วันเวลาปัจจุบัน 11 ก.ย. 2024, 23:20  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 19:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระปัจเจกพุทธเจ้า

หัวข้อ

พระปัจเจกพุทธเจ้า : พุทธที่ถูกลืม
องค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
หลักคำสอนของพระปัจเจกพุทธเจ้า
คำเทศน์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า (พระองค์หนึ่ง)
ประวัติของพระสุสิมะปัจเจกพุทธเจ้า
ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจกพุทธเจ้า
การบิณฑบาตโปรดสัตว์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
มติของอรรถกถาเกี่ยวกับคุณธรรมและความรู้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก
วิถีชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า : การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว
บทสรุป
คาถาบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระปัจเจกพุทธเจ้า : พุทธที่ถูกลืม

ในประเพณีหรือธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า (พุทธะ) ที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ไม่ว่าทั้งด้านความรู้หรือคุณธรรม แต่ปรากฏว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นพระพุทธเจ้าหรือพุทธะที่ถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจใฝ่ศึกษาจากชาวพุทธเท่าที่ควรจะเป็น

พระพุทธเจ้า (พุทธะ) มี ๔ ประเภท คือ ๑. พระสัพพัญญูพุทธเจ้า ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ๓. พระจตุสัจจพุทธเจ้า ๔. พระสุตพุทธเจ้า ประเภทที่ ๓ และที่ ๔ เป็นพระสาวกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง ซึ่งบำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยกับแสนกัป ตรัสรู้อริยสัจ ๔ เช่นเดียวกับพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาตรัสรู้ในคราวที่โลกว่างเว้นพระพุทธศาสนา โดยมาตรัสรู้ได้หลายพระองค์ในสมัยเดียวกัน แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น มิได้ทรงประกาศพระศาสนาเหมือนอย่างสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ยังทรงมีพระคุณต่อโลกอันประมาณมิได้

พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ พุทธะประเภทหนึ่งที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ เฉพาะตนเอง ปรมัตถโชติกา อรรถกถาของสุตตนิบาตอธิบายว่า การบรรลุธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้า เปรียบเสมือนรสกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมือง ฉะนั้น จึงไม่อาจสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามตนได้ (คือสอนได้แต่ไม่อาจให้รู้ตามได้) ไม่ก่อตั้งหรือสถาปนาในรูปสถาบันศาสนา แต่เน้นอนุโมทนาแก่ผู้ถวายทานในท่าน อุบัติขึ้นในช่วงพุทธันดร คือ ช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ในปัจจุบันนี้จึงไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น

พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญพุทธการกธรรมนับแต่ตั้งความปรารถนาแล้วนานถึง ๒ อสงไขยกับแสนกัป พุทธการกธรรมนั้นได้แก่ บารมี ๑๐ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘

พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมนั้นและไม่ถึงความเป็นผู้ชำนาญในธรรมที่เป็นกำลังทั้งหลาย

พระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่มีบารมีแก่กล้าพอที่จะเข้าถึงธรรมอันประเสริฐถึงชั้นที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้และพระปัจเจกพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นเฉพาะในยุคที่ว่างพระพุทธศาสนาเท่านั้น ในกาลที่ว่างพระพุทธศาสนานั้น บุคคลทั้งหลายย่อมปราศจากศีลธรรม ประกอบแต่กรรมอันเป็นอกุสล พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่สามารถสั่งสอนผู้ที่ไร้ศีลธรรมให้บรรลุถึงธรรมอันประเสริฐยิ่งปานนั้นได้ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงพระมหากรุณาได้เฉพาะผู้ที่ทรงโปรดได้เท่านั้น ไม่ใช่โปรดได้ทั่วไปทั้งหมด

พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นทรงสงเคราะห์สัตว์โลกให้ตั้งอยู่ในทาน ศีล เมื่อสัตว์โลกเหล่านั้นละร่างกายไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติภูมิ อันมีสวรรค์เป็นต้น ทรงสงเคราะห์บุคคลที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่มีศรัทธาเต็มเปี่ยมให้ได้เป็นมหาเศรษฐี ด้วยการออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วทรงมารับบิณฑบาต กับบุคคลนั้น

พระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ละองค์มีประวัติคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคหบดี ในสมัยโบราณที่เบื่อหน่ายในโลกิยสมบัติ ได้ออกบวชศึกษาพระธรรมจนบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ เมื่อบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว ก็ไปชุมนุมที่เขาคันธมาทน์กูฏ ซึ่งเป็นยอดเขาแห่งหนึ่งของเทือกเขาหิมพานต์หรือหิมาลัย มีฝูงช้างฉัททันต์คอยปรนนิบัติอยู่เป็นนิจ ถึงแม้ว่าเรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้จะจบลงด้วยเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน คือ ตัวเอกของเรื่องออกบวชแล้วตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่รายละเอียดของเนื้อเรื่องจะแตกต่างกันออกไป

คุณลักษณะพิเศษที่สำคัญประการหนึ่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าคือ การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือการดำเนินชีวิตอยู่เพียงลำพัง (เอกะ) ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบการดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกับนอแรด (ขคฺควิสาณกปฺโป) ซึ่งแรดของอินเดียมีเพียงนอเดียว ส่วนแรดในประเทศอื่นมี ๒ นอก็มี แต่กระนั้นก็ตาม พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องมาประชุมพร้อมกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน คือในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นและในวันอุโบสถ คงเห็นแล้วว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น มิได้หลีกเร้นหนีสังคมแต่ประการใด เมื่อมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน ท่านก็มาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ปุถุชนธรรมดาไม่อาจที่จะเข้าใจวิถีชีวิตดังกล่าวของพระปัจเจกพุทธเจ้าได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ

ในกาลที่ว่างเว้นจากพระศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ไม่มีใครเสมอเหมือน สมดังคำพระบรมศาสดาได้ประทานไว้ ในปัจเจกพุทธาปทาน ความว่า

“...ในโลกทั้งปวงเว้นเราเสียแล้ว ไม่มีใครเสมอพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย...”

จึงได้มีพระคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าปรากฏขึ้นในโลก บูชาภาวนาสืบกันมาถึงสมัยหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง เป็นที่สุด ปรากฏผลเลอเลิศ ทั้งในด้านพระกรรมฐาน และลาภผลมั่นคงไม่มีประมาณ ต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย

ลำดับนี้ ขอฟังปัจเจกพุทธาปทาน พระอานนท์เวเทหมุนี ผู้มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว ได้ทูลถามพระตถาคต ผู้ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันว่า ทราบด้วยเกล้าฯ ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีจริงหรือ เพราะเหตุไรท่าน เหล่านั้นจึงได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นนักปราชญ์ ? ในกาลครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคสัพพัญญูผู้ประเสริฐ แสวงหาคุณใหญ่ ตรัสตอบท่าน พระอานนท์ผู้เจริญ ด้วยพระสุรเสียงไพเราะว่า

พระปัจเจกพุทธเจ้า สร้างบุญในพระพุทธเจ้าทั้งปวง ยังไม่ได้โมกขธรรมในศาสนาของพระชินเจ้า ด้วยมุข คือ ความสังเวชนั้นแล

ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ มีปัญญาแก่กล้า ถึงจะเว้นพระพุทธเจ้าก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้แม้ด้วยอารมณ์นิดหน่อย

ในโลกทั้งปวง เว้นเราแล้ว ไม่มีใครเสมอพระปัจเจกพุทธเจ้าเลย

เราจักบอกคุณเพียงสังเขปนี้ ของท่านเหล่านั้น ท่านทั้งหลายจงฟังคุณของพระมหามุนีให้ดี

ท่านทั้งปวงปรารถนานิพพานอันเป็นโอสถวิเศษ จงมีจิตผ่องใส ฟังถ้อยคำดี อันอ่อนหวานไพเราะของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ ตรัสรู้เอง คำพยากรณ์โดยสืบๆ กันมาเหล่าใด ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มาประชุมกัน โทษ เหตุ ปราศจากราคะ และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย บรรลุโพธิญาณด้วยประการใด

- พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีสัญญาในวัตถุอันมีราคะว่า ปราศจากราคะ มีจิตปราศจากกำหนัดในโลกอันกำหนัด ละธรรมเครื่องเนิ่นช้า การแพ้และความดิ้นรนแล้ว จึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ณ สถานที่เกิดนั้นเอง ท่านวางอาญาในสรรพสัตว์ ไม่เบียดเบียนแม้ผู้หนึ่งในสัตว์เหล่านั้น มีจิตประกอบด้วยเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล เที่ยวไปผู้เดียว เปรียบเหมือนนอแรด

- ฉะนั้น ท่านวางอาญาในปวงสัตว์ ไม่เบียดเบียน แม้ผู้หนึ่งในสัตว์เหล่านั้น ไม่ปรารถนาบุตร ที่ไหนจะปรารถนาสหาย เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคล ผู้เกิดความเกี่ยวข้อง ทุกข์ที่อาศัยความเสน่หานี้มีมากมาย ท่านเล็งเห็น โทษอันเกิดแต่ความเสน่หา จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ผู้มีจิตพัวพัน ช่วยอนุเคราะห์มิตรสหาย ย่อมทำตนให้เสื่อมประโยชน์ ท่านมองเห็นภัยนี้ ในความสนิทสนม จึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ความเสน่หาในบุตรและภรรยา เปรียบเหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวกันอยู่ ท่านไม่ข้องในบุตรและภริยา ดังหน่อไม้ไผ่ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านเป็นวิญญูชนหวังความเสรี จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น เหมือนเนื้อที่ไม่ถูกผูกมัด เที่ยวหาเหยื่อ ในป่าตามความปรารถนา

- ฉะนั้น ต้องมีการปรึกษากันในท่ามกลางสหาย ทั้งในที่อยู่ ที่บำรุง ที่ไป ที่เที่ยว ท่านเล็งเห็นความไม่โลภ ความเสรี จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น การเล่น (เป็น) ความยินดี มีอยู่ในท่ามกลางสหาย ส่วนความรักในบุตรเป็นกิเลสใหญ่ ท่านเกลียด ความวิปโยคเพราะของที่รัก จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านเป็นผู้แผ่เมตตาไปในสี่ทิศ และไม่โกรธเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมี ตามได้ เป็นผู้อดทนต่อมวลอันตรายได้ ไม่หวาดเสียว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น แม้บรรพชิตบางพวก และพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน สงเคราะห์ได้ยาก ท่านเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรคนอื่น จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านปลงเครื่องปรากฏ (ละเพศ) คฤหัสถ์ กล้าหาญตัดกามอันเป็นเครื่องผูกของคฤหัสถ์ เปรียบเหมือน ไม้ทองหลางมีใบขาดหมด เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ถ้าจะพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ พึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว พึงดีใจ มีสติเที่ยว ไปกับสหายนั้น ถ้าจะไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนพระราชาทรงละแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว ดังช้างมาตังคะ ละโขลง อยู่ในป่า ความจริง เราย่อมสรรเสริญสหายสมบัติ พึงส้องเสพสหายที่ประเสริฐกว่า หรือที่เสมอกัน (เท่านั้น) เมื่อไม่ได้สหายเหล่านี้ ก็พึง คบหากับกรรมอันไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านเห็นกำไลมือทองคำอันผุดผ่องที่นายช่างทองทำสำเร็จสวยงาม กระทบกันอยู่ที่แขนทั้งสอง จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น การเปล่งวาจา หรือวาจาเครื่องข้องของเรานั้น พึงมีกับเพื่อนอย่างนี้ ท่านเล็งเห็นภัยนี้ต่อไป จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ก็กามทั้งหลายอันวิจิตร หวาน อร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยสภาพต่างๆ ท่านเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ความจัญไร หัวฝี อุบาทว์ โรค กิเลสดุจลูกศร และภัยนี้ ท่านเห็นภัยนี้ในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านครอบงำอันตรายแม้ทั้งหมดนี้ คือ หนาว ร้อน ความหิว ความกระหาย ลม แดด เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน แล้วเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านเที่ยวไปผู้เดียว เช่นนอแรด เปรียบเหมือน ช้างละโขลงไว้แล้ว มีขันธ์เกิดพร้อมแล้ว มีสีกายดังดอกปทุมใหญ่โต อยู่ในป่านานเท่าที่ต้องการ

- ฉะนั้น ท่านใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ว่า บุคคลพึงถูกต้องวิมุติอันเกิดเองนี้ มิใช่ ฐานะของผู้ทำความคลุกคลีด้วยหมู่ จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านเป็นไปล่วงทิฏฐิอันเป็นข้าศึก ถึงความแน่นอน มีมรรคอัน ได้แล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลอื่นไม่ต้องแนะนำ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านไม่มีความโลภ ไม่โกง ไม่กระหาย ไม่ลบหลู่คุณท่าน มีโมโหดุจน้ำฝาดอันกำจัดแล้ว เป็นผู้ไม่มีตัณหาในโลกทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น กุลบุตรพึงเว้นสหาย ผู้ลามก ผู้มักชี้อนัตถะ ตั้งมั่นอยู่ในฐานะผิดธรรมดา ไม่พึงเสพสหาย ผู้ขวนขวาย ผู้ประมาทด้วยตน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น กุลบุตรพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีคุณยิ่ง มีปฏิภาณ ท่านรู้ประโยชน์ทั้งหลาย บรรเทาความสงสัยแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านไม่พอใจในการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลก ไม่เพ็งเล็งอยู่ คลายยินดีจากฐานะที่ตกแต่ง มีปกติกล่าวคำสัตย์ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ท่านละบุตร ภริยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก เผ่าพันธ์ และกามทั้งหลายตามที่ตั้งลง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ในความเกี่ยวข้องนี้มีความสุขนิดหน่อย มีความพอใจน้อย มีทุกข์มากยิ่ง บุรุษผู้มีความรู้ทราบว่า ความเกี่ยวข้องนี้ ดุจลูกธนู พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น กุลบุตรพึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนปลาทำลายข่าย แล้วไม่กลับมา ดังไฟไหม้เชื้อ ลามไปแล้วไม่กลับมา พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงทอดจักษุลง ไม่คะนองเท้า มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว รักษามนัส อันราคะไม่ชุ่มแล้ว อันไฟกิเลสไม่เผาลน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงละเครื่องเพศคฤหัสถ์แล้ว ถึงความตัดถอน เหมือนไม้ทองกวาวที่มีใบขาดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ไม่พึงทำความกำหนัดในรส ไม่โลเล ไม่ต้องเลี้ยงผู้อื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก มีจิตไม่ข้องเกี่ยวในสกุล เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงละนิวรณ์เครื่องกั้นจิต ๕ ประการ พึงบรรเทาอุปกิเลสเสียทั้งสิ้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ ตัดโทษ อันเกิดแต่สิเนหาแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงทำสุข ทุกข์ โทมนัสและโสมนัสก่อนๆ ไว้เบื้องหลัง ได้อุเบกษา สมถะ ความหมดจดแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงปรารภ ความเพียรเพื่อบรรลุนิพพาน มีจิตไม่หดหู่ ไม่ประพฤติเกียจคร้าน มี ความเพียรมั่น (ก้าวออก) เข้าถึงด้วยกำลัง เรี่ยวแรง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ไม่พึงละการหลีกเร้นและฌาน มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีการสดับ มีสติ มีธรรมอันพิจารณา แล้ว เป็นผู้เที่ยง มีความเพียร เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ไม่พึงสะดุ้งในเพราะเสียงดังสีหะ ไม่ขัดข้อง อยู่ในตัณหาและทิฏฐิ เหมือนลมไม่ติดตาข่าย ไม่ติดอยู่ในโลก ดุจดอกปทุม ไม่ติดน้ำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงเสพเสนาสนะอันสงัด เหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง เป็นราชาของเนื้อ มีปกติประพฤติข่มขี่ ครอบงำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงเจริญเมตตา วิมุติ กรุณาวิมุติ มุทิตาวิมุติ และอุเบกขาวิมุติทุกเวลา ไม่พิโรธด้วย สัตว์โลกทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงละราคะ โทสะและโมหะ พึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลายเสีย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้น ชีวิต พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น ชนทั้งหลายมีเหตุ เป็นประโยชน์ จึงคบหาสมาคมกัน มิตรทั้งหลายไม่มีเหตุ หาได้ยากใน วันนี้ มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามองประโยชน์ตน ไม่สะอาด พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด

- ฉะนั้น พึงมีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา มีปกติเห็นธรรม วิเศษ พึงรู้แจ้งธรรมอันสัมปยุตด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์ (พึงรู้แจ้งองค์มรรคและโพชฌงค์) นักปราชญ์เหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาพระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ ทั้งมวลได้ มีจิตโสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เปรียบดังราชสีห์ เช่นกับนอแรด

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ มีอินทรีย์ระงับ มีใจสงบ มีจิตมั่นคง มีปกติ ประพฤติด้วยความกรุณาในสัตว์เหล่าอื่น เกื้อกูลแก่สัตว์ รุ่งเรืองในโลกนี้และโลกหน้า เช่นกับประทีป ปฏิบัติเป็นประโยชน์แก่สัตว์ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ ละกิเลสเครื่องกั้นทั้งปวงหมดแล้ว เป็นจอมแห่งชน เป็นประทีปส่องโลกให้สว่าง เช่นกับรัศมีแห่งทองชมพูนุท เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นดีของโลก โดยไม่ต้องสงสัย บริบูรณ์อยู่เนืองนิตย์ คำสุภาษิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นไปในโลกทั้งเทวโลก ชนเหล่าใดผู้เป็นพาลได้ฟังแล้ว ไม่ทำเหมือนดังนั้น ชนเหล่านั้นต้องเที่ยวไปในสังขารทุกข์บ่อยๆ คำสุภาษิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นคำไพเราะ ดังน้ำผึ้งรวงอันหลั่งออกอยู่ ชนเหล่าใดได้ฟังแล้ว ประกอบการปฏิบัติตามนั้น ชนเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีปัญญา เห็นสัจจะ คาถาอันโอฬารอันพระปัจเจกพุทธชินเจ้าออกบวชกล่าวแล้ว คาถาเหล่านั้นพระตถาคตผู้สีหวงศ์ศากยราชผู้สูงสุดกว่านรชน ทรงประกาศแล้ว เพื่อให้รู้แจ้งธรรม คาถาเหล่านี้ พระปัจเจกเจ้าเหล่านั้นรจนาไว้อย่างวิเศษ เพื่อความอนุเคราะห์โลก อันพระสยัมภูผู้สีหะทรงประกาศแล้ว เพื่อยังความสังเวช การไม่คลุกคลีและปัญญาให้เจริญ ฉะนี้แล


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 19:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


องค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

เมื่อได้ศึกษาปรมัตถโชติกาแล้วพบว่า บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรม ซึ่งเรียกว่าธรรมสโมธาน (การประชุมธรรม) ๕ ประการ [สุตฺต.อ. ๑/๔๗] คือ

๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) คือ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น เป็นเทวดาไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตหรืออสุรกาย

๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺคสมฺปตฺติ) คือ เป็นเพศชายเท่านั้น จะเป็นผู้หญิง กะเทยและอุภโตพยัญชนก (บุคคลที่มี ๒ เพศในคนเดียวกัน) ไม่ได้ แต่กระนั้นผู้หญิงสามารถเป็นมารดาของผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้

๓. การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวกิเลสทั้งหลาย (วิคตาสวทสฺสนํ) คือ การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง

๔. อธิการ (อธิกาโร) คือกระทำอันยิ่ง ต้องบริจาคชีวิตของตนเองแล้วจึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

๕. ความพอใจ (ฉนฺทตา) คือ ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้ว่าจะยากลำบากประสบพบปัญหาอุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม อาทิเช่น มีคนกล่าวว่า ใครก็ตามที่สามารถเหยียบสากลจักรวาล อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวไฟได้ ใครก็ตามที่สามารถเหยียบข้ามสากลจักวาลอันเกลื่อนกล่นด้วยหอกและหลาวได้ ใครก็ตามที่สามารถลุยข้ามสากลจักรวาลอันเต็มไปด้วยน้ำปริ่มฝั่งได้ ใครก็ตามที่สามารถก้าวล่วงสากลจักรวาลซึ่งดารดาษด้วยกอไผ่ชั่วนิรันดรได้ จึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า “เราสามารถทำเช่นนั้นได้”

มีคาถาแสดงไว้ว่า

“มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ วิคตาสวทสฺสนํ อธิกาโร ฉนฺทตา เอเต อภินีหารการณาฯ”

“มีเหตุแห่งปณิธานขึ้นพื้นฐาน (ก็เพราะธรรมสโมธาน ๕ ประการ) เหล่านี้ คือ ความเป็นมนุษย์, ความถึงพร้อมด้วยเพศ, การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ, อธิการ และความพอใจ”

แต่สำหรับบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรมซึ่งเรียกว่า ธรรมสโมธาน ๘ ประการ [สุตฺต.อ. ๑/๔๕] คือ

๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) มีนัยเดียวกับองค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺสมฺปตฺติ) ก็มีนัยเดียวกัน

๓. เหตุ (เหตุ) คือ ความถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพยายามอย่างเต็มกำลัง จะสามารถเป็นพระอรหันต์ได้

๔. การเห็นพระศาสดา (สตฺถารทสฺสนํ) คือการเห็นเฉพาะพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง อาทิเช่นสุเมธบัณฑิตได้เห็นพระทีปังกรพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์แล้วจึงตั้งปณิธาน

๕. การบรรพชา (ปพฺพชฺชา) คือ ความเป็นอนาคาริก ต้องเป็นนักบวชผู้เป็นกรรมวาทีและกิริยวาที อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตเป็นดาบสชื่อสุเมธ จึงตั้งปณิธาน

๖. ความถึงพร้อมแห่งคุณ (คุณสมฺปตฺติ) คือการได้คุณธรรมหรือธรรมวิเศษมีฌานเป็นต้น อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วจึงตั้งปณิธาน

๗. อธิการ (อธิกาโร) มีนัยเดียวกัน

๘. ความพอใจ (ฉนฺทตา) มีนัยเดียวกัน

มีคาถาแสดงไว้ว่า

“มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ เหตุ สตฺถารทสฺสนํ ปพฺพชฺชา คุณสมฺปตติ อธิกาโร ฉนฺทตา
อฎฺฐธมฺมสโมธานา อภินีหาโร สมิชฺฌติฯ”

“ปณิธานขั้นพื้นฐานย่อมสำเร็จได้ ก็เพราะธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์, ความถึงพร้อมด้วยเพศ, เหตุ, การเห็นพระศาสดา, การบรรพชา, ความถึงพร้อมแห่งคุณ, อธิการ และความพอใจ”

ส่วนผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระอัครสาวกทั้งสองและพระอสีติมหาสาวก ต้องมีองค์ธรรม ๒ ประการ คือ อธิการหรือการกระทำอันยิ่ง (อธิกาโร) และความพอใจ (ฉนฺทตา) [สุตฺต.อ. ๑/๔๘]


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 19:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


หลักคำสอนของพระปัจเจกพุทธเจ้า

ปรมัตถโชติกา [สุตฺต.อ. ๒/๔๑-๔๒] เล่าเรื่องของสุสีมมาณพผู้ปรารถนาจะเห็นเบื้องปลายของศิลปะจึงถูกส่งไปหาฤาษีที่ป่าอิสิปตนะ หลังจากไปป่าอิสิปตนะแล้ว ได้เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านรู้เบื้องปลายของศิลปะบ้างไหม ?”

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า “เออ เรารู้สิท่าน”

สุสีมมาณพอ้อนวอนว่า “โปรดให้ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด”

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย “ถ้าอย่างนั้นก็บวชเสียสิ ท่านผู้ไม่ใช่นักบวชศึกษาไม่ได้ดอก”

สุสีมาณพ “ดีละ ขอรับ โปรดให้ข้าพเจ้าบวช แล้วให้ศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด”

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้เขาบวชแล้ว ไม่สามารถให้เขาเจริญกรรมฐานได้ ให้ศึกษาได้แต่อภิสมาจาร (ความประพฤติที่ดีงาม) อาทิเช่น ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ เขาศึกษาอยู่ในข้อนั้น แต่เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ไม่นานนักจึงบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ

ในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องอภิสมาจารเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งท่านก็สอนธรรมเช่นกัน แต่สอนเพียงสั้นๆ อาทิเช่น จงสิ้นราคะ จงสิ้นโทสะ จงสิ้นโมหะ จงสิ้นคติ จงสิ้นวัฏฏะ จงสิ้นอุปธิ จงสิ้นตัณหา โดยไม่มีหลักคำสอนที่เป็นระบบเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อีกประการหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าคงจะเป็นเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ เพราะเหตุที่ว่า “ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยของตรรกวิทยา ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ก็ถ้าเราพึงจะแสดงธรรม สัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหนื่อยเปล่า ความลำบากเปล่าแก่เรา”

ท้าวสหัมบดีพรหมจึงทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ โดยให้เหตุผลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ของพระองค์จงทรงแสดงธรรมเถิด เพราะสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่ เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้” [วินย. ๔/๗-๘]

แต่จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสลัดทิ้งความท้อพระทัยเสีย แล้วทรงตัดสินพระทัยแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์

จากหลักฐานข้างต้นนี้ อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า การตัดสินใจเช่นนี้ เป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไม่สามารถเอาชนะความคิดที่ว่าธรรมเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นรู้ตามได้ยากนั้นได้ จึงไม่ได้เตรียมแสวงหาสาวกและสอนให้รู้แจ้งเช่นเดียวกับตน แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นรู้สึกจะสมัครใจช่วยเหลือบุคคลอื่นให้รู้แจ้ง โดยอาศัยความถึงพร้อมแห่งอุปนิสัยของผู้นั้นเป็นหลัก ดังนั้น ท่านจึงมิได้ก่อตั้งสถาบันศาสนาอันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 19:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำเทศน์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า (พระองค์หนึ่ง)

ความดีของพวกเธอ คือ พรอันประเสริฐสุนทรแล้ว

ทุกคนทรงได้ในฌาน ตั้งใจอธิษฐานกุศลให้แก่ผู้ปกครองบ้านเมือง ผู้ที่รักษาชาติ ผู้ที่ช่วยชาติ ตลอดจนบรรพบุรุษ

ความดี คือ การกระทำที่ถูกต้องตามธรรม (ธรรม คือธรรมชาติ) ฉะนั้น เรียกความดีว่า การกระทำที่เป็นคุณ อานิสงส์ของการทำความดีมีมากสุดที่จะพรรณาได้ ความดีแบ่งออกได้เป็น ๓ อย่าง คือ

- ความดีทางกาย
- ความดีทางวาจา
- ความดีทางใจ

อานิสงส์ที่จะรับความดีได้มากที่สุด คือ อานิสงส์กระทำความดีทางใจ ถ้าทำได้ทั้ง ๓ ทางจะดีมาก ความดีทางกาย คือ การกระทำในบุญ เช่นสร้างพระ ถวายของพระ การกระทำความดีทางวาจา คือ ชอบพูด พูดปรัชญา พูดเตือน การพูดต้องประสงค์ให้ผู้ฟังได้เกิดผลเป็นความดีออกมา ความดีด้วยใจ คือ เจตนาจะกระทำความดี คิดสร้างพระ เป็นต้น รวมแล้วความดีนี้ควรทำทั้ง ๓ ทาง

อันที่ ๑ ความดีทางกาย มีอานิสงส์ทดแทนเราทางร่างกายเช่นเดียวกัน มีอานิสงส์อย่างน้อย ๕ ชาติ อย่างมาก ๑ กัป ทำความดีด้วยวาจา อานิสงส์อย่างน้อย ๓ ชาติ อย่างมาก ๑ ใน ๓ ของกัป ทำความดีที่ใจ อานิสงส์ ๖ ชาติ อย่างมาก ๑ กัป กับอีก ๑ ส่วน ๒ ถ้าทำความดีพร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง ก็ได้ถึง ๑๐ มหากัป เป็นอย่างยิ่ง

บุญเราทำด้วยพลังแค่ไหน อานิสงส์ทุกชาติก็ขึ้นอยู่กับกรรมตัดรอน คือ บุญมีอยู่ แต่กำลังอ่อน เจ้ากรรมนายเวรนั้น คือ ผู้ที่เคยได้รับทุกข์เพราะเราและยังฝังใจที่จะสนองเรา ส่วนการกระทำที่เราก่อโดยไม่มีผู้สนอง เช่น ด่าพระ ข้ามเศียรพระ เช่นนี้ ผู้คุ้มครองเขาสนองกรรม เหมือนกระทำของปลอมออกมาใช้แล้วตำรวจจับ แต่ถ้าเจ้ากรรมนายเวรเขามาเกิดแล้ว ส่วนก็ยังคงอยู่ คนทำบุญมากก็พ้น เหมือนกับเธอทำงานให้นายจ้าง แล้วทำของเขาเสียหาย แต่เธอเป็นผู้ทำงานเก่งก็พ้นไป

ศีลเป็นทางนำใจคนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูก คือ ความดี, สมาธิเป็นสิ่งที่ก่อให้ทุกคนชำระจิตใจออกจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน หัดใจให้เป็นสามัญสำนึก, ปัญญาเป็นแสงสว่างชี้ทางที่ควรจะดำเนิน

ศีลมีองค์ควบคุม คือ เมตตา กรุณา, สมาธิมีองค์ควบคุม มี มุทิตา อุเบกขา, ปัญญามีองค์ควบคุม คือ อริยสัจ ๔

เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราก็จะรู้ถึงแผนความชั่ว เมื่อประจักษ์แล้วก็เจริญวิธีอันทำให้จิตสงบ คือ วิปัสสนาญาณ เมื่อจิตสงบแล้ว เราจงใช้อิทธิบาท ๔ มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ดำเนินไปอย่างสงบ

คนเราถ้ายืนอยู่ที่สูง ก็จะมองเห็นที่ต่ำสะดวก รู้เห็นแล้วก็วางแผนได้ คิดกันให้พอ คนๆ หนึ่งเดินอยู่ริมแม่น้ำ เขามองไปในน้ำ แล้วรำพึงกับตัวเองว่า สัจจะทำให้เป็นสุข หมายได้อย่างไร รู้ไหม

สัจจะ คือความจริง ความจริงคือธรรมะ หรือธรรมดา หรือธรรมชาติ ฉะนั้น คนเขายืนอยู่ริมน้ำ เขามองว่าน้ำ มันเป็นเงา เห็นได้ สะท้อนได้ เห็นซึ่งตัวตนของเขา ว่าเขาเป็นคน ฉะนั้น น้ำเป็นธรรมชาติที่ต้องเหลว มีประโยชน์ มีความธรรมดา คือให้ความเห็น คือเห็นรูปได้แก่เรา

น้ำนั้นให้ความจริง เห็นรูปร่างทั้งส่วนดีและไม่ดี แต่เขารำพึงว่าสัจจะทำให้สุข คือใจของคนถ้ารู้จักมอง รู้จักสะท้อน ดูรูปร่างส่วนดี ส่วนเสียของคนแล้ว รู้คิดให้เป็นธรรมดา ยอมรับนิสัยสันดานของคนว่าเป็นธรรมชาติของคน รู้จักกรรมดี กรรมชั่วว่าเป็นธรรม นั่นเป็นความรู้ เกิดปัญญาแตกฉาน เข้าใจ และคิดออก เขาจึงเป็นสุข

(จากหนังสือพรสวรรค์ โดยคณะพรสวรรค์)


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 19:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ประวัติของพระสุสิมะปัจเจกพุทธเจ้า

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองไพสาลี พระเจ้าพิมพิสารจัดการบูชาใหญ่ มีการปราบพื้นที่ทั้ง ๒ ฝั่ง ๘ โยชน์ โรยดอกไม้ ๕ สี แค่เข่า แล้วก็พากันจัดฉัตรให้มีการบูชากันหนัก ฉะนั้นเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเหยียบพื้นธรณีเมืองไพสาลีเป็นครั้งแรก เกิดฝนตกหนัก บรรดาพระสงฆ์นั่งประชุมกันว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์จริงๆ บรรดาเพื่อนทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้านี่เราอยู่กับท่านมาปีเศษ ยังไม่เคยเห็นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ แสดงปาฎิหารย์อย่างคราวนี้ เป็นอัศจรรย์มาก ต่างคนต่างชม เวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในพระมหาวิหาร อาศัยความเป็นทิพย์ของโสตประสาท สมเด็จพระบรมโลกนาถฟังพระคุยกันก็เข้าใจ ฟังรู้เรื่องหมด

สมเด็จพระบรมสุคตจึงมาพิจารณาว่า เราไปเล่าเรื่องนี้ให้เธอฟัง จะมีประโยชน์กับพวกเธอบ้างไหม ? ก็ทราบว่าเมื่อคุยจบ เล่าเรื่องนี้จบ อานิสงส์จบ บรรดาท่านที่ฟังอยู่ทั้งหลายเหล่านั้น อย่างน้อยจะได้พระโสดาบันถึงอรหันต์ เมื่อเห็นว่าประโยชน์มี องค์สมเด็จพระชินศรีก็เสด็จไป เมื่อเข้าไปใกล้ถึงที่นั่นแล้ว บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็ปูอาสนะ คือ ปูผ้า อาราธนาองค์สมเด็จพระประทีปแก้วประทับนั่ง โดยจริยาของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ต้องทำตาม

ท่านรู้ทุกอย่างแต่ก็ต้องถามว่า เธอนั่งคุยกันเรื่องอะไร บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็กราบทูลให้ทรงทราบ สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่เขาปราบทางให้ราบเรียบก็ดี ๘ โยชน์ โรยดอกไม้ ๕ สีก็ดี กั้นร่มก็ดี เวลาเหยียบ แผ่นดินฝั่งโน้น ฝนตกก็ดี อันนี้ไม่ใช่บารมีที่ตถาคตบำเพ็ญบารมีมาดีเต็มแล้วเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่ใช่อานุภาพของเทวดาหรือพรหม หรือนาคบันดาล แต่ว่าเป็นผลความดีในกาลก่อนของตถาคตที่ทำบุญนิดๆ หน่อยๆ แต่ว่ามีผลมาก เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าดำรัสอย่างนี้แล้วก็ทรงหยุดอยู่ ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้นแล้ว บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายที่อาราธนาองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ให้ดำรัสเรื่องราวความเป็นมา

ท่านจึงตรัสว่าในกาลก่อนนี้ ท่าน (ยังเป็นพระโพธิสัตว์ กำลังบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีอยู่) ได้เกิดที่เมืองตักสิลา เป็นพราหมณ์ มีชื่อว่า สังขะ มีลูกชายคนหนึ่งชื่อว่า สุสิมะ ต่อมาเมื่อสุสิมะ โตอายุ ๑๖ ปี ก็อยากจะเรียนไตรเพท เพราะพราหมณ์เขาถือว่าเรียนไตรเพทแล้ว ถ้าจบเป็นพราหมณ์ชั้นดี

พ่อก็บอกว่ามีพราหมณ์เป็นเพื่อนของพ่ออยู่ในเมือง เขาเก่งมาก ก็พาเขาเข้าไปหาเพื่อนของพ่อที่เป็นพราหมณ์ เพื่อนของพ่อที่เป็นพราหมณ์ก็ดีมาก รู้ว่าเป็นลูกของเพื่อนก็เต็มใจสอนด้วยความเต็มใจ ท่านสุสิมะเรียนไม่ช้าไม่นาน เรียนจบเร็ว มีความฉลาดมาก เพื่อนของพ่อดีใจมาก รักมาก แต่ว่า ท่านสุสิมะ เป็นคนมีปัญญาสูง มีบารมีเต็ม เมื่อเรียนไตรเพทจบ ก็มาใคร่ครวญว่า ความรู้ที่เราเรียนนี้มันได้แต่ในเบื้องต้น กับท่ามกลางความเห็นเท่านั้นเอง เห็นเบื้องต้นกับท่ามกลาง แต่ไม่เห็นที่สุด (เบื้องต้นคือการเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ท่ามกลางคือการเกิดเป็นพรหม แล้วที่สุดนั้นหมายความว่า หนีจากการเกิดต่อไปคือนิพพาน วิชาของพราหมณ์ไม่มี)

ท่านสุสิมะ พิจารณาใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญอีก แต่มันไม่ถึงที่สุด มองไม่เห็นที่สุดว่ามันจะไปจบชีวิตเมื่อไหร่ นั่นหมายความว่าไอ้เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่มันน่าเบื่อ เราไม่ควรจะเกิด แก่ เจ็บ ตายต่อไป มันควรความรู้ที่เรียน ควรจะพ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย จึงเข้าไปหาอาจารย์ ท่านลุงครับ ความรู้ที่ศึกษานี่ ผมมองเห็นแต่เบื้องต้นกับท่ามกลาง แต่ก็ไม่เห็นที่สุด พอจะเข้าใจไหมครับ ที่สุดพอจะสอนผมได้ไหม ท่านพ่อบุญธรรมหรือท่านลุงบอกว่า ฉันก็เห็นแค่นั้นเหมือนกัน เห็นได้แค่เบื้องต้นกับท่ามกลาง ที่สุดก็มองไม่เห็น ท่านสุสิมะ ก็ถามว่า ใครครับที่จะเห็นท่านพ่อ ท่านเพื่อนของพ่อก็บอกเลยว่า ฤาษีในป่า ฤาษีในป่าเห็นที่สุด ท่านสุสิมะ ก็ลาไปหาฤาษีในป่า

แต่ความจริงพราหมณ์เขาคิดว่าเป็นฤาษี แต่ความจริงเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า เวลานั้น พระปัจเจกพุทธเจ้ามาก เพราะมันเป็นเวลาว่างจากพระพุทธเจ้า เมื่อสิ้นศาสนาพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ก็มีพระปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุขึ้นมา ไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า ถามถึงที่สุดแห่งการปฎิบัติให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระปัจเจกพุทธเจ้า บอกคณะของเรามี คณะของเราทุกคนนี่ศึกษาถึงที่สุดด้วยกันทั้งหมด แล้วเมื่อศึกษาถึงที่สุดแล้ว ต่อไปขึ้นชื่อว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มี มีแต่ความสุข มีชีวิตอยู่ก็มี ความสุข ตายไปแล้วก็พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อไป

ท่านสุสิมะ ก็ขอศึกษา บรรดาพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นอาวุโสก็บอกว่า ศึกษาได้ นี่ไม่หวง ใครอยากจะศึกษา ศึกษาได้ ก็ขอเรียนเดี๋ยวนั้น ท่านบอกเรียนเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรอก เพราะแต่งตัวไม่เหมือนกัน คนจะเรียนวิชานี้ต้องแต่งตัวเหมือนกัน ถ้าแต่งตัวไม่เหมือนกันเรียนไม่ได้ ทั้งนี้เพระอะไร เพราะว่า สุสิมะศึกษาวิชาของพราหมณ์ แต่งตัวแบบพราหมณ์ ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้า ถือว่าเป็น ความรู้ที่ต่ำ และพราหมณ์ทะนงตน ว่าเป็นพวกพรหม เป็นเพศที่สูง เป็นตระกูลที่สูง มานะมันยังมีอยู่ ท่านจึงแก้มานะ ว่าต้องแต่งตัวเหมือนกัน ดูซิว่าเขาจะยอมหรือไม่ยอม แต่ความจริง พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็คล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้านะ อย่าลืม มีกำลังสูงกว่าพระอรหันต์มาก เป็นพระพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง แต่ว่าไม่สอนใครเป็นสาธารณะ ต้องการเฉพาะคนที่ศรัทธาไปหาท่าน

เมื่อท่านสุสิมะ ฟังแล้วก็ตั้งใจ เอ้า ! บวชก็บวช แต่งตัวเหมือนกัน ท่านก็ปลงผม นุ่งสบง ห่มจีวรเหมือนกัน ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้า จัดหามาให้ แล้วก็ตั้งใจศึกษา ในที่สุดไม่ช้า ใช้เวลาไม่กี่วันท่านก็บรรลุเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ว่าการเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เป็นไม่นานอีกเหมือนกัน อยู่ไม่นาน ไม่สักกี่วันนัก ก็เห็นจะประมาณสักเดือนเห็นจะได้มั้ง ท่านก็ต้องนิพพาน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านบอกกรรมประเภทหนึ่ง ที่ทำให้อายุสั้นจะต้องนิพพานมาถึงท่าน ท่านก็ต้องนิพพาน กรรมประเภทนั้นก็คือ อำนาจของอกุศลกรรมที่มีโทษปาณาติบาต มาตั้งแต่ครั้งอดีตชาติ มันก็มาตามท่าน

ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงนามว่า สุสิมะ นิพพานแล้ว บรรดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย กับชาวเมือง (เมืองไพสาลี นะ) พากันทำการฌาปนกิจเผาศพท่าน แล้วก็สร้างสถูป สร้างเจดีย์เหมือนกับรูปบาตรคว่ำ บรรจุกระดูกของท่าน ต่างคนต่างไหว้บูชาในเวลานั้น

ปรากฏว่า สังขพราหมณ์ เห็นลูกชายไปนานก็คิดถึง ก็ไปหาเพื่อน ถามกับเพื่อน ลูกชายอยู่รึเปล่า เพื่อนก็บอกว่าเขาเรียนจบแล้ว เขาไม่พอใจ เขาไม่เห็นที่สุด เขาขอไปเรียนกับฤาษีในป่า ท่านก็ไปที่เมืองไพสาลี ไปจากเมืองตักสิลา ไปเมืองไพสาลีนะ คิดว่าคนแถวนั้นอาจจะรู้เรื่องบ้าง เห็นเขาชุมนุมกันมีการบูชาทำประทักษิณเวียนเทียนพระสถูปก็เข้าไปถาม คิดว่าคนแถวนั้นคงได้ข่าวลูกชายเราบ้าง ก็ไปถามว่า นี่พ่อทั้งหลาย แม่ทั้งหลาย ได้ยินข่าวสุสิมะมานพนี่บ้างไหม คนทั้งหลายเหล่านั้นทำไมเขาจะไม่รู้ล่ะ เขากำลังเวียนเทียนพระสถูปของท่าน อ้อ ! สุสิมะ น่ะรึ ท่านสุสิมะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งแต่ยังหนุ่ม เด็กมาก อายุประมาณ ๑๖-๑๗ ปี แต่ความดีของท่านมีมาก แต่กรรมบางอย่างทำให้ท่านต้องนิพพานเสียแล้ว

พวกข้าพเจ้ากำลังเวียนเทียนกับท่านนี่ ทำฌาปนกิจเสร็จก็ทำสถูปใช้เครื่องประดับ แล้วก็เวียนเทียนบูชาความดีของท่าน สังขพราหมณ์ได้ยินดังนั้นก็ร้องไห้เสียใจ เสียใจมากทำยังไงล่ะ เขาบูชากันนี่ท่านเดินทางไม่มีอะไรมาเลย ก็เลยเอาผ้าขาวม้าของท่านที่ติดมานั่นล่ะ ไปกอบทรายข้างนอกใส่ผ้าขาวม้า ห่อมาก็โปรยปรายทาง ทำให้ทางข้างๆ พระสถูปนั้นราบเรียบ คือขนทรายมา ใช้ผ้าขาวม้าห่อ ไม่มีอะไร ใช้ผ้าขาวม้าจนทางเรียบพอใช้ได้ จะให้มันดีเหมือนถนนนั้นไม่ได้ แล้วไปเอาต้นไม้ที่มีดอกมาปลูกข้างๆ พระสถูป แล้วก็เอาน้ำมารดต้นไหม้ แล้วก็มันไม่มีอะไรทำ ธงก็เอาผ้าฉัตร ผ้าขาวม้านี่ทำธงขึ้นไปปักบนยอด มีร่มอยู่คันหนึ่ง เข้าไปกางบนยอดพระสถูป อย่านึกว่าพระสถูปแหลมเปี๊ยบจะดี นี่ไม่ใช่นะ เป็นรูปบาตรคว่ำขึ้นไปได้

องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย คถาคตทำบุญเล็กน้อยเท่านี้ เป็นปัจจัยให้ได้การบูชาในสมัยนี้ คือที่พระเจ้าพิมพิสาร บูชาก็ดี พระเจ้ามหาลิ เจ้าเมืองไพสาลี บูชาก็ดี นาค คนธรรพ์ เทวดา พรหม บูชาเป็นการใหญ่ ยกฉัตรกันทั่วจักรวาลก็ดี เป็นบารมีในสมัยที่ตถาคตเกิดเป็น สังขพราหมณ์ บูชา ท่านสุสิมะ พระปัจเจกพุทธเจ้า จึง กล่าวเป็นอย่างๆ ว่า

การที่เขาปราบพื้นที่ให้เรียบ ๘ โยชน์ คือ ฝั่งนี้ ๕ โยชน์ ฝั่งโน้น ๓ โยชน์ รวมเป็น ๘ โยชน์ นั่นล่ะ อานิสงส์มาจากการเกลี่ยทราย เอาทรายมาโปรยปราย ทำให้ทางข้างๆ พระสถูปเรียบพอใช้ได้ มันไม่เรียบเหมือนถนน แต่ทำให้เป็นหลุมเป็นบ่อ ก็ไปทำให้มันเต็มนิดๆ หน่อยๆ พอเป็นทางเรียบดี ท่านบอกอานิสงส์นี้เป็นปัจจัยเขาปราบทางให้เรียบ ๘ โยชน์ ที่ตถาคตจะเดินไปแล้วก็อาศัยที่เอาต้นไม้ดอกมาปลูกข้างๆ สถูป เป็นการบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่มีนามว่า สุสิมะ ก็เป็นเหตุให้ ๒ ฝั่ง เขาเอาดอกไม้ ๕ สี มาโปรยปรายในระหว่างทาง สูงประมาณเข่าที่เราตถาคตเดินไป

การที่เขาจัดฉัตรให้แก่ตถาคตก็ดี คือร่มให้กับบรรดาพระสงฆ์ก็ดี เพราะอานิสงส์ที่ตถาคตจัดร่ม เอาไปกางไว้บนยอดพระสถูป

การที่เขาจัดธงทิว ปักเรียงรายตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางทั้ง ๒ ฝั่ง แล้วเทวดาและพรหมและนาค จัดธงแก้วมณีแก้วประพาฬ ธงวิเศษนั้นก็อาศัยผ้าขาวม้าที่เราไปทำธงบนยอดพระสถูป

การที่ตถาคตเหยียบเมืองไพสาลี เป็นวาระแรกที่เขาถึงแล้วฝนตกใหญ่ก็เป็นปัจจัยจากการนำเอาน้ำมารดต้นไม้ที่เป็นไม้ดอก เป็นปัจจัยให้ฝนตกใหญ่

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องนี้จบ บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายทั้งหมดที่ปุถุชนก็บรรลุพระโสดาบันบ้าง สกิทาคามี และอนาคามี และอรหันต์บ้างเป็นแถว

ฟังของท่านแล้วก็จำให้ดี การบำเพ็ญกุศลบุญราศีสักเล็กน้อยมันมีอานิสงส์มากอย่างนี้ แต่ว่าเราจะต้องบูชากันด้วยศรัทธาแท้ ขอพวกท่านทั้งหลายที่มีความดี จงรักษาความดีเหมือนเกลือรักษาความเค็ม อย่าให้ความดีถอยไป

(ย่อมาจากเรื่องบุพกรรมของพระพุทธเจ้า ในหนังสือพระสูตรก่อนนิทรา เทศนาโดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ)


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 19:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจกพุทธเจ้า

ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาระบุไว้ บ่อยครั้งว่าพระปัจเจกโพธิสัตว์ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง แต่ไม่อาจเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นได้ แต่ในชาติต่อๆ มาจึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ แต่ในปัญจอุโบสถชาดก [ชา.อ.๖/๒๘๘–๒๙๔] เสนอความสัมพันธ์ที่กลับกันหรือตรงกันข้ามกัน คือ เสมือนหนึ่งว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ ส่วนพระโพธิสัตว์ [พระโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท่านเขียนเป็นพระโพธิสัตต์ คำนี้ตรงกับภาษาบาลีว่า โพธิสตฺต และตรงกับภาษาสันสกฤตว่า โพธิสตฺตฺว] เป็นศิษย์ พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่พระโพธิสัตว์ขณะเป็นดาบสจนกระทั่งพระโพธิสัตว์นั้นสามารถข่มมานะ (ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่) ซึ่งขัดขวางมิให้ได้ฌานสมาบัติ

เรื่องย่อของชาดกนี้มีดังนี้ ในสมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทราบความที่ดาบสนั้นมีมานะ ดำริว่า ดาบสผู้นี้มิใช่อื่นเลย ที่แท้เป็นหน่อเนื้อแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะบรรลุความเป็นสัพพัญญูในกัปป์นี้แหละ เราต้องข่มมานะของดาบสผู้นี้เสีย แล้วจึงมาจากป่าหิมพานต์ตอนเหนือ ขณะเมื่อดาบสนั้นกำลังนอนอยู่ในบรรณศาลานั่งเหนือแผ่นกระดานหินของดาบสนั้น ดาบสออกมาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งเหนืออาสนะของตนอยู่ จึงเกิดความขุ่นเคืองใจเพราะความมีมานะ ปรี่เข้าไปหาตบมือตวาดว่า ฉิบหายเอ๋ย ไอ้ถ่อย ไอ้กาลกรรณี มานั่งเหนืออาสนะแผ่นกระดานนี้ทำไม ?

ต่อแต่นั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวกะดาบสนั้นว่า พ่อคนดี เพราะเหตุไรพ่อจึงมีแต่มานะ ? ข้าพเจ้าบรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้วในกัปป์นี้เอง พ่อก็จะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พ่อเป็นหน่อเนื้อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บำเพ็ญบารมีมานานแล้ว ต่อไปจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าสิทธัตถะ บอกชื่อ ตระกูล โคตร และพระอัครสาวกแล้วจึงแนะนำว่า พ่อยังจะมัวเอาแต่มานะ เป็นคนหยาบคายเพื่ออะไรเล่า ? ข้อนี้ไม่สมควรแก่พ่อเลย

ดาบสนั้นแม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ไหว้ท่านอยู่นั่นเอง มิหนำซ้ำไม่ถามเสียด้วยว่า ข้าพเจ้าจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร ? ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า เธอไม่รู้ถึงความเป็นใหญ่แห่งชาติและคุณของเรา หากเธอสามารถก็จงเที่ยวไปในอากาศเหมือนเราแล้วก็เหาะไปในอากาศโปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงบนชฎาของดาบสนั้น ไปยังป่าหิมพานต์ตอนเหนือดังเดิม พอท่านไปแล้ว ดาบสมีความสลดใจคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะเหมือนกัน มีสรีระหนัก ไปในอากาศได้ดุจปุยนุ่นที่ทิ้งไปในช่องลม เพราะถือชาติ เรามิได้กราบเท้าทั้งคู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ยังไม่ถามเสียด้วยว่า เราจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร ? ขึ้นชื่อว่าชาตินี้จะทำอะไรได้ ศีลและจรณะเท่านั้นเป็นใหญ่ในโลก ถ้าเรายังมีมานะอยู่ จักไปนรกได้ที่นี้เราข่มมานะไม่ได้ ก็จักไม่ไปหาผลไม้ เข้าสู่บรรณศาลาสมาทานอุโบสถเพื่อข่มมานะ นั่งเหนือกระดานเลียบเป็นกุลบุตรผู้มีญาณใหญ่ ข่มมานะได้ เจริญกสิณ ได้อภิญญาและสมาบัติ ๘ ตายไปอุบัติ ณ พรหมโลก


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 20:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การบิณฑบาตโปรดสัตว์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวาย เช่นเดียวกับนักบวชอื่นๆ คัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าบิณฑบาตมิใช่เพื่อยังชีพเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้ประชาชนมีโอกาสประสบกุศลผลบุญโดยการใส่บาตรท่าน

ทายกที่ถวายทานอย่างสมบูรณ์ คือครบทั้งสามกาล ก่อนถวายทานก็ดีใจ ขณะถวายทานมีจิตเลื่อมใส และถวายทานแล้วปลื้มใจไม่เสียดายไทยธรรมที่ถวายไปแล้ว สามารถพ้นจากอันตราย เราสามารถพบตัวอย่างของข้อนี้ได้จากเรื่องสังขพราหมณ์ ผู้มีชื่อเสียงทางบริจาคทาน ซึ่งวางแผนจะไปสุวรรณภูมิ เพื่อนำทรัพย์มาบริจาคคนยากจนและคนขัดสน

เรื่องย่อ มีดังนี้ [ชา.อ. ๕/๓๘๕–๓๘๖] ในสมัยนั้น มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ณ ภูเขาคันธมาทน์ พิจารณาเห็นสังขพราหมณ์กำลังจะเดินทางนำทรัพย์มา จึงตรวจสอบว่า บุรุษนี้ไปหาทรัพย์ จะมีอันตรายในทะเลหรือไม่หนอ ? ก็ทราบว่า จะมีอันตรายจึงคิดว่า บุรุษนั้นเห็นเราแล้ว จะถวายร่มและรองเท้าแก่เรา เมื่อเรืออัปปางกลางทะเล เขาจะได้ที่พึ่งด้วยอานิสงส์ที่ถวายรองเท้า เราจะอนุเคราะห์เขา แล้วเหาะมาลง ณ ที่ใกล้พราหมณ์ เดินเหยียบทรายร้อนเช่นกับถ่านเพลิงเพราะลมแรงแดดกล้า ตรงมาหาสังขพราหมณ์

สังขพราหมณ์นั้น พอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นเกิดความยินดีว่า บุญเขต (เนื้อนาบุญ) ของเรามาถึงแล้ว วันนี้เราควรจะหว่านพืช คือถวายทานลงในบุญเขตนี้ จึงรีบเข้าไปนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า ขอท่านได้ลงจากทางสักหน่อยแล้วเข้าไปที่โคนต้นไม้นี้ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปที่โคนต้นไม้ ก็พูนทรายขึ้นแล้วเอาผ้าห่มปูลาดนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วล้างเท้าด้วยน้ำที่อบและกรองใสสะอาด ทาเท้าด้วยน้ำมันหอม ถอดรองเท้าที่ตนสวมออกเช็ด ทาด้วยน้ำมันหอมแล้วสวมรองเท้าให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายร่มและรองเท้าด้วยวาจาว่าท่านผู้เจริญขอท่านสวมรองเท้ากั้นร่มไปเถิด

พระปัจเจกพุทธเจ้า เพื่อจะอนุเคราะห์สังขพราหมณ์จึงรับร่มและรองเท้า และเพื่อจะให้ความเลื่อมใสเจริญยิ่งขึ้นจึงเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ให้สังขพราหมณ์แลเห็น

ด้วยอานิสงส์ของการถวายทานนั้น เมื่อเรืออัปปาง สังขพราหมณ์จึงได้รับการช่วยเหลือจากนางเทพธิดามณีเมขลา ผู้พิทักษ์รักษาทะเล และได้เรือแก้วหนึ่งลำ พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติอีกเป็นอันมาก

แต่ถ้าทายกหลังจากถวายทานแล้ว เกิดความเสียดายไทยธรรมที่ถวายไปแล้ว อานิสงส์ของการถวายทานจึงไม่สมบูรณ์เต็มที่มัยหกสกุณชาดก [ชา.อ.๕/๘๓] เล่าเรื่องเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ซึ่งเกิดความเสียดายหลังจากถวายไทยธรรมแก่พระตครสิขีปัจเจกพุทธเจ้า

มีเนื้อหาย่อๆ ดังนี้ ในสมัยอดีต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี มีเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง ซึ่งไม่มีศรัทธา มีแต่ความตระหนี่ ไม่ได้ให้อะไรแก่ใครๆ ไม่สงเคราะห์ใครๆ วันหนึ่งเขาเดินทางไปเฝ้าพระราชา เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าตครสิขี กำลังเดินไปบิณฑบาต ไหว้แล้วจึงถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านได้ภิกษาแล้วหรือ ? เมื่อท่านตอบว่า มหาเศรษฐี อาตมากำลังเดินไปเรื่อยๆ ไม่ใช่หรือ ? จึงสั่งให้ชายคนหนึ่งว่า ไปเถิด เจ้าจงนำพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ไปบ้านของเรา ให้ท่านนั่งบนแท่นของเรา แล้วให้บรรจุอาหารที่เขาเตรียมไว้สำหรับเราให้เต็มบาตรแล้วถวายไป ชายคนนั้นนำพระปัจเจกพุทธเจ้าไปเรือนแล้วให้นั่ง บอกให้ภรรยาเศรษฐีทราบ ให้บรรจุอาหารที่มีรสเลิศนานาชนิดให้เต็มบาตรแล้วถวายท่านไป ท่านรับภิกษาแล้วได้ออกจากนิเวศน์ของเศรษฐีแล้วเดินไปตามถนน เศรษฐีกลับจากพระราชวังเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงไหว้แล้วถามว่า ท่านผู้เจริญท่านได้รับภิกษาแล้วหรือ ? พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นตอบว่าได้แล้ว ท่านมหาเศรษฐี ปรากฏว่าเศรษฐีนั้นแลดูบาตรแล้วไม่อาจทำจิตให้เลื่อมใสได้ คิดว่าอาหารนี้ ทาสหรือกรรมกรกินแล้วคงทำงานแม้ที่ทำได้ยาก น่าเสียดายหนอ ! เราเสื่อมเสียทรัพย์สินเสียแล้ว

ฉะนั้น เพราะการถวายภิกษาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า เขาจึงได้รับทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก แต่ไม่อาจใช้สอยทรัพย์เหล่านั้นได้เพราะไม่สามารถทำอปรเจตนา คือเจตนาดวงหลังให้ประณีต หมายถึงว่า ถวายภิกษาแล้วเกิดความเสียดายในไทยธรรมที่ถวายไป


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 20:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


มติของอรรถกถาเกี่ยวกับคุณธรรมและความรู้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก


ปรมัตถโชติกา [ขุทฺทก.อ.๑๕๕/๑๕๖] ได้แบ่งประเภทของสรรพสัตว์ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูงไว้ดังนี้

สัตว์ที่มีวิญญาณมี ๒ ประเภท คือ สัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์

มนุษย์มี ๒ เพศ คือ สตรีและบุรุษ

บุรุษมี ๒ ประเภท คือ ปุถุชนและนักบวช

นักบวชมี ๒ ประเภท คือ เสขะและอเสขะ

อเสขะมี ๒ ประเภท คือ สุกขวิปัสสกะ (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน แล้วจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก) และสมถยานิก (ผู้เจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อ)

สมถยานิกมี ๒ ประเภท คือ ที่บรรลุสาวกบารมีและไม่บรรลุสาวกบารมี

กล่าวกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศกว่าผู้ที่บรรลุสาวกบารมี (พระสาวก) เพราะเหตุไรจึงเลิศกว่า ? เพราะมีคุณมาก พระสาวกหลายร้อยรูป แม้เช่นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นต้น ก็ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งร้อยคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียว แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศแม้กว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเหตุไร ? เพราะมีคุณมากถ้าว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งขัดสมาธิเบียดกันทั่วทั้งชมพูทวีปก็ไม่เท่าส่วนเสี้ยวแห่งคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว

ปรมัตถโชติกา [สุตฺต.อ. ๑/๔๘] ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้เป็นอันมาก บรรยายถึงความแตกต่างทางด้านความรู้ระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก ไว้ดังนี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสรู้ได้เองและทรงสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามได้อีกด้วย (จนกระทั่งถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน)

พระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสรู้ได้เอง แต่ไม่อาจสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามได้ แทงตลอดอรรถรสเท่านั้น ไม่สามารถแทงตลอดธรรมรสได้ เพราะว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่อาจเพื่อจะยกโลกุตตรธรรมเป็นบัญญัติขึ้นแสดงได้ การบรรลุธรรมจึงมีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน เหมือนรสกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น

พระปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุธรรมทั้งหมดรวมถึงฤทธิ์ สมาบัติ และปฏิสัมภิทา มีคุณพิเศษต่ำกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เหนือกว่าพระสาวก ให้บุคคลอื่นบวชได้ ให้ศึกษาอภิสมาจาร ด้วยอุเทศนี้ว่า พึงขัดเกลาจิต ไม่พึงท้อถอย หรือทำอุโบสถโดยเพียงพูดว่า วันนี้อุโบสถ และเมื่อทำอุโบสถประชุมกันทำ ณ รัตนมาลา โคนต้นไม้มัญชุสา ในภูเขาคันธมาทน์

สรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาไม่ว่าด้านคุณธรรม หรือความรู้ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหนือกว่าพระสาวก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเหนือกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 20:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


วิถีชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า
: การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว


คุณลักษณะพิเศษที่สำคัญประการหนึ่งของพระปัจเจกพุทธเจ้า คือ การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือการดำเนินชีวิตอยู่เพียงลำพัง (เอกะ) ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบการดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกับนอแรด (ขคฺควิสาณกปฺโป) [ขุ.จู.ขัคควิสาณสุตตนิทเทส.๓๐/๑๒๔] ซึ่งแรดของอินเดียมีเพียงนอเดียว ส่วนแรดในประเทศอื่นมี ๒ นอก็มี แต่กระนั้นก็ตาม พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องมาประชุมพร้อมกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน คือในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นและในวันอุโบสถ

คงเห็นแล้วว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น มิได้หลีกเร้นหนีสังคมแต่ประการใด เมื่อมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน ท่านก็มาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ปุถุชนธรรมดาไม่อาจที่จะเข้าใจวิถีชีวิตดังกล่าว ของพระปัจเจกพุทธเจ้าได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ

ถือได้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้เดียวหรือผู้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยเหตุ ๙ ประการ คือ

๑. ชื่อว่าผู้เดียว เพราะการบรรพชา หมายถึงว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ตัดกังวลในฆราวาส, บุตร, ภรรยา, ญาติและการสะสมสมบัติ ปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม่กังวล เป็นผู้เดียวเที่ยวไป

๒. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไม่มีเพื่อน (เมื่อถึงฐานะเช่นนั้นแล้วไม่ต้องการเพื่อน) หมายถึงว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้เดียวอาศัยที่อยู่คือป่าและป่าชัฏอันสงัด มีเสียงน้อยปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากลม อยู่โดดเดี่ยวไกลจากพวกมนุษย์สมควรแก่การหลีกเร้น เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป

๓. เป็นผู้เดียวเพราะละตัณหา หมายถึงว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียร ส่งจิตไปอยู่ กำจัดมารและเสนามาร ละตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ

๔. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากราคะแน่นอน

๕. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโทสะแน่นอน

๖. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโมหะแน่นอน

๗. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะหมดกิเลสแน่นอน

๘. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะดำเนินสู่ทางเป็นที่ดำเนินไปผู้เดียว (เอกายนมรรค) เอกายนมรรคนั้น หมายถึง สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ (คือโพธิปักขิยธรรม)

๙. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณอันยอดเยี่ยมผู้เดียว หมายถึงว่า รู้แจ้งไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจสี่นั่นเอง


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 20:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บทสรุป

บางคนอาจมีความกังขาว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือไม่ ? ขอเฉลยว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง และมิใช่มีเพียงองค์เดียวเท่านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่มีเป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง ในที่นี้ขอยกตัวอย่างรายชื่อของ พระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต เฉพาะองค์สำคัญที่พบในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาเสนอไว้ อาทิเช่น พระตครสิขี พระอุปริฏฐะ พระมหาปทุม พระมาตังคะ เป็นต้น นอกจากนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคต ก็ยังมีปรากฏให้เห็น อาทิเช่น พระอัฏฐิสสระ ซึ่งก็คือพระเทวทัต ก่อนจะมรณภาพโดยถูกแผ่นดินสูบ ขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือพระโคตมะ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ด้วยกระดูกพร้อมด้วยลมหายใจ ด้วยอานิสงส์ดังกล่าว จึงทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตได้

อนึ่ง การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำเป็นต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานมาก อาจทำให้คนที่ปรารถนาตำแหน่งดังกล่าวเกิดความท้อถอย คลายความเพียรได้ แต่ถ้าจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี โดยใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น


>>>>> มีต่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 20:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คาถาบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า

สัพเพ ปัจเจกะสัมพุทธา นิโรธะฌานะโกวิทา นิราละยา นิราสังกา อัปปะเมยยา มะเหสะโย ทูเรปิ วิเนยเย ทิสวา สัมปัตตา ตังขะเณนะ เต สันทิฏฐิกะผะเล กัตตะวา สะทา สันติง กะโรนตุ โน

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งปวง ทรงปรีชาญาณในนิโรธสมาบัติและฌาณสมาบัติ ทรงปราศจากความกำหนัดยินดี หมดความรังเกียจ ทรงคุณอันหาประมาณมิได้ ทรงแสวงหาคุณอันประเสริฐ ทรงมีมหาทานบารมีเป็นเลิศ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ เห็นหมู่เวไนยสัตว์แม้ในที่ใกล้ไกล ก็ทรงพระเมตตาเสด็จไปช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้น ให้ได้รับประโยชน์โดยพลัน โปรดประทานความสงบร่มเย็นทั้งทางโลกและทางธรรม แก่พวกข้าพระองค์ในกาลทุกเมื่อเถิด



>>>>> จบ >>>>>


คัดลอกและรวบรวมมาจาก
วารสารสิรินธรปริทรรศน์ พระปัจเจกพุทธเจ้า : พุทธที่ถูกลืม
โดยมานพ นักการเรียน อาจารย์ประจำ, ป.ธ.๖, ศน.ม. (พุทธศาสนาและปรัชญา)

http://www.dharma-gateway.com/
http://www.buddhabhumi.info/buddhabumi/ ... atjek.html

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2010, 22:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2010, 07:17
โพสต์: 161

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พอดีว่าไปเจอเรื่องนี้พอดี เลยขออนุญาตมาร่วมแจมด้วยคนนะคะ
อนุโมทนาสาธุ ค่ะ :b8: :b8:


พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นผู้มีปัญญาตรัสรู้สำเร็จด้วยตนเองเช่นพระพุทธเจ้า แต่ไม่สามารถถ่ายทอดธรรมให้ใครๆ ได้ อาจจะเนื่องจากท่านไม่ได้สะสมบารมีในการเทศนามาเพียงพอ หรืออาจจะเป็นด้วยกาลสมัยที่ไม่มีใครมีภูมิธรรมสูงพอที่จะฟังท่านเข้าใจ
เสมือน เป็นครูผู้รู้ที่ซ่อนกายครับ

ส่วน พระศรีอริยเมตรัย จัดเป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระมหาบุรุษในยุคเรา เป็นผู้ตรัสรู้ธรรมและสามารถประกาศธรรมที่ได้ตรัสรู้แล้วนั้นให้สัตว์โลก อื่นๆ ได้รู้ตามได้
ทั้งสองจึงต่างกันตรงที่บารมีในการประกาศศาสนาครับ
เสมือน โรงเรียนเล็กกับโรงเรียนใหญ่ แต่มีวิชาเช่นเดียวกัน


โลกเกิดขึ้นและถูกทำลายไป นับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ระยะเวลา 1 คาบของโลก คืออายุขัยของโลกตั้งแต่โลกเริ่มก่อตัวใหม่ๆ ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อยู่เลย จนเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมา จนกระทั่งโลกถูกทำลายไป แล้วเริ่มก่อตัวขึ้นมาใหม่ จนอยู่ในสภาพเดิมอีกครั้ง 1 รอบเช่นนี้เรียกว่า 1 กัปของโลก

กัป, กัลป์ (life Span) : กาลกำหนด,ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬ ประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วนกว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่ง"ยาวนานกว่านั้น"; กำหนดอายุของโลก; กำหนดอายุเรียกเต็มว่า อายุกัปเช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ประมาณ๑๐๐ ปี

พระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตมีมากมายนับไม่ถ้วน ในบางกัปของโลกก็ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาเลย บางกัปก็มีพระพุทธเจ้า 1, 2, ..., 5 พระองค์เป็นอย่างมาก โดยที่คำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนสิ้นสูญไปแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่จึงจะอุบัติขึ้น

โลกธาตุหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว *๑

อานนท์! ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะนั้น ย่อมรู้ว่า ข้อนี้มิใช่ ฐานะ ข้อนี้มิใช่โอกาสที่จะมี คือข้อที่ในโลกธาตุอันเดียว จะมีพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ สององค์ เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อน ไม่หลังกัน. นั่นมิใช่ฐานะที่จะมีได้.

ส่วนฐานะ อันมีได้นั้น คือข้อที่ใน โลกธาตุอันเดียว มีพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะองค์เดียว เกิดขึ้น. นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้.

๑. บาลี พหุธาตุกสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๑๗๑/๒๔๕. ตรัสแก่พระอานนท์ ที่เชตวัน.

พระพุทธเจ้า: ท่านผู้ตรัสรู้แล้ว,ผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ อย่างถ่องแท้ ตามอรรถกถาท่านแบ่งเป็น ๓ คือ

๑.พระพุทธเจ้า ท่านผู้ตรัสรู้เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตาม (บางทีเรียกพระสัมมาสัมพุทธะ)
๒. พระปัจเจกพุทธะท่านผู้ตรัสรู้เองจำเพาะผู้เดียว มิได้สั่งสอนผู้อื่น
๓. พระอนุพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า (เรียกอีกอย่างว่าสาวกพุทธะ);

พระ พุทธเจ้า ๕ พระองค์แห่งภัทรกัป
พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันได้ตรัสเอา ไว้ว่า ในกัปนี้จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นทั้งหมด 5 พระองค์ (เพราะฉะนั้นกัปนี้จึงได้ชื่อว่าภัทรกัป) คือ

1. พระกุกกุสันธะพุทธเจ้า
2. พระโกนาคมนะพุทธเจ้า
3. พระกัสสปะพุทธเจ้า
4. พระโคตมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน)
5. พระเมตไตรย์พุทธเจ้า (เรียกกันสามัญว่าพระศรีอาริย์ หรือพระศรีอริยเมตไตรย); จะอุบัติขึ้นในภายหน้า หลังจากสิ้นศาสนาพระโคดม
แล้ว ในคราวที่มนุษย์มีอายุยืน ๘๐,๐๐๐ ปี นับเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๕แห่งภัทรกัปปนี้

พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคตมพุทธเจ้า(พระพุทธเจ้าพระองค์
ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เอง
ด้วย คือ ๑. พระทีปังกร ๒. พระโกณฑัญญะ ๓. พระมังคละ ๔. พระสุมนะ ๕. พระเรวตะ๖. พระโสภิตะ ๗. พระอโน มทัสสี ๘. พระปทุมะ ๙. พระนารทะ ๑๐. พระปทุมุตตระ ๑๑. พระสุเมธะ ๑๒. พระสุชาตะ๑๓. พระปิยทัสสี ๑๔. พระอัตถทัสสี ๑๕. พระธัมมทัสสี ๑๖. พระสิทธัตถะ ๑๗. พระติสสะ ๑๘. พระปุสสะ๑๙. พระวิปัสสี ๒๐. พระสิขี ๒๑. พระเวสสภู ๒๒. พระกกุสันธะ ๒๓. พระโกนาคมน์ ๒๔. พระกัสสปะ ๒๕. พระโคตมะ(เรื่องมาในคัมภีร์พุทธวงส์ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก)

พระศรีอริยเมตรัย เป็นพระพุทธเจ้าที่จะทรงตรัสรู้ด้วยความเพียร บำเพ็ญพระบารมีมานานถึง 16 อสงไขย และ แสนกัลป์ (พระพุทธองค์ ตรัสรู้ด้วยปัญญาบารมี ใช้เวลา 4 อสงไขย แสนกัลป์)

พระเทวทัต เป็นคู่กรรมกับพระพุทธองค์ ขณะธรณีสูบได้สติ และ ถวายชืวิตเป็นพุทธบูชา พระพุทธองค์ทรงมีพุทธทำนายว่า เมื่อพ้นจากการใช้กรรม พระเทวทัตจะกลับมาเสวยชาติเป็นมนุษย์ และ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
พระ เจ้าปเสนทิโกศล ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เช่นเดียวกับพระสมณโคดม จีงทรงไม่บรรลุชั้นพระโสดาบัน หรือ สิ่งใด เพราะพระองค์จะพบธรรมเหล่านั้นด้วยพระองค์เองในกาลข้างหน้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าคือท่าน ผู้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แต่คิดว่าคงจะไม่มากเท่าผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระตถาคตหรอกนะครับ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงไม่ทรงมีพระกำลังบางอย่างเท่ากันกับพระตถาคตนั่นก็คือ ตถาคตพลญาณ หรือญาณ 10 อย่างของพระตถาคต จึงทำให้ท่านไม่สามารถ สั่งสอนบุคคลทั้งหลายได้ด้วยนวัคสัตถุศาสน์ทั้ง 9 อย่าง ต้องผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้าอยู่ในวิสัยของท่านเท่านั้น ท่านจึงจะสามารถโปรดให้บรรลุมรรคผลอันใดอันหนึ่งได้

ในกรณีของพระเจ้าปเสนทิโกศล เท่าที่ผมทราบนะครับรู้สึกว่าท่านจะปรารถนาเป็นพระตถาคตและจะสำเร็จด้วย (ตามโสตัตถกีมหานิทาน ของท่านจูฬพุทธโฆษะและอนาคตวงศ์ครับ)มีพระนามว่า พระธรรมราชาสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ
พระศรีอาริยเมตไตย หรือพระเมตไตยสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นพระตถาคตองค์ถัดไปในภัทรกัล์ปนี้ครับ

ส่วนพระเทวทัตท่าน ปรารถนาจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า โดยเมื่อก่อนที่ท่านจะถูกธรณีสูบหมด เมื่อธรณีสูบถึงอก ท่านก็เปล่งวาจาปรารถนาว่า
" ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้เกิดด้วยบุญตั้งร้อยว่าเป็น ที่พึ่ง ด้วยทานที่ข้าพเจ้าถวายกระดูกซี่โครงนี้ขอให้ในอนาคตกาล ข้าพเจ้าจงเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งด้วยเถิด" (ผมอาจจะจำประโยคได้ไม่ค่อยแม่นขออภัยด้วยครับ) พระตถาคตทรงตรัสว่าท่าน(พระเทวทัต)จะสำเร็จความปรารถนาของท่านแน่นอน
และ ที่ผมพบคือสมัยหนึ่งพระอุบลวรรณาเถรี(อัครสาวิกาเบื้องซ้าย)เคยไปเกิดเป็น พระมเหสีของกษัตริย์เมืองหนึ่ง(ผมจำไม่ได้)แล้วมีพระราชโอรสถึง 500 พระองค์ตามคำอธิษฐานของนาง แล้วต่อมาพระราชโอรสทั้ง 500 องค์ก็ไปนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว แล้วเป็นพระอรหันต์ ซึ่งตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทั้ง 500 องค์ ก็เท่ากับว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีได้หลายๆพระองค์ในคราวเดียว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านเหล่านี้(พระปัจเจกพุทธเจ้า)จะไม่ทรงอุบัติขึ้นมาในขณะที่สมัยของพระ ศาสนาของพระตถาคตพระองค์ใดพระองค์หนึ่งยังคงมีอยู่ (พุทธันดร)

พระเจ้าปเสนทิโกศล จะได้เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อพระธรรมราชา

พระ เทวทัตที่ก่อนโดนพระธรณีสูบได้สำนึกตนและอะษฐานถวายกระดูกคางของตนเป็นพุทธ บูชา พระพุทธเจ้าได้กล่าวว่า พระเทวทัตจะได้เป็นปัจเจกพุทธเจ้าชื่ออัฏฐิสระ หลังจากใช้หนี้กรรมในอเวจีมหานรกหมด

พญามาราธิราชที่มาขัดขวางการ ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าของเราต่อมาก็จะปรับปรุงจิต และได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นกันทรงพระนามว่า พระธรรมสามี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2011, 10:50 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2011, 10:54
โพสต์: 3


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณครับ หาข้อมูลมานาน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2011, 14:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ต.ค. 2009, 15:06
โพสต์: 7505

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


tongue
...ขออนุโมทนาสาธการกับทุกๆท่านเจ้าค่ะ...
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร