วันเวลาปัจจุบัน 15 ม.ค. 2025, 17:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ต.ค. 2008, 20:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ต.ค. 2008, 18:57
โพสต์: 41


 ข้อมูลส่วนตัว


อันเนื่องมาจาก หนังสือธรรมะ :b34:

บทความจาก หนังสือพิมพ์ ชาวไทย (ในประเทศเยอรมนี) ผู้เขียน แก้ว พิกุล

หลังจากที่ได้นำหนังสือธรรมะ มาจากเมืองไทย ทั้งแจก ทั้งขาย ทั้งให้ยืม ทำให้มีกัลยาณมิตร โทรศัพท์มาคุยกับ ผู้เขียนด้วยหลายราย จนทำให้มีเรื่องมาเขียนเล่าสู่กันฟังอีก
เรื่องที่หนึ่ง มีคนที่เป็นหนอนหนังสือเหมือนกัน ส่งหนังสือมาให้ยืมอ่าน บางคนก็ส่งมาขอแลกกันอ่าน ก็ขอถือโอกาสขอบคุณและอนุโมทนาบุญกับท่านที่มีจิตเป็นกุศล สนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
หนังสือที่อ่านแล้วประทับใจ คิดว่ามีคุณค่า เป็นบทเรียนในเรื่องชีวิตต้องสู้และเรื่องความกตัญญูได้เป็นอย่างดีคือเรื่อง ไล่ตงจิ้น ลูกขอทาน ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต ผู้เขียนเป็นชาวไต้หวัน ชื่อไล่ตงจิ้น แปลเป็นภาษาไทยโดย วิลาวัลย์ สกุลบริรักษ์ (ส.น.พ.นามีบุ๊คส์) เป็นประวัติชีวิตขอทาน ที่มีพ่อเป็นคนขอทานตาบอด แม่และน้องชายปัญญาอ่อน เขาต้องรับผิดชอบไปขอทานมาเลี้ยงครอบครัวที่มีทั้งหมดถึง๑๔ ชีวิต
“เวลาออกไปขอทานกับพ่อตอนกลางคืน พ่อนั่งดีดพิณ ผมนั่งคุกเข่าอยู่ข้างๆพร้อมกับทำการบ้านโดยอาศัยแสงไฟริบหรี่จากเสาไฟข้างถนน”
“ในปีที่ผมอายุเจ็ดขวบ วันนั้นพายุโหมพัดแรงตั้งแต่เช้าตรู่จนเย็นย่ำ เมื่อไม่มีอะไรตกถึงท้องนานติดกันสองมื้อ แม่และน้องๆทนหิวไม่ไหวร้องไห้อาละวาด ผมลุกพรวดขึ้น ฝ่าลมฝนออกไปขอทาน ผู้คนต่างพากันปิดหน้าต่างประตูกันแน่นหนา ผมได้แต่ฝืนเดินไปเคาะประตูบ้านแล้วบ้านเล่า...”
ระยะเวลาหกปีที่เขาเรียนอยู่ชั้นประถม เขาได้รับใบประกาศเกียรติคุณทั้งหมดมากกว่า ๘๐ใบ ทุกรายการเขาได้ที่๑ เขาต่อสู้กับชีวิต จากครอบครัวที่เร่ร่อนต้องนอนตามสุสาน หรือศาลเจ้า ตามใต้ต้นไม้ เขยิบฐานะมาอยู่ในเล้าหมูเก่า เขาพยายามเรียน เพื่อสอบให้ได้ทุนการศึกษา ต่อมาก็มีบ้านของตนเองอยู่ มีงานทำ ได้รับการยกย่องเป็น บุคคลดีเด่นของไต้หวัน เพราะใจที่ไม่เคยยอมแพ้
เป็นหนังสือขายดีที่สุดของไต้หวัน ยอดขายมากกว่าล้านเล่ม ได้รับการยกย่องและแนะนำให้อ่านโดยประธานาธิบดี เฉินสุ่ยเปี่ยนของไต้หวัน
น่าจะนำมาเป็นหนังสือประกอบการเรียน หรือซื้อให้ลูกหลานอ่าน
กัลยาณมิตรที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ คงคิดว่าฉันเชยมากๆ ที่ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงหนังสือเล่มนี้มาก่อน ก็ต้องยอมรับว่าตกข่าวไปนานเหมือนกัน
ทางศูนย์การเรียนทางไกลเวือร์สบวร์ก ก็ได้ส่งหนังสือธรรมะ เขียนโดยนักเขียนชื่อ ดังตฤณ(ที่เขียนหนังสือธรรมะ ดังระเบิดได้ ชื่อ เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน)มาให้อ่านสองเล่ม เล่มที่หนึ่งเป็นนิยายอิงธรรมะ ที่อ่านแล้วแทบวางไม่ลง ชื่อ กรรมพยากรณ์ ตอนเลือกเกิดใหม่ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความสนใจอยากอ่านหนังสือธรรมะล้วนๆก็น่าจะอ่านเล่มนี้ เป็นเรื่องรักๆใคร่ๆ ที่แฝงธรรมะ และข้อคิดไว้ไม่น้อย เป็นการสอนเรื่องกฏแห่งกรรม เรื่องบาปบุญคุณโทษ ให้ผู้อ่านทางอ้อม โดยไม่เสียรสชาติของนิยายรักไปเลย
เล่มที่สองชื่อ ๗เดือนบรรลุธรรม (เป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา มีค่าแค่ไหน) เป็นเรื่องเล่าการปฏิบัติธรรม ที่ก้าวหน้าขึ้นไป แม้จะสมมติตัวตนผู้เล่าขึ้นมา แต่ผู้เขียนก็ต้องมีภูมิปัญญาทางธรรมสูงพอ ที่จะนำประสบการณ์และความก้าวหน้าใน การปฏิบัติมาเล่าได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ทำให้ผู้อ่านเกิดกำลังใจ เกิดแรงกระตุ้น ใฝ่ใจที่จะปฏิบัติธรรม
สรุปแล้วสิ่งที่จะได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือการเห็นภาพสมมติของบุคคลธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่เพียรปฏิบัติธรรมตลอดเจ็ดเดือน จนบรรลุธรรม สมดังที่พระพุทธองค์ทรงรับรองไว้หนักแน่น ในตอนท้ายของมหาสติปัฎฐานสูตรว่า ใครก็ตามที่เจริญสติปัฎฐาน ๔ นี้อย่างต่อเนื่อง เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งคือพระอรหันตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี ภายในเวลา๗ปีหรือ๖ปีหรือ๕ปีหรือ๔ปีหรือ๓ปีหรือ๒ปีหรือ๑ปี หรือ๗เดือนหรือ๖เดือนหรือ๕เดือนหรือ๔เดือนหรือ๓เดือนหรือ๒เดือนหรือ๑เดือน หรือ๑๕วันหรือ๗วัน
ขอให้ทราบไว้เถิดว่าลมหายใจเข้าออกที่เกิดขึ้นทุกขณะจิตนี้แหละคืออุปกรณ์ชิ้นแรก ตราบใดที่ใครมีมัน ตราบนั้นทุกคนตั้งหลักสติปัฎฐาน ๔ได้เสมอ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติปัฎฐาน๔ เป็นทางเดียวที่จะพาไปถึงมรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งที่ยืนยงคงกระพัน เป็นสัจจะไม่จำกัดกาล หมายถึงปัจจุบันผู้คนที่ปฏิบัติก็จะสามารถถึงนิพพานกันได้ ไม่ล้าสมัยแต่อย่างใด
หลังจากที่อ่านหนังสือสองเล่มนี้จบ ก็ได้เข้าไปท่องในเว็บ http://www.dungtrin.com ใครสนใจจะนั่งอ่านหนังสือเล่มไหนก็อ่านได้ มีมากมายหลายเล่ม ใครจะดาวน์โลดเก็บไว้ก็ได้
เรื่องที่สองหัวข้อสนทนาที่หลายคนชวนคุยและเห็นว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อยในสังคมชาวพุทธ ก็คือสำนักแห่งหนึ่งที่กำลังขยายไปหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศเยอรมนีนี้ด้วย ที่มีการชักชวนคนบริจาคเงิน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด บางคนทำงานหนัก เป็นหนี้เป็นสินก็ยอม ด้วยความเชื่อว่าบุญจากการบริจาคเงิน แบบทุ่มทำบุญสุดตัว สุดใจ จะช่วยให้ตนเองร่ำรวย เพราะชาตินี้เกิดมาลำบากยากจนเหลือเกิน หากไม่ทันรวยในชาตินี้ ก็จะรวยในชาติต่อไปแน่ สบายใจได้ ว่างั้นเถอะ บางคนเป็นแม่หม้าย สามีทิ้งมรดกไว้ ก็ทุ่มทำบุญไม่รู้สึกเสียดาย เพราะคิดว่าเพื่อศาสนาต้องทำให้สุดๆ
ฉันยอมรับว่ารับฟังอย่างไม่สบายนัก เพราะตนเองก็เคยเชื่อ เลื่อมใสศรัทธา แบบนี้มานานกว่าสิบปี แม้ไม่ได้หวังเรื่องความร่ำรวยมากมาย(แต่ก็แอบหวังตามเทรนด์นั่นแหละ เพื่อจะได้ทุ่มทำบุญต่ออีก) แต่ด้วยความหลงว่าตนได้ทำความดีแบบเพียบพร้อม (สุดยอด) นั่นคือการลดความตระหนี่ ด้วยการทำบุญ(มากมายหลายโปรเจ็ค) ทำทาน(บริจาคเงินช่วยด้านสังคมสงเคราะห์ต่างๆ) ถือศีล และทำสมาธิ (แน่นอนว่าช่วงที่จิตใจสงบจากการทำสมาธิ ก็เรียกได้ว่าทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ เพราะความโลภ โกรธ หลง ถูกระงับไว้ มารู้ทีหลัง ว่าการทำสมาธิแแบบสมถะนี้เหมือนเอาก้อนหินทับหญ้า พอเอาหินออก หญ้าก็โตขึ้นได้อีก คือกิเลสไม่หมด เพียงแต่ระงับชั่วคราว)ต่อมาเกิดความสงสัย ถามตนเองว่า แค่นี้เองหรือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าแสวงหา ด้วยความลำบากยากเย็น น่าจะมีอะไรมากกว่านี้แน่ สิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาสั่งสอนพวกเรา อย่างย่อและสั้นๆนั้นคืออะไรกัน ในที่สุดก็ได้คำตอบว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ ต้องการมอบให้แก่เราคือ ทางพ้นทุกข์ (มรรค ๘)นึกดีใจที่ตนเองพบทางสว่าง กลับออกจากทางที่หลงไปได้ทันเวลา จึงพร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตร บอกทางสายเอกคือสติปัฏฐาน ๔ สายเดียว ที่จะนำผู้ปฏิบัติอย่างจริงจังเข้าสู่มรรคผลนิพพาน
เมื่อฉันได้ไปอ่าน หนังสือ ความคิดจากความว่าง เล่ม2 ของ ดังตฤณ ก็คิดว่าตรงกับประเด็นนี้
จึงขออนุญาตคัดมาบางส่วน สำหรับท่านที่ต้องการเตือนสติญาติพี่น้องเพื่อนฝูงว่า อย่าเอาศรัทธา อย่าเอาพลังและความฮึกเหิมในกลุ่ม มาบังสติปัญญา
MLM ในพุทธศาสนา
MLM หรือ Multi-Level Marketing มีชื่อเสียงไปทั่วโลกมาระยะหนึ่ง ประมาณว่าเป็นแผนหารายได้ที่ดีที่สุด ไม่ซับซ้อน ประสบความสำเร็จง่าย ถูกต้องตามกฎหมาย ทำแล้วร่ำรวยแบบแตกกิ่งก้านสาขา แถมมีกินมีใช้ไม่จบสิ้นแบบรวยแล้วรวยเลย
แนวคิดแบบ MLM ไม่ใช่แค่ธุรกิจขายตรง (Direct Sale) อย่างที่มองๆกัน เพราะ MLM จริงๆหมายถึงงานวางแผนการตลาดหลายชั้น การขายตรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผน ไม่ใช่ทั้งหมดของแผน การสร้างเครือข่ายงานขายตรงต่างหากที่เป็นจุดเด่นสำคัญ กล่าวคือการเพิ่มลูกค้ามิใช่เป้าหมายเดียว แต่ยังรวมถึงการเพิ่มจำนวน ‘พ่อค้า’ อีกด้วย แนวคิดสำคัญคือยิ่งจำนวนพ่อค้าเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ความสามารถเข้าถึงตัวลูกค้าก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น วิธีง่ายๆที่จะเพิ่มจำนวนพ่อค้าให้ได้มากๆก็คือตั้งรางวัลล่อใจ ใครชักชวนเพื่อนสนิทมิตรสหายมาเป็นพ่อค้าได้มากขึ้นเพียงใด ก็จะยิ่งได้เปอร์เซ็นต์จากพ่อค้าที่ตนสร้างมากับมือเพียงนั้น แถมระยะยาวมีสิทธิ์ได้เป็นเสือนอนกินไปตลอดชาติอีกด้วย
อีกประการหนึ่ง ระบบ MLM ทำทั้งการตลาดเชิงรับ เช่นลูกค้ามีความต้องการสบู่ยาสีฟันก็จัดสบู่ยาสีฟันให้ และยังทำทั้งการตลาดเชิงรุก เช่นเกิดมาลูกค้าไม่เคยคิดจะใช้อุปกรณ์เพิ่มรสชาติทางเพศ แต่พอมีพวกขายตรงเอาแคตตาล็อกมาให้ดูถึงบ้าน คุยโม้ให้เห็นว่าของส่วนเกินนั้นๆดูดี มีความจำเป็นต้องซื้อใช้ โน้มน้าวให้เชื่อขนาดไม่ซื้อเดี๋ยวระวังเมียมีชู้หรือผัวมีบ้านเล็ก อย่างนี้ลูกค้าก็ต้องจ่ายแบบไม่อั้นเท่านั้น
เดี๋ยวนี้มีการตลาดแบบโคมลอยเพิ่มขึ้นมาอีก อย่างที่เกิดขึ้นแล้วและมีลูกค้าบ้าจี้ตาม ก็เช่นการจับจองที่ดินบนดวงจันทร์ ยังไม่ทันมีนิคมอวกาศเป็นรูปเป็นร่าง ก็มีคนทำตัวเป็นพ่อค้าเสียแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่าใครจะคิดขายอะไรก็ได้ จับเสือมือเปล่าก็ได้ ขอเพียงทำให้เกิดสัญญาอนาคตที่ดูน่าเชื่อถือเป็นจริงเป็นจังเท่านั้นพอ
ประเด็นคือเมื่อศาสตร์แห่งการตลาดตบแต่งความคิดของคนๆหนึ่งให้เป็น ‘นักขาย’ ขึ้นมาแล้ว คนๆนั้นอาจมองทุกสิ่งในโลกเป็น ‘ของขายได้’ ไปหมด และบางครั้งการสร้างจุดขายให้โดดเด่นน่าสนใจ ก็อาจหมายถึงการทำลายมุมมองเดิมๆของสินค้าชิ้นหนึ่งๆเสียให้สิ้น
ยกตัวอย่างเช่นเดิมทีคนทั่วไปมองว่าสบู่คืออุปกรณ์ชำระล้างคราบไคลสกปรกที่ทำให้เนื้อตัวเหนียวหนับน่ารำคาญ การตลาดจะหาคุณสมบัติบางอย่างที่เพิ่มค่าให้สบู่มากขึ้นกว่าเคย เช่นกลุ่มลูกค้าที่ชอบกลิ่นหอม ก็สร้างสบู่ที่มีจุดเด่นคือใช้แล้วตัวหอมกรุ่นราวกับใส่น้ำหอม กลุ่มลูกค้าที่ชอบอนามัยและความสะอาดสดชื่นนาน ก็สร้างสบู่ที่มีจุดเด่นเกี่ยวกับสารกำจัดแบคทีเรียขึ้นมาเป็นพิเศษ ใช้แล้วตัวไม่เหม็นหรือเหม็นน้อยลงตลอดวัน เมื่อลูกค้าถูกบังคับให้มองเฉพาะกลิ่นหอมหรือความสะอาดคงทน ภาพเดิมเกี่ยวกับสบู่ที่ใช้ทำความสะอาดธรรมดาก็กลายเป็นเรื่องกระจอก ถ้าใช้แล้วตัวไม่หอม หรือใช้แล้วตัวไม่หายเหม็นในระหว่างวัน ก็ถือว่าไม่น่าสนใจซื้อหามาประจำห้องน้ำอีกต่อไป กล่าวโดยรวบรัดคือการตลาดเชิงรุกนั้น ถ้าเทรนด์ยังไม่มี ก็สร้างเทรนด์ขึ้นมา และอาจหมายถึงการใช้เทรนด์ใหม่ฆ่าเทรนด์เก่าถ้าจำเป็น หากเป็นสบู่ก็คงไม่กระไรนัก เพราะจุดมุ่งหมายแรกของเจ้าของโรงงานสบู่คือทำกำไรลูกเดียว โลกหมุนไป สินค้ามีใช้ ก็เพราะมีนักลงทุนอยากได้กำไรเหล่านี้ ฉะนั้นการแข่งกันสร้างภาพ แข่งกันเพิ่มค่าให้สินค้าจึงไม่ใช่เรื่องผิด พ่อค้าสบู่ทุกคนอยู่ในเกมธุรกิจ และหลักการเล่นเกมธุรกิจก็คือใครมือยาวสาวได้สาวเอา
แต่ปัจจุบันแผนการตลาดอันเต็มไปด้วยเทคนิคน่าตื่นใจใหม่ๆนั้น ถูกนำมาใช้กับศาสนา ถ้าใครสักคนตั้งต้นขึ้นมาด้วยความอยากมีอิทธิพลและผลกำไรเป็นเงินเป็นทอง โจทย์แรกก็คือทำอย่างไรจะดึงมหาชนมาเข้าข้างตนมากๆ คือมากพอที่จะกลายเป็นกลุ่มความเชื่อซึ่งมีจุดเด่นและจุดขายที่ชัดเจน
ในมุมมองการตลาดเกี่ยวกับศาสนานั้น การสร้างความเชื่อใน ‘สินค้าใหม่’ นั้นใช้เวลายาวนานเกินไป แต่การลอบนำเอาโลโก้ยี่ห้อเดิมมาแปะหน้า แล้วดัดแปลงรายละเอียดเสียใหม่จะง่ายกว่ากันเยอะ
และหากเครือข่ายความเชื่อดังกล่าวทำการตลาดเชิงรุก โดยสร้าง ‘สินค้าส่วนเกิน’ ให้น่าพอใจและดูเป็นจริงเป็นจัง เช่นมอบสัญญาในอนาคตเกี่ยวกับที่ทางและทรัพย์สินบนสวรรค์ ใครเข้าพวกตนจึงมีสิทธิ์ตีตั๋วขึ้นรถอย่างเต็มภาคภูมิ ใครไม่ใช่พวกก็อาจตกรถต้องรออีกยาว หากทำให้มวลชนเชื่อได้อย่างนี้ เครือข่ายนั้นๆก็มักได้ลูกค้าที่จงรักภักดี ทุ่มเทเงินทองให้โดยยังไม่จำเป็นต้องเห็นผลดีของสินค้าและบริการภายในพรุ่งนี้มะรืนนี้
แน่นอนว่าสินค้าส่วนเกินอย่างเดียวคงมัดใจลูกค้าไม่อยู่ ก็ต้องมีการสร้าง ‘สินค้าจำเป็น’ มาขัดตาทัพไปด้วย สินค้าจำเป็นได้แก่ความสุข ความอบอุ่นใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชน ดังนั้นการนัดหมายชุมนุมและการทำกิจกรรมร่วมกันจึงไม่อาจขาดได้ ใครสร้างชุมชนร่วมกิจกรรมที่บันดาลสุข บันดาลความอบอุ่นใจได้ดีเพียงใด ก็ได้ชื่อว่าเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนดีๆมาช่วยกันสร้างบรรยากาศชวนปรีดาน่าเลื่อมใสได้มากขึ้นเพียงนั้น ยิ่งถ้าหากสถานที่ประจำเป็นอะไรที่งดงามอลังการ สะอาดสว่างเย็นตาเย็นใจ ก็ประกันได้ว่าต้องมีสมัครพรรคพวกเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น
คราวนี้ดูความเป็นพุทธแท้ๆจากมุมมองเริ่มต้นของพระศาสดา พระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกที่ซื่อสัตย์จะไม่ขึ้นต้นด้วยการหวังอำนาจและผลประโยชน์ใดๆ แต่เป็นการพยายามหาทางตอบคำถามสำคัญของตนเองให้ได้ก่อน คำถามสำคัญนั้นก็คือ ‘ทำอย่างไรจะพ้นทุกข์ทางใจได้เด็ดขาด’ หากได้คำตอบแล้วก็เอามาตอบต่อสำหรับผู้มีคำถามเดียวกันเข้าข้างตนมากๆ คือมากพอที่จะกลายเป็นกลุ่มความเชื่อซึ่งมีจุดเด่นและจุดขายที่ชัดเจน
คำตอบมีอยู่ แต่ถ้าไม่มีผู้ชักชวนหรือชี้นำไปพบคำตอบ ก็เหมือนคำตอบนั้นยังไม่มีอยู่ในโลก เพราะฉะนั้นก็แน่นอนว่าเหล่าชาวพุทธดั้งเดิมที่ได้คำตอบแล้ว ย่อมใช้หลักการแบบใดแบบหนึ่งในการเผยแพร่คำตอบให้กว้างออกไป และเป็นการตอบคำถามเดิมแท้ มิใช่สร้างภาพกระตุ้นความอยากได้คำตอบส่วนเกิน
การสืบทอดพระพุทธศาสนากันจริงๆนั้น วิธีการไม่ใช่สร้างเครือข่ายพ่อค้าด้วยรางวัลล่อใจเป็นเงินทองแบบระบบ MLM ไม่มุ่งเน้นสร้างสัญญาอนาคตที่จับต้องไม่ได้ ไม่แม้แต่จะเน้นสร้างบรรยากาศสถานที่ชุมนุมอันน่าอบอุ่นเป็นกันเอง พุทธเราต้องตั้งโจทย์ให้ถูกว่า ทำอย่างไรคนธรรมดาๆทั่วไปจะรู้รอบและสามารถตอบคำถามของเพื่อนๆเขาได้ และเป็นการตอบด้วยสติปัญญาแบบพุทธแท้ ไม่ใช่ตอบแบบคิดเองเออเองตามกิเลสบงการ ไม่ใช่หวังพึ่งบารมีหรือรอคำตอบจากกลุ่มเจ้าสำนักใหญ่เพียงไม่กี่คน
กล่าวโดยสรุปที่สุด หากจะนำหลักการตลาดมาช่วยสืบทอดพุทธศาสนา ก็ขอให้มองการตลาดแบบปากต่อปาก (Buzz Marketing) จะนับว่าซื่อตรงกับพระศาสนามากกว่าการตลาดแบบอื่น กล่าวคือถ้าพูดในสิ่งที่คนอยากรู้ พูดในสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นความจริง พูดในสิ่งที่คนประจักษ์ว่าเป็นทางออกอันสว่างไสว นอกจากจะมีคนฟังแล้ว ยังมีสมัครพรรคพวกช่วยบอกต่อกันไปไม่รู้จบรู้สิ้นอีกด้วย
ไม่มีการตลาดแบบใด อายุยืนกว่าปากต่อปาก
ถ้าช่วยกันสืบสานแบบปากต่อปาก พุทธศาสนาจะยั่งยืนตลอดไป แม้ไม่เหลือโบสถ์สักหลังเดียวในโลกนี้ :b43:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร