร่างกายเรามันเปื้อนเลือด เปื้อนน้ำเหลือง น้ำหนอง ทั้งไขมันเต็มไปหมด สกปรกเหลือทน กระดูกของบุคคลอื่นก็เช่นเดียวกัน เราเกลียดกระดูก เห็นตัวคนเห็นเป็นกระดูก เห็นตัวเรา นึกถึงตัวเรา นึกถึงภาพของกระดูกนั้น แล้วนึกถึงภาพโครงกระดูกในตัวเราว่ามันน่าเกลียดน่ากลัวสักเพียงไหน ท่านบอกว่าที่หลวงพ่อปานสอนมาก้องอยู่ในใจ พอเริ่มจับจิตเป็นสมาธิ โครงกระดูกบนศีรษะก็เริ่มลอยมา ท่านก็นึกให้ภาพหล่นลง ภาพโครงกระดูกหล่นลง ภาพต่อมาลอยมาๆ ก็ชนต่อกันๆ จนเป็นรูปคนสมบูรณ์ ต่อมาท่านก็พิจารณากระดูกตามสภาพว่ามันน่าเกลียดไม่น่ารัก เป็นของไม่สะอาด เป็นของสกปรก อัฏฐิกัง ปฏิกุลัง ตอนนี้ไม่ใช่ภาวนา เป็นพิจารณาไป

นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทั้งภาพพระพุทธเจ้า ภาพหลวงพ่อปาน ภาพโครงกระดูกปรากฏผสมผสานกัน ท่านเห็นคนเดินมา เห็นเป็นกระดูกเดินหมด ไม่เห็นเนื้อเลย จิตใจมันจับเข้าถึงโครงกระดูก ไม่เห็นเนื้อเลย จนกระทั่งเกิดความสะอิดสะเอียนในร่างกายของคนและสัตว์ได้ชัด ความปรารถนาในเพศไม่มีเพราะจิตมันรังเกียจ หมายความว่าในขณะนั้นนอกจากจะภาวนากระดูกสกปรกแล้ว ยังเห็นว่ามันเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง ความจริงมันมีเนื้อมีหนัง เวลานี้เนื้อหนังหมดไปแล้ว มันก็เป็นอนัตตา ถ้าเราติดอยู่ในมันเราก็มีความทุกข์ จิตก็เริ่มมีความสุข เข้าถึงนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายในสังขารของตนเอง เบื่อหน่ายในสังขารของบุคคลอื่น และเบื่อหน่ายในสังขารของทั้งหมด เป็นอันว่าจิตกำหนดไว้อย่างเดียวว่าร่างกายอย่างนี้เราไม่ต้องการมี เรียกว่านิพพิทาญาณ

เอาละ บรรดาพุทธบริษัททุกท่าน จะเป็นที่พอใจของท่านหรือไม่ก็เป็นเรื่องของท่านเวลาหมดแล้ว ต่อแต่นี้ขอทุกท่านจงพยายามตั้งทรงกายตามอัธยาศัย นั่ง นอน ยืน เดิน ได้ตามสบายจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:07 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๖. ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง จงจำไว้ให้ถึงที่สุด

ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง จงจำไว้ให้ถึงที่สุด เมื่อจำไว้ทุกวัน ลืมตาขึ้นมา เช้ามีความรู้สึกไว้เสมอว่าเราอาจจะไม่ได้กินข้าวเช้า อาจจะตายก่อนก็ได้ ความตายไม่มีนิมิต ความตายไม่มีเครื่องหมาย ถ้าเราตายเลว ก็ดูตัวอย่างสัตว์ในอบายภูมิ มีนรกและเปรตเป็นต้น ก่อนจะตายถ้าเราทำความดี นั่นก็เป็นเรื่องที่เราจะฟังต่อไปข้างหน้าในเรื่องวิมานวัตถุ จะเห็นผลมีความสุข ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยทรัพย์ มีความสุข ถ้าเป็นเทวดาก็เป็นเทวดาที่มีความสุขสมบูรณ์ ไม่ต้องเป็นเปรตไปก่อนแล้วจึงเป็นเทวดา เหมือนกับนางเปรตทั้ง ๒ นั้น

ท่านจงตั้งใจไว้ว่า การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุกข์มาจากตัณหาความทะยานอยาก ถ้าเราทำลายตัณหาเสียได้อย่างเดียวเราก็พ้นทุกข์

ตัณหาส่วนไหนที่เราจะมองกัน คือ ตัณหาจุดหลงใหลใฝ่ฝันไปในเรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสเนื่องด้วยกามารมณ์ อยากได้ในสิ่งเหล่านี้ รู้ว่าตัณหาเป็นทุกข์ มีความโลภ ความอยากได้ อยากจะร่ำรวย มีอาชีพที่ไม่สมควรกับสภาวะของตน ถ้าเป็นคนธรรมดาก็เรียกว่า โลภอยากจะยื้อแย่งทรัพย์สินของบุคคลอื่น ถ้าเป็นพระโยคาวจรก็เรียกว่ามีจิตคิดติดอยู่ในลาภ แม้จะหามาได้โดยชอบธรรม แต่จิตติดอยู่ในลาภนั้นๆ ก็ชื่อว่าเป็นตัณหาในข้อนี้ เป็นคนที่สิ้นความดีหาความดีไม่ได้

และก็ความอยากอีกอย่างหนึ่ง อยากโกรธ อยากพยาบาท อยากเด่น ติดอยู่ในโลกธรรม แล้วก็อยากจะหลงคิดว่าเราไม่แก่ เราไม่ป่วย เราไม่ตาย มีสภาวะของจิต ไม่เนื่องด้วยความเมตตาปรานี ไม่เนื่องด้วยพรหมวิหารสี่ ไม่มีการเสียสละ

รวมความว่าตัณหาประเภทนี้เป็นปัจจัยให้เราเกิด มันต้องเกิด ต้องแก่ ต้องป่วย ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจอยู่เรื่อยไป เป็นของไม่ดี

จงน้อมจิตไปถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ในมหาสติปัฏฐานสูตร ว่าเราเห็นร่างกายของเรามีความรู้สึกเพียงสักแต่ว่าเห็น จิตไม่ผูกพันอยู่ในร่างกายนั้น ถ้าหากว่าเราเห็น ร่างกายของบุคคลอื่นก็ไม่ผูกพันอยู่ในร่างกายของบุคคลอื่น เราไม่ผูกพันอยู่ในร่างกายของเราหรือร่างกายของบุคคลอื่น หรือทรัพย์สินทั้งหมดในโลก

เป็นอันว่าเราไม่พอใจในมนุษย์โลก เทวโลกและพรหมโลก สิ่งที่เราต้องการคือพระนิพพาน หาจุดทำลายความรักระหว่างเพศ ทำลายอำนาจของความโลภ ทำลายอำนาจความโกรธ ทำลายอำนาจของความหลง เราศึกษากันมาแล้ว ทรงอารมณ์จิตไว้อย่างนี้ ไม่ช้าดวงจิตของท่านก็จะผ่องใสเหมือนแก้ว เวลาตายแล้วก็ไปนิพพาน ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย ไม่ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ไม่ต้องมีอะไรเป็นทุกข์

นี่เป็นเรื่องของท่านทั้งหลายที่จะต้องพยายามทรงจิตไว้เสมอ แล้วการทรงจิตไว้เพื่อให้จิตทรงอยู่เนื่องในการจิตจะระงับนิวรณ์ห้าประการคือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนา ความจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เราต้องต่อสู้จริงๆ ก็ไม่เห็นเป็นของยาก ดูปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า ฟังมาแล้ว อย่าฟังทิ้ง ฟังมาแล้วพึงปฏิบัติตาม ท่านทำได้เราก็ทำได้ ท่านบรรลุได้เราก็บรรลุได้ ที่นี้มาฟังปฏิปทาของท่านต่อไปโดยย่อ

ท่านกล่าวว่า สมัยที่ท่านได้อสุภสัญญา เห็นกระดูกลอยมา และก็พิจารณาเห็นคนทั้งหมด สัตว์ทั้งหมดเป็นกระดูก ก็จับกระดูกเป็นภาพนิมิต จนกระทั่งจิตทรงตัวฌานสี่ เป็นอันว่าอสุภกรรมฐานนี่เขาบอกว่าเป็นกรรมฐานพิจารณา ทรงจิตไว้อย่างสูงแค่ปฐมฌาน เขาว่ากันอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ถ้าเราฉลาด เราก็เอาปฐมฌานมาทำฌานเสียอย่างสบายๆ ถึงฌานสี่

ท่านผู้เฒ่าท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านจับเอาอสุภทั้งหมด เมื่อได้อัฏฐิกัง ปฏิกุลังแล้ว ท่านก็ไล่เบี้ยไปเลยตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ จับภาพไปเลยให้จิตทรง มันเน่าแบบไหน มันเหม็นแบบไหน มันเละแบบไหน มันขึ้นแบบไหน มันพองแบบไหน ท่านทำเป็นฌานสี่ได้หมดทุกอสุภ ๑๐ อย่าง จิตใจทรงตัว เห็นคนเมื่อไร เห็นสัตว์เมื่อไร เน่าหมด เห็นวัตถุธาตุต่างๆ เห็นโครงกระดูก ไม่มีความติดในความสวยสดงดงาม แต่ทว่าเวลานั้นเป็นเรื่องสมถภาวนา เวลานั้นความรู้สึกในระหว่างเพศก็ไม่มี เห็นคนๆ เน่า เห็นสัตว์ๆ เน่า เห็นคนเป็นกระดูก เห็นสัตว์เป็นกระดูกมีสภาพน่าเกลียด แต่จิตยังไม่น้อมไปในด้านวิปัสสนาอย่างสูง มัวแต่เล่นสมถภาวนาธรรมดาเห็นว่าเน่า เห็นว่าเหม็น เห็นว่าน่าเกลียด เห็นว่าโสโครก นี่เป็นสมถภาวนา ถ้าเป็นวิปัสสนาต้องพิจารณาเห็นความเสื่อมความโทรมของร่างกาย มีสภาพไม่เที่ยง เสื่อมไปทีละเล็กละน้อย แล้วในที่สุดมันก็สลายตัว จิตไม่เข้าไปยึดไปถือ ท่านบอกว่าเวลานั้นอารมณ์วิปัสสนาญาณท่านมีนิดหน่อย เล่นเฉพาะสมถภาวนาให้มันช่ำใจเพราะความเข้าใจผิด ตามบันทึกท่านบอกว่า ถ้าเราคิดควบกับวิปัสสนาเสียเวลานั้น ความจริงท่านบอกว่าหลวงพ่อปานก็สอนวิปัสสนา แต่ว่าท่านเป็นคนใจเดียว ถ้าจะเอาอะไรเอาให้มันพังไปเป็นด้านๆ ถ้าไม่ได้ยอมตายเสียดีกว่า ขึ้นชื่อว่าไม่สามารถในชีวิตนี้จะไม่มีเป็นอันขาดสำหรับท่าน ท่านรู้สึกว่ามีกำลังใจเด็ดเดี่ยวมาก

ในสมัยที่กำลังเล่นอสุภกรรมฐาน แล้วก็มีวิปัสสนาญาณเจือปนนิดหน่อยกันฌานเสื่อม สิ่งที่เป็นศัตรูกับอารมณ์อย่างนี้มันก็เกิด นั่นก็คืออิสตรีที่เป็นเพศตรงกันข้าม สตรีก็ระวังบุรุษ ถ้าบุรุษก็ระวังสตรีจะเข้ามาเล้าโลมด้วยเหตุต่างๆ มาติดต่อสร้างความสัมพันธ์ในฐานะที่อยากจะเป็นคนรักด้วย ดีไม่ดีแกก็พูดเปิดเผยชวนรักชวนแต่งงาน แต่ต้องระวัง และก็จงอย่าไปโทษใครเขา ถ้าเราไปหลงละเมอในคำป้อยอทั้งหลายเหล่านั้น คำชักชวน ความดีของเรามันจะด้วน ฌานจะสลายตัว

ตามบันทึกของท่านผู้เฒ่าบอกว่ามากันหลายแบบ คนมากันหลายฐานะ เรียกกันว่าความสวยก็มี ความร่ำรวยก็ปรากฏ ศักดิ์ศรีก็ใหญ่ ฐานะก็สูง มากันทุกแบบ ท่านก็เฉย จะมาอย่างไรก็ช่าง โผล่หน้าเข้ามา ท่านเอาความพังคือว่าร่างกายเน่าเข้าตั้งไว้เป็นอสุภสัญญา จนถึงกับถูกออกปากว่าคนหน้าโง่อย่างนี้ไม่เคยพบ สตรีนางนั้นสมัยนั้นเธอยังมีอายุไล่เลี่ยกับท่าน ยังเป็นสาว ท่านกำลังเป็นหนุ่ม แล้วมีเงินนับแสน คนมีเงินนับแสนในสมัยนั้น ในสมัยนี้ก็นับเป็นสิบๆ ล้าน เอาทั้งร่างกายทั้งทรัพย์ทั้งหลายเข้ามาล่อ ท่านก็ไม่ยุ่ง เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เขาพูดทางนี้ เราไปทางโน้น เขาพูดมาทางนี้ ทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย เมื่อพูดในด้านความรักระหว่างเพศ ท่านทำเป็นไม่เข้าใจ แต่ว่านางนั้นก็ไม่ละความพยายาม ใช้ความมานะพยายามอยู่ถึง ๑ ปี เป็นอันว่าราชสีห์ไม่สามารถจะฆ่าหมูได้ เพราะหมูตัวนี้กลายเป็นหมูป่า มันมีเขี้ยวเล็บ

ในที่สุดเขาเบื่อหน่ายถอยไปเอง แต่การถอยไปตนเองก็ยังไม่พอ ยังให้คนอื่นมาติดต่อเป็นตัวแทน ท่านก็เลยบอกว่าท่านต้องปล้ำกับอสุภสัญญาอยู่ตลอดเวลา

ในที่สุดท่านก็ชนะ ท่านชนะตอนที่จิตใจไม่น้อมไปตามนั้น ความสำคัญในความรักไม่มี ทำให้คนใจด้าน แต่ยังไม่ได้พระอนาคามี คือเรื่องของฌานโลกีย์เท่านั้น ท่านคุยให้ฟังว่าฌานโลกีย์นี่ต้องระวังมันเสียจริงๆ เผลอไม่ได้ เผลอเมื่อไรอารมณ์แวบเข้ามาทันที เคราะห์ดีที่ท่านไม่ยอมแพ้มัน

เป็นอันว่าเมื่อท่านไม่ยอมแพ้ มาตุคามผู้เป็นศัตรูกับอสุภกรรมฐานเขาก็แพ้ไปเอง ในช่วงนั้นท่านบอกว่ามันมีความลำบากใจไม่น้อย หนีเสือปะจระเข้อยู่ตลอดเวลา คนนี้หมดไป คนใหม่เข้ามา มีลีลาด้วยประการทั้งปวง ถ้ามีอารมณ์ธรรมดาก็ทนไม่ไหว แต่ท่านก็เลยมัดกับอารมณ์ฌานในอสุภกรรมฐานหนักขึ้น ยิ่งมีคนมากมาเท่าไร เมื่อคนจะขึ้นกุฏิท่านก็จับอารมณ์เข้าฌานสี่ พิจารณาภาพของสตรีเป็นซากศพเน่าเละไปหมด

เป็นอันว่าท่านชนะ เมื่อชนะแล้ว อาจารย์ของท่านก็ยิ้ม คือหลวงพ่อปาน เมื่อเห็นหน้าท่าน เข้าท่านก็ยิ้ม บอกว่าชนะแล้วหรือ ท่านก็กราบเรียนหลวงพ่อปานว่าชนะแล้ว หลวงพ่อปานท่านบอกว่ายังไม่ชนะจริง การชนะอย่างนี้เป็นประเภทจับเสือกดคอเอาไว้เท่านั้น เรียกว่าเรากดคอเสือไม่ให้เสือกัด คอยระวัง กำลังฌานถ้าพลาดเมื่อไรเมื่อนั้นเสือกัด หลวงพ่อปานก็สั่งว่าอย่าประมาท กรรมฐานกองใดถ้าได้แล้ว ถ้าจะทำกรรมฐานกองอื่นต่อไป ต้องใช้กรรมฐานกองเดิมให้มีอารมณ์จุใจ ให้มีอารมณ์ทรงตัวเสียก่อน จงอย่าทิ้งของเก่า จงอย่าเดินไปหาของใหม่ ต้องไล่เบี้ยของเก่าก่อน เมื่อไล่เบี้ยของเก่าครบแล้ว จึงจะจับของใหม่ต่อไป แล้วท่านก็บอกต่อไปว่าของใหม่ของเธอยังจะปรากฏขึ้นในระยะคืนนี้ นี่พระอาจารย์ท่านดี ท่านบอกอย่างนั้น แต่ว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน อย่าคิดว่าอาตมาเป็นครูท่านเวลานี้ จะบอกบ้างไม่ได้หรือ ก็ขอตอบคำเดียวว่าไม่ขอวัดรอยอาจารย์ ครูบาอาจารย์ทำมาอย่างนั้นอาตมาไม่ขอวัดรอยท่าน จะขอแนะนำท่านไปตามคัลลองธรรมดาปกติ เป็นสายกลางเท่านั้น จะไม่จี้จุดเฉพาะ เว้นไว้แต่ท่านใดมีความสามารถจะตัดสังโยชน์ได้ อย่างนั้นจะเตือนให้นิดๆ พอเป็นนิมิตเครื่องหมายเท่านั้น จะไม่บอกชัด ทั้งนี้เพราะว่าการพยากรณ์เป็นหน้าที่ขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์

มาฟังปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าต่อไป อันนี้จะไม่เล่าให้ยาวนัก ลัดๆ จะได้มีประโยชน์แก่บรรดาท่านพุทธบริษัท เมื่อหลวงพ่อปานพยากรณ์มานั้น ว่ากรรมฐานเก่าจะเกิด ท่านก็ระงับธรรมปีติ ต้องระวังให้ดี คำว่าปีติ ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ความหวังมันเกิดขึ้นมาเมื่อไร การสลายตัวของความดีมันจะปรากฏเมื่อนั้น ข้อนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านต้องระวัง เมื่อนมัสการครูบาอาจารย์กลับมาที่ของตน อย่าลืมว่าท่านผู้นี้ท่านเป็นนักปฏิบัติที่ไม่มีเวลา คือคำว่าเวลาแน่นอนของท่านไม่มี ท่านพอใจเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ท่านไม่มีท่าในการปฏิบัติ ไม่ใช่ต้องไปหาท่านั่งเครียดขัดสมาธิ ท่านใช้อิริยาบถทุกอย่าง แม้แต่นั่งเล่นปลายสะพานน้ำมองดูน้ำใส ก็เอาใจจับน้ำเป็นสมาธิ จะดูอะไรสักอย่างเมื่อสมัยที่มีความช่ำชองในอสุภกรรมฐาน ท่านก็เอาทุกอย่างเป็นอสุภไปเสียหมด อสุภะ แปลว่าไม่สวยงาม มันมีความสกปรกเป็นภาคพื้น แม้แต่ผ้าใหม่ก็มองเห็นสกปรก ว่าสีสันวรรณะทั้งหลายมาจากความสกปรก สิ่งที่เข้ามาแปดเปื้อนมันเป็นของสกปรก เนื้อด้ายที่เขานำมาก็เนื้อด้ายมาจากที่สกปรก ถ้าเป็นผ้าฝ้ายๆ มันก็มีพืชพันธุ์มาจากวัตถุธาตุ คือฝ้ายที่มีความสกปรก ท่านเห็นเป็นอสุภกรรมฐานไปหมด มันก็เชื่องสบาย แต่อย่าลืม ฌานโลกีย์พังง่าย

เมื่อระงับกำลังใจก็มากุฏิ นอนเล่นๆ แบบสบายๆ พอใจสบายก็จับอสุภสัญญาคือจับอานาปานสติ พอทรงตัว พอจับปับท่านก็ทรงตัวแล้ว เสียเวลาไม่ถึง ๑ นาที ต่อจากนั้นอัฏฐิกัง ปฏิกุลัง ก็ปรากฏ ท่านกำหนดกระดูกว่าเป็นของไม่ดี มาตอนนี้ท่านบอกมีอารมณ์เคลิ้มไปนิดจิตพลาดจากกระดูกไป เผลอมีสภาพเหมือนหลับวูบไปนิดหนึ่ง นั่นเป็นอาการของกรรมฐานเดิมสลายตัว หายไปเพราะกรรมฐานของใหม่จะปรากฏเมื่อจิตวูบไปหน่อยหนึ่ง มีสภาพคล้ายจะหลับชั่วขณะประเดี๋ยวเดียวจิตก็สว่างโพล่งขึ้นมาใหม่ ตอนนี้ปรากฏมีแสงไฟปรากฏเป็นดวงใหม่ขึ้นในเบื้องหน้า

ตอนนี้ท่านไม่รอแล้ว ท่านเป็นผู้ชำนาญในวิสุทธิมรรค ความจริงลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานสมัยนั้นที่เอาจริงเอาจังเขามีความชำนาญในวิสุทธิมรรคเหมือนกันหมด พอดวงไปปรากฏขึ้นท่านก็จับเตโชกสิณ จับเตโชกสิณอยู่พักเดียว เวลานั้นเป็นเวลาบ่ายประมาณสองโมงเศษ ตามที่ท่านเขียนไว้ ท่านบอกเห็นแสงไปปรากฏขึ้น ภาวนาว่า เตโชกสิณัง ดูแสงไฟ เมื่อจิตเป็นฌานสี่อยู่แล้ว เป็นของไม่ยาก แสงไฟก็ปรากฏชัด มันก็ลุกท่วมมากขึ้นทุกทีๆ เกือบจะเต็มท้องอากาศ ท่านก็ทราบว่านี่เป็นอุคคหนิมิตใหญ่

ต่อมาไม่ช้าไม่นาน นับเวลาผ่านไปประมาณสักสิบนาที ไฟก็รวมสภาพคงที่ในลักษณะเดิมแต่เปลี่ยนจากแสงไฟเดิมกลายเป็นสีเหลือง สีเหลืองแก่ ท่านก็ภาวนา จิตจับภาพ มันทรงไว้เสียแล้วนี่ก็อสุภกรรมฐานเป็นฌานสี่ อะไรมันก็ไม่ยาก แสงไฟจากสีเหลืองก็กลายเป็นเหลืองอ่อนลงไปๆ จนเหลือเหลืองเล็กน้อย เป็นขาว จากขาวทั้งหมดเป็นประกายพรึก เป็นอัปปนาสมาธิ ชั่วขณะเดียว อีกไม่กี่นาที จิตก็ทรงฌานสี่ในกสิณอันเป็นของเก่า อันนี้ท่านบอกว่าท่านเล่ากสิณเป็นเตโชกสิณอยู่อย่างนี้ ไม่ยอมเอาอย่างอื่น ทั้งหมดเอาอยู่ ๗ วันให้มันช่ำใจ นึกขึ้นมาเวลาไหน แม้แต่เวลาเดินไปบิณฑบาท นึกถึงภาพกสิณก็ปรากฏชัด เป็นประกายพรึกแจ่มใส จะไปอาบน้ำ น้ำน้อยต้องคอยกัน เวลานั่งอยู่อย่างนั้นก็หลีกจากเพื่อนที่เขาคุยกันมาห่างนิดหนึ่ง ตาไม่หลับ ตาลืมใจจับภาพกสิณ กสิณก็ปรากฏชัด มีความช่ำใจ บังคับให้สูงให้ต่ำก็ได้

เมื่อท่านเล่นกสิณกองเดิมจนชำนาญได้ถึงฌานสี่ ทรงได้ตามเวลานี่ภายในเจ็ดวัน หลังจากนั้นก็ไล่เบี้ยกสิณทั้งหมด คือ ปถวีกสิณ เตโชกสิณ เป็นการทรงตัวแล้ว แล้วก็วาโยกสิณ อาโปกสิณ โลหิตกสิณ ปีตกสิณ นีลกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกสิณ อากาสกสิณ กสิณทั้งหมด ๙ กอง เสร็จภายใน ๑ เดือน เมื่อเสร็จภายใน ๑ เดือนแล้ว ก็ตั้งใจว่านี่เป็นโอกาสที่จะสามารถสร้างอภิญญาสมาบัติได้ แต่ทว่ากำลังใจของท่านคิดว่าเรื่องอภิญญาสมาบัติทิ้งไว้ก่อน เรามาว่าสมาบัติแปดกันดีกว่า จะได้เป็นทุน ถ้าบังเอิญตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเมื่อไร เพราะอาศัยสมาบัติแปดเป็นพื้นฐาน เราก็จะเป็นอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ฉะนั้นท่านจึงจับกสิณกองใดกองหนึ่งให้ทรงตัว แล้วเลิกกสิณนั้น และจับอากาสานัญจายตนะ พิจารณาอากาศ วิญญาณัญจายตนะ พิจารณาวิญญาณ อากิญจัญญายตนะ พิจารณาเห็นว่ารูปทั้งหมดไม่มีอะไรเหลือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ท่านบอกว่าอีนี่ทำยากหน่อย สามอย่างนั่นกล้วยๆ ทั้งนั้น จับแผลบเดียว วันเดียว คำว่าวันนี่ไม่ได้เต็มวัน เดี๋ยวเดียวก็อารมณ์ทรงตัว สำหรับเนวสัญญานาสัญญายตนะชักจะยุ่งๆ สักนิด เพราะคำว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีสัญญาทำเหมือนคนไม่มีสัญญา สัญญาแปลว่าความจำ ความจำมีอยู่ ทำเป็นว่าคนไม่มีความจำ ใครเขาด่าก็ทำเฉย ไม่รู้ เหมือนสังขารุเปกขาญาณ ใครเขาชมก็ไม่สนใจ มันจะหนาวมากจะมีผ้าน้อยก็ปล่อยมันหนาว แค่ไรก็ช่างมัน ทำเหมือนคนไม่หนาว เอาจิตเข้าจับอยู่ในฌานไว้ตลอดเวลา มันจะร้อนจัดเกินไปก็ไม่สนใจ อยากจะร้อนก็เชิญร้อน มันเป็นของไม่แปลก ร้อนเท่านี้ไม่สำคัญ ตายลงนรกร้อนกว่านี้ ใครจะว่าดีชั่วไม่รับรู้ ใครจะประกาศตัวเป็นศัตรู ใครจะเป็นไม่สำคัญ เป็นอันว่าเห็นหน้าคนก็ทักทายปราศรัยกันตามปกติ ใครจะเกลียด ใครจะรัก ไม่สนใจ ตามสบายของเขา เราเท่านั้นเป็นผู้ทำจิตให้ดีแล้วก็หมดเรื่อง ท่านบอกว่าท่านปลุกปล้ำกับเนวสัญญานาสัญญายตนะจริงๆ มาประมาณ ๑๕ วันถึงชนะแน่นอน จึงทรงกำลังจิตได้เป็นปกติ

คราวนี้ก็เล่นฌาน จากฌานที่ ๘ ที่ ๗ ที่ ๖ ที่ ๕ ที่ ๔ ที่ ๓ ที่ ๒ ที่ ๑ ไล่ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ เล่นไปเล่นมา เล่นมาเล่นไป ให้มันคล่องตัว หลับตาลืมตา นั่งอยู่นอนอยู่ยืนอยู่ ไม่เลือกเวลา ว่ามันจะคล่อง อีตัวนี้ตั้งเวลาไว้ ๑ เดือนนี่จะไม่เอาดีทางไหน จะเอาดีในทางการเล่นฌาน เข้าฌานตามลำดับฌาน จะเข้าฌานสลับฌาน คือเข้า ฌานที่ ๑ แล้วออกฌานที่ ๘ เข้าฌานที่ ๘ ออกฌานที่ ๒ เข้าฌานที่ ๒ ออกฌานที่ ๔ เข้าฌานที่ ๔ ออกฌานที่ ๗ ว่ากันสลับกันไปตามแบบนี้จนคล่อง เมื่อคล่องตัวดีแล้วมีอารมณ์ทรงตัว ก็เชื่อว่าเป็นผู้คล่องในสมาบัติแปด เมื่อมีความคล่องในสมาบัติแปดก็มีความอิ่มใจ คิดว่าถ้าเราสามารถทรงอารมณ์อย่างนี้ได้ ถ้าเราสามารถตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน เราก็จะเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ตามที่เราได้คิดไว้เบื้องต้น

สำหรับวันนี้ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน เวลาไม่อำนวยไม่ช่วยให้พูดต่อไป เพราะหมดเวลาเสียแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทรงกำลังกายตามปกติตามอัธยาศัยของท่าน จะนั่งก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จะนอนก็ได้ ให้เป็นตามอัธยาศัย จงใช้กำลังใจอย่างท่านผู้เฒ่า ผลที่พึงปรารถนาจะสมหวังแก่ท่านด้วยประการทั้งปวง สวัสดี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:08 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๗. สมาบัติแปด...เวลาจะใช้ฤทธิ์ทำอย่างไร ท่องเที่ยวไปตามแบบฉบับพระมหาโมคคัลลาน์

บัดนี้บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปขอบรรดาพุทธบริษัททุกท่านพยายามรวบรวมกำลังใจของท่านให้เป็นสมาธิ สำหรับอิริยาบถให้เป็นไปตามอัธยาศัย จงพยายามอย่าเคร่งเครียดในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้านั่งท่านี้ไม่ดีก็ขยับไปท่าโน้น นั่งเก้าอี้ นั่งห้อยขา นั่งเหยียดเท้าก็ได้ แล้วถ้านั่งไม่สบายจะนอนก็ได้ นอนไม่สบายจะยืนก็ได้ ยืนไม่สบายจะเดินก็ได้ ให้ร่างกายมันเป็นสุข ทั้งนี้ถ้าหากว่าเราไปยุ่งอยู่กับร่างกาย กำลังใจจะเข้าไปยุ่งอยู่กับทุกขเวทนานั้น อย่าลืมว่าผลแห่งการปฏิบัตินี่เราปฏิบัติใจ อย่างไรๆ ก็พยายามเชื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ก่อน ในเมื่อองค์สมเด็จพระชินวรตรัสไว้อย่างนี้ก็ปฏิบัติตามนั้น และเวลาปฏิบัติอย่าทรมานตนอย่างหนึ่ง และกำลังที่ปฏิบัติอย่าคิดว่าอยากจะได้จุดนั้น อยากจะได้จุดนี้ ทำจิตของเราให้เป็นไปตามคัลลองที่กำลังปฏิบัติ

นักปฏิบัติทั้งหมดนี่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อให้จิตทรงสมาธิ หรือว่าถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกไม่สบาย จะใช้คำภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือว่าจะพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามใจชอบ ตามแบบที่ศึกษามาแล้ว หากว่าท่านทั้งหลายที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วจะใช้ปัญญาใคร่ครวญในขันธ์ห้า ที่เรียกกันว่าร่างกาย ว่านี่ร่างกายเราเต็มไปด้วยความสกปรก ร่างกายของเราเป็นของไม่เที่ยง ถ้าเรายึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเราอยู่ จิตมันก็เป็นทุกข์ เราจะปล่อยมันไปเสียเพราะมันเป็นอนัตตา ในที่สุดนั้น ร่างกายคนอื่นหรือว่าทรัพย์สินอื่นๆ ในโลกก็เช่นเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เราสักแต่ว่าเห็น เราสักแต่ว่ารู้ ไม่ยึดถือว่ามันเป็นเราของเรา ถ้าทำจิตอย่างนี้ได้จนเป็นเอกัคตารมณ์ มีปัญญาเห็นได้ชัด สามารถตัดขันธ์ห้า คือไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์ห้าได้ ใจจะเป็นสุข ถ้าพิจารณาอย่างนี้ได้เสมอๆ จะไม่กำหนดรู้คำภาวนา ไม่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้าการพิจารณาปลงใจอย่างนี้ เป็นที่ชอบใจขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้เพราะพิจารณาอยู่อย่างนี้เป็นปกติอารมณ์ของท่าน อย่างเลวท่านก็เป็นพระโสดาบัน ดีขึ้นไปอีกนิดหนึ่งท่านก็เป็นพระสกิทาคามี ดีขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่งท่านก็เป็นพระอนาคามี แต่จิตทรงอย่างนี้ได้จริงๆ ตลอดเวลานั่น ท่านเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นกันตรงนี้เท่านั้น เป็นไม่ยาก แต่เรื่องพระอรหันต์อธิบายกันแล้ว

วันนี้ก็จะขอนำเอาปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าเล่าสู่กันฟัง จะได้จำไว้ว่าพระในปัจจุบัน คำว่าปัจจุบันก็หมายความว่าหลังนี้ไปประมาณ ๓๐ ปีเศษ ซึ่งเป็นระยะที่ไม่นาน ที่พยายามปฏิบัติเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระพิชิตมารแล้วก็ปฏิบัติตามก็เป็นพระอรหันต์ได้เวลาไม่ไกล จะมานั่งนึกว่าเวลานี้ไม่มีอรหันต์ เวลานี้ไม่มีพระอริยเจ้า เวลานี้ไม่มีพระทรงฌาน พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไว้ บอกไว้แต่เพียงว่าศาสนาของเราในพันปีที่หนึ่งจะมีพระอรหันต์มากไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณ พันปีที่สองจะมีพระอรหันต์มากไปด้วยอภิญญาหก พันปีที่สามจะมีพระอรหันต์มากไปด้วยวิชชาสาม พันปีที่สี่จะมีพระอรหันต์มากไปด้วยสุกขวิปัสสโก พันปีที่ห้าจะมีพระอริยเจ้ามากไปด้วยพระอนาคามี คำว่ามากหมายความว่าพวกนี้มากพวกอื่นก็ยังมีแต่ว่าน้อยไปหน่อย ท่านบอกว่าอย่างนี้ แล้วมีคนบางคนมาเขียนบอกว่าเวลานี้พระอริยเจ้าไม่มีแล้ว ท่านผู้เขียนเขาไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า จะเอาคนตาบอดไปคลำช้างไม่รู้จักว่ารูปร่างหน้าตาของช้างเป็นอย่างไร ถ้าไปคลำขาช้างก็จะนึกว่าช้างนี่เหมือนเสา ถ้าไปคลำงวงช้างก็จะนึกว่าช้างเหมือนกับปลิง ไปคลำหางช้างก็จะนึกว่าช้างนี้เหมือนกับไม้กวาด เป็นอันว่าคนตาบอดไม่มีโอกาสจะรู้จักว่าสภาพของช้างเป็นอย่างไร ข้อนี้ฉันใดแม้คนที่เขียนหนังสือไว้ก็เช่นเดียวกัน

เขาเป็นคนที่ยังเมามันด้วยอำนาจของกิเลส แต่กลับมาพยากรณ์ศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ว่าเวลานี้พระผู้ทรงฌานไม่มีแล้ว พระอริยเจ้าไม่มีแล้ว ก็ถอยหลังจากนี้ไปประมาณ ๓๐ ปี เรายังมีพระอรหันต์ ตามที่เล่าสู่ท่านฟัง ที่บอกว่าท่านเป็นอรหันต์ก็เพราะว่าบันทึกของท่านเขียนไว้ว่ามีจิตจุดเข้าถึงพระนิพพาน ซึ่งจะได้ฟังต่อไปในวันหน้า ท่านยืนยันของท่านอย่างนั้น ท่านก็ไม่ได้เขียนหนังสือปฏิปทาของท่านเป็นการค้าขายเอาสตางค์ เวลานี้ตัวท่านไปไหนแล้วก็ไม่รู้ บังเอิญหลวงตาเฒ่าผู้นี้ไปค้นไปคว้ามาบังเอิญไปพบตำรับตำราหรือว่าหนังสือที่ท่านบันทึกเอาไว้ จึงได้มีความเข้าใจว่า โอ หนอ นี่เราอาจจะเดินชนพระอรหันต์ตายไปกี่องค์แล้วก็ไม่ทราบ ทั้งนี้เพราะเราเป็นคนตาบอดเราเป็นคนหูหนวก เราไม่มีความดีสม่ำเสมอกับท่านจึงไม่รู้ว่าท่านทรงคุณธรรมอะไร เวลาที่พบกับท่านก็สภาวะเหมือนคนธรรมดา ไม่เคยถือตัวถือตน ชอบอย่างเดียวคือการคุยกันด้านกุศลท่านชอบ ถ้าคุยเรื่องอกุศลท่านเงียบ ท่านไม่ชอบ แต่ว่าท่านก็ไม่ปฏิเสธ เราพูดไปท่านก็ยิ้มเรื่อยๆ แสดงว่าท่านไม่เห็นด้วย

มาคุยกันถึงปฏิปทาของท่าน คุยกันตั้งแต่ต้นจำอะไรได้บ้าง ยึดถืออะไรได้ไว้บ้าง เมื่อคืนที่แล้วพูดกันมา ท่านตีโป่งไปถึงสมาบัติแปด แล้วนั่งเล่นสมาบัติแปดเข้าฌาน ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, แล้วมา ๗, ๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ แล้ว ๒, ๕ ,๗ สลับกันไปเรื่อย มันเพลินดีเหลือเกิน จิตมีความสุข จิตมีอารมณ์ชื่นบาน ท่านว่าดีกว่าคุยกับชาวบ้าน ดีกว่าดูมหรสพ แต่อย่าลืมว่าจิตที่เข้าสมาบัติแปดนั้นยังไม่ได้ทิพจักขุญาณและก็ยังไม่ได้อภิญญาหก ถ้าบังเอิญจะใช้พื้นฐานของสมาบัติแปดเป็นพื้นในการเจริญวิปัสสนาญาณ เวลากาลที่จะเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ไม่ยาก อย่างช้าไม่ถึงเจ็ดเดือน อย่างเร็ว ๗ วัน ไม่ถึง ๗ ปีแน่ เป็นอันว่าท่านที่เจริญพระกรรมฐานทรงสมาบัติแปดได้ แล้วเอาสมาบัติแปดเป็นพื้นฐานแห่งการเจริญวิปัสสนาญาณ พระอาจารย์รุ่นเก่าท่านบอกว่าเพียงแค่ชั่วเคี้ยวหมากแหลกก็สำเร็จอรหัตผล ก็สงสัยเหมือนกันว่าคนที่เคี้ยวหมากน่ะหมากแข็งหรืออ่อนก็ไม่ทราบ ถ้าบังเอิญเป็นหมากแข็งคนที่เคี้ยวไม่มีฟันก็น่าคิด แต่ทว่าสาวกขององค์สมเด็จพระธรรมสามิสร์ คงไม่คิดอย่างนั้น ท่านถือว่าผู้ที่ทรงสมาบัติแปด สามารถที่ทรงความเป็นอรหันต์ได้โดยฉับพลันแล้ว ถ้าหากปฏิบัติตนเข้าถึงพระอนาคามีก็จะเข้าถึงปฏิสัมภิทาญาณ มีวิชชาสามและอภิญญาหกคลุมไว้ได้หมดทุกอย่าง แล้วได้ยิ่งไปกว่านั้นคือปฏิสัมภิทาญาณ คือมีการทรงพระไตรปิฎก สามารถจะรู้ภาษาคนภาษาสัตว์ทุกอย่าง อันนี้เป็นอำนาจของปฏิสัมภิทาญาณ

ในเมื่อท่านเล่นสมาบัติแปด ตั้งแต่สมาบัติหนึ่งถึงสมาบัติแปดจนมีความชำนาญ เข้าเมื่อไรก็ได้ เข้าฌานไหนออกฌานไหนก็ได้ตามอัธยาศัย ท่านบอกว่าเพลินเรื่อยไปประมาณ ๑ เดือน พอครบหนึ่งเดือนท่านก็มานั่งนึกในใจว่า เราจะมานั่งเล่นสมาบัติแบบคนหูหนวกตาบอดคลำช้างอยู่เพื่อประโยชน์อะไร ถ้าจะหันไปเล่นวิชชาสาม กำลังจิตใจของเราก็สูงไปกว่านั้น ก็จะมาลองเล่นอภิญญาหกดูบ้างจะเป็นไร เห็นเพื่อนๆ เขาอยู่ใกล้ๆ เห็นเขามีอภิญญาหก ทรงอิทธิฤทธิ์ อภิญญาหก นี่มีฤทธิ์ มีอำนาจมาก อิทธิฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ได้ทุกอย่าง จะนิรมิตอะไร จะแสดงอะไร เหาะเหิน เดินอากาศก็ได้ ดำดิน ดำน้ำ อะไรก็ตามใจนึก ทิพพโสตญาณ มีประสาทเป็นทิพย์ ถ้าต้องการจะฟังเสียงใกล้เสียงไกล จิตจับฌานเดี๋ยวเดียวได้ยินเสียงหมด แล้วก็ทิพจักขุญาณ มีอารมณ์ใจเป็นทิพย์ จุตูปปาตญาณ รู้คนและสัตว์ที่มาเกิดนี่มาจากไหน คนและสัตว์ที่ตายไปแล้วไปไหน เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคน คนและสัตว์นึกว่าอย่างไรนี่รู้หมด ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้ระลึกชาติได้ไม่จำกัดชาติ อตีตังสญาณ รู้อดีตของคนและสัตว์สถานทั้งหมด อนาคตังสญาณ รู้เรื่องราวคนและสัตว์สถานทั้งหมดว่าเขาจะเป็นอย่างไร รู้ได้หมด และก็ปัจจุปปันนังสญาณ รู้ว่าเวลาปัจจุบันใครทำอะไรอยู่ที่ไหน มีความสุข ความทุกข์ประการใดรู้หมด ยถากัมมุตาญาณ คนและสัตว์ที่มีทุกข์อยู่ในปัจจุบันอาศัยกรรมอะไรเป็นปัจจัยรู้หมด เป็นอันว่าอภิญญาหกมันดีอย่างนี้

ท่านเล่าไว้ในหนังสือว่าลองมันดู ตำราท่านว่ามันดี แต่เราก็จะไปรับรองว่าตำราดีเสียจริงๆ เราก็จะกลายเป็นคนโง่ เราก็มานั่งพิสูจน์ความดีองค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงพรรณนาไว้ว่ามีจริงหรือไม่จริงเป็นประการใด ท่านก็มานั่งตั้งกันใหม่ จับกสิณสิบ ว่าตั้งแต่ปถวีกสิณ คือ กสิณดิน เตโชกสิณ กสินไฟ วาโยกสิณ กสิณลม อาโปกสิณ กสิณน้ำ โลหิตกสิณ กสิณแดง นีลกสิณ กสิณสีเขียว ปีตกสิณ กสิณสีเหลือง โอทาตกสิณ กสิณสีขาว อากาสกสิณ กสิณคืออากาศ อาโลกกสิณ กสิณคือแสงสว่าง ท่านชำนาญในฌานถึงสมาบัติแปด ในเมื่อมาเล่นกสิณอย่างนี้มันก็เป็นของเด็กเล่น ท่านบอกจับกสิณอะไรมันก็ได้ไปหมด ไม่เห็นมันมีอะไรยาก จับปถวีกสิณ ปถวีกสิณก็ปรากฏ ปฏิภาคนิมิต ไม่ได้ขึ้นต้น จับปลายเพราะกำลังของจิตสูงมากเกินไปเกินกว่า ที่จะมาไล่กสิณตามลำดับ แล้วมานั่งจับกสิณน้ำ กสิณดิน กสิณไฟ กสิณลม กสิณอะไรก็ตาม เดี๋ยวเดียว กสิณ ๑๐ อย่างภายในวันเดียวจบ

มันจะไม่จบอย่างไร ก็กำลังใจของท่านทรงสมาบัติแปด เล่นเข้าฌานออกฌานตั้งแต่ฌานหนึ่งถึงฌานแปด ล่ออยู่ตั้งเดือน แล้วก็สลับกันมาสลับกันไปในระหว่างฌาน ก็สนุกสนานดีมีความสุข มีความคล่องจนชิน ถอยหลังมาจับกสิณซึ่งเป็นกรรมฐานต่ำกว่า เป็นของยากที่ไหน ก็เหมือนกับบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่มีกำลังมากไปยกของที่เด็กๆ ยกไหว เด็กอายุ ๑๒, ๑๓ ยกไหว แล้วคนที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีกำลังสมบูรณ์มากยกไม่ไหวมันก็ซวยเต็มที เป็นอันว่าท่านเล่าให้ฟังว่าคิดว่า มันจะยาก แต่เนื้อแท้จริงๆ แล้วมันง่ายเหลือเกิน วันเดียวนั่งเล่นกสิณสบายๆ สิบกองมันเรื่องเล็ก ท่านบอกว่าทำเหมือนกับเด็กเล่นปั้นลูกกระสุน สมัยนั้นไม่มีอย่างอื่น มีแต่เล่นลูกกระสุน เด็กๆ ปั้นลูกกระสุนยิงนกได้คล่องตัวฉันใด การทรงสมาบัติแปดเข้าฌานออกฌานสลับกันไปสลับกันมาตั้งเดือนเป็นประโยชน์มาก เมื่อเข้าฌานในกสิณตามลำดับฌานคือ ๑, ๒, ๓, ๔ ในกสิณต้นและก็ว่าไปถึง ๑๐ ๑-๒ ๓-๔ แล้วก็สลับทุกกสิณ แล้วเข้าฌานสลับฌาน ๑-๒-๓-๑ อะไรก็ตามว่ากันไปสลับกันไปกันมาจนคล่อง

ท่านบอกว่ามันง่ายจริงๆ เล่นอย่างนี้ให้มันช่ำเพื่อความมั่นใจ ตั้งเวลาไว้ว่าจะใช้เวลาสักหนึ่งเดือนเล่นให้มันสนุก แล้วท่านก็ไม่ทิ้งสมาบัติแปดของท่าน เล่นกสิณบ้าง เล่นสมาบัติแปดบ้าง คลุกเคล้ากันไปตามลำดับจนมีความคล่องดีถึงวันที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๑๕ ผ่านไป เวลานั้นท่านบอกว่าใครเขาหาว่าฉันเป็นใบ้ไปหมด ใครเข้ามาพูดกับฉันๆ ก็ไม่อยากจะคุยมันเกรงใจชาวบ้านก็พูดคำสองคำ เออๆ ค่ะ ชาวบ้านเขาเห็นคุยน้อย เขาก็เลยไม่อยากคุยด้วย เขากลับไป เขากลับไปฉันก็นั่งเล่นของฉันคนเดียวสบาย กลางคืนกลางวันฉันไม่รู้ กินข้าวอิ่ม หลังกินข้าว ก่อนกินข้าว ไม่ทราบ เวลาทำงานฉันก็ทำ ขึ้นหลังคา ลงก้นแม่น้ำก็ทำ ทำทุกอย่างงานการใดๆ ที่มีในวัดฉันทำหมด ขณะที่ฉันทำงานกิริยาที่มันทรงตัว จะนั่งหรือจะยืนอยู่ก็ดีก็เล่นกสิณไปด้วย ฉันเล่นสมาบัติแปดของฉันไปด้วย หนึ่ง สอง สาม ถึงแปด เล่นไปสนุก ท่านบอกว่าเวลาบางทีแดดร้อนๆ มันก็ไม่รู้สึก อากาศหนาวก็ไม่อยากจะหนาว เพราะเนวสัญญานาสัญญายตนะปรากฏจับจิตจนชิน

นี่ความจริงท่านบอกว่ามันมีอารมณ์เป็นสุขบอกไม่ถูก ท่านเขียนไว้ภายในประวัติ ท่านดีใจแล้วท่านไม่เคยคิดเลยว่าคนอย่างท่านจะเป็นคนมีวาสนาบารมีได้อย่างนั้น หวนกลับไปท่านก็มีความเข้าใจว่าหลวงพ่อปานท่านมีคำแนะนำไว้เสมอ เห็นหน้าทุกวัน หลวงพ่อปานบอกว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยาย เอตัง กาสาวัง คเหตวา ว่าคุณจงจำไว้ว่า คุณบวชเข้ามารับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หลวงพ่อปานท่านบอกอย่างนั้นเสมอ เมื่อถึงวันที่ ๑๕ ผ่านไป รุ่งขึ้นหลวงพ่อปานเรียกเข้าหาเป็นส่วนตัวเวลากลางคืนสักสองทุ่มเศษ หลังจากที่ท่านคุยกับพระบริษัทของท่านเพื่อเป็นการปลุกใจให้สร้างความดีแล้ว ท่านก็บอกว่าขอพบเป็นส่วนตัว เมื่อเข้าในกุฏิท่านก็ถามว่า คุณเล่นกสิณสลับไปสลับมาจนคล่องตัวแล้วใช่ไหม ท่านบอกใช่ ท่านก็ถามว่าหลวงพ่อท่านทราบได้อย่างไร หลวงพ่อปานท่านก็บอกว่าพระท่านบอกฉัน ฉันไม่ใช้กำลังใจของฉันให้เป็นประโยชน์ แต่ว่าถ้าฉันใช้ความรู้ที่ฉันมีอยู่แล้วก็เกรงว่าอุปาทานจะกิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะรู้ได้ก็เพราะอาศัยพระท่านคอยบอกฉัน

ตามบันทึกของท่านก็ถามว่าพระท่านว่าอย่างไรต่อไป หลวงพ่อปานก็บอกว่าใช้กสิณเป็นฤทธิ์ได้แล้ว ถ้าเล่นตามนั้นเป็นปกติ ความจริงขณะที่ท่านเล่นนั้นทิพจักขุญาณก็คอยจะปรากฏท่านก็ตัดทิ้งไป ท่านไม่เอา ท่านว่าถ้ากำลังใจยังไม่คล่องยังต้องใช้เวลาถึงหนึ่งนาทียังใช้ไม่ได้ เป็นอันว่าฌานทุกอย่างที่ท่านเข้าได้ทรงได้ ท่านจะเข้าภายในขณะจิตเท่านั้น ท่านคล่องถึงขนาดนี้ ก็เลยถามหลวงพ่อปานว่าเวลาจะใช้ฤทธิ์ทำอย่างไร หลวงพ่อปานท่านก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ สมมติว่าจะให้หินมันอ่อนก็ตั้งใจเวลาจิตอยู่ในอุปจารสมาธิ คิดว่าหินนี้จงอ่อน แล้วก็เข้าอาโปกสิณ คือกสิณน้ำให้ถึงฌานสี่ แล้วคลายจากฌานสี่มาตั้งจิตอีกทีว่าหินจงอ่อน แล้วก็เอามือจับหินๆ มันจะอ่อน จะให้มันอ่อนขนาดไหนก็ได้ ถ้าคิดอยากจะเหาะก็คิดว่าจะต้องไปโน่น ลอยไปที่นั่นแล้วก็ลอยไป เมื่อตั้งใจอย่างนี้แล้วก็เข้าวาโยกสิณ เข้าถึงฌานสี่ แล้วถอยหลังมาอีกทีเข้าในอุปจารสมาธิว่าเราจะลอยไปที่ตรงนั้น เข้าฌานสี่อีกทีมันจะไป เล่นอย่างนี้ให้มันคล่อง อยากจะทำอะไรก็ได้ อยากจะให้ฝนตก ก็ตั้งจิตไว้ในอุปจารสมาธิต้องการให้ฝนตก แล้วเข้าอาโปกสิณถึงฌานสี่ฝนมันก็จะตก ถ้าหากว่าจะให้แสงไปปรากฏก็เข้าเตโชกสิณ อยากจะให้มีลมมาก็เข้าอาโลกกสิณ ถ้าหากว่าที่ไหนอากาศมันน้อยก็เข้าอากาสกสิณ

ท่านบอกว่าทำตามนั้นแหละคุณ สีแดงต้องการให้มันเป็นสีเหลืองก็เข้าปีตกสิณ ถ้าของสีขาวหรืออากาศสีขาวต้องการให้มันดำมืดก็เข้านีลกสิณ ต้องการของสีอื่นให้เป็นสีขาวก็เข้าโอทาตกสิณ ถ้าความมืดมันปรากฏก็เข้าอาโลกกสิณ ถ้าหากว่าที่ไหนอากาศมันน้อยก็เข้าอากาสกสิณ ท่านบอกว่าทำตามนั้นแหละคุณแล้วมันจะได้ เป็นอันว่าในเมื่อหลวงพ่อปานท่านสั่งมาอย่างนั้น ท่านแนะนำมา ท่านกลับมาที่เรือนท่านๆ ก็ทำทุกอย่าง

เป็นอันว่ากิจทั้งหมดทำได้ท่านว่าไม่ยากเลย ท่านว่าอย่างนั้น เอาตามแบบ ต้องเข้าอุปจารสมาธิให้เข้าถึงฌานสี่ ออกฌานสี่มาตั้งอุปจารสมาธิ ในเมื่อเอาเข้าจริงๆ พอนึกปัปเข้าเลย เพราะความคล่องของการทรงฌาน และอาศัยที่ท่านได้อภิญญาสมาบัติอย่างนี้ ท่านจึงอาศัยอภิญญาสมาบัติเป็นการช่วยการปฏิบัติในด้านวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น ในการเล่นฤทธิ์ของท่านอาตมาภาพจะของดไม่อธิบาย เพราะว่าอธิบายในการเล่นฤทธิ์ของท่านอีก ๓๐ ปี ก็ไม่จบ ทั้งนี้เพราะว่าการที่ได้ใหม่ๆ ไม่ว่าอะไรทั้งหมดมันชนทุกอย่าง พิสูจน์คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่โลกันตนรกขึ้นมาจนกระทั่งถึงพรหมชั้น ๑๖ ว่ากันแบบสบายๆ ด้วยความคล่องทุกวัน ท่องเที่ยวไปตามแบบฉบับพระมหาโมคคัลลาน์ เอาแบบพระโมคคัลลานะมาบ้าง เอาประวัติพระมาลัยมาบ้าง แล้วก็ไปตามนั้น แล้วก็ไปตามได้ทุกทิศทาง ทุกที่ที่ตามประวัติมีอยู่ก็ไปให้หมดความสงสัย ในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัท เวลาหมดเสียแล้วสำหรับวันนี้ เรื่องกสิณนี้ก็จะไม่ซ้ำต่อไป ต่อไปนี้จะพูดถึงเรื่องวิปัสสนาญาณที่พูดถึงไว้ เพราะไม่ต้องการให้ประวัตินี้ยาวเกินไป ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาพุทธบริษัททุกท่านพยายามทรงกำลังใจให้เป็นสมาธิ ใช้ปัญญาพิจารณาในขันธ์ห้าหรือตั้งใจตามสภาวกาลจนกว่าจะถึงเวลาสมควรของท่าน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:08 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๘. คนที่จะเป็นพระอรหันต์ ท่านมีกำลังใจเป็นอย่างไร พยายามศึกษากำลังน้ำใจของท่านไว้...รักษาธรรมยิ่งกว่าชีวิต

สำหรับบัดนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้สมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปก่อนที่จะฟังปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า อันดับแรกก็รวบรวมกำลังใจของท่านเองเสียก่อน ว่าเรื่องท่านเป็นเรื่องของท่าน เรื่องของเราก็เป็นเรื่องของเรา จะว่าตามความจริง ฟังปฏิปทาของท่านที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็จะได้ทราบว่า คนที่จะเป็นพระอรหันต์ ท่านมีกำลังใจเป็นอย่างไร พยายามศึกษากำลังน้ำใจของท่านไว้ คนที่จะเป็นพระอรหันต์อารมณ์เด็ดเดี่ยว หมายความว่า ต้องมีอารมณ์ทรงอยู่ในอิทธิบาททั้งสี่ประการให้ครบถ้วนๆ ต้องมีแล้วก็มีจรณะ ๑๕ ประการครบถ้วนเท่านี้ก็พอ เป็นอันว่าได้ทรงคุณธรรมตามนี้ก็พอแล้ว ทั้งนี้เพราะท่านผู้เฒ่าที่นำประวัติของท่านมาเล่าสู่กันฟังใจเด็ดเดี่ยวมาก รักษาธรรมยิ่งกว่าชีวิต มีอารมณ์คิดไว้โดยเฉพาะว่าสิ่งใดที่ครูบาอาจารย์สอนเรา ถ้าสิ่งนั้นถ้าเราทำไม่ได้เราจะยอมตายเสียดีกว่า อารมณ์ใจอย่างนี้เป็นอารมณ์ใจที่ตัดขันธ์ห้า ไม่มีเยื่อใยในขันธ์ห้าอยู่ แล้วหมดเรื่องกัน ก็เป็นอันว่าอารมณ์ใจของบุคคลที่จะเป็นพระอรหันต์ สำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ขอจงพยายามทรงใจอยู่ในอารมณ์อิทธิบาททั้งสี่ประการให้ครบถ้วน อย่าทำแบบเปาะแปะๆ อย่างที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อย่าทำตนประเภทเป็ด เป็ดมันเดินได้ บินได้ ว่ายน้ำได้ ร้องได้ แต่เอาดีไม่ได้สักอย่าง มันดำน้ำได้ก็ดำไม่หมดตัว อย่างนี้ไม่สำเร็จผล ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนจงตั้งใจรวบรวมกำลังใจของท่าน ให้สามารถทรงสมาธิไว้ได้เสมอ อารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต มันเป็นเรื่องธรรมดา เรารักษามันไม่ได้ตลอดวัน แต่เราก็จะเอาชนะมันเป็นคราวๆ ไป และนอกจากนั้นก็คิดไว้ว่าเราจะต้องตาย เมื่อความตายจะเข้ามาถึงเรา เราเกิดใหม่เราจะต้องดีกว่านี้ ดีไม่ดีเราก็ไม่เกิดมันเลย เราจะดีกว่านี้เราจะทำอย่างไร

อันดับแรกเราก็ยอมรับนับถือในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยปัญญา อย่านับถือส่งเดช ใช้ปัญญาพิจารณาดูเสียก่อนว่าควรจะนับถือหรือไม่ พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระชินวรทรงสอนมีเหตุผลสมควรหรือไม่ที่เราจะพึงปฏิบัติ เวลานี้ไม่ใช่เวลาจะมานั่งอธิบายกันฟังกันถึงสี่เวลาในหนึ่งวัน หวังว่าเข้าใจดีแล้ว หลังจากนี้ก็เอาศีลที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วประทานให้มารักษาไว้ยิ่งกว่าชีวิต จิตของเราน้อมรับเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าทรงได้อย่างนี้เราเป็นพระโสดาบัน แล้วความจะเป็นพระอรหันต์มันเป็นของไม่ยาก ยากหรือไม่อยู่ที่พระโสดาบันเท่านั้น

กระผมนี่ขอพูดกับพระก็คิดว่าพระหลายท่านที่ตั้งใจดี ทำกิจเพื่อตนทำกิจเพื่อพระศาสนาที่เรียกรวมกันว่ายอมมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ มีอยู่ในสำนักของเรา ถึงกับตัดลาภ ตัดยศ ตัดสรรเสริญ ตัดสุข มีอารมณ์ใจไม่ทุกข์ ยอมรับกฎของกรรมมีอยู่ในสำนักของเรา หลายท่านที่มีความมุ่งมั่น แม้แต่ฆราวาสหรือสตรีมีอารมณ์สำรวมเป็นอันดี ไม่อยากจะมั่วสุมอยู่กับบุคคลอื่น มีความต้องการอย่างเดียวคือชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ แล้วก็มีหลายท่านที่ตั้งใจทำกิจการงานของสงฆ์ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อพระศาสนา มีความเคารพในพระรัตนตรัย พยายามทรงศีลห้าบริสุทธิ์ ถ้าจิตมีความมั่นคงในพระนิพพานอันนี้ผมว่าไม่ยากสำหรับพวกท่าน หลายท่านที่ทรงได้แบบนี้ผมทราบ ที่ผมทราบผมไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ผมนั่งดูเอาตามชอบใจ หมายความกันว่าสังเกตกันไว้ว่าจริยาของท่านผู้ใดทำกิจการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยเฉพาะหรือว่ามีกิจส่วนรวม หน้าที่ของตนมีอะไรปฏิบัติตนเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ มีการจำกัดเขตความรู้สึกของตน มัธยัสถ์ในอารมณ์ มัธยัสถ์ในกาย ในวาจา มัธยัสถ์ในใจ ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป ไม่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความจริงคนที่ไม่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นี่ท่านไม่ได้กล่าวว่าเป็นนิสัยของพระโสดาบัน อันนี้ท่านกล่าวว่าเป็นวิสัยของพระอรหันต์ต่างหาก ถ้าก้าวไปจริงๆ มันก็เป็นของไม่ยากสำหรับท่านที่ต้องการ แต่ทว่าอย่ารีบเกินไป

ดูปฏิปทาของท่านเฒ่า ท่านผู้เฒ่าท่านเป็นพระที่ทรงอภิญญาสมาบัติ แต่เราไม่เป็นไร เราไม่ได้ทรงสมาบัติอภิญญาก็ไม่เป็นไร คำว่าอรหันต์ไม่ได้หมายความว่าทรงอภิญญาหก วิชชาสาม หรือปฏิสัมภิทาญาณ อรหันต์แปลว่าผู้ไกลจากกิเลส คือทำใจของเราให้ห่างจากกิเลสออกมา อย่าไปมั่วสุมกับความรักในเพศ อย่าไปมั่วสุมกับความโลภอยากจะได้ลาภ ได้ทรัพย์ได้สินมาปกครองเป็นทรัพย์สินของตน อย่าไปมั่วสุมกับความโกรธ ความพยาบาท ตัดอาลัยในชีวิต ไม่คิดว่าจะต้องการมันอีก คิดไว้อย่างนี้เสมอๆ การเป็นพระอรหันต์เป็นของไม่ยากสำหรับท่านนี่บังเอิญ ถ้าบางทีใครเขาย้อนถามมาได้เขาอาจจะย้อนถามมา ถามว่าคนพูดเป็นพระอรหันต์แล้วหรือยัง ก็ต้องตอบว่าในขณะใดที่พระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์ผมว่าเป็นอะไร ผมก็ต้องบอกว่าผมไม่ได้เป็นอะไร ถ้าถามว่ายังไม่ได้เป็นมาพูดเรื่องพระอรหันต์ได้อย่างไร ก็ต้องตอบว่าพูดได้ตามที่พระพุทธเจ้าท่านพูดมาเป็นพื้นฐาน เพราะว่าผมเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาละ สำหรับพวกเราเอง เรื่องสำหรับประพฤติปฏิบัติก็จำไว้ก็แล้วกัน ว่าอะไรบ้างที่กล่าวมาที่เรา ควรจะปฏิบัติ เหลือเวลาอีกไม่ถึง ๒๐ นาที ก็มาคุยเรื่องของท่านผู้เฒ่าเพื่อเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ

ตามบันทึกของท่านเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ท่านทรงอภิญญา ท่านคลั่งอภิญญาอยู่พักหนึ่ง ท่านเขียนของท่านเองอย่างนั้น จะหาว่าผมไปปรามาสท่านไม่ได้ ผมว่าตามท่านเขียน ท่านบอกว่า ท่านคลั่งอภิญญาอยู่พักหนึ่ง แต่ทว่าคลั่งอยู่คนเดียวไม่ได้คลั่งอวดชาวบ้าน อารมณ์มันครึ้มๆ ชอบกล เพราะว่าต้องการอะไรทำอะไรมันก็ได้ทุกอย่าง ได้ทราบว่าอุปสรรคของท่านก็มีท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เมื่ออาตมาไม่เคยพูดถึงเรื่องอุปสรรคของท่านให้ท่านทั้งหลายฟัง วันนี้ก็มาพูดถึงอุปสรรคให้ฟังสักครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ท่านเริ่มปฏิบัติพระกรรมฐานเข้าถึงปีติ ความแจ่มใสของผิวกายย่อมปรากฏ หน้าตาเต็มไปด้วยอารมณ์มีความสดชื่น สายตาของท่านเต็มไปด้วยความเมตตาปราณี จะพูดจาพาทีกับใครๆ ก็แสดงไปด้วยอำนาจความเมตตาและสงสาร มีความห่วงใยในคนทุกคนที่อยู่ในขอบเขตนั้นแทนหลวงพ่อปาน เวลานั้นหลวงพ่อปานมีภารกิจมาก หนึ่ง มีภารกิจในด้านการปกครองพระ สอง ภารกิจในการก่อสร้างๆ คราวเดียวหลายวัด สาม ภารกิจการรักษาคนไข้ที่รักษาโรค

สมัยนั้นโรงพยาบาลหายาก แม้แต่สุขศาลาชั้นสองก็ไม่มีในเขตอำเภอต่างๆ แล้วอีกประการหนึ่ง ท่านก็มีความห่วงในความเป็นอยู่ของบุคคลที่มารักษาโรค ว่าเขาจะมีกินหรือไม่มีกิน นอนหลับหรือไม่นอนหลับ มีผ้าห่มพอไหม มีอะไรในการครองตัวพอหรือไม่ ท่านห่วงทุกอย่าง ในเวลากลางวันรักษาไข้ รับแขกด้วย รักษาไข้ด้วย เวลากลางคืนรักษาไข้ ท่านผู้เฒ่าก็รับภาระนี้ไปโดยหลวงพ่อปานไม่ได้สั่ง ท่านถือว่างานหลวงของท่านไม่ขาด งานราษฎร์ของท่านไม่เสีย ภาระหลวงพ่อปานท่านรับเอามาช่วยทำทุกอย่าง ท่านทำเว้นไว้แต่งานรับแขกในตอนกลางวัน ถ้าหลวงพ่อปานอยู่หลวงพ่อปานก็รับ ถ้าหลวงพ่อปานไม่อยู่ท่านก็รับแทน กลางคืนเดินท่อมๆ อยู่เสมอ ดูคนไข้ตรวจคนไข้ คนที่มากับคนไข้จะมีความสุขหรือไม่มีความสุข ป้องกันภัยสำหรับวัด รักษาของสงฆ์ เป็นอันว่าเวลาท่านเดินไป ท่านว่า ท่านไม่เดินไปเฉยๆ ท่านห่วงชาวบ้านก็ห่วง ท่านห่วงตัวของท่านเองท่านก็ห่วง เวลาเดินไปรักษาทรัพย์สินของท่าน ดูความสุขทุกข์ของคนไข้ ดูความสุขทุกข์ของคนที่เป็นเจ้าของไข้ ท่านก็ทำกำลังจิตของท่านให้เป็นสมาธิไปตลอดตามกำลังจิตของท่าน ท่านบอกว่าท่านเดินจงกรม เป็นอันว่าเวลาเดินจงกรมคืนหนึ่งของท่านมีสองพัก ในช่วงระยะเวลาประมาณสี่ทุ่มถึงหกทุ่มนี่ครั้งหนึ่ง ต่อไปอีกครั้งหนึ่ง เท่าที่สังเกตเป็นประมาณตีสองหรือตีสามออกมาเดินอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็เข้าไปจำวัด ท่านทำกิจหนัก เวลาของท่านแน่นอนทุกอย่าง

เมื่อคุยกันถึงอุปสรรค ในบันทึกของท่านบอกว่านับตั้งแต่ถึงธรรมปีติเป็นต้นมา ปฏิปักษ์ก็เกิดกับท่านทุกอย่างทั้งพระภายในวัดแล้วก็ทั้งทายก ทายกนี่ไม่ได้หมายความว่าอุบาสกอุบาสิกา ทายกคือเจ้าหน้าที่วัด ความจริงหลวงพ่อปานท่านคนตำบลนั้น แต่ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนในตำบลของตนเองหรือตำบลใกล้เคียงย่อมจะไม่เห็นความสำคัญของพระในวัดของตนต่างคนต่างก็แสดงอาการเหยียดหยาม แม้แต่หลวงพ่อปานเขาก็นินทาว่าร้าย ความดีของท่านทำเหลือหลาย คนทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังนินทาติเตียนอยู่เสมอ ฉะนั้นเมื่อท่านผู้เฒ่าทำแบบนี้เข้าเขาก็ประณามกัน หาว่าท่านบ้า พระปกติบรรดาเจ้าของถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีใครชอบท่าน เพราะท่านเป็นคนตรงไปตรงมาตามพระธรรมวินัย แล้วก็คนพวกนี้ไม่ยอมเคารพในพระธรรมวินัย อะไรบ้างจะเป็นของสงฆ์หรือของสาธารณประโยชน์ไม่สำคัญ ฉันต้องการก็แล้วกัน เมื่อจะต้องผ่านท่าน ท่านถึงไม่ยอมทุกอย่างถ้าทำผิดวินัย เพราะตอนนั้นหลวงพ่อปานยกให้ท่านเป็นแม่บ้าน เป็นอันว่าคนในแถวนั้นบางท่านนะไม่ใช่ทุกคน โกรธและเกลียดในท่าน ใครไปใครมาก็แจ้ง พอคุยกับแขกที่มาใหม่ คุยไปคุยมามักจะอ้อมถามท่านถึงท่านผู้เฒ่าว่าพระองค์นี้เป็นพระบ้าๆ บอๆ จงอย่าคบหาสมาคมด้วย ในระยะแรกๆ คนที่เขาเข้ามาใหม่ๆ เขาเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น เขาก็เชื่อคนที่ปากเน่าประเภทนั้น แต่พอเข้าถึงความสัมพันธ์ของท่านหน่อยเดียว เขาเลยด่าคนส่งข่าวต่อไป ว่าเจ้าคนส่งข่าวน่ะมันเลวแสนเลว ไม่ได้มีความดีอะไร ไม่รู้จักความดีของคน ท่านต้องต่อต้านกับอารมณ์ประเภทนี้อยู่ตลอดเวลา

เคยเรียนถามท่านว่ามีความรู้สึกอย่างไร ท่านก็บอกว่ามันเป็นของธรรมดานี่คุณ นัตถิ โลเก อนินทิโต คนที่ไม่ถูกนินทาในโลกมันไม่มี แล้วบางครั้งท่านก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนน่าบัดสี มีสภาพเหมือนไม่ใช่พระ ก็มีหลายคราวที่ท่านถูกฟ้องร้องจากคนประเภทนี้ พระประเภทนี้ แต่ว่าท่านก็เฉย ในที่สุดท่านก็เป็นผู้ชนะเพราะว่าท่าน เป็นผู้บริสุทธิ์ เวลาเจ้าคณะผู้ใหญ่มาสอบสวน ท่านก็พูดตามความเป็นจริงที่ท่านปฏิบัติ บรรดาพระผู้ใหญ่เหล่านั้นท่านก็ใหญ่จริงๆ ท่านไม่ยอมรับฟังเพียงแต่แค่โจทก์หรือจำเลยเท่านั้น ท่านรับฟังเสียงของชาวบ้าน หรือเสียงของบุคคลที่อยู่ภายในคือพวกคนไข้หรือเจ้าของไข้ ข่าวเหล่านั้นก็ตรงกันข้ามกับข่าวที่พวกนั้นไปฟ้อง เป็นอันว่าท่านก็เป็นผู้บริสุทธิ์ เวลาถูกฟ้องถูกร้องเคยเข้าไปกราบเรียนท่านว่ามีความรู้สึกเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าสบายใจที่มีโอกาสได้ใช้หนี้กฎของกรรมไปเสียอย่างนั้นอีก นี่บรรดาท่านพุทธบริษัทควรจะรับฟังแล้วก็จำเข้าไว้ ท่านก็เคยบอกให้ฟัง บอกว่าคุณ ใครเขาด่าเขาว่าเขานินทา เขากลั่นแกล้ง คุณอย่าไปสนใจเข้านะ อย่าไปถือว่าบุคคลนั้นเขาเลว ความจริงเขาไม่ได้เลว เรามันเลวแต่ผู้เดียว

ท่านพูดแบบนี้ก็นึกไม่ออก เห็นท่านทรงความดีด้วยประการทั้งปวง ความดีของเรานี่จะได้เข้าไปหนึ่งในร้อยของท่านมันก็ไม่ได้ แต่ท่านก็บอกว่าท่านเลว ก็ได้กราบเรียนถามว่าเลวตรงไหนขอรับ ผมอยากจะทราบว่าศีลสิกขาบทไหนบ้างที่ท่านบกพร่อง ท่านบอกว่า ฉันนั่งนึกทุกคืนว่าสิกขาบทไหนฉันไม่เคยบกพร่อง ถามว่าธรรมะบทไหนบ้างที่ท่านบกพร่อง ท่านก็บอกนิพพานท่านยังไปไม่ได้ท่านบกพร่อง เอาเข้านั่น ฟังสิเรา นี่เราถูกกับเข้าแล้ว ท่านบอกนิพพานท่านไปไม่ได้ท่านบกพร่อง แต่ว่าอภิญญาสมาบัติท่านสูง ท่านต้องมีศีลบริสุทธิ์ มีทุกอย่างดีมีสมาธิเข้มแข็ง ท่านก็บอกว่า จริง ชาตินี้ตอนต้นก่อนฉันยังไม่ได้บวชฉันเลว แต่ตอนบวชแล้วฉันพยายามทิ้งเลว

ก็เลยถามท่านว่า ความเลวสมัยก่อนบวชใช่ไหมที่ทำให้ท่านต้องถูกกลั่นแกล้งด้วยประการทั้งปวง ท่านบอกว่าไม่ใช่ ท่านเลวเมื่อชาติก่อนต่างหาก ถามว่าท่านรู้ได้อย่างไร ท่านก็บอกว่านี่เราพวกเดียวกันนะ นี่เราพวกเดียวกันฉันคุยให้ฟังได้ เคยไปถามหลวงพ่อปานแล้วหรือยังว่า ฉันปฏิบัติแบบไหน ก็เลยกราบเรียนท่านว่า ไม่ได้ถาม เพียงแต่หลวงพ่อปานบอกว่าท่านทรงสมาบัติแปดคล่องแคล่วมาก แล้วก็เป็นผู้ทรงอภิญญาสมาบัติคล่องมาก เพราะฉันทรงอภิญญาสมาบัตินั่นนะซิ ฉันจึงไม่โกรธเขา ฉันถอยหลังไปดูอดีตด้วยอำนาจอตีตังสญาณ แล้วฉันก็ใช้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เมื่อชาติก่อนๆ ฉันมันระยำมากจริงๆ ที่เขาด่าเขาว่า เขากลั่นเขาแกล้ง เขาฟ้อง เขาร้องนี่ มันเป็นกฎของกรรมความชั่วที่ฉันทำทั้งนั้น ฉันเต็มใจใช้ดอกเบี้ยของความชั่ว แต่ไม่แน่หรอกคุณนะ ฉันยังทรงฌานโลกีย์อยู่ ดูแต่ท่านพระเทวทัตทรงฌานโลกีย์เหมือนฉัน ท่านก็ทรงอภิญญาสมาบัติเหมือนกับฉัน แต่ว่าฉันอาจจะดีสู้ท่านไม่ได้ เพราะว่าฌานสมาบัติอาจจะอ่อนกว่า แต่ฉันก็ถือป่าช้าเป็นวัด ฉันก็เล่นสมาบัติโก้ๆ มันก็คล่องดี คุณอย่าเพิ่งคิดว่าการทรงคุณธรรมแค่นี้มันเป็นของดีนะ ท่านพระเทวทัตท่านได้อภิญญาสมาบัติท่านลงอเวจีได้ สำหรับฉันก็เหมือนกัน ถ้าเผลอเมื่อไรฉันก็ลงอเวจีเมื่อนั้น

จึงได้กราบเรียนท่านว่าอภิญญาสมาบัติเป็นของดี ท่านจะทรงตลอดไปไหม ท่านก็บอกว่า ฉันเล่นมาตั้งปีแล้ว เล่นของฉันคนเดียวสนุกๆ ฉันเล่นของฉันมาคนเดียวมาปีหนึ่งแล้ว เล่นไปเล่นมาเวลานี้ฉันรู้สึกตัวแล้ว เมื่อเวลาได้ใหม่ๆ ฉันรู้สึกตัวว่ามันโก้มันเก๋จริงๆ ความประมาท ความทะนงตัวมันเกิดขึ้น มานั่งคิดว่าชายหรือหญิงคนไหนหนอจะมีความดีเสมอกับเรา ได้สมาบัติแบบเราเล่นอะไรก็ได้ตามความประสงค์ อยากไปเที่ยวนรก อยากไปเที่ยวสวรรค์ อยากไปประเทศไหนเมืองไหนมันของเล็กๆ จริงๆ นึกปัปเดียวถึงหมด ตอนนั้นมันครึ้มๆ ชักนึกว่าฉันดีกว่าคนหลายคน แต่ว่า เวลานี้ฉันรู้แล้วว่า ฉันยังเด็กเกินไป เพราะว่าฉันยังไม่พ้นวิสัยของนรก ถ้าฉันยังหลงใหลอยู่ในอภิญญาสมาบัติอย่างนี้ดีไม่ดีฉันต้องไปนั่งคุยกับพระเทวทัตในอเวจีมหานรก เป็นอันว่านับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นี่หนึ่งปีผ่านไปแล้วฉันเสียเวลามาก ฉันเสียดายเวลา เวลานั้นฉันมันบ้าอภิญญาสมาบัติ ฉันก็นึกว่าฉันเป็นผู้วิเศษ เสียเวลาจริงๆ ต่อแต่นี้ไปฉันก็จะถือเอาอภิญญาสมาบัติเป็นพื้นฐานที่จะพยายามทำจิตของฉันให้เข้าเขตการตัดอบายภูมิ

กราบเรียนถามท่านว่ามีความมั่นใจหรือครับว่าจะเป็นพระอริยเจ้าได้ เรามันต้องลอง ถ้าเราไม่ลองมันก็ไม่รู้ ถามฉันอย่างนี้ฉันก็ตอบไม่ได้ว่าฉันจะเป็นพระอริยเจ้าได้หรือไม่ได้ แต่หลวงพ่อปานท่านสั่งฉันให้ไปหาพระองค์นั้น ให้ไปหาพระองค์นี้ ไปศึกษา เพราะว่าท่านบอกว่าฉันเป็นพุทธภูมิ เรื่องความเป็นพระอริยเจ้าฉันไม่สามารถจะสอนได้ บอกได้แต่ว่าตัวท่านเองไม่ใช่พระอริยเจ้า ฉะนั้นถ้ามีความปรารถนาจะเป็นพระอริยเจ้า จงไปหาท่านที่มีปฏิปทาคล้ายพระอริยเจ้า ท่านบอกว่าฉันจะไป เป็นอันว่านับตั้งแต่นี้ต่อไปฉันจะเดินทางไปหาพระสิบองค์ด้วยทัศนะแห่งนักธุดงด์ เพื่อไปศึกษากับท่าน

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัท ฟังกันมาถึงตอนนี้แล้วขอยุติเพราะว่าเวลามันหมด ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคตได้โปรดรวบรวมกำลังใจของท่าน แล้วเอาเยี่ยงอย่างท่านผู้เฒ่าที่ปฏิบัติเข้าถึงความดี ถ้ารวบรวมกำลังใจของท่านนี้ อิริยาบถสี่จะนั่งก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ นอนก็ได้ นั่งท่าไหนก็ได้ ให้ใจมันสบาย พยายามรักษากำลังใจของท่านให้ทรงอยู่ในอิทธิบาททั้งสี่ประการและรักษาจรณธรรมทั้ง ๑๕ ประการให้ครบถ้วน ท่านจะมีผลตามที่กล่าวมาแล้ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:09 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๙. หลวงพ่อปานได้แนะนำท่านผู้เฒ่าว่าท่านผู้นั้นดีผู้นี้ดีประมาณ ๑๐ ท่านด้วยกัน จงไปหาอาจารย์นั้น ท่านบอกแต่เพียงว่าอาจารย์ที่สั่งไปหาทั้งหมด ท่านมีจริยาคล้ายพระอรหันต์

บัดนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้สมาทานกรรมฐานแล้ว ในขณะที่ท่านทั้งหลายรับฟังคำอธิบายในการเจริญพระกรรมฐาน ก็ขอให้ตั้งอยู่ในอิริยาบถที่ท่านสบาย ถ้าหากว่านั่งท่าไหนไม่สบายก็เปลี่ยนท่าได้ จะนั่งเก้าอี้ นั่งห้อยเท้าก็ได้ นั่งแบบนั้นไม่สบายจะเหยียดเท้าก็ได้ จะยืนก็ได้ จะนอนก็ได้ แต่ให้เป็นด้วยความเคารพในธรรม อันนี้ไม่ห้าม เพราะอิริยาบถทั้งสี่นี่เป็นอิริยาบถที่สามารถบรรลุอรหันต์ได้ทั้งหมด เรื่องของกายอย่าเคร่งเครียดเกินไป ปล่อยให้กายสบาย ใจมันจะได้สบาย และก่อนที่จะฟังปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า คือพระอรหันต์ในปัจจุบัน ก็รวบรวมกำลังใจของท่านให้ทรงอยู่ในอิทธิบาทสี่ คือ ฉันทะ พอใจในธรรม วิริยะ มีความพากเพียรต่อสู้ต่ออุปสรรค จิตตะ สนใจในธรรมะ จดจ่อไม่ละทิ้ง วิมังสา ใช้ปัญญาใคร่ครวญไปตาม

ทั้งนักปฏิบัติเพื่อความดีของตน จงอย่าสนใจในขันธ์ห้า เวลาที่ปฏิบัติมีอาการของปีติห้าประการ อธิบายให้ฟังแล้ว เมื่อปีติแต่ละอย่างมันปรากฏขึ้น มันจะมีอาการของทางกายบางอย่างปรากฏขึ้น เราก็ถือว่าช่างมัน ถ้าร่างกายนี้มันพังไปได้เวลานี้ยิ่งเป็นของดี อย่างเลวที่สุดเมื่อเวลาที่อารมณ์ของเราจับอยู่ในกุศล ถ้าตายไปในเวลานี้ อย่างเลวเราก็เป็นเทวดา อย่างกลางเราก็ไปพรหม อย่างดีที่สุดเราไปนิพพาน ถ้าท่านทั้งหลายยังมัวสนใจอยู่กับขันธ์ห้าของท่าน ว่าอาการอย่างนั้นปรากฏ อาการอย่างนี้ปรากฏ มีความหวั่นไหวอย่างนี้ทำไปสักกี่โกฏิชาติมันไม่ได้อะไร เพราะว่ายังมีความสนใจในขันธ์ห้า ทางที่ดีละก็รักษาอารมณ์ใจให้เป็นสมาธิ ทำจิตให้เป็นสุขด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาฟังตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ฟังแล้วก็คิดตาม แล้วจิตคิดอยู่เสมอว่าโลกเป็นทุกข์ ใคร่ครวญโลกในปัจจุบันเห็นว่ามันมีความสุขหรือความทุกข์

มองแล้วทุกด้านเต็มไปด้วยความทุกข์ ประเทศไทยเวลานี้มีข้าศึกภายในและภายนอก นี่โลกมันเป็นสุขหรือทุกข์ เรารบกัน ต่างประเทศทุกประเทศเต็มไปด้วยความแร้นแค้นเต็มไปด้วยความยุ่งยาก มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราอยากได้ไหม โลกประเภทนี้ สถานที่แบบนี้เราอยากอยู่ต่อไปไหม ถ้าเวลาตาย แล้วเราอยากจะกลับมาเกิดในโลกที่ทุกข์ โลกที่หาความจริงอะไรไม่ได้ โลกมันเป็นอนิจจัง มีแต่ความไม่เที่ยง มันเป็นทุกขัง ถ้าเอาจิตเข้าไปยึดอยู่ มันเป็นอนัตตา ในที่สุดมันก็สลายตัว รักมันไหม ถ้ารักมันก็เลิกอย่าปฏิบัติพระกรรมฐานมันเลย ทำให้มันเหนื่อยเปล่า ถ้าเราไม่รักโลก ไม่รักร่างกายพอแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกถือว่าปล่อยมันไป ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้าย เราเกิดมาด้วยอำนาจของความโง่ เราจะไม่ตายด้วยอำนาจของความโง่ต่อไป เราจะเป็นคนฉลาด คือไม่ติดอยู่ในความรัก ไม่ติดอยู่ในความโลภ ไม่ติดอยู่ในความโกรธ ไม่ติดอยู่ในความหลง ถ้าไม่ติดอยู่ในอาการสี่อย่างนี่เราก็ไปนิพพาน พอใจแล้วหรือยัง

เรื่องของท่านแนะนำกันไว้เพียงเท่านี้ อารมณ์อย่างนี้ไม่นานก็ถึงนิพพาน หากว่าท่านรักจริง แต่ที่ไปไม่ได้ก็เพราะท่านไม่รักจริง คนสอนมีหน้าที่เพียงแค่แนะนำ ไม่สามารถจะแบกใครไปสวรรค์ แบกใครไปพรหม แบกใครไปนิพพานได้ แล้วก็ไม่มีอำนาจจับใครยัดไปนรกได้ ท่านจะไปทางไหนเป็นเรื่องของท่านผู้จะไปเอง ไม่ใช่เรื่องของผู้แนะนำ แนะนำตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าจะมาย้อนถามว่า ก็คนพูดนี่ตายแล้วจะไปนิพพานหรือยัง ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน จะไปนิพพานหรือนรกก็คอยดูกันเวลาตายก็แล้วกัน ถ้าคนพูดตายเมื่อไร ท่านก็ตามไปดูผู้พูดไปไหน แล้วก็จะรู้เรื่องกันเอง พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง ก็ไม่ควรจะตามนึกถึง สิ่งใดที่ล่วงมาแล้วก็ไม่ควรย้อนถอยหลังกลับไปคิด เอาจิตของเราคิดไว้ในปัจจุบันว่าเวลานี้ทำใจเราให้มันดีแหละพอ คือทำจิตของเราไม่ให้ติดอยู่ในความรัก ทำจิตของเราไม่ให้ติดอยู่ในความโลภ ทำจิตของเราไม่ให้ติดอยู่ในความโกรธ ทำจิตของเราไม่ให้ติดอยู่ในความหลง วิชาความรู้เรามีพอแล้ว ที่สอนไว้เหลือแหล่ เกินกว่าความต้องการที่เขาปฏิบัติกัน ถ้ายังช่วยเหลือตัวท่านไม่ได้ก็เชิญตามสบาย นรกว่างพอ

ต่อแต่นี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายรับฟังปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า อยากจะดูนักว่าปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าตอนนี้นี่ยังไม่เครียด ตอนที่แล้วๆ มานี่ยังไม่เครียด ตอนต่อไปดีมาก ถ้าเป็นละครก็ต้องคิดว่าพระเอกเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก พระเอกที่อยู่ในขอบเขตจำกัด ท้องเรื่องของท่านมัดทุกอย่างในเรื่องของกำลังใจ แล้วก็ท่านเองท่านปฏิบัติได้ ถ้าเราปฏิบัติไม่ได้เราจะมีความรู้สึกอย่างไร ตัวอย่างเช่นนี้ในปัจจุบันเราทราบกันได้ยาก นี่เป็นการบังเอิญอย่างยิ่งที่ได้สมุดบันทึกของท่านมา

วันนี้ก็จะนำเอาเรื่องของท่านผู้เฒ่า ว่าหลังจากที่ท่านทรงสมาบัติแปดคล่องตัว และทรงอภิญญาห้าในอภิญญาหกซึ่งเป็นฌานโลกีย์คล่องตัว อภิญญาอันดับนี้เป็นอันดับเดียวกับท่านพระเทวทัต เหาะเหินเดินอากาศได้ ทำอะไรได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ เพียงชั่วจิตคิดนิดเดียว แต่อย่าลืมอภิญญาประเภทนี้เขาไม่ได้เอาไว้ฆ่าคน ถ้าหากว่าไม่เนื่องด้วยศีลเสียอย่างเดียว ถ้าปล่อยให้ฆ่าคนได้ก็ฆ่าได้แบบสบายๆ อยากจะตายด้วยกำลังอะไรก็ได้ตามสบาย อยู่ๆ ก็เข้าเตโชกสิณให้ไฟไหม้มันให้ตายเสียให้หมดก็ทำได้อยู่ จะนึกให้เจ้าหนี้เป็นง่อยก็เป็นได้ ให้เป็นใบ้ก็เป็นได้ ให้เป็นบ้าก็เป็นได้ ให้ตาบอดข้างเดียว ตาบอดสองข้าง หูหนวกสองข้างก็ทำได้ทุกอย่าง แต่นี่เขาไม่ทำกันก็เพราะว่านั่นเป็นกฎของกรรมชั่ว เขาศึกษากันมาเพื่อความดี ฉะนั้นอภิญญาประเภทนี้จึงจะใช้แต่ในผลของความดีเท่านั้น ถ้าเป็นอำนาจกฎของกรรมเขาก็ไม่ใช้อภิญญาหนี

ดูตัวอย่างพระมหาโมคคัลลาน์ ขณะที่กรรมเคยฆ่าพ่อฆ่าแม่มานับเป็นร้อยชาติมาแล้วและท่านก็ลงอเวจีมหานรก ใช้หนี้กรรมมาจนหมดกรรมใหญ่ เศษกรรมเล็กเศษกรรมเด็กๆ ยังมาเล่นงานท่านสมัยที่เป็นพระอรหันต์ ท่านเหาะหนีมา ๒ ครั้งๆ ที่สามโจรมาล้อมท่านทราบชัดว่านี่เป็นกฎของกรรมที่ทำร้ายบิดามารดา ท่านจึงปล่อยให้โจรทุบแต่ก็ไม่ยอมตาย โจรไปแล้วประสานร่างกายประสานกระดูกดีแล้วก็ไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพาน

แทนที่ท่านจะนึกว่านี่ โอหนอมีอภิญญาสมาบัติทำอะไรก็ได้สบาย แต่เปล่า เขาจะต้องทำเฉพาะส่วนที่เป็นกุศลเท่านั้น เมื่อท่านคล่องทุกอย่าง วิปัสสนาญาณหลวงพ่อปานก็สอนตามสมควร ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ เรื่องที่ท่านจะสอนให้บุคคลบรรลุมรรคผลต่างๆ เป็นของยาก เพราะท่านยังไม่ใช่พระอรหันต์ จึงได้แนะนำท่านผู้เฒ่าว่าท่านผู้นั้นดีผู้นี้ดีประมาณ ๑๐ ท่านด้วยกัน จงไปหาอาจารย์นั้น ท่านบอกแต่เพียงว่าอาจารย์ที่สั่งไปหาทั้งหมด ท่านมีจริยาคล้ายพระอรหันต์ ฟังดูมันญาติของพระที่ทรงความดี ความจริงท่านรู้ว่าพระทั้งหลายเหล่านั้นท่านเป็นพระอรหันต์ คือว่าท่านไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่าพระพวกนั้นมีจริยาคล้ายพระอรหันต์

เหมือนกับที่อาตมาบอกกับท่านทั้งหลายว่า พระเหล่านั้นท่านเป็นพระสุปฏิปันโน แต่ความจริงคำว่าสุปฏิปันโนไม่ได้หมายความว่าเป็นพระอรหันต์เสมอไป เป็นแต่เพียงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีศีลบริสุทธิ์ก็เป็นสุปฏิปันโน มีฌานสมาบัติก็เป็นสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ เราก็เรียกกันว่าสุปฏิปันโน เพราะฉะนั้น คำว่าสุปฏิปันโนที่อาตมาบอกไว้ อาตมาไม่ยืนยันว่าท่านเป็นอันดับไหน อยากจะรู้ก็รู้กันเอง มีคนไปลือว่าพระบางองค์บอกว่าข้อยบ่เป็นอรหันต์บอกว่าเป็นอรหันต์ ก็ไม่เคยบอกใครที่ไหนว่าเป็นอรหันต์ แต่พระพวกนั้นเวลาพบกันก็คุยกันดี แต่มีข่าวแปลกออกมา ข่าวอย่างนี้อาจจะเป็นข่าวของมาณวิกากับเดียรถีย์ก็ได้ ช่างเขาๆ ว่าอะไรก็ช่างเขา ให้เขาเก็บเอาไว้ของเขาเองก็แล้วกัน เราอย่าสนใจ ท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้ามีใครเขาว่าอาตมาก็อย่าโกรธ อย่าไปเกลียดเขา อย่าไปรับเอามา ให้เขารับไว้เป็นหน้าที่ของเขาแต่ผู้เดียว

เราก็คุยกันถึงปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า ในเมื่อหลวงพ่อปานท่านแนะนำแบบนั้น สมัยนั้นต้องใช้ธุดงด์เป็นปกติ ยวดยานพาหนะมันไม่ค่อยจะมี เวลาที่ท่านเตรียมจะไป เตรียมกลด เตรียมบาตร เตรียมจีวร เตรียมย่าม เตรียมรองเท้าหนังควาย เตรียมกระติกน้ำอุปกรณ์สำหรับใช้กลางทาง มียารักษาโรคติดไปนิดหน่อย เงินทองไม่มี ตอนนี้ท่านทั้งหลายฟังแล้วก็ฟังอุปสรรคไว้ อุปสรรคใหญ่ที่เกิดก็เป็นจากพระที่เป็นเผ่าพันธุ์ของพระเทวทัต ที่มีอยู่ที่วัดบางนมโคในสมัยนั้นก็มีอยู่ไม่น้อย แล้วก็ชาวบ้านที่เป็นเผ่าพันธุ์ของเทวทัตในเขตของวัดบางนมโคก็มีอยู่ไม่น้อย ทั้งที่หลวงพ่อปานเป็นพระดี แต่คนภายในที่อยู่ใกล้ๆ เขาไม่ค่อยมองเห็นความดีของท่าน เขามักจะประณามบ้าง นินทาบ้างไปตามๆ กัน ความดีชาวบ้านอื่นจึงนำเอาไปกินหมด ชาวบ้านแถบนั้นก็เก็บเอาไว้ แต่กรรมที่สร้างความเป็นสัตว์นรกมีไว้มาก นี่ไม่ได้แกล้งว่าเขานะ มันเป็นความจริง เวลานี้ท่านที่อยู่ทันสมัยนั้นที่ประฌานหลวงพ่อปานพระปฏิบัติชอบง่อกแง่กๆ ไม่สมประกอบ ไม่ทรงตัวดีตามๆ กัน

เป็นอันว่าเวลาที่ท่านเตรียมการที่จะออกธุดงด์ไปหาผู้ทรงความดี บรรดาพระที่เป็นเดียรถีย์และเป็นอลัชชีและบุคคลผู้เป็นเผ่าพันธุ์ท่านเทวทัต เขาก็พากันมาพูดต่อหน้า พูดเยาะเย้ยบอกว่าพวกเราดูซิ พวกเราดูนะพระอรหันต์ท่านกำลังจะนิพพานแล้ว ท่านเตรียมเครื่องจะนิพพานกัน บางคนบอกว่าอรหันต์บ้าๆ บอๆ แบบนี้คนสติไม่ดี ทำไมจึงเรียกพระอรหันต์ เขาว่ากันต่อหน้าคนที่ปฏิบัติวัดนั้นไม่ใช่ว่าเป็นคนดีทุกคน ความจริงคนที่ปฏิบัติดีจริงๆ ไม่ใช่คนตำบลนั้น มีคนตำบลนั้นอยู่องค์เดียวคือพระอาจารย์ฉัตร เอาจริงเอาจัง เป็นฝ่ายสนับสนุนทุกอย่าง แต่คนที่ได้ดีมาจากที่อื่นเขาก็ประณามด้วยประการทั้งปวง

พอท่านนุ่งสบงทรงจีวรกรประคองย่ามแบกกลดขึ้นบ่า อีกอันหนึ่งก็สะพายกระติกน้ำ เขาก็บอกว่าพวกเราดูไอ้บ้าหอบฟางซิ เริ่มเดินทางจะไปบ้าที่ไหนอีกก็ไม่ทราบ พากันหัวเราะเยาะ ท่านก็เฉย ทำไมจึงเฉย ก็เพราะว่าท่านรู้ว่าคนพวกนี้บ้า เป็นปัจจัยของสัตว์นรก ท่านจะไปโกรธ สัตว์นรกด้วยเรื่องอะไร ทำไมจึงรู้ อย่าลืมว่าท่านได้สมาบัติแปด ท่านทรงอภิญญาห้าในอภิญญาหกยังขาดอยู่แค่อาสวักขยญาณ วาระน้ำจิตของบุคคลนั้นท่านทราบ แต่กฎของกรรมที่มีแก่พวกนี้ ท่านทราบดี ในเมื่อพวกนี้เขาแบกไฟมาแล้ว ท่านจะไปรับเอาไฟมาท่านไม่รับ เพราะว่าไฟคือโทสัคคิมันเผาผลาญให้ร้อน ท่านยิ้ม เขาถามว่า ไง พระอรหันต์จะไปนิพพานหรือ ท่านยิ้ม ถามว่า ว่าไงไอ้บ้าจะไปไหน ท่านก็ยิ้ม ท่านยิ้มเพราะเจ้าพวกนี้ลงอเวจีแน่ จะไปต่อกรกับสัตว์ในอเวจีไม่มีประโยชน์อะไร

ท่านไปหากันกี่องค์จะพูดให้ชัด เพราะเราต้องการแนวปฏิบัติของท่าน ท่านใช้เวลาบุกป่าฝ่าดงแดดร้อนฝนตกท่านไม่ท้อถอย จุดแรกที่ไปก็คือวัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี ไปหาหลวงพ่อเนียม พอไปถึงหลวงพ่อเนียมก็ทักทายด้วยการด่าพ่อล่อแม่ว่า ไอ้โคตรพ่อโคตรแม่ มึงจะมาทำไม ท่านบอกจะมาขอเรียน หลวงพ่อเนียมบอกว่าจะขอเรียนกับกูยังไง กูมันคนบ้า เขาว่ากูบ้า มึงมาเรียนกับกูมึงก็จะบ้าไปด้วย ออกไปเดี๋ยวนี้ มึงอย่าเข้ามายุ่งกับกู ท่านก็ด่าของท่านเพลิน ดีไม่ดีพูดอะไรท่านก็ไม่พูดด้วย ท่านหันไปพูดกับหมาบ้างกับแมวบ้าง รู้สึกว่าหมากับแมวเป็นที่รักของท่านมาก ท่านทนด่าแบบนี้มาสักสองสามวัน พอถึงวันที่สี่ ท่านถามว่า อ้าว มึงยังไม่ไปอีกหรือ ท่านผู้เฒ่าก็กราบเรียนกับท่านว่า ผมยังไม่ไปครับ ในเมื่อผมมาแล้วผมยังไม่ได้สิ่งที่ผมตั้งใจผมจะยังไม่ยอมไป ท่านก็ถามว่ามึงไม่โกรธกูหรือ ก็กราบเรียนท่านว่าผมตั้งใจว่าจะมาเอาดีทำไมผมจะรับความชั่ว การโกรธนี่มันของชั่ว ท่านถามว่ากูด่ามึงๆ ไม่เจ็บใจหรือ เธอก็ตอบว่าคำด่าเป็นวาจาชั่ว ท่านไม่รับ

หลวงพ่อเนียมหัวเราะ ถามว่ามึงแกล้งด่ากูหรือนี่ มึงย้อนกูหรือ ท่านก็บอกว่าไม่ย้อน หลวงพ่อปานสอนไว้อย่างนั้น หลวงพ่อปานสอนไว้ว่าใครเขาจะว่าอะไรเป็นเรื่องของเขา เรื่องท่านผู้นั้น ใครจะดีจะชั่วอย่าสนใจ สนใจอยู่อย่างเดียวก็คือใจของตนเอง มาดูใจของตัวว่าใจของตัวดีหรือชั่ว ถ้าเขาด่ามารับคำด่ามันก็ชั่ว เขาด่ามาเราโกรธบุคคลที่เขาด่าเราก็ชั่ว คนด่าเขาจะดีเขาจะชั่วไม่สำคัญ สำคัญอยู่อย่างเดียวรักษากำลังใจของเราให้ดีเท่านั้น คือทรงขันติและเมตตา หลวงพ่อเนียมยิ้ม บอกเออใช้ได้ ไอ้ท่านปานลูกศิษย์ข้านี่มันดีจริงนะ ตัวมันดีมันก็ยังไม่พอ มันยังสอนให้ลูกศิษย์ของมันดีอีกด้วย เอาตกลง ถ้าแกไม่กลัวชาวบ้านเขาจะคิดว่าบ้าอย่างข้า ข้าจะสอนให้

ท่านผู้เฒ่า ตามบันทึกของท่านๆ ก็กราบทำความเคารพ ว่ากระผมพร้อมแล้วที่จะรับความบ้าจากหลวงพ่อขอรับ เพราะบ้าประเภทที่ว่าบ้าดีนี่ขอรับ ที่มาในที่นี้ก็ต้องการให้ชาวบ้านเขาเห็นว่าบ้าแต่ว่าใจสะอาด

หลวงพ่อเนียมยิ้มอย่างที่ชาวบ้านไม่เคยเห็น ยิ้มสดชื่นแจ่มใสแล้วก็บอกว่าเออเอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะ ตอนกลางคืนประมาณสักสามทุ่ม เวลาหัวค่ำน่ะมันทำวัตรสวดมนต์ ข้าเป็นคนสวดมนต์นาน เอ็งจะเข้าไปเวลานั้นมันก็ไม่เหมาะ เวลานั้นเวลาสามทุ่ม ข้าเลิกแล้วก็นุ่งสบงทรงจีวรผ้าสังฆาฏิให้เรียบร้อยนา เรียนพระกรรมฐานกัน เออคนกรุงเก่านี่มันเผ่าพันธุ์เดียวกันนะ ไอ้ท่านปานก็เหมือนกัน มาแบบนี้ข้าก็ด่าแบบนี้มันดื้อมันด้าน ผลที่สุดมันก็เอาไปจนได้ ทีนี้เวลาที่ลูกศิษย์มานี่น่ากลัวมันจะสอนมาแล้วนะ ท่านก็กราบเรียนว่าหลวงพ่อท่านสอนมาแล้วขอรับ สอนมาบอกว่าคำด่าของหลวงพ่อนี่ถือว่าเป็นพรอันประเสริฐ

ตอนนี้เอง หลวงพ่อเนียมหัวเราะชอบใจใหญ่เสียงดังลั่นว่า เออ ท่านปานนี่ขยันสอนลูกศิษย์ของมันๆ ฉลาด ไอ้นี่ฉลาดคนเดียวไม่พอ ยังสอนลูกศิษย์ของมันอีกด้วย เอาไอ้คนพรรค์อย่างนี้มันจะเอาอะไรกับกูก็เอาวะ อีตอนนี้กูให้หมด ถ้ามึงเอาได้กูให้หมด กูเก็บไม่เหลือ แต่มึงอย่าลืมนะมึงเรียนกับกู มึงไม่ได้อรหัตผลนะ มึงได้แต่แบบแผนไปเท่านั้น แต่ความสำเร็จอรหัตผลนี่มึงต้องไปหัดของมึงเองที่วัดหรือว่าที่ไหนก็ตามใจ เพราะว่ามึงนี่จะต้องสู้กับของตัวเอง การรับฟังถือว่าเป็นแบบแผนเท่านั้น และความจริงวิชาความรู้ทุกอย่างนี่ท่านปานมันให้หมดแล้วนี่หว่า สมาบัติแปดเอ็งก็คล่อง อภิญญาห้าเอ็งก็คล่อง ท่านปานมันไม่น่าจะส่งมา

ท่านผู้เฒ่าก็กล่าวว่า ท่านปรารถนาพุทธภูมิ ท่านไม่สามารถจะสอนความเป็นพระได้แต่เพียงการแนะนำเท่านั้น บุคคลที่จะสอนความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างจริงจังก็ต้องบุคคลผู้นั้นเป็นพระอริยะ แต่ความจริงคนที่ไม่เป็นพระอริยเจ้าก็สามารถสอนบุคคลอื่นให้เป็นพระอริยเจ้าได้เพราะว่าถือตำราเป็นสำคัญ ท่านแนะนำหนทางไป ถ้าผู้นั้นรับตำรารับคำสอนและปฏิบัติ เข้าถึงเองได้แต่ทว่ามันไม่ชัด หลวงพ่อปานบอกมาว่าถ้าบุคคลใดพระองค์ใดท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านรู้ดีว่าจุดไปไหนมันเป็นจุดอ่อนของใจที่เราจะต้องแก้ไขตรงๆ ถ้าปฏิบัติตามนี้ละก็ ปฏิบัติตามคำสอนของท่านบรรลุได้ง่าย

หลวงพ่อเนียมก็หัวเราะชอบใจ ว่าท่านปานนี่มันแปลกว่ะ มันสอนลูกศิษย์ให้มายอข้า เอ้ากูก็เป็นคนบ้ายอนี่หว่า ในเมื่อมันยอกูๆ ก็บ้ายอ เอากูจะสอน เอ็งจะเรียนสักกี่วัน ท่านก็เลยตอบว่า ตามกำลังใจแต่ที่หลวงพ่อจะเห็นสมควร ท่านก็บอกว่าตกลง ถ้าข้าเห็นว่าสมควรตอนไหนข้าจะให้กลับ ถ้าข้ายังไม่เห็นว่าสมควรข้าจะยังไม่ให้กลับ และแกต้องไม่กลับนะ สักร้อยปีเป็นอย่างไร

ท่านผู้เฒ่าก็ตอบว่าสักกี่ร้อยปีก็ยอมครับ ถ้าหลวงพ่อยังสอนอยู่ ท่านชอบใจบอกว่า เออ มันต้องอย่างนี้ซีวะ ไอ้คนเมืองกรุงเก่านี่มันไม่สิ้นคนดี อาจารย์ของมันดียังไม่พอ ไอ้อาจารย์ยังรู้จักสอนให้ลูกศิษย์ของมันดี ต่อสู้อย่างนี้มันเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ว่าเอ็งอย่าลืมนะ แต่ว่าขณะที่ ข้าสอนไปกี่ร้อยปีก็ตามเอ็งไม่เป็นพระอรหันต์ เอ็งจะต้องเป็นพระอรหันต์ต่อเมื่อไปฝึกตนเองและก็ตอนนั้นนั่นแหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี มีลักษณะเหมือนกับพระองค์ท่านมาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าของเอ็ง แล้วท่านก็ทรงสอนให้เอ็งประพฤติปฏิบัติ แล้วตอนนั้นท่านก็จะจำกัดเวลาประพฤติปฏิบัติให้เอง ถ้าเอ็งทำได้เอ็งเป็นอรหันต์ในชาตินี้ ถ้าเอ็งทำไม่ได้เอ็งก็จะเป็นอรหันต์ไม่ได้ แต่ความหวังในการเป็นอรหันต์อย่างเลวที่สุดชาติหน้าได้แน่ ถ้าเอ็งขี้เกียจ ถ้าเอ็งขยันชาตินี้เอ็งได้แน่

บรรดาท่านพุทธบริษัทและบรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย เอ็งกันไปเอ็งกันมาเลยยังไม่จบ แต่เวลามันหมดเสียแล้ว เอาไว้มาฟังกันต่อไปในตอนหน้า และต่อแต่นี้ไปก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทรงกำลังใจให้ตรงตามที่บอกมาแล้วในเบื้องต้น และก็ทรงจริยาวัตรคืออิริยาบถของท่านตามอัธยาศัย จนกว่าที่ท่านจะเห็นว่าเวลานั้นมันจะเป็นการสมควร เห็นสมควรจะเลิกเวลาไหนก็เลิกเวลานั้น เวลานั่งปฏิบัติจะนั่งก็ได้ เดินก็ได้ยืนก็ได้ ตามอัธยาศัยของท่านจะเห็นสมควร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:10 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๐. หลวงพ่อเนียมสอนการปฏิบัติเพื่อเป็นการบรรลุมรรคผล...เวลาใดที่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระจอมไตรยังมีความครบถ้วน ทั้งพระธรรมวินัยในขณะนั้นถ้าคนเอาจริงเป็นพระอรหันต์ได้หมดทุกคน

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลายและบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลาย สำหรับวันนี้ก็จะขอนำเอาปฏิปทาของท่านผู้เฒ่ามาเล่าสู่ท่านฟังเพราะว่าเป็นแนวปฏิบัติ และการปฏิบัตินี่เป็นการปฏิบัติเพื่อเป็นการบรรลุมรรคผล ไม่ใช่มรรคผมสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ เป็นสมัยปัจจุบันที่เรายังรู้จัก พ.ศ. อยู่นี่เอง ว่าเป็น พ.ศ. ถอยหลังจากนี้ไปไม่นานนัก สำหรับปฏิปทาของท่านผู้เฒ่านี้จะขอย่อให้สั้นที่สุด เพื่อเป็นแนวทางของท่านทั้งหลายจะนำไปประพฤติปฏิบัติ ถ้ายาวเกินฟังกันยุ่ง ความจริงก็ไม่มีอะไรมาก มันอยู่ที่กำลังใจจริงเท่านั้น คือว่าเราจะจริงกันตอนไหน จริงดีหรือว่าจริงเลว ถ้าเราจริงดีมันก็ได้ดี จริงเลวมันก็ได้เลว คำว่าจริงหรือสัจจะ มันได้ทั้งจริงดีและจริงเลว นี่สำหรับท่านผู้เฒ่าก็คงจะเหมือนกับพวกเรา คือจริงทั้งดีจริงทั้งเลวมาก่อน คนทุกคนเกิดมาในโลกไม่มีใครเป็นพระอรหันต์มาจากท้องพ่อท้องแม่ และคนทุกคนที่เกิดมาในโลกก็ทำทั้งความดีและความชั่วเหมือนกัน ไม่ใช่โผล่มาจากท้องแม่แล้วก็จะเจอแต่ความดีและสร้างแต่ความดีเสียทั้งหมด ฟังกันต่อไป

เมื่อท่านไปพบหลวงพ่อเนียม ผมจะขอสรุปทั้งหมดเพราะว่าปฏิปทาของครูบาอาจารย์สมัยนั้นเป็นปฏิปทาที่ไม่ง้อลูกศิษย์ ไม่ใช่ว่าท่านจะตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาลูกศิษย์ แต่ทีนี้จะหาว่าท่านเป็นพระที่มีใจคับแคบก็ไม่ถูก คือท่านต้องการแต่คนดี เหมือนกับนักเล่นแร่แปรธาตุสมัยนั้นเขาเล่นแร่แปรธาตุกันมาก เอาแร่ต่างๆ มาผสมกันเข้า ซัดให้เป็นทองหลอมไล่ขี้ออกหมดแล้วก็ทำให้เป็นทองคำ ตามวัดตามวาต่างๆ เขาก็เล่นกันมาก เขาชอบเล่น เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ต้องเรียนมาจากต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ที่ทำได้มักจะเป็นนากคือคล้ายกับมีทองผสมกับทองแดง แต่ทว่าบางท่านก็สามารถทำเป็นทองคำได้โดยที่ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนที่ไหน ผมเองเจอหลายท่านด้วยกันที่มีความรู้ประเภทนี้ แล้วแต่ละท่านก็ดีเมื่อทำได้แล้วก็ให้เจ๊กตรวจเห็นว่าเป็นทองคำแท้ จะทำขึ้นมาก็เฉพาะในการสร้างถาวรวัตถุในบวรพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่นำวิชาความรู้ความสามารถส่วนนี้ไปสร้างตัวให้มันเกิดสุขเป็นมหาเศรษฐี ถ้าสร้างโบสถ์สร้างศาลาการเปรียบ สร้างวัดท่านทำ ทำเฉพาะด้านวิหารทาน

ส่วนอื่นนอกจากนั้นไปจ้างท่านก็ไม่ทำซื้อท่านก็ไม่ขาย กำลังใจนักเล่นแร่แปรธาตุดีมีความเข้มแข็งฉันใด ครูบาอาจารย์ที่สอนพระกรรมฐานในสมัยนั้นก็มีความเข้มแข็งฉันนั้น นักเล่นแร่แปรธาตุเขาจะหาเฉพาะแร่ที่เป็นประโยชน์เอามาผสมกันเข้าจะเป็นนากได้เป็นทองได้จึงจะเอา ถ้าหากว่าจะเป็นแร่อย่างอื่นจะมีคุณค่าสวยงามขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่สามารถจะผสมเป็นนากได้เป็นทองได้ท่านก็ไม่ผสม ข้อนี้มีอุปมาฉันใด คณะครูบาอาจารย์ที่สอนพระกรรมฐานก็เหมือนกัน ท่านก็ไม่ต้องการคนสักแต่ว่าคน หรือว่านักปฏิบัติสักแต่ว่าปฏิบัติ เป็นแต่เพียงเห็นชาวบ้านเขาทำกันก็ทำ ท่านไม่ต้องการ ท่านต้องการคนที่มีจิตใจด้านดี คือไม่ต้องการคนที่มีความจริงในด้านเลว

ฉะนั้น ในสมัยที่ท่านผู้เฒ่าไปหาครูบาอาจารย์ท่านใดก็ตาม ขอสรุปตามบันทึกของท่าน ก็มักจะถูกครูบาอาจารย์เทศน์เอาเสียก่อน ด่าเอาบ้าง ทำทุกอย่างให้เกิดความโกรธจะได้มีความเบื่อหน่าย ต่อเมื่อเห็นว่าทนได้ก็สอนดีทุกท่าน ตัวอย่างเช่นหลวงพ่อเนียม ท่านเป็นพระที่คนทั้งหลายบ้านใกล้ๆ เขาหาว่าท่านบ้า กว่าจะรู้ว่าดีได้หลวงพ่อเนียมจะตายเสียแล้ว เมื่อรู้กันดีจริงๆ คนใกล้ๆ นี่เมื่อหลวงพ่อเนียมตายไปนานแล้ว คนอื่นเขาไปคว้าความดีกันมาหมด นี่เป็นกฎธรรมดาของพระๆ จะดีขนาดไหนก็ตามคนใกล้ไม่ค่อยจะเห็นความดี มีแต่คนที่เขาอยู่ไกลเท่านั้น เขาจะเห็นว่าดี กว่าจะรู้ว่าดีก็หมดตายไปหมดแล้ว พอตายไปแล้วทำอย่างไร ก็อ้างซิว่า ฉันเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ฉันเป็นอย่างนั้นฉันเป็นอย่างนี้เป็นคนใกล้ชิด นี่เป็นเครื่องหลอกลวงโลก

สมัยที่หลวงพ่อเนียมท่านด่าท่านว่าท่านทำทุกอย่างจะให้โกรธ ในเมื่อท่านผู้เฒ่าท่านไม่โกรธ วันที่สี่ท่านถามว่าเอ็งไม่โกรธหรือ ท่านก็บอกว่าท่านจะโกรธทำไม โกรธมันเป็นไฟ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ มันเผาผลาญใจให้มันร้อน คนที่โกรธไม่มีความสุข คนที่มักโกรธ หาความดีไม่ได้ หลวงพ่อเนียมท่านก็ยิ้ม เพิ่งมีการยิ้มในวันนั้น ท่านว่านี่พวกมึงด่ากูหรือไง ก็บอกท่านว่าไม่ได้ด่า แล้วท่านก็ถามว่าที่กูด่ามึงนี่ไม่โกรธหรือ ท่านผู้เฒ่าท่านก็ตอบว่าหลวงพ่อไม่ได้ด่าผม หลวงพ่อด่าใครก็ไม่รู้ผ่านไปผ่านมา ป้วนเปี้ยนไปหมด พวกผมอยู่ที่นี่ท่านไม่ได้ด่าเลย ด่าโคตรพ่อโคตรแม่นี่มันเลยผมไปหมด ไม่ถูกผม แล้วโคตรพ่อโคตรแม่ผมท่านจะรับหรือไม่รับก็ไม่ทราบ ท่านตายไปหมด แล้วท่านได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ไม่ทราบ หลวงพ่อเนียมหัวเราะชอบใจ ท่านก็บอกว่าคนกรุงเก่านี่มันอย่างนี้นา ครูบาอาจารย์ก็แบบนี้หน้าด้านหูด้านใจด้านด่าเท่าไรก็ไม่เจ็บ ลูกศิษย์ของมันก็เหมือนกัน มันคงจะสั่งสอนกันมา เอาถ้าไม่โกรธทนได้เชิญ วันนี้ไปหาข้าในกุฏิ

ตอนนี้เองบรรดาท่านทั้งหลาย ยามเวลาที่เข้าไปหาท่านยามนั้นตามบันทึกของท่านผู้เฒ่าท่านบอกว่าผิดไปถนัด ยามที่เห็นในกาลก่อนนุ่งผ้าลอยชายเอาผ้าอาบอีกผืนหนึ่งคล้องคอเดินไปไม่มีจีวรไม่มีอังสะ ทำท่าเหมือนกับ ขอประทานอภัย เพราะหลวงพ่อเนียมท่านเป็นพระที่มีความสำคัญ ที่เราเห็นกันว่าคนที่ไม่มีวัฒนธรรมหรือคนบ้าๆ บอๆ นั่นเอง แต่ทว่าโบราณท่านบอกว่าคนประเภทนี้เป็นประเภทผ้าขี้ริ้วห่อทอง เนื้อแท้น้ำจิตของท่านเหมือนกับเพชรแท้ใสเป็นแก้ว เวลาที่เข้าไปพบเวลานั้นก็มีความเป็นพระหนุ่ม นุ่งสบงทรงจีวรพาดสังฆาฏิ ตะเกียงเล็กๆ แสงสลัวๆ แต่ทว่าในห้องนั้นมีแสงสว่างผิดปกติ คล้ายกับมีตะเกียงเจ้าพายุสองสามลูกเข้าไปจุดไว้ มองหน้าท่านกลายเป็นพระหนุ่มผิวพรรณผ่องใสอิ่มเอิบ สวยสดงดงาม คณะท่านผู้เฒ่าเข้าไปชักถอยหน้าถอยหลัง ว่า นี่หลวงพ่อเนียมใช่หรือไม่ใช่ ในที่สุดท่านก็กวักมือบอกว่าใช่ ไม่ผิดตัวหรอก อย่าเพิ่งไปสงสัย ในห้องนี้มันมีฉันคนเดียว คณะท่านผู้เฒ่าเข้าไปกราบพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน

ท่านก็เลยบอกว่าฉันมันเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่แน่ที่เขาเรียกว่าบ้าๆ บอๆ ก็ถูก ทั้งนี้ก็เพราะว่าบางทีฉันก็หนุ่มบางทีฉันก็แก่ เอาละเรื่องนี้จบไป เรื่องของขันธ์ห้าไม่มีความหมาย จะเหลืออะไรเป็นสาระ สาระที่เราต้องการก็คือธรรมะๆ ส่วนใดที่เธอต้องการ ธรรมะส่วนนั้นเธอมีแล้วทุกอย่าง ครูบาอาจารย์ของเธอสอนมาแล้วทั้งหมด ที่เธอมาหาฉันก็มาตามครูบาอาจารย์สั่ง แล้วก็คิดว่าฉันเป็นผู้วิเศษ แต่ความจริงฉันไม่มีอะไรวิเศษเลย ขันธ์ห้าของฉันมันก็เลวมันก็จะพัง สภาพร่างกายก็ไม่ดี ความจดจำก็ไม่ดีอะไรก็ไม่ดี ทุกอย่างมันหาความดีอะไรไม่ได้ ฉะนั้นเธอจงอย่ายึดขันธ์ห้าเป็นสำคัญ จงอย่ามีความพอใจว่าขันธ์ห้ามีความหมาย ขันธ์ห้าไม่เป็นที่พึ่ง ขันธ์ห้าไม่เป็นสรณะ ขันธ์ห้าไม่เป็นปัจจัยให้บังเกิดความสุข ขันธ์ห้าเป็นดินแดนนำมาซึ่งความทุกข์ ขันธ์ห้ามันไม่มีความจีรังยั่งยืน มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง แล้วก็มีการสลายตัวไปในที่สุด ขอเธอจงอย่าถือความสำคัญของขันธ์ห้าของฉันเป็นประโยชน์ เป็นอันว่าพอเริ่มต้นท่านก็ล่อขันธ์ห้าเข้าเต็มเปา แล้วก็จงจำไว้ว่าไม่แต่เฉพาะขันธ์ห้าของฉัน ขันธ์ห้าของเธอก็เหมือนกัน ขันธ์ห้าของคนอื่นใดก็เหมือนกัน ขันธ์ห้าของสัตว์ก็เหมือนกัน แม้วัตถุธาตุต่างๆ ที่เป็นธาตุสี่ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ฐานที่ตั้งของความสุข มันเป็นฐานที่ตั้งของความทุกข์ มันไม่มีสภาพทรงตัว ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ในที่สุดมันก็สลายตัวที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าอนัตตา เอาเข้าแล้ว

หลังจากนั้นท่านก็ถามว่าเธอต้องการอะไร ความจริงท่านผู้เฒ่าเล่าไว้ว่า ท่านจะสอนต่อไปก็พอแล้ว พวกเราที่มาเพราะอยากฟังอย่างนี้ อยากฟังเรื่องของขันธ์ห้าว่าสภาวะตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร เพื่อยืนยันกับคำสั่งสอนของหลวงพ่อปาน พอท่านสอนจบพวกท่านผู้เฒ่าก็กราบนมัสการว่าหลวงพ่อขอรับ สิ่งที่ผมต้องการนี้หลวงพ่อพูดหมดแล้ว แต่ว่ายังเหลืออยู่นิดเดียวเท่านั้นแหละขอรับ สิ่งที่พวกผมมีความประสงค์ก็คือ อรหัตผล อยากจะทราบว่าพวกผมนี่จะเป็นพระอรหันต์กับเขาได้ไหม ท่านก็ยิ้มแล้วก็บอกว่าเรื่องนี้เธอไม่น่าจะถาม ว่าในเวลาใดที่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระจอมไตรยังมีความครบถ้วน ทั้งพระธรรมวินัยในขณะนั้นถ้าคนเอาจริงเป็นพระอรหันต์ได้หมดทุกคน

คณะท่านผู้เฒ่าจึงกราบนมัสการลงไปอีกครั้งหนึ่ง ถามว่าทั้งนี้ต้องอาศัยบารมีใช่ไหมขอรับ ถ้าบารมีไม่ดีพอก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ท่านตอบว่าบารมีไม่ดีไม่มี บารมีทุกคนดีหมด เว้นไว้แต่ใจคนมันไม่ดีเท่าบารมีเท่านั้น เอาเข้าแล้ว ก็กราบเรียนถามว่าคณะของพวกผมที่มาด้วยกันสามคน สามองค์จะมีใครบ้างได้เป็นพระอรหันต์ ท่านมองหน้าคนนั้นครั้งคนนี้ครั้งคนโน้นครั้ง ท่านก็เลยบอกว่ามันเป็นทุกคน ถ้าเอาจริงก็ได้เป็น ถ้าไม่เอาจริงก็ไม่ได้เป็น ก็เลยกราบเรียนถามท่านตามบันทึกว่า เป็นกันเมื่อไร อยากเป็นเมื่อไรก็เป็นเมื่อนั้น แต่ว่าคนที่มากันสามคน คนหนึ่งมันปรารถนาพุทธภูมิ คนนี้จะเป็นทีหลังเขา จนกระทั่งจะเปลื้องใจจากพุทธภูมิเมื่อไรเป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น แต่ว่าต้องใช้เวลาเกินกว่ายี่สิบพรรษา สำหรับเจ้าสองคนนั่นเพียงแค่สองพรรษาก็จะได้เป็นอรหันต์พร้อมไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณ แต่ว่าสมัยนั้นเขานิยมเรียกกันว่าพระอภิญญา ความจริงปฏิสัมภิทา เพราะว่าเขาได้สมาบัติแปดกัน

ต่อแต่นั้นไปก็ขอศึกษาปฏิปทาเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ก็บอกว่าปฏิปทาเพื่อความเป็นพระอรหันต์นี่มันไม่มี ไม่มีอะไรจะสอนเธอ เพราะว่าอาจารย์ของเธอสอนมาหมด แต่ว่าอาจารย์ของเธอเป็นพระโพธิสัตว์จึงไม่มีความมั่นใจในการบรรลุมรรคผลของลูกศิษย์ นี่เป็นอาการหนึ่งของคนที่เขาทำไม่ได้ไม่ถึง เขาไม่มั่นใจในตนเองว่าเขาสอนถูก แต่ความจริงเขาสอนถูก แต่ว่าเขาไม่บอกจุดให้ลง ทั้งนี้คนที่ปรารถนาพุทธภูมิจะทรงวิปัสสนาญาณคู่กับสมถภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมถภาวนาต้องศึกษาจับจุดทั้งหมด คือทั้งกรรมฐานสี่สิบแล้วก็มหาสติปัฏฐานสูตร แล้วก็มีสูตรอื่นอีกมาก จะต้องทรงคุณธรรมนั้นทั้งหมด เพราะเป็นผู้ทรงความดีมากมีกำลังใจสูงที่เรียกกันว่ามีบารมีสูง มิฉะนั้นเขาจะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ความสนใจในปฏิปทานี้ของเขามีครบในด้านวิปัสสนาญาณเขาก็มีครบ แต่ว่าจะบรรลุมรรคผลส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เขาจึงไม่กล้ายืนยัน แต่ความจริงคำสอนเหล่านั้นเขาสอนมาครบ ทุกอย่างเมื่อเธอต้องการฉันจะบอกให้

การเป็นพระโสดาบันก็ดี การเป็นพระสกิทาคา อนาคา อรหันต์ก็ดี เขาศึกษากันตัวเดียว คือ สักกายทิฏฐิ เมื่อตัดสักกายทิฏฐิได้ตัวเดียวก็เป็นพระอรหันต์ แต่ทว่าตอนที่จะตัดสักกายทิฏฐิ เธอจงปฏิบัติตามนี้นะ ก่อนที่จะใช้อารมณ์วิปัสสนาญาณ อันดับแรกเข้าฌานให้ถึงที่สุดที่เธอทรงได้ เข้าฌานออกฌานสลับกันมาสลับกันไปให้มันมีความทรงตัว แล้วทำจิตให้ทรงในฌานให้แนบสนิททรงตัวมีความสุขที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอทั้งหมดได้สมาบัติแปดมาแล้ว แล้วก็ศึกษาด้านอภิญญามาแล้ว อย่างนี้เป็นของไม่ยาก ในด้านวิปัสสนาญาณ ใช้กำลังสมาบัติแปดเป็นกำลังใหญ่ ทรงใจให้ทรงตัวแล้วถอยหลังไปถึงอุปจารสมาธิ พิจารณาขันธ์ห้าว่าขันธ์ห้ามันเป็นภัยสำหรับเรา เป็นวัตถุธาตุที่สร้างด้วยทุกข์สร้างด้วยโทษ ไม่มีอะไรเป็นปัจจัยของความสุข มองดูขันธ์ห้าคือ ร่างกายสิเกิดเราต้องเลี้ยงมันเท่าไร มันชอบอะไรเราให้มันกินทั้งหมด แต่เราไม่ต้องการจะป่วยมันก็ยังขืนป่วย เราไม่ต้องการจะเพลียมันก็เพลีย เราไม่ต้องการจะแก่อย่างฉันนี่ ฉันไม่เคยต้องการให้มันแก่มันก็แก่ คนที่เขาตายไปก่อนเราเขาไม่ต้องการจะตายมันก็ตาย ในเมื่อขันธ์ห้ามันเลวทรามอย่างนี้จะคบค้าสมาคมกับมันเพื่อประโยชน์อะไร

อันดับแรกจับจุดเพื่อความเป็นพระโสดาบัน ระงับความพอใจในขันธ์ห้าเสีย คิดว่ามันจะตายเสมอ แล้วทรงศีลให้บริสุทธิ์ ศีลควรทำเป็นศีลานุสสติกรรมฐาน ทรงศีลให้เป็นกำลังฌาน คำว่าเป็นกำลังฌานก็คือทรงอารมณ์อยู่ในศีลตลอดวันตลอดคืน ไม่ยอมให้ศีลบกพร่องจากใจ ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งหลับตาปี๋ เดินไปเดินมาเลี้ยงหมูเลี้ยงหมา คุยกับหมาคุยกับแมว ศีลทรงตัวใช้ได้ เจอหน้าคนเขาด่าคนเขาว่าเขานินทาศีลเราไม่ด่างใช้ได้ น้อมใจเคารพในคุณพระรัตนตรัยสามประการคือทรงพระกรรมฐานสามอย่าง ให้ฌานคือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ให้ทรงตัว ความจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เธอทรงได้หมดแล้วนี่ จะต้องมานั่งสอนอะไรกัน เว้นไว้แต่จิตใจอย่างเดียว คือ อารมณ์พระนิพพานเธอยังไม่มั่นใจเท่านั้น เพราะฉะนั้นจงตัดสินใจทรงอุปสมานุสสติให้ทรงตัว

เจ้าสองคนข้างซ้าย ท่านว่าอย่างนั้น ใช้กำลังแห่งอภิญญาสมาบัติของเธอขึ้นไปนมัสการองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วศึกษากับท่านโดยตรง ท่านจะชี้จุดมาให้พวกเธอ แล้วเธอจงปฏิบัติตามจุดนั้น มันไม่ช้าไม่นาน กำลังสมาบัติแปดและอภิญญาของเธอจะช่วยเธอเป็นพระอรหันต์ได้ภายในเจ็ดวันก็ได้เจ็ดเดือนก็ได้ แต่คำว่าเจ็ดปีไม่มี สำหรับคนที่ทรงอภิญญาหกหรือปฏิสัมภิทา อย่างเลวที่สุดภายในหนึ่งเดือนก็ได้ ให้รักษากำลังใจตามนี้

แล้วสำหรับเจ้าคนนี้ปรารถนาพุทธภูมิ เอ็งไปไม่รอด อาจารย์เอ็งบอกแล้วว่า ๑๐ ปี ออกจากวัด นั่นอาจารย์เขารู้ว่าเอ็งไม่สามารถจะรักษากำลังพระโพธิสัตว์ไว้ได้ จะต้องปฏิบัติตัดทางภายหลัง แต่ว่าเขารู้ว่าต้องถึงเวลานั้นก่อน เวลานี้ต้องสร้างบารมีอื่นเติม เพราะในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วในเวลานั้นมาตัดสินใจลัดภายในเดือนเดียวก็สำเร็จมรรคผล เป็นอันว่าท่านก็สอนอะไรไม่มาก ให้บอกว่าจงจำไว้ว่าพระโสดาบันน่ะไม่มีอะไร กำลังใจที่ทรงเป็นฌานเธอมีอยู่แล้ว แต่ขาดอุปสมานุสสติกรรมฐาน กลับไปใช้อุปสมานุสสติกรรมฐานให้ทรงตัว แต่ว่าความจริงมันก็ไม่มีอะไร แล้วแกไม่ยึดไว้เป็นอารมณ์โดยเฉพาะเท่านั้น มัวแต่ไปเล่นสมาบัติกันเกินไป มัวไปเล่นอภิญญากันเพลินไป มันก็ใช้ไม่ได้ จะว่าใช้ไม่ได้มันก็ไม่ถูก อาจารย์เขาเก่งอย่างนั้น เขาเอาแค่นั้นตัวลูกศิษย์มันก็ไปเท่านั้น ทีนี้อาจารย์เขาเห็นว่าเธอจะไปไกลในด้านสาวกภูมิ เขาจึงส่งมานี่

ถามท่านว่าสำหรับพระสกิทาคามี ท่านว่าไอ้นี่กูไม่สอนโว้ย สกิทาคากับพระโสดาบันคล้ายคลึงกัน กำลังของพวกแกมันเลยไปแล้วนี่

ถามถึงอนาคามีท่านก็บอกว่ามันก็ไม่ยาก เมื่อเราได้สมาบัติแปด อภิญญาสมาบัติก็ใช้กายคตานุสสติกับอสุภกรรมฐานให้ช่ำใจควบกับสักกายทิฏฐิ นอกจากจะเห็นว่ามันสกปรกก็เห็นว่ามันจะสลายตัวเสียด้วย แล้วมันสกปรกเน่าเละอย่างนี้จะมีอะไรบ้างที่เราพอใจ สำหรับความโกรธ ความพยาบาทนั้น เวลานี้เราข่มใจเสียด้วยความอำนาจสมาบัติแปด แล้วก็มันไม่หนักอะไรใช้วิปัสสนาญาณคือสักกายทิฏฐิควบเข้าไว้ คนมันด่ามันด่าไม่ถูกเรา อย่างที่เอ็งคิดนั้นมันถูกแล้ว เขาก็ด่าขันธ์ห้าของเรา เขาอยากจะด่าก็เชิญด่าตามใจ เราไม่สะดุ้งสะเทือนคนด่าเขาตกนรกไปเอง แล้วเรามีเมตตาพรหมวิหารนี่มันก็ได้หมดแล้วนี่หว่า กรรมฐานสี่สิบก็ศึกษาแล้วไม่เห็นมีอะไรต้องสอน

ต่อไปถามว่าความเป็นพระอรหันต์เป็นอย่างไร ท่านบอกว่านั่นมันเรื่องขี้ผงแล้ว อย่าไปติดในฌานมันเกินไป ฌานเราใช้แต่ถือว่าอย่าติดในรูปฌานและอรูปฌานที่เราใช้ว่าเป็นของวิเศษว่าเป็นกำลังใหญ่ที่ทำให้เราเข้าประหัตประหารกิเลสเท่านั้น แล้วอารมณ์การถือตัวถือตนว่าเป็นผู้วิเศษ บางทีมันยังไปไม่ได้มันยังถือว่าเป็นผู้วิเศษ ได้อภิญญาสมาบัติ ได้สมาบัติแปดกูดีกว่าคนนั้น กูเลวกว่าคนนี้ กูเสมอกับคนนั้น อารมณ์อย่างนี้ก็ทิ้งไปเสีย แล้วตัวอุทธัจจะคิดว่าเราอยากจะไปเป็นพรหมเป็นเทวดานั่นเลิกกัน ต้องการไปนิพพานอย่างเดียว เท่านี้มันก็เป็นการตัดอวิชชาความโง่พระอรหันต์มีเท่านี้ เป็นอันว่าอยู่กับบ้าน อย่าไปเล่าเรื่องละเอียดไม่มีความหมาย เอาความหมายในปฏิปทาที่ท่านสอนเท่านั้น ท่านผู้เฒ่ากล่าวว่าอาศัยอยู่ในวัดของท่าน อาศัยให้ท่านฝึกท่านสอนอบรม ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ความจริงสิบวันเศษๆ ท่านก็ไล่กลับแล้ว โดนพระดื้อไม่กลับอยู่หนึ่งเดือน พอท่านเห็นว่าช่ำชองดีแล้ว ท่านก็ไล่กลับ อยู่เกะกะกลับไปก็แล้วกัน เลี้ยงตัวรอดได้แล้ว

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัท ปฏิปทาของท่านผู้เฒ่านี่หลวงพ่อเนียมสอนมากกว่านี้ แต่โดยย่อแล้วสรุปได้แต่เพียงเท่านี้ หากว่าท่านทั้งหลายมีกำลังใจดีแล้วก็จริง ในด้านของความดีมันก็เป็นของไม่แปลก เราเคยฟังกันมาทุกวัน หากว่าบรรดาท่านและบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลายมีความประสงค์อย่างนั้นก็มีผลอย่างนั้นตามที่หลวงพ่อเนียมว่า สำหรับวันนี้มองดูเวลาก็เห็นว่าหมดแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านพยายามทรงกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น จะนั่งนอนยืนเดินก็ได้ตามอัธยาศัย ภาวนาหรือพิจารณากรรมฐานตามอัธยาศัยที่ท่านเห็นว่าควร จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สำหรับเวลานี่ไม่กำหนดให้ พอใจเท่าไรทำเท่านั้น จะนั่งจะนอนจะยืนจะเดินก็ได้ตามอัธยาศัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:11 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๑. สำหรับปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า...นี่ความจริงไม่ใช่เรื่องของคนๆ เดียวมันเป็นเรื่องของบุคคลกลุ่มหนึ่ง...ขอลาพระโพธิญาณ

สำหรับการแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน ในวันนี้ก็จะขอนำปฏิปทาท่านผู้เฒ่ามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือการทรงกำลังใจ แต่ทว่าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายหรือว่าพระโยคาวจรทุกท่าน อย่าลืมคุมกำลังใจให้เป็นสมาธิ เรื่องการรักษาอารมณ์ให้เป็นสมาธินี่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอานาปานสติกรรมฐานนี่ให้ทรงตัว แล้วก็จริตหกประการ ใคร่ครวญอยู่เสมอ จงอย่าเป็นผู้ยอมแพ้นิวรณ์ นี่อันดับต้น ถ้าอันดับต้นเรายอมแพ้นิวรณ์ เราก็ไม่อาจจะทรงฌานได้ แล้วก็จงอย่าเป็นผู้ยอมแพ้กิเลส ถ้าเรายอมแพ้กิเลสแล้ว เราก็ไม่สามารถจะเป็นพระอริยเจ้าได้ คุณธรรมที่เป็นเครื่องบำรุงใจ ดูตัวอย่างท่านมหาบาลที่ผ่านมาแล้ว เมื่อครู่นี้ ใช้กำลังใจส่วนนี้ให้เหมือนท่าน จงคิดว่าท่านเป็นฆราวาส ท่านเป็นกระฎมพีหรือว่าเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มาก ท่านยังสามารถตัดสินใจอย่างนั้นได้ แล้วก็เรา ถ้าจะกล่าวกัน ท่านมีกี่นิ้ว เรามีกี่นิ้ว หรือว่าท่านมีรูปร่างลักษณะอย่างไร มีอาการสามสิบสามหรือสามสิบห้า ความจริงท่านก็มีอาการสามสิบสองเป็นร่างกายเท่ากับเรา เราก็มีอาการสามสิบสอง ท่านกินข้าว เราก็กินข้าวท่านเป็นคนเราก็คน ถ้าหากว่าท่านเป็นคนดีได้ เราเป็นคนดีไม่ได้ เรามันก็เลวเกินไป นี่ขอท่านทั้งหลายตั้งใจฟังเรื่องท่านแล้วก็นำมาประพฤติปฏิบัติด้วย

สำหรับปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า ความจริงมีหลายคนเดาว่าเป็นเรื่องคนนั้น เดาว่าเป็นเรื่องคนนี้ นี่ความจริงไม่ใช่เรื่องของคนๆ เดียว มันเป็นเรื่องของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความเอาจริงเอาจังในอดีตที่ใกล้ปัจจุบันนั่นเอง อดีตที่ไม่ใช่นานมาแล้วถึงชาติก่อน

สำหรับปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าตอนนี้ เราก็มาพูดกันถึงตอนที่ท่านกลับวัดเพื่อปฏิบัติปรารถนาสาวกภูมิ แล้วก็รับฟังมาจากหลวงพ่อเนียมแล้วก็มาซ้อมกับท่านอาจารย์เก่า แล้วก็เดินทางท่องเที่ยวไปหาพระที่ทรงคุณธรรมพิเศษที่เราเรียกกันว่าพระอรหันต์ แต่ว่าสมัยนั้นเราก็ไม่ทราบกันว่าพระอรหันต์ เพราะว่าไม่มีใครปิดป้ายไว้ที่หน้าวัด แล้วก็ไม่ปิดป้ายไว้ที่หน้าอกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ความจริงท่านเป็นผู้ที่หมดกิเลสแล้ว ตามที่เขาทราบกันในตอนหลัง เป็นอันว่าพระสมัยนั้นท่านปิดกัน ท่านเก็บของดีของท่านไว้เป็นเครื่องทรงความดี ไม่ใช่เอาดีมาวางกลางถนน เป็นเครื่องให้คนเล่น เมื่อศึกษามาหลายอาจารย์ กี่สิบอาจารย์ก็ตามพูดเหมือนกันหมด เมื่อรับการยืนยันมาเหมือนกันกำลังใจก็มี กลับมาท่านก็ใช้สมาธิตั้งแต่ต้นถึงสมาบัติแปดถอยหลังมาทรงอภิญญา ใช้มโนมยิทธิ ความจริงท่านมีอภิญญาใหญ่ แต่ว่าใช้อภิญญาเล็ก ใช้มโนมยิทธิท่องเที่ยวไปตามจุดต่างๆ ที่ท่านเคยได้ฟังรัชนีพูดไว้ในบันทึกเสียง ตามนั้นนั่นแหละ ตามสายนั้นแล้วก็ไปศึกษาต่อลงมา ในไม่ช้าเพื่อนทั้งสองก็บรรลุมรรคผลเป็นอรหัตผล แต่คนในตำบลนั้นจะรู้จักพระอรหันต์ก็ไม่มี จะรู้จักท่านทั้งสามนี้ว่าเป็นพระดีสักหน่อยหนึ่งก็ไม่ปรากฏ มีแต่เขาเหยียดหยามดูถูกดูหมิ่นด้วยนานัปการ นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนมีกิเลสอยากจะไปอเวจีมหานรก เมื่อเขาต้องการอย่างนั้นก็ไม่มีใครห้ามเขาได้

สำหรับอีกท่านหนึ่งที่เป็นเจ้าของต้นบันทึกท่านเล่าให้ฟังต่อมาว่า สมัยนั้นท่านก็มุ่งหน้ามุ่งตาปรารถนาพุทธภูมิ ทำทุกอย่างเพื่อความบรรลุมรรคผลเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล กำลังใจมุ่งมั่นประกอบความดีหลายประการ รวมความว่าทุกอย่างที่คิดว่าดีตามที่ครูบาอาจารย์สอน คำว่าครูบาอาจารย์สอนนี้ก็หมายความว่าตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ตามพระธรรมวินัย คือ ตามตำรับตำราบ้าง ตามคำสอนของครูบาอาจารย์บ้าง ตามปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนบ้าง ทำทุกอย่าง เสียสละทุกอย่าง ตนเองจะไม่มีกินไม่มีใช้ไม่เป็นไร ขอให้บรรดาภิกษุสามเณรด้วยกันมีความสุข ชาวบ้านมีความสุข ที่อยู่ที่อาศัยของตนปล่อยรกเหมือนรังกา แต่ที่อยู่ของคนอื่นสั่งสร้างสมทำความสะอาดสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นทั้งภายในวัดของตนเองแล้วก็ภายนอก

แต่ทว่าท่านพระโยคาวจรทั้งหลายหรือบรรดาพุทธบริษัท พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า นัตถิ โลเก อนินทิโต คนที่ไม่ถูกนินทาว่าร้ายเลยไม่มีในโลก นี่เป็นเรื่องจริง ท่านไปสร้างความดีที่ไหนก็ถูกเขาด่าที่นั่น ถ้าเรื่องนี้บรรดาท่านทั้งหลายปฏิบัติมาบ้าง กระทบกระทั่งบ้างว่าเป็นเรื่องปกติ สร้างโบสถ์วิหารการเปรียญให้เขา สร้างศาลาการเปรียญให้เขา สร้างที่อยู่อาศัยให้เขา สร้างความสุขความเจริญทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม อะไรที่ไหนที่เป็นส่วนสาธารณประโยชน์ ความสุขของตนเองไม่ได้เคยคิด คิดอย่างเดียวว่าเรามุ่งมั่นเพื่อพระโพธิญาณ มีความต้องการอย่างเดียวจะสร้างสรรค์ บุคคลอื่นให้มีความสุข ความลำบากแค่นี้ไม่มีความหมาย ต่อไปเราจะทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อพระโพธิญาณ แต่ทว่าบรรดาท่านทั้งหลาย อาศัยทำอะไรให้กับคนที่มีกิเลส ถ้าเราจะหวังเอาดีกับคนที่มีกิเลสแล้ว ขอท่านทั้งหลายจำให้ดี จงอย่าคิด เพราะว่าคนที่มีกิเลสมีความมุ่งมั่นอยู่คือ หนึ่งหวังประโยชน์ส่วนตนในตอนต้น ถ้าจะช่วยเราก็หวังผลตอบแทน ถ้าผลตอบแทนตามประสงค์เขาไม่ได้ ไม่ช้าเขาก็เลิก แต่เขาไม่เลิกเปล่าเขาชวนคนอื่นเลิกไปด้วย ชวนให้คนอื่นเลิกไม่พอ ยังไปแนะนำยุยงส่งเสริมบุคคลอื่นไม่ให้ร่วมมือในการปฏิบัติความดี

ท่านผู้เฒ่าผู้นี้ท่านบันทึกไว้ว่าท่านโดนทั้งฆราวาสทั้งพระ จนกระทั่งในที่สุดระยะกาลผ่านไปใกล้จะยี่สิบพรรษา ใกล้จะครบเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน ท่านก็มานั่งใคร่ครวญดูว่า โอหนอนี่เราตั้งใจทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประชาชนเพื่อภิกษุสามเณร การสร้างวัดสร้างวาเป็นสาธารณประโยชน์ของคนทั่วไป ไม่เฉพาะพระเฉพาะเณร แล้วก็ทำเพื่อการสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรเป็นส่วนใหญ่ ตนเองจะไม่มีกินไม่มีใช้ไม่สำคัญ หวังตั้งใจให้เขามีความสุข พระทั้งที่มีความรู้ดีในด้านปริยัติ บางท่านก็มีศักดิ์ศรีสูง มียศมีตำแหน่งสูง ต่างคนต่างก็รวมกันกินโต๊ะท่าน หาทางประฌามกลั่นแกล้งด้วยประการทั้งปวง จนกระทั่งตัวท่านเองเคยเล่าให้ฟังว่า เคยคิดว่าคนพวกนี้น่าจะเก็บเอาลงไปไว้ใต้ดินดีกว่า แต่เข้ามามองดูตัวเห็นว่าห่มผ้าเหลือง คลำดูหัวเป็นว่าผมสั้น คลำดูคิ้วๆ ไม่มี ก็มาตัดสินใจว่าเมื่อเขาเลวเราจงอย่าเลวตอบ ท่านก็นั่งนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงดีแสนดี คนจะดีเกินพระพุทธเจ้านั้นไม่มีเพราะว่าหนึ่ง พระองค์ทรงตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นพระอรหันต์ที่มีความสุข เมื่อพระองค์ทรงมีความสุขแล้วก็ต้องทนกับความเหนื่อยยาก นอนกลางดินกินกลางทรายนอนในป่านอนในเขา ข้าวที่จะฉันเข้าไปก็เลือกไม่ได้ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ไม่บวชก็มีความสุข แต่นี่ท่านสละสุขส่วนที่เป็นโลกียวิสัยมาแสวงหาสุขที่เป็นโลกุตรธรรม พระองค์จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณสอนใครต่อใครโดยไม่มีสินจ้างรางวัล แต่ถึงกระนั้นเทวทัตที่เป็นญาติกันแท้ๆ ก็ยังหาทางกลั่นแกล้งพระองค์ด้วยประการทั้งปวง บรรดาประชาชนบางหมู่บางเหล่าและคณาจารย์ทุกคณะที่ตั้งใจทำลายท่านด้วยประการทั้งปวงเหมือนกัน ไปที่ไหนมีคนเขาด่าเขานินทาที่นั่น

ท่านคิดว่าองค์สมเด็จพระภควันต์ถูกมาแบบนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ไม่ทรงท้อถอย กลับมุ่งมั่นสงเคราะห์บุคคลทั้งหลายให้มีความเข้าใจในเรื่องของความสุขและความทุกข์ แล้วเรานี่ถูกประทุษร้ายด้วยวาจา ด้วยการกลั่นแกล้งจากบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรและฆราวาสที่เราสร้างสถานที่ให้อยู่ให้อาศัย ให้ปัจจัยเป็นเครื่องบริโภคมีความสุข ที่เราถูกนี้ไม่ถึงพระพุทธเจ้าขนาดพระนางมาคันทิยาจ้างคนติดตามด่า จะไปเทศน์ที่ไหนก็ยืนด่าที่นั่น บิณฑบาตที่ไหนก็ยืนด่าที่นั่น ทำอย่างนี้องค์สมเด็จพระภควันต์ก็ยังไม่ท้อถอย ทำไมเราจึงจะไปคิดทำลายล้างบุคคลประเภทนั้น ท่านคิดต่อไปว่าคนชั่วไม่มีที่ไหนที่นั้นก็หาคนอยู่ไม่ได้เพราะต่างคนต่างมีความสุขเสียแล้ว ขึ้นชื่อว่าสุขในปัจจุบันเป็นเครื่องพอ ก็ไม่แสวงหาความสุขยิ่งไปกว่านี้ จึงมาตัดสินใจว่าคนชั่วเหล่านี้เป็นครูของเรา นี่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่า นัตถิ โลเก อนินทิโต คนที่ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก เมื่อตัดสินใจแบบนี้แล้วก็วางภาระไม่สนใจกับคำด่า ไม่สนใจกับคำสรรเสริญ พยายามมุ่งมั่นทำความดีต่อไป

แต่ต่อมาหลังจากนั้นแล้วก็มีความเบื่อหน่ายจริงๆ คิดว่าชีวิตเดียวกับเราเท่านี้ โลกยังสร้างความทุกข์ให้เราถึงขนาดนี้ ถ้าหากว่าเราปรารถนาพระโพธิญาณต่อไป ก็จะต้องเกิดอีกกี่แสนกัปก็ไม่รู้ หมายความว่าไม่รู้นี่ว่าจะต้องเกิดอีกกี่แสนกัปหรือกี่อสงขัย แต่ละกัปอาจจะเกิดหลายครั้ง แต่ละคราวก็จะเกิดเรื่องราวแบบนี้นี่ท่าทางไม่ดี พระอุปัชฌาย์บอกแล้วว่าหลังจากการบวชแล้วยี่สิบปีไป ความปรารถนาทุกอย่างที่เธอตั้งใจจะสำเร็จผล ฉะนั้น จะคิดว่าการที่จะทำตนให้ถึงพระโพธิญาณต่อไปไม่เป็นเรื่อง ขอลาพระโพธิญาณ เมื่อจุดธูปจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัยละพระโพธิญาณ ในขณะนั้นเองก็ปรากฏว่ามีพระลอยมาในอากาศ มีฉัพพรรณรังสีรัศมีหกประการพวยพุ่งออก เข้ามายืนใกล้ ก็ทราบว่าพระองค์นั้นเป็นใคร พระองค์แย้มพระโอษฐ์แล้วตรัสว่า สัมภเกสี เธอปรารถนาพระโพธิญาณมามีเปอร์เซ็นต์เข้าไปตั้งแปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าเธอจะลาทำไมไม่ลาเสียตั้งแต่เมื่อหลายร้อยชาติมาแล้ว เพราะอารมณ์สาวกภูมิของเธอเต็มมานานแล้ว เวลานี้เลยเข้ามาแล้วจนจะบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ชาติที่จะพึงเกิดต่อไปเพียงเจ็ดชาติเท่านั้นทนไม่ได้หรือ ขอให้ทนต่อไป

ท่านบอกว่าพอฟังคำเท่านั้นใจก็อ่อน ปรารถนาโพธิญาณต่อไป มุ่งมั่นปฏิบัติต่อไปตามจริยาของพระโพธิสัตว์มาอีกหนึ่งปี มันไม่ไหวอีก บรรดาพระบรรดาฆราวาสรุกรานเต็มที่เอาลาใหม่ ท่านก็ตรัสอย่างนั้น ตั้งต้นกันใหม่ ว่าไปอีก ต่อมาในครั้งหลังที่สุดที่ไม่ต้องการพระโพธิญาณ นั่นก็คืองานคณะสงฆ์เกิดขึ้นในดินแดนแห่งหนึ่งที่เป็นความร้ายแรงที่สุด เพราะว่า พระที่ทรงศักดิ์เขตจังหวัดนั้นรุกรานพระผู้น้อย เข้าปล้นทรัพย์สินของวัดต่างๆ โดยใช้อำนาจของตนที่มีอยู่ยึดทรัพย์สินต่างๆ ของวัดต่างๆ ถ้าเจ้าอาวาสวัดไหนฝ่าฝืนก็สั่งถอดเสียบ้างสั่งพักบ้าง จับสึกบ้างโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจจะสึก เมื่อโดนเข้าแบบนี้ก็เห็นว่า โอหนอ ทำไมพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจึงมีจริยาเลวอย่างนี้ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอยู่ในงานนั้นเป็นหน้าที่โดยตรง จึงหาทางสืบสวนว่าพระที่ทำตัวเป็นโจรท่านนี้ท่านเอาอำนาจมาจากไหน รุกรานเขา ยึดทรัพย์สมบัติของวัดทั้งหลายอันเป็นของสงฆ์ เอามาเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว ซื้อขายจ่ายแจกทำแบบฆราวาส ขุดกรุบ้าง ทำลายพระพุทธรูปเสียบ้าง ทำทุกอย่างที่มันจะพึงได้เป็นประโยชน์ แต่เขาไม่มีโทษ ถูกฟ้องร้องเข้าไปเมื่อไรก็ปรากฏว่าท่านผู้นี้ได้รับเลื่อนยศเมื่อนั้น สืบไปสืบมาพบต้นตอใหญ่ มีตำแหน่งใหญ่ในการบริหารคณะสงฆ์ พอทราบกิจนี้จิตก็ตกลง กำลังใจตก คิดว่าปรารถนาพระโพธิญาณต่อไปไม่ได้แล้ว

องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงยับยั้งนั่นเป็นความดี แต่ทว่าเพียงชีวิตนี้แต่เพียงชีวิตเดียวเราก็ประสบกับความชั่วขนาดนี้ ถ้าต้องเกิดอีกเจ็ดครั้งมันไม่ยิ่งไปกว่านี้หรือนี่ นี่ชีวิตเดียวเท่านี้คงทนไม่ไหว ในขณะนั้นจึงได้ตั้งใจลาพระโพธิญาณต่อไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ตัดสินใจเด็ดขาด ถึงแม้ว่าองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถจะเปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมีหกประการมาปรากฏเฉพาะ ยังยั้งเพียงใดก็ตามท่านก็ไม่ยอม เพราะว่าเพียงชีวิตนี้ชีวิตเดียวยังทนไม่ไหว ถ้าพระเน่าอย่างนี้ชาตินี้ชาติเดียวไม่เป็นไร ชาติหน้าถ้าไปพบพระเน่าอย่างนี้เข้าอีกดีไม่ดีจะกลายเป็นสัตว์นรกไปเพราะท่านที่ปรารถนาพระโพธิญาณไม่มีโอกาสเป็นพระอริยเจ้ายังฆ่าคนได้ ยังทำอันตรายชีวิตเขาได้ ถ้าบังเอิญนิสัยเก่ามันกลับมาเมื่อไรก็หมายถึงเมื่อนั้นแหละจะต้องเข้าคุกเข้าตะรางกัน เวลาตายก็จะลงอเวจีมหานรก ขอลาไม่อยู่ต่อ

ในเมื่อตั้งใจจริงๆ ท่านก็ไม่ขัด จึงได้มีพระพุทธดำรัสตรัสว่า สัมภเกสี เธอปรารถนาพระโพธิญาณมา ฉะนั้น เมื่อลาก็ต้องทำกิจของพระโพธิญาณต่อไปอีกสิบสองปี ถ้ากิจนั้นหมดเมื่อไรจบเมื่อไรแล้ว กิจส่วนตัวของเธอจบแล้วจงทำกิจของโพธิญาณต่อไปอีก ๑๒ ปี ภายใน ๑๒ ปีนี้จะตายไม่ได้ ก็ได้แต่แปลกใจมีแต่เขาให้ตาย นี่ห้ามตาย ก็คิดว่ามันจะเป็นได้ก็ช่างเถอะ ระยะ ๑๒ ปีดีกว่า ๗ ชาติ เพราะหนึ่งชาตินี่มันหลายสิบหลายร้อยปี ถ้าเกิดต้นกัปก็เกิดเป็นอายุเป็นหมื่นๆ ปีก็แย่ ก็รับคำ เมื่อรับคำแล้ว ก็มีพระพุทธบัญชาว่า สัมภเกสี นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป กลางวันเธอจะมีกิจอะไรก็ตามที กลางคืนมักจะมีแขกคุยดึกๆ เจ้าจงละกิจนั้นเสีย เมื่อถึงเวลาสี่ทุ่ม จงเลิกการติดต่อกับแขก เข้าทำกิจส่วนตัวให้เคร่งครัด

ในบันทึกของท่านได้กราบทูลถามองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ว่า ลาพุทธภูมิแล้วโอกาสจะบรรลุมรรคผลขั้นที่สุดมีไหม ท่านบอกว่ากระแสขององค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า เวลานี้เธอเทียบสัตตักขัตตุง คำว่าสัตตักขัตตุงก็หมายความว่าจะต้องเกิดอีก ๗ ชาติ ในที่นี้หมายความว่าพระโสดาปัตติผลเบื้องต้น พระโสดาแบ่งเป็นสามขั้น คือ เอกพีชี อันดับสูงสุด จิตละเอียดที่สุด เกิดมาเป็นมนุษย์อีกชาติเดียว โกลังโกละ จิตละเอียดระดับกลาง เกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ สัตตักขัตตุง เกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ ก็เป็นอันว่าจิตเทียบเข้าพระโสดาปัตติผลอันดับต้น กราบทูลองค์สมเด็จพระทศพลต่อไปว่า ถ้าจะปฏิบัติไปแล้วกิจในพระพุทธศาสนาจะจบเมื่อไร ตามภาพนิมิตขององค์สมเด็จพระจอมไตร นี่พูดถึงตามบันทึกของท่านผู้เฒ่า ท่านกล่าวว่าถ้าเธอขยันหมั่นเพียรดี ทำจิตให้พอดีคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ขยันเกินไปไม่ขี้เกียจเกินไป อย่างเร็วเธอจะได้บรรลุจบกิจของเธอภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ถ้ากำลังใจของเธอย่อหย่อน เธอก็จะจบกิจของเธอภายในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า เดือนที่ท่านบอกนั้นจวนจะถึงเดือนกรกฎาคม เป็นกลางๆ เดือนมิถุนายน

เป็นอันว่าท่านก็ดีใจว่าปีนี้หรือปีหน้าก็ช่างประไร ถ้าเราจะมีโอกาสจบกิจพระพุทธศาสนาอย่างกับเพื่อนของเรา อันนี้เป็นความดี จึงไปรับปากกับองค์สมเด็จพระชินสีห์ว่า ถ้าหากว่าข้าพระพุทธเจ้าบรรลุมรรคผลตามที่พระองค์ตรัส ก็จะขอปฏิบัติตามพระพุทธฎีกาทุกประการ ภายใน ๑๒ ปีที่กล่าวนั้นจะไม่ยอมเข้าสู่พระนิพพาน จะยากจะลำบากสักเพียงไรก็ตามที จะขอสนองคุณองค์สมเด็จพระชินสีห์ด้วยชีวิต หลังจากนั้นองค์พระธรรมสามิสร์ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ว่า ดีแล้วสัมภเกสี ผลที่เธอตั้งปณิธานปรารถนาไว้จะไม่ช้าไปกว่านั้นตามที่กล่าวไว้ ฉะนั้นนับตั้งแต่นี้ไปถือว่าเธอลาจากพุทธภูมิ มีจริยาของสาวกภูมิต่อไป ฉะนั้น เวลาสี่ทุ่มทุกคืนจง เข้าห้องบูชาพระ แล้วตั้งใจปฏิบัติตามกระแสที่จะตรัสสั่งสอนด้วยพระองค์เอง

นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ปฏิปทาตอนปลายของท่านผู้เฒ่านับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป จะเห็นกำลังใจของท่านผู้เฒ่า ใช้กำลังอย่างใดจึงสามารถบรรลุมรรคผลถึงที่สุดได้ ความจริงมรรคผลขั้นที่สุด ขั้นอรหัตผลของท่านไม่ใช่เดือนพฤศจิกายนปีหน้าตามที่ท่านกล่าวและก็ไม่ใช่เดือนพฤศจิกายนปีปัจจุบันอย่างที่ท่านกล่าว เป็นการจบกิจถึงแค่เดือนกรกฎาคมนั่นเอง

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย กาลเวลาที่จะคุยกันก็หมดแล้ว ขอบรรดาท่านทั้งหลายผู้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงยึดปฏิปทาของท่านมหาบาลตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ปฏิบัติตนให้เข้าถึงมรรคถึงผลตามที่องค์สมเด็จพระทศพลตรัส และตามที่ท่านทั้งหลายมุ่งหมายไว้ ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงตั้งอยู่ในอิริยาบถสี่อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นั่ง นอน ยืน เดินตามความต้องการของท่าน จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:11 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๒. คืนที่สองหลังจากองค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงยอมรับการลาจากพุทธภูมิ คนที่จะตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้นั้น ต้องมีจิตใจเข้าถึงอริยสัจ คนที่เขาจะเป็นอรหันต์ได้นั้นเขาไม่คิดแค่นั้น ต้องพิจารณาให้จิตทรงตัวตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีลสมาทานพระกรรมฐานแล้ว การสมาทานพระกรรมฐานใช้อารมณ์แน่นอนหรือเปล่า อันนี้จะต้องคำนึงไว้เสมอ คำว่า อิมาหัง ภควา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจัชฌามิ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้หากว่าท่านทั้งหลายเผลอไปสร้างความชั่ว คือละเมิดพระธรรมวินัยส่วนใดส่วนหนึ่งเข้า ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายปฏิญาณเปล่าไม่ได้มีความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุสามเณรอุปสมบทบรรพชาเข้ามาแล้วก็ไม่มีความหมายอะไร กลายเป็นคนหลอกหลวงโลก ทำลายความสุขของชาวบ้าน ที่เราเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ล้างผลาญทรัพย์สินชาวบ้านโดยใช่เหตุ ฉะนั้นในฐานะที่ท่านบวชเข้ามาในศาสนาขององค์สมเด็จพระโลกเชษฐ์ จงเอาน้ำใสๆ ใส่ขัน เมื่อน้ำนิ่งแล้วก็มองดูเงาไว้เสมอ ว่าเวลานี้หัวเราโล้น คิ้วไม่มี หนวดไม่มี มองดูกายครองผ้าเหลือง มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเราเป็นปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่ชาวบ้านเขาเคารพบูชาต้องทำตนให้เสมอนั้น อย่าทำตนให้เลยไป พระธรรมวินัยบทใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักของเราฟังกันอยู่เป็นปกติ อย่าให้คลายจากจริยาวัตรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ว่าสิ่งนี้ไม่ควร เราไม่ทำ สิ่งนี้ควร เราทำ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ ทำเสียให้ครบ ที่การพูดอย่างนี้ไม่ใช่เร่งรัดให้คนนั้นทำงานคนนี้ทำงาน แต่ว่างานของเรามีอะไรบ้างเราควรจะรู้ ตั้งใจช่วยกันทำงานเป็นการบริหารตนไปในตัวเสร็จ

สำหรับวันนี้ก็จะขอนำปฏิปทาของท่านผู้เฒ่ามาเล่า หลังจากที่ท่านได้ลาจากพุทธภูมิแล้ว ตอนนี้ท่านอย่าลืมนะว่าท่านผู้เฒ่าที่ฝึกมาหมด ทั้งกรรมฐานสี่สิบในมหาสติปัฏฐานสูตร แล้วยังมีคีรีมานนทสูตร แล้วยังมีสูตรต่างๆ อีกมาก ที่เนื่องด้วยการปฏิบัติในปฏิปทา รวมความว่า ท่านเป็นคนตะกละกระมัง ตะกละในการศึกษา ตะกละในการประพฤติปฏิบัติ แต่ว่ากำลังใจ ส่วนนั้นยังมีความปรารถนาในพุทธภูมิอยู่ จิตก็มีความมุ่งหวังอย่างเดียวก็คือทรงฌานสมาบัติในพระกรรมฐานสี่สิบ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ในคีรีมานนทสูตร ทุกอย่างที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ในธรรมจักรก็ดี ในอาทิตย์ก็ดี ในอนันต์ก็ดี ในธรรมนิยามก็ดี รวมแล้วสรุปเอาใช้หมดทุกอย่างเพื่อเป็นการรักษากำลังใจแล้ว สิ่งที่ท่านไม่ลืมก็คือความตาย และจิตใจพร้อมไปด้วยความเมตตาปรานี แต่ทว่าอย่าลืม ผู้ปฏิบัติในสมณธรรมขององค์สมเด็จพระชินสีห์เขาจะสนใจแต่คนดีเท่านั้น เรื่องคนเลวอย่าไปอ้างนะว่าตอนนั้นตอนนี้เคยให้ข้าวให้น้ำ

ตอนนั้นมันในเรื่องของความดี ถ้าตอนเลวเขาไม่คบละก็อย่าไปว่าเขา ด้วยพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า อเสวนา จ พาลานัง ปัณฑิตา นันจ เสวนา ปูชา จ ปูชะนียานัง เอตัมมังคละมุตตะมัง การไม่คบคนเลวหนึ่ง การคบแต่คนดีหนึ่ง การบูชาบุคคลที่มีความดีควรบูชา จัดว่าเป็นอุดมมงคล นี่เป็นคติของท่าน แต่ทว่าท่านก็ลองทุกอย่าง คนที่เขาว่าเลว ลองคบดูซิจะดีไหม เอาดีไม่ได้แน่เพราะเจ้าคนเลวนี่คบเข้ามันสร้างสรรค์ความเลวของมันไว้มาก มันไม่ยอมคลายความเลว เมื่อพิสูจน์แล้วว่าคบคนดีมีความสุข บูชาความดีของบุคคลผู้มีคุณมีความสุข ฉะนั้นจึงได้ตัดสินใจว่าอาหารของคนเลวเราไม่พึงปรารถนา เราต้องการแต่อาหารของคนดี ถ้าในถิ่นใดไม่สามารถจะมีคนดีเราจะอดตาย ยอมอดตายดีกว่าๆ ที่จะกินข้าวของคนเลว เพราะเกรงว่าความเลวจะติด มันจะติดมาจากไหน เพราะอาศัยข้าวเป็นสื่อ อาหารเป็นสื่อ เขาก็จะถือว่าเขาเลี้ยงดูปูเสื่อให้ความเป็นสุข นี่คนเลวที่ต้องการจากเรานั่นก็คือความเลวให้เราทำลายพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คตินี้ขอท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญดูว่าที่ท่านผู้เฒ่าคิดอย่างนั้นน่ะมันผิดหรือถูก จะสังเกตดูได้ว่าท่านจะไม่ค่อยสุงสิงกับคนที่มีจริยาเลว หรือว่าบุคคลที่เข้ามารบกวนในการเจริญสมณธรรม ท่านจะกระโชกกระชากให้โกรธไว้เสมอ เพราะคนเลวโกรธเสียได้ดี ไม่มารบกวนทำลายความดีที่จะพึงสร้าง นี่เป็นปฏิปทาอย่างหนึ่ง และนอกจากสูตรทุกอย่าง กรรมฐานทุกอย่างที่ทรงแล้ว อย่าลืมว่ากรรมฐานสี่สิบอย่างเดียวก็เหลือแหล่ แต่ว่าท่านองค์นี้ไม่มีคำว่าพอไม่มี อะไรที่องค์สมเด็จพระจอมไตรว่าดีลองหมดลองให้หมด ไหนๆ ตั้งใจเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว มันไม่ต้องลงทุนลงรอนอะไร นี่เป็นกำลังใจของท่านผู้ประพฤติปฏิบัติ แล้วสองในวิชชาสามและห้าในอภิญญาหก ซ้อมหมดไม่เหลือ มีอะไรบ้างไม่ยอมให้เหลือ การปฏิบัติเอาชีวิตเป็นเดิมพัน มีกำลังใจอย่างเดียวว่าทุกสิ่งทุกอย่างในพระพุทธศาสนา คำว่าไม่สามารถจะไม่มีสำหรับเรา ถ้าสิ่งที่คนอื่นทำได้เราทำไม่ได้ยอมตายดีกว่า ร่างกายไม่มีความหมาย ในเมื่อเรามันเลวเราก็ ไม่ควรอยู่ให้มันหนักแผ่นดินเปลืองอาหารชาวบ้าน เปลืองทรัพย์สินของชาวบ้าน นี่กำลังใจของท่าน ที่บอกไว้อย่างนี้ก็เพราะว่าปฏิปทาของท่านตอนหลัง ท่านจะสงสัย ตอนนี้เข้าจุดเครียด จุดเครียดว่าตอนนี้เป็นตอนที่เราจะเห็นได้ว่าเป็นจริยา การปฏิบัติมันมีความหนักมาก คือว่าจะต้องถูกเร่งรัดเพราะอาศัยที่ตนลาจากพุทธภูมิ

หลังจากนั้น คืนที่สองหลังจากองค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงยอมรับการลาจากพุทธภูมิ พระองค์ก็ทรงมีพระบัญชาว่า เธอต่อไปหลังจากสี่ทุ่มจงเลิกรับแขก เข้าห้องบูชาพระ ฉันจะมาสอนตามเวลา คำสั่งต้องเป็นคำสั่ง ตามปกติท่านก็เป็นคนเคร่งครัดในเวลาอยู่แล้ว ขึ้นชื่อว่าเวลานี้ให้เคลื่อนไม่ได้ ถ้าเคลื่อนคลาดกันสักวาระหรือสองวาระก็ต้องเลิกคบกันทันที ถือว่าคนเลวประเภทนี้ไม่ควรจะคบเอาไว้ ฉะนั้นเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรทรงสั่งก็ปฏิบัติตามทันทีเพราะเป็นของหายาก ถ้าคนเขาร้องถามมาได้ เขาคงจะถามเข้ามาว่าพบพระพุทธเจ้าได้อย่างไร นี่คุยตามปฏิปทาของท่านเราไม่กลัวใครเขาว่า บันทึกมาว่าอย่างไรก็ว่าไปตามบันทึก ที่ว่าไม่กลัวไม่ใช่ เพราะว่าไม่ได้อ้างตัวว่าเป็นท่านผู้นั้น ว่าตามบันทึกของท่านผู้นั้น แล้วก็จงอย่าลืมว่าวิชชาสาม อภิญญาหก และสมาบัติแปดท่านคล่องทุกอย่าง การจะพบกับใครก็เป็นของไม่ยาก จะพบกับเทวดาจะพบกับพระพรหม พบกับพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว จะพบกับพระพุทธเจ้าก็พบได้ ถ้าไม่แน่ใจก็เชิญทำให้ได้ พิสูจน์กันตามนี้ มาเจริญทำวิชชาสามให้เกิด หรือทำอภิญญาให้เกิด ดูทีว่าจะพบได้หรือไม่ได้ ถ้ายังทำไม่ได้ละก็อย่าเพิ่งไปนั่งสงสัยนั่งวิจารณ์ ไอ้สันดานเลวมันจะเผาผลาญจิต

เมื่อองค์สมเด็จพระธรรมสามิสร์ท่านตรัสอย่างนั้น จะเข้าห้องตามเวลาหรือก่อนเวลานิดหน่อย เหลือเวลาอีกสิบห้านาทีเข้าห้อง บอกแขกเลิก ปิดประกาศว่านับตั้งแต่นี้ต่อไปจะเลิกตั้งแต่เวลาสามทุ่มครึ่ง ใครจะไปหรือไม่ไปก็ชั่ง เข้าห้องปิดประตูลงกลอนนอนสบาย เข้าไปก็บูชาพระรัตนตรัยทำวัตรตั้งกำลังใจไว้ในจุดทรงสมาธิ ถึงเวลาสี่ทุ่มตรงก็ปรากฏว่ามีฉัพพรรณรังสีรัศมีหกประการพวยพุ่งมาสู่ห้อง แสงสว่างเหมือนกับเอาพระอาทิตย์สักพันดวง หลังจากนั้นก็ปรากฏเป็นพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนี้พระองค์ทรงมีพระบัญชาว่าเธอจงเอนกายลงไป นอน ในลักษณะสีหไสยาสน์ ทรงจิตเป็นสมาธิ ท่านว่าอย่างไรก็ทำตามนั้น ท่านว่าอย่างนั้น ต่อไปเข้าอภิญญาผลสมาบัติ คำว่าอภิญญาผลสมาบัติบางทีท่านทั้งหลายจะไม่เข้าใจ ว่าสมาบัติที่พึงได้ถ้ามีอภิญญาผสมก็ใช้กำลังของอภิญญาเข้าร่วมด้วย พูดอย่างนี้เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตามไม่อธิบาย ใครอยากจะรู้อาการเป็นอย่างไรก็เชิญทำอภิญญาให้ได้แล้วจะรู้ เรื่องจะมานั่งสอนกันตอนนี้ไม่มีทาง เมื่อเข้าอภิญญาผลสมาบัติเต็มอัตราแล้วถอยมาอยู่อุปจารสมาธิ ทรงสั่งให้ทำจิตเข้าถึงสมาบัติแปด จิตทรงตัวดีแล้วถอยมาเข้าอุปจารสมาธิ นี่เป็นจริยาของท่านผู้ทรงอภิญญา ถ้าหากว่าเป็นจริยาของเราก็รักษาลมหายใจเข้าออก ใช้กรรมฐานที่เรามีความคล่องรักษาอารมณ์ให้สบาย จิตเป็นสุขที่สุดที่จะพึงได้ในวันนั้น หลังจากนั้นก็พิจารณาวิปัสสนาญาณ พอเข้าอภิญญาผลสมาบัติตั้งจิตตรงอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ เข้าจิตตั้งแต่ฌาน ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, หยุดอยู่ที่ฌาน ๘ อยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมงถอยหลังมาอยู่อุปจารสมาธิ ตอนนี้มีกำลังตั้งมั่น จิตทรงตัวเหมือนกับเสาหินที่ปักไว้ มีอารมณ์เบา ใจโปร่ง มีความสุข

ตอนนี้เองสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระพุทธฎีกาว่านับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเธอจงคิดตามฉันพูด นี่ฟังให้ดีนะ แทนที่ท่านจะสอนให้คิดเอง ท่านว่าจงคิดตามฉันพูด และก็ตรัสช้าๆ เบาๆ ว่า สัมภเกสี การลาพุทธภูมิคราวนี้ของเธอก็มีประสงค์จะตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน คนที่จะตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้นั้น ต้องมีจิตใจเข้าถึงอริยสัจ ถ้ามีอารมณ์ไม่มั่นคงในอริยสัจ ไม่มีทางที่จะบรรลุได้

อริยสัจสี่ คือ หนึ่งทุกข์ สองสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ สามนิโรธ ความดับทุกข์ หรือทุกข์ดับ สี่มรรค ได้แก่ปฏิปทาถึงความดับ อริยสัจทั้งสี่กิจที่จะพึงทำมีสอง คือ ทุกข์กับสมุทัย เพราะคำว่ามรรคได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เราทรงอยู่แล้ว สิ่งที่จะต้องหาใหม่นั่นก็คือ หาทุกข์ให้พบ และก็ทำลายต้นเหตุของทุกข์ให้ได้

ท่านตรัสแล้วก็ถามด้วยว่า คำว่าทุกข์หมายความว่าอย่างไร ท่านผู้เฒ่ากล่าวในบันทึกของท่านว่า ทุกข์หมายถึงสิ่งที่เราจำจะต้องทน เพราะมันมีการฝืนอารมณ์ การใดก็ตามจะเป็นศีลก็ตาม จริยาก็ตาม การสัมผัสก็ตาม ถ้ามันฝืนอารมณ์สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ท่านบอกว่า ใช่แล้ว การคิดอย่างนี้ถูกตรงตามเป้าหมายที่พระอรหันต์เขาคิดกัน ตามบันทึกของท่านบอกว่ารู้สึกว่าตัวมันอยากจะลอย เพราะว่าคำชมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่หากันได้ยาก แต่ทว่าการชมของท่านจะชมใครบ้างไม่สำคัญ ท่านบอกว่าพอได้รับคำชมเท่านั้นมันเกือบจะเป็นอรหันต์เสียเวลานั้น ใจมันชุ่มชื่น

พระองค์ก็ตรัสต่อว่า สัมภเกสี จำให้ดีว่าอะไรมันเป็นทุกข์ เธออย่าเพิ่งหาทุกข์ที่มันจะสำคัญน้อยหรือสำคัญมากก็ตามที่มันอยู่ห่างตัว อันดับแรกจงมองหาทุกข์ของคำข้าวเสียก่อน ข้าวหนึ่งคำที่เจ้าบริโภคเข้า ข้าวมันมาจากความสุขหรือความทุกข์ ท่านผู้เฒ่าได้บันทึกไว้ว่าได้กราบทูลไปว่า มาจากความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า ท่านทรงแย้มพระโอษฐ์ เธอรู้แต่ทว่ายังรู้ไม่ละเอียด เธอจะรู้แต่เพียงว่าอาหารที่เธอบริโภคเข้าไปนั้น กว่าที่เธอจะได้มาเธอต้องเดินบิณฑบาต และชาวบ้านเขาจะเอามาใส่บาตรได้เขาต้องหุงหาอาหาร ต้องหุงหาทำให้สุกไว้ก่อน ปกติเธอมีอารมณ์รู้เพียงเท่านี้ การรู้เพียงเท่านี้ยังมีความดีน้อยเกินไปที่จะเป็นอรหันต์ คนที่เขาจะเป็นอรหันต์ได้นั้นเขาไม่คิดแค่นั้น อารมณ์คิดแค่นั้นมันยังสั้นยังหยาบเกินไป ถ้าจะพึงได้ก็เพียงพระอริยะขั้นต้น คือพระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุง แต่ถึงจะได้ก็ได้ช้าเต็มที เพราะอารมณ์อย่างนี้ยังหยาบมาก

ตอนนี้เมื่อกี้มันจะลอย พอโดนชมจะลอย พอโดนตะลุมพุกตีหัวก็ตอนนี้ ทรุดลงมาทันทีแล้วพระองค์ก็ทรงทราบ ทรงแย้มพระโอษฐ์ให้ชื่นใจ ว่าไม่เป็นไรสัมภเกสี พ่อมาคราวนี้หวังจะสงเคราะห์เธอให้เข้าถึงจุดตามที่เธอประสงค์ เธอไม่ต้องหวั่นไหวในถ้อยคำของพ่อ พ่อพูดให้เธอมีความเข้าใจเท่านั้นไม่ได้ประณามว่าเธอเลว จงฟังต่อไป คำข้าวคำเดียวมันทุกข์หนักเหลือเกิน มันทุกข์มากยากที่จะเปลื้องให้พ้นได้ จงคิดตามนี้ว่าข้าวก่อนจะสุกเขาทำอย่างไรบ้าง ข้าวก่อนจะสุก ชาวบ้านเขาต้องหุงให้สุก อาการจะหุงให้สุกเขาทำอะไรบ้าง หนึ่งต้องเอาข้าวสารมาใส่หม้อ สองต้องหาน้ำมาใส่ในข้าวสาร สามต้องหาหม้อมาเป็นเครื่องรองรับ สี่ต้องมีเตา ห้าต้องมีเชื้อเพลิง แล้วก็ต้องนั่งคุมดูว่าข้าวจะต้องให้สุกขนาดไหน จะให้อ่อนหรือแข็งขนาดไหน อาการที่ต้องทำอย่างนี้มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ พระองค์ตรัสถาม

ท่านผู้เฒ่าบันทึกไว้ว่า เป็นความทุกข์พระเจ้าข้า
ท่านตรัสถามว่า ทุกข์เพราะอะไร

ท่านผู้เฒ่าตอบว่าทุกข์เพราะต้องใช้กำลังกายเหนื่อย แทนที่จะมีเวลาพักผ่อนนอนให้สบาย ต้องไปทนทุกข์ทำกิจการนั้นๆ เพื่อเลี้ยงร่างกายซึ่งมีสภาพไม่เที่ยง พระองค์ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ว่าเข้าใจถูกแล้ว เพราะอาการเข้าใจอย่างนี้อารมณ์มันต้องทรงตัว ไม่ใช่ว่าจะมีการรู้สึกอยู่ในขณะหนึ่งของหนึ่งวัน ต้องมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงหรือเวลาที่กำลังตื่นอยู่ เวลาที่จะหลับก็ต้องหลับไปด้วยอารมณ์อย่างนี้ ให้รู้จักว่าแม้แต่ข้าวคำเดียวในปากมันเริ่มทุกข์ เรากินเข้าไปแล้วมันก็ทุกข์ ทีนี้ก่อนที่จะได้กินชาวบ้านเขานำมาด้วยความทุกข์ เราจะหาข้าวมากินได้เราก็จำเป็นจะต้องเดินไปหาเขา การเดินไป ฝนตกแดดร้อนเหน็ดเหนื่อยยุงริ้นกัด ดีไม่ดีก็ถูกสัตว์เลื้อยคลานกัดถึงแก่ชีวิต

เป็นอันว่ากิจคือการบำรุงบำเรอร่างกายนี่มันเป็นอนิจจัง มันไม่มีความเที่ยงไม่มีการทรงตัว แล้วมันก็เป็นทุกข์ถ้าเราเอาจิตเข้าไปเกาะ มันเป็นโรคนิธัง เป็นรังของโรค โรคภัยไข้เจ็บนี่มีเบียดเบียนเป็นปกติธรรมดา มันสร้างความทรมานให้แก่จิต ในที่สุดมันก็เป็นอนัตตาต้องสลายไป แต่ในเมื่อมันยังไม่พังเราก็จำจะต้องเลี้ยงมัน ที่เราต้องลำบากยากเข็ญก็เพราะร่างกายที่มีสภาพไม่ทรงตัว ร่างกายที่มีสภาพสับปลับ ถ้าเป็นคนก็คบไม่ได้เพราะเลี้ยงไม่เชื่อง เห็นได้หรือยังว่าร่างกายมันนำมาซึ่งความทุกข์ ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ ลืมแล้วหรือยัง ท่านบอกแล้วให้คิดตามท่านพูด ท่านไม่ให้ตั้งหน้าตั้งตาจำตามสัญญา ให้ใช้ปัญญาคิดตามที่ท่านพูด

ท่านผู้เฒ่าตามบันทึกว่า เห็นแล้วพระพุทธเจ้าข้า

ก็ทรงมีพระพุทธบัญชาว่า อย่าเห็นแต่เวลานี้เวลาเดียวนะ ฉันสอนอะไรก็ตาม เธอต้องจำต้องคิด ต้องพิจารณาให้จิตทรงตัวตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ฟังอย่างนี้แล้วอึดอัดใจมากไหม พวกเราที่ฟังนี่ไหวไหม คิดไว้บ้างหรือเปล่า หรือคิดแต่เพียงอยากดีอยากเด่น อยากจะดูโทรทัศน์อยากจะฟังวิทยุ อยากแต่งตัวให้มันโก้ อยากจะมีความร่ำรวย อยากจะแสวงหาทรัพย์สินโดยไม่ชอบธรรมหรือว่าอยากจะสึกไปแต่งงานมีลูกมีเมียกับเขามันจะได้มีความสุข เอาอย่างไรกันแน่

เป็นอันว่าคำข้าวคำเดียววันนี้มันก็ไม่จบ มันจะจบได้อย่างไร พรุ่งนี้ว่ากันใหม่ดีกว่า มองดูเวลาเหลือนาทีเดียว เอาเท่านี้ก็แล้วกัน เอาทุกข์เบื้องต้น ความจริงคำว่าทุกข์นี่สอนยันตีสองทุกคืน ใช้เวลาการสอนอยู่หนึ่งเดือน ย้อนไปย้อนมาเรื่องทุกข์ แต่ว่าตามบันทึกของท่านนี่จะมาพูดให้เต็มไปทุกคำนี่มันเป็นไม่ได้ เหลือวิสัยที่จะบันทึก ท่านก็บันทึกย่อเอาไว้

เอาละบรรดาพระโยคาวจรทั้งหลาย มองดูเวลาก็หมดแล้ว วันนี้ก็ขอฝากทุกข์ไว้กับท่าน ว่าท่านทั้งหลายจงพยายามทรงทุกข์ไว้ในจิต ว่าจิตที่เรามีชีวิตอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกมันเต็มไปด้วยความทุกข์ มันไม่ใช่ความสุข ท่านจะรักทุกข์หรือรักสุขก็เป็นกิจของท่าน ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรงทรงจิตให้มั่น จะยืนก็ได้ นอนก็ได้ เดินก็ได้ตามอัธยาศัย นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตรในด้านของสมาธิ หรือวิปัสสนามาพิจารณาจนกว่าจะเห็นว่าสมควรแก่เวลาของท่าน สวัสดี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:11 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๓. เธอจงเห็นทุกข์ในปัจจุบันที่เรียกว่า นิพันธทุกข์เสียก่อน นิพันธทุกข์คือทุกข์เนืองนิตย์ที่มีอยู่ทุกวัน มันมีอะไรบ้าง เธอจงคิดไว้เสมอว่าชีวิตคือเลือดเนื้อและร่างกาย ถ้ายังมีอยู่เพียงใด คำว่าหมดทุกข์ไม่มี คนที่จะถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องอาศัยไม่ติดอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือ ร่างกาย ไม่ติดอยู่ในรสอาหาร นี่เป็นอันดับแรก...ถ้าเธอยังมีความรู้สึกว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งในโลกยังมีความสุข ฉันจะไม่มาสอนตลอดชีวิต

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานี้ท่านทั้งหลายได้สมาทานพระกรรมฐานและสมาทานศีลแล้ว ต่อนี้ไปก็ขอโปรดเตรียมตัวเตรียมใจทรงอารมณ์ให้เป็นสมาธิ คือว่าตั้งใจสดับคำแนะนำ ในขณะที่ฟังคำแนะนำอยู่ ถ้ารู้เสียงตลอดทุกถ้อยคำจำได้อย่างนี้ ชื่อว่าจิตทรงสมาธิ คำว่าสมาธิแปลว่าตั้งใจ ตั้งใจจำ หากว่าพิจารณาไปด้วย นั่นเป็นวิปัสสนาญาณ การบรรลุมรรคผลในศาสนาขององค์สมเด็จพระพิชิตมารต้องใช้ทั้งสองอย่างร่วมกัน ทั้งสมาธิและวิปัสสนา คำว่าสมาธิแปลว่าสมถกรรมฐาน และวิปัสสนาแปลว่าการใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาขันธ์ห้า

สำหรับในวันนี้ก็จะขอเล่าเรื่องปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าต่อ เมื่อคืนที่แล้วมารู้สึกว่าจะมายับยั้งอยู่ในตอนที่เรียกว่า ทุกข์ ในจุดที่เรียกว่าหาอาหารบริโภค คือท่านกล่าวว่าการที่จะบริโภคข้าวเข้าไปคำหนึ่งนี่เราต้องใช้อะไรบ้าง เราต้องใช้หม้อ ต้องใช้เตา ต้องใช้น้ำ ต้องใช้ฟืน ต้องใช้ไฟ แล้วก็สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราได้มาด้วยอาการของความสุขหรือความทุกข์ ทุกอย่างจะต้องได้มาด้วยเรี่ยวแรงที่จะพึงต้องใช้ ทีนี้ในเมื่อเรากินทุกข์เข้าร่างกายของเราทั้งหมดมันมีเชื้อสายของความทุกข์เป็นตัวก่อขึ้น ในเมื่อร่างกายมันสร้างขึ้นมาด้วยความทุกข์ อาการของร่างกายมันจะมีความสุขหรือมันจะมีความทุกข์ นี่เป็นเรื่องที่ต้องคิด เป็นอันว่าเมื่อพูดถึงความทุกข์ในการบริโภคอาหารจบ

ต่อมาท่านก็ตรัสต่อไปว่า สัมภเกสี ข้าวสารที่เราจะนำมาเป็นข้าวสุกนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะอาศัยเราต้องนำข้าวสาร นำเตามา นำฟืน คือเชื้อเพลิงหาไฟให้เกิด อาการทำอย่างนี้ต้องใช้แรงงาน แล้วก็การทำอย่างนี้มันก็ไม่มีที่สุดของชีวิต ถ้าเราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้เราก็ต้องทำกิจอยู่อย่างนี้ทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าเราจะกินข้าวเช้าแต่เวลาเดียว มันก็ไม่อิ่มไปตลอดวัน วันหนึ่งเราก็บริโภคหลายหน ขึ้นชื่อว่าอาหารทุกชนิดที่เรากินเข้าไปได้มาด้วยแรงงาน การทำงานแสวงหาเงินหาทองหาทรัพย์หาสินมาเพื่อให้มีอาหารปรากฏมันเป็นอาการของความทุกข์ แล้วคนที่กินอาหารอยู่อย่างนี้ตลอดกาลเขาจะหาสุข คือจุดจบที่ไม่ต้องทำกิจอย่างนี้เมื่อไร เป็นอันว่าหาไม่ได้ ถ้าตายแล้วเกิดใหม่มันก็กินอย่างนี้ ถ้าเราจะหามากินมันก็มีความทุกข์

เธอจงเห็นทุกข์ในปัจจุบันที่เรียกว่า นิพันธทุกข์เสียก่อน นิพันธทุกข์คือทุกข์เนืองนิตย์ที่มีอยู่ทุกวัน มันมีอะไรบ้าง เมื่อบริโภคอาหารเข้าไปแล้วกิจอื่นที่จะตามมาเนื่องด้วยอาหารนั่นคืออะไร น้ำที่บริโภคเข้าไปมากร่างกายใช้เหลือความต้องการก็เกรอะทิ้งมา มาเป็นปัสสาวะ แล้วอาหารก็เช่นเดียวกัน ที่ร่างกายไม่ต้องการแล้วเป็นกาก ที่เราเรียกกันว่าอุจจาระ ร่างกายต้องถ่ายน้ำที่ไม่ต้องการ ระบายอาหารที่ไม่ต้องการ ที่เราเรียกว่าปวดอุจจาระปัสสาวะมันเป็นความสุขหรือความทุกข์

ตามบันทึกท่านทูลตอบว่ามันเป็นทุกข์พระพุทธเจ้าข้า และเป็นความทุกข์ที่เหลือที่จะทน ไม่ใช่ทนได้ยาก เหลือที่จะทน คือทนไม่ไหว

ท่านก็ตรัสว่าถ้าอย่างนั้นจงจำไว้ ว่าอาหารนี่ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข อาหารนี่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ จะหาสุขจากอาหารจริงๆ นั้นมันไม่มี

ต่อจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า เธอจงคิดไว้เสมอว่าชีวิตคือเลือดเนื้อและร่างกาย ถ้ายังมีอยู่เพียงใด คำว่าหมดทุกข์ไม่มี เราจะต้องประสบกับความทุกข์อย่างนี้ตลอดเวลา

ถ้าเราจะสิ้นทุกข์ได้ ก็เพราะอาศัยเห็นว่าร่างกายที่เราเกิดมานี่มันเป็นทุกข์ แล้วก็สมบัติที่เราถือว่าเป็นเราเป็นของเรานี่มันได้มาด้วยความทุกข์ คืออาศัยความเหน็ดเหนื่อยเป็นของสำคัญ ถ้าเราไม่เหน็ดเหนื่อยแล้ว เราก็ไม่ได้มา

เมื่อได้มาแล้ว หามาได้แล้ว แทนที่จะใช้สอยให้มันเป็นการพอดี ให้มันทรงอยู่กับเรา มันก็เปล่า มันก็สิ้นไปเสื่อมไป ทำไมจึงจะมานั่งสนใจด้วยอาหารด้วยเรื่องร่างกาย

แต่ที่กล่าวอย่างนี้ไม่ใช่ให้ทำลายร่างกาย ไม่ใช่อดอาหาร เพราะว่ามันเกิดมาแล้ว ร่างกายที่เกิดมาเราก็ต้องเลี้ยงมัน มันเป็นของธรรมดา แต่ถ้าหากว่าเราจะพึงปรารถนาในมันนั้น เห็นไม่สมควร

จงมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า หน้าที่ในการบริหารร่างกายเราจะพึงทำเมื่อร่างกายต้องการอะไรบ้าง แต่ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป ตั้งใจบริหารมันเข้าไว้เพื่อว่าเป็นการระงับความทุกข์ส่วนหนึ่ง แต่ทว่ามันไม่ได้เป็นการหายทุกข์ มันเป็นการบรรเทาความทุกข์

และจงคิดว่าความสุขจริงๆ ก็คืออธิโมกขธรรม ได้แก่ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้แก่พระนิพพาน

คนที่จะถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องอาศัยไม่ติดอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือ ร่างกาย ไม่ติดอยู่ในรสอาหาร นี่เป็นอันดับแรก

แล้วต่อไปเธอจงถอยหลังเข้าไป ส่วนใหญ่ของบุคคลที่พึงคิด เขาจะไม่คิดถึงความเป็นจริงของร่างกาย แล้วไม่คิดถึงความเป็นทุกข์ของร่างกาย ในศัพท์ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่าจับปลายรูป นั่นคือมองไม่เห็นความทุกข์ เข้าใจว่าเหตุที่เกิดทุกข์มันเป็นปัจจัยของความสุขคือเลี้ยงร่างกายให้อ้วนพี พยายามทะนุถนอมร่างกายนี้ให้มันไม่ทรุดโทรม ร่างกายต้องการอะไรหาให้ทุกอย่าง แต่ว่าเธอเคยเห็นไหมว่าคนที่บำรุงบำเรอร่างกายอยู่เป็นปกติเขามีความสุข เป็นอันว่าเธอจะหาไม่ได้ ไม่มีปัจจัยส่วนใดที่จะเป็นเหตุให้เกิดขึ้น มันก็จะมีแต่ความทุกข์ส่วนเดียว

สัมภเกสี จงจำถ้อยคำนี้ไว้ให้ดีว่าร่างกายนี้มันเป็นความทุกข์ อาหารที่เราได้มาก็ได้มาจากความทุกข์ เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วแทนที่จะสิ้นทุกข์มันก็เกิดทุกข์เนื่องจากการขับถ่ายของร่างกาย ร่างกายเป็นโรคนิธัง มันเป็นรังของโรค มันมีอาการเสียดแทงอยู่เป็นปกติ ทุกข์อื่นใดที่จะทุกข์ยิ่งกว่าร่างกายนั้นไม่มี คือความปรารถนาของร่างกายนี้เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ทุกอย่าง

เธอจงวางภาระคือขันธ์ห้าได้แก่ร่างกายเสีย

แล้วนอกจากนั้น ขึ้นชื่อว่าอาหารที่จะได้มา ก็ลองมองหาความเป็นจริงว่าคนส่วนใหญ่มักจะมองข้าวสารเป็นสำคัญที่มันมาเป็นข้าวสุก แล้วก็คนจำนวนมากที่ไม่คิดถึงข้าวสาร มองแต่ข้าวสุกอย่างเดียว แต่ความจริงข้าวสารที่จะมาเป็นข้าวสุก มันจะเป็นขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยความทุกข์ ถ้าอารมณ์แห่งความทุกข์ไม่มี ข้าวสารก็จะไม่ปรากฏ ทั้งนี้เพราะเดิมทีข้าวสารมันเป็นข้าวเปลือก การที่จะนำข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสารมันเป็นอาการเต็มไปด้วยความทุกข์ เธอมีความรู้สึกอย่างไรจงตอบให้ฟังสิ

พระเถระผู้บันทึกกล่าวว่า มันเป็นความทุกข์พระเจ้าข้า เพราะว่าข้าวสารที่มาจากข้าวเปลือก ข้าวเปลือกจะเป็นข้าวสารได้สมัยโบราณต้องใช้สีมือ ต้องใช้ซ้อมด้วยมือมันก็เป็นอาการของความทุกข์เพราะมันเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าสมัยปัจจุบัน ถ้าจะนำข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสารก็จะต้องไปจ้างโรงสีเขาสี เมื่อเขาสีให้เขาก็จะต้องเก็บเงินเก็บทอง การจะนำข้าวไปสู่โรงสีมันก็ต้องมีอาการเหน็ดเหนื่อย แล้วก็ต้องเสียเงินเสียทอง เงินทองที่ได้จากการไปจ้างเขาสีข้าวเราก็ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานเป็นอาการของความทุกข์ ท่านก็กล่าวว่าถูกแล้ว ข้าวเปลือกจะมาเป็นข้าวสารได้ก็อาศัยแรงงานเป็นสำคัญ คือแรงงานที่ทำข้าวเปลือกเป็นข้าวสารก็ดี หรือว่าแรงงานที่ทำข้าวเปลือกเป็นข้าวสารจากโรงสีก็ดี เงินที่เราจะจ้างเขานี้เราได้มาด้วยอาการเหน็ดเหนื่อยมันเป็นอาการของความทุกข์ นี่เป็นอันว่าข้าวเปลือกจะมาเป็นข้าวสารได้มันก็ผ่านอาการเป็นทุกข์แล้ว

หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงถอยหลังลงไปอีก ว่าเธอจงถอยหลังต่อไปดูว่าข้าวเปลือกนี่มันมาจากอะไร ข้าวเปลือกที่จะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย ข้าวเปลือกที่จะมีขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยเชื้ออย่างหนึ่งนั่นก็คือเป็นที่ดิน พื้นที่นาที่เขาปรับปรุงดีแล้ว มีคันนา มีเหมืองน้ำเรียบร้อย แต่ทว่าถ้าเราจะทำข้าวเปลือกให้มันเกิดขึ้นเราจะต้องใช้อะไรบ้าง อันดับแรก เราจะต้องแสวงหาที่ดินที่จะมาเป็นสมบัติของเรา ถ้าที่ดินนั้นเป็นป่าเราก็ต้องถางกัน ถ้าเป็นที่ดินที่เตียนแล้วก็จะไปซื้อที่เขามาเป็นสมบัติของเรา เราจะได้ที่นั้นโดยไม่เสียอะไรเลยหรือว่าจะได้ที่นั้นมาด้วยอาการของความเหน็ดเหนื่อยของความทุกข์ การได้ที่ๆ เขาปรับปรุงดีแล้วเราต้องแลกมาด้วยเงิน แล้วเงินที่เราหาได้มาเราต้องแลกกับอาการของความสุขหรืออาการของความทุกข์ เงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์สมัยนั้นเราจะได้มาต้องใช้หยาดเหงื่อและแรงงาน มันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์

ท่านพระเถระก็ตอบท่านว่า เป็นอาการของความทุกข์พระเจ้าข้า เพราะอาศัยความเหน็ดเหนื่อย

ท่านถามว่า เธอพูดด้วยความรู้สึกของใจจริงหรือว่าพูดตามเหตุผลของท่าน พระมหาเถระผู้เฒ่าก็กราบทูลว่า พูดด้วยใจจริงที่ประกอบไปด้วยเหตุผล เพราะว่าเห็นมาแล้วผ่านมาแล้วพระพุทธเจ้าข้า

แต่ว่านั่นแหละ จงมองเห็นความทุกข์ของคำว่าข้าวเพียงคำเดียวยังยุ่งถึงเพียงนี้ เมื่อมีพื้นที่นาแล้วข้าวมันจะขึ้นมาได้หรือยัง ถ้าเราไม่ทำอย่างอื่น

ท่านผู้เฒ่าก็กราบทูลว่ายังไม่ขึ้นพระพุทธเจ้าข้า

ท่านถามว่าจะต้องทำอะไร

ก็ตอบว่าต้องไถนา ต้องหว่านข้าว ต้องปรับปรุง ต้องหาน้ำมาเลี้ยงหล่อข้าว หาอาหารของต้นข้าว คือ ปุ๋ย

ท่านก็ถามว่าการไถนาใช้อะไรบ้าง สมัยนั้นยังไม่มีรถไถ จึงกราบเรียนว่าใช้วัวหรือใช้ควายลากไถ ต้องหาคันไถ หาแอก หาทุกสิ่งหาทุกอย่างอุปกรณ์ ท่านกลับถามว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราได้มาด้วยอำนาจของความสุขหรือความทุกข์ ถ้าเรายังไม่มีอยู่ก่อน เราจะหาวัวหาควายหาอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้มาได้อย่างไร

ก็กราบทูลว่า ถ้ามีหา เราก็ไปตัดต้นไม้มาทำคันไถ

ท่านก็ถามว่า การตัดต้นไม้มาทำคันไถ มันเหน็ดเหนื่อยหรือไม่ มันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์

ตอนนั้นท่านบันทึกบอกว่า มันเป็นว่ามันเป็นทุกข์จริงๆ ความเหน็ดเหนื่อย การจะตัดต้นไม้มาแต่ละต้น เอามาถากเป็นคันไถเล็กๆ ต้นไม้มันต้นใหญ่ต้องใช้กำลังแรงงานมาก การจะได้วัวได้ควายมาก็ต้องใช้เงินซื้อเขา การจะได้มาแต่ละสตางค์จากหยาดเหงื่อมันก็แสนจะสาหัสคือได้มาด้วยอาการของความทุกข์จริงๆ อุปกรณ์ต่างๆ จะได้มาเป็นไถแล้วก็ไถไปได้ ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานจากเงินจากทองบ้าง จากการทำเอาเองบ้าง

ท่านถามว่าทรัพย์สินทั้งหลายที่หามาได้อย่างนี้มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ อาการที่จะหามา ท่านผู้เฒ่าก็ตอบว่ามันเป็นอาการของความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า แล้วถามต่อไปว่ามีวัวมีควายมีนาครบแล้วต้นข้าวขึ้นได้หรือยัง ท่านก็กราบทูลว่ายังพระพุทธเจ้าข้า ท่านก็ทรงถามว่าทำอย่างไรต่อไป ต้องไถๆ แล้วก็หว่านๆ แล้วก็คราดๆ แล้วก็ปลูก ท่านถามว่าอาการที่ไถนาตากแดดตากฝนต้องหว่านต้องคราดมันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ ท่านตอบองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นอาการของความทุกข์พระเจ้าข้า

ท่านถามว่าเห็นแล้วหรือยังว่าแม้แต่คำข้าวคำเดียวนี่มันทุกข์ขนาดไหน

หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่าก่อนที่นาจะเกิดขึ้นได้ สมมตินะว่าถ้าเราไม่มีเงินซื้อที่ดินมาทำนา เราจะได้มันมาด้วยอาการของความสุขหรือความทุกข์

ก็ตอบท่านว่าด้วยอาการของความทุกข์ เพราะหนึ่งที่ดินเหล่านั้นเป็นป่า เราก็จะต้องถากถางป่า การตัดต้นไม้แต่ละต้นกว่าจะขาดก็เหนื่อยสายตัวเกือบขาด เมื่อตัดต้นไม้มาแล้วก็ต้องฟันเป็นท่อนเป็นตอน ลากต้นไม้ที่ฟันแล้วเหล่านั้นให้มันพ้นพื้นที่ไป หลังจากนั้นขุดตอแต่ละตอของต้นไม้นั้น เพื่อให้เนื้อที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่นา มันก็แสนจะเหน็ดเหนื่อยเป็นอาการของความทุกข์ แล้วก็ที่นาแต่ละไร่จะเตียนลงไปได้ก็ต้องใช้กำลังแรงงานมาก

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตอบว่า สัมภเกสี จงจำไว้ว่า การบริโภคอาหารคำเดียวมันเป็นอาการของความทุกข์นี้โดยย่อ

ตามบันทึกท่านบอกว่าบันทึกแต่เพียงย่อๆ เท่านั้น ไม่ได้บันทึกโดยพิสดาร แต่ว่าเราก็พอจะคิดกันได้ว่า องค์สมเด็จพระพิชิตมารท่านทรงสอนท่านผู้เฒ่าให้มองเห็นความทุกข์จากอาหารคำเดียวที่เรากินเข้าไป ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่อาหารทิพย์ที่นึกขึ้นมาได้มันก็มีขึ้นมาสมความปรารถนา แต่ทว่านี่แต่ละอย่างนี่พูดถึงข้าวคำเดียวมันก็ทุกข์ และอาหารคือกับข้าวที่มาประกอบกับคำข้าวให้มันมีรสเพื่อจะดื่มกินเข้าไปได้ สิ่งเหล่านี้ที่จะขึ้นมาก็ได้มาด้วยอาการของความทุกข์ทั้งหมด ฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมสุคตจึงตรัสว่า

สัมภเกสีเอ๋ย จงจำไว้ว่าคนเราจะเกิดมาทรงตัวอยู่ได้อย่างนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ตลอดเวลา การทำไร่ไถนาหรือการแสวงหาทรัพย์สินมาเพื่ออาหารการบริโภคในชีวิตนี้เราจะไม่มีโอกาสได้หยุด ต้องทำตลอดชีวิต แล้วการต้องทำตลอดชีวิตอย่างนี้เต็มไปด้วยความสุขหรือความทุกข์ ท่านย้อนเข้ามาอีก

ท่านผู้เฒ่ากราบทูลว่ามันเป็นความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า

เมื่อเห็นเธอเข้าใจความทุกข์ในเรื่องอาหารอย่างเดียวไม่พอ เพราะอาหารที่จะบริโภคเข้าไปมันเป็นทุกข์ แล้วเสื้อผ้าที่เราพึงใช้มันได้มาจากอาการของความสุขหรือความทุกข์

ท่านก็กราบทูลว่าได้มาจากอาการของความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า

ฉะนั้น เธอมีความรู้สึกอย่างไรว่าคนที่เขาเดินมาเดินไปนี่เขามีความสุขหรือความทุกข์

ท่านบอกว่าท่านกราบทูลว่าเป็นทุกข์พระเจ้าข้า

ท่านก็ตรัสถามต่อไปว่าความทุกข์ไม่ใช่ว่าจะมีแต่การบริโภคอย่างเดียว หรือว่ามีแต่การแต่งตัวอย่างเดียว อาการทางกายเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งสิ้น ตอนนี้สมเด็จพระมหามุนินทร์ตรัสว่า ร่างกายมันเป็นอนิจจังนะ แล้วก็สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี่มันก็เป็นอนิจจังเหมือนกัน เมื่อมันหาความเที่ยงไม่ได้ ร่างกายเราต้องการให้มันสมบูรณ์มีร่างกายแข็งแรง แต่ในเมื่อโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนมันก็ดี มันเสื่อมโทรมลงไปทุกวันก็ดี ตาที่เคยมองใสสว่างก็พร่า หูก็หนัก ผมก็จะหงอกเป็นดอกเลา และยิ่งไปกว่านั้น หนังของเราที่เคยผ่องใสเต่งตึงมันก็ย่อหย่อน กำลังร่างกายของเราก็ท้อถอยลงไปทุกทีๆ จะทำงานทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอาการคล่องแคล่วมาอย่างแต่ก่อนนี้มันทำไม่ตลอด ทำอย่างนั้นไม่ได้ ความไวไม่มี มีแต่ความเชื่องช้าอืดอาดอย่างนี้ เมื่อกิจการงานทุกอย่างที่เราเคยทำได้ชั่วครู่เดียวก็เสร็จ ถ้าต้องใช้เวลานานเข้าไปกว่านั้นคือเมื่อตาก็ดูไม่ถนัด หูก็จะไม่ได้ยิน ร่างกายก็ไม่ทรงตัวทำไม่ได้คล่องแคล่ว นี่เป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์

ตามบันทึกของท่านผู้เฒ่าท่านบอกว่า อาการอย่างนี้มันเป็นอาการของความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า

ท่านก็ถามว่า เธอเห็นแล้วหรือยังว่าอาการเกิดมันเป็นทุกข์ ท่านตอบว่าเห็นแล้วพระพุทธเจ้าข้า เป็นอันว่าทุกข์ตัวนี้มันเป็นจุดหนึ่งที่เราจะพึงคิด นอกจากนี้ความทุกข์ของร่างกายในเมื่อโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน มันมีอาการกระสับกระส่าย มันไม่มีความสุขมันไม่มีความสบาย อาการเสียดแทงของทางร่างกายที่มันเป็นโรคมันเต็มไปด้วยอาการของความสุขหรือความทุกข์

ท่านผู้เฒ่าได้บันทึกว่า ท่านตอบว่าเป็นอาการของความทุกข์พระพุทธเจ้าข้า

ท่านก็ถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นเธอยังมีความปรารถนาอยู่ในร่างกายหรือไม่ และก็ยังมีความปรารถนาในการเกิดต่อไปหรือไม่

ท่านก็กราบทูลว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดไม่มีความปรารถนาแล้ว การละจากพุทธภูมิวิสัยตั้งใจมาเป็นสาวกภูมิก็ไม่ต้องการความเกิด

ท่านจึงกล่าวว่า นับตั้งแต่นี้ต่อไป เธอจงใช้ปัญญาหาทุกข์ให้พบ ถ้าเธอยังเห็นว่าโลกนี้จุดใดจุดหนึ่งเป็นอาการของความทุกข์ นั่นก็ชื่อว่าเธอไร้ปัญญา ถ้าขณะใดเธอพิจารณาในมุมโลกทั้งหมด คนทุกขนาด ทุกประเภท ทุกชั้นทุกวรรณะ ทุกชั้นทุกวัย ไม่ว่าคนประเภทใด เห็นอาการเขามีความทุกข์ แล้วก็จิตใจของเธอมีอาการไม่มีเยื่อใยกับอาการของความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น แล้วก็มีความปรารถนาทำลายให้มันสิ้นไป ชื่อว่าเธอมีปัญญาสามารถจะเข้าเป็นพระอริยเจ้าได้และนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฉันจะให้โอกาสเธอหนึ่งเดือน ฉันจะไม่มาสอนเธออีกจนกว่าจะครบเวลาหนึ่งเดือน ถ้าในเวลาหนึ่งเดือนที่ฉันจากไป ถ้าเธอยังมีความรู้สึกว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งในโลกยังมีความสุข ฉันจะไม่มาสอนตลอดชีวิต ถ้าจิตของเธออยู่ในสภาวะเห็นความทุกข์เป็นเอกัคตารมณ์เมื่อไร ฉันจะมาสอนต่อไป

เอาละบรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย อาการของความทุกข์ว่ามาว่าไปมันจะเลยเวลา สำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอบรรดาพระโยคาวจรทุกท่านจงพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น ปฏิบัติไปตามอัธยาศัยของท่านจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร สวัสดี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2022, 20:14 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๔. เวลานี้ในประเทศไทยถ้าเอากันแค่มรรคเบื้องต้น คือ โสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผลขึ้นไปตามลำดับถึงอรหัตผล เราจะนับเป็นร้อยมันไม่ได้เสียแล้ว ผมก็ไม่กล้านับ จะเป็นพันหรือเป็นหมื่นนี่ผมไม่รู้ แต่ถ้าปริมาณละก็รู้สึกว่าน้อยเกินไป การฝึกจิตที่เราจะชนะจิตนี่มันต้องชนะกันเป็นจุดๆ ในอริยสัจท่านจัดทุกข์ไว้เป็นเบื้องต้นให้รู้จักทุกข์อย่างเดียวว่าอะไรมันเป็นทุกข์

เวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายจะยังจำคำสมาทานของท่านได้ ว่าอิมาหัง ภควา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจัชฌามิ ซึ่งแปลว่าข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงคำนี้เมื่อกล่าวแล้ว ถ้าจำได้แล้วก็คิดไว้อยู่เสมอ ท่านทั้งหลายจะไม่มีความชั่วเกิดขึ้นมาในใจเลย ความชั่วทั้งหลายที่ท่านจำเป็นจะต้องระมัดระวังนั่นก็คือ อารมณ์ที่ติดอยู่ในอารมณ์ทั้งห้าประการ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส อีกประการหนึ่งก็คือ ความโลภอยากจะได้ทรัพย์มาเป็นของตนให้มันมากที่สุดขึ้นเท่าไรก็ตาม เกาะติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แล้วก็ความโกรธ ความพยาบาท ความหลงในการทะนงตอนว่าเป็นผู้วิเศษลืมความตาย

นี้ขอท่านทั้งหลายที่สมาทานแล้วพิจารณาไว้เสมอ ว่าอารมณ์แห่งความเลวทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้มันมีอะไรบ้างที่อยู่ในจิตของตน เราประกาศตนเป็นสาวกของสมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากล่าวว่าขอมอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ คำว่ามอบกายถวายชีวิต ก็หมายความว่ายอมประพฤติปฏิบัติตามความดีทุกอย่างที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน แล้วก็ละความชั่วทุกอย่างไม่ให้มันเกิดขึ้นในจิต อารมณ์อย่างนี้มีในใจของท่านครบถ้วนแล้วหรือยัง

ต่อไปก็คุยกันถึงปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า ความจริงปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าเป็นปฏิปทาที่ไม่ยาก เพราะเป็นปฏิปทาของบุคคลในปัจจุบันเราเอง ไม่ใช่ว่าจะไปอ้างเอาสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเกินวิสัยที่พวกเราจะพึงพบเห็น นี่คนในสมัยเราๆ นี่สามารถทำได้ แล้วก็ไม่สามารถทำได้คนเดียว เวลานี้ในประเทศไทยถ้าเอากันแค่มรรคเบื้องต้น คือ โสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผลขึ้นไปตามลำดับถึงอรหัตผล เราจะนับเป็นร้อยมันไม่ได้เสียแล้ว ผมก็ไม่กล้านับ จะเป็นพันหรือเป็นหมื่นนี่ผมไม่รู้ แต่ถ้าปริมาณละก็รู้สึกว่าน้อยเกินไป ถ้าจะถามว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ถ้าอยากจะทราบก็ไม่ยาก ทำใจของเราให้เข้าถึงเสียก่อน ถ้าใจของเราเข้าถึงเมื่อไรเราก็พบได้เมื่อนั้น แล้วก็รู้ได้เมื่อนั้น แต่จงระวังนะ อย่าคิดว่าตนดีเมื่อเราเลว จงมีความรู้สึกตัวคิดว่าเราเลวอยู่เสมอนั่นแหละจึงจะดี

มาถึงปฏิปทาของท่านผู้เฒ่านี้ นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีกระแสรับสั่งในอันดับต้น จนกระทั่งถึงที่สุดที่ผมเล่ามาเป็นการย่อเพื่อความเข้าใจ ถ้าจะพูดหมดไปก็ต้องบันทึกหลายพันเทป เพราะตั้งแต่เวลาสี่ทุ่มถึงเวลาตีสองทุกคืนเป็นเวลาหนึ่งเดือนท่านสอนเรื่องของทุกข์อย่างเดียว

นี่การฝึกจิตที่เราจะชนะจิตนี่มันต้องชนะกันเป็นจุดๆ ในอริยสัจท่านจัดทุกข์ไว้เป็นเบื้องต้นให้รู้จักทุกข์อย่างเดียวว่าอะไรมันเป็นทุกข์ จำปฏิปทาที่ท่านสอนไว้ด้วย แต่ว่าพวกท่านจำได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อริยมรรคอริยผล ก็ถือว่าเป็นสาธุชนคนดี หรือว่ากัลยาณชน คนทรงฌานได้

แล้วดูกำลังใจของเรานะว่ากำลังใจของเราพอใจในกามคุณห้าหรือเปล่า กำลังใจของเราพอใจในการพอกพูนทรัพย์สินหรือเปล่า กำลังใจของเราพอใจในความโกรธความพยาบาทหรือเปล่า กำลังใจของเรายังหลงคิดทะนงตนว่าเป็นผู้เลิศหรือเปล่า คำว่าเป็นผู้เลิศนั่นหมายความว่านึกว่าดี ว่าเราเป็นผู้วิเศษ คิดว่าเวลานี้เราเป็นพระอริยเจ้า คิดว่าเวลานี้เราเป็นพระผู้ทรงฌาน นี่เป็นอารมณ์เลวไม่ใช่อารมณ์ดี ต้องจำพระบาลีว่า อัตตนา โจทยัตตานัง เราจะกล่าวโทษโจทก์หาความผิดอารมณ์ใจของเราไว้เสมอ เห็นว่าอะไรมันบกพร่องตรงไหนทำลายตรงนั้นให้พินาศไป อย่าตะเกียกตะกายในความโลภ ความโกรธ ความพยาบาท การหลงใหลใฝ่ฝันในกามคุณทั้งห้าประการ ติดในโลกธรรม นั่นเป็นความเลวที่น่าสลดใจที่สุด

เป็นอันว่าเมื่อรับฟังอริยสัจมาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงสั่งว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฉันให้เวลาจริงๆ ๓ เดือน ถ้าในเขตเวลา ๓ เดือนนี้ เมื่อคืนที่แล้วนี่จะพูดไปว่าเวลา ๑ เดือน เหนื่อยมากเหลือเกินอาจจะพลาดไปบ้าง เหนื่อยเกือบจะตั้งตัวไม่ไหว ถ้าท่านทั้งหลายไม่ได้สังเกตคิดว่าผมยังดีอยู่กระมัง นี่ดีไม่ดีผมอาจจะตายจากท่านไปเมื่อไรก็ได้ ท่านทั้งหลายสังเกตกิริยาผมไม่เป็น ผมรู้สึกว่าพระหลายองค์นี่ดูผมไม่เป็นหรอก แต่ก็มีหลายองค์ที่มีความฉลาดดูผมเป็นเหมือนกัน ดูเป็นไม่เป็นผมจะเป็นจะตายก็ช่างประไร ผมไม่แปลก ตายเมื่อไรผมก็สบายเมื่อนั้น เป็นอันว่าการที่เราอยู่ก็เพื่อเป็นการสนองคุณองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าร่างกายผมตายเมื่อไรผมก็มีความสุข เป็นอันว่าเวลานั้นท่านสั่งไว้เรื่องทุกข์ ให้เวลา ๓ เดือน ท่านกล่าวว่าใน ๓ เดือนนี้ ขณะจิตใด ถ้าเธอเห็นว่าโลกนี้ส่วนใดส่วนหนึ่งมีความสุข ฉันจะไม่สอนเธอตลอดชีวิต

สำหรับพวกท่านมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้ากระทบเข้าแบบนี้จะมีความรู้สึกหวั่นไหวไหม เสียดายเวลาที่องค์สมเด็จพระจอมไตรจะไม่มาสอนไหม ความรู้สึกของท่านเป็นอย่างไรผมไม่คาดไม่คิด จะบอกแต่เพียงว่าความคิดความรู้สึกของพระผู้เฒ่าท่านว่าท่านรู้สึกยิ้มในใจ ท่านว่าอย่างนั้น ตามบันทึกของท่าน ท่านกล่าวว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์จะทรงกล่าวว่าถ้าเธอยังจะติดอยู่ถึงความสุขในโลกว่าอะไรมันไม่มีทุกข์ ให้อารมณ์เป็นเอกัคตารมณ์ ความจริงด้วยการรับฟังมันก็เป็นเอกัคตารมณ์อยู่แล้ว แต่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจะต่อเวลานั้นก็ใช้ได้ แต่อย่าลืมอย่าไปคิดว่าพระพุทธเจ้าโง่ไปเสียอีก ไม่รู้ ความจริงท่านรู้ แต่ท่านให้โอกาส เป็นลีลาขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ

ท่านผู้เฒ่าท่านบอกว่าเวลานั้นท่านไปทางไหนก็ดี นั่งอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ หรือว่ายืนอยู่ ทำกิจกับคนอื่นก็ดี รับภารกิจในการรับแขก ทำภาระการงานอยู่ก็ดี เห็นคนผ่านไปผ่านมาก็ดี ความรู้สึกที่มันประจำใจอยู่แน่นขนัด มันไม่คลายจากอารมณ์ นั่นก็คือเห็นคนกับเห็นสัตว์รู้สึกว่าเขาทั้งหลายน่าสงสาร คนและสัตว์ที่กำลังเดินทำงานทำการ เดินกลับบ้าน ดีไม่ดีวัดที่อยู่นั่นมันเปลี่ยว มันเป็นทางผ่านของหนุ่มสาวที่จะพากันเข้าไปคุยในป่า เห็นหนุ่มสาวที่เดินมาคู่กันก็ดี นั่งรถจักรยานยนต์ซ้อนกันมาก็ดี กำลังจะเข้าไปสู่ป่า มองหน้าแล้วก็สลดใจ ที่โอหนอนี่เขาทั้งหลายไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์เลย กามารมณ์เป็นเครื่องบังหน้าให้เกิดความโง่ คิดว่าอารมณ์อย่างนั้นมันมีความสุข แต่เนื้อแท้ที่จริงมันเป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะต้องหลีกเร้นผู้ใหญ่ เกรงว่าเขาจะเห็นในการพร่ำพรอดกันในด้านของความรัก เขาทั้งหลายนั้นก็ไม่เห็นทุกข์ที่จะพึงมีขึ้นข้างหน้า ถ้าร่วมรักกันเข้าแล้วอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยา อะไรที่มันเป็นทุกข์ที่มันจะตามมามากนักแต่เขามองไม่เห็น

และนอกจากนั้นอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งนั่นก็คือ ท่านเห็นคนและสัตว์และวัตถุทั้งหมดมันสกปรกไปหมด อารมณ์จิตสลดเหลือเกิน เห็นหญิงชายเดินควงคู่กันไป มองเห็นทั้งหญิงทั้งชายมันเน่าหมดเปลือก ดีแต่ในเน่า กำลังใจที่จะคิดผูกพันมันไม่มี เห็นเน่าแล้วไปเห็นทุกข์ คิดว่าถ้าเขาจะยกยอปอปั้นคนทั้งหลายเหล่านั้นให้มาร่วมรักกับเราเพื่อความสุข ก็มานั่งคิดว่าเท่าไรเราถึงจะต้องการความสุขประเภทนั้น สักแสนล้านหรือว่าโกฏิล้าน กำลังใจมันส่ายหมด เท่าไรก็ไม่ไหวแล้ว จะให้ไปประคับประคองซากศพที่เน่าเละเหล่านั้น นึกถึงนิมิตในสมัยที่อยู่ในวัดที่ต้องต่อสู้กับอารมณ์ของความเหม็นเน่าของซากศพ เวลานั้นอารมณ์กลับเข้ามาอีกประสานกัน นอกจากว่าจะเห็นว่าคนมีทุกข์ สัตว์มีทุกข์ ก็ยังมองเห็นความเน่าของคนความเน่าของสัตว์ ไม่ใช่เห็นแต่ความเน่าของบุคคลอื่น เห็นความเน่าของตัวด้วย รู้สึกตัวว่าความโง่แท้ๆ ที่เราเคยหลงใหลใฝ่ฝันในกามคุณห้า มีรูปสวย เป็นต้น นี่ความระยำจริงๆ ที่จิตคิดจะพอกพูนทรัพย์สมบัติที่มีอยู่

ความจริงข้อนี้เป็นของไม่ยาก เพราะว่ามีมโนปณิธานปรารถนาตั้งมาตั้งแต่บวชใหม่ๆ ว่าขึ้นชื่อว่าความรักระหว่างเพศ ถ้ามีความแน่วแน่ในดวงจิตคิดจะมีคู่ครองเมื่อไรเราจะสึกเมื่อนั้น จะไม่ยอมให้ผ้าไตรขององค์สมเด็จพระศาสดามัวหมองด้วยจริยาแห่งความเลวทรามของเรา

และประการที่สองความปรารถนาในความร่ำรวย ในทรัพย์สินทั้งหลายจะไม่มีในจิตใจของเรา แต่ความเลวทั้งหลายเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาในจิตของเราถือว่าเราเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานไม่มีความโลภโมโทสันในทรัพย์สิน เราจะสึกทันที จะไม่ยอมให้ผ้ากาสาวพัสตร์ขององค์สมเด็จพระชินสีห์มาหุ้มห่อความเลวของเราไว้ให้เศร้าหมอง

ฉะนั้น เป็นอันว่าอารมณ์ทั้งสองประการก็เป็นอารมณ์ไม่หนัก ในเรื่องศึกษาความทุกข์ เห็นคนทุกคนมามีความรู้สึกว่าเขาทุกข์ ใจของเราคิดว่าเวลานี้เรากำลังสิงสู่อยู่ในร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ แต่เมื่อรู้สึกว่าทุกข์อย่างนี้ มีความรังเกียจว่ามันเป็นสิ่งที่เศร้าหมองใจ ร่างกายเต็มไปด้วยซากศพ มีสภาพเหมือนศพเดินได้ ร่างกายเราร่างกายเขาก็เหมือนกัน เห็นคนสวยแสนจะสวยมากเท่าไรก็สลดใจมากเท่านั้น ยิ่งเห็นคนแต่งตัวสวยๆ มากเท่าไรใจมันหดหู่มากเท่านั้น อีกจิตใจหนึ่งก็มีใจสงสารว่า โอหนอ เขาไม่น่าจะโง่อย่างนี้เลย การแต่งตัวแบบนั้นเป็นการปรารถนาในการครองคู่ เมื่อสภาวะเป็นอย่างนี้แล้วก็ไม่น่าจะอยู่รับสภาพการครองคู่ให้มันเป็นทุกข์

ถ้ามีแขกมาหาก็มักจะถามว่ามีความสุขดีหรือ มีความสบายดีหรือ อารมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่เป็นประจำวันมันมีความสุขทุกวันหรืออย่างไร ก็ได้รับตอบจากทุกคนว่าไม่มีใครมีความสุข บางคนก็หนักใจทรัพย์สินไม่พอใช้บ้าง บางคนก็หนักใจในหนี้สินที่มีอยู่กับเจ้าหนี้บ้าง บางคนก็บอกว่าร่างกายนี่เต็มไปด้วยความทุกข์ มันป่วยไข้ไม่สบายไม่เลือกเวลา ถึงแม้ว่าจะพยายามรักษาอย่างไรก็ไม่หาย แต่บางคนหนักไปกว่านั้น ชาตินี้ฉันทำบุญทุกอย่างบวชพระ บวชเณร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างศาลา สร้างโบสถ์ ฟังเทศน์ ทำทุกอย่างแต่ว่าบุญกุศลไม่ได้ช่วยเลย ร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย ฟังดูแล้วก็น่าสงสาร แต่ความจริงไม่สงสารอาการที่เขามีความความทุกข์อย่างนั้น สงสารที่เขาโง่เกินไป ไม่ได้มองดูตัวของตัวเองว่าสร้างความชั่วอะไรไว้บ้าง ชาตินี้ก็ดีชาติก่อนก็ดี อาศัยเวลานั้นสองในวิชชาสามทรงอยู่แล้ว จะว่ากันไป ท่านบอกว่าท่านทรงวิชชาสาม อารมณ์ตอนนี้ท่านทั้งหลายโปรดทราบว่าท่านผ่านพระโสดาบันมาแล้ว

ฉะนั้น อารมณ์ใจของท่านก็คือ หนึ่งตอนเช้ามืดตื่นขึ้นมาแล้วเข้าอภิญญาผลสมาบัติตามกระแสรับสั่งขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นปกติ เวลาจะออกเดินบิณฑบาตทรงไว้ในระยะฌานหนึ่งหรือฌานสอง เวลาคนที่มาคุยด้วยจิตทรงอยู่ในอุปจารสมาธิ ถ้าว่างจากกิจแห่งการคุยการคบหาสมาคมอยู่สงัด จิตทรงอยู่ในฌาน ๘ ฌาน ๔ บ้าง จิตมีอารมณ์เพลิดเพลินอยู่ในฌาน อารมณ์เป็นสุข คลายออกมาถึงปฐมฌานหรืออุปจารสมาธิจิตก็ทรง เห็นโลกเป็นทุกข์ เห็นโลกเต็มไปด้วยความสกปรก คำว่าโลกนี้หมายความว่าหมู่สัตว์ คือว่าคนและสัตว์ จิตใจก็สงัดจากอารมณ์ของกิเลส เป็นอันว่าคำให้สัญญาขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ถ้าจะกล่าวกันไปจริงๆ ท่านทรงได้เสียแล้วก่อนที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจะจากไป

เป็นอันว่าขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายที่รับฟังปฏิปทาท่านผู้เฒ่า บางทีจะหนักใจว่าเราทำไม่ได้อย่างท่านนี่ ท่านเก่งเสียแล้ว ท่านฝึกฝนมาดีแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ก็มองดูตัวเสียใหม่ ว่าท่านผู้เฒ่าผู้นั้นท่านมีอาการสามสิบสามหรือมีอาการสามสิบห้า ความจริงท่านก็มีอาการสามสิบสองเหมือนเรา เป็นลูกชาวบ้านเหมือนกัน มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับเรามาก่อน แต่ทำไมท่านชนะใจของท่านได้ระดับนี้ ก็เพราะว่ากำลังใจของท่านนี้มีความเด็ดเดี่ยวมั่นคง เพราะตามคติของท่านตามที่บันทึกท่านมีอารมณ์ประจำจิตใจไว้อยู่เสมอว่าขึ้นชื่อว่าคำว่าไม่สามารถจะไม่มีสำหรับเราในชีวิตนี้ ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมความทั้งในด้านความดีและความชั่วจะไม่มีคำว่าไม่สามารถ เมื่อมีความปรารถนาจะทำอะไรต้องทำได้ทุกอย่าง ชาวบ้านทำอะไรได้เราต้องทำได้ เขามีสิบนิ้วสำหรับมือสองมือ สิบนิ้วเท้าสำหรับสองเท้า ท่านก็มีมือสองมือสิบนิ้ว เท้าสองเท้าสิบนิ้วเหมือนกัน ในเมื่อเรื่องของคนทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของความเด็ดเดี่ยวในอารมณ์ของท่าน

ในเมื่อท่านปฏิบัติความดีมีความตายเป็นเดิมพัน ทั้งนี้ก็หมายความว่าถ้าทำไม่ได้ยอมตายเสียดีกว่า อันนี้เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ บอกไว้ด้วย ถึงแม้ว่าเวลานั้นจะไม่ใช่อรหันต์ แต่ต้องได้อรหันต์แน่ถ้าท่านคิดอย่างนั้น อะไรบ้างที่ท่านยอมให้บกพร่อง ภารกิจหน้าที่ทั้งหมดที่เป็นคันถธุระทุกอย่าง ทั้งทางด้านวิชาการและการงานไม่ยอมให้บกพร่อง เพราะถือว่าจะต้องมีอารมณ์จิตเข้มข้น ไม่ใช่ว่าจะมานั่งภาวนาอย่างเดียวให้เป็นอรหัตผล อันนี้มันไม่ได้ เพราะอารมณ์ใจไม่มีการสัมผัสกับฝ่ายที่เป็นตรงกันข้าม ไม่มีการต่อสู้ ทั้งนี้เพราะว่ารู้ตัวอยู่ว่าคนที่หลีกเลี่ยงจากคันถธุระ หลีกเลี่ยงจากโลกธรรม เวลาอยู่คนเดียวสงบสงัด แต่เวลามาสัมผัสกับโลกธรรมเข้าจิตใจปลิวหวอย ตั้งสติไม่อยู่

ในเมื่อได้รับคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู ความจริงพวกเราเรียนกันมากกว่าท่าน พวกเราที่รับฟังนี่ฟังกันมามาก แต่ว่าถึงไหนกันบ้างวัดใจตัวเอง ท่านรับมาเพียงเท่านั้นท่านยันทุกอย่าง ถ้าสมมติว่าท่านทั้งหลายอยากจะถามว่าตัวเองไม่ได้อภิญญาผลสมาบัติ อย่าลืมนะว่าคำว่าอภิญญาผลสมาบัตินี่ต้องเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเข้าได้ แล้วก็ต้องเป็นพระอริยเจ้าที่เคยผ่านอภิญญาที่เป็นฌานโลกีย์มาก่อน แล้วก็ท่านเองก็ใช้ยันเข้าไปถึงสมาบัติแปด ฟังถึงตอนนี้ก็คงจะคิดกันซีว่าฉันไม่ได้อย่างนั้นนี่ ฉันจะทำได้หรือ ต้องถามว่าตัวเองน่ะมันดีหรือมันเลวฟังมาแล้วตั้งเท่าไรทำไมจึงไม่ทำ ถามตัวเอง ดูตัวอย่างพระจักขุบาลที่ถามตัวเอง จะเห็นแก่ตัวหรือว่าจะเห็นแก่พระศาสนา สะสมความเลวอะไรไว้ในใจบ้าง ความรักในโลกธรรม ความโกรธ ความหลงมีอะไรบ้าง ดึงมันออกเสียทั้งหมด ห้ำหั่นฟันมันทิ้งไปเสียทั้งหมด อย่าไปพอกพูนกำลังใจ อย่าเอากลิ่นเหี้ยเข้าไปฝังอยู่ในใจ ไอ้สิ่งที่มันเป็นเหี้ยมันจะไหลเข้ามา ด่ามันแบบนี้ซิ ถ้าใจมันเลวก็ด่ามันแบบนี้ ว่าเอ็งนี้มันเลวกว่าเหี้ยเสียแล้วนี่ นี่เขาด่าตัวเองกันแบบนี้ อัตตนา โจทยัตตานัง ไม่ใช่ทำเป็นผู้วิเศษ

ถ้าเราจะทำบ้างจะทำอย่างไร เริ่มจับจุดเช้ามืด ทรงอารมณ์สมาธิให้มันสูงสุดที่มันจะสูงได้ ทรงให้นานเท่าไรได้ก็ยิ่งดี อย่ารีบถอน เวลาคลายมาแล้วจิตตั้งอยู่ในอุปจารหรือปฐมฌานอยู่ตลอดทั้งวัน ถ้าอารมณ์จะซ่านหลบเข้าสู่ที่สงัดนิดหนึ่ง ทำจิตให้ทรงอารมณ์จุดสูงสุดเท่าที่จะทำได้ จะทำงานทำการอะไรอยู่ก็ตาม ไอ้สมาธิอย่าไปนั่งขัดสมาธินั่งพับเพียบอยู่เสมอ มันไม่มีผล มันต้องทรงได้ทุกขณะ แม้แต่กิจการงานที่เราทำอยู่ ให้จิตมันทรงอยู่ในอารมณ์ของความดีอยู่ในขั้นอุปจารหรือปฐมฌาน วันทั้งวันอย่างนี้ความเป็นพระอรหันต์มันไม่ใช่จะเป็นของยาก ถ้าภายหลังจะบอกว่าง่ายเหลือเกิน เวลาจิตจะคลายจากสมาธิก็จับวิปัสสนาญาณตามที่ศึกษามากแล้ว เราศึกษามาจนท่วมแล้ว ไม่ใช่แค่พอดี ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านอีกที ทิ้งวิปัสสนามาจับอารมณ์สมาธิ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ ความดีมันก็จะปรากฏ คำว่าทุกข์ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนท่านผู้เฒ่า มันเป็นของไม่ยากสำหรับเราจะเอาดี แต่ว่าน่าสลดใจอยู่นิดนะ บางทีเดินไปเดินมาเห็นพระบางท่านเก็บตัวมากเกินไปก็น่าสงสาร คำพยากรณ์ใดๆ จงอย่าคิดว่ามันจะได้ตามคำพยากรณ์นะ ถ้าไม่ปฏิบัติตนอย่างดีมันจะไม่ได้อะไรเลยเพราะเราหมกมุ่นเกินไป เวลาก็หมดแล้ว ขอท่านตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น ทรงอยู่ในอิริยาบถทั้งสี่ นั่งก็ได้ เดินก็ได้ ยืนก็ได้ นอนก็ได้ ตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้เวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 27 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร