วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 13:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 05:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


คำอธิบายแสดงความสัมพันธ์อย่างง่าย

๑. อวิชชา เป็นปัจจัยแก่สังขาร: เพราะไม่รู้ตามเป็นจริง ไม่เห็นความจริง ไม่รู้ข้อเท็จจริง ไม่เข้าใจชัดเจน หรือไม่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาในขณะที่ประสบสถานการณ์นั้นๆ จึงคิดปรุงแต่งไปต่างๆ เดาเอาบ้าง คิดวาดภาพเอาเองต่างๆ ฟุ้งเฟ้อวุ่นวายไปบ้าง นึกเห็นมั่นหมายไปตามความเชื่อ ความหวาดระแวง หรือแนวนิสัยของตนที่ได้สั่งสมไว้บ้าง ตลอดจนตั้งใจ คิดมุ่งหมายว่าจะเอาอย่างไรๆ จะพูดจะทำอะไรๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น

๒. สังขาร เป็นปัจจัยแก่วิญญาณ: เมื่อมีเจตนาคิดมุ่งหมายตั้งใจ หรือใจเลือกที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งใด หรือรับรู้อะไรๆ จึงจะเกิดมีวิญญาณ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้คิดต่อเรื่องนั้นๆ สิ่งนั้นๆ โดยเฉพาะเจตนาจะชักจูงนำจิตนำวิญญาณให้รู้ไปตามคิด ให้รู้ไปกับการคิด ให้รับรู้ไปในเรื่องที่มันต้องการปรุงแต่งเรื่อยไปไม่รู้จักจบสิ้น และพร้อมกันนั้น มันก็จะปรุงแต่งสภาพพื้นเพของจิต หรือของวิญญาณนั้น ให้กลายเป็นจิตที่ดีงามหรือชั่วร้าย มีคุณธรรม ไร้คุณธรรม หรือมีคุณสมบัติต่างๆ ตามแต่เจตนาที่ดีหรือชั่วนั้นๆ ด้วย

๓. วิญญาณ เป็นปัจจัยแก่นามรูป: เมื่อมีวิญญาณที่รู้เห็นได้ยิน เป็นต้น ก็ต้องมีรูปธรรมและนามธรรมที่ถูกรู้ถูกเห็น เป็นต้น อยู่พร้อมไปด้วยกัน และเมื่อวิญญาณทำหน้าที่ รูปธรรมนามธรรมต่างๆ ที่เป็นตัวร่วมงานร่วมอาศัยกันของวิญญาณนั้น เช่น อวัยวะที่เกี่ยวข้อง เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย ต่างก็ต้องทำงานร่วมไปด้วยตามหน้าที่ ยิ่งกว่านั้น วิญญาณขณะนั้นถูกปรุงแต่งให้เป็นอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร นามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายที่แสดงตัวออกมาร่วมงานในขณะนั้นๆ ก็จะมีแต่จำพวกที่เป็นทำนองนั้น หรือพลอยมีคุณสมบัติอย่างนั้นไปด้วย เช่น เมื่อวิญญาณประกอบด้วยสังขารจำพวกโกรธเป็นตัวปรุงแต่ง สัญญาที่ออกโรงด้วยก็จะเป็นสัญญาเกี่ยวกับถ้อยคำหยาบคาย คำด่า ตลอดจนมีดพร้าอาวุธ เป็นต้น รูปธรรม เช่น หน้าตาก็จะบูดบึ้ง กล้ามเนื้อเขม็งเครียด เลือดไหลฉีดแรง เวทนาก็บีบคั้น เป็นทุกข์ เป็นต้น เมื่อวิญญาณเป็นไปในสภาพอย่างใดซ้ำบ่อย นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับสืบต่อก็จะก่อเป็นลักษณะกายใจจำเพาะตัวที่เรียกว่าบุคลิกภาพอย่างนั้น

๔. นามรูป เป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ: เมื่อนามรูปตื่นตัวทำงานพร้อมอยู่ในรูปแบบ ลักษณะ หรือทิศทาง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มันจำต้องอาศัยบริการของอายตนะใดๆ เป็นสื่อป้อนความรู้หรือเป็นช่องทางดำเนินพฤติกรรม อายตนะนั้นๆ ก็จะถูกปลุกเร้าให้พร้อมในการทำหน้าที่

๕. สฬายตนะ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะ: เมื่ออายตนะต่างๆ มี ผัสสะคือการรับรู้รับอารมณ์ด้านต่างๆ เหล่านั้น จึงมีได้ เมื่ออายตนะใดทำหน้าที่ ก็มีผัสสะคือการรับรู้รับอารมณ์โดยอาศัยอายตนะนั้นได้

๖. ผัสสะ เป็นปัจจัยแก่เวทนา: เมื่อมีการรับรู้รับอารมณ์แล้ว ก็ต้องมีความรู้สึกที่เป็นเวทนาอย่างใด อย่างหนึ่ง ไม่สุขสบาย ก็ทุกข์ ไม่สบาย หรือไม่ก็เฉยๆ

๗. เวทนา เป็นปัจจัยแก่ตัณหา: เมื่อรับรู้อารมณ์ใด ได้ความสุขสบายชื่นใจ ก็ชอบใจ ติดใจ อยากได้อารมณ์นั้น เกิดเป็นกามตัณหา อยากคงอยู่อยากเข้าอยู่ในภาวะที่จะได้ครอบครองเสวยสุขเวทนาจากอารมณ์นั้น เกิดเป็นภวตัณหา เมื่อรับรู้อารมณ์ใด เกิดความทุกข์บีบคั้นไม่สบาย ก็เกลียดชัง ขัดใจ อยากพรากอยากพ้น อยากกำจัด ทำให้สูญหายไป เกิดเป็นวิภวตัณหา ถ้ารู้สึกเฉยๆ ก็เรื่อยๆ ซึมๆ เพลินๆ อยู่ใน โมหะและติดได้อย่างเป็นสุขเวทนาอ่อนๆ พร้อมที่จะขยายออกเป็นความอยากได้สุขเวทนาต่อไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 06:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๘. ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน: เมื่อความอยากนั้นแรงขึ้น ก็กลายเป็นยึดติด เหมือนจับถือค้างอยู่ในใจ วางไม่ลง เกิดมีท่าทีขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งนั้น ถ้าชอบก็เอาตัวเข้าไปผูกติดเหมือนดังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมัน ใจคล้อยตามมันไป อะไรเกี่ยวกับมันเป็นเห็นดีเห็นงามไปหมด อะไรกระทบมันเป็นกระทบถึงเราด้วย ถ้าชังก็เกิดความรู้สึกปะทะกระทบเหมือนดังเป็นตัวปรปักษ์คู่กรณีกับตน อะไรเกี่ยวกับสิ่งนั้น บุคคลนั้นหรือภาวะนั้น ให้รู้สึกกระทบกระแทกขัดผลักผละอยู่เรื่อย ไม่เห็นดีไม่เห็นงาม มันขยับเขยื้อนทำอะไรเป็นดังกระทำต่อเราไปหมด

พร้อมกันนี้ ท่าทีไม่ว่าในทางชอบหรือในทางชังก็ตาม ย่อมเป็นเครื่องเสริมย้ำ และเป็นไปด้วยกันกับความยึดติดถือมั่นเชิดชูคุณค่าความสำคัญของสิ่งต่อไปนี้ คือ สิ่งปรนเปรออำนวยความสุขที่จะถูกได้หรือถูกขัดถูกแย่ง (กาม) ความเห็นความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องตลอดจนเกี่ยวกับโลกและชีวิต (ทิฏฐิ) ระบบแบบแผนข้อปฏิบัติพิธีกรรมวิธีการต่างๆ ที่จะให้บรรลุผลสำเร็จทั้งในทางที่จะได้และที่จะเลี่ยงพ้น (ศีลวัตร) และความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนที่จะได้หรือที่ถูกปะทะขัดขวาง (อัตตวาท)

๙. อุปาทาน เป็นปัจจัยแก่ภพ:เมื่อมีความยึดถือ มีท่าทีต่อสิ่ง บุคคล หรือภาวะอันใดอันหนึ่งอย่างหนึ่งอย่างใด คนก็สร้างภพหรือภาวะชีวิตของเขาขึ้นตามความยึดถือหรือท่าทีอย่างนั้น ทั้งในด้านกระบวนพฤติกรรมทั้งหมด (กรรมภพ) เริ่มแต่ระบบความคิดหรือนิสัยของความคิดออกมา และในด้านบุคลิกภาพทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่เป็นลักษณะหรือภาวะแห่งชีวิตของเขาในเวลานั้น (อุปปัตติภพ) เช่น กระบวนพฤติกรรมและบุคลิกภาพของคนอยากร่ำรวย คนชอบอำนาจ คนชอบเด่นดัง คนชอบสวยงาม คนชอบโก้เก๋ คนเกลียดสังคม เป็นต้น

๑๐. ภพ เป็นปัจจัยแก่ขาติ: เมื่อเกิดมีภพที่จะเข้าอยู่เข้าครอบครองเฉพาะตัวแล้ว ก็ปรากฏตัวตนเป็นความรู้สึกตระหนักอันชัดเจนที่เข้าอยู่ครอบครองหรือสอดสวมรับเอาภพหรือภาวะชีวิตนั้น โดยมีอาการถือหรือออกรับว่าเป็นเจ้าของภพ เป็นผู้เสวยผล เป็นผู้กระทำ เป็นผู้รับการกระทบกระแทก เป็นผู้ชนะ ผู้แพ้ เป็นผู้ได้ ผู้เสีย เป็นต้น อยู่ในภพนั้น

๑๑. ชาติ เป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ: เมื่อเกิดมีตัวตนเข้าอยู่ครอบครองภพหรือภาวะชีวิตนั้นแล้ว การที่จะได้ประสบความเป็นไปทั้งในทางเสื่อมและทางเจริญในภพนั้น ก็ย่อมต้องมีขึ้นเป็นธรรมดา ทั้งนี้รวมไปถึงการที่จะเสื่อมถอยด้อยลงในภพนั้น การถูกกระแทกกระเทือนและการที่จะสูญเสียหลุดหล่นออกไปจากภพนั้นด้วย โดยเฉพาะการที่ต้องถูกคุกคามห่วงกังวลเกี่ยวกับความเสื่อมสูญจากภพนั้นและการที่จะต้องคอยรักษาภพนั้นอยู่ตลอดเวลา ความลดด้อยถอยเสื่อมสูญเสีย และการคอยถูกคุกคามเหล่านี้ล้วนนำ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น คือความทุกข์มาให้ได้ตลอดทุกเวลา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร