วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 02:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2010, 01:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระ อาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

รูปภาพ

เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่น ท่านอุปสมบทในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีหลวงพ่อเจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร ( ชา สุภัทโท ) เป็นองค์อุปัชฌาย์

ท่านเป็น สัทธิวิหาริกรุ่นแรกๆ ของหลวงพ่อชา สุภัทโท ได้จำพรรษาที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ได้อุปัฏฐาก ดูแลหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานด้วยความเคารพบูชาอย่างสูง ท่านอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติซึ่งมี พระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันคือพระ สุเมธาจารย์) เป็นหัวหน้าคณะ

ตลอดระยะ เวลา ที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ในประเทศไทยนั้นท่านบำเพ็ญเพียรมาหลายรูป แบบ และธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และที่ทุรกันดาร ในประเทศไทยท่านได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการธุดงค์เพื่อหาความ สงบวิเวกไปตามภาคต่าง ๆ ท่านได้รู้จักและเห็นความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วทุกภาค ทั้งรู้สึกสำนึกในความศรัทธา ความเสียสละ และความเคารพของคนไทยที่มีต่อพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีส่วนทำให้ท่านยิ่งเร่งทำความเพียรมากขึ้น

การที่ท่านพระอาจารย์ได้มาประเทศไทย และได้บวชเป็นศิษย์ต่างชาติท่านหนึ่ง ของหลวงพ่อพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) นั้น เป็นเรื่องที่ "เป็นไปเอง" ตั้งแต่เด็กๆ ท่านคิดเสมอว่า "ชีวิตนี้น่าจะมีอะไรดีกว่านี้" ในที่สุดก็ได้ออกเดินทางท่องเที่ยว ไปประเทศต่างๆ วันหนึ่งไปถึงพุทธคยา เมื่อเห็นพระพุทธรูปที่พุทธคยาก็คิดว่า "นี่แหละคือสิ่ง ที่เราแสวงหา" จากนั้นท่านก็ได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่ง ในประเทศอินเดียนั่นเอง และก็เริ่มมีประสบการณ์โยคะบ้าง ท่านเกิดความพอใจ คิดว่าจะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดีย ตลอดชีวิต แต่บังเอิญวีซ่าหมด มีคนแนะนำ ให้เดินทางมากรุงเทพฯ ต่อมาก็มีผู้แนะนำ ท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ตั้งแต่บัดนั้น

ต่อมาใน เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๓๒ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก พร้อมลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่นอีกองค์หนึ่งชื่อ พระญาณรโต ได้ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเดินธุดงค์จากสนามบินนาริตะ ถึง PEACE MEMORIAL PARK เมืองฮิโรชิมา การเดินธุดงค์ครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมด ๗๒ วัน เป็นการเดินทางด้วยเท้ากว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร รวมการเดินทั้งหมดประมาณ ๒ ล้าน ๒ แสนก้าว หลังจากนั้นท่านจึงได้อยู่จำพรรษา ณ วัด SHINAGAWA-JI ในกรุง โตเกียว

การเดิน ธุดงค์ครั้งนี้ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก และพระญาณรโต ตั้งใจเดินเพื่อเป็นการระลึกถึงสันติภาพของโลก และตลอดการเดินธุดงค์นั้นท่านยังคงเคร่งครัดต่อพระวินัยโดยไม่มีการยืดหยุ่น คือการไม่ถือเงิน และการฉันมื้อเดียวด้วยการอาศัยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตหรืออาหารที่มีผู้ จัดถวาย นอกจากนั้นพระภิกษุทั้ง ๒ รูป ยังได้สมาทานการเดินธุดงค์โดยไม่มีการนั่งรถ นับตั้งแต่สนามบินนาริตะ จนถึงเมืองฮิโรชิมา ดังนั้นระหว่างการเดินทางท่านจึงได้ประสบและพบเห็นกับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ท่านหวลระลึกได้ว่าสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในโลกได้ก็ต่อเมื่อ ชาวโลกทั้งหลายละความเห็นแก่ตัว โดยการให้ทาน ๑๐ ประการ เป็นทานจักร แล้วสังคมของเรา โลกของเราก็จะมีแต่ความสงบ ความร่มเย็น โดยไม่ต้องสงสัย

ในประเทศ ญี่ปุ่น เด็ก ๆ และเยาวชนได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นสมบัติอันมีค่า เพราะชาวญี่ปุ่นถือว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ในอนาคต และด้วยความปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยมีโอกาสเหมือนเด็กญี่ปุ่นบ้าง พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก จึงได้ปรารภปัญหาดังกล่าวรวมทั้งความประสงค์ในการสงเคราะห์เด็ก ๆ ของไทยแก่ญาติโยมชาวญี่ปุ่น ซึ่งท่านเหล่านั้นเมื่อได้ฟังแล้วก็ยินดีสนับสนุนในการจัดหาทุนเพื่อโครงการ นี้กันอย่างเต็มที่ โดยเริ่มแรกได้ถวายทุนมาเป็นจำนวนเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท

ดังนั้น ในปลายปี พ.ศ.๒๕๓๒ เมื่อพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เดินทางกลับถึงประเทศไทย ท่านจึงได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความดำริของท่านและการสนับสนุนจากสาธุชน ชาวญี่ปุ่นให้คุณสิริลักษณ์ รัตนากร คุณวิชา มหาคุณ คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และคุณดารณี บุญช่วย ฟัง ท่าน ๔ ท่านเห็นดีและสนับสนุนในกุศลเจตนาของพระอาจารย์และมีความเห็นว่าน่าจะได้ ดำเนินการในรูปของมูลนิธิ คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และผู้ช่วยคือคุณสุกัญญา รัตนนาคินทร์ จึงได้เริ่มจัดตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิจนแล้วเสร็จ เป็นมูลนิธิมายา โคตมี ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๓ โดยมีคุณมนูญ เตียนโพธิ์ทอง อนุเคราะห์สถานที่ให้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิ

ชาวอุบล ได้อุปฐากท่านและพระอาจารย์องค์อื่นๆ ด้วยใจศรัทธา ท่านพูดถึงชาวบุ่งหวายและชาวบ้านก่อนอกว่า "เหมือนเป็นพ่อ แม่พี่น้องของอาตมา ได้อุปการะเลี้ยงดูอาตมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร" และนี่คือที่มาของมูลนิธิมายาโคตมี ที่ท่านริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2533 เพื่อช่วยเหลือให้ทุนการศึกษาและจัดอบรม จริยธรรมให้เด็กและครู อาจารย์ เป็น การตอบแทนบุญคุณคนไทย

ท่านพระอาจารย์ได้เริ่มจัดอบรมอานาปานสติที่วัดป่าสุนันทวนา รามเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19-27 ตุลาคม พ.ศ.2539 และได้มีการจัดอบรมเป็นระยะๆ ตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบัน ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดสาขา ของ วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2010, 01:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
เมื่อซากุระผลิบานเป็นดอกบัว


ท่ามกลางบรรยากาศร่มครึ้มของสวนป่าอันกว้างใหญ่ มีอาคารหลังหนึ่งตั้งตระหง่านอยู่ ภายในอาคารแห่งนี้ กลุ่มคนนุ่งขาวห่มขาวนับสิบกำลังปฏิบัติธรรมและเจริญสติร่วมกันอย่างสงบ เบื้องหน้าพวกเขา คือพระภิกษุผู้กำลังแสดงธรรมเทศนาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แฝงด้วยความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

สถานที่แห่งนี้คือ วัดสุนันทวนาราม ที่พำนักพักใจของพุทธศาสนิกชนที่ปรารถนาจะฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวทางอานาปานสติ ส่วนพระภิกษุใจดีที่กำลังแสดงธรรมอยู่นั้น คนทั่วไปรู้จักท่านดี ในนามของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

“สุขภาพใจที่ดี คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดสังคมที่ดี” ตอน หนึ่งจากธรรมเทศนาของพระอาจารย์มิตซูโอะ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท่านมุ่งมั่นเผยแพร่สู่ผู้คน มาตลอดระยะเวลาหลายปีของการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ในดินแดนที่ห่างไกลจากถิ่นฐานบ้านเกิด ที่มีต้นซากุระบานสะพรั่ง

เมื่อการเดินทางภายนอกอันแสนไกลของท่านได้สิ้นสุดลง

ภาคต้น : การค้นหา

มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ ลูกชายคนเล็กของครอบครัวเกษตรกรในดินแดนชนบทอันห่างไกลจากแสงสีศิวิไลซ์ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น เขาได้เริ่มต้นชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามวิถีชาวบ้านที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลายาวนาน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ยังบริสุทธิ์จากเทคโนโลยีและวิถีเมือง โดยมีภูเขาประจำเมืองเป็นเสมือนเป้าหมายให้เขาดั้นด้นไปค้นหาคำตอบที่ผุด พรายขึ้นมาในหัวนับแต่เยาว์วัยว่า

“ชีวิตคืออะไร”

คำถามนี้นำไปสู่การเดินทางหลากหลายปลายทางนับจากนั้น

เพราะเหตุใดในวัยเด็กพระอาจารย์จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตคืออะไร”

มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติมากกว่านะ เพราะอาตมาเกิดมาในชนบทธรรมดาๆทั่วไปที่อำเภอชิสุกุอิชิ บ้านเกิดของอาตมาอยู่ในจังหวัดอิวะเตะ เป็นเมืองชนบทที่ถือเป็นทิเบตของญี่ปุ่น ที่นั่นมีภูเขาอิวะเตะเป็นภูเขาที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับภูเขาไฟฟุจิยะมะ ที่นั่นมีดิน น้ำ และธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยธรรมชาติก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูทั้งสี่ มิยาซาวะ เคนจิ นักคิดนักเขียนนิยายชื่อดัง ได้เคยเขียนเอาไว้ในงานของเขาว่า ชิสุกุอิชินั้นถือได้ว่าเป็นยูโทเปียหรือสวรรค์บนดินเลยทีเดียว นอกจากนั้นทั้งอำเภอก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องคนนอก ปัญหาคนตีกัน หรือว่าเรื่องอบายมุข เวลาออกจากบ้านไม่เคยต้องปิดกุญแจ โดยรวมจึงเรียกได้ว่าเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีอันตรายอะไร

ด้วยเหตุนี้ อาตมาจึงไม่มีเหตุผลหรือมีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ ที่อาจนำไปสู่คำถามเหล่านั้นเลย แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเราชอบธรรมชาติชอบการเดินป่า ช่วงมัธยมต้นระหว่างที่ไปปีนเขา เราก็ค่อยๆ เริ่มคิดว่าชีวิตคืออะไร รวมทั้งเริ่มพิจารณาถึงเรื่องความตาย เพราะสำหรับนักปีนเขาแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาก ทุกคนต่างก็กลัวอันตรายและกลัวความตายด้วยกันทั้งนั้น



แล้วรูปแบบการเลี้ยงดูของโยมพ่อโยมแม่ มีผลต่อแนวความคิดแบบนี้บ้างหรือไม่


ไม่มี เพราะครอบครัวอาตมาก็เป็นชาวนาชาวไร่ปลูกข้าวปลูกพืชเป็นงานหลัก สังคมที่นั่น เวลากินข้าวก็กินพร้อมหน้ากันสามเวลา ทั้งเช้า กลางวัน เย็น ถึงจะไม่ได้กินอะไรดีๆ มากนัก แต่ก็มีความสุขดี ถามว่าพ่อแม่มีวิธีเลี้ยงดูอย่างไร โยมแม่ก็จะเลี้ยงดูโดยให้อิสระ ไม่เคยบอกให้ลูกต้อง “ตั้งใจเรียนหนังสือนะ” “เรียนเก่งๆนะ” “ทำงานหาเงินเก่งๆนะ” อย่างที่แม่ทุกคนชอบพูดกัน แต่ที่บ้านอาตมาไม่มีเลยคำพูดที่แม่มักพูดอยู่บ่อยๆ ที่เรายังติดอยู่ในสมองก็คือ “มิตซูโอะ อยู่ชนบทอย่างนี้ดีที่สุดนะ” หรือไม่ก็ “ชาวนาชาวไร่ดีที่สุด” เรามีที่ดินทำนา เรามีข้าวกิน เพียงเท่านี้ก็ดีที่สุดแล้ว เพราะขนาดบางคนเติบโตในเมือง จบมหาวิทยาลัยแล้ว ยังทิ้งเมืองมาทำไร่ทำนาอยู่ในชนบทเพราะชีวิตมีความสุขแบบเรียบง่าย



แล้วส่วนตัวพระอาจารย์อยากเป็นชาวนาชาวไร่ไหมครับ


อาตมาไม่ได้มีใจรักอยากเป็นชาวนาชาวไร่ และตามหลักวัฒนธรรมญี่ปุ่นเราไม่ได้แบ่งที่ดินมรดกออกเป็นส่วนๆ ตามจำนวนลูก แต่จะมีคนหนึ่งรับมรดก แล้วก็อยู่ดูแลพ่อแม่ไปตลอด อย่างที่บ้านของอาตมามีพี่สาวหนึ่งคน พี่ชายหนึ่งคน อาตมาเป็นคนสุดท้อง พี่ชายของอาตมาเป็นคนที่รับมรดกไป ส่วนพี่สาวก็แต่งงานแล้วเข้าไปอยู่กับตระกูลอื่น ส่วนอาตมาไม่ได้รับมรดกแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบดูแลพ่อแม่

ในขณะเดียวกัน อาตมาเองเป็นคนที่ค่อนข้างรักอิสระมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว และชอบสันโดษ ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่เคยขออะไรจากพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงตัดสินใจออกจากบ้านไปตามทางของตัวเอง

ตอนที่ออกจากบ้านก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร รู้แต่ว่าตัวเองชอบปีนเขา ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับนักผจญภัย นักปีนเขา หรือนักเดินทาง ซึ่งทำให้เรานึกมโนภาพไปเองว่า ถ้าหากอยากเป็นนักเดินทางก็ต้องอิสระ ถ้ามีแฟนหรือครอบครัวก็คงจะไปปีนเขาอย่างใจอยากไม่ได้ เพราะคงไม่มีแฟนคนไหนอยากไปในที่ที่อันตราย ด้วยเหตุนี้ตอนช่วงมัธยมต้น สักราวๆ ม.3 อาตมาจึงพูดคุยเล่นๆ กับเพื่อนๆว่า “เราจะไม่แต่งงาน” นอกจากนั้น ก็ยังไม่มีความคิดเรื่องอนาคตว่าจะต้องเติบโตไปทำงาน มีครอบครัว แล้วก็มีบ้านด้วย



ถ้าเช่นนั้นทำไมพระอาจารย์ถึงตัดสินใจทำงานประจำล่ะครับ

ในชนบทไม่ค่อยมีใครเรียนมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว มันก็จำเป็นต้องหากงานทำเป็นเรื่องธรรมดา แล้วในตอนนั้นมีคนชักชวนให้ไปทำงานที่บริษัทสกัดน้ำมันแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทนี้ค่อนข้างดี มีรายได้และสวัสดิการที่ดีจึงเลือกเข้าไปทำ แต่หลังจากเริ่มเข้าไปทำแล้วก็อ่านอนาคตออกเลยว่า เราคงอยู่ที่นี่ไปจนตาย ตามแบบแนวคิดของคนญี่ปุ่นที่เมื่อเริ่มต้นทำงานที่ไหนแล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยเปลี่ยนงานและทำที่นั่นไปตลอดชีวิต งานของอาตมาในตอนนั้นจะทำตลอด 24 ชั่วโมงโดยแบ่งกะเป็นเวรกลางวันกับเวรกลางคืนสลับกันไป จนถึงอายุ 60 ก็คงต้องทำอยู่อย่างนี้ โดยมีตำแหน่งและเงินเดือนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

ด้วยแนวคิดเก่าแก่ที่ว่านี้ พระอาจารย์ใช้เวลาไตร่ตรองนานขนาดไหน ถึงตัดสินใจลาออกครับ

ไม่นานเลย ทำงานอยู่ได้ 9 เดือนก็เริ่มคิดจะลาออกแล้ว เพราะอาตมาเห็นอนาคตแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ๆ แต่เราไม่ต้องการจบชีวิตแค่นี้ทำงานได้เงิน มีคอนโด มีบ้าน มีครอบครัว มีลูก ทุกอย่างเข้าสู่วงจรถามว่าให้อยู่อย่างนั้นอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ เราก็สนุกกับการทำงานพอสมควร มีเพื่อนที่น่ารักเยอะแยะ แต่เมื่อได้ลองคิดให้ลึกลงไปก็เกิดคำถามขึ้นมาตลอดว่า แล้วทำไมเราถึงต้องไปอยู่ในวงจรอย่างนั้นล่ะ

จนกระทั่งอายุย่างเข้า 19 พอถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกกันว่าช่วง Golden Week ที่สามารถหยุดพักได้อาทิตย์หนึ่ง อาตมาก็อาศัยใช้ช่วงวันหยุดนั้นไปปีนเขาภูเขาไฟฟุจิยะมะคนเดียว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฟูจิยะมะเป็นภูเขาน้ำแข็งหรือ Blue Ice เวลานอนกางเต๊นท์บนน้ำแข็งก็ใช้น้ำเทลงบนเชือก ให้น้ำจับเป็นน้ำแข็งบนเชือกพอเป็นหลักยึดเต๊นท์ไว้เท่านั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ค่อนข้างจะอันตราย กลุ่มนักปีนเขาที่ไปเป็นคณะ เขาก็จะผูกเชือกเชื่อมกันไว้เผื่อว่าคนหนึ่งล้ม คนอื่นก็ยังช่วยชีวิตไว้ได้ ในขณะที่อาตมาไปคนเดียวต้องต่อสู้โดยลำพัง ถ้าเผลอล้มก็ตกเขาแน่นอน ซึ่งหลังจากกลับมาแล้วอ่านข่าวหนังสือพิมพ์พบว่ามีนักปีนเขาตายที่นั่น 3 คน



ตอนนั้นรู้สึกกลัวตายบ้างไหมครับ

กลัวสิ อาตมาไม่ใช่อรหันต์นี่ (ยิ้ม) แต่ก็ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นเราก็ได้ฝึกซ้อมมาพอสมควรแล้ว อย่างตอนเรียนมัธยมปลาย พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ อาตมาจะชอบไปปีนเขา ไม่ค่อยอยู่บ้านเท่าไร เพราะต้องฝึกซ้อมเพื่อที่จะไปแข่งปีนเขาระดับประเทศ



การเดินทางมีอิทธิพลต่อชีวิตและวิธีคิดของพระอาจารย์อย่าง ไรบ้าง


ในตอนนั้นอาตมาเดินทางไปหลายประเทศ เพื่อที่จะค้นหาคำตอบให้ได้ว่า ชีวิตคืออะไร และเราอยากจะทำอะไรกันแน่ การเดินทางทำให้อาตมาได้พบทางชีวิตที่หลากหลายในระยะเวลาอันสั้น เช่น ตอนอายุ 20 ได้เดินทางไปที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วได้เห็นผู้อพยพมาจากบังกลาเทศจำนวนสามแสนคน แต่ละคนแทบจะใส่กันแต่กางเกงเท่านั้น หรือได้เดินทางไปในที่ที่ไม่เจริญ คือ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีมอเตอร์ไซค์ ไม่มีรถยนต์ ต้องเดินเท้าอย่างเดียว การเดินทางอาตมาประหยัดอย่างที่สุด เวลาไปที่ไหนก็ดูว่าคนจนที่สุดเขากินอยู่อย่างไร เราก็กินอย่างนั้น ทดลองใช้ชีวิตอย่างคนท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งหมดนั้น ทำให้อาตมาได้ครุ่นคิดถึงเรื่องของชีวิต

นอกจากนั้นการเดินทางยังทำให้เราได้พบเห็นอะไรมากมาย ที่ช่วยกระตุ้นจิตใจของเราจนเกิดความคิดใหม่ๆ ไม่ต่างจากการปฏิบัติธรรม อย่างการเดินธุดงค์หรือการเดินจงกรม ที่ช่วยกระตุ้นจิตใจให้เกิดปัญญาเช่นเดียวกัน



แล้วพระอาจารย์คิดว่าได้ค้นพบคำตอบที่ต้องการหรือไม่ครับ

ตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง เรามองดูชีวิตคนอื่นรอบๆตัว คนที่อายุมาก 60 ปี 70 ปี คนแก่ที่อาจะเป็นตัวอย่างสำหรับเราในอนาคต ก็มองไม่เห็นตัวอย่างที่เราอยากจะเป็น เหมือนกับว่าในสังคมญี่ปุ่นนี้เรามองไม่เห็นอนาคตที่เราพอใจอยากจะเป็น สำหรับ อาตมาก็หวังไว้ว่า ก่อนที่จะตายไปจากโลกนี้ อยากมีความพอใจในชีวิตของตัวเองที่ผ่านมา แม้ไม่มีใครเห็นคุณค่าของชีวิตเราก็ไม่เป็นอะไร แต่อย่างน้อยที่สุดขอให้ตัวเองมีความพอใจในชีวิตที่ผ่านมาก็ใช้ได้ หมายความว่า ถ้าตายก็ตายด้วยความสบายใจ พอใจในชีวิต

อาตมาเริ่มพบคำตอบ ในการเดินทางมาที่อินเดียเป็นครั้งที่สองที่อาศรมนิเกตัน อาตมาได้พบคนแก่ที่น่าศรัทธาคนแรก คือ คุรุจี ศรีวรานันทะ อาตมาฝึกสมาธิกับโยคะอยู่ที่นั่น และก็ได้ประสบการณ์สมาธิ สมาธิแบบอินเดียก็พิจารณาจักระต่างๆ ในร่างกาย นึกแสงสว่างเกิดขึ้น เพ่งดูนิมิต ใจมันก็รวม แล้วก็ร่างกายหายไปหมด จิตเหมือนอยู่ในอวกาศ สิ่งที่เห็นด้วยตา เสียงที่ฟังด้วยหู กลิ่นที่ดมด้วยจมูก รสชาติชิมด้วยลิ้น สัมผัสที่รู้ทางกายไม่มี ร่างกายหายไป จิตผู้รู้ผู้เห็นมองเห็นทั่วทุกทิศ เห็นนิมิตที่สวยงาม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นศูนย์กลางของจักระที่อยู่ระหว่างคิ้ว เป็นอยู่พักหนึ่งประมาณชั่วโมง นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ประสบการณ์สมาธิ เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็มีความสุขอยู่หลายวัน

อันนี้ก็เป็นเหตุที่ทำให้เริ่มเข้าใจว่าที่พระพุทธเจ้าสอนว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขขัง ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ถ้าเราใช้ชีวิตตามปกติแล้วเรารู้สึกไหม ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ตามธรรมดาก็ไม่มีใครสัมผัส เพราะว่าไม่ใช่ความสุขจากเวทนาที่ได้รับจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่ก็เป็นประสบการณ์ของอาจารย์ในช่วงชีวิตก่อนที่จะบวช ความสุขที่เคยมีตลอดชีวิต 20 กว่าปี เทียบไม่ได้เลยกับความสุขที่ได้รับจากประสบการณ์ในสมาธิ ที่จิตมีความสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากกามคุณและอกุศลจิต นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้อาตมามีศรัทธาในการปฏิบัติและตัดสินใจจะอยู่อินเดีย ตลอดชีวิต เพื่อฝึกสมาธิอย่างจริงจังในเวลาต่อมา แต่แล้วก็เกิดปัญหาต่อวีซ่าไม่ได้ ทำให้อาตมาต้องออกมาจากอินเดียในที่สุด



ภาคปลาย : การค้นพบ

เมื่อการเดินทางได้มาถึงทางแยกอีกครั้ง “โยคีศิวะ” (เป็นชื่อเล่นของอาจารย์ที่คุรุจีตั้งให้ นำมาจากาชื่อพระศิวะเทพเจ้าแห่งภูเขาไกรลาศ) ในขณะนั้นก็ได้เดินทางมายังประเทศไทยตามคำแนะนำของพระภิกษุชาวฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายขั้นต้นอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร ก่อนหน้าที่เส้นทางชีวิตจะนำพาสามเณรบวชใหม่ชาวญี่ปุ่นวัย 23 ปีไปถึงวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

ที่นั่นสามเณรซึ่งมีความมุ่งมั่นแสวงหาผู้ชี้ทางสว่างสู่ธรรม ก็ได้พบและเกิดศรัทธาในหลวงพ่อชา ก่อนหน้าที่จะกราบนมัสการขอบวชเป็นพระภิกษุ และกลายเป็นสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) รุ่นแรกของท่าน

วันเวลาผ่านไป พร้อมกับการฝึกปฏิบัติกรรมฐานอย่างเข้มข้นจริงจัง จนในที่สุดพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ก็ได้พบกับคำตอบที่เฝ้าถามมาตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อท่านได้ศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน 4

การเดินทางภายนอกจึงถึงจุดจบ เมื่อได้พบกับการเดินทางภายใน ที่ทำให้พบกับเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต



เป้าหมายที่พระอาจารย์ตั้งเอาไว้สำหรับการเดินทางมายัง ประเทศไทยคืออะไรครับ


ตอนนั้นอาตมาได้ศึกษาพุทธศาสนาแล้ว และรู้สึกประทับใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ก่อให้เกิดปัญญา หลังจากที่มาถึงอาตมาก็ไปบวชพระที่วัดหนองป่าพงเป็นเวลา 5 ปี ก่อนหน้าที่จะไปเข้าห้องกรรมฐานที่วัดสังฆทาน เพื่อปิดวาจาเจริญกรรมฐาน เก็บอารมณ์ไม่พูดกับใครเป็นเวลา 2 ปี ทำให้อาตมาได้พิจารณาศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน 4 (กาย เวทนา จิต ธรรม) ผ่านทุกขเวทนาต่างๆ จนได้พับกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายของชีวิตว่า การเจริญสติปัฏฐาน 4 เท่านั้นที่จะทำให้จิตใจคนบริสุทธิ์ได้ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของอาตมา รวมถึงของวัดสุนันทวนารามมาจนทุกวันนี้



หลังจากที่อุปสมบทแล้ว พระอาจารย์ศึกษาพระธรรมด้วยภาษาอะไรครับ

อาจารย์ไม่ค่อยได้ศึกษาเป็นระบบเท่าไร แต่จะฝึกด้วยการปฏิบัติมากกว่า อ่านหนังสือน้อย (หัวเราะ)



ถึงจะอ่านน้อย แต่พระอาจารย์ก็ทำหนังสือออกมามากมายเลยนะครับ

เพราะตรงนั้นนำมาจากประสบการณ์ของอาตมาเป็นหลักไงล่ะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ทางโลกมีปัญหามากจนธรรมะตามไม่ทัน ดังนั้นเราจึงต้องทำงานเยอะๆ โดยงานในที่นี้ก็คือ การทำให้ธรรมเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเผยแผ่หลักคำสอนหรือการเขียนหนังสือสอนธรรมะแจกจ่ายออกไป ให้คนได้ตระหนักว่า ถ้าหากรักตัวเอง เราต้องรักษาสุขภาพใจให้ดีๆ และถ้าทำเช่นนี้ได้ คนไทย 64 ล้านคนจะสามารถยุติความขัดแย้งได้ โดยเริ่มต้นจากจุดนี้ อันเป็นสิ่งที่อาตมาพยายามทำอยู่ในปัจจุบัน



พูดถึงประเด็นนี้ พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับกลยุทธ์การนำธรรมะเข้าถึงผู้คนผ่านสื่อ ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

อาตมาเคยลองพิจารณาดูแล้วเกิดคำถามขึ้นว่า ในเมื่อโลกมนุษย์เรานี้มีศาสนาเกิดขึ้นมากมาย มีพุทธศาสนามา 2,500 กว่าปี มีศาสนาคริสต์ มีศาสนาอิสลามมาหลายพันปี แล้วทำไมมนุษย์เราถึงยังคงสับสนวุ่นวาย ในขณะเดียวกัน อาตมาก็เชื่อว่า ต่อให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปทั่วโลก สังคมก็ไม่น่าจะเปลี่ยนอะไรมากมาย ขนาดชาวพุทธด้วยกันยังวุ่นวายขนาดนี้ (หัวเราะ)

หลังจากที่ได้พิจารณาแล้วก็พบว่า วิธีเดียวที่มนุษย์จะมีความสุขได้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ความเป็นมนุษย์ นั่นคือ ต้องมีความเมตตาและความรักในตัวเอง ดังเช่นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ความรักเสมอตนไม่มี” ซึ่งการรักตัวเองในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ได้ แต่หมายถึง รู้จักรักษาใจของตนให้มีความสงบสบายใจ รู้จักปล่อยวางอารมณ์พอใจและไม่พอใจที่เกิดขึ้นจากโลกธรรม 8 มีความเห็นถูกต้องว่า อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือรวมเรียกว่า “ความไม่สบายใจ” นี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อปล่อยวางอารมณ์ ปล่อยวางความรู้สึกไม่สบายใจได้ เมื่อนั้นความสงบสบายใจจะปรากฏขึ้น ไม่ว่าปัจจัยภายนอกจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะมีอุปสรรค มีทุกข์มากขนาดไหน เราก็สามารถคิดดี คิดถูก มีกำลังใจ ตั้งมั่นอยู่ในความดีความถูกต้องได้ในทุกสถานการณ์ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทุกคน ถ้าเรารู้จักรักและเมตตาแก่ตัวเอง มีศรัทธาเชื่อมั่นในการทำความดี



พระอาจารย์เคยกล่าวว่า “การคิด เป็นเหตุให้เกิดทุกข์” ถ้าเช่นนั้นการไม่คิด ย่อมนำมาสู่การไร้ทุกข์ใช่หรือไม่

ความคิดในที่นี้หมายถึงการคิดไปตามตัณหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา คิดด้วยความขี้เกียจ ขี้ฟุ้งซ่าน ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้กลัว สารพัดขี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นความคิดที่เป็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน เหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จากภายใน เป็นอุจจาระทางจิตใจ แล้วเราควรทำอย่างไร ก็อย่ายินดียินร้าย คิดดี คิดถูก ตั้งเจตนาถูกต้อง ทำใจให้เป็นศีล แล้วก็ปล่อยวางในความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่สร้างมโนกรรม กายกรรม วจีกรรม น้อยใจ กลัวโกรธ อิจฉาริษยา จากนั้นก็ทำใจให้สงบ โดยการรักษามโนกรรม คิดดี พูดดี ทำดี แล้วจากนั้นทุกข์ก็จะค่อยๆ คลายไป



อยากให้พระอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะเหตุใดการพบความสุขแท้ ถึงต้องเพ่งไปที่ทุกข์ และการแสวงหาความหมายของชีวิตจึงต้องระลึกถึงความตาย

เพราะมันเป็นความจริงของชีวิต พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการที่เราต้องอยู่กับคนหรือสิ่งที่ไม่ชอบใจ การพลัดพรากจากคนที่เรารักหรือไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นทุกขสัจจะ หรือทุกข์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความจริง ซึ่งถ้าเรามัวคิดแต่จะแสวงหาลาภ เงินทอง ยศ ตำแหน่ง ยกย่องสรรเสริญ ความสุขต่างๆ ที่มนุษย์ส่วนใหญ่พากันแสวงหา ก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ถึงจะปฏิบัติธรรมเป็นร้อยปีก็ตาม ดังนั้นมนุษย์เราจึงควรพิจารณาถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ หรือความตาย ว่าทั้งหมดล้วนเป็นความทุกข์ที่เป็นความจริง

แต่ถึงอย่างนั้นเราก็สามารถมีความสุขในท่ามกลางความทุกข์ได้ หากเรามีเมตตากับตัวเอง อย่างน้อยถ้ามีสุขภาพใจดี เราก็สามารถยอมรับความจริงได้ว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราก็ดี รอบตัวเราก็ดี ทุกสิ่งล้วนมีแต่ทุกข์ พระพุทธเจ้าเองก็ยังห้ามไม่ได้ เมื่อเรารับความจริงนี้ได้แล้ว จากนั้นก็ให้เพ่งไปที่ใจ ให้ใจเป็นประธาน เพราะทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นที่ใจ ไม่ว่าจะเป็นเหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์วิถีปฏิบัติ หรือการมี่ความสุขก็ตาม ดังนั้นหากเราตั้งใจว่าจะค้นหาความสุขที่แท้จริง ก็ต้องเกิดจากการยอมรับความทุกข์ของชีวิต โดยพิจารณาและทำความเข้าใจในทุกข์ตามอุปาทานขันธ์ 5 อันหมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวทุกข์ แล้วจากนั้นจิตใจก็จะโอปนยิโก (การน้อมนำธรรมเข้าสู่ตัวจนพบความสงบแห่งจิตใจ)

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมการแสวงหาความหมายของชีวิตจึงต้องระลึกถึงความตาย เพราะถ้าเราพิจารณาร่างกายเป็นความตายแล้ว สิ่งที่เราทุกข์ดิ้นรนต่อสู้ด้วยทุจริตต่างๆ มาทั้งหมดย่อมไร้ประโยชน์ เพราะไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องตายอยู่ดี ดังนั้นถ้าเราพิจารณาความตายด้วยปัญญาแล้ว เราก็จะมองเห็นกายกับใจชัดเจนขึ้น รวมทั้งมองเห็นว่าร่างกายเป็นเพียงสิ่งภายนอก ในขณะที่ใจเป็นประธาน ใจนี้ไม่ใช่กาย กายนี้ไม่ใช่เรา กายก็จะถอยไป จากนั้นปัญญาก็จะทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่า กายเป็นอนัตตา (ไม่มีตัวตน) อันหมายความว่าเวทนาและสัญญาก็ย่อมเป็นอนัตตาตามไปด้วย แล้วในที่สุดขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ย่อมเป็นอนัตตาเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกัน การมีปัญญาเกิดขึ้นมาเท่าไร จิตใจก็ยิ่งสงบเบาลงๆๆเท่านั้น นั่นคือแนวทางที่มนุษย์จะปล่อยวางและค้นพบความสุขที่แท้จริงได้ในที่สุด การตระหนักถึงความตายในความหมายของอาตมาจึงหมายถึง เพื่อที่จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วจากนั้นความรู้สึกในจิตใจก็จะมั่นคงขึ้น



ทุกวันนี้พระอาจารย์ยังมีคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิต อีกไหมครับ

ไม่แล้ว เพราะอย่างที่บอกว่าเราพบคำตอบแล้วจากการศึกษาสติปัฏฐาน 4 ที่ถึงแม้ว่าตอนนี้เราอาจจะยังทำได้ไม่สมบูรณ์ แต่นั่นก็ถือเป็นเป้าหมายหลักของชีวิต

ในขณะเดียวกัน อาตมาก็มีความรู้สึกว่า ชีวิตที่ผ่านมานี้ตัวเองได้ทำและได้พบอะไรมาพอเพียงพอสมควรแล้ว การมีชีวิตอยู่ต่อไปก็อาจจะเป็นเพียงส่วนที่เกินมา แต่ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัวเองก็น่าจะทำประโยชน์ต่อสังคมได้ โดยการเผยแผ่ธรรมะ รวมทั้งการพยายามสอนอยู่ตลอดว่าสุขภาพใจเป็นเรื่องสำคัญมากเพียงไหน และหากไม่รักษาสุขภาพใจแล้ว ชีวิตของมนุษย์ก็ไม่มีทางมีความสุขได้เลย

ตอนนี้หนังสือของอาตมาที่สอนว่าสุขภาพใจคืออะไร ชีวิตคืออะไรก็มีการแปลเป็นหลายภาษาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน อังกฤษ อินโดนีเซีย รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมัน อาตมาต้องการเผยแพร่เรื่องสุขภาพใจต่อไป โดยไม่ถือว่าเป็นความทะเยอทะยานอะไรหากแต่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตาม ธรรมชาติ และทำงานของอาตมาไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาพใจดีให้ประชาชนอาตมาอยากให้ตัวเองเป็น เหมือนต้นซากุระที่บ้านเกิด ที่ทำให้ทุกคนมีความสุขได้ในทุกครั้งที่ผลิบาน



การเดินทางแสวงหาแต่สิ่งภายนอก ไม่อาจพบคำตอบของชีวิตแท้ที่จริงแล้วคำตอบที่แสวงหา อยู่ที่ใจของเราเอง

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ที่มา....เรื่องโดย พีรภัทร โพธิสารัตนะ

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร