วันเวลาปัจจุบัน 04 ต.ค. 2024, 15:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2022, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


หลักการรักษาอุโบสถศีล

รูปภาพ

ความหมายและประเภทของอุโบสถ

คำว่า อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด เขียนตามคำบาลีว่า อุโปสถะ) เป็นศัพท์บัญญัติทางพระพุทธศาสนา แยกกล่าวเป็น ๒ ประเภท คือ

๑) อุโบสถสำหรับภิกษุสงฆ์ คือการสวดปาติโมกข์ของพระภิกษุสงฆ์ทุกครึ่งเดือน คือ ทุกวันจันทร์เพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับ แรม ๑๕ หรือแรม ๑๔ ค่ำ เมื่อเดือนขาด (๒๙ วันในเดือนคี่) โดยเรียกการประชุมสวดปาติโมกข์นี้ว่า การทำอุโบสถ (อุโบสถกรรม หรือเรียกว่า สังฆอุโบสถ) เพื่อเป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์บริบูรณ์ทางพระวินัยบัญญัติของพระ ภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของพระภิกษุสงฆ์ด้วยเป็นพระพุทธบัญญัติ คือ สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสำหรับพระภิกษุสงฆ์ถือปฏิบัติ และจัดเป็นอธิศีลสิกขา การศึกษาในอธิศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติชั้นสูง ได้แก่ ปาติโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่อนุญาต โดยจัดเป็นศีลที่ยิ่งกว่า สูงกว่า ดีเลิศประเสริฐกว่าศีลทั่วไป เพราะนอกจากพระพุทธเจ้าแล้วไม่มีใครสามารถบัญญัติได้

๒) อุโบสถสำหรับคฤหัสถ์ แปลว่า การอยู่จำ การเข้าจำ หมายถึงการรักษาศีล ๘ และบำเพ็ญบุญกุศลข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่สมควร มีการฟังธรรมเทศนา เป็นต้น ของคฤหัสถ์ อันมีลักษณะเป็นการอยู่จำ คือ หยุดประกอบภารกิจการงานของฆราวาส ผู้ครองเรือน เช่น หยุดการทำนาทำไร่ เป็นต้นไว้ชั่วคราว เพื่อตั้งใจบำเพ็ญกุศลทำความดีพิเศษตามหลักพระพุทธศาสนาในการที่กำหนด คือ วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันขึ้นและแรม ๑๕ ค่ำ (หรือแรม ๑๕ ค่ำ)

อุโบสถ ที่จะกล่าวรายละเอียดในที่นี้ คือ อุโบสถสำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเรื่องของกุศลกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ คือ อุบาสกอุบาสิกา เรียกเต็มว่า อัฏฐังคิกอุโบสถ อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ หรือ ศีล ๘ ข้อ (อัฏศีล) คือศีลที่กำหนดรักษาเป็นพิเศษเฉพาะคราวของคฤหัสถ์ เพื่อฝึกควบคุมกาย และวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นไป ซึ่งเป็นอุบายขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบาง และเป็นทางแห่งความสงบระงับอันเป็นความสุขอย่างสูงในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น จึงเรียกการรักษาศีล ๘ ของพวกคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถศีล ซึ่งจัดเป็นบุญสิกขา ประการที่ ๒ ในบุญสิกขา ๓ ที่พุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ คืออุบาสกอุบาสิกาพึงศรัทธานิยมหาโอกาสประพฤติปฏิบัติให้ได้สักครั้งสองครั้งในช่วงชีวิตของตน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2022, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระมูลคันธกุฏี หรือ “พระมูลคันธกุฏีวิหาร”
บนยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์
กุฏิอันเป็นที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้า
ในพรรษาที่ ๓, ๕, ๗
และพรรษาสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
---------------

ความเป็นมาของอุโบสถศีล

อุโบสถศีลนั้น ได้มีการปฏิบัติกันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงว่าเป็นเรื่องที่คนในสมัยก่อนพระพุทธเจ้าของเราเสด็จอุบัติตรัสรู้ได้ประพฤติกันมาก่อนแล้ว เพราะถือกันว่าเป็นเรื่องหยุดพักประชุมปรึกษาหารือกันหรือประชุมทำความดี ดังมีหลักฐานเรื่องเล่าถึงความเป็นมาที่ปรากฏในคัมภีร์อุโปสถขันธกะ แห่งพระวินัยปิฎก มหาวรรค ปฐมภาค (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔) ความว่า

สมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฎ เขตกรุงราชคฤห์ พวกปริพาชก คือ พวกนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาลัทธิหนึ่ง ประชุมกล่าวธรรมกันทุกวัน วันขึ้น-แรม ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ มีคนจำนวนมากไปฟังธรรมของพวกเขา แล้วเลื่อมใสขอบวชเป็นสาวกของปริพาชกเหล่านั้น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นมคธ ได้ทราบเรื่องนั้น จึงดำริว่า

แม้พระภิกษุสงฆ์ก็สมควรจะประชุมกันในวันเช่นนั้นบ้าง จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องนั้นแล้วเสด็จกลับ พระพุทธองค์จึงเรียกพระภิกษุสงฆ์มาแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมพร้อมกันในวัน ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ”


ต่อมา พระภิกษุทั้งหลายได้ประชุมกันตามพุทธดำรัส แต่นั่งอยู่เฉยๆ ชาวบ้านมาเพื่อจะฟังธรรมก็ไม่พูดด้วย พระภิกษุเหล่านั้น จึงถูกติเตียนข่อนขอดว่าเหมือนพวกสุกรใบ้ ความทราบถึงพระพุทธองค์ จึงตรัสเรียกพระภิกษุสงฆ์มาแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ พระภิกษุสงฆ์จึงปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสตรัสอนุญาตนับแต่นั้นมา”

ในอดีตกาล ครั้งที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ (ผู้บำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) ก็ได้เคยตั้งจิตอธิษฐานรักษาศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัดถึงขั้นเสียชีวิต และได้รับผลแห่งการรักษาอุโบสถนี้มาแล้ว ดังที่พระองค์ตรัสเป็นเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาคัคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต (คัมภีร์อรรถกถาชาดก ที่ขยายความคัมภีร์ชาดก พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๗) ซึ่งในที่นี้ นำมากล่าวโดยสรุปความว่า

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ตรัสเรียกพวกคนที่รักษาอุโบสถมาแล้วตรัสว่า “พวกเธอทั้งหลาย ทำความดีแล้ว ที่รักษาอุโบสถ พวกเธอผู้รักษาอุโบสถ ควรให้ทาน รักษาศีล ไม่ควรทำความโกรธ ควรเจริญเมตตาภาวนา ควรอยู่จำอุโบสถให้ครบเวลา เพราะว่าบัณฑิตในปางก่อนอาศัยอุโบสถเพียงกึ่งเดือน ยังได้ยศใหญ่มาแล้ว”

พวกอุบาสกอุบาสิกาที่รักษาอุโบสถฟังเช่นนั้นแล้ว จึงพากันกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนั้นโดยพิสดาร ให้ฟังเป็นทิฏฐานุคติ (แบบอย่างแห่งการประพฤติดีที่เห็นชัดเจน) พระพุทธองค์จึงนำนิทานชาดกมาเล่าว่า

ในอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีทรัพย์มาก มีบริวารจิตใจสะอาด ชอบทำบุญ บริจาคทานเป็นประจำ ส่วนภรรยา บุตรธิดา และบริวารชน แม้กระทั่งคนเลี้ยงโคของเศรษฐีนั้น ก็ล้วนเป็นผู้จำอุโบสถศีล เดือนละ ๖ วัน ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในครอบครัวคนยากจน มีอาชีพรับจ้าง อยู่อัตคัดขัดสน วันหนึ่งได้เข้าไปยังบ้านของเศรษฐีนั้นเพื่อขอทำงาน เศรษฐีนั้นบอกเงื่อนไขว่า

“ทุกคนในบ้านนี้ ล้วนแต่เป็นผู้รักษาศีลอุโบสถ ถ้าเธอสามารถรักษาอุโบสถศีลได้ ก็ทำงานได้” ด้วยความมุ่งแต่จะทำงาน ชายโพธิสัตว์จึงยอมรักษาศีลอุโบสถ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าศีลนั้นคืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร เมื่อทำงานในแต่ละวันก็ตั้งใจทำงานแบบถวายชีวิต เป็นคนว่าง่าย ไม่คำนึงถึงความยากลำบาก ตื่นก่อนนอนทีหลังเจ้านายเสมอ

ต่อมาวันหนึ่ง มีมหรสพในเมือง เศรษฐีเรียกสาวใช้นางหนึ่งมาสั่งว่า

“วันนี้เป็นวันอุโบสถ เธอจงหุงอาหารให้คนงานแต่เช้าตรู่ พวกเขารับประทานอาหารแล้วจะได้รักษาอุโบสถกัน” ฝ่ายชายโพธิสัตว์ตื่นนอนแล้ว ได้ออกไปทำงานแต่เช้ามืด ไม่มีใครบอกว่าวันนั้น เป็นวันอุโบสถ คนทั้งหมดรับประทานอาหารเช้าแล้ว ต่างรักษาอุโบสถกัน แม้เศรษฐี พร้อมภรรยาและบุตรธิดาก็ได้อธิษฐานอุโบสถ ต่างไปยังที่อยู่ของตน แล้วนั่งนึกถึงศีลของตนอยู่

ชายโพธิสัตว์นั้นทำงานตลอดวัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน จึงได้กลับมาที่พัก แม่ครัวนำอาหารไปให้ เขารู้สึกแปลกใจ จึงถามว่า

“ในวันอื่นๆ เวลานี้มีเสียงดัง วันนี้ คนเหล่านั้นไปไหนกันหมด” ครั้นรู้ว่าทุกคนสมาทานอุโบสถศีล ต่างอยู่ในที่ของตน จึงคิดว่า

“เราคนเดียวไม่มีศีลอยู่ในท่ามกลางของพวกคนผู้มีศีล อยู่ได้อย่างไร เราจะอธิษฐานอุโบสถศีลในตอนนี้ จะได้หรือไม่หนอ” เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงเข้าไปถามเศรษฐี ได้รับคำตอบว่า

“เมื่อรักษาอุโบสถศีลตอนนี้ จะได้อุโบสถศีลครึ่งเดียว เพราะไม่ได้อธิษฐานแต่เช้า” ชายโพธิสัตว์บอกว่า “ครึ่งเดียวก็ได้ครับ” จึงสมาทานอุโบสถศีล กับ เศรษฐี อธิษฐานอุโบสถแล้วเข้าไปยังที่อยู่ของตน นอนนึกถึงศีล ในปัจฉิมยาม หิวอาหารจนเป็นลม เพราะยังไม่ได้กินอาหารอะไรเลยตลอดทั้งวัน เศรษฐีนำเอาสิ่งต่างๆ มาให้ ก็ไม่ยอมกิน ยอมตาย แต่ไม่ยอมเสียศีล

ในขณะที่ใกล้จะตาย พระเจ้าพาราณสีเสด็จประพาสพระนครมาถึงที่นั้น ชายโพธิสัตว์ได้เห็นพระสิริแห่งพระเจ้าแผ่นดิน จึงปรารถนาราชสมบัติ ครั้นสิ้นชีวิตแล้วได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของอัครมเหสีแห่งพระเจ้าพาราณสีนั้น เพราะผลแห่งอุโบสถกรรมครึ่งหนึ่ง ครั้นประสูติแล้วได้รับการตั้งชื่อว่า “อุทัยกุมาร” ครั้นเจริญวัยต่อมา ได้เสด็จครองสิริราชสมบัติในกรุงพาราณสีสมดังปรารถนา

จากข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ดังกล่าวโดยสรุปนี้ชี้ชัดว่า

อุโบสถศีลนั้น มีการปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว และเป็นชื่อขอวันที่นักบวชเจ้าลัทธินั้นๆ กำหนดไว้เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมตามลัทธิของตนด้วยการงดอาหาร

กาลต่อมา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จอุบัติแล้ว จึงบัญญัติอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ พร้อมทั้งสรณคมน์ ดังนั้น จึงกำหนดอุโบสถตามกาลได้ ๒ ประเภท คือ

๑) อุโบสถนอกพุทธกาล ได้แก่ การเข้าจำศีลด้วยการงดอาหารตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้ว ในวันที่กำหนดเป็นวันอุโบสถ

๒) อุโบสถสมัยพุทธกาล ได้แก่ อุโบสถที่เป็นพุทธบัญญัติ อันประกอบด้วยสรณคมน์ และองค์ศีล ๘ มีปาณาติปาตา เวรมณี (เจตนางดเว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง) เป็นต้น คือต้องตั้งอยู่ในสรณคมน์ก่อนแล้วจึงรักษาศีล ๘ หรืออุโบสถศีล

อุโบสถศีล การอยู่จำรักษาองค์ ๘ หรือเรียกกันว่า การรักษาศีล ๘ นั้น จัดเป็นอุโบสถสมัยพุทธกาล คือ ได้แบบอย่างมาจากการที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมกล่าวธรรมกันในวันอุโบสถ พวกอุบาสกอุบาสิกาที่นำปัจจัยไปบำรุงพระภิกษุสงฆ์ในวัดและได้ฟังธรรมเทศนาเป็นประจำ จึงกำหนดทำความดีพิเศษด้วยการสมาทานรักษาศีล ๘ เป็นอุโบสถของคฤหัสถ์นับแต่ครั้งพุทธกาลนั้นมา


:b49: :b50: :b49:

:b44: พระมูลคันธกุฏี บนยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44857


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2022, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


อุโบสถศีลเป็นวงศ์ปฏิบัติของโบราณบัณฑิต

อุโบสถศีลนี้ เป็นวงศ์ปฏิบัติของโบราณบัณฑิต คือ เป็นหลักความประพฤติที่นักปราชญ์ในสมัยก่อนๆ เช่น ดาบสโพธิสัตว์ เป็นต้น รักษาสืบเนื่องกันมาจนเป็นวงศ์ประเพณีปฏิบัติที่แพร่หลาย ท่านเหล่านั้น ได้เข้าจำอุโบสถเพื่อข่มกิเลสมีราคะ เป็นต้น

แม้สัตว์ทั้งหลาย ในยุคสมัยก่อนๆ ก็สมาทานรักษาอุโบสถนี้เช่นกัน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเป็นเรื่องเล่าไว้ปรากฏในปัญจุโปสถิกชาดก ปกิณณกนิบาต แห่งคัมภีร์ชาดกขุททกนิกาย (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗) ซึ่งทรงแสดงเหตุที่สัตว์ทั้งสี่และพระโพธิสัตว์ รักษาศีลอุโบสถไว้ โดยพระอรรถกถาจารย์ได้ขยายความเพิ่มเติมไว้ในคัมภีร์อรรถกถาชาดก มีใจความโดยสรุปว่า

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์ท่ามกลางบริษัท ๔ ในธรรมสภาพ ทอดพระเนตรดูบริษัท ๔ นั้น ด้วยจิตใจอ่อนโยน ทราบว่า วันนี้เทศนาจะเกิดขึ้นเพราะอาศัยถ้อยคำของพวกอุบาสก อุบาสิกา จึงตรัสเรียกพวกเขามาถามว่า

“ท่านทั้งหลายกำลังรักษาอุโบสถกันหรือ” เมื่อพวกอุบาสก อุบาสิกา ตอบว่า “พระพุทธเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “พวกท่านทำดีแล้ว ชื่อว่าอุโบสถนี้เป็นวงศ์แห่งโบราณบัณฑิต เพราะว่าโบราณบัณฑิตทั้งหลายได้อยู่จำอุโบสถเพื่อข่มกิเลสมีราคะ เป็นต้น”

เมื่อพวกอุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้น วิงวอนให้ตรัสเล่าเรื่องนั้น จึงนำนิทานชาดกมาเล่าดังนี้

ในอดีตกาล มีสถานที่เป็นป่าน่ารื่นรมย์ยิ่งแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ระหว่างแคว้นทั้งสามมีแคว้นมคธ เป็นต้น พระโพธิสัตว์ เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล (มีฐานะมั่งคั่ง) ในแคว้นมคธ เจริญวัยแล้ว ได้สละชีวิตครองเรือนออกไปอยู่ที่ป่านั้น โดยสร้างอาศรม บวชเป็นดาบส (ฤๅษี) และในที่ไม่ห่างจากอาศรมของดาบสโพธิสัตว์นั้น มี

นกพิราบสองตัวผัวเมีย อยู่ที่ป่าไผ่แห่งหนึ่ง

งูตัวหนึ่ง อยู่ที่จอมปลวก

สุนัขจิ้งจอก อยู่ที่พุ่มไม้

หมีอยู่ที่พุ่มไม้อีกแห่งหนึ่ง

สัตว์ทั้งสี่นั้นเข้าไปหาดาบสโพธิสัตว์แล้วฟังธรรมตามเวลาอันสมควร พร้อมทั้งสมาทานรักษาอุโบสถศีล

อยู่มาวันหนึ่ง ดาบสโพธิสัตว์ ได้ถามสัตว์ทั้งสี่ถึงเหตุผลที่รักษาอุโบสถศีลนั้นทีละตัวๆ ซึ่งสัตว์แต่ละตัวก็ตอบไปตามเหตุผลของตน โดยสรุปได้ว่า

รักษาอุโบสถศีล ก็เพื่อข่ม คือ ระงับกิเลสมีราคะ ความกำหนัดรักใคร่ เป็นต้น ดังข้อความถาม ตอบกันต่อไปนี้

ดาบสโพธิสัตว์ถามนกพิราบว่า “เจ้านกพิราบ เดี๋ยวนี้ดูเจ้านิ่งเฉย ไม่อยากกินอาหาร ยอมทนหิวกระหาย เพราะเหตุไรเล่า เจ้าจึงมารักษาอุโบสถศีล”

นกพิราบกล่าวตอบว่า “ท่านดาบส ก่อนนี้ตัวข้านั้นครองรักสุขภิรมย์อยู่กับนางนกพิราบในป่า แต่แล้ววันหนึ่ง ได้มีเหยี่ยวมาเฉี่ยวโฉบเอานางนกพิราบเมียรักของข้าไป ทำให้ข้าซึ่งไม่อยากจะพลัดพรากจากนางนกพิราบ ได้รับความระทมทุกข์ใจอย่างสุดแสบ ด้วยเหตุนี้ ข้าจึงรักษาอุโบสถศีล เพราะมุ่งหมายว่า ความรักอย่าได้หวนกลับมาหาเราอีกเลย”

ดาบสโพธิสัตว์ถามงูว่า “เจ้างูผู้ไปคดเคี้ยว เลื้อยไปด้วยอก มีลิ้นสองแฉก เจ้ามีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษร้ายแรง แต่เพราะเหตุอะไรเล่า เจ้าจึงสู้อุตส่าห์อดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถศีล”

งูกล่าวตอบว่า “ท่านดาบส มีโคของผู้นำชุมชนตัวหนึ่งกำลังเปลี่ยว หนอกกระเพื่อม รูปทรงสง่า ท่าทางแข็งแรง มันได้เหยียบตัวข้า ทำให้ข้าโกรธ จึงได้กัดมัน มันได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จึงถึงความตายในทันที จากนั้น ผู้คนก็พากันออกมาจากบ้าน ร้องไห้ค่ำครวญเข้าไปหามัน ด้วยเหตุนี้ ข้าจึงรักษาอุโบสถศีล เพราะตั้งใจวา ความโกรธอย่าได้เกิดขึ้นแก่เราอีกเลย”

ดาบสโพธิสัตว์ถามสุนัขจิ้งจอกว่า “เจ้าสุนัขจิ้งจอก เนื้อของคนที่ตายในป่าช้าก็มีอยู่เป็นอันมาก อาหารชนิดนี้เป็นที่พึงพอใจของเจ้า เพราะเหตุอะไรเล่า เจ้าจึงสู้อุตส่าห์อดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถศีล”

สุนัขจิ้งจอกตอบว่า “ตัวข้าชอบกินซากศพ ติดใจรสเนื้อช้าง จึงได้เข้าไปยังท้องช้างตัวใหญ่ ลมร้อน และแสงแดดอันแรงกล้าได้แผดเผาทวารหนักของช้างนั้นจนแห่งไป ท่านดาบสที่เคารพ ข้าทนอยู่ในท้องช้าง มีตัวซูบผอมเหลือง ไม่มีทีท่าจะออกมาได้ แต่แล้วก็มีฝนห่าใหญ่ตกลงมาอย่างแรง ชุทวารหนักของข้างนั้นจนเปียกชุ่ม ข้าจึงออกมาได้ รู้สึกปลอดโปร่งเหมือนกับดวงจันทร์หลุดพ้นจากปากราหูก็มิปาน ดังนั้น ข้าจึงรักษาอุโบสถศีล ด้วยตั้งใจวา ความโลภอย่าได้เกิดขึ้นแก่เราอีกเลย”

ดาบสโพธิสัตว์ถามหมีว่า “เจ้าหมี ก่อนหน้านี้ เจ้าตะปบกินตัวปลวกที่จอมปลวก เพราะเหตุไรเล่า เจ้าจึงสู้อดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถศีล”

หมีตอบว่า “ตัวข้าดูหมิ่นถิ่นที่เคยอยู่ของตัวเอง ได้ไปยังหมู่บ้านชายแดน แคว้นมลรัฐ เพราะอยากมากเกินไป ณ ที่นั้น ผู้คนได้พากันออกจากบ้านมารุมทำร้ายข้าด้วยคันธนู ทำให้ข้ามีหัวแตก เลือดอาบร่าง ข้าจึงกลับมาสู่ถิ่นที่เคยอยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้ ข้าจึงรักษาอุโบสถศีล ด้วยตั้งใจวา ความอยากมากเกินไป อย่าได้เกิดขึ้นแก่เราอีกเลย”

สัตว์ทั้งสี่ตัวได้พากันถามดาบสโพธิสัตว์บ้างว่า “ท่านดาบสที่เคารพ ข้อความที่ท่านถาม พวกเราทั้งหมดก็ได้ตอบตามประสบการณ์ที่ได้รู้เห็นมา เอาละพวกเราจะขอถามท่านบ้าง เพราะเหตุไรเล่า ท่านจึงรักษาอุโบสถศีล”

ดาบสโพธิสัตว์ได้ตอบว่า “มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ไม่แปดเปื้อนกิเลสนั่งอยู่ในอาศรมของเราครู่หนึ่ง ท่านบอกให้เราทราบถึงที่ไป ที่มา นาม โคตร และข้อวัตรปฏิบัติทุกอย่าง ถึงอย่างนั้น เราก็มิได้กราบไหว้เท้าของท่าน ทั้งมิได้ถามถึงนามและโคตรของท่านเลย

หลังจากที่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นจากไปแล้ว เราเกิดความสลดใจ คิดว่าพระสมณะนี้มีร่างกายหนัก แต่เหาะไปเหมือนปุยนุ่นที่ถูกลมพัด เราไม่ไหว้ท่าน ไม่ถามท่านด้วยความเย่อหยิ่งเพราะชาติกำเนิด การถือชาติชั้นวรรณะไม่มีสาระประโยชน์ใดเลย การประพฤติศีลเท่านั้นเป็นคุณยิ่งใหญ่ในโลกนี้ เจ้ามานะ ความถือตัวของเรานี้ เมื่อถือหนักขึ้น มีแต่จะนำเราไปสู่นรก

ถ้าเรายังข่มมานะนี้ไม่ได้ เราจะไม่ไปหาผลไม้ต่างๆ มาฉัน จึงเข้าสู่บรรณศาลาที่มุงบังด้วยใบไม้ สมาทานอุโบสถศีลเพื่อข่มมานะนั้นให้ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงรักษาอุโบสถศีล เพราะตั้งใจว่า มานะความถือตัวอย่าได้เกิดขึ้นแก่เราอีกเลย”

จากเรื่องเล่าในปัญจุโปสถิกชาดกนี้แสดงให้เห็นว่า ความทุกข์และภัยอันตรายที่เกิดมีขึ้นแก่มนุษย์หรือแม้กระทั่งสัตว์เป็นส่วนตัวหรือสังคมส่วนรวมก็ตาม มักเกิดขึ้น เพราะความขาดศีลธรรม การไม่สมาทานรักษาศีล การแก้ไขความทุกข์และภัยอันตรายนั้น จึงควรแก้ด้วยหลักศีลธรรม ไม่ควรแก้ด้วยอำนาจกิเลส เพราะจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้มากกว้างขวางออกไปเป็นทวีคูณ

อันที่จริง การรักษาอุโบสถศีลโดยเนื้อแท้ก็คือ การสมาทานรักษาศีล ๘ อย่างเคร่งครัด เป็นเอกัชฌสมาทาน คือการสมาทานรักษาไม่ให้ขาดแม้ข้อใดข้อหนึ่ง มีความมั่นคงอยู่ด้วยความผูกใจตลอดกาลอุโบสถที่กำหนดสมาทานนั้น ซึ่งจะทำให้ผู้รักษาได้รับความสงบแห่งจิตใจ อันจะทำให้เกิดปัญญามองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหมาย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2022, 14:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


ประเภทแห่งอุโบสถศีลตามวันที่กำหนดรักษา

เมื่อแบ่งตามวันที่กำหนดรักษา อุโบสถศีล มี ๓ ประเภท คือ

๑) ปกติอุโบสถ อุโบสถตามปกติ หมายถึงอุโบสถที่รักษาตามปกติชั่ววันหนึ่ง กับ คืนหนึ่งอย่างทุกวันนี้ ซึ่งนิยมรักษาเฉพาะในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับ คือ แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ ในเดือนคี่

๒) ปฏิชาครอุโบสถ อุโบสถของผู้ตื่นอยู่ คือผู้ที่มีความกระตือรือร้นรีบเร่งบำเพ็ญบุญกุศล ไม่หลับใหลด้วยความประมาท ได้แก่ อุโบสถศีลที่กำหนดรักษาครั้งหนึ่งๆ ถึง ๓ วัน หรือครั้งละ ๓ วัน คือ รักษาในวันอุโบสถตามปกติ พร้อมทั้งวันหน้า และวันหลังของรักษานั้น ซึ่งเรียกว่า วันรับ และวันส่งด้วย เช่น อุโบสถที่รักษาในวัน ๘ ค่ำ มีวัน ๗ ค่ำ เป็นวันรับ วัน ๙ ค่ำ เป็นวันส่ง ดังนี้ เป็นต้น

๓) ปาฏิหาริยอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตลอดปาฏิหาริยปักษ์ คือ อุโบสถศีลที่กำหนดระยะเวลารักษาเป็นพิเศษ โดยตั้งใจรักษาให้ตรงตามกำหนดเป็นประจำในแต่ละปี หมายความว่า


ในแต่ละปี มีช่วงเวลาที่กำหนดไว้เฉพาะที่จะรักษาอุโบสถเป็นกรณีพิเศษ กำหนดอย่างสามัญ ได้แก่ อุโบสถที่รักษาเป็นประจำตลอดเวลา ๓ เดือน ในพรรษา กำหนดอย่างพิเศษ ได้แก่ อุโบสถที่รักษามาตลอด ๔ เดือน ในฤดูฝน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ถ้าไม่สามารถรักษาตลอด ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน จะรักษาเพียง ๑ เดือน ระหว่างวันปวารณาต้น คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ และวันปวารณาหลัง คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็จัดเป็นอุโบสถศีลที่รักษาตลอดปาฏิหาริยปักษ์

ถ้าไม่สามารถรักษาเช่นนี้ แม้อุโบสถศีลที่รักษาไว้ครึ่งเดือนนับแต่วันปวารณาต้น ก็จัดเป็นอุโบสถศีลที่รักษาตลอดปาฏิหาริยปักษ์ได้เช่นกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2022, 14:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


ประเภทแห่งอุโบสถศีลตามลักษณะที่ประพฤติสมาทาน

ในการสมาทานรักษาอุโบสถศีลนั้น อัธยาศัย (ลักษณะนิสัยใจคอ ความชอบ) ของผู้สมาทาน ย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งทำให้ได้รับผลไม่เหมือนกัน ดังนั้น อุโบสถศีลเมื่อแบ่งตามลักษณะอัธยาศัยที่ประพฤติสมาทานของบุคคลที่ดี เลว ประณีต ต่างกัน จึงแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

๑) โคปาลกอุโบสถ อุโบสถที่รักษามีอาการเหมือนอย่างคนรับจ้างเลี้ยงโค หมายถึง อุโบสถศีลที่อุบาสกอุบาสิการสมาทานแล้วกลับไม่ประพฤติจริงจัง รักษาแบบเหยาะแหยะ ย่อหย่อน ไม่เคร่งครัดจริงจัง โดยสักแต่ว่าสมาทาน และทนคอยระวังรักษาไม่ให้ขาดเพียงให้พ้นกำหนดวันรักษา คือ วันหนึ่ง กับ คืนหนึ่งเท่านั้น

เมื่อสมาทานแล้ว ก็นั่งคิดโน่นคิดนี่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ที่ปรารถนา หรือไม่ก็จับกลุ่มพูดคุยแต่ถ้อยคำที่ขัดขวางต่อการบรรลุกุศลธรรมต่างๆ เช่น วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองตามกระแสข่าว หรือพูดถึงดาราคนโน้นเป็นแฟนกับคนนี้ ละครเรื่องนั้นดีกว่าเรื่องนี้ไปตามสมัยนิยม โดยไม่สนใจปฏิบัติตนเพื่อให้จิตสงบ ซึ่งจะได้พบความสุขที่เยือกเย็นอันเป็นความม่งหมาย แห่งการรักษาศีลเพื่อเป็นบาทฐานให้จิตเป็นสมาธิ หรือไม่ก็ละเลยการฟังธรรม ไม่มีการไหว้พระสวดมนต์ และไม่มีการเจริญจิตตภาวนา เพราะมัวแต่จับคู่เข้ากลุ่มสนทนากันในเรื่องสัพเพเหระที่ไร้สาระต่างๆ เช่น เรื่องความสนุกสนานเบิกบานบันเทิงเริงรมย์ เรื่องการติฉินนินทาผู้อื่น เป็นต้น

เมื่อหมดเวลารักษา ก็กลับบ้านพร้อมทั้งหวังให้คนรู้เห็นและยกย่องว่า เป็นคนเข้าวัดจำศีล เป็นคนเคร่งครัดศาสนา หรือเป็นคนมีศีลธรรม

การรักษาอุโบสถศีลของคนบางคนที่มีใจประกอบไปด้วยความอยาก ใช้วันเวลาให้หมดไปกับความอยากเช่นนี้ ท่านเรียกว่า โคปาลกอุโบสถ เพราะเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคที่ต้องการค่าจ้างไปวันๆเท่านั้น

การรักษาอุโบสถศีลเช่นนี้ ไม่มีผลมาก ดังเรื่องเล่าของคนถือศีลไปเป็นเปรต แต่คนตกเบ็ดได้ขึ้นสวรรค์ ความว่า

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง มีคนกลุ่มหนึ่งไปถืออุโบสถศีลอยู่บนศาลาวัด ในขณะที่ชายคนหนึ่งไปนั่งตกปลา อยู่ที่ฝั่งคลองตรงข้ามกับศาลาวัด วันนั้น ปลากินเบ็ดดี คนตกเบ็ดจึงได้ปลาจำนวนมาก

คนถือศีลอยู่บนศาลาวัดมองไปที่คนตกปลา ก็เกิดความโลภอยากได้ปลาบ้าง นึกว่าทำไมวันนี้ ต้องเป็นวันอุโบสถ ถ้าไม่เช่นนั้น คงได้ปลามาทำอาหารกินกับเขาบ้าง จิตใจคิดถึงแต่ปลา ไม่เป็นอันคิดถึงศีลหรือการปฏิบัติธรรมเลย

ฝ่ายคนตกปลามองไปบนศาลาวัด เห็นคนนุ่งขาวห่มขาวถือศีลกัน แต่ตัวเองต้องมานั่งตกปลา ไม่รู้จักว่าวันนี้เป็นวันพระ เกิดหิริโอตตัปปะ กลับถึงบ้าน หยุดการทำบาปเกิดสัมปัตตวิรัติ (จิตคิดงดเว้นบาป) ขึ้นมาทันที อยากหยุดทำชั่ว แล้วเกิดความสบายใจ

ส่วนคนถือศีลกลับบ้าน ร้อนรนไปด้วยความโลภ เร่งวันเร่งเวลาให้หมดไป จิตใจจึงมีแต่ความทุกข์

คนขึ้นสวรรค์ คือคนที่ใจมีความสุข

คนตกนรกคือคนที่ใจมีแต่ความทุกข์

ดังคำพูดที่ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ใจ

การปฏิบัติธรรมรักษาอุโบสถศีลอย่างนี้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะจิตใจของผู้รักษาไม่ได้เข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริงเลย

๒) นิคัณฐอุโบสถ อุโบสถที่รักษาเหมือนกับอุโบสถของพวกนิครนถ์ หมายถึง อุโบสถที่รักษาตามใจชอบของตน โดยตั้งเจตนางดเว้นแบบมีขอบเขตจำกัด คือมีลักษณะเป็นเหมือนอุโบสถของพวกนิครนถ์ (นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาลัทธิหนึ่ง ซึ่งชอบนุ่งลมห่มฟ้าเป็นชีเปลือย ปัจจุบันคือพวกนักบวชในศาสนาเชน) กล่าวคือ

พอถึงวันอุโบสถ หัวหน้านิครนถ์จะเรียกสานุศิษย์มาสอนว่า “จงอย่าเบียดเบียนหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทางทิศใต้ เลยร้อยกิโลเมตรไป” ซึ่งคำสอนเช่นนี้เป็นการเอ็นดูอนุเคราะห์จำกัดสัตว์บางเหล่า เป็นการตั้งเจตนางดเว้นไม่ตลอดทั่วไป ซึ่งไม่เหมือนกับเจตนางดเว้นการฆ่าสัตว์ทุกชนิดอันเป็นศีลข้อที่ ๑ แห่งเบญจศีลในพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ หัวหน้านิครนถ์ก็ยังชักชวนพวกสานุศิษย์ในวันอุโบสถว่า “จงเปลื้องผ้าออกให้หมดแล้วประกาศตนว่า ข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องกับใครๆ ในที่ไหน และจะไม่มีความกังวลในสิ่งอะไรๆ และในที่ไหนๆ” อีกด้วย

แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเขายังรู้จักญาติสนิทมิตรสหายเพื่อนพ้องน้องพี่ของตน และญาติสนิทมิตรสหายเพื่อนพ้องน้องพี่เหล่านั้น ก็ยังรู้จักเขา และเขายังต้องรับอาหารจากคนอื่นอยู่ ดังนั้น สิ่งที่นิครนถ์สอนนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ


คนรักษาอุโบสถบางคนก็เช่นเดียวกัน หลงอาจารย์ หลงสำนักที่สอนผิดๆ ทิ้งมารดาบิดาจนขาดความกตัญญูกตเวที และทิ้งบุตรธิดาจนไม่ทำหน้าที่ของบุพการี ทำให้เกิดปัญหากับครอบครัว การถือศีลหรือการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ย่อมไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด เพราะเป็นความประพฤติที่ทำลายระบบศีลธรรมอันดีนั่นเอง

๓) อริยอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตามแบบอย่างที่พระอริยรักษา หมายถึง อุโบสถศีลที่พวกอุบาสกอุบสิการักษาอย่างประเสริฐพิเศษด้วยข้อปฏิบัติ กล่าวคือ

เมื่อสมาทานรักษาองค์อุโบสถแล้ว ก็ตั้งใจประกอบกุศลกรรมเพื่อชำระจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิต มีกามฉันทะ (ความยินดีพอใจในกาม) เป็นต้น ด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐานที่ถูกกับจริต และอุปนิสัยของตน

อริยอุโบสถศีลนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้อุบาสกอุบาสิการักษาปฏิบัติในที่นี้ เพราะเป็นอุโบสถที่มีผลานิสงส์มาก ดังที่พระองค์ตรัสสรรเสริญไว้กับนางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งปรากฏอยู่ในอุโปสถสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐) ว่า

“วิสาขา อริยอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายไปมา”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2022, 14:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


องค์ธรรมของอุโบสถศีล

องค์ธรรม ในที่นี้หมายถึง สิกขาบทหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้สมาทานศึกษาฝึกฝนปฏิบัติรักษาด้วยเจตนาละเว้นจากข้อห้ามนั้นๆ กล่าวสำหรับอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ธรรม ๘ สิกขาบท ซึ่งเรียกว่า อัฏฐังคิกอุโบสถ จำแนกตามคำสมาทานภาษาบาลีพร้อมคำแปล ดังนี้

๑) ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการผลาญชีวิตสัตว์ให้ตกตายไป

๒) อทินฺนาทานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้

๓) อพฺรหฺมจริยา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดทางพรหมจรรย์

๔) มุสาวาทา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ

๕) สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท

๖) วิกาลโภชนา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

๗) นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมเครื่องดนตรีต่างๆ และดูการละเล่นอันเป็นข้อศึกแก่กุศล ตลอดถึงการสูบทา ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้และของหอมเครื่องบำรุงผิวอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

๘) อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการนั่งนอนที่นอนอันสูงใหญ่

องค์ธรรมของอุโบสถศีลทั้ง ๘ สิกขาบท เมื่อกล่าวโดยใจความภาษาไทยตามที่ท่านพระโบราณาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ มีดังนี้

๑) ไม่ฆ่าสัตว์มีชีวิตและไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
๒) ไม่ลักเอง และไม่ใช้ให้ผู้อื่นลักสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
๓) ไม่เสพเมถุน (ไม่ร่วมประเวณี ไม่ร่วมเพศกับใครๆ โดยทางทวารใดๆ)
๔) ไม่พูดปด (ไม่เป็นพยานเท็จ)
๕) ไม่ดื่มสุราเมรัย อันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท
๖) ไม่กินอาหารในเวลาบ่าย และกลางคืน (ไม่กินอาหารหลังเที่ยงวัน)
๗) ไม่แสดงการรื่นเริงและแต่งตัว (ไม่สนใจสิ่งบันเทิงเริงโลกีย์)
๘) ไม่นอนบนที่นอนสูงและที่นอนใหญ่

หรือสรุปเป็นคำคล้องจองเพื่อให้กำหนดจดจำง่ายๆ ดังนี้ เว้นการฆ่า ไม่กล้าโจรกรรม ห้ามทำกามกิจ ไม่ผิดวาจา อย่าแส่หาสุราเมรัย ไม่ใส่ใจอาหารยามวิกาล ห้ามการบันเทิงเกินจำเป็น ไม่เน้นนอนหรูหรา

อุโบสถศีล ๘ สิกขาบทนี้ ถ้าทำพร้อมด้วยเจตนา จึงจะขาดจากองค์ศีล ถ้าไม่พร้อมด้วยเจตนา ก็ไม่ขาด

การที่ศีลอุโบสถแต่ละสิกขาบทจะขาดนั้น ท่านกำหนดเจตนาในการล่วงละเมิดไว้สองทาง คือ ทางกาย และทางวาจา

ในสิกขาบทที่ ๓ และ ที่ ๒ จะทำเองก็ตาม จะใช้ให้เขาทำก็ตาม ย่อมขาดจากองค์ศีลทั้งนั้น

ตั้งแต่สิกขาบทที่ ๓ ไปจนถึงสิกขาบทที่ ๘ ทำเองจึงจะขาดจากองค์ศีล ถ้าใช้ให้คนอื่นทำ ไม่ขาด

อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีความสำรวมระวังไม่ล่วงองค์อุโบสถ ๘ สิกขาบท เรียกว่า ผู้มีศีล หรือผู้รักษาอุโบสถศีล ซึ่งเป็นเครื่องทำกาย กับ วาจาให้บริสุทธิ์ เป็นอุบายที่จะกำจัดกิเลสส่วนหยาบที่แสดงออกทางกายและวาจาที่เรียกว่า วิตีกกมกิเลส


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2022, 14:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบข่ายการล่วงองค์ธรรมของอุโบสถศีล ๘ สิกขาบท

ในอุโบสถศีล ๘ สิกขาบท หรือศีล ๘ ข้อนี้ สิกขาบทที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๔ และที่ ๕ มีคำอธิบายขอบข่ายการล่วงละเมิดองค์ศีลข้อห้ามเหมือนในศีล ๕ ดังกล่าวแล้ว ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะข้อที่ ๓, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ โดยลำดับ ดังนี้

สิกขาบทที่ ๓ : อพฺรหฺมจริยา เวรมณี เว้นการเสพกาม

สิกขาบทบทนี้ แปลโดยพยัญชนะว่า เจตนางดเว้นจากอสัทธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ หมายถึง การห้ามประพฤติผิดพรหมจรรย์ พึงเข้าใจความหมายของคำว่า พรหมจรรย์ ก่อน

คำว่า พรหมจรรย์ แปลว่า ความประพฤติประเสริฐ การดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ

ในที่นี้หมายถึง เมถุนวิรัติ การงดเว้นจากการเสพเมถุนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในความหมายของพรหมจรรย์ ๑๐ ประการ


แต่คำว่า เมถุนธรรม ก็เป็นภาษาพระ คือเป็นคำบัญญัติใช้แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดศีลโดยการร่วมประเวณี แปลว่า ธรรมชาติของคนคู่ที่มีความกำหนัดยินดีฉ่ำชุ่มด้วยราคะต่อกัน หรือธรรมชาติที่คนเป็นคู่ๆ พึงเข้าถึงร่วมกัน

มีคำที่ใช้แทนคือคำว่า อสัทธรรม และคำว่า อพรหมจรรย์ เมื่อกล่าวชี้ชัดในที่นี้ ทั้งคำว่า เสพเมถุนธรรม เสพอสัทธรรม ประพฤติอพรหมจรรย์ และคำว่า ประพฤติผิดจากพรหมจรรย์ ล้วนแต่มีความหมายถึงกิริยาที่เสพกาม กิริยาร่วมประเวณี กิริยามีเพศสัมพันธ์ หรือกิริยาที่ร่วมเพศสัมพันธ์สวาทกันระหว่างชาย-หญิง ที่มีความกำหนัดยินดีทางกายสัมผัสต่อกัน

ดังนั้น ข้อห้ามในสิกขาบทนี้ คือ การงดเว้นมีเพศสัมพันธ์ในช่วงระยะที่รักษาอุโบสถศีล เป็นความประพฤติที่สูงกว่าศีลข้อที่ ๓ ในเบญจศีล ซึ่งให้เสพกามหรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองของตนได้ โดยที่ศีลไม่ขาด

แต่ศีลข้อที่ ๓ แห่งอุโบสถศีลนี้ ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับใครๆ ทั้งนั้น

ศีลข้อนี้จะขาดหรือไม่ มีหลักวินิจฉัยที่เรียกว่า องค์ หรือขอบข่ายการล่วงละเมิด ๕ ข้อ คือ

๑) อัชฌาจรณียวัตถุ - วัตถุที่พึงประพฤติล่วง
๒) ตัตถะ เสวนจิตตัง - จิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น
๓) เสวนัปปโยโค - ทำความพยายามในการเสพ
๔) สาทิยนัง - มีความกำหนัดยินดี
๕) มัคเคนะ มัคคัปปฏิปาทนัง - ยังมรรคกับมรรคให้จรดถึงกัน

คำว่า วัตถุที่พึงประพฤติล่วง ในที่นี้หมายถึงมรรค คือ ช่องทางในการเสพหรือการร่วมเพศ ซึ่งมี ๓ มรรค คือ ปัสสาวมรรค ทวารเบา วัจมรรค ทวารหนัก และมุขมรรค ช่องปาก หรือได้แก่ มีบุคคลผู้ที่ตนจะมีสัมพันธ์ทางเพศด้วยปรากฏอยู่

คำว่า ยังมรรคกับมรรคให้จรดถึงกัน หมายถึง การนำอวัยวะเพศของคนทั้งสองฝ่ายเนื่องถึงกันทางมรรคใดมรรคหนึ่งดังกล่าวนั้น

อุโบสถศีลจะขาดต่อเมื่อมีการกระทำครบองค์ทั้ง ๕ ดังกล่าวนั้น โดยมีชายหรือหญิงผู้ที่ตนจะมีสัมพันธ์ทางเพศด้วย ตนมีจิตกำหนัดรักใคร่คิดจะเสพกาม จึงทำความพยายามเสพกาม และเสพกามสำเร็จโดยได้กำหนดเอาอาการที่มรรคต่อมรรค คือ อวัยวะเพศของทั้งสองฝ่ายนั้นเนื่องถึงกัน พร้อมทั้งมีความยินดีในขณะเสพ จะสำเร็จความใคร่หรือไม่ก็ตาม เป็นอันล่วงศีลข้อนี้

สิกขาบทที่ ๖ : วิกาลโภชนา เวรมณี เว้นการบริโภคในเวลาวิกาล

ก่อนที่จะทราบความหมายของศีลข้อนี้ เบื้องต้นพึงทราบกาล หรือเวลา ที่เนื่องด้วยการบริโภคอาหาร ดังนี้ ตั้งแต่อรุณขึ้นมาแล้วจนถึงเที่ยง เรียกว่า กาล เป็นระยะเวลาบริโภคครั้งเดียว เรียกอีกอย่างว่า ปุเรภัตตกาล คือเวลาก่อนภัต ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงก่อนอรุณขึ้น เรียกว่า วิกาล เป็นระยะเวลางดเว้นการบริโภคอาหารของพระอริยบุคคล

เรียกอีกอย่างว่า ปัจฉาภัตตกาล คือ เวลาภายหลังภัต

ศีลข้อนี้ มีความหมายเฉพาะการห้ามรับประทานอาหารในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงก่อนอรุณขึ้น โดยมีหลักวินิจฉัยที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ

๑) วิกาโล - เวลาตั้งแต่เที่ยงแล้วไปถึงก่อนอรุณขึ้น
๒) ยาวกาลิกกัง - ของเคี้ยวของกินที่เป็นอาหาร
๓) อัชโฌหรณัปปโยโค - พยายามกลืนกิน
๔) เตนะ อัชโฌหรณัง - กลืนล่วงลำคอเข้าไปด้วยความพยายามนั้น

ศีลข้อนี้ จะขาดต่อเมื่อมีการกระทำครบองค์ดังกล่าวนี้

สิกขาบทที่ ๗ : นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี เว้นการฟ้อนรำขับร้อง

ศีลข้อนี้ มีความมุ่งหมายให้งดเว้นการสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงทุกชนิด ทั้งการแสดงเอง และการดูผู้อื่นแสดง เหตุที่ห้ามเพราะเป็นข้าศึกต่อกุศล คือ ขัดแย้งต่อหลักคำสอนที่มุ่งให้ใช้เวลาพัฒนาตนเพื่อให้เกิดความสงบแห่งจิตและมีปัญญารู้เท่าทันกิเลส รวมถึงการห้ามประดับตกแต่งอวัยวะร่างกายของตนให้สดใสสวยงามเพื่อมุ่งประโยชน์ทางกามารมณ์

แต่ถ้าประดับตกแต่งร่างกายเพื่อมุ่งประโยชน์ในการรักษาความสะอาดตามความนิยมของสังคมมนุษย์ หรือเพื่อบรรเทาป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคผิวหนังผื่นคันต่างๆ อันเกิดมีขึ้นเป็นธรรมดา ก็สามารถทำได้

สำหรับหลักวินิจฉัยว่าศีลข้อนี้จะขาดหรือไม่ ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ ตอนที่ ๑ ซึ่งเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมเครื่องดนตรีต่างๆ และดูการเล่น ที่เป็นข้าศึกแก่กุศลนั้น มีองค์ ๓ ข้อ คือ

๑) นัจจาทีนิ - การเล่นมีฟ้อนรำเป็นต้น
๒) ทัสสนัตถายะ คมนัง - ไปเพื่อจะดูหรือฟัง
๓) ทัสสนัง - ดูหรือฟัง

และตอนที่ ๒ ซึ่งเว้นจากการทัดทรงประดับเป็นต้นนั้น ก็มีองค์ ๓ ข้อ คือ

๑) มาลาทีนัง อัญญตรตา - เครื่องประดับตกแต่งมีดอกไม้และของหอม เป็นต้น
๒) อนุญญาตการณาภาโว - ไม่มีเหตุเจ็บไข้ เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
๓) อลังกตภาโว - ทัดทรงตกแต่งเป็นต้นด้วยจิตคิดประดับให้สวยงาม

สิกขาบทที่ ๘ : อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี เว้นใช้ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่

ศีลข้อนี้ มีความมุ่งหมายให้งดเว้นการใช้ที่นั่งที่นอนเกินขนาดกำหนด รวมถึงการห้ามใช้เครื่องปูลาดและสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่สมควร กล่าวคือ หรูหราเกินไป

ทั้งนี้ เพื่อมุ่งประสงค์ไม่ให้เป็นของโอ่โถง และเกิดภาวะสุขสบายอันยั่วยวนชวนให้เกิดกิเลสมีกามราคะ ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์ เป็นต้น

ศีลข้อนี้ จะขาดหรือไม่ มีหลักวินิจฉัยที่เรียกว่า องค์ ๓ ข้อ คือ

๑) อุจจาสยนมหาสยนัง - ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่
๒) อุจจาสยนมหาสยนสัญญิตา - รู้ว่าที่นั่งที่นอนสูงใหญ่
๓) อภินิสิทนัง วา อภินิปัชชนัง วา - นั่งหรือนอนลง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2022, 14:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีสมาทานอุโบสถศีล

ในวันที่จะรักษาอุโบสถ พึงตื่นแต่เช้ามืดก่อนรุ่งอรุณ ชำระร่างกายให้สะอาดแล้วบูชาพระ เปล่งวาจาอธิษฐานอุโบสถด้วยตนเองก่อนว่า

อิมัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง พุทธะปัญญัตตัง อุโปสะถัง อิมัญจะ รัตตึง อิมัญจะ ทิวะสัง สัมมะเทวะ อภิรักขิตุง สะมาทิยามิ.

ข้าพเจ้าขอสมาทานอุโบสถพุทธบัญญัติประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ เพื่อจะรักษาไว้ให้ดี มิให้ขาดมิให้ทำลาย ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งในเวลาวันนี้

(ไปวัดจะสมาทานซ้ำอีกก็ได้ หากไม่ไปก็เป็นอันสำเร็จตามเจตนางดเว้นตามสิกขาบททั้ง ๘ นั้น)



หนังสือ คู่มือพุทธศาสนิกชน
กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
หน้า ๑๘๒-๑๙๖
:b8: :b8: :b8:

:b8: :b8: :b8: ขอขอบคุณที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=53338

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2024, 21:26 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร