วันเวลาปัจจุบัน 11 พ.ย. 2024, 02:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2012, 17:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พุทธเจดีย์
เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๔ ประเภท

เมื่อพูดถึง “พุทธเจดีย์” สาธุชนหลายท่านคงนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่ก่ออิฐถือปูน มีรูปร่างดังลอมฟ่าง มีสัณฐานทรงกลมยอดแหลม ภายในบรรจุสิ่งที่นับถือ มีพระบรมธาตุ เป็นต้น

แต่ความจริงแล้ว ที่เรียกว่า “พุทธเจดีย์” นั้น ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีรูปพรรณสัณฐานดังกล่าวแล้ว แม้เป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเป็น 'พระพุทธรูป' ก็จัดเป็นพุทธเจดีย์ทั้งสิ้น ดังนั้น ท่านจึงจัดพุทธเจดีย์ออกเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. พระธาตุเจดีย์ คือ พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ ที่ “โทณพราหมณ์” แบ่งแก่กษัตริย์เมืองต่างๆ ๘ นคร มีพระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แห่งมคธรัฐ เป็นต้น เป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน แล้วมอบให้กษัตริย์ผู้ครองนครทั้ง ๘ นำไปบรรจุไว้ในพระสถูปเพื่อสักการบูชาที่บ้านเมืองของตน จัดเป็นพระธาตุเจดีย์

๒. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และสุดท้าย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้ จัดเป็นบริโภคเจดีย์ตามพระบรมพุทธานุญาต และเมื่อนับรวมกับพระพุทธสรีรางคาร คือ เถ้าถ่านที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ซึ่งโมริยกษัตริย์ได้รับไป แล้วทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสรีรังคาร (พระอังคารสถูป) ณ เมืองปิปผลิวัน องค์หนึ่ง และตุมพะทะนาน ที่โทณพราหมณ์ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุแจกแก่กษัตริย์เมืองต่างๆ ๘ นคร มีพระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แห่งมคธรัฐ เป็นต้น ซึ่งโทณพราหมณ์ได้รับไป แล้วสร้างพระสถูปบรรจุไว้ ณ เมืองกุสินารา องค์หนึ่ง พระสถูปทั้ง ๒ องค์ดังกล่าวนี้ก็นับเป็นบริโภคเจดีย์เช่นกัน เพราะเนื่องด้วยพระพุทธองค์ เมื่อรวมกับสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จึงเป็นบริโภคเจดีย์ในชั้นแรก ๖ แห่งด้วยกัน

ต่อมาชนชั้นหลังได้นับเอา บาตร จีวร และบริวาร มี “ธมกรก” (อ่านว่า ทะ-มะ-กะ-หฺรก หมายถึง กระบอกกรองนํ้าของพระสงฆ์ เป็นบริขารอย่างหนึ่งในบริขาร ๘ ซึ่งพระภิกษุจะขาดเสียมิได้) เป็นต้นก็ดี เสนาสนะ เตียง ตั่ง และกุฏี วิหาร ที่พระพุทธองค์ทรงบริโภคทรงใช้สอยก็ดี เป็นบริโภคเจดีย์ทั้งสิ้น

๓. พระธรรมเจดีย์ คือ พระเจดีย์ที่บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ กล่าวคือ วิญญูชนทั้งหลายมีศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ใคร่จะบูชาบริโภคเจดีย์และพระธาตุเจดีย์ แต่พระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ไกลจนไม่สามารถจะไปบูชาได้ จึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้น แต่ไม่อาจจะหาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุได้หรือไม่มีพระบรมสารีริกธาตุจะบรรจุ จึงถือเอาพุทธวจนะคือพระธรรมจารจารึกลงบนแผ่นทอง เงิน และศิลา เป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์ พระธรรมที่มักใช้จารจารึกได้แก่ หัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ว่า

“เย ธมฺม เหตุปฺปภวา เตสํ ตถาคโต (อาห) เตลัญฺจโย นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณ”

แปลว่า : ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด (เกิดแต่เหตุ) พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้

เมื่อมีการจารจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นตัวอักษรแล้ว ก็นับเอาคัมภีร์พระไตรปิฎกว่าเป็นพระธรรมเจดีย์ด้วย

๔. อุทเทสิกเจดีย์ (อ่านว่า อุท-เท-สิ-กะ-เจ-ดี) เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอุทิศเจาะจงต่อพระพุทธเจ้า อันเปรียบเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า มิได้กำหนดว่าเป็นอะไร ถ้ามิใช่พระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ และพระธรรมเจดีย์แล้วก็ถือว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ทั้งสิ้น เช่น พระพุทธปฏิมากรหรือพระพุทธรูป, รอยพระพุทธบาทจำลอง, พุทธบัลลังก์, พระธรรมจักร, พระเครื่องหรือพระพิมพ์, ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และสัตตมหาสถาน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อยังความปีติศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็นให้เกิดกุศลจิต จึงน้อมนำเอาเงิน ทอง ศิลา โลหะ และไม้แก่น มาสร้างเป็นอุทเทสิกเจดีย์

ในบรรดาพุทธเจดีย์ทั้ง ๔ นี้ พระธาตุเจดีย์หรือพระบรมสารีริกธาตุนับว่าหาได้ยากยิ่ง แต่ก็มักมีผู้อวดอ้างว่ามีอยู่มากมาย จึงขอน้อมนำมาเอาพระนิพนธ์ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๓ มาลงไว้ให้พิจารณากัน ความว่า...

“อนึ่ง ผู้ที่นำสิ่งของนั้นๆ มีกรวดบ้าง ศิลาบ้าง มาแสดงว่าเป็นพระธาตุ ดั่งนี้ก็มีมากในสถานบ้านเมืองนั้นๆ จนประชุมชนไม่ทราบว่าพระธาตุแท้นั้นอย่างไร พระสถูปที่สร้างๆ ขึ้นไว้ก็มีมากหนาไป ผู้เห็นก็จืดจิต ไม่เลื่อมใส”


:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือธรรมลีลา ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๘ โดย มหานาลันทา
(๒) พระพุทธรูปแห่งบามิยัน (Buddhas of Bamiyan)
และพระคัมภีร์พุทธเก่าแก่ที่สุดในโลก

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=34022

:b44: เจดีย์ บุญเขตต์อันเยี่ยม เชื่อมโยงใจพระพุทธเจ้า
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=24507

:b44: โทณพราหมณ์ ผู้แจกพระบรมสารีริกธาตุ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50448

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2012, 18:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ถูปารหบุคคล
บุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปเจดีย์ไว้บูชา

การบูชาบุคคลที่ควรบูชานั้น เป็นมงคลข้อหนึ่งในมงคลสูตร ๓๘ ประการ การบูชา คือ การยกย่อง เลื่อมใส ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เสแสร้งแกล้งทำ นั่นหมายถึง กิริยาอาการสุภาพที่แสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง ซึ่งการบูชาในทางปฏิบัตินั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ วิธี คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน และอาหาร ฯลฯ เรียกว่า อามิสบูชา และการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรม เรียกว่า ปฏิบัติบูชา ซึ่งอย่างหลังนี้เองเป็นการบูชาสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง อีกทั้งยังเป็นเครื่องสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาที่มั่นคงแน่นอน

บุคคลที่ควรบูชา คือ บุคคลที่มีคุณงามความดีควรค่าแก่การระลึกถึง และยึดถือเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม มีอยู่ด้วยกันจำนวนมาก เช่น พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ฯลฯ

ถูปารหบุคคล (อ่านว่า ถู-ปา-ระ-หะ-บุก-คน) คือ บุคคลผู้ควรแก่สถูปหรือเจดีย์ หรือบุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปหรือเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุไว้ เพื่อเป็นที่บูชาสักการะกราบไหว้ด้วยความเลื่อมใส ด้วยสามารถเป็นพลวปัจจัยนำให้ผู้กราบไหว้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ตามกำลังศรัทธาเลื่อมใสได้

ถูปะ แปลว่า กระหม่อม, ยอด, จอม, หน้าจั่ว ใช้หมายถึง เนิน โดม สถูป หรือเจดีย์ ที่มียอดสูงซึ่งสร้างครอบหรือบรรจุของควรบูชา เช่น อัฐิของบุคคลที่ควรบูชากราบไหว้

:b44: ถูปารหบุคคลในพระพุทธศาสนา ๔ จำพวก

พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถึง “ถูปารหบุคคล” (อ่านว่า ถู-ปา-ระ-หะ-บุก-คน) หรือบุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปหรือเจดีย์ไว้บูชาในพระพุทธศาสนา ไว้เพียง ๔ จำพวก ได้แก่

(๑) พระพุทธเจ้า

เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพระพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

(๒) พระปัจเจกพุทธเจ้า

เหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพระพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

(๓) พระอรหันต์
(ในพระสูตรกล่าวเป็น “พระตถาคตสาวก” ซึ่งปกติหมายถึง “พระอรหันต์”)

เหตุที่พระสาวกของพระพุทธเจ้าทรงเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพระพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

(๔) พระเจ้าจักรพรรดิ

เหตุที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพระพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระธรรมราชาผู้ทรงธรรมพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

[๑๓๔] ดูก่อนอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก. ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน.
คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑
สาวกของพระตถาคต ๑ พระเจ้าจักรพรรดิ ๑.


ดูก่อนอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นถูปารหบุคคล.
ชนเป็นอันมาก ย่อมยังจิตให้เลื่อมใสว่า
นี้เป็นพระสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
ชนเหล่านั้น ยังจิตให้เลื่อมใสพระสถูปนั้นแล้ว
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
อานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นถูปารหบุคคล.

ดูก่อนอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงเป็นถูปารหบุคคล.
ชนเป็นอันมาก ย่อมยังจิตให้เลื่อมใสว่า
นี้เป็นพระสถูปของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
ชนเหล่านั้น ยังจิตให้เลื่อมใสพระสถูปนั้นแล้ว
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
อานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงเป็นถูปารหบุคคล.

ดูก่อนอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
สาวกของพระตถาคต จึงเป็นถูปารหบุคคล.
ชนเป็นอันมาก ย่อมยังจิตให้เลื่อมใสว่า
นี้เป็นพระสถูปสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชนเหล่านั้น ยังจิตให้เลื่อมใสพระสถูปนั้นแล้ว
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
อานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล
สาวกของพระตถาคต จึงเป็นถูปารหบุคคล.

ดูก่อนอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
พระเจ้าจักรพรรดิ จึงเป็นถูปารหบุคคล.
ชนเป็นอันมาก ย่อมยังจิตให้เลื่อมใสว่า
นี้เป็นพระสถูปของพระธรรมราชาผู้ทรงธรรมพระองค์นั้น
ชนเหล่านั้น ยังจิตให้เลื่อมใสพระสถูปนั้นแล้ว
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
อานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล
พระเจ้าจักรพรรดิ จึงเป็นถูปารหบุคคล.

ดูก่อนอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ เหล่านี้แล.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๑๑

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ธ.ค. 2015, 17:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุค่ะ ช่างดีแท้ Kiss :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2016, 11:39 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b45: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร