วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 18:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2021, 14:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


บันทึกพิเศษท้ายบท
เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

บันทึกที่ ๑: เรื่อง ปัญญา ๓
ปัญญานั้น แท้จริงก็มีอย่างเดียว ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นความรู้เข้าใจสภาวะ
คือหยั่งถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แต่ก็นิยมจําแนกแยก
ประเภทออกไปเป็นหลายอย่าง ตามระดับของความรู้เข้าใจบ้าง ตามหน้าที่
หรือแง่ด่านของการทํางานของปัญญาบ้าง ตามทางที่ปัญญานั้นเกิดขึ้นบ้าง เป็นต้น

ปัญญาชุดหนึ่งซึ่งจําแนกตามแหล่งที่มา หรือทางเกิดของปัญญา
ได้แก่ปัญญา ๓ อย่าง ชุดที่แยกออกไปเป็น สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา
และ ภาวนามยปัญญา คําท้ายคือปัญญาเป็นตัวกลางร่วมกัน ส่วนคํา
ข้างหน้าที่ต่างกัน บอกที่มาหรือแหล่งเกิดของปัญญานั้น ว่า หนึ่ง เกิดจาก
สุตะ (การสดับฟัง การอ่าน และเล่าเรียน) สอง เกิดจากจินตะ(การคิดไตร่ตรอง
พิจารณา) และสามเกิดจาก ภาวนา(การปฏิบัติต่อจากนั้น)

ปัญญา ๓ อย่างชุดนี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อย แต่มีผู้นํามาพูดกัน
ค่อนข้างบ่อย ข้อสําคัญคือเข้าใจความหมายกันไม่ค่อยชัด จึงควรแสดงคํา
อธิบายที่พ่วงมากับถ้อยคําเหล่านี้สืบแต่เดิมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา

เริ่มด้วยการเรียงลําดับ ปัญญา ๓ นั้น ตามที่พูดกัน มักเรียงสุตมยปัญญา
เป็นข้อแรก แต่ของเดิมในพระไตรปิฎก ทั้งใน พระสูตร(ที.ปา. ๑๑/๒๒๘/๒๓๑)
และในพระอภิธรรม (อภิ.วิ. ๓๕/๗๙๗/๔๒๒) เริ่มด้วยจินจามยปัญญาเป็นข้อแรก
อย่างไรก็ตาม ในเนตติปกรณ์ ซึ่งพระสายพม่าถือเป็นหนึ่งในพระไตรปิฎกด้วย
(จัดรวมไว่ใน ขุททกนิกาย แห่งพระสุตตันปิฎก) เรียงสุตมยปัญญาขึ้นก่อน
(และเรียกชื่อต่างไปเล็กน้อยเป็น สุตมยีปัญญา จินตามยีปัญญา ภาวนามยีปัญญา)
และต่อมา ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา- ฎีกา นิยมมากขึ้นในทางที่จะเรียกชื่อเป็น
สุตมยญาณ จินตามยญาณ และภาวนามยญาณ

ในที่นี้ขอเรียงลําดับ ปัญญา ๓ ตามพระไตรปิฎกชั้นเดิมไว้ก่อน พร้อมด้วยแสดง
ความหมายสั้นๆ ดังนี้

๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา (ปัญญาเกิดจากโยนิโสมนสิการ
ที่ตั้งขึ้นในตนเอง)

๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียน (ปัญญาเกิดจากปรโตโฆสะ)

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบําเพ็ญ (ปัญญาเกิดจากปัญญา
สองอย่างแรกนั้นแล้วหมั่นมนสิการในประดาสภาวธรรม)

การที่ท่านเรียงจินตามยปัญญาขึ้นก่อน หรือสุตมยปัญญาขึ้นก่อนนั้น จับความได้ว่า
อยู่ที่การคำนึงถึงบุคคลเป็นหลัก หรือมองธรรมตามความเกี่ยวข้องของบุคคล

ในกรณีที่เรียงจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก ก็คือ ท่านเริ่มที่บุคคลพิเศษประเภท
มหาบุรุษก่อน หมายความว่า พระพุทธเจ้า (และพระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ค้นพบ
และเปิดเผยความจริงขึ้นนั้น มิได้อาศัยสุตะ ไม่ต้องมีปรโตโฆสะคือการฟังจาก
ผู้อื่น แต่รู้จักคิดพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการของตนเอง สามารถสืบสาว เรียงต่อ
ไล่ตามประสบการณ์ทั้งหลายอย่างถึงทันทั่วรอบทะลุตลอด จนหยั่งเห็นความจริงได้
จากจินตามยปัญญาจึงต่อเข้าภาวนามยปัญญาไปเลย (ไม่ต้องอาศัยสุตมยปัญญา)

แต่เมื่อมองที่บุคคลทั่วไป ท่านเริ่มด้วยสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก โดยมีคำอธิบาย
ตามลำดับว่า บุคคลเล่าเรียนสดับฟัง ได้สุตะ ได้ข้อธรรม ได้ข้อมูลแล้ว เกิดศรัทธา
ขึ้นเป็นพื้นเบื้องต้น จึงนำไปใคร่ครวญตรวจสอบพิจารณาได้ความรู้เข้าใจในสุตะนั้น
ก็เกิดเป็นสุตมยปัญญา แล้วในขั้นต่อไป อาศัยสิ่งที่ได้เรียนสดับนั้นเป็นฐาน เขาตรวจ
สอบชั่งตรองเพ่งพินิจขบคิดลึกชัดลงไป มองเห็นเหตุผลความสัมพันธ์เป็นไปชัดเจน
เกิดเป็นจินตามยปัญญา เมื่อเขาใช้ปัญญาทั้งสองนั้นขะมักเขม้นมนสิการใน
สภาวธรรมทั้งหลาย (พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า อาศัยหรือตั้งอยู่ในปัญญาทั้งสองนั้นแล้ว
เจริญวิปัสนา - สุตจินฺตามยาเณสุ หิ ปติฏฺฐิโต วิปสฺสนํ อารภติ, เนตฺติ.53)
แล้วเกิดญาณมีความรู้สว่างประจักษ์แจ้งความจริง เป็นมรรคที่จะให้เกิดผลขึ้น
ก็เป็นภาวนามยปัญญา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2021, 18:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อทิฏฐิก็ดี ญาณ ก็ดี เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีการกําหนดหมาย หรือหมายรู้
ตามทิฏฐิหรือตามญาณนั้นเกิดเป็นสัญญาใหม่ขึ้นอีก ทิฏฐิและญาณจึงทําให้
เกิดสัญญาซึ่งเป็นวัตถุดิบของความรู็และความคิดอื่นสืบต่อไป ข้อแตกต่างกัน
คือ ทิฏฐิมักพลอยทําให้เกิดสัญญาใหม่ที่ผิดพลาด ส่วนญาณจะช่วยให้เกิด
สัญญาที่ถูกต้อง และแก่สัญญาที่ผิดพลาด

ความรู้ที่ออกรูปมา ๓ แบบ ในกระบวนการพัฒนาภายในบุคคลนี้พึงพิจารณา
โดยสัมพันธ์กับวิธีทําให้เกิดปัญญา ๓ วิธีที่ท่านแสดงไว้ในเรื่อง ปัญญา ๓ ประเภท ด้วย คือ

๑.จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง
๒.สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียนหรือถ้ายทอดต่อกันมา
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการลงมือปฏิบัติฝึกหัดอบรม

นอกจากตัววิธีที่เป็นหลักใหญ่แล็ว ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่พึงใช้ประกอบใน
กระบวนการก่อให้เกิดปัญญา โดยเฉพาะในวิธีที่ ๓ กิจกรรมที่สําคัญๆ คือ การฟัง
ซักถาม สอบค้น (สวนะ และ ปริปุจฉา) การสนทนาถกเถียง อภิปราย (สากัจฉา)
การสังเกตดูเฝ้าดูดูอย่างพินิจ (ปัสสนะ และนิชฌาน) การพิจารณาโดยแยบคาย
(โยนิโสมนสิการ หรือ โยนิโสอุปปริกขา) การชั่งเหตุผล (ตุลนา) การไตร่ตรอง
ตรวจสอบ ทดสอบ สอบสวน ทดลอง และเฟ้น (วิมังสา และวิจัย) การเสพค้น
ฝึกหัด ทําบ่อย ทําให้มาก (อาเสวนะภาวนา และ พหุลีกรณ์)

การคิด การเล่าเรียนสดับฟัง และการปฏิบัติฝึกปรือ ย่อมเป็นเครื่องช่วยให้สัญญา
ทิฏฐิและญาณนั้นเกิดมีใหม่ขึ้นบ้าง ก้าวหน้าเพิ่มพูนขึ้นบ้าง ได้รับการ
แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องขึ้นบ้าง

ว่าที่จริง สุตะ คือความรู้ที่ได้เล่าเรียนสดับมา ก็ดีการคิดอะไรได้ต่างๆ ก็ดีและ
ปัญญาที่รู้เข้าใจอย่างนั้นอย่างนี้ก็ดีย่อมเป็นความรู้แบบต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวบุคคล
ด้วยเหมือนกัน แต่ความรู้ที่จะออกผลเป็นชิ้นเป็นอันเป็นรูปสําเร็จขึ้นในตัวบุคคล
ก็คือ ความรู้ ๓ อย่างข้างต้น คือ สัญญา ทิฏฐิ และญาณนั้น อาจพูดได้ว่า
สัญญาทิฏฐิและญาณ ก็คือ ผลข้างปลายของสุตะ จินตา และภาวนานั่นเอง

เมื่อความรู้ออกรูปเป็นสัญญา ทิฏฐิ และญาณแล้ว ย่อมมีผลต่อชีวิตของบุคคลมาก
สัญญามีอิทธิพลยิ่งต่อการรับรู้ การมองเห็น การเข้าใจโลกรอบตัว และการที่จะสร้าง
ความรู้อย่างอื่นต่อๆ ไป ทิฏฐิตั้งแต่ความยึดถือลัทธิศาสนา และอุดมการณ์ต่างๆ
ตลอดลงมาจนถึงค่านิยมต่างๆ เป็นตัวชี้นำแนวทางแห่งพฤติกรรมและวิถีชีวิตของ
บุคคลได้ทั้งหมด ส่วนความรู้ประเภทญาณ เป็นความรู้กระจ่างชัดและลึกซึ้งที่สุด

เป็นผลสำเร็จทางปัญญาสูงสุดที่มนุษย์จะทำได้ สามารถชำระล้างลงไปถึงจิตสันดาน
ของบุคคล สร้างหรือเปลี่ยนแปลงท่าทีแห่งการมองโลกและชีวิต ที่เรียกว่าโลกทัศน์
และชีวทัศน์ได้ใหม่ มีผลต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของบุคคลอย่างเด็ดขาด
และแน่นอนยั่งยืนยิ่งกว่าทิฏฐิ ความรู้ชุดนี้สัมพันธ์กับความรู้ที่จําแนกอีกแบบหนึ่ง
ในชุดต่อไปด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร