วันเวลาปัจจุบัน 11 พ.ย. 2024, 02:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 10:45 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


download E-Book
http://www.kanlayanatam.com/Mybookneanam/Jitpontook.htm
http://www.kallayanatham.com/book/Jitpontook.pdf


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 10:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


หวีด บัวเผื่อน...จิตที่พ้นทุกข์
* 26 กันยายน 2553 เวลา 18:30 น.

หวีด บัวเผื่อน หรือที่ผู้ปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ลุงหวีดได้เขียนหนังสือบอกเล่าประสบการณ์ในการปฏิบัติขึ้นเล่มหนึ่งใช้ชื่อ ว่า “จิตที่พ้นจากทุกข์”.....

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

ตอนหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แข็งแรงอยู่ หลังฉันแล้วท่านมักจะเทศน์อบรมฆราวาสและตอบปัญหาธรรมที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย มีจดหมายไปกราบเรียนถาม เช้าวันที่ 4 พ.ย. 2546 ท่านตอบจดหมายหน้าเดียว ซึ่งถามมาเพียงข้อเดียวว่า

“กระผมได้ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว กระผมจิตว่างอยู่หลายปี ด้วยการพิจารณาสิ่งทั้งหลายจนจิตว่างไปหมด เหลือแต่ผู้รู้ แต่ก็ยังมาติดผู้รู้อีก เมื่อพิจารณาผู้รู้อย่างจริงจัง ก็เหมือนมีสปริงดีดผู้รู้นั้นกระเด็นหายไปทันที เหลือแต่ผู้รู้ที่ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องกำหนด ในขณะนั้นสมมติทั้งสามแดนโลกธาตุปรากฏเกิดขึ้นที่ใจ อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย กระผมขอกราบเรียนถามหลวงตาว่า ที่กระผมเข้าใจว่าธาตุผู้รู้นี้ไม่ดับไม่สูญ เป็นรู้ที่อยู่ในรู้ตลอดชั่วนิรันดรใช่ไหมครับ แม้สังขารนี้จะดับไปแล้วก็ตาม ขอความกรุณาหลวงตาช่วยตอบกระผมด้วยครับ”

ผู้อ่านจดหมายกราบเรียนท่านว่า ผู้ถามนามว่า นายหวีด บัวเผื่อน มาจาก อ.เมือง จ.จันทบุรี

หลวงตามหาบัวตอบว่า “ถ้าธรรมดาแล้วปัญหาเป็นอย่างนี้แล้วมันก็หมดปัญหาไปในตัว ไม่จำเป็นต้องถาม แต่ที่ถามนั้นเขาก็มีความมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่คนอื่นด้วย สำหรับคนผู้ถามปัญหาเราก็เชื่อเขาแล้วว่าเขาไม่มีปัญหา...อันนี้เราให้ สนฺทิฏฺฐิโก เป็นสมบัติของคุณเอง รับรองคุณเองก็แล้วกัน”

บางถ้อยคำในการตอบคำถามครั้งนั้นมีว่า “ที่เขาเล่ามานี้ไม่มีที่ต้องติ หมดปัญหาไป”

“นี่คือผลแห่งการปฏิบัติ นิยมไหมว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เพศหญิง เพศชาย กิเลสกับธรรมไม่มีเพศ จิตผูกได้ด้วยกันทั้งนั้น แก้ได้ด้วยกัน นี่ผลแห่งการแก้ การบำเพ็ญ จะเป็นฆราวาสก็ตามก็เป็นอย่างให้เห็นอยู่นี้แหละ นี่เป็นอยู่ที่จิต ผู้ปฏิบัติต่อจิตเป็นอย่างนี้ และผู้ไม่เป็นอย่างงั้นก็ค่อยเป็นมาโดยลำดับ ขอให้ได้รับการบำรุงรักษาเถอะ จะค่อยเป็นค่อยไปของมันอยู่นั้นละ”

(อ่านเทศน์อบรมฆราวาส วันที่ 4 พ.ย. 2546 เรื่องพื้นฐานแห่งความสำเร็จในธรรมที่ http://www.luangta.com หรือที่ http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 32&CatID=2)

หลายปีต่อมา หวีด บัวเผื่อน หรือที่ผู้ปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ลุงหวีดได้เขียนหนังสือบอกเล่าประสบการณ์ในการปฏิบัติขึ้นเล่มหนึ่งใช้ชื่อ ว่า “จิตที่พ้นจากทุกข์”


แก้ไขล่าสุดโดย warrior of light เมื่อ 03 ก.พ. 2011, 10:57, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 10:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


การปฏิบัติของคุณลุงหวีดเริ่มต้นจากการมีสติสัมปชัญญะ

ท่านว่าถึงจะออกมาจากการภาวนาแล้วก็ "ต้องมีสติสัมปชัญญะคุ้มครองจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ให้ปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเผลอสติ (การลืมตัว) ก็พยายามทำความรู้สึกหรือรู้ตัวทั่วพร้อมกันใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาโดยมีความเพียรเป็นหลักไม่ท้อถอยอ่อนแอ ไม่ไหลไปตามอารมณ์..."

แรกๆ ก็ทำไม่ได้แต่อาศัยความมุ่งมั่นและความพยายามที่จะปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นให้จงได้ จึงมีมานะพยายามที่จะเอาชนะใจของตนเอง

ด้วย วิธีนี้ “จึงสามารถครองสติไว้ได้ยาวนานขึ้นจากนาที เป็นสองสามนาที เป็นสิบนาที เป็นครึ่งชั่วโมง เป็นชั่วโมง เป็นวันโดยใช้เวลาไม่นานปีนัก”


ที่ทำได้เพราะท่านมุ่งมั่นโดยตั้งปฏิญาณไว้กับตนเองว่า ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ก็ควรจะต้องมีสติอยู่ด้วย แต่ถ้าขาดจากสติสัมปชัญญะเสียแล้ว ก็ขออย่าได้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเลย เพราะถ้าเราเอาชนะตนเองไม่ได้แล้วจะเอาชนะสิ่งอื่นๆ ได้อย่างไร...คนเราถ้าอยู่อย่างขาดสติสัมปชัญญะแล้วก็เหมือนกับเรือที่ขาดหางเสือ

ท่านคอยเตือนตัวเอง คอยควบคุมให้มีสติคุ้มครองจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน

"ให้จิตเป็นปกติ คือ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกเป็นธาตุแห่งอารมณ์ดีหรือชั่วทั้งหลาย พยายามไม่พูดในจิต ไม่คิดในใจ เมื่อตาเห็นรูปให้สักแต่ว่าเห็น เช่น เห็นป้ายโฆษณาก็ไม่อ่านในใจ มีสติอยู่กับสมาธิให้จิตเป็นอุเบกขา วางเฉยอยู่อย่างเบาๆ ไม่เดือดร้อนในสิ่งที่มากระทบใดๆ ทั้งสิ้น
วันหนึ่งๆ ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา หากเผลอตัวไหลไปตามอารมณ์นั้นๆ เมื่อรู้ตัวก็หยุดคิด หยุดปรุงแต่ง หยุดแสวงหา ให้จิตใจอยู่อย่างสบาย ไม่กังวล หยุดโกรธ หยุดโลภ หยุดปรารถนา"


ผลของการปฏิบัติเช่นว่า ในที่สุด จิตของก็เป็นสมาธิขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

กล่าวคือ ภายในจิตใจไม่มีสังขารความคิดหรืออารมณ์ดีชั่วใดๆ มาก่อกวนเลย...บางครั้งจะคิดเรื่องการงานบ้าง แต่จิตกลับนิ่งเฉยเสีย ไม่ออกทำงานเลย ติดว่างอยู่อย่างนั้น ถึงกับต้องบังคับให้จิตออกมาคิดเรื่องอื่นๆ บ้าง ไม่เช่นนั้นจิตจะหยุดนิ่งเป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลา...”

ท่านว่าตอนนั้นนอนใจคิดว่าที่เป็นอยู่ถูกต้องแล้ว ไม่รู้ว่า นี่คือการติดสมาธิ ผลคือ ติดความว่างอยู่ถึง 2 ปีเต็มๆ

แม้จะส่งผลเช่นนั้น แต่คุณลุงก็ยืนยันว่า "อย่างไรก็ดีการ ปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธินั้นเป็นทางเดินเบื้องต้นที่ถูกต้อง ท่านให้ชี่อว่า สมถกรรมฐาน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติ"

ท่านว่า การปฏิบัติต้องมีความเพียรเป็นหลัก ทุ่มเทกันด้วยชีวิตจิตใจไม่ท้อถอย ปฏิบัติดังนี้แล้ว จิตจะเกิดความชุ่มชื้นสงบเย็น ความภาคภูมิใจและความปีติสุขอย่างบอกไม่ถูก


แก้ไขล่าสุดโดย warrior of light เมื่อ 03 ก.พ. 2011, 11:00, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 10:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


จากสมถะก็เข้าสู่วิปัสสนากรรมฐาน คือ การพิจารณากายที่ยาววาหนาคืบนี้ เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริง

ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย เพราะ "จิตที่ติดอยู่สมาธิจะเพลินอยู่ในสมาธิ ยากจะออกมาพิจารณาจึงต้องบังคับจิตให้ออกมาทำงานทางด้านปัญญาบ้าง โดยต้องฝืนและบังคับซึ่งก็ไม่เป็นผลนักในตอนแรก แต่ก็จำเป็นต้องออกมาพิจารณาดังที่กล่าวมาแล้ว..."

ท่านแก้โดย ลองเอากรรไกรตัดผมตัวเองออกมาพิจารณาดู ตัดเล็บที่ปลายนิ้วทั้งสิบออกมาวางไว้กับพื้นแล้วพิจารณาดู

"พิจารณาวนเวียนไปวนเวียนมา ก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นเราไปได้...หากเราลอกหนังที่ปิดบังอยู่นี้ออกมาเพื่อ เปิดเผยความจริง เหมือนเราลอกหนังเป็ดหนังไก่หรือหนังกบก็คงจะเห็นเนื้อแดงๆ เลือดไหลซึม ไม่แตกต่างอะไรกับพวกซากศพ ผีเปรต..."

ความรู้นี้แจกแจงลงไปเป็นธาตุ 4 ค่อยๆ เห็นความจริงขึ้นว่า "...กายคือกาย จิตคือจิต ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่เป็นความไม่รู้ของจิตเองที่ไม่รู้ความจริง แล้วก็ไปยึดถือร่างกายเป็นเรา..."

ท่านพิจารณาจนนับครั้งไม่ถ้วน "จนบางครั้งจิตเป็นคนที่เดินไปเดินมานี้เป็นกระดูกที่ไม่มีเนื้อหนังหุ้ม อยู่ เห็นเพียงกระดูกเปล่าๆ ที่เดินไปเดินมาจึงสรุปได้ว่าจิตกับกายเป็นคนละส่วนกันไม่ปะปนกัน กายเป็นเพียงที่อาศัยชั่วคราวของจิตเท่านั้น จิตก็เริ่มยอมรับตามความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ....."

ท่านว่า เมื่อถึงการพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไปติดอยู่ที่การพิจารณาเวทนาอยู่นานมาก แม้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสไว้ว่า เวทนาก็ไม่ใช่เรา แต่พิจารณาอย่างไร จิตก็ไม่ยอมรับ เพราะรู้สึกอยู่กับตัวว่า ความปวดเมื่อยจากการทำสมาธินั้น "เราเป็นผู้ปวดเมื่อยทุกครั้งไป" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยังคิดว่า "เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา เป็นเนื้อเดียวกันหมด"

บัดที่จะทะลุขึ้นนี้ไปได้จู่ๆ มันก็เกิดขึ้นดังนี้

"วันหนึ่งขณะที่จิตกำลังสงสัยอยู่ พิจารณาใคร่ครวญวกไปเวียนมาอยู่หลายรอบ เพื่อหาความจริงว่าเวทนาเป็นเราหรือไม่ ขณะนั้นเอง คล้ายกับเกิดนิมิตขึ้นในจิต เห็นเวทนาได้ลอยออกจากจิตของข้าพเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง เวทนานี้ขาดออกจากจิตโดยสิ้นเชิง รู้สึกชัดเจนมาก เหมือนเราเอามีดไปฟันต้นกล้วยขาดกระเด็นออกจากกัน เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา เวทนานั้นก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเวทนา เพราะเวทนา ไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ เวทนาจึงเป็นเพียงขันธ์ๆ หนึ่งปรากฏขึ้นมา เป็นคนละส่วนกันกับธาตุรู้หรือจิต..."

คุณลุงจึงเปรียบเทียบไว้ว่า ธาตุรู้หรือจิตเป็น กระจก เวลาเวทนาเกิดขึ้น กระจกจะไปเจ็บได้อย่างไร เพราะธาตุรู้หรือจิตเป็นเพียงผู้เห็น แต่ไม่ใช่ผู้เจ็บ กระจกกับเวทนามันคนละอัน

ท่านว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้เจ็บ จิตไม่ใช่ผู้เจ็บ ความเจ็บมันมาจากสัญญาจำได้ ถ้าเราเป็นกระจก หากเวทนา เหมือนเม็ดพริกขี้หนู เม็ดพริกขี้หนูไม่รู้เลยว่าตัวเองเผ็ด เพราะไม่มีชีวิตไม่มีจิตใจ และไม่มีเจตนาที่จะทำให้ใครเผ็ด ความเจ็บความปวด ก็ไม่มีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถทำให้ใครเจ็บปวดได้

"หากไม่เข้าใจความจริงนี้ความเจ็บความปวดนั้นก็จะเป็นเรา คือเราเจ็บ โดยไม่สามารถแยกจากกันได้ แต่หากเข้าใจความจริงนี้แล้ว เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง อาการเจ็บก็เป็นเพียงอาการและความจริงอันหนึ่ง และธาตุรู้หรือจิตก็เป็นผู้รู้ซึ่งเป็นความจริงอีกอันหนึ่งเช่นกัน ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าความเจ็บความปวดเราเป็นของเราแต่อย่างใด"


สัญญา ก็ไม่แตกต่างจากเวทนา

สัญญาก็เป็นสิ่งถูกรู้ ไม่มีชีวิตไม่มีจิตใจเหมือนกัน เป็นของตาย คือ เกิดๆ ดับๆ แล้วจะ ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรกัน สิ่งที่ติดตาติดใจ ก็คงจำได้นานหน่อยถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ติดใจก็ดับเร็วลืมเร็ว

สัญญาจึงไม่ใช่เราเหมือนกับเวทนานั่นเอง

สังขาร ความคิดความปรุงแต่ง ก็เป็นอาการและความจริงของตนอีกอันหนึ่งเช่นกัน คือคิดแล้วดับไป ปรุงแล้วดับไป

ปัญหาของคุณลุงในข้อนี้ก็คงเหมือนกับนักปฏิบัติทั่วไปที่เข้าวัดแล้วบาง ทีก็อดตำหนิติเตียนครูบาอาจารย์อยู่ในใจ แม้จะห้ามไม่ให้คิดแล้วบางทียิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เมื่อนำปัญหานี้ไปปรึกษาครูบาอาจารย์ ท่านก็ได้แก้ไขปัญหาด้วยประโยคเดียว

ทันทีที่ครูบาอาจารย์ตอบว่า “ไม่เป็นไรหรอกโยม เพียงแต่โยมอย่าไปคิดว่าสังขารความคิดเป็นโยมก็แล้วกัน” คุณลุงว่า “ความรู้สึกของข้าพเจ้าในขณะนั้นเหมือนยกภูเขาออกจากอกโล่งไปหมด เข้าใจได้ในทันทีว่า สังขาร ความคิดมีอาการและความจริงเช่นนี้ บังคับไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งถูกรู้ เป็นคนละอันกับจิต เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นไตรลักษณ์อยู่อย่างนั้น”

เรื่องของวิญญาณ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้รับการสัมผัส ใจสัมผัสอารมณ์ เมื่อมีการกระทบกันทางอายตนะทั้ง 6 ดังกล่าวข้างต้น อาการของวิญญาณก็จะรับทราบการกระทบนั้นเป็นครั้งๆ เป็นเรื่องๆ ไป กระทบครั้งหนึ่งรับทราบครั้งหนึ่งแล้วก็ดับไป รับทราบแล้วดับ รับทราบแล้วดับ ไม่ใช่ธาตุรู้หรือจิต เป็นเพียงสิ่งถูกรู้เช่นเดียวกัน


ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า "ขันธ์ 5 ทั้งหมดมิใช่เรามิใช่ของเรา เป็นเพียงอาการของจิต มีธรรมชาติเป็นไตรลักษณ์ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ขันธ์ 5 เป็นเพียงสิ่งถูกรู้ และเราเป็นผู้รู้สิ่งเหล่านี้เท่านั้น"

เมื่อเข้าใจว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเราของเรา ปัญหาสำคัญตามมาคือ แล้วเราคืออะไรล่ะ?


แก้ไขล่าสุดโดย warrior of light เมื่อ 03 ก.พ. 2011, 11:06, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 10:50 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


คุณลุงว่าค้นอยู่นาน ที่สุดเมื่อถามครูบาอาจารย์ก็ได้คำตอบว่า "เราคือความรู้สึกหรือธาตุรู้"

"ธาตุรู้นี้ไม่ใช่ความรู้ทั่วไปที่เราเรียนมาจากหนังสือไม่ใช่สิ่งที่เรา เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู สัมผัสด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น และสัมผัสด้วยกาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งถูกรู้ทั้งหมด จึงไม่ใช่ธาตุรู้ ธาตุรู้นี้มี อยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในสามแดนโลกธาตุนี้ สิ่งอื่นๆ ทั้งหมดไม่ใช่ธาตุรู้ แม้แต่อารมณ์ที่สัมผัสได้ด้วยใจของเรานี้ ก็ยังไม่ใช่ธาตุรู้ แต่เป็นเพียงสิ่งถูกรู้เท่านั้น นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจำเป็นจะต้องพิจารณาให้เห็นธาตุรู้นี้ให้ได้ เพราะธาตุรู้นี้แหละคือเรา ไม่ใช่รูป เวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณ ที่ก่อนหน้านี้เห็นว่าเป็นเรา

ธาตุรู้หรือจิตนี้ เราเกิดมานับอสงไขยไม่ถ้วน แต่กลับไม่เคยเห็นธาตุรู้ที่เป็นธรรมธาตุนี้มาก่อนเลย ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวไว้ว่า “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นอาจม”

"จากนั้นมาข้าพเจ้าจึงพยายามอยู่กับธาตุรู้ ถึงแม้ในตอนแรกจะขาดๆ หายๆ อยู่ได้เพียงหนึ่งนาทีสองนาทีก็หายไป เมื่อได้สติก็พยายามดึงกลับมาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ยกเว้นเวลาหลับ ในที่สุดด้วยความเพียรอย่างยิ่งของข้าพเจ้าทำให้สามารถอยู่กับผู้รู้ได้มาก ขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ได้ครบ 100% และสามารถอยู่กับธาตุรู้ได้อย่างอัตโนมัติ

ท่านว่า ติดอยู่กับผู้รู้เป็นเวลาสองปีเต็มๆ ในที่สุดพระอาจารย์ของคุณลุงก็มาเทศน์โปรดให้ปล่อยธาตุรู้

"โยมจะจับไว้ทำไมกันปล่อยไปเสียนะโยม ไม่มีสิ่งใดที่จะหนักเท่ารู้อีกแล้ว โยมจะจับไว้ทำไมกัน"

พอว่า "ผมปล่อยไม่เป็นหรอกครับอาจารย์ ปล่อยไม่ได้ ไม่รู้จะปล่อยอย่างไร"
พระอาจารย์ก็หยิบหนังสือขึ้น แล้วก็ปล่อยลงมา "ปล่อยอย่างนี้แหละโยม ปล่อยได้ไหม"

แม้ครูบาอาจารย์จะช่วยโปรดหลายหนมาที่บ้านถึง 7 ครั้ง ไปกราบที่สำนัก 3-4 หนก็ไม่ได้ผล
เพราะปรารภกับตัวเองว่า
"ธาตุรู้นี้เป็นชีวิตจิตใจแล้วเราจะปล่อยวางได้อย่างไร"

ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2536 ขณะที่คุณลุงเตรียมตัวออกจากสำนักพระอาจารย์กลับบ้านในเวลา 4 โมงเย็น โดยคิดอย่างน้อยเนื้อต่ำใจว่า "ชาตินี้คงไม่มีวาสนาที่จะสามารถปล่อยรู้ได้"

ทันใดนั้นอาจารย์ได้กล่าวขึ้นว่า "โยม เวลามีสิ่งกระทบโยมก็ปล่อยรู้แล้วมาจับสิ่งที่มากระทบ แต่ในขณะที่ไม่มีสิ่งกระทบ โยมก็มาอยู่กับธาตุรู้อีก เอาอย่างนี้ได้มั้ยโยม เมื่อมีสิ่งกระทบ โยมก็ปล่อยทั้งสองอย่างไปเลย เวลานี้โยมเปรียบเหมือนหนอนคืบ เมื่อมาจับที่หัวก็ปล่อยหาง เมื่อจับหางก็ปล่อยหัว ให้โยมปล่อยทั้งสองอย่างไปเลยได้มั้ย"

เท่านั้นเอง ข้าพเจ้าถึงกับตะลึง สะดุ้งขึ้นในใจและขณะเดียวกันนั้น ทั้งธาตุรู้และสิ่งถูกรู้เหมือนมีพลังหนึ่งมาสะบัดอย่างรุนแรงธาตุรู้ และสิ่งถูกรู้นั้นกระเด็นออกไปทันที และเกิดธาตุรู้อีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นรู้ภายใน คือตัวที่มองธาตุรู้ตัวแรกและสิ่งถูกรู้ที่กระเด็นออกไป ปรากฏเป็นรู้ปัจจุบันขึ้นมาทันที เป็นธาตุรู้ที่ไม่ต้องประคองไม่ต้องจับ ไม่ต้องกำหนด

"ธาตุรู้นี้ไม่มีหาย ไม่มีเกิด ไม่มีดับ ธาตุรู้ตัวใหม่นี้เป็นอิสรเสรี โดยที่ไม่มีเราเป็นเจ้าของเหมือนแต่ก่อน เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นปัจจุบันธรรม เป็นกลางๆ ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่อาศัย ไม่กินเนื้อที่ ปราศจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดทั้งสิ้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนมาก สมมติที่ฝังจมอยู่ในจิต คือธาตุรู้ตัวแรกนั้นดับไป ภพชาติทั้งหลายที่ติดแน่นอยู่ในจิตนานแสนนานได้ดับลงพร้อมกันในขณะนั้น อวิชชาดับไปโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งประกาศชัยชนะเหนือกิเลสทั้งหลายอย่างขาวสะอาด ในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีกิเลสที่จะก่อกวนอีกต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นกลับตัวเป็นธรรมพร้อมกันหมดทั้งภายในและภายนอก


แก้ไขล่าสุดโดย warrior of light เมื่อ 03 ก.พ. 2011, 11:11, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 10:54 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


ความเป็นกลาง ความสะอาด ความบริสุทธิ์นั้น ก็หมายถึงจิตดวงนี้เอง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือ จิตดวงนี้ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ซึ่งก็คือ การเห็นจิตที่บริสุทธิ์ ณ ปัจจุบันนั่นเอง

"จิตที่บริสุทธิ์จึงเป็นจิตที่อยู่นอกเหตุเหนือผล เหนือสมมติ เหนือบัญญัติ เหนือเกิด เรียกว่า เป็นวิมุตติ หมดภาระ หมดสิ้นการงาน หมดคำพูด จึงหยุดแล้วปล่อยคำว่าหยุดลงเสียด้วย สมกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ‘ไม่มีธรรมใดที่ไม่เป็นโมฆะ’ นั่นหมายความว่า สมมติทั้งหลายที่เคยติดแน่นในจิตเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสมมตินั้นแล้ว สมมติก็เป็นโมฆะหรือหมดความหมายไป"

คุณลุงหวีด บัวเผื่อน เพิ่งละสังขารไปแล้วเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีพิธีประชุมเพลิง ณ วัดเขากระแจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี ทิ้ง "จิตที่พ้นจากทุกข์" ไว้เป็นหลักไมล์และป้ายบอกทางให้แก่ผู้ปรารถนาจะพ้นทุกข์ไว้ข้างหลังได้ ศึกษา

จาก posttoday -> posttoday-หวีด บัวเผื่อน...จิตที่พ้นทุกข์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 11:19 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


คำถามที่ลุงหวีดเขียนไปถามและคำตอบจากองค์พระหลวงตา

http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 32&CatID=2

(มี ปัญหาข้อเดียวสั้น ๆ ) ว่าไงอ่านออกมาซิ เขาว่าไงปัญหาสั้น ๆ (ผู้ถามปัญหาลงชื่อว่า นายหวีด บัวเผื่อน มาจากอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เขากราบเรียนถามหลวงตาดังต่อไปนี้ กระผมได้ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว กระผมจิตว่างอยู่หลายปี ด้วยการพิจารณาสิ่งทั้งหลายจนจิตว่างไปหมด เหลือแต่ผู้รู้ แต่ก็ยังมาติดผู้รู้อีก เมื่อพิจารณาผู้รู้อย่างจริงจัง ก็เหมือนมีสปริงดีดผู้รู้นั้นกระเด็นหายไปทันที เหลือแต่ผู้รู้ที่ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องกำหนด ในขณะนั้นสมมุติทั้งสามแดนโลกธาตุปรากฏเกิดขึ้นที่ใจ อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย กระผมขอกราบเรียนถามหลวงตาว่า ที่กระผมเข้าใจว่าธาตุผู้รู้นี้ไม่ดับไม่สูญ เป็นรู้ที่อยู่ในรู้ตลอดชั่วนิรันดรใช่ไหมครับ แม้สังขารนี้จะดับไปแล้วก็ตาม ขอความกรุณาหลวงตาช่วยตอบกระผมด้วยครับ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 11:20 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


การตอบนี่ก็ลำบากเหมือนกันนะ คือมีส่วนได้มีส่วนเสียสำหรับผู้ฟัง จึงน่าคิดอยู่ ไม่ใช่ว่าถามอะไรตอบสุ่มสี่สุ่มห้า ต้องคำนึงผู้ถามมา และผู้จะได้ยินได้ฟังจากกันต่อ ๆ ไปจะได้ผลได้ผลเสียยังไงบ้าง ถ้าธรรมดาแล้วปัญหาเป็นอย่างนี้แล้วมันก็หมดปัญหาไปในตัว ไม่จำเป็นต้องถาม แต่ที่ถามนั้นเขาก็มีความมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่คนอื่นด้วย สำหรับคนผู้ถามปัญหาเราก็เชื่อเขาแล้วว่าเขาไม่มีปัญหา แน่ะ เราเชื่อแล้ว เพราะฉะนั้นการตอบของเราไม่ตอบของเราจึงไม่มีปัญหาอะไร ที่พูดอย่างนี้ที่ว่าตอบไม่ตอบก็เลย มันจะเกี่ยวกับผู้มาฟัง

อันนี้เราให้ สนฺทิฏฺฐิโก เป็นสมบัติของคุณเอง รับรองคุณเองก็แล้วกัน ไม่ตอบ ที่เขาพูดมานี้ถูกต้องเป็นลำดับ ย่นเข้ามาปุ๊บ ๆ เข้ามาเลย เขา ติดจิตว่างอยู่กี่ปี (หลายปี ไม่ได้บอกจำนวนครับ) นั่นหลายปี ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ที่พูดให้ฟังบ้าง กระตุกบ้างอะไรบ้างมันก็ช้า ไปโดยลำพังตัวเอง ไปได้แต่ช้า ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยแนะคอยกระตุกเรื่อยๆ ไปเร็ว มันต่างกันนะ

พอ พูดอย่างนี้เรายังเสียดาย ดังที่เคยพูดถึงเรื่องหลวงปู่มั่น เรื่องของเราที่มันไปติดความสว่างไสวอัศจรรย์บ้าตัวเองอยู่นั้น มันอัศจรรย์จริงๆ ยืนรำพึง มันสว่างไสวมันอะไร สรุปความลงมาว่า อัศจรรย์ ทำไมจิตของเราจึงอัศจรรย์ถึงขนาดนี้เชียวนา นี่ถ้าสมมุติว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ไปกราบเรียนพ่อแม่ครูจารย์ มั่น จะทะลุไปเดี๋ยวนั้น นี่มันก็จมกันไปอย่างนั้นเห็นไหมล่ะ คือไม่มีผู้กระตุกผู้เตือน นี่มันต่างกันอย่างนี้ คือมันช้ามันเร็วต่างกัน เวลามันผางขึ้นมาแล้วมันถึงได้รู้ อ๋อ คือตอนนั้นธรรมท่านเห็นว่าหลงแล้ว ติดที่อัศจรรย์ความสว่างไสวของเรา สายตาของธรรมซัดบอกว่านี่ติดแล้ว ถ้าเป็นหลวงปู่มั่นก็พุ่งเข้ามาเลย

เตือนขึ้นมานะ ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ ก็คือผู้รู้ มันก็ไปติดอยู่นั้นเสีย นั้นแลคือตัวภพ ถ้าสมมุติว่าเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟังอย่างหลวงปู่มั่นอย่างนี้ พอพูดอย่างนั้น ก็จุดนั้นแล้วตัวใสตัวสว่างไสวนั้นแหละ คือตัวภพ จะเป็นตัวไหนไปน่ะ ถ้าว่าอย่างนั้นมันก็ผางทีเดียว ขาดสะบั้นไปเดี๋ยวนั้นเลยก็ได้ มันเป็นอย่างนี้ธรรมะ เพราะฉะนั้นบางองค์จึงตรัสรู้ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า เวลาพระองค์แก้ปัญหาบรรลุธรรมปึ๋งต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าก็มี ก็อย่างนี้แล้ว นี่เราเสียดายเราแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ตอนนั้นท่านล่วงไปแล้ว เราเป็นอยู่ที่วัดดอยหลังจากถวายเพลิงศพท่านเรียบร้อยแล้วเราขึ้นไปวัดดอยฯ ขึ้นก็ไปติดปัญหานี้ ถ้าสมมุติว่าท่านยังมีชีวิตอยู่ไปเล่าถวายท่านเท่านั้น ใส่ทีเดียวเท่านั้นละผึงเลยขาดสะบั้นไปเลย อย่างนี้ละปัญหาสำคัญ อย่างที่เขาเล่ามานี้ไม่มีที่ต้องติ หมดปัญหาไป

หมด แล้วนะปัญหา (หมดแล้วครับ) นี่คือผลแห่งการปฏิบัติ นิยมไหมว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เพศหญิง เพศชาย กิเลสกับธรรมไม่มีเพศ จิตผูกได้ด้วยกันทั้งนั้น แก้ได้ด้วยกัน นี่ผลแห่งการแก้ การบำเพ็ญ จะเป็นฆราวาสก็ตามก็เป็นอย่างให้เห็นอยู่นี้แหละ นี่เป็นอยู่ที่จิต ผู้ปฏิบัติต่อจิตเป็นอย่างนี้ และผู้ไม่เป็นอย่างงั้นก็ค่อยเป็นมาโดยลำดับ ขอให้ได้รับการบำรุงรักษาเถอะ จะค่อยเป็นค่อยไปของมันอยู่นั้นละ นี้ไม่มีการบำรุงรักษา มีแต่ขยี้ขยำ เผาอยู่ตลอดเวลา จิตถ้าเป็นของฉิบหายได้ หมดไม่มีเหลือแหละโลกอันนี้ แต่นี้มันไม่ฉิบหายละซิ จึงพาเกิดพาตายอยู่ตลอด เผาขนาดไหนก็เผา ทุกข์ยอมรับว่าทุกข์ แต่ไม่มีความฉิบหายคือจิต


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 11:21 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้รู้อันหนึ่งที่เด่นอยู่นั้นดีดผึงออกไป นั่นละตัวภพตัวชาติที่ว่าจะเป็นอะไร มันดีดผึง เหมือนมีสปริงอะไรแล้วแต่ใครจะสมมุติมาพูด อันนี้ผู้เป็นเบาผู้เป็นหนักมี ไม่ใช่แบบเดียวกันหมดนะ มีหนักมีเบา มีผาดโผน เรียบ ๆ มี แย็บเรียบๆ ไป ความตัดสินใจหากเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ด้วยกัน อย่างพ่อแม่ครูจารย์ท่านก็ผาดโผนนะ จิตขั้นนี้ท่านผาดโผนมากอยู่ โอ๋ย ผาดโผนอย่างพิสดารหลวงปู่มั่น เราจนน้ำตาร่วงเวลาท่านเล่าให้ฟัง น้ำตาร่วงในขณะนั้นเลย อัศจรรย์ แสดงความผาดโผนผางขึ้นมาเรียบร้อยแล้วยังแสดงฤทธิ์เดชต่างๆ อีกหลายแง่หลายมุม ของท่าน ต่างกันอย่างงั้นละ

บาง รายก็พับตรงนี้ก็ไปเลย ตามนิสัยวาสนาต่างกัน สำหรับหลวงปู่มั่นพิสดารมากเทียว ที่เราเขียนในประวัตินั้นก็เท่าที่จำได้นะ ที่จำไม่ได้เราก็ไม่เขียนมา ที่จำได้ไม่สนิทใจนักเราก็ไม่เขียน เวลาผ่านไปแล้วยังไม่แล้ว ยังแสดงลวดลายทุกสิ่งทุกอย่างออกหลังจากนั้นแล้ว นี่ละการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้ายืนยันรับรองตลอดเวลา เป็น อกาลิโก ผลพร้อมที่จะให้แก่ผู้บำเพ็ญตลอดเวลาทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว จึงปฏิเสธบาปบุญไม่ได้ เพราะกิริยาที่แสดงนี้เป็นกิริยาของบาปของบุญทั้งนั้น แต่ท่านไม่เรียกว่าบาปว่าบุญ เรียกว่ากิเลส เรียกว่าธรรมเฉย ๆ จะแยกออกมาชื่ออันนี้ก็ชื่อบาปอย่างนี้ ชื่อบุญอย่างงั้น

บาป คือความมัวหมอง หรือผ่องใสของบาป หลอก นั่น มันก็เป็นอันหนึ่ง มันจะพาให้เราจมได้ คือพาให้เราเสียได้อยู่นะ จึงเรียกว่าบาป ถ้าทางดีจริง ๆ เรื่อยไปแล้วมันก็ไม่เสีย ธรรมของพระพุทธเจ้ามีเป็นพื้นฐานมา ไม่มีต้นไม่มีปลายอย่างนี้ตลอด ผู้บำเพ็ญก็เป็นอกาลิโก คือธรรมนั้นเป็นพื้นฐาน อกาลิโก อยู่แล้ว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติตามเมื่อไรก็ได้ผลขึ้นมาๆ ไม่มีกาลเวลา เกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าทางดีทางชั่วเกิดได้ทั้งนั้น นี่เขาก็เป็นฆราวาสเขาพูดให้ฟัง นี่ละจิตและธรรมไม่มีฆราวาสไม่มีว่าพระ จิตเป็นจิต ธรรมเป็นธรรม กิเลสเป็นกิเลสอยู่ในนั้น แก้ออกแล้วความบริสุทธิ์นั้นก็จิตนั้นบริสุทธิ์ ร่างกายของคนเราเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนจิตนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน

เรา จึงพูดแล้วพูดเล่า การแนะนำสั่งสอนทางด้านจิตตภาวนาเวลานี้ก็ค่อยเบิกออก กว้างออก สงสาร มีแต่งมเงากันอยู่ๆ ตัวจริงไม่เคยเข้าไปเกี่ยวไปข้องเลย มันก็ได้แต่เปลือกแต่กระพี้เข้าไปกว่าจะถึงแก่นก็นาน ถ้าหมุนอันนี้เข้าไปด้วยกันมันก็เร็ว นั่นมันต่างกัน หมุนเข้าไปทั้งแก่น ทั้งราก ทั้งกระพี้ ทั้งดอก ทั้งใบ หมุนกันไปร่วมกันนั้น ผลก็ตามๆ มาด้วยกัน การภาวนาจึงเป็นหลักของการบำเพ็ญกุศลอันยิ่งใหญ่ทีเดียว ถ้าลงมีภาวนาแทรกเข้าไปแล้วเรียกว่าเกี่ยวโยงกันหมด ทั้งรากแก้ว รากฝอย ทั้งกิ่ง ก้าน ดอก ใบ จะเข้าถึงกันหมด เรียกว่าได้สาระ ๆ การภาวนาไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เวลารู้ขึ้นมาแล้วไม่ได้คาดได้คิด เหนือความคาดความคิดของเราทุกอย่าง คือไม่เคยคาดเคยคิด เวลาเป็นขึ้นมานี้ยอมรับๆ เลยทั้งที่ไม่เคยคาดเคยคิดเอาไว้ ยอมรับด้วยความเชื่อ ตายใจๆ ทันที แม่นยำ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 11:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


การ ภาวนานี่ก็เหมือนเราขุดน้ำบ่อนั้นแหละ ตาน้ำอยู่ตื้นก็มี อยู่ลึกลงไปๆ ก็มี แต่มีน้ำอยู่ด้วยกัน เป็นแต่เพียงว่าลึกตื้นต่างกัน ผู้ที่รวดเร็วอย่างขิปปาภิญญา พอหยั่งจอบหยั่งเสียมลงจ๊อกๆ เท่านั้น น้ำพุ่งขึ้นมาแล้ว แล้วลึกกว่านั้นไปอีก ขุดลงไปอีก น้ำก็ขึ้น ซัดลงไปจนกระทั่งน้ำข้างล่างยังไม่ขึ้น น้ำเหงื่อไหลเต็มหลังหมดก็มี น้ำข้างล่างยังไม่ขึ้น แต่มันก็ขึ้นได้ถ้าขุดไม่ถอย ถ้าน้ำข้างล่างยังไม่ขึ้น น้ำบนหลังก็ขึ้นก่อน น้ำเหงื่อ เข้าใจไหม น้ำเหงื่อแตกออกน้ำข้างล่างยังไม่ขึ้นก็มี มันลึกมันตื้นต่างกัน ท่านจึงบอกไว้หลายประเภท

สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ทั้งปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว นี่เป็นอันดับหนึ่ง

สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า

ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว

ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ทั้งปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า

นั่น ๔ ประเภท ท่านแยกไว้หมด สัตว์โลกอยู่ใน ๔ ประเภทนี้ เพราะฉะนั้นจะเอามาวัดมาเทียบกันไม่ได้ ตามแต่จริตนิสัยของใครของเรามันพอดีตัวเอง จะไปเทียบกับใครก็ไม่ได้ ควรจะเร็วมันก็เร็วขึ้นมาตามนิสัยของผู้นั้น ควรจะช้าก็ช้า แต่สำคัญที่ความอุตส่าห์พยายาม อันนี้เป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จในธรรมทุกขั้น ไม่ว่าขั้นเร็ว ขั้นหยาบหรือขั้นช้า ความเพียรหนุนตลอด...ได้ ท่านไม่ให้ละความเพียร จึงว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนที่จะล่วงจากทุกข์ไปได้โดยลำดับ เพราะอำนาจแห่งความเพียร ถ้าปล่อยความเพียรเสียไม่ได้เรื่อง ถึงขิปปาภิญญาก็นอนแช่อยู่อย่างนั้น เฝ้ากันอยู่ ไม่เปิดประตูให้ก็ออกไม่ได้ นอนจมอยู่ประตูนั้น พอเปิดคือหมายถึงว่าปฏิบัติปั๊บ เปิดประตูแล้วพุ่งผึงออกเลย ต่างกันอย่างนั้น มีหลายประเภท

เรื่อง ธรรมในใจนี้เป็นเข้ากับผู้ใดแล้วมันก็แน่ใจๆ แต่ธรรมมีผิดกันกับโลกก็คือว่า ไม่มีผาดโผนโจนทะยาน ไม่มีอยากพูดอยากคุยอยากโม้อยากอวด ต่างกันอย่างนี้กับกิเลส กิเลสมีมากมีน้อยมันออกของมัน มันอยากออกอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่ปฏิบัติ แต่ธรรมไม่เป็นอย่างนั้น ธรรมท่านจึงเรียกว่าสุขุม ควรแก่การกราบไหว้บูชาทุกประเภทของธรรม พอดิบพอดีไปตลอดเลย ไม่ผาดโผนโจนทะยานเหมือนกิเลส ต่างกัน ผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าในเขา เหมือนกับคนหมดคุณค่าหมดราคานะท่านอยู่อย่างนั้น นักปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ ท่านอยู่ในป่าในเขา เหมือนสัตว์นรก ไม่มีใครสนใจ เหมือนไม่มีราค่ำราคา เข้าไปตลาดแล้วพวกกองมูตรกองคูถมันรุมเอาหลงทิศไป เข้าใจไหม รุมทองคำทั้งแท่งอยู่ในหัวใจของท่าน เพราะฉะนั้นท่านถึงไม่อยากเข้ามา พวกมูตรพวกคูถมันรุม โปะเอาเสียจนจะไม่มีเหลือ ท่านรำคาญ

ความรู้สึกของกิเลสในหัวใจคนมันมีประมาณเมื่อไร มันออกทุกแบบทุกฉบับ แต่มันก็พอใจออกตามเรื่องของกิเลส แต่ธรรมท่านไม่พอใจฟังละซิ ใช่ไหม ท่านรำคาญท่านจึงไม่ค่อยจะเข้ามาในบ้านในเมือง ในที่ชุมนุมชนวุ่นวาย ท่านผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมจริงๆ ท่านหาอยู่แต่อย่างนั้น ไม่ว่าอิริยาบถใดท่านสะดวกสบาย โล่งอยู่ภายในใจตลอดๆ มองเห็นอะไรๆ ก็เป็นอรรถเป็นธรรมไปหมด ใบไม้ร่วงก็เป็นธรรม นี่หมดสภาพแล้วมันก็ร่วง คนหมดสภาพแล้วตาย ท่านเทียบปั๊บเลยอย่างนั้น ต้นไม้อะไรๆ ก็ตามมีความเปลี่ยนแปลงแปรปรวน กับธรรมชาติอันนี้มันเข้ากันได้ๆ ท่านพิจารณาเทียบเคียง

เมื่อจิตลงได้ก้าวเข้าสู่ธรรมแล้ว สัมผัสสัมพันธ์อะไรจะเป็นธรรมแก้ตัวเองๆ ล้วนๆ ไปเลย กิเลสถ้าลงได้เต็มในหัวใจแล้วจะเห็นอะไรก็ตาม กว้านเข้ามาสู่ฟืนสู่ไฟเผาตัวเองทั้งนั้นๆ เพราะฉะนั้นพวกที่กิเลสหนาๆ จึงไม่ชอบคุณงามความดี ไม่เชื่อบุญเชื่อบาป เชื่อแต่นรกอเวจี เชื่อยังไง คือเชื่อว่านรกอเวจีไม่มี แล้วสร้างตั้งแต่นรกอเวจี เข้าใจไหม เชื่อว่าบาปว่าบุญไม่มี เชื่อว่านรกอเวจีไม่มี ความอยากที่จะโดนนรกอเวจีมันไม่ได้คิดละซี มันอยากทำสิ่งที่ต้องการๆ สิ่งที่ต้องการคือเบิกทางไว้แล้วที่จะลงจุดนั้น นี่ที่ว่ามันชอบทำไปทางนั้นเสีย ผู้มีธรรมขยะแขยงต่อความชั่วความสกปรก ผู้สกปรกพัวพันกับสิ่งที่สกปรกทั้งคืนทั้งวัน นั่งร้องห่มร้องไห้ก็ยังพอใจร้องห่มร้องไห้ นั่นเป็นอย่างนั้น อำนาจของกิเลสมันกล่อมสนิทมากนะ ท่านผู้อยู่ในที่เช่นนั้นท่านเห็นได้แปลกๆ ต่างๆ ในสิ่งที่โลกไม่เห็นท่านเห็น เพราะธรรมไม่เหมือนโลก โลกไม่เห็นธรรมเห็น โลกไม่รู้ธรรมรู้ แน่ะเป็นอย่างนั้นนะ

ท่านภาวนา อยู่ในป่า เวลาคุยธรรมะธัมโม ท่านสนทนากัน โอ๋ย เพลิน นั่งกี่ชั่วโมงลืม มีแต่หมุนกันกับอรรถกับธรรมเรื่อยๆ ไปอยู่ที่นั่นเป็นอย่างนั้นๆ ภาวนาเป็นอย่างนั้น นอกจากนั้นจะออกถึงเรื่องพวกเปรตพวกผี พวกเทวบุตรเทวดา ตามแต่จริตนิสัย ท่านก็ออก ที่มีจริตนิสัยเหมือนกันแล้วพูดกันเป็นตุเป็นตะไปเลย เหมือนเรามีตาด้วยกัน ไปที่ไหนเห็นด้วยกันรู้ด้วยกันมันก็ไม่สงสัยกัน เพลินในการพูดการคุยต่อกันในสิ่งที่รู้ที่เห็นใช่ไหมล่ะ อันนี้จิตใจของท่านที่มีนิสัยไปทางนั้น ท่านก็เพลินไปทางนั้นเป็นกาลเป็นเวลาที่สนทนากัน แต่หลักใหญ่เพลินในการแก้กิเลสด้วยความพากเพียร

เรื่อง เหล่านี้ไม่ได้แก้กิเลสนะ เป็นสิ่งที่รู้ที่เห็นตามสิ่งที่มีอยู่นี้เท่านั้น เหมือนอย่างเรามองไปเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้ยินสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันไม่ได้แก้กิเลสถ้าไม่ทำให้แก้ ถ้าไม่ทำให้ผูกไม่เป็นกิเลส เห็นก็เห็นไปเฉยๆ ถ้ากิเลสมีมันก็คอยจะเป็นแต่กิเลส ถ้าธรรมมีก็คอยจะเป็นธรรม มันขึ้นอยู่กับเจ้าของผู้ไปสัมผัส ถ้าจิตเป็นธรรมมองไปที่ไหนได้ยินอะไร เป็นเรื่องอรรถเรื่องธรรมนำมาแก้เจ้าของๆ ถ้าเป็นเรื่องของกิเลส ไปที่ไหนนำมาพันเจ้าของๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 11:23 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง จิตนี้พิสดารมาก กิเลสก็พิสดารเต็มเหนี่ยวของมัน ท่านผู้ปฏิบัติเหล่านั้นมาเล่าภาวนาสู่กันฟัง เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ก็อย่างที่โยมเขามาพูดนี้แหละน่าฟังไหมล่ะ เป็นอย่างนั้น ถ้าธรรมดาก็ว่าเป็นของง่ายนิดเดียว เขาแทบตายนะนั่น ติดความว่างมากี่ปีนั่นน่ะ ถ้ามีผู้แนะอยู่จะไม่ติดนาน...ความว่าง ก็อย่างนั้นแหละ เขาก็บำเพ็ญมาอย่างนั้น เขารู้อย่างไรเขาก็เล่ามาตามเรื่องของเขา มันน่าฟังนะ เรานี่เข้าใจทุกกระเบียดที่เขาเล่ามานั้น นี่ละอำนาจแห่งการปฏิบัติธรรม รู้ได้เห็นได้ รู้ไม่ได้เห็นไม่ได้พระพุทธเจ้าไม่รู้และไม่มาสอนโลกได้แหละ ทรงรู้มาก่อนเห็นมาก่อน คือละมาก่อนบรรดาความชั่วช้าลามกทั้งหลายที่เรียกว่ากิเลส ท่านละมาเรียบร้อยแล้ว ธรรมก็รู้เต็มหัวใจ สอนออกมาจึงไม่มีคำว่าผิดว่าพลาด

ท่าน นิพพานนานสักเท่าไร ผู้บำเพ็ญก็เห็นตามอย่างนี้แหละ คำว่านิพพานนานไม่นานมันเป็นเรื่องสกลกายของเรา ตายที่ไหนก็ตายได้ แต่ธรรมอยู่ในนั้นไม่ตาย คำสอนสอนว่าอย่างไร สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วชอบตลอดไป นิพพานไม่นิพพานก็ตามไม่มีปัญหา ชอบตลอดไป ถูกตลอดไป ผู้ก้าวเดินก้าวเดินตามนั้นก็ถูกตลอดไป แล้วถึงเรื่อยไปอย่างนั้น ถ้าผิดก็ผิดไปเรื่อยๆ ธรรมของพระพุทธเจ้านี่เป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว จึงไม่ขึ้นอยู่กับว่านิพพานไม่นิพพาน ให้ยึดเอาหลักที่ท่านสอนไว้แล้ว นั้นแหละคือทางก้าวเดินเพื่อพบเพื่อรู้เพื่อเห็นศาสดาองค์เอก ตามรอยพระบาทท่านไป คำสอนของท่านท่านสอนไว้ เดินไปตามนั้นจึงจะรู้จะเห็น ผู้ สนใจธรรมนั่นแหละจะรู้เห็นธรรมอย่างเงียบๆ ไม่กระโตกกระตาก ผู้รู้เห็นธรรมเป็นอย่างนั้น ผู้รู้เห็นกิเลสนี้ โอ๊ย ทุกอย่างทำโลกให้กระเทือนเดือดร้อนวุ่นวายไปหมด เรื่องของกิเลสมันทำความกระทบกระเทือนมากนะ ส่วนธรรมไม่กระเทือน

อยาก ให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายปฏิบัติธรรม นี่เราก็จวนตายแล้ว สอนไว้เพื่อเป็นสารประโยชน์ ให้ได้ยึดได้เกาะอันนี้ไว้ แล้วจะเป็นคุณมหาคุณต่อจิตใจของเรา การตายของใครก็ตาม ครูบาอาจารย์หรือเรา ตายได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ขอให้ได้ความดีไว้เป็นสาระของใจ ตายไปก็ไม่ต้องพูดละ พระพุทธเจ้ารับสั่งไว้เรียบร้อยแล้ว ไปตกแต่งทำไม อวดรู้อวดฉลาดกว่าศาสดาทำไม ว่า บาปมี บุญ มี นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี เปรตผีประเภทต่างๆ มี พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว มันควรจะไปโดนอันไหนมันก็โดนตามที่เราทำไปนั่นแหละ ท่านห้ามไม่ให้ทำอย่างนี้มันจะเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้นถ้าฝืน ถ้าทำตามท่านที่สอนนี้แล้วจะเป็นตามท่านไปเรื่อยๆ นั่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครนะ

พระ พุทธเจ้าสอนไว้แล้วเราจะไปอวดดีกว่าท่าน ไปลบล้างได้อย่างไร ทุกพระองค์ไม่เคยมีในคัมภีร์ใบลาน ว่าพระพุทธเจ้าสอนธรรมนี้ค้านกัน ไม่มี สอนแบบเดียวกันหมด เพราะรู้อย่างเดียวกัน สิ่งใดที่ตรัสรู้ขึ้นมาเห็นอย่างเดียวกัน แล้วจะไปสอนให้ผิดแปลกจากกันได้อย่างไร ก็ต้องสอนแบบเดียวกัน อย่างบาปบุญนรกสวรรค์เหล่านี้ มีมาเท่าไร ใครอวดรู้อวดฉลาดมาจากไหนจะไปลบล้างบาปบุญนรกสวรรค์ได้ เราก็เชื่อว่าบาปบุญนรกสวรรค์ไม่มีนั่นแหละ ความเชื่อนี้แหละมันพาให้จม จำให้ดีนะ ถ้าเชื่อตามพระพุทธเจ้าแล้วจะไม่จม สิ่งใดผิดแก้ทันทีหลีกทันที ถ้าเชื่อตามพระพุทธเจ้า สิ่งใดที่ถูกบืนเข้าไปทันที ถ้าเชื่อตามกิเลสอย่างที่ว่าบาปบุญนรกสวรรค์ไม่มี นี่แหละตัวสำคัญ ให้พากันสั่งสมเชื่ออันนี้ให้มาก ๆ นะ เข้าใจเหรอ พากันสั่งสมให้หมดลูกศิษย์หลวงตาบัวนี่มันเก่ง มันมักทำลายสิ่งที่พระพุทธเจ้าซึ่งทรงรู้ทรงทราบพอแล้วให้ฉิบหายวายปวง มันเอาความโง่ของมันเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า แล้วเหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป แล้วก็เหยียบหัวตัวเองจม เข้าใจ ?

เอาละ วันนี้พูดเพียงเท่านั้นแหละอย่าให้พูดมาก เหนื่อย วันไหนก็เหนื่อยทุกวัน ๆ จะให้พูดว่าอย่างไรอีก


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 12:07 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


link E-book หนังสือจิตเป็นอมตt (ชีวประวัติ และการปฏิบัติ ของลุงหวีด บัวเผื่อน) ครับ

http://www.loongweed.com/?p=10


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2011, 11:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: :b8: :b8: :b20:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2011, 11:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


ยาวมากอ่านไม่หมดจริงๆแต่จะกลับมาอ่านอีก

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2011, 15:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร