วันเวลาปัจจุบัน 23 ก.ค. 2025, 18:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2010, 18:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

การเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเอาไว้ และปัจจุบันคำสอนเหล่านั้นได้ถูกเก็บบันทึกเอาไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งวิธีเจริญวิปัสสนามีผู้ตีความกันไปมากมาย หลายสำนัก หลายวิธีการ บางอย่างบางสำนักมีคำสอนเหมือนกันบ้าง แต่บางสำนักสอนแตกต่างกัน หนึ่งในสิ่งที่สอนกันในปัจจุบัน คือ เรื่องห้ามละกิเลส เวลาที่เจริญวิปัสสนา แต่ให้ตามดู หรือตามรู้กิเลสไปเท่านั้น การพยายามไปละกิเลสนี้ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยเหตุผลอันสละสลวยลึกซึ้งหลากหลายอย่าง...

ซึ่งหากผู้ฟังที่มีความศรัทธาต่อผู้สอนอยู่แล้ว หรือว่าไม่ได้มีโยนิโสมนสิการร่วมกับหลักกาลามสูตร หรือได้สั่งสมสุตตะ หรือมีประสบการณ์การปฏิบัติมาอย่างดีเพียงพอแล้ว ย่อมจะแยกแยะชี้ความถูกผิดได้ยาก

ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงได้เกิดกระทู้นี้ขึ้น โดยนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งคำอธิบายในชั้นอรรถกถาที่แสดงในประเด็นดังกล่าวมาลงให้ผู้ที่ยังไม่ได้รู้ จะได้รู้ หรือผู้ที่รู้แล้วจะได้ตรวจสอบทานว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะได้นำไปสู่สัมมาปฏิปทา คือ ปฏิบัติถูก ไม่ปฏิบัติผิด, จำถูก ไม่จำผิด, สอนถูก ไม่สอนผิด

ทั้งนี้ มิใช่ว่าการปฏิบัติด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นที่บอกว่าไม่ให้ละกิเลสเวลาที่กิเลสเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลแต่อย่างไร เรื่องได้ผลหรือไม่ได้ผลนี้เป็นอันยกไว้ เพราะเป็นเรื่องนี้เป็นปัจจัตตังของแต่ละบุคคล กระทู้นี้มุ่งหวังให้เห็นว่าแท้จริงพระพุทธเจ้า และอรรถกถาสอนให้ละหรือไม่ให้ละกิเลสเวลากิเลสเกิดขึ้นตอนกำลังเจริญวิปัสสนาอย่างไรกันแน่เท่านั้น ขอยกมาเพียงบางส่วนที่เห็นว่าชัดเจนมากที่สุด ดังต่อไปนี้

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
หลักฐานชั้นพระไตรปิฎก โดยพระพุทธเจ้า
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
อุทาน เมฆิยวรรคที่ ๔
๑. เมฆิยสูตร

...

[๘๙] ดูกรเมฆิยะ ก็แลอันภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว
พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ พึงเจริญ
เมตตาเพื่อละพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญา
เพื่อเพิกถอนอัสมิมานะ ดูกรเมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจ-
*สัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ
ในปัจจุบันเทียว ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทาน
นี้ในเวลานั้นว่า

วิตกอันเลวทราม วิตกอันสุขุม ตั้งมั่นแล้วทำใจให้เย่อหยิ่ง
บุคคลผู้มีจิตหมุนไปแล้วไม่ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้ ย่อม
แล่นไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่ ส่วนบุคคลผู้มีความเพียร มี
สติ ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้แล้ว ย่อมปิดเสีย พระอริย-
สาวกผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมละได้เด็ดขาดไม่มีส่วนเหลือ ซึ่ง
วิตกเหล่านี้ที่ตั้งมั่นแล้ว ทำใจให้เย่อหยิ่ง ฯ

จบสูตรที่ ๑

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.p ... 469&Z=2563

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
หลักฐานชั้นอรรถกถา อธิบายพระสูตรข้างต้น
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้นตามที่กล่าวแล้ว โดยมีกัลยาณมิตรเป็นที่อาศัยอย่างนี้. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล จึงตรัสว่า ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการเหล่านี้ เป็นต้น. บทว่า อุตฺตรึ ความว่า หากอันตรายมีราคะเป็นต้น พึงเกิดขึ้นแก่ผู้ปรารภตรุณวิปัสสนา เพื่อจะชำระอันตรายเหล่านั้นให้หมดจด เบื้องหน้าแต่นั้นพึงเจริญ คือทำให้เกิด และพอกพูนธรรม ๔ ประการนั้น. บทว่า อสุภา ได้แก่ เจริญอสุภกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรในบรรดาอสุภกรรมฐาน ในเอกเทศหนึ่ง. บทว่า ราคสฺส ปหานาย ได้แก่ เพื่อละกามราคะ.

บัณฑิตพึงประกาศเนื้อความนี้ด้วยอุปมาบุคคลผู้เกี่ยวข้าวสาลี.

จริงอยู่ ชายคนหนึ่งถือเคียวเกี่ยวข้าวสาลีในนาข้าวสาลี ตั้งแต่ที่สุดไป ครั้นเหล่าโคแหกรั้วของเขาเข้าไป เขาก็วางเคียวถือไม้ไล่โคให้ออกไป โดยทางนั้นนั่นแล แล้วทำรั้วให้เหมือนเดิมแล้วถือเคียวเกี่ยวข้าวสาลีอีก.

ในอุปมาข้อนั้น พระพุทธศาสนาพึงเห็นเหมือนนาข้าวสาลี พระโยคาวจรเหมือนคนเกี่ยวข้าว มรรคปัญญาเหมือนเคียว เวลาทำกรรมในวิปัสสนาเหมือนเวลาเกี่ยว อสุภกรรมฐานเหมือนไม้ สังวรเหมือนรั้ว การที่ราคะเกิดขึ้นเพราะอาศัยความประมาทโดยไม่พิจารณาทันทีทันใด เหมือนการที่โคทั้งหลายพังรั้วไป เวลาที่ข่มราคะด้วยอสุภกรรมฐานแล้วเริ่มทำกรรมในวิปัสสนาอีก พึงเห็นเหมือนคนเกี่ยวข้าววางเคียวถือไม้ไล่โคให้ออกไปโดยทางที่เข้ามานั่นแหละ ทำรั้วให้เหมือนเดิมแล้วเกี่ยวข้าวตั้งแต่ที่ที่ตนยืนอีก ในข้อนี้มีการเทียบเคียงอุปมาดังว่ามานี้. ทรงหมายเอาภาวนาวิธีซึ่งเป็นดังว่ามานี้ จึงตรัสว่า พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ.

บทว่า เมตฺตา ได้แก่ กรรมฐานมีเมตตาเป็นอารมณ์. บทว่า พฺยาปาทสฺส ปหานาย ได้แก่ เพื่อละความโกรธอันเกิดขึ้น โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. บทว่า อานาปานสฺสติ ได้แก่ อานาปานสติอันมีวัตถุ ๑๖. บทว่า วิตกฺกุปจฺเฉทาย ได้แก่ เพื่อตัดวิตกที่เกิดขึ้นแล้วโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. บทว่า อสฺมิมานสมุคฺฆาตาย ได้แก่ เพื่อถอนมานะ ๙ อย่างที่เกิดขึ้นว่าเรามี.

บทว่า อนิจฺจสญฺญิโน ได้แก่ ผู้มีความสำคัญว่าไม่เที่ยง ด้วยอนิจจานุปัสสนาที่เป็นไปว่า สังขารทั้งปวงชื่อว่าไม่เที่ยง๒๐- เพราะมีแล้วกลับไม่มี เพราะมีความเกิดขึ้นและดับไปเป็นที่สุด เพราะมีการแตกดับ เพราะเป็นไปชั่วขณะ เพราะปฏิเสธความเป็นของเที่ยง.

บทว่า อนตฺตสญฺญา สณฺฐาติ ได้แก่ อนัตตสัญญา กล่าวคืออนัตตานุปัสสนาที่เป็นไปอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งปวงชื่อว่าเป็นอนัตตา๒๑- เพราะไม่มีแก่นสาร เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ เพราะเป็นอื่น เพราะว่างเพราะเปล่าและเพราะสูญ ย่อมไม่ดำรงอยู่ คือไม่ตั้งมั่นอยู่ในจิต.

จริงอยู่ เมื่อเห็นอนิจจลักษณะก็เป็นอันชื่อว่าเห็นอนัตตลักษณะเหมือนกัน. ก็บรรดาลักษณะทั้ง ๓ เมื่อเห็นลักษณะหนึ่งก็เป็นอันชื่อว่าเห็นลักษณะ ๒ อย่างนอกนี้เหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า เมฆิยะ ก็อนัตตสัญญาย่อมดำรงอยู่แก่ผู้มีความสำคัญในสังขารว่าเป็นของไม่เที่ยง.

เมื่อเห็นอนัตตลักษณะ มานะที่เกิดขึ้นว่าเรามี ก็ชื่อว่าละได้ด้วยนั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ผู้มีความสำคัญในสังขารว่าเป็นอนัตตา ย่อมถึงการถอนอัสมิมานะเสียได้. บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม นิพฺพานํ ความว่า ย่อมบรรลุพระปรินิพพานอันหาปัจจัยมิได้ ในปัจจุบันนี้เอง คือในอัตภาพนี้เอง.

ในที่นี้มีความสังเขปเพียงเท่านี้ แต่เมื่อว่าโดยพิสดารนัยแห่งภาวนาอันว่าด้วยอสุภกรรมฐานเป็นต้น ผู้ต้องการพึงตรวจดูโดยนัยที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.


ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=85

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

จากเนื้อความของพระสูตร และจากคำอธิบายของอรรถกถาจารย์ คงจะได้ทราบแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้ใช้กรรมฐานอื่นๆ มาช่วยละกิเลสในยามที่กิเลสบังเกิดขึ้น และอรรถกถาจารย์ได้อธิบายให้เห็นว่า แม้จะกำลังเจริญวิปัสสนาอยู่ก็ตาม แต่หากได้เกิดกิเลสมีราคะเป็นต้นบังเกิดขึ้น เพราะไม่ได้ทำการพิจารณาตั้งแต่แรก ก็ขอให้หยุดพักวิปัสสนาเอาไว้ก่อน แล้วไปจัดการละกิเลสที่แทรกเข้ามาให้ดับไป แล้วจึงย้อนกลับมาเจริญวิปัสสนาต่อไป ดุจชาวนาที่เกี่ยวข้าวอยู่แล้วมีโคเข้ามารบกวน จึงได้วางเคียวเกี่ยวข้าวลงพักไว้ชั่วคราว ถือไม้ไปไล่โคให้ออกไป เมื่อไล่โคแล้วจึงกลับมาเกี่ยวข้าวต่อฉะนั้น

ขอให้เจริญในธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2010, 22:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


พอดีมีผู้หนึ่งได้แสดงความเห็นเอาไว้ในลานธรรมเสวนาที่ผมได้ตั้งกระทู้เอาไว้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งหลังจากได้อ่านความคิดเห็นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีสิ่งที่ผมควรเสริมเพื่อความสมบูรณ์พร้อมแห่งเนื้อหาจากพระสูตรข้างต้น เรื่องเกี่ยวกับ "วิตก" เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดพลาด คือ

"วิตกอันเลวทราม วิตกอันสุขุม ตั้งมั่นแล้วทำใจให้เย่อหยิ่ง
บุคคลผู้มีจิตหมุนไปแล้วไม่ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้ ย่อม
แล่นไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่ ส่วนบุคคลผู้มีความเพียร มี
สติ ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้แล้ว ย่อมปิดเสีย พระอริย-
สาวกผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมละได้เด็ดขาดไม่มีส่วนเหลือ ซึ่ง
วิตกเหล่านี้ที่ตั้งมั่นแล้ว ทำใจให้เย่อหยิ่ง ฯ"


จากพระสูตรท่อนนี้ วิตกในที่นี้ ไม่ได้ครอบคลุม วิตก หรือ ความตรึก(ความคิด) ทั้งหมดทุกอย่าง หากได้ศึกษาอรรถกถาเพิ่มเติม จะสรุปเรื่องวิตกว่ามุ่งหมายถึงดังต่อไปนี้

๑. วิตกอันเลวทราม ได้แก่ อกุศลวิตก คือ กามวิตก, พยาบาทวิตก, วิหิงสาวิตก

๒. วิตกอันสุขุม ได้แก่ วิตกที่ไม่มีโทษร้ายแรงเด่นชัดเหมือนอกุศลวิตก เช่น ความตรึกถึงญาติ, ชนบท, เทวดา, ความเอ็นดูผู้อื่น, ลาภสักการะชื่อเสียง, ความไม่ดูหมิ่น ฯลฯ (ตรงนี้ในทางปฏิบัติอาจครอบคลุมถึง ความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดที่เกิดขึ้นในยามที่ไม่ควรจะคิดก็ได้)

พระอริยสาวกสามารถละวิตกเหล่านี้ได้ทั้งหมดอย่างเด็ดขาด จะไม่มีอกุศลวิตกอีก และมีเหลือแต่กุศลวิตก คือ เนกขัมมะวิตก, อพยาบาทวิตก, อวิหิงสาวิตก เท่านั้น นอกไปจากนี้ยังสามารถจะควบคุมกุศลวิตกที่เหลือนี้ให้เกิดขึ้นตอนไหน หรือดับไปตอนไหนเมื่อไรก็สามารถกระทำได้ ดูเพิ่มเรื่อง "ผู้ชำนาญในทางเดินแห่งวิตก" และ "ว่าด้วยความวิตก ๒ ส่วน" และ "ว่าด้วยอาการแห่งวิตก"

ดังนั้นวิตกที่ทำให้เกิดภพน้อยภพใหม่ทำให้ยังคงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่รู้จบนี้ มิใช่วิตกทั้งหมดทุกอย่าง แต่เป็นอกุศลวิตกเท่านั้น เพราะเนื่องจากอกุศลวิตกเหล่านี้ มาจากพื้นจิตที่มีอวิชชาฝังอยู่ ตรงกันข้ามกับกุศลวิตกที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมมาสังกัปปะ อันเป็นองค์มรรค มีพื้นฐานมาจาก วิชชา จึงเป็นการคิดที่เป็นไปในทางกิเลสลดลง หยุดภพชาติ ไม่ก่อภพชาติอีก ตรงนี้ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจให้ถูก ให้ละเสียแต่อกุศลวิตกเท่านั้น และคอยควบคุมกุศลวิตกให้เหมาะสมถึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

ผู้ชำนาญในทางเดินแห่งวิตก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_it ... agebreak=0

ว่าด้วยความวิตก ๒ ส่วน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_it ... agebreak=0

ว่าด้วยอาการแห่งวิตก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_it ... agebreak=0

ขอให้เจริญในธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2010, 00:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


หากเรารักษามีสติรู้ตัวตลอด เราย่อมมีปัญญาพิจารณาว่าประโยชน์ของการทำสตินั้นเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งโลก ประโยชน์ของการเจริญสติย่อมทำให้การทำความเพียรก้าวหน้า เป็นการทำวิปัสสนาตามหลักของพุทธศาสนาในความคิดของผม
ทำกุศลธรรมให้เกิดขึ้นเห็นประโยชน์ของการทำกุศลธรรม ละอกุศลจิตที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ถือตัวว่าตัวเองมีปัญญากว่าคนนอกศาสนาเพราะตัวเองรู้ธรรมเยอะกว่า หรือความตำหนิที่มีแก่คนที่ไม่กลัวภัยในสงสารวัฎเช่นคนที่ดื่มเหล้าเมายา คนที่โกงกินบ้านเมือง เห็นแก่เงิน ทำใจให้ผ่องใส หากอกุศลธรรมเกิดขึ้นต้องหาทางหยุดยั้งด้วยกุศลธรรม เห็นโทษของอกุศลธรรมเหล่านั้น เป็นการทำวิปัสสนาตามหลักของพุทธศาสนาในความคิดของผม
รวมทั้งการรักษาศีล เป็นการทำวิปัสสนาตามหลักของพุทธศาสนาในความคิดของผม

หากจะทำวิปัสนาตลอดสายก็ต้องพิจารณาพระไตรลักษณ์ รวมทั้งธรรมหมวดอื่นๆด้วย

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร