วันเวลาปัจจุบัน 09 ต.ค. 2024, 08:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


หนังสือ ทศบารมีวิภาค
สำเนาเทศน์
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส


:b8: :b8: :b8:

รูปภาพ

ทศบารมีวิภาค - ทานบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ อฏฺฐมี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
ทานปารมี สีลปารมี เนกฺขมฺมปารมี ปญฺญาปารมี วิริยปารมี
ขนฺติปารมี สจฺจปารมี อธิฏฺฐานปารมี เมตฺตาปารมี อุเปกฺขาปารมีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ แห่งกาฬปักษ์ พุทธบริษัทได้มายังสันนิบาต
ประชุมกันเพื่อจะฟังพระธรรมเทศนาตามกาลนิยม
และได้พร้อมกันกระทำสักการบูชาพระรัตนตรัย ด้วยอามิสและปฏิบัติ
มียกขึ้นซึ่งดอกไม้ ธูปเทียน และไหว้พระสวดมนต์ อันเป็นบุรพกิจในเบื้องต้นเสร็จแล้ว
บัดนี้ เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา จะได้นำมาซึ่งบารมีธรรม
อันองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วสิ้นกาลยืดยาว
นับแต่ได้รับพุทธทำนายว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
มีนามและโคตรชื่อนั้น ในกัลปชื่อนั้น ของพระพุทธเจ้าอันมีนามว่าทีปังกร
ครั้งเป็นสุเมธดาบสได้สี่อสงไขยมหากัลปเศษแสนมหากัลปอีก
จึงได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณได้เป็นพระบรมศาสดา
ของพวกเราทั้งหลาย มีพระธรรมวินัยเป็นพยานอยู่ ณ บัดนี้

คำที่ว่า กปฺป ว่ากัลปนั้น ดูเป็นกาลยืดยาวนัก ตามที่ท่านนิยมไว้ ดังนี้
สํวฏฺฏกปฺป คือกำหนดด้วยเขตอายุของมนุษย์
คราวเจริญ ตั้งแต่ ๑๐ ปี ทวีขึ้นไป ๑๐๐ ปีเติมเข้าปี ๑
จนอายุของมนุษย์ทวีขึ้นไปถึงอสงไขยปี นับเป็นกัลปหนึ่ง ชื่อว่า สํวฏฺฏกปฺป
และกำหนด คราวเสื่อม คือ อายุของมนุษย์ทวีขึ้นไปถึงอสงไขยแล้ว
ก็เสื่อมถอยลงมาตามลำดับ ๑๐๐ ปี ลดออกเสียปี ๑
จนอายุของมนุษย์ต่ำลงมาถึง ๑๐ ปี นับเป็นกัลปอันหนึ่ง ชื่อว่า วิวฏฺฏกปฺป

สํวฏฺฏกปฺป (และ) วิวฏฺฏกปฺป ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ายุคหนึ่ง
เป็น อันตรกัลป อันหนึ่ง ๖๔ ยุค คือ ๖๔ อันตรกัลปนี้เป็น มหากัลป อันหนึ่ง

พระพุทธเจ้าสร้างพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนมหากัลปนี้
คิด ๆ ดูก็น่ารำคาญเหลือเกิน ที่เกิดของสัตว์ผู้ยังไม่แน่นอนมี ๒ สถาน
คือ สุคติ ๑ ทุคติ ๑ มนุษย์และสวรรค์ชื่อว่า สุคติ
นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน ชื่อว่า ทุคติ
ถ้าสัตว์ผู้แน่นอนแล้ว คือตั้งแต่บรรลุพระโสดาแล้วขึ้นไป แต่ยังไม่ถึงพระอรหันต์
มีแต่สุคติอย่างเดียว ถ้ายังไม่ถึงพระโสดา ชื่อว่า อนิยโต เป็นสัตว์ไม่แน่นอน
อาจจักไปทุคติก็ได้ ถ้าได้สำเร็จอรหันต์แล้ว หมดคติ เสวยนิพพานสุข
คือความสุขอันปราศจากอามิส เป็นชาติกายสิทธิ์ เป็นเอกันตบรมสุข
คือเป็นความสุขอย่างสูงสุด สุขโดยส่วนเดียว อธิบายว่า เป็นความสุขเกินโลก
เพราะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย พวกเราที่เป็นพุทธบริษัทควรจะวิจารณ์ให้มาก

การเวียนว่ายตายเกิดในกำเนิดภพน้อยใหญ่นี้ เทียบกับความสุขด้วยกันดู
เห็นว่าความสุขไม่พอแก่ความทุกข์แน่นอน แต่เพียงความป่วยไข้หรือความตายเท่านี้
ก็ลบล้างหักความสุขเสียสิ้น เพราะเหตุนั้นท่านผู้เต็มไปด้วยมหากรุณา
ได้พิจารณาเห็นกองทุกข์เหล่านี้ ว่าเป็นภัยอันสำคัญของสัตว์ในโลก
จึงปรารถนาพุทธภูมิ สร้างพระบารมี บำเพ็ญพุทธการกธรรม
เพื่อให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน กำหนด ๔ อสงไขยบ้าง
๘ อสงไขยบ้าง ๑๖ อสงไขยบ้าง นับด้วยมหากัลป

การที่สู้ทนทรมาน ฝ่าฝืนความลำบากอยู่ในสงสารวัฏเช่นนั้น
ข้อสำคัญก็คือ ประสงค์ว่า เมื่อได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
จักได้เป็นนายก นำเวไนยสัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์
เหมือนอย่างพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมครูของพวกเราทั้งหลาย
นับแต่ได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณแล้วก็ตั้งพระทัยประกอบพุทธกิจ
เที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา คือพระธรรมและวินัยนี้สิ้นเขตอายุถึง ๔๕ พรรษา
พระองค์ผู้เดียวทรงสั่งสอนวางระเบียบแบบแผนเป็นพระวินัยบ้าง เป็นพระสูตรบ้าง
เป็นพระปรมัตถ์บ้าง มากมายจนพวกเราตรวจตราไม่ตลอดทั่วถึงได้
คน ๆ เดียวทำงานได้มากถึงเพียงนี้ จะเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีความสุขในโลกอย่างไรได้
ท่านทรงเสวยความสุขในธรรมต่างหาก อาศัยพระมหากรุณาอันเต็มเปี่ยมในพระวรสันดาน
ทรงประทานพระธรรมเทศนา ชักจูงผู้ยังไม่มีศรัทธา ให้มีศรัทธาขึ้น
ผู้มีศรัทธาอยู่แล้ว ให้มีศรัทธายิ่งขึ้น จนให้ได้บรรลุพระอรหันต์เป็นที่สุด
พุทธบริษัทก็ย่อมทราบอยู่ด้วยกันทุกคนว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ประสงค์จะให้พวกเราพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร
ถ้าผู้เชื่อจริง ทำจริง ก็ได้สำเร็จจริงตามพระพุทธประสงค์จริงด้วย

ก็พระธรรมที่พระองค์นำมาสั่งสอนนั้นคืออะไร
ก็คือพระบารมีธรรมที่พระองค์ได้สร้างสมาแล้ว
สิ้นโกฏิแห่งมหากัลปเป็นอันมากนั่นเอง
เพราะพระธรรมเหล่านั้นมีเต็มที่บริบูรณ์ในพระองค์

เพราะพระองค์สร้างมา พระองค์เป็นผู้ไม่จน จึงทรงพระนามว่า ภควา
ผู้มีภาคยธรรมเป็นส่วนแจก รวมลงก็ได้แก่พระบารมี ๑๐ ประการ คือ

ทานบารมี บำเพ็ญทานให้เต็มรอบ ๑
สีลบารมี บำเพ็ญศีลให้เต็มรอบ ๑
เนกขัมมบารมี บำเพ็ญพรหมจรรย์ให้เต็มรอบ ๑
ปัญญาบารมี บำเพ็ญทางปัญญาให้เต็มรอบ ๑
วิริยบารมี บำเพ็ญความเพียรให้เต็มรอบ ๑
ขันติบารมี บำเพ็ญขันติความอดทนให้เต็มรอบ ๑
สัจจบารมี บำเพ็ญสัจจความจริงให้เต็มรอบ ๑
อธิฏฐานบารมี บำเพ็ญอธิฏฐานให้เต็มรอบ ๑
เมตตาบารมี บำเพ็ญเมตตาให้เต็มรอบ ๑
อุเบกขาบารมี บำเพ็ญอุเบกขาให้เต็มรอบ ๑


ธรรม ๑๐ ประการนี้ ชื่อว่า พุทธการกธรรม เป็นธรรมสำหรับพระพุทธเจ้า
และชื่อว่า โพธิสัตตธรรม เป็นธรรมสำหรับโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ
ชื่อว่าโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญธรรม ๑๐ ประการนี้ให้เต็มรอบจึงจะได้สำเร็จ
ข้อนี้ถึงแม้พวกเราทั้งหลายผู้ปรารถนาจะสำเร็จโลกุตรธรรม
มีพระอรหัตตผลเป็นที่สุด ก็นับในโพธิสัตว์ได้แผนกหนึ่งเหมือนกัน
เพราะศัพท์ว่า โพธิสัตโต แปลว่า สัตว์ผู้ตรัสรู้อริยมรรค อริยผล
ในพวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติตามพุทธโอวาทอยู่ทุกวันนี้
ก็ปรางค์จะให้สำเร็จโลกุตรธรรมด้วยกันทุกคนมิใช่หรือ
จะเห็นไปว่า พระพุทธเจ้าท่านสร้างบารมีมาเป็นนักเป็นหนา ท่านจึงสำเร็จ
คนเช่นเราจะได้สร้างมาแล้วสักกี่มากน้อยก็ไม่รู้ ที่ไหนจักสำเร็จได้ อย่าคิดไปเช่นนั้น
การสร้างบารมีใหญ่โตเช่นนั้นเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าต่างหาก
พวกเราเป็นแต่พุทธบริษัทรับแจกบริโภคเท่านั้น พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ให้ทาน
การสร้างสมโภคทรัพย์มาก ๆ เป็นหน้าที่ของผู้ให้ทานต่างหาก
พวกเราเปรียบเหมือนผู้รับทาน ไม่ต้องสร้างสมอะไร รับบริโภคเท่านั้นเป็นพอ
ในพระบารมี ๑ ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงแจกให้เป็นทานแก่พวกเราทั้งหลายนั้น
ถ้าผู้ใดตั้งใจรับบริโภค คือ ทำจริง แต่อย่างเดียวก็อาจสำเร็จได้

บัดนี้จักแสดงพระบารมีทั้ง ๑๐ นั้น คัดเอาแต่อย่างพอใจ
ในพระบารมีประเภทหนึ่ง ๆ ซึ่งเห็นว่าพอจะทำตามได้
และอาจให้สำเร็จมรรคผลนิพพานได้จริงด้วย มาเรียงลำดับไว้เป็นกัณฑ์ ๆ
ให้พุทธบริษัทเลือกคัดปฏิบัติให้ต้องตามนิสัยของตน ๆ

วันนี้จักแสดง ทานบารมี ก่อน

ทานํ นาม ชื่ออันว่า การให้ทานนี้ เป็นพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ได้สร้างสมมาเต็มรอบแล้ว จึงได้นำมาแจกแก่พุทธบริษัท
พุทธบริษัทผู้ได้รับแจกก็ได้ปฏิบัติสืบกันมา แต่ครั้งพุทธกาลจนบัดนี้
ล่วงกาลมานานถึง ๒๔๗๐ ปีแล้ว ทานนั้นก็ยังบริบูรณ์อยู่ในระหว่างแห่งพุทธบริษัท

ทานนั้นจัดเป็น ๓ ประเภท อย่างต่ำ ๑ อย่างกลาง ๑ อย่างสูง ๑
อย่างต่ำนั้น คือ ต่ำเลวกว่าที่เราบริโภค อย่างกลางนั้น เสมอกับตนบริโภค
อย่างสูงนั้น ยิ่งกว่าที่ตนบริโภค วัตถุทานนั้นมี ๔ เรียกว่า ปัจจัย ๔
คือวัตถุเป็นเครื่องเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งร่างกาย จึงชื่อว่าปัจจัย
ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช วัตถุทาน ย่นลงได้ ๔ เท่านี้

คำที่ว่าให้จีวรเป็นทานนั้น พึงถือเอาเนื้อความดังนี้ การให้ผ้าเป็นทาน
ไม่ว่าผ้าท่อนเล็ก ท่อนใหญ่ สุดแต่จะสำเร็จกิจนั้น ๆ ได้ชื่อว่าเป็นจีวรทานทั้งสิ้น
บิณฑบาตทานนั้น ให้อาหารเป็นทาน ไม่เลือกประเภทใด
สุดแต่เป็นของสำเร็จอาหารกิจ ได้ชื่อว่าบิณฑบาตทานทั้งสิ้น
เสนาสนทานนั้น คือให้ที่อยู่ที่อาศัยสำหรับ กันแดด กันฝน กันร้อน กันหนาว
ตลอดไปถึง เตียงตั่ง มุ้งม่าน ฟูกเบาะ กระโถน กาน้ำ
เครื่องใช้สำหรับเสนาสนะทั้งมวล ชื่อว่าเสนาสนทานทั้งสิ้น
เภสัชทานนั้น คือให้ยาแก้โรคเป็นทาน สุดแท้แต่เป็นยาสำหรับแก้โรคประเภทใดได้
ตลอดถึงหมากพลูบุหรี่ ชื่อว่า เภสัชทานทั้งสิ้น

ส่วนที่พรรณนามานี้ เป็นส่วนวัตถุทานภายนอก เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาตั้งมาได้สิ้นกาลยืดยาวถึงเพียงนี้
ก็อาศัยทานของทายกทายิกาที่ปฏิบัติสืบ ๆ กันมานั้นเอง ถึงเป็นวัตถุทานภายนอก
ก็ให้เกิดความยินดีแก่ผู้ให้และผู้รับอย่างเบิกบาน ให้เจริญความสุขทั้งชาตินี้ชาติหน้าโดยแท้
จึงเป็นของควรทำ ส่วนบุรพบุรุษก็ได้พาทำมาแล้วโดยลำดับ
สำเร็จด้วยกรุณาเจตนา และจาคเจตนา มีเจตนาเหมือนกันกับการรักษาศีล

บัดนี้จักแสดงวัตถุทานภายในให้เข้าใจไว้ จะแสดงแต่ย่อ ๆ ให้พุทธบริษัทไปตรองเอาเอง
ยกตัวอย่างเหมือนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ จะเป็นนักบวชประเภทใดก็ตาม
ถ้ามีเมถุนวิรัติ ชื่อว่าได้บริจาคมหาทาน ๕ ประการ

มหาทาน ๕ ประการนั้น คือ ชีวิตบริจาค ๑ อังคบริจาค ๑
ภริยาบริจาค ๑ ปุตตบริจาค ๑ ธนบริจาค ๑


ชีวิตบริจาค นั้น คือสละชีวิตถวายพรหมจรรย์
ถึงแม้ชีวิตจะแตกดับไปก็ไม่ยอมให้เสียศีลเสียสัตย์ ชื่อว่า ชีวิตบริจาค

อังคบริจาค นั้น คือสละอัตตภาพร่างกายแก่ที่เคารพของตน
คือมอบกายถวายตัวเป็นข้าในวัตถุอันเป็นที่เคารพ
เหมือนอย่างพุทธบริษัทมอบกายถวายตัวเป็นข้าพระรัตนตรัย เป็นตัวอย่าง ชื่อว่า อังคบริจาค

ภริยาบริจาค นั้น พึงเข้าใจว่า เป็นบุรุษเป็นสตรี ต้องมีสามีภรรยาด้วยกันทุกคน
ผู้ที่ตั้งเจตนา เว้นว่า เราจักไม่มีสามีภรรยาตลอดชีวิต ชื่อว่า ภริยาบริจาค

ปุตตบริจาค นั้น เมื่อสละสามีภรรยาเสียแล้ว ก็เป็นปุตตบริจาคอยู่เอง

ธนบริจาค นั้น ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ต้องเป็นห่วงด้วยโภคทรัพย์
คือ ตามธรรมดา มนุษย์เราคนหนึ่ง ๆ ต้องมีที่บ้านที่สวนที่นา
หรือมีการค้าขายแผนกหนึ่งทุกคน ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ชื่อว่าได้ให้ที่สวนที่บ้านที่นา ให้โอกาสการค้าขายเป็นทาน
ไม่ไปแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในหน้าที่นั้น จึงชื่อว่า ธนบริจาค

จาคเจตนาทั้งหลายเหล่านี้นับเข้าในมหาทาน ถ้าผู้บำเพ็ญมหาทานเหล่านี้ให้เต็มรอบ
ก็ชื่อว่าผู้รับแจกทานอันพระพุทธเจ้าได้ทรงแจก พระพุทธเจ้าได้เสวยความสุขฉันใด
เราก็คงได้รับความสุขฉันนั้น ก็ยิ่งกว่านี้ยังมีอีก ความโลภ ความโกรธ ความหลง
๓ อย่างเท่านี้ เป็นมูลแห่งอกุศล ถ้าผู้บริจาคได้เป็นยอดทานบารมี
โลภะ โทสะ โมหะ จัดเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด
อย่างหยาบ สละด้วยศีล อย่างกลาง สละด้วยสมาธิ
อย่างละเอียด สละด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ


พุทธบริษัทพึงเข้าใจว่า แต่ทานบารมีอย่างเดียวเช่นนี้
ก็อาจให้ผู้บำเพ็ญสำเร็จมรรคผลนิพพานโดยไม่ต้องมีความสงสัย
ได้แสดงประเภทแห่งทานบารมี พอเป็นทางบำรุงสติปัญญาแห่งพุทธบริษัท
พอสมควรแก่เวลาด้วยประการฉะนี้ ฯ

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้าวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ (๑๘/๗/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - ทานบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56250


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - ศีลบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ สีลปารมี อนุสนฺธึ ฆฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
sอิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันปัณรสีดิถีที่ ๑๕ แห่งกาฬปักษ์ เป็นวันอันพุทธบริษัทได้มาสันนิบาต
ในธรรมสวนมณฑล เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา ได้ประกอบกิจในเบื้องต้น
คือได้กระทำอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาในพระรัตนตรัย มีดอกไม้ ธูปเทียน
และไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีลเป็นเบื้องต้นเสร็จแล้ว
ต่อนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา พึงตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ของตน ๆ
ด้วยชีวิตที่ได้มาถึงวันนี้ ต้องเห็นว่าเป็นลาภอันสำคัญ
ด้วยชีวิตของสัตว์ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ท่านบรรยายไว้ว่า

อนิมิตฺมนญฺญาตํ มจฺจานํ อิธ ชีวิตํ
ความว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ หานิมิตเครื่องหมายมิได้

กสิรญฺจ ปรฺตญฺจ ตญฺจ ทุกฺเขน สํยุตํ
เป็นของย่อหย่อนคลอนแคลนอยู่ด้วย เป็นของมีประมาณน้อยอยู่ด้วย
เมื่อเป็นกระนั้น ยังต้องระคนปนอยู่ด้วยทุกข์เสียอีก


เมื่อเห็นความข้อนี้ชัดใจแล้ว ไม่ควรประมาท ไม่ควรเพลิดเพลินนัก
ต่อความสุขในโลกอันมีประมาณน้อย
ทางที่จักเดินต่อไปในสังสารวัฏยืดยาวคราวไกลนัก
ควรจะเร่งรีบบำเพ็ญบารมีธรรมให้เต็มเสียในชาตินี้
ตัดทางข้างหน้าอันเป็นทางกันดารให้สั้นเข้ามา

ถ้าได้สำเร็จโลกุตรธรรมชั้นต่ำ เพียงภูมิพระโสดา
อย่างช้าก็ยังจะท่องเที่ยวอยู่อีกเพียง ๗ ชาติ
ก็นับว่าร่นหนทางให้สั้นเข้ามาได้ถนัดใจ น่ายินดีมิใช่น้อย
ถ้าได้สำเร็จพระสกิทาคาก็ยังอีกชาติเดียว
ถ้าได้สำเร็จพระอนาคา ก็ไม่ต้องมาเกิดในกามโลกอีก
จุติจากอัตภาพนี้แล้วไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมโลก สำเร็จพระนิพพานทีเดียว
ถ้าได้สำเร็จพระอรหันต์เสียในชาตินี้ ก็ถึงพระนิพพานทีเดียว
สิ้นภพสิ้นชาติ เสวยนิรามิสสุขเป็นบรมสุขอย่างเกินโลก
จะหาความสุขในโลกแต่สิ่งเดียวมาเปรียบก็ไม่ได้
จึงเป็นที่ปรารถนาของนักปราชญ์ ผู้ฉลาดด้วยปัญญา
ด้วยท่านที่เป็นนักปราชญ์เห็นโทษทุกข์ภัยในวัฏฏสงสารชัดใจ
แลเห็นความสุขแห่งพระนิพพานชัดใจแล้ว
ท่านมิได้อาลัยต่อร่างกายและชีวิต สู้ทรมานตนบำเพ็ญบารมีธรรมให้เต็ม
ถ้าบารมีทั้งสิบประการเต็มเมื่อไรก็ได้สำเร็จเมื่อนั้น

บัดนี้จักแสดง สีลบารมี ต่อไป

สีลํ นาม ชื่ออันว่า ศีล นี้ เป็นเหตุจะให้ผู้รักษาไว้ด้วยดีได้สำเร็จความสุข
ทั้งในชาตินี้ชาติหน้า และให้สำเร็จพระนิพพาน ตามนัยที่ท่านบอกอานิสงส์ไว้ว่า

สีเลน สุคตึ ยนฺติ ผู้จะถึงสุคติทั้งชาตินี้ชาติหน้า ก็ด้วยอำนาจศีล

สีเลน โภคสมฺปทา ผู้จะสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ ก็ด้วยอำนาจศีล

สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ผู้จะถึงพระนิพพาน อันดับเสียได้ซึ่งกองทุกข์ทั้งปวง ก็ด้วยอำนาจศีล

ตสฺมา สีลํ วิโสธเย เพราะเหตุนั้นผู้มีปัญญาปรารถนาความสุขแก่ตน
ทั้งชาตินี้ ชาติหน้า พึงชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ เป็นการชอบยิ่ง


ท่านแสดงอานิสงส์ไว้เช่นนี้ สีลบารมีนี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงสร้างมาถึง ๔ อสงไขย
แสนมหากัลปแล้ว จึงได้สำเร็จเป็นพระสยัมภูสัมมาสัมโพธิญาณ
ท่านทรงเอาศีลที่มีในพระองค์นั้นแหละมาแจกให้แก่พุทธบริษัท
ถ้าผู้ดำเนินตามก็ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานตามความประสงค์
จะไปคิดเสียว่า พระบารมีท่านทรงสร้างมาเป็นนักเป็นหนา ท่านจึงได้สำเร็จ
คนผู้เช่นเรานี้ ที่ไหนจะได้สำเร็จ จะต้องสร้างบารมีนาน ๆ ให้เต็มเสียก่อนจึงจะสำเร็จได้
ผู้คิดอย่างนี้ผิด ไม่ชอบ เราเป็นพุทธบริษัท ไม่ต้องสร้างนาน
สร้างในชาตินี้และให้เต็มทั้ง ๑๐ ประการแล้วก็สำเร็จในชาตินี้

พวกเราเป็นพุทธบริษัท เปรียบเหมือนราชบริวารของพระราชา
พระราชาเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทรงประทับพักร้อนพักแรมในที่ใด
ที่พักที่อาศัยหรืออาหารการบริโภคในที่นั้น ย่อมสำเร็จด้วยบุญญานุภาพของพระราชา
ส่วนราชบริวารไม่ต้องหอบหิ้วหาบขนอะไรไปให้รุงรัง
ตั้งหน้าแต่ปฏิบัติราชการในหน้าที่ของตน ให้ต้องตามพระราชประสงค์เท่านั้น
เมื่อพระราชาทรงสุขสำราญด้วยประการใด
ราชบริวารก็จะต้องได้รับความสุขสำราญในที่นั้น ด้วยประการนั้นเหมือนกัน

พึงเข้าใจว่า การออกทรัพย์มาก ๆ ทำการมาก ๆ นั้น เป็นหน้าที่ของพระราชา
ราชบริวารเป็นแต่ผู้ตามเสด็จเท่านั้น สำเร็จความสุขเท่ากันกับพระราชา
ข้ออุปมานี้ฉันใด การสร้างพระบารมีนับด้วยโกฏิแห่งอสงไขยกัลปเป็นอันมาก
เป็นหน้าที่พระพุทธเจ้า พุทธบริษัทไม่ใช่ผู้สร้างบารมีให้มากเช่นนั้น
เป็นผู้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านทรงแจกอะไรมาให้ ก็ตั้งหน้ารับประทานเท่านั้น
พระพุทธเจ้าได้เสวยความสุขฉันใด พุทธบริษัทก็ได้รับความสุขเหมือนกันฉันนั้น
มีอุปไมยเหมือนพวกราชบริวารอาศัยพระราชา สำเร็จความสุขตามเสด็จของพระราชาฉันนั้น
เมื่อพุทธบริษัทเข้าใจความโดยนัยนี้แจ้งชัดแก่ใจ ไม่ดูถูกดูหมิ่นตนเอง
เห็นว่าตนก็เป็นพุทธบริษัทผู้หนึ่ง อาจสามารถจะถือเอามรรคผลนิพพานได้โดยแท้
ถ้าเป็นผู้เชื่อจริง แต่สีลบารมีเท่านี้ก็อาจสำเร็จ

ด้วยศีลมีประเภทเป็นอันมาก จะแสดงไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด
จะแสดงแต่จตุปาริสุทธิศีล คือศีลให้ถึงความบริสุทธิ์ ๔ ประการ
ได้แก่ ปาฏิโมกขสังวรศีล ๑ อินทรียสังวรศีล ๑
ปัจจัยสันนิสิตศีล ๑ อาชีวปาริสุทธิศีล ๑


ปาฏิโมกขสังวรศีล นั้น ได้แก่การระวังรักษาตามพุทธบัญญัติในพระปาฏิโมกข์
ย่นพระปาฏิโมกขสังวรศีลให้สั้น มีสิกขาบทสำคัญอยู่ ๔ ประการ
เป็นสิกขาบทจำต้องรักษาอย่างเคร่งครัด ตั้งวิรัติให้ขาดจากใจทีเดียว
คือ การฆ่าสัตว์ ๑ การลักฉ้อเข้าของที่มีเจ้าของหวงแหน ๑
การเสพอสัทธรรม ๑ การกล่าวคำเท็จ ๑
สี่สิกขาบทนี้พึงตั้งเจตนาให้ขาดลงไปว่า
เราจักไม่ล่วงสิกขาบททั้ง ๔ นี้ตลอดชีวิต โทษในสิกขาบททั้ง ๔ นี้
อย่างสูงเป็นปาราชิก อย่างกลางเป็นสังฆาทิเสส อย่างต่ำเป็นปาจิตตีย์ ทุกกฎ
ถ้าตั้งใจรักษาสิกขาบททั้ง ๔ นี้ให้เป็นสมุจเฉทวิรัติ คือ
เว้นให้ขาดด้วยเจตนาทีเดียว เป็นอันรักษาพระปาฏิโมกขสังวรศีลตลอดไปได้

ใช่แต่พระภิกษุสงฆ์จะพึงรักษาพระปาฏิโมกขสังวรศีลได้โดยฝ่ายเดียวก็หาไม่
แม้สามเณรรักษาศีล ๑๐ อุบาสกอุบาสิกาที่รักษาศีล ๘ อุโบสถศีล
การรักษาสิกขาบททั้ง ๔ คือ ปาณา อทินนา อพรหมจริยา มุสา ให้เป็นของบริสุทธิ์ได้
ก็ชื่อว่ารักษาพระปาฏิโมกขสังวรศีลเหมือนกัน
แต่เพียงศีล ๕ ยังนับเข้าในพระปาฏิโมกขสังวรศีลไม่ได้ เพราะยังขาดอพรหมจริยา
องค์สำคัญที่ ๑ ในพระปาฏิโมกข์ ถ้าผู้รักษาศีล ๘ ศีล ๑๐
อนุโลมเข้าในพระปาฏิโมกขสังวรศีลได้โดยแท้
พึงถือเอาเนื้อความในพระปาฏิโมกขสังวรศีลโดยนัยนี้

ส่วน อินทรียวังวรศีล นั้น พึงระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ที่เรียกว่า อินทรีย์ คือเป็นใหญ่ในอันให้สำเร็จกิจหนึ่ง ๆ จึงเรียกว่าอินทรีย์

การระวังนั้นก็คือให้รู้เท่าต่ออารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์
ธรรมารมณ์นั้นไม่ใช่อื่น คือ รูปเสียง กลิ่น รส เครื่องสัผัส ๕ อย่างนั้นเอง
แต่เป็นส่วนสัญญาอดีต เป็นคู่ของใจ จึงเรียกว่า ธรรมารมณ์

การระวังนั้นคือให้รู้ว่า อารมณ์ไม่ใช่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่ ใจ

ใจ ไม่ใช่อารมณ์, ใจ ไม่ใช่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย


ใจต่างหาก, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต่างหาก, อารมณ์ ต่างหาก,
อารมณ์เป็นแต่ผู้ผ่านไป ผ่านมาเท่านั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นแต่ผู้รับสัมผัสเท่านั้น
สำคัญที่ใจเท่านั้นเป็นตัวอิสระ แต่จะทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้ คอยแต่บังคับเขาเท่านั้น
แล้วก็คอยแต่รับสุขรับทุกข์ที่เป็นผลเกิดไปจากตนเองเท่านั้น
การที่รักษาอินทรียสังวรศีล ให้รักษาใจอย่างเดียวเป็นพอ
ปล่อยให้อารมณ์เขาผ่านไปผ่านมาอยู่ตามธรรมดาของเขา อย่าเอาเข้ามาหมักไว้ในใจ
ให้รู้สึกว่าใจก็เป็นปกติ อาศัยใจไม่รู้จักใจนี้เอง จึงเห็นเป็นของแปลกประหลาดไปทุกสิ่งทุกอย่าง
ถ้าอารมณ์ขาดจากใจไปเมื่อใด ก็เป็นสีลวิสุทธิเมื่อนั้น คือไม่ใช่นอนหลับ

การที่รักษาอินทรียวังวรศีลภายนอก ก็คือรักษาอุโบสถศีล
วิกาลโภชนะ นัจจะคีตะ อุจจาสยนะ ๓ องค์นี้เป็นการรักษาอินทรียสังวรศีล


วิกาลโภชนะ ระวังลิ้นไม่ให้หลงไปในรส นัจจคีตะ ระวังหู ระวังตา ระวังจมูก
ไม่ให้หลงไปในเสียง ไม่ให้หลงไปในรูป ไม่ให้หลงไปในกลิ่น
อุจจาสยนะ ระวังกาย ไม่ให้หลงไปในสัมผัส คงได้ความว่า
ระวังรักษา ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นเอง ส่วนใจให้เป็นผู้ระวัง

การรักษาอุโบสถศีลจึงชื่อว่า รักษาทั้งพระปาฏิโมกขสังวรศีล
และอินทรียสังวรศีล ด้วยประการฉะนี้

ส่วน ปัจจัยสันนิสิตศีล นั้น คือให้รู้ประมาณในการบริโภคปัจจัย
เพราะปัจจัยเป็นของบำรุงร่างกาย ถ้าไม่พิจารณาให้เห็นคุณและโทษเสียก่อนบริโภค
อาจจะเกิดโทษแก่ร่างกายได้ การพิจารณาปัจจัย จึงนับเป็นศีล
ด้วยสัตว์ทั่วโลก อาหารเป็นปัจจัยสำคัญ ส่วนมนุษย์เราพากันตายเสียด้วยอาหารทำพิษ
ปีหนึ่ง ๆ นับไม่ถ้วน ถ้าบริโภคอาหารไม่ต้องกันกับธาตุ
อาจทำท้องให้พิการ ไม่ถึงตายก็ต้องลำบากไปพักหนึ่ง
การพิจารณาปัจจัยเสียก่อนแล้วจึงบริโภค ชื่อว่ารักษาปัจจัยสันนิสิตศีลด้วยประการฉะนี้

ส่วน อาชีวปาริสุทธิศีล นั้น ก็คือให้เลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์
แท้จริงอัตภาพร่างกายของเราทั้งหลายนี้ เป้นอยู่ด้วยอาหาร
ถ้าอาหารเป็นบาป คือได้มาด้วยกรรมอันเป็นบาป เป็นต้นว่า
เราไปฆ่า ไปลัก ไปฉ้อ ไปโกงเขามาบริโภคเลี้ยงชีวิต ก็ได้ชื่อว่า กินบาปเข้าไป
อาหารที่เป็นบาปนั้นแหละ จะไปเกิดเป็นเนื้อ เป็นหนัง บุพโพโลหิตสืบต่อร่างกายขึ้น
ร่างกายนั้นก็เป็นกายบาป เพราะเกิดจากของที่เป็นบาป ถ้ากายเป็นบาปแล้ว
ใจก็อาศัยกาย ใจก็ต้องเป็นบาปไปด้วย เมื่อกายและใจเป็นบาปแล้ว
ก็จะก่อให้พืชพันธุ์ที่อาศัยเป็นบาปต่อ ๆ ไป จะเอาบุญมาแต่ที่ไหนเล่า
เพราะเหตุนั้นการเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม จึงนับเป็นศีลควรรักษาประเภท ๑
ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล ด้วยประการฉะนี้

ผู้รักษาวิสุทธิศีลได้ทั้ง ๔ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินในมรรคปฏิปทาเป็นทางตรง
ศีลนี้เป็นบาทของสมาธิ คือเป็นเหตุจะให้สำเร็จภูมิสมาธิ คืออารมณ์ขาดจากใจ
ใจก็เป็นปกติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นปกติ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
ก็เป็นปกติไปตามกันหมด กายและอารมณ์ที่เป็นปกตินั่นแหละ เป็น อธิศีล
ใจที่นิ่งเป็นปกตินั่นแหละเป็นสมาธิ เป็น อธิจิต ความรู้จักปกตินั่นแลเป็นปัญญา
ถ้าปัญญานั้นสอดส่องรู้เท่าสังขารขึ้นก็เป็น อธิปัญญา
การรู้เท่าสังขารก็คือ รู้เท่าสมมติ รู้ว่านามรูปเป็นสมมติ เป็นโลก ไม่ใช่ธรรม
สกลกายนี้เป็นธรรม ไม่ใช่นามรูป นามรูปไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่นามรูป
นามรูปไม่ได้อยู่ในตน ตนไม่ได้อยู่ในนามรูป
เท่านี้ก็เป็นอันละสักกายทิฏฐิที่เป็นว่านามรูปเป็นตน สิ้นสงสัยในนามรูป
เห็นว่าไม่ใช่ตัวตนจริงจัง ก็เป็นอันละวิจิกิจฉา เชื่อแน่ว่าศีลและวัตรที่มีในตน
ตรงต่อไตรสิกขา ก็สิ้นลูบคลำศีลและวัตร คือสิ้นสงสัยในศีลและวัตรของตน
ชื่อว่าละ สีลพัตปรามาส เท่านี้ใจของผู้นั้นชื่อว่าตกกระแสธรรม
ได้อจลศรัทธาเพียงเท่านี้ ทางข้างหน้าที่เราจักเดินไปในสังสารวัฏสั้นเข้ามาแล้ว
ถ้าผู้ปฏิบัติได้เพียงชั้นนี้ ก็ชื่อว่าได้ดื่มรสของพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ๆ
แต่อย่างนั้นก็จะรู้ตนว่า เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาไม่เสียชาติ จะมีความยินดีมิใช่น้อย
เพียงแต่บำเพ็ญกองศีลอย่างเดียวแต่ให้เต็มขีด ก็อาจสำเร็จมรรคผลนิพพานได้
ถ้าเชื่อจริง ทำจริง คงสำเร็จจริง โดยนัยดังบรรยายมาด้วยประการฉะนี้ ฯ

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้ากาฬปักษ์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑ ค่ำ (๒๕/๗/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - ศีลบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56249


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - เนกขัมมบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ อฏฺฐมี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ เนกฺขมฺมปารมี อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ อิมสฺส
ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำ แห่งสุกลปักษ์
พุทธบริษัทได้มายังสันนิบาตประชุม เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา
ได้ทำกิจเบื้องต้น มีไหว้พระสวดมนต์ เป็นต้น
ให้สำเร็จกิจคืออามิสบูชาและปฏิบัติบูชาเสร็จแล้ว

ต่อนี้ เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา
พึงตั้งใจกำหนดตามทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จ
คือให้ตั้งใจเพ่งตามให้คิดว่า
โอวาทนี้พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเราคนเดียว
เราคนเดียวจะเป็นผู้รับปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทนี้

ความจริงการฟังเทศน์ไม่ใช่เป็นของง่าย
จะเข้าใจได้ก็ต้องอาศัยผู้แสดงชี้แจงเปิดเผยให้เข้าใจ
พระปริยัติธรรมเป็นแต่แผนที่เท่านั้น
ถ้าแสดงแต่ตามแนวของพระปริยัติธรรมเท่านั้น
ก็เท่ากับชี้แผนที่ให้ดูเท่านั้น


ความจริงภูมิประเทศกับแผนที่ไกลกันมาก
ถึงจะคูณหารวัดเส้นวัดวาได้อย่างคล่องแคล่ว
ก็ยังห่างไกลกับความจริงอยู่นั่นเอง


ถ้าเข้าใจแผนที่แล้ว แลไปตรวจดูในภูมิประเทศนั้น ๆ
ให้เห็นด้วยตนเองนั่นแล จะได้รู้ของจริง
ผู้ศึกษาจำทรงพระปริยัติธรรมก็เท่ากับเรียนแผนที่เท่านั้น
จะได้รู้ของจริงหามิได้

ต่อเมื่อเข้าใจพระปริยัติธรรมแล้ว และตั้งใจปฏิบัติตาม
จนเกิด ญาณทัสสนะ รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงอย่างไร
ที่ท่านแสดงไว้ว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ นั่นแล
จึงชื่อว่าถือเอาประโยชน์ในพระปริยัติธรรมได้


ก็ต้องอาศัยนายกผู้เดินนำหน้า คือผู้แสดงชี้แจง
ถ้าผู้แสดงรู้แต่แผนที่ ไม่รู้ภูมิประเทศ ขืนให้เป็นผู้นำหน้าก็วนกันเท่านั้น
เพราะเหตุนั้นจึงว่าการฟังธรรมเป็นของยาก คือ ยากที่จะเข้าใจ
ด้วยพุทธโอวาทไม่ใช่เป็นของตื้น

ให้มองดูคนไทยเราทั้งประเทศ
ล้วนแต่ใฝ่ใจทางพุทธศาสนาโดยมาก ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตนับด้วยล้าน
แต่จะหาผู้สิ้นสงสัยในพระอริยมรรคอริยผลอย่างต่ำเพียงภูมิพระโสดาเท่านั้น
ก็มีส่วนน้อยเหลือเกิน

ในพวกเรานี้ ทุกคนให้พากันตั้งใจว่า
จะถือเอาโลกุตรธรรมให้ได้
เพราะพระธรรมเป็นของกลาง
ใครจริงใครได้ ไม่ต้องเป็นห่วงคนอื่น


อย่าดูถูกดูหมิ่นตนเอง
ที่เราสมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ เห็นปานนี้
พึงเข้าใจเถิดว่า
อุปนิสัยของเราสามารถจะบรรลุโลกุตรธรรมได้โดยแท้
ตนของเราที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมถึงเพียงนี้


เปรียบเสมือนมีดหรือดาบ
เท่ากับชุบเข่นมาดีแล้ว ยังขาดอยู่แต่การลับเท่านั้น
ถ้าตั้งใจลับให้ถึงคม ก็ใช้การได้เท่านั้นเอง
ข้ออุปมานี้ฉันใด ตนของเราที่พรักพร้อมด้วยคุณสมบัติและปัญญาสมบัติ
พอรู้ผิดรู้ถูกนี้ ชื่อว่ามีอุปนิสัยบริบูรณ์แล้ว
ยังขาดอินทรีย์ หรือ พละ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เท่านั้น


ถ้าบำรุงอินทรีย์ หรือกำลังทั้ง ๕ นี้ให้เต็มรอบแล้ว
ก็คงเห็นหน้าเห็นหลังกันเท่านั้นเอง
การบำรุงอินทรีย์หรือพละนี้
เท่ากับลับมีดลับดาบให้ถึงคม มีอุปไมยฉันนั้น


บัดนี้จักแสดง เนกขัมมบารมี ต่ออนุสนธิสืบไป
ด้วยพระบารมีธรรมทั้ง ๑๐ ประการนั้น
เปรียบเหมือนอาหารอันประณีตแต่ละอย่าง ๆ
ถ้าผู้ได้รับแจกตั้งใจบริโภค แม้แต่อย่างเดียว
ก็อาจให้สำเร็จประโยชน์ที่ตนประสงค์ได้

เนกขัมมบารมีนี้
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ทรงสร้างมาสิ้นโกฏิแห่งกัลปเป็นอันมาก
ครั้นถึงปัจฉิมชาติจึงได้นำมาแจกแก่พุทธบริษัท
ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งพุทธกาลจนบัดนี้


คือผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้แก่
พระสงฆ์ สามเณร ตาผ้าขาว นางชี
อุบาสกอุบาสิกา ผู้รักษาอุโบสถศีล

ชื่อว่า ประพฤติเนกขัมมะ คือคุณธรรมเป็นเหตุออกจากกาม
ผู้เห็นโทษของกาม จึงจะประพฤติเนกขัมมคุณได้


ความจริงกามตัวนี้เป็นตัวสวรรค์ สคฺโค แปลว่า สวรรค์
แปลสวรรค์อีกทีหนึ่งว่า อารมณ์เลิศ
กาม ศัพท์แปลว่า ความรักความใคร่ ความชอบใจ
ถ้ารักใคร่ชอบใจในวัตถุที่มีวิญญาณ
หรือวัตถุที่หาวิญญาณมิได้ก็ชื่อว่า กาม ทั้งสิ้น


คำที่ว่า กาม นั้น เป็นคำกลาง
จะน้อมไปทางใดก็ได้ ได้ทั้งดีและชั่ว


แต่ เนกขัมมะ ออกจากกามในเนกขัมมบารมีนี้
หมายการเว้นอสัทธรรมโดยตรง
กามทั้งหายแหล่ เป็นเจ้าโลก จึงเรียกว่า กามโลก
ควรจะคิดให้เห็นโทษของกาม


การที่จะคิดให้เห็นโทษของกาม เป็นการเห็นด้วยยาก
เพราะกามไม่ใช่มีแต่โทษอย่างเดียว
คุณของกามก็มีมาก คุณนั้นแหละมาปิดโทษเสีย


คุณของกามนั้นก็คือความสุขในโลก

ได้แก่ความสุขเกิดแต่เป็นหนุ่มเป็นสาว
เกิดแต่การมีเหย้ามีเรือน มีลาภมียศ มีบุตรมีหลาน
ความสุขเกิดแต่ความเป็นขัตติยมหาศาล
พราหมณมหาศาล เป็นเศรษฐี คหบดี
ความสุขเกิดแต่ความไม่มีโรค
ความสุขเกิดแต่ดูการเล่นเต้นรำ
ไม่อาจพรรณนาให้ทั่วถึงได้
เครื่องยั่วยวนให้เพลิดเพลินลุ่มหลงทั้งสิ้น
ชื่อว่าความสุขในโลก

ถ้าจะชี้คุณของกามให้เต็มขีดแล้ว
พึงเข้าใจว่า ผู้จะสำเร็จเป็น พระพุทธเจ้า พระปัจจเจก พระอรหันต์
ตลอดถึงพวกเราที่ได้ประสบพบเห็นพระพุทธศาสนา
ได้มีศรัทธาบวชเรียนบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์
หรือได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาอยู่ทุกวันนี้
ถ้าจะไม่ชอบดูถูกดูหมิ่นแล้ว ก็ต้องว่าเป็นคุณของกามทั้งสิ้น


ถ้าว่าโดยโทษเล่า ก็มากมายเหลือเกิน
เกิดมาแล้วต้องป่วยต้องไข้ มีโรคภัยต่าง ๆ
จนเหลือความสามารถของแพทย์

แต่ยังเด็กยังเล็กก็มีโรคชนิดหนึ่ง มีตาล มี ทรางเป็นต้น
เจริญขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว
ก็มีโรคอีกชนิดหนึ่ง มีโลหิตพิการเป็นต้น
เจริญขึ้นถึงกลางคน ก็มีโรคอีกชนิดหนึ่ง
แก่เฒ่าแล้วก็มีโรคสำหรับคนแก่คนเฒ่าอีกชนิดหนึ่ง
มีประเภทต่าง ๆ กัน จนถึงแก่ตั้งโรงพยาบาลรักษากัน ก็ไม่ฟังตาย

ความตายเล่าก็หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้
บางทีตายมาแต่ในครรภ์ บางทีคลอดออกมาแล้วก็ตาย
ตายทั้งมารดาเสียด้วยก็มี ตายแต่บุตรก็มี
บรรดาผู้ที่ตายเหล่านั้น ไม่ว่าตายขนาดไหน
ต้องมีเจ้าของไม่ยอมให้ตายทั้งสิ้น โดยที่สุด

คนเลวทรามเหนือโลก ตามพระราชกำหนดกฎหมายของบ้านเมือง
บ่งความอยู่ว่า ผู้ประพฤติเช่นนี้ ต้องตายตามกฎหมาย
แต่อย่างนั้นก็ยังมีเจ้าของหวงแหน ไม่อยากให้ตาย
คนแก่ ๆ เฒ่า ๆ ก็ไม่อยากให้กันตาย
ถ้ามีแต่ความแก่ ความไข้ ความตาย เป็นทุกข์เท่านั้นก็พอทำเนา
ยังต้องเดือดร้อนด้วยการข่มเหงเบียดเบียนกัน

เป็นต้นว่า ประเทศต่อประเทศ
คณะต่อคณะ บุคคลต่อบุคคล
จนกระทั่งสามีภรรยาก็ข่มเหงเอาเปรียบกัน
ถ้าหาผู้ข่มเหงไม่ได้ ตัวของตัวเองก็ข่มเหงเบียดเบียนตัวเอง
คือประพฤติตนโดยการเหลวไหลยากจนค่นแค้น ทุกข์ยากลำบากใจ
ชั้นแต่อาหารมื้อละอิ่มก็ไม่เพียงพอ
การแสวงหาอาหารก็แสนกันดาร

ถ้าพรรณนาความทุกข์ความลำบากของโลก
ดู ๆ ก็ไม่ทีที่สิ้นสุด
ความทุกข์เหล่านี้มีกามเป็นต้นเหตุ
น่าเบื่อน่ารำคาญเสียนี่กระไร
โทษกับคุณเทียบดู คุณไม่พอแก่โทษ
เพียงแต่ความป่วยไข้หรือความตายเท่านั้น
ก็หักลบล้างคุณ คือความสุขเสียสิ้น


นักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน
เห็นโทษของโลกอย่างนี้ จึงพยายามหนีโลก
เมื่อหนีพ้นด้วยพระองค์แล้ว จึงทรงประกาศพุทธโอวาท
ให้ผู้เห็นโทษหนีด้วย ทางหนีโลกก็คือ เนกขัมมะ

การออกจากกาม คือการประพฤติพรหมจรรย์
ออกด้วยกายเสียก่อน การบวชเป็นพระสงฆ์สามเณร
เป็นตาผ้าขาว นางชี อุบาสก อุบาสิกา
เมถุนวิรัติ ชื่อว่าเนกขัมมะ

ออกจากกามด้วยกาย เมื่อพรากกายให้ห่างจากกามได้แล้ว
ถึงแม้จะยังเกี่ยวข้องอยู่ด้วยใจ ก็ยังมีโอกาสที่จักแก้ไข
การที่แก้ไข พรากกายออกจากกามได้ ชื่อว่า กายวิเวก
เป็นเนกขัมมคุณประการหนึ่ง


การที่จักพรากกามออกจากใจ ต้องเจริญสมาธิให้ชำนาญ
แต่นั่นแหละ สมาธิมีประเภทเป็นอันมาก ยากที่จักเลือกสรร
ถ้าโดนมิจฉาสมาธิเข้า ก็ทำให้เสียเวลาไม่ใช่น้อย
เหมือนพวกเจริญวิปัสสนาบางพวก เกิดหูทิพย์ ตาทิพย์ปรจิตตวิชา
รู้ใจของคนอื่นได้ ก็เข้าใจเสียว่า ตนได้สมาธิวิเศษวิโส
แต่จะพรากกายออกจากกามก็ไม่ได้

อย่าว่าแต่จะพรากกามออกจากใจเลย พึงวินิจฉัยว่า
นั่นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่ทางพระพุทธศาสนา

ทางพระพุทธศาสนาท่านแสดงว่า

วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ
ความว่า จิตสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย


มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขเป็นอยู่ จึงเป็นประเภทแห่งสัมมาสมาธิ
พึงเข้าใจว่า กามาวจรชวนะ ดับก่อนแต่ปฐมฌาน

การเจริญสมาธิจนจิตพรากออกจากกามได้ ชื่อว่า จิตตวิเวก
เป็นเนกขัมมคุณประการหนึ่ง
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังเป็นแต่ ตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน
ยังเป็น กุปปธรรมอยู่
ก็อย่าพึงหลงใหล ต้องบำเพ็ญเนกขัมมะอย่างสูง
ที่เรียกว่า อุปธิวิเวก ให้เกิดให้มีให้จงได้


ส่วนอุปธิวิเวกนี้ เป็นหน้าที่ของ ทิฏฐิวิสุทธิวิปัสสนาญาณ
คือว่าเมื่อกุลบุตรผู้เจริญจิตตวิสุทธิ พรากจิตออกจากกามได้แล้ว
พึงทำทิฏฐิความเห็นให้ตรง อย่าให้เงื้อมไปในทางผิด
คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค
ทั้ง ๒ ให้จิตดิ่งอยู่ที่ปัจจุบัน
กำจัดอดีตอนาคตเสียให้หมด ให้เห็น สัมปยุตตธรรม


คือ อดีต อนาคต ปัจจุบัน รวมอยู่ในที่อันเดียวกัน
ตัดความสงสัย ในอดีต อนาคตเสีย
อดีตอนาคตนั้นเองเป็นตัวสังขาร ความเกิด ความดับ
โทษ ทุกข์ ภัย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ที่สังขารทั้งสิ้น
เมื่อเพ่งสังขารด้วยจิตอันเป็นกลาง
ที่ท่านตั้งชื่อว่า สังขารุเปกขาญาณด้วยอนุโลมปฏิโลม
ก็จักเกิดญาณทัสสนะ คือ ยถาภูตญาณ เป็นมรรคปฏิปทา

รู้เท่าสังขาร คือรู้เท่าสมมติ เป็น วิมุตติญาณทัสสนะ
ที่เข้าใจว่า ตัวเป็นนาม เป็นรูป เป็นธาตุ เป็นขันธ์ ก็ดับ
คือดับความไม่รู้จริง


ทีนี้ตัวก็ไม่ได้เป็นนาม เป็นรูป เป็นธาตุ เป็นขันธ์ เป็นธรรมต่างหาก
เห็นตัวเป็นธรรมชัดใจ ชื่อว่าจิตตกกระแสธรรม
ได้ชื่อว่า ได้ดื่มรสของพรหมจรรย์ เป็นอุปธิวิเวก
ชื่อว่าเนกขัมมคุณประการหนึ่ง

แต่นั่นแหละ อุปธิวิเวก ก็มีอย่างต่ำอย่างกลาง อย่างสูง
อย่างต่ำเพียงภูมิ พระโสดา พระสกิทาคา
อย่างกลางเพียงภูมิ พระอนาคา
อย่างสูงเป็นภูมิของ พระอรหันต์


เนกขัมมะในที่มาบางแห่ง
ท่านแสดงว่าเป็นชื่อของพระนิพพาน
ผู้ถึงพระนิพพานแล้ว
ทุกข์ในโลกดับหมด


ถึงแม้อัตตภาพยังอยู่ในโลก
ถึงจะเกิดโรคาพาธไข้ตาย ก็ได้รับแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น
ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัสอุปายาส ไม่ได้ทำให้ใจสะเทือน
จึงได้ชื่อว่าผู้พ้นทุกข์ ใจของท่านมีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว
เสวยแต่ นิรามิสสุข เป็นความสุขอันเลิศ ไม่เจือด้วยทุกข์


อย่าเข้าใจว่าพระนิพพานสูญหายไป
สูญหายไปแต่กิเลสผู้แต่งทุกข์เท่านั้น
อริยมรรคอริยผลเป็นของมีจริง พระนิพพานก็เป็นของมีจริง
เป็นวิสัยของพระอริยมรรคจะแสดงพระนิพพานให้เห็น

ก็เมื่อความสุขอันปราศจากทุกข์มีอยู่เช่นนี้
เราจะมางมงายอยู่กับความสุขอันเจือด้วยทุกข์อยู่อย่างนี้
เห็นสมควรแก่มนุษยชาติของตนแล้วหรือ ?


ความสุขในโลกนี้เปรียบเหมือนความสุขอันเกิดแต่ไฟ
คือไฟให้สำเร็จความอบอุ่น ให้สำเร็จอาหารกิจ
และให้แสงสว่าง ให้ความสุขแก่มนุษย์อย่างพอใจทุกประการ
ชื่อว่าเป็นของมีคุณ มีประโยชน์ หาสิ่งเปรียบไม่ได้

แต่นั่นแหละ ไม่มีแต่คุณอย่างเดียว มีทั้งโทษอย่างมหึมา
ถ้าจะพรรณนาโทษของไฟก็ลึกซึ้ง
มนุษย์พวกเราเสียชีวิต
เสียทรัพย์สินเงินทองเจ็บป่วยเพราะไฟปีหนึ่ง ๆ ก็นับไม่ถ้วน
ความสุขเกิดแต่กาม กับความสุขเกิดแต่ไฟ มีอุปไมยเช่นเดียวกัน


ส่วนความสุขของพระนิพพาน
มีแต่คุณอย่างเดียว ไม่มีโทษ
เปรียบเหมือนมีแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
มีคุณวิเศษปรารถนาอะไรสำเร็จหมด
ต้องการแสงสว่าง แก้วนั้นก็ให้แสงสว่าง
ต้องการอบอุ่น ต้องการต้มแกง ย่าง เผา อะไร
ซึ่งเป็นอาหารหรือเป็นกิจการ
สำเร็จตามปรารถนาได้ทุกประการ

แต่จะไหม้ผู้คนให้เจ็บปวด
หรือไหม้เหย้าเรือนทรัพย์สมบัติไม่เป็น
แก้วนั้นให้แต่คุณ คือความสุขแก่เจ้าของอย่างเดียวเท่านั้น

ข้ออุปมานี้ ฉันใด

พระนิพพานก็ให้ความสุขแกผู้ได้ผู้ถึง โดยส่วนเดียวฉันนั้น
จึงเป็นธรรมอันนักปราชญ์ผู้เห็นโทษทุกข์ภัยในวัฏฏะปรารถนายิ่งนัก


ให้พุทธบริษัทตรวจตรองดูให้เห็นจริงด้วยปัญญาของตน
ถ้าเห็นว่าควรยินดียิ่งนักต่อพระนิพพาน
ก็ให้อุตส่าห์บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแจก
รีบรับปฏิบัติตามอย่านอนใจ
พระพุทธเจ้ามีพระวาจามิได้วิปริต

ถ้าผู้มีศรัทธาเชื่อจริง ทำตามจริง
คงจะได้พบของจริงตามพระพุทธประสงค์
โดยนัยดังวิสัชชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ


:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า เดือน ๑๒ ขึ้น ๙ ค่ำ (๒/๘/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - เนกขัมมบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56248


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - ปัญญาบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ ปญฺญาปารมํ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันปัณณรสีดิถีที่ ๑๕ ค่ำ แห่งศุกลปักษ์
เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาตประชุมกัน เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา
อันเป็นโอวาทานุศาสน์ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
และได้พร้อมกันกระทำกิจในเบื้องต้น คืออามิสบูชาและปฏิบัติบูชาเสร็จแล้ว
บัดนี้ เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนาต่อไป พึงตั้งใจฟังด้วยดี
ตามในพุทธโอวาทว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ผู้ตั้งใจฟังธรรมด้วยดี ย่อมเกิดปัญญา
ดังนี้ ส่วนการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีลักษณะเป็น ๓ นัย โคตมเจติยสูตรว่า

อภิญฺญาย โข โส ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล
พระองค์ทรงสั่งสอนพุทธเวไนยด้วยธรรมกถาใด ๆ
ก็เพื่อจะให้ผู้ได้ยินได้ฟังนั้นรู้ยิ่ง รู้จริง ทรงแสดงเปิดเผยโดยแจ่มแจ้ง
ไม่มีอาการปกปิด คือไม่มีภายใน ไม่มีภายนอก
ประสงค์จะให้ผู้ฟังรู้ตามจริง ๆ เป็นประการที่ ๑

สนิทานํ ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมล้วนมีเหตุ มีนิทาน
พอที่ผู้ฟังจะตรองตามเห็นได้ คือมีที่อ้างอิง ชี้ของที่มีจริง
ไม่ลึกซึ้งจนเหลือวิสัยของผู้ฟังเป็นประการที่ ๒

สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์
คือธรรมที่ทรงแสดงนั้นมีปาฏิหาริย์ อาจย่ำยีปรปักษ์ คือข้าศึกเสียได้
เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังพุทธโอวาท
ย่อมทำตนเป็นข้าศึกแก่ตนอยู่เสมอ คือ ลุอำนาจแห่งอกุศลธรรม
โลภบ้าง โกรธบ้าง รักบ้าง ชังบ้าง หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง เหล่านี้เป็นตัวอย่าง
ชื่อว่าทำข้าศึกแก่ตน คือ ตนทำใส่ตนเอง ถ้าเป็น สุติวา อริยสาวโก
คือเป็นอริยสาวก ผู้ได้สดับตรับฟังแล้ว ย่อมปราบข้าศึกเหล่านั้นออกจากตนได้
ยกตัวอย่าง ถ้าผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมปราบความโลภ ความโกรธ
ความหลงส่วนหยาบ ที่เกิดทางกาย ทางวาจาได้
ถ้าผู้มีจิตตวิสุทธิ ย่อมปราบความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างกลาง
ที่เกิดขึ้นรุมจิต คือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉาได้
ถ้ามีทิฏฐิวิสุทธิ ย่อมปราบอุปธิกิเลส ซึ่งเป็นอนุสัยได้ จึงชื่อว่า
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมีปาฏิหาริย์ พึงสันนิษฐานให้เข้าใจอย่างนี้

ถ้าเห็นความเหล่านี้ชัดใจแล้ว จะเป็นผู้เลื่อมใสต่อพระกรุณาคุณ
พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างยิ่ง
จะอดกราบไหว้ไม่ได้เลย แม้ท่านทั้งหลาย แต่ก่อน ๆ ผู้ไม่เคยฟังพระธรรมเทศนา
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นได้ฟังก็เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใส
ปฏิญาณตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา ในพระพุทธศาสนา
บางท่านก็ร้องประกาศว่า ภาชนะที่คว่ำ พระองค์หงายขึ้นแล้ว
บางท่านก็ร้องประกาศว่า พระองค์ชี้ทางให้คนหลงทางแล้ว
บางท่านก็ร้องประกาศว่า พระองค์ส่องแสงสว่างให้แก่คนตามืดแล้ว
โดยประการต่าง ๆ ตามความพอใจของตน ๆ เพระเหตุเกิดความเชื่อ
ความเลื่อมใส เกิดปีติ ความอิ่มอกอิ่มใจ ปลาบปลื้มซาบซ่านทั่วสรีรกาย
เห็นว่าลามกธรรม เราพ้นเสียได้วันนี้แล้ว
ต่อแต่นี้ไป เราจะเดินในทรงสุคติตรงไปทีเดียว อธิบายว่า รู้จักบุญรู้จักบาปนั่นเอง

ถึงแม้พวกเราทั้งหลายทุกวันนี้ ก็เช่นนั้นเหมือนกัน
พอรู้ชัดว่า กรรมเป็นของตน ๆ กรรมที่ดีให้ผลดี กรรมที่ชั่วให้ผลชั่ว
เท่านี้ก็อิ่มอกอิ่มใจ เชื่อว่าตนมีที่พึ่งอันได้แล้ว

เพราะเหตุนั้นท่านจึงนิยมปัญญาว่าเป็นแสงสว่างยิ่งกว่าดวงประทีป
หรือดวงพระจันทร์ ดวงพระอาทิตย์ เพราะส่องในที่มืด
คือ อวิชชา โมหะ ให้แจ่มแจ้งขึ้นได้
ท่านแสดงไว้ว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๓ สถาน

คือ เกิดด้วยสุตะ การได้ยินได้ฟัง ได้เล่าเรียน ชื่อว่า สุตามยะ

คือ เกิดด้วยจินตนาการตรวจตรอง ค้นหาเหตุหาผล ชื่อว่า จินตามยะ

คือ ภาวนาการสำรวมจิต ไม่ให้ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตเป็นหนึ่งแล้ว
ย่อมส่องแสงให้เกิดปัญญา ชื่อว่า ภาวนามยะ


แต่ความจริง สุตามยะ นี้แหละเป็นของสำคัญ
คนเราทุกคน ถ้าขาดการได้ยินได้ฟังได้เล่าได้เรียนเสียแล้ว
จะเอาความรู้ความฉลาดมาจากไหน ถึงจินตามยะ คือทางวิปัสสนา
ภาวนามยะ คือทางสมถะ ถ้าขาดสุตามยะเสียแล้ว ก็เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะเหตุนั้นพุทธบริษัทพึงพากันยินดีต่อการฟังพระธรรมเทศนาอยู่เนือง ๆ
อย่าปล่อยเวลาให้เสียไปเปล่าปราศจากประโยชน์

บัดนี้จักแสดง ปัญญาบารมี ต่ออนุสนธิสืบไป

ด้วยปัญญาบารมีนี้ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วนับด้วยโกฏิแห่งกัลป์เป็นอันมาก
ครั้นมาถึงปัจฉิมชาติ พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้นำเอาปัญญาที่พระองค์ทรงสร้างมา
อันเต็มบริบูรณ์ในพระองค์นั้นแหละ แจกแก่พุทธบริษัท
พุทธบริษัทผู้รับแจกดำเนินตามก็พากันสำเร็จมรรคผลนิพพาน
นับด้วยล้านโกฏิไม่ถ้วน ผู้ดำเนินด้วยปัญญาตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ตั้งแต่ครั้งพระพุทธกาลตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
ชื่อว่าผู้รับแจก ผู้รับดื่ม ย่อมได้รับรสของพระสัทธรรมด้วยกันทุกคน
แต่ปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
มากมายหลายประเภทนัก จักรวบรัดตัดเอามาแสดงต่อ
พอเป็นทางปฏิบัติให้เหมาะแก่เวลาเทศน์กัณฑ์หนึ่งเท่านั้น

ปัญญานั้นจัดเป็น ๒ คือ โลกิยปัญญา ๑ โลกุตรปัญญา ๑

ส่วนโลกิยปัญญานั้น จัดเป็นสอง คือ
เป็นไปในคดีโลก ได้แก่ฉลาดรอบรู้ในคดีโลก ๑
เป็นไปในคดีธรรม ได้แก่เป็นผู้ฉลาดรู้รอบในอรรถธรรม
จำทรงพระปริยัติธรรมได้มา แต่ยังค้นพระโลกุตรธรรมไม่พบ
ก็ยังตกอยู่ในลักษณะของโลก
ชื่อว่าคดีธรรม ๑ สองประเภทนี้รวมอยู่ในโลกิยปัญญา

โลกุตรปัญญานั้น ตามระเบียบของท่านจัดไว้เป็น ๓
คือ อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง
ปัญญาที่ค้นพบเห็นโลกุตรธรรม ชื่อว่า โลกุตรปัญญา
อย่างต่ำรู้ภูมิพระโสดา พระสกิทาคา
อย่างกลางรู้ภูมิพระอนาคา อย่างสูงรู้ภูมิพระอรหันต์


โลกิยปัญญาเป็นเหตุ โลกุตรปัญญาเป็นผล อาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป
แต่คำที่ว่า โลกิยปัญญา โลกุตตรปัญญานั้นกว้างขวางนัก
แต่ละอย่าง ๆ เต็มโลก ยากที่จักย่นมาให้พอแก่เวลา
และให้ได้ความพอประกอบเป็นทางปฏิบัติของพุทธบริษัท
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พระองค์ทรงนามว่า โลกวิทู ผู้รู้แจ้งซึ่งโลก
ความจริงโลกกับธรรมก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่อาการ
ถ้ารู้โลกชัดแล้วก็เป็นอันรู้ธรรม ที่พวกเราศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟังอยู่ทุกวันนี้
ก็ล้วนแต่เรียนโลกทั้งนั้น ถ้ารู้โลกไม่จบก็ยังไม่รู้ธรรม โลกปิดธรรม
เพราะเหตุนั้นจะแสดงให้เข้าใจลักษณะของโลกและลักษณะของธรรม พอเป็นทางปฏิบัติ

ลักษณะของโลกนั้น คือ ศึกษาให้รู้ออกไป
ลักษณะของธรรมนั้น คือ ศึกษาเข้ามาในตน
มีลักษณะต่างกันอย่างนี้

ที่ว่าศึกษาให้รู้ออกไปนั้น คือ ธรรมดา โลกย่อมสอนให้รู้สกลกายนี้ก่อน
ให้รู้ลักษณะอาการของร่างกายว่า นั่นชื่อนั้น ๆ แล้ว
ก็สอนความประพฤติความบริหารร่างกายด้วยอาการอย่างนี้ ๆ
เมื่อสอนให้รู้ตัวจบแล้ว ก็สอนให้รู้จักบุคคลและวัตถุสำหรับอาศัยต่อออกไป
เป็นต้นว่า ให้รู้จัก บิดา มารดา วงศาคณาญาติ รู้ชาติ รู้สกุล
ให้รู้จักเข้าของเงินทอง ให้รู้จักทรัพย์ที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้
แล้วสอนให้รู้จักการแสวงหาและการบริหารรักษา และสอนให้ฉลาดในการใช้จ่ายเป็นต้น
และให้เล่าเรียนหนังสือเลขลูกคิด วิธีกสิกรรมพาณิชกรรม ระเบียบการปกครองหมู่คณะ
สรรพวิชาในโลกพรรณนาไม่ถ้วน เรียนให้รู้แผ่ออกไปอย่างนี้ เป็นลักษณะของโลก

การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็มีอาการแผ่ออกไปเหมือนกัน
คือ เรียนให้รู้จักธรรม ให้รู้จักวินัย คือ ในเบื้องต้นมีแต่ธรรมกับวินัยเท่านั้น
เมื่อท่านกระทำสังคายนา จึงแบ่งเป็น ๓ เป็นพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์
พระวินัยทั้งสิ้นก็แสกงวิธีบริหารรักษาตัว
พระสูตรทั้งสิ้นก็แสดงระเบียบเครื่องสมมติและความประพฤติเป็นไปของตัว
พระปรมัตถ์ทั้งสิ้นก็แสดงสภาพที่รับสมมติส่วนละเอียดในตัว
แต่วิธีเล่าเรียนล้วนแต่เป็นวิธีแผ่ให้กว้างออกไปทั้งสิ้น
การเรียนพระปริยัติธรรม จึงยังตกอยู่ในลักษณะของโลก
คือเรียนให้รู้โลกนั้นเอง จึงชื่อว่า โลกิยปัญญา

บัดนี้จักแสดงโลกิยปัญญาอย่างย่อ พอเป็นทางดำเนินของพุทธบริษัท
คือให้รู้วินัย วินโย แปลว่า นำเสียให้พินาศ ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐
ศีลพระปาฏิโมกข์ เป็นอุบายป้องกันกายวิการ วจีวิการ คือกายทำชั่ว วาจากล่าวชั่ว
อาศัย โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเกิดขึ้น
กำจัดเสียสิ้นด้วยการรักษาศีล เพราะเหตุนั้น ศีล จึงชื่อว่า วินัย

พระสูตรนั้น แปลว่า ร้อยกรอง คือศึกษาให้รู้เป็นหมวด ๆ ที่ท่านร้อยกรองไว้แล้ว
ดังมงคลสูตร ท่านจัดเป็นมงคล ๓๘ ร้อยกรองเข้าไว้เป็นพวง ๆ
ดังคาถาหนึ่งมี ๓ มงคลบ้าง ๔ มงคลบ้าง ๕ มงคลบ้าง
หรือดัง อนัตตลักขณสูตร ร้อยกรอง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เข้าไว้ให้เป็นระเบียบอันหนึ่ง แล้วอธิบายความต่อไป
การที่รวบรวมหมวดธรรมเข้าไว้อย่างนี้ เป็นลักษณะแห่งพระสูตร
พระสูตรทั้งสิ้นใช้สมมติโลก คือใช้ตามโวหารของโลก
จึงชื่อว่าเรียนโลก เป็นโลกิยปัญญา

พระประมัตถ์นั้น แปลว่ามีอรรถอันสุขุม ละเอียด
ดัง จิต เจตสิก รูป นิพพาน หรือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นตัวอย่าง
คือต้องศึกษาโลกนั้นเอง แต่เป็นส่วนละเอียด
จึงยังตกอยู่ในโลกิยปัญญา การเรียนพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์
แผ่ให้กว้างขวางออกไปเป็นลักษณะของโลก ได้ชื่อว่าเรียนโลก

ที่ว่าศึกษาให้รู้เข้ามาในตนชื่อว่าเรียนธรรมนั้น พึงเข้าใจอย่างนี้
การที่เราศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาทั้งสิ้น ก็เพื่อจะบริหารบำรุงตน
การรักษาศีลทุกประเภท ก็คือรักษากาย วาจา ของตนเอง
กายวาจานี้จึงชื่อว่าเป็นพระวินัย การศึกษาเล่าเรียนพระสูตรทั้งสิ้น
ก็คือเล่าเรียนให้รู้จักตน ให้รู้จักสมมติธรรมอันมีในตน
ให้รู้ว่าตนเป็นพระสูตร การศึกษาเล่าเรียนพระปรมัตถ์ทั้งสิ้น
ก็คือเรียนให้รู้ว่า พระปรมัตถธรรมมีในตน ให้รู้ว่า ตนเป็นพระปรมัตถธรรม

การเรียนก็คือ เรียนให้รู้ตน ให้รู้ว่าตนเป็นพระวินัยด้วยอาการนี้
ตนเป็นพระสูตรด้วยอาการนี้ ตนเป็นพระปรมัตถ์ด้วยอาการนี้
ศึกษาให้ร่นเข้ามาในตน เมื่อร่นพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์เข้ามาเป็นตนแล้ว
ค้นหาตนว่า อะไรเป็นตนแน่ ความรู้ตนชื่อว่า วิชชาการรู้ศิลปวิทยาทั้งสิ้น
รู้วินัยทั้งสิ้น รู้พระสูตรทั้งสิ้น รู้พระปรมัตถ์ทั้งสิ้น ชื่อว่ารู้โลก
โลกนี้แหละปิดธรรม ถ้ารู้โลกจบแล้ว ก็รู้ธรรมเท่านั้นเอง
ธรรมนั้นก็คือตนนั้นเอง ตนนั้นคืออะไร ก็คือธรรมนั่นเอง
พึงเข้าใจว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ถ้าจำหน่ายตนออกไป ก็เป็นโลกหมด
ดังจำหน่ายเพียงว่า นาม รูป ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เท่านี้ก็เป็นโลกไปหมด
ปัญญาที่รู้โลก รู้ธรรมทั้งสิ้น ถ้ายังไม่รู้โลกุตรธรรมเพียงไร
ก็ยังตกอยู่ในประเภทแห่งโลกิยปัญญาทั้งสิ้น
ท่านวางแบบแผนขีดเขตแดนของโลกิยปัญญาไว้เพียงโคตรภูญาณ
ว่าเป็นญาณเครื่องรู้ ที่สุดภูมิปุถุชน ต่อแต่นั้นไปจึงเป็นโลกุตรปัญญา


ทางที่แสดงมานี้เป็นทางที่พุทธบริษัท ต้องการปรารถนาด้วยกันทุกคน
จะแสดงไว้พอเป็นเครื่องประกอบกับแผนที่หรือตำรา
ความจริงแผนที่กับภูมิประเทศไกลกันมากตำรายากับตัวยาไกลกันมาก
ในลักษณะของวิปัสสนาญาณ ที่ท่านแสดงไว้กับความเป็นจริงของผู้ปฏิบัติ
ก็ไกลกันมากเช่นนั้น แต่ก็ต้องอาศัยลักษณะของวิปัสสนาญาณนั่นเอง
เหมือนผู้จะเดินตรวจประเทศก็ต้องอาศัยแผนที่นั่นเอง ผู้เป็นหมอก็ต้องอาศัยตำรานั่นเอง

แท้จริงพระโยคาวจรผู้จะเห็นโลกุตรธรรม ก็ต้องอาศัยโลกิยวิปัสสนา
คือทำความรู้ตน เห็นตนว่าเป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ เป็นมรรค
เห็นตนเป็นมรรค ก็คือเห็นตนเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
เมื่ออบรมศีล สมาธิ ปัญญาให้แก่กล้ามีกำลังขึ้น
ก็จักรู้สึกว่า ธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสังขารทั้งสิ้น
แล้วเพ่งสังขารด้วยสังขารุเบกขาญาณ คือกำหนดสังขารด้วยอุเบกขาจิต
คือจิตเป็นกลาง เป็นอนุโลม ปฏิโลม จนเกิดโคตรภูจิต
เห็นสังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่สังขาร สังขารไม่มีในตน ตนไม่มีในสังขาร
ละสักกายทิฏฐิ ที่ถือว่าเป็นสังขารเสียได้ สิ้นสงสัยในสังขาร คือรู้เท่าสังขาร
สิ้นความสงสัยในศีลในวัตร เพียงเท่านี้ท่านเสดงว่า จิตตกกระแสธรรม เป็นโลกุตตรปัญญา
การศึกษาธรรมย่อมศึกษาเข้ามาในตน ร่นธรรมทั้งสิ้นให้เข้ามาในตนอย่างนี้

การที่แสดงมานี้เป็นแต่เพียงแผนที่เท่านั้น ให้พุทธบริษัทไปตรวจให้เห็นด้วยตน
ถ้าอุตสาหะบำเพ็ญปัญญาบารมีโดยนัยนี้ให้เต็มรอบ
ก็ชื่อว่าผู้รับแจกปัญญาบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้านำมาบริโภค
ความปรารถนาที่ตนต้องประสงค์ ก็คงสำเร็จโดยไม่ต้องมีความสงสัย
มีความเชื่อแน่นอนว่า ถ้าพุทธบริษัทตั้งใจดำเนินตามคงจะมีความเจริญงอกงาม
ในพระพุทธศาสนาโดยส่วนเดียว ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า เดือน ๑๒ ศุกลปักษ์ แรม ๑ ค่ำ (๙/๘/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - ปัญญาบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56247


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - วิริยบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ วิริยปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำ แห่งกาฬปักษ์ พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตประชุมกัน
เพื่อจักฟังพระธรรมเทศนา คือประสงค์จะรักษากิจวัตรของตนให้ต้องตามพุทธประสงค์
และจะได้เป็นเนติแบบแผนอันดีสำหรับสกุลวงศ์ของตนต่อไปด้วย
ข้อสำคัญก็คือจะหาที่พึ่งส่วนตน โดยให้มีที่หวังว่าตนมีสุคติเป็นที่หมายได้
ครั้นถึงวัน ๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ มิได้วางธุระ สู้สละกิจการงานทางบ้านเรือนเสีย
มาประชุมกันกระทำกิจวัตร ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ รักษาพรหมจรรย์
เป็นปฏิบัติบูชาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้สำเร็จเป็นต้น
เสร็จแล้ว บัดนี้พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาต่อไป
การที่ท่านทั้งหลายพากันตั้งใจมาประชุมกันกระทำกิจวัตร
ตลอดถึงการฟังพระธรรมเทศนานี้ สำเร็จด้วยกุศลเจตนา ต่างคนต่างมา
อยู่คนละทิศละแดนโดยมิได้ชักชวนกัน ไม่ได้รับจ้าง ไม่ได้ถูกการกะเกณฑ์
มาโดยศรัทธา หวังผลประโยชน์และความสุขส่วนตนโดยตรง
จิตตุปบาทที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนี้ เป็นจิตอันดี
เป็นการสมควรยิ่งนัก ขอให้ตั้งเจตนารักษาอย่าให้มีอันตรายได้

อันตรายนั้น ท่านแสดงไว้มี ๔ ประการ คือ

อูมิภยํ กลัวพุทธโอวาท คำสั่งสอน เห็นว่าเป็นของใหญ่โตลึกซึ้ง
เหลือวิสัยที่ตนจะทำตามได้ อ่อนอกอ่อนใจ เลยกลับใจที่คิดไว้เดิมนั้นให้เสียไป
หาสำเร็จประโยชน์ไม่ เปรียบเหมือนบุคคลตั้งใจจะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ
ไปเห็นคลื่นเห็นฟองในแม่น้ำ เกิดความกลัวขึ้นมาเลยกลับเสีย
หาได้อาบน้ำตามประสงค์ไม่ มีอุปมาอุปไมยเช่นนั้น นี่เป็นอันตรายข้อที่ ๑ ชื่อว่า อูมิภัย

อาวฏฏภยํ กลัวข้อปฏิบัติ ล้วนแต่ให้ระวัง ไม่ให้คะนองกาย
ไม่ให้คะนองวาจา แม้แต่จะคิดทุจริตด้วยใจก็ไม่ได้ แม้ตาจะดู
หูจะฟังอะไรก็ถูกบังคับไปเสียทั้งสิ้น ดูเป็นการลำบากรำคาญเหลือเกิน สู้ไม่ไหว
เมื่อเราไม่ได้มาประพฤติกิจพระพุทธศาสนา สบายอกสบายใจมาก
เลยกลับใจที่คิดไว้เดิมนั้นให้เสียไป หาสำเร็จประโยชน์ไม่
เปรียบเหมือนบุคคลตั้งใจจะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ ไปเห็นน้ำวน น้ำหมุน
เกิดความกลัวขึ้น เลยกลับเสีย หาได้อาบน้ำตามประสงค์ไม่
มีอุปมาอุปไมยเช่นนั้น นี้เป็นภยันตรายข้อ ๒ ชื่อว่า อาวัฏฏภัย

กุมฺภีลภยํ กลัวด้วยเรื่องอาหาร ด้วยผู้ประพฤติกิจพระพุทธศาสนา
ขาดการทำมาหากินมาก ซ้ำสั่งสอนให้รู้จักประมาณในการบริโภค
และจำกัดเวลาให้บริโภคแต่เช้าชั่วเที่ยงเท่านั้น อาหารเป็นของสำคัญ
เป็นเครื่องบำรุงร่างกาย ประพฤติอย่างนี้ไม่ไหว เลยกลับใจเดิมเสีย
หาสำเร็จประโยชน์ไม่ เปรียบเหมือนบุคคลตั้งใจจะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ
ไปเกิดกลัวจระเข้เสีย เลยกลับเสีย หาได้อาบน้ำตามประสงค์ไม่
(ชาติจระเข้ย่อมเห็นแก่ปากแก่ท้องเท่านั้น)
มีอุปมาอุปไมยเช่นนั้น นี่เป็นภยันตรายข้อที่ ๓ ชื่อว่า กุมภีลภัย

สุงฺสุมารภยํ กลัวต่อกามกิเลส ใจอ่อนแอ สู้กำลังความเพลิดเพลินไม่ไหว
เห็นว่าการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นการลำบากคับแค้นใจ สู้ไปเพลินในกามไม่ได้
เลยกลับใจที่คิดไว้เดิมนั้นเสียไป หาสำเร็จประโยชน์ตามประสงค์ไม่
เปรียบเหมือนบุคคลตั้งใจจะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ ไปเกิดกลัวปลาฉลามขึ้น
(ปลาฉลามเป็นปลาร้าย เปรียบด้วยอารมณ์ของกาม)
เลยกลับเสีย หาได้อาบน้ำตามประสงค์ไม่
มีอุปมาอุปมัยเช่นนั้น นี่เป็นภยันตรายข้อที่ ๔ ชื่อว่า สุงสุมารภัย

ผู้ตั้งใจมาประพฤติกิจพระพุทธศาสนาให้กำจัดภัยทั้ง ๔ นี้เสีย
อย่ากลัวโอวาทคำสั่งสอน อย่ากลัวข้อวัตรปฏิบัติ
อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง อย่าลุอำนาจของกาม ปฏิบัติได้เพียงเท่านี้
ก็อาจเป็นภาคพื้นให้เกิดประโยชน์และความสุขตามปรารถนาของตนได้


บัดนี้จักแสดง วิริยบารมี ต่อ

วิริยํ นาม ชื่ออันว่าความเพียรนี้
เป็นคุณธรรมอันเป็นอุปการะมากแก่การก่อสร้างพระบารมีทั้งปวง
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วโดยกาลนาน
สิ้นโกฏิแห่งกัลปเป็นอันมาก ครั้นมาถึงปัจฉิมชาติ
เมื่อพระองค์เสด็จออกบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ ได้ทรงประกอบความเพียร
กระทำทุกรกิริยา ค้นหาสันติธรรม คือพระนฤพาน
โดยมิได้เอื้อเฟื้อต่อร่างกายและชีวิต ตลอด ๖ พรรษาล่วงแล้ว
พระองค์จึงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นวิสุทธธัมมสันตาโน
คือพระบวรสันดานเป็นธรรมอันบริสุทธิ์ ทรงโมไนยคุณ
เครื่องประดับของนักปราชญ์ มีพระ อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ เป็นต้น
ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนา เป็นมัคคนายโก
ผู้เสด็จนำหน้าพุทธบริษัท พาหลีกลัดตัดข้ามสังขารโลก
โอฆะอันกันดาร ถึงฝั่งฟากโน้นคือนฤพาน จะนับประมาณมิได้

วิริยบารมีนี้เป็นคุณธรรมอันสำคัญ เป็นอุปการคุณตั้งต้นแต่สร้างพระบารมีมา
ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้อาศัยวิริยบารมีเป็นกำลังมา
ในสมัยที่ทรงบำเพ็ญ มหาปธานวิริยะ ก่อนแต่ตรัสรู้ตลอด ๖ พรรษา
ก็ได้อาศัยพระวิริยบารมี แม้ในสมัยเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว
ทรงบำเพ็ญพุทธกิจเที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา แต่งตั้งสิกขาบท
พุทธบัญญัติใหญ่น้อยทั้งปวง ตลอดเขตพระชนมายุ
นับแต่ได้ตรัสรู้เป็นพระสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๔๕ พรรษา
ก็ได้อาศัยพระวิริยบารมีเป็นกำลังทุกหน้าที่

พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาเต็มรอบแล้ว
จึงได้นำเอาวิริยบารมี อันมีแล้วในพระองค์นั้นแหละ
มาแจกแก่พุทธเวไนยให้ได้ดำเนินตาม ผู้ดำเนินตามก็คือผู้รับแจก
ได้แก่ผู้ที่ไม่เห็นแก่ความสุขในกามเป็นของมีประมาณน้อย ชั่วชีวิตเดียวเท่านั้น
สู้สละบากบั่นตั้งหน้าเจริญสมถะวิปัสสนาให้ได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน
นับด้วยล้านด้วยโกฏิไม่ถ้วน ให้พุทธบริษัทพึงสันนิษฐานดู

ในพุทธโอวาทชี้ข้อปฏิบัติอันสำคัญ ย่อมมีวิริยบารมีเข้าไปแทรกอยู่ทุกแห่ง
เหมือนอย่างอิทธิบาทธรรม เป็นภาคพื้นที่จักได้สำเร็จ
ก็มีวิริยิทธิบาทอินทรียธรรมเป็นใหญ่ในการสำเร็จ
ก็มีวิริยินทรีย์พละธรรมเป็นกำลังที่จักให้สำเร็จ ก็มีวิริยพละ
โพชฌงคธรรมเป็นเหตุให้ตรัสรู้ ก็มีวิริยสัมโพชฌงค์ อัฏฐังคิกมรรค
มรรคามีองค์อวัยวะ ๘ เป็นมรรคา ไม่มีข้าศึกเป็นมรรคาตรงต่อพระนิพพาน
ก็มีสัมมาวายาโม เพียรชอบ บรรดาธรรมข้อสำคัญ ๆ ก็ต้องมีวิริยะเข้ากำกับทุกแห่งไป

ความจริงความเพียรความหมั่น อุตสาหะบากบั่นทำกิจใด ๆ
ก็ให้กิจนั้น ๆ สำเร็จไป ชื่อว่า วิริยะ หรือ อุฏฐานะ
แปลว่า ความแกล้วกล้า ความอุตสาหะไม่เกียจคร้านต่อการงาน
เป็นไปในคดีโลก ดังพุทธโอวาทว่า อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ
ความว่า ผู้มีความเพียรความหมั่น ย่อมได้เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ ดังนี้
อธิบายว่า มนุษย์เราถ้ามั่งมีไม่ขัดสน ก็ย่อมมีความสุขตามชั้นตามภูมิของตน
การที่จะมั่งมี ก็ต้องอาศัยความเพียรความหมั่น
กล้าสละความสุขอันมีประมาณน้อย กันความเกียจคร้านล่อลวงเสีย

ธรรมดาความเกียจคร้านย่อมทำอาการเหมือนเป็นมิตร
ให้ความสุขในต้นมือ หลอกลวงคนโง่ให้หลง ภายหลังให้ความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด
ส่วนความเพียรหมั่นนั่นย่อมทำอาการอย่างประหนึ่งว่าเป็นข้าศึก
ให้ความทุกข์ในต้นมือ แต่ที่จริงกลับเป็นมหามิตรอย่างประเสริฐ
ภายหลังให้ความสุขไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้ที่จะแสวงหาศิลปวิทยา และแสวงหาโภคทรัพย์อันจะเป็นที่พึ่งแก่ตนในปัจจุบัน
ก็ต้องอาศัยความเพียรความหมั่น ถึงแม้ผู้จะทำตนให้เป็นที่พึงแก่ตนในปรโลก
ก็ต้องอาศัยความเพียรความหมั่นเหมือนกัน ท่านแสดงไว้ในสัมปรายิกัตถประโยชน์
ประโยชน์ชาติหน้า ให้สมบูรณ์ด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
อุฏฐาเนนะ ด้วยความเพียรความหมั่น อธิบายว่า
ผู้จะให้ทานก็ต้องมีศรัทธาและความเพียร
ผู้จะรักษาศีลก็ต้องมีความเพียร ผู้จะบำรุงปัญญาก็ต้องมีความเพียร
ความเพียรจึงชื่อว่า เป็นผู้แต่งความสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า


แม้ผู้ปรารถนาความสุขอันสูงสุด คือ พระนิพพาน ก็ต้องอาศัยความเพียรเหมือนกัน
โดยพุทธโอวาทว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ความว่า ผู้จะพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร
ดังนี้ อธิบายว่า ความทุกข์อะไรจะทุกข์เท่าความทุกข์ของสัตว์
ผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยง ไม่แน่นอน จะต้องหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอันไม่มี

ด้วยท่านกำหนดสถานที่ตั้งแห่งจิตวิญญาณไว้ ๗ ตำบล
คือที่อันสัตว์ผู้ยังไม่แน่นอน จะต้องเร่ร่อนไปเกิดตามกรรมคติของตน
คือ นรก ๑ เปรตวิสัย ๑ อสุรกาย ๑ ดิรัจฉาน ๑
มนุษย์ ๑ เทวดา ๑ พรหม ๑ ที่ตั้ง ๗ สถานนี้
ส่วนนรก เปรตวิสัย อสุรกาย ดิรัจฉาน ท่านจัดว่าเป็นทุคติ
มนุษย์ เทวดา พรหม ท่านจัดเป็นสุคติ


ผู้มีคติอันไม่เที่ยง ย่อมหมุนเวียนไปมาอยู่ในภพเหล่านี้
แล้วแต่กรรมที่ตนทำ ถ้าทำบาปมาก ก็ไมเกิดในทุกคติ
ถ้าทำบุญมากก็ไปเกิดในสุคติ พึงสันนิษฐานดู
สุคติคือชาติมนุษย์ อันพวกเราทั้งหลายได้ประสพอยู่ทุกวันนี้
ความสุขมีสักกี่มากน้อยให้พิเคราะห์ดู
แต่ยังเด็กยังเยาว์ถูกบังคับให้เล่าให้เรียน หาเวลาสำราญไม่ได้
ครั้นเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว มีเหย้ามีเรือนขึ้น ก็ถูกข่มเหงน้ำใจกัน
คือต้องเอาใจกันทั้งสองฝ่าย ถ้าถูกนิสัยไม่กินกัน ก็ยิ่งทวีโทษให้หนักขึ้น
แลยังต้องประกอบการแสวงหาทรัพย์ ทรัพย์ที่ตนต้องการนั้น
จำเพาะที่อยู่ที่คนผู้เขาหวงแหนเหมือนกันกับเรา
ถ้าเราไม่มีของล่อจนเขาลืมความเสียดาย เขาก็ไม่ให้เรา
การแสวงหาทรัพย์ จึงนับว่าเป็นกองทุกข์ในโลกประการหนึ่ง
ของที่จักล่อเอาเงินเขานั้น ถ้าอย่างต่ำ เจ้าของต้องไปเที่ยวบอกซื้อบอกขาย
อย่างหาบของไปเที่ยวเร่ขายเป็นต้น อย่างกลางตั้งร้านไว้ขายมีต่อขึ้นต่อลง
จนทุ่มเถียงกันขึ้นบ้าง ดังร้านตลาดขายของเป็นตัวอย่าง
อย่างสูงอย่างดี เจ้าของเงินไปง้องอนให้ขายดังตีตั๋วรถไฟเป็นตัวอย่าง
วิธีหาเงินมีประเภทเป็นอันมาก จึงเป็นการลำบาก

ยังต้องบริหารร่างกายอีกด้วยโรคภัยไข้เจ็บนัยประเภทไม่ถ้วน
ถึงจะไม่มีโรคจร ก็ยังมีโรคประจำ ส่วนโรคประจำก็มีมาก
เป็นต้นว่า ความอยาก ความกระหาย ความรัก ความชัง
ความขึ้ง ความโกรธ ความหัวเราะ ความร้องไห้ เป็นตัวอย่าง
เป็นโรคไข้ใจ ยังโรคแก่ โรคป่วยไข้ โรคตาย สำหรับร่างกายธรรมดา

ถ้าตรวจตรองดูโดยละเอียดแล้ว จะเห็นว่ามนุษย์เรามีทุกข์มาก
แต่ความสุขก็มีมากเหมือนกัน เป็นต้นว่า ปรารถนาสิ่งใด ก็ได้สิ่งนั้นสมประสงค์
ข้อนี้เป็นความสุขในโลก แต่ว่าเมื่อเอาสุขกับทุกข์ มาเทียบกันเข้า
จะเห็นได้ว่าความสุขไม่พอแก่ความทุกข์ ถึงอย่างนั้น ท่านก็ยังนับว่า มนุสสสุคติ

ส่วนเทวดา พรหม มีความสุขประณีตกว่ามนุษย์
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีเกิดมีตายเป็นความสุขอันไม่ถาวร ไม่น่ายินดี

ส่วนความสุขในพระนิพพาน เป็นความสุขอันเยี่ยมยอด
เพราะเป็นความสุขอันไม่ระคนปนอยู่กับด้วยทุกข์
แต่ปุถุชนจะอนุมานเห็นความสุขของพระนิพพานได้
ก็แต่เพียงผู้เดินในมรรควิถี คือ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา
เดินตรงต่อพระอัษฎางคิกมรรคผล
เป็นมัชฌิมาปฏิปทาทางกลางตรงต่อพระนิพพาน
มีความสุขสำราญ เยือกเย็นกว่า ผู้เดินในทาง
กามสุขัลลิกานุโยค แลอัตตกิลมถานุโยค หลายร้อยส่วน
แต่เพียงเดินถูกทางของพระนิพพานเท่านั้นก็ยังได้รับความสุขเห็นปานนั้น
ถ้าได้สำเร็จพระนิพพานจะมีความสุขสักเพียงไร ให้พุทธบริษัทตรวจตรองดู

ความทุกข์และความสุขของโลก ล้วนเป็นของไม่ถาวรเพราะความสุขเจือด้วยอามิส
ความสุขในพระนิพพานเป็นความสุขถาวร เพราะความสุขไม่เจือด้วยอามิส
เป็นนิรามิสสุข เป็นที่ปราชญ์ผู้มีปรีชาญาณ เพราะท่านรู้การลึกซึ้ง
ฝ่ายคนพาลหาปรารถนาไม่ เพราะเป็นคนหลงงมงายโง่เขลา
ท่านแสดงไว้ว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คือ เห็นเกิด ๆ ตาย ๆ สุข ๆ ทุกข์ ๆ
ซึ่งเป็นของประจำบดสัตว์ให้เร่าร้อนอยู่ทั่วโบก
กลับเห็นไปว่า เป็นของวิเศษสำหรับตัว เปรียบเหมือนดอกบัวเช่นนั้น

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ผู้จะล่วงพ้นจากกองทุกข์เหล่านี้ ต้องสำเร็จด้วยความเพียร
คือ รับเอาวิริยบารมีที่พระพุทธเจ้าทรงแจกนำมาปฏิบัติตาม
คือ ดื่มธรรม การที่จะทำวิริยบารมีให้เต็มรอย ตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็คือเพียรทำศีลให้เป็นอธิศีล เพียรทำสมาธิให้เป็นอธิจิต
เพียรทำปัญญาให้เป็นอธิปัญญา ด้วยความไม่ประมาท มีความองอาจกล้าหาญ
ไม่เห็นแก่ชีวิตร่างกาย ไม่หลงในความสุขมีประมาณน้อย
ความสุขชั่วชีวิตเดียวเป็นความสุขไม่ยั่งยืน ตั้งใจมอบกายถวายชีวิตแก่พระรัตนตรัย
ดำเนินให้ตรงต่อศีล สมาธิ ปัญญา อุตสาหะ
เจริญสมถะวิปัสสนาให้เกิดญาณทัสสนะรู้เท่าสังขารเสียโดยเร็ว

ถ้าไม่ได้อย่างสูง ได้เพียงภูมิพระโสดา ก็ยังนับได้ว่าเป็น นิยโตบุคคล
คือเป็นบุคคลผู้เที่ยงต่อสุคติ และยังมีขีดว่า
อย่างช้าจะต้องมาเกิดในกามโลกนี้อีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น
ต้องนับว่าเป็นผู้ได้ที่พึ่งอันสำคัญ ส่วนภูมิพระโสดาที่ท่านแสดงไว้ในที่ต่าง ๆ
อย่าง จูฬเวทัลลสูตร เป็นต้น พิเคราะห์ดูก็ไม่เป็นของลึกลับสักปานใด
ดูเหมือนพอพวกเราจะตรองตามให้เห็นได้ คือให้รู้เท่าสังขารนามรูป
ให้เห็นว่า นามรูปไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่นามรูป นามรูปไม่ได้มีในตน
ตนไม่ได้มีในนามรูปเท่านี้ ท่านว่า ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา
สีลพัตตปรามาสได้ เป็นภูมิพระโสดา เป็น นิยโตบุคคล
คือเป็นบุคคลผู้เที่ยงต่อสุคติ ถ้าผู้ไม่ประมาทในวิริยบารมี
อุตสาหะบุกบั่น โดยเต็มความสามารถ ก็อาจจักถือเอาโลกุตรสมบัติได้
ความมุ่งมาตรปรารถนา โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ (๑๖/๘/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - วิริยบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56246


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - ขันติบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ ขนฺติปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส
อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันปัณรสีดิถีที่ ๑๕ ค่ำ แห่งกาฬปักษ์
เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาต
เพื่อจะสดับพระธรรมเทศนาตามวินัยนิยม
และได้พร้อมใจกันกระทำบุรพกิจ

คือการบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ธูปเทียน และไหว้พระสวดมนต์
และสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ เสร็จแล้ว

บัดนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา
พึงตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ที่ตนต้องประสงค์
ด้วยว่าการฟังธรรมเป็นของได้ด้วยยาก

ถึงแม้พุทธโอวาทก็มีอยู่ว่า

กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ

ความว่า การฟังธรรมเป็นของได้ด้วยยากฝึดเคืองดังนี้
อธิบายว่า ธรรมเป็นของลึกซึ้งยากที่จักถือเอาเนื้อความได้
แต่เพียงจะมีศรัทธาความเชื่อว่าฟังธรรมเป็นบุญเป็นกุศล
เป็นเหตุให้ได้รับความรู้ความฉลาด เท่านี้ก็เป็นของหายากเสียแล้ว

ผู้มีศรัทธาความเชื่อพอ แต่ฟังไม่เข้าใจอย่างนี้ก็มีมาก
อุปสรรคเครื่องขัดข้องต่อการฟังธรรมเล่าก็มีมาก
คือเหตุภายนอกก็มีหลาย เหตุภายในก็มีมาก
ที่จักปลอดโปร่งได้มายังที่ประชุมตามกาลนิยมดังนี้ก็แสนยาก
ไม่ใช่เป็นของยากแต่ผู้ฟัง ผู้แสดงธรรมก็หายากอีกเหมือนกัน

ถ้าผู้แสดงธรรมเข้าใจแต่ทางปริยัติ ไม่เข้าใจทางปฏิบัติ
ถึงแสดงอย่างไร ฟังก็ไม่เข้าใจอีกเหมือนกัน


เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกำหนดลักษณะแห่ง พระธรรมกถึก ไว้ ประการ

สนฺทสฺสโก แสดงให้ผู้ฟังเห็นด้วยดี ๑
สมาทปโก เสดงให้ผู้ฟังเต็มใจจะปฏิบัติตามด้วยดี ๑
สมุตฺเตชโก แสดงให้ผู้ฟังมีใจองอาจกล้าหาญที่จักทำตามด้วยดี ๑
สมฺปหํสโก แสดงให้ผู้ฟังเกิดความร่าเริง ตั้งใจปฏิบัติโดยความชื่นอกชื่นใจ ๑ ดังนี้

ท่านกำหนดองคคุณของผู้แสดงธรรมไว้ ๔ ประการดังนี้

เราจะไปได้ที่ไหน
ท่านผู้ใดจะแสดงธรรมให้ได้ลักษณะพร้อมทั้ง ๔ ประการนี้ก็แสนจะหายาก

เอาแต่เพียงว่า

ท่านแสดงให้ฟังได้ความเข้าใจอยู่กับเราผู้ฟังเท่านี้ก็พอ
คือว่า ให้ตั้งใจฟังแล้วกำหนดตาม
ไม่ต้องจำเอาสำนวนโวหารที่ท่านเทศน์
กำหนดเอาแต่เนื้อความตามที่ท่านอธิบายขยายความให้เข้าใจเท่านั้นเป็นพอ


แล้วนำไปตรวจตรองอีกชั้นหนึ่ง
ถ้าเห็นว่าคำสอนนั้นสมเหตุสมผลควรจะปฏิบัติตาม
ก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามอย่านอนใจ
วันคืนปีเดือนไม่คอยเรา


อกุศลส่วนใดควรละได้ละไปก่อน
ส่วนใดยังละไม่ได้ก็ให้ตั้งใจว่าจะต้องละให้ได้


ฝ่ายบุญกุศลส่วนใดที่ยังไม่เคยมีก็รีบทำให้มีขึ้น
บุญกุศลส่วนใดที่เคยมีอยู่แล้ว ก็อย่าให้เสื่อม ให้มีแต่เพิ่มพูนทวีขึ้น


ประพฤติอย่างนี้เป็นความชอบยิ่ง
ควรพุทธบริษัทจะพากันสนใจให้มาก

ต่อนี้ จักแสดง ขันติบารมี ต่ออนุสนธิกถาไป
ขนฺติ นาม ชื่ออันว่า ขันติ คือ ความอดทนอันนี้
พหุปกาโร มีอุปการะมากแก่กิจการทั้งปวง
ไม่เลือกว่าคดีโลก หรือคดีธรรม ต้องพึ่งขันติ

ผู้จะประกอบการทำมาหากินเลี้ยงชีพ
ก็ต้องอาศัยขันติความอดทน ไม่เห็นแก่หนาวและร้อนจนเกินไป
กิจการงานนั้น ๆ ก็สำเร็จตามประสงค์

แม้ผู้จะปฏิบัติทางฝ่ายคดีธรรม
ถ้ามีขันติตั้งหน้าแล้ว ก็อาจจะให้ความประสงค์นั้น ๆ สำเร็จได้ทุกประการ
ถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อสมัยที่ยังก่อสร้างพระบารมีอยู่
ก็ได้ทรงบำเพ็ญขันติบารมีทุกภพทุกชาติจนเต็มรอบ


ครั้นมาถึงปัจฉิมชาติ พระองค์เสด็จออกบำเพ็ญพรต
ทรงประกอบความเพียร ก็ทรงมั่นในขันติความอดทน
ไม่เห็นแก่หนาวและร้อน ไม่เห็นแก่ความอยาก ความหิว
อดทนต่อทุกข์ อดทนต่อเหตุแห่งทุกข์
จนได้สำเร็จสยัมภูภาพพุทธวิสัย
ก็ต้องอาศัยขันติความอดทนเป็นผู้อุปการะ

ครั้นพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว เที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา
ไม่เห็นแก่ความลำบากยากแค้น
ก็สำเร็จด้วยขันติ ความอดทนทั้งสิ้น
เพราะขันติบารมีพระองค์ได้ทรงสร้างสมมานับด้วยโกฏิแห่งกัลป์เป็นอันมาก

ครั้นพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว
ก็ทรงนำเอาขันติที่มีบริบูรณ์ในพระองค์นั้นแหละมาแจกแก่พุทธบริษัท
ผู้รับแจกก็คือผู้ปฏิบัติตาม
และพากันได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน
นับด้วยโกฏิด้วยล้านนับไม่ถ้วน
ท่านพรรณนาคุณแห่งขันติ

คือบอกอานิสงส์แห่งขันติไว้ใน ขันติกถา ถึง ๑๔ ประการ
จะสาธกมาไว้ในที่นี้ เพื่อผู้ต้องการจะได้ค้นหาง่าย


ข้อที่ ๑ ว่า สีลสมาธิคุณานํ ขนฺตี ปธานการณํ
ขันติความอดทนเป็นเหตุ เป็นประธานปห่งคุณ คือ ศีลแลสมาธิทั้งหลาย

ข้อที่ ๒ สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา ขนฺตยาเยว วฑฺฒนฺติ เต
แม้กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ย่อมเจริญด้วยขันติความอดทนโดยแท้

ข้อที่ ๓ ว่า เกวลานํปิ ปาปานํ ขนฺติมูลํ นิกนฺตติ
ขันติความอดทนย่อมตัดเสียได้
ซึ่งรากเหง้าแห่งกรรมอันเป็นบาปทัง้หลายแม้ทั้งสิ้น

ข้อ ๔ ว่า ครหกลหาทีนํ มูลํ ขนติ ขนฺติโก
คนผู้มีขันติความอดทนชื่อว่าย่อมขุดเสียได้
ซึ่งรากเง่าแห่งความเดือดร้อนทั้งหลาย มีการติเตียนกันแลทะเลาะวิวาทกันเป็นต้น

ข้อ ๕ ว่า ขนฺตี ธีรสฺส ลงฺกาโร
ขันติความอดทน เป็นอาภรณ์เครื่องประดับของนักปราชญ์

ข้อที่ ๖ ว่า ขนฺตี ตโป ตปสฺสิโน
ขันติ ความอดทนเป็นตบะ คือเป็นฤทธิเป็นเดชของผู้มีความเพียร

ข้อที่ ๗ ว่า ขนฺตี พลํ ว ยตึนํ ขันติ
ความอดทน เป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ทั้งหลาย

ข้อที่ ๘ ว่า ขนฺตี หิตสุขาวหา
ขันติความอดทน นำประโยชน์และความสุขมาให้เป็นผล

ข้อที่ ๙ ว่า ขนฺติโก เมตฺตวา ลาภี ยสสี สุขสีลวา
ผู้มีขันติความอดทน ชื่อว่า ผู้มีมิตร เป็นผู้มีลาภ เป็นผู้มียศ
เป็นผู้มีความสุขอยู่เสมอเป็นเนืองนิตย์

ข้อที่ ๑๐ ว่า ปีโย เทวมนุสฺสานํ มนาโป โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติความอดทนชื่อว่า เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ข้อที่ ๑๑ ว่า อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ อตฺถาวโห ว ขนติโก
ผู้มีขันติความอดทนชื่อว่าเป็นผู้นำประโยชน์มาให้แก่ตน
และคนทั้งหลายเหล่าอื่นด้วย

ข้อที่ ๑๒ ว่า สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ อารุฬฺโห โหติ ขนิติโก
ผู้มีขันติความอดทน ชื่อว่าย่อมเป็นผู้ดำเนินตามมรรคา
เป็นที่ไปสวรรค์และพระนิพพาน

ข้อที่ ๑๓ ว่า สตฺถุโน วจโนวาทํ กโรติเยว ขนฺติโก
ผู้มีขันติความอดทน ชื่อว่า ย่อมทำตามพจนโอวาทแห่งพระศาสดาแท้

ข้อที่ ๑๔ ว่า ปรมาย จ ปูชาย ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติความอดทน
ชื่อว่าย่อมบูชาสมเด็จพระบรมชินเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง


ใน โอวาทปาฏิโมกข์
ก็ทรงยกขันติความอดทนขึ้นเป็นประธานว่า

ขนฺตึ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติความอดทน
ตีติกฺขา คือความอดกลั้นทนทาน
เป็นตบะธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่งดังนี้


สรุปความทั้งสิ้น คงได้ใจความว่า
ขันติความอดทนเป็นบารมีธรรมอย่างเอก

ถ้าผู้ใดตั้งใจรักษา ย่อมกันความชั่วร้ายความเสียหาย ความเสื่อมทราม
ที่นับว่าลามกธรรมเสียทั้งสิ้นได้
สิ่งที่ต้องการปรารถนาอาจสำเร็จได้ทุกประการ

ข้อสำคัญที่ว่า ขันติ เป็นธรรมให้สำเร็จทางสวรรค์
ทางพระนิพพาน คือว่าผู้ปรารถนาสวรรค์


เมื่อมีขันติความอดทน
หมั่นเข้าใกล้ไต่ถามข้ออรรถข้อธรรมในสำนักของนักปราชญ์บ่อย ๆ
ก็จักเกิดความเชื่อความเลื่อมใส
เป็นไปมั่นในคุณพระรัตนตรัย
เกิดปัญญาเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
บำเพ็ญทานและศีลให้ไพบูลย์ขึ้น
ก็อาจสำเร็จภูมิสวรรค์ได้โดยไม่ต้องสงสัย

ถ้าปรารถนา พระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมอันประเสริฐ
ก็ให้มีขันติความอดทน
บำเพ็ญ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เต็มรอบ
ก็อาจจักสำเร็จได้ตามปรารถนา


ศีลที่ควรจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ก็มีหลายประเภทต้องรักษาตามภูมิของตน
ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็ควรรักษาศีล ๕ ศีล ๘
ถ้าเป็นสามเณรก็ควรรักษาศีล ๑๐
ถ้าเป็นภิกษุ ก็ควรรักษาพระปาฏิโมกขสังวรศีลให้เป็นภาคพื้น

แล้วบำรุงยอดคือ อาชีวมัฏฐกศีล
อาชีวมัฏฐกศีล ในองค์อริยมรรค
คือ สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว
ให้สำเร็จเป็นสมุจเฉท คือให้ตั้งวิรัติให้ขาดด้วยเจตนา ว่า

เราจักเว้น วจีทุจริตทั้ง ๔ ให้ขาด
ให้ตั้งใจสมาทาน สมฺมาวาจา ว่า
ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจักกล่าวแต่วาจาที่จริง
วาจาที่อ่อนโยน วาจาสมัครสมานประสานสามัคคี
วาจาที่เป็นไปกับด้วยประโยชน์

เราจักเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ มี ปาณาติบาต เป็นต้นให้ขาด
ให้ตั้งใจสมาทาน สมฺมากมฺมนฺโต ว่าตั้งแต่บัดนี้ไป

เราจักกระทำการงานด้วยกาย
จะให้สัมปยุตด้วยเมตตากรุณาทุกประเภทไป
เราจักเว้นมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตผิดธรรมเสีย

ให้ตั้งใจสมาทาน สมฺมาอาชีโว ว่า
ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักยังชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยอาหารอันได้มาโดยชอบธรรม

ศีล คือ สัมมาวาจา มีองค์ ๔ สัมมากัมมันโตมีองค์ ๓
สัมมาอาชีโว มีองค์ ๑ รวมเป็น ๘ ชื่อว่า อาชีวมัฏฐกศีล
แปลว่า ศีลมีอาชีวะเป็นองค์ที่ ๘ ดังนี้
ศีล ๘ ประการนี้ เป็นยอดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์

คือว่าผู้รักษาศีลเหล่านั้นตามภูมิของตนให้บริบูรณ์แล้ว
ต้องสมาทาน อาชีวมัฏฐกศีล นี้ให้มีในตน จะได้เป็นบาทแห่งสมาธิ
เมื่อพระโยคาวจรกุลบุตร บำเพ็ญตนให้เป็นอาชีวมัฏฐกศีลแล้ว
ประสงค์จะบำเพ็ญสมาธิตามในองค์พระอัฏฐังคิกมรรค
พึงตั้งสติลงที่กาย คือสกลกายนี้ และสัมปยุตตธรรม

คือ เวทนา จิต ธรรม ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
สติมีอันเดียวอารมณ์ที่ตั้งเป็น ๔ ถึงอารมณ์ทั้ง ๔ นั้น ก็ ๔ ในหนึ่ง
คือ ๔ ในสกลกายอันเดียวนี้เท่านั้นต่างแต่อาการ


เมื่อเข้าใจแล้วให้เพ่งอารมณ์นั้นด้วยวิริยะความเพียร
และขันติความอดทนจนให้จิตเป็นเอกัคคตา จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว

ชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อทำจนชำนาญสมาธิจิตมั่นคงดีแล้ว
น้อมจิตอันบริสุทธิ์นั้นขึ้นสู่ปัญญา
ปัญญาในที่นี้ประสงค์วิปัสสนาปัญญา
แปลว่า ปัญญาเห็นแจ้งเห็นจริงในสกลกายนี้เท่านั้น ไม่ประสงค์รู้ในที่อื่น

ให้แยกอาการแห่งทุกข์ในสกลกายนี้ออกเป็น ๔ สถาน
ให้รู้ว่า ส่วนนี้เป็นทุกขสัจ ดังโรคภัยไข้เจ็บ ร้อน หนาวเป็นตัวอย่าง
ให้รู้ทุกขสมุทัยสัจ ดังพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่เจริญใจ
มีลูกตายเสียเมียตายจากเป็นตัวอย่าง
ให้รู้ทุกขนิโรธสัจ ดังรู้เท่าต่อเหตุ เหตุดับ

คือเหตุภายในมีความป่วยไข้ความตายมาถึง
เหตุภายนอกมีความพิบัติแห่งวัตถุภายนอกมาถึง
ก็ไม่มีทุกข์เป็นตัวอย่าง
ให้รู้มรรคสัจ ดังรู้ว่าตนเป็นทุกขสัจด้วยอาการนี้
ตนเป็นทุกขสมุทัยสัจด้วยอาการนี้
ตนเป็นทุกขนิโรธสัจด้วยอาการนี้ ตนเป็นมรรคสัจด้วยอาการนี้
อย่าให้เสียหลักในพระพุทธโอวาท

ใน ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
ทุกขสัจเป็นของพึงกำหนด ทุกขสมุทัยสัจเป็นของพึงละเสีย
ทุกขนิโรธสัจเป็นของพึงทำให้แจ้ง
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นของพึงทำให้เกิดให้มี

เมื่อโยคาวจรกุลบุตรน้อมจิต
ตรวจตรองอยู่ในสกลกายนี้จนรู้ชัดในลักษณะทั้ง ๔ นั้นโดยชัดใจ
ชื่อว่า ภาเวตัพพธรรม ทำมรรคภาวนาให้เกิดให้มี
ผู้เห็นอริยสัจเพียงชั้นนี้เป็นแต่มรรคปฏิปทาเท่านั้น
เป็นแต่ผู้เห็นตรงจึงชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ

เมื่อทิฏฐิตรงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว
ก็ให้ตรวจตรองให้เป็นอนุโลมปฏิโลม ถอยหน้าถอยหลัง
ท่านเรียกว่า อนุโลมิกญาณ
พิจารณาสังขารด้วยอุเบกขาจิต
จนให้รู้เท่าสังขารและวิสังขาร สังขารนั้นเป็นของไม่มีอยู่แต่เดิม
ถ้ารู้เท่าเมื่อใดก็ดับเมื่อนั้น

แต่วิสังขารเป็นของมีอยู่แต่เดิม
ต้องให้เห็นตามความเป็นจริงได้อย่างไร ตามสภาพของเขา
ชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็นที่สุดของมรรค
ให้โยคาพจรทำมรรคนี้แลให้เกิดให้มีขึ้นให้จงได้
ส่วนผลไม่ต้องพูดถึงก็ได้
ขอให้บำรุงแต่มรรคให้เต็มรอบเท่านั้นเป็นพอ


มรรคจะบริบูรณ์ขึ้นได้
ก็ต้องอาศัยวิริยบารมี ขันติบารมี เป็นผู้อุปถัมภ์
ถ้าขาดขันติความอดทนเสียแล้ว
ก็จักเสื่อมจากมรรคผลที่ตนต้องประสงค์


เพราะเหตุนั้นขันติบารมีนี้
ถ้าผู้ใดได้รับแจกจากพระบรมศาสดาแล้ว
และตั้งอกตั้งใจรักษาของท่านให้เกิดให้มีในตนอย่างจริงจังแล้ว
ย่อมไม่แคล้วจากมรรคผลนิพพาน
จึงเป็นบารมีธรรมอันวิเศษ
เป็นเหตุให้ผู้ดำเนินตามได้ประสบสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า
ตลอดถึงพระนิพพาน โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า วันสิ้นเดือน ๑๒ (๒๒/๘/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - ขันติบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56245


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 19:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - สัจจบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ อฏฺฐมี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ สจฺจปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำ แห่งศุกลปักษ์
เป็นวันสันนิบาตแห่งพุทธบริษัท เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา

เมื่อพร้อมด้วยสันนิบาตประชุมและได้ประกอบกิจอันเป็นบุรพภาคปฏิบัติ
มีไหว้พระสวดมนต์และสมาทานศีลสำเร็จแล้ว

ต่อนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา
พึงตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ของตน ๆ ด้วยการฟังพระธรรมเทศนา
นับเข้าในโสตาปฏิยังคะ เป็นองค์ที่จักให้ได้สำเร็จพระโสดาประการหนึ่ง

ท่านแสดง โสตาปฏิยังคะ องค์ที่จักให้สำเร็จพระโสดาไว้ ประการว่า

สปฺปุริสูปสํเสโว การสมาคมคบหากับท่านที่เป็นสัตบุรุษ ๑

สทฺธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมของสัตบุรุษ ๑

โยนิโสมนสิกาโร สนสิการ คือ กระทำใจใจโดยแยบคายในธรรมของสัตบุรุษ ๑

ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ ประพฤติธรรมโดยสมควรแก่ธรรมของสัตบุรุษ ๑

คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ถ้ามีพร้อมบริบูรณ์ในบุคคลผู้ใด
ย่อมเป็นเหตุให้บุคคลผู้นั้นสำเร็จพระโสดา จึงมีนามว่า โสตาปฏิยังคะ


แปลว่าองคคุณจะให้สำเร็จพระโสดา ดังนี้

ความจริงบรรดาพุทธบริษัท ที่ตั้งใจมาฟังพระธรรมเทศนานี้
ก็คงมีความประสงค์จะได้บรรลุคุณ คือความเป็นพระโสดาด้วยกันแทบทุกคน

ด้วยคุณธรรมคือความเป็นพระโสดานั้น เป็นโลกุตรธรรม

ผู้บรรลุคุณธรรมนั้นชื่อว่า นิยโตบุคคล แปลว่าบุคคลผู้เที่ยง
คือเที่ยงต่อสุคติและเที่ยงที่จักได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงขึ้นไป
และได้นามว่า อจลสัทธา แปลว่า ผู้มีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัย
เป็นไปมั่นไม่หวั่นไหว ไม่กลับกลายไปเชื่อศาสดาอื่น
และไม่กลับกลายมาเป็นปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลสอีกด้วย
เป็นผู้รู้ตนเป็นธรรม เห็นตนเป็นธรรม ตามบทที่ท่านพรรณนาไว้ ข้อ ว่า


ทิฏฺฐธมฺโม เป็นผู้มีธรรมอันได้เห็นแล้ว

ปตฺตธมฺโม เป็นผู้มีธรรมอันได้บรรลุถึงแล้ว

วิทิตธมฺโม เป็นผู้มีธรรมอันได้รู้แจ้งแล้ว

ปริโยคาฬฺหธมฺโม เป็นผู้มีธรรมอันหยั่งลงรอบคอบแล้ว

ติณฺณวิจิกิจฺโฉ เป็นผู้มีความสงสัยเป็นเครื่องขัดข้องลำบากจิตอันข้ามได้แล้ว

วิคตกถํกโถ เป็นผู้มีความสงสัยให้กล่าวอะไรหนอ ๆ ไปปราศแล้ว

เวสารชฺชปฺปตฺโต เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้มีความครั่นคร้ามไปปราศแล้ว

อปรปจฺจโย สตฺถุสาสเน เป็นผู้ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนแห่งพระศาสดา

ท่านพรรณนาคุณแห่งพระโสดาไว้อย่างนี้
พึงเข้าใจว่า พระโสดาท่านมีแว่นธรรมสำหรับส่องภพเบื้องหน้าอยู่กับตน
ไม่ฉงนในอริยสัจทั้ง ๔ มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ฉะนี้

เพราะเหตุนี้ ควรพุทธบริษัทใฝ่ใจในพุทธโอวาทนี้ให้มาก
พยายามถือเอาคุณ คือความเป็นพระโสดาให้ได้ในชาตินี้
อย่าปรารมภ์แต่ในเบื้องหน้าว่า

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ อนาคเต กาเล

ให้คิดเสียว่า คุณสมบัติที่จักให้สำเร็จพระนิพพานมาถึงพร้อมแก่ตนเต็มที่แล้ว

ข้อสำคัญก็คือ อัตตสมบัติ ที่มีอวัยวะร่างกายสมบูรณ์และได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ได้รับพุทธโอวาท ยังขาดอยู่แต่ โยนิโสมนสิการ และ ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ เท่านั้น


ถ้าตั้งใจโยนิโส และปฏิบัติตามให้ตรงตามพุทธโอวาท
ก็คงไม่คลาดจากมรรคผลที่ตนต้องประสงค์ ไม่ต้องมีความสงสัย

ต่อนี้จักแสดงใน สัจจบารมี ต่ออนุสนธิสืบไป

สจฺจํ นาม ชื่ออันว่าความสัจนี้ นับเข้าในพระบารมีธรรมของพระพุทธเจ้าดวงหนึ่ง
เป็นโพธิปกรณธรรม พระองค์ได้ทรงสร้างสมมาสิ้นโกฏิแห่งกัปเป็นอันมาก

ลักษณะแห่งสัจจบารมีนั้น ได้แก่ความจริง คือจริงกาย จริงวาจา จริงใจ
ส่วนจริงใจนั้น คือตนได้ตั้งเจตนาว่า จักไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
จักไม่ให้มีอิสสา พยาบาท อาฆาตจองเวรแก่ใคร
จิตของเราจักไม่ให้น้อมไป เงื้อมไปในกามารมณ์
เมื่อตั้งเจตนาไว้แล้วอย่างนี้ ก็ตั้งหน้ารักษาให้ได้จริงตามที่ตั้งไว้นั้น อย่างนี้ชื่อว่า จริงใจ

ส่วนจริง วาจา นั้น คือตนตั้งเจตนาไว้ว่า

เราจักกล่าวแต่คำจริง จักกล่าวแต่คำอ่อนโยน
จักกล่าวแต่คำสมัครสมานประสานสามัคคี
จักกล่าวแต่คำที่เป็นไปกับด้วยประโยชน์
เมื่อได้ตั้งเจตนาลงไว้แล้ว ก็ตั้งหน้ารักษาให้เป็นจริงตามนั้น อย่างนี้ชื่อว่าจริงวาจา

ส่วนจริง กาย นั้น คือตนได้ตั้งเจตนาไว้ว่า

จักเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เว้นจากอสัทธรรมที่ผิด
เว้นจากการดื่มน้ำเมา เมื่อตั้งไว้ซึ่งเจตนาเช่นนั้น
ก็ตั้งหน้ารักษาให้จริงไปตามนั้น อย่างนี้ ชื่อว่าจริงกาย

สจฺจ นี้เป็นยอดของศีล เป็นเครื่องประดับของศีล เป็นรัศมีของศีล
ผู้รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์
ต้องให้มีสัจจะกำกับ จึงจักมีสิริวิลาสสะอาดผ่องใส


ศีลเปรียบเหมือนวงแหวน สัจจะเปรียบเหมือนเพชรพลอยเครื่องประดับ
เป็นยอดเป็นจอม ทำวงแหวนนั้นให้สะอาดงดงาม
มีราคาสูงขึ้นตามส่วนของเพชรพลอย ซึ่งเป็นยอดเป็นจอมนั้นฉันใด

ศีลนี้ ถ้าได้สัจจะมาประดับเป็นยอดเป็นจอมขึ้น
ก็ย่อมสะอาดรุ่งเรืองขึ้น ตามกำลังของสัจจะอย่างนั้น


ท่านแสดงไว้ว่า สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ ความจริงนี้แหละเป็นธรรมชาติ
มีรสให้สำเร็จประโยชน์ นับว่าเป็นรสอันอร่อย ยิ่งกว่ารสอย่างอื่น
เพราะรสอย่างอื่นจะเป็นรสแต่งขึ้นปรุงขึ้น หรือรสของเป็นเองตามสภาวะก็ตาม
จะอร่อยได้บางครั้งบางสมัยบางบุคคลไม่ทั่วไป

ส่วนรสแห่งสัจจะความจริงนี้ ย่อมเป็นที่พึงใจด้วยกันไม่เลือกบุคคลประเภทใด
และเป็นธรรมเครื่องประดับของนักปราชญ์มาแล้วแต่โบราณกาล


ตามที่ท่านประพันธ์เป็นคาถาไว้ว่า

สจฺจํ เว อมตา วาจา เอส ธมฺโม สนนฺตโน,
สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ อหุ สนฺโต ปติฏฺฐิตา


ความว่า ความจริงนี่แหละเป็นวาจาอันไม่ตาย
ธรรมคือสัจจวาจานี้เป็นของบัณฑิตแต่โบราณกาล
บัณฑิตได้สรรเสริญผู้ตั้งมั่นในสัจจะ
ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอรรถและตั้งอยู่ในธรรม ดังนี้


ท่านพรรณนาคุณแห่งบุคคลผู้รักษาสัจจะไว้ในที่มาต่าง ๆ กันโดยอเนกนัย
จักสาธกนิทานมาไว้พอเป็นนิทัศน์

ในอดีตภาค ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่ง เห็นโทษในฆราวาส
บริจาคโภคทรัพย์ที่ควรบริจาค มอบโภคทรัพย์ที่ควรมอบแก่ภรรยาและบุตร
แล้วออกบวชบำเพ็ญพรตปลูกอาศรมอยู่ที่วิเวกตำบลหนึ่ง ไม่สู้ไกลแต่พระนครนัก
พอไปแสวงหาอาหารสะดวก ตั้งหน้าเจริญสมณธรรมตามผาสุก

ในสมัยนั้น ยังมีเศรษฐีตระกูลหนึ่ง มีความเลื่อมใสเป็นโยมอุปัฏฐาก
ถึงวัน ๘ ค่ำ ๑๔ - ๑๕ ค่ำ พาภรรยาและบุตรออกไปปฏิบัติรักษาอุโบสถศีลอยู่เป็นนิตย์

อยู่มาวันหนึ่ง เศรษฐีกับภรรยายังสนทนากันกับพระดาบสนั้นอยู่ที่อาศรม
พวกบ่าวพาบุตรเศรษฐีไปเที่ยวเล่นที่ข้างวัด
มีงูเห่าดำอาศัยอยู่ที่หัวปลวกตำบลนั้น เลื้อยออกมากัดเอาเด็กบุตรเศรษฐี
ล้มลงกับที่ขาดสัญญา พิษขึ้นดำไปทั้งตัว
พวกบ่าวก็ช่วยกันอุ้มเอาเด็กนั้นมายังสำนักแห่งบิดามารดา วางลงตรงหน้าพระดาบส

พระดาบสจึงแนะนำเศรษฐีกับภรรยาว่า

ในเราทั้ง ๓ นี้ ใครมีสัจจะความจริงใจของตนอย่างไร
จงตั้งสัตยาธิษฐานบำบัดพิษนี้ให้อันตรธาน


ส่วนพระดาบสตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นก่อน กล่าวขึ้นว่า

ตั้งแต่อาตมาบวชมาได้ ๒๐ ปีล่วงแล้ว มิได้มีความเลื่อมใสในพรหมจรรย์เลย
คิดแต่จะสึกไม่ขาดสักวัน แต่เห็นว่า ได้ตั้งใจบวชแล้วก็สู้อดสู้ทนเอาอย่างนั้นเอง
วาจาที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้เป็นคำสัจคำจริง ไม่เอาคำเท็จมากล่าว
ขอให้พิษงูนี้จงระงับจากเด็กให้ประจักษ์ประเดี๋ยวนี้

พอขาดคำก็เอามือลูบลงที่ตัวเด็ก
พิษที่ดำทั้งตัวนั้นหายทันที ตัวเด็กขาวเป็นปกติ


ฝ่ายเศรษฐีตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นว่า

ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้รับมรดกสืบตระกูลมา
ไม่มีความเลื่อมใสยินดีในศาลาทานทั้ง ๔ ประตู อันบิดามารดาตั้งไว้
เสียงอื้ออึงอยู่มิได้ขาด คิดจะให้รื้อทิ้งเสีย คิดทุกวันมิได้ขาด

แต่เห็นว่าเป็นของบิดามารดา จำเป็นจำใจต้องรักษาไว้

วาจาที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้เป็นคำสัจคำจริง ไม่เอาคำเท็จมากล่าว
ขอให้พิษงูนี้จงระงับจากเด็กให้ประจักษ์เดี๋ยวนี้

พอขาดคำก็เอามือลูบลงที่ตัวเด็ก
พิษงูก็สงบกายออกไป เด็กได้สติก็กลับตัวลืมตาขึ้นได้


ฝ่ายภรรยาเศรษฐีตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นว่า

ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้มาเป็นภรรยาร่วมสุขร่วมทุกข์อยู่กับท่านเศรษฐีก็นานมาแล้ว
มีบุตรด้วยกัน ๒ คน บุตรก็โตแล้ว บุตรคนเล็กก็ถูกงูกัดนี้

ข้าพเจ้าจะได้มีความรักความยินดีอยู่กับท่านเศรษฐีนี้ไม่มีเลย
คิดเกลียดคิดชังอยู่เสมอ คิดจะละทิ้งอยู่เสมอทุกวันมิได้ขาด
มาหวนคิดถึงชาติตระกูลของตนว่าไม่เคยเป็นร้างเป็นหม้ายเลย
ก็สู้อดกลั้น ทนทานเอาเท่านั้นเอง

วาจาที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้เป็นคำสัจคำจริง ไม่ได้เอาคำเท็จมากล่าว
ขอให้พิษงูจงระงับดับหายจากเด็กบัดนี้เถิด

พอขาดคำก็เอามือลูบลงตัวเด็ก
พิษงูก็ระงับดับหาย เด็กลุกขึ้นวิ่งเล่นได้เป็นปกติ


ที่ชักเอาใจความของเรื่องนิทานมาแสดงนี้
ประสงค์จะให้เห็นว่า

อำนาจแห่งสัจจะเป็นของน่าอัศจรรย์


แต่เรื่องสัจจะของเขาก็ไม่น่าจะมีฤทธิ์มีเดช แต่ก็ยังมีคุณานุภาพถึงปานนั้น
ในที่มาอื่น ๆ พรรณนาคุณของสัจจะมีประการเป็นอันมาก

บัดนี้จักย่นลงแสดงสัจจะที่จักให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุคุณธรรมตามที่ตนปรารถนา
ให้พึงศึกษาให้รู้จักสัจจธรรม คือธรรมที่เป็นของจริงให้ผลดีอยู่ทุกเมื่อ

คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคผลนิพพาน เป็นสัจจธรรม
คือเป็นธรรมอันจริงอยู่โดยธรรมดา
เป็นธรรมไม่ยักย้ายผันแปรไปอย่างอื่น เป็นของดีอยู่อย่างนั้นชั่วนิรันดร


ถ้าบุคคลทำตนให้จริงตามเท่านั้น
ก็จักได้รับผลคือความสุขตามชั้นตามภูมิที่ตนรักษาได้


คือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน เป็นของจริงอยู่แล้ว
ส่วนตัวเราก็เป็นสภาวธรรม ของจริงส่วนหนึ่งเหมือนกัน

เราตั้งใจน้อมกายถวายตัวรับเอาสัจจธรรม
คือ ศีล สมาธิ ปัญญามาเป็นตัว
ตัวของเราก็เป็นสัจจธรรม ชั้นศีล ชั้นสมาธิ ชั้นปัญญา


ศีลสมาธิปัญญาเป็นอริยมรรค ตัวของเราก็เป็นสัจจธรรมชั้นมรรค
เมื่อมรรคเป็นของจริงแล้ว ผลจะไปทางไหน
ตัวของเราก็เป็นสัจจธรรมชั้นผลไปเท่านั้น
เมื่อมรรคผลเป็นของจริงมีในตัวเราแล้ว นิพพานจะหนีไปข้างไหน
ตัวของเราก็จักเป็นสัจจธรรม คือนิพพานไปเท่านั้นเอง


ข้อสำคัญคือให้รู้จักสัจจธรรม

สัจจธรรมมีมากประเภทโดยอาการมีหนึ่ง โดยปรมัตถ์
จะยกขึ้นแสดงพอเป็นตัวอย่าง ดัง ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน
เป็นแต่คุณธรรมหรือลักษณะอาการของธรรมเท่านั้น
ตัวธรรมก็คือสกลกายของเรานี้เอง

สกลกายนี้ ถ้าประดับด้วยคุณธัมมาลังการชั้นใด ก็เป็นสัจจธรรมชั้นนั้น
ให้พุทธบริษัทผู้ตั้งใจรับแจกพระบารมีแต่สำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พึงยินดีรับเอาสัจจบารมีเข้ามาอบรมกายวาจาใจของตน
ทำตนให้จริงในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ให้จริงตลอดถึงมรรคผลนิพพาน
จะรักษาความจริงให้สำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความไม่ประมาท
ไม่เพลินต่ออารมณ์ของโลกเกินไป
เป็นเหตุเป็นปัจจัยอุดหนุนสัจจบารมีให้มีกำลัง


ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร พึงตั้งใจดำเนินตามโดยนัยบรรยายมานี้
ก็จะสมดังความมุ่งมาตรปรารถนาโดยไม่ต้องสงสัย ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ


:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์กัณฑ์เช้า ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนอ้าย (๒/๙/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - สัจจบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56244

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ อธิฏฺฐานปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันปัณณรสีดิถีที่ ๑๕ ค่ำ แห่งศุกลปักษ์
เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาตประชุมกัน
เพื่อจักฟังพระธรรมเทศนา ตามนิยมในพระธรรมวินัย
และได้พร้อมใจกันทำกิจเบื้องต้น มีไหว้พระสวดมนต์สมาทานศีลสำเร็จแล้ว
ต่อนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา อันเป็นพระบรมพุทโธวาท
ด้วยการฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ มีประโยชน์โดยส่วนเดียว
อย่าลืมอานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ ประการที่ท่านแสดงไว้ว่า

อสุตํ สุณาติ จะได้ยินได้ฟังข้ออรรถข้อธรรม
ที่ตนยังไม่เคยได้ยินได้ฟังนั้น ประการ ๑

สุตํ ปริโยทเปติ ข้ออรรถข้อธรรมที่ตนเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ก็จักคล่องแคล่วชำนาญผ่องใสขึ้นกว่าเก่า ประการ ๑

กงฺขํ วิตรติ จะกำจัดความสงสัยอันมีอยู่ในใจเสียได้ ประการ ๑

สกจิตฺตํ ปสีทติ จะทำน้ำจิตของตนให้ผ่องใสเบิกบานยิ่งขึ้น ประการ ๑

อตฺตโน จิตฺตํ อุชุํ กโรติ จักกระทำจิตใจของตนให้เป็นคนซื่อตรง ประการ ๑


อานิสงส์ ๕ ประการ ย่อมสำเร็จแก่ผู้หมั่นสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา
ถ้าผู้ไม่ฟังไม่ได้เลย ถึงผู้ฟังแต่ไม่ตั้งใจด้วยดีก็ไม่ได้อานิสงส์ ๕ ประการนี้เหมือนกัน
ให้พุทธบริษัทพึงเข้าใจว่า ตนของเราเกิดมาในวงศ์แห่งผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
เป็นลาภอันสำคัญส่วนหนึ่ง และได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนา
ซึ่งเป็นพุทธโอวาทจริงจัง ข้อนี้ก็เป็นลาภอันสำคัญส่วนหนึ่ง
ซ้ำมีความเชื่อความเลื่อมใส ในกรรมและในผลของกรรมตามพุทธโอวาท
โดยไม่มีความสงสัย ข้อนี้ก็เป็นลาภอันสำคัญข้อหนึ่ง
เมื่อได้ประสพโอกาสอันสมควรเช่นนี้ ควรจะตั้งใจว่า
เราจักไม่ปล่อยโอกาสอันดีนี้ให้เสียไป จักเป็นผู้ปฏิบัติให้เต็มความสามารถ
ความจริงการฟังพระธรรมเทศนาเป็นภาคพื้นแห่งวิชา
คือความรู้ ความฉลาดย่อมเกิดขึ้นได้โดยลำดับ เพราะการฟังเป็นเหตุ
ถ้ามีความรู้ความฉลาดมากขึ้นเท่าใด
ย่อมได้รับผลคือความสุขความสำราญ ความเย็นใจมากขึ้นเท่านั้น

บัดนี้จักแสดง อธิฏฐานบารมี ต่ออนุสนธิสืบไป

อธิฏฺฐานํ นาม ชื่ออันว่า การอธิฏฐาน คือการตั้งใจมันในคุณความดีนั้น ๆ
ชื่อว่า อธิฏฐานบารมี เป็นคุณธรรมให้สำเร็จกิจทุกหน้าที่
แม้พระพุทธเจ้าสร้างโพธิสมภารมาสิ้นโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมาก
ก็มิได้ละเมินอธิฏฐานบารมี
ตัวอย่างดังเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
เมื่อพระชนม์ได้ ๘ พรรษา ทรงประทับอยู่ ณ บัลลังก์ เกิดความวิเวกใจ
ได้ตั้งอธิฏฐานบารมีว่า ตนของเรานี้นับเข้าในโพธิสัตว์เป็นผู้ยินดีแล้วในทานบริจาค
ถ้ามีผู้ใดต้องการมาขอเอาตัวของเราไปเป็นทาส เราก็จักชำระทิฏฐิมานะออกเสีย
จักไปรับใช้เป็นทาส ตามความปรารถนาของเขา
ถ้ามีผู้ต้องการสรีราวยวะ มีศีรษะและมือเท้าเป็นต้น เราก็จักตัดให้ตามประสงค์ดังนี้
ยังมหัศจรรย์ มีแผ่นดินไหวให้บังเกิดขึ้นได้ ข้อนี้เป็นตัวอย่างในอธิฏฐานบารมี


แม้ในปัจฉิมชาติที่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
ก็ได้ทรงตั้งอธิฏฐานบารมีหลายประการ เมื่อแรกเสด็จออกบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์
ก็ได้ตั้งอธิฏฐานบารมีว่า เราจักเป็นผู้ไม่กลับคืนครองฆราวาสอีก เป็นธรรมดาดังนี้

ภายหลัง ณ วันเดือน ๖ เพ็ญ เป็นวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ตอนตะวันบ่าย พระองค์เสด็จไปประทับ ณ ร่มโพธิ์
ทรงประทับบนกองหญ้าคาด้วยบัลลังก์สมาธิ
ตั้งอธิฏฐานบารมีว่า ถ้าเราไม่ได้ตรัสรู้อุตตริมนุสสธรรม
ถึงแม้เนื้อและเลือดกระดูกและเอ็นของเราจักเหือดแห้งย่อยยับ
ก็จงเป็นไปเถิด เราจักไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์สมาธิอันนี้ ดังนี้

ถึงเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ยังต้องใช้อธิฏฐานบารมีอยู่เหมือนกัน
ในประถมโพธิกาล ได้ทรงตั้งธรรมเทศนาอธิฏฐานว่า
เราจักแสดงธรรมประกาศพระพุทธศาสนา และตั้งอายุสังขาราทิฏฐานว่า
ถ้าบริษัททั้ง ๔ ของเรายังไม่ไพบูลย์เพียงใด เราจักยังไม่นิพพานก่อนเพียงนั้น ดังนี้

อาการที่ตั้งมั่นในธรรมนั้น ๆ ดังนี้ เป็นลักษณะแห่งอธิฏฐานบารมี
อาศัยเหตุนี้เป็นหลัก ครูสอนพระกัมมัฏฐานทุกวันนี้
จึงต้องให้มีดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการบูชาขึ้นครูขึ้นบากัน
และมีคำอาราธนา ขออัญปีติและยุคคละและสุขสมาธิ เป็นต้น
ตามถนัดของอาจารย์ คำอาราธนาก็คือคำอธิฏฐานนั้นเอง
คำอธิฏฐานนี้ ย่อมเป็นอุปการคุณทั่วไปในการกุศลทั้งปวง
ผู้จะให้ทาน ก็ต้องมีอธิฏฐานบารมี คือความตั้งใจมั่นว่า
วันหนึ่งเราจะให้ทานสิ่งนั้นสิ่งนี้เท่านั้นเท่านี้
ผู้จะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ก็ต้องมีอธิฏฐานบารมี
คือความตั้งใจว่า เราจะรักษาศีล ๕ เราจะรักษาศีล ๘

คำสมาทานที่ว่า สมาทิยามิ นั้น ก็คือคำอธิฏฐานนั้นเอง
ผู้จะไหว้พระสวดมนต์ ผู้จะเจริญสมถะวิปัสสนา ก็ต้องมีอธิฏฐานบารมีกำกับทั่วไป
ถึงแม้ท่านทั้งหลายที่พากันมาฟังพระธรรมเทศนา
และสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ทุกวันนี้ ก็สำเร็จด้วยอธิษฐานบารมี
คือความตั้งใจมั่นในกิจอันเป็นกุศลของตนนั่นเอง
ผู้ที่บวชเรียนอยู่ในพระพุทธศาสนาที่อยู่ได้นาน ๆ หรือตลอดชีวิต
ก็อยู่ด้วยอธิฏฐานบารมี คือความตั้งใจในในหน้าที่ของตนนั่นเอง
ความตั้งใจ ชื่อว่า เจตนา ถ้าตั้งใจในกิจที่ชอบ เป็นบุญเป็นกุศล ชื่อว่า กุศลเจตนา
ถ้าตั้งใจในกรรมที่ผิด ที่เป็นบาป ชื่อว่า อกุศลเจตนา
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัสว่า เจตนาเป็นตัวกรรม
ดังที่มาว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดังนี้ ความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า เจตนาเป็นตัวกรรม ดังนี้

อาศัยนัยนี้การวินิจฉัยวัฏฏะ ๓ จึงยกกรรมขึ้นก่อน คือเจตนาที่คิดดีคิดชั่วขึ้นก่อนเป็นกรรม
ออกมาเป็นการงานของกายของวาจาเป็นกิเลส ให้ผลเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นตัววิบาก
ถ้าความสุขเป็นสิ่งที่ปรารถนา ก็คิดการรักษา ถ้าความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ปรารภนา
ก็คิดหาทางแก้ไข เป็นเจตนากรรมอีก หมุนกันอยู่อย่างนี้ เรียกว่า ไตรวัฏฏ์
ผู้ที่ตัดไตรวัฏฏ์ไม่ขาด ปล่อยให้เขาหมุนอยู่อย่างนั้น
ย่อมเป็นอริยสังโฆชั้นสูง ชั้นพระอรหันต์ไม่ได้ ตามที่มาใน รัตนสูตร ว่า
ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ, วิรตฺตจิตฺตายติเก ภวสฺมึ,
เต ขีณพีชา อวิรุฬฺหิ ฉนฺทา, นิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป
ดังนี้

มีเนื้อความว่า ไตรวัฏฏ์เท่าที่มีแล้วในกาลก่อนของพระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่าใดสิ้นไปแล้ว
ส่วนใหม่ซึ่งจะก่อให้เกิดวิบากขันธ์ต่อไปอีกมิได้มี พระอริยเจ้าทั้งหลายเกล่านั้น
ท่านมีจิตเบื่อหน่าย ไม่มีความยินดีในภพที่จักมีต่อไปในเบื้องหน้า
พระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นมีกรรมวัฏและกิเลสวัฏ ซึ่งเป็นพืชพันธุ์แห่งวิบากวัฏสิ้นไปแล้ว
มีฉันทะมิได้งอกงาม ท่านมีปัญญาชัชวาล ตลอดถึงขันธปรินิพพาน
ด้วยอันดับแห่งจริมกจิตดวงหลัง ดังประทีปดวงนี้ติดขึ้นแล้วและดับไปฉะนี้ ดังนี้

ชักมาแสดงพอให้เข้าใจลักษณะของไตรวัฏในอธิฏฐานบารมี
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมาเต็มรอบแล้ว
จึงได้นำมาแจกแก่พุทธบริษัท ผู้ที่รับแจกได้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงตาม
ก็ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานนับด้วยโกฏิด้วยล้านไม่ถ้วน
ส่วนพวกเราทั้งหลายก็เป็นสาวกสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกันทุกคน
เมื่อเข้าใจว่า อธิฏฐานบารมีอาให้ผลสำเร็จได้จริง
ก็ควรจะบำเพ็ญให้เต็มรอบในชาตินี้แหละ เป็นการชอบยิ่ง
ที่จักผัดวันปันเมื่อไปถึงชาติหน้าภพหน้า ไม่เป็นการน่ายินดีเลย
เพราะยังเป็นคนมีคติยังไม่แน่นอน ถ้าพลาดเผลอไถลไปเกิดเสียในสุคติ
ก็จักเสียกาลเวลาไม่ใช่น้อย ถึงอย่างไรก็ควรตั้งอธิฏฐานบารมี
คือตั้งใจให้มั่นในไตรสิกขา อันเป็นที่ประชุมแห่งพระอริยมรรคให้เต็มขีด
ซึ่งเป็นของไม่เหลือความสามารถ พอที่จักพากเพียรให้เกิดให้มีได้
ที่ทำไม่ได้ทุกวันนี้ ขาดศรัทธาอันเดียวเท่านั้น เพราะพระยามารคือกามกิเลส
ล่อลวงให้เดินในทางผิดร่ำไป พระยามารทำเป็นมิตาให้ความสุขในต้นมือ
ถ้าเราหลงเชื่อเขาอยู่อย่างนี้จะเอาตัวไม่รอด
ลงท้ายเราจะต้องได้รับความทุกข์ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าไม่มีที่สิ้นสุด

ความทุกข์อันใดจะมายิ่งใหญ่เท่าความไม่สมหวัง เป็นอันไม่มีในโลก
ความสมหวังเป็นความสุขอย่างสำคัญในโลก ก็โลกเป็นของไม่เที่ยง
ไม่แน่นอนอยู่โดยธรรมดาของเขา เราจะไปหาความสมหวังทุกหน้าที่
จะมีทางได้แต่ที่ไหน ความจริงความสุขในกาม
อันพระยามารล่อลวงให้เราหลงให้เราเพลินนั้น ล้วนแต่ห้อมล้อมอยู่ด้วยทุกข์ทั้งนั้น
ความทุกข์อันเราจะพึงถึง คือความชราทุพลภาพ
หูหนวก ตามัว ร่างกายคดค่อม ไปมาลำบากยากเข็ญทุกหน้าที่
ยังพยาธิความป่วยไข้สารพัดโรคนับไม่ถ้วน
ถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องได้รับความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาแสนสาหัส
ยังมรณะความตายอีก ก็แสนลำบาก ตัวเองก็ไม่อยากตาย
คนอื่นก็ไม่มีใครอยากให้ตาย ตายไปดื้อ ๆ อย่างนั้นเอง
ความทุกข์เหล่านี้น่าสยดสยองยิ่งนักหนา จำเพาะจะมาถึงเราทุกอย่าง
ครั้นความป่วยไข้ความตายมาถึงเข้า ก็พากันร้องไห้ละ
ทีนี้การร้องไห้นั้นมีความประสงค์อะไร โกรธให้ความตาย หรือโกรธให้ผู้ตาย
หรือโกระว่าตัวไม่มีอำนาจห้ามไม่ให้เขาตายไม่ได้
รู้ไหมว่า ใครเป็นเจ้าของตาย ใครเป็นผู้ให้ตาย เขาตายไปทำไม
เขาเกิดมาทำไม ตรองดูให้ดีซี ตอบปัญหาให้ได้ทุกข้อ
อย่ามัวแต่ร้องไห้ หาเหตุหาผลมิได้ เขาจะว่าเราเป็นคนบ้า

ความทุกข์เหล่านี้มาแต่อวิชชาเป็นต้นเหตุ เพราะมืดไม่รู้จึงตอบปัญหาไม่ถูก
ให้พึงเข้าใจว่า ถ้าเรายังอ่อนแอ ไม่บำรุงศรัทธาให้บริบูรณ์แล้ว
ก็จักได้รับทุกข์เหล่านี้ไม่ทีที่สิ้นสุด เพราะเหตุนั้นจึงควรปลูกศรัทธา
ความเชื่อในคุณพระรัตนตรัย เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
เชื่อต่ออธิฏฐานบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วตั้งใจให้มั่น บำเพ็ญกองศีล กองสมาธิ กองปัญญาให้เต็มรอบ
แล้วหมั่นตรวจตรองในวิปัสสนากัมมัฏฐาน
เพ่งสังขารร่างกายของตนจนให้เกิดญาณทัสสนะ รู้จริงเห็นจริงว่า
ส่วนนี้เป็นสังขาร ส่วนนี้เป็นวิสังขาร ธรรมดาของสังขารนั้น
เป็นของแต่งได้ คือแต่ให้เป็นบุญเป็นบาป แต่งให้ดีให้ชั่วได้

ส่วนวิสังขารแต่งไม่ได้ ต้องปล่อยให้แก่ความเป็นเองตามสภาพของเขา
การรู้เท่าสังขารนี้แล เป็นทางมรรคผลนิพพาน
ถ้ามีอธิฏฐานบารมี ตั้งใจมั่นในไตรสิกขา มีความมุ่งหวังต่อโลกุตรธรรมโดยตรง
เพราะเห็นโทษแห่งสังขาร ดำเนินในอริยมรรคญาณ
ก็คงจะสำเร็จตามความมุ่งมาตรปรารถนา
ให้พุทธบริษัทหมั่นมนสิการดำเนินตาม ก็จักสำเร็จนิพพานสุขอันไพศาล
พ้นชาติ ชรา มรณะกันการโดยไม่ต้องสงสัย ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ


:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า กลางเดือนอ้าย (๘/๙/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - อธิฏฐานบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56242

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - เมตตาบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ อฏฺฐมี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ เมตฺตาปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำ แห่งกาฬปักษ์ เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาตประชุมกัน
เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา และได้พร้อมใจกันทำพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
ด้วยอามิสและปฏิบัติ มีไหว้พระสวดมนต์ให้สำเร็จกิจในเบื้องต้นแล้ว
บัดนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา พึงพากันตั้งใจฟังด้วยดี
ให้สำเร็จกิจของตน ๆ ให้เห็นว่า การที่จักตัดกังวลในกิจการของตน
มาฟังพระธรรมเทศนาชั่ววันพระหนึ่งนี้เป็นของไม่ใช่ง่าย
ที่ลุล่วงอุปสรรคเครื่องขัดข้องมาได้ ต้องนับว่าเป็นลาภอันสำคัญของตน
และให้เห็นว่า ตนเกิดมาในชาตินี้ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคอันสำคัญส่วนหนึ่ง
คือได้เกิดมาประสบสมัยซึ่งบริบูรณ์ด้วยอนุตริยคุณอันยิ่งใหญ่ ๖ ประการ


ทสฺสนานุตฺตริยํ คือการได้เห็นเจดิยสถาน คือพระพุทธรูป
พระสถูปเจดิยสถาน และได้เห็นพระสงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขาสัมมาปฏิบัติอันงดงาม
เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

สวนานุตฺตริยํ คือการได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นนิยานิกธรรม นำผู้ได้ยินได้ฟัง
ได้ปฏิบัติตามออกจากกองทุกข์ได้ เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

ลาภานุตฺตริยํ คือการมีลาภ การได้ลาภอันสูงสุด
คือได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย และเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุญบาปมีจริง ดังนี้ เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

สิกฺขานุตฺตริยํ คือการที่ได้ศึกษาในไตรสิกขา
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยมรรค
เข้าอกเข้าใจพอปฏิบัติตามได้ ข้อนี้ก็เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

อนุสฺสตานุตฺตริยํ คือการที่ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย
มีระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้น
ระลึกถึงคุณพระธรรมว่า สฺวากฺขาโต ภควตาธมฺโม เป็นต้น
ระลึกถึงคุณแห่งพระสงฆ์ว่า สุปฏิปนฺโน เป็นต้น
การที่ได้ระลึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัยนี้ ก็เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

ปาริจริยานุตฺตริยํ คือการที่ได้บำรุงพระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปัจจัย ๔ คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
ให้ได้ปฏิบัติกิจพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไปนี้ ก็เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

การที่เกิดมาประจวบกับสมัยที่มีอนุตตริยคุณทั้ง ๖ ประการนั้น
มีขึ้นในตนครบทั้ง ๖ ประการเช่นนี้ ก็น่าปลื้มอกปลื้มใจชื่นชมยินดี
ควรเห็นได้ว่า เป็นลาภอันสำคัญของตน ๆ ให้พากันตั้งใจเพียร
บำรุงอนุตตริยคุณ ๖ ประการนั้นให้บริบูรณ์ในตน สม่ำเสมอด้วยความไม่ประมาท

บัดนี้ จักแสดงใน เมตตาบารมี ต่ออนุสนธิสืบไป

เมตฺตา นาม ชื่ออันว่า เมตตา คือผูกไมตรีในสรรพสัตว์ทั่วไปนี้
หากเป็นคุณธรรมสำหรับบัณฑิตทั้งหลายแต่โบราณกาล
แม้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นพระบรมครูของพวกเราทั้งหลาย
ก็ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วสิ้นโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมาก
ครั้นมาถึงปัจฉิมชาติที่จักได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ
เมื่อยังครองราชสมบัติอันเพียบพร้อมด้วยกามสุขเห็นปานนั้น
หากพระเมตตาบารมีอันพระองค์ได้อบรมมาแล้วสิ้นโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมากนั้น
มาเตือนน้ำพระทัย ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นคนชราทุพลภาพ
เห็นคนเกิดพยาธิ ความป่วยไข้ เห็นคนมรณะ คือ คนตาย ก็เกิดความสลด เศร้าพระทัย
ทรงเห็นว่าทุกข์ภัยอันน่าสยดสยองสำหรับตน และสำหรับสัตว์ทั่วไปในโลก
แม้ไฉนจะพึงยกตนของเราให้รอดพ้นออกจากทุกข์ภัยเหล่านี้ได้
และจักได้ช่วยสัตว์อื่นให้พ้นไปด้วย


แต่คำที่ว่าพระนิพพาน ดับเสียได้ซึ่งกองทุกข์ในโลก
และคำที่ว่า พระอรหันต์ผู้สำเร็จพระนิพพาน
คงจะกึกก้องอยู่ในโลกก่อนแต่พุทธกาล พระองค์คงจะอาศัยสียงอันนี้
เพราะเหตุนั้นพระองค์ทรงพระดำริเห็นว่า
บรรพชาเพศเป็นวิเวกควรแก่พระนฤพาน ควรแก่พระอรหัตคุณ
ถ้าเราสำเร็จแล้ว ตัวเราก็พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร
และยังจักได้ช่วยสัตว์อื่นให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏฏสงสารด้วย
จึงได้ตกลงสละสุขสมบัติ เสด็จออกทรงเพศบรรพชา
ประกอบประโยค พยายามโดยชอบ จนได้สำเร็จสยัมภูภาพพุทธวิสัย
สำเร็จได้ด้วยเมตตาบารมีเป็นปุเรจาริก

ครั้นพระองค์พ้นจากชาติชรามรณะได้แล้ว ก็ทรงประกาศพระพุทธศาสนา
ชี้ทางพระนฤพาน คือพระอัฏฐังคิกมรรค ให้ผู้อื่นได้ตรัสรู้ตาม
พ้นวัฏฏภัย นับด้วยโกฏิด้วยล้านไม่ถ้วน ยังทรงบัญญัติสิกขาบทวิสัยไว้สำหรับกุลบุตร
ผู้เกิดมาภายหลังได้ดำเนินตามจนบัดนี้ ล้วนแต่สำเร็จด้วยเมตตาบารมี
เป็นปุเรจาริกทั้งสิ้น คงได้ใจความว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีเต็มรอบแล้ว
จึงมีพระคุณนามปรากฏอยู่ว่า มหาการุณิโก นาโถ
พระโลกนาถเจ้าทรงพระมหากรุณาธิคุณดังนี้

เมตตา ส่วนที่พระพุทธองค์นำมาแจกแก่พุทธเวไนยนั้น
มีประเภทเป็นอันมากตามนิสัยและจริตของบุคคล คงรวมลงเป็น ๓
คือ เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม เท่านั้น

เมตตากายกรรม นั้น คือให้เห็นกายของตนนี้ ว่าเป็นที่รัก ที่หวงแหนแห่งตน
ไม่ต้องการให้ผู้อื่นมาเบียดเบียนให้เจ็บปวดด้วยประการใดประการหนึ่ง
คนอื่นสัตว์อื่นก็เช่นเดียวกันกับเรา ให้ตั้งเจตนาขาดลงไปว่า
กายของเราจักไม่ทำให้ผู้อื่น สัตว์อื่นได้รับความเดือดร้อนเลย
ทำกิจการงานใด ๆ ก็ให้สัมปยุตด้วยเมตตา หวังความสุขแก่ตนและผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์
ช่วยในกิจของผู้อื่นที่ควรช่วยได้ให้ลุล่วงไป ชื่อว่า เมตตากายกรรม

เมตตาวจีกรรม นั้น ก็เช่นเดียวกัน คือให้เห็นว่า วาจาเท็จ วาจาหยาบ
วาจาส่อเสียด วาจาไม่มีประโยชน์ ชื่อว่า มิจฉาวาจา เป็นวาจาผิด
เป็นวาจาทำโทษให้แก่ตนเองและทำโทษให้แก่คนอื่น ให้เว้นเสีย
ให้กล่าวแต่วาจาที่สัมปยุตด้วยเมตตา คือกล่าวแต่คำจริง คำอ่อนโยน คำสมัครสมาน
คำเป็นไปกับด้วยแระโยชน์ ชื่อว่า สัมมาวาจา สัมมาวาจานี้แหละ ชื่อว่า เมตตาวจีกรรม

ส่วน เมตตามโนกรรม นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแจกอย่างกว้างขวาง
ชี้จนถึงพระนิพพาน เรียกนามตามศาสนโวหารว่า พรหมวิหาร พึงสาธก เมตตสูตร
มาเป็นนิทัศน์ให้กุลบุตรผู้ปรารถนาจะเจริญเมตตาอย่างอุกฤษฏ์
พึงแสวงหาวิเวกตามสมควร ดำเนินกาย วาจา ใจ ให้ตรงต่อไตรสิกขา
แล้วตั้งแผ่เมตตาจิตให้รอบไปทุกทิศ ให้เป็นอโนทิสสผรณา
แผ่ไปในสัตว์ไม่มีประมาณ ตามนัยนิคมคาถาว่า

เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ มานสมฺภาวเย
อปริมาณํ อุทฺธํ อโธ จ ติริยญจ อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ


กุลบุตรนั้น พึงเจริญเมตตาจำเพาะหมู่สัตว์ในโลกทั้งปวง
ให้เป็นจิตมีอารมณ์ไม่มีประมาณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และด้านกลาง
เป็นจิตไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีข้าศึก

ติฏฺฐญฺจรํ นิสินฺโน วา สยาโน วา ยาว ตสฺส วิคตมิทฺโธ เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย

กุลบุตรนั้นจะยืน จะเดิน หรือเดินจงกรม หรือจะนั่ง จะนอน
ไม่นิยมเฉพาะอิริยาบถใด ๆ เมื่อยังไม่ง่วงเคลิ้มหลับไปเพียงใด
พึงอธิษฐานสติอันระลึกผูกพันอยู่ในเมตตานั้น ทุกกาลทุกสมัยเถิด

พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ

บัณฑิตทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ได้กล่าวซึ่งธรรมเป็นที่อยู่
คือเมตตานั้นว่า พรหมวิหาร เครื่องอยู่แรมสันดานแห่งพรหม ดังนี้

ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม สีลวา ทสฺสเนน สมฺปนฺโน
กาเมสุ วิเนยฺย เคธํ น หิ ชาตุ คพฺภเสยฺยํ ปุนเรตีติ


ก็แลกุลบุตรนั้น เมื่อได้บรรลุเมตตาฌานแล้ว ไม่เข้าไปใกล้ซึ่งทิฏฐิวิปลาส
เจริญวิปัสสนาญาณ มีโลกุตรศีล ถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยทัสสนะ
คือ โสดปัตติมรรค อันเห็นอริยสัจ ๔ และมีความเพียร
นำเสียให้พินาศซึ่งความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ด้วย อนาคามิมัคคญาณ และ อรหัตตมัคคญาณ
ย่อมไม่เข้าถึงความเป็นผู้นอนในครรภ์อีกต่อไป

ก็และเมตตาพรหมวิหารนี้ นับเข้าในสมถภาวนาและภาวนามัยกุศล
มีผลไพศาลกว่า สรรพทานมัย และ ปัญจเวรวิรัติ


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงลักษณะแห่งผู้เจริญเมตตาพรหมวิหาร
ในเมตตานิสังสสูตร ไว้ ๘ ประการว่า


อาเสวิตาย ให้เสพมากแล้ว ๑

ภาวิตาย ทำให้เจริญแล้ว ๑

พหุลีกตาย กระทำให้มากแล้ว ๑

ยานีกตาย กระทำให้เป็นเหมือนยาน
เครื่องให้สำเร็จการไป ดังรถและเกวียนเป็นต้นแล้ว ๑

วตฺถุกตาย กระทำให้เป็นเหตุที่ตั้ง คือ ทำให้เป็นเหมือนที่อาศัยแล้ว ๑

อนุฏฺฐิตาย ให้กระทำไม่หยุดหย่อนแล้ว ๑

ปริจิตาย ให้สะสมแล้ว ๑

สุสมารทฺธาย ให้ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว คือกระทำให้เป็นวสี ๕ ประการ

อาวชฺชนวสี ชำนาญในการนึก ๑

อาปชฺชนวสี ชำนาญในการเข้าฌาน ๑

วุฏฺฐานวสี ชำนาญในการออกฌาน ๑

อธิฏฺฐานวสี ชำนาญในการตั้งใจ ๑

ปญฺจเวกฺขณวสี ชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน ๑


ชื่อว่า สุสมารทฺธา

แล้วทรงแสดงอานิสงส์แห่งเมตตาพรหมวิหารไว้ ๑๑ ประการว่า
เมื่อกุลบุตรมาเจริญจนบรรลุมหัคคตฌานเจโตวิมุติได้
ก็มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ ถึงจะไม่ปรารถนาก็คงมีแน่โดยไม่ต้องสงสัย


๑. สุขํ สุปติ ผู้เจริญเมตตาพรหมวิหารนั้น ย่อมหลับเป็นสุขสบาย

๒. สุขํ ปฏิพุชฺฌติ ผู้นั้นเมื่อตื่น ก็ตื่นเป็นสุขสบาย

๓. น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ผู้นั้นย่อมไม่เห็นสุบินอันลามก เห็นแต่สุบินซึ่งเป็นมงคล

๔. มนุสฺสานํ ปิโย โหติ ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักที่เจริญใจแห่งมนุษย์ทั้งหลาย
ดังแก้วมุกดา และดอกไม้เครื่องประดับฉะนั้น

๕. อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักที่เจริญใจแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย
มียักษ์และปีศาจเป็นต้น

๖. เทวตา รกฺขนฺติ เทพดาทั้งหลายย่อมรักษาคุ้มครองผู้นั้น
ให้แคล้วคลาดภัยพิบัติอันตรายด้วยอานุภาพของตน

๗. นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ เพลิงหรือพิษศัสตราไม่ก้าวถึงแก่ผู้นั้น
คือไม่ทำกายให้กำเริบ เกิดทุกขเวทนาได้

๘. ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตของผู้นั้นย่อมตั้งมั่นรวดเร็ว ไม่เชื่องช้าต่อสมาธิ

๙. มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ พรรณสีหน้าแห่งผู้นั้นย่อมผ่องใสพิเศษ

๑๐. อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ ผู้นั้นไม่เป็นคนหลงทำกาลกิริยา
เมื่อจะถึงแก่มรณะย่อมมีสติเป็นอันดี

๑๑. อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต พฺรหฺมโลกูปโค โหติ ผู้นั้นเมื่อไม่ตรัสรู้โลกุตรธรรม
อริยมรรคอริยผลยิ่งขึ้นไปกว่าเมตตาฌานนั้นได้แล้ว
ก็ย่อมไปเกิดในพรหมโลก ตามภูมิแห่งฌานที่ตนได้ด้วยเมตตานั้น

อานิสงส์ ๑๑ ประการนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้ได้เจโตวิมุติ
ถ้าไม่สำเร็จเจโตวิมุติเป็นแต่ตทังคปหาน
ก็ต้องลดความเกิดในพรหมโลกคงอยู่แต่เพียง ๑๐ ประการตามควร

แท้จริงเมตตานี้เป็นธรรมิกอุบาย เครื่องผูกพันสมานสามัคคีในสัตว์ที่ร้าวรานให้สิ้นอาฆาต
สัตว์ที่อุเบกขาให้เกิดเมตตาตอบต่อไมตรี ปรารถนาสุขประโยชน์
มีแต่คุณปราศจากโทษ ไม่มีใครติเตียนได้ และเป็นนิมิตที่จักให้มนุษย์สมานชาติ
และเทพนิกรทิพยนิกายเกิดสิเนหะรักใคร่ต่อผู้เจริญเมตตานั้น

เมตตาพรหมวิหารมีคุณานุภาพเห็นปานนั้น
ควรแล้วที่พุทธบริษัทผู้ได้รับแจกเมตตาแต่สำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อเพ่งหวังต่อสันตบท คือพระนิพพาน จะพึงบำเพ็ญเมตตาบารมีให้เต็มรอบ
ถือเอาผล คือโลกุตรธรรม ถ้าไม่ได้อย่างสูงสุด ได้แต่เพียงภูมิพระโสดา
ก็ยังนับว่าได้ที่พึ่งอันแน่นอน ถ้าพิเคราะห์ตามนัยเมตตาพรหมวิหารนี้
ก็ดูจะไม่เหลือวิสัยนัก ใจความท่านให้เจริญเมตตาฌานให้เป็นบาท
แล้วเพ่งสังขารให้เห็นอริยสัจ ๔ แจ้งประจักษ์ในตนเป็นญาณทัสสนะเท่านี้
ท่านแสดงไว้ว่า เป็นภูมิพระโสดาตามนัยเมตตสูตรที่ว่า
ทสฺสเนน สมฺปนฺโน ผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ
คือความรู้ความเห็นในพระอริยสัจ เป็นโสดาปัตติมรรคญาณดังนี้

ถ้าปลูกความเชื่อลงให้มั่นต่อพุทธโอวาทนี้จริงจังแล้ว
ก็คงจะไม่แคล้วคลาดจากมรรคผลนิพพาน
เราต้องเชื่อว่า โอวาทนี้เป็นของพระบรมศาสดา พระองค์มีพระวาจามิได้วิปริต
เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคงจะสำเร็จตามความปรารถนา
ให้พุทธบริษัทปลูกศรัทธาลงให้มั่นอย่างนี้ แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติไป
ก็คงจะสำเร็จได้ตามความปรารถนา โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า เดือนอ้าย ๘ ค่ำ (๑๖/๙/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - เมตตาบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56241

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


ทศบารมีวิภาค - อุเบกขาบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ จาตุทฺทสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ อุเปกฺขาปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติณ


วันนี้เป็นวันจาตุททสีดิถีที่ ๑๔ ค่ำ แห่งกาฬปักษ์ เป็นวันธัมมัสสวนะ
สำหรับพุทธบริษัทมาประชุมสันนิบาต
เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนาตามกาลนิยม ซึ่งมีมาในพระธรรมวินัย
เมื่อพร้อมด้วยสันนิบาตได้พร้อมกันไหว้พระสวดมนต์
สมาทานศีล เสร็จกิจในเบื้องต้นแล้ว

เบื้องหน้าแต่นี้ พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา
ให้สำเร็จเป็นธรรมสวนามัยกุศล เป็นผลอันพิเศษ
ด้วยการฟังพระธรรมเทศนา
เป็นการบำรุงศรัทธาและปัญญาของตน ให้เจริญขึ้นโดยลำดับ


ด้วยพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นดวงประทีปสำหรับส่องให้โลกสว่าง ด้วยโลกคือหมู่สัตว์มืดมน
มหนธการด้วยอำนาจอวิชชาโมหะครอบงำทำให้ปัญญาทุพลภาพ
มุ่งแต่ลาภและยศสรรเสริญความสุข
เมาในวัยว่าตนยังหนุ่ม เมาในความไม่มีโรค เมาในชีวิต
ไม่คิดถึงความตาย แสวงหาแต่วัตถุที่จะเอาไปตามตนไม่ได้
ข้อนี้ไซร้สำเร็จมาแต่การขาดการสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา
อันเป็นโอวาทศาสนาคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความจริงในสยามประเทศนี้ นับว่าเป็นหลักของพระพุทธศาสนา
ด้วยพระพุทธศาสนาตกเข้ามาประดิษฐาน
อยู่ในประเทศสยามนมนานกว่า ๒,๐๐๐ ปีแล้ว

แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์
ด้วยว่าแต่บรรดาพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ของชาวสยาม
ต้องเป็นอรรคศาสนูปถัมภก สืบขัติยวงศ์มามิได้ขาด
ตั้งต้นแต่นครเชียงแสนเชียงราย
มากระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นปัจจุบันบัดนี้
แต่นั่นแหละ อาศัยความที่ไม่ถาวรแห่งโลก
เมืองหลวงต้องถูกโยกย้ายหลายตำบล
เป็นเหตุให้จลาจลแห่งพระพุทธศาสนา

ครั้นเมืองหลวงตั้งมั่นเจริญขึ้นในตำบลใด
พระพุทธศาสนาก็เจริญขึ้นตามในตำบลนั้น
ข้อนี้มีเจดิยสถานโบราณคดี
เป็นเครื่องอ้างให้สันนิษฐานได้ว่า
พระเจ้าแผ่นดินชาวสยามเป็นอรรคศาสนูปถัมภกตลอดมา
แต่ความรู้ความฉลาดในธรรมวินัยของพุทธบริษัทก็คงจะขึ้น ๆ ลง ๆ

ฉะนั้น ดังในประถมสมัยในกรุงรัตนโกสินทร์นี้
ข้อปฏิบัติในธรรมวินัยนับว่าเสื่อมทรามลงมาก
หากอำนาจแห่งพระพุทธศาสนาบันดาล ให้
พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าสยาม
มาช่วยเป็นเป็นอรรคศาสนูปถัมภก
ยกแยกเป็นคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นให้ศึกษาตรวจตรองเลือกคัด
ปฏิบัติให้ตรงตามพระวินยานุญาต

ส่วนธรรมปฏิบัติก็ให้ตรงต่อไตรสิกขา
ไม่ให้งมงายเชื่อตามพวกวิปัสสนา
หลับตาดูนรกดูสวรรค์ สู่ความเจริญ
เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยาม
และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็นอรรคศาสนูปถัมภก เป็นบูรพาจารย์ของพวกเราทั้งหลาย
อย่าพากันลืมพระมหากรุณาธิคุณในพระองค์ท่านทั้งสอง
ที่ออกพระนามมาแล้ว


ต่อแต่นี้ไป มรรค ผล นิพพาน
จะชัชวาลแจ่มแจ้งขึ้นแก่พุทธบริษัทเป็นลำดับไป...

กัณฑ์นี้ได้บรรยายอารัมภกถามาก
เพื่อเตือนในแห่งสัตบุรุษให้ตื่นจากหลับ
พากันหลับมาหลายชั่วบุรุษแล้ว
อย่าพากันหลงเชื่อถือตามลัทธิของครูบาอาจารย์อย่างเดียว
เชื่อต่อพระอัฏฐังคิกมรรค เชื่อต่อไตรสิกขาด้วย
เชื่อความสามารถของตนด้วย จึงจะได้ประสบมรรคผลนิพพาน

...บัดนี้ จักแสดงใน อุเบกขาบารมี
ต่ออนุสนธิสืบไปอุเปกฺขา นาม ชื่ออันว่า
อุเบกขาบารมีนี้ หาใช่เฉย ๆ อยู่อย่างเดียวไม่

ถ้าความเพิกเฉย เป็นทองไม่รู้ร้อนอย่างเดียวเป็นอุเบกขาแล้ว
อุเบกขาก็ไม่เป็นบารมี ไม่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้


อุเบกขาบารมีนี้ หมายความเป็นกลาง คือหัดทำใจให้เป็นกลาง
คือเป็นยอดเป็นจอมแห่งบารมีทั้ง ๙ มีทานบารมี เป็นต้น ดังที่แสดงมาแล้ว

ถ้าขาดอุเบกขาจิต จิตที่เป็นกลางเสียแล้ว บารมีเหล่านั้นเกิดขึ้นไม่ได้

ความจริงบารมีทั้ง ๑๐ ประการนั้น ในบารมีอันหนึ่งก็ต้องมีพร้อมทั้ง ๑๐ ประการ
เป็นแต่ว่า จะยกบารมีอันใดขึ้นเป็นประธาน ก็เรียกบารมีอันนั้นเท่านั้น

เพราะคุณธรรมเหล่านี้เป็น อัญญมัญญปัจจัย อุดหนุนซึ่งกันและกัน
ท่านจึงร้อยเข้าไว้เป็นพวงเดียวกัน
ในพระบารมีทั้ง ๙ นั้น
จะสำเร็จได้ก็ต้องมีอุเบกขาจิตเข้าเป็นปัจจัยอุดหนุน


ในเวลาที่จักเจริญอุเบกขาบารมี
พระบารมีธรรมทั้ง ๙ นั้นก็มาเป็นปัจจัยอุดหนุนให้อุเบกขาบารมีเต็มรอบ

ท่านเรียกว่าสามัคคีธรรม คือ คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนั้นมีขึ้นพร้อมกันในสกลกายนี้

นัยหนึ่งท่านเรียกว่า มัคคสามัคคี
ท่านแสดงไว้ในปฐมสมโพธิพุทธประวัติของเก่า
แสดงลักษณะมรรคสามัคคีว่า


เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราใกล้จะตรัสรู้
สู้กับด้วยพระยามาราธิราชด้วยพระบารมี ๑๐ ประการ
ด้วยอาวัชชนาการถึงพระบารมีทั้ง ๑๐ มีพร้อมเป็นมัคคสามัคคีแล้ว
ร่างกายจิตใจของพระองค์ในเวลานั้น
เป็นอุเบกขาญาณสัมปยุต เฉย เป็นกลาง
เปรียบด้วยพระธรณี คือแผ่นดิน


โบราณาจารย์จึงสมมติอาการนั้นว่า

นางพระธรณีขึ้นมาช่วยดังนี้
และเล็งเอาน้ำพระทัยของพระองค์เวลานั้น
เต็มไปด้วยพระมหากรุณาแผ่ไปทั่วโลกธาตุ


โบราณาจารย์จึงสมมติอาการแห่งพระกรุณานั้นว่า

นางพระธรณีรีดน้ำออกจากมวยผม
ไหลท่วมถมพัดพาเอาพระยามาร
กับทั้งพลมารให้ล่มจมงมงาย
คลื่นกระฉอกพัดซัดออกไปตกนอกขอบจักรวาล
ดังนี้พึงเข้าใจอุเบกขาจิต คือจิตเป็นกลาง


...ถ้าจักชี้เจตสิก อัญญสมานาเจตสิกนั้นแหละ ซื่อว่าเจตสิกกลาง
...ถ้าเจตสิกกลางนั้นมาประกอบกับจิต ก็เรียกว่าอุเบกขาจิต
...ที่ท่านแสดงประเภทแห่งอุเบกขาไว้มีมาก

ดังในพรหมวิหารจิตเป็นกลาง
สัมปยุตด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ชื่อว่า อุเบกขาพรหมวิหาร


จิตเป็นกลาง สัมปยุตเป็น สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา
ชื่อว่า อุเบกขาเวทนา

...จิตเป็นกลางสัมปยุตด้วยสติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา
ชื่อว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์

...จิตเป็นกลางใน รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
ไม่ตกไปในฝ่ายยินดียินร้าย
ชื่อว่า ฉฬังคุเบกขา

...จิตเป็นกลางสัมปยุตด้วยเอกัคคตากับอุเบกขาเท่านั้น
ชื่อว่า จตุตถฌานุเปกขา


...ลักษณะที่มาแห่งอุเบกขามีมากประเภท
ชักมาแสดงพอเข้าให้เข้าใจความเท่านั้น

อุเบกขาจิตนี้ถ้าสัมปยุตด้วยบุญด้วยกุศล ก็เป็นกุศลเจตนาไป
ถ้าสัมปยุตด้วยบาปด้วยอกุศล ก็เป็นอกุศลเจตนาไป
ถ้าไม่สัมปยุตด้วยกุศลากุศล ก็เป็นอัพยากฤตไปเท่านั้น


อุเบกขาบารมีที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแก่พุทธบริษัทให้ดำเนินตาม
ผู้รับแจกได้ดำเนินตามและได้สำเร็จมรรคผลนิพพานนับด้วยโกฏิด้วยล้านไม่ถ้วน

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๑
สังขารุเบกขาญาณ ๑
ฌานุเบกขา ๑

จะอธิบายแต่เพียงอุเบกขา ๓ ประเภทเท่านี้ พอเป็นทางปฏิบัติของพุทธบริษัท

...ผู้ที่ปรารถนาจะเจริญโพชฌงค์

พึงตั้งสติให้รู้อยู่ที่กายที่ใจนี้
ให้มีธรรมวิจยะ ตรวจตรองจนให้เห็นว่าสกลกายนี้เป็นสภาวธรรม
แจกออกเป็นพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ให้รู้ชัดด้วยปัญญา
ให้มีวิริยะความกล้าหาญองอาจในความเพียร ไม่เห็นแก่ร่างกายและชีวิต
ทำจิตให้สงบ ให้เกิดปีติความเอิบอิ่มเบิกบานในดวงจิต
ให้กายและจิตสงบเป็นปัสสัทธิเรียบราบดี ให้จิตเป็นหนึ่งในอารมณ์

คือ สภาวธรรมในสกลกายนี้เป็นองค์สมาธิ
ให้อุเบกขาจิตเพ่งสัมปยุตธรรมเหล่านั้น
จะเห็นว่า คุณธรรมเหล่านั้นพรักพร้อมบริบูรณ์แล้ว
เพียงเท่านี้ชื่อว่าสำเร็จภูมิอุเบกขาสัมโพชฌงค์
และให้หมั่นทำจนชำนาญ คุณธรรมทั้ง ๗ นี้
เป็นเหตุเป็นองค์จะให้ตรัสรู้อริยสัจธรรมตลอดถึงมรรคผลนิพพาน

ผู้รับแจกควรยินดีตั้งใจปฏิบัติตามการแสดงพุทธโอวาท
ก็แสดงได้แต่ทางปฏิบัติเท่านั้น
การจะได้จะถึงเป็นกิจของผู้เลื่อมใส ผู้รับปฏิบัติจะได้เอง เห็นเอง


ในสังขารอุเบกขาญาณนั้น

ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
จะชักมาแสดงพอเป็นนิทัศนะ
เมื่อพระโยคาพจรกุลบุตรชำระศีลให้บริสุทธิ์
ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ชำระทิฏฐิให้บริสุทธิ์
ชำระความสงสัยในอดีต อนาคต ให้บริสุทธิ์ด้วยปัจจุบัน
ธรรมวินิจฉัยทางดำเนินให้ตรง ละวิปลาสสัญญาเสียได้
แล้ว น้อมจิตสู่วิปัสสนาญาณ

จะชักแผนที่ของโบราณาจารย์
คือ แบบแผนมาแสดงไว้พอเป็นราว
ถ้าจะให้ขาวสิ้นสงสัยต้องไปตรวจดูตามแผนที่
จะรู้สึกว่าแผนที่กับภูมิประเทศห่างไกลกันสักปานใด
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีทางวินิจฉัยรู้จักผิดและถูก
แผนที่มีคุณแก่ผู้ตรวจภูมิประเทศฉันใด

ตำราแบบแผนก็มีคุณแก่กุลบุตร
ผู้ดำเนินในวิปัสสนาญาณฉันนั้น

ยกสังขารขึ้นสู่ไตรลักษณ์
ชื่อว่า สัมมสนญาณ

ให้พิจารณาความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของสังขารทั้งหลาย
ชื่อว่า อุทยัพพยญาณ

และปล่อยความเกิดขึ้นเสีย
พิจารณาความชำรุดหักพังแห่งสังขารทั้งหลาย น่าสยดสยอง
ชื่อว่า ภังคญาณ

ตามเพ่งอาทีนพโทษแห่งสังขารทั้งหลายนั้น ให้เห็นดังเรือนไฟไหม้
ชื่อว่า อาทีนวญาณ

ให้เกิดญาณเหนื่อยหน่ายในสังขารทั้งหลายที่ตนเห็นโทษแล้วนั้น
ชื่อว่า ภยตูปัฏฐานญาณ

คิดจะปลดเปลื้องตนให้พ้นจากวัฏฏภัย อย่างมัจฉาชาติคิดจะพ้นจากข่ายฉะนั้น
ชื่อว่า มุจจิตุกัมยตาญาณ

พิจารณาเนือง ๆ ในสังขารทั้งหลายนั้นเพื่อหาอุบายเครื่องปลดเปลื้อง
ชื่อว่า ปฏิสังขารญาณ

ทำจิตเป็นกลาง เพ่งสังขารทั้งหลายที่ตนเห็นโทษมาแล้ว
เป็นอารมณ์ด้วยสติสัมปชัญญะอุปถัมภ์
ชื่อว่า สังขารุเบกขาญาณ

สังขารุเบกขาญาณนี้เป็นเบื้องต้นแห่ง สัจจานุโลมิกญาณ
และ โคตรภูญาณ และ มัคคญาณ เป็นลำดับไป

อุเบกขาที่สัมปยุตด้วยสังขารทั้งหลายเป็นวิปัสสนาลักษณะอย่างนี้
ชื่อว่า สังขารุเบกขาญาณ

...ถ้ายกจิตขึ้นสู่องค์ฌาน ละวิตก วิจาร ปีติ สุขเสียได้
ให้คงเหลืออยู่แต่เอกัคคตา กับ อุเบกขา เท่านั้น
ชื่อ จตุตถฌานุเบกขา


ให้พุทธบริษัทกำหนดอุเบกขาบารมี
ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญให้เต็มรอบแล้ว
นำมาแจกมีแตกต่างโดยประเภทเป็นอันมาก
ที่นำมาแสดงไว้ในที่นี้พอเป็นนิทัศนะเท่านั้น

พึงเข้าใจว่า จิตมัธยัสถ์เป็นกลาง ชื่อว่า อุเบกขา
จิตที่เป็นอุเบกขานั้น ถ้าสัมปยุตกับด้วยธรรมประเภทใด
ย่อมมีคุณานุภาพให้ประโยชน์นั้น ๆ สำเร็จ


เมื่อพุทธบริษัทได้รับแจกอุเบกขาบารมีแล้ว
พึงตรวจดูนิสัยของตนจะชอบใจใน อุเบกขาพรหมวิหาร
หรือ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ หรือ สังขารุเบกขาญาณ


ถ้าชอบใจในอุเบกขาประเภทใด
ก็พึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เกิดให้มีในตนให้บริบูรณ์
ล้วนแต่เป็นบาทแห่งวิปัสสนาให้บรรลุมรรคญาณ ผลญาณ
ได้ด้วยกันทุกประเภทแห่งอุเบกขา

ข้อสำคัญคือ ความทำจริงสำเร็จด้วยความไม่ประมาท
ถ้าผู้ตั้งใจดำเนินปฏิบัติตามโดยนัยดังแสดงมานี้
ก็จะมีแต่ความงอกงามเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา
ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ


:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า วันสิ้นเดือนอ้าย (๒๓/๙/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - อุเบกขาบารมี]

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=56240

:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2019, 21:22 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ท่านเทศน์ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470
:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 20:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2019, 08:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2020, 14:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1013


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2024, 19:37 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร