วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 00:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2012, 20:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


สมรส หมายถึง รสนิยมเสมอกัน

มีจริตนิสัย ชอบและไม่ชอบอะไรคล้ายๆกัน

จึงเข้ากันได้เป็นอย่างดี



แนบไฟล์:
httpt3.gstatic.comimagesq=tbnANd9GcRulKQ1W6KKkHGT_q8bA7XLb.jpg
httpt3.gstatic.comimagesq=tbnANd9GcRulKQ1W6KKkHGT_q8bA7XLb.jpg [ 5.64 KiB | เปิดดู 5461 ครั้ง ]



เมื่อเราใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในฐานะต่างๆ ต้องมีคุณธรรม และมีรสนิยมเสมอกัน จึงจะมีความสุข ถ้าต่างกันมาก เข้ากันไม่ได้ ก็มักเกิดปัญหาตามมา


โดยเฉพาะชีวิตคู่ เป็นสามีภรรยาต้องใกล้ชิดกันมาก จนเรียกได้ว่าทั้งเราและเขา มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ร่วมกันไปตลอดชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ หากตัดสินใจจะใช้ชีวิตคู่กับใคร


อารมณ์รักเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อเราสามารถเริ่มต้นชีวิตคู่กับคนที่เรารักมากๆ เรารู้สึกสมหวังในความรัก โลกทั้งโลกสวยงามสดใสสำหรับเรา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรานี้ไม่แน่นอน ชีวิตสมรส อาจจะเป็นชีวิตคู่ที่อบอุ่น สร้างครอบครัวที่มีความสุขร่วมกัน หรือโดยส่วนใหญ่ก็มีทุกข์บ้าง สุขบ้าง อย่างปุถุชนทั่วๆไป แต่สำหรับบางคู่อาจจะเป็นชีวิตที่ตกนรกทั้งเป็นก็มี เปรียบชีวิตคู่เหมือน ชีวิตแบบยักษ์อยู่ด้วยกัน ชีวิตแบบเปรตอยู่ด้วยกัน ชีวิตแบบเดรัจฉานอยู่ด้วยกัน



อย่าหลงเชื่อในความรู้สึกรัก ซึ่งไม่แน่นอน


รูปภาพ



อารมณ์รักก็มีลักษณะเช่นเดียวกับ จิตที่เกิดอุปาทาน เหมือนการติดบุหรี่ เล่นการพนัน ติดยาเสพติด ที่เกิดจากอุปาทานยึดมั่นถือมั่นของจิต การหลงรักในสิ่งที่คนทั่วไปไม่รักก็มีมาก จึงทำให้ชีวิตมนุษย์เรานั้นสับสนวุ่นวายอยู่ในทุกวันนี้


เมื่อเรารู้ว่าอารมณ์รักเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราจึงไม่ควรใช้อารมณ์รักเพียงอย่างเดียว มาเป็นข้อตัดสินใจในการเลือกชีวิตคู่


พระพุทธเจ้าทรงให้หลักในการพิจารณาไว้ว่า


ชีวิตคู่ที่จะมีความสุขร่วมกันได้ดี ควรมีคุณธรรมเสมอกัน ๔ ประการ คือ


๑.ศรัทธา ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม

๒.ศีล ความประพฤติดีทางกาย และวาจา

๓.จาคะ ความเสียสละ รู้จักแบ่งปัน

๔.ปัญญา ความรู้ว่าสิ่งใดดีหรือชั่ว


อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงเป็นเรื่องยากที่จะได้คู่ครองที่มีความคิดจิตใจเหมือนกันกับเรา หลวงพ่อชาเคยเปรียบชีวิตคู่ไว้ว่า เหมือนเอาไม้สองท่อน มามัดไว้ด้วยกัน ถ้าไม้ท่อนเดียว เอามือจับปลายสองข้าง จะดึงจะโค้งงออย่างไร มันก็ทนกว่าไม้สองท่อนที่จับเอามามัดกันไว้ เมื่อเราจับงอหรือดึงไปคนละทาง มันง่ายอยู่แล้วที่จะหลุดออกจากกัน


ดังนั้น เมื่อคนสองคนมาอยู่ด้วยกันแล้ว ก็ต้องรักกัน สามัคคีกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างคนต่างต้องแก้ไข ปรับตัวเองเพื่อเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องรู้จักอดทน เมื่อเกิดไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ต้องละทิฏฐิมานะ ความเห็นแก่ตัว พยายามปล่อยวาง และให้อภัยต่อกัน เรียกได้ว่าทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติธรรมแบบอุกฤษฏ์ ต้องช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆไปได้ และใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นสุข สบายใจ


เนื้อคู่ : คู่แท้ หรือ คู่เทียม


แนบไฟล์:
109290140.jpg
109290140.jpg [ 84.02 KiB | เปิดดู 5461 ครั้ง ]



เนื้อคู่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ว่า "ชายและหญิง ที่ถือกันว่าได้เคยครองคู่กันมาแต่ปางก่อน , ชายและหญิง ที่เหมาะสมเป็นคู่ครองกัน"

โดยส่วนใหญ่ชีวิตคู่มักเริ่มต้นด้วยดี มีทั้งความรัก ความสุข ช่วยกันประคับประคองชีวิตคู่ด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย หลายคนมีชีวิตคู่ที่ราบรื่นไปตลอดรอดฝั่ง แต่มีไม่น้อยที่ล้มเหลว บางคู่ต้องหย่ากัน บางคู่ถึงแม้ว่าอยู่ด้วยกัน แต่ความรัก ความสุขที่เคยให้แก่กันไม่เหลือแม้แต่น้อย ก็ต้องทนอยู่ด้วยกันอย่างเป็นทุกข์


การใช้ชีวิตร่วมกันของสามีภรรยาหลายๆคู่ หากพิจารณาถึงการปฏิบัติต่อกันทั้งแง่กายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม จะพบว่า ทางกายกรรม หมายถึง การกินด้วยกัน นอนด้วยกัน มีลูกด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน ถ้ามองจากภายนอกดูเหมือนเป็นคู่ที่มีความสุข รักใคร่ปรองดองกันดี จนหลายๆคนอาจจะรู้สึกอิจฉา แต่สำหรับเจ้าตัวจริงๆแล้ว การปฏิบัติต่อกันในทางวจีกรรม มโนกรรม มีแต่ทะเลาะเบาะแว้งกัน โกรธกัน น้อยใจ เจ็บใจ มีแต่ความทุกข์ ไม่มีคำว่าสุข แต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้ ก็ยังต้องอดทนอยู่ด้วยกัน เพราะความจำเป็นทางสังคม หรือ เพราะเห็นแก่ลูก


ชีวิตคู่ ที่เป็นเนื้อคู่กันประเภทนี้ก็มีมาก คือชาตินี้ แม้จะมีความผูกพันกันทางกายกรรม แต่ทางวจีกรรม มโนกรรม กลับเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ดีแก่กัน จึงดูเหมือนว่า ทางกายกรรมนั้นรักกัน โดยที่ความเป็นจริงแล้วต่างฝ่ายไม่มีความรู้สึกรักกันเลย แต่ในสถานภาพทางสังคมที่เป็นสามีภรรยากันต้องอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน จะเดินทางไปไหนก็ยังต้องร่วมรถคันเดียวกันเป็นครอบครัว


สามีภรรยาที่มีปัญหาเช่นนี้ บางครั้งต่างคนต่างตั้งจิตอธิษฐานว่า ชาติหน้าอย่าได้พบกันอีก ขอเจอชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แต่ด้วยอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าจะรักกันหรือเกลียดชังกันก็ตาม ไม่ว่าจะด้วยความพอใจหรือไม่พอใจต่อกันอย่างไร ในทางมโนกรรม คือความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อกัน จะเป็นการดึงเข้าหากันอยู่ตลอด ไม่ปล่อยวางจากกัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้อย่างมากที่ บุคคลทั้งสองเมื่อต่างคนต่างตายจากกันในชาตินี้ ถ้าชาติหน้าเกิดมา โตเป็นหนุ่มเป็นสาวได้พบกันเมื่อไรก็เกิดอารมณ์รักที่รุนแรง มีความดีใจ พอใจที่ได้เจอกัน เพราะทางกายกรรมในอดีตชาตินั้น เคยใกล้ชิด ใช้ชีวิตร่วมกันมา เกิดมาในชาติใหม่ จึงเป็นเนื้อคู่กันอีก ที่เคยทุกข์ โกรธเกลียดกันก็ลืมไป


แต่คงต้องเรียกว่าเป็นเนื้อคู่เทียม เพราะเป็นเนื้อคู่ที่เป็นผลของกรรมเก่า คือกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมที่สร้างร่วมกันมา ทำดีต่อกันบ้าง ทะเลาะกัน โกรธเกลียดกันบ้าง เป็นความรักที่หาความสุขแท้จริงไม่ได้ เพราะไม่ใช่เนื้อคู้แท้ที่ครองคู่กันด้วยความรักความเมตตา


ดังนั้น เมื่อต้องใช้ชีวิตคู่ด้วยกันในชาตินี้แล้ว สามีภรรยาจึงควรสร้างกรรมที่ดีต่อกัน ทั้งทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แม้ว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ควรรู้จักอดทน ปล่อยวาง ให้อภัยต่อกัน ถ้าทำได้ก็จะเป็นอานิสงส์ให้มีความสุข ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2012, 20:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์


รูปภาพ





โรงครัวที่ไม่มีน้ำตาล เกลือ ไม่ใช่โรงครัว
การปรุงอาหารให้อร่อย ต้องใช้น้ำตาล เกลือ
ขาดน้ำตาล ขาดเกลือ รสชาติอาหารก็ไม่อร่อย
น้ำตาล เกลือ จึงเป็นเครื่องปรุงอาหารที่สำคัญ




ในเวลาเดียวกัน โทษของน้ำตาล เกลือ ก็มีมาก
โรคเจ็บไข้ป่วยของคนเราหลายโรคมีสาเหตุมาจาก
การรับประทาน น้ำตาล เกลือ มากไป
บางคนก็บอกว่า น้ำตาลมีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์เลย
แต่ร่างกายก็ต้องการน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม




ชีวิตที่ปราศจากความรัก ไม่ใช่ชีวิต
สำคัญที่สุดในชีวิตคือความรัก
ความรักคือชีวิต ชีวิตคือความรัก
ความสุขของชีวิต เกิดจากความรัก
ความทุกข์ของชีวิต เกิดจากความรักเช่นกัน



ทุกข์เพราะความรัก ก็มีมาก
จนบางครั้งดูเหมือน ความรักคือความทุกข์
ทุกข์มากๆ ทำใจไม่ได้ จนถึงขั้นฆ่ากันตาย
ทำลายชีวิตตัวเอง ก็มีมาทุกยุคทุกสมัย




เรื่องของนางภัททา



แนบไฟล์:
Give_with_your_Heart_by_trishvandenberg.jpg
Give_with_your_Heart_by_trishvandenberg.jpg [ 11.04 KiB | เปิดดู 5457 ครั้ง ]




ในสมัยพุทธกาล ก็มีเรื่องของนางภัททา ธิดาเศรษฐี มีอายุย่างเข้าวัย 16ปี มีรูปร่างสวยงาม บิดามารดาจึงระวังรักษาให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ 7 ให้หญิงรับใช้คอยดูแล แต่ธรรมดาของหญิงสาวในวัยนี้ ย่อมมีความฝักใฝ่ในชายหนุ่ม ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำโจรหนุ่มผ่านมาทางบ้านของนาง พอนางเปิดหน้าต่างมองลงไปเห็นโจรเท่านั้น ก็เกิดจิตรักใคร่ในตัวโจรทันที คิดว่า ชาตินี้ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มมาเป็นคู่ครอง ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ และรู้ว่าพวกเจ้าหน้าที่กำลังนำโจรไปประหาร ความรู้สึกของนางเหมือนกับกำลังสูญเสียสามีสุดที่รัก ฝ่ายสาวใช้เห็นเช่นนั้น จึงรีบแจ้งให้เศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาทราบ บิดามารดาของนางพอมาถึง ก็ได้ไต่ถามทราบจากปากของธิดาว่า ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มคนนั้นมาเป็นคู่ ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป


บิดามารดาช่วยกันพูดอ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เป็นผล ด้วยความรักและห่วงใยในลูกสาว จึงยอมติดสินบนเจ้าหน้าที่ ขอไถ่ชีวิตโจรหนุ่มคนนั้น โดยให้นำมาส่งที่บ้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชบุรุษทั้งหลาย รับสินบนไปแล้ว ก็ได้นำโจรหนุ่มคนนั้นมามอบให้แก่เศรษฐี แล้วนำนักโทษอีกคนหนึ่งไปประหารชีวิตแทน แล้วกราบทูลพระราชาว่าฆ่าโจรสัตตุกะเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีรับตัวโจรหนุ่มสัตตุกะไว้แล้ว ให้อาบน้ำชำระร่างกายและมอบเสื้อผ้าชั้นดีให้สวมใส่ ก่อนนำไปยังปราสาทของลูกสาว ทำพิธีส่งตัวให้เป็นคู่สามีภรรยา


โจรสัตตุกะมีความสุขอยู่ในบ้านของเศรษฐีพรั่งพร้อมทุกอย่าง ได้ทั้งภรรยาที่แสนสวย ทรัพย์สินเงินทองก็มีให้ใช้อย่างสุขสบาย แต่เขาก็อยู่ได้ไม่นานเพราะนิสัยสันดานโจร อดที่จะทำชั่วไม่ได้ เขาคิดจะฆ่าภรรยา เพื่อจะนำเอาเครื่องประดับอันมีค่านั้นไปขาย แล้วนำเงินมาหาความสุขสำราญ เขาจึงวางแผนพาภรรยาไปที่ยอดภูเขา หลอกว่าเพื่อไปทำพิธีพลีกรรมเทวดาที่ตนได้บวงสรวงไว้ แต่เมื่อไปถึงหน้าผา โจรสัตตุกะก็พูดกับนางด้วยเสียงอันแข็งกร้าวเด็ดขาดว่า


"ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มออก แล้วถอดเครื่องประดับทั้งหมดมัดห่อรวมกันไว้เดี๋ยวนี้"

นางภัททา ได้ฟังคำและเห็นกิริยาของสามีเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็ตกใจทำอะไรไม่ถูก ละล่ำละลักถามสามีว่า

"นายจ๋า ดิฉันทำอะไรผิดหรือ?"

"นางหญิงโง่ ความจริงเราจะควักตับกับหัวใจของเจ้าถวายแก่เทวดาที่นี่ แล้วยึดเอาเครื่องอาภรณ์ของเจ้าทั้งหมดไปใช้จ่ายหาความสุข"

"นายจ๋า ก็ทั้งตัวดิฉันกับเครื่องประดับทั้งหมดนี้ก็เป็นของท่านอยู่แล้ว ทำไมท่านจะต้องฆ่าฉันเพื่อยึดเครื่องประดับด้วยอีกเล่า"

แม้นางจะอ้อนวอนชี้แจงอย่างไร โจรโง่ใจร้ายก็ไม่ยอมรับฟัง ตั้งหน้าแต่จะฆ่านางเอาเครื่องประดับอย่างเดียว นางตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอก มองเห็นความตายอยู่แค่เอื้อม จึงรวบรวมสติไว้แล้วคิดว่า ขึ้นชื่อว่าปัญญาที่ติดกับตัวมาตั้งแต่เกิดนั้น มิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน แต่มีไว้เพื่อพิจารณาหาหนทางดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาชีวิต เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาชีวิตให้รอด เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงกล่าวกับสามีโจรชั่วว่า

"เอาละนายจ๋า วันที่ท่านถูกราชบุรุษเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุม พาตะเวนประจานไปทั่วเมืองก่อนนำมาประหารที่ภูเขาทิ้งโจรนี้ ดิฉันได้อ้อนวอนบิดามารดา ให้สละทรัพย์เป็นอันมากไถ่ชีวิตท่าน แล้วนำมาแต่งงานกับดิฉัน และดิฉันก็มีความรักต่อท่านอย่างสุดหัวใจ วันนี้ท่านมีความประสงค์จะฆ่าดิฉันให้ได้ เพื่อต้องการเครื่องประดับ แต่ก็ไม่เป็นไร ก่อนที่ดิฉันจะตายขอให้ดิฉันได้แสดงความรักต่อท่าน เป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิด ขอให้ท่านจงยืนตรงนั้น แล้วดิฉันจะขอสวมกอดท่านทั้ง 4 ทิศ หลังจากนั้นท่านก็จงประหารดิฉันเถิด"

โจรชั่วสัตตุกะเห็นกิริยาอาการและฟังคำพูดของนางดูเป็นปกติสมจริง จึงยอมให้นางกระทำตามที่ขอ แล้วไปยืนตรงที่นางบอกบนยอดเขา ขณะนั้น นางภัททาผู้เป็นภรรยาได้ทำการประทักษิณ เดินเวียนขวารอบสามี 3 รอบ แล้วไหว้ทั้ง 4 ทิศ พร้อมกับกล่าวว่า

"นายจ๋า นี่เป็นการเห็นท่านเป็นครั้งสุดท้าย นับต่อแต่นี้ การที่ดิฉันจะได้เห็นท่าน และท่านจะได้เห็นดิฉันก็คงไม่มีอีกแล้ว"

เมื่อกล่าวจบ นางก็สวมกอดข้างหน้า แล้วก็เปลี่ยนมากอดข้างหลัง ขณะที่โจรชั่วเผลอตัวอยู่นั้น นางได้ผลักโจรตกลงไปในเหว ร่างของโจรชั่วแหลกเหลวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จบชีวิตอันชั่วร้ายของเขาที่เหวนั้น


นางภัททาหลังจากผลักโจรชั่วผู้เป็นสามีตกลงไปในเหวแล้ว คิดว่าถ้าเรากลับบ้านไป บิดามารดาก็จะต้องซักถาม หากทราบความจริงแล้ว คงจะตำหนิติเตียนนางที่ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังบิดามารดาตั้งแต่ต้น เมื่อคิดดังนี้ นางจึงตัดสินใจออกบวชในสำนักของพวกนิครนถ์ และต่อมาได้เที่ยวแสวงหาบัณฑิต จนได้พบกับพระสารีบุตร เกิดเลื่อมใสศรัทธา ขอศึกษาวิชาพุทธมนต์ในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งขอบรรพชาและถึงพระเถระเป็นสรณะ


แต่พระเถระบอกว่า ขอให้นางถึงพระพุทธองค์เป็นสรณะเถิด แล้วพานางไปยังพระวิหารเชตวัน นำเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงส่งนางให้ไปบวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์ เมื่อนางบวชแล้ว ได้ชื่อว่า "กุณฑลเกสาเถรี" เป็นภิกษุณีที่บรรลุอรหัตผล ในเวลาจบคาถาเพียง 4 บาท จึงเป็นเหตุให้ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่ายผู้ตรัสรู้เร็วพลัน


แนบไฟล์:
imagesCATPN057.jpg
imagesCATPN057.jpg [ 4.94 KiB | เปิดดู 5453 ครั้ง ]



เรื่องนี้เตือนสติเราได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่นอน ได้แต่งงานสมหวังในรักแล้ว คิดว่าชีวิตจะมีความสุข แต่ความสุขในอารมณ์รัก อารมณ์ใคร่ มันวางใจไม่ได้ ไม่เที่ยงแท้แน่นอนจริงๆ

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2012, 21:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


รักที่ไม่มีทุกข์


รูปภาพ




ความรักที่มีแต่สุข ไม่มีทุกข์เจือปน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางพุทธศาสนา ความรักอันบริสุทธิ์ ที่จะนำชีวิตไปสู่ความสุขแท้ คือความรักที่ต้องอาศัยคุณธรรมสำคัญ 4 ประการ คือ พรหมวิหาร 4 อันประกอบด้วย


1.เมตตา ปราถนาให้เขามีความสุข
2.กรุณา ปราถนาให้เขาพ้นจากทุกข์
3.มุทิตา พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดี
4.อุเบกขา ทำใจเป็นกลาง วางเฉย



เมตตา


เมตตา คือความรัก ความปราถนาดีให้เขามีความสุข การเจริญพรหมวิหาร 4 เริ่มต้นด้วยการเจริญเมตตาก่อน เพราะกรุณา มุทิตา และอุเบกขานั้น เป็นคุณธรรมที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ต้องใช้กำลังสติปัญญามากยิ่งๆขึ้นไป


เมตตาเป็นบารมีอย่างหนึ่ง เริ่มต้นให้ฝึกมีเมตตาแก่ตนเองก่อน พยายามฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้มีความรู้สึกที่ดีออกมา ให้เป็นตามธรรมชาติ และให้สังเกต ศึกษาถึงความรู้สึกนึกคิดที่เป็นข้าศึกคอยกีดขวางไม่ให้เกิดความรู้สึกที่ดีออกมา ความรู้สึกที่ไม่ดี จริตนิสัยที่จะคิดไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งจะตรงข้ามกับเมตตา ทั้งทางกาย วาจา ใจ เช่น คิดอาฆาตพยาบาท คิดเบียดเบียน คิดแต่เรื่องกามารมณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้าศึกต่อความเมตตา


กามารมณ์ คือความรักใคร่พอใจในเรื่องของกาม กามราคะตัณหาเป็นอุปสรรคในการมีเมตตา เป็นความรู้สึกที่ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว อยากจะได้เขามาเป็นของเรา เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการมักเกิดความไม่พอใจ โกรธแค้น บางครั้งก็ถึงกับฆ่าตัวตาย ทำลายชีวิตเขา ถ้าเราสามารถรักษาศีลให้มั่นคงได้ ก็จะไม่เกิดเรื่องเดือดร้อนไปเบียดเบียนใคร


แต่ถ้ากามารมณ์รุนแรงมาก ก็ควรที่จะพิจารณาร่างกายของตนเป็นอสุภะ ไม่สวย ไม่งาม เป็นปฏิกูล พยายามสงบระงับซึ่งกามารมณ์ จนรู้สึกได้ว่าทุกคนเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องของเรา คือถ้าอยู่ในวัยเดียวกับพ่อแม่ ก็ให้ทำความรู้สึกเหมือนเป็นพ่อแม่ ถ้าวัยเดียวกับพี่ชายพี่สาว หรือน้องชายน้องสาว ก็ทำความรู้สึกเหมือนเป็นพี่ชายพี่สาว หรือน้องชายน้องสาวตามนั้น ทำให้อารมณ์เย็น ใจเย็น หลุดจากโทสะ จากราคะ ทำให้มีความพอใจ สุขใจ และพยายามให้ความปราถนาดีนี้ เผื่อแผ่ไปถึงยังทุกคน


ฝึกคิดในทางบวก มองโลกในแง่ดี เรื่องส่วนตัวและเรื่องรอบๆตัวทั้งโลก เมื่อไม่ดี ไม่ถูกใจ ให้พักไว้ สงบเงียบอยู่ในใจ รู้อยู่ เห็นอยู่ แต่ไม่ต้องปรุงแต่งขึ้นมา มีหิริโอตตัปปะต่อคำว่า "ไม่ดี" รักษาใจ รักษาความรู้สึกที่ดีไว้ เมื่อรู้สึกดีก็สบายใจ สุขใจ คิดดี พูดดี ทำดี


ส่งความรู้สึก กระแสจิตของใจดี สุขใจนี้ออกไป ความเมตตาจะทำให้เราไม่คิดร้าย ไม่พูดร้าย และไม่ทำร้ายใคร ที่สุดของความเมตตา คือจะไม่มีความพยาบาทเกิดขึ้นในใจ แม้ว่าจะมีผู้อื่นคิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายเราก็ตาม เป็นความเมตตาที่ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ เป็นเมตตาที่มีให้แม้แต่กับศัตรู ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า


" แม้ถูกเขาจับมัดมือมัดเท้า แล้วเอาเลื่อยมาเลื่อย
จนร่างกายขาดออกเป็น 2 ท่อน
หากยังคิดโกรธ อาฆาตพยาบาทอยู่
ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเห็นธรรม "




รูปภาพ

วัดป่าสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2012, 21:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


กรุณา


กรุณา คือ ความสงสาร เมื่อเห็นเขามีความทุกข์ ก็คิดหาทางช่วยเหลือ ปลดเปลื้องทุกข์ของเขา


กรุณาต่อตนเอง


หมายถึงมีจิตใจอยากจะช่วยเหลือตนเองให้พ้นจากทุกข์ ด้วยการสำรวจตัวเอง มองดูชีวิตตัวเอง เริ่มต้นที่การกระทำด้วย กาย วาจา มีอะไรบ้างที่เราควรแก้ไข ปรับปรุงตน เริ่มต้นตรวจดูด้วยศีล ด้วยกฎหมาย ระเบียบ วินัย กติกาของสังคม หรือจากการที่ พ่อแม่ ครู อาจารย์ หรือเพื่อนๆ ได้ว่ากล่าวตักเตือนเรามีอะไรบ้าง จุดอ่อน จุดบกพร่องของตนเอง เลือกมาข้อใดข้อหนึ่ง ทบทวนตามเหตุผล ยกขึ้นมาตั้งไว้ในหัวใจ


ตั้งใจจะแก้ไขปรับปรุง พิจารณาอยู่บ่อยๆ เป็นประจำ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น เหตุการณ์กำลังเกิดขึ้น เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว "ตั้งใจอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น" เมื่อเรามีจิตกรุณาที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเองแล้ว ก็ให้อาศัยอิทธิบาท 4


ฉันทะ มีความพอใจในการแก้ไขปรังปรุงตนเอง

วิริยะ มีความพยายาม มีความตั้งใจสม่ำเสมอ

จิตตะ มีจิตใจจดจ่อในการแก้ไขปรับปรุง

วิมังสา ใช้ปัญญาทบทวน หาเหตุผล



เมื่อมีข้อผิดพลาด และหาวิธีการ อุบายต่างๆที่จะไม่ให้เกิดผิดพลาดขึ้นอีก สร้างจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตน มีความพอใจในการต่อสู้กับจิตใจตนเอง


กรุณาต่อผู้อื่น



แนบไฟล์:
kids-helping-dog-from-water-1.jpg
kids-helping-dog-from-water-1.jpg [ 25.28 KiB | เปิดดู 5453 ครั้ง ]



แนบไฟล์:
kids-pulling-dog-from-water-2.jpg
kids-pulling-dog-from-water-2.jpg [ 25.63 KiB | เปิดดู 5453 ครั้ง ]



แนบไฟล์:
kids-rescued-dog-from-water-4.jpg
kids-rescued-dog-from-water-4.jpg [ 28.13 KiB | เปิดดู 5453 ครั้ง ]




จิตที่กรุณาต่อผู้อื่น คือจิตใจที่คิดช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่าเรา ให้เขาพ้นจากทุกข์ แนะนำ ตักเตือนเขา เพื่อให้เขาสามารถดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร


สมมติว่าเราเป็นแม่ ในการเลี้ยงลูก เรามีความปราถนาดีต่อลูก ให้ความรักความเมตตา สิ่งใดที่ทำให้ลูกมีความสุข เราก็ทำให้แก่ลูก เรียกว่าทำให้ลูก "ถูกใจ" ก็ดูไม่ยากอะไร แต่ความกรุณาคือช่วยเหลือให้ลูกพ้นจากทุกข์ เราต้องหมั่นอบรมสั่งสอน ให้ลูกรู้จักผิดชอบ ชั่วดี บางครั้งอาจจำเป็นต้องเคร่งครัด ว่ากล่าวตักเตือน ขัดใจลูก เพื่อความ "ถูกต้อง"


ข้อนี้เริ่มยากแล้ว กรุณาต้องอาศัยกำลังสติปัญญา และจิตใจที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในการเลี้ยงดูลูก เมตตาจะต้องคู่กับกรุณา ลูกจึงจะไม่เสียคน เพราะถูกตามใจมากเกินไป ดังนั้น เมตตากรุณา จึงเป็นคุณธรรมที่ควรพัฒนาไปพร้อมๆกัน


ความกรุณาที่แท้จริงต้องมีพื้นฐานของความเมตตาอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น การที่เราจะว่ากล่าวตักเตือนใคร โดยเข้าใจว่าเป็นความกรุณาที่ต้องการให้เขาพ้นจากทุกข์ เราต้องสำรวจความรู้สึกตนเองให้ดีด้วยว่า ไม่ได้เจือด้วยความโกรธ หากเรามีเมตตา เราย่อมปรารถนาให้เขาเป็นสุข การว่ากล่าวตักเตือน เราจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของเขาด้วย ต้องทำไปเพื่อประโยชน์และความสุขของเขาจริงๆ


ที่สุดของความกรุณาก็เป็นเช่นเดียวกับความเมตตา คือไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ มีใจกรุณาแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ไม่เว้นแม้แต่กับศัตรู

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2012, 21:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


มุทิตา


มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อเขาได้ดี


เห็นเขาอยู่ดีมีสุข เจริญก้าวหน้า ก็พลอยแช่มชื่นเบิกบานใจ ไม่คิดอิจฉาริษยา และพร้อมที่จะส่งเสริม สนับสนุน


สำหรับคนทั่วไป แม้มีเมตตากรุณามากพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ที่จะมีมุทิตาจากใจจริงนั้น ยังหายาก ปกติเมตตากรุณา คือการเผื่อแผ่ให้คนที่ด้อยกว่าตน มุทิตา ทำจิตพลอยยินดีกับบุคคลที่มีความสุข อาจมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มากกว่าตน ปกติจิตใจที่เห็นแก่ตัว มักจะเกิดความรู้สึกอิจฉาริษยา น้อยอกน้อยใจ ฯลฯ เป็นธรรมดา


รูปภาพ




แนบไฟล์:
109730943.jpg
109730943.jpg [ 33.09 KiB | เปิดดู 5451 ครั้ง ]




รูปภาพ
ที่ซูดาน นกแร้งกำลังดูเด็กคนหนึ่งที่ใกล้จะตายเพราะขาดอาหาร




รูปภาพ




รูปภาพ
ภากจากเอธิโอเปีย ขาดน้ำจึงต้องดื่มฉี่ของสัตว์




เราจึงต้องพัฒนาจิตใจให้มีมุทิตาต่อตนเองก่อน หมายถึง หัดนิสัยมองดูตนเองให้มากๆ อย่าเปรียบเทียบแต่กับคนที่ดีกว่าเรา คนที่มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข น้อยกว่าเรา ก็มีมาก พลเมืองในโลกนี้มีประมาณหกพันล้านคน เป็นคนยากจนที่ไม่เคยมีข้าวกินอิ่ม หนึ่งในห้าส่วน ก็เท่ากับคนพันสองร้อยล้านคนที่กินข้าวไม่อิ่ม คนที่อยู่ในสังคมที่ไม่สงบ อยู่ท่ามกลางสงคราม ป่วยเป็นโรค ติดยาเสพติด มีปัญหาในชีวิตมากมาย มองดูตน จะเห็นว่าเรามีโอกาสดีกว่าอีกหลายๆคน อย่างน้อยก็ให้เกิดสันโดษขึ้นในจิตใจ ยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ขอบคุณหลายๆคนที่ช่วยสนับสนุนชีวิตของเรา


เมื่อเรามองดูชีวิตของตนด้วยใจเป็นธรรม ใจเป็นศีล ใจมีเมตตา กรุณาแล้ว จะเกิดความพอใจ สุขใจในฐานะของตน สันโดษพอใจในชีวิตตนในปัจจุบัน เมื่อใครได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เขาพอใจ มีความสุข เราก็พลอยยินดีกับเขา ยิ่งพลอยยินดีกับความสุขของเขา เราก็ยิ่งเพิ่มความสุขในใจตนยิ่งๆขึ้นไปอีก


มุทิตาธรรมที่สมบูรณ์ จึงต้องประกอบด้วยคุณธรรมของ ความเมตตาและกรุณา อยู่ในตัวนั่นเอง



อุเบากขา


อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง เป็นปกติ ไม่ยินดี ยินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นไปตามสมควรแก่เหตุปัจจัย ตามกฏแห่งกรรม


หลายคนเข้าใจผิดว่า อุเบกขา คือ เฉยๆ ไม่สนใจว่าใครจะทำอะไร ช่างมัน ฉันไม่เกี่ยว


อุเบกขา มาจากความหมายเดิมว่า เข้าไปดู เข้าไปดูจนเข้าใจชัดเจน แล้วจิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยินดี ยินร้าย วางใจเฉย


อุเบกขา ต้องอาศัย สติ ปัญญา ขันติ


ครูบาอาจารย์ เปรียบเทียบไว้ว่า เมื่อลูกของเราจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเรียนต่อ ก่อนเดินทาง พ่อแม่อบรมสั่งสอนทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้ดีที่สุด และสมบูรณ์ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา เมื่อลูกเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ไม่ต้องคิดถึง หรือเป็นห่วงวิตกกังวลใดๆอีก ทำใจวางเฉย รักษาใจ สงบใจ สุขใจ เราจะพัฒนาอุเบกขาขึ้นใจจิตใจได้ ต้องเขาใจความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต ว่าไม่มีใครหนีพ้นจากโลกธรรมแปด


โลกธรรมแปดฝ่ายน่าปรารถนา ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข โลกธรรมแปดฝ่ายไม่น่าปรารถนา ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ โดยเฉพาะโลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนานี้


หากเกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รัก เช่นลูกของเราแล้ว ยากที่เราจะวางใจเป็นกลางได้ เรามักคิดว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ไม่สมควรเลย แต่หากเราพิจารณาชีวิตด้วยปัญญาชอบแล้ว จะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีประสบการณ์อยู่นั้น มันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งที่เราประสบล้วนเป็นมรดกแห่งกรรมของเราเอง ชีวิตที่เรามีประสบการณ์อยู่นี้ สมบูรณ์ด้วยเหตุผล สมบูรณ์ตามเหตุปัจจัยของมันเสมอ การกระทำของตัวเอง มองดูจากระยะยาว ตั้งแต่อเนกชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น จึงพอเหมาะ พอดี สมบูรณ์แล้วด้วยกฎแห่งกรรม ใช้สติปัญญา เข้าใจความเป็นไปของชีวิต ปล่อยวางได้ ทำใจได้ ไม่ทุกข์ใจ เอาใจใส่ และรับผิดชอบในชีวิตปัจจุบัน ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ด้วยความพอใจ สงบใจ



แนบไฟล์:
tara1.jpg
tara1.jpg [ 25.51 KiB | เปิดดู 5451 ครั้ง ]




ที่สุดของอุเบกขา คือ ไม่มีปฏิฆะ อันหมายถึง ความกระทบกระทั่งใจ ความหงุดหงิดขัดเคืองเกิดขึ้นในใจแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะมีเรื่องราวเดือดร้อนรุนแรงขนาดไหนเข้ามากระทบ ก็ทำใจปล่อยวาง และสงบใจได้ อุเบกขาจึงถือเป็นคุณธรรมขั้นสูง อันเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อย่างสมบูรณ์ในขณะเดียวกัน





บทความจาก : หนังสือ "สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา"
ของ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


รูปภาพ

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร