วันเวลาปัจจุบัน 21 ก.ค. 2025, 00:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2008, 00:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3832

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


“เล่าเรื่องให้โยมฟัง” ชุดที่ ๑ ของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
(ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ ทรงพระสมณศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณ์)

คำว่า ศีล แปลว่าอะไร
ความหมาย ของศีลในเบื้องต้นท่านก็ให้ไว้หลายอย่าง

แต่คำแปลที่ง่ายที่สุด ท่านแปลกันว่า ปกติ
ก็เลยมีผู้นำเอาคำว่า ศีล มาอธิบายในความหมายว่า ปกติ
คือ คนเราถ้ามีศีล ก็เรียกว่ารักษาปกติ หรือสภาพที่เป็นปกติของตนๆ

เช่น เป็นพระเมื่อรักษาศีลของพระก็เรียกว่าเป็นการรักษาสภาพปกติของพระ
ถ้าไม่ปฏิบัติตามศีลก็ไม่ใช่อยู่ในสภาพปกติของพระ กลายเป็นประพฤติเหมือนชาวบ้าน เป็นต้น

แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปก็มีศีลของชาวบ้าน อย่างศีล ๕
ก็แสดงถึงความเป็นอยู่ปกติของคนทั่วไป หมายความว่าตามสภาพปกตินั้น
คนเราก็ไม่ฆ่าแกงกัน ไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน ไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินกันอย่างนี้ เป็นต้น
เรียกว่าเป็นอยู่กันกันตามปกติ

แต่เมื่อใดทำอะไรผิดแปลกขึ้นมาโดยละเมิดในสิ่งเล่านี้
มีการเบียดเบียนกันก็แสดงว่ามีอาการไม่ปกติเกิดขึ้น
จากการทำไม่ปกติของบุคคลหนึ่ง ก็มีผลทำให้สังคมนี้ไม่ปกติ


ความปกตินั้นรวมไปถึงการอยู่อย่างสบายๆ มีความสุขซึ่งเป็นภาวะทีสงบ
แต่ถ้ามีการละเมิดศีลขึ้นมาก็ไม่เป็นปกติสุข ไม่เรียบร้อย ก็เกิดความวุ่นวายสูญเสียความสงบ

แต่ภาวะที่ไม่ปกติอย่างนั้นมันก็เริ่มมาจากจิตใจคน
ก่อนที่จะแสดงออกภายนอกไม่ปกติ จิตใจก็ไม่ปกติ
ถ้าจิตใจปกติก็อยู่เรื่อยๆ ไปตามธรรมดา ความคิดนึกทำอะไร ก็ดำเนินไปตามเรื่อง

ในชีวิตประจำวัน แต่พอเกิดความโลภนั้น เช่น ไปลักของเขา นี้ก็ทำผิดปกติออกมาภายนอก
หรือมีความโกรธ จิตใจก็ผิดปกติ เมื่อทำตามจิตใจที่ไม่ปกตินั้น ก็ไปฆ่าฟันเบียดเบียนคนอื่น
ทำร้ายเขาก็เกิดความไม่ปกติขึ้นในความประพฤติของตน
แล้วขยายความผิดปกติออกไปในหมู่ชนในสังคมเรื่อยไป
ท่านก็เลยให้ความหมายของศีลในแง่หนึ่งว่า เป็นความปกติ


การมีศีลทำให้มนุษย์ได้อยู่กันเป็นปกติ เพราะแต่ละคนๆ ก็รักษาสภาพปกติของตน
เมื่ออยู่เป็นปกติ จิตใจเป็นปกติแล้ว ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไร จะคิดนึกในสิ่งทั้งหลาย ก็จะทำได้ราบรื่นดี

แต่ถ้าจิตใจไม่ปกติ พูดและทำผิดปกติแล้ว ก็จะเกิดความขัดแย้ง ปั่นป่วนวุ่นวาย
จะไปคิดทำการทำงานอะไรที่เป็นไปในทางที่ดีงาม ก็เป็นไปได้ยาก
มีแต่จะนำไปสู่ความทุกข์ อันนี้ก็เป็นความหมายหนึ่งของคำว่า ศีล




นอกจากนั้น ศีลก็แปลว่า ความสำรวม ความระวัง
ความสำรวมระวัง ก็คือ การรักษาชีวิต หรือการดำเนินชีวิตของเราให้อยู่ในสภาพปกตินั่นเอง
เพราะฉะนั้น ที่ว่าสำรวมหรือระวังนี้ก็มาสัมพันธ์กับเรื่องความเป็นปกติ
กล่าวคือ เราควรระวังรักษาตัวของเราไม่ให้ล่วงละเมิด
ไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นพิษภัย ทำให้เกิดโทษแก่ผู้อื่น

และความหมายที่ว่าสำรวมระวังนี้ ก็ไปสัมพันธ์กับความหมายอีกอย่างหนึ่งของศีล
กล่าวคือ ถ้าเราดูตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลักที่เรียกว่า หัวใจพุทธศาสนา
ที่พระมักจะสอนในวันมาฆบูชา ท่านบอกว่า
หนึ่ง ไม่ทำชั่วทั้งปวงหรือเว้นจากความชั่ว
สอง ทำดี
และสาม ทำใจให้บริสุทธิ์
อันนี้เราถือกันมาว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา

ข้อที่หนึ่งที่ว่าเว้นชั่วนั่นแหละ ก็คือหลักที่เรียกว่า ศีล

ศีลอยู่ในหลักหัวใจพระพุทธศาสนาเป็นข้อที่หนึ่ง
เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า ศีล อย่างหนึ่ง ก็คือ การเว้นจากความชั่ว โดยเฉพาะความชั่วสามัญในโลก ก็คือการเบียดเบียนกันของมนุษย์


เพราะฉะนั้น ความหมายของศีลเบื้องต้นทีเดียว
ก็ได้แก่การเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ที่ว่าสำรวม ก็คือระวังกาย วาจา ของเราไม่ให้ไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้ไปพูดร้ายทำร้าย

ถ้าเบียดเบียนทางกาย ทำร้ายชีวิต ก็เรียกว่า ปาณาติบาต
เบียดเบียนทางทรัพย์สินก็เรียกว่า อทินนาทาน
เบียดเบียนในเรื่องคู่ครองก็เรียกว่า กาเมสุมิจฉาจาร
เบียดเบียนด้วยวาจา หรือคำพูดก็เรียกว่า มุสาวาท
เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตนก็คือข้อ สุราเมรัย
ทั้งหมดนี้ท่านให้สำรวมระวัง คือ สำรวมระวังที่จะไม่เบียดเบียน ไม่ล่วงละเมิด

ความหมายของศีลว่าโดยสาระสำคัญก็นี่แหละ
คือการเว้นความชั่วงดเว้นจากการเบียดเบียนกัน
ต่อจากนั้นก็จะฝึกให้ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป

แต่ศีลที่เป็นเบื้องต้นทีเดียวนั้น
สำหรับมนุษย์ทั่วไปท่านเรียกว่า เป็นมนุษยธรรม
ถ้าประพฤติปฏิบัติตามศีล ๕ ก็เรียกว่า มีมนุษยธรรม

ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติขั้นต้นของความเป็นมนุษย์
ต่อจากนั้นก็พร้อมที่จะทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
เพื่อเสริมความเป็นมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่ดีงาม
ตลอดจนเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจเป็นเทพ เป็นพรหม อย่างที่ท่านเรียกว่า มนุสฺสเทโว ก็ได้
หรือแม้กระทั่งเป็นมนุษย์ที่บริสุทธิ์เป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด


อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกันในระบบชีวิตที่เรามีพระสงฆ์เป็นนักบวชฝ่ายหนึ่ง และคฤหัสถ์ฝ่ายหนึ่ง
เราก็เรียกศีล ๕ นี้ว่า เป็นคฤหัสถธรรม หรือธรรมะของคฤหัสถ์
ถ้าคฤหัสถ์มีธรรมะ ได้แก่ ศีลเบื้องต้นนี้ ๕ ข้อ ก็เรียกว่ามีคุณสมบัติของคฤหัสถ์ที่ดี

แต่ถ้าเป็นพระสงฆ์ก็ถือว่าศีล ๕ ไม่เพียงพอ ต้องบำเพ็ญศีลให้ยิ่งขึ้นไป
ถ้าเป็นพระภิกษุก็ ถือว่ามีศีล ๒๒๗ ถ้าเป็นภิกษุณีก็มี ๓๑๑ ข้อ เพราะฉะนั้น
ศีลก็เลยมีเพิ่มเติมนอกเหนือยิ่งขึ้นไปกว่าเพียงศีล ๕ เท่านั้น

แต่ศีลที่เพิ่มมากขึ้นไปนั้น โดยมากก็เป็นข้อปฏิบัติเพื่อฝึกฝนตน
เช่น ศีล ๘ ของญาติโยมความจริงญาติโยมถือศีล ๕ นี้ก็เพียงพอจะเป็นคฤหัสถ์ที่ดีแล้ว
แต่เมื่อต้องการจะปฏิบัติฝึกฝนตนให้ยิ่งขึ้นไป ก็จึงถือศีล ๘
ศีล ๘ นี้ถ้าเรียกตามศัพท์ ท่านจัดเข้าในจำพวกวัตร

วัตร คือ ข้อปฏิบัติพิเศษที่เราทำเพื่อจะฝึกฝนตนเองขัดเกลากิเลสของตนเอง
เพื่อเตรียมจิตให้พร้อมที่จะบำเพ็ญคุณความดีอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อมีศีล ๕ แล้ว ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ต้องการความเจริญในธรรมะ
ก็อาจจะไม่หยุดอยู่แค่ศีล ๕ ก็นำเอาศีล ๘ และศีลที่ยิ่งๆ ขึ้นไปมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เจริญงอกงามในธรรม



อย่างไรก็ดี ถ้าว่าตามหลักปฏิบัติในทางธรรมแล้ว
ท่านบอกว่ามีเพียงศีล ๕ ก็เจริญในสมาธิปัญญาได้สำเร็จ
เพราะว่าศีล ๕ นั้นเมื่อประพฤติปฏิบัติถูกต้อง ท่านก็เรียกว่าเป็นอธิศีลเหมือนกัน
อธิศีลนั้นเมื่อมีแล้ว ก็ทำให้พร้อมที่จะเจริญในอธิจิต ในอธิปัญญาต่อไป
อธิศีลนั้นเมื่อมีแล้ว ก็ทำให้พร้อมที่จะเจริญในอธิจิต ในอธิปัญญาต่อไป

เป็นความก้าวหน้าในการบำเพ็ญไตรสิกขา

หมายความว่า ผู้มีศีล ๕ ที่ ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง
สามารถปฏิบัติบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ จนกระทั้งบรรลุความเป็นอริยบุคคลได้
แต่ผู้ใดต้องการจะขัดเกลาตนเองให้ยิ่งขึ้นไป จะนำเอาศีล ๘ ศีล ๑๐ มารักษา ท่านก็อนุโมทนาด้วย
อันนี้ก็เป็นความรู้บางอย่างเกี่ยวกับศีล

-------------

มีต่อ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2008, 00:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3832

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


มีข้อที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องที่อาตมภาพได้บอกไว้ว่า
ศีลนั้นมีความหมายอย่างหนึ่งว่า การงดเว้นหรืองดเว้นจากความชั่ว
ศัพท์ว่า งดเว้นจากความชั่วนี้ ท่านมีคำบาลีให้อีกศัพท์หนึ่งเรียกว่า วิรัติ หรือวิรติ
วิรัติหรือวิรติ นี้แปลว่า ความงดเว้น ท่านสอนให้รู้ว่าการงดเว้นที่เป็นศีลนี้ คนเราจะทำได้ ๓ วิธีด้วยกัน เรียกว่า วิรัติ ๓


วิรัติ ๓ ก็คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ งดเว้นเมื่อไปประจวบเข้าเฉพาะหน้า
หมายความว่า คนเรานี่บางทีก็งดเว้นความชั่วอย่างฉับพลันในเมื่อไปประสบเข้ากับสิ่งนั้นเฉพาะหน้า

๒. สมาทานวิรัติ งดเว้นเพราะได้สมาทานไว้
คือ เราได้ตั้งใจถือศีล รับศีลไว้ ก็เลยปฏิบัติตามที่ตนสมาทาน

๓. สมุจเฉทวิรัติ งดเว้นโดยเด็ดขาด
อันนี้อาตมาภาพจะอธิบายย่อๆ เพื่อจะได้เข้าใจหลักการประพฤติปฏิบัติตามศีลไว้



ประการที่หนึ่ง สัมปัตตวิรัติ
งดเว้นเมื่อไปประจวบเข้าเฉพาะหน้า หมายความว่า เราไปประสบเหตุการณ์สถานการณ์ที่จะละเมิดศีลขึ้นมา
เช่น เดินไปเห็นของของผู้อื่น ซึ่งโอกาสเปิดเต็มที่ว่าเราจะหยิบเอาได้ ตอนนี้ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะตัดสินใจเลือกว่าจะทำอย่างไร
ในเวลานั้น ถ้าหากเราได้คิดขึ้นมาพิจารณาว่า โอ้ ! เรานี้เป็นพุทธศาสนิกชนไม่สมควรจะทำความผิดความชั่วอย่างนี้
การล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม แล้วงดเว้นได้ไม่เอาของนั้น
หรือแม้แต่พิจารณาว่า เรานี้เป็นคนที่เขาเคารพนับถือ ไม่ควรทำความชั่วอย่างนี้
ก็งดได้เฉพาะหน้าในเวลานั้นโดยเหตุผลที่คิดขึ้นมาในบัดนั้นเอง
อย่างนี้ท่านเรียกว่า สัมปัตตวิรัติ งดเว้นในเมื่อไปประสบเหตุการณ์เข้าเฉพาะหน้า


ประการที่สอง สมาทานวิรัติ
เราได้สมาทานศีลไว้ ตั้งใจรับศีลเหมือนกับไปสัญญาหรือปฏิญาณไว้แล้ว
เมื่อไปประกอบเหตุการณ์เข้า เช่นตัวอย่างเมื่อกี้นี้ ไปเห็นของที่สามารถจะถือเอามาเป็นของตนได้
แต่มาพิจารณาว่าเราได้สมาทานรับศีลไว้แล้ว เป็นคนถือศีลปฏิญาณบอกกับพระไว้หรือตั้งใจกำหนดใจไว้แล้ว
เราก็ไม่ละเมิดศีลไม่ทำความชั่วนั้น อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมาทานวิรัติ
คืองดเว้นเพราะได้ตั้งใจรับเอาไว้ถือเอาไว้ที่จะปฏิบัติอย่างนั้น

ประการที่สาม สมุจเฉทวิรัติ
งดเว้นโดยเด็ดขาด อันนี้หมายถึงว่า ไม่มีกิเลสในใจ
คือ ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเหลืออยู่ในใจเลย
เพราะฉะนั้นก็ไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่ว
ถ้าอย่างนี้แล้วก็เรียกว่า เป็นไปโดยอัตโนมัติ
จะไปประสบเหตุการณ์อะไรก็ตามที่จะทำให้ละเมิดศีล ก็ไม่มีทางละเมิด เพราะไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ละเมิดหรือให้ทำความชั่วนั้นๆ
อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นความชั่วของพระอริยบุคคล
โดยเฉพาะพระอรหันต์ เพราะไม่มีกิเลสที่เป็นต้นเหตุของการทำชั่วเหลืออยู่เลย เป็นอันว่าไม่ทำความชั่วโดยสิ้นเชิง



นี้คือวิรัติ ๓ อย่างที่เป็นความรู้ประกอบ เป็นหนทางในการที่จะถือศีล
แต่สำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปมักจะใช้วิธีสมาทานวิรัติ
คืองดเว้นโดยสมาทานไว้อย่างไรก็ตามถึงแม้จะไม่ได้สมาทาน ก็ยังมีสัมปัตตวิรัติ
คือใช้เหตุผลพิจารณาถึงภาวะของตนเฉพาะหน้านั้น โดยอาศัยหิริโอตตัปปะ
ทำให้ไม่ละเมิดศีลไม่ทำความชั่ว นี้ก็เป็นความรู้บางอย่างที่อาตมภาพนำมากล่าวเกี่ยวกับเรื่องศีล


อยากจะขอปิดท้าย ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับความสำคัญของศีล
พระพุทธเจ้าตรัสว่าศีลนั้นมีความสำคัญเหมือนกับเป็นผืนแผ่นดิน หรือพื้นที่เรายืนเรานั่ง

พื้นนั้นมีความสำคัญอย่างไร ท่านบอกว่าคนเรานี้จะทำงานทำการอะไรก็ตาม
จะต้องมีพื้นเป็นที่เหยียบยันเสียก่อน ถ้าไม่มีพื้นเป็นที่เหยียบยันแล้วเราก็ไม่สามารถทำงานนั้นได้เลย
ท่านบอกว่าศีลก็เปรียบเหมือนพื้นแผ่นดิน หรือพื้นที่เราเหยียบยันนั้น
ถ้าพื้นแน่นหนามั่นคง ก็ยิ่งทำงานได้ถนัดและได้ผลดียิ่งขึ้น



ทีนี้ ถึงแม้มีพื้นมีที่เหยียบแล้ว บางคราวพื้นนั้นก็ไม่มั่นคง
ถ้าพื้นคลอนแคลนก็ทำงานไม่สะดวก ทำงานไม่ถนัด งานก็อาจจะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เช่น

ในการตัดต้นไม้ดังตัวอย่างเมื่อกี้ ถ้าพื้นตรงนั้นไม่มั่นคงเช่นเราเหยียบอยู่บนพื้นกระดานที่ปูไว้ไม่ดี
คลอนแคลนโยกไปมาเราอาจจะตัดไม่สำเร็จ หรือถ้ากำลังของเราดีและมีดก็คมมากก็อาจตัดได้

แต่ถ้ามีดเกิดไม่คมกำลังของเราก็ไม่ดีก็ไม่มีทางตัดได้สำเร็จ
ทั้งหมดนี้ก็สัมพันธ์กัน ถ้าจะเปรียบให้ชัด
พื้นดินนั้นก็เหมือนกับศีล
กำลังที่ตัดเหมือนสมาธิ
ส่วนมีดที่คมเหมือนกับปัญญา

ถ้ามีศีลมั่นคงแล้วก็จะเป็นเหตุช่วยให้สมาธิที่เป็นกำลังของเราดีขึ้น
แม้เราจะกำลังไม่แข็งแรงเท่าไรแต่พื้นที่มั่นคงนั้นแหละช่วยเราได้
และมีดคือปัญญานั้นแม้จะไม่คมนักก็ยังใช้งานได้สำเร็จ แต่ถ้าศีลของเราไม่มันคงคลอนแคลน
เราจะต้องอาศัยปัญญาที่เป็นมีดอันคมกริบและกำลังคือสมาธิที่เข้มแข็งมาก


อย่างไรก็ตาม เป็นอันว่าศีลเป็นหลักสำคัญในเบื้องต้น
เป็นพื้นที่เหยียบยันที่จะทำงานให้สำเร็จ
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้พุทธศาสนิกชนเห็นความสำคัญของศีลแล้วพยายามที่จะเจริญศีลขึ้นมา
รักษาศีลให้เป็นปกติให้เป็นพื้นที่มั่นคงอยู่ในชีวิตจิตใจ

ศีลนั้นเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในจิตใจของตนเองด้วยในทางสังคมด้วย
เมื่ออยู่ภายในใจของตนเอง จิตใจของตนเองก็สงบเยือกเย็น ไม่กระวนกระวาย
จะบำเพ็ญสมาธิก็ทำได้สะดวกขึ้น จะคิดนึกอะไรเพื่อเจริญปัญญาก็ทำได้สะดวกปลอดโปร่ง

ทีนี้ เมื่อแสดงออกมาในภายนอกก็เกิดคุณค่าของศีลในระดับสังคม
กล่าวคือ ถ้าคนเราไม่เบียดเบียนกันสังคมมีความเป็นปกติสุข
ก็เรียกว่าสังคมนั้นมีความมั่นคงคนจะทำงานทำการทำธุรกิจอะไรก็ทำได้สะดวก

แต่ถ้าสังคมนี้มีการเบียดเบียนกันมาก
เราจะเห็นว่าแม้จะไปไหนมาไหนก็หวาดระแวงกลัวภัยอันตราย
เพราะฉะนั้นจะดำเนินธุรกิจ หรือทำอะไรก็ไม่สะดวกไปทุกอย่างกิจกรรม
บางอย่างก็ต้องเว้น เช่น จะไปไหนค่ำคืนก็ไปไม่ได้ หรือจะไปในสถานที่บางแห่งก็ไปไม่ได้
การงานของมนุษย์ก็ติดขัดไม่เป็นไปโดยสะดวก ในระดับสังคมก็ดีในระดับจิตใจก็ดี ศีลก็มีความสำคัญอย่างที่กล่าวมานี้


เพราะฉะนั้น จึงต้องสร้างศีลไว้เป็นพื้นฐานอันมั่นคงในจิตใจและในสังคม
แล้วก็จะทำให้เกิดความพร้อมที่จะดำเนินก้าวหน้าไปในกิจการงานทั้งที่เรียกว่า
ทางโลกและทางธรรม ทั้งในทางสังคมและในจิตใจของแต่ละคน

ศีลมีความสำคัญและอานิสงส์ดังกล่าวมานี้
โดยเฉพาะก็เป็นพื้นฐานที่จะก้าวต่อไปในสมาธิและปัญญา
ส่วนเรื่องสมาธิและปัญญาเป็นอย่างไร อาตมภาพคงจะมีโอกาสกล่าวต่อไปในเบื้องหน้า


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2008, 00:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3832

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


พระอรหันต์เก๊
http://www.dhammajak.net/book/sila/sila18.php


ในปัจจุบันนี้ได้มีนักบวชหลายรูป
พยายามจะสถาปนาตนขึ้นเป็นพระอรหันต์กันมากขึ้น

ต่างพากันคิดค้นวิธีการแปลกๆ แหวกแนว เพื่อจะได้แหกตาชาวบ้านผู้โง่เขลาให้เอาอสรพิษมาประเคนตน

ที่พยายามจะเป็นให้สูงกว่าพระอรหันต์ก็มี
โดยอ้างว่าตนเองแบ่งภาคมาจากพระพุทธเจ้าบ้าง เป็นต้นธาตุต้นธรรมบ้าง
และที่ดุจะเหนือกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก ถึงขนาดเรียกพระพุทธเจ้าว่า “สิทธัตถะ”

ซึ่งเป็นพระนามก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็มี
เขาก็ยังกล้าเรียกได้เต็มปาก อะพิโธ่เอ๊ย ! นรกเสวยกระบาลอยู่ทุกวัน ยังหาได้รู้สึกตัวไม่ ?


เพื่อเป็นอนุสติแด่โยมๆ ทั้งหลาย จะได้หูตาสว่างเสียที
จึงขอคัดเอาเรื่อง “พระอรหันต์ตุ่ม” และ “พระอรหันต์ย่านไทร”
ในหนังสือ “สาระสำคัญแห่งมงคล ๓๘” ของอาจารย์วศิน อินทรสระ มาลงไว้ดังนี้


เรื่องพระอรหันต์ตุ่ม
คนโกหกผู้หนึ่งได้ฝังตุ่มไว้ในห้อง เมื่อคนมาหาก็เข้าไปหลบซ่อนเสียในตุ่ม
มนุษย์ทั้งหลายเข้าไปในห้องไม่เห็น ก็ออกมาถามพวกศิษย์ว่า
“พระคุณเจ้าท่านไปไหน ในห้องไม่มี ?”

พวกศิษย์บอกว่า “ท่านอยู่ในห้อง ไม่ได้ไปไหนเลย”

พวกมนุษย์ก็เข้าไปอีกครั้งหนึ่ง (ขณะนั้นคนลวงโลกออกจากตุ่มแล้ว)
จึงเห็นพระคุณเจ้านั่งอยู่บนเตียงหรือตั่งจึงกล่าวว่า “พระคุณเจ้า เมื่อครู่นี้เอง
พวกข้าพเจ้าเข้ามาไม่เห็นพระคุณเจ้า จึงออกไป, ท่านไปไหน ?”

มนุษย์หลอกลวงผู้นั้น ย่อมแสดงอาการดุจดังพระขีณาสพว่า
“สมณะทั้งหลายย่อมไปสู่ที่อันตนปรารถนา”





เรื่องพระอรหันต์ย่านไทร

มีสมณะหลอกลวงอีกผู้หนึ่ง อยู่ในบรรณศาลาใกล้ภูเขาลูกหนึ่ง
ข้างหลังบรรณศาลามีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งย่านของมันยื่นออกไปไกลปลายไปจรดดินอีกแห่งหนึ่ง
เมื่อมนุษย์ทั้งหลายไปตามทางคนเดินถึงบรรณศาลานิมนต์คนโกหกนั้น
เขาจะลงทางย่านไทร จึงถึงประตูบ้านของผู้นิมนต์ก่อน

เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มาภายหลังเห็นท่าน และถามว่า “ท่านมาอย่างไร ?”


เขาตอบว่า “ขึ้นชื่อว่าทางมาของสมณะทั้งหลายไม่ควรจะถามสมณะย่อมไปสู่ที่ๆ ตนปรารถนานั่นแล”


ครั้งนั้น มีคนๆ หนึ่งคอยสังเกตดู เห็นสมณะผู้นั้นลงไปทางย่านไทร
วันต่อมาเขาจึงตัดย่านไทรนั้นให้คอดกิ่วเอาไว้เมื่อคนมานิมนต์ สมณะหลอกลวงนั้นก็ลงทางย่านไทรเหมือนเคยย่านไทรขาดจึงตกลงไปบาตรแตกกระจาย
เขารู้ว่ามนุษย์ทั้งหลายคงจะรู้ความลับแล้ว จึงได้รีบหลบหนีไป




ส่วนเสริม
เรื่องทั้งสองนี้ ช่างเหมาะสมกับสมัยนี้ยิ่งนัก จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองก็ตาม
จากผู้ที่รู้จักและน่าเชื่อถือถ้อยคำเล่าให้ฟังก็ตาม มีข้อมูลตรงกันว่า

ยุคนี้มีผู้ที่อวดตัวเป็นพระอรหันต์กันมากขึ้น
แม้ว่า “วิธีการ” ที่หลอกลวงนั้นจะแตกต่างกับ “พระอรหันต์ตุ่ม” และ “พระอรหันต์ย่านไทร” ก็ตามที

แต่ว่า “หลักการ” ก็เหมือนกัน กล่าวคือ เป็นบุคคลประเภท “น้ำเน่า”
แต่พยายามปกปิดความเน่าไว้และเอาสิ่งที่ “หอมนอก” มาฉาบทาไว้ให้คนหลงผิด
เพื่อหลอกคนอ่อนปัญญา ซึ่งก็ได้ผลอยู่เพราะชาวพุทะเราส่วนมากจะ “อ่อนปัญญา” อยู่แล้ว
พอเห็นพระรูปใดทำเคร่งๆ ขรึมๆ มีอาการอะไรแปลกๆ เพี้ยนๆ บ๊องๆ ก็เหมาเอาว่าท่านเป็น “อริยะ” แล้ว เป็นต้น


ถ้าเป็นพระอริยะประเภทพระอรหันต์ด้วยแล้ว
ท่านจะไม่ทำอะไรเพี้ยนๆ เป็นแน่ เช่น ไม่เสกดอกบัว
ไม่เหยียบผ้าเช็ดหน้าให้คนโง่เอา (ขี้ตีน) ไปบูชา
ไม่ให้เขาเอาน้ำล้าง (ขี้ฟัน) ปากหรือน้ำเยี่ยวไปกินแก้โรค (ที่จริงอาจเพิ่มโรค)
ไม่พ่นยันต์ (น้ำลาย) เกราะเพชรให้เกิดสิริ (อัป) มงคล
ไม่อุตริฉันอาหารเจ….. เป็นต้น พระอริยะเจ้าท่านไม่ทำสิ่งเหล่านี้แน่
เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยให้คนดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ไม่ได้ แต่กลับยิ่งจะทำให้เขางมงาย และดูหมิ่นศักยภาพของตนเอง ไม่หวังพึ่งตนเองมากยิ่งขึ้น

พระอรหันต์แท้ท่านย่อมมีแต่เมตตาที่ประกอบด้วยปัญญาเต็มเปี่ยม
ท่านหวังที่จะช่วยให้สัตว์โลกพ้นทุกข์มิใช่จะช่วยซ้ำเติมให้เขาหลงงมงายยิ่งขึ้น
ผู้ที่จะทำเช่นนี้ได้ก็มีเฉพาะแต่ผู้ที่มีจิตลามก มีกิเลสหนาและตัณหาเต็มพุงเท่านั้นแหละ !



สาระจากเรื่องนี้ ให้แง่คิดแก่เราว่า
อันการที่เราจะให้ความเคารพ ศรัทธาหรือเลื่อมใสในผู้ใดนั้น ก็ควรที่จะมี “ปัญญา” นำหน้าอยู่เสมอไป จึงจะได้ไม่เกิดความชอกช้ำใจในภายหลัง โดยเฉพาะควร “จับตา” ดูลูกชาวบ้านที่โกนหัวนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ที่มีอาการแปลกประหลาดนอกพระธรรมวินัย จะต้องระวังให้จงหนัก เพราะเขาอาศัยคราบผ้าเหลืองจึงสามารถ “หลอก” ได้สนิทและลึกซึ้งยิ่งนัก บางคนก็ไม่รู้ตัวเลยหรือบางคนกว่าจะรู้ก็สาย (หมดตัว) เสียแล้ว !

ชาวพุทธสัมมาทิฐิ จึงต้องร่วมมือกันสร้างภูมิคุ้มกันและรีบกำจัด “มะเร็งศาสนา” หรือ “โรคเอดส์เหลือง” เสียโดยเร็ว เพราะเป็นอันตรายร้ายแรงกว่าโรคเอดส์ธรรมดาหลายเท่านัก ! โรคเอดส์ธรรมดาทำลายภูมิคุ้มกันเฉพาะทางรูปธรรมร่างกายเท่านั้น แต่..... โรคเอดส์เหลืองทำลายภูมิคุ้มกันทางนามธรรม (ฝ่ายดี)

โรคเอดส์ แม้ว่าจะเป็นโรคที่ร้ายแรงเพียงใด มันก็ทำลายได้แต่เฉพาะร่างกายเท่านั้น หาได้ลุกลามไปถึงจิตใจไม่ และตายไปแล้วก็ไม่เป็นเหตุให้คนที่เป็นโรคนี้ต้องตกนรกแต่ประการใด ส่วนโรคเอดส์เหลืองนั้น มันได้ทำลายภูมิคุ้มกันทางนามธรรม คือ ความศรัทธาและเลื่อมใสที่มีต่อ “สมมติสงฆ์” ให้หมดสิ้นไป เป็นการตัดทางบุญทางกุศลโดยสิ้นเชิง มีผลให้ผู้ติดโรคนี้แล้วต้องตกนรกทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไปอีกด้วย

โรคเอดส์เหลือง จึงเป็นโรคที่ทำลายเชื้อนามธรรมฝ่ายบวกให้หมดสิ้นไป โดยอาศัยนักบวชทุศีลหรือเหล่าอลัชชีเป็นพาหะ นำพามาสู่พุทธบริษัทที่อ่อนปัญญา ด้วยอุบายอันลามกต่างๆ นานา

วิธีที่จะทำลายเชื้อโรคเอดส์เหลือง
มีทางทำได้ ๒ แบบ คือ รับกับรุก ดังนี้

รับ ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ต้านก่อน ภูมิคุ้มกันที่ว่านี้ก็ได้จากการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง พระไตรปิฎกจัดว่าเป็นคู่มือทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ที่นับว่ายอดเยี่ยมที่สุด

รุก ด้วยการช่วยกันกำจัดแหล่งที่แพร่เชื้อโดยเร็วอย่ารอให้ระบาดออกมาด้วยการสร้างค่านิยม ที่มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาร่วมกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เชื้อโรคนี้เกิดจากคนขาดศีลและปัญญา การแก้ไขเรื่องนี้ให้สิ้นซากจึงต้องรณรงค์ให้ชาวพุทธมีศีล ๕ และปลูกปัญญาให้เกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน

ข้อควรสังวร ตัวท่านผู้อ่านเองก็เถอะ อย่ามัวเที่ยวรณรงค์ให้คนอื่นเขารักษาศีล จนตัวท่านลืมรักษาศีลไปพร้อมกันด้วยก็แล้วกัน เดี๋ยวตัวท่านจะกลายเป็นพาหะของโรค “เอดส์เหลือง” ไปเสียเอง !






อานิสงส์แห่งศีล

๑. ผู้มีศีลย่อมมีมิตรมาก
๒. ผู้มีศีลย่อมได้รับการสรรเสริญ
๓. ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง และเป็นบ่อเกิดของความดีทั้งปวง
๔. ศีลเป็นประธานแห่งสิ่งทั้งปวง
๕. การระวังศีล เป็นเครื่องกั้นความชั่ว ทำจิตให้ร่าเริงเป็นทางไปสู่พระนิพพาน
๖. ศีลเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้
๗. ศีลเป็นอาวุธอันประเสริฐ
๘. ศีลเป็นเครื่องประดับอันประเสริฐ
๙. ศีลเป็นเกราะป้องกันตัวอย่างน่าอัศจรรย์
๑๐. ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ
๑๑. ศีลมีกลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยม
๑๒. ศีลเป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ
๑๓. ศีลเป็นกำลังอย่างเลิศ
๑๔. ศีลเป็นเสบียงชั้นเยี่ยม
๑๕. ศีลเป็นพาหนะอันยอดเยี่ยม

สีลวเถรคาถา ๒๖/๓๕๒








พระพุทธพจน์

อานิสงค์แห่งศีลสมบัติ

“ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย ! อานิสงค์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ ประการเหล่านี้
๕ ประการเป็นไฉน ? คือ คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล
่อมได้รับกองโภคะใหญ่ อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นอานิสงค์ข้อที่หนึ่งแห่งศีลสมบัติของคนมีศีล

อีกข้อหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของคนมีศีลถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมขจรไป
อันนี้เป็นอานิสงค์ข้อที่สองแห่งศีลสมบัติของคนมีศีล

อีกข้อหนึ่ง คนมีศีลถึงพร้อมด้วยศีล จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ
คือ ขัตติยบริษัท พรหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณะบริษัทย่อมองอาจไม่เก้อเขิน
อันนี้เป็นอานิสงค์ข้อที่สามแห่งศีลสมบัติของคนมีศีล

อีกข้อหนึ่ง คนมีศีลถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมไม่หลงทำกาละ
อันนี้เป็นอานิสงค์ข้อที่สี่แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล

อีกข้อหนึ่ง คนมีศีลถึงพร้อมด้วยศีล
จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พรหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท
หรือสมณะบริษัทย่อมองอาจไม่เก้อเขิน อันนี้เป็นอานิสงค์ข้อที่ห้าแห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ”
มหาปรินิพพานสูตร ๑๐/๙๑





ศีลเกิดด้วยลักษณะ ๕

การละ ชื่อว่า ศีล
การเว้น ชื่อว่า ศีล
การเจตนา ชื่อว่า ศีล
การสำรวม ชื่อว่า ศีล
การไม่ก้าวล่วง ชื่อว่า ศีล

ญาณกถา ๓๑/๔๓

.....................................................
อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ
ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้นควรชำระศีลให้บริสุทธิ์
....................................

"หากเป็นคนฉลาดก็มีแต่จะทำให้คนอื่นรักตนเท่านั้น-วาทะคุณกุหลาบสีชา"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2008, 01:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3832

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ยังไงเสีย พระพุทธเจ้าก็ให้ ละึวามชั่ว (ศีล)
ละ คือ ละ ไม่ใช่คอยหาวิธีละเมิด



เรื่องละเมิดศีล บาป หรือ บุญ นั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง
ผลลัพธ์ของการละเมิดศีล หรือ กรรม-วิบากกรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สองเรื่องนี้เกิดพร้อมกัน แต่แยกกัน

บาป หรือ บุญ .... จากการละเมิดศีลนั้นขึ้นอยู่กับคนทำว่าจะปรุงไปทางไหน
บางคนทำชั่วแล้วคิดว่าได้บุญก็มี ใจมันก้ปรุงบุญขึ้นมาจริงๆ เพราะเข้าใจผิด หลงผิด
แต่ว่าิสิ่งที่ทำนั้นมันทำให้คนอื่นดือดร้อน คนอื่นเขาไม่พอใจ เขาก้ต้องเอาคืน
เพราะฉะนั้น บุญแบบนี้เป็นบุญที่คิดไปเอง ไม่ใช่บุญจริง เพราะนำความเดือดร้อนมาให้


แต่การกระทำใดๆก็ตาม หรือที่เรียกว่า กรรม
เมื่อทำแล้ว ย่อมมีผลลีพธ์ หรือที่เรียกว่า วิบาก
มีกรรม แล้วต้องมีวิบากเสมอ
การละเมิดศีล เป้นกรรมที่มีผลลัพธ์คือความเดือดร้อน จัดเป็นวิบาก

จะมีเจตนาทำ หรือไม่ก็ตาม แต่ทำแล้วเดือดร้อน เป็นกรรมที่มีวิบากเดือดร้อน
มีวิบากที่ทำให้เดือดร้อน ถึงทรงห้ามเอาไว้

ศีลนั้น ละเมิดแล้วเดือดร้อน
ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือ เผลอ แต่ผลลัพธ์ืคือความเดือดร้อน ไม่ตนเองก็ผู้อื่น


่พระพุทธเจ้า บอกว่า ให้ละความชั่ว
แต่ถ้าเข้าใจไปเองว่าไม่ชั่ว อันนั้นก้เป้นผลของการขาดปัญญา
พื้นฐานของปัญญาคือสมาธิ
พื้นฐานของสมาธิคือศีล
ทุศีลเสียแล้ว
สมาธิก็เป็นสมาธิผิดๆ
ปัญญาก็เป็นปัญญาผิดๆ

.....................................................
อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ
ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้นควรชำระศีลให้บริสุทธิ์
....................................

"หากเป็นคนฉลาดก็มีแต่จะทำให้คนอื่นรักตนเท่านั้น-วาทะคุณกุหลาบสีชา"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 12:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 พ.ค. 2008, 09:39
โพสต์: 219


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b4:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 13:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 พ.ค. 2008, 09:39
โพสต์: 219


 ข้อมูลส่วนตัว


"่พระพุทธเจ้า บอกว่า ให้ละความชั่ว
แต่ ถ้าเข้าใจไปเองว่าไม่ชั่ว อันนั้นก็เป็นผลของ การขาดปัญญา

พื้นฐานของปัญญา คือ สมาธิ
พื้นฐานของสมาธิ คือ ศีล

ทุศีล เสียแล้ว
สมาธิก็เป็น สมาธิผิดๆ
ปัญญาก็เป็น ปัญญาผิดๆ"

:b8: :b35:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร