วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 16:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 03:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ความสนุกในการเรียน กับความสุขในการศึกษา

คราวนี้ หันมามองทางด้านการศึกษา ในการศึกษานั้น ต้องให้เกิดฉันทะให้ได้ ถ้าฉันทะไม่เกิด การเรียนก็จะไม่มีความสุขจริง อย่างดีก็จะได้แค่สนุก คือได้แค่ความสุขของนักเสพ เหมือนดูหนังดูละคร

ถ้าเกิดฉันทะขึ้นแล้ว กระบวนการเรียนจะสนุกสนานหรือไม่ ก็เป็นเรื่องย่อย ไม่ค่อยสำคัญ ความสนุกก็เพียงมาช่วยเสริมให้เด็กได้รับการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และเป็นอุปกรณ์เครื่องประกอบ ที่ช่วยสื่อให้เข้าใจสาระได้ง่าย แต่ความสนุกนั้นไม่ใช่เนื้อตัวของการศึกษา ยังไม่เข้าไปในกระบวนการของการศึกษาแท้จริง พูดโยงกับหลักที่พูดมาแล้ว ก็คือ เป็นเพียงเงื่อนไข ซึ่งจะต้องรู้จักใช้ในการที่จะหนุนฉันทะเพื่อเข้าสู่การศึกษาให้ได้จริง

การศึกษาเริ่มที่ฉันทะ เด็กต้องมีฉันทะขึ้นมาในตัวของเขา ความสนุกจะมีประโยชน์ก็เมื่อมาใช้กระตุ้นให้เกิดฉันทะได้สำเร็จ ถ้าได้แค่สนุก แต่ฉันทะไม่มา ก็ต้องพึ่งพาความสนุกอยู่นั่น และต้องเพิ่มความสนุกมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วครูก็เหนื่อย เพราะต้องกระตุ้นกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็ต้องหาทางแปลกใหม่ให้สนุกได้ต่อไปอีก จะมาสอนทีหนึ่ง ก็ไปนั่งคิดว่าทำอย่างไรจะให้เด็กสนุก ยุ่งจนเหนื่อยกับการหาวิธีให้เด็กสนุก

การสอนสนุก เป็นความเก่งที่น่าชื่นชม แต่ต้องเชื่อมต่อไปถึงฉันทะให้ได้ ดังนั้น จึงต้องระวัง ต้องแยกได้ มิให้ความสนุกนั้นเป็นแค่การได้สนองความต้องการในการเสพ อย่างที่พูดเมื่อกี้ ว่าเหมือนดูหนังดูละคร ถ้าอย่างนี้ ครูหรือผู้สอนก็จะเป็นเหมือนนักแสดง และความสุขจากการได้เสพแล้วสนุก ก็คืออยู่ในขั้นของการสนองตัณหานั่นเอง

ทีนี้ ถ้าสนุกจากการได้เสพทางตาหูเพื่อสนองตัณหา ก็จะพบปัญหาอันจะต้องเตรียมกันเตรียมแก้ ปัญหาพื้นฐาน คือ ความติดเสพ การติดอยู่แค่ขั้นเสพ และความชินชาเบื่อหน่าย ที่ทำให้ต้องกระตุ้นมากขึ้นแรงขึ้น ทั้งโดยปริมาณและดีกรี

เรียนหรือดูการสอนคราวนี้ สนุกมาก แต่คราวต่อไป ถ้าสอนอย่างนั้นอีกๆ ก็ชักชิน แล้วก็ชักจะเบื่อ คราวหน้าจึงต้องหาทางให้สนุกมากขึ้น หรือเปลี่ยนแง่มุมใหม่ เพิ่มดีกรีของการกระตุ้นในการสนองตัณหายิ่งขึ้นไป ทีนี้ก็สนองกันต้องไม่หยุด และก็หยุดไม่ได้ คุณครูก็เหนื่อย จนชักจะหมดแรง และในที่สุด นักเรียนก็หมดเหมือนกัน คือวนอยู่แค่นั้น ว่ายเวียนอยู่กับตัณหา ไม่ไปไหน เพราะตัน ไม่มีทางไป

ที่ว่าติดเสพ ก็คือเหมือนติดดูหนังดูละคร หรือแม้แต่ติดความสนุก จะเอาแต่สนุก หาความสนุก ที่ว่ามาเรียนนั้น ไม่ใช่ติดใจอยากเรียน แต่ติดใจจะมาดูการแสดงอีก ไม่ได้มีจิตใจที่จะเรียน ที่จะหาความรู้ ที่จะค้นจะคว้า ถ้าให้ไปค้นคว้าเอง ไม่เอา ได้แต่รอมาเฝ้าดูการแสดง ถ้าอย่างนี้ ก็ยิ่งเพิ่มแรงให้แก่กระแสตัณหา

ที่ว่าติดอยู่แค่ขั้นเสพ ก็หมายความว่า ถ้าทำไม่ถูก จิตใจของผู้เรียน ก็ไม่ไปสู่การเรียนรู้ ก็ติดก็ข้องอยู่แค่การเสพความสนุก เพลินอยู่กับภาพและเสียงและเรื่องราวที่สนุกสนานเท่านั้น ไม่เชื่อมไม่ต่อไม่ก้าวไปสู่การเรียนรู้สาระที่ต้องการ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ไม่เกิดมีฉันทะขึ้นมา

เพราะฉะนั้น จะต้องระวังที่จะมองความหมายของการให้เด็กสนุกในการเรียนนี้ ให้ถูกให้ตรง

การทำให้สนุกนี้ เป็นการกระตุ้นความสนใจเบื้องต้น เรียกว่าเป็นบุพภาค เป็นขั้นของปัจจัยภายนอก ก็คือมาทำหน้าที่สื่อนั่นเอง จึงไม่ใช่จบที่นั่น เมื่อไม่จบที่นั่น จึงต้องจับความมุ่งหมายให้ได้

เป้าหมายในการทำหน้าที่ของปัจจัยภายนอก อยู่ที่การสร้างปัจจัยภายในให้เกิดขึ้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 04:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


หมายความว่า ครูอาจารย์เป็นปรโตโฆสะ (เสียงบอกข้างนอก) แต่เป็นปรโตโฆสะที่ดี ที่เราจัดเป็นกัลยาณมิตร ครูอาจารย์หรือกัลยาณมิตรนี้ ก็มาสื่อสารช่วยกระตุ้นการดูการฟังการคิด โดยมีเป้าหมายที่จะให้เด็กสร้างหรือเกิดปัจจัยภายในของเขา คือให้เขาเกิดมีนี้เองขึ้นมา จะได้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะขับเคลื่อนกระบวนการของการศึกษาในชีวิตของเขาต่อไป

เพราะฉะนั้น ความสำเร็จในการทำหน้าที่ของครู นอกจากการถ่ายทอดข่าวสารข้อมูลแล้ว สาระที่แท้ ที่เป็นเนื้อตัวของการศึกษา ก็คือการทำให้เด็กเกิดมีฉันทะ ที่เป็นปัจจัยภายในของตัวเขาเองนี้ขึ้นมาได้นั่นเอง

ถ้าครูไม่มีเป้าหมายที่ว่านี้ ก็ได้แค่ไปกระตุ้นกันอยู่อย่างนั้น อย่างที่ว่าเมื่อชินชาหนักเข้า ก็เบื่อหน่าย แล้วเมื่อกระตุ้นไม่ไหวหมดแรงไป ก็จบกันเท่านั้น

ครูอาจารย์ กัลยาณมิตร หรือปัจจัยภายนอกนี้ จึงต้องทำหน้าที่ให้สมฐานะที่เป็นสื่อ คือเชื่อมต่อจากปัจจัยภายนอก เข้าสู่ปัจจัยภายใน หรือกระตุ้นให้เด็กเกิดมีปัจจัยภายในของเขาเองขึ้นมาให้ได้ มิฉะนั้น ครูก็จะกลายเป็นผู้ทำให้เด็กเป็นนักพึ่งพา ให้เขาติดวนอยู่กับการพึ่งพา

ถ้าครูรู้งาน เข้าใจหน้าที่ของตนจริง เวลาจะสอน ก็ทำหน้าที่เป็นสื่อ โดยมีเป้าหมายว่า เราจะพูดจาหรือจัดกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กเข้าใจเนื้อหาสาระได้ง่าย และช่วยกระตุ้นให้เขาสนใจอยากเรียนอยากรู้ ใฝ่รู้ใฝ่ทำ หาทางชักนำให้เขาเกิดมีฉันทะขึ้นมา

รวมความว่า การเรียนให้สนุกมีสาระอยู่ที่เป็นปฏิบัติการของปัจจัยภายนอก ในการช่วยการเรียนให้ง่าย และกระตุ้นความสนใจ โดยมีจุดหมายที่จะสื่อนำให้เกิดปัจจัยภายในคือฉันทะขึ้นมา

ถ้าเขาเกิดมีฉันทะขึ้นมาได้จริงละก็ คราวนี้เขาจะเดินหน้าไปได้เองเลย ทีนี้ ไม่ต้องรอครูแล้ว แม้แต่ว่าครูไม่มา ฉันก็มีเรื่องที่จะทำในการศึกษาหาความรู้ ฉันอยากจะค้นให้รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ อยากไปเข้าห้องสมุด อยากไปหาหนังสือดู แล้วก็ค้นก็อ่านก็ดูด้วยความสุข เพราะได้สนองความอยากรู้นั้น คือได้สนองความอยากหรือความต้องการที่เรียกว่าฉันทะ นี่คือเข้าทางถูกแล้ว การศึกษาก็มาของมันเอง ตามกระบวนการของธรรมชาติ

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะว่า ถ้าคนเราเกิดมีความอยากที่เป็นกุศลคือฉันทะนี้ขึ้นมา เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาแล้ว มันจะเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนวิธีแสวงหาความสุข และความสุขอย่างใหม่จะมีเพิ่มขึ้นมาชนิดที่นึกไม่ถึงทีเดียว

แต่ก่อนนั้น เรามีแต่ตัณหา คอยแต่อยากได้ อยากเอา อยากเสพ เที่ยวพล่านหาของชอบ หารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่พอใจ เอามาเสพ พอได้เสพ ก็สมใจมีความสุข มีความสุขจากการเสพสิ่งที่ชอบ แต่พอเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ก็ไม่พอใจ ขัดใจ กลายเป็นความทุกข์ แล้วสุขทุกข์ของเราก็เลยขึ้นต่อความชอบใจและไม่ชอบใจที่เป็นไปตามตัณหา มองเห็นความสุขความทุกข์อยู่แค่นี้

แต่พอมีฉันทะขึ้นมาแล้ว เป็นอย่างไร คราวนี้ก็มีประสบการณ์ที่ได้รู้จักความอยากอย่างใหม่ อยากรู้นั่นรู้นี่ มองเห็นอะไรๆ น่าจัดน่าทำให้ดี และพอได้ค้นหา ได้ทำ ก็มีความสุข แล้วความสุขก็มีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยไม่รู้จบ

แม้กระทั่งว่าไปเจออะไรที่ไม่น่าชอบใจ ที่เคยเจอแล้วเป็นทุกข์ แต่คราวนี้ไม่อย่างนั้น ของที่ไม่ชอบนั่นแหละ พอมองเห็นว่ามันมีอะไรน่าศึกษา แม้แต่ว่ามันไม่ดีอย่างไร และทำไม ก็อยากรู้ ก็เลยกลายเป็นชอบสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะจะได้ศึกษา จะได้ค้นหาให้รู้ ถึงตอนนี้ก็คือ ฉันทะมาเปลี่ยนให้คนชอบสิ่งที่ไม่ชอบ และมีความสุขได้แม้แต่จากสิ่งที่ไม่ชอบ ก็คือมีความสุขจากการเรียนรู้ และจากการลงมือทำของตนนั่นเอง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 04:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอให้ทราบด้วยว่า ฉันทะนี้เป็นพวกเดียวกับปัญญา ต้องมากับปัญญา ไม่เหมือนตัณหาที่มากับอวิชชา ไม่ต้องมีปัญญาเลย ตัณหามาได้เรื่อย แต่ฉันทะนี้จะพัฒนาไปได้ด้วยปัญญา

ฉันทะมากับปัญญาอย่างไร เช่นว่า ของนี้ เรื่องนี้ ไม่ถูกใจ ไม่น่าชอบใจ ตัณหาไม่เอาด้วยแล้ว แต่พอมารู้เข้าใจว่า เออ อันนี้มีประโยชน์ เอามาใช้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ พอปัญญาบอกให้อย่างนี้ ฉันทะก็มาประสาน มาร่วมด้วย ตัณหาไม่เอา ก็ไม่เป็นไร แต่ฉันทะเอาด้วย คราวนี้ทั้งอยากรู้และอยากทำก็เข้ามา แล้วความสุขก็ตามมาจากการได้สนองฉันทะนั้น

พอฉันทะมา ความชอบใจ-ไม่ชอบใจของตัณหา ก็แทบหมดอิทธิพลไปเลย สิ่งที่เคยไม่ชอบ ซึ่งทำให้ทุกข์ เพราะตัณหาไม่เอา แต่พอปัญญาบอกแล้วฉันทะมา อันที่ไม่ชอบนั้น ก็กลับทำให้มีความสุข

นี่แหละ พอมนุษย์เริ่มมีการศึกษา เขาก็สามารถมีความสุขได้แม้กับสิ่งที่ไม่สนองตัณหา และพอเข้าทางอย่างนี้แล้ว เขาก็จะพัฒนาต่อไปๆ โดยที่ความชอบใจและไม่ชอบใจก็จะค่อยๆ หมดกำลังที่จะครอบงำลากจูงจิตใจของเขา ความสนใจ ความคิด ความสุขของเขาไหลไปอยู่ที่การรู้การทำ จะเห็นว่า คนอย่าง ไอน์สไตน์ก็เกิดขึ้นมาได้ในแบบนี้

ไม่ต้องลึกซึ้งถึงขั้นสร้างไอน์สไตน์หรอก ถ้าการศึกษาพัฒนาฉันทะขั้นพื้นๆ ขึ้นมาได้ บ้านเมืองก็จะมีนักผลิต เพิ่มขึ้น พอมาดุลกับนัก(รอ)บริโภค ที่ไม่คิดทำอะไร นอกจากคิดหาทางสนองตัณหา

ทวนอีกทีว่า กระบวนการดำเนินมาอย่างนี้ คือ ชื่นชมพอใจในภาวะที่ดีงามสมบูรณ์ ก็อยากให้มันดีอยากให้มันงามอยากให้มันสมบูรณ์ต่อไป ถ้ามันไม่ดีงามสมบูรณ์ ก็อยากทำให้มันดีงามสมบูรณ์ ก็เลยอยากรู้ว่าจะทำอย่างไรให้มันดีงามสมบูรณ์อย่างนั้นได้ (หรืออยากรู้ก่อน แล้วอยากทำตามมา ก็ได้)

พอรู้แล้ว ก็ทำได้สมตามที่อยากทำ พอได้ทำสนองตามที่อยากนั้น ความสุขก็เดินหน้าเพิ่มมาเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้าของการที่ได้ทำ

ทีนี้ อยากรู้ กับอยากทำ ก็เดินหน้าคู่กันไป พร้อมด้วยความสุขก็มี และการศึกษาก็มา เข้ากระบวนใหญ่ไปด้วยกัน

เป็นอันว่า อยากรู้ คู่กับ อยากทำ แล้วก็นำมาซึ่งการศึกษา พร้อมทั้งความสุข ถ้าไม่เกิด ๒ อยากนี้ ก็หวังให้มีการศึกษาได้ยาก และเด็กก็จะเรียนอย่างไม่มีความสุข กลายเป็นการศึกษาที่ฝืนใจ นั่นก็คือไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริงนั่นเอง

เพราะฉะนั้น จึงต้องเน้นจุดนี้ คือ สร้างฉันทะขึ้นมาให้ได้ แล้วการศึกษาก็จะเดินหน้าไปเอง เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่ออรุโณทัยนำหน้า ดวงสุริยาก็ตามมาแน่นอน

ที่ขอย้ำไว้เป็นเรื่องใหญ่อีกอย่างหนึ่ง คือ ฉันทะที่ขยายมาทางด้านสังคม ในการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ที่กระจายออกไปเป็นคุณธรรม เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา อันนี้ก็โยงกันหมด

ถ้าจับจุดที่ว่ามานี้ได้แล้ว ก็พอมองเห็นกระบวนการพัฒนาความสุขว่าจะดำเนินไปอย่างไร

ตามรูปเค้าที่มองเห็นได้ พอเราพัฒนาความต้องการได้ เราก็พัฒนาความสุขได้ เพราะการพัฒนาความต้องการนั้นเอง เป็นการพัฒนาความสุข

ทีนี้ พอเลื่อนจากตัณหามาขึ้นสู่ฉันทะ หรือพัฒนาฉันทะให้มากขึ้นได้ ความสุขก็เพิ่มขยายมิติออกไปอีก การพัฒนาความสุขก็ก้าวลึกสูงกว้างออกไปทุกด้าน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 04:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


แค่มีความสุขในการเรียน ยังไม่พอ ต้องขอให้ เรียนแล้วกลายเป็นคนมีความสุข

ถึงตรงนี้มีข้อที่ขอแทรกเสริมเล็กน้อย ในเรื่องที่ส่งเสริมกันเหมือนเป็นคติว่า “เรียนให้สนุก มีความสุขในการเรียน” นั้น พึงเข้าใจว่าการเรียนอย่างมีความสุขนี้ เป็นเรื่องในขั้นของวิธีการเท่านั้น แม้จะสำคัญ ก็ไม่เพียงพอ

ความสุขนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่อยู่แค่ในขั้นของปฏิบัติการในการศึกษา แต่เป็นเนื้อตัว และเป็นจุดหมายของการศึกษาทีเดียว ถ้าเข้าใจความสุขให้ถูกต้องแล้ว จะเห็นว่าการศึกษาเป็นการพัฒนาความสุข เพื่อให้ผู้ศึกษากลายเป็นคนมีความสุข

การพัฒนาความสุขที่ตรงตามความหมาย จะเรียกร้องความเพียบพร้อมแห่งการพัฒนาคุณสมบัติทั้งหลายซึ่งมนุษย์ที่สมบูรณ์ควรจะมีขึ้นมาเอง

เรื่องที่ความสุขเป็นจุดหมายของการศึกษานี้ ได้เคยพูดเคยเขียนไว้ที่อื่นแล้ว จึงขอใช้วิธีง่ายๆ คือจับข้อความที่ได้พูดได้เขียนไว้แล้วมาจัดเรียงต่อกัน ตามที่พิมพ์ไว้ในหนังสือ ๒-๓ เล่ม ได้ความดังนี้

การศึกษาจะต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะทำให้คนมีความสุข ไม่ใช่แค่เรียนอย่างมีความสุข แต่ให้เป็นคนมีความสุข เมื่อเขามีความสุข ก็คือสุขเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเรียน ก็เรียนอย่างมีความสุขด้วย

การศึกษาปัจจุบันทำคนให้มีความสุข หรือทำคนให้เป็นผู้หิวโหยกระหายความสุข การศึกษาที่ผิดพลาด จะทำให้เกิดภาวะที่ตรงข้าม คือ ทำให้คนไม่มีความสุข แต่การศึกษากลายเป็นเครื่องมือดูดสูบความสุขออกจากคน ทำให้เขาหมดความสุข และทำให้เขากลายเป็นคนที่หิวโหยกระหายความสุข

การศึกษาที่ผิดพลาด ทำให้คนที่เรียนไปๆ ก้าวหน้าไป ยิ่งจบชั้นสูงขึ้น ก็ยิ่งหิวโหยความสุขมากขึ้น ขาดแคลนความสุขมากขึ้น จนกระทั่งเขาออกไปพร้อมด้วยความหิวโหยนี้ แล้วโลดแล่นไปในสังคมเพื่อจะแสวงหาความสุขให้กับตนเอง และแย่งชิงความสุขกัน แล้วก็ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนแก่ผู้อื่น

คนที่ไม่มีความสุขนั้น เมื่อมีความทุกข์ หนึ่ง ก็จะระบายความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น สอง ก็จะกอบโกยหาความสุขให้กับตนเอง

ถ้าอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นการศึกษาชนิดที่เตรียมคนไว้ เพื่อว่าเบื้องหน้า เมื่อจบการศึกษาแล้ว เขาจะได้ออกไปดิ้นรนทะยานแข่งขันแย่งชิงกันหาความสุข กอบโกยความสุขให้แก่ตัวให้มากที่สุด

เรื่องนี้จะต้องระวังตรวจสอบกันดูว่าเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าเราดำเนินการศึกษามาผิด ก็เป็นอันว่าเราได้ทำให้การศึกษานี้ เป็นเครื่องมืออะไรอย่างหนึ่ง ที่สูบหรือดูดความสุขออกไปจากตัวเด็ก หมายความว่า เราได้ทำให้คนเป็นผู้ที่หิวโหยขาดแคลนความสุข

เพราะฉะนั้น พอสำเร็จการศึกษาไป ใจก็มุ่งแต่ว่า ทีนี้แหละ ฉันจะหาโอกาสกอบโกยความสุขให้มากที่สุด

ถ้าการศึกษาเป็นแบบนี้ การศึกษาจะต้องเป็นพิษ ไม่ใช่การศึกษาที่ถูกต้อง การศึกษาที่ถูกต้อง จะต้องทำคนให้เป็นสุข หรือเป็นสุขมากขึ้น และเป็นสุขอย่างถูกต้อง ตั้งแต่บัดนี้และเดี๋ยวนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 04:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


มื่อมองดูโลกของมนุษย์ที่ว่าพัฒนามากแล้วในปัจจุบันนี้ จะเห็นว่า คนทั้งหลายต่างก็วุ่นวายกับการหาความสุข จนแต่ละคนไม่มีเวลาที่จะให้แก่ผู้อื่น พร้อมกันนั้น ความสุขก็กลายเป็นสิ่งที่เขาขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีในปัจจุบัน แต่รออยู่ข้างหน้า ต้องคอยตามหาด้วยความหวังว่าจะได้ในอนาคต

ดังปรากฏว่า อาการหิวกระหายความสุขนี้แพร่ระบาดไปทั่ว ไม่ว่าจะในครอบครัวก็ตาม ในโรงเรียนก็ตาม ที่ทำงานก็ตาม ทั่วสังคมไปหมด สภาพจิตใจที่ขาดแคลนความสุขอย่างนี้ เป็นกันดาษดื่น ปรากฏให้เห็นทั่วไปในสังคมทุกวันนี้

ดังนั้น จะต้องมาทบทวนและเน้นย้ำกันว่า การศึกษาที่แท้ คือการทำให้คนมีความสุข และรู้จักวิธีที่จะหาความสุขอย่างถูกต้อง

คนที่มีการศึกษาในความหมายนี้ก็คือ คนที่ได้รับการฝึกฝนพัฒนาแล้ว ให้รู้จักแก้ปัญหา ดับทุกข์ ทำตนให้เป็นสุขได้ แล้วจากนั้นก็พัฒนาก้าวขึ้นสู่ความสุขที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป พร้อมทั้งสามารถเผื่อแผ่ขยายความสุขแก่ผู้อื่นได้กว้างขวางออกไปด้วย

คนมีความทุกข์ ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะระบายทุกข์ออกไปแก่ผู้อื่น และแม้แต่จะหาความสุขด้วยการระบายความทุกข์ เมื่อเขามีทุกข์ และหาทางระบายทุกข์ของตนออกไป ดังเช่นเด็กนักเรียนมีปมทุกข์ที่ไปก่อเรื่องร้าย ก็ย่อมเป็นภัยแก่ผู้อื่น แก่สังคม ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว

ในทางกลับกัน คนที่มีความสุข ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะแผ่กระจายความสุขไปให้แก่คนอื่น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวก็ตาม ไม่รู้ตัวก็ตาม

ฉะนั้น เราจะต้องทำให้คนมีความสุข เพื่อให้ความสุขแผ่ขยายออกไปในโลก

ดังที่ได้เป็นจุดหมายด้านสังคม ที่ท่านใช้คำว่า “อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ” แปลว่า “เข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน”

มนุษย์จะต้องทำเพื่อจุดหมายนี้ คือ ช่วยกันทำให้โลกมีความสุขยิ่งขึ้น ไร้การเบียดเบียนยิ่งขึ้น เกื้อกูลกันมากขึ้น และมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืนสืบต่อไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร