วันเวลาปัจจุบัน 27 ก.ค. 2025, 22:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ย. 2009, 01:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มี.ค. 2009, 20:48
โพสต์: 744


 ข้อมูลส่วนตัว


“พิจารณาอานาปานสติไม่หลงสมมติ”
พระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒(เย็น)
เทศน์ที่ สถานปฏิบัติธรรมป่าวิเวกสิกขาราม อ.พล จ.ขอนแก่น

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดโดยสมมติ อันนี้เป็นสมมติอันหนึ่ง วันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ นี้เป็นสมมติ แท้จริงมันมีอยู่แค่กลางวันกับกลางคืน กลางวันเกิดขึ้นกลางคืนดับ กลางคืนเกิดกลางวันดับ กลางคืนลบกลางวัน กลางวันลบกลางคืน โดยกฎธรรมชาติของเขา ไม่มีใครไปลบ ทีนี้นี่สมมติว่าวันเสาร์วันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ พฤหัสฯ วันศุกร์เป็นวันทำงาน อันนี้โดยกฎสมมติขึ้นมา ไม่ว่าวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็มีแค่กลางวันกับกลางคืน หมุนเวียนเปลี่ยนไปตลอดเวลา กลางวันเกิดกลางคืนดับ กลางคืนเกิดกลางวันดับ อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ ทีนี้นี่ถ้าผู้ใดศึกษาเรื่องของกายของตนเองและของผู้อื่น จะเห็นว่าลมหายใจเข้าออกนั้นไม่ได้หยุดน่ะ หายใจเข้าแล้วก็ออก หายใจเข้าแล้วก็ออก ไม่ได้หยุดทำงาน หัวใจก็เต้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดเต้น เต้นตั้งแต่เกิดจนกว่าเราจะลาโรง นั่นแหละคือลมดับ ลมหายใจก็เข้าออกไม่มีวันหยุด ถ้าวันหยุดคือลาโรง นั้นเรียกว่าตายหรือมรณะ นี่เป็นกฎความจริง ไม่มีวันหยุด หัวใจเต้นอยู่ทุกวันทุกเวลาทุกนาที ลมหายใจเข้าออกทุกวัน แม้แต่นอนหลับก็มีลมหายใจเข้าออก ถ้าเราไม่รู้ตัวว่านอนหลับแล้วมีลมหายใจเข้าออกหรือไม่ เราไปนั่งดูคนนอนหลับก็ได้ จะเห็นเขาหายใจเข้าออก อกมันกระเพื่อม นั้นล่ะคือกฎธรรมชาติ เป็นเรื่องของธาตุซึ่งไม่มีวันหยุด นี่เมื่อมีวันเสาร์วันอาทิตย์เป็นวันหยุด ก็ได้คิดว่าจะได้พักผ่อน จะได้หยุดงานก็เลยดีใจขึ้น พอวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสฯ วันศุกร์บางคนก็ชักจะไม่ค่อยชอบใจ เอ๋ วันนี้ต้องทำงานอีกแล้วต้องเหนื่อยอีกแล้ว นี่เพราะคนนั้นไม่ได้ศึกษาในกายตัวเองในใจตัวเอง ไม่เห็นว่าลมหายใจเข้าออกไม่มีวันหยุด หัวใจเต้นตั้งแต่เกิดก็ไม่มีวันหยุดจนกว่าจะตาย แต่เมื่อมีสมมติไปตั้งไว้ว่า วันเสาร์วันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ เป็นวันหยุดทำงาน ห้างร้านบริษัทบางทีก็หยุดเสาร์อาทิตย์ บางทีก็หยุดเฉพาะอาทิตย์ บางทีก็หยุดเว้นสองอาทิตย์ หยุดเฉพาะวันอาทิตย์สองอาทิตย์ แล้วก็หยุดสองวันสองอาทิตย์เป็นหนึ่งเดือน เมื่อมีกฎเกณฑ์ขึ้นมาก็มีความตั้งความปรารถนาในสิ่งนั้น เลยหลงไปตามสมมติอันนั้น ทำให้เกิดยินดีแล้วก็ยินร้าย เมื่อวันหยุดมาก็ดีใจไม่ต้องทำอะไร เมื่อวันทำงานมา คนที่ไม่ชอบทำงานก็ชักจะหงุดหงิด เขาไม่เห็นความจริงหรอกว่า ลมหายใจเข้าออกไม่มีวันหยุดล่ะ หัวใจเต้นไม่มีวันหยุดน่ะ นี่คือกฎธรรมชาติ แต่สมมตินั้นครอบงำ สมมตินั้นสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานเฉยๆ จึงเกิดความยินดียินร้ายเกิดขึ้น เกิดความหงุดหงิดไม่ชอบใจเกิดขึ้น ฐานะหัวใจมันเต้นตั้งแต่เกิดจนตาย มันไม่ได้บอกเลยว่ามันชอบใจหรือไม่ชอบใจ ทำงานหนักหน่อยมันก็เต้นเร็วหน่อย เพื่อทำหน้าที่ของเขาให้เท่าทันที่จะสูบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทำงานเบาหน่อยมันก็ลดลง เขาทำหน้าที่ของเขาอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เห็นนะ ไม่เห็นว่าเขาทำหน้าที่ของเขาอยู่ตลอดเวลา อันนั้นถ้าเราพิจารณาอย่างนี้เห็นอย่างนี้ เราจะไม่มีความยินร้าย ทำอะไรก็แล้วแต่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนหัวใจเต้นแต่ละครั้งเกิดดับ เกิดดับทุกครั้งไป หายใจเข้าออกก็เกิดดับทุกครั้งของรอบหายใจ เขาแสดงสัจธรรมของเขาให้เราเห็นอยู่ แสดงถึงความไม่เที่ยง แสดงถึงความเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ธาตุนั้นยังคงอยู่ เขาแสดงแล้วเขาก็แสดงถึงความเขาไม่มียินดียินร้าย เขาทำหน้าที่เขาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามเหตุปัจจัยตามความสามารถที่เขาจะทำได้ แต่เราเองไม่ได้ศึกษากฎธรรมชาติเหล่านี้ สมมติครอบงำ เมื่อครอบงำจึงเกิดความยินดียินร้าย เกิดความสงวนเกิดขึ้น เกิดความเสาะแสวงหาเพื่ออะไรล่ะ เพื่อสมมติอันหนึ่งว่าความเป็นตัวตน ฐานะความเป็นตัวตนนั้นมันไม่มีอยู่จริง เป็นอวิชชาคือความหลงขึ้นมา เกิดจากการเรียนรู้ที่ผิดๆ นี่ถ้าเราศึกษาดูการเต้นของหัวใจ ศึกษาถึงลมหายใจนี่คืออานาปานสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้าออกทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าใครเจริญอานาปานสติเห็นลมหายใจเข้าออก คนนั้นจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงของลมเข้าลมออกตลอดเวลา เห็นถึงลมเขาไม่ได้เกียจคร้าน ไม่ได้เกียจคร้าน เขาทำหน้าที่ของเขาเข้าออกตลอดเวลา เขาไม่เกี่ยงด้วย ไม่มีเกี่ยงใครว่าคนไหนทำไม่ทำ เอ็งไม่หายใจข้าก็เลิกหายใจเหมือนกัน ไม่มีเลยนะ จริงไหมล่ะ นั้นพระพุทธเจ้าจึงบอก อะนูปะวาโทไม่กล่าวร้ายกัน เพราะมันไม่มีล่ะ ธรรมชาตินั้นมันไม่มีการเกี่ยงงอนกัน จริงไหมล่ะ ลมหายใจเกี่ยงงอนกับใครไหม หัวใจมันเกี่ยงงอนกับใครไหม หรือโยมว่ามันเกี่ยงกับใครไหม หือ ถ้าโยมว่าลมหายใจนั้นมันเกี่ยงงอน เขาไม่ทำงานเราก็ไม่ทำเหมือนกัน หยุดหายใจซะ เขาก็ไม่ว่าอย่างนั้น เขาก็ทำงานเขา เขาไม่สนใจใคร หัวใจเหมือนกันเขาก็เต้นของเขาอยู่ เขาไม่สนใจใคร ใครจะเต้นไม่เต้นเขาก็ไม่สน เขาก็เต้นตามเหตุปัจจัยของเขาจนกว่าจะหมดหน้าที่ของเขา แล้วเขาก็ไม่มีบ่นด้วยว่าเหนื่อย เขามีแต่แสดงความจริงให้เราเห็นว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี่ล่ะการพิจารณาอานาปานสติ สติเมื่ออยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ย่อมเห็นลมหายใจเข้าออกนั้นเกิดขึ้น เข้าแล้วก็ออกเกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นความเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ย่อมเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงย้อนต่อเข้าไปถึงความแตกสลายคือมรณสติ ย่อมเข้าไปเห็นถึงความตาย เมื่อลมเข้าไม่ออกออกไม่เข้า ธาตุนี้ก็สลายไปเรียกว่าตาย เมื่อเห็นดังนี้แล้วผู้เจริญอานาปานสติ เห็นความจริงอย่างนี้จึงปล่อยวาง จึงไม่ประมาท จึงไม่ประมาทจึงปล่อยวาง ปล่อยวางความเห็นผิดหลายๆอย่างออกไป เพราะเราต้องตายอยู่แล้ว ลมก็ไม่เกี่ยงงอนใคร เมื่อยังมีลมหายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่าเป็นปัจฉิมโอวาท สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นปัจฉิมโอวาทของเราตถาคต นี่ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ทำหน้าที่ปรินิพพาน ไม่พูดอีก สรุปคำทั้งหมดอยู่ที่จุดนี้จุดเดียว ที่ท่านแสดงธรรมมาแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ สรุปอยู่แค่จุดนี้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่ธรรมทั้งหมดพระองค์สรุปแค่นี้ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์รวมอยู่ที่การยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้นพุทธพจน์แต่ละบทแต่ละบาทมีคุณค่ามหาศาล พระองค์ได้ตักเตือนเหล่าพุทธบริษัทเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยพระเมตตาคุณที่พระองค์ได้สั่งสมมา ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป เพื่อจะต้องการช่วยเหล่าสัตว์พ้นจากกองทุกข์ พระองค์จึงได้ทำหน้าที่ของศาสดาเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อลมจะดับธาตุขันธ์ไม่เอื้ออำนวยที่พระองค์จะได้พูดต่อแล้ว พระองค์จึงย่นย่อธรรมทั้งหมดอยู่แค่ประโยคนี้ นี่เพราะฉะนั้นถ้าเราใส่ใจพุทธพจน์ เรามาดูตัวเราเองนี่ มาดูลมหายใจเข้าออก จะรู้ว่าลมหายใจเข้าออกไม่เคยเกียจคร้านเลย หัวใจเต้นก็ไม่เคยเกียจคร้าน แล้วเรานี่ควรหรือที่จะเกียจคร้านเกี่ยงงอน นี่ถ้าใครได้จุดนี้ไปคนนั้นจะขยันน่ะ ใช่ไหม จะขยันเพราะมันเป็นสัจธรรมเป็นความจริงน่ะ แล้วคนนี้ถ้าใครได้จุดนี้ไป ใครเจริญอานาปานสติ คนนั้นจะไม่ไปยุ่งเรื่องผู้อื่น เพราะใครไปยุ่งเรื่องผู้อื่นไปเกี่ยงงอนเรื่องผู้อื่น แสดงว่าคนนั้นไม่ได้เจริญอานาปาฯ เพราะลมมันไม่ได้ไปสนใจใคร มันทำหน้าที่เข้าออกของมัน มันไม่ได้เกี่ยงงอนหรือไปว่าใคร คนนั้นคนนี้ไม่หายใจฉันก็จะไม่หายใจ มันไม่เคยพูดนะ จริงไหม โยมไปเคยเห็นคนตายไหม เคยไปงานศพไหม เคยไหม เขาหยุดหายใจแล้วลมหายใจของเรามันเกี่ยงงอนเขาไหม นี่แหละเป็นคติ ที่วุ่นวายทั้งหมดยินดียินร้ายเพราะสมมตินั่นเอง เหมือนวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ พฤหัสฯ ศุกร์ จริงๆแล้วสมมตินั้นไว้ใช้งานเพื่อนัดหมาย จะไปที่ไหนต้องมีสมมติเป็นเครื่องหมาย ให้นัดหมายเฉยๆ นั้นเราต้องรู้จักใช้ประโยชน์เขา แต่อย่าไปยินดีอย่าไปยินร้ายต่อสมมตินั้น เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปยินดียินร้ายในสมมตินั้น มีหน้าที่อย่างเดียวคือใช้ประโยชน์เขา ตามเหตุที่เขาให้มา ให้รู้จักจุดนี้เอาไว้ นี่เพราะฉะนั้นลมหายใจไม่เคยรังเกียจใคร เข้าออกเข้าออกอยู่หน้าที่ของเขาตลอดเวลา นั่นล่ะคือการเจริญอานาปานสติ เท่ากับเจริญมรณสติด้วย แล้วก็ไม่ไปเกี่ยงงอนใครด้วย ไม่ไปกล่าวร้ายใครด้วย เข้าออกเข้าออกของเขาอย่างตลอดเวลา เหตุนั้นผู้ที่เจริญอานาปานสติ มีสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก มีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์เป็นกรรมฐาน เป็นฐานที่ตั้งแห่งสติตรงนั้น เมื่อเข้าออกลมหายใจนั้นมีแต่ความซื่อสัตย์สุจริตของเขาอยู่ตลอดเวลา จิตนั้นถูกอบรมด้วยธรรมอย่างหนึ่ง จึงรวมสงบเข้าไป จึงปล่อยวางทุกอย่างได้ รวมลงไปสู่ฐานแห่งจิตดั่งเดิมได้ เพราะเป็นธรรมชาติเหมือนน้ำ เราจะทำความสะอาดสิ่งใดก็ตาม ถ้าใช้น้ำสกปรกไปล้าง ภาชนะหรือสิ่งของเหล่านั้นจะสะอาดได้ไหม ก็ต้องใช้น้ำสะอาดไปล้าง ฉันใดฉันนั้น ลมหายใจเขาเหมือนธรรมชาติที่เขาทำหน้าที่โดยสุจริต เมื่อเราเจริญสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก จึงสามารถจะรวมลงไปได้ถึงฐานตั้งเดิมแห่งจิต สามารถปล่อยวางอุปาทานบางอย่างได้ อันนี้ขึ้นแต่วาสนาบารมี ขึ้นกับอุบายแยบคายของแต่ละคนที่จะทำ เหตุนั้นนี่เพราะฉะนั้นกรรมฐานไม่ต้องอะไรมาก ให้รู้จักพินิจพิจารณา หยิบอะไรขึ้นมานิดหนึ่งน้อยหนึ่งขึ้นมาก็เป็นประโยชน์ เมื่อเห็นความจริงของสิ่งใดแล้วมันจะค่อยๆแต่แขนงออกไปเอง เอาอะไรมาเป็นคติสอนตัวเอง เอาลมมาสอนตัวเองก็ได้นี่ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนไว้ว่า ให้ฟังธรรมทุกเมื่อ ธรรมะเขาแสดงสัจธรรม ธัมมานุภาเวนะ อานุภาพแห่งพระธรรมเขาแสดงความจริงให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา ความจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่ตลอดเวลา แต่มีธรรมชาติหนึ่งคืออวิชชาปกปิดไว้จึงไม่เห็น นี่เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เห็นก็จงสำเหนียกตัวเองให้มาก ว่าเราต้องมีอะไรอยู่ ต้องค้นลงไป พิจารณาหาสัจธรรมให้เจอ เมื่อเห็นสัจธรรมแล้วจะเข้าใจว่า อะไรคือตัวปกปิด วันนี้พูดเรื่องลมหายใจให้ฟัง พูดเรื่องสมมติ เรายินดียินร้ายเพราะสมมติ จริงๆธาตุเขาไม่ได้ว่าเขานะ ลมหายใจเขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นใครนะ เขาทำหน้าที่เกิดดับ เกิดดับ เข้าออก เข้าออก เขาไม่ได้บอกว่าเขาเป็นลมหายใจของแม่ชีของพระของคนนั้นคนนี้นะ เขาเข้าเขาออก เขาเข้าเขาออก เขาทำหน้าที่เขาด้วยความซื่อสัตย์ เขาไม่ได้บอกเขาเป็นอะไร แม้แต่ลมเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นลม ตัวสมมติบัญญัติ ตัวสังขารเท่านั้นน่ะที่เรียนรู้มาสัญญาจดจำมา ก็ไปบอกไปให้ความหมายเขาต่างหาก ธาตุเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร แล้วธาตุนั้นก็ไม่มีความยินดียินร้ายใครด้วย เขาทำหน้าที่เขาตามลักษณะของธาตุนั้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริตนี่ แต่ธรรมชาติหนึ่งต่างหากที่เรียนรู้มาผิดๆ สำคัญตนผิดจึงเกิดปัญหาเกิดขึ้น แล้วใครเป็นผู้ทุกข์ล่ะ ก็ขันธ์๕นั่นเองล่ะ อยู่ในตัวมันเองน่ะเป็นตัวทุกข์ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้วให้สำเหนียกสังเกตตัวเอง ศึกษากฎธรรมชาติ ให้รู้ว่าสมมตินั้นน่ะเป็นเหตุให้เราหลงตามมัน เมื่อหลงตามมันจึงเกิดยินดียินร้าย ถ้าเรารู้เท่าทันสมมติ ไม่ไปตั้งไม่ไปหลงตามมัน รู้จักแค่ใช้แค่อาศัยมัน มันก็ไม่มีโทษอะไร เพราะฉะนั้นศึกษาอะไรให้เห็นทั้งคุณทั้งโทษ เหมือนขันธ์๕นี่มีคุณอันหนึ่ง คือให้ได้ทำประโยชน์ได้ทำการสืบต่อ ได้ศึกษาธรรมะได้อะไรหลายๆอย่าง เป็นอุปกรณ์เครื่องมือให้ทำความดี แต่ขันธ์๕นี้ก็มีโทษเหมือนกัน ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเขา มันก็เลยเป็นโทษ แล้วก็ทำความชั่วได้มหันต์เหมือนกัน เพราะนั้นของทุกอย่างในโลกนี้ มีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัวของเขา ขึ้นกับผู้ใช้ต่างหากรู้จักเลือกใช้หรือไม่ ถ้ารู้จักเลือกใช้ ใช้แต่ที่เป็นประโยชน์ก็เลยเกิดแต่ประโยชน์ นี่เพราะฉะนั้นเราต้องสำเหนียกให้ดีสังเกตให้ดีรู้จักใช้ สมมติเช่นกัน ในโลกนี้ถ้ารู้จักใช้ก็เป็นประโยชน์ ไม่รู้จักใช้ก็เป็นโทษ มันมีอยู่แค่นั้นน่ะ มีอยู่แค่นั้นน่ะในโลกนี้ เพราะฉะนั้นมีอยู่แค่นี้ นี่วันนี้จึงพูดเรื่องลมหายใจให้ฟัง คงจะพอแค่นี้ไม่ต้องพูดมาก ให้ไปใส่ใจ ไปพิจารณาลมหายใจเข้าออกดูสิ หือ แล้วเวลาปวดเมื่อยนะอย่าไปโกรธขัดเคืองนะ อย่าไปหงุดหงิดนะ บางทีปวดเมื่อยเวลาทุกข์ขึ้นมาบางทีแม่ชีขัดเคือง คนนั้นโง่ที่สุด ทำไมว่าโง่ที่สุด เพราะลมหายใจมันยังไม่ขัดเคืองใคร ใช่ไหม แล้วตัวเหนื่อยตัวอะไรเกิดขึ้น มันก็เป็นธรรมชาติของเวทนาขันธ์ ที่เขาทำหน้าที่ของเขา บอกให้รู้ว่าธาตุขันธ์ตอนนี้ กายมันเป็นอย่างไรรูปขันธ์มันเป็นอย่างไร มันมีเหตุอะไรผลมันจึงเป็นเช่นนั้น เขาก็ทำหน้าที่ของเขา เกิดแล้วก็ดับตามเหตุปัจจัย เขาก็ทำของเขา เขาไม่ได้บอกเขาเป็นของใครด้วยล่ะ ความเหนื่อยเขาก็ไม่ได้บอกเขาเป็นของใคร รูปเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นของใคร แต่ไอ้ความเห็นผิดอวิชชาสิ บอกว่า รูปนี้ของฉันน่ะ ฉันเหนื่อย นี่ว่าฉันเหนื่อยปั๊บมันตั้งแล้วนี่ มันไม่อยากได้ความเหนื่อยมันอยากได้ความสบาย มันก็ขัดเคืองน่ะ นี่ล่ะท่านจึงตรัสไว้ว่า เมื่อทุกขเวทนาเกิดปฏิฆานุสัยคืออนุสัยตามนอนเนื่องอยู่ ปฏิฆานุสัยคือความปฏิฆะคือความหงุดหงิด นี่เป็นต้นกำเนิดของสังโยชน์ เมื่อสุขเวทนาเกิดราคานุสัยตามนอนเนื่อง เมื่ออุเบกขาเวทนาเกิดอวิชชานุสัยตามนอนเนื่อง นั้นเราไม่เข้าใจความจริงของขันธ์๕ของเวทนา ว่าเขาเกิดไปตามเหตุปัจจัย เขาแสดงความจริงเขา เขาก็ไม่ได้บอกเขาเป็นอะไร ไอ้ความโง่ความหลงของเราไปตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่า เราต้องการสุขไม่ต้องการทุกข์ ต้องการอย่างนั้น ความสุขเป็นของเรา ความทุกข์เป็นตัวเรา ความเฉยเป็นตัวเรา เมื่อสุขเราก็ชอบ เมื่อทุกข์ก็ไม่ชอบ เพราะอะไร หลงสำคัญว่าเวทนานั้นเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ขาดการพินิจพิจารณา ฉะนั้นเวลาเหนื่อยเวลาอะไร ให้รู้จักหยิบสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาพินิจพิจารณา การที่เรามาทำการก่อสร้างหรือทำอะไร เราได้เสียสละแรงกายไปแล้วเป็นทานบารมี ข้อที่หนึ่ง การที่เราทำงานตรงนั้นเราใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาเหตุปัจจัยนั้น เท่ากับฝึกอบรมปัญญาบารมี ที่เราเพียรทำให้สำเร็จนั้นฝึกวิริยบารมี เมื่อหนักหน่วงก็มีความอดทนนั้นขันติบารมี การที่เราไม่เลิกล้มความตั้งใจอยู่นั้น ทำให้สำเร็จตามจุดที่เราปรารถนาตั้งไว้ การงานที่จะเสร็จสิ้นนั้นเป็นการสร้างสัจจอธิษฐานบารมี สมบูรณ์อยู่ในนั้นตลอด เมื่อเกิดอะไรขึ้นมา มีความทุกข์มีความหงุดหงิดมีปัญหาเกิดขึ้น ให้รู้จักหยิบขึ้นมาพินิจพิจารณาหาเหตุหาผลอยู่ในนั้น ก็เท่ากับได้ปัญญาบารมี ถ้าเราทำแต่สักแต่ว่าทำเฉยๆไม่ใส่ใจ ก็ได้แค่ทานบารมี แถมถ้าหงุดหงิดโทสะเกิด ก็เลยมีสิ่งมาลบ เหมือนได้ร้อยแต่ติดลบอีกห้าสิบ ก็เลยไม่ได้เต็มร้อย นั้นผู้มีปัญญาทำสิ่งใด ทำน้อยหนึ่งนิดหนึ่งกลับได้มาก ผู้ด้อยปัญญาทำมากแต่ได้น้อย นี่ให้รู้จักเอาไว้ หัดพินิจพิจารณามองเป็นธรรมะหมด ศึกษาถือว่าเราปฏิบัติธรรม ศึกษาเรื่องของธรรมะหมด อย่าคิดว่าเราทำงาน ให้ถือคิดว่าเราได้มาศึกษาธรรมะ ศึกษาทุกอย่าง ถ้าเราเห็นความจริง เห็นอย่างเมื่อบ่ายนี้ คานเหล็กน่ะยังไม่มีนะ แต่ตอนนี้มีแล้วเกิดแล้วเห็นไหม นั้นล่ะคือความเป็นอนิจจัง ใช่ไหม นั้นล่ะเป็นธรรมะ เราอย่าประมาทว่าความเห็นเรื่องอนิจจังเป็นเรื่องน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนคิริมานนท์ให้เจริญอนิจจสัญญา ให้เจริญอนิจจสัญญา ให้รู้จักตัวความไม่เที่ยงนั่นเอง ให้เจริญอนัตตสัญญา ให้รู้จักความเป็นอนัตตา ความไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ให้เจริญปหานสัญญา ความปล่อยวางในสิ่งทั้งหลาย เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาเวทนา ค่อยใช้สติกำหนดพิจารณาไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ให้มันไปเรื่อยๆ มันก็เกิดตามเหตุปัจจัย นั่นเท่ากับเราเจริญตัวอนิจจสัญญา อนัตตสัญญา แล้วปหานสัญญา เพราะฉะนั้นจึงได้ประโยชน์ทุกขณะ เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าเราทำงาน ไม่นั้นความหงุดหงิด อย่าคิดว่าเราทุกข์ ความทุกข์ก็ไม่ใช่ของเรา เขาเรียกเวทนา ทุกขเวทนา เป็นเวทนาอันหนึ่ง อย่าเผลอเอาตัวลงไปเล่น ให้วิจัยมันอยู่เรื่อยๆ ให้คิดว่าเรามาปฏิบัติธรรม ทำจิตให้เป็นกุศล อำนาจแห่งความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง เขาเรียกว่าพละ กำลังของจิตที่รู้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ความตั้งมั่นแห่งจิตที่ถูกต้องตามความเป็นจริงคือสมาธิ จะมีพลังเหนือ เหนืออำนาจใฝ่ต่ำที่จะเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราหัดพินิจพิจารณาเจริญศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จนเป็นพละ๕ ที่เป็นพละที่เป็นกำลัง เป็นอินทรีย์ คือเป็นใหญ่ในหน้าที่ได้เมื่อไหร่ มันจะกวาดล้างสิ่งที่จะมาแทรกแซงได้หมด เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีคุณค่า เมื่อเราเห็นความจริงวิจัยในสิ่งเหล่านี้หมดแล้ว ความเหนื่อยก็ไม่มี โยมจึงมาถามอาตมาว่าเหนื่อยไหม ก่อสร้างนี้เหนื่อยไหม มาทำอย่างนี้เหนื่อยไหม ไม่รู้จะตอบอย่างไร มีแต่ยิ้มๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะความคิดว่าเหนื่อยมันไม่มี มันไม่มี มันมีแต่สิ่งหนึ่งเกิดแล้วมันก็ดับไป สิ่งหนึ่งเกิดแล้วมันก็ดับไป เราไม่ไปสำคัญมั่นหมายว่าเราเหนื่อยหรือไม่เหนื่อย มันก็แค่รู้มันแก้ปัญหามันไปเฉยๆ ท้อไหมหนักไหม มันก็ไม่ได้คิดว่ามันท้อหรือมันหนัก ก็เลยไม่รู้จะตอบอย่างไร นี่ปัญหามันเลยเป็นอย่างนั้น เพราะนั้นถ้าเราพิจารณาไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะเห็นคุณค่าของพระศาสนา สัทธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ใช่หาได้ง่ายๆ เหตุนั้นต้องอย่าประมาทความรู้ความเห็นแม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ความรู้ความเห็นตรงนั้นอาจจะเป็นเหตุปัจจัยให้อรหัตตมรรคเกิดในภายภาคหน้า อย่าประมาท วันนี้เราอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่วันหน้าอาจจะเข้าใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ ที่ท่านสร้างทำกุศลอะไรนิดเดียวเท่านั้นล่ะ แล้วท่านปรารถนาพุทธภูมิ ท่านจึงบอก ที่ท่านได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะกุศลนิดเดียวเป็นเหตุ นั้นอย่าประมาท ถ้าเข้าใจตรงนี้จะมีแต่พลัง ไม่ใช่เจ็บนั่นปวดนี่ขอหนีดีกว่า ไม่มีใครไม่เจ็บไม่ปวดหรอก โยมเหนื่อยไหม เจ็บปวดไหม ทั้งนั้นล่ะทุกคนถ้าทำงาน ใครทำ คนไม่ทำค่อยไม่ปวดเมื่อย แต่ก็ไม่แน่ นอนเฉยๆก็ปวดเมื่อยนะ ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะฉะนั้นเราทำเพื่อเสียสละ ทำเพื่อฝึกฝนอบรมตัวเอง ฟังธรรมเพื่อให้วิจัยกายใจตัวเอง ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น สภาวธรรมแต่ละอย่างมันเกิดขึ้นเราก็ได้วิจัยมัน ได้พินิจพิจารณามัน เลยมีแต่ประโยชน์ มีแต่ประโยชน์ ถ้าเราเห็นว่าเรามีแต่ประโยชน์ จิตมีแต่มีพลัง ถ้าไปมองแง่โทษแง่เสีย ความเห็นแก่ตัวเกิดเมื่อไหร่ จิตนั้นหมดกำลังแล้วก็หนักด้วย ลองสังเกตดูสิว่าจริงไหม นั้นล่ะวันนี้ให้ข้อคิดไปพิจารณาดู เรื่องอานาปานสติ เข้าใจไหมล่ะ คงแค่นี้ล่ะนะ พูดมากก็มากเรื่อง (พูดท้ายเทศน์-นี่ล่ะมันทำก็ต้องปวดทั้งนั้นล่ะ คนไม่ทำมันก็ไม่ปวด นี้คือเหตุปัจจัย นั่นล่ะมันบังคับไม่ได้ ให้เอาประโยชน์ จะทำทุกอย่างหัดพินิจพิจารณาวินิจฉัยมัน พิจารณามันอยู่เรื่อย มันก็ได้ประโยชน์ตลอด นี่เกิดมาในโลกแห่งกองทุกข์ มันก็ต้องอย่างนี้ มันทุกข์ทั้งนั้นล่ะ แต่ทุกข์แล้วได้ประโยชน์หรือทุกข์แล้วได้โทษ มีแค่นี่ โลกนี่โลกแห่งกองทุกข์นี่ ทุกข์แล้วได้ประโยชน์หรือทุกข์ได้โทษ คิดแค่นี้ เพราะนั้นคนนั้นจะเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่ล่ะทำความเห็นให้ถูกต้อง ทำความเห็นให้ตรง ตั้งตนไว้ชอบ เคยดูไหมล่ะลมหายใจมันไม่เคยเกียจคร้านไม่เคยเกี่ยงงอนใคร เคยเห็นไหมล่ะมันซื่อสัตย์น่ะ เคยได้ยินไหมน้องแพรว มันไม่เกียจคร้านเลยแล้วเราจะไปเกียจคร้านทำไม แค่นี้มันก็เป็นคติ มันไม่รังเกียจใครแล้วเราจะไปรังเกียจหรือ คนที่รังเกียจคนนั้นไม่ศึกษากฎธรรมชาติ มีแต่สมมติเต็มหัวใจ สมมติก็เป็นมายาธรรมอันหนึ่งไม่มีอยู่จริง เหมือนวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์อยู่ตรงไหนล่ะโยมรู้ไหม หามาให้ดูหน่อยวันจันทร์ วันนี้สมมติว่าวันอาทิตย์อยู่ตรงไหนล่ะ หามาให้ดูหน่อย นี่ล่ะความจริงมันกลางคืนนะนี่ นี่ล่ะสัจธรรม สัจธรรมเขามีเขาอยู่ตลอด ไอ้สมมติน่ะมันใช้งาน ให้รู้จักสมมติ เพราะไปตั้งเอาไว้เลยเป็นทุกข์ แค่นั้นล่ะ เข้าใจไหมชีสุ่ยไปพิจารณาลมให้ดีนะ รู้จักพิจารณาลมหายใจเข้าออกไหม วันนี้พูดเรื่องอานาปาฯให้ฟัง เรื่องลมนี่พูดได้เยอะ ลมมันแสดงถึงความไม่เที่ยง มันแสดงถึงความเป็นอนัตตา ลมมันไม่ได้ว่าอะไรใคร แสดงความซื่อสัตย์ นี่ลมมันมีอยู่ทั่วโลกทั่วนี่ ลมนี่เข้าออกเข้าออกนี่ มันไม่ได้เป็นของใครเลยนะ นี่เดี๋ยวลมนี้ออกไปมันก็ไปเข้าคนอื่นต่อออกคนอื่นต่อ มันไม่มีของใคร นั้นพิจารณา แล้วลมมันไม่ได้ว่าเป็นอะไรด้วย หลายอย่างถ้าพิจารณาเรื่องลม ทีนี้ปัญหามันขาดสติปัญญาพิจารณา มันมีแต่คิด เรื่องคนนั้นดีคนนี้ไม่ดี คนนี้ว่าเราคนนี้ไม่ว่าเรา คนนี้อันนั้น เรื่องนั้นมันทำอย่างนั้น คิดไปเรื่อย หรือไม่คิดเรื่องกินอยู่หลับนอนอยู่ จะต้องเอาอย่างนั้นดีไอ้นี้ดีไปสารพัด เลยไปคิดแต่เรื่องไร้สาระ เรื่องที่มีสาระแก่ตัวเองเลยไม่ดู นี่โลกเราชอบทำแบบนี้ เท่านั้นล่ะ)

.....................................................
“เวลาทำสมาธิ ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก ให้รู้ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบังคับลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจเข้าออก สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น”

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อสันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร