วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 13:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2021, 05:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับมัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยสัจข้อสุดท้าย คือ มรรค เป็นประมวลหลักความประพฤติปฏิบัติ หรือระบบจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนภาคปฏิบัติที่จะช่วยให้การดำเนินสู่จุดหมายตามแนวทางของกระบวนธรรมที่รู้เข้าใจแล้วนั้น เป็นผลสำเร็จขึ้นมาในชีวิตจริง หรือเป็นวิธีใช้กฎเกณฑ์แห่งกระบวนการของธรรมชาติให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตจนถึงที่สุด

ขอให้พิจารณาพุทธพจน์และคำอธิบายย่อต่อไปนี้ เพื่อเป็นความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับมัชฌิมาปฏิปทา

มรรค ในฐานะมัชฌิมาปฏิปทา

“ภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้ บรรพชิตไม่พึงเสพ กล่าวคือ การหมกมุ่นด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย อันทราม เป็นของชาวบ้าน ของปุถุชน มิใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อย่างหนึ่ง และการประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน อันเป็นทุกข์ ไม่เป็นอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อย่างหนึ่ง”

“ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งทางสายกลาง อันไม่ข้องแวะที่สุดสองอย่างนั้น อันให้เกิดดวงตา ให้เกิดญาณ (การรู้) เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”

“ก็ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) นั้น...เป็นไฉน? ทางนั้น คือมรรคาอันเป็นอริยะ มีองค์ประกอบ ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ”

พุทธพจน์จากปฐมเทศนา หรือธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรนี้ แสดงความหมาย เนื้อหา และจุดหมายของมัชฌิมาปฏิปทาไว้โดยสรุปครบทั้งหมด ที่ควรสังเกต คือ ความเป็นทางสายกลาง (the Middle Path หรือ Middle Way) นั้น เป็นเพราะไม่เข้าไปข้องแวะที่สุด ๒ อย่าง (แต่ไม่ใช่อยู่กลางระหว่างที่สุดทั้งสอง) คือ

๑. กามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข (the extreme of sensual indulgence หรือ extreme hedonism)
๒. อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง (the extreme of self-mortification หรือ extreme asceticism)

บางครั้ง มีผู้นำเอาคำว่าทางสายกลางไปใช้อย่างกว้างขวาง หมายถึง การกระทำหรือความคิด ที่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างการกระทำหรือความคิดสองแบบสองแนว หรือคนสองพวกสองฝ่าย คือวัดเอาให้ได้ครึ่งทางระหว่างสองแบบหรือสองฝ่ายนั้น

ความเป็นกลาง หรือทางสายกลางอย่างนี้ ไม่มีหลักอะไรที่แน่นอน ต้องรอให้เขามีสองพวกสองฝ่ายก่อน จึงจะเป็นกลางได้ และจุดกลาง หรือเส้นกลางก็ไม่แน่ลงไปว่าแค่ไหน สุดแต่สองพวกหรือสองฝ่ายเขาจะยึดถือปฏิบัติกันแค่ใด ทางสายกลางนั้นก็ขยับเขยื้อนเลื่อนไปให้ได้ครึ่งทางระหว่างสองพวกสองฝ่ายนั้น บางครั้งทางสายกลางแบบนี้ก็มองดูคล้ายกับทางสายกลางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แต่พึงทราบว่าเป็นทางสายกลางเทียม ไม่ใช่ของแท้จริง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2021, 05:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ทางสายกลางที่แท้จริง มีหลักที่แน่นอน ความแน่นอนของทางสายกลางนั้น อยู่ที่ความมีจุดหมายหรือเป้าหมายที่แน่ชัด เมื่อมีเป้าหมายหรือจุดหมายที่แน่นอนแล้ว ทางที่นำไปสู่จุดหมายนั้น หรือการกระทำที่ตรงจุด พอเหมาะพอดีจะให้ผลตามเป้าหมายนั้นแหละ คือทางสายกลาง

เปรียบเหมือนการยิงลูกศร หรือยิงปืนอย่างมีเป้าหมาย จำเป็นต้องมีจุดที่เป็นเป้า การยิงถูก คือการกระทำที่พอเหมาะพอดีให้ลูกปืนหรือลูกศรพุ่งไปสู่จุดที่เป็นเป้า ความเป็นทางสายกลางย่อมอยู่ที่การยิงตรงพอดีสู่จุดที่เป็นเป้านั้น การยิงที่เฉ คลาดพลาดออกไปข้างๆ ย่อมไม่ถูกต้องทั้งหมด

เมื่อเทียบกับการยิงที่ผิดเฉคลาดพลาดออกไปข้างๆ ทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่า จุดหมายที่ถูกต้อง มีจุดเดียว และเป็นจุดกลาง เป็นจุดที่แน่นอน ส่วนจุดที่ผิดพลาดมีมากมายและไม่แน่นอน ล้วนเขวออกไปเสียข้างๆ และเส้นทางที่เข้าสู่จุดหมายนั้น ก็เป็นเส้นทางกลางเช่นเดียวกัน

ทางที่ถูกต้อง มีจุดหมาย มีหลักที่แน่นอนของมันเอง มิใช่คอยรอกำหนดวัดเอาจากทางที่ผิดพลาด ทางสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทานี้ มีจุดหมายที่แน่นอน คือความดับทุกข์ หรือภาวะหลุดพ้นเป็นอิสระไร้ปัญหา

มรรค คือระบบความคิด และการกระทำ หรือการดำเนินชีวิต ที่ตรงจุดพอเหมาะพอดีให้ได้ผลสำเร็จตามเป้าหมาย คือความดับทุกข์นี้ จึงเป็นทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา

อนึ่ง โดยเหตุที่ทางสายกลางเป็นทางที่มีจุดหมายแน่ชัด หรือความเป็นทางสายกลางขึ้นอยู่กับความมีเป้าหมายที่แน่ชัด ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จุดหมาย จึงจะเดินทางได้ คือ เมื่อจะเดินทาง ก็ต้องรู้ว่าตนจะไปไหน ด้วยเหตุนี้ ทางสายกลางจึงเป็นทางแห่งปัญญา และจึงเริ่มด้วยสัมมาทิฎฐิ คือเริ่มต้นด้วยความเข้าใจปัญหาของตน และรู้จุดหมายที่จะเดินทางไป โดยนัยนี้ ทางสายกลางจึงเป็นทางแห่งความรู้และความมีเหตุผล เป็นทางแห่งการรู้เข้าใจ ยอมรับ และกล้าเผชิญหน้ากับความจริง

เมื่อมนุษย์มีความรู้ความเข้าใจและกล้าเผชิญหน้ากับความจริงของโลกและชีวิตแล้ว มนุษย์จึงจะสามารถจัดการกับชีวิตด้วยมือของตนเอง หรือสามารถดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงามกันได้เอง โดยไม่ต้องคอยหวังพึ่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์ฤทธานุภาพดลบันดาลจากภายนอก และเมื่อมนุษย์มีความมั่นใจด้วยอาศัยปัญญาเช่นนี้แล้ว มนุษย์ก็จะไม่ต้องไปหมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับสิ่งที่ห่วงกังวลว่าจะมีอยู่นอกเหนือวิสัยของมนุษย์ ท่าทีแห่งความมั่นใจเช่นนี้แหละ คือลักษณะอย่างหนึ่งของความเป็นทางสายกลาง

ผู้เดินทางสายกลาง เมื่อเข้าใจปัญหา และกำหนดรู้แนวแห่งจุดหมายแล้ว ก็จะมีความรู้ความเข้าใจตามมาอีกด้วยว่า ทางสายกลางสู่จุดหมายนั้น คือทางดำเนินชีวิตที่ไม่ตีราคาค่าตัวต่ำ ถึงกับยอมสยบจมลงในกระแสโลก ปล่อยชีวิตให้เป็นทาสแห่งอามิสที่เป็นเหยื่อล่อของโลก เป็นอยู่ด้วยความหวังที่จะได้เสพรสอร่อยของโลกถ่ายเดียว โดยยอมให้สุขทุกข์ ความดีงาม และคุณค่าแห่งชีวิตของตนขึ้นต่อวัตถุ และความผันผวนปรวนแปรของเหตุปัจจัยต่างๆ ในภายนอกอย่างสิ้นเชิง โดยไม่รู้จักพัฒนาชีวิตให้มีอิสรภาพ เป็นตัวของตัวเอง มีคุณค่าในตัวของมันเอง โดยไม่ต้องขึ้นต่อโลกร่ำไปเสียบ้างเลย

ทางดำเนินชีวิตที่เป็นสายกลางนั้น นอกจากไม่เอียงสุดทางวัตถุ จนเป็นทาสของวัตถุหรือขึ้นต่อวัตถุสิ้นเชิงแล้ว ก็ไม่เอียงสุดทางจิตด้วย คือ มิได้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นต่อการบำเพ็ญเพียรและผลสำเร็จทางจิตฝ่ายเดียว จนปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่สภาพทางวัตถุและร่างกาย กลายเป็นการประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2021, 08:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ทางดำเนินชีวิตนี้ มีลักษณะไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นไปด้วยการรู้เข้าใจสภาพที่เป็นอยู่ตามที่เป็นจริง ทั้งทางวัตถุ และทางจิตใจ แล้วปฏิบัติด้วยความรู้เท่าทัน พอสมแก่เหตุปัจจัย และสอดคล้อง พอเหมาะพอดี ที่จะให้ได้ผลตามจุดหมาย มิใช่ทำพอสักว่าจะให้ได้เสพเสวยเวทนาอันอร่อยของอามิส หรือสักว่าถือตามๆ กันมา โดยสำคัญมั่นหมายว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยงมงาย

ทางสายกลางมีลักษณะบางอย่างที่พึงทราบ ดังที่กล่าวมานี้ หากผู้ใดจะกล่าวอ้างถึงทางสายกลาง หรือเดินสายกลาง อย่างหนึ่งอย่างใด ก็พึงถามท่านผู้นั้นว่า เขาได้เข้าใจสภาพปัญหาที่มีอยู่ และจุดหมายของทางสายกลางที่จะเดินนั้นแล้วหรือไม่

หลักมัชฌิมาปฏิปทานี้ ใช้ได้กับกิจการและกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ที่เป็นประเภทวิธีการ ตามปกติ ระบบ แบบแผน วิทยาการ สถาบัน หน้าที่การงานต่างๆ ตลอดจนการปฏิบัติกิจในชีวิตประจำวัน เช่น การศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น ย่อมมีความมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหา กำจัดทุกข์ ช่วยให้มนุษย์บรรลุความดีงามที่สูงขึ้นไป อย่างใดอย่างหนึ่ง การปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือการปฏิบัติชอบ ต่อระบบ แบบแผน เป็นต้นเหล่านั้น ก็คือ จะต้องกระทำด้วยความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของมัน ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำด้วยปัญญา หรือโดยมีสัมมาทิฏฐิ จึงจะนับว่าเป็นการดำเนินตามแนวทางของมัชฌิมาปฏิปทา

แต่จะเห็นได้ว่า ในทางปฏิบัติ มีอยู่เสมอ ที่มนุษย์ปฏิบัติผิดพลาดคลาดเคลื่อน ไม่เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตรงตามจุดมุ่งหมาย ของระบบวิธีและกิจการเหล่านั้น การปฏิบัติผิดพลาดนี้ น่าจะเป็นไปในทางเอียงสุดสองอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

พวกหนึ่งมุ่งใช้ระบบวิธีและกิจการเหล่านั้นเป็นเครื่องมือ หรือช่องทางสำหรับแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตน เช่น ใช้ระบบการเมือง ใช้สถาบัน เป็นช่องทางแสวงหา ลาภ ยศ อำนาจ ทำหน้าที่การงาน ศึกษาเล่าเรียน โดยมุ่งเป็นหนทางให้ได้เงินทอง ตำแหน่งใหญ่โต เพื่อบำรุงบำเรอตนให้มีความสุขสำราญได้เต็มที่ ไม่ทำเพื่อบรรลุจุดหมายของงานหรือวิทยาการนั้นๆ นับว่าเป็นการขาดสัมมาทิฏฐิ มีมิจฉาทิฏฐิแทนที่

ส่วนคนอีกพวกหนึ่ง ตั้งใจปฏิบัติกิจ ทำงาน ศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น อย่างแข็งขันจริงจัง ระดมทุน ระดมแรง อุทิศเวลาให้ ทำอย่างทุ่มเท แต่ไม่รู้ไม่เข้าใจความมุ่งหมายของสิ่งที่กระทำนั้นว่า เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาอะไร เป็นต้น ทำให้สิ้นเปลืองเวลา แรงงาน และทุน ทำตนเองให้ลำบาก เหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นการขาดสัมมาทิฏฐิอีกแบบหนึ่ง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2021, 09:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


พวกแรกตั้งความมุ่งหมายของตนเองขึ้นใหม่เพื่อสนองตัณหาของตน ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของกิจกรรมหรือกิจการนั้นๆ ส่วนพวกหลัง สักว่าทำโดยไม่รู้ไม่เข้าใจความมุ่งหมาย ไปสู่ทางสุดโต่งคนละสาย ไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา มีแต่จะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

ต่อเมื่อใด ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นทางแห่งปัญญา ทำการด้วยความรู้ความเข้าใจตรงตามความมุ่งหมายของเรื่องนั้นๆ กิจนั้นๆ จึงจะแก้ปัญหากำจัดทุกข์ได้สำเร็จ

รวมความว่า ถ้าไม่เริ่มต้นด้วย สัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็แก้ปัญหาดับทุกข์ไม่สำเร็จ

มรรค ในฐานะข้อปฏิบัติ หรือทางชีวิต ทั้งของบรรพชิตและคฤหัสถ์

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญมิจฉาทิฏฐิ ไม่ว่าของบรรพชิต หรือของคฤหัสถ์, บรรพชิตก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม ปฏิบัติผิดแล้ว เพราะการปฏิบัติผิดนั้นเป็นเหตุ ย่อมยังญาย-ธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จไม่ได้; ก็มิจฉาปฏิปทา คืออะไร? คือ มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาทิฏฐิ

“เราย่อมสรรเสริญสัมมาปฏิปทา ไม่ว่าของบรรพชิต หรือของคฤหัสถ์, คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ปฏิบัติชอบแล้ว เพราะการปฏิบัติชอบนั้นเป็นเหตุ ย่อมยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จได้; ก็สัมมาปฏิปทา คืออะไร? คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ”

“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคา ไหลหลั่ง ลาดเอน เบนไปสู่มหาสมุทร ฉันใด ภิกษุ เมื่อเจริญอยู่ ทำให้มากอยู่ ซึ่งมรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น”

“ท่านพระโคดม ผู้เจริญ แม่น้ำคงคา ไหลหลั่ง ลาดเอน เบนไปสู่มหาสมุทร จรดมหาสมุทรฉันใด บริษัทของท่านพระโคดม อันพร้อมทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต ก็เป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน จรดนิพพานอยู่ ฉันนั้น”

พุทฑธพจน์ว่าด้วยมิจฉาปฏิปทา หรือสัมมาปฏิปทานี้ มีมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ยกมาอ้างอีก ก็เพื่อย้ำให้เห็นว่า มัชฌิมาปฏิปทานี้ ท่านมุ่งให้ใช้เป็นหลักความประพฤติปฏิบัติสำหรับคนทุกประเภท ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ และเป็นหลักธรรมที่สำเร็จประโยชน์แก่ทุกคน ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านทั่วหน้ากัน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร