วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 19:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2021, 09:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อควรทราบต่อไปนี้ ส่วนมากเป็นเรื่องของภาคปฏิบัติที่ควรจะพูดถึงในตอนต่อไป แต่มีข้อความ
บางแห่งในตอนนี้พาดพิงถึง จึงนำมาอธิบายไว้คราวหนึ่งก่อน เพื่อให้เข้าใจเรื่องที่ผ่านในตอนนี้
ชัดเจนยิ่งขึ้น

๑. สมถะ – วิปัสสนา

สมถะ แปลง่ายๆ ว่าความสงบ แต่ที่ใช้ทั่วไป หมายถึงวิธีทำใจให้สงบ ขยายความว่า ได้แก่ ข้อ
ปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ จนตั้งมั่นเป็นสมาธิ ถึงขั้นได้ฌานระดับต่างๆ
จุดมุ่งของสมถะ คือ สมาธิ ซึ่งหมายเอาสมาธิขั้นสูงที่ทำให้เกิด

หลักการของสมถะ คือ กำหนดใจไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เรียกว่า “อารมณ์”) ให้แน่วแน่จนจิตน้อม
ดิ่งอยู่ในสิ่งนั้นสิ่งเดียว (เรียกกันว่า จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หรือจิตมีอารมณ์อันเดียว) ความแน่วแน่
หรือตั้งมั่นของจิตนี้เรียกว่า “สมาธิ”

เมื่อสมาธิแนบสนิทเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดภาวะจิตที่เรียกว่า ”ฌาน” ซึ่งแบ่งเป็นระดับต่างๆ ระดับที่
กำหนดเอารูปธรรมเป็นอารมณ์ เรียกว่า รูปฌาน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฌาน มี ๔ ขั้น ระดับที่กำหนด
อรูปธรรมเป็นอารมณ์เรียกว่าอรูปฌาน มี ๔ ขั้น ทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ เรียกรวมกันว่า
สมาบัติ (๘)

ภาวะจิตในฌานนั้น เป็นภาวะที่สุขสงบผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่มีสิ่งรบกวนให้สะ
ดุดหรือติดข้องอย่างใดๆ เรียกว่าปราศจากนิวรณ์ ท่านอนุโลมเรียกว่าเป็นความหลุดพ้นจาก
กิเลสตลอดเวลาที่ยังอยู่ในฌานนั้นๆ (แต่เมื่อออกจากฌานแล้ว กิเลสกลับมีได้อย่างเดิม ท่าน
จึงเรียกว่าเป็นวิกขัมภนนิโรธ หรือวิกขัมภน-วิมุตติ คือ ดับกิเลส หรือหลุดพ้นด้วยเอาสมาธิข่มไว้
ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น)

นอกจากฌานแล้ว สมถะยังมีผลพลอยได้ที่สืบเนื่องจากฌานนั้นอีก คืออาจทำให้เกิดความสามารถ
พิเศษที่เรียกว่าอภิญญา ๕ อย่าง ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ อ่านใจคนอื่นได้ ระลึกชาติได้ หูทิพย์ และตาทิพย์

อย่างไรก็ดี เมื่อใช้อย่างหลวมๆ หรือพูดอย่างกว้างๆ สมถะ ก็คือ การทำใจให้สงบ หรือการทำจิต
ให้เป็นสมาธิ และบางคราวก็หมายถึงตัวสมาธินั้นเอง

ว่าตามความจริง ความหมายของสมถะที่ว่า คือตัวสมาธินี้แหละ เป็นความหมายที่ตรงตามหลัก
วิชาทั้งฝ่ายอภิธรรมและฝ่ายพระสูตร เพราะไม่ว่าจะเจริญสมถะ จนได้ฌานสมาบัติ หรืออภิญญา
เป็นผลสำเร็จสูงพิเศษเพียงใดก็ตาม เนื้อแท้ของสมถะ หรือตัวสมถะ หรือแก่นของสมถะที่ให้
ผลเช่นนั้น ก็คือสมาธินั่นเอง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2021, 11:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนา แปลง่ายๆ ว่า การเห็นแจ้ง หรือวิธีทำให้เกิดการเห็นแจ้ง หมายถึงข้อปฏิบัติต่างๆ
ในการฝึกฝนอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดสิ่งทั้งหลายตรงต่อสภาวะของมัน
คือให้เข้าใจตามความเป็นจริง หรือตามที่สิ่งเหล่านั้นมันเป็นของมันเอง (ไม่ใช่เห็นไปตาม
ที่เราวาดภาพให้มันเป็น ด้วยความชอบ ความชัง ความอยากได้ หรือความขัดใจของเรา)
รู้แจ้งชัดเข้าใจจริง จนถอนความหลงผิด รู้ผิด และยึดติดในสิ่งทั้งหลายได้ ถึงขั้นเปลี่ยน
ท่าทีต่อโลกและชีวิตใหม่ ทั้งท่าทีแห่งการมอง การรับรู้ การวางจิตใจ และความรู้สึกทั้งหลาย

ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างการปฏิบัตินั้น เรียกว่า ญาณ มีหลาย
ระดับ ญาณสำคัญในขั้นสุดท้ายเรียกว่า วิชชา เป็นภาวะตรงข้ามที่กำจัดอวิชชา คือความหลง
ผิดไม่รู้แจ้งไม่รู้จริงให้หมดไป

ภาวะจิตที่มีญาณหรือวิชชานั้น เป็นภาวะที่สุขสงบผ่องใส และเป็นอิสระ เพราะลอยตัวพ้น
จากอำนาจครอบงำของกิเลส เช่น ความชอบความชัง ความติดใจและความขัดใจ เป็นต้น
ไม่ถูกบังคับหรือชักจูงโดยกิเลสเหล่านั้น ให้มองเห็นหรือรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างบิดเบือน จนพา
ความคิดและการกระทำที่ติดตามมาให้หันเหเฉไป และไม่ต้องเจ็บปวด หรือเร่าร้อน เพราะ
ถูกบีบคั้นหรือต่อสู้กับกิเลสเหล่านั้น ญาณ และวิชชา จึงเป็นจุดมุ่งของวิปัสสนา เพราะนำไป
สู่วิมุตติ คือความหลุดพ้นเป็นอิสระที่แท้จริง ซึ่งยั่งยืนถาวร (ท่านเรียกว่า สมุจเฉทนิโรธ หรือ
สมุจเฉทวิมุตติ แปลว่า ดับกิเลส หรือหลุดพ้นโดยเด็ดขาด)

ถ้าพูดอย่างรวบรัด ก็ว่า ผลที่มุ่งหมายของสมถะ คือฌาน ผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา คือญาณ
หรือว่าสมถะนำไปสู่ฌาน วิปัสสนานำไปสู่ญาณ

ผู้ปฏิบัติสมถะ (สำนวนแบบเรียกว่า บำเพ็ญ หรือเจริญสมถะ) อาจทำแต่สมถะอย่างเดียว โดย
มุ่งหวังจะชื่นชมเสพผลของสมถะ คือฌานสมาบัติ และอภิญญาทั้ง ๕ ไม่ต้องเกี่ยวข้อง
กับวิปัสสนาเลยก็ได้ เรียกว่า หยุดอยู่เพียงขั้นสมาธิ ไม่ก้าวไปถึงขั้นปัญญา

แต่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ต้องอาศัยสมถะไม่มากก็น้อย คือ อาจเจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติ
ก่อนแล้ว จึงก้าวต่อไปสู่วิปัสสนา คือเอาฌานเป็นบาทของวิปัสสนา (เรียกว่าเจริญวิปัสสนา
ที่มีฌานเป็นบาท) ก็ได้ อาจเริ่มเจริญวิปัสสนาไปก่อนแล้ว จึงเจริญสมถะตามหลัง ก็ได้ หรือ
อาจเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป ก็ได้

แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเจริญแต่วิปัสสนาอย่างเดียวล้วน (สุทธวิปัสสนายานิก) ไม่อาศัยสมถะเลย
ก็หมายถึง ไม่อาศัยสมถะในความหมายโดยนิปริยาย หรือความหมายจำเพาะที่เคร่งครัด
คือไม่ได้ทำสมถะจนได้ฌานสมาบัติก่อนเจริญวิปัสสนา แต่ตามความเป็นจริงก็อาศัยสมถะ
ในความหมายอย่างกว้างๆ คือ อาศัยสมาธินั่นเอง สมาธิของผู้เจริญวิปัสสนาแบบนี้ อาจเริ่มต้น
ด้วย ขณิกสมาธิ(สมาธิชั่วขณะ) ก็ได้ แต่เมื่อถึงขณะที่บรรลุมรรคผล สมาธินั้นจะแน่วแน่สนิท
(เป็นอัปปนาสมาธิ) ถึงระดับปฐมฌาน (ฌานที่ ๑ หรือ รูปฌานที่ ๑)

ผลที่เกิดจากสมถะอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นฌานสมาบัติหรืออภิญญาที่สูงพิเศษเพียงไร ก็ยัง
เป็นโลกีย์ เป็นของปุถุชน คือคนมีกิเลส เสื่อมถอยได้ เช่น ฤทธิ์ที่พระเทวทัตได้ เจโจวิมุตติ
ของพระโคธิกะ และฌานสมาบัติของพระภิกษุสามเณร ฤาษี และคฤหัสถ์บางท่าน ที่มีเรื่องเล่า
ต่อกันมาในคัมภีร์ต่างๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2021, 11:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ฌานสมาบัติ และ อภิญญา ที่เกิดจากสมถะนั้น เป็นของมีมาก่อนพุทธกาล เช่น อาฬารดาบส
กาลามโคตร ได้ถึงอรูปฌานที่ ๓ อุททกดาบส รามบุตร ได้ถึงอรูปฌานที่ ๔ เป็นต้น เป็นของมี
ได้ในลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา มิใช่จุดหมายของพระพุทธศาสนา เพราะไม่ทำให้
หลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ได้อย่างแท้จริง นักบวชบางลัทธิทำสมาธิจนได้ฌาน ๔ แต่ยังมี
มิจฉาทิฏฐิที่เกี่ยวกับเรื่องอัตตา และยึดถือภาวะในฌานนั้นว่าเป็นนิพพาน ก็มี ลัทธิเช่นนี้พระ
พุทธเจ้าทรงปฏิเสธ

ผลที่ต้องการจากสมถะตามหลักพุทธศาสนา คือการสร้างสมาธิเพื่อใช้เป็นบาทฐานของ
วิปัสสนา จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาสำเร็จได้ด้วยวิปัสสนา คือการฝึกอบรมปัญญา
ที่มีสมาธินั้นเป็นบาทฐาน หากบรรลุจุดหมายสูงสุดด้วย และยังได้ผลพิเศษแห่งสมถะด้วย
ก็จัดว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษ ได้รับการยกย่องนับถืออย่างสูง แต่หากบรรลุจุดหมายแห่ง
วิปัสสนาอย่างเดียว ไม่ได้ผลวิเศษแห่งสมถะ ก็ยังเลิศกว่าได้ผลวิเศษแห่งสมถะ คือได้ฌาน
สมาบัติและอภิญญา ๕ แต่ยังไม่พ้นจากและกิเลสต่างๆ

อนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงจุดหมายสูงสุด แม้แต่เพียงขั้นสมาธิ ท่านก็กล่าวว่า พระถึงแม้จะไม่ได้ฌาน
สมาบัติ ไม่ได้อภิญญา ก็ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญสมาธิบริบูรณ์ เพราะสมาธิของพระอนาคามีผู้
ไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญานั้น แม้จะไม่ใช่สมาธิที่สูงวิเศษอะไรนัก แต่ก็เป็นสมาธิที่
สมบูรณ์ในตัว ยั่งยืนคงระดับ มีพื้นฐานมั่นคง เพราะไม่มีกิเลสที่จะทำให้เสื่อมถอยหรือรบกวนได้

ทั้งนี้ ตรงข้ามกับสมาธิของผู้เจริญสมถะอย่างเดียว จนได้ฌานสมาบัติและอภิญญา แต่
ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ไม่ได้บรรลุมรรคผล แม้สมาธินั้นจะเป็นสมาธิขั้นสูง มีผลพิเศษ แต่ก็
ขาดหลักประกันที่จะทำให้ยั่งยืนมั่นคง ผู้ได้สมาธิอย่างนี้ ถ้ายังเป็นปุถุชน ก็อาจถูกกิเลส
ครอบงำทำให้เสื่อมถอยได้ หรือแม้จะได้เจริญวิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลชั้นพระโสดาบัน
หรือพระสกทาคามี ก็ยังมีกามราคะรบกวนหรือบั่นทอนสมาธิได้ ท่านยังไม่เรียกว่าเป็นผู้บำ
เพ็ญสมาธิบริบูรณ์

ความที่ชี้แจงตอนนี้ ยังสัมพันธ์กับเรื่องเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติที่จะกล่าวต่อไปอีก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร