วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 00:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2021, 05:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


พระรัตนตรัย
ในฐานะเครื่องนำเข้าสู่มรรค
และเป็นที่รวมของการปฏิบัติตามมรรค

หลักยึดเหนี่ยวเบื้องต้นของชาวพุทธ คือพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ตามปกติจึงถือเอาสรณคมณ์ คือการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ว่าเป็นเครื่องหมายของการเป็นพุทธศาสนิกชน และความเป็นอุบาสก แม้แต่พระโสดาบัน ก็มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งว่า เป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ในพระรัตนตรัย จึงเป็นข้อที่น่าศึกษาว่า ความเคารพนับถือพระรัตนตรัย เป็นข้อปฏิบัติ ณ ส่วนใด อยู่ที่จุดไหน ในการดำเนินตามมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา

ความเคารพนับถือพระรัตนตรัย ที่แสดงออกด้วยสรณคมน์ สำหรับคนทั่วไป ก็ดี ความมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย ของพระโสดาบัน ก็ดี เป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า คุณธรรมที่เด่นสำหรับพุทธศาสนิกชนในระดับเบื้องต้นนี้ทั้งหมด ได้แก่ ศรัทธา

เมื่อพิจารณาในระบบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา เท่าที่อธิบายมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ศรัทธาอยู่ ณ ส่วนบุพภาคแห่งมัชฌิมาปฏิปทา โดยเฉพาะเป็นตัวเชื่อมบุคคล กับกัลยาณมิตร หรือปรโตโฆสะที่ดี และมุ่งที่จะให้โยงไปสู่โยนิโสมนสิการ โดยมีสาระสำคัญว่า ให้เป็นศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา คือ ช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นองค์มรรคข้อแรก ที่เข้าสู่ตัวมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา เพื่อเดินหน้าต่อไป

หลักนี้ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ ระหว่างพระรัตนตรัย กับการดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ในฐานะที่ศรัทธาในพระรัตนตรัย เป็นเครื่องนำเข้าสู่มรรค นับว่าชัดเจนพอสมควรอยู่แล้ว

แต่เพื่อให้หนักแน่นขึ้น ควรพิจารณาตามหลัก องค์ของความเป็นโสดาบัน (โสตาปัตติยังคะ) หรือ หลักการพัฒนาปัญญา (ปัญญาวุฒิธรรม) ๔ ประการด้วย คือ

๑. สัปปุริสสังเสวะ การเสวนาสัตบุรุษ การคบหาคนดีมีปัญญา
๒. สัทธรรมสวนะ การสดับ การฟังธรรมที่แท้ เรียนรู้เรื่องที่ถูกที่ดี
๓. โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี การรู้จักคิด
๔. ธรรมานุธรรมปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมย่อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ การปฏิบัติธรรมถูกหลัก

ความจริง ธรรมหมวดนี้ มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตผล ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล...เพื่อประจักษ์แจ้งสกทาคามิผล...เพื่อประจักษ์แจ้งอนาคามิผล...เพื่อประจักษ์แจ้งอรหัตตผล; ๔ อย่าง อะไรบ้าง? ได้แก่ สัปปุริสสังเสวะ สัทธรรมสวนะ โยนิโสมนสิการ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ...”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2021, 05:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


การเสวนาสัตบุรุษ ก็คือการมีกัลยาณมิตร สัตบุรุษและกัลยาณมิตรอย่างสูงสุด ก็คือ พระพุทธเจ้า การเสวนาสัตบุรุษ หรือการมีกัลยาณมิตร นำไปสู่ปรโตโฆสะที่ดี คือ การได้สดับหรือเรียนรู้สัทธรรม อันได้แก่ หลักความจริงและความดีงามที่แท้ เรียกง่ายๆ ว่า พระธรรม

โยนิโสมนสิการ ต่อพระธรรม และตามพระธรรมนั้น ทำให้เกิดกุศลธรรม และปัญญาที่เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามเป็นจริง พร้อมทั้งทำให้ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักตามความมุ่งหมาย

เมื่อปฏิบัติถูกหลัก เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ ก็ทำให้บรรลุผล คือประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล เป็นต้น ตลอดจนถึงอรหัตตผล ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงผู้บรรลุอรหัตตผล คือพระอรหันต์ เป็นสมาชิกทั้งหลาย ผู้ประกอบกันเข้าเป็นชุมชนพุทธแท้ เรียกว่า สาวกสงฆ์ หรืออริยสงฆ์ ซึ่งจัดเป็น สังฆะ หรือ พระสงฆ์ ใน

โดยนัยนี้ เมื่อพิจารณากิจที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติต่อพระรัตนตรัย ในการดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็มองเห็นได้ชัดว่า เบื้องแรก รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร แล้วสดับเล่าเรียนธรรมคำสอนของพระองค์ จากนั้น ปฏิบัติต่อธรรมด้วยโยนิโสมนสิการ รวมครบ ๒ ขั้นตอนเบื้องต้น ที่เรียกว่าบุพพภาคแห่งมัชฌิมาปฏิปทาเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

เมื่อเกิดความเห็นความเข้าใจถูกต้องตามเป็นจริง ก็ปฏิบัติธรรมนั้นต่อไปอย่างถูกหลัก เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ คือ ดำเนินในตัว หรือมัชฌิมาปฏิปทา จนสำเร็จ บรรลุอริยผล เป็นอริยบุคคลแล้ว ร่วมเป็นสมาชิกแห่งพระสงฆ์ และในฐานะเป็นอริยบุคคลในสงฆ์นั้น ก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่น โดยทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรระดับรองลงมาจากพระพุทธเจ้าได้ต่อๆ ไป

พร้อมนั้น สงฆ์ก็เป็นชุมชน หรือสังคมแบบอย่าง ที่รวมของผู้ปฏิบัติตาม และผู้ได้รับผลจากหลักแห่งการมีพุทธกัลยาณมิตร และการดำเนินตามธรรมมรรคา กับทั้งเป็นแหล่งแห่งกัลยาณมิตร เป็นบุญเขต ที่เจริญงอกงาม และเผยแพร่ความดีงามแก่ชาวโลก

อนึ่ง การมีสงฆ์ เป็นหลักหนึ่งอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นเครื่องแสดงด้วยว่า พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์ที่ดีงาม ย่อมเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอยู่ในชุมชนหรือสังคม ที่ควรร่วมกันทำให้ดีงาม

ชุมชนหรือสังคมที่ถือเป็นหลักเรียกได้ว่า สงฆ์นี้ ทางด้านภายในจิตใจ สมาชิกทั้งหลายมีภูมิธรรมที่ได้บรรลุ เป็นเครื่องธำรงรักษา ส่วนทางด้านการดำเนินชีวิตภายนอก เครื่องธำรงรักษาได้แก่ วินัย ความสามัคคี และความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน

โดยสรุป หลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล กับการดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา และหลักพระรัตนตรัย เทียบกันได้ดังนี้

๑. สัปปุริสสังเสวะ = มีกัลยาณมิตร = พระพุทธเจ้า (ระดับสูงสุด)
๒. สัทธรรมสวนะ = ปรโตโฆสะที่ดี = พระธรรม
๓. โยนิโสมนสิการ = โยนิโสมนสิการ = (กิจต่อพระธรรม)
๔. ธรรมานุธรรมปฏิบัติ= มรรค = เริ่มเข้าร่วมสงฆ์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2021, 05:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


จากความที่กล่าวมา พอแสดงความหมายของพระรัตนตรัยอย่างรวบรัดได้ ดังนี้

๑. พระพุทธเจ้า คือ ท่านผู้ได้ตรัสรู้ธรรม ค้นพบมรรคาแล้ว บำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรองค์เอก ทรงสั่งสอนธรรม ชี้นำมรรคานั้นแก่ชาวโลก และเป็นแบบอย่างที่ยืนยันถึงความดีงามความสามารถและปัญญาญาณที่มนุษย์จะฝึกตนศึกษาพัฒนาขึ้นไปให้ลุถึงภาวะที่ประเสริฐเลิศสูงสุดได้

๒. พระธรรม คือ หลักความจริง หลักความดีงาม ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และทรงแนะนำสั่งสอน ซึ่งผู้ศรัทธาพึงเรียนสดับรับเอามาพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ให้เข้าใจถูกต้องตามจริง เพื่อจะปฏิบัติให้เป็นมรรค และให้สำเร็จผลต่อไป

๓. พระสงฆ์ คือ หมู่ชนผู้ปฏิบัติตามมรรค และผู้สำเร็จผล ซึ่งผู้ศรัทธามั่นใจว่าเป็นหมู่ชน หรือสังคมอันประเสริฐ ซึ่งควรสร้างสรรค์ให้เกิดมีขึ้น และซึ่งตนสามารถมีส่วนร่วมได้ ด้วยการปฏิบัติตามมรรคและการสำเร็จผลนั้น เริ่มด้วยการปฏิบัติตามลักษณะแบบอย่างที่ปรากฏภายนอก คือ วินัย ความสามัคคี และความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน

การมีกัลยาณมิตรก็ดี การโยนิโสมนสิการธรรมก็ดี การปฏิบัติตามมรรคก็ดี จะเจริญงอกงามได้ผลดี ในสังคมที่ดำเนินตามคติแห่งสงฆ์นี้

พระรัตนตรัยเป็นสรณะ คือ เมื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย ก็เตือนให้ใช้วิธีที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาดับทุกข์ คือ ทำตามหลักอริยสัจ โดยดำเนินในอริยวิถีดังที่กล่าวมา อย่างน้อยก็ทำให้หยุดยั้งจากความชั่ว ตั้งใจมุ่งทำความดี มีความมั่นใจ หายหวาดกลัว และมีจิตใจเข้มแข็งผ่องใสในเวลานั้นๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron