วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 05:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 13:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


ภาค ๑
ส่วนของเนื้อเรื่อง
โจร(เพชฌฆาต)เคราแดง


ในสมัยพุทธกาลนั้นได้มีโจรกลุ่มหนึ่งมีสมาชิกทั้งหมด ๔๙๙ คน ครั้งหนึ่งได้มีคนเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกใหม่กับโจรกลุ่มนั้น คนที่เข้ามาสมัครใหม่นั้นมีลักษณะตาเหลือกเหลือง มีเคราสีแดง ซึ่งผู้นั้นได้เดินเข้าไปหาหัวหน้าโจร แจ้งความประสงค์ของตนว่าจะขอเข้ามาร่วมแก๊งเป็นพรรคพวกด้วย แต่เมื่อหัวหน้าโจรดูลักษณะคนที่มาสมัครใหม่แล้วก็คิดว่าคนผู้นี้ไม่น่าไว้ใจ
อีกทั้งในใจยังคิดว่า คนผู้นี้ดูมันกักขฬะนัก ดูจากลักษณะของมันแล้ว ไอ้คนนี้มันคงสามารถตัดนมแม่ของมันเองกับมือ หรือนำเลือดในคอของพ่อตัวเองมาดื่มได้ หัวหน้าโจรจึงได้กล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับบุรุษเคราแดงเข้าพวก แต่กระนั้นบุรุษเคราแดงก็ไม่ยอมละทิ้งความตั้งใจที่จะเป็นพวกโจรให้ได้ พยายามจะหาช่องทางอื่นในการเป็นสมาชิกใหม่ให้ได้ โดยไปเอาใจลูกน้องโจรคนหนึ่งในกลุ่ม เพื่อหวังว่าลูกน้องโจรคนนั้นจะฝากฝังตนกับหัวหน้าโจร จนลูกน้องโจรผู้นั้นเห็นถึงความดี จึงไปพูดกับหัวหน้าโจรว่า คนเคราแดงนี้เป็นคนดี ขอให้หัวหน้าโจรช่วยสงเคราะห์รับเขาไว้เป็นพวกด้วยเถิด หัวหน้าโจรเห็นว่าพวกตนขอให้รับบุรุษเคราแดงนี้ไว้ ก็เลยรับบุรุษเคราแดงไว้เป็นพวก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาบุรุษเคราแดงจึงได้เป็นพรรคพวกกับโจรกลุ่มนี้



เหตุการณ์ได้ผ่านไปจนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง ชาวเมืองทั้งหลายร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ล้อมจับโจรกลุ่มนี้ได้ทั้งหมด ครั้นจับโจรกลุ่มนี้ได้ทั้งหมดก็ส่งไปให้อำมาตย์ผู้ตัดสินคดีวินิจฉัยความผิด เมื่อผลการตัดสินออกมา โจรทั้งหมดโดนตัดสินประหารชีวิตด้วยการถูกบั่นคอด้วยขวาน แต่ก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ว่าแล้วใครละจะเป็นผู้รับหน้าที่ตัดคอโจรกลุ่มนั้น ดังนั้นจึงมีการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจะเป็นเพชฌฆาต โดยทำการคัดเลือกผู้ที่จะรับหน้าที่เพชฌฆาตจากพวกโจรที่โดนจับได้ก่อนที่จะหาจากคนนอก จึงทำการถามพวกโจรว่าใครจะกล้าทำบ้าง ถ้าใครทำก็จะไว้ชีวิตให้อีกทั้งก็จะได้การนับถืออีกด้วย มีใครสนใจจะรับหน้าที่นี้บ้าง โดยถามไปที่หัวหน้าโจรก่อน และไล่ไปถึงลูกน้องโจรทั้ง ๔๙๙ คนไปตามลำดับ แต่พวกโจรทั้ง ๔๙๙ คน ยอมตายเสียดีกว่าทำการประหารชีวิตพวกเดียวกัน จนคำถามมาถึงนายตัมพทาฐิกะ (เคราแดง) ว่าจะยอมทำหน้าที่ประหารหรือไม่ ซึ่งโจรเคราแดงก็ตกปากรับคำว่าเราจะเป็นผู้รับหน้าที่ประหารชีวิตโจรพวกนี้เอง และได้ทำการประหารชีวิตโจรทั้งหมด ๔๙๙ คน หลังจากนั้นโจรเคราแดงจึงได้รอดชีวิตและได้รับความนับถือมีชื่อเสียงนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เวลาต่อมา ชาวเมืองได้ล้อมจับโจรจากทิศใต้ของเมืองได้อีก ๕๐๐ คน ซึ่งโจรที่โดนจับมาใหม่ก็โดนตัดสินเหมือนกับโจรกลุ่มแรก คือประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ก็เหมือนเดิมอีกนั่นแหละว่า ใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดคอโจรกลุ่มนี้ จึงได้ถามหัวหน้าโจร ไล่ไปจนถึงลูกน้องโจรว่าใครจะทำหน้าที่เพชฌฆาตบ้าง ถ้าใครทำจะไว้ชีวิต แต่ก็ไม่มีผู้ใดยอมทำ เมื่อไม่มีผู้ใดยอมทำ จึงมีเสียงจากชาวเมืองถามหา ผู้ที่ประหารโจรกลุ่มแรกเป็นใคร และอยู่ที่ไหน เรื่องทำหน้าที่ประหารชีวิตโจรก็ได้กลับไปที่บุรุษเคราแดงอีกครั้ง ชาวเมืองจึงได้ไปตามบุรุษเคราแดงมาจัดการ บุรุษเคราแดงก็ยอมทำหน้าที่ประหารชีวิตโจรเหล่านั้น
ครั้งนั้นชาวเมืองจึงปรึกษากัน และแต่งตั้งบุรุษเคราแดงเป็นผู้ทำหน้าที่ประหาร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บุรุษเคราแดง จึงได้รับตำแหน่งเพชฌฆาตทำหน้าที่ประหารพวกโจร หลังจากนั้นพวกชาวเมืองก็จับโจรได้ครั้งละ ๕๐๐ จากทิศเหนือ ทิศตะวันตก และโจรกลุ่มดังกล่าวทั้งหมดก็ได้นำไปให้บุรุษเคราแดงประหาร บุรุษเคราแดงได้ทำการประหารโจรทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นจำนวน ๒,๐๐๐ คน ในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาก็ได้ทำงานในตำแหน่งเพชฌฆาต โดยทำการประหารชีวิต วันละคนหรือสองคนบ้าง
วันเวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นสิบปี จากสิบปีเป็นห้าสิบห้าปี เพชฌฆาตเคราแดงได้ทำหน้าที่เพชฌฆาตเป็นระยะเวลาทั้งหมด ๕๕ ปี เมื่อเพชฌฆาตเคราแดงได้ชราภาพลง เรี่ยวแรงก็ถดถอย ไม่สามารถประหารชีวิตผู้ต้องโทษให้ตายในดาบเดียวได้ ชาวเมืองจึงลงความเห็นและให้เขาเกษียณออกจากตำแหน่ง
นายตัมพทาฐิกะ (เคราแดง) ทำหน้าที่เพชฌฆาตมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๕๕ ปี โดยไม่ได้มีการนุ่งผ้าใหม่ ทานอาหารที่ดี ประดับแต่งตัวทาด้วยของหอมเลย ดังนั้นในวันที่เกษียณออกจากตำแหน่ง นายตัมพทาฐิกะ (เคราแดง) จึงขอให้ชาวเมืองจัดหาเสื้อผ้าใหม่ อาหาร ยาคูเจือด้วยน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่ การประดับดอกมะลิ การทาด้วยของหอม ซึ่งชาวเมืองก็ดำเนินการจัดเตรียมสิ่งที่เขาต้องการไว้ในเรือน ส่วนนายตัมพทาฐิกะนั้นก็ได้เดินทางไปยังแม่น้ำ อาบน้ำชำระตัวให้สะอาด นุ่งผ้าใหม่ แล้วประดับด้วยดอกไม้ ตัวก็ทาด้วยของหอม เมื่อทำทุกอย่างเรียบร้อย ก็เดินทางกลับมาสู่เรือน แล้วค่อยๆ นั่งลง ชาวเมืองก็นำอาหารอันโอชะมา และวางยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่ข้างหน้าเขา อีกทั้งยังนำน้ำสำหรับล้างมือมาให้นายตัมพทาฐิกะ
ก่อนที่นายตัมพทาฐิกะจะทำการรับประทานอาหารที่เขารอคอยมานาน ขณะนั้นเองนายตัมพทาฐิกะพลันเหลือบไปเห็นพระสารีบุตรยืนถือบาตร แสดงตนยืนอยู่ที่ประตูเรือนของนายตัมพทาฐิกะ (อ้างอิง๑) นายตัมพทาฐิกะเมื่อเห็นพระสารีบุตรแล้วก็มีจิตคิดเลื่อมใสว่า เราเองก็กระทำการฆ่าโจรเป็นเวลาช้านาน ได้ฆ่ามนุษย์เป็นอันมาก ซึ่งในบัดนี้ที่เรือนของเราก็มีอาหารอยู่พอดี พระเถระก็มายืนอยู่หน้าประตูเรือนของเรา เราจะถวายไทยธรรมแด่พระคุณเจ้าเสียในกาลบัดนี้ จึงได้เลื่อนอาหารยาคูที่วางอยู่ ณ เบื้องหน้าออกไป แล้วเข้าไปหาพระเถระ ทำการไหว้ นิมนต์ให้นั่งภายในเรือน ได้ทำการเกลี่ยยาคูเจือน้ำนมลงในบาตร ราดเนยใสใหม่ลงไป อีกทั้งนายตัมพทาฐิกะยังได้ทำการยืนพัดพระเถระอยู่ใกล้ๆ ขณะนั้นเองความอยากของนายตัมพทาฐิกะที่จะดื่มยาคูเจือน้ำนมเกิดมีกำลังขึ้นมาเนื่องเพราะไม่ได้ทานของดีมาเป็นเวลาช้านาน พระสารีบุตรรู้อัธยาศัยของนายเคราแดง จึงพูดกับนายเคราแดงว่า “อุบาสก ท่านจงดื่มยาคูของตนเองเถิด” นายเคราแดงจึงส่งพัดให้แก่บุรุษอื่น เพื่อรับทำหน้าที่พัดพระเถระแทนตน และได้ลงมือดื่มยาคูของตน พระสารีบุตรบอกกับบุรุษผู้ทำหน้าที่พัดว่า ท่านจงไปพัดแก่นายตัมพทาฐิกะเถิด หลังจากนายเคราแดงได้รับประทานอาหารจนอิ่มแล้ว ก็กลับมาทำหน้าที่ยืนพัดพระสารีบุตรต่อ เมื่อพระสารีบุตรฉันอาหารเสร็จแล้ว นายตัมพทาฐิกะก็คอยรับบาตรจากพระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงได้อนุโมทนากถา ให้นายเคราแดงฟัง แต่นายเคราแดงไม่อาจกระทำจิตไปตามอนุโมทนากถา ของพระสารีบุตรได้ พระสารีบุตรสังเกตเห็นจึงถามว่า เหตุไร นายเคราแดงจึงไม่อาจทำจิตไปตามอนุโมทนากถาได้
นายตัมพทาฐิกะ ตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ากระทำกรรมหยาบช้ามานาน มนุษย์เป็นอันมากถูกข้าพเจ้าฆ่าตาย ข้าพเจ้ามัวระลึกถึงกรรมของตนนั้นอยู่ จึงไม่อาจทำจิตให้ไปตามเทศนา ของพระคุณเจ้าได้”
พระสารีบุตรคิดว่า “เราจักลวงบุรุษนั้น” จึงถามนายเคราแดงว่า “ท่านกระทำตามชอบใจตน หรือถูกคนอื่นให้กระทำเล่า?”
ตัมพทาฐิกะ “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระราชาให้ข้าพเจ้าทำ”
พระสารีบุตรกล่าวว่า “อุบาสก เมื่อเป็นเช่นนั้น อกุศลจะมีแก่ท่านอย่างไรเล่า?”
นายตัมพทาฐิกะเป็นคนธาตุทึบ ถูกพระเถระกล่าวอย่างนั้น ก็มีความสำคัญว่า
“อกุศลไม่มีแก่เรา” จึงกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอท่านจงกล่าวธรรมเถิด”
ตอนนั้นเอง นายเคราแดง มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ฟังอนุโมทนากถาแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบัน ณ ที่นั้นเอง
หลังจากนั้นพระสารีบุตรหมดธุระ ก็ออกจากเรือน ส่วนนายตัมพทาฐิกะตามไปส่งระยะทางหนึ่งแล้วเดินทางกลับ แต่ในระหว่างเดินทางกลับนั้น นายตัมพทาฐิกะโดนแม่โคขวิดที่อก นายเคราแดงได้เสียชีวิตลง ณ ที่นั้นเอง หลังจากที่นายเคราแดงเสียชีวิต นายเคราแดงได้ไปเป็นเทพบุตรบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
ระหว่างนั้นภิกษุทั้งหลาย ได้สนทนากันในโรงธรรมว่าบุรุษฆ่าโจร กระทำกรรมหยาบช้าเป็นเวลาถึง ๕๕ ปี เขาพ้นจากตำแหน่งนั้นในวันนี้ พร้อมกับได้ถวายอาหารแก่พระเถระในวันนี้ อีกทั้งก็ได้ตายในวันนี้ ทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้บังเกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้เอง หลังจากที่เขาตายแล้วจะไปบังเกิดที่ไหนหนอ
ขณะนั้นพระศาสดาเสด็จมา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าได้สนทนาเรื่องอะไรอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลเรื่องที่คุยกันอยู่ให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเฉลยว่า บุรุษเคราแดงผู้นั้นได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
ภิกษุทั้งหลายเมื่อฟังดังนั้นแล้ว ถึงกลับประหลาดใจเป็นอันมาก จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า “พระองค์พูดว่าอะไรนะ ? บุรุษผู้นั้นได้ใช้เวลายาวนานฆ่ามนุษย์ตั้งมากมาย แต่กลับไปเกิดสวรรค์ชั้นดุสิตได้อย่างไร พระเจ้าข้า”

เมื่อได้ยินคำถามนั้น พระศาสดาจึงตรัสตอบกลับไปว่า เนื่องจากบุรุษผู้นั้นได้พบกัลยาณมิตรผู้ใหญ่ ดังเช่น พระสารีบุตร และได้ฟังอนุโมทนากถาจากพระสารีบุตร จึงได้ไปเกิดในวิมานชั้นดุสิต
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ธรรมดาแค่อนุโมทนากถานั้นก็มีกำลังเพียงแค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น แต่บุรุษผู้นั้นกระทำอกุศลกรรมไว้ตั้งมากมาย เขาได้บรรลุคุณวิเศษขนาดนั้นด้วยเหตุเพียงแค่ฟังอนุโมทนากถาได้อย่างไร
พระศาสดาตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าถือประมาณแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วว่า ‘น้อยหรือมาก’ เพราะว่า แม้วาจาคำเดียวที่อาศัยประโยชน์ ประเสริฐโดยแท้”
จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
“หากวาจาแม้ตั้งพัน ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็น
ประโยชน์ไซร้, บทที่เป็นประโยชน์ บทเดียว
ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่า”
หลังจากจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย
มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
จบเรื่องบุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง
เมื่อทุกท่านที่ได้อ่านบทความส่วนเนื้อเรื่องจบแล้ว ทุกท่านได้อะไรเพิ่มเติมจากการอ่านหรือไม่นอกจากความเพลิดเพลินไปกับบทความนี้เท่านั้น ทุกท่านมีคำถามอะไรในใจบ้างหรือไม่หลังจากได้อ่านเนื้อเรื่อง ถ้าท่านได้แต่ความเพลิดเพลิน หรืออ่านจบแล้วก็ไม่มีสิ่งสงสัย หรือคำถามอะไรในใจ ก็ขอให้ทุกท่านย้อนกลับไปอ่านเนื้อเรื่องอีกสักครั้งหนึ่ง จนกว่าจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเพียงคำถามเดียวหรือสองสามคำถามก็ได้ ค่อยกลับมาอ่านในส่วนความเห็นและการวิเคราะห์ถัดจากนี้ต่อไป เพื่อที่จะได้ประโยชน์สูงสุดแก่ตัวท่านเอง และบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้เขียนในการอ่านบทความ ส่วนของการวิเคราะห์ถัดจากนี้ (เมื่อท่านอ่านบทความถัดไปทั้งหมดนี้ก็จะเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของผู้เขียนเอง)
อ้างอิง ๑ พระสารีบุตรเพิ่งออกจากสมาบัติ ได้ทำการพิจารณาว่าควรจะสงเคราะห์ผู้ใด เมื่อพิจารณาแล้วเห็นบุรุษเคราแดงที่ปรากฏ จึงได้ทำการสงเคราะห์แก่นายเคราแดง
ที่มา พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม
เล่มที่ ๔๑ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๔๑๘ (เรื่องเพชฌฆาตเคราแดง)

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 13:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ



ภาค ๒

ส่วนความเห็นและการวิเคราะห์ของผู้เขียน

โจร(เพชฌฆาต) เคราแดง


ถ้าท่านมีคำถามเกิดขึ้นในใจบ้างแล้ว ก็ขอเชิญท่านทั้งหลายอ่านบทความนี้ และมาร่วมด้วยช่วยกันวิเคราะห์เนื้อเรื่องเพื่อให้เกิดปัญญา เรื่องนี้มีสิ่งที่น่าขบคิดพิจารณาหลายอย่าง จึงได้นำเรื่องนี้มานำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้พิจารณากัน

ในความคิดเห็นของผู้เขียน เรื่องนี้เมื่ออ่านผ่านๆ ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำทานเป็นหลัก แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสรุป การทำทานเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในเรื่องก็จริง แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นที่ละเลยไม่ได้นั่นคือ กัลยาณมิตร กับพระธรรม (ในส่วนเพียงแค่อนุโมทนากถา)

ดังนั้นทางผู้เขียนจะขอกล่าวถึงคำ 3 คำซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้นั่นคือ ทาน, กัลยาณมิตร และพระธรรม

หมายเหตุ : ที่จะขอกล่าวเพียงคำ 3 คำ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้เท่านั้น ก็เพราะว่า แต่ละส่วนในเนื้อหามีความสำคัญและความลึกซึ้งมากมาย ถ้าจะขยายความให้ครอบคลุมได้ทั้งหมดของบทความก็อาจจะใช้เวลานานมาก จึงขอบีบวงเข้ามาเพื่อให้ทุกท่านได้ใช้เวลาอันมีประโยชน์ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในตอนนี้

ทาน
แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน



๑. ด้านตัวผู้กระทำทาน

ประเด็นที่ ๑ ลักษณะนิสัยของโจรเคราแดง พิจารณาแล้วโจรเคราแดงนั้นน่าจะเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยดังนี้

- ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เพราะดูได้จากถึงแม้โดนหัวหน้าโจรปฏิเสธ แต่ก็ไม่ยอมแพ้ พยายามหาทางออกเพื่อจะได้เข้าร่วมแก๊งเดียวกับโจรกลุ่มนี้ โดยหันไปเอาใจลูกน้องโจรคนหนึ่งเพื่อให้ลูกน้องโจรคนนั้น ฝากฝังตนกับหัวหน้าโจร

- เป็นคนมีปัญญาหรือไม่ เท่าที่ผู้เขียนเห็นแล้วก็น่าจะมีปัญญาระดับหนึ่งพอสมควร เพราะสามารถหาทางออกจนหัวหน้าโจรยอมรับเข้ากลุ่ม

- เป็นคนเด็ดเดี่ยวกล้าทำอะไรที่คนอื่นไม่กล้าทำได้ ส่วนนี้ดูได้จากการที่สามารถกล้าบั่นคอพรรคพวกทั้ง ๔๙๙ คนด้วยขวาน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคพวกของตนเองไม่ยอมกระทำ และคนชาวเมืองมากมายก็ไม่กล้ากระทำ พวกโจรเหล่านั้นต้องโทษพิพากษาประหารชีวิต อย่างไรก็ตามโจรกลุ่มนั้นก็ต้องตายแน่นอนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะเป็นผู้ลงมือทำเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่โจรเคราแดงยอมกระทำ

ประเด็นที่ ๒ ลักษณะการทำทานของบุรุษเคราแดง น่าจะเป็นลักษณะการทำบุญแบบยอมเป็นยอมตาย

บุรุษบุคคลหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ตัดศีรษะคนอื่นมาทั้งชีวิต อีกทั้งยังไม่เคยได้รับเสื้อผ้า ตกแต่งร่างกายด้วยของหอม และอาหารที่ดี หลังจากเกษียณอายุงานก็หวังว่าจะได้รับประทานอาหารเลิศรส จึงค่อยๆ ไปชำระล้างร่างกายให้สะอาด นุ่งผ้าใหม่ ประดับด้วยดอกไม้ ทาด้วยของหอม แล้วก็ไปที่เรือน ซึ่งที่นั่นได้เตรียมอาหารที่ตนใฝ่ฝันมานานแล้ว อีกทั้งอาหารที่เลิศรสน่าทานเป็นอย่างมากนั้นได้ตั้งไว้ตรงหน้าตัวเองแท้ๆ ความอยากกินอาหารของบุรุษเคราแดงนั้น ทุกคนคงคิดออกว่าจะมากมายขนาดไหน การหักไม่ยอมแพ้ความอยากของตนเอง แล้วพลิกไปนิมนต์พระสารีบุตรมาฉันอาหาร การกระทำแบบนี้เหมือนกับยอมเป็นยอมตาย

ประเด็นที่ ๓ เหตุใดบุรุษเคราแดงถึงทำเช่นนั้นได้ อาหารอันโอชะวางอยู่ตรงหน้าแต่สามารถตัดใจ ไปนิมนต์พระสารีบุตรมารับอาหาร ซึ่งใช้โอกาสที่ได้มาให้เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุดได้

ทำไมบุรุษเคราแดงจึงสามารถเอาชนะความอยากของตนเองได้ แสดงว่าบุรุษเคราแดงต้องเป็นผู้ฝึกมาก่อน ถึงสามารถทำเช่นนั้นได้ใช่หรือไม่

ถ้าทุกท่านปรารถนาเอาชนะกิเลสแบบบุรุษเคราแดงได้ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างดังนี้

- เมื่อทุกท่านซื้ออาหาร เช่น ลูกชิ้นปิ้ง ซึ่งในขณะนั้นมีความหิวเป็นอย่างมาก พอดีเห็นสุนัขอดโซกำลังมายืนอยู่ที่หน้าท่าน ทุกท่านสามารถหักใจไม่ทาน ให้อาหารแก่สุนัขนั่นได้หรือไม่

- เมื่อขณะท่านดูรายการซีรีย์หนังเกาหลีซึ่งเป็นเรื่องที่อยากดูมาก ติดตามดูมาโดยตลอด ซึ่งเป็นตอนอวสาน น้องชายมาเรียกให้ท่านไปสอนหนังสือให้ ท่านสามารถหักใจ ไม่ยอมดูหนังได้หรือไม่

- เมื่อท่านกำลังจะดูบอลโลกรอบชิงชนะเลิศที่ ๔ ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง มีคนกำลังเดือดร้อนได้โทรมาหาท่านเพื่อปรึกษาเรื่องสำคัญของเขาพอดี ท่านจะสามารถเลิกดูบอล หันมาให้ความสำคัญโดยตั้งใจฟังเรื่องราวนั้นอย่างละเอียด และหาทางช่วยเหลือแก้ไขเรื่องราวที่เขากำลังประสบอยู่ได้หรือไม่

- เมื่อท่านหลับสนิท อากาศเย็นสบาย กำลังเพลินๆ ตอนตีสี่ มีคนเรียกท่านไปช่วยเหลือธุระบางอย่าง ท่านสามารถหักใจลุกขึ้นมา แล้วทำจิตเป็นกุศลในทันทีได้หรือไม่

- ขณะที่ท่านกำลังเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ อย่างเมามันอยู่ กำลังเล่นถึงตอนที่กำลังถึงจุดวิกฤติอยู่ พ่อแม่ใช้ให้ไปธุระ ท่านสามารถหักใจออกจากเกมส์ แล้วทำจิตเป็นกุศลในทันทีได้หรือไม่

- ในตอนที่ท่านเปิดประตูกำลังจะเดินออกจากบ้านไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งในกลุ่มนั้นมีคนที่ท่านชอบหมายตาอยากจะทำความรู้จักอยู่ พอดีที่บ้านใช้ท่านให้ไปซื้อและเปลี่ยนหลอดไฟในห้องน้ำ ท่านจะไปจัดการธุระก่อน หรือท่านจะออกไปเที่ยวก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเปลี่ยนหลอดไฟในห้องน้ำที่ มืดมิดอยู่

ด้านบนเป็นเหตุการณ์ตัวอย่างที่ยกมาเพื่อให้ทุกท่านเข้าใจ ขอให้ท่านไประลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ของตนที่ไปประสบมาเอง เช่น กำลังหลงใหล เคลิบเคลิ้ม เมามัน หมกหมุ่น จมดิ่งกับสถานการณ์อะไรก็ตาม แล้วมีเหตุการณ์เรื่องดีๆ แทรกเข้ามา แต่ละท่านสามารถหักหรือตัดใจกับสิ่งที่กำลังจมอยู่แล้วกลับไปทำสิ่งที่ดีที่ แทรกเข้ามาได้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นส่วนที่ทุกท่านต้องฝึกสะสมไปเรื่อยๆ เมื่อโอกาสได้มาถึง ทุกท่านก็จะสามารถทำแต่ละสิ่งได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าท่านไม่ได้ฝึกมา ก็เป็นการยากที่จะทำได้ ถึงแม้โอกาสที่จะสร้างประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นมาถึง ท่านก็จะไม่สามารถทำโอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้

อย่าว่าแต่การให้แบบยอมเป็นยอมตายเลย การให้แบบปกติทุกท่านทำได้อย่างดีแล้วหรือไม่ ซึ่งสามารถมองในปัจจุบันนี้ทุกท่านสามารถกระทำสิ่งต่างๆ ได้สมบูรณ์หรือไม่ โอกาสที่ได้ช่วยเหลืองานของพ่อแม่ โอกาสในการช่วยสงเคราะห์ญาติ โอกาสในการช่วยคนเดือดร้อนทั้งหลาย ถ้าทุกท่านยังไม่ได้ฝึกฝนตนก็สามารถเดาได้เลยว่าแต่ละท่านได้แต่ปล่อยโอกาส ต่างๆ หลุดลอยไปเมื่อโอกาสอันดีมาถึง

เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์จริง ท่านคิดหรือว่าท่านสามารถจะทำได้ อย่าไปมองไกลถึงโอกาสจะพบกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธเลย สมมติคนชวนท่านไปฝึกปฏิบัติธรรม กับชวนท่านไปเที่ยวยุโรปแล้วออกเงินให้ ท่านจะเลือกไปสิ่งไหน ขอให้ท่านตอบตามความจริงอย่าได้โกหกตัวเอง

ถ้าทุกท่านไม่ได้ฝึกมาแล้วจึงไม่มีทางที่จะทำได้ดังบุรุษเคราแดง ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องฝึกสะสมให้กล้าแข็ง เมื่อท่านเห็นความจริง ยอมรับความจริง และเร่งฝึกปฏิบัติ เพราะเมื่อไปประสบกับโอกาสต่างๆ แล้วถึงจะสามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ ถ้าแต่ละคนไม่มีการฝึกฝนสะสมมา ก็อย่าฝันว่าจะไปทำในสิ่งที่ถูกต้องได้

เมื่อไรก็ตามทุกท่านสามารถทำในสิ่งเล็กน้อยได้ และฝึกไปเรื่อยๆ จนกล้าแข็ง ทุกคนก็จะสามารถทำในสิ่งที่ยากได้ เมื่อทุกคนมีความพร้อม เมื่อไปอยู่ที่ไหนก็สามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ ต่อให้อยู่สถานการณ์ไหนก็ตาม ไปเกิดในสวรรค์ เทวดาแต่ละองค์เหาะไปเที่ยวเล่น ฟ้อนรำ ท่านก็สามารถไปปฏิบัติธรรม ไม่หลงระเริง อีกทั้งยังชักนำเทวดาองค์อื่นไม่ให้ประพฤติตัวอย่างประมาท ต่อให้พลาดพลั้งไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าท่านฝึกมามากพอก็สามารถเอาตัวเองรอดได้ เหมือนดั่งเรื่องราวที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมากมาย ที่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังสามารถทำประโยชน์ได้

๒. วัตถุทาน

วัตถุทานในที่นี้นั่นก็คืออาหาร พิจารณาจากตัววัตถุทาน ถือว่าตัววัตถุทานนั้นบริสุทธิ์ แถมยังเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์กว่าวัตถุทานอันอื่นอีกด้วย วัตถุทานนี้ได้มาอย่างไร ได้มาจากการตอบแทนของชาวเมืองที่บุรุษเคราแดงทำงานรับใช้บ้านเมืองมาอย่าง ยาวนาน เมื่อเกษียณอายุงาน ชาวเมืองจึงทำการจัดแจงอาหารอย่างดีเพื่อมอบให้แก่บุรุษเคราแดง วัตถุทานนั้นจึงเป็นของที่บริสุทธิ์มาก ไม่ได้มาจากการเบียดเบียนใคร ไม่ได้มาจากการเอาเงินของตนไปซื้อมา แต่ได้มาจากการให้ของคนอื่นเพราะผลจากการตอบแทนความดี ถึงแม้เราใช้เงินที่ได้มาจากการประกอบอาชีพสุจริตซื้อวัตถุทาน วัตถุทานอาจจะไม่บริสุทธิ์เท่านี้ เนื่องจากอาชีพส่วนมากได้มาจากการเบียดเบียนผู้อื่น ไม่มากก็น้อย ซึ่งต่างจากวัตถุทานที่ได้มาจากการทิ้งหรือการให้จากผู้อื่น

เงินที่หามาได้จากการประกอบอาชีพ ถึงแม้ทางโลกถือว่าอาชีพนั้นเป็นอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย เงินที่ได้มาสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเท่ากันหมด แต่ในแง่ของธรรมนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมากมาย ความแตกต่างนั้นเกิดจากการได้มาของเงินนั้นเกิดจากการเบียดเบียนผู้อื่นมาก หรือน้อย และจิตขณะประกอบอาชีพนั้นมีความเป็นกุศลหรืออกุศล หลังจากที่ได้เงินดังกล่าวมา เงินนั้นได้แปรสภาพเป็นวัตถุทานต่างๆ วัตถุทานดังกล่าวจึงมีความบริสุทธิ์น้อยมากแตกต่างกันตามแหล่งที่มา ดังนั้นในแง่ความบริสุทธิ์ วัตถุทานของบุรุษเคราแดงที่ได้มาจากการตอบแทนความดีจึงมีความบริสุทธิ์มาก

๓. ส่วนผู้รับทาน

ผู้รับทานนั้นเป็นทักขิไณยบุคคล(ผู้ควรรับทักษิณาทาน) ซึ่ง เป็นอัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า แถมได้ส่วนเสริมที่พิเศษอีกนั่นคือเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ดังนั้นผู้ที่รับทานของบุรุษเคราแดงเป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ เมื่อหว่านเมล็ดพืชลงไปนาบุญที่เลิศย่อมทำให้ออกดอกออกผลบุญอย่างมากมายแก่ ผู้ที่ทำการถวายแด่ท่าน

ส่วนของบุญที่จะได้กับผู้ที่มีโอกาสตักบาตรพระที่เพิ่งออกจากนิโรธ ถือว่าเป็นบุญที่มีขนาดใหญ่รุนแรงให้ผลยาวนานมากดูได้จากผลของผู้ที่ตักบาตรพระที่ออกจากนิโรธ คนๆนั้นจะรวยขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็วมาก อย่างช้าไม่เกิน ๗ วัน ตัวอย่างเช่น นายปุณณะ ภรรยาถวายอาหารแด่พระสารีบุตรตอนเช้า ตอนสายไปไถนา สถานที่ที่เขาไถได้กลายเป็นทองคำ

เมื่อพิจารณาแล้ว ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ในส่วนของผู้รับทาน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรถึงได้มีโอกาสได้ทำบุญกับพระผู้เพิ่งออกจาก นิโรธสมาบัติได้ ซึ่งถือว่าเป็นบุญลาภอันยิ่งใหญ่

เมื่อพระอรหันต์ออกจากนิโรธสมาบัติ จะทำการพิจารณาว่าจะสงเคราะห์ใคร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

(อ้างอิง ๑) พระปัจเจกพุทธเจ้า ออกจากสมาบัติ ได้ทำการพิจารณาว่าควรจะสงเคราะห์ผู้ใด เรื่องสุขสามเณร

(อ้างอิง ๒) พระสารีบุตรออกจากนิโรธ เมื่อพิจารณาแล้วจึงได้ไปสงเคราะห์นายปุณณะ

(อ้างอิง ๓) พระมหากัสสปเถระ ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วพิจารณาว่าจะทำการสงเคราะห์ใคร เมื่อพิจารณาเสร็จจึงไปสงเคราะห์แก่บ้านของนายกาฬวฬิยะ

(อ้างอิง ๔) พระ ปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าอุปริฏฐะเข้านิโรธสมาบัติที่ภูเขาคันธมาทน์ ออกจากสมาบัตินั้นแล้วพิจารณาว่าวันนี้ควรจะทำการอนุเคราะห์ใคร ก็ธรรมดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้อนุเคราะห์คนเข็ญใจ ท่านคิดว่าวันนี้เราควรทำการอนุเคราะห์ นายอันนภาระ

(อ้างอิง ๕) พระ ปัจเจกสัมพุทธเจ้าที่เงื้อมนันทมูลกะออกจากนิโรธในวันที่ ๗ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เคี้ยวไม้สีฟันนาคลดา เมื่อพิจารณาแล้วว่าจะสงเคราะห์ใคร แล้วจึงไปสงเคราะห์แก่ธิดาเศรษฐี

(อ้างอิง ๖) พระ มหากัสสปะ เข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน ออกจากนิโรธนั้นแล้วคิดว่า วันนี้เราจักอนุเคราะห์ใคร ด้วยการรับอาหารหนอ จักเปลื้องใคร จากทุคติและจากทุกข์ เห็นหญิงนั้นใกล้ตาย และกรรมของนางที่จะนำไปนรก และโอกาสแห่งบุญที่นางได้ทำแล้ว คิดว่าเมื่อเราไป หญิงคนนี้จักถวายข้าวตังที่ตนได้แล้ว เพราะบุญนั้นนั่นแหละ นางจักเกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี

(อ้างอิง ๗) พระ สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปิยทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก วันหนึ่ง ด้วยมีพุทธประสงค์จะทรงอนุเคราะห์ดาบส จึงเสด็จเข้าไปสู่หมู่ไม้สาละนั้น ประทับนั่งแล้ว เข้านิโรธสมาบัติ ดาบสเดินไปหามูลผลาผลในป่า เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีใจเลื่อมใส ถือเอากิ่งรังซึ่งมีดอกบานสะพรั่งทำเป็นปะรำกิ่งไม้ คลุมปะรำนั้นทั้งหมด ด้วยดอกรังล้วน ๆ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไม่ออกไปหาอาหาร ยืนนมัสการอยู่แล้ว ด้วยอำนาจแห่งปีติและโสมนัสนั้นเอง (เรื่องราวในอดีตของนิโครธเถระ)

(อ้างอิง ๘) พระ เถระองค์หนึ่งในอดีตชาติได้กำเนิดเป็นราชสีห์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ อยู่ในถ้ำแห่งภูเขา พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่ถ้ำ ในเวลาที่ราชสีห์หลีกออกไปหากิน เพื่อจะทรงอนุเคราะห์เขา ประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติแล้ว ราชสีห์คาบเอาเหยื่อกลับมาเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ประตูถ้ำ เป็นผู้ร่าเริงยินดี กระทำการบูชาด้วยดอกไม้ที่เกิดในน้ำและดอกไม้ที่เกิดบนบก ทำใจให้เลื่อมใส บันลือสีหนาทในเวลาทั้ง ๓ เพื่อให้สัตว์ร้ายในป่าหนีไป เพื่อถวายอารักขาพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยืนเฝ้าอยู่โดยมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ ได้บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๗ วัน อย่างสม่ำเสมอเหมือนอย่างที่บูชาในวันแรก

(อ้างอิง ๙) ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปิยทัสสี พระติสสเถระในอดีตชาติได้บรรลุนิติภาวะแล้วถึงความสำเร็จในศิลปะทั้งหลาย เห็นโทษในกามทั้งหลาย สละฆราวาสวิสัยบวชเป็นดาบส เขาสร้างอาศรมอยู่ในป่าดงรังใกล้ชัฏแห่งป่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเข้านิโรธสมาบัติประทับนั่งที่ดงรังไม่ไกลอาศรม เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ดาบสนั้น ดาบสออกจากอาศรมเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีใจเลื่อมใส ปักเสา ๔ เสา ทำปะรำด้วยกิ่งรัง อันมีดอกบานสะพรั่ง ไว้เบื้องบนพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกรัง ทั้งใหม่ทั้งสดตลอด ๗ วัน ไม่ละปีติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์

(อ้างอิง ๑๐) ใน อดีตชาติของพระสัมพุลกัจจายนเถระ ในที่สุดแห่งกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่งเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า สตรังสี ออกจากนิโรธแล้วเที่ยวไปบิณฑบาต มีใจเลื่อมใสแล้วได้ถวายผลตาล






.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 13:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว



ส่วนของด้านบนนั้นคือข้อความเกี่ยวกับ ผู้ที่ออกจากนิโรธสมาบัติ เมื่อได้ศึกษาจากเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วก็พอจะสรุปเรื่องราวได้ดังนี้

๑. ผู้ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ จะพิจารณาก่อนว่าจะไปอนุเคราะห์ผู้ใด

การที่ท่านจะทำการสงเคราะห์ใครนั้น ต้องผ่านการพิจารณามาก่อน ไม่ใช่ท่านจะเดินไปมั่วๆ เมื่อเจอใครก็จะโปรดคนนั้น แต่เป็นเรื่องที่ผ่านการพิจารณาด้วยญาณของท่านมาก่อนหน้าแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่าสิ่งที่ได้มานั้นไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือความบังเอิญ เพราะเมื่อคนใดคนหนึ่งไปปรากฏในญาณของผู้ที่ออกจากนิโรธ แสดงว่าคนๆนั้นจะต้องได้สร้างบุญกับท่านแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับบุญอันนี้ได้ถูกล๊อคไว้แล้วว่าจะต้องได้กับคนๆนี้แน่นอน ขอเพียงภาพท่านไปปรากฏที่ญาณของพระที่เพิ่งออกจากนิโรธเท่านั้นยังไงเสียจะ ได้ทำทานกับท่านแน่นอน ในทางกลับกัน ส่วนท่านใดไม่มีความพร้อมที่จะถวายทาน ยังไงท่านก็ไม่ได้ไปปรากฏในญาณของผู้ที่ออกจากนิโรธร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราจึงควรเตรียมความพร้อม ฝึกฝนการให้ทานแบบเพชฌฆาตเคราแดงในลักษณะที่ทำบุญแบบตัดใจ ฝึกไปเรื่อยๆจนมีความชำนาญทำได้ตลอดเวลา ถ้าท่านไม่ได้สร้างส่วนนี้มาโอกาสที่ท่านจะไปปรากฏในญาณของพระที่ออกจาก นิโรธก็จะไม่มี

ส่วนหลักการพิจารณาของผู้ที่ออกนิโรธสมาบัติว่าจะไปโปรดใครนั้นจะมีด้วยกัน ๒ ประเด็น

ประเด็นที่ ๑ ผู้ที่ท่านจะไปโปรดต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธา

ประเด็น ที่ ๒ ผู้ที่ท่านจะไปโปรดต้องเป็นผู้ที่สามารถถวายอาหาร หรือทำอะไรบางอย่างให้แก่ท่านได้ เช่น มีอาหารที่จะถวายให้ท่านได้พอดีในตอนนั้น

๒. ผู้ที่ท่านจะไปโปรดจะต้องมีกรรมต้องกับท่าน

การที่ผู้ที่เพิ่งออกนิโรธแล้วจะมาโปรดใครนั้น คนนั้นก็น่าจะต้องมีกรรมต้องกันนั่นคือเคยอนุเคราะห์ช่วยเหลือกันมาก่อน

ขอ ให้ผู้อ่านกลับมามองที่ตัวเอง แต่ละคนเป็นคนที่เคยอนุเคราะห์ใครหรือไม่ เมื่อท่านเคยอนุเคราะห์กับผู้คนต่างๆ ในอดีต ในปัจจุบันชาติคนที่ท่านเคยอนุเคราะห์ในอดีตก็จะกลับมาอนุเคราะห์ท่าน ใครจะไปรู้ว่าผู้ที่ท่านอนุเคราะห์นั้นอาจจะเป็นผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ใน อนาคตข้างหน้า และอนาคตท่านอาจจะได้พบกับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ออกจากนิโรธมาอนุเคราะห์ท่าน บ้างเนื่องเพราะกรรมต้องกัน ท่านอย่าได้มองว่า คน สัตว์ ที่ได้ช่วยเหลือว่าจะต่ำต้อย ควรจะให้เกียรติสัตว์นั้นตามฐานะ เพราะว่าไม่แน่สัตว์นั้นอาจจะเป็นผู้บำเพ็ญบารมีใกล้จะเต็ม โอกาสข้างหน้าเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา เป็นเนื้อนาบุญอันดี เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน และก็ได้มาช่วยเหลือท่านในอนาคตก็เป็นไปได้

๓. น่าจะมีกรรมสนับสนุนอันยิ่งใหญ่

นอกจากมีกรรมต้องกับท่านแล้ว ก็น่าจะมีกรรมสนับสนุนอย่างอื่นมาช่วยด้วย เพราะแค่มีกรรมต้องกันนั้น ก็น่าจะได้แค่มีโอกาสตักบาตรท่านในยามปกติก็เพียงพอแล้ว สำหรับการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาในครั้งก่อน

ดังนั้น การที่ผู้ที่จะได้มีโอกาสสร้างทานขนาดได้ตักบาตรกับผู้ที่เพิ่งออกจากนิโรธ ได้ซึ่งถือว่าเป็นบุญลาภอันยิ่งใหญ่ การที่ท่านเหล่านั้นจะปรากฎในข่ายญาณของผู้ที่ออกจากนิโรธได้นั้น ต้องแสดงว่ามีกรรมสนับสนุนมาช่วยเหลือคนเหล่านั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ได้พบกับ พระที่ออกจากนิโรธ และต้องเป็นกรรมสนับสนุนที่ยิ่งใหญ่ แต่กรรมสนับสนุนประเภทไหนที่สามารถทำให้เราได้มีโอกาสตักบาตรพระผู้ออกจาก นิโรธสมาบัติได้

ขอถามแต่ละคนก่อนว่า แต่ละคนเคยคิดว่า จะทำตัวเองให้บริสุทธิ์เพื่อให้คนที่ทำการเลี้ยงดูเราได้บุญหรือไม่ เช่น ก่อนจะทานอาหารที่พ่อแม่นำมาให้ทานท่านเคยคิดว่าจะเป็นคนดีมีศีลธรรม เพื่อให้พ่อแม่ได้บุญมากขึ้นหรือไม่ อีกทั้งประเด็นอยู่ที่ว่าต้องทำพิเศษขึ้นมาจากปกติ เพราะถ้าเพียงคิดว่าเป็นคนดีมีศีลธรรมเพื่อให้คนที่ทำอาหารให้เราบริโภคได้ บุญ ทำไปเรื่อยๆ ผลบุญนี้ก็น่าจะทำให้ได้พบเนื้อนาบุญที่ดีไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเมื่อเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่เป็นปกติแล้ว ก่อนจะลงมือทานอาหารแต่ละมื้อนั้น ไปนั่งสมาธิเข้าฌานเป็นพิเศษก่อนทานอาหารนอกเหนือจากการเป็นผู้มีศีลธรรมตาม ปกติแล้ว ผู้เขียนคิดว่ากรรมสนับสนุนประเภทนี้นั้น สะสมไปเรื่อยๆ ถึงจะได้มีโอกาสได้รับบุญลาภอันยิ่งใหญ่นั่นคือได้ไปปรากฎในข่ายญาณของพระ ผู้ที่เพิ่งออกจากนิโรธ

ดังนั้น คนที่ได้มีโอกาสตักบาตรพระผู้ที่เพิ่งออกจากนิโรธจึงมีน้อยมาก ต้องเป็นคนที่พิเศษดังที่ได้กล่าวมา ถึงได้มีกรรมสนับสนุนมาตอบแทนกับคนๆ นั้น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ควรจะพึงสร้างโอกาสไปเรื่อยๆ หัดตอบแทนผู้มีพระคุณที่เลี้ยงอาหารกับเรา อย่างน้อยสำรวมกาย วาจาใจ ก่อนที่จะลงมือทานอาหารนั้น ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

กัลยาณมิตร

ส่วนด้านฝั่งของกัลยาณมิตรนั้น คำว่ากัลยาณมิตรนั้น เป็นคำที่มีคุณค่ามากมายมหาศาลอยู่แล้ว แม้แต่พระองค์ก็ยังถือว่าพระองค์เป็นกัลยาณมิตรกับผู้คนทั้งหลาย ถ้าบุรุษเคราแดงไม่ได้พบกับกัลยาณมิตร เช่นดั่งกับพระสารีบุตรแล้ว เมื่อเสียชีวิตไปแล้วก็คงไม่พ้นจากอบายภูมิ ต้องไปรับกรรมอันแสนทารุณอย่างแน่นอน

ส่วนของเรื่องกัลยาณมิตร จะไม่ขอกล่าวมาก ขอให้ท่านผู้อ่านไปอ่านบทความเรื่อง เพื่อนสนิท (มิตรสหาย) เพิ่มเติมอีกทีหนึ่ง

พระธรรม

ประเด็นที่บางคนอาจจะสงสัยต่อนั่นคือ กระทำอกุศลกรรมมามากมาย แต่ในที่สุดได้เป็นพระโสดาบันได้อย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ให้คำตอบไว้ในท้ายเรื่อง

พระธรรมย่อมเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดในทุกๆ เรื่องราว ที่จะนำสัตว์พ้นจากทุกข์ ซึ่งเรื่องราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ขอนำเรื่องราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสกับเหล่าภิกษุทั้งหลาย มากล่าวอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เพชฌฆาตเคราแดงตายไปก็บังเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต ภิกษุทั้งหลายเมื่อฟังดังนั้นแล้ว ถึงกลับประหลาดใจเป็นอันมาก จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า “พระองค์พูดว่าอะไรนะ ? บุรุษผู้นั้นได้ใช้เวลายาวนานฆ่ามนุษย์ตั้งมากมาย แต่กลับไปเกิดสวรรค์ชั้นดุสิตได้อย่างไร พระเจ้าข้า”

พระศาสดาจึงตรัสตอบกลับไปว่า เนื่องจากบุรุษผู้นั้นได้พบกัลยาณมิตรผู้ใหญ่ เช่น พระสารีบุตร และได้ฟังอนุโมทนากถาจากพระสารีบุตร จึงได้ไปเกิดในวิมานชั้นดุสิต แต่ภิกษุเหล่านั้นก็ยังสงสัยว่า “เพียงแค่ฟังอนุโมทนากถาเท่านั้น ทำไมถึงได้มีอานุภาพขนาดนั้น”

พระศาสดาตรัสตอบว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าถือประมาณแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วว่า ‘น้อยหรือมาก’ เพราะว่า แม้วาจาคำเดียวที่อาศัยประโยชน์ ประเสริฐโดยแท้”

เมื่อได้อ่านข้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงให้แก่เหล่าภิกษุฟัง นั่นคือท้ายที่สุดของเพชฌฆาตเคราแดง

สิ่งที่ช่วยเพชฌฆาตเคราแดงนั่นก็คือพระธรรมอันล้ำค่า

ที่กัลยาณมิตรเช่นพระสารีบุตร

ได้นำมาแสดงให้เพชฌฆาตเคราแดงฟัง

ต่อให้เพชฌฆาตเคราแดงได้มีโอกาสทำทานที่ยิ่งใหญ่เพียงใด

แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งนั้นไม่ได้เป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อให้เข้าถึงธรรมได้

ก็เป็นอันว่าสิ่งนั้นก็ไม่มีประโยชน์อันสมบูรณ์


เพราะ ชีวิตของเพชฌฆาตเคราแดงก็ยังไม่มีความแน่นอน ยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิด สามารถลงไปทางอบายได้ ถึงแม้อาจจะได้ไปขึ้นสวรรค์ชั่วคราวเพราะได้ทำทานกับพระที่ออกจากนิโรธ แต่นรกกี่ขุม ไม่ว่าจะเป็นขุมเล็ก ขุมใหญ่ ที่รอท่านอยู่หลังจากเสวยบุญหมด ก็ต้องไปรับกรรมในนรกอันแสนทารุณ พอพ้นโทษจากนรก ก็กลับมาพบกับความทุกข์ต่างๆ นาๆ ในการเวียนว่ายตายเกิดได้โดยไม่รู้จักจบจักสิ้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าทาน ศีล ภาวนา ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ในการพ้นจากทุกข์ การได้ทำทานของเพชฌฆาตเคราแดงกับพระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ จึงเป็นเป็นแรงหนุนส่งเพื่อให้เขาได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟังธรรม อีกทั้งบุญมหาศาลมาตัดกับวิบากกรรมได้ทันเวลาพอดีก่อนที่เขาจะโดนโคขวิดตาย และได้ไปจุติในชั้นดุสิตในที่สุด

ส่วน ตอนจบของเรื่องราวทั้งหมด ที่สุดของเรื่องเมื่อพระองค์ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นจบ ชนเป็นอันมากก็บรรลุอริยผล มีพระโสดาบันเป็นต้น ประโยชน์พึงเกิดกับสัตว์จำนวนมาก ทำไมผู้คนทั้งหลายเมื่อได้ฟังเรื่องราวนี้เพียงเรื่องเดียว ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันจำนวนมาก

ปัจจัยที่หนึ่งคือพระองค์ซึ่งเป็นปัจจัยคงที่ที่ทำอะไรได้สมบูรณ์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับสัตว์ทั้งหลาย

ปัจจัยที่สองตัวของผู้ฟัง หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นบุญของผู้ฟังเอง ซึ่งคิดอย่างนั้นในความเห็นของผู้เขียนก็ถูก แต่ผู้เขียนจะขอให้ความเห็นเพิ่มเข้าไปว่า เนื่องจากสัตว์เหล่านั้นฝึกฝนมาแบบไหน ฝึกมาในเชิงคุณภาพ หรือว่าฝึกมาในเชิงปริมาณ

บาง คนทำทานครั้งเดียว ก็ยังดีกว่าบางคนทำทุกวันตลอดชีวิต บางคนรักษาอุโบสถศีลเพียงวันเดียวได้อย่างบริบูรณ์ ดีกว่าบางคนพยายามรักษาตลอดทุกวันพระ แต่ศีลขาดบ้าง ทะลุบ้าง ด่างบ้าง พร้อยบ้าง บางคนนั่งสมาธิแค่ห้านาทีบุญที่ได้มากกว่าบางคนนั่งตลอดชาติ ขอเพียงทุกท่านฝึกการกระทำเชิงคุณภาพเป็นประจำ พยายามหัดให้เป็นนิสัย ในการกระทำความดีแต่ละหน เพราะแต่ละหนนั้นล้วนมีคุณค่ามากในตัวมันเอง

เรื่อง นี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธปัจจุบันนี้มักมองข้าม มักจะใช้การกระทำกันในเชิงปริมาณ ละเลยในเชิงคุณภาพ เหมือนกับการอ่านบทความต่างๆ ทั้งในส่วนของเวปและในส่วนของบทความอื่น ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านแค่บทความเดียวแต่ค่อยๆ คิดพิจารณาบทความนั้นให้แตกฉาน ก็ย่อมดีกว่าอ่านบทความทั้งหมดแต่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ขอโยงกลับไปตอนภาคที่ ๑ ท้ายเรื่องของส่วนเนื้อหา ในส่วนที่ทางผู้เขียนได้ขอให้ท่านผู้อ่านกลับไปอ่านในส่วนของเนื้อหาใหม่ เพราะเหตุผลในส่วนการฝึกอ่านในเชิงคุณภาพ ผู้เขียนจึงขอให้ท่านผู้อ่านกลับไปอ่านในส่วนของเนื้อหาใหม่ถ้ายังไม่มีคำ ถามในใจ

ถึง แม้ว่าบางคนที่ได้อ่านบทความนี้มาถึงตอนสุดท้ายนี้แล้วยังฝึกการกระทำแบบ เดิมๆ คืออ่านแบบผ่านๆ ลวกๆ ทำให้จับต้นชนปลายอะไรไม่ถูก ก็ขอให้ผู้อ่านได้พิจารณาในส่วนของการกระทำในเชิงคุณภาพ ฝึกฝนตนเอง กลับไปอ่านอย่างละเอียดซ้ำมาซ้ำไป ยังไม่ต้องไปอ่านบทความอื่น จนกว่าจะมีความเข้าใจที่กระจ่างเพื่อนำข้อธรรมนั้นมาเกิดประโยชน์กับตนเอง อย่างน้อยก็ขอให้กลับไปนึกถึงประโยคที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสกับเหล่าภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าถือประมาณแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วว่า ‘น้อยหรือมาก’ เพราะว่า แม้วาจาคำเดียวที่อาศัยประโยชน์ ประเสริฐโดยแท้”



จบบทความ



อ้างอิง ๑ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๔๒ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๑๓๒

อ้างอิง ๒ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๗

อ้างอิง ๓ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๘

อ้างอิง ๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๐๗

อ้างอิง ๕ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๔๖ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ ๑๔๙

อ้างอิง ๖ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๔๘ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๗๑

อ้างอิง ๗ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๕๐ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ ๑๕๖

อ้างอิง ๘ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๕๑ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ ๑๑

อ้างอิง ๙ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๕๑ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ ๗๔

อ้างอิง ๑๐ พระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๕๑ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ ๑๖๘

:b8: http://www.sirimitr.com

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 14:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

สาธุครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร