วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 03:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ย. 2018, 21:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อจาก

viewtopic.php?f=1&t=56356

ทบทวนของเดิมเล็กน้อย

“จริยะ” คือระบบการดำเนินชีวิตของเรานี้ มีส่วนประกอบอยู่ ๓ ด้าน ซึ่งประสานกลมกลืนไปด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้ คือ

๑. แดนพฤติกรรม หรือ แดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินไปด้วยกาย และวาจา (พร้อมทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท ที่รับรู้โลกภายนอก)

๒. แดนจิตใจ ที่ดำเนินไปด้วยเจตนา โดยมีคุณสมบัติมากมาย ในจิตใจหล่อเลี้ยง สนองงาน และเสวยผล มีทั้งด้านเครื่องปรุงแต่งให้ดี หรือ ชั่ว ด้านกำลังความสามารถ และด้านความสุขความทุกข์

๓. แดนปัญญา ที่ดำเนินไปด้วยความรู้ ซึ่งเอื้อให้เจตนาในแดนแห่งจิตใจสามารถคิดหมายทำการต่างๆ ได้สำเร็จผล ให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพได้

ครบหมดทั้ง ๓ แดนนี้ ดำเนินหรือเป็นอยู่เป็นไปด้วยกัน เรียกว่า จริยะ และทั้งนี้ก็ควรให้มันเป็น จริยะที่ดีประเสริฐ เต็มตัว เป็นของแท้ (พรหมจริยะ)

เพื่อให้เป็นจริยะที่ดีงามประเสริฐดังที่ว่ามานี้ เราจะต้องจัดการกับชีวิตทั้ง ๓ แดนนั้น โดยฝึกหัดพัฒนา แก้ไขปรับปรุงให้ชีวิตดำเนินไปได้ดียิ่งขึ้นไปๆ จนมีชีวิตที่ดีงามเป็นประโยชน์มีความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์



การฝึกหัดพัฒนาชีวิตทั้ง ๓ แดนที่ว่า นั้น เรียกว่า การศึกษา ซึ่งมี ๓ ส่วน ตรงกับ ๓ แดนนั้น คือ

๑. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนพฤติกรรม หรือ แดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยฝึกหัดกาย – วาจา (พร้อมทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท ที่รับรู้โลกภายนอก) เรียกว่า ศีล (ชื่อเต็มว่า อธิศีลสิกขา)

๒. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนจิตใจ โดยพัฒนาเจตนา ให้เจริญในกุศลยิ่งๆขึ้นไป พร้อมทั้งมีความเข้มแข็งสามารถ และ ศักยภาพที่จะมีความสุข จนไร้ทุกข์สิ้นเชิง เรียกว่า สมาธิ (ชื่อ เต็มว่า อธิจิตตสิกขา)

๓. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนปัญญา โดยพัฒนาความรู้ความรู้เข้าใจจนเข้าถึงรู้ทันเห็นประจักษ์แจ้งความจริงของ สิ่งทั้งหลาย มีชีวิตที่เป็นอิสระและเป็นอยู่ด้วยปัญญา เรียกว่า ปัญญา (ชื่อเต็มว่า อธิปัญญาสิกขา)

ในฐานะที่การศึกษานี้มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรสิกขา

พระพุทธศาสนาถือเรื่องการศึกษาเป็นสำคัญ ถึงกับจัดระบบของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ให้เป็นระบบการศึกษา ที่เรียกว่า ไตรสิกขา นี้

ทั้งนี้ สาระสำคัญในที่สุดก็คือ เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริง แล้วก็ปฏิบัติตามหลักความจริง หรือตามกฎความจริงนั้น ให้ความจริงเป็นไปในทางที่เกิดผลดี แก่ชีวิตและสังคมของตน

เมื่อพัฒนาชีวิตด้วยไตรสิกขานี้แล้ว ก็จะมีจริยะ คือการดำเนินชีวิตเป็นอยู่ทั้งส่วนตัว และขยายไปถึงสังคม ที่อยู่กันอย่างถูกต้องดีงาม มีสันติสุขที่ยั่งยืน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ย. 2018, 22:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


เจตนา ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจะทำ, เจตจำนง, ความจำนง, ความจงใจ, เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่ง หรือเป็นประธานในสังขารขันธ์ และเป็นตัวการในการทำกรรม หรือ กล่าวได้ว่าเป็นตัวกรรมทีเดียว

ปัญญา * แปลกันว่า ความรอบรู้ เติมเข้าอีกว่า ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด คือ รู้ทั่วถึงความจริง หรือรู้ตรงตามความเป็นจริง ท่านอธิบายขยายความกันออกไปต่างๆ
เช่นว่า รู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ควรไม่ควร รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้เท่าทันสังขาร รู้องค์ประกอบ รู้เหตุปัจจัย รู้ที่ไปที่มา รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย รู้่ตามความเป็นจริง รู้ถ่องแท้ เข้าใจถ่องแท้ รู้เข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้พินิจพิจารณา รู้วินิจฉัย รู้ที่จะจัดแจงจัดการหรือดำเนินการอย่างไรๆ

แปลกันอย่างง่ายๆ พื้นๆ ปัญญา คือความเข้าใจ (หมายถึงเข้าใจถูก เข้าใจชัด หรือเข้าใจถ่องแท้) เป็นการมองทะลุสภาวะหรือมองทะลุปัญหา
........

* ปัญญา มักแปลกันว่า wisdom หรือ understandin

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2018, 08:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(หน้า ๗๑)

เจตนาต้องตั้งไว้ใส ตรง และงาม

ถ้าปัญญาสมบูรณ์จริง ก็ไม่ต้องห่วงเจตนา แต่ก่อนจะอยู่ได้ด้วยปัญญา เจตนาพามนุษย์ยุ่งนุงนังด้วยปัญหา


ย้อนกลับมาที่เรื่องปัญญา กับ เจตนา ที่ว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แง่ที่สำคัญ ซึ่งเราพิจารณาในตอนนี้ คือการที่มันเป็นตัวเชื่อมคน กับ ธรรมชาติ


ด้านหนึ่ง คือ ความจริงที่เป็นอยู่ตามธรรมดาหรือเรื่องของธรรมชาติ ที่ท่านว่า เอาแค่รู้ตามที่มันเป็น ขั้นแรกนี้ จุดที่สำคัญมากอยู่ตรงที่ว่า ต้องรู้ตามที่มันเป็นให้ได้ก็แล้วกัน นี่คือเรื่องของปัญญาขั้นที่ ๑ ซึ่งรู้สภาวะตามที่มันเป็น หรือปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ

จากนั้นปัญญาขั้นต่อมา เป็นขั้นที่ ๒ คือความรู้ว่าชีวิตที่จะดี สังคมที่จะดีนั้น มันควรจะเป็นอย่างไร และจะเป็นได้อย่างไร


เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจมองเห็นแล้ว เราก็จัดการตามที่รู้ หรือตามความรู้นั้น นี่ก็คือถึงตอนที่จะตั้งเจตนา เราก็ตั้งเจตนาให้สอดคล้อง กับ ปัญญาที่รู้นั่นเอง นี่คือเราเอาความรู้ของปัญญาที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติมาใช้ โดยเราตั้งเจตนาที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ให้สอดคล้องกับปัญญาที่รู้ ความจริงของธรรมชาติ

นี่แหละคือ ปัญญา กับ เจตนา ได้มาเป็นตัวเชื่อมคน กับ ธรรมชาติ


ข้อสำคัญในตอนนี้ก็คือ ต้องให้เป็นเจตนาที่ดีงามบริสุทธิ์ ตั้งให้ตรงตามที่ปัญญารู้ว่าเป็นความจริงความดีงามถูกต้อง จึงจะเรียกได้ว่ามีจุดหมายที่ดี แล้วก็อาศัยปัญญานั้น นำเอาความรู้ในความจริงมาใช้ในการจัดตั้งวางระเบียบแบบแผน กฎ กติกา ที่เป็นบัญญัติ ในสังคมมนุษย์อันจะให้เกิดผลดีขึ้นมา


นี่คือเรื่องของนิติบัญญัติ ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้ คือมีปัญญาที่ใสสว่าง และมีเจตนาที่ใสสะอาด ก็เรียกว่ามีฐานที่ดีที่สุดแล้ว

ต่อจากนั้น ฝ่ายบริหาร จะเป็นคณะรัฐมนตรี หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็มาเอานิติบัญญัตินี้ไปออกสู่ปฏิบัติการ โดยบริหารดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น


ฝ่ายบริหารนั้น ก็ต้องมีปัญญาที่ใสสว่าง และมีเจตนที่ใสสะอาดอีกเช่นกัน

ด้านแรกก็มีปัญญาที่รู้ความจริง มองเห็นความเป็นไปในสังคมว่ามันเสื่อม มันเจริญ หรือเป็นอย่างไร เข้าใจชีวิต เข้าใจสังคมมนุษย์ หยั่งถึงความจริงของธรรมชาติ รู้เท่าทันทั่วตลอดทั้งหมด

พร้อมกับที่รู้เข้าใจชัดเจนนั้น ก็มีเจตนาที่ดี ซึ่งมุ่งหวังประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคม เห็นแก่ประโยชน์สุขของประชาชน


การปกครองต้องเพื่อจุดนี้ ต้องเพื่อสนองเจตนานี้ นักปกครอง ผู้บริหารประเทศชาติ ครม. ฯลฯ ต้องมีเจตนานี้อะไรทำนองนี้ จะต้องมีวิธีการหรือมาตรการที่จะให้มีการประกาศหรือตั้งเจตนาที่แน่นอน ชัดเจน ให้เห็นถึงการที่จะต้องมุ่งมั่นไปตามเจตนานี้


อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีเจตนาดีเยี่ยม แต่ถ้าขาดปัญญา ก็อาจจะผิดพลาดโดยรู้ไม่เท่าถึงการณ์ จึงต้องปฏิบัติตามหลักที่ว่า ไม่ประมาท ปัญญา คือใช้และพัฒนาปัญญาไม่ว่างเว้น


แต่ปัญหาที่พบกันมาก มักอยู่แค่ในขั้นที่ว่า คนจำนวนมากที่มาเป็นผู้บริหารนั้น พอจัดได้ว่าเป็นคนมีปัญญา
แต่ไปบกพร่องด้านเจตนา คือ มีเจตนาไม่สะอาด มีจุดหมายซ่อนเร้นแอบแฝง กลายเป็นว่าที่แท้นั้น เขามุ่งมาหาทางสนองโลภะ จะมาเอามากอบโกยประโยชน์ส่วนตัว และสนองโทสะ คิดจะกลั่นแกล้งเบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่ก็ลุ่มหลงอยู่ในโมหะ


เมื่อไรได้ทั้งมีเจตนาดีที่ใสสะอาด และมีปัญญาดีที่ใสสว่าง ก็มั่นใจได้ว่าจะเป็นนักบริหารที่ดี


ทีนี้มาถึงตุลาการ ก็หลักการเดียวกันนั่นแหละ คือ ด้านที่ ๑ มีปัญญาที่รู้อย่างใสสว่าง เริ่มตั้งแต่รู้ชัดแจ้งในวิชาการของตนเอง รวมทั้งรู้กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ทุกเรื่องที่เนื่องกันกับนิติบัญญัติ

แต่แค่นั้นไม่พอ ถ้าจะให้ได้ผลจริง ก็ต้องรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ที่รวมอยู่ในความรู้ธรรมชาติ และธรรมดา เช่น รู้ธรรมชาติของมนุษย์ รู้ธรรมชาติของสังคม รู้สภาพและความเป็นไปของสังคม รู้สภาพการณ์ของโลก รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง และที่ส่งผลมาถึงกิจการหน้าที่ของ ตน ที่จริง ทุกอย่างที่เป็นความนั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ต้องรู้ ซึ่งจะมาเป็นส่วนช่วยในการทำงานได้ทั้งสิ้น นี่คือความรู้ให้เขาถึงความจริง คือปัญญา ซึ่งเป็นด้านที่ ๑

แล้วก็โดยเฉพาะ ที่แน่นอนก็คือต้องรู้ในเรื่องคดี ที่จะพิจารณาตัดสินอย่างชัดเจน ถ้าขาดปัญญา ไม่รู้เรื่องชัดเจนพอ ก็มีโอกาสจะพลาดได้ง่าย
ฉะนั้น ก็จึงได้มีมาตรการมากมายที่จะทำให้มั่นใจว่าจะได้ความจริงของเรื่องราวของ คดีความนั้นๆ ทั้งทางฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลย ต้องหาความจริงให้ได้ ตลอดจนจะต้องวางระบบแบบแผนกระบวนการดำเนินการที่จะให้ได้ความจริง ที่จะมาตัดสินให้ถูกต้อง


แล้วต่อไปก็คือ ความจริงในส่วนที่กว้างออกไปทั้งหมด ยิ่งรู้เข้าใจเท่าไรยิ่งดี รวมทั้งความจริงเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของมนุษย์ เพราะทั้งโจทก์และจำเลยก็เป็นมนุษย์ มีจิตมีใจ มีสุข มีทุกข์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา ควรรู้เข้าใจทั้งนั้น ความรู้เหล่านี้ ถ้าปัญญารู้แล้ว ก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2018, 08:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ขอให้มองไปที่พระพุทธเจ้า การที่ตรัสรู้นั้นก็ด้วยปัญญารู้สัจธรรม พอปัญญานั้นรู้ความจริงถึงที่สุด รู้ธรรมชาติจริงแท้แล้ว ก็รู้เข้าใจเห็นความจริงของชีวิต พอเห็นความจริงของชีวิต ก็รู้เข้าใจมนุษย์ และสังคมของมนุษย์ ใจก็ลงตัวกับมนุษย์และสังคม


เมื่อปัญญาทำหน้าที่ของมันจบบริบูรณ์ กิเลสก็หมดไปเอง พอปัญญาสว่างแจ้งจริง เจตนาก็ใสสะอาดไปเอง คือ ปัญญาทำให้จิตบริสุทธิ เป็นอิสระ ก็เลยไม่ต้องมีการตั้งเจตนา ไม่ต้องบอกว่ามีเจตนาดี


ทำไมไม่ต้องตั้งเจตนา ? พอจิตเป็นอิสระ คือ กิเลสทั้งหลายที่ครอบงำชักนำจูงใจหมดไปแล้ว ไม่มีกิเลสที่ห่วงหวงเรื่องของตัว ที่จะกั้นจะขวางจะดึงจะรั้งจะบังจะบิดเบน
พอมองไปเห็นผู้คนในสังคมเห็นชีวิต และสุขทุกข์ของเขา ใจก็ไหวไปตามความทุกข์ความเดือดร้อนของเขา นี่คือกรุณาโผล่ขึ้นมา เหมือนกับว่ามันเป็นไปเอง
แล้วกรุณานั้น ก็ประสานกับปัญญาที่จะหาทางไปแก้ปัญหา ทำให้คนพ้นทุกข์พ้นภัย เจตนามันก็ไปเองตามนั้น ไม่ต้องตั้งมันขึ้นมาอีก


เป็นอันว่า เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจมองเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และเป็นมาเป็นไปอย่างนี้ รู้เข้าใจหมดทุกอย่างว่าสภาวะของมันเป็นอย่างไร การที่มันเสื่อมมันเจริญนั้นมันเป็นไปอย่างไร เข้าใจหมดแล้ว เมื่อปัญญารู้เข้าใจมองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร และมันควรจะเป็นอย่างไรแล้ว ความรู้นั้นมันก็บอกก็นำทางไปเองว่า จะต้องตัดสินอย่างนี้ ต้องพูดต้องแนะนำอย่างนี้ ต้องจัดการอย่างนี้ มันก็ไปเอง

แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชน กิเลสที่เป็นทางเลือกสองข้างยังอยู่
บางทีเจตนา ก็ไม่ค่อยยอมมาเข้าคู่ประสานรวมเป็นอันเดียวกับปัญญา ซ้ำร้าย เมื่อปัญญายังไม่สมบูรณ์ กิเลสก็จะคอยกินแรง ถือโอกาสเอาผลความรู้ความคิดของปัญญาไปใช้ประโยชน์เสียอีกด้วย ก็จึงก็ต้องตั้งเจตนาให้เข้าคู่ที่จะสนองปัญญาให้ดี


ด้านปัญญา ก็ต้องตรวจสอบว่าใสสว่างรู้เข้าใจชัดแจ้งแน่หรือเปล่า แล้วก็สอง ด้านเจตนา ก็ต้องตรวจสอบว่าบริสุทธิ์ใสสะอาดดีแน่ไหม ปัญญาที่ใสสว่าง กับ เจตนาที่ใสสะอาด สองอย่างนี้ ต้องให้คู่เคียงกันไปให้ได้


เวลานี้ ต้องยอมรับว่า
สังคมของเรา มีปัญหาหนักทั้ง ๒ ด้าน ทั้งปัญญา และเจตนา และโดยเฉพาะเมื่อเรามาเน้นกันในเรื่องจริยธรรม ก็ต้องจับให้ถึงเจตนา


ด้านเจตนา แน่นอนว่ามีปัญหาอย่างมาก เราพูดกันนักถึงนักการเมือง ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พูดกันไป ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่สบายใจ และรวมแล้วก็อยู่ที่เรื่องเจตนานี้แหละ


นี่ถ้าประชาชนเกิดความแน่ใจในเจตนา ว่าท่านผู้นี้เข้ามาสู่วงการนิติบัญญัติ เข้ามาสู่วงการบริหาร ด้วยเจตนาที่ดี มุ่งเพื่อจุดหมายที่ตรงตามหลักการของงานนั้นจริงๆ แน่นอนว่าเขาจะอุ่นใจขึ้นมาทันที
แล้วพอรู้ว่าท่านผู้นั้นมีปัญญา นอกจากรู้วิชาการในหน้าที่ และสายงานแล้ว ท่านยังรู้เข้าใจความจริงถึงสภาวะด้วย เช่นว่า รู้จักสังคมไทยอย่างชัดเจน เป็นต้น ศรัทธาก็เกิดขึ้นมาหนักแน่น

ฉะนั้น องค์ธรรมสำคัญ ๒ ประการนี้ ยืนเป็นหลักเลย คือ ปัญญา กับ เจตนา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2018, 09:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2018, 09:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ย้ำบทความข้างบนโน่น ถึงพุทธธรรมว่า ๒ ระดับ ระดับที่คือ สภาวธรรม ระดับที่สอง คือ จริยธรรม หรือศีลธรรม

อ้างคำพูด:
คำสอนในทางพุทธศาสนานี้ มี ๒ ชั้น คือ ธรรมะหรือพระธรรมมี ๒ ชั้น : ธรรมะที่เป็นศีลธรรมอย่างหนึ่ง กับ ที่เป็นสัจธรรม อีกอย่างหนึ่ง (จริยธรรมอย่างหนึ่ง กับ สภาวธรรม อีกอย่างหนึ่ง)

ศีลธรรม นั้นเป็นคำสอนชั้นธรรมดา ที่มีคล้ายกันทุกศาสนา ศาสนาคริสต์ อิสลาม ฮินดู พุทธ มีคำสอนในด้านศีลธรรมคล้ายกัน ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก

สัจธรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาเฉพาะคน

ถ้าพูดเป็นศัพท์แสงหน่อย ก็เรียกว่า สัจธรรมเป็นเรื่อง “ปัจเจกชน”

ศีลธรรมเป็นเรื่อง “สังคม”

ทั้งหมดที่

viewtopic.php?f=1&t=55033

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2018, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่าง สภาวธรรม คือธรรมะ ด้านที่ ๑

อ้างคำพูด:
วันนี้ นั่งสมาธิได้ประมาณ 40 นาทีค่ะ นั่งดูลมหายใจ และภาวนาพุท-โธๆ ไม่รู้คิดไปเองรึเปล่า ช่วง 20 นาที เหมือนรู้สึกว่าตัวงอๆ เล็กๆ หมุนไปทางซ้ายติ้วๆค่อนข้างแรงค่ะ ก็ภาวนาพุธโธๆๆไปเรื่อยๆ นั่งสักแปบก็หายไป อีกสักพัก แขนก็กระตุกๆๆ แล้วตัวก็เหมือน ใหญ่ขึ้นหน่อยนึงค่ะ พอสักพักปวดขามากๆๆ จนทนไม่ไหวก็ออกจากสมาธิช่วง 40 นาทีค่ะ
อยากปรึกษาหน่อย การปฎิบัติถูกหรือผิดค่ะ ไม่มีครูบาอาจารย์ฝึกเอง serch ดูในกูเกิ้ลแล้วลองปฎิบัติเอง จะไปฝึกที่วัดก็หยุดศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ไม่ได้ ขอคำแนะนำหน่อย


รูปภาพ


ธรรมะด้านที่ ๑ นี้ ท่านว่า ต้องกำหนดรู้ตามที่มันเป็นของมัน มันเป็นยังไง รู้สึกยังไงให้กำหนดว่า (ในใจ) ยังงั้น ไม่ใช่ไปว่าไปท่องนั่นๆนี่ๆอย่างอื่น หรือไปว่าพุทโธเป็นต้น ไม่ใช่ ไม่ใช่ ต้องว่า ต้องกำหนด ต้องบริกรรม ในใจตามภาวะของมัน

พุท-โธ เป็นต้น ใช่เริ่มต้นเป็นหลัก ก็ทำนองพอง-ยุบ เป็นหลักไว้ แต่ทำไปภาวนาไปบริกรรมไป (จะเรียกอะไรแล้วแต่) สภาวะใดเกิดขึ้น ต้องวางหลักไปกำหนดสภาวะนั้นซึ่งเป็นปัจจุบันเสียด้วย ไม่ใช่จมแช่อยู่กับหลัก กำหนดมันแล้ว กลับมายึดหลักอีก ภาวะใดเกิดกระทบความรู้สึกอีก วางหลักไปกำหนดมันอีก ฯลฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2018, 10:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ปัญญาส่องสว่างให้เห็นทั่วไป จะเอาอย่างไร ก็แล้วแต่เจตนา


ตอนนี้ เราก็เข้าสู่วงการตุลาการ แต่ที่จริงนั้น ต้องถึงกันหมด หลักการก็ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันนั่นแหละ คือเริ่มจากนิติบัญญัติ แล้วบริหาร และตุลาการ บริหารก็ดำเนินการให้เป็นไปตามนิติบัญญัตินั้น แล้วตุลาการก็เอานิติบัญญัตินั่นแหละมาเป็นเกณฑ์ที่จะตัดสิน


นี่ก็เหมือนพระวินัย และก็คือวินัยในความหมายที่แท้ของมันนั่นแหละ พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ก็แบบเดียวกัน


ย้ำอีกทีว่า วินัยนี้เป็นบัญญัติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทรงแสดงธรรม บัญญัติวินัย ท่านใช้ศัพท์ต่างกัน เพราะว่าธรรมนั้นมีอยู่ของมันตามธรรมดา พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงไปตามที่มันเป็น แต่วินัยนี้ทรงบัญญัติ คือจัดตั้งวางขึ้นไว้ เป็นเรื่องของฝีมือมนุษย์


วินัยเกิดจากฝีมือของมนุษย์ ถ้ามนุษย์นั้นมีฝีกมือดี อย่างที่ว่าเป็นผู้รู้จริง มีปัญญาใสสว่างเข้าถึงความจริง แล้วก็มีเจตนาที่ใสสะอาด ก็มาใช้ปัญญาที่สามารถในการจัดตั้ง จัดการวางตราข้อกำหนดบทบัญญัติลงไปได้อย่างดี บัญญัตินั้น จะเรียกว่านิติบัญญัติ หรือวินัยบัญญัติ ก็แล้วแต่ ก็จะได้ผลดีจริง


ถ้านิติบัญญัติ จัดตั้งไว้ดีแล้ว มาถึงตุลาการ ก็คงไม่ต้องหนักใจ
แต่ถ้านิติบัญญัติทำมาไม่ดี ตุลาการก็หนักใจ
ถ้าทำมาไม่เรียบร้อย ในด้านตัวบทโครงสร้างรูปแบบ ก็คงหนักใจไปแบบหนึ่ง
ถ้าทำมาไม่ถึงธรรมในด้านอรรถสาระ ถึงแม้ด้านตัวบทจะเรียบร้อย ถ้าตุลาการมีเจตนาดี มุ่งเพื่อความดีงามความเป็นธรรมความถูกต้องในสังคม ก็คงอึดอัด
แต่ถ้าไม่มีเจตนามุ่งถึงธรรม ว่าไปแค่ให้ตรงตามตัวบท ก็แล้วไป


รวมความแล้ว ตุลาการก็ดำเนินการให้เกิดผลตามนิติบัญญัตินั้น และในการทั้งหมดนั้น ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่ามีปัญญา กับ เจตนานี้แหละเป็นสำคัญ


ทีนี้ ปัญญา กับ เจตนา นั้น เหมือนเป็นหัวหน้าใหญ่
ต่อจากปัญญาและเจตนา ก็มีข้อธรรมปลีกย่อยมากมายหลายอย่าง เป็นตัวประกอบที่จะกำกับ พ่วงไป หรือช่วยรับใช้สนองงานออกสู่การปฏิบัติกระจายออกไปในขั้นตอนต่างๆ

เราต้องยอมรับว่า ผู้พิพากษานั้นแน่นอนว่าท่านก็เป็นมนุษย์ ท่านก็มีจิตใจ มีความรู้สึก มีความนึกคิด แล้วในด้านความรู้สึกนั้น ก็เป็นธรรมดาตามปกติที่เป็นปุถุชน ก็มีความรู้สึกสบายใจ ไม่สบายใจ บางทีก็มีความทุกข์ใจ แล้วก็หายโล่งไป มีความผ่องใสได้ มีความขุ่นมัวเศร้าหมองได้
บางทีมีความโกรธขัดใจ ต้องใช้ความเข้มแข็งมากที่จะข่มใจระงับ ก็จึงต้องมีหลักธรรม หรือข้อประพฤติปฏิบัติ ในระดับของจริยะ เพื่อช่วยในการที่จะดำรงตัวหรือวางตัวให้ได้ผลดี


พูดเข้าหลักก็คือ เพื่อให้ปัญญา กับ เจตนา ทำงานประสานออกสู่การปฏิบัติด้วยกัน ให้ออกผลอย่างที่มันควรจะเป็นอย่างแท้จริง ก็มีหลักธรรมข้ออื่นๆ มาประกอบ กำกับ รับใช้ สนองงาน เป็นบริวาร สนับสนุน เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ ก็มาออกที่ตัวของผู้พิพากษา โดยมีผู้พิพากษาเป็นผู้แสดง


ก่อนจะพูดถึงธรรมข้อย่อยๆ ที่ออกสู่การปฏิบัติทั่วไป จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดอีกหน่อยเกี่ยวกับบทบาทของปัญญา กับ เจตนา นั้น ในฐานะที่เป็นตัวยืน มีขอบเขตการทำงานทั่วรอบครอบคลุมและตลอดแต่ต้นจนจบ


การทำงานของปัญญา กับ เจตนา นั้น ต่างกัน
ปัญญาเป็นของดีมีประโยชน์ ซึ่งทำหน้าที่ หรือมีบทบาทเหมือนตะเกียง เหมือนไฟฉาย ดวงไฟ ดวงประทีป ตลอดจนเหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ คือ ให้ความสว่าง ส่องแสง ส่องทาง เมื่อคนและสัตว์ทั้งหลาย อาศัยแสงสว่างนั้น มองเห็นที่เห็นทาง เห็นสิ่งทั้งหลายแล้วจะทำอะไรอย่างไร ดีหรือร้าย เป็นคุณหรือโทษ ก็เป็นเรื่องของคนสัตว์เหล่านั้น

ตัวเจ้าการเจ้าบทบาทที่จะใช้ประโยชน์จากแสงสว่างของปัญญา คืออาศัยแสงสว่างนั้นแล้วทำอะไรๆ ก็คือเจตนานี่แหละ การดีการร้าย จึงเป็นเรื่องของเจตนา และเจตนาจึงเป็นหัวหน้านำปฏิบัติการในแดนของจริยะ และออกมาในแดนบัญญัติ


เพื่อให้มั่นใจ ว่าเจตนาจะนำทำงานอย่างถูกต้อง เป็นจริยะอย่าง ดีที่สุดสำหรับผู้พิพากษา ที่จะออกมาสู่การปฏิบัติในเรื่องของบัญญัติ ก็จึงหาข้อธรรมที่ตรงเรื่องที่สุดมาไว้ประกอบกำกับเจตนาของผู้พิพากษานั้น


ตอนนี้ เราจะต้องพยายามให้เจตนานำไปสู่ความถูกต้องเป็นธรรมชอบธรรมให้ได้ เป็นเรื่องของเจตนาที่ว่าจะเอาธรรมหรือคุณสมบัติอะไรมาไว้กับตัว ที่จะไปด้วยกัน

ถึงตอนนี้ ก็มีหลักธรรมชุดย่อยๆ มากำกับสนองงานแก่เจตนานั้น เริ่มด้วยชุดที่ตรงเรื่องและใช้บ่อยที่สุด ก็คือ หลักธรรมชุด "พรหมวิหาร"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2018, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พรหมวิหาร คือ จริยะพื้นฐาน ที่จะกำกับเจตนาของตุลาการ


พรหมวิหาร แปลกันว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่ (หรือท่านผู้เป็นใหญ่) ท่านผู้ใหญ่ หรือท่านผู้เป็นใหญ่นี้คือพรหม


ปรากฏว่า ได้เกิดความเข้าใจเพี้ยนขึ้นในภาษาไทย เรามักเข้าใจว่า พรหมวิหาร เช่น เมตตา นี้ เป็นธรรมของผู้ใหญ่โดยวัย หรือโดยสถานะในสังคม ถ้าอย่างนั้น เด็กก็ ไม่ต้องมีเมตตา เป็นต้น ใช่ไหม เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่จะต้องเมตตาต่อเด็ก หรือ ต่อผู้น้อย อะไรทำนอง นี้


แต่ถ้าไปดูในหลักธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนทั่วไป แม้แต่ในหลักธรรมที่คฤหัสถ์พึงปฏิบัติ ก็มีวิธีปฏิบัติของคฤหัสถ์ต่อพระภิกษุ เริ่มต้นเลยว่า ๑-๒-๓ คฤหัสถ์ พึงปฏิบัติต่อพระภิกษุด้วยกายกรรมมีเมตตา ด้วยวจีกรรมมีเมตตา ด้วยมโนกรรมมีเมตตา คือ ให้ญาติโยมมีเมตตาต่อพระ อ้าว ถ้าเมตตาเป็นธรรมของผู้ใหญ่ ก็น่าจะให้พระเมตตาโยม นี่ทำไมให้โยมเมตตา พระล่ะ


ตามคำอธิบายในคัมภีร์บาลี พระผู้น้อยก็ตาม ญาติ โยมก็ตาม ตักน้ำล้างเท้า และพัดวีถวายแก่พระเถระ เรียกว่าเป็นการกระทำด้วยเมตตาจิต หรือ อย่างหมอชีวกผ่าฝีถวายการบำบัดแด่พระพุทธเจ้า ก็เป็นการกระทำด้วยเมตตาจิต นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ว่าเราเข้าใจ และเอาธรรมะมาใช้คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความหมายที่ท่านว่าไว้ เพราะปัญหาทางภาษา


ผู้ใหญ่ หรือ ท่านผู้เป็นใหญ่นี้ คือ พรหม ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่ คือยิ่งใหญ่ด้วยความดีงาม หรือมีคุณธรรมยิ่งใหญ่ หรือไม่ก็แปลว่าประเสริฐ ท่านสอนทุกคนให้ทำตัวเป็นพรหม


ควรรู้ภูมิหลังว่า ในศาสนาพราหมณ์เดิมถือว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และสร้างสังคมมนุษย์ แล้วก็ทำให้โลกสังคมมนุษย์นี้ดำรงอยู่ได้


แต่พระพุทธศาสนาปฏิเสธลัทธินั้น ท่านไม่สอนให้นับถือเรื่องพระพรหมสร้างโลก แต่บอกว่ามนุษย์ทุกคนนี่แหละ มีหน้าที่สร้างโลก ช่วยกันผดุงโลก อภิบาลโลก


ถ้ามนุษย์ประพฤติปฏิบัติดี คือมีธรรมชุดนี้ ได้แก่มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้ว เราก็เป็นพรหมกันทุกคน แล้วเราก็เป็นผู้สร้างสรรค์โลก บำรุงรักษาอภิบาลโลกให้อยู่ดีได้ โดยไม่ต้องไปรอพระพรหม


แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเรามัวรอพระพรหมอยู่ และ ทำอะไรๆโดยไม่รับผิดชอบ เราก็ทำลายโลก และทำลายสังคมนี้ แล้วก็ได้แต่รอพระพรหมมาสร้างโลกให้ใหม่ ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ไหว โลกแย่แน่


พระพุทธเจ้าไม่ให้เรามัวรอพระพรหม แต่ในมนุษย์ทุกคนเป็นพรหมเอง ด้วยการมีพรหมวิหาร เพราะ ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องมีพรหมวิหาร คือ มีธรรมที่จะ ทำให้มีจิตใจของพระพรหม หรือมีใจกว้างขวาง มีคุณความดียิ่งใหญ่ดุจพระ พรหมนั่นเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป


เอาละ ตกลงว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ ต้องมีในทุกคนนั่นแหละ โดยเฉพาะแน่นอนว่า ผู้ที่เป็นใหญ่หรือเป็น ผู้ใหญ่ ก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติธรรมทุกข้อเป็น ตัวอย่างอยู่แล้ว ก็ต้องมี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นตัวอย่างด้วย เท่ากับเป็นผู้นำหรือมีหน้าที่เป็นพิเศษในการที่จะสร้างสรรค์ บำรุงรักษาอภิบาลสังคมนี้ไว้ เพราะฉะนั้น จึงควรเอาใจใส่มากในการมีธรรม ชุดนี้


แต่โดยหลักการแล้วที่แท้แล้ว ทุกคนนั่นแหละต้องมีเมตตาต่อกัน เด็กก็ต้องมีมีเมตตาต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ต้องมีเมตตาต่อเด็ก

ที่จริงเมตตา ก็หมายถึงความเป็นมิตร หรือน้ำใจมิตรเท่านั้นเอง เมตตา กับ มิตตะ นี่มีรากศัพท์เดียวกัน อย่างที่ว่าแล้ว
เมตตา ก็คือ ธรรมของมิตร หรือน้ำใจของมิตร คือใจรัก หรือน้ำใจปรารถนาดี อยากให้เขามี ความสุข และแน่นอนว่า ความเป็นมิตรนี้ทุกคนควรมีต่อกัน ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ต่อลูกๆ ทั้งลูกต่อคุณพ่อคุณแม่และพี่น้อง แล้วก็ต่อเพื่อนักเรียน ต่อ เพื่อนบ้าน ต่อเพื่อนร่วมชาติ ต่อเพื่อนร่วมโลก มีเมตตาต่อกันไปจนทั่ว


เมตตาของคุณพ่อคุณแม่นั้น มีเป็นตัวอย่างให้แก่ลูก และลูกก็มีเมตตาตอบแทน ด้วยความรักต่อพ่อแม่ แล้วก็เมตตาต่อผู้อื่น แผ่ขยายออกไป และไม่เฉพาะเมตตา เท่านั้น ก็ต้องมีให้ครบหมดทั้ง 4 อย่าง ต่อด้วย กรุณา และเมตตา ลงท้ายด้วยอุเบกขา


ทีนี้ มาถึงท่านผู้พิพากษา ก็ชัดเจนเลยว่า มีหน้าที่โดยตรงในการที่จะผดุงไว้ซึ่งสังคม หรือธำรงรักษาสังคม ให้อยู่ดีมีความมั่นคงปลอดภัย ถึงกับเรียกว่าเป็นตุลาการ เป็นตราชู ผู้ดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม จึงต้องเอาพรหมวิหารนี้มาปฏิบัติให้มีอยู่ประจำตัว เป็นธรรมพื้นฐานในใจ ไว้กำกับเจตนาเป็นประจำ ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ได้ผลสมจริง และเป็นแบบอย่างของสังคมพร้อมไปด้วยกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2018, 05:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เบรกความคิดหน่อย :b16:

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2018, 05:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มองพรหมวิหาร คือ คำนึงทุกสถานการณ์มุ่งประสานทั้งสังคม ทั่วทั้งโลก เข้าสู่ดุล


แน่ใจ และแน่นอนเลยว่า ถ้าทุกคน โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ในการผดุงสังคม มีความชัดเจนในหลักพรหมวิหาร แล้วปฏิบัติให้ตรงตามความหมาย จะธำรงรักษาสังคมไว้ได้อย่างแน่นอน
พระพุทธเจ้าทรงสอนนักหนา ให้เจริญพรหมวิหาร มีเมตตา เป็นต้น กันทุกคน

การที่จะปฏิบัตินั้น (ปฏิบัติ มีความหมายตามศัพท์เดิมว่า “ เดิน” ในที่นี้ ปฏิบัติก็เริ่มที่ เดินจิต ให้ถูก)


ย้ำอีกว่า ต้อง ชัดในความหมาย และความชัดนั้นจะเห็นได้จากความสามารถที่จะแยกให้เห็นความแตกต่างของธรรมแต่ ละข้อนั้นๆ ด้วย
แต่เวลานี้สังคมไทย มีความไม่ชัดเจน และสับสนปนเปมากในเรื่องพรหมวิหาร ตั้งแต่เมตตา กรุณาไปเลย


นอกจากเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนเพี้ยนไปแล้ว ความผิดพลาดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่คนไทยได้กระทำต่อหลักพรหมวิหาร คือ เอาสี่ข้อที่ท่านจัดเป็นชุดไว้ให้ ไปแยกใช้กระจัดกระจายกันหมด จนกระทั่งไปๆมาๆ บางข้อก็อ้างบ่อยนักหนาเหมือนพูดเล่นๆ
แต่บางข้อไม่เอามาบอกมาเตือนกัน เหมือนไม่เห็นความสำคัญเสียเลย


ที่ถูกนั้น ต้องจับให้อยู่รวมกันเป็นชุด เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ครบทั้งชุดเป็นธรรมดา ครบทั้ง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ถ้าพูดตามภาษานิยมของคนยุคนี้ ก็คือ เป็นองค์รวม หรือเป็นระบบองค์รวม แต่ที่จริงก็คือเป็นเรื่องของความสมดุลและพอดี

ชุดองค์รวมสี่นี้ คนไทยไม่ใช้แต่ละข้ออย่างเป็นองค์ร่วม แต่ เอาไปแยกส่วนกระจายกันไปเสีย เน้นกันนักที่ข้อเมตตา และกรุณา แต่มุทิตาไปไม่ค่อยถึงสักที ยิ่งอุเบกขาแล้วแทบไม่รู้ เรื่องเลย

ที่ว่านี้ ไม่ใช่แยกไม่ได้เลย ก็แยกได้ คือว่าไปตามสถานการณ์ที่ต้องใช้ข้อ นั้นๆ อย่างเมตตา นั้น เป็นพื้นยามปกติ ก็ย่อมใช้เสมอ พูดบ่อยได้ แต่ ข้อสำคัญต้องมีความตระหนักรู้อยู่ มองไปให้ตลอดทั้งชุดให้ถึงอุเบกขา


โดยเฉพาะอุเบกขานั้น เป็นข้อที่โยงกับปัญญา จึงเป็นข้อที่ต้องเอาใจใส่ศึกษาให้จะแจ้ง แต่ คนไทยไม่ใส่ใจ และไม่พยายามศึกษาให้เข้าใจ เลยกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แล้วก็เข้า ใจผิด จึงต้องมาซักซ้อมทบทวนกันให้ชัด


ว่ากันให้ถึงหลักแท้ๆ คนที่มีพรหมวิหาร 4 นั้น ผดุงรักษาอภิบาลโลก โดยเฉพาะสังคมมนุษย์ไว้ได้ เพราะปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกได้ ทั่วถึง ครบถ้วน ทัน และถูกต้องตรงตามสถานการณ์ คือ

1. (ในสถานการณ์ที่เขาอยู่เป็นปกติ) เมตตา มีความเป็นมิตร คือ มีใจรัก ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข เห็นใครเจอใคร ก็มองอย่างเป็นมิตร เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ ก็มีน้ำใจปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข เป็นน้ำใจพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีต่อ กัน มนุษย์ต้องมีความเป็นมิตรกัน นี่คือเมตตา ซึ่งเป็นธรรมข้อพื้นฐานที่สุด

จากนั้น พระ พุทธเจ้าก็ตรัสต่อไป ตามเรื่องของความเป็นจริงในสังคมของมนุษย์ คือ เมื่อ เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อื่นนั้น เขาก็อยู่ในสถานการณ์ต่างๆกัน และแม้สำหรับแต่ละคน สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลง ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นธรรมดาที่ว่า ชีวิตและสังคมตลอดจนทั้งโลกที่แวดล้อม ย่อมเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนิจจัง เป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีสุข แล้วก็มีทุกข์ มีขึ้น แล้วก็มีลง มีขึ้นสูง แล้วก็มีตกต่ำ แล้วแต่เหตุปัจจัย ทำให้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เมื่อกี้นี้บอกว่าสถานการณ์ ปกติ เรามีเมตตา ทีนี้ต่อไป

2. (ในสถานการณ์ที่เขาทรุดลงเดือดร้อน) กรุณา ใฝ่ ใจจะแก้ไข ขจัดทุกข์ของเขา คือ เมื่อผู้อื่นประสบเหตุร้าย เกิดปัญหา เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ก็เข้า สู่สถานการณ์ที่สอง เรียกว่า ตกต่ำลงไป เขาก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ ก็มาถึงวาระของพรหมวิหารข้อที่ 2 คือ กรุณา ได้แก่ ความปรารถนาที่จะช่วยให้คนพ้นจากความทุกข์

ถ้าแปลตามศัพท์ก็ว่า กรุณา คือ ความพลอยดีใจ หวั่นไหว เมื่อเห็นผู้อื่นประสบความทุกข์ หรือแผ่ขยายใจตามไป คำนึงถึงความทุกข์ของเขา เพื่อหาทางไปช่วยเหลือ เป็นเหตุให้ขวนขวาย เอาใจ ใส่ จนกระทั่งลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นขึ้นมา

เมตตา กับ กรุณา ต่างกันอย่างชัดเจนที่สุด แต่คนไทยมัก แยกไม่ออกเลย จึงบอกว่าเป็นปัญหามาก เพราะไม่รู้ไม่ชัดในหลักแม้แต่ที่ ง่ายๆแค่นี้
เป็นอันว่า ถ้าเกิดสถานการณ์ที่คนอื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์ ขึ้นมา เราก็ต้องย้ายจากเมตตาไปกรุณา กรุณา ก็คือการที่ใจเรานี้ไวต่อการที่จะรับรู้ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ พอเห็น เขาเดือดร้อนมีทุกข์ ก็พลอยมีใจหวั่นไหวไปตามความทุกข์ของเขา


ถ้าเป็นคนธรรมดา ก็ คือ พอเห็นคนอื่นทุกข์ ก็พลอยไม่สบายใจด้วย แต่ท่านว่ายังไม่ถูก แท้ ที่ถูกคือ ใจหวั่นไหวไปตามความทุกข์ของเขา หรือไวต่อการรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น ด้วยความปรารถนาจะช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ แต่ตัวเองไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่มัวไปเศร้า ไม่ปล่อยใจให้ระทมทุกข์ด้วย

เป็นอันว่า ต้องแยกกัน ให้ได้หลักการก่อนว่า สอง เมื่อเขาตกต่ำเดือดร้อน ก็มีกรุณา ปรารถนาจะช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์

3. (ในสถานการณ์ที่เขาดีขึ้น) มุทิตา พลอยยินดีที่เขางอกงามมีความสุขความสำเร็จ คือ เขาทำความดีงาม มีความสุข มีความเจริญ ก้าวหน้า หรือทำการสำเร็จ เช่น เด็ก สอบไล่ได้ คนเข้างานได้ ได้เลื่อนขั้น หรือละเลิกการร้าย หันย้ายเข้าสู่ทาง แห่งความดี เช่น เลิกยาเสพติด หันมาตั้งใจเรียน ก็เรียกว่าขึ้นสูง หรือดีขึ้น เราก็ใช้พรหมวิหารข้อ ที่ 3 คือ มุทิตา มีใจพลอยินดีด้วย อยากจะช่วยส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้เขามีความ สุข ทำความดีงามสำเร็จ หรือทำประโยชน์ให้ยิ่งขึ้นไป

ครบแล้วนะหมดแล้ว สถานการณ์ในชีวิตมนุษย์ก็มี 3 นี่แหละ
หนึ่ง เขาอยู่เป็นปกติ เรามีเมตตา
สอง เขาตกต่ำเดือดร้อน เรามีความกรุณา
สาม เขาขึ้นสูง งอกงามสำเร็จดีขึ้นไป เรามีมุทิตา


ทีนี้ ยังมีอีกข้อ คือข้อ 4 ที่รอจะเอาเข้ามาคุม ข้อนี้แหละสำคัญยิ่งนัก เป็นหลักใหญ่ในการรักษาสังคมมนุษย์ ถ้าตัวนี้ไม่มา ถึงจะมี 3 ตัวแรก ก็รักษาไม่ไหว ไม่พอ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2018, 20:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยธรรม ผู้พิพากษา เอาอุเบกขามาดำรงรักษาธรรม


ก็ครบทุกสถานการณ์แล้วนี่ ยามปกติก็มีเมตตา ยามเดือดร้อนก็กรุณาช่วยเขาไป ยามดีมีสุขก็มุทิตาส่งเสริมสนับสนุน มันก็น่าจะครบแล้ว เรานึกว่าพอ แต่ท่านบอกว่าไม่ครบ ต้องมีตัวที่ 4 คุมท้าย เป็นตัวสำคัญที่สุด

อธิบายว่า พรหมวิหาร 3 ข้อแรกนั้น ยังหนักทางด้านความรู้สึก แม้จะเป็นความรู้สึกทีดีอย่างยิ่ง แต่ยังไม่เป็นหลักประกันว่ามีปัญญาหรือไม่ และในที่สุด ความรู้สึกนั้นๆ ถูกต้องดีจริงหรือไม่ จะต้องรู้โดยมีปัญญาที่จะบอกให้ตัดสินได้


เขาอยู่เป็นปกติ เราก็รู้สึกเป็นมิตรมีเมตตาปรารถนาดี นี่ก็เป็นความรู้สึกทีดี เขาตกต่ำเดือดร้อน เราก็รู้สึกสงสารอยากช่วยเหลือ นี่ก็เป็นความรู้สึกทีดี แล้วเขาได้ดีมีสุข เราก็มุทิตาพลอยรู้สึกยินดีด้วย ก็เป็นความรู้สึกทีดีทั้งนั้น


แต่ไม่ใช่แค่นั้น จะ ต้องมีปัญญารู้ความจริงด้วยว่า มันเป็นความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ในกรณี นั้นๆ ที่จะไปช่วยคนที่ว่าเดือดร้อน หรือจะไปยินดีส่งเสริมคนที่ว่ามีสุขสำเร็จ บางครั้งจะต้องรู้สึกซึ้งลงไปอีก ว่าความจริงมันเป็นอย่างไรในเรื่องนั้นๆ


เจ้าหมอนั่น ไปทำอะไรมา อ๋อ....นี่ไปลักขโมยเงินของเขามา จึงถูกจับและกำลังเดือดร้อนมีทุกข์ เราจะกรุณาสงสารช่วยปล่อยไป หรือว่าเขาทำการสำเร็จขโมย เงินได้มาก้อนใหญ่ เราจะมุทิตาพลอยยินดี สนับสนุนได้ไหม นี่ถ้าว่าตามหลักสามข้อแรก ก็ถูกใช่ไหม ตอนนี้แหละ คือ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ได้แค่สงสารไปช่วยออกมา หรือดีใจตามไปสนับสนุน อย่างนี้ยังไม่พอที่จะให้สังคมอยู่ได้


จึงต้องมีปัญญารู้ลึกลงไปอีกว่า ที่เขาทำมาได้มาอย่างนี้ ความจริงของ เรื่องเป็นอย่างไร เป็นความถูกต้องหรือไม่ จะเกิดผลเสียอย่าไรหรือไม่แก่สังคม หรือ แม้แต่ชีวิตของเขาเอง การได้เงินมาในทางไม่ดีนี้ ก็อาจจะก่อผลเสีย เป็นเครื่องบั่นทอนชีวิตของเขาเอง กลายเป็นนิสัยเสีย ไม่ตั้งใจทำมาหา กิน ตกอยู่ในความประมาท สังคมก็เสีย ชีวิตก็เสีย เพราะฉะนั้น เราจะอยู่แค่กับความรู้สึกไม่ได้ จะต้องมีความรู้เข้าใจความจริง คือ มีปัญญากำกับด้วย


ตอนนี้แหละที่ว่า ต้องมีปัญญารู้ว่าการที่จะทำจะปฏิบัติการอะไรด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ในกรณีนั้นๆ มีความจริงเป็นอย่างไร เป็นการถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เมื่อรู้ ความจริงแล้ว ก็จะได้ปฏิบัติจัดดำเนินการไปโดยให้เป็นไปตามความถูก ต้อง เพื่อรักษาธรรม เพื่อประโยชน์แก่สังคม และเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงแก่ ชีวิตของเขาเองในระยะยาว


เขาไปก่ออาชญากรรมมา ไม่ถูกต้อง เป็นผลเสียแก่ชีวิตของตัวเขาเองด้วย สังคมก็เดือดร้อนด้วย ต้องแก้ไข เขาถูกจับก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราไปกรุณาสงสารแล้วปล่อยออกมาจากคุก ก็ไม่ถูกต้อง เขาถูกจับก็ต้องถูกจับ อันนี้เป็นไปตามหลักความจริงความถูกต้อง ปฏิบัติการด้วยกรุณาไม่ได้
ตอนนี้ท่านใช้คำว่า ต้องหยุดขวนขวาย ในการที่จะทำตามสามข้อต้น เพราะจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามปัญญาที่รู้ความจริง ความถูกต้องนั้น


การที่หยุดระงับความขวนขวาย ไม่ทำตามสามข้อต้น เพื่อจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามปัญญาที่รู้ความจริงความถูกต้องนั้น ก็คือข้อ 4 ที่เรียกว่า อุเบกขา ซึ่งสำคัญมาก ตั้งอยู่บนฐานของปัญญา เป็นจุดประสานเข้าสู่ดุลยภาพ ระหว่างความรู้ กับ ความรู้สึก หรือ เอาความรู้ มาปรับดุลความรู้สึกให้ลงตัว พอดี


สามตัวแรก (เมตตา กรุณา มุทิตา) เป็นความรู้สึกที่ดี แต่ถึงจะเป็นความรู้สึกที่ดี ก็เลยเถิดได้
ส่วนอุเบกขา แม้จะเป็นความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึกที่ตั้งอยู่บนฐานของ ปัญญา คือมีปัญญามาให้ความรู้ แล้วความรู้ก็มาปรับความรู้สึกให้เข้า ดุล ก็เป็นอุเบกขาขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะลงตัว พอดี เข้าที่ เรียบ สงบ เป็นกลาง


อาการที่วางตัวเป็นกลาง หรือมีความเป็นกลางนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการหยุด ไม่ขวนขวายตามกรุณา หรือมุทิตา ไม่ไปช่วยขัดขวางตำรวจที่จับมา ไม่ แสดงความยินดีชื่นชมที่เขาลักขโมยมาได้สำเร็จ


การไม่ขวนขวายนี้ บางทีก็เรียกให้สั้นว่า เฉย หรือ วางเฉย แต่ไม่ใช่เฉยเฉยๆ หรือเฉยเมย แต่เฉยเพราะจะรักษาธรรม คือ เปิด โอกาสแก่ธรรม ที่จะว่ากันไป หรือจัดการกันไปตามธรรม ตามระเบียบแบบ แผน กติกา กฎหมาย ฯลฯ นี่แหละคือข้ออุเบกขา


ต้องระวัง ที่คนไทยเราแปล อุเบกขา ว่า “เฉย” บอกแล้วว่า เฉย ในที่นี้ คือ ไม่ขวนขวายตาม 3 อย่างแรก ในกรณีที่จะเสียธรรม หรือจะทำให้เกิดความไม่ถูกต้อง คือ ไม่ขวนขวาย เพราะถ้าขวนขวายไปแล้ว จะไม่ถูกต้อง ก็จึงหยุดขวนขวาย


แต่คนไทย แปลว่า เฉย นั้น มักว่ากันไปโดยไม่ค่อยรู้เข้าใจ หรือไม่ค่อยอธิบายกันให้ชัด ทำให้เข้าใจผิดเพี้ยน กลายเป็นเฉยเมย เฉยเมิน เฉยมึนงง เฉยเฉื่อยแฉะ จนถึงเฉยโง่ ก็ เลยเสียหาย


ตัวคำว่า “อุเบกขา” เอง ในภาษาพระท่านก็ให้ระวังอยู่แล้ว ท่านจำแนกแยกอุเบกขาไว้ถึง 10 อย่าง ว่าอย่างรวบรัด ก็แบ่งเป็นฝ่ายดี กับ ฝ่ายร้าย พูดกันง่ายๆ ก็ถามว่า อุเบกขา ที่ว่าเฉยนั้น เฉยเพราะอะไร ง่ายที่สุด คือ เพราะรู้ กับ เพราะไม่รู้


คนไม่รู้ก็เฉย เพราะ แกไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว อะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ ก็เลยเฉย เรียกว่าเฉยไม่ รู้เรื่อง แล้วก็ไม่เอาเรื่อง แล้วก็ไม่ได้เรื่อง เฉยอย่างนี้ พระท่าน เรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่า “เฉยโง่” เป็นอกุศล เป็นบาป


ส่วนอีกเฉยหนึ่ง เป็นความเฉยด้วยปัญญา คือรู้เข้าใจ พอ รู้แล้วก็วางตัวได้พอดี หรือลงตัวเข้าที่ เพราะมองเห็นแล้วว่า เราจะปฏิบัติการอะไร อย่างไร เมื่อไร จึงจะไปสู่จุดหมายแห่งความลุรอด ปลอดภัย ให้เกิดความถูกต้อง ความดีงาม ฯลฯ ตอนนี้ก็เลยอยู่ในลักษณะ เฉย หรือวางตัวเรียบสงบไว้ หรือเป็นกลางไว้


บางทีการเฉยก็เป็นการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างเกิดสถานการณ์ร้ายขึ้นมา คนไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็เฉย คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่งก็โวยวายโว๊กว้ากไป แต่คนที่รู้เข้าใจสถานการณ์ชัดเจน และมองออกว่า เมื่ออะไรเกิดขึ้น เราจะ ดำเนินการอย่างไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร เขาอาจจะเตรียมการพร้อมอยู่ในใจ ว่า ถึงขั้นตอนนั้นๆ จะทำอย่างนั้นๆ คนนี้ก็ดูเฉยเหมือนกัน

ความเฉยด้วยปัญญานี้ เป็นอุเบกขา ในความหมาย ของพรหมวิหารข้อที่ 4 คือ เฉยด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริง และ จะรักษาธรรม ความถูกต้อง ในเมื่อการทำตามสามข้อแรกในกรณีนั้นๆ ปัญญา บอกว่าผิด เป็นความไม่ถูกต้อง เสียความเป็นธรรม เมื่อปัญญาบอกอย่าง นั้น เราก็หยุด ก็เลยทำให้เราเฉยด้วยอุเบกขานี้ ก็จึงบอกว่าอุเบกขา ตั้งอยู่บนฐานของปัญญา

จะเห็นว่า ผู้พิพากษาต้องมีอุเบกขานี้เป็นหลักดำรงตังที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวคุมทั้งหมด ไม่ให้ความรู้สึกเข้ามาครอบงำจิตใจ ไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกฝ่ายร้าย เช่น ความรู้นึกเกลียดชัง โทสะ เท่านั้น ที่จะทำให้เสียความเป็นธรรม แม้แต่ความรู้สึกที่ดี มีเมตตา กรุณา มุทิตา ก็ต้องไม่ยอมให้มาเป็นตัวครอบงำ ไม่ให้มีอำนาจบังคับจิตใจจะต้องให้ปัญญาบอกไปตามที่เป็นจริง อันนี้ เป็นหลักการที่สำคัญ


ในพระไตรปิฎก ตอนที่บรรยายอุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์ ท่านก็อธิบายด้วยคำว่า “ตุลา” คือบอกว่า พระโพธิสัตว์นั้น ไม่ว่าจะประสบอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) หรืออนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) เขาจะทำร้าย หรือจะเอาใจ ก็ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง อยู่ในธรรม เที่ยงตรง คงที่ สม่ำเสมอ (ดูความหมายของตุลาการข้อที่ ๑)

เพราะฉะนั้น ผู้พิพากษาจะต้องมีพรหมวิหารครองตนครบทั้งชุด ในขณะนั้น มิใช่ไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่มีทั้งหมด คือ มีความเป็นมิตร มีความปรารถนาดี ตั้งต่อคนร้าย ต่อจำเลย และต่อโจทก์ มีทั้งนั้น แต่ความปรารถนาดีนั้นถูกจำกัดควบคุมหรือถูกพักงานด้วยปัญญาที่รู้ความจริง ความถูกต้อง และตั้งท่าทีเป็นอุเบกขา ที่จะรักษาความเป็นธรรม

เราไม่ได้คิดร้ายต่อใครทั้งนั้น แม้จะตัดสินลงโทษจำเลย ก็ไม่ได้ตัดสินลงโทษเพราะความเกลียดชัง เรายังมีความเป็นมิตร มีเมตตาต่อเขาในความเป็นมนุษย์ อาจจะปรารถนาดีในระยะยาวด้วยซ้ำว่า ถ้าเธอไม่ถูกลงโทษ จะไม่มีโอกาสแก้ไขความประพฤติ แล้วชีวิตของเธอก็จะตกต่ำ จะเป็นชีวิตที่ไม่ดี ไม่มีการพัฒนา ทั้งเสียต่อตนเอง และเสียต่อผู้อื่น

เพราะฉะนั้น ก็มีเมตตาต่อสังคม ต่อมนุษย์อื่นๆ และเมตตาแม้ต่อจำเลย มีกรุณา มีมุทิตาพร้อมหมด แต่มีอุเบกขาเป็นตัวคุมให้อยู่ในธรรม ที่จะรักษาธรรม อย่างน้อยรักษาบัญญัติธรรม แต่ก็ด้วยจริยธรรม โดยเข้าใจไปถึงสภาวธรรม

ก็เป็นอันว่า ผู้พิพากษา ต้องมีพรหมวิหารสี่ โดยมีอุเบกขาเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุด ในฐานะเป็นผู้ที่จะดำรงรักษาสังคมให้อยู่ได้ด้วยดีเพื่อให้อุเบกขานั้น เป็นตัวตรึง เป็นตัวรักษาดุล ที่จะให้ทุกอย่างดำรงอยู่และดำเนินไปในความถูกต้อง ประสานบรรจบเป็นอันเดียวกับธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2018, 20:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สังเกตวิธีใช้พรหมวิหารธรรม ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยเฉพาะอุเบกขา ซึ่งนำมาพูดมาใช้กันบ่อยๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ย. 2018, 19:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หลักประกันสันติสุข อยู่ที่พรหมวิหาร ตั้งแต่เลี้ยงดูลูกในบ้าน จนถึงอภิบาลคนทั้งโลก


พรหมวิหาร ๓ ข้อแรก เป็นความดีที่ว่า ถ้าไม่คุมให้ดี อาจจะพาคลาดเคลื่อนจากความจริงและความถูกต้องไปได้ แม้แต่พ่อแม่ก็พลาดกันบ่อย เริ่มตั้งแต่ข้อแรก พ่อแม่มีเมตตามากจนเสียดุล ไม่รู้จักอุเบกขา เลยเลี้ยงลูกเสียคนไปก็มี


ท่านให้มีเมตตาไว้ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีงาม เมตตาอันเป็นความรู้สึกที่ดีนี้แผ่กระจายออกไปยังลูกๆ เมื่อลูกได้รับความรู้สึกที่ดี ก็มีความประทับใจ และมีความรู้สึกที่ดีมีเมตตาเกิดขึ้นด้วย ใจก็โน้มไปในทางดีที่จะมีเมตตาต่อคนอื่นขยายออกไป ตั้งแต่รักพี่น้องและญาติทั้งหลาย เมตตาแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ความเป็นมิตรมีความปรารถนาดีต่อกันในสังคมมนุษย์ก็แผ่ขยายออกไปด้วยการเริ่มต้นที่พ่อแม่


แต่ทีนี้ พ่อแม่ปฏิบัติผิด มีแต่เมตตากรุณา จนกลายเป็นเอาใจลูกตามใจลูก เมตตากรุณามากไป เสร็จแล้ว แทนที่ลูกจะมีเมตตาต่อผู้อื่นขยายออกไป เรื่องตีกลับกลายเป็นว่า เขาเคยตัวกับการที่จะได้รับการเอาใจตามใจ คราวนี้เอาใจตามใจเท่าไรก็ไม่พอ เขาเดินหน้าไปสู่การเรียกร้อง แทนที่ว่าเราใส่ใจเขา แล้วเขาจะใส่ใจเราและใส่ใจคนอื่นต่อๆไป กลับกลายเป็นว่า เราเอาใจเขา แล้วเขาก็เอาแต่ใจเขา


พอเริ่มผิดทาง เขาเอาแต่ใจตัวเขาเองแล้ว เขาก็ก้าวต่อไปกลายเป็นนักเรียกร้อง ทีนี้ เขาก็ไม่เมตตาคนอื่นแล้ว แต่ตรงข้าม คราวนี้ เขามีโทสะง่าย ไม่ได้อะไร ใครไม่ตามใจนิดหน่อย ก็หงุดหงิด โกรธเคือง เป็นคนโทสะแรงไปเลย การปฏิบัติธรรมเสียหลัก ผิดวัตถุประสงค์ไปหมด


เพราะเหตุที่ว่านั้น ท่านจึงให้มีอุเบกขาไว้ดูและและคุมความพอดี พ่อแม่เลี้ยงลูก พอมีอุเบกขาคุม เมตตาก็จะไม่พาไปไถลเลยเถิด แต่อุเบกขาจะดูไปด้วยว่า เออที่เราทำนี่ถูกต้องแน่หรือ


ความถูกต้องจะอยู่ได้ด้วยมีอุเบกขาคุมไว้ โดยปัญญาจะบอกให้ว่า เออ ลูกนี่ ต้องมีความถูกต้อง ต้องอยู่ในความเป็นธรรมด้วย นอกจากนั้น เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไปนะ เราจะอยู่ทำให้เขาตลอดเวลาข้างหน้าไม่ได้ ต่อไป เขาจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องทำด้วยตัวเขาเอง เรื่องนี้ๆ ถ้าเขายังทำไม่ถูกต้องทำไม่เป็น แล้วต่อไป เมื่อถึงเวลาเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองแล้วทำไม่ถูกทำไม่เป็น เขาจะอยู่ได้อย่างไร ตอนนั้น เขาจะไม่มีเราอยู่ด้วยแล้ว เขาจะอยู่ได้อย่างไร


เมตตาพาคนดีมีน้ำใจให้มาเอื้อเฟื้อเกื้อหนุน ส่วนอุเบกขาก็พาเอาปัญญามานำไปหาธรรมที่จะรักษาความถูกต้องและพอดี


ถึงตอนนี้ อุเบกขาซึ่งประกอบด้วยปัญญา ก็จะบอกพ่อแม่ว่า เออ ถ้าอย่างนั้น เราต้องเตรียมเขาให้พร้อมไว้นะ จะทำอย่างไรล่ะ อ๋อ ตอนนี้ ก็คือโอกาสีที่เขาจะได้ฝึกตัวโดยมีพ่อแม่คอยช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ นี่คือ โอกาสทอง อย่าให้พลาดไปเสีย เอาละ เริ่มฝึกกันเลย


นี่คือ ท่านให้อุเบกขาไว้เพื่อจะมารักษาดุลว่า ชะลอๆ หยุดบ้างนะ อย่าทำให้ลูกอย่างเดียว แต่ดูให้ลูกทำด้วย พอมีอุเบกขา ก็คือดูว่า เออ ต่อไปลูกเราจะต้องทำอะไรเป็นบ้าง ควรจะเก่งในเรื่องอะไร แล้วก็เตรียมเลย ให้เขาฝึกหัดทำ โดยเราเป็นที่ปรึกษา


“อุเบกขา” แปลว่า ดูอยู่ใกล้ๆ (อุป+อิกข = อุเบกขา) หรือคอยมองดูอยู่ ตอนนี้ เราอยู่ด้วย ก็เป็นโอกาสดี เพราะต่อไป ถ้าเขาไปทำเองฝึกเอง ไม่มีผู้ที่จะเป็นที่ปรึกษา ไม่มีใครช่วยแนะนำ เขาก็ทำยากลำบาก และไม่สมบูรณ์ เราก็ให้เขาฝึกโดยเราคอยดูอยู่ เป็นที่ปรึกษาและช่วยแก้ช่วยเติม เขายังทำไม่เป็น ถ้าเขาทำไม่ถูก ทำไม่ได้ผลดี ทำติดขัด เราก็จะได้ช่วยแนะนำบอกให้ เมื่อลูกได้ฝึกได้หัดทำเอง ก็จะทำให้ลูกเก่งจริงๆ แล้วก็ฝึกกันในบรรยากาศแห่งความรักด้วย


ตอนนี้มีครบหมด ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ใช้ครบในตอนที่ลูกฝึกตัวนี่แหละ เป็นการศึกษาอย่างแท้เลยทีเดียว แล้วลูกก็จะเก่ง จะดี มีความสุขความสามารถจนเป็นที่น่าพอใจ


จึงต้องบอกว่า ความเป็นพ่อแม่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีอุเบกขา ถ้ามีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ได้ด้านความรู้สึกอย่างเดียว เสี่ยงต่อการที่ลูกจะอ่อนแอ ยิ่งสุดโต่งไปเอาใจกันนัก ก็ไม่ไปไหน ดีไม่ดีแม้แต่ด้านจิตใจก็จะพลอยเสียไปด้วย แทนที่ลูกจะมีเมตตา กรุณา มุทิตา ก็กลับกลายเป็นคนเอาแต่ใจ เอาใจยาก หรือเจ้าโทสะไปเลย


แต่ถ้ามีอุเบกขาด้วย ลูกก็ได้ทั้งจิตใจดีงาม ทั้งมีปัญญา ได้ฝึกตัวดีมีความสามารถ ครบเลย ทั้งเก่ง ทั้งดี แล้วก็มีความสุข


รวมแล้ว ตั้งแต่ในครอบครัวออกไปจนถึงสังคมใหญ่ ในหมู่คน ชุมชน องค์กร วงงาน กิจการทั้งหลาย จะร่วมอยู่ร่วมงานกันดี ก็ต้องมีพรหมวิหารครบทั้งสี่ประการ


ก็บรรดาสมาชิก คือผู้เป็นส่วนร่วม หรือเป็นองค์ประกอบของสังคม ทุกคนปฏิบัติต่อกันถูกต้องตามสถานการณ์ สังคมก็คงอยู่ได้ในดุล และสงบสุขมั่นคง


โดยเฉพาะผู้พิพากษานี้ เป็นผู้มีหน้าที่ผดุงสังคมในวงกว้างระดับประเทศชาติ เป็นผู้ทำให้กฎหมายมีผลชัดเจนเด็ดขาดขึ้นมา ก็จึงต้องใช้อุเบกขาเป็นตัวคุมสำคัญที่สุด เพื่อรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเรียกว่า ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความชอบธรรม หรืออะไรธรรม ก็คือธรรมนั่นแหละ ต้องมีอุเบกขาเป็นตัวยืนที่จะรักษา แต่ก็ไม่ปราศจากเมตตา กรุณา มุทิตา อย่างที่ว่าแล้ว


นี่แหละคือหลักธรรมสำคัญ สำหรับประจำจิตใจของผู้พิพากษา เป็นอันว่ามีพรหมวิหารครบ ๔ โดยมีอุเบกขาเป็นตัวคุม หรือตั้งไว้เป็นหลักเป็นแกนที่จะคุม


ตามที่ว่านี้ กลายเป็นว่า อุเบกขานี้ เหมือนจะสำคัญยิ่งกว่าเมตตา กรุณา มุทิตา แต่จะต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง


ในสังคมไทยเรานี้ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ที่คนทั่วไป หรือส่วนใหญ่ทีเดียว ไม่มีความเข้าใจ หรือมักเข้าใจผิดในเรื่องอุเบกขาแล้วก็ไม่เฉพาะอุเบกขาเท่านั้น แต่เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนมากบ้างน้อยบ้างทั้ง ๔ ข้อเลย จึงน่าจะย้ำเตือนกันให้หนักว่า เมื่อเราพูดถึงอะไร จะต้องมีความรู้ความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2018, 18:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมตตาที่แท้จริง จะเป็นไปในแบบที่ว่า

"พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงมีจิตใจเสมอกัน ทั้งต่อนายขมังธนู ต่อพระเทวทัต ต่อโจรองคุลิมาล ต่อช้างธนบาล และต่อพระราหุล ทั่วทุกคน" (ขุ.อป.32/8/68 ฯลฯ)


ต่อ

viewtopic.php?f=1&t=56504

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร