วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2012, 08:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

โอวาทธรรม
ของ
หลวงพ่อจรัล จรณสมฺปนฺโน
วัดสวนป่าอกาลิโก
ตำบลหนองโดน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ


:b44: :b44:

อย่างไรจึงจะรู้ธรรม

ความสงบเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แม้ว่าจะทำได้เล็กน้อยก็ยังดี
ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นก็ยังดี ความสงบก็คือจิตใจของเราเป็นสมาธิ
จิตไม่สัดส่าย ไม่รับอารมณ์ข้างนอก อารมณ์ข้างนอกก็ไม่รับอารมณ์ข้างในก็ไม่ออก
คือเราจะมีจุดยืน เราจะเอาจิตไปตั้ง เช่น
ในขณะที่เรานั่งสมาธิ เราเอาจิตไปจดจ่อไว้ที่ลมหายใจเข้าออก
หรือไปจดจ่ออยู่ที่ท้องของเราที่ยุบที่พองก็ได้
ต้องมีจุดยืนของจิตใจ ต้องมีหลักยึดจุดใดจุดหนึ่ง
จิตของเราถึงหยุด แต่ว่าเราไม่ต้องว่าคำบริกรรมก็ได้
เช่น เราเอาจิตไว้ที่ท้อง มันยุบมันพองเราก็กำหนดรู้เฉยๆ
เมื่อมันยุบเราก็รู้ พองเราก็รู้ เราเอาสภาวะรู้เป็นหลัก

การกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน เราก็รู้แต่ไม่ต้องบริกรรม
ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ รู้เฉยๆ เราไม่ต้องตามลมเข้าไปหรอก
เอาเพียงแต่รู้ลมผ่านเข้าผ่านออกก็พอ เรามีจุดยืนอยู่ที่นี่
เราพยายามสังเกตให้มันมีที่ตั้งของใจเรา

ดังนั้นเราจึงได้มีอุบาย การเดินจงกรมมีหลัก คือ
เอาใจของเรามาอยู่กับการเดิน ให้มันรู้ ก้าวนี้ก็รู้ ก้าวนี้ก็รู้
เราอย่าไปคิด อย่าไปเผลอ อย่าไปสำคัญมั่นหมายอย่างอื่น
ให้เราตรงไปที่ความรู้สึกตัว
ทำอย่างไรความรู้สึกตัวของเราจะมากขึ้นในอิริยาบถของกาย
ผู้ใหม่ๆ ให้เริ่มจากจุดนี้ก่อน ผู้เก่าๆ ก็เหมือนกัน
ถ้ายังจับจุดนี้ยังไม่ได้ก็ยังเป็นผู้หลงอยู่
เราพยายามเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของกาย
กายของเรานี้มันสอนเราอยู่ตลอดเวลา สอนเราให้รู้ธรรม

การเข้าใจธรรม ก็คือการเข้าถึง สภาวะที่มันรู้นี่ละ
รู้อะไร ก็รู้กายมันเคลื่อนไหว มันเจ็บมันปวด ก็รู้อย่างนี้
แล้วก็รู้ใจที่คิดนึก มันปรุงแต่ง มันโกรธ โลภ หลง
รู้ใจขณะที่ไปรับอารมณ์ ให้เราตามรู้มัน เราอย่าไปรู้ไปดูอย่างอื่น
เราต้องเข้ามารู้อันนี้ รู้กาย รู้ใจ รู้รูป รู้นามของเรา
รู้อย่างนี้แล้วจะเป็นอะไรอีก ก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องเติมอีก
รู้อย่างนี้หละ รู้กายที่มันเคลื่อนไหว รู้ใจที่มันเสวยอารมณ์
สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี รู้แค่นี้ มันจะรู้อย่างอื่นไปหมด
หลวงพ่อรับรองได้เลย ถ้ามีสติอยู่กับกายตลอด
อันอื่นมันจะรู้ไปหมดจริงๆ เหตุมันอยู่ตรงนี้จริงๆ

ที่เราทำกรรมฐานมา มันไม่รู้ ไม่เข้าใจเพราะอะไร
เพราะว่าเราไม่อยู่จุดนี้ เราไปเอาจุดอื่น อยู่จุดอื่น
บางครั้งบางคราว เราไปเน้นตัวศีลกันเกินไป
เราคิดว่าสำรวมศีลดีๆ มันจะเข้าถึงธรรม อันนั้นก็ถูกก็ใช่
แต่ว่าไปจดจ่ออยู่ที่ศีลอย่างเดียว ปัญญามันก็ไม่เกิดเหมือนกัน
สมาธิมันก็ไม่เกิด ถ้าสมาธิไม่เกิดปัญญามันก็ไม่มี

ดังนั้น ให้เรามาจดจ่ออยู่ที่ความรู้สึกอยู่กับกาย
หัดดูให้มันมีความรู้สึกตลอด อยู่กับกายนี้ ถ้าเรารู้ได้
ถ้าเราดูเป็น มันจะเกิดมาเอง ทีแรกเรากำหนดช่วยมันก่อน
การเคลื่อนไหวของกาย จะเคลื่อนตรงไหน หัดรู้มัน การทำกิจกรรมต่างๆ นาๆ

หลวงพ่อก็พูดแต่เรื่องเก่านี่ละ ถึงพูดเรื่องเก่าอยู่ทุกวัน
มันก็ยังไม่เข้าใจอีก มันเจาะไม่ถูก มันเลยไปเสีย
หลวงพ่อว่า เดี๋ยวนี้มันศึกษาเลยไป ข้ามไป
ให้เรากลับมาตั้งต้นใหม่ กำหนดรู้ช่วย ลองดู
จะทำอะไรให้มีสติก่อน ให้เอาสติออกหน้า
อย่าทำเฉยๆ แม้จะเดิน จะกิน จะไอให้เติมสติเสียก่อน

ปี ๒๕๒๗ หลวงพ่อฟังหลวงพ่อคำเขียนพูด
ท่านบอกว่ากิเลสมันกลัวหลวงพ่อจริงๆ หลวงพ่อทำเสียงฮือ เท่านี้มันก็วิ่งหนี
แต่หลวงพ่อฟังแล้วยังไม่เข้าใจ ยังจับความรู้สึกไม่ชัด
บางครั้งก็ต่อต้าน จะเป็นไปได้หรือ ไอเฉยๆ กิเลสมันวิ่งหนี จะเป็นไปได้หรือ
เรายังไม่เชื่อ เพราะเรายังไม่เห็นถึงจุดนั้น แต่ทีนี้พอเราปฏิบัติไปๆ
ถึงไม่เชื่อก็ทำอยู่ ทีนี้สติของเรามันจะละเอียดขึ้น มันจะรู้มากขึ้น
ซึ่งทีแรกจะรู้แค่เดินจงกรม กับยกมือสร้างจังหวะสองอย่างนี้ อิริยาบถส่วนอื่นจะไม่รู้
แต่เดินจงกรมก็ยังได้กำหนดช่วย บางทีมันก็คิด บางทีมันก็รู้
เดินจงกรม ๑๐ ก้าว จะรู้สัก ๑-๒ ก้าว ที่เหลือเป็นความคิด
มันจะเป็นอย่างนั้น ถึงอย่างไรเราก็ไม่หยุดทำ
จะรู้ก็ช่าง ไม่รู้ก็ช่าง ยกมือสร้างจังหวะก็เหมือนกัน ๑๔ รู้ เราจะรู้แค่ ๒-๓ ที
เดี๋ยวมันจะรู้มากไปเองแหละ นอกจากนั้นจะเป็นความคิดก็ช่างมัน
ขณะที่เราทำอยู่ใหม่ๆ เราจะไม่รู้หรอกว่าอันนี้เป็นความคิด
อันนี้เป็นความรู้สึกเรายังแยกไม่ออก เราเป็นแต่เพียงกำหนดรู้ช่วยมันเท่านั้นเองหละ
บางทีมันก็เป็นความคิด บางทีก็กำหนดรู้ แต่ถึงอย่างไรถ้ารู้แค่นั้นก็พยายามทำ
ความรู้มันจะมากขึ้นเอง เช่นรู้สองก้าว ต่อไปก็รู้ถึง ๔ ถึง ๕ ถึง ๑๐ ก้าว
ต่อไปจะรู้อยู่กับการเดินจงกรมมาก พอเข้าทางเดินจงกรมมันจะจับความรู้สึกได้ต่อเนื่อง

แต่ก่อนเข้าทางเดินจงกรม มันจะมีเบื่อ มีเซ็ง มีง่วงสารพัดอย่าง
ถึงอย่างไรเราก็อย่าไปท้อถอย เราก็เดินอยู่นั่นละ
ทำไปทำไปมันจะสว่างออกมาเอง มันจะแจ้งออกมาเอง
พอเราเดินจงกรมถึง ๑๐ ก้าว มันรู้ต่อเนื่อง พอมันรู้ได้อย่างนั้นปั๊บ
ความง่วงจะหาย ความขี้เกียจจะหายไปเอง โดยเราไม่ได้จัดการอะไรกับมันหรอก
เราไม่ต้องไปพิจารณาอะไรเลย แม้แต่ความง่วงมา เราไปอาบน้ำ กลับมาเดินมันก็ง่วงอีก
เอายาหม่องมาทา เดี๋ยวก็ง่วงอีก มันไม่ใช่เป็นธรรมดา มันเป็นอารมณ์
แม้จะเอามะขามเปรี้ยวๆมากินให้มันสว่าง
มันก็สว่างชั่วครู่ ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เป็นอีก มันเป็นอารมณ์
แต่ถ้าเราออกไปคุยกับเพื่อน มันจะหายทันที
มันดึงเราออกๆ กิเลสมันจะดึงเราออก แต่ว่าเราพยายามอย่าไปตามมัน
นั่นแสดงว่าเราไปตามความคิดแล้ว เราไปสู้มันตรงๆ เราสู้มันไม่ไหว
เราต้องกัดฟันสู้ ว่างก็สู้ เบื่อเซ็งก็สู้ ร้อนหนาวก็สู้อยู่นั่นแหละ
สู้อยู่ในทางเดินนั่นแหละ จนกระทั่งว่าการเดินของเรามันชำนาญขึ้น

ทีนี้เดินออกจากทางจงกรม จะไปกุฏิมันก็จะรู้สึกตัว
รู้เกือบทุกก้าวไป พอถึงกุฏิปั๊บ ถอดรองเท้ามันก็รู้ จะเปิดประตูก็รู้
จะเปลี่ยนเสื้อเปลี่ยนผ้าก็ตามรู้แล้วทีนี้ นี่รู้ละเอียดขึ้น ละเอียดเป็นอย่างนี้
แต่ก่อนหลวงพ่อไม่เข้าใจว่าละเอียดเป็นอย่างไร
แต่ก่อนเข้าใจว่าละเอียดคือใจจะอ่อน ใจจะนิ่มนวลคิดอย่างนั้น
อันนั้นไม่ใช่เราคิดเอาเอง รู้ละเอียดคือ รู้อิริยาบถของเราทุกอิริยาบถ
ให้ตามรู้ตัวของเราขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ นี่คือรู้ธรรมคือรู้อย่างนี้ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น

ทำอย่างไรถึงจะรู้อย่างนี้ เท่านั้นก็พอ
ทำอย่างไรเราถึงจะสังเกตดูการกระทำของเรา ไม่มีเวลาเผลอ
หลวงพ่อว่า จะไปห้องน้ำ จะเปิดประตูห้องน้ำก็รู้มีสติก่อน
จะอาบน้ำตักน้ำมาใส่ เย็นก็รู้ว่าเย็น การอาบน้ำก็จะมีการเปลี่ยนไม่ทำเหมือนแต่ก่อน
นี่ถ้าผู้มีสติทำอะไรจะนิ่มนวลไปหมด คือเราสำรวม
เราไม่ต้องพยายามสำรวม แต่เราสำรวมไปเอง
ตัวสติจะพาเราสำรวมเอง ตักน้ำมารดก็รู้ จับสบู่มาถูตัวก็รู้
ซึ่งแต่ก่อนเข้าห้องน้ำปิดประตูดังโครม จะตักน้ำ จ้วงๆๆ ไม่ได้มีสติอะไรเลย
อันนั้นของเก่าของเรา จะเป็นอย่างนั้นเกือบทุกคน มันเผลอ
ทั้งๆ ที่ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมของเรามันมีอยู่แล้ว
อาบน้ำก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เราอย่าไปอาบฟรีๆ
ให้เราได้การปฏิบัติธรรมไปด้วย หัดรู้อย่างนี้หละ อย่าไปรู้อย่างอื่น

นี่หลวงพ่อมาลำดับดู ที่แท้คือ จุดนี้เอง
แต่ก่อนเราข้ามไปข้ามมา ไปเล่นตัวสมาธิ ตัวศีล
คำว่าปัญญานึกว่าเดินไปเดินมามันเกิดปัญญา
มันก็เป็นปัญญาแต่เป็นปัญญาของวิปัสสนูปกิเลส
มันอยากเทศน์ อยากสอน เห็นคนเข้าวัดมาจะเข้าไปหาไปคุย
ยัดเยียดให้เขามาเดินจงกรม ต่างๆนานา
เราคิดว่าตัวนั้นเป็นตัวปัญญา แม้เดินจงกรมมันก็เทศน์
พูดธรรมะอยู่เรื่อย นี่เป็นปัญญาของจินตญาณ
มันก็เป็นปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาของ วิปัสสนา
เราจะหลงก็หลงจุดนี้ละ นึกว่าอันนี้เป็นปัญญาที่จะมาแก้ปัญหาตัวเรา
มันไม่ใช่เป็นญาณปัญญา อารมณ์นี้ ทำให้เราหลงหลายๆ อย่าง
เดินจงกรมก็เทศน์ ถ้าเทศน์กับเด็กน้อยเด็กนักเรียน
จะตั้งข้ออย่างนั้นๆ จะมีคำกลอนอย่างนั้นๆ
ถ้าเทศน์ให้คนรักษาศีลฟังจะเทศน์อย่างนั้นๆ
ตัวสติตัวรู้สึกนี่มันไม่เห็น ตัวปัญญามันท่วมไปหมด
มันเป็นปัญญาของจินตญาณ นักปฏิบัติจะหลง พระยิ่งหลงมากๆ

ทีนี้ปัญญาของวิปัสสนูปกิเลส มันจะไปจับผิดผู้อื่น
ใครทำอะไรก็ตาม มันจะไปจับผิด ทั้งๆ ที่ตัวเองผิด มันก็ไม่ยอมผิด
เห็นเขาสูบบุหรี่ เห็นเขาพูดดังๆ เขาไม่สำรวมมันไปจับผิดหมด
มันเก่งมันกล้าไปหมด เห็นเขารดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก ด่าเขาไปหมด
โอ้ทำไมโง่จริงๆ ทำไมถึงไปทำอย่างนั้นอยู่
ทำไมไปกิน ทำไมไปเสพ กายเขาไม่ต้องการหรอก
เหล้า ยา บุหรี่ กายต้องการเพียง ข้าวกับน้ำ
มันก็เห็นถูกไม่ใช่เห็นผิด แต่ว่ามันเป็นปัญญาของวิปัสสนู มันยังร้อนอยู่
ไปที่ไหนจะกระทบกระทั่งที่นั่น ขึ้นธรรมมาสน์ก็ด่าสาดไปเลย

แต่ปัญญาของวิปัสสนูจะไม่ให้มันมีได้ไหม ไม่ได้อีก
การปฏิบัติธรรมต้องมาผ่าน มันผ่านมาจากวิตก วิจารณ์มานั่นแล้ว
มันเป็นผลของการเจริญสติ หลวงพ่อว่ามันแปลกจริงๆ
ไปทำอย่างอื่นมันไม่เป็นอย่างนี้ มันไม่เกิดแบบนี้

ทีนี้ก็ไม่ได้โจมตีรูปแบบอย่างอื่น
มันจะเกิดความรู้วิพากษ์วิจารณ์ใหม่ๆขึ้นมาทันที
พอเดินจงกรมมีสติอยู่กับกายเท่านั้นหละ มันจะเปลี่ยนแปลงให้สังเกต
แต่ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงแสดงว่าสติยังไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง
สติอยู่กับกายยังไม่มี อาจจะเป็นความคิดมาก
ถ้ามีสติมันจะเปลี่ยนทันทีหละ ความรู้สึก ความเห็นของเราจะเปลี่ยนไปทันที
ก่อนเราโง่จะเห็นความโง่ของเจ้าของ
แต่ก่อนติดหมาก ติดบุหรี่ แต่ก่อนโง่อยู่ มันจะเห็นทันที
แค่เดินจงกรมแค่จับสติมันจะเห็นความชั่วของเจ้าของ
เห็นความไม่จำเป็นของตัวเรา สิ่งนอกตัวเป็นสิ่งไม่จำเป็น
มันจะทิ้งทันทีไม่ต้องให้ใครบอก มันเป็นขั้นเป็นตอนของกรรมฐาน
ไม่ใช่ว่ามันจะไม่รู้อะไรเลย แล้วอุปสรรคก็คือว่า
เราไปหลงในปัญญาตัวเอง ไม่ใช่หลงอย่างอื่น

ตามที่หลวงพ่อได้สังเกต หลวงพ่อหลงอยู่กับอย่างนี้เป็นปีนะ
แต่ก่อนเปิดอบรมภาคเหนือ ภาคใต้หลวงพ่อไปหมด มันเพลิน มันสนุก
นึกว่าเราไปสอน ไปเทศน์ ไปพูด นึกว่าเราได้อานิสงส์มากๆ ตามความเข้าใจนะ
ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังทุกข์อยู่ ถ้ากระทบอารมณ์ยังมีโกรธอยู่
ยังมีโมโหอยู่ ราคะยังมีอยู่ มีอยู่หมด
แต่ปัญญาที่มันเกิดขึ้น มันเลยอันนี้เสีย เลยไม่ได้มาดู
ขณะที่มันพูดมันสอนมันเพลินไปจริงๆ
แต่พอเผลอพลับมันจะเกิดขึ้นมาจริงๆ มันยังดับไม่หมด
ยังมีเชื้ออยู่ ไฟยังลุกอยู่ กระทบที่ไหน ก็ลุกอยู่
มันเป็นปัญญาของวิปัสสนูของจินตญาณ
ต่อไปปัญญาของวิปลาส เย่อหยิ่งจองหอง วิปลาสถ้าถึงที่สุดเป็นบ้า
มันไปอีกขั้นหนึ่ง มันหนักไปแล้ว เป็นจนถึงกับลืม เป็นบ้าไปเลยก็มี
หลายคน หลายองค์ที่เป็นบ้าจากการเจริญสติ การปฏิบัติธรรม
ไม่ว่ารูปแบบไหนหละ เป็นได้

ดังนั้น ถ้าเราหลงเราจะเป็นทันที ปัญญาของวิปลาสคือ
ความรู้ของเรามันมาก เราสำคัญว่าเราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตรัสรู้แล้ว
ใครใครก็ไม่รู้เหมือนเรา ครูบาอาจารย์ก็ทำไม่ได้เหมือนเรา
คำว่าวิปลาสก็คือเป็นบ้านั่นแหละ เหมือนหมาบ้ามันไม่รู้จักเจ้าของ
เจ้าของเลี้ยงข้าวอยู่มันก็มากัด นักปฏิบัติเป็นบ้าก็เหมือนกัน
มันชนไปหมดครูบาอาจารย์เขาไม่รู้หรอก พ่อแม่ก็ไม่รู้
รู้แต่ว่าเรานี่เก่งคนเดียว ทิฏฐิ ยิ่งเพิ่ม นี้คือเราดูไม่ทัน

การหลงจนเป็นวิปลาสนี้ มันอยู่จุดที่ว่าอารมณ์ของรูปนามกับอารมณ์ปรมัตถ์ต่อกัน
หัวเลี้ยวหัวต่อมันจะอยู่จุดนี้ คือเราจะไปดูความคิด
ส่วนมากปัญญา มันจะไปดูของมันเองแหละ หรือว่าญาณก็ได้
ญาณมันจะเข้าไปสู่จุดนี้เอง จุดที่เราจะเห็นความคิด
จุดนี้แหละ เช่น ความโกรธมันเป็นความคิด แต่เราไม่รู้ว่ามันเป็นความคิด
เช่น ไม่พอใจหลวงพ่อนี่ ตาเห็นหลวงพ่อก็ดี หูได้ยินเสียงหลวงพ่อพูดก็ดี
มันก็เกิดปฏิฆะขึ้นมา เราไม่ได้ดูใจของเราเลย เราเป็นผู้เป็นไปเลย
มันหลงอยู่จุดนี้ ระวังดีดี มันสำคัญอยู่จุดนี้หละ
ถ้าข้ามตรงนี้ได้ไม่มีปัญหาคนหลงก็หลงจุดนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น
นั่นมันสอนเรา ให้เราเริ่มดูเริ่มเห็นความคิดแล้ว

สมมุติว่าเราไม่พอใจครูบาอาจารย์ เราอย่าไปดูครูบาอาจารย์
อย่าไปปรุงแต่งว่า ครูบาอาจารย์ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้เราอย่าไปปรุงแต่ง
เรามาดูจิตของเราเลย ใจของเราไปจับผิดคนอื่นแล้วนี่
ต้องมาดูจุดนี้ แล้วก็รีบมาแก้จุดนี้เร็วๆ อย่าให้มันยาว
ความรักก็ดี ความชังก็ดี เราท้วงมันทันที
ไปจับผิดเขาแล้วนี่ ไม่เอาๆ แก้ๆ
แก้อย่าให้มันจับผิดอย่าให้มันยาว อย่าให้มันปรุง

ถ้าเราคิดเรื่องไม่ดีให้ใคร มันไม่ดีไปหมด
มันมีความผิดทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้า เขาก็ยังว่าอยู่
เราอย่าไปดูยาว อย่าให้มันยาว เวลาจับผิด ระวังตรงนี้
คือมันจะให้เราเห็นความคิด ปัญญาจะให้เราเห็นความคิด
ถ้าเราหลงมันเป็นปัญญาของวิปลาสไปเลยทีนี้
มันโกรธ มันเกียจ มันจองหอง สารพัดอย่าง นี่เป็นวิปลาสทางความโกรธ
แต่ถ้าเป็นวิปลาสทางกาม (ราคะ) ถ้าเกิดขึ้นเราก็ดูอย่าไปดูให้มันยาว
เราดูจุดที่จิตของเราไปรับอารมณ์ ดูจุดนั้น
นี่คือมันให้เราดูความคิด แต่เราอย่าไปตามความคิด

ทำอย่างไรเราจะไม่ตามความคิดได้ หลวงพ่อจึงให้สร้างความรู้สึกอยู่ที่กาย
คือ อารมณ์รูปนามให้มันชัดเจนที่สุด ถ้าใครได้รูปนามที่ชัดเจนหรือจากญาณปัญญา
มันจะไม่หลงจุดนี้ นี่ละพอเห็นจุดนี้ จิตมันจะเปลี่ยน มันรู้ มันเข้าใจ
สารพัดอย่างเลยหลงไปกับความรู้ตัวเอง ตรงนี้เองละ

ดังนั้น เราจะต้องตั้งหลักให้มันดีเสียก่อน ตั้งสติให้มันชำนาญที่สุด
หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า ให้มันมีน้ำหนัก พอเรากำหนดมันมาเลย
คือ มันมีน้ำหนักให้หนักอยู่ทางความรู้สึก อย่าให้มันหนักทางความคิด

ดังนั้น หลวงพ่อถึงได้สอนอารมณ์รูปนามให้มันชัดเจนที่สุด
ให้มันได้ถึงที่สุด เพราะป้องกันความหลง และแก้อารมณ์ได้ทุกอย่าง
ไม่ต้องว่าอารมณ์วิปลาสหรอก อารมณ์เกิดแต่ละขณะเราก็แก้ได้
ความง่วง ความโกรธ ความขี้เกียจ ฯลฯ แก้ได้หมด
ถ้าอารมณ์รูปนามชัดเจน แล้วอารมณ์ทุกอย่างเกิดมามันจะไม่กลัว
การแก้อารมณ์ก็หยุดอยู่ที่อารมณ์รูปนามไม่ใช่อย่างอื่น

อารมณ์รูปนามก็คือ ความรู้สึกตัว คือมีสติอยู่กับกายนี่เอง
ให้เราทำตัวนี้ให้มันดี ถ้าทำตัวนี้ดีมันจะไม่มีปัญหา
พอจิตไปเสวยอารมณ์ไม่พอใจมันจะเห็นทันที
นี่มันไปจับผิดคนอื่นแล้ว มันจะรู้ทันที ถ้าอารมณ์รูปนามไม่ดี มันจะไม่รู้
มันจะเป็นไปกับเขาทันที มันจะจับผิดว่าคนอื่นไม่ดีทันที
เลยเป็นผู้จองหอง เห็นใครเราก็รู้สึกว่าเด่นกว่าเขาหมด
คิดว่าสังคมนี้เราเด่นกว่าเขาหมดแล้ว ไม่มีใครรู้เหมือนเรา
นั่นคือมันไปยาว อย่าให้มันไปอย่างนั้น
เราต้องป้องกันจุดนี้ให้มันดีโดยเราทำสติอยู่กับกายให้มันเด่นที่สุด
ก็คืออารมณ์รูปนามนั่นแหละ ไม่ว่ารูปนามมันก็เป็นอยู่แล้ว

ขอให้มีความรู้สึกต่อเนื่องแบบหลวงพ่อว่าเถอะ
ทำอะไรๆ ให้มันรู้อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา วันทั้งวันอยู่กับตัวนี้
กลางคืนตื่นขึ้นก็อยู่กับตัวนี้ นี่ที่พึ่งของเราแท้ๆ
อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
เป็นที่พึ่งแห่งตนคืออันนี้ คือตัวรู้สึก ตัวสตินี้แท้ๆ
หลวงพ่อว่ามันลัด มันตรง มันซื่อ ถ้าเราทำถูกมันง่ายๆ

การปฏิบัติธรรมของพวกเราก็คือ การหาที่พึ่งทางจิตใจ
เดี๋ยวนี้คนเราทุกคนยังไม่มีที่พึ่งทางจิตใจ
จิตใจของเราถ้าหากว่าไม่มีที่พึ่งไม่มีที่อยู่
มันก็ไปตามโลกธรรมแปด ไปตามลาภ ยศ สรรเสริญเยินยอ
มันจะไปอยู่อย่างนั้น อารมณ์ของเราจะรับอยู่อย่างนั้น
ใจของเราถ้าหากว่าไม่มีที่เกาะไม่มีที่ยึด ใจของเราก็ทำหน้าที่อย่างนั้น

ดังนั้น การมีสติเป็นการหยุดเสพอารมณ์ต่างๆ เป็นการหยุด เป็นการพัก
เมื่อพักบ่อยๆ เมื่อไม่เสพบ่อยๆ ก็เบื่อหน่าย

การเสพความคิด การคลุกคลีอยู่กับความคิด
เหมือนเราคลุกคลีอยู่กับของสกปรก
ถ้าเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ เราก็คลุกคลีอยู่กับมันเหมือนเด็ก
มันไม่รู้หรอกว่าของสกปรกก็คลุกคลีอยู่นั่นแหละ
ถ้าเรารู้เราก็จะไม่คลุกคลี เราจะเห็นมัน กลัวมัน เกลียดมัน
ความคิดปรุงแต่งนี่มันก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นมันเป็นของสกปรก
เป็นของไม่ดี เราก็ไม่กล้าไปเสพมันอีกเหมือนกัน
เช่น ความโกรธ เราเห็นว่ามันไม่ดี แต่ว่าเราก็ยังไปอยู่กับมันอยู่ ยังไปเสพอยู่
นี่แหละความโกรธ ความเกียจ ความขัดแย้งต่อต้าน ขัดขวาง ดูถูก นินทากัน
เราก็รู้อยู่ว่าเป็นของสกปรก เป็นการทำบาปเราก็ละมันไม่ได้
ดังนั้น เราจึงโง่อยู่ ทุกๆ คนยังโง่อยู่

การมาทำกรรมฐานเป็นการแก้ความโง่ของพวกเรา
ไม่ใช่โง่ไม่ทำการทำงาน ไม่ใช่โง่อย่างโลกๆเขาโง่
แต่คือโง่ที่มันหลงไปกับความดี ความชั่ว หลงไปกับอันนี้
ตาได้เห็นรูปก็หลง หูได้ยินเสียงก็หลง หลงอยู่อย่างนั้น
นี่เราไม่มีที่ยึด ไม่มีที่พึ่ง เราดูดีดี ถ้าเห็นใจของเรา
เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ทันทีว่า ใจของเรานี้มันไปเสพอารมณ์อยู่ตลอดเวลาเลย
มันไม่อยู่เฉยๆหรอก นอกจากว่ามันจะมีที่พึ่ง

ถ้ามีสติเมื่อใดมันมีที่อยู่ที่พึ่งเมื่อนั้น มันอยู่
มันหยุดให้เราสังเกตความรู้สึกตัวของเราคือ
มันอยู่จุดนี้ ตอนที่ใจของเรามันนิ่งจริงๆ คือมันมีที่อยู่แล้ว
เราไม่ได้บังคับให้มันนิ่ง ไม่ได้บังคับให้มันหยุด
เป็นแต่เพียงเรามาอยู่กับความรู้สึกตัว เราไม่ไปสนใจความคิด
ใจของเราอย่าไปสนใจกับความคิด อย่าไปดู
ให้เรามาดูความรู้สึกอยู่กับกายนี้ ปล่อยไปอย่างนั่นหละ
เมื่อเราปล่อย มันจะหยุด เมื่อเราไปดูมัน มันจะไป
เราต้องหาอย่างอื่นมาดู อย่าไปดูใจอย่าไปดูอารมณ์

เดี๋ยวนี้พวกเราทุกคนไม่เข้าใจ เราไปอยู่กับอารมณ์ไปอยู่กับความคิด
นั่นคือ จิตมันไปเสพอารมณ์อยู่ตลอดเวลาแล้วละนั่น แต่เราไม่รู้มันหรอก
ทีนี้มาลองเปลี่ยนดูไม่ต้องสนใจ ปล่อยไปเลย เราสนใจความรู้สึก
ทำอย่างไรเราถึงจะมีความรู้สึก หลวงพ่อว่ามันอยู่ใกล้ๆ
แต่มันมีเคล็ดลับอยู่นิดเดียว เรามาสังเกตดู ไม่ต้องไปดูหรอกความคิด
ที่นักปฏิบัติบอกทำไมคิดมาก เราไปดูความคิด เราไปอยู่กับมัน
ลองอยู่กับความรู้สึก ลองดูซิทำอะไรก็รู้ๆ รู้อยู่ตัวนี้
มันจะไม่มีรัก มันจะไม่มีชัง ตัวนี้เป็นหลัก
หลักใจแท้ๆ คืออันนี้ ถ้าเราอยู่กับตัวนี้ มันจะไม่มีปัญหา

ดังนั้น เรามาเปลี่ยนเสีย โดยการเดินจงกรม การกำหนดรู้
นั่นคือการเปลี่ยน ทุกการเคลื่อนไหวของกาย
เราพยายามสนใจเรื่องนี้ สนใจเรื่องความรู้สึกอยู่กับกายนี้
อย่าไปสนใจความรู้สึกอยู่กับใจ ถ้าเราสนใจอันนี้ มันจะเห็นทันที
เห็นธรรมก็เห็นอย่างนี้ ไม่ใช่เห็นอย่างอื่น เห็นกายมันเคลื่อนไหวไปมา
เห็นเวทนาเกิดจากกาย เห็นใจมันคิดปรุงแต่ง นี่คำว่าเห็น คือรู้ รู้แล้วอย่าไปตามมัน

เดี๋ยวนี้เราตามมัน เราสังเกตหรือเปล่า ขณะที่มันไม่พอใจขึ้นมา
อะไรไม่พอใจ เราจะไปตามทำไม กลับมาเร็วๆ นะ
มันไม่พอใจขึ้นมา มันก็บอกเราแล้ว นี่จะโกรธแล้ว
ถ้าเราสติมากๆ เราจะเห็นจุดนั้น นี่จะโกรธแล้ว
เห็นแล้วก็หยุดเดี๋ยวนี้เราตามมันไปเลยหละ เราต้องหัดฝืนมัน
โกรธก็กลับ รักก็กลับ ชังก็กลับ ไม่ไปอยู่กับอะไรสักอย่าง
ให้อยู่กับตัวรู้สึกนี้ ตัวโกรธ ตัวรัก ชัง เบื่อเซ็ง นั่นเป็นหน้าที่ของจิต
มันหลงไปเสพอารมณ์แล้วมันไม่อยู่เฉยๆ
เราต้องหาสิ่งอื่นไปแทนให้มัน ถ้าเราเอาสติไปแทนให้มัน
มันจะหยุดกลับมาอยู่กับสติแล้ว

ผู้ปฏิบัติใหม่ๆดึงกลับยาก เอามันออกยากมากจากความคิด
ความปรุงแต่ง ต้องอาศัยการฝึก ดังนั้น ที่เราฝึกกัน
หลวงพ่อดูๆแล้วเรากำหนดอิริยาบถทุกๆอิริยาบถไม่ทัน
หัดรู้ หัดดู สังเกตตัวเรา ไปเรื่อยๆ จะทำอะไรให้สังเกตอย่าไปเผลอมาก
อย่าไปปล่อยมาก เป็นวิชาเอกของพวกเราแท้ๆ มันแก้ปัญหาเราได้จริงๆ

ให้เราไปพิสูจน์เอาเองก็ได้ ถ้ามีสติ สมาธิปัญญาจะเกิดขึ้น
มันแก้ได้ทุกอย่าง เรื่องของกายก็แก้ได้ ของใจก็แก้ได้
มันแก้ได้เพราะเราไม่ทุกข์กับกาย การกิน การนอน การอยู่ การเจ็บ การป่วย
ทำไมถึงไม่ทุกข์ มันรู้กาย มันเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนี้
มันมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราจะเห็นกายเราเป็นธรรมชาติชัดเจนมาก

เมื่อเราเห็นตัวเราเป็นธรรมชาติ เราก็เห็นอย่างอื่นก็เป็นธรรมชาติไปหมด
สิ่งใดมีการเกิดขึ้นสิ่งนั้นก็มีการตั้งอยู่ สิ่งใดมีการตั้งอยู่สิ่งนั้นก็มีการดับไป
เราเห็นอะไรๆเหมือนเราหมดทุกอย่าง เขามีทุกข์เหมือนกัน
เขาชอบสุขเหมือนกัน แม้แต่ต้นไม้ ภูเขาก็เป็นเหมือนเรา
สัตว์เดรัจฉานเหมือนกันไปหมด เราไม่ต้องไปแผ่เมตตา มันก็มีเมตตาอยู่แล้ว
ถ้าเราเห็นตัวเรา เราก็เห็นคนอื่น ถ้าเราสงสารตัวเรา เราก็สงสารอย่างอื่น
ขอให้เราหาตัวเราให้เห็นเสียก่อน ทุกๆคนเหมือนกันหมด อย่าไปลงโทษกัน
ให้เรามาลงโทษตัวเราเอง พอมันโกรธมันหลงอยู่
หาเสียก่อน หาให้มันเห็นตัวเราก่อน ถ้าเห็นทุกข์อยู่ในตัวเรา
เราก็เห็นผู้อื่นทุกข์เหมือนกัน ให้เห็นธรรมชาติ
กายของเราเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เป็นของใคร
อันนี้เป็นสมมุติของโลกที่ว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย
สภาวะปรมัตถ์สัจจะแท้ๆ ไม่มีตัวมีตน เป็นสภาวะธรรมที่เปลี่ยนไปไหลไปอยู่อย่างนี้เอง

ดังนั้น การที่เราจะทำลายตัวตนของเราให้หมดไป
ไม่ใช่ฆ่าเราทิ้ง ฆ่าคนอื่นทิ้ง เราต้องให้มันรู้แจ้งจริงๆ
รู้แจ้งว่ากายกับใจเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ของเราหรอก
ถ้าว่าเป็นของเรา บอกมันได้ไหม บอกไม่ได้ บอกอย่าเจ็บ บอกอย่าแก่ก็ไม่ได้
บอกไม่ได้เพราะมันเป็นสภาวะธรรมที่เปลี่ยนไปอยู่อย่างนี้เอง
เมื่อเราศึกษามากเท่าไรยิ่งแจ้งยิ่งได้คำตอบ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เรา

การทำลายตัวเราไม่ใช่อย่างอื่น ก็คือการกำหนดรู้อยู่บ่อยๆ
เหมือนเราดูอะไรอย่างหนึ่ง เราดูไปดูมาๆ ก็เลยชำนาญ
ก็เลยทำเป็นเหมือนพระทำเครื่องสูบน้ำ ทีแรกก็ทำไม่เป็น
ดูไปดูไป มันก็ทำเป็น กายของเรา ใจของเราก็เหมือนกัน ต้องอาศัยการดูบ่อยๆ

คำว่าดูบ่อยๆ ก็คือการกำหนดรู้อิริยาบถ เป็นการดูแล้วนั่น
ไม่ใช่ว่าเรากำหนดรู้เฉยๆ เป็นการดูของเราแล้ว
เหมือนท่านดูเครื่องสูบน้ำมันเสียตรงไหน ก็รู้จุดว่ามันเสีย
ตัวเราก็เหมือนกัน ดูไปๆ พอมันเจ็บขึ้นมา มันก็บอกแล้ว มันเจ็บแล้ว
มันเป็นหน้าที่ของมัน เวทนาเกิดแล้ว มันรู้จักถ้าเราดูมันก็เห็น
นี่ส่วนกาย ส่วนใจ เวทนาเกิดจากใจมันก็รู้อีก
เช่น จิตมันไปรับอารมณ์โกรธ มันก็รู้ว่ามันโกรธ
ดีใจก็รู้ว่าดีใจ เสียใจก็รู้ว่าเสียใจ
สังเกตเสียก่อน อย่าไปตามมันนะ

ความโกรธ ราคะ เราจะเห็นง่าย แต่ความดีใจ
คือมีคนอื่นมา ยกยอ เกิดความดีใจความภูมิใจจะเห็นได้ยาก
การที่เราได้สร้างได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันมีประโยชน์ต่อสังคม
เราจะภูมิใจ อันนี้เราจะไม่เห็นมันง่าย เราจะสังเกตความดีใจ พอใจได้ยาก
ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ละเอียดคือ เราชอบคนอื่นเขาชื่นชอบ

ทำอย่างไรเราถึงจะไม่สุขกับมัน ไม่ทุกข์กับมัน
เราจะเป็นผู้รู้เฉยๆ ทำอย่างไร พอใจก็ไม่เอา
ถ้ามีความพอใจ ความไม่พอใจ มีสุขมีทุกข์ เราทำอย่างไรถึงจะรู้เฉยๆ ได้
หัดดูอย่างนี้แหละ มีสติดู ดูใจนี่หละ ตัวรู้ตัวดูเป็นตัวที่เป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
แต่พวกเรายังจับจุดนี้ไม่ได้ ไปอยู่กับสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง
ตัวไม่สุข ตัวไม่ทุกข์ ตัวไม่เสียใจ เราไม่เห็น แต่จะรับอารมณ์ดีใจเสียใจอยู่อย่างนั้น

ดังนั้น อัพยากตธรรม มันเป็นของกลางๆ มันอยู่เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์
แต่ความจริงแล้ว พวกเราทุกคนจะอยู่กับตัวนี้มาก จะอยู่กับตัวปัจจุบัน ตัวซื่อๆ นี้มาก
แต่เราไม่มีญาณเข้าไปรู้ ความสุขจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออารมณ์มาปรุงจิต
ความทุกข์จะเกิดขึ้นก็มีอารมณ์มาปรุง ถ้าไม่มีอารมณ์มาปรุง มันจะอยู่เฉยๆ
ถ้าไม่มีคนมาว่ามาด่า มันจะอยู่เฉยๆ มันไม่เฉยก็ต่อเมื่อเราหลง
ความคิด อดีต อนาคตที่ผ่านมา ความคิดอดีตเกิดขึ้น
มันจะไปพอใจไม่พอใจ พอเราหลงมันจะไปทันที

เราอย่าให้มันหลง ความคิดเกิดขึ้นมาเราทักท้วงทันที
ความคิดเก่าๆ ที่เกิดขึ้นมา บางทีสุข บางทีก็ทุกข์
บางทีพอใจ บางทีไม่พอใจ แล้วเราจะดูจุดนี้

ทำอย่างไรถึงจะดูเป็น พอเกิดขึ้นมาให้เราดู ให้เรารู้ รู้แล้วอย่าไปตาม
นี่เราก็ต้องสังเกต เมื่อจิตเรารู้ว่าไปรับอารมณ์ เราก็ดึงออกมา
อย่าให้อยู่กับความคิดยาว พยายามดึงจิตออกมาที่ความรู้สึก ดึงขึ้นมาอยู่กับหลักนี้

ดังนั้น การมีสติอยู่ทุกเมื่อเป็นการผูกจิตไว้ไม่ให้ไปทางอื่น สติก็เหมือนเชือก
การกำหนดรู้แต่ละครั้งๆ เป็นเชือกผูกไว้ ให้มันมีจุดอยู่ของมัน
ให้พยายามสังเกต เราไม่ไปสนใจผูกจิต ดึงจิต อะไรเลยเป็นแต่อยู่กับตัวรู้ตัวเดียว
วันทั้งวันให้อยู่กับตัวรู้ตัวเดียว นี่คือเราอยู่ เราดูจิตเราเป็นแล้ว
ถ้าอยู่กับตัวรู้สึกคือเอาจิตมาอยู่กับกายแล้ว เหมือนเราบังคับมันได้แล้ว
ไม่ให้มันไปไหนแล้ว เหมือนเราขับรถจับพวงมาลัยแล้วจะเอาไปไหนก็ได้
เหมือนเรามีวัวมีควายเราผูกกับหลักมันไปไหนไม่ได้ มันมีที่อยู่แล้ว
ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้อยู่เฉยๆนี่ มันไปไหนไม่ได้แล้ว
กายกับใจเป็นหนึ่งเดียว มันอยู่ด้วยกันแล้ว

ทำอย่างไรถึงจะให้กายกับจิตมันสัมพันธ์กันได้
จึงได้มีอุบายนั่งสมาธิเดินจงกรม สารพัดอย่าง นี่คืออุบายในการหัด
ทีนี้พวกเราไปติด เช่น บางคนเขาจะกำหนดเอาป่าเอาถ้ำเป็นวัด
เขาจะไม่เข้าบ้านเลย ถือธุดงควัตรเคร่งครัด
พวกนี้พอราคะเกิดขึ้น เขาจะงดอาหาร เขาอาศัยธุดงค์เป็นเครื่องขัดกิเลส
โดยการไม่บิณฑบาตรไม่ฉัน เขาใช้กติกานี้คือ ฝึกเอาข้อวัตรข่มราคะ
ข่มไว้หลายรูปแบบ เพื่อที่จะหัดจิตให้มันปล่อยวาง
ทรมานให้เห็นทุกข์ การอดอาหารให้เห็นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกายให้เห็น

แต่การเจริญสติไม่ได้บังคับอะไร ปล่อยอิสระเลย
กิเลสไม่ได้อยู่ที่อาหาร เสื้อผ้า แต่กิเลสอยู่ที่จิตใจ
การเจริญสติเราจะดิ่งเข้าไปดูจิตเลย ไม่ต้องมีรูปแบบอะไรมาขัดขวาง
มาทำให้เราติด เราจะจี้เข้าไปหาใจเลย ไปหาจิตเลยว่ากิเลสมันเกิดจากทวารไหนบ้าง
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์เกิดมาจากสิ่งนี้
แล้วเราก็ดูเข้าไปอีกว่าสิ่งเหล่านี้ เขาก็ทำหน้าที่เป็นธรรมชาติของเขา
ตาก็มีหน้าที่เห็นรูป หูก็มีหน้าที่ฟังเสียงนี่ ฯลฯ
ธรรมารมณ์ที่เกิดจากจิต อดีต อนาคต หน้าที่ของเขาอยู่อย่างนี้
จะเกิดได้จากอันนี้ หรือไม่เกิดจากสิ่งเหล่านี้ (ตา หู ฯลฯ) กิเลสไม่เกิดจากที่นี่
มันเกิดจากที่ไหน กิเลสมันเกิดจากใจหรือ ก็ไม่ใช่
การเจริญสติเราจะไปแยกแยะแจกแจงโดยไม่ต้องบังคับอะไร
ไม่ต้องไปถือรูปแบบ ไม่ต้องไปอดข้าว ให้จี้เข้าไปดู เปิดออกมาดู
กิเลสมันเกิดจากใจหรือ เราไปดูใจมันก็ไม่มีกิเลส อย่างเราอยู่อย่างนี้
ใจก็ไม่มีกิเลสมันก็ปกติอยู่อย่างนี้ ใจก็เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนี้
มันไม่มีอยู่ที่ใจ ไม่อยู่ที่กาย ไม่อยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส

ทีนี้มันมีได้อย่างไร หลวงพ่อว่ามันไม่มีอยู่ในตัวเรา
ตัวเราเป็นของบริสุทธิ์แท้ๆ รูปธรรม นามธรรม
ดังนั้น ที่มันเกิดมาได้เพราะว่าอาศัยความหลง
พอเผลอพลับจะเกิดขึ้นมาทันที มาพาอาศัยกายอาศัยใจเราเกิด
เหมือนสนิมมันมาอาศัยเหล็กเกิด แต่สนิมในเหล็กไม่มี
กิเลสไม่มีในคนเลย แต่มันอาศัยคนเกิด ถ้าเรามาดูดีๆ จะเห็น

การเจริญสติจะมุ่งไปดูจุดนี้ เห็นทันทีว่ากิเลสไม่มีในคนแต่มันอาศัยคนเกิด
การมีสติเป็นการปิดทวาร ปิดไม่ให้มันเข้า เป็นการสังหารกิเลส
พอมีสติก็ไม่หลง พอหลงมันไปแล้ว พอเราระลึกรู้ มันคืนมาแล้ว
มันหลงอีก เราระลึกรู้อีก มันคืนมาอีก


ดังนั้น กล่าวสั้นๆ ก็คือว่า ความหลงคือ อวิชชา
ความรู้สึกตัวคือวิชชา เราทำง่ายๆ กำหนดอยู่ กับตัวรู้อย่างเดียว
เพื่อป้องกันความหลง เรายืนหยัดอยู่กับตัวนี้ หลวงพ่อว่ามันไปไหนไม่ได้
ถ้าหัดดีๆ จนความรู้สึกตัวไม่ต้องกำหนด แต่มันเป็นเอง จะเป็นการปิดทวารของกิเลส

แต่ว่าพวกเราเองยังไม่ถึงที่สุด มันก็มีความหลง กิเลสก็เข้าได้
เราไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ เราเป็นคน หลวงพ่อ หลวงพี่ธรรมดา บางทีเผลอก็เข้าได้
แต่เราก็กำจัดมันออกไป อยู่อย่างนั้น
เราเป็นผู้แก้โดยไม่ให้ปุ๋ยมัน ไม่รดน้ำมัน ไม่ให้กำลังใจมัน
เหมือนแขกมาบ้านเรา ถ้าเราไม่ต้อนรับ ไม่ปูเสื่อไม่หาน้ำให้ทีหลัง มันไม่มาแล้ว
ถ้าเกิดต้อนรับ หาข้าวหาปลาให้เงินให้ทอง มันจะมาบ่อยๆ
อันนี้ก็เหมือนกัน ความคิดที่คิดมา เราพยามผลักออก
อย่าไปต้อนรับเขา เมื่อไม่ต้อนรับบ่อยๆ เขาก็ไม่มาหา
ดังนั้น เราอย่าให้ความสำคัญกับเขา แยกให้มันออก
อะไรก็ตาม ตาส่งมาก็ตาม หูส่งมาก็ตาม จมูก ลิ้น กายใจ อดีต อนาคต
ก็อย่าไปคลุกคลีกับเขานาน อย่าไปดูเขา อย่าไปสนใจเขา
เหมือนแขกมาบ้านเราก็ไม่สนใจ เหมือนหลวงพ่อคำเขียนท่านว่า
"อาคันตุกจิต" คือ ความคิดเหมือนอาคันตุกะ
เมื่อมันมาเยี่ยม เราก็ไม่ต้อนรับเขา การกำหนดรู้แต่ละครั้งๆ เป็นการไม่ต้อนรับ
มันทุกข์ก็เพราะความหลง มันทุกข์เพราะจิตไปรับอารมณ์อื่น
พยายามกลับมาอยู่กับความรู้สึก ให้เอาความรู้สึกเป็นอารมณ์
เราเอาสติเป็นนิมิตเป็นที่ตั้ง
พอเรามาพึ่งตัวนี้มันก็หยุดเสพความคิด ความปรุงแต่ง
ดีใจ เสียใจ มันก็ไม่รับ เราอย่าไปสงสัยอย่างอื่นอันนี้มันพิสูจน์ได้ เห็นได้จริงๆ



ที่มา http://www.sis.pitt.edu/~kmeesubl/pdf/LpJaran-bio.pdf


:b48: :b48:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 23 พ.ย. 2012, 04:54, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2012, 02:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 01:57
โพสต์: 324

แนวปฏิบัติ: อริยสัจ4
อายุ: 27
ที่อยู่: USA

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นคือความจริง การฝืนความจริงทำให้เกิดทุกข์ การเห็นและยอมตามความจริงทำให้หายทุกข์

คนที่รู้ธรรมะ มักจะชอบเอาชนะผู้อื่น แต่คนเข้าใจธรรมะ มักจะเอาชนะใจตนเอง

สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า, ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
เมื่อนั้น ย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง,
นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด

.....ติลักขณาทิคาถา.....


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2019, 08:08 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ต.ค. 2019, 07:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b20:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 19 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron