วันเวลาปัจจุบัน 23 ก.ค. 2025, 21:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2010, 23:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 ก.ค. 2008, 23:37
โพสต์: 449

ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ปล. :ข้อมุล จากมหาสติ
ถาม :ค่ะ อยากให้อาจารย์ได้อธิบายคำว่าบรรลุธรรมค่ะ เพราะเวลาที่เพื่อนๆ
ส่งคำถามขึ้นมาเนี่ย จะทำให้เข้าใจได้ว่าเพื่อน ๆ ยังไม่เข้าใจในเรื่องธรรมะขององค์สมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจะมีหลายคำถามเลยคะ ที่ได้ใช้คำว่าบรรลุธรรม
และไม่เข้าใจว่าการบรรลุธรรมนั้นหมายความว่าอะไรคะ

อาจารย์ : ธรรมคือสภาวะแห่งความเป็นจริง ธรรมะทีพระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว
คือสภาวะที่ประเสริฐที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคน ดังนั้นการบรรลุธรรมคือ

การบรรลุสภาวะที่ประเสริฐที่เกิดประโยชน์ สูงสุดต่อชีวิตของเราจริง ๆ

การจะบรรลุธรรมนั้น มีอยู่สามอย่างที่เราจะต้องผ่านนะ

หนึ่ง รู้ธรรมในขั้นนี้จริง ๆ พวกเรารู้ธรรมกันมาเยอะแล้ว รู้ใช่ไหมว่าอะไรดี อะไรชั่ว

อะไรควร อะไรไม่ควรก็รู้ สมาธิก็รู้ รู้ว่ามันมีสมาธินะ สมาธินี้มีประโยชน์จริงนะ ถ้าเข้าได้

จึงมาฝึกกันอยู่นี่ ที่สุดของชีวิตคือความตาย ที่สุดของทุกสิ่งคือความบริสุทธิ์ รู้ใช่ไหม

นั้นแสดงว่ารู้ธรรมแล้ว แต่ส่วนใหญ่เราจะรู้แบบด้าน ๆ โดยไม่มีความเข้าใจลึกซึ้ง

เมื่อเข้าใจไม่ลึกซึ้งก็จะไม่สามารถสร้าง know how จากการรู้นั้นได้ เมื่อไม่เข้าใจ

ก็ไม่รู้วิธีการทำให้เกิด ไม่รู้วิธีการทำให้ตั้งอยู่ ไม่รู้วิธีการนำมาใช้เพราะไม่เข้าใจ

ดังนั้นต้องทำให้เข้าใจด้วย การเข้าใจนั้นจะต้องไปเข้าใจองค์ประกอบและกลไก

ในรายละเอียดต่าง ๆ ของสมาธิว่ามีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง อย่างถ้าเราจะต้องสร้าง

และเข้าสมาธิขึ้นมาเดี๋ยวนี้ เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง เอาอะไรเป็นองค์ประกอบ

เอาบรรยากาศ เป็นองค์ประกอบไหม เอาความตั้งใจเป็นองค์ประกอบไหม

เอาสัญญาเก่ามาเป็นองค์ประกอบไหม เอาอารมณ์ใดมาเป็นองค์ประกอบ นี้ต้องเข้าใจ

แล้วจะทำให้มันประกอบกันในสัดส่วนใด ตามขั้นตอนอย่างไร สมาธิจึงจะเกิดตาม ปรารถนา

นี้คือความเข้าใจ หลังจากที่เราเข้าใจแล้วปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ก็จะบรรลุธรรมโดยลำดับ

ธรรมะโดยลำดับก็คือว่า เอาระดับหยาบก่อน อย่างเช่นการที่เราจะบรรลุสมาธิหรือ

เข้าสู่สภาวะสมาธิก็คือทำให้สมาธิเป็นสภาวะแห่งเรา ณ ขณะนั้น เราเป็นสมาธิจริง ๆ

ไม่ใช่เพี่ยงแค่เข้าใจสมาธิว่าฉันเข้าใจแล้วสมาธิน่ะ ฌาณหนึ่งมันจะต้องวิตกอยู่กับ

องค์บริกรรมนะ แล้วต้องคอยวิจารณ์ ดูว่ามันเล็ก มันใหญ่ มันเบามันดังแค่ไหน

อันนั้นแค่ความเข้าใจ ซึ่งยังไม่พอ จะต้องอยู่สภาวะนั้นจริง ๆ ทำจริง ๆ ทำจนกระทั่ง

ได้สภาวะนั้นจริง ๆ เราก็จะบรรลุขั้นนั้น

พอเราบรรลุขั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็ในทำนองเดียวกัน คือเราต้องทำให้เข้าสภาวะนั้นจริง ๆ

เอาอะไรให้เข้าสภาวะ ก็เอาใจของเรานั้นแหละ ดังนั้นสภาวะนั้นมันอยู่ที่ไหน

มันก็อยู่ที่ใจของเรา ในใจของเรานั้นมันมีหลายสภาวะ เจตสิกทั้งหลายนั้นเมื่อมันรวมกัน

โดยส่วนผสมที่ซับซ้อนสามารถเป็นได้กว่าสามหมื่นกว่าสภาวะ ถ้าแบ่งอย่างหยาบ ๆ

ปรากฏได้ 121 สภาวะที่เราเรียกว่าจิต 121 ดวงนั่นเอง ดวงก็คือภาวะ ใจดวงเดียวแต่มี

อาการปรากฎได้ 121 ภาวะใหญ่ ภาวะเหล่านี้มันอยู่ในใจของเราทั้งสิ้น เมื่อเราเข้าไป

เป็นหนึ่งเดียวกับภาวะนั้น แล้วเรียกว่าสภาวะ เมื่อเราคุ้นเคยกับสภาวะจนควบคุมมันได้

บริหารมันได้ ใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มที่ตลอดเวลาที่ปรารถนาก็เรียกว่าบรรลุธรรม นั้น ๆ

ดังนั้นเมือทราบว่าสภาวะธรรมใดดีก็ต้องสร้างมันขึ้นมา หรือสภาวะใดมีอยู่แล้วแต่เราละเลยมัน

ก็ต้องเข้าไปหามันใหม่

พอเป็นปัญญานี่ ปัญญามันจะมีอยู่สองขั้นตอน

ขั้นตอนแรกคือ เราเห็นด้วยจิตของเราจริง ๆ หลังจากที่เราฝึกสมาธิของเรามาดี นิ่ง สว่าง

ว่างพอสมควร เราเห็นด้วยจิตของเราจริง ๆ อย่างการเห็นธรรมชาตินั้นคือเห็นตัวธรรมชาติจริง ๆ

ไม่ใช่เห็นแค่ต้นไม้ สายน้ำ ภูเขา แล้วบอกว่านี่คือธรรมชาติ ไม่ใช่นะ นั่นเป็นแค่ปรากฏการณ์

แห่งธรรมชาติ ยังไม่ใช่สภาวะธรรมชาติจริง ๆ หรือว่าธรรมชาติคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ฟ้า อากาศ

ไม่ใช่นะ นั้นไม่ใช่ นั้นมันแค่ระดับความเข้าใจ ไม่ใช่ตัวปัญญา ปัญญาแท้นั้นมันเห็นเมทริกซ์

แห่งความมีอยู่และเป็นไปนะ รู้จักเมทริกซ์กันไหม หนังที่เขาสร้างเรื่องเมทริกซ์นะ

นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เขาพยายามอธิบาย ก็ดีเหมือนกันแต่ยังไม่สมบูรณ์ เมทริกซ์ก็คือสภาพ

ความสัมพันธ์อันซับซ้อนของความมีอยู่เป็นอยู่ ปัญญมันเห็น แม้ในระดับรากเหง้า และระดับ

องค์ประกอบอันละเอียดอ่อน เห็นโครงสร้างทั้งหมดของธรรมชาติ ซึ่งเห็นด้วยตัวจิตโดยตรง

คือ เอาจิตไปสัมผัสธรรมชาติโดยตรง อันนี้เป็นปัญญขั้นหนึ่ง

ปัญญาขั้นที่สองเกิดขึ้นได้โดยเอาสภาวะแห่งใจไปเป็นสิ่งนั้น หรือเอาสิ่งนั้นมาเป็นใจ

ให้ได้ นั้นคือปัญญาในการสร้างความสัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์หรือบริหารธรรมชาติ เราอาจจะ

เอาตัวเองไปเป็นสิ่งนั้น เราเลือกแล้วว่าธรรมชาติแห่งความว่างที่รองรับความมีทังหลายอยู่นั้น

มันสงบล้ำลึก เราเอาตัวเองไปเป็นความว่างให้ได้ นั่นเป็นปัญญาขั้นที่สอง ทำหลังจากเห็น

ด้วยจิตโดยตรง เราก็เอาไปเป็นโดยตรง นั่นคือบรรลุปัญญาขั้นสอง

การบรรลุธรรมสุดยอดนั้นก็คือ หลังจากที่เรารู้เห็นทั้งหมดและเลือกเป็นบางอย่างแล้ว

เราจะประจักษ์แจ้งว่าเป็นอะไรมันก็ไม่ประเสริฐเท่ากับความบริสุทธิ์ แล้วเราก็จะละ

ความเป็นทั้งหมด แม้กระทั่งความว่าง เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้วิเศษ เป็นคนดี เป็นสารพัดเป็น

ละทิ้งหมด จนกระทั่งมันเหมือนกับเกิดอีกสภาวะหนึ่งขึ้นมาซึ่งไม่ใช่อะไรในธรรมชาติเลย

มันเหนือธรรมชาติ ที่เราเรียกกันว่าพุทธะ นั่นแหละคือความบริสุทธิ์

ถ้าเริ่มเข้าเขตนิด ๆ ก็เริ่มเข้าเขตชั้นต้นเรียกว่าโสดาบัน ถ้ามากขึ้นก็จะเข้าเขตสกทาคามี

ถ้ามากขึ้นก็เรียกอนาคามี ถ้าเต็มที่เต็มรอบร้อยเปอร์เซ็น พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่าเต็มรอบ

เมื่อนั้นก็เป็นพระอรหันต์

ตอนที่เข้าเขตความบริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้น จะมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นในสารบบขันธ์ของเรา

ทั้งร่างกายและจิตใจ เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ มันจะเกิดอาการซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน

บอกได้แต่เพียงว่าอาการดั่งว่าจะตาย จะบอกตัวอาการไม่ได้ เดี๋ยวจะเกิด mood making

ขึ้นมา แล้วมันจะไม่ใช่ของจริง ดังนั้น เวลาเกิดอาการดั่งว่าจะตาย อย่ากลัวตาย

ยอมตายไปเลย พอทะลุตรงนั้น แล้วจะเข้าเขตการบรรลุธรรมแท้จริง

แต่คนส่วนใหญ่พอเจอตรงนั้น โอ้ยกลัว ถอยกลับ ๆ คือจ่อไปที่ประตูแล้วก็ถอยกลับ

เลยไม่ทะลุธาตุถึงธรรมกันเสียที ฉะนั้น ถ้าใครกลัวตาย ไม่ถึง ไม่ถึงอริยะ แต่สามารถ

บรรลุธรรมในขั้นโลกิยะได้ คือเข้าความว่างได้ เข้าสมาธิได้ มีปัญญยิ่งใหญ่ได้

อันนี้ได้ แต่ถ้าจะเข้าอริยะต้องพร้อมตาย ก็มันไม่ต้องเป็นอะไรแล้ว ถ้ามันจะตาย

แล้วมันจะแปลกอะไร ใช่ไหม ตายก็ตาย ต้องปลงใจตายนะ

ถ้าปลงใจตายสักพักหนึ่งอาการนั้นจะสงบ พอสงบแล้วท่านจะเข้าสู่เขตใหม่เลย

มันเปลี่ยนไปหมด ร่างกายก็จะเปลี่ยน จิตใจ วิสัยทัศน์จะเปลี่ยนหมด

และใน 3 วัน 5 วัน 7 วัน จะมีอาการต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจชัดเจน

ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะ ไม่รู้ จะรู้ชัดเจนมาก และแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มีแน่นอน

บุญบารมีกับการบรรลุธรรม

ถาม: เห็นพระท่านว่าคนมีบารมีจะรวย รักษาศีลก้จะรวย แนะนำ
ให้ทำบุญไว้เยอะ ๆ แต่ทำไมพระที่ท่านสำเร็จอรหันต์จึงมักเกิดมาในตระกูลยากจน
ก็เลยทำให้เราไม่มั่นใจ

อาจารย์ : เป็นคำถามที่ดีมากนะ มันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของ

การเกิดแต่ละชาติของท่าน ถ้าเป็นชาติสุดท้าย หลายท่านเลือกเกิดในที่กันดาร เพื่อที่จะไม่ให้จมโลก

ปล่อยวางได้ง่าย แต่พอท่านสำเร็จแล้ว ดูซี คนก็แห่กันเอาของมาประเคนให้ท่าน เพราะบุญบารมีเดิม

ท่านมี แต่ท่านจะใช้ในยามที่เหมาะสม

หรือถ้าเป็นชาติที่บำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย จะถูกจัดสถานการณ์บีบคั้นไว้

เพื่อเจริญธรรม เช่น พระแม่กวนอิม เคร่งครัดในศีลจนเกินกว่าที่จะอยู่ในโลกตามปกติได้

พ่อขอร้องก็ไม่เลิก ถูกพ่อสั่งประหาร ท่านก็ยอมตายดีกว่าเสียศีล จนข้างบนทนไม่ได้

ต้องพาไปไว้บนเกาะ ท่านก็บำเพ็ญบารมีจนมีฤทธิ์

หรืออย่างพระเวสสันดร ถูกประชาชนประท้วงที่ยกช้างคู่บ้านคู่เมืองให้คนอื่น

ขอให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพระราชบิดาเนรเทศ ออกจากเมืองต้องไปอดอยากตกระกำลำบาก

อยู่กลางพงไพรกับคู่ทุกข์คู่ยาก แต่ในที่สุดคนก็อภัยให้ท่าน และไปรับท่านกลับมาครองเมือง

ถ้าขืนไม่รับกลับนี่บ้านเมืองคงเสียหาย เห็นไหมชาติหน้าจะเป็นพระพุทธเจ้ออยู่แล้ว

บารมีขนาดไหนยังถูกเนรเทศไปลำบาก

หรือแม้แต่ท่านกาลิเลโอออกมาประกาศสัจจะให้โลกได้รู้ แต่สัจจะนั้นขัดกับความเชื่อของ

คนหมู่มากท่านถูกบังคับให้กินยาพิษตาย ท่านยอมตายโดยไม่ยอมเสียสัจจะ

ท่านก็ได้สัจจะปรมัตถบารมีไปเต็ม ๆ ถ้าไม่ยอมก็ไม่ได้ นั่นเป็นวิถีการบำเพ็ญ


เห็นไหม คนมีบารมีชนิดไม่มีใครในโลกในยุคสมัยนั้น จะเทียบได้ ชีวิตท่าน

ก็ยังต้องระหกระเหินหรือระกำลำบากหรือเจ็บปวด เพราะเป็นขั้นตอนที่ถูกจัดไว้เพื่อการสำเร็จ

ปรมัตถปารมีหรือคัดคนก็แล้วแต่ว่าท่านวางแผนกันมาอย่างไร

หรือแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าหรือแม้นักปฏิบัติธรรมทั่วไปก็ดี หลายท่านอาจจะไม่ได้

ร่ำเรียนมาหรือเรียนไม่สูง ไม่จบปริญญาเหมือนพวกเรา แต่อย่าคิดว่าท่านไม่มีปัญญานะ

ปัญญาของบางท่านนี่หาใครในโลกเทียบยากเลย

ดังนั้นปริญญากับปัญญาก็เป็นคนละอย่างกัน ปริญญานั้น พอวัดได้แค่สุตมยปัญญา

และจินตมยปัญญานิดหน่อยเท่านั้น แต่ภาวนามยปัญญาซึ่งเป็นปริญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ระบบการศึกษาในวิชาการทางโลกทุกวันนี้ยังเข้าไม่ถึงพัฒนาการทางปัญญาขั้นนี้

ดังนั้นเจอนักปฏิบัติจน ๆ หรือไม่มีปริญญาหรือระกำลำบาก หรือประเภท extreme

นี่อย่าดูหมิ่นเป็นอันขาด จะทำให้ตัวเองเดือดรัอนนัก หรือคลาดจากโอกาสดีที่ยิ่งใหญ่

ถ้าช่วยได้ควรช่วยก็จะเป็นบุญบารมีที่ยิ่งใหญ่ร่วมกับท่านเช่นกัน

ดังนั้นพระที่สำเร็จอรหันต์แม้มาจากฐานะยากจน ไม่ได้หมายกความว่า

ท่านไม่มีบารมี มีมากกว่าคนรวยด้วยซ้ำ เพราะบารมีที่ทำให้รวยนั้นใช้แค่หนึ่งในสามสิบทัศน์

ก็รวยได้ แต่บารมีที่ทำให้สำเร็จอรหันต์นั้น ต้องใช้อย่างน้อยสิบในสามสิบทัศน์จึงจะสำเร็จได้

เพียงแต่ท่านจะใช้บารมีใดตอนไหน เพื่อผลอะไรเท่านั้น

สติกับสมาธิ

ถาม : เวลานั่ง ๆ ไป เหมือนมันดิ่งจะหายไปไหนก็ไม่รู้ รู้สึกกลัว
ขึ้นมาเลยรีบกำหนดใหญ่เลย ไม่ทราบว่าทำถูกไหม

อาจารย์ : กำหนดรู้ ๆ เพราะไม่กล้าดิ่งเข้าไปใช่ไหม
ถาม : ใช่คะ
อาจารย์ ดีแล้วที่ไม่ทิ้งรู้ แต่เข้าไปให้สุดรู้
ถาม ไม่รู้มันจะไปไหน
อาจารย์ มันเข้าไปสู่สภาวะ สภาวะนั้นมีหลายระดับซ้อนกันอยู่ แม้แต่
ใจของเราก็มีหลายสภาวะ แม้ในสภาวะหนึ่งก็มีหลายระดับ นั่นสภาวะภายใน นอกจากนั้นยังมีสภาวะ
ภายนอกอีก เช่นความว่างนี่ ในใจเราก็มี ความว่างสากลข้างนอกก็มี ซึ่งเราควรเรียนรู้ให้หมด
รู้ภายในล้ำลึกเข้าไปโดยลำดับนั่นแหละธรรมในธรรม ไม่กล้าแล้วจะเข้าถึงธรรมได้อย่างไร
ก็ได้เพียงแค่เข้าใจธรรมตามที่คนอื่นอฺธิบายเท่านั้นแหละ ที่ไม่กล้าดิ่งไปเพราะกลัวสติขาดตอนใช่ไหม

ตอบ ค่ะ
อาจารย์ ก็ทำไมไม่ดิ่งไปด้วยสติเลยล่ะ
ถาม ทำอย่างไรค่ะ ทำไม่เป็น
อาจารย์ จะไปลึกแค่ไหน ก็รู้ในการไปตลอด
ถาม แล้วมันจะรู้ได้ตลอดเหรอคะ
อาจารย์ รู้ตราบเท่าที่กำหนด จิตจะทำงานตามสังขาร การกำหนดเป็นมโนสังขารที่จิตต้องรับรู้

ถาม ถ้ามันไปไม่กลับล่ะคะ

อาจารย์ ก็ดี ตายสบาย
ถาม หนูหมายถึงว่าถ้ามันไปเรื่อย ๆ จนไม่รู้ตัว สติกำหนดรู้มันหายไป มีโอกาสเป็นไปได้ไหมคะ

อาจารย์ ได้ แต่ไม่ง่ายหรอก คนสองประเภทที่ไม่มีสติ คือคนบ้า กับนักปฏิบัติที่เข้าฌาณแปด
กับฌาณเก้า สองฌาณนี้ไม่มีสติ จิตหยุดทำงานไปชั่วขณะที่เขาฌาณ

ถาม ถ้าอย่างนั้น คนบ้ากับคนมีสมาธิก็ไม่ต่างกันซีคะ
อาจารย์ ต่างกันฟ้ากับดินเลย เป็นคนละสุดปลายสายสติ
คนบ้านั้น สังขารยังทำงานอยู่มั่วซั่วมาก แต่สติอ่อนเกินกว่า ที่จะรู้และควบคุมสังขารได้
จึงเรียกว่าเสียสติ คือสติมันเสียไป ใช้ไม่ได้ กำหนดอะไรไม่ได้ แม้รู้ตัวก็เหมือนไม่รู้
แต่นักฝึกจิตที่เข้าฌาณแปด ฌาณเก้านั้น ท่านหยุดการทำงานของสังขารได้แล้ว
จึงหยุดการทำงานของจิต เมือจิตหยุดทำงาน สติก็ไม่ปรากฏ

เห็นไหม ต่างกันลิบโลกเลย คนบ้าควบคุมอะไรไม่ได้จึงเสียสติ ส่วนนักฝึกจิตผู้ยิ่งใหญ่
สามารถควบคุมได้แม้การทำงานของจิต เราดูสิว่าขณะนี้เราเอียงไปข้างคนบ้าหรือข้าง
ผู้แก่กล้าทางจิต คือควบคุมจิตใจตนเองได้ไหม สั่งให้หยุดคิดได้ไหม เปลี่ยนความรู้สึกได้
ตามประสงค์ไหม หรือรู้เฉย ๆ โดยไม่รู้สึกได้ไหม หรือสั่งให้หยุดรู้เลยบ้างได้ไหม

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งพวกเราควรเข้าใจ คือสมาธินั้นใหญ่กว่าสติ พอ เราเข้าสมาธิใหญ่ ๆ
ลึก ๆ เราหยุดการทำงานของจิตแล้ว ดับสติได้ ไม่มีสติแล้ว ด้วยเหตุนี้สัมมาสติจึงมาก่อน
สัมมาสมาธิ เพราะสมาธิมันเลยสติไปอีก แต่ก็ต้องอาศัยสติและผ่านสตินั่นแหละจึงจะได้สมาธิ

ถาม ถ้าเรากำหนดรู้เฉย ๆ ตลอดเวลาจะเป็นสมาธิไหมครับ
อาจารย์ ถ้าหนดที่รู้ จนรู้ต่อเนื่องก็ได้สมาธิโดยธรรมชาติ แต่ถ้ากำหนดเวทนาก็ไม่ได้
ถ้าเราปวดหัวแทบระเบิด แล้วกำหนดว่า " ปวด ปวดหนอ โอย ปวดหนอ ปวดจังเลยหนอ "
จะเข้าสมาธิได้ไหม

ตอบ คงไม่ได้
อาจารย์ ดังนั้นสติจะนำเข้าสู่สมาธิได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสามสภาวะ คือ

1) สิ่งที่กำหนด ถ้ากำหนดสุขก็เข้าสมาธิง่าย เพราะสุขเป็นองค์ประกอบของสมาธิ ถ้ากำหนดทูกข์
เข้าสมาธิยาก แต่วิปัสสนาง่าย เพราะทุกข์เป็นองค์ประกอบของวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาได้ผลก็จะเกิดสมาธิ
อันเกิดจากปัญญาภายหลัง ถ้ากำหนดอย่างเดียวโดยไม่วิปัสสนาอาจตอกย้ำเวทนา
ให้รุนแรงขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นต้องทำตามข้อสอง

2) กำหนดสติให้เข้มกว่าเวทนามาก มันจะทรมานมากขึ้น จนเวทนาบิดเกลียวเต็มที่
กระทั่งสายใยของจิตกับเหตุแห่งเวทนา เช่น กรรมมันขาด ก็จะหลุดจากเวทนาเข้าสมาธิได้

3) ทำสติให้เต็มรอบ คือรู้กายในกาย รู้เวทนาในเวทนา รู้จิตในจิต รู้ธรรมในธรรมพร้อม ๆ กัน
ซึ่งจะต้องชำนาญในจิตมากจึงจะทำได้ เมื่อทำได้แล้ว ต่อไปพอรู้เวทนาปั๊บ ปัญญารู้อีกสี่ตัว
มันออกมาหมุนรอบด้วยทันที จะทำให้หลุดได้ เช่น พอเวทนาเกิด สติรู้เวทนา และสติรู้กายในกาย
เข้ามาสมทบ จึงเห็นเหตุเกิดเวทนาได้ชัด สติรู้จิตในจิตเข้ามาสมทบจึงรู้ตัวเสพเวทนา
และสายการทำงานของเวทนาได้ชัด และสติรู้ธรรมในธรรม ที่เห็นควาไม่เที่ยงของเวทนาเข้ามา
สมทบก้จะปล่อยวางเวทนาได้ทันใด เวทนาหมดอิทธิพลก็เข้าสู่อิสรภาพ จิตเป็นใหญ่
เข้าสมาธิได้อีกเช่นกัน นี่สติต้องเต็มรอบอย่างนี้จึงจะนำเข้าสู่สมาธิได้

กระนั้นสติสามารถนำเข้าสู่สมาธิได้ถึงฌาณเจ็ด ถ้าสติไม่ดีจะเข้าฌาณทั้งเจ็ดไม่ได้
แต่พอจะเข้าฌาณแปด และเก้าต้องหยุดการทำงานของจิต ดับสติได้จึงจะเข้าได้
ด้วยเหตุนี้ สัมมาสมาธิจึงเป็นมรรคข้อที่แปด สัมมาสมาธิเป็นมรรคข้อที่เจ็ด
เพราะสติเป็นฐานของสมาธิ

ความสุขของนักปฏิบัติธรรม

ถาม : บางครั้งปฏิบัติธรรมไป ใจมันห่อเหี่ยว ทำยังไงถึงจะเป็นสุขบ้าง อาจารย์ทำอย่างไร
จึงดูเฉย ๆ และสบายดี

อาจารย์ : ที่ปฏิบัติธรรมแล้วห่อเหี่ยวแสดงว่าวิปัสสนาตื้น ๆ และอ่อนสมถะไปจึงเถือกิเลสไม่ขาด
เมื่อเถือไม่ขาด แต่เห็นอยู่ว่ากิเลสพาทุกข์มาให้จึงเบื่อหน่าย และไม่รู้วิธีการก้าวล่วงออกจาก
ความเบื่อหน่ายจึงห่อเหี่ยว

ดังนั้นต้องเติมสมถะให้สมดุลกัน และเมื่อเบื่อหน่ายแล้วต้องปล่อยวางสิ่งที่น่าเบื่อให้ได้ทั้งภายใน
ภายนอกทั้งสองส่วนนะ ถ้าวางส่วนเดียวได้จะไม่ขาด เช่น เจอคนเจ้าอารมณ์น่าเบื่อ
ก็ละคนนั้นแต่ไม่ละนิสัยชอบข้องแวะกับคนอื่นหรือนิสัยพูดจากระตุ้นอารมณ์ผู้อื่น ก็จะเจออีก
ดังนั้นต้องละทั้งสองส่วน ทั้งสิ่งที่น่าเบื่อข้างในและข้างนอก ชีวิตก็จะปลอดโปร่งมากขึ้นโดยลำดับ
ยิ่งปลอดโปร่งก็ยิ่งเป็นสุข
ความสุขจะขึ้นอยู่กับความปลอดโปร่ง ความปลอดโปร่งจะขึ้นอยู่กับการวาง

ถาม ที่จริงก็เข้าใจบางทีก็อยากจะวาง แต่มันวางไม่ลง
อาจารย์ จึงยังขมขื่นอยู่เมื่อจำเป็นต้องอยู่กับสิ่งที่ตนเห็นว่าไร้สาระน่าเบื่อ ดังนั้นให้เพิ่มความต้งใจ
ให้แรงกล้ายิ่งขึ้น เมื่อปัญญามากความตั้งใจเข้มแข็งมันก็จะวางได้

ช่วงที่เรามีความสุขที่สุดในการฝึกจิตก็คือช่วงที่เป็นนักศึกษา เรานั่งสมาธิริมทะเล
ทุกวันเช้าเย็น ตอนนั้นฝึกแบบฤาษี เลิกเรียนแล้ว ก็กลับบ้านนั่งสมาธิริมทะเลทุกวันไม่เที่ยวไม่เตร่
เราเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยเดียว ไม่เลือกที่อื่นเลย ด้วยเหตุผลเดียว
เพราะใกล้ทะเล ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชีวิตมีความสุข จากการฝึกจิตในธรรมชาติมากที่สุด
นั่นเป็นรสแห่งสมถะ

ช่วงที่มีความสขจากการปฏิบัติธรรมมากที่สุด คือช่วงที่บวช แล้วศึกษาพระไตรปิฎก
และปฏิบัติตามพระไตรปิฎกและตามคำสอนของครูบาอาจารย์อยู่ในถ้ำ ช่วงนั้นธรรมะ
จะผุดขึ้นมาในใจตลอด มองโลกไม่เป็นโลก หลุดโลกไปเลยและได้พบอะไรดี ๆ มาก
ได้ธรรมรสมากที่สุด เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่อีกช่วงหนึ่งของชีวิต

นักปฏิบัติธรรมกับผู้ทรงธรรม

ถาม: อาจารย์ขา แต่ยังเห็นผู้ปฏิบัติธรรมสำนักโน้น สำนักนี้ยังว่ากันอยู่ ต่างก็คิดว่า
ของตนดีกว่า และว่าคนอื่น

อาจารย์ : พวกนักปฏิบัติธรรมนี่ยังอาจทะเลาะกันด้วยวิธีปฏิบัติ แต่ผู้ทรงธรรมจะไม่ทะเลาะกัน
คนเราจะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามที่ตนเป็นหรือเคยเป็น เพราะทุกคนจะมองผ่านประสปการณ์
ของตนออกไปข้างนอก คนคับแคบก้จะเห็นคนอื่นคับแคบ คนโง่ก็จะเห็นคนอื่นโง่ คนเห็นแก่ตัว
ก็จะเข้าใจว่าคนอื่นเห็นแก่ตัว คนผิดก็จะเห็นคนอื่นว่าผิด รวมทั้งคนที่เห็นคนอื่น้าก็เพราะ
ตัวเองบ้าอยู่ ดังนั้นถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่ยังไมบรรลุธรรม อาจจะยังยึกวิธีปฏิบัติ
คือ ความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งอยู่ ก็อาจจะไม่เข้าใจผู้ที่ใช้วิธีอื่น เชื่ออย่างอื่น

แต่พอบรรลุธรรมแล้ว ความยึดถือไม่มีแล้ว จึงไม่ต้องไปทะเลาะอะไรกับใคร
สำหรับผู้ทรงธรรมนั้นจะเห็นทุกระดับ เพราะท่านผ่านมาหมด หรือเกือบหมด แต่คนทั้งหลาย
จะเข้าใจท่านน้อย เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดเฉพาะตามที่ตนยึดถือ

ดังงนั้นเมือใครเป็นผู้ทรงธรรมมากขึ้น ต้องทำใจเลยว่าคนจะเข้าใจน้อยลง
แต่เราจะเข้าใจคนทั้งหลายได้มากขึ้น และญาณมันจะบอกเองแหละว่าควรเสียเวลากับใคร
หรือเรื่องอะไรมากน้อยแค่ไหน ควรเกี่ยวข้องลึกซึ้งแค่ไหน ปกติแล้วถ้าผู้ใดไมสามารถเข้าใจได้
ในการพยายามครั้งที่สาม พระพุทธเจ้าและพระอริยะท่านก็จะปล่อยแล้ว
นี่เป็นมาตรฐาน สากลสำหรับผู้ทรงธรรมทั้งหลาย


การฝึกจิตให้ก้าวหน้า

ถาม การทำเจริญภาวนาจิตเช่นเข้ากรรมฐาน จะมีวิธีอย่างไร จึงจะพัฒนาเรื่อย ๆ
แล้วไปถึงขั้นสูงสุดคะ

อาจารย์ อย่าหยุด แค่นั้นเอง อย่าหยุด จะใช้วิธีฝึกแบบไหนไมสำคัญ สำคัญที่สุดคืออย่าหยุด
และขอแนะนำว่า จริงแล้วควรจะใช้หลายวิธีนะ เพราะว่าในแต่ละภาวะจิตนั้นในต้องการวิธีแก้ไข
และพัฒนาไม่เหมือนกัน และวิธีปฏิบัติแต่ละวิธีนั้นก้ก่อให้เกิดผลไม่เหมือนกัน
ดังนั้นถ้าจะฝึกให้ได้ดี ควรจะใช้หลายวิธีเช่น

ถ้าจิตไม่มีเมตตาจะแห้งแล้ง เข้าสมาธิยาก แต่ถ้าฝึกเมตตามาก จิตจะฉ่ำและใหญ่
แต่มันจะระคนกับราคะง่ายมาก เป็นสมาธิจริงแต่ระคนกับราคะได้ง่าย ปัญญากลับน้อย
ถ้าไม่มีสติจะเข้าสมาธิไม่ได้ ถ้าฝึกสติดี จิตจะแข็งปัญญาจะคม แต่ไม่กว้าง
ไม่ลึก นี่คือสติแบบทั่ว ๆ ไปนะ
แต่ถ้าฝึกสติแล้วเข้าสมาธิต่อเลย จะได้สมาธิใหญ่ แล้วเอาสมาธิเจริญปัญญา
ซึ่งปัญญาจะใหญ่กว่า ล้ำลึก
วิธีการฝึกแต่ละวิธีเองก็ให้ผลไม่เหมือนกัน ควรจะฝึกหลาย ๆ วิธี ที่สำคัญคือ อย่าหยุด อย่าหยุด

และถ้าต้องการธรรมะลัดย่อ พระพุทธเจ้าทรงบอกว่ารรมะที่ลัย่อที่สุดคือการปล่อยวาง
ปล่อยวางเป็นชั้น ๆ ไป ปล่อยวางโลก ปล่อยวางงาน ปล่อยวางสังคม
ปล่อยวางความสัมพันธ์ ปล่อยวางร่างกายทีละส่วน

และไหน ๆ คืนนี้จะนอน ลองปล่อยวางโดยลำดับจนหลับสบาย
ปล่อยวางทรัพย์สินเงินทองก่อน ปล่อยวางหน้าที่การงาน ปล่อยวางความรับผิดชอบ
ปล่อยวางความสัมพันธ์ จากนั้นมาปล่อยยวางร่างกาย ปล่อยวางทีละส่วน
ตั้งแต่เท้ามาถึงขา ถึงท้อง ถึงอก ถึงหัว ถึงคอ ปล่อยว่างร่างกายทั้งหมด
พอปล่อยวางร่างกายหมด ให้ปล่อยวางความคิดด้วย พอปล่อยวางความคิดหมด
ให้ปล่อยวางความรู้สึก พอปล่อยวางความรู้สึกหมด ในจะนิ่งสงบ
แล้วก็กำหนดหลับไป จะหลับสบายมาก

แม้แต่ความรู้สึกที่นิ่ง ๆ น่ะ จริง ๆ แล้วถ้าจะปฏิบัติให้ได้ผลล้ำลึก ก็ต้องไปชำระความนิ่งอีก
นิ่งมันก็มีหลายระดับ นิ่งตื้อ ๆ นิ่งอึมครึม นิ่งแบบโง่ ๆ กีมีนะ เพราะมันโง่จึงนิ่งก็มี
เพราะมันรู้หมด มันก็นิ่งเหมือนกัน นิ่งแบบสว่างก็มี นิ่งแบบสงบเฉยก็มี นิ่งแบบโล่งโปร่ง
ไปหมดก็มี ดังนั้น นิ่งมันยังมีอีกหลายภาวะ ต้องไปชำระความสงบนิ่งให้นิ่งในนิ่ง
นิ่งในนิ่ง จนกระทั่งไปหาใสในนิ่งได้ จึงจะค่อย ๆ เห็นสิ่งมหัศจรรย์ในตน

เห็นนิ่งอย่างเดียวก็ยังไม่พอ เป็นสมาธิขั้นต้นที่ดี แต่แค่นิ่งแล้วฉันพอแล้ว
เพราะฉันนิ่งแล้ว ไม่พอหรอก เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ดีเท่านั้นเอง คือขึ้นทางที่ดีแล้ว
ขึ้นมรรคที่ดีแล้วถ้านิ่งได้ แต่ยังมีทางทอดยาวให้ก้าวไปอีก


วิธีฝึกจิตที่เหมาะสม
ถาม ขอเพิ่มเติมอีกคำถามนะคะ คำถามเข้ามาไม่หยุดเลย ค่ะ เวลาฝึกจิตหลาย ๆ อย่าง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเหมาะกับวิธีไหน

อาจารย์ เวลากินข้าวอิ่มไหม พอไหม
ถาม อิ่มค่ะ
อาจารย์ หากกินก๋วยเตี๋ยวอิ่มไหม
ถาม อิ่มค่ะ

อาจารย์ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการแท้จริง คือ ความอิมความพอ ซึ่งจะอิ่มจะพอได้เมื่อเราได้
สารอาหารครบ เช่นเดียวกัน สิ่งที่เราต้องการจากการฝึกจิตก็คือความอิ่มความพอแห่งใจ
จะอิ่มพอได้ เมื่อได้ผลครบ คือ ได้สติ สมาธิ ปัญญา ดังนั้นจะใช้วิธีใดไม่สำคัญ ที่สำคัญ
คือได้สติ สมาธิ ปัญญา ครบไหม

ถ้าจะให้ครบถ้วน จริง ๆ แล้วควรฝึกทุกวิธีด้วย เหมือนอาหารนั้น ถ้าต้องการสารอาหาร
ครบถ้วน ต้องกินหลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่กินอย่างเดียงตลอดกาล จะขาดสารอาหาร
การฝึกจิตก็เช่นกัน ฝึกอย่างเดียวทุกที จะขาดสภาวะดี ๆ ถ้าจะให้ดีต้องฝึกทุกวิธี
เพราะจิตในผันแปรไปหลายภาวะ หลายอารมณ์ แต่ละสภาวะเราต้องการ เทคนิคต่าง ๆ กัน
เพื่อจะบริหารจิตใจให้ได้สติ สมาธิ ปัญญา

อย่าติดวิธีเดียว จะผอมกระหร่อง จิตไม่แกร่ง ไม่ฉับไว ไม่พร้อมบริบูรณ์
พระพทธบรมครูมอบมรดกไว้ให้เยอะแยะ ทำไมไมรู้จักใช้ให้หมด ใช้ให้คุ้ม
ทรงมอบไว้ให้ใช้ ไม่ได้มอบไว้ให้ยึดถือหรือแบ่งแยก

.....................................................
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม


แก้ไขล่าสุดโดย kokorado เมื่อ 24 ก.พ. 2010, 05:20, แก้ไขแล้ว 16 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2010, 00:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12232


 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ.. :b8: :b8:

แต่ว่า..

บทความจากไหน..??
อาจารย์ผู้ตอบเป็นใคร..??

บอกได้น่าจะดี..เน๊าะ :b12: :b12:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2010, 09:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 09:34
โพสต์: 1478

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กบนอกกะลา เขียน:
สาธุ.. :b8: :b8:

แต่ว่า..

บทความจากไหน..??
อาจารย์ผู้ตอบเป็นใคร..??

บอกได้น่าจะดี..เน๊าะ :b12: :b12:


นั่นสิ่...อยากรู้เหมือนกัน...

เพราะ...จริง ๆ นะ...ท่าน ไชย ณ พล...
เป็น...นักเขียนท่านแรก ๆ ที่เอกอน...ชื่นชอบเลยล่ะ...

จริง ๆ นะ...ทุกวันนี้ ก็ยังชื่นชอบท่านอยู่...ประมาณว่า...
เห็นชื่อท่านบนแผงหนังสือไม่ได้...


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2010, 16:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 ก.ย. 2007, 23:29
โพสต์: 1065


 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
พวกนักปฏิบัติธรรมนี่ยังอาจทะเลาะกันด้วยวิธีปฏิบัติ แต่ผู้ทรงธรรมจะไม่ทะเลาะกัน
คนเราจะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามที่ตนเป็นหรือเคยเป็น เพราะทุกคนจะมองผ่านประสปการณ์
ของตนออกไปข้างนอก คนคับแคบก็จะเห็นคนอื่นคับแคบ คนโง่ก็จะเห็นคนอื่นโง่ คนเห็นแก่ตัว
ก็จะเข้าใจว่าคนอื่นเห็นแก่ตัว คนผิดก็จะเห็นคนอื่นว่าผิด รวมทั้งคนที่เห็นคนอื่น้าก็เพราะ
ตัวเองบ้าอยู่ ดังนั้นถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่ยังไม่บรรลุธรรม อาจจะยังยึกวิธีปฏิบัติ
คือ ความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งอยู่ ก็อาจจะไม่เข้าใจผู้ที่ใช้วิธีอื่น เชื่ออย่างอื่น

แต่พอบรรลุธรรมแล้ว ความยึดถือไม่มีแล้ว จึงไม่ต้องไปทะเลาะอะไรกับใคร
สำหรับผู้ทรงธรรมนั้นจะเห็นทุกระดับ เพราะท่านผ่านมาหมด หรือเกือบหมด แต่คนทั้งหลาย
จะเข้าใจท่านน้อย เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดเฉพาะตามที่ตนยึดถือ


ดังนั้นเมื่อใครเป็นผู้ทรงธรรมมากขึ้น ต้องทำใจเลยว่าคนจะเข้าใจน้อยลง
แต่เราจะเข้าใจคนทั้งหลายได้มากขึ้น และญาณมันจะบอกเองแหละว่าควรเสียเวลากับใคร
หรือเรื่องอะไรมากน้อยแค่ไหน ควรเกี่ยวข้องลึกซึ้งแค่ไหน ปกติแล้วถ้าผู้ใดไมสามารถเข้าใจได้
ในการพยายามครั้งที่สาม พระพุทธเจ้าและพระอริยะท่านก็จะปล่อยแล้ว
นี่เป็นมาตรฐาน สากลสำหรับผู้ทรงธรรมทั้งหลาย


:b43: :b43: :b43:

สาธุ...สาธุ...สาธุ กับ ท่านไชย ณ พล
และท่านเจ้าของกระทู้ที่นำธรรมบรรยายดีดีของท่านมาเผยแผ่ด้วยค่ะ

:b8: :b4: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2010, 20:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12232


 ข้อมูลส่วนตัว


เอรากอน เขียน:
นั่นสิ่...อยากรู้เหมือนกัน...

เพราะ...จริง ๆ นะ...ท่าน ไชย ณ พล...
เป็น...นักเขียนท่านแรก ๆ ที่เอกอน...ชื่นชอบเลยล่ะ...



เอ้าว...กบฯ.โง่อีกแล้ว
:b32: :b32: :b32:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2010, 21:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 09:34
โพสต์: 1478

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กบนอกกะลา เขียน:
เอรากอน เขียน:
นั่นสิ่...อยากรู้เหมือนกัน...

เพราะ...จริง ๆ นะ...ท่าน ไชย ณ พล...
เป็น...นักเขียนท่านแรก ๆ ที่เอกอน...ชื่นชอบเลยล่ะ...



เอ้าว...กบฯ.โง่อีกแล้ว
:b32: :b32: :b32:


ก็....วันนี้เจอ สองเด้ง.... ทั้งเลว...ทั้งโง่.... :b32: :b32: :b32:

ไม่เป็นไร...ไม่เป็นไร... เอกอนก็คงจะต้องด้วย....
เพื่อนกัน...เชื้อมักจะไม่ค่อยทิ้งแถวหรอก...ไม่งั๊นคงคบกันไม่ได้.... :b32: :b9:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2010, 09:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 09:34
โพสต์: 1478

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สวัสดีค่ะ...ท่าน kokorado ขอเอามาร่วมออกร้านด้วยคนนะคะ...

smiley smiley

♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥

♥ คนโง่ คนฉลาด คนเจ้าปัญญา ♥

♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥

♠ ไชย ณ พล ♠

--------------------------------

♣ ว่าด้วยการกล่าวหา ♣
คนโง่ มักกล่าวหาผู้อื่น จึงมีแต่ศัตรูรอบตัว นำมาซึ่งความหายนะและความตาย

คนฉลาด ชอบกล่าวหาตัวเอง จึงได้รับความสงสารไปทั่ว และนำมาซึ่งความสมเพช

คนเจ้าปัญญา ไม่กล่าวหาใคร ด้วยแท้จริงไม่มีใครอยากผิด แต่พลาดไปเพราะไม่เห็นความผิด หรือเห็นแต่ไม่มีโอกาสเลือกสิ่งที่ถูก หรือมีโอกาสแต่ไม่มีกำลังพอที่จะตัดสินใจเลือก เขาจึงให้กำลังใจทุกคนสู่ความแกล้วกล้า ทุกคนจึงเป็นหนี้บุญคุณเขา และยอมรับเขาดั่งมิตรผู้ประเสริฐ

♣ว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์
คนโง่ มัววิพากษ์วิจารณ์นินทาคนอื่น เพราะไม่จริงใจกับใคร จึงไม่มีใครจริงใจด้วย เขาย่อมมีแต่มิตรเทียม

คนฉลาด มัววิพากษ์วิจารณ์ตนอย่างที่เป็น โดยไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตนที่ต้องเป็นไป คนอื่นจึงมักไม่เข้าใจเขาที่แปรเปลี่ยนไปเสมอ และไม่มีคนเข้าใจจริงเคียงข้างเขา

คนเจ้าปัญญา ย่อมไม่วิพากษ์วิจารณ์ใคร ด้วยแจ่มแจ้งว่าทุกคนก็เปลี่ยนไป เขาย่อมเลี่ยงคนที่ชอบวิจารณ์ตนและคนอื่น ทุกคนจึงสบายใจที่จะอยู่ใกล้เขา เขาย่อมมีมิตรแท้และมั่นคง


♣ว่าด้วยผู้พูด
คนโง่ ชอบให้อารมณ์พูด จึงผิดพลาดมาก ล้มเหลวบ่อย

คนฉลาด ชอบใช้เหตุผลพูด จึงถูกต้องมากแต่มักไร้ความรู้สึก และประสบแต่ความสำเร็จอันแห้งแล้ง

คนเจ้าปัญญา ชอบใช้ธรรมะพูด จึงบริสุทธิ์เหนือถูกเหนือผิด และเป็นหนึ่งเดียวกับความสำเร็จโดยธรรม



♣ว่าด้วยการพูดจา
คนโง่ ชอบเถียง เขาจึงได้การทะเลาะและความบาดหมางแทนความรู้

คนฉลาด ชอบถาม เขาจึงได้ความรู้และมิตรภาพมากกว่าความแตกแยก

คนเจ้าปัญญา ชอบเฉยสังเกตลึก เข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง แล้วจึงนำเสนออย่างเหมาะสม



♣ว่าด้วยความคิด
คนโง่ ทำก่อนแล้วถึงคิด จึงผิดพลาดอยู่เนือง ๆ ต้องเปลืองเวลาและความรู้สึกตามแก้ปัญหาไม่สิ้นสุด

คนฉลาด คิดมากก่อนแล้วถึงทำ จึงเพ้อเจ้ออยู่เป็นประจำ แม้ประสงค์จะทำดีมากแต่ทำได้น้อง เพราะเขม่าความคิดปิดกั้นความหาญกล้า

คนเจ้าปัญญา คิดไปทำไป จึงทำได้อย่างที่คิด และคิดพอดีที่ทำ ประหยัดพลังงานและบริหารเวลาได้เหมาะสม ลดความหลอนป้องกันความผิดพลาดขื่นขมและประสบความสำเร็จโดยไม่เหน็ดเหนื่อย


♣ว่าด้วยการรู้จักแจ้งตนเอง
คนโง่ อยู่กับตนก็ไม่รู้จักตน จึงกลัวตนไปต่าง ๆ นานา

คนฉลาด อยู่กับตนและรู้จักตนดี แต่ไม่รู้สิ่งที่ดีกว่าตน

คนเจ้าปัญญา ย่อมรู้จักตนดีที่สุดจนทะลุความไม่มีตน จึงบริหารตนได้เสมือนสร้างสรรค์ฟองสบู่ ใช้ประโยชน์จนสุดกู่แล้วก็สลายมลายวับไป


♣ว่าด้วยการบริหารเป้าหมาย
คนโง่ มักใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย จึงว่ายไปแล้ววนกลับมาที่เดิม ต้องเริ่มต้นใหม่ร่ำไปสู่อนาคตที่ไร้ทิศทาง

คนฉลาด มักตั้งเป้าหมายชีวิตยิ่งใหญ่ จึงไม่พึงพอใจกับภาวะที่ตนเป็นสักที เพราะดูที่ไรก็ยังห่างไกลเป้าหมายเสมอ

คนเจ้าปัญญา ย่อมมีเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต และมีเป้าหมายน้อยนิดสานสู่เป้าหมายใหญ่ จึงมีบันไดความสำเร็จให้บรรลุเป้าเป็นลำดับ ได้กำลังใจและหรรษาไปตลอดหนทาง



♣ว่าด้วยทัศนคติ
คนโง่ ดูหมิ่นความดี มองโลกในแง่ร้ายด้านเดียว จึงได้รับแต่สิ่งชั่วร้ายมาพาชีวิตตกต่ำ กลายเป็นทาสสถานการณ์ ยามพบสิ่งดีจะไม่เข้าใจ จึงพลาดโอกาสใหญ่

คนฉลาด ชอบทำดีและคิดดี มักมองโลกในแง่ดีด้านเดียว จึงได้รับแต่สิ่งดีโดยมาก ครั้งพบสิ่งชั่วร้ายจะทนไม่ได้ ทำใจไม่เป็น ต้องถอยหนีสถานการณ์ ดวงใจแตกร้าว ชีวิตจึงมีแต่ความระคายเคืองและปฏิฆะเร้นลึก

คนเจ้าปัญญา ละชั่วเด็ดขาด และทำดีเป็นนิสัย โดยไม่ติดดี แล้วละแม้ความดีเข้าสู่ความบริสุทธิ์ จึงเห็น ที่สุดแห่งความเป็นจริงแท้แห่งโลกว่า ทุกสิ่งในโลกมีทั้งคุณ โทษ และ ความเป็นกลางอยู่ จึงบริหารสถานการณ์ได้ และทำใจได้ในทุกภาวการณ์


♣ว่าด้วยความยิ่งใหญ่
คนโง่ เห็นว่าตนยิ่งใหญ่ จึงจมอยู่ในตัวตนอันกระจ้อยร่อย ท่ามกลางเอกภพอันไร้ขอบเขต

คนฉลาด เห็นว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่ หวาดกลัวและเทิดทูนธรรมชาติ ส่วนใดที่ตนเข้าไม่ถึงจึงโยนไว้ในอุ้งหัตถ์ของภูติผี และ พระเจ้า

คนเจ้าปัญญา เห็นว่าความบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ เพราะตน ธรรมชาติ และ วิญญาณทั้งหลาย ล้วนมีเป้าหมายสูงสุดที่ความบริสุทธิ์



♣ว่าด้วยคุณค่า
คนโง่ ยึดความชอบ หรือ ความไม่ชอบ เป็นสำคัญ เขาจึงได้รับความสุข และ ความทุกข์อันบีบคั้น เป็นของตอบแทน

คนฉลาด ยึดความถูก และ ความผิด เป็นสำคัญ เขาจึงได้รับศัตรูต่างความคิดเห็นเป็นรางวัล

คนเจ้าปัญญา ยึดประโยชน์สุขสำหรับทุกฝ่ายในทุกกาลเวลาเป็นสำคัญ เขาจึงได้รับศรัทธา และ มหามิตรเป็นกำนัล


♣ว่าด้วยพฤติกรรม
คนโง่ ชอบเรียกร้อง เขาจึงเป็นที่น่าเบื่อหน่าย และ น่าสมเพชสำหรับคนทั้งหลาย

คนฉลาด ชอบต่อรอง เขาจึงเป็นที่ระแวง ระวังสำหรับคนทั้งหลาย คบหากันอย่างไม่จริงใจ

คนเจ้าปัญญา อาสา สละ เขาจึงเอาชนะใจคนทั้งหลาย และได้รับความรัก ความนับถือเป็นผลตอบแทน


♣ว่าด้วยการอวดตน
คนโง่ ชอบอวดตัว เขาจึงได้รับความหมั่นไส้ การต่อต้าน และ ความเจ็บปวดเป็นรางวัล

คนฉลาด ชอบถ่อมตัว เขาจึงได้รับความเห็นใจ การดูหมิ่น และการช่วยเหลือเป็นรางวัล

คนเจ้าปัญญา ย่อมมั่นใจตนแต่ไม่นิยมแสดงตัว ไม่ยกตน และ ไม่ถ่อมตัว แต่บริหารสัมพันธภาพเพียงเพื่อผลวางตน และ สำแดงบทบาทตามหน้าที่ เขาจึงได้รับความเคารพ และ ความเชื่อถือเป็นรางวัล


♣ว่าด้วยความเก่งกาจ
คนโง่ มัวอวดเก่ง จึงไม่มีใครเติมความเก่งให้กับเขาอีก

คนฉลาด ชอบเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเก่งให้ยิ่งขึ้น และเอาความเก่งมาใช้โดยไม่อวด จึงได้ผลงานดี แต่อาจไม่ทุกเรื่อง และอาจไม่ยั่งยืน

คนเจ้าปัญญา หาความเก่งไม่เจอ แต่ทำอะไรก็ยอดเยี่ยมเสมอ เพราะมองเห็นทุกอย่างในตนและนอกตนเป็นธรรมดา ทุกคุณสมบัติจึงเป็นปกติ และ ยั่งยืนสำหรับเขา


♣ว่าด้วยจรรยามารยาท
คนโง่ แข็งกระด้าง จึงล้มเหลว ดั่งเปลือกไม้ร่วงหล่นลงสู่ดิน

คนฉลาด ยืดหยุ่น จึงกระจายตนไปในสถานการณ์ต่างๆ ดั่งรากไม้แผ่ซ่านไปในผืนปฐพี

คนเจ้าปัญญา อ่อนโยน จึงเจริญงอกงาม ดั่งยอดไม้ที่ทะยานขึ้นสู่ที่สูง


♣ว่าด้วยความรักสัมพันธ์
คนโง่ ชอบขอความรักและความเห็นใจ แต่มักได้รับความสมเพชตอบแทนเป็นประจำ

คนฉลาด ชอบให้ความรักความเข้าใจ และมักได้รับความหวังพึ่งพิงตอบเนื่องๆ

คนเจ้าปัญญา ชอบให้ปัญญา ที่จะให้ทุกคนรักและเข้าใจตนเอง จึงได้รับความนับถือและความมีบุญคุณตอบแทนเสมอ


♣ว่าด้วยแหล่งมิตรภาพ
คนโง่ ชอบหาเพื่อนจากวงเหล้า หรือแหล่งอบายมุข จึงได้แต่มิตรเทียม ที่นำภัยมาสู่ชีวิต และ ต้องแตกแยกกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า

คนฉลาด ชอบหาเพื่อนจากงาน จึงได้มิตรดีร่วมอุดมการณ์ แต่เมื่องานหมดหรือล้มเหลว มิตรดีเหล่านั้นก็อันตรธานไป และ บางคนก็ผันมาเป็นศัตรูหรือคู่แข่ง

คนเจ้าปัญญา ชอบหาเพื่อนจากธรรมสภาวะ จึงได้มิตรแท้ที่มีรสนิยมเหนือเงื่อนไขทางโลก ความสัมพันธ์จึงสะอาด และ มีแนวโน้มนิรันดร


♣ว่าด้วยความสัมพันธ์ เชิงสร้างสรรค์
คนโง่ มองแต่ความชั่วร้ายในคนอื่น จึงหยิบยื่นแต่โทษให้แก่กัน และได้รับความทุกข์ตรมเป้นของกำนัล

คนฉลาด มองแต่ความดีในคนอื่น จงหยิบยื่นคุณค่าให้แก่กัน และได้รับความสุขระคนทุกข์อันประณีต เป็นของกำนัล

คนเจ้าปัญญา มองทั้งความดีและความชั่วในทุกตัวคน จึงควบคุมโทษแม้เล็กน้อย ที่อาจเกิดระหว่างกัน แล้วหยิบยื่นคุณค่าให้เพื่อการพัฒนาร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องและได้รับความเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนเป็นกำนัล


♣ว่าด้วยวัฒนธรรมสัมพันธ์
คนโง่ เห็นอะไรที่ทำสืบๆกันมา ก็ทำสืบๆกันไป โดยไม่ได้ตรวจสอบประเมินคุณค่าใดๆ จึงผิดๆ ถูกๆ

คนฉลาด เห็นอะไรที่ทำสืบๆ กันมาก็ยังไม่ทำสืบๆกันไป ทำการตรวจสอบประเมินคุณค่าก่อน จึงจะทำสืบๆกันต่อไป จึงได้ประโยชน์ชัดเจน

คนเจ้าปัญญา เห็นอะไรที่ทำสืบๆกันมา และ สืบๆกันไป ก็พยายามพัฒนาต่อเพื่อสิ่งที่ดีกว่า จึงได้ความเจริญโดยลำดับ


♣ว่าด้วยการสนองตอบผู้มีพระคุณ
คนโง่ เนรคุณผู้มีบุญคุณ จึงไม่มีใครอยากทำดีกับเขาอีก

คนฉลาด กตัญญูผู้มีบุญคุณ จึงมีคนอยากทำดีกับเขามากมาย ซึ่งต้องตามชดใช้บุญคุณกันไม่รุ้จบ

คนเจ้าปัญญา ยกระดับผู้มีบุญคุณให้สูงส่งขึ้น จึงทดแทนบุญคุณกันได้หมด และผู้มีพระคุณกลายเป็นหนี้บุญคุณ และพร้อมที่จะให้พระคุณที่ยิ่งกว่า เกิดวงจรการให้ และการรับที่พัฒนาต่อเนื่อง ทุกฝ่ายจึงได้ประโยชน์อย่างยิ่ง


♣ว่าด้วยการจัดการกับปัญหา
คนโง่ : พอพบกับปัญหาอะไรก็โวยวาย ก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์และความสัมพันธ์อีกหลายชั้น จึงยิ่งเสียหาย

คนฉลาด : พอพบปัญหาก็วิเคราะห์ เป็นการใช้ความคิดแก้ปัญหา จึงมักติดบ่วงความคิด วนไปวนมา

คนเจ้าปัญญา : พอพบปัญหาอะไรก็วางก่อน พอเป็นอิสระมีอำนาจเหนือกว่าปัญหาแล้ว จึงจัดการกับปัญหานั้นอย่างเหนือชั้น



♣ว่าด้วยความเพียร
คนโง่ : มัวขยันในเรื่องไร้สาระ จึงมักพบปะแต่เรื่องไร้ประโยชน์ แล้วมักตัดพ้อว่า ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี

คนฉลาด : มักขยันในเรื่องที่มีคุณมากมีโทษน้อย จึงได้ประโยชน์มากและมีโทษแทรกบ้าง แล้วมักบ่นว่าอุตส่าห์ระวังอย่างสุดแล้วยังพบเรืองร้ายๆ อีก

คนเจ้าปัญญา : ขยันทำตนให้เหนือคุณและโทษ จึงบริหารสถานการณ์อย่างอิสระ ไม่ปรากฏเสียงตัดพ้อหรือบ่นว่าอีกต่อไป



♣ว่าด้วยความรักและคู่รัก
คนโง่ กระหายคู่ จึงอยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะไม่เป็นสุข ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นเสมอ

คนฉลาด ปฎิเสธคู่ จึงเป็นสุขเมื่ออยู่คนเดียว และเป็น ทุกข์เมื่ออยู่กับคนอื่น และหากยังต้องพึ่งพิงก็ยิ่งระทม และขมขื่น

คนเจ้าปัญญา ไม่แสวงหา แต่ก็ไม่ปฎิเสธคู่ที่พึงมี หาก มีคู่ก็ประคับประคองกันไปสู่ชีวิตที่สูงส่งยิ่งขึ้นทั้งคู่ จึงอยู่ คนเดียวก็ได้เป็นสุขดี อยู่กับคู่ก็ดีเป็นสุขได้


♣ว่าด้วยสัจจสัมพันธ์
คนโง่ ไม่รักษาสัจจะ จึงไม่มีใครเชื่อถือ ตนก็ไม่อาจเคารพในตนได้

คนฉลาด คลั่งไคล้สัจจะ แยกไม่ออกระหว่าง ประโยชน์และโทษของสัจจะแต่ละระดับ.....จึงมักพาตนและพาคนอื่นติดกับดักแห่งความจริงโดยไม่ตั้งใจ

คนเจ้าปัญญา ทำสัจจะกับปัญญาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงมีสัจจะรักษา และมีอำนาจพิเศษยิ่งกว่าคนทั่วไป


♣ว่าด้วยความเป็นไปได้
คนโง่...ชอบคิดว่าทุกสิ่งที่หวังเป็นไปไม่ได้ จึงขังตนเองในความเกียจคร้าน ชีวิตต่ำต้อย

คนฉลาด...ชอบคิดว่า ทุกสิ่งที่หวังเป็นไปได้ จึงทะยานไปในตัณหาไม่รู้จบ ชีวิตกระเจิดกระเจิง

คนเจ้าปัญญา...ย่อมเห็นว่าในบรรดาสิ่งที่หวัง บางสิ่ง เป็นไปไม่ได้ บางสิ่งเป็นไปได้ ในบรรดาสิ่งที่เป็นไปไม่ ได้ทั้งหมดนั้น บางสิ่งเป็นไปไม่ได้ถาวร บางสิ่งเป็นไป ไม่ได้ชั่วคราว และในบรรดาสิ่งที่เป็นไปได้ถาวรนั้น บาง สิ่งก็ไม่มีประโยชน์ บางสิ่งมีประโยชน์ เขาจึงปรับความ หวังให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่มีประโยชน์ และ ปรับสิ่งเป็นไปไม่ได้ชั่วคราวให้เป็นไปได้มากขึ้น ชีวิตจึง อยู่กับความสมหวังและการพัฒนาโดยลำดับ


♣ว่าด้วยผู้พูด
คนโง่ ชอบให้อารมณ์พูด จึงผิดพลาดมากล้มเหลวบ่อย

คนฉลาด ชอบใช้เหตุผล จึงถูกต้องมากแต่ มักไร้ความรู้สึก และประสบแต่ความสำเร็จอันแห้งแล้ง

คนเจ้าปัญญา ชอบใช้ธรรมะพูด จึงบริสุทธิ์ เหนือถูกผิด และเป็นหนึ่งเดียวกับความสำเร็จโดยธรรม


♣ว่าด้วยความเป็นธรรม
คนโง่....ชอบเรียกหาความเป็นธรรม จนบ่อยครั้งใช้ กระบวนการที่ไม่เป็นธรรมในการเรียกหา....จึงพาให้ยิ่ง ห่างไกลความเป็นธรรม

คนฉลาด ชอบสร้างความเป็นธรรม ปั้นแล้วปั้นอีก ปั้นอย่างไรก็ไม่เป็นธรรมแท้ แม้พยายามถึงที่สุด เพราะ ความเป็นธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับปรารถนา ของใคร จึงเป็น ความหวังดีที่ล้มเหลวเรื่อยไป

คนเจ้าปัญญา ชอบประพฤติธรรม ดำรงอยู่และดำเนินไปโดยธรรม จึงได้สิทธิพิเศษโดยธรรม


♣ว่าด้วยการบริหารอารมณ์
คนโง่ มักจมอยู่ในอารมณ์ ด้วยคิดว่าอารมณ์ คือเขาเขาคืออารมณ์ เขาจึงเป็นทาสของอารมณ์เสมอ

คนฉลาด ชอบปฎิเสธอารมณ์ เพราะคิดว่าอารมณ์คือสิ่งรบกวน ทำตัวเป็นคนสงบที่ไร้อารมณ์ เขาจึงเป็นเพื่อนกับผีดิบ

คนเจ้าปัญญา ย่อมบริหารอารมณ์ สร้างอารมณ์ที่ควรสร้าง เสพอารมณ์ที่ควรเสพ ควบคุมอารมณ์ที่ควรควบคุม รักษาอารมณ์ที่ควรรักษา สลายอารมณ์ที่ควรสลาย เขาจึงเป็นนายของอารมณ์โดยสมบูรณ์


♣ว่าด้วยการอยู่กับความทุกข์
คนโง่ มัวอดทนกับทุกข์ เมื่อทุกข์ใจก็ไม่กล้าตัดสินใจ จากสิ่งที่ทำให้ทุกข์ จึงต้องทนเจ็บใจตลอดไป สะบักสะ บอม

คนฉลาด มักหนีทุกข์ เมื่อทุกข์ใจก็กล้าตัดใจจาก สิ่งที่ทำให้ทุกข์ จึงโล่งใจไปเรื่อย ๆ ตราบที่ตัดได้และ ต้องเปลี่ยนแปลงร่ำไป

คนเจ้าปัญญา ทำลายเงื่อนไขของทุกข์ ทำใจให้ ไม่เจ็บในทุกข์ จึงไม่ต้องตัดต่อใจอีกต่อไป ใจจึงเป็น ปกติเย็นอยู่ อยู่กับทุกข์ได้โดยไม่ทุกข์



♣ว่าด้วยการบริหารสถานการณ์
คนโง่ ชอบเข้าสู่สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เป็น ความเสี่ยงอย่างยิ่งของชีวิต ความสำเร็จจึงแขวนอยู่บน ความประมาท

คนฉลาด ชอบเข้าสู่เฉพาะสถานการณ์ที่ควบคุมได้ จึงมีสถานการณ์เพียงน้อยนิดที่เหมาะสม ชีวิตมีความ เสี่ยงต่ำ แต่สำเร็จเพียงเล็กน้อย

คนเจ้าปัญญา บริหารความเสี่ยง ควบคุม ปรับ จุดหมุน กระจาย สลายทุกความเสี่ยง เมื่อเข้าสู่ สถานการณ์ใด ก็เหนี่ยงนำแล้วปล่อยวาง บริโภคคุณค่า แล้วคายกากภัยทิ้งจึงสำเร็จได้ง่ายแม้ในความยากอย่าง ยิ่ง



♣ว่าด้วยการบริหารศรัทธา
คนโง่ รู้อะไรก็เชื่อไว้ก่อนว่าจริง หรือ ไม่จริง จึงงมงามอย่างยิ่ง

คนฉลาด รู้อะไรก็ไม่เชื่อไว้ก่อนว่าจริง หรือไม่จริง แต่เอามาทดลอง จนเห็นชัด จึงเชื่อ จึงมีเหตุผลอย่างยิ่ง

คนเจ้าปัญญา รู้อะไรก็ไม่สนใจว่าจริง หรือไม่จริง สนใจเพียงว่ามีประโยชน์และมีโทษเพียงใด แล้วสกัดโทษทิ้ง บริโภคเฉพาะประโยชน์ จึงได้คุณค่าแห่งการรู้ในทุกสิ่ง


♣ว่าด้วยระบบธรรม
คนโง่ ปรับธรรมะเข้าหาคน จึงได้คน จำนวนมากเดินตามธรรมะเทียม

คนฉลาด ปรับคนเข้าหาธรรมะ จึงได้คน จำนวนน้อยอยู่รักษาธรรมะแท้

คนเจ้าปัญญา ปรับธรรมะและคนเข้าหากัน ณ จุดแห่งประโยชน์สูงสุดที่เหมาะสมและเป็นไปได้ จึงได้คนจำนวนพอดีอยู่รักษาธรรมะที่ดีพอ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2010, 12:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 ก.ค. 2008, 23:37
โพสต์: 449

ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ด้วยความยินดีครับผม :b24:

.....................................................
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร