วันเวลาปัจจุบัน 15 ม.ค. 2025, 06:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2024, 09:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5230


 ข้อมูลส่วนตัว


"..ผมก็เคยปฏิบัติมานานพอสมควรได้ ๔๐-๕๐ ปีกว่าแล้ว กลัวก็เคยกลัว กล้าก็เคยกล้า รักก็เคยรัก ชังก็เคยชัง เกลียดก็เคยเกลียด โกรธก็เคยโกรธ เพราะหัวใจมี มิใช่คนตายพระตาย แต่ก็พยายามทรมานตนเต็มความสามารถไม่ท้อถอยตลอดมา สิ่งเหล่านี้ที่เคยมีอำนาจก็ทลายลงด้วยอำนาจความเพียรของผู้กล้าตาย ไม่มีอะไรมาแอบซ่อนอยู่ในใจได้ อยู่ที่ไหนก็สบายหายกังวล ไม่มีอะไรมาก่อกวนให้หลงกลัวหลงกล้า หลงรักหลงชัง หลงเกลียดหลงโกรธ อันเป็นเรื่องไฟกิเลสทั้งกองเผาใจดังที่เคยเป็น ที่กล่าวมานี้ จะเพราะเหตุอะไรถ้าไม่ใช่เพราะการฝึกทรมานใจให้อยู่ใต้อำนาจแห่งเหตุผลคืออรรถธรรม.."

ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒) อ้างอิงหนังสือปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ








#กรรมไม่ควรถูกลืมกรรมควรได้รับการนึกถึงไว้เสมอในทุกเรื่อง

"..อำนาจของกรรมมหัศจรรย์จริง เมื่อกรรมควบคุมมาอย่างมุ่งมั่นจะพาเหยื่อของกรรมไปนรกให้ได้ ก็ยากที่เหยื่อนั้นจะรอดพ้นมือของกรรม นอกจากว่าเหยื่อของกรรมจะมีมือบุญที่ยิ่งใหญ่จริงเข้ามาช่วยทันเวลาและอย่าลืมความจริงประการสำคัญเป็นอันขาด มือบุญจะสามารถเข้ามายื้อแย่งเหยื่อของกรรมให้พ้นมือกรรมได้

แม้เป็นมือแห่งบุญที่มีฤทธิ์ยิ่งใหญ่ ดูเหมือนจะเคยเล่าไว้ในแสงส่องใจแล้ว ถึงญาติโยมหญิงผู้หนึ่งเกิดการคลุ้มคลั่งขึ้นมาอย่างหาเหตุผลไม่ได้ มีความรู้สึกตัวว่าจะต้องบ้าแน่แล้ว ความมีเคารพจริงใจในท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ทำให้จิตส่งไปถึงท่าน ท่านอาจารย์ขาช่วยด้วย จะบ้าแล้ว เพียงเท่านี้ ความเป็นพระบริสุทธิ์แท้จริงของท่านพระอาจารย์มั่นก็ปัดมือกรรมพ้นไปในพริบตา

นี้เป็นเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้น น่าจะเห็นความยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ของพระพุทธศาสนา ที่เป็นเรื่องจริง.."

พระนิพนธ์ "แสงส่องใจ อาสาฬหบูชา ๒๕๕๐"
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร







"... การฟังจากคนอื่น หรือ.. การค้นคว้า
... จากตำรับตำราเพียงอย่างเดียว ไม่อาจ
... แก้ข้อบกพร่องสงสัยได้ต้องเพียรปฎิบัติ ...
... ทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง.. ความสงสัยก็
... หมดไปเองโดยสิ้นเชิง ..."
———————————
#หลวงปู่ดุลย์_อตุโล
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สัรินทร์






ปิดปากไว้ไม่พูดไม่จา ดีกว่าไปนินทาคนอื่น อยู่คนเดียวอย่างสงบ ดีกว่าคบคนพาล

– หลวงปู่ขาว อนาลโย






บุญกุศลนี้จึงเป็นแก้วสารพัดนึก
หรือเป็นแก้วอันวิเศษสูงสุดในโลก
ไม่มีอันใดที่จะเทียมเท่า

สามารถที่จะปรับปรุงบุคคลผู้มีคุณงามความดี
แม้จะอยู่ในภพในชาติ ก็ให้เป็นผู้มีความสมบูรณ์พูนสุข แม้จะเกิดขึ้นมาเป็นรูป เป็นกาย
เป็นหญิง เป็นชาย ก็มีสง่าราศี
มีบุญญาภินิหารหรือบุญญาภิสมภาร
มีความเฉลียวฉลาด
มีอุปนิสัยฝังอยู่ที่จิตใจของบุคคลนั้น
หากได้รับความทุกข์บ้างเป็นบางคราว
เพราะอำนาจแห่งกรรมที่ตนทำไว้
เป็นลุ่มๆ ดอนๆ ก็ตาม
บุญกุศลอันนั้นยังจะตามสนับสนุนผู้นั้น
ให้พ้นจากอุปสรรคนั้นๆ ไปได้โดยลำดับ.

พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ในงานทำบุญข้าวเปลือก ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕







#คารวะสักการะบูชาธรรม
ธรรมะเปรียบเสมือนแสงส่องทาง
พระผู้มีศีลาจารวัตรอันงดงามน่าเลื่อมใส

ปฏิปทาหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
บ่บอกบุญเรี่ยไร บ่เอ่ยปากขอไผ๋
บ่ใบ้หวยทวยเลข บ่ปลุกเสกเป่ายันต์
บ่ทวยฝันดูดวง บ่ท่วงผีปัวบ้า
บ่อวดกล้าถือเงินทอง บ่ละครบิณฑบาต
เด็ดขาดฉันต์มื้อเดียว สาธุๆๆๆ

โอวาทธรรม: หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร






ความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์
ทำคนให้เป็น "พระอรหันต์" ไม่ได้
.
"หลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้เข้าใจแยกในเรื่องนี้ได้ดี ก็คือ เรื่อง "ปาฏิหาริย์ ๓" พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ปาฏิหาริย์" คือ การกระทำให้เกิดผลอย่างอัศจรรย์ นั้น มี ๓ อย่าง คือ
.
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์ หรือแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น เดินน้ำ ดำดิน ล่องหน หายตัว เหาะเหิน บันดาลอะไรต่างๆ
.
๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการทายใจ หรือรู้ใจคนอื่นได้เป็นอัศจรรย์ รู้ว่าคนอื่นกำลังคิดอะไร ต้องการ จะทำอะไร เป็นต้น
.
๓. อนุศาสนีปาฏิหาริย์ปาฏิหาริย์ คือคำสั่งสอน หรือสอนให้รู้เข้าใจและทำได้จริงเป็นอัศจรรย์ ชี้แจงอธิบาย ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญารู้ถึงความจริงได้ด้วยตนเอง
.
ปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก คือ ฤทธิ์และการดักใจทายใจได้นั้น #พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ทรงสนับสนุน ทรงสรรเสริญแต่ปาฏิหาริย์ข้อที่ ๓ คือ "อนุศาสนีปาฏิหาริย์" ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
.
ฤทธิ์ มีข้อเสียอย่างไร นอกจากที่เคยพูดมาแล้ว ขอสรุปให้ว่า...
.
#ฤทธิ์กำจัดกิเลสไม่ได้
ฤทธิ์ไม่ทำให้ความโลภ โกรธ หลง ลดน้อยลง ถ้าไม่ระวังจะทำให้กิเลสฟูมากขึ้นด้วยซ้ำ
ฤทธิ์ไม่ทำให้รู้เข้าใจสัจจธรรม คือ ไม่ทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้เแจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย จึงไม่สามารถทำใครให้เป็นพระอรหันต์ หรือแม้แต่เป็นพระอริยะชั้นใดๆ ได้
.
ในทางตรงข้าม "อนุศาสนี" คือ คำสอนที่แสดงธรรม แสดงความจริง ทำให้คนเกิดปัญญา รู้ความจริง เข้าถึงสัจจธรรมได้ ทำให้คนละกิเลสได้ ทำให้ผู้ฟังและนำไปปฏิบัติบรรลุธรรม เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ได้
.
คนมาดูเห็นฤทธิ์เห็นความขลัง ก็ได้แต่ตื่นเต้นทันตา แต่ตัวเองไม่ได้อะไร ไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นในตัว อาจจะงงงันที่ได้เห็นความอัศจรรย์ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็เลยกลายเป็นมี "โมหะ"(อวิชชา) มากขึ้น และตัวเองก็ทำสิ่งนั้นไม่ได้ เลยต้องเอาตัวไปฝากไปขึ้นกับผู้ที่ขลังมีฤทธิ์ เลยดีแก่ผู้แสดงฤทธิ์ ชาวบ้านที่ดู ยิ่งเชื่อก็ยิ่งหมดอิสรภาพในการกระทำของตัว
.
ตรงข้ามกับ "อนุศาสนีปาฏิหาริย์" ซึ่งทำให้ผู้ฟัง เกิดปัญญา รู้ความจริง ผู้สอนรู้อย่างไร ผู้ฟังเข้าใจก็รู้ได้อย่างนั้น และเอาความรู้นั้นไปทำอะไรให้เกิดผลด้วยตนเองได้ ผู้ฟังเป็นผู้ได้ คือ ได้ปัญญา และปัญญานั้นก็เป็นของของเขาเอง เขาจะไปไหนปัญญาก็ไปด้วย ผู้ฟังก็เป็นอิสระ ไม่ต้องมาขึ้นต่อผู้สอน ไม่ต้องคอยรอพึ่งผู้สอนเรื่อยไปเหมือนอย่างพวกที่เชื่อฤทธิ์ เชื่อความขลัง ที่ตัวเองมืดมัว ต้องรอให้เขาบันดาลผลให้
.
อีกอย่างหนึ่ง #ผู้มีฤทธิ์กับคนพึ่งฤทธิ์_มักจะมาพบกันในระบบผลประโยชน์ โดยต่างก็ต้องการผลได้บางอย่างแก่ตน คนที่มาหาผู้มีฤทธิ์ก็ต้องการโชคลาภ จากความขลัง หรือการดลบันดาล ของผู้มีฤทธิ์ ผู้แสดงฤทธิ์ก็หวังลาภสักการะจากคนที่มาขอผล กลายเป็น"ความสัมพันธ์ในเชิงกิเลส" โดยเฉพาะการกระทำเพื่อสนอง "โลภะ"
.
เมื่อเรื่อง ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ เข้ามาแทรกในการทำบุญทำทานในพระศาสนา ความวิปริตผิดเพี้ยนก็เกิดขึ้น ผู้ทำบุญหรือผู้บริจาคแทนที่จะบริจาคทรัพย์ให้ด้วยมองเห็นคุณประโยชน์ของสิ่งที่จะร่วมสร้างสรรค์ ว่าจะเป็นการส่งเสริมกิจการพระศาสนา หรือช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมอย่างนั้นๆ #ก็มองเหมือนการแลกเปลี่ยนซื้อขายที่ตนจะได้สิ่งตอบแทน คือมุ่งจะได้ของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น จึงเอาเงินมาบริจาคให้ ใจก็คิดแต่จะให้ได้ของนั้นตอบแทน โดยไม่ได้คำนึงว่า..ผู้มีฤทธิ์หรือผู้จัดทำสิ่งขลังศักดิ์สิทธิ์จะเอาเงินนั้นไปทำอะไรอย่างไร จึงเป็นการผันแปรจากการทำบุญบริจาคด้วยปัญญาที่พิจารณาเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะส่งเสริม พร้อมกับการเสียสละละกิเลส และพัฒนาคุณธรรมขึ้นในใจของตน กลายมาเป็นการจ่ายเงินออกไปด้วยโลภะ ที่มุ่งจะเอาของตอบแทน ภายใต้ความปกคลุมของโมหะ ที่ไม่รู้ไม่คำนึงว่าอะไรเพื่ออะไรและจะเป็นไปอย่างไร
.
ผลร้ายที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ของความไม่รู้หลักพระศาสนา ไม่รู้จักแยกระหว่างพระอริยะกับผู้วิเศษ ไม่รู้ฐานะของความขลังศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่าเป็นอย่างไร ในพระศาสนา นอกจากทำให้เขวออกไปจากตัวแท้ตัวจริงของพระศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาเลือนลางลงไปแล้ว เพราะความไม่เข้าใจแยก..ว่าผู้วิเศษเป็นคนละอย่างกับพระอริยะ ไปฝากความเป็นพระอรหันต์ไว้กับความขลังศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พอผู้วิเศษซึ่งยังมีกิเลสปรากฏพฤติกรรมเสื่อมทราม ก็คร่ำครวญบ่นว่าพระที่สูงเลิศก็ยังเป็นถึงอย่างนี้ คงจะหาพระดีที่จะไหว้อีกไม่ได้ ซึ่งแท้จริงจะต้องทบทวนพิจารณาตนเองใหม่ว่า พระดีไม่มีให้ไหว้ หรือคนไหว้นับถือผิด จึงมองไม่เห็นพระดีที่จะไหว้ และทำให้พระดีที่น่าไหว้ค่อยๆ ลดน้อยลงไปจากพระศาสนา"
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ "เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยศรัทธาวิปริต"







“ เวทนา ”

ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปเวทนานั้นจะไม่มี เพราะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า เมื่อเราทำกรรมอันใดไว้ เมื่อวิบากมันเกิดขึ้น เราก็อย่าไปหนีมัน อย่าไปกลัวมัน อย่างมากก็แค่ตาย คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ถ้าเราไม่กลัวตาย ไม่กลัวเจ็บแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เราสามารถเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องเจ็บ ต้องตายกันอยู่ดี ถ้าเราฝึกเจ็บฝึกตายไว้ก่อนแล้ว ต่อไปอะไรเกิดขึ้นเราก็ไม่หวั่นไหว สังขารที่จะปรุงเป็นตัณหาก็จะไม่มี วิภวตัณหาก็จะไม่มี จะหนีจากสภาพต่างๆไป ก็ไม่มี เช่นเดินไปเจอสัตว์ เจองูอะไรอย่างนี้ แทนที่จะวิ่งหนี ก็จะอยู่เฉยๆ ทำจิตให้นิ่งแล้วก็ปลงว่า ถ้าเป็นเวรเป็นกรรมกันมา เคยทำอะไรเขา เขาจะมากัดให้เราตาย มันก็จบ เพราะชีวิตของเราก็ไม่ได้หวังอะไรจากในโลกนี้แล้ว เรารู้แล้วว่าเอาอะไรไปก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่เอาไปได้ก็คือใจที่สงบ ใจที่นิ่ง อันนี้เท่านั้นแหละที่สำคัญที่สุด

ถ้าปฏิบัติจนพบกับความสงบ จะไม่สนใจกับอะไรเลย จะเห็นคุณค่าของใจ ยิ่งกว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่พวกเราหวงแหนกัน เราไม่รู้หรอกว่า สิ่งต่างๆที่เราหวงแหนกันนี้ เป็นตัวสร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมกัน ไม่เคยเจอจิตที่สงบ ที่ปล่อยวาง เวลาจิตสงบในขณะที่นั่งสมาธินี้ มันปล่อยหมดทุกอย่างชั่วคราว บ้านช่อง ทรัพย์สมบัติ ลูกเต้า สามี ภรรยา มันไม่ได้อยู่ในจิตเลย จิตมันสะอาด ถ้าเป็นกระดานดำก็เป็นกระดานที่อาจารย์ได้ลบสิ่งที่ได้ขีดเขียนออกหมดแล้ว มีแต่กระดานว่างๆ จิตจึงไม่มีอารมณ์หลงเหลืออยู่เลย แต่ถ้ามีใครเขียนหรือวาดรูปการ์ตูน ที่สวยงามหรือไม่สวยงามก็จะเกิดอารมณ์ตามมา ถ้าสวยงามก็มีความสุข ถ้าไม่สวยไม่งาม ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ใจของเราก็เป็นอย่างนี้ ทุกขณะจะไปรับเอาเรื่องต่างๆเข้ามา ผ่านทางทวารทั้ง ๕ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย พอเข้ามาแล้ววิญญาณก็รับทราบ สัญญาก็แปลความหมายสังขารก็ปรุง เวทนาก็ปรากฏขึ้นมาเป็นสุข เป็นทุกข์ สังขารก็ว่าไปตามนิสัยเดิม ถ้าสุขก็วิ่งเข้าหา ถ้าทุกข์ก็พยายามวิ่งหนี หรือพยายามแก้ให้ทุกข์ดับไป

แต่เราไม่ได้แก้ถูกจุด ไปแก้ข้างนอกแทนที่จะแก้ข้างใน เช่นเราเห็นคนที่เราไม่ชอบ ก็ไปตีเขาให้ตายไปเลย อย่างนี้ไม่ใช่วิธีแก้ที่ถูก ต้องแก้ที่ใจด้วยสติด้วยปัญญา ทำใจให้เป็นอุเบกขา ทำใจให้สู้กับทุกสภาพ ใจก็จะนิ่ง ความทุกข์ในใจก็ดับไป นี่คือเหตุที่ต้องเจริญสติในสติปัฏฐาน ๔ คือฝึกให้มีสติ อย่าไปโต้ตอบกับสิ่งต่างๆที่เราเห็น เราได้ยินได้ฟัง เพียงแต่รับรู้ว่าเป็นรูป เป็นภาพ เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าสียง อย่าไปปรุงแต่ง อย่าให้เกิดสัญญาว่าน่ารักหรือน่าชัง ถ้ามีก็ต้องแก้ไขให้เห็นว่า ถึงแม้คนๆนี้จะไม่ดีกับเรา เขาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน คนที่ดีกับเรา ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน ความจริงแล้วเราน่าจะมองคนทั้ง ๒ แบบ ที่ดีและไม่ดีว่าเป็นเหมือนๆกัน ถ้ามองเข้าไปถึงธรรมชาติที่แท้จริงของเขาในความเป็นไตรลักษณ์ คนที่เรารักก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวลาเขาตายไปเราก็เสียใจ คนที่เราเกลียด อยากให้เขาตาย ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน ไม่ต้องไปอยาก เดี๋ยวเขาก็ตายไปเอง

นี่ก็คือปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ท่านให้เจริญที่ร่างกายก่อนคือรูป ส่วนเวทนาจิตธรรมค่อยตามมาทีหลัง นี่คือความหมายของการตั้งสติ รูปก็ให้ศึกษาจนเข้าใจในทุกส่วน เช่นให้พิจารณาดูอาการ ๓๒ ว่าไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่อาการต่างๆ มีผม มีขน มีฟัน มีหนัง มีกระดูก แล้วก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สวยงาม มีสิ่งที่ไม่งามอยู่ภายใต้ผิวหนังที่เรามองไม่เห็นกัน แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยปัญญาถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาเข้าไปดูโครงกระดูกที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง ดูอวัยวะต่างๆ ถ้าดูไม่ออก นึกไม่ออก ก็ต้องอาศัยการไปเยี่ยมป่าช้า อย่างสมัยโบราณเขาก็ไปเยี่ยมป่าช้า ไปดูคนตาย หรือสมัยนี้มีหนังสือที่ถ่ายมาให้ดู มีภาพวาดให้เราดู เราก็ดู แล้วก็เอามาเจริญอยู่เรื่อยๆ ให้จำได้ จนฝังอยู่ในใจเลย พออยู่ในใจแล้ว เวลามองใคร ก็จะมองทะลุเข้าไปในหนังเลย เราก็จะไม่หลง ไม่อยากไปมีความผูกพัน ไม่อยากเอามาครอบครอง เพราะไม่ได้สวยงามอย่างที่เห็น คนเรามีความแตกต่างกันภายนอก แต่ภายในเหมือนกันหมด มีอาการ ๓๒ เท่าๆกัน นี่คือการศึกษาพิจารณารูปด้วยสติ ให้เห็นความจริงของรูปอยู่ตลอดเวลา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี

จุลธรรมนำใจ ๒ กัณฑ์ที่ ๒๓๐
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘







” ได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น “

ถ้ามีความเมตตาแล้วไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนกับใคร ก็จะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เป็นอานิสงส์ของความเมตตา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ผู้มีความเมตตาจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย จะไม่ถูกทำร้ายด้วยอาวุธหรือยาพิษ จะนอนหลับฝันดี เวลาตื่นก็มีความสุข เวลาหลับก็มีความสุข เมื่อตายไปก็ได้ไปสู่สุคติ ได้ไปเกิดบนสวรรค์เป็นเทพเป็นพรหม หรือได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เป็นอานิสงส์ของการกระทำความดี คือมีความเมตตา นอกจากนั้นก็ทรงสอนให้มีความกรุณา มีความสงสาร เห็นผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยากก็ควรช่วยเหลือ มีอะไรพอที่จะช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันไป เพราะอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้เราอาจจะสุขสบาย แต่พรุ่งนี้ก็อาจจะตกทุกข์ได้ยากลำบากลำบน แต่ถ้าคอยช่วยเหลือกัน เวลาตกทุกข์ได้ยากก็จะไม่เป็นปัญหามาก ทำให้หนักเป็นเบา ทำให้อยู่กันย่างมีความสุข

เวลาเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก ถ้าพอจะช่วยเหลือกันได้ก็อย่าดูดาย ขอให้ช่วยกัน แล้วจะมีความสุขใจ มีความภูมิใจ เวลามองหน้าในกระจกจะยิ้มได้ จะพอใจกับการกระทำของตน ถ้าขาดความกรุณาความสงสาร ใจจืดใจดำ ไม่เหลียวแลไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นแก่ตัว จะไม่มีความภูมิใจ จะไม่มีความสุขใจเลย ก็จะพยายามไปหาไปทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำให้ภูมิใจสุขใจ ด้วยการใช้เงินใช้ทองซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆมา ซื้อมามากน้อยเพียงไร ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความภูมิใจขึ้นมา เพราะเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวเอง

จะมีความภาคภูมิใจได้ก็ต่อเมื่อได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น รับใช้ผู้อื่น เช่นรับใช้บิดามารดาผู้มีพระคุณ เวลามีอายุมากก็ต้องมีคนคอยดูแลลี้ยงดู เป็นหน้าที่ของลูกๆที่ควรทำให้สมบูรณ์ อย่าไปปัดให้คนอื่นทำ โดยอ้างว่าไม่ว่างมีภาระมาก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนมีความกตัญญูกตเวทีจะพึงกระทำ ควรรำลึกถึงพระคุณของบิดามารดาอยู่เสมอๆ เพื่อจะได้ไม่ลืม เพราะถ้าไม่รำลึกถึงบุญคุณของบิดามารดาอยู่เรื่อยๆแล้ว จะถูกเรื่องราวต่างๆมาฉุดลากไป จะมีแต่เรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้ทำ มาให้วุ่นวาย มาให้กังวล จนลืมนึกถึงพ่อแม่ไป เมื่อถึงเวลาที่จะต้องปรนนิบัติพ่อแม่ จะหงุดหงิดใจรำคาญใจ เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน แต่ถ้าได้รำลึกถึงบุญคุณของคุณพ่อคุณแม่อยู่เสมอ และคิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต่อไปคุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องแก่ จะต้องดูแลตัวเองไม่ได้ ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องดูแล ถ้าคิดอย่างนี้ไว้เรื่อยๆ จะได้เตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้พร้อม เมื่อถึงเวลาที่จะต้องดูแลพ่อแม่ จะทำได้อย่างสบายใจ ด้วยความยินดี

เพราะไม่มีอะไรจะดีเท่ากับการทดแทนบุญคุณของบิดามารดา ผู้บังเกิดเกล้า ผู้ให้กำเนิด ที่มีชีวิตอยู่มาได้ทุกวันนี้ก็มาจากบิดามารดา ถ้าไม่มีบิดามารดาจะเป็นตัวตนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร ถ้าคิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ จะไม่ลืมบุญคุณของบิดามารดา จะมีความยินดีทดแทนบุญคุณให้อย่างเต็มที่ ให้สมกับเป็นคนดีคนเจริญ ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้กระทำในสิ่งที่ไม่เกิดโทษ ให้ทำแต่ในสิ่งที่เกิดคุณ เพราะจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญอย่างแท้จริง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี

กัณฑ์ที่ ๒๖๘
วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๙






#ทำไมพระอรหันต์จึงยังแสดงอาการเจ็บปวด

"...ความเจ็บปวดอยู่ที่ร่างกาย แต่จิตยังผ่องใส
จิตใจไม่ปวดด้วย ไม่รับรู้ ความเจ็บปวดก็ทำให้
หน้านิ่วคิ้วขมวดได้

หลวงปู่มั่นเวลาเวทนาท่านหนัก ท่านก็ครางออกมา
โอ๊ย! เจ็บปวดแท้น้อ หลวงปู่เทสก์เรานี่แหละ โอ๊ย!
ครูบาอาจารย์ขนาดนี้ก็ยังมาเจ็บมาปวดอยู่ หมด
ศรัทธาแล้วล่ะ

หลวงปู่มั่นลุกปุ๊บปั๊บขึ้นมา หือ! สงสัยข้องใจอะไร
ถามมาซิ ไม่รู้หรือว่าเบญจขันธ์มันไม่เที่ยง เป็น
ทุกข์ เป็นอนัตตา

ความทุกข์ทางขันธ์นี่ ท่านก็รู้สึก เจ็บปวดท่านก็รู้
เวทนาท่านก็รู้ สุขเวทนาท่านก็รู้ แต่ว่าจิตไม่ยึดติด

มีคนถามหลวงปู่ดูลย์ว่า หลวงปู่โกรธเป็นไหม
โกรธเป็น แต่ไม่เอา

อันนี้ก็เหมือนกัน เจ็บเป็นไหม เจ็บ แต่ไม่เอา
ก็เหมือนกันนั่นแหละ

จิตพระอรหันต์ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ความ
ยึดมั่นในอัตตาตัวตน เมื่อยึดมั่นในอัตตาตัวตน
มันก็ยึดไปหมดในทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าว่างจาก
ความยึดมั่นถือมั่น มันก็หมดกิเลสแล้ว

ในขณะที่เรายังสลัดความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้
ก็ฝึกสติ ดูให้มันรู้ความจริง ว่าความจริงของเรานี่
มันเป็นอย่างไร ในเมื่อรู้แล้วก็พยายามยอมรับ
ความจริงอันนั้น..."

#ที่มา หนังสือ ฐานิยปูชา ๒๕๕๙
พระราชสังวรญาณ ( หลวงพ่อพุธ ฐานิโย )









มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่ประมาทในทางโลก ย่อมรู้จักฝังขุมทรัพย์เอาไว้สำหรับตนเอง เพราะเมื่อมีกิจจำเป็นเกิดขึ้น ทรัพย์ที่ฝังไว้ย่อมเป็นประโยชน์ แต่ว่าทรัพย์นั้นๆ บางคราวก็สูญหายไปบ้าง จำไม่ได้บ้างว่าฝากฝังไว้ที่ใดบ้าง ทำให้สูญประโยชน์สิ้นไป หาความแน่นอนอะไรมิได้เลย

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัททุกคน เป็นผู้ไม่ประมาทในทางธรรม ด้วยการรู้จักฝังขุมทรัพย์อันเลิศล้ำซึ่งไม่อาจสูญหายทำลายไปได้ไม่ว่าในกาลใดๆ นั่นคือการสั่งสมบุญ
.
--- พระโอวาท สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประทานเนื่องในการบำเพ็ญกุศลทอดผ้าป่าโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดผ่องพลอยวิริยาราม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๐


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 30 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron