วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 22:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ย. 2009, 01:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มี.ค. 2009, 20:48
โพสต์: 744


 ข้อมูลส่วนตัว


“ธรรมดา”
๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ เทศน์ที่เมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย
พระอาจารย์วิชัย กัมมสุทโธ สถานปฏิบัติธรรมป่าวิเวกสิกขาราม อ.พล จ.ขอนแก่น

เมื่อเช้าโทรศัพท์ แม่ชีเขาฝันเห็นเรา ว่าไปแนะนำเขา เรื่องคำว่า “ธรรมดา” คำว่าธรรมดาเขาบอกว่า คำว่าธรรมดาขึ้นต้นด้วยคำว่า “ธรรมะ” ก่อน ก็เลยถามว่าหมายถึงอะไร ธรรมดาขึ้นต้นด้วยธรรมะก่อน นี่ธรรมะนั่นเป็นสัจธรรม เป็นความจริง นี้เราพูดแบบอันนั้นก่อน ธรรมะนี่เป็นสัจธรรม เป็นความจริง ความจริงของใจนี่เป็นอย่างไร ความจริงของใจก็คือความเป็นกลางนั้นเอง ใจมันเป็นกลางนะ ความจริงของทุกอย่างนี้คืออะไร ก็เป็น “ของกลาง” ไม่ใช่ของใคร เขาเรียก “อนัตตา” นี่เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา เห็นอย่างไร ก็เห็นความจริงของสิ่งนั้นเอง ว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มันไม่เที่ยงนั่นเอง ก็จึงว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ อันนี่มันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป อันที่สอง ความจริงมันเป็นอย่างไร ความจริงเกิดตามเหตุปัจจัย อันนี้พูดเรื่องสังขตธรรมนะ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง มันเกิดตามเหตุปัจจัย คือธรรมทั้งหลายที่เกิดแต่เหตุ เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผลน่ะ เป็นธรรมดา แล้วจึงบอก มีความเกิดขึ้นมาก็ต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดาน่ะ เกิดตามเหตุปัจจัย เราแก่แล้ว ก็ต้องเจ็บ ต้องตายไป ทีนี้ไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตายได้ไหม ก็ไม่ได้ มันเป็นความจริงของสังขารของร่างกายนะ อันนี้ล่ะความจริงอีกอย่างหนึ่ง คือของทุกอย่าง ขันธ์ห้าหรือแม้แต่ข้างนอกน่ะเป็นของกลาง ไม่ใช่ของใคร แต่สมมติบัญญัติ ตามสิทธิของโลก ที่กันไว้อย่างที่ดินอย่างนี้ เขาบอกว่าที่ดินนี่เป็นของเรา โดยโฉนด โดยเอกสารสิทธิ์นั่นเอง แต่แท้ที่จริงที่ดินนั้นมันเป็นธาตุล่ะ เป็นแผ่นดินน่ะ เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำธาตุอะไรผสมอยู่ตรงนั้นล่ะ ธาตุนี้มันแปรปรวนไปตามมันน่ะ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นของใครได้อย่างไร ไม่มี แต่กรรมสิทธิ์มี เพื่อให้อยู่ในสังคมเฉยๆ นี่ก็ต้องให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นของทุกอย่างในโลกนี้ มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ต้องดับไป เขาเรียกว่า “อนิจจัง” อย่างมนุษย์เรานี่น่ะเกิดขึ้นมาแล้วนี่ จะไม่ให้แก่เจ็บตายได้ไหม ไม่ให้เสื่อมสลายไปได้ไหม ก็ไม่ได้ นั้นล่ะมันไปตามเหตุปัจจัย บังคับมันไม่ได้ นั่นล่ะมันเป็นของมันเช่นนั้น จึงเรียกว่ามันไม่ใช่ของใคร มันเป็นของกลางนั่นเอง ทีนี้หลวงปู่เทสก์ท่านกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดทำใจให้ถึงซึ่งความเป็นกลาง ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” นี้ทำอย่างไรใจจึงจะเป็นกลางล่ะ นี่มันเป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นกลางเพราะอะไรล่ะ ก็เพราะมันมีความหลง มีอวิชชานั่นเอง รู้ไม่จริงตามสัจธรรมของสิ่งนั้นๆ เมื่อมันไม่รู้ความจริง อย่างเช่นขันธ์ห้านี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่กับมันบ่อยๆเข้าก็เลยสำคัญผิดคิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเรา เป็นเรา เราเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นเรา เพราะอยู่กับมัน คุ้นเคยกับมัน ใช้มันบ่อยๆมันก็เลยสำคัญผิด ก็เลยหลงผิด อวิชชาเลยเกิดขึ้นน่ะ ตัวอวิชชามันเลยปกปิดไม่ให้เห็นสัจธรรมน่ะ ความหลงล่ะ มันไปยึดเอาไว้มันเลยปกปิด ไม่เห็นสัจธรรมความจริงของสิ่งนั้นว่ามันเป็นของกลาง เท่านั้นเอง เหตุนั้นน่ะเราจะทำอย่างไรให้มันถึงซึ่งความเป็นกลางล่ะ ก็ต้องเจริญสติปัญญาน่ะ อาศัยสมาธิเป็นฐานเป็นบาท อาศัยความเพียรเป็นองค์ธรรม อาศัยศรัทธาเชื่อมั่นต่อสัจธรรมคือความจริงตรงนั้น เป็นรากฐาน เพราะฉะนั้นสตินี่ เมื่อเราฝึกสติให้อยู่ที่กาย เวทนา จิต ธรรม ก็คือฝึกสติให้รู้จักขันธ์ห้านั่นเอง เมื่อสติระลึกรู้สิ่งเหล่านั้น ก็เหมือนยกงานนั้นขึ้นมาศึกษาน่ะ ปัญญาก็จะวิจัยว่า หาเหตุหาผลของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ปกติมันก็ยึดอยู่ว่ารูปนี่เป็นของเรา มันเคยเรียนรู้มา เคยอยู่กับมัน มันก็ยึดว่ารูปเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา เวทนาสุขทุกข์เฉยๆก็เป็นของเราเป็นเราเป็นตัวตนของเรา สัญญาความจำได้หมายรู้ก็เป็นของเราเป็นเราเป็นตัวตนของเรา มันยึดอยู่ สังขารคิดนึกปรุงแต่งมันก็ว่าเราคิดล่ะ วิญญาณความรู้เหมือนกัน มันก็คิด มันก็ว่าเรารู้ล่ะ นี่มันหลงยึดเข้าไป มันเลยไม่เห็นซึ่งความเป็นกลางของขันธ์ห้า ถ้ารูปมันเป็นของเราจริง ก็ต้องบอกว่ารูปนี่เกิดมาแล้วต้องอย่าแก่อย่าเจ็บอย่าตายได้ไหม ไม่ได้ ในเมื่อมันไม่ได้ บังคับมันไม่ได้ แล้วมันจะเป็นของเราได้อย่างไร นี่เอาแค่รูปก่อนนะ เอาเวทนานี่ ปวดนั่นปวดนี่มันเกิดจากอะไร ก็เกิดจากรูปล่ะ เมื่อรูปมันเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นอากาศหนาว กล้ามเนื้อมันเกร็งมันก็ปวดกล้ามเนื้อ จะไม่ให้มันปวดได้ไหม มันก็ไม่ได้ เพราะมันมีรูป รูปนั้นมันเกิดจากอะไร อย่างกล้ามเนื้อมันเกิดจากอากาศเย็น มันเกร็งมันก็มีปวด มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยเรื่องของธาตุทั้งนั้น ในเมื่อบังคับไม่ให้มันไม่ปวดก็ไม่ได้ เมื่อมันมีเหตุ ก็จะสำคัญว่าเวทนานั้นเป็นของเราได้อย่างไร เมื่อสุขสบายไม่มีอะไรมันก็เป็นสุขเวทนาอยู่ เวลามันเจ็บป่วยก็เป็นทุกขเวทนา มันเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้นในตัวเวทนา แล้วมันจะเป็นของเราได้อย่างไร หัดวิจัยดูมัน เมื่อไม่ใช่ของเรามันก็คือของกลางนั่นเอง สัญญาเหมือนกัน จำได้หมายรู้ เดี๋ยวจำได้เดี๋ยวจำไม่ได้ สัญญามาจากไหน ก็มาจากรูปกับเวทนานั่นเอง เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น มีเวทนาเกิด ก็สัญญาก็ต้องจำ ต้องหมายให้จิตรู้อีก นั่นล่ะมันก็ไปตามเหตุปัจจัย แล้วจะเป็นของเราได้อย่างไร สังขารความคิดนึกปรุงแต่งก็เหมือนกัน คิดไปอย่างนั้นคิดไปอย่างนี้ คิดไปก็เกิดดับ คิดเพราะอะไร เพราะมันรู้ล่ะ มันเรียนรู้มา มันมีสัญญาจำมา มันก็คิดไปตามสิ่งที่มันรู้มันจำ ทีนี้มันจะคิดไปในแง่ไหนล่ะ มันก็แล้วแต่จิตตอนนั้นมันไปอย่างไร มันมีเหตุ ถ้ามีเหตุอวิชชา มันเป็นของกูตัวกู มันก็คิดแบบของกูตัวกูเท่านั้นล่ะ ถ้ามันไม่มีอวิชชามันก็คิดด้วยสติปัญญาเท่านั้นน่ะ ความคิดนั้นเลยเปลี่ยนเป็นตัวปัญญา มีเหตุมีผลนั่นเอง เพราะฉะนั้นความคิดก็ไม่ใช่ของเรา มันคิดไปก็ดับไป คิดไปดับไป คิดไปดับไปล่ะ ทีนี้ความรู้เหมือนกัน เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง แม้แต่สัญญา เวทนา สังขาร กระทบใจ คือธรรมารมณ์นั่นเองกระทบใจ มันก็จะเกิดความรู้ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ เขาเรียกวิญญาณ มันก็มีเหตุเป็นแดนเกิด สิ่งที่มีเหตุเป็นแดนเกิด เมื่อตากระทบรูป ตาก็ดี รูปก็ดีอยู่ เมื่อตาไม่พิการก็ต้องรู้รูปทางตา จะไม่ให้มันไม่รู้ได้ไหม ก็ไม่ได้อีก นั่นแหละมันบังคับมันไม่ได้ แล้วมันก็ไปตามเหตุปัจจัยตรงนั้น แล้วจะว่ามันวิญญาณนี้เป็นของเราได้อย่างไร เป็นตัวเราได้อย่างไร เป็นตัวตนของเราได้อย่างไร ให้พิจารณามันให้ถ่องแท้ เมื่อมันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของอะไร มันเป็นของกลาง แล้วมันดำเนินไปอย่างไรล่ะ รูปมันก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของเขา เมื่อมันมีรูปเกิดขึ้นมันก็ต้องการอาหาร มันต้องมีการหลับนอน ต้องมีการหายใจ ต้องมีอะไร มันก็จะดำเนินไปตามเรื่องของรูปนั้น คือเรื่องของธาตุที่มันดำเนินไป ที่ชีวิตมันยังคงอยู่ มันก็ต้องดำเนินไป จะไม่ให้มันไปอย่างนั้นได้ไหม ไม่ให้มันไม่หายใจได้ไหม ก็ไม่ได้ มันก็ต้องหายใจเมื่อชีวิตยังอยู่ มันไม่หายใจมันก็ต้องสลายคือตายนั่นเอง นี่ให้พิจารณามันให้ถ่องแท้ เท่านั้นน่ะ แล้วจะว่ารูปนั้นเป็นของเราได้อย่างไร แล้วบังคับมันไม่ได้ จะให้มันไปดั่งใจเราไม่ได้ เมื่อมันเป็นดั่งใจเราไม่ได้ ก็ให้มันเป็นไปตามเรื่องของมันน่ะ ถ้าเราอยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ล่ะ มันทุกข์ขึ้นมันเจ็บป่วยขึ้นมาก็ไม่อยากให้มันเจ็บ มันก็เป็นทุกข์น่ะ ทุกข์กายยังไม่พอมันยังทุกข์ใจอีก เพราะความปรารถนาไม่อยากให้มันเป็นน่ะ มันก็เลยเรียกว่าไม่อยากให้มันเป็นก็เลยเป็นวิภวตัณหานั่นเอง ทำไมวิภวตัณหาตัวนี้มันเกิดได้อย่างไร เกิดได้ก็เพราะความหลงไม่รู้จริงน่ะ ไม่เห็นสัจธรรมของรูปว่ารูปนั้นมันเป็นธาตุ มันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของเขา แล้วมันก็ต้องสลายไป มันหนีไม่พ้นน่ะ มันต้องแก่ต้องเจ็บเป็นธรรมดา นี้คำว่าเป็นธรรมดา คำว่า “ธรรมดา”นั่นล่ะคือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คือความจริงคือสัจธรรมนั่นเอง เหตุนั่นน่ะ ถ้าเราเห็นสัจธรรมเห็นความจริงของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ การเห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้นนั่นแหละ แล้วก็ยอมรับความจริงของสิ่งเหล่านั้นนั่นแหละ นั่นล่ะจิตจะเป็นกลาง ไม่มีความลำเอียง ไม่ใช่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ จิตมันก็เลยมุ่งอยู่ มุ่งที่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ มันจะคอยมุ่งอยู่ เพราะตัวมุ่งอยู่นั้นล่ะ อยากให้เป็นอย่างนั้นมันก็เลยเป็นภาระ เป็นตัวทุกข์ล่ะ เพราะมันตัวตัณหามันทำงานตลอด ถ้าวิจัยจริงๆแล้ว สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ได้เป็นไปตามความอยากของเรา มันก็เป็นไปตามเรื่องของมันน่ะ อันนี้ภายใน ภายนอกก็เหมือนกัน บางคนก็ทุกข์อยู่นี่ อย่างอยู่ออสเตรเลีย บางคนก็ทุกข์อยากได้พีอาร์ (หมายเหตุ: พีอาร์ คือ PR = Permanent Resident คือ ผู้ได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในประเทศออสเตรเลียอย่างถาวร มีสิทธิได้รับสวัสดิการและการดูแลจากรัฐเสมอกันกับพลเมืองออสเตรเลีย) คิดไปๆฟุ้งซ่าน ปวดหัวก็มี เอ้า มันไม่ได้เป็นตามใจเรานะพีอาร์ มันก็ไปตามกฎเกณฑ์กฎหมายของเขาล่ะ คิดไปก็เป็นทุกข์เฉยๆ เรามีหน้าที่อย่างเดียว ทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์เขาแค่นั้นนะ เท่านั้นล่ะ เมื่อมันไม่ถูกกฎเกณฑ์เขาจะให้มันเป็นอย่างไร ทุกข์ไปอย่างไร เดือดร้อนไปอย่างไร กฎหมายเขาก็ไม่ได้แก้ ไม่ได้เปลี่ยนไปตามที่เราทุกข์ที่เราคิดล่ะ เขาก็ต้องดำเนินไปตามของเขา ตามเหตุปัจจัยของเขานั่นเอง นั้นล่ะในเมื่อเราบังคับข้างนอกมันไม่ได้น่ะ แล้วจะต้องไปทุกข์กับมันทำไมล่ะ นี่มันต้องเป็นของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วล่ะ แล้วจะไปตั้งความปรารถนาอยากให้มันเป็นอย่างนั้นไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ไปทำไม ไปเพื่อให้ตัวเองทุกข์ทำไมล่ะ นั้นล่ะความไม่รู้เท่าทันความจริงว่า ข้างนอกมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เหมือนร่างกายมันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เมื่อมันแก่มันเจ็บมันตายจะไปเดือดร้อนทำไมล่ะ ไม่อยากให้มันแก่ไม่อยากให้มันเจ็บไม่อยากให้มันตายก็เลยเป็นวิภวตัณหานั่นเอง เวลามันแก่มันเจ็บตายน่ะ เพราะความยึดถืออุปาทานนั่นเอง ว่ามันเป็นของเรา ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น อยากให้มันเป็นอย่างนี้ นั่นล่ะเป็นความหลงนั่นเอง มันจึงปกปิด “ความจริง” เมื่อจิตมันหลงไปตามอย่างนั้น มุ่งไปอย่างนั้น จิตนั้นเลยไม่เป็นกลางนั่นเอง จิตจะเป็นกลางได้ก็คือมันต้องยอมรับความจริงตรงนั้น เห็นความจริงของสิ่งนั้น ว่าสิ่งนั้นน่ะมันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรานั่นเอง มันไปตามเหตุปัจจัยของเขา เราบังคับมันไม่ได้ เราจะมุ่งอยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่ได้เป็นไปตามความอยากของเรา เหมือนร่างกาย เราอยากไม่ให้มันเจ็บมันก็ต้องเจ็บ ถ้ามันมีเหตุมีปัจจัย เกิดเป็นโรคขึ้นมา ติดหวัด มันก็ต้องเป็นน่ะ ถ้าติดเชื้อหวัดมามันก็เป็นหวัด จะไม่อยากให้มันเป็นหวัดล่ะ มันก็เป็นไปไม่ได้ เหตุนั้นมันก็ไปตามเรื่องของมันน่ะ ของธาตุของเหตุปัจจัยของเขา ไม่ใช่เรื่องของเราล่ะ เหตุนั้นให้วางซะ วางตัวอยากให้เขาเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เขาเป็นอย่างนี้ ไปบังคับเขาตลอด มันก็เลยเป็นตัวทุกข์ ตัวเองเลยเป็นตัวทุกข์ เป็นอัตตาอยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะไม่เห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้ นี่มันเป็นอย่างนั้นน่ะ นี้ถ้าละเอียดเข้าไป นี้จากภายนอกเหมือนกัน ที่ทุกข์จากภายนอกทั้งหลายก็เพราะอะไรล่ะ กลัวจะเป็นอย่างนั้น ไม่อยากจะเป็นอย่างนี้ อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากได้อย่างนั้น ไม่อยากได้อย่างนี้ เราจะอยากอย่างไรก็ตามล่ะ ถ้าเหตุปัจจัยภายนอกมันจะเป็นอย่างไร อย่างฝนตก ยกตัวอย่าง ไม่อยากให้ฝนตกล่ะ ฝนมันก็ต้องตกตามเหตุปัจจัยของมันน่ะ มันมีพายุมีลมมีอะไรเข้ามามันก็มีเอาเมฆหมอกมา มันก็มาตก นี่เหตุปัจจัยของมัน จะอยากให้มันตกมันก็ไม่ได้ อยากไม่ให้มันตก มันก็ต้องตกตามเหตุปัจจัยน่ะ ทีนี้มันแล้งน่ะ อยากให้มีฝนตก มันก็ไม่มีเพราะมันเหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างนั้นน่ะ นั้นเราให้รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ ไม่ว่าข้างนอกมันก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขา ในเมื่อมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขาเราบังคับมันไม่ได้ แล้วเราจะไปตั้งความปรารถนาอยากให้มันเป็นอย่างนั้นไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ไปทำไมเพื่อทุกข์ล่ะ ก็ปล่อยมันไปตามสภาพความจริงของเขาสิ ฝนจะตกก็ให้มันตกซะ ฝนมันจะไม่ตกก็ให้มันไม่ตกซะ มันไปตามเหตุปัจจัยของเขา ปล่อยมันไปตามธรรมชาติของมันนั่นแหละ เท่านั้นล่ะ เราก็มีหน้าที่ปรับปรุงเท่านั้นน่ะ ตัวเอง และภายนอกถ้าต้องการน้ำฝน ฝนตกก็หาของรองไว้ซะ ฝนไม่ตกก็... ไปอีกอย่างหนึ่ง ก็ปรับตัวไปตามธรรมชาติของเขา มันก็ไม่ทุกข์ เหตุนั้นส่วนใหญ่เราจะอยากให้ข้างนอกเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้ข้างนอกเป็นอย่างนี้ ไปบังคับไปกฎเกณฑ์เขาไว้ตลอด โดยไม่ยอมรับว่า เขาก็ไปตามเหตุปัจจัยของเขา ไม่ได้ไปตามความอยากไม่อยากของเรา แน่ะ เพราะนั้นถ้าเราเข้าใจตรงนี้ก็วางซะ วางความอยากไปบังคับให้มันเป็นอย่างนั้นไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ วางคือตัวตัณหานั่นเอง ตัวภวตัณหา อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ คือตัววิภวตัณหานั่นเอง เพราะอะไร เพราะเรารู้ความจริงว่าข้างนอกมันก็เกิดไปตามเหตุปัจจัยของเขา นั่นล่ะคืออนัตตา ไม่ใช่ของใคร เป็นของกลางนั่นเอง เขาก็ทำหน้าที่ของเขาอย่างนั้น ใจเมื่อรู้ความจริงของสิ่งเหล่านี้ มันก็เลยปล่อยวาง มันก็เลยเป็นกลาง ไม่ไปยินดี ไม่ไปยินร้าย ทีนี้มาย้อนเข้ามาภายในเหมือนกัน รูปเหมือนกัน มันก็อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ เวลาเจ็บป่วยก็ไม่อยากให้เจ็บป่วย อยากให้มันสบาย ก็เพราะอะไร มันไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น มันก็เลยเป็นวิภวตัณหา เวทนาเหมือนกัน อยากสุขไม่อยากทุกข์ มันก็ต้องสุขทุกข์ตามเหตุปัจจัยของมันน่ะ ตามรูปนั่นเอง นี่ก็เป็นปัญหาเกิด ก็เลยเป็นตัวทุกข์อีกล่ะ หารู้ไม่ว่าเวทนาก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง เขาก็ทำหน้าที่ของเขา สัญญาสังขารวิญญาณเขาก็ทำหน้าที่ของเขา เราอยากให้มันไม่คิดอย่างนี้ เหมือนคนเป็นโรคประสาทล่ะ คิด...อยู่ ไม่อยากคิดน่ะเพราะมันทุกข์ มันยังหยุดคิดไม่ได้ ก็เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้เป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชาของเรา นั่นน่ะให้เข้าใจ ว่าสังขารมันคิดแล้วก็ต้องดับ เรื่องบางอย่างมันติดข้องอยู่ มันมีเหตุมีปัจจัย คืออุปาทานนั่นเอง มันก็คิดจนตัวเองทุกข์ มันก็ยังหยุดไม่ได้ เพราะอะไรล่ะ ก็เพราะมันไม่ใช่ของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ก็อย่าไปตั้งความปรารถนา อยากให้มันเป็นนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้ลึกเข้าไปอีกล่ะ ทำไมอยากให้มันได้อย่างนั้น ไม่อยากให้มันได้อย่างนี้ ตัณหาตัวนี้แน่ะเพื่ออะไร ก็เพื่อจิตตัวรู้นั่นเอง มันคิดว่าอะไรดีก็อยากให้มันรู้ดีไง อะไรไม่ดีก็ผลักไสไม่อยากให้มันรู้ไง ก็เพราะมันยึดจิตตัวรู้นั่นล่ะเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรานั่นเอง คิดให้ดีนะพิจารณาให้ดี ก็เพราะอะไร มันจึงอยากให้เรื่องไม่ดีก็ไม่อยากให้มันรู้ เรื่องดีก็อยากให้มันรู้ ก็เพราะอะไร ก็เพราะมันยึดตัวรู้นั่นล่ะเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรานั่นเอง นั่นล่ะคือมัน “ยึด” ตัวรู้นั่นเอง ถ้ามันไม่ยึดตัวรู้ล่ะ เรื่องดีก็ให้มันรู้ซะ เรื่องไม่ดีก็ให้มันรู้ซะ รู้มันก็ทำหน้าที่รู้ ดีไม่ดีมันก็รู้หมด นั่นล่ะมันเป็นกลางล่ะ จิตมันเป็นกลางของมันอยู่แล้ว เพราะเรื่องที่เราไม่อยากให้รู้ เมื่อตากระทบรูปมันก็ต้องรู้ เสียงกระทบหูมันก็รู้ เหมือนเราไม่อยากให้ใครนินทาเรา เมื่อมีหูมีเสียงกระทบมันก็รู้ นั่นล่ะ ใช่ไหม มันเป็นกลาง เมื่อใครมาสรรเสริญ มันอยากให้เขาสรรเสริญ เสียงกระทบหู มันก็ต้องรู้ของมันอยู่อย่างนั้น นั่นล่ะรู้นั่นไปตามเหตุปัจจัย แล้วมันก็รู้ตามหน้าที่ของมัน มันไม่ได้ยินดียินร้ายเลยว่า เสียงนี้ไม่ชอบใจไม่อยากรู้ เสียงนี้ชอบใจอยากรู้ บังคับมันได้ไหม มันก็บังคับมันไม่ได้ เมื่อมีหูมีเสียงมันก็รู้ทั้งคู่น่ะ นั่นล่ะตัวรู้มันไม่ลำเอียง มันเป็นกลางของมันอยู่ นี้เราไม่เห็นนี่ เพราะเราไปยึดมันน่ะ พอเป็นของเราปั๊บ เรื่องที่ดีก็อยากให้รู้ เรื่องไม่ดีก็ไม่อยากให้รู้ เรื่องที่ชอบใจก็อยากให้รู้ เรื่องไม่ชอบใจก็อยากผลักไสไม่อยากให้รู้ เพราะมันยึดอะไร ก็เพราะมันยึดว่าตัวรู้ความรู้นั่นน่ะเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรานั่นเอง มันหลงน่ะ (ผู้ฟังถาม: การที่เราไม่ยึดนี่ ไม่ใช่ไม่คิดใช่ไหมครับ คิดแต่เราไม่ยึดใช่ไหมครับ) เออ คิดสิ แต่ไม่ลงไปเล่นในความคิด ก็คือไม่ยึดว่าความคิดเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา มันจึงไม่ลงไปเล่น มันเลยปล่อยความคิดไปตามธรรมชาติ ตามเหตุตามผลของมันไป ตามเหตุปัจจัยของมัน เหตุนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นมันเพราะอะไร เพราะมันยึดตัวรู้นั่นเอง พิจารณาดูให้ดีนะ มันรู้ต่างหาก พอมันรู้ปั๊บ มันก็อยากรู้ พอรู้ดีมันก็อยากเอา เป็นภวตัณหาอยากได้ พอมันรู้ไม่ดีมันก็ไม่อยากให้มันรู้ อยากผลักไส เป็นวิภวตัณหา เหมือนอย่างเดียวกันน่ะ เหมือนเสียงน่ะ พอเสียงสรรเสริญมันรู้เสียงขึ้นมา สรรเสริญมันพอใจมันก็อยากได้ฟังเสียงสรรเสริญ พอเสียงนินทามันไม่พอใจมันก็ไม่อยากได้ อยากผลักไส ไม่อยากได้ยิน ก็เป็นวิภวตัณหา เพราะอะไร เพราะมันหลงอะไรล่ะ ก็เพราะมันหลงตัวรู้นั่นล่ะ ที่มันรู้เสียงดีเสียงไม่ดี มันยึดตัวรู้ดีไม่ดีนั่นล่ะ เป็นของเราเป็นเราเป็นตัวตนของเรา เมื่อเป็นของเรา สิ่งที่ดีก็อยากได้ สิ่งที่คิดว่าไม่ดีก็อยากผลักไสนั่นเอง นั่นน่ะ เพราะมันหลงมันยึด จริงๆแล้ว ตัวรู้นั้น ความรู้นั้นก็ไม่ใช่ของใครอีก เขาทำหน้าที่ความเป็นกลางอยู่ เพราะเสียงที่รู้ดี สรรเสริญ มันก็รู้ล่ะ มันไม่ได้ว่า เสียงดีฉันไม่รู้นะ พอเสียงไม่ดีมันกระทบ มันมีเหตุปัจจัย มันก็รู้อีกล่ะ มันจึง “รับ” ทั้งดีไม่ดีนั่นเอง มันจึงรู้ทั้งดีไม่ดี ความที่มันไม่มีความลำเอียงต่างหาก มันรู้มันไม่ได้เลือกรู้ มันรู้ทั้งดีไม่ดีนั่นเอง มันเป็นกลาง นี่ล่ะความเป็นกลางของมันน่ะ แต่ความหลงที่เคยอยู่กับเขานานๆ ก็เลยสำคัญผิดคิดว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา มันก็เลยไม่เป็นกลาง ตัวนี้ล่ะคืออวิชชามันปกปิดไว้ ความหลงมันปกปิดเอาไว้ จึงไม่เห็นสัจธรรมความจริงของวิญญาณังอนิจจัง วิญญาณังอนัตตา มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา นี้มันอยู่ของมันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นให้สังเกตให้ดี เหตุนั้นอย่าไปตั้งความปรารถนาเลย อยากให้ข้างนอกเป็นอย่างนั้น อย่าอยากให้ข้างนอกไม่เป็นอย่างนั้น ให้ “วางซะ”ความปรารถนาน่ะ แล้วก็ขันธ์ห้าเหมือนกัน ก็ให้วางขันธ์ห้าซะ อย่าอยากให้ขันธ์ห้าเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้ขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ก็วางมันซะ มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป ให้รู้ตามปัจจุบันนั้น ถ้ามันเจ็บป่วยก็ให้รู้ว่ามันเจ็บป่วย เจ็บป่วยเพราะอะไร เพราะเป็นโรคอะไรก็ให้รู้ แล้วก็แก้ไขมัน อาศัยมันเฉยๆ แก้ไขไปตามความจริงของมัน ตัวนั้นจึงจะไม่ทุกข์ล่ะ ที่ทุกข์เพราะมันหลงน่ะ นี่ล่ะมันหลง มันหลงยึดว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรานั่นเอง ทำไมมันหลงล่ะ อนุสัยมันเกิดเพราะอะไร ก็เพราะมันเคยอยู่กับมัน เคยชินเคยเรียนรู้กับมันมาอย่างนั้น มันเลยสำคัญผิด เคยอยู่กับมัน เหมือนคิดนี่ เราเคยคิดอยากคิดอะไรก็คิดๆ อยากคิดดีไม่ดีก็อยากคิดก็คิดได้ ก็เลยคิดว่าความคิดนั่นเป็นของเรา สั่งมันได้ ถ้ามุมกลับล่ะ ถ้าเราสั่งมันได้อยากคิดดีปั๊บ ก็ให้คิดดีมันอยู่ติดตลอดสิ มันทำไมคิดดีปั๊บมันดับล่ะ มันดับเป็นแต่ละความคิดล่ะ บังคับไม่ให้มันไม่ดับได้ไหม ก็ไม่ได้ แล้วนั่นล่ะความคิดนั้นจึงไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตนของเรา นี่มันหลงแค่นั้นน่ะ ดูสิมันหลงน่ะ เพราะอยู่กับมันใช้มัน เวลาเราจะคิดอะไรก็ได้ เอาง่ายๆนี่เราจะคิดอะไรก็ได้ พอเห็นว่าจะคิดอะไรก็ได้ คิดทั้งเรื่องดีไม่ดีก็คิดได้ มันก็เลยคิดว่าความคิดเป็นของเรา แต่จริงๆมันไม่ใช่ เป็นแค่ขันธ์อันหนึ่งอาศัยใช้เฉยๆ เหมือนเสื้อผ้าอาศัยนุ่งห่มเฉยๆ เพราะอะไรที่ว่าไม่ใช่ ถ้ามันใช่ความคิดเป็นของเรา เราอยากคิดดีก็ให้ความคิดดีมันติดอยู่ตลอด ทำไมคิดดีปั๊บมันก็ดับล่ะ พอคิดไม่ดีมันก็ดับ มันเกิดดับ บังคับไม่ให้มันดับได้ไหม ก็ไม่ได้ นั้นล่ะความคิดไม่ใช่ของเรา แค่อาศัยมันอยู่เฉยๆ คิดไปตามเหตุตามผลเฉยๆ ให้มันเห็นเหตุเห็นผลเฉยๆ แล้วก็ใช้มันไปตามเหตุผลเฉยๆ เพราะอาศัยมันอยู่เฉยๆ เรื่องของโลกเรื่องของอะไรต่างๆ แล้วก็ละมันไปวางมันไป ไม่ละวางมันก็วางอยู่แล้ว พอคิดไปมันก็ดับไปอยู่แล้ว นี้อุปาทานมันไม่ยอม มันก็เลยเป็นตัวทุกข์ล่ะ เหตุนั้นหน้าที่เรามีแต่ต้องทำความจริงให้ปรากฏ ทำความจริงให้ปรากฏ การจะทำความจริงให้ปรากฏก็ต้องมีสติ มีสมาธิเป็นบาท คือตั้งมั่นที่จะดูมัน ดูกายใจนี้ มีสติคือความระลึก ปัญญาก็ค่อยสอดส่อง ค่อยวินิจฉัยหาเหตุหาผลมันน่ะ อย่างที่ว่านี่ พอเห็นเหตุเห็นผลมันก็จะรู้ว่า อ๋อ ความจริงมันเป็นอย่างนี้นี้เอง ที่เราหลงคิดว่ามันเป็นของเรานี่มันไม่ใช่ความจริง มันเป็นความหลง ทำไมมันไม่ใช่ของเรา มันก็จะมีจุดที่จะบอกอยู่ สัจธรรมตรงนั้นน่ะ ปัญญามันก็คลี่คลายไป มันเห็นก็จะวาง มันเห็นตรงไหนมันก็วางตรงนั้นน่ะ ความทุกข์ก็เลยเบาบางลง นี่ล่ะ พูดเรื่องขันธ์ห้าให้ฟัง พูดเรื่องความเป็นกลาง ถ้าทำใจให้ถึงความเป็นกลางก็คืออะไร ก็วางใจไม่ใช่ของเราอีกล่ะ ทำไมมันไม่ใช่ของเราล่ะ มันก็ต้องหัดดูหัดวิจัยมันดู เวลามันกระทบขึ้นมา มันเกิดอะไรขึ้นในกายในใจ เพราะฉะนั้นการเดินมรรคคือให้มีสติอยู่ที่กายใจ คนส่วนใหญ่จะไปบังคับข้างนอกให้เป็นดั่งใจตัวเอง อย่างความต้องการของตัวเอง พอไม่ได้หรือไม่ถ้าคิด ก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นไหม มันก็เลยเกิดวิตกกังวลฟุ้งซ่านรำคาญขึ้น เป็นทุกข์ขึ้นมา เครียดขึ้นมา ก็เพราะอะไร นั่นล่ะคือผลน่ะ ความเครียดความทุกข์นั่นเป็นผล เหตุเพราะอะไร เพราะไม่รู้ความจริง ข้างนอกมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขาล่ะ ใช่ไหมล่ะ เราจะไปเปลี่ยนอย่างนั้นมันไม่ได้ เหมือนฝนมันจะตก มันก็ตกตามเหตุปัจจัยของเขา แดดจะออกมันก็ออกตามเหตุปัจจัยของเขา มันมีเหตุมีปัจจัยเขาอยู่ ร่องความกดอากาศมันเปลี่ยนแปลง ลมมันพัดเอาความชื้นมา มันก็ต้องมีเมฆมีฝนขึ้นมา ก็ตามเหตุปัจจัยเขา เราไปเปลี่ยนแปลงบังคับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ นั้นเราจะไปทุกข์กับมันทำไม ทำไมไม่ยอมรับมันซะ เออ มันเป็นของมันอย่างนั้นล่ะ มันเป็นของมันเช่นนั้นล่ะ ความทุกข์จึงจะเบาบาง คนส่วนใหญ่จะไปเปลี่ยนแปลงให้มันได้อย่างนั้น ไม่ให้มันได้อย่างนี้ (ผู้ฟังถาม: แต่สมมติว่าเราในหน้าที่การงานเรา แล้วสังคมที่มันเร่งรัดนี่ เราก็ต้องเล่นไปตามกระแสใช่ไหมครับ เพียงแต่เราไม่ยึด) เออ ทำไปตามเหตุปัจจัยของข้างนอกมัน ตามงานตามหน้าที่ ทำให้ทันเหตุปัจจัยตรงนั้น แต่ไม่ได้ทำด้วยตัณหาด้วยความยึด ว่าเป็นของเรา ว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา (ผู้ฟังถาม: อย่างเวลาอย่างงานก่อสร้างนี่ เวลางานเร่ง เราก็ต้องเร่งใช่ไหมครับ) เร่งหน่อย นี่มันเหตุปัจจัยมันน่ะ เหตุปัจจัยมันบอกว่าให้เร่งก็เร่งไปตามมัน เหมือนท้องนี่ เวลากินเข้าไปปั๊บ มันเต็มแล้วมันบอกว่าอิ่มก็ต้องหยุดล่ะ มันจะบอกของมัน นั่นล่ะเหตุปัจจัย เรื่องของธาตุ งานก่อสร้างงานอะไรเหมือนกัน บางครั้งลมฝนมันจะมาก็ต้องรีบ ไม่รีบมันก็เสียหาย นั่นล่ะเหตุปัจจัยบอก (ผู้ฟังถาม: แต่ถ้ามันไม่ได้ ล้มเหลวเราก็ต้องยอมรับว่ามันล้มเหลว) เอ้อ มันก็ยอมรับ เพราะเหตุปัจจัยอีกล่ะ เพราะว่าเหตุปัจจัยองค์ประกอบ อย่างมีคนอยู่ห้าคนน่ะ งานมันต้องใช้คนสิบคน เมื่อมันมีห้าคนมันก็ได้งานแค่นี้ จะให้มันได้สิบคนก็ไม่ได้ ก็ยอมรับตามเหตุปัจจัยนั่นเอง นั้นถ้าเรายอมรับตามเหตุปัจจัย มันก็วางทันที นี่เรายอมรับความจริงไหม ทีนี้มันอยาก “ให้มันดี” สิ (ผู้ฟังถาม: อยากให้มันดีใช่ครับ) อ้าว พออยากให้มันดี ก็คือ “อยากได้” แล้วนั่นเป็นภวตัณหาแล้ว ฐานะเหตุปัจจัยมันไม่ให้ นั้นคือความจริง เหตุปัจจัยนั่นก็คือความจริง คือปัจจุบันนั่นเอง เหมือนคนเผลอล่ะ พอเผลอขึ้นมาปั๊บจะเจริญสติ พอเผลอขึ้นมาปั๊บก็ไม่พอใจตนเองขึ้นมา เอ้า ก็เหตุปัจจัยมันยังเผลอ อวิชชามันเยอะสติมันน้อยน่ะ มันก็ต้องเผลอ จะไม่ให้มันไม่เผลอไม่ได้หรอก นั้นล่ะคือความจริง เราจึงยอมให้มันเผลอซะ เผลอแล้วก็แล้วไป ไปทำใหม่ นั่นล่ะยอมรับสัจธรรมความจริงตรงนั้น นั่นล่ะเขานึกว่าเขาไม่ได้ จริงๆตรงนั้นล่ะมันแฝงทั้งสติปัญญาอยู่ในนั้นหมด มันจึงค่อยๆเต็มขึ้น คนพอตัวเองเผลอปั๊บ หรือว่าตัวเองทำอะไรผิดพลาดไม่ดีปั๊บจะไม่ยอมเลย จะพยายามไปแก้ไข จะแก้อย่างไรมันดับไปหมดแล้วล่ะ ไอ้ตัวพยายามไปแก้ไปไขไปอะไร นั่นล่ะมันไปยึดแล้วนะนั่น มันเผลออีกรอบแล้วนั้นน่ะ มันหลงเป็นของกูตัวกูอีกแล้ว (ผู้ฟัง: หงุดหงิดกับตัวเองเหรอครับ) อ้าว ก็นั่นล่ะมันหลงแล้วนั่นน่ะ ถ้ามันยอมรับความจริง สติปัญญามันอยู่ที่ปัจจุบัน มันยอมรับความจริง ไอ้นั้นมันดับหมดแล้ว ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สอง ตัวสติมันน้อยล่ะ ตัวโมหะมันมากกว่า มันก็ต้องเผลอล่ะ นี้คือเหตุปัจจัย เหตุคือสติน้อยโมหะมันมาก ผลก็คือเผลอ เรายอมรับความจริงข้อนี้ไหม ถ้ายอมรับความจริงตรงนี้ เผลอแล้วก็แล้วไปก็ตั้งใหม่ นั่นล่ะคนนั้นล่ะเท่ากับยอมรับสัจธรรม นั่นล่ะใจมันจึงเป็นกลางไง ขณะนั้นน่ะ นี่มันหลอกจนถึงขนาดนี้ เผลอมันไม่ยอมให้เผลอ มันหลอกถึงขั้นนั้น เห็นยังมันหลอกล่ะ เผลอรอบแรกแล้วมันยังเผลอรอบสองน่ะ มันก็เลยไม่รู้จะออกจากมันอย่างไร มันซ่อนเหลี่ยมกันอยู่เห็นยังล่ะ นั้นให้ยอมรับความจริง ให้ยอมรับธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ ธรรมทั้งหลายในสังขตธรรมทั้งหมดเกิดแต่เหตุ ยกเว้นพระนิพพาน เมื่อเหตุดับผลก็ดับ แค่นั้นน่ะ นั้นมันมีเหตุมีผลของมันอยู่ เรื่องที่เป็นไปตามเหตุผลนั้นล่ะเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา มันมีเหตุมันก็ต้องเกิด จะไม่อยากให้มันเกิดก็ไม่ได้ เมื่อสติมันน้อยโมหะมันมากก็ต้องเผลอ จะไม่ให้มันเกิดเผลอก็ไม่ได้อีกล่ะ เพราะมันมีเหตุเป็นแดนเกิด ทำให้มันต้องเผลอน่ะ นั้นล่ะให้เรารู้เข้าใจ เมื่อเราเข้าใจแล้ว ยอมรับความจริงของมันว่า เออ มันเผลอเพราะมันมีเหตุ เมื่อยอมรับความจริงแล้ว ถ้าจะไม่ให้เผลอทำอย่างไรทีนี้ ก็ฝึกเหตุใหม่สิ คือฝึกสติให้มันต่อเนื่องสิ เข้าใจยังล่ะ ฝึกเหตุใหม่เท่านั้นก็จบ ก็ฝึกไปเรื่อยๆ จึงว่าถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง ฝึกไปเรื่อย เผลอแล้วก็แล้วไป นึกได้ก็เอาใหม่ (ผู้ฟังถาม: มันไม่มีทางเร่งรัดใช่ไหมครับ) เอ้า มันไปตามเหตุปัจจัย คำว่าเร่งรัดก็คือเรายอมละโลภโกรธหลงสิ ยิ่งเราละโลภโกรธหลงเท่าไร นั่นล่ะคือทางลัดล่ะ การที่เราเห็นเหตุปัจจัยยอมรับเหตุปัจจัย นั่นล่ะคือเราละตัวหลงแล้วนะ นั่นล่ะตัวลัดล่ะเข้าใจยัง แต่มันไม่ยอม มันเอาตัวเข้าไป กูหลงแล้ว กูเผลอแล้วกูไม่ยอมล่ะ กูอยากดีล่ะ นั่นล่ะมันเป็นตัวเข้าไป นั่นล่ะตัวหลงอีกรอบ มันก็เลยนึกว่าตัวเองลัดหรือ มันเลยกลับช้าไง เพราะไปทำเหตุให้มันช้าไง คือตัวหลง นั้นถ้าเราเท่าทันมันตลอด เข้าใจเหตุปัจจัยมัน ละความหลง ก็ตัดอวิชชามันไม่ได้อาหารไง เมื่ออวิชชาไม่ได้อาหาร วันหนึ่งมันก็ต้องผอมตาย เข้าใจยังล่ะ นั้นยังมีพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าแสดงเรื่องอาหารสี่ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ทำให้เกิดกรรม คำข้าวนั้นทำให้ร่างกายอยู่ ใช่ไหมล่ะ ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ทำให้เกิดอะไร ก็เวทนา วิญญาณาหารอาหารคือวิญญาณ ทำให้เกิดอะไร นามรูปไง เมื่อเราเห็นถูกแล้ว เข้าใจถูกแล้ว วิญญาณที่มันเห็นผิดที่มันรู้ผิดมันก็ดับล่ะ เมื่อมันดับไปเรื่อยๆมันไม่มีอาหารกิน อวิชชาสุดท้ายก็หมดน่ะ เหตุนั้นล่ะเราทำความจริงคือใช้เหตุหัดยอมรับสัจธรรม ทำใจให้เป็นกลาง เหมือนผ้าหยาบ ก็ว่าไปตามหยาบ ผ้าละเอียดก็ว่าไปตามละเอียด ถ้าผ้าหยาบบอกว่าผ้านี้เป็นละเอียด ถ้าผ้าละเอียดบอกผ้านี้หยาบ นั้นคืออคติมิใช่หรือ คำว่าอคตินั้นล่ะไม่เป็นกลาง เหตุนั้นเราพูดไปตามเนื้อผ้า เผลอก็ยอมรับว่ามันเผลอ เพราะมันมีเหตุให้เผลอ ก็ตามเนื้อผ้า เข้าใจยังล่ะ นั้นล่ะผู้ใดทำใจถึงความเป็นกลาง พ้นจากทุกข์ทั้งปวง คือคนที่ละโลภโกรธหลง ละของกูตัวกูหมดนั่นเอง ละอวิชชาหมดนั่นเอง มันก็เลยเป็นกลาง มันไม่สำคัญอะไรเป็นของเรา มันก็เป็นของกลางหมด ใจก็เป็นของกลาง เข้าใจไหมล่ะ นี่โยมเข้าใจไหมที่พูดวันนี้ เห็นทางไปยังทีนี้
ก็อยู่กับมันทุกวันน่ะแต่ไม่เห็น เพราะอะไร พอเวลาจะคิดอะไรมันก็ จะคิดเรื่องรถมันก็คิดได้ จะคิดเรื่องเงินมันก็คิดได้ เมื่อกี้คิดเรื่องลอตเตอรี่มันก็คิดได้พูดได้ มันก็เลยสำคัญว่า ความคิดนั้นเป็นของเราเป็นเรา แต่มันไม่เห็นอีกมุมหนึ่ง พอคิดเรื่องลอตเตอรี่ คิดปั๊บมันก็ดับปั๊บ บังคับไม่ให้มันไม่ดับได้ไหม ไม่ได้ แล้วความคิดจะเป็นของเราได้อย่างไร ถ้าของเราก็ต้องบังคับมันได้ นี่มันมีจุดให้เราสังเกตอยู่ ถ้าสติมันแหลมคมปัญญามันแหลมคม เมื่อไม่ใช่ของเราแล้วเราจะไปสำคัญอยากให้มันเป็นอย่างนั้น อยากคิดดีอยากคิดไม่ดีทำไม มันจะเป็นอย่างไรก็รู้มันแล้วก็ละมันซะเท่านั้นล่ะ เห็นความจริงของมันก็ละซะ (ผู้ฟังถาม: แล้วเราจะระลึกสติเวลาที่จะยกขึ้นมาคิดนี่ เราจะคิดตอนไหนครับ เพราะว่าเรานั่งทำงานอยู่เป็นชั่วโมง) เอ้า ถ้าทำงานมันมีงานทำก็คิดไปตามงานนั่นล่ะ มันก็คิดไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยคืองาน มันก็เลยคิดไปตามงาน สติก็ระลึกไปตามเหตุผลของเรื่องงานนั้น (ผู้ฟังถาม: จนกว่าจะมีอารมณ์มากระทบใช่ไหมครับ ถึงสติถึงจะมาทำงานว่า...) ไม่ ก็ตอนคิดงานนั่นแหละสติมันอยู่ในความคิดในงานนั่นล่ะ (ผู้ฟัง: อ๋อ มันมีอยู่แล้วใช่ไหมครับ) เออ มีเหตุมีผลไหมล่ะ สติก็กำกับความคิดนั้นล่ะ มันรู้ว่ามันคิดเรื่องอะไรไปอะไรเหตุผลอะไรเท่านั้นล่ะ ถ้าคิดมันไม่ถูกต้องก็ไม่เอากับมันน่ะ มันคิดขึ้นมาว่าจะไปฆ่าคนน่ะ อย่างนี้ยกตัวอย่าง สติมันระลึกอยู่มันก็รู้ทันทีว่า พอมันระลึกมันก็รู้ทันทีว่ามันจะไปฆ่าคน ปัญญาก็วิจัยมันถูกต้องไม่ถูกต้องน่ะ ไม่ถูกต้องจะไปทำไมล่ะ ไปแล้วก็ติดคุกได้ทุกข์อีก ปัญญามันวิจัยทั้งเหตุผลภายนอก วิจัยทั้งตัวคิดด้วยทั้งตัวมันด้วย (ผู้ฟังพูด: ไอ้วิจัยตัวคิดนี่แหละซับซ้อนเพราะว่า...) เอ้า ก็อย่างว่านี่ ก็อยู่กับมันจะคิดเรื่องไหนมันก็คิดได้ ก็เลยคิดว่าความคิดเป็นของเรา เราคิดล่ะ แต่ถ้าเป็นเราคิดจริงๆแล้วทำไมคิดไปปั๊บ เรื่องดีๆเราอยากคิดดีๆ พอคิดไปดีๆแล้วทำไมมันดับไปทุกความคิดล่ะ บังคับมันไม่ได้แล้วจะเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร เฮอ มันมีตัวให้สังเกตอยู่ จริงไหมล่ะ เหมือนร่างกายล่ะ มันก็ต้องแก่เจ็บตายไป บังคับมันไม่ให้มันแก่เจ็บตายได้ไหม ไม่ได้ มันก็เรื่องของร่างกายนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องของเรานะเรื่องของร่างกาย เพียงแต่มันเกิดอะไรขึ้นมาก็แก้ไขมันตามเหตุมันน่ะ มันป่วยก็แก้ไขให้ยาตามโรคมันเท่านั้นล่ะ มันอากาศเย็นก็หาเสื้อผ้าให้มันเฉยๆล่ะ เหมือนบ้านเหมือนกัน กรรมสิทธิ์สมมติว่าเป็นของเรามันบังน่ะ ใช่ไหม แต่บ้านนั้นน่ะมันก็ไปตามสภาพมัน พอปลูกขึ้นมาจะไม่ให้มันเก่าได้ไหมล่ะ เพราะต้นไม้มันหล่นมามันโค่นลงมาทับบ้านพัง จะไม่ให้มันไม่พังได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะมันมีเหตุ แล้วจะว่าบ้านเป็นของเราได้อย่างไร นี่คือโดยสัจธรรมมันไม่ใช่ของใคร มันของกลาง แต่โดยสมมติกรรมสิทธิ์ต่างหาก และความที่ไปอยู่กับมันโดยสมมติตรงกรรมสิทธิ์ตรงนี้ก็เลยหลงล่ะ สำคัญผิดเป็นอุปาทานขึ้นทีนี้ว่าเป็นของเรา ถ้ามันของเราจริงมันต้องไปตาม เหมือนเหตุผลน่ะเหมือนทางโรค เหมือนโรคล่ะรักษาโรค ว่าเป็นโรคนี้ อาการและอาการแสดงจะต้องไปแนวเดียวกันน่ะ อาการของโรค ทำไมมันมีข้อแย้งนั้นแย้งนี้ ก็แสดงว่ามันต้องมีอะไรอยู่ มันก็ไม่ใช่เป็นโรคนี้จริง บางทีหาไป อันนี้ก็เหมือนกัน มันยังมีข้อแย้งล่ะ ถ้าเป็นของเรา แม้แต่ความคิด ง่ายๆนะจริงไหม ใครก็อยากคิดอย่างนั้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอเราคิดเรื่องนั้นได้ อย่างเมื่อกี้คุยเรื่องลอตโต้ได้คิดเรื่องลอตโต้ได้ พอมันคิดได้ทุกอย่างมันอยู่กับมันอย่างนี้ มันก็เลยสำคัญผิดว่าความคิดเป็นเรา ถูกไหม แต่ เมื่อเราชอบใจเรื่องนี้คิดเรื่องนี้ได้ ทำไมความคิดที่เราชอบใจเรื่องนี้จะให้มันอยู่ตลอดเวลาได้ไหม ไม่ได้ เพราะคิดไปดับไป นั่นล่ะความคิดไม่ใช่ของเรา เหมือนบ้านน่ะไม่ใช่ของเรา “อาศัย”เขาอยู่เฉยๆ อันนี้ก็เหมือนกัน “อาศัย”ความคิดคิดงานเฉยๆ จึงไม่ใช่ของเรา เมื่อเห็นตรงนี้มันก็ไม่ทุกข์แล้ว เพราะฉะนั้นพอรู้ตรงนี้ว่าไม่ใช่ของเรา จะไปตั้งความปรารถนาให้มันเป็นอย่างนั้นให้มันเป็นอย่างนี้ทำไม มันจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของมันน่ะ ไม่ใช่เรื่องของเรา เหมือนร่างกายมันจะแก่ก็ให้มันแก่ซะ มันจะเจ็บให้มันเจ็บซะ มันจะตายก็ให้มันตายซะ ก็แก้ไขไปตามเหตุปัจจัย มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันก็เบาแล้วนั่น อาศัยมันอยู่เฉยๆ ทำไมต้องรักษาต้องแก้ไขมัน เพราะยังอาศัยกายนี้ทำประโยชน์อยู่ล่ะ ลมยังอยู่ล่ะ ถ้าลมดับก็ทิ้งมันเลย ก็เท่านั้นน่ะ เหตุนั้นคนไปทำเรื่องไร้สาระเยอะนะ เพราะโดนมันหลอก โดนอวิชชามันหลอก (ผู้ฟังถาม: อย่างนี้ถ้าเวลาเราเข้าไปหลงหรือเพลิน มันอยู่ที่สติตัวเดียว) ใช่ สติระลึกรู้ความจริงมันไหม ระลึกทันมันไหม เห็นแล้วทีนี้ปัญญาก็วิจัยมัน มันจะเห็นแง่มุมตรงนี้ แยบคายเกิดขึ้น นั้นจึงฝึกสติให้มาก นี้เหมือนกันพอฝึกสมาธิ แม้แต่สมาธิมันยังเอาไปใช้ กิเลสยังเอาไปใช้ พอมันสงบมันก็จะมุ่งแต่จะทำความสงบใช่ไหม พอมันไม่สงบมันก็ไม่พอใจอีกล่ะ นั่นน่ะเห็นไหม มันเอาไปใช้เห็นยังล่ะ (ผู้ฟังถาม: ความจริงมันคือความจริงอยู่แล้ว แต่ทีนี้เราไม่ทันมัน) ใช่ เราไม่ยอมรับความจริง แล้วสติไม่อยู่ที่ปัจจุบันน่ะ ไม่เอาปัจจุบันเป็นอารมณ์ ปัจจุบันมันไม่สงบก็คือไม่สงบ มันสงบก็คือมันสงบ และมันก็ไม่ใช่ของเราด้วย มันบอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว ถ้าของเราเราก็บังคับมันได้สิ บอกมันวันนี้สงบนะ มันทำไมบอกมันไม่ได้ มันไม่สงบก็ให้รู้ สงบก็เพราะมีเหตุปัจจัย เราทำสมาธิมีอารมณ์เป็นหนึ่งอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งมันก็เลยสงบ มันมีเหตุทำให้สงบ ไม่สงบมันก็มีเหตุอีก มันกังวลนั่นเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเหตุล่ะ ก็คิดมากมันก็เลยไม่สงบ เพราะฉะนั้นเมื่อมันของทุกอย่างมันไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมันมีเหตุมันก็ต้องมีผลอย่างนี้ล่ะ เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล เมื่อมีเหตุมีผลบังคับมันไม่ได้ นั่นเราจะว่ามันเป็นของเราได้อย่างไร ความสงบจะเป็นของเราได้อย่างไร มันเกิดเพราะเหตุปัจจัยล่ะ ถูกไหมมันมีเหตุ เหตุนั้นความไม่สงบจะเป็นของเราได้อย่างไร มันก็เกิดจากมีเหตุเหมือนกันอีก เมื่อมันมีเหตุ เพราะนั้นถ้าเราเข้าใจทั้งความสงบความไม่สงบเลยเสมอกันน่ะ เสมอตรงเกิดตามเหตุตามปัจจัยของมัน เสมอกันตอนที่มันมีเหตุ มันเกิดจากเหตุเหมือนกัน ใจมันเลยเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย เพราะเห็นความจริงมันน่ะ ว่ามันไม่ใช่ของเรามันไปตามเหตุปัจจัยเรื่องของมัน ตัวบังน่ะสิ มันอยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสไว้ “มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้ดังปรารถนาก็เป็นทุกข์” ใช่ไหม “พลัดพรากจากสิ่งรักสิ่งชอบใจก็เป็นทุกข์” ใช่ไหม ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ดังปรารถนาก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ เพราะอะไร ก็เพราะเราไปตั้งมันไว้ว่า เราอยากให้มันเป็นอย่างนั้นไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ เราไปตั้งมันไว้ แต่มันก็ไปตามเรื่องของมันน่ะ ใช่ไหม เราตั้งอยากให้มันเป็นอย่างนั้น อย่างเช่นไม่อยากให้มันแก่อย่างนี้ มันก็ไปตามเรื่องของมัน ธาตุเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแก่ เราไปตั้งไม่ให้มันแก่ เมื่อมันไม่ประสบตามที่หวังไว้ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปตั้งมันสิ ยอมรับความจริงมัน ว่ามันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ยอมรับความจริงของสิ่งนั้น มันก็ไม่ทุกข์ เหมือนง่ายๆลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์มันแข่งกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งเชียร์ลิเวอร์พูลน่ะ พอลิเวอร์พูลชนะมันดีใจ พอลิเวอร์พูลแพ้มันเสียใจ ใช่ไหมล่ะ ทำไมมันถึงดีใจเสียใจ ลิเวอร์พูลมันก็แข่งกันมันไม่เห็นเกี่ยวกับเราเลยล่ะ ก็เพราะเราไปตั้งไว้ว่า ทีมนี้ฉันเชียร์ทีมนี้ฉันชอบล่ะ พอทีมนี้ชนะได้อย่างที่มันตั้งไว้ มันก็เป็นสุข พอทีมนี้แพ้ไม่ได้อย่างที่มันตั้งไว้ มันก็เป็นทุกข์ ฐานะมันก็อยู่ของมันอย่างนั้น มันแพ้ชนะก็ตามเรื่องของมันน่ะ มันเตะดีมันก็ชนะ มันเตะไม่ดีมันก็แพ้แค่นั้นน่ะ ตามเหตุตามปัจจัยของมันน่ะ แต่เราสิไปตั้งไว้เพื่อความทุกข์ล่ะ (ผู้ฟัง: บางคนทะเลาะกันด้วยตีกันด้วย) เออ ก็นั่นแหละใครโง่ใครฉลาด นี้ล่ะอวิชชา ไปตั้งเอาไว้ให้ตัวเองทุกข์ล่ะ ทำเรื่องไร้สาระ คนเตะมันได้เงินน่ะ สโมสรมันได้เงิน แต่เราเป็นทุกข์ บ้าไปตามมันน่ะ เพราะอะไร เพราะไปตั้งเอาไว้ นั่นล่ะอุปาทานเกิด ว่าทีมนี้ของกู ไปตั้งเอาไว้ทั้งนั้น จริงๆมันก็ไม่ใช่ของเรา ถ้าเป็นของเราได้เราก็ต้องบอกมันได้สิว่า ทีมนี้ต้องชนะนะอย่าแพ้เด็ดขาด บอกได้ไหมล่ะ ก็บอกไม่ได้ มันก็แพ้ชนะตามฝีมือ ตามโอกาสตามเหตุปัจจัย บางทีนักฟุตบอลไม่พร้อม เก่งจริงแต่ไม่พร้อม มาลงสนามตอนนั้น ความไม่พร้อมเจ็บป่วยบ้างอะไรกันบ้างก็เตะไม่ได้เต็มที่ ก็แพ้เขาก็มี ก็ตามเหตุปัจจัยเขาล่ะ มันไม่ได้เป็นตามที่เราพูดได้เลยล่ะ นั้นจะเป็นของเราได้อย่างไร แค่นี้มันก็บอกอยู่แล้ว มันมีอะไรที่ให้เราสังเกตอยู่ เหตุนั้นเราให้วิจัยหาสัจธรรมให้เจอแล้วยอมรับสัจธรรมตรงนั้น ว่ามันเป็นอนิจจังอย่างไร มันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตนของเราอย่างไร เห็นมันแล้วมันก็ค่อยๆจางคลายหมด เมื่อมันจางคลายอุปาทานมันจางคลายไปด้วย อวิชชามันไม่ได้กำลังแล้ว ไม่ได้อาหารเดี๋ยวมันก็ตายล่ะ นั่นล่ะเขาเลยขังเสือเอาไว้ อย่าให้อาหารมัน แล้วมันจะอาละวาดนะ พอมันจะตาย แต่มันอาละวาดก็ไม่ให้อาหารมัน มันก็หมดกำลัง พอมันหมดกำลังแล้วมันจะเพียบแล้วทีนี้ หมดฤทธิ์ที่จะอาละวาด แล้วเดี๋ยวมันก็ตาย ฉันใดฉันนั้นปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน อย่าให้อาหารมันเท่านั้นน่ะ แล้วทีนี้พอไม่ให้อาหารมันจะดิ้นรนนะ มันจะอาละวาดให้ทันเกมมัน ให้รู้สภาวะของมันนั่นเอง รู้ความจริงของมัน นั่นล่ะพิจารณาสัจธรรมเรื่อยๆ เข้าใจยังล่ะ? หือ (ผู้ฟังถาม: เอ๊ะ อย่างผม ผมก็อาจจะไม่ได้กล่าวโทษครูบาอาจารย์นะครับ แต่ว่าอย่างกรณีหลวงตาบัว ผมเห็นเวลาท่านโกรธบ่อยๆอย่างนี้ หรือว่า ท่านไม่ได้วางใจไหมครับหลวงพี่? ผมเคยเห็นกับตา ผมก็รู้สึกไม่ค่อย... ใจผมอาจจะไปผูกกับท่านด้วยว่า ทำไมท่านเป็นอย่างนั้น คือคาดหวังมากไป) คือกิริยาอาการภายนอกบางครั้งนี่ เราต้องดูให้ดี บางทีมันเขาเรียกว่ากิริยาอย่างเดียว บางทีภายในท่านไม่มี มันเป็นกิริยา พระอรหันต์มีแค่กิริยา (ผู้ฟัง: แต่ท่านด่าเลยนะ) เออ ก็พูดเป็นกิริยา แต่ใจมันไม่มี นั้นต้องระวังให้ดี เหมือนพระสารีบุตรน่ะ กระโดดข้ามคลอง ครั้งแรก ครั้งสองก็กระโดดข้ามคลอง พระก็ไปทูลพระพุทธเจ้า อัครสาวกทำไมกระโดดข้ามคลอง ก็เป็นกิริยาของท่านเฉยๆท่านเคยติดมา แต่จิตท่านไม่มีอะไร เหมือนบางองค์เจอพระด้วยกัน พระด้วยกัน “ไอ้ถ่อยๆ” ไอ้ถ่อยเลยนะ อย่างเจอเราอย่างนี้เบิร์ดนี่ เขาไม่เรียกชื่อเบิร์ดนะ เขาบอกไอ้ถ่อย ไอ้ถ่อยๆ เขาไปฟ้องพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์นี้ว่าคนอื่นเขาไอ้ถ่อยๆ พระพุทธเจ้าบอก จิตท่านไม่มีอะไร ไอ้ถ่อยของท่านคือคุณน่ะ เพราะอะไร เพราะเป็นคนบริหาร เป็นหัวหน้ามาหลายภพหลายชาติ เขาควบคุมบริษัทบริวารมันติดมา ท่านจึงบอกนิสัย-วาสนาตัวนี้ละไม่ได้พระอรหันต์ ละได้แต่พระพุทธเจ้า แต่กิเลสละได้ นั้นจะไปดูพระบางทีดูเรียบร้อยมันจึงไม่ใช่ไง แล้วแต่นิสัยที่ท่านอบรมมาในอดีตเป็นอย่างไร ไปดูท่านเรียบร้อยไม่ได้ ถ้าเอาตรงนี้ไปวัดพระปั๊บเสร็จเลย ถ้าไปเจอของจริงนี้เสร็จเลย (ผู้ฟัง: เพราะบางทีที่ไปก็คือ ยังไม่ทันฟังท่านเทศน์ ท่านก็สะบัด จะโกรธอะไรก็ไม่รู้แล้วก็ฟัดเฟียดว่าคนเยอะวุ่นวาย ร้อนอะไรแล้วท่านก็เดินไปเลย ผมก็โอ๋อะไรของท่าน สมัยผ้าป่าช่วยชาติ) คนแก่ จะเห็นเวทนาขึ้นมา แล้วท่านอาจจะไปของท่านอย่างนั้น ไปพัก
เหตุนั้นให้พิจารณาสังเกตมันไปเรื่อยๆขันธ์ห้าน่ะ เหมือนความคิดนี่ ใช่ไหมล่ะ เราอยู่กับมันเราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ตลอด มันก็เลยสำคัญความคิดเป็นเราคิดใช่ไหม ทีนี้ถ้ามุมกลับ ทำไมคิดแล้วมันถึงดับไปเลย ไอ้เรื่องชอบทำไมมันอยู่ไม่ได้ล่ะ บางครั้งบางเรื่องไม่อยากจะคิดทำไมมันคิดล่ะ บังคับมันไม่ได้เพราะอะไรล่ะ ก็เพราะความคิดมันไม่ใช่ของเราล่ะ มันไม่ใช่ของเราก็ “วาง”มันซะ มันจะคิดดีไม่ดีก็เรื่องของมันซะ อย่าตามมันอย่างเดียว ไม่เอาเราเข้าไปในมันเท่านั้นล่ะ เดี๋ยวมันก็ค่อยๆไป เขาจึงบอก จะคิดก็ให้รู้มันคิด ไม่ต้องห้ามมัน แล้วก็ไม่ลงไปเล่นกับมันนั่นเอง ไม่ไปยึดว่าเป็นของเรานั่นเอง มันก็เลยเรื่องของความคิด เขาเรียกว่าสังขารสักแต่ว่าสังขารน่ะ วิญญาณสักว่าวิญญาณ เวทนาสักว่าเวทนา รูปสักแต่ว่ารูป เห็นสักแต่ว่าหมด ไม่ใช่ของใคร เข้าใจยังล่ะวันนี้ วันนี้พอได้อะไรไหมวันนี้
ลองไปฟังดูไปพิจารณาเรื่อยๆ (ผู้ฟัง: เวลานึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์ มันก็ขึ้นมาเรื่อยๆ ธรรมชาติมันก็อยู่อย่างนี้ แต่ว่าเราก็ไปสุดโต่งทางโน้นไปสุดโต่งทางนี้ มันก็เลยไม่เป็นกลาง พอเสร็จพอเข้าใจจุดนี้ ก็เริ่มจะแก้ๆจุดต่อไปต่อไป ก็เลยบอกคุณวัน อยากฟังต่อจังเลย วันนี้ก็สมใจเจ้าค่ะ นึกอยากฟังจุดนี้ก็ได้ฟัง บอกคุณวันว่า เราทำไมนั่งอยู่ตั้งนานทำไมไม่มองเห็นจุดนี้เลย ที่จริงมันก็ไปๆมาๆก็เห็นธรรมชาติอยู่ แต่ว่าไม่อยู่ตรงกลาง เพราะจับจุดไม่ได้ พอท่านอาจารย์พูดก็ อ๋อ พอรู้จุดหนึ่งแล้วมันก็คลาย ก็เลย อ๋อ พอเห็นจุดหนึ่งมันก็ค่อยๆไป วันนี้โยมนึก เอ๊ อยากจะฟังท่านอาจารย์พูดเรื่องรูปนาม แยกรูปนามกับวิญญาณ อันนี้ก็สมใจ อยากฟัง เพราะโยมคิดว่า เอ๊ ถ้าไม่อยากเกิดนี่มันจะต้องไม่มีวิญญาณไปนั้นเพื่อจะให้มันมีเชื้อมีภพขึ้นมาได้ เมื่อกี้ก็ได้จากจุดนี้ตอบให้โยมเข้าใจ ที่บอกว่าไม่ให้อาหารมัน มันก็จะไม่มีกำลังสืบต่อ ก็เลย โอ๋ ตรงจุดพอดี) นั่นล่ะยอมรับสัจธรรม พอยอมรับสัจธรรมมันก็ทำงานไม่ได้ โมหะมันทำงานไม่ได้ โมหะทำงานไม่ได้ก็เท่ากับไม่ให้อาหารมัน (ผู้ฟัง: อย่างนี้ก็ได้ฟังแต่ว่ามองข้ามจุดที่ว่าเป็นกลางไป เข้าใจแต่ว่าท่านอาจารย์พูดเลยเข้าใจ เลยถูกจุดพอดีค่ะ เออ ตั้งใจมาจุดนั้นก็ได้ฟังต่อให้ ไม่ทราบว่า เอ้ จะดับวิญญาณไม่ให้มันเกิดภพ จะไปทำจุดไหนเพื่อไม่ให้มันไปนั่นต่อใช่ไหม ไปสร้างต่อไปรับสัมผัส ทีนี้ที่ท่านอาจารย์พูดไม่ให้อาหารมัน แล้วมันก็จะไม่เกิดวิญญาณ แต่นั้นก็ต้องอ่านดูสติ อยู่เราเข้าไปหลงเข้าไปเพลินในสมาธิ ทั้งตาทั้งหูใช่ไหม) ให้มีสติเข้าไปนั้นล่ะ ให้รู้เห็นความจริงของมัน ความจริงของขันธ์ห้ามันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ของเรา เห็นมันบ่อยๆเข้า ไม่ใช่ของเรามันจะวางของมันไปเรื่อยๆ (ผู้ฟัง: จุดนี้ใช่ไหมเจ้าค่ะที่จะเป็นอาหารให้กับวิญญาณ) มันยึดร่างกายเป็นของเรา ความรู้มันก็รู้ว่าร่างกายเป็นของเรา ก็คือวิญญาณนั่นเองรู้ นั่นล่ะก็เท่ากับโมหะทันที นั่นล่ะวิญญาณมันเกิด มันก็เลยเป็นอาหารของรูปนามที่จะไปเกิดต่อ เมื่อความรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา วิญญาณที่จะเกิดเป็นโมหะที่รู้ว่าร่างกายเป็นของเราก็ไม่มี เมื่อรู้ว่าเวทนาไม่ใช่ของเรา วิญญาณที่จะรู้ว่าเวทนาเป็นของเราก็ไม่มี เพราะเห็นความจริงว่าเวทนาไม่ใช่ สัญญาสังขารวิญญาณก็เหมือนกัน แม้แต่ตัววิญญาณความรู้ที่ว่าเป็นของเราก็ไม่ใช่อีก ทำไมถึงไม่ใช่ก็พูดให้ฟังเมื่อกี้ เมื่อเห็นรู้มันหมด มันก็เลยไม่มี มันก็เกิดไม่ได้ เมื่อมันเกิดไม่ได้บ่อยเข้าถี่เข้าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สุดท้ายอวิชชามันก็ดับ ดับหมด รูปนามก็ไม่มีแล้วที่จะเกิด (ผู้ฟัง: จุดนี้โยมพยายาม เอ้ หาจุดนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อจะไม่ให้วิญญาณมันไปต่อ ตัวไหนที่จะต้องรู้จะต้องเข้าใจ หาด้วยตัวเองไม่เจอ พอท่านอาจารย์มาพูดที่บ้านและก็วันนี้ ตรงนี้เอง เมื่อก่อนโยมถามตัวเอง เราจะวางวิญญาณจะทำอย่างไร ปัญญามันน้อยและสติมันน้อยเจ้าค่ะ)

------------------------------------------------------------------
“ทำสมาธิ ชอบถามกันว่า ทำอย่างไรให้สงบ ที่ถูกคือ สงบก็รู้ สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็รู้ ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย เพราะเราไม่เอาทั้งสงบหรือไม่สงบ ทิ้งมันทั้งสองอย่าง เราเอาแค่ “รู้”ก็พอ สุดท้ายก็เหลือแต่ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น”

“ทำจิตให้เป็นกลาง ไม่เข้าข้างทั้งสุขและทุกข์”

.....................................................
“เวลาทำสมาธิ ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก ให้รู้ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบังคับลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจเข้าออก สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น”

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อสันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ย. 2009, 05:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุกับท่านขงเบ้งด้วยครับ

ถ้าจัดแถวให้ดีจะอ่านง่ายกว่านี้ครับ


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2009, 10:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 พ.ย. 2009, 15:28
โพสต์: 307

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาครับ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร